2 ภารกิจสุดหิน ‘ลดค่าไฟฟ้า-สร้าง SPR’ ใต้บังเหียน ‘พีระพันธุ์’ โจทย์ยากที่ต้องทำให้เกิด แม้เลยเถิดไปขัดขาประโยชน์บางกลุ่ม

เมื่อผลการสำรวจความคิดเห็นของพี่น้องประชาชนคนไทยต่อการบริหารงานของรัฐบาล พ.ศ. 2567 (ในการบริหารงานครบ 6 เดือน) โดย ดร.ปิยนุช วุฒิสอน ผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปรากฏออกมา พบว่า ภาพรวมประชาชนมีความพอใจมากถึงมากที่สุดต่อการบริหารงานของรัฐบาล 44.3% โดยนโยบาย/มาตรการ/โครงการของรัฐบาลที่ประชาชนมีความพึงพอใจมาก-มากที่สุดใน 5 อันดับแรก ได้แก่ นโยบาย 30 บาท รักษาทุกที่ 68.4%, มาตรการพักหนี้เกษตรกร 38.9%, มาตรการสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว 33.1%, มาตรการลดค่าไฟ 32.8% และมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้นอกระบบ 29.3%

สำหรับเรื่องที่ประชาชนต้องการให้รัฐบาลดำเนินการเร่งด่วน 5 อันดับแรก ได้แก่ ควบคุมราคาสินค้าอุปโภค-บริโภค 75.3%, ลดค่าไฟฟ้า 46.6%, แก้ปัญหาน้ำมันราคาแพง 29.5%, แก้ปัญหายาเสพติด 26.3% และแก้ปัญหาราคาพืชผลตกต่ำ 16.9%

จะเห็นได้ว่าเรื่องที่พี่น้องประชาชนคนไทยต้องการให้รัฐบาลดำเนินการโดยเร็วที่สุด 2 ใน 5 เรื่องนั้นเกี่ยวข้องกับกระทรวงพลังงานที่ ‘พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค’ หัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ และปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กำกับดูแลอยู่

ความแตกต่างในเรื่องราวเกี่ยวกับความพอใจของพี่น้องประชาชนคนไทยนั้น มีองค์ประกอบเงื่อนไข ปัจจัยที่อธิบายได้ดังนี้ นโยบาย 30 บาท รักษาทุกที่ เป็นนโยบายที่ต่อยอดมาจากนโยบาย 30 บาท รักษาทุกโรค ซึ่งนพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติคนแรก และเป็นผู้บุกเบิกวางรากฐานงานหลักประกันสุขภาพในประเทศไทย เป็นผู้ที่ได้วางรากฐานเอาไว้ และมีการพัฒนาระบบอย่างต่อเนื่องยาวนานกว่า 20 ปี 

ในขณะที่มาตรการพักหนี้เกษตรกร รัฐบาลสามารถให้นโยบายแก่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ไปดำเนินการได้เลย 

สำหรับมาตรการสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว เป็นภารกิจของกระทรวงท่องเที่ยวและการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ตลอดจนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกแห่งอยู่แล้ว และมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้นอกระบบรัฐบาลสามารถใช้กลไกของรัฐที่มีอยู่โดยกระทรวงการคลังเพื่อดำเนินการได้เลย

งานยากที่สุดใน 5 อันดับที่ทำให้พี่น้องประชาชนคนไทยมีความพอใจก็คือ ‘มาตรการลดค่าไฟ’ เพราะทุกเรื่องที่เกี่ยวข้องกับไฟฟ้านั้นอยู่ภายใต้การกำกับดแลของคุณคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ทั้งหมดทั้งสิ้น ไม่ว่าการออกใบอนุญาตผลิตกระแสไฟฟ้า การกำหนดราคาค่าไฟฟ้า โดยเฉพาะค่า Ft (Fuel Adjustment Charge (at the given time)) ซึ่งใช้ในการคำนวณเพื่อปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ หรือ ‘ค่าไฟฟ้าผันแปร’ เป็นค่าไฟฟ้าที่ปรับเปลี่ยนเพิ่มขึ้นหรือลดลง ตามการเปลี่ยนแปลงของต้นทุนค่าใช้จ่ายด้านเชื้อเพลิงและค่าซื้อไฟฟ้าจากเอกชนหรือประเทศเพื่อนบ้าน รวมไปถึงค่าใช้จ่ายที่การไฟฟ้าไม่สามารถควบคุมได้ โดยคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานเป็นผู้พิจารณาปรับค่า Ft ทุก 4 เดือน

สิ่งที่ ‘พีระพันธุ์’ ทำได้ก็คือ ใช้มาตรการต่าง ๆ ภายใต้อำนาจหน้าที่ของกระทรวงพลังงานเพื่อให้ผู้ผลิตกระแสไฟฟ้ามีต้นทุนการผลิตที่ต่ำที่สุดเพื่อไม่ให้กระทบต่อค่า Ft ซึ่ง ‘พีระพันธุ์’ ไม่ได้หยุดเพียงเท่านี้ แต่พยายามแสวงหาวิธีการและมาตรการใหม่ ๆ เพื่อทำให้ค่า Ft ต่ำที่สุด เรื่องที่กำลังทำอยู่คือ การสำรองเชื้อเพลิงปิโตรเลียมทางยุทธศาสตร์ (SPR: Strategic Petroleum Reserve) โดยนอกจากจะได้มีการสำรองน้ำมันเชื้อเพลิงและก๊าซ LPG อันเป็นก๊าซหุงต้มที่พี่น้องประชาชนคนไทยใช้กันมากที่สุดแล้ว การสำรองก๊าซ LNG อันเป็นก๊าซเชื้อเพลิงหลักในการผลิตกระแสไฟฟ้าของบ้านเราในปัจจุบันก็จะมีการสำรองเก็บไว้ด้วย 

ด้วยตลอดเวลาที่ผ่านมารัฐบาลโดยกระทรวงพลังงานไม่มีเครื่องมือ โดยเฉพาะกฎหมายที่จะช่วยในการดำเนินงานเพื่อให้ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงและก๊าซทั้ง LPG และ LNG ถูกลง และการสำรองเชื้อเพลิงดังกล่าวเป็นเรื่องของเอกชนผู้ค้าน้ำมัน ดังนั้นรัฐบาลโดยกระทรวงพลังงานจึงไม่มีเชื้อเพลิงสำรองในมือเลย จึงทำให้ภาครัฐไร้ซึ่งอำนาจในการต่อรองใด ๆ กับภาคเอกชน เพราะหากมีการสำรองเชื้อเพลิงปิโตรเลียมทางยุทธศาสตร์ (SPR) เกิดขึ้นแล้ว กระทรวงพลังงานก็จะถือครองเชื้อเพลิงเองเพียงพอต่อการใช้งานในประเทศ 50-90 วัน ซึ่งปริมาณน้ำมันสำรองดังกล่าวจะเป็นเครื่องมือที่จะทำให้ภาครัฐมีอำนาจในการต่อรองและเป็นการถ่วงดุลระบบการจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศ เพราะน้ำมันเชื้อเพลิงที่สำรองใน SPR จะมีการจำหน่ายหมุนเวียนอยู่ตลอดเวลา ทำให้ภาครัฐสามารถรู้ต้นทุนของราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่นำเข้ามาในประเทศได้โดยตลอด

ทั้งนี้เมื่อประกอบกับมาตรการที่ ‘พีระพันธุ์’ ได้ประกาศออกมา อาทิ ประกาศกระทรวงพลังงาน เมื่อวันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2567 เพื่อ ‘รื้อ’ ระบบการค้าน้ำมันเชื้อเพลิง โดยกำหนดให้ผู้ค้าน้ำมันต้องแจ้งต้นทุนให้กับหน่วยงานภาครัฐที่กำกับดูแลทุกวันที่ 15 ของเดือนซึ่งเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 51 ปี และที่อยู่ในระหว่างการดำเนินการคือ ‘รื้อระบบการปรับราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิง’ โดยผู้ค้าต้องแจ้งให้กระทรวงพลังงานทราบก่อน และให้ผู้ค้าปรับราคาขายปลีกน้ำมันได้เพียงเดือนละหนึ่งครั้ง ไม่ใช่ปรับราคากันทุกวันเช่นปัจจุบันนี้ โดยให้ปรับราคาได้ตามความเป็นจริงตามที่ราคาตลาดโลกสูงกว่าราคาต้นทุนเฉลี่ยของผู้ค้าน้ำมันในงวดเดือนนั้น ๆ ณ วันที่มีการปรับราคานั้น

การลดค่าไฟฟ้าและราคาน้ำมันเชื้อเพลิง แม้จะเป็นภารกิจที่สุดหิน แต่ ‘พีระพันธุ์’ ก็เต็มใจทำด้วยความมุ่งมั่นและตั้งใจ แม้เรื่องเหล่านี้จะไม่ง่าย ทั้งอาจขัดผลประโยชน์ของกลุ่มคนบางพวกบางกลุ่ม ซึ่งต้องใช้เวลาในการออกแบบ จัดทำกฎหมายให้มีความเหมาะสม และมีประสิทธิภาพมากที่สุด ทั้งนี้เพื่อประโยชน์สุขสูงสุดและสนองตอบความต้องการอันเร่งด่วนของพี่น้องประชาชนคนไทยทุกคน


เรื่อง: บทบรรณาธิการ THE STATES TIMES