Tuesday, 29 April 2025
ลดค่าไฟฟ้า

‘กรณ์’ ซัด!! ลดค่าไฟแค่ 2 สตางค์ น้อยจนน่าเกลียด ชี้!! ต้องยกเลิกค่าเอฟที 3 เดือนสุดร้อนเพื่อประชาชน

หัวหน้า ชพก. จวก ลดค่าไฟแค่ 2 สตางค์ อย่าอ้างว่าช่วย ยันต้องยกเลิกค่าเอฟที 3 เดือนสุดร้อน เพื่อประชาชน อีกแก้ปัญหาแบบขอไปที ลั่นต้องเลือกพรรคชนกับทุนผูกขาด

(23 เม.ย.66) จากกรณีมีข่าวว่า คณะอนุกรรมการค่าไฟฟ้าอัตโนมัติ (เอฟที) มีมติเห็นชอบตามที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เสนอขอรับภาระยืดหนี้การชำระค่าไฟฟ้าวงเงิน 130,000 ล้านบาท แทนประชาชนจาก 5 งวด ที่มีการเรียกเก็บค่าเอฟทีทุก 4 เดือน หรือ 20 เดือน จากงวดละ 27,000 ล้านบาท เป็น 6 งวด หรือ 24 เดือน เป็นเหลือเพียงงวดละ 22,000 ล้านบาท จึงทำให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยงวดที่ 2 ของปีนี้ (พ.ค.- ส.ค.) ลดลง 7 สตางค์ ต่อหน่วย จากเดิมที่ประกาศจัดเก็บ 4.77 บาท เหลือเพียง 4.70 บาทต่อหน่วย

นายกรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรคชาติพัฒนากล้า กล่าวว่า จากกระแสค่าไฟแพงที่ตนออกมาเรียกร้องเมื่อเดือนมีนาคม จนตอนนี้ปัญหาค่าไฟแพง กลายเป็นประเด็นรุนแรงทั่วโซเชียล จนคณะนุกรรมการเอฟทีชงบอร์ด กกพ. ให้ลดค่าไฟ แต่ตัวเลขที่ลดมันน้อยจนน่าเกลียด

'พีระพันธุ์' ชงงบ 1.9 พันล้าน ช่วยค่าไฟกลุ่มเปราะบาง 3.99 บาทต่อหน่วย  ส่วนค่าไฟงวดใหม่ ม.ค. - เม.ย.67 มั่นใจ!! ไม่เกิน 4.20 บาทต่อหน่วย

เมื่อวานนี้ (14 ธ.ค. 66) นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พลังงาน กล่าวถึงผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่จะมีเรื่องตัวเลขค่าไฟฟ้างวดใหม่ ม.ค. - เม.ย.67 เสนอต่อที่ประชุม ครม. โดยได้ข้อสรุปตัวเลขค่าไฟจะไม่เกินที่ 4.20 บาทต่อหน่วย ขณะนี้กำลังทำตัวเลขอยู่ว่าจะได้เท่าไหร่ภายใต้เงื่อนไขปัจจุบัน 

ส่วนตัวเลข 3.99 บาทต่อหน่วยจะเป็นของครัวเรือนกลุ่มเปราะบางที่ใช้ไฟไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือน ก็ยังอยู่ที่ราคาดังกล่าว

ส่วนจะใช้เงินอุดหนุนค่าไฟ 3.99 บาทต่อหน่วยเท่าไหร่ นายพีระพันธุ์ กล่าวว่า ใช้งบประมาณ 1.9 พันล้านบาท ซึ่งถือว่าเป็นตัวเลขที่น้อยมากหากเทียบกับการช่วยเหลือคนได้ 17 ล้านครัวเรือน คาดจะนำเข้า ครม.พิจารณา 19 ธ.ค.นี้

นายพีระพันธุ์ กล่าวถึงกระแสข่าวที่นายกรัฐมนตรีระบุว่ามีคนเข้าไปล็อบบี้เรื่องค่าไฟ ว่า ท่านก็เปรย ๆ แต่ก็ขอบคุณนายกรัฐมนตรี หากไม่ได้ท่านเป็นหลักในการยืนหลักการเรื่องการลดค่าไฟก็คงจะทำงานได้ลำบาก เพราะต้องใช้ความร่วมมือจากทุกฝ่าย ลำพังกระทรวงพลังงานหน่วยงานเดียวคงไม่พอ

ส่วนได้มีการพูดคุยกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) บ้างหรือไม่ เนื่องจากมีการแบกหนี้อยู่ 1.3 แสนล้านบาท นายพีระพันธุ์ ระบุว่า มันก็มีมานานแล้ว สิ่งที่ตนจะทำให้ตอนนี้จะตั้งกรรมการขึ้นมาแก้ไขดูแลเรื่องนี้ ซึ่งที่ผ่านมาไม่มีเพราะ กฟผ. ก็ดูแลตัวเองมาตลอด แต่ตนคิดว่าตอนนี้ต้องเข้าไปช่วยดูแลเขาแล้ว เพื่อที่จะแก้ปัญหาเหล่านี้

ส่วนที่นายกรัฐมนตรีอยากให้ได้ค่าไฟอยู่ที่ 4.10 บาทต่อหน่วย จะทำได้หรือไม่ นายพีระพันธุ์ กล่าวว่า เป้าหมายคืออยากจะให้ราคาต่ำที่สุด อยากให้ต่ำกว่า 4.10 บาท เสียอีก แต่อย่างที่บอกว่าไม่ได้อยู่ที่ กฟผ.อย่างเดียว แต่มีการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ด้วย

นอกจากนี้ไม่ได้อยู่ที่ต้นทุนแก๊สมีคนเสนอให้ปรับโครงสร้าง แต่ตนบอกไม่พอแล้ว ซึ่งต้องรื้อทั้งระบบ​ ตนทำงานมา 3 เดือน เหนื่อยแต่เมื่ออาสามาทำงานจึงไม่ต้องบ่นเรามีหน้าที่ทำงานก็พยายามทำให้ดีที่สุดสำหรับประชาชน ทั้งเรื่องของน้ำมัน พลังงาน ไฟฟ้า ระบบอะไรที่ไม่ดีมา 30-40 ปี จะรื้อให้หมด

ส่วนรัฐบาลจะต้องประกาศตัวเลขค่าไฟสองแบบหรือไม่นั้นในส่วนของกลุ่มเปราะบาง 3.99 บาทต่อหน่วย แน่นอนอยู่แล้ว หากใช้ไฟไม่เกิน 300 หน่วย ส่วนใครใช้เกินก็ต้องไปเสียในราคาที่ไม่ใช่กลุ่มเปราะบาง ซึ่งกำลังทำข้อมูลอยู่ว่าจะเสีย 4.10 หรือ 4.20 บาทต่อหน่วย โดยวันที่ 19 ธ.ค.นี้ น่าจะเสร็จแล้วเสนอ ครม.ได้

2 ภารกิจสุดหิน ‘ลดค่าไฟฟ้า-สร้าง SPR’ ใต้บังเหียน ‘พีระพันธุ์’ โจทย์ยากที่ต้องทำให้เกิด แม้เลยเถิดไปขัดขาประโยชน์บางกลุ่ม

เมื่อผลการสำรวจความคิดเห็นของพี่น้องประชาชนคนไทยต่อการบริหารงานของรัฐบาล พ.ศ. 2567 (ในการบริหารงานครบ 6 เดือน) โดย ดร.ปิยนุช วุฒิสอน ผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปรากฏออกมา พบว่า ภาพรวมประชาชนมีความพอใจมากถึงมากที่สุดต่อการบริหารงานของรัฐบาล 44.3% โดยนโยบาย/มาตรการ/โครงการของรัฐบาลที่ประชาชนมีความพึงพอใจมาก-มากที่สุดใน 5 อันดับแรก ได้แก่ นโยบาย 30 บาท รักษาทุกที่ 68.4%, มาตรการพักหนี้เกษตรกร 38.9%, มาตรการสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว 33.1%, มาตรการลดค่าไฟ 32.8% และมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้นอกระบบ 29.3%

สำหรับเรื่องที่ประชาชนต้องการให้รัฐบาลดำเนินการเร่งด่วน 5 อันดับแรก ได้แก่ ควบคุมราคาสินค้าอุปโภค-บริโภค 75.3%, ลดค่าไฟฟ้า 46.6%, แก้ปัญหาน้ำมันราคาแพง 29.5%, แก้ปัญหายาเสพติด 26.3% และแก้ปัญหาราคาพืชผลตกต่ำ 16.9%

จะเห็นได้ว่าเรื่องที่พี่น้องประชาชนคนไทยต้องการให้รัฐบาลดำเนินการโดยเร็วที่สุด 2 ใน 5 เรื่องนั้นเกี่ยวข้องกับกระทรวงพลังงานที่ ‘พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค’ หัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ และปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กำกับดูแลอยู่

ความแตกต่างในเรื่องราวเกี่ยวกับความพอใจของพี่น้องประชาชนคนไทยนั้น มีองค์ประกอบเงื่อนไข ปัจจัยที่อธิบายได้ดังนี้ นโยบาย 30 บาท รักษาทุกที่ เป็นนโยบายที่ต่อยอดมาจากนโยบาย 30 บาท รักษาทุกโรค ซึ่งนพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติคนแรก และเป็นผู้บุกเบิกวางรากฐานงานหลักประกันสุขภาพในประเทศไทย เป็นผู้ที่ได้วางรากฐานเอาไว้ และมีการพัฒนาระบบอย่างต่อเนื่องยาวนานกว่า 20 ปี 

ในขณะที่มาตรการพักหนี้เกษตรกร รัฐบาลสามารถให้นโยบายแก่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ไปดำเนินการได้เลย 

สำหรับมาตรการสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว เป็นภารกิจของกระทรวงท่องเที่ยวและการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ตลอดจนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกแห่งอยู่แล้ว และมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้นอกระบบรัฐบาลสามารถใช้กลไกของรัฐที่มีอยู่โดยกระทรวงการคลังเพื่อดำเนินการได้เลย

งานยากที่สุดใน 5 อันดับที่ทำให้พี่น้องประชาชนคนไทยมีความพอใจก็คือ ‘มาตรการลดค่าไฟ’ เพราะทุกเรื่องที่เกี่ยวข้องกับไฟฟ้านั้นอยู่ภายใต้การกำกับดแลของคุณคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ทั้งหมดทั้งสิ้น ไม่ว่าการออกใบอนุญาตผลิตกระแสไฟฟ้า การกำหนดราคาค่าไฟฟ้า โดยเฉพาะค่า Ft (Fuel Adjustment Charge (at the given time)) ซึ่งใช้ในการคำนวณเพื่อปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ หรือ ‘ค่าไฟฟ้าผันแปร’ เป็นค่าไฟฟ้าที่ปรับเปลี่ยนเพิ่มขึ้นหรือลดลง ตามการเปลี่ยนแปลงของต้นทุนค่าใช้จ่ายด้านเชื้อเพลิงและค่าซื้อไฟฟ้าจากเอกชนหรือประเทศเพื่อนบ้าน รวมไปถึงค่าใช้จ่ายที่การไฟฟ้าไม่สามารถควบคุมได้ โดยคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานเป็นผู้พิจารณาปรับค่า Ft ทุก 4 เดือน

สิ่งที่ ‘พีระพันธุ์’ ทำได้ก็คือ ใช้มาตรการต่าง ๆ ภายใต้อำนาจหน้าที่ของกระทรวงพลังงานเพื่อให้ผู้ผลิตกระแสไฟฟ้ามีต้นทุนการผลิตที่ต่ำที่สุดเพื่อไม่ให้กระทบต่อค่า Ft ซึ่ง ‘พีระพันธุ์’ ไม่ได้หยุดเพียงเท่านี้ แต่พยายามแสวงหาวิธีการและมาตรการใหม่ ๆ เพื่อทำให้ค่า Ft ต่ำที่สุด เรื่องที่กำลังทำอยู่คือ การสำรองเชื้อเพลิงปิโตรเลียมทางยุทธศาสตร์ (SPR: Strategic Petroleum Reserve) โดยนอกจากจะได้มีการสำรองน้ำมันเชื้อเพลิงและก๊าซ LPG อันเป็นก๊าซหุงต้มที่พี่น้องประชาชนคนไทยใช้กันมากที่สุดแล้ว การสำรองก๊าซ LNG อันเป็นก๊าซเชื้อเพลิงหลักในการผลิตกระแสไฟฟ้าของบ้านเราในปัจจุบันก็จะมีการสำรองเก็บไว้ด้วย 

ด้วยตลอดเวลาที่ผ่านมารัฐบาลโดยกระทรวงพลังงานไม่มีเครื่องมือ โดยเฉพาะกฎหมายที่จะช่วยในการดำเนินงานเพื่อให้ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงและก๊าซทั้ง LPG และ LNG ถูกลง และการสำรองเชื้อเพลิงดังกล่าวเป็นเรื่องของเอกชนผู้ค้าน้ำมัน ดังนั้นรัฐบาลโดยกระทรวงพลังงานจึงไม่มีเชื้อเพลิงสำรองในมือเลย จึงทำให้ภาครัฐไร้ซึ่งอำนาจในการต่อรองใด ๆ กับภาคเอกชน เพราะหากมีการสำรองเชื้อเพลิงปิโตรเลียมทางยุทธศาสตร์ (SPR) เกิดขึ้นแล้ว กระทรวงพลังงานก็จะถือครองเชื้อเพลิงเองเพียงพอต่อการใช้งานในประเทศ 50-90 วัน ซึ่งปริมาณน้ำมันสำรองดังกล่าวจะเป็นเครื่องมือที่จะทำให้ภาครัฐมีอำนาจในการต่อรองและเป็นการถ่วงดุลระบบการจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศ เพราะน้ำมันเชื้อเพลิงที่สำรองใน SPR จะมีการจำหน่ายหมุนเวียนอยู่ตลอดเวลา ทำให้ภาครัฐสามารถรู้ต้นทุนของราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่นำเข้ามาในประเทศได้โดยตลอด

ทั้งนี้เมื่อประกอบกับมาตรการที่ ‘พีระพันธุ์’ ได้ประกาศออกมา อาทิ ประกาศกระทรวงพลังงาน เมื่อวันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2567 เพื่อ ‘รื้อ’ ระบบการค้าน้ำมันเชื้อเพลิง โดยกำหนดให้ผู้ค้าน้ำมันต้องแจ้งต้นทุนให้กับหน่วยงานภาครัฐที่กำกับดูแลทุกวันที่ 15 ของเดือนซึ่งเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 51 ปี และที่อยู่ในระหว่างการดำเนินการคือ ‘รื้อระบบการปรับราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิง’ โดยผู้ค้าต้องแจ้งให้กระทรวงพลังงานทราบก่อน และให้ผู้ค้าปรับราคาขายปลีกน้ำมันได้เพียงเดือนละหนึ่งครั้ง ไม่ใช่ปรับราคากันทุกวันเช่นปัจจุบันนี้ โดยให้ปรับราคาได้ตามความเป็นจริงตามที่ราคาตลาดโลกสูงกว่าราคาต้นทุนเฉลี่ยของผู้ค้าน้ำมันในงวดเดือนนั้น ๆ ณ วันที่มีการปรับราคานั้น

การลดค่าไฟฟ้าและราคาน้ำมันเชื้อเพลิง แม้จะเป็นภารกิจที่สุดหิน แต่ ‘พีระพันธุ์’ ก็เต็มใจทำด้วยความมุ่งมั่นและตั้งใจ แม้เรื่องเหล่านี้จะไม่ง่าย ทั้งอาจขัดผลประโยชน์ของกลุ่มคนบางพวกบางกลุ่ม ซึ่งต้องใช้เวลาในการออกแบบ จัดทำกฎหมายให้มีความเหมาะสม และมีประสิทธิภาพมากที่สุด ทั้งนี้เพื่อประโยชน์สุขสูงสุดและสนองตอบความต้องการอันเร่งด่วนของพี่น้องประชาชนคนไทยทุกคน

‘พีระพันธุ์’ มอบของขวัญปีใหม่ให้คนไทย ลดค่าไฟลงจาก 4.18 บาท เหลือ 4.15 บาทต่อหน่วย

(27 พ.ย. 67) นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า กระทรวงพลังงานจะประกาศลดค่าไฟฟ้างวดม.ค.-เม.ย. 2568 จากค่าไฟฟ้าเฉลี่ยในงวดปัจจุบัน (ก.ย.-ธ.ค. 2567) ซึ่งอยู่ที่ 4.18 บาท/หน่วย ลงอีก 3 สตางค์/หน่วย หรือค่าไฟฟ้าจะลดลงเหลือ 4.15 บาท/หน่วย โดยจะมีผลตั้งแต่เดือน ม.ค-เม.ย. 2568 ทั้งนี้เพื่อช่วยบรรเทาภาระค่าครองชีพและเป็นของขวัญปีใหม่ 2568 ให้กับพี่น้องชาวไทยทุกคน

“ผมเพิ่งได้รับแจ้งเบื้องต้นเป็นข่าวดีจากทางสำนักงาน กกพ. ซึ่งจะปรับลดค่าไฟในงวดหน้า (ม.ค.-เม.ย.2568) ลงได้อีก และเหลือเฉลี่ยหน่วยละ 4.15 บาท หลังจากที่ผมได้ขอให้ทุกหน่วยงานได้ไปลองดูว่าจะสามารถลดค่าไฟลงได้อีกหรือไม่ เพื่อบรรเทาภาระค่าครองชีพให้พี่ น้องประชาชน ในนามรัฐบาลและกระทรวงพลังงานขอถือโอกาสนี้มอบเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับทุกท่าน และขอขอบคุณ กกพ.ในฐานะหน่วยงานหลักขอบคุณ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และปตท.ในการร่วมกันกับรัฐบาลช่วยเหลือพี่ น้องประชาชน” นายพีระพันธุ์กล่าว

ภายหลังจากสิ้นสุดกระบวนการรับฟังความคิดเห็นในการประชุมคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ในวันนี้ (27 พ.ย.) ได้มีมติเห็นชอบทบทวนค่าไฟฟ้าผันแปร (ค่าเอฟที) และค่าไฟฟ้าเรียกเก็บงวดเดือนม.ค.-เม.ย. 2568 โดยให้เรียกเก็บลดลงเหลือ 4.15 บาทต่อหน่วย เป็นผลจากการที่ได้มีการทบทวนตัวเลข และประมาณการที่เกี่ยวข้อง ซึ่ง กกพ.จะได้มีการประกาศอย่างเป็นทางการต่อไป

พลังงาน - กกพ. ปรับลดค่าไฟฟ้า ม.ค.- เม.ย. 2568 เหลือ 4.15 บาทต่อหน่วย จากเดิมที่เสนอ 5.49 บาทต่อหน่วย ยืดจ่ายคืนหนี้ กฟผ.-ปตท. ช่วยลดภาระประชาชน

(28 พ.ย. 67) นายสยาม บางกุลธรรม ประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ได้โพสต์อธิบายถึงการลดค่าไฟฟ้างวดม.ค.-เม.ย. 2568 จากปัจจุบัน 4.18 บาทต่อหน่วย เหลือ 4.15 บาทต่อหน่วย โดยสรุปใจความสำคัญ ว่า ปัจจุบันค่าไฟหน่วยละ 4.18 บาท และตั้งแต่ 1 ม.ค. 68 ทาง กกพ. เสนอปรับขึ้นเป็น 5.49 บาท แต่พี่ตุ๋ย- พีระพันธุ์  เสนอที่ 4.15 บาท เพื่อไม่ให้ประชาชนเดือดร้อน และกฟผ.ยังชำระหนี้ได้ 13,000 ล้านบาท สมมติปัจจุบัน ใช้ไฟ 1,000 หน่วย/เดือน เท่ากับจ่ายอยู่ 4,180 บาท ถ้ายึดตามตัวเลข กกพ. ต้องจ่าย 5,490 บาท แต่ถ้าตามตัวเลขที่พี่ตุ๋ย เสนอ เราจะจ่ายเพียง 4,150 บาท ส่วนต่างคือเดือนละ 1,340 บาท”

โดยก่อนหน้านี้ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้เปิดรับฟังความเห็นประชาชนต่อค่าไฟฟ้างวดเดือน ม.ค.-เม.ย. 2568 โดยการพิจารณาค่าไฟฟ้าแบ่งเป็น 3 แนวทาง ดังนี้

กรณีที่ 1 ค่า Ft เท่ากับ 170.71 สตางค์ต่อหน่วย รวมค่าไฟฟ้าฐานที่ 3.78 บาทต่อหน่วย โดยค่าไฟฟ้าเฉลี่ยปรับเพิ่มขึ้นเป็น 5.49 บาทต่อหน่วย โดยกรณีนี้จะเป็นการจ่ายหนี้คืน กฟผ.ทั้งหมด 85,236 ล้านบาท (หรือคิดเป็น 131.01 สตางค์ต่อหน่วย) รวมค่าส่วนต่างราคาก๊าซธรรมชาติสำหรับภาคไฟฟ้าปี 2566 หรือ AFGAS ของรัฐวิสาหกิจที่ประกอบกิจการก๊าซธรรมชาติ (กฟผ. และ ปตท.) จำนวน 15,083.79 ล้านบาท (หรือคิดเป็น 23.18 สตางค์ต่อหน่วย) รวมทั้งสิ้นจำนวน 154.19 สตางค์ต่อหน่วย

กรณีที่ 2 ค่า Ft เท่ากับ 147.53 สตางค์ต่อหน่วย รวมค่าไฟฟ้าฐานที่ 3.78 บาทต่อหน่วย ทำให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยปรับขึ้นเป็น 5.26 บาทต่อหน่วย โดยกรณีนี้ กฟผ.จะได้รับการทยอยชำระหนี้คืน 85,236 ล้านบาท ภายในเดือน เม.ย. 2568

และกรณีที่ 3 กรณีตรึงค่า Ft เท่ากับงวดปัจจุบัน (ข้อเสนอ กฟผ.) เท่ากับ 39.72 สตางค์ต่อหน่วย เมื่อรวมค่าไฟฟ้าฐานที่ 3.78 บาทต่อหน่วย ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยคงที่เท่ากับ 4.18 บาทต่อหน่วย ซึ่งกรณีนี้จะทยอยชำระคืนภาระต้นทุนคงค้าง ( AF) ที่ค้างสะสมได้จำนวน 15,094 ล้านบาท (หรือคิดเป็น 23.20 สตางค์ต่อหน่วย) โดยคาดว่า ณ สิ้นเดือน เม.ย. 2568 จะมีภาระต้นทุนคงค้างที่ กฟผ. และรัฐวิสาหกิจที่ประกอบกิจการก๊าซธรรมชาติ (กฟผ. และ ปตท.) รับภาระแทนประชาชนคงเหลืออยู่ที่ 85,226 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากสิ้นสุดกระบวนการรับฟังความคิดเห็นในการประชุมคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เมื่อวันที่ 27 พ.ย. 2567 ได้มีมติเห็นชอบทบทวนค่าไฟฟ้าผันแปร (Ft) และค่าไฟฟ้าเรียกเก็บงวดเดือน ม.ค.-เม.ย. 2568 โดยให้เรียกเก็บลดลงเหลือ 4.15 บาทต่อหน่วย เป็นผลจากการที่ได้มีการทบทวนตัวเลข และประมาณการที่เกี่ยวข้อง ซึ่ง กกพ.จะได้มีการประกาศอย่างเป็นทางการต่อไป

ทำความเข้าใจเรื่องการปรับค่าไฟ งวด ม.ค. - เม.ย. 68

(28 พ.ย. 67) ทำความเข้าใจ เรื่องการปรับค่าไฟ งวด ม.ค.- เม.ย. 68 (อีกครั้ง) หลัง ‘พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค’ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.อุตสาหกรรม ขอให้คิดแค่ 4.15 บาท/หน่วย จากที่ กกพ. เสนอแนวทางแรก คิดในอัตรา 5.49 บาท/หน่วย เพื่อนำเงินไปคืนหนี้ กฟผ.และปตท.ทั้งหมด แต่ ‘พีระพันธุ์’ เสนอยืดหนี้แล้วจ่ายบางส่วน เพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชน 


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top