Monday, 28 April 2025
ElectionTime

‘ชัยวุฒิ’ เผย เสียงตอบรับ ‘พปชร.’ ดีเยี่ยม ประชาชนคุ้นเคยกันดี - ฐานแฟนคลับแน่น

(3 เม.ย.66) ที่อาคารกีฬาเวสน์ 2 ศูนย์เยาวชนไทย-ญี่ปุ่น ดินแดง นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ในฐานะรองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) กล่าวถึงการลงพื้นที่ใน กทม. ว่าเท่าที่ไปช่วยผู้สมัคร เสียงตอบรับดีมาก ซึ่งพรรค พปชร. เป็นภาพที่เคยได้รับการเลือกตั้งใน กทม. มาแล้วรอบหนึ่ง ประชาชนรู้จักคุ้นเคยอยู่แล้ว จึงเชื่อว่ายังมีแฟนคลับอยู่

ผู้สื่อข่าวถามว่า ยังมั่นใจว่าจะได้ ส.ส.เท่าเดิมใช่หรือไม่ นายชัยวุฒิ กล่าวว่า เป็นเป้าหมาย เราไม่อยากให้น้อยกว่าเดิม จะพยายามทำให้ดีที่สุด 

เมื่อถามว่า วันนี้มีกลุ่มทะลุวังมาเคลื่อนไหวทางการเมือง นายชัยวุฒิ กล่าวว่า คิดว่ากลุ่มนี้พยายามเคลื่อนไหวทางการเมือง ก็เป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญ แต่ตนเคยบอกแล้วว่าการเคลื่อนไหวแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 112 สุ่มเสี่ยงที่จะขัดรัฐธรรมนูญ และผิดกฎหมายได้ จึงอยากให้ระมัดระวัง 

เมื่อถามว่า เป็นห่วงว่าจะเกิดความวุ่นวาย เหมือนกรณีเวทีปราศรัยที่สะพานพระราม 8 หรือไม่ นายชัยวุฒิ กล่าวว่า ไม่วุ่นวายหรอก คนไม่กี่คน ไม่ใช่คนส่วนใหญ่ของประเทศ คนในประเทศส่วนใหญ่เขาไม่เดือดร้อนเรื่องนี้หรอก ส่วนใหญ่ไม่ได้มีปัญหากับมาตรา 112 เขาไม่อยากแก้กันหรอก เป็นแค่ความต้องการของคนกลุ่มหนึ่ง ซึ่งตนเชื่อว่ามีการยุยงปลุกปั่น

‘คิง ณภัทร’ เผย ตั้งใจยื่นสมัคร ส.ส. 5 เม.ย. นี้ หลังหลายคนกังวลไม่มีชื่อสมัคร ส.ส. วันแรก

(3 เม.ย.66) นายณภัทร ชุ่มจิตตรี ว่าที่ผู้สมัครส.ส. เขต 1 ประจวบคีรีขันธ์ ได้ออกมาโพสต์คลิปชี้แจงประเด็นที่ไม่มีรายชื่อผู้สมัคร ส.ส. ในวันที่ 3 เมษายน 2566 โดยระบุว่า…

“สวัสดีครับ พ่อแม่พี่น้องชาวประจวบคีรีขันธ์ เขต 1 ผมนายณภัทร ชุ่มจิตตรี หรือ คิง ก่อนบ่าย วันนี้จะมาชี้แจงประเด็นที่พี่น้องประชาชนหลายคนสงสัยว่า ทำไมผมไม่มีรายชื่อเป็นผู้สมัคร ส.ส. เขต 1 ประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งวันนี้เป็นวันเปิดรับสมัครเป็นวันแรก เนื่องด้วยผมตั้งใจไว้ว่าจะไปสมัครในวันพุธ ที่ 5 เมษายน 2566

‘ประเดิมชัย’ เตรียมหาเสียง ผลักดันสร้าง ‘สถานพยาบาล’ ใกล้บ้าน แก้ปัญหาผู้ป่วยไม่ต้องเดินทางไกล จ่อลงพื้นที่ทุกวัน 6 โมงครึ่ง-1 ทุ่ม

(3 เม.ย.66) ที่อาคารกีฬาเวสน์ 2 ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร (ไทย-ญี่ปุ่น) เขตดินแดง ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศการรับสมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง ของกรุงเทพมหานคร (กทม.) ซึ่งเปิดรับสมัครระหว่างวันที่ 3-7 เมษายนนี้

โดยเวลา 07.00 น. บรรยากาศวันแรก มีผู้สมัครหัวหน้าพรรค แกนนำพรรคและกองเชียร์ผู้สมัคร ส.ส. มาร่วมให้กำลังใจเป็นจำนวนมาก โดยจอดรถที่มีป้ายหาเสียงริมถนน รอนำตัวเลขมาติดที่ช่องว่าง หลังจากทราบหมายเลขผู้สมัคร

ในส่วนของพรรคภูมิใจไทย นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ หรือบี ผอ.เลือกตั้งกรุงเทพมหานคร พรรคภูมิใจไทย และอดีต รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม นำทีมผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขต กทม. จำนวน 33 คน ขึ้นรถโดยสารพลังงานไฟฟ้า ซึ่งเป็นหนึ่งในนโยบายหาเสียง เคลื่อนออกจากพรรคภูมิใจไทย มาถึงหน้าอาคารกีฬาเวสน์ 2 ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร (ไทย-ญี่ปุ่น) เขตดินแดง ก่อนให้สัมภาษณ์ว่า ในการเลือกตั้งครั้งนี้พรรคภูมิใจไทยพร้อมมาก

นายประเดิมชัย บุญช่วยเหลือ เขต 5 ห้วยขวาง วังทองหลาง พรรคภูมิใจไทย ซึ่งย้ายมาจากพรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์หลังจับได้หมายเลข 8 โดยกล่าวถึงกระแสโจมตีพรรคว่า เชื่อว่าประชาชนไม่ได้เชื่อทันที แต่จะพิจารณาสิ่งที่ได้รับรู้ว่าจริงหรือไม่

“ใช่ว่าประชาชนพูดแล้วจะเชื่อ หรือพูดแล้วจะฟัง เขาฟังและนำกลับไปคิดว่าจริงหรือไม่จริง”

เมื่อถามว่า การย้ายพรรคมีผลกับฐานเสียงในพื้นที่มากน้อยแค่ไหน?

นายประเดิมชัยกล่าวว่า “แน่นอนว่า ในช่วงแรกๆ อาจจะมีผล แต่จากการที่ผมได้ลงพื้นที่และทำความเข้าใจกับพี่น้องประชาชน ถึงจุดที่นำไปสู่การเปลี่ยนพรรคของผม เพราะผมต้องการจะมาทำประโยชน์อะไรให้กับคนกรุงเทพมหานคร ในฐานะที่เป็นสมาชิกสภากรุงเทพมหานครมา 5 สมัย 20 ปี ซึ่งก็เก็บเกี่ยวเอาประสบการณ์ความเดือดร้อน ความต้องการของคนกรุงเทพมหานคร รวมทั้งในพื้นที่ที่ผมลงสมัครรับเลือกตั้ง ไม่ว่าจะเป็นเขตห้วยขวาง หรือเขตวังทองหลาง ยังมีปัญหาที่จะต้องได้รับการแก้ไขโดยเฉพาะในเรื่องของสถานพยาบาล ที่พี่น้องประชาชนเรียกร้องค่อนข้างมาก” นายประเดิมชัย กล่าว

นายประเดิมชัย กล่าวต่อว่า “ตอนนี้คนห้วยขวาง คนวังทองหลาง คนบางกะปิ คนจตุจักร คนลาดพร้าว ไม่มีโรงพยาบาล 

5 เขตตรงนี้ไม่มีโรงพยาบาลใกล้เคียง จะต้องเดินทางไปรักษาตัวไกล ตรงนี้ผมก็นำมาเป็นนโยบายในการที่จะผลักดัน เพื่อขับเคลื่อนให้มีสถานพยาบาลรองรับดูแลคน 5 เขตการปกครองนี้” นายประเดิมชัย กล่าว

เมื่อถามว่า พรรคภูมิใจไทยค่อนข้างคาดหวังกับเขตของคุณประเดิมชัยอย่างมาก รู้สึกกดดันหรือไม่? นายประเดิมชัยเผยว่า ไม่รู้สึกกดดันแต่อย่างใด

“ไม่มีเลย เพราะผมคิดว่าผมลงสมัครมาตั้งแต่ปี 2533 จนกระทั่งถึงปี 2557 ในฐานะที่เป็นสมาชิกสภาท้องถิ่น ลง ส.ข.ปี 33 ลง ส.ก.ปี 2537-2557 ก็เปลี่ยนพรรคมาแล้วอย่างน้อย 4 พรรค

แต่การเปลี่ยนพรรคเปลี่ยนค่าย ผมคิดว่าเป็นเรื่องปกติ เพราะผมยึดถือเอาความเดือดร้อน เอาประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง สิ่งใดที่ผมสามารถไปยืนอยู่และสามารถจะทำประโยชน์ให้กับพี่น้องประชาชนได้ ผมก็เลือกที่จะไปอยู่” นายประเดิมชัยระบุ

เมื่อถามว่า คิดว่าการเลือกตั้งรอบนี้ คนกรุงเทพฯจะเลือกจากกระแสพรรค หรือบุคคล นายประเดิมชัยกล่าวว่า “ณ ขณะนี้ ผมคิดว่าทุกพรรคต่างก็นำเสนอนโยบาย ถามว่าวันนี้คนกรุงเทพฯตัดสินใจ ในการที่จะเลือกใครหรือยัง ผมเชื่อว่าคนส่วนใหญ่ยังไม่ได้ตัดสินใจ ยังรอที่จะศึกษา ทั้งคุณสมบัติของผู้สมัครรวมทั้งนโยบายของแต่ละพรรค ที่จะสามารถนำไปแก้ไขปัญหาหรือตรงกับความต้องการที่เขาอยากจะได้ ฉะนั้น วันนี้ผมยังไม่เชื่อว่าคนกรุงเทพฯตัดสินใจ

‘ชพก.’ ย้ำนโยบาย ศก.สายมู เดินสายขอพร-เสริมบารมี เข้าสักการะศาลหลักเมือง-พระพรหมเอราวัณ ก่อนสู้ศึกเลือกตั้ง

(3 เม.ย.66) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากเสร็จสิ้นการจับหมายเลขผู้สมัคร ที่ อาคารกีฬาเวสน์ 2 ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร (ไทย-ญี่ปุ่น) เขตดินแดง เรียบร้อยแล้ว นายกรณ์ จาติกวณิช พร้อมด้วย นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี นายวรวุฒิ อุ่นใจ รองหัวหน้าพรรค นายวรนัยน์ วาณิชกะ ที่ปรึกษาหัวหน้าพรรค และผู้สมัครเดินทางเข้าสักการะศาลหลักเมืองเป็นพรรคแรก จากนั้นนายกรณ์ ได้นำทีม ผูกผ้า 3 สี ก่อนที่ทั้งหมดจะนำพวงมาลัยดอกดาวเรือง เดินเข้ามาสักการะ องค์พระหลักเมือง เพื่อความเป็นสิริมงคล ก่อนลุยศึกเลือกตั้งต่อไป 

นายกรณ์ เปิดเผยว่า ตนได้ขอพรเพื่อให้ประชาชนคนไทยอยู่ดีมีสุข อิ่มท้อง มีงานการดีๆ ทำ มีเงินในกระเป๋า และข้าวของต้องไม่แพง ซึ่งตนจะเป็นหนึ่งในผู้ช่วยผลักดันให้ความหวังเหล่านี้เป็นจริงได้ด้วยความเป็นมืออาชีพทางเศรษฐกิจของทีมชาติพัฒนากล้า

ผวาบัตรโหล ‘สองใบ’ แต่คนละเบอร์ ‘พรรคกระแส’ อาจต้องเติม ‘กระสุน’

หลังจบความคึกคักกับการลงสมัคร ส.ส.เขตในช่วงเช้าจากทุกพรรค ก็อยากขอสรุปสถานการณ์หลักๆ ในรอบวัน รวมถึงสิ่งที่เชื่อว่าจะเกิดขึ้นต่อจากนี้ให้ดูเป็นข้อๆ... 

1. เป็นไปด้วยความคึกคักสำหรับการสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.ในวันแรก 3 เม.ย. ซึ่งเป็น ส.ส.เขตทั่วประเทศ ส่วนวันที่ 4 เม.ย.จะเป็นวันแรกที่รับสมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ หรือ ปาร์ตี้ลิสต์ และจะคึกคักและลุ้นกันระทึกยิ่งกว่า เพราะเบอร์พรรคจะเหมือนกันทั้งประเทศ ส่วนเบอร์เขตนั้นเขตใครเขตมัน จับสลากได้เบอร์ไหนก็เบอร์นั้น

2) ระบบเลือกตั้งบัตรสองใบตามกฎหมาย กกต.ได้ออกแบบแล้ว บัตรเลือกตั้งส.ส.เขตสีเขียว มีช่องกาเครื่องหมาย มีเบอร์ผู้สมัคร แต่ไม่มีชื่อและสัญลักษณ์ (โลโก้) พรรค ที่เรียกกันตอนนี้ว่าเป็น ‘บัตรโหล’ ส่วนบัตรเลือกปาร์ตี้ลิสต์นั้นสีฟ้า มีช่องกาเครื่องหมาย, โลโก้พรรคและเบอร์พรรค

3) อธิบายเพิ่มเติมว่า เลือกตั้ง 2566 กำหนดให้เลือกตั้งแบบบัตรสองใบแบบแยกบัตรแยกเบอร์ ต่างจากปี 2554และ 2550 ที่กฎหมายกำหนดให้ทั้งคน (ผู้สมัคร ส.ส.เขต) และพรรคใช้เบอร์เดียวกัน...แบบว่าพรรคจับได้เบอร์ไหน ผู้สมัครก็ใช้เบอร์นั้นเหมือนกันทั้งประเทศ...ซึ่งแบบนี้พรรคใหญ่หรือพรรคที่กระแสดีชอบเป็นยิ่งนัก...  เพราะทำแคมเปญง่าย...

นครพนมเดือด!! 'ครูแก้ว' ประกาศล้มแลนด์สไลด์ มั่นใจ!! พา 'ภูมิใจไทย' ชนะยกจังหวัดทั้ง 4 เขต

(3 เม.ย.66) วันแรกในการเปิดรับสมัคร ส.ส.แบบแบ่งเขตทั่วประเทศ โดยตั้งแต่เช้าที่ศาลาประชาคมยงใจยุทธ ศาลากลางจังหวัดนคพนม บรรยากาศเป็นไปด้วยความคึกคัก มีบรรดาผู้สมัคร ส.ส. พรรคการเมืองต่างๆ เดินทางมารอคิวอย่างพร้อมเพรียง ซึ่งมีกองเชียร์ของแต่ละพรรคแห่มาให้กำลังใจอย่างคับคั่ง แต่เข้มงวดตามระเบียบกฎหมายเลือกตั้ง ห้ามจัดการรื่นเริงทั้งแตรวงหรือกลองยาว ต่างจากการเลือกตั้ง ส.ส.ที่ผ่านมา คงมีเพียงการเดินทางมาให้กำลังใจ คล้องมาลัยและมัดผ้าขาวม้าแบบที่เคยปฏิบัติมา เพื่อเป็นสิริมงคลตามวัฒนธรรมทางการเมือง

โดยการเปิดรับสมัคร ส.ส.นครพนมทั้ง 4 เขตเลือกตั้ง มีพรรคการเมืองใหญ่ที่สำคัญน่าจับตามอง เพียงแค่ไม่กี่พรรค ที่มีฐานคะแนนนิยม รวมถึงตัวผู้สมัครคนสำคัญ อาทิ เจ้าถิ่นที่ผูกขาดเก้าอี้ ส.ส.มาตั้งแต่สมัยเป็นพรรคความหวังใหม่ ถึงพรรคไทยรักไทย พลังประชาชน และเป็นพรรคเพื่อไทยในปัจจุบัน ตามด้วยพรรคภูมิใจไทย พรรคนี้ถือเป็นผู้ท้าชิงที่น่ากลัวมาก และพรรคพลังประชารัฐ พรรคก้าวไกล พรรคไทยสร้างไทย พรรครวมไทยสร้างชาติ พรรคเสรีรวมไทย เป็นต้น

ส่วนพรรคการเมืองที่น่าจับตามอง และเชื่อว่าจะต้องมีการแข่งขันกันอย่างเข้มข้น คือ พรรคเพื่อไทยกับพรรคภูมิใจไทย โดยในวันนี้ ทางพรรคเพื่อไทย มีแม่ทัพคนสำคัญ คือ นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช อดีต ผวจ.นครพนม คนที่ 29 (2537-2540) อดีตเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ในรัฐบาลของนายทักษิณ ชินวัตร และ รมช.ศึกษาธิการ ในรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ปัจจุบันเป็นรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย นำทีมผู้สมัครพรรคเพื่อไทยทั้ง 4 เขตเดินทางมาสมัคร นอกจากนี้ ยังมีนายสมนาม เหล่าเกียรติ ผู้สมัคร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย และ นายแพทย์ ประสงค์ บูรณ์พงศ์ รวมถึงมีแกนนำครอบครัวเพื่อไทยทั้ง 4 เขตเลือกตั้ง มาร่วมให้กำลังใจด้วย

ในเบื้องต้นก่อนจะมีการจับสลากเลือกลำดับว่า ใครจะเป็นผู้หยิบเบอร์ประจำตัวในการหาเสียงครั้งนี้นั้น นายศุภชัย โพธิ์สุ แกนนำพรรคภูมิใจไทย ได้ขอหารือร่วมกับ ดร.มนพร เจริญศรี แกนนำพรรคเพื่อไทย และ ดร.สมชอบ นิติพจน์ แกนนำพรรครวมไทยสร้างชาติ เพื่อทำข้อตกลงกันว่า ให้มีการจับเลือกเบอร์เพียงพรรคละคน สมมติแกนนำพรรคคนใดคนหนึ่งล้วงได้เบอร์ 1 ส่วนที่เหลืออีก 3 เขต ก็ได้เบอร์ 1 เหมือนกันหมด หลังตกลงเป็นที่เข้าใจแล้ว ก็ไปสอบถามนายสมพล พงษ์พิพัฒน์ ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดนครพนม ซึ่งได้รับคำตอบว่าทาง กกต.ไม่มีกฎหมายรองรับ จึงต้องกลับมาจับสลากเลือกเบอร์ของตัวเองในแต่ละเขตตามเดิม

ผลการจับสลากเลือกเบอร์ประจำตัวผู้สมัคร เฉพาะ 2 พรรคการเมืองใหญ่ เริ่มจากพรรคเพื่อไทยเขตเลือกตั้งที่ 1 ดร.ภูมิพัฒน์ พชรทรัพย์ ได้เบอร์ 6 เขตเลือกตั้งที่ 2 ดร.มนพร เจริญศรี เบอร์ 2 เขตเลือกตั้งที่ 3 ดร.ไพจิต ศรีวรขาน เบอร์ 2 และเขตเลือกตั้งที่ 4 นายณพจน์ศกร ทรัพยสิทธิ์ ได้เบอร์ 1 ภายหลังการสมัครทางทีมงานพรรคเพื่อไทย ได้เดินทางไปสักการะขอพรสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เพื่อเป็นสิริมงคลทั้งศาลหลักเมืองนครพนม องค์พญาศรีสัตตนาคราช และ องค์พระธาตุพนม พร้อมพบปะปราศรัยกับประชาชน แกนนำครอบครัวเพื่อไทย

‘ธนาธร’ ชี้ ‘กระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น’ มีผลดีมหาศาล ช่วยขับเคลื่อน ศก.-เกิดการจ้างงาน-ลดความเหลื่อมล้ำ

(3 เม.ย. 66) ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า พร้อมด้วย ชำนาญ จันทร์เรือง กรรมการบริหารคณะก้าวหน้า และวสันต์ เหลืองประภัสร์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมวงเสวนาวิชาการ ‘30 ปี ข้อถกเถียงเรื่องการกระจายอำนาจ กับการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดของไทย’ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการแถลงข่าว โดย สันติสุข กาญจนประกร บรรณาธิการ The Voters ที่กำลังเปิดการรณรงค์ล่ารายชื่อเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดทั้งประเทศ

ธนาธร ระบุว่าการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดในประเทศไทยนั้นยังเป็นโจทย์ที่ต้องมาพูดคุยกันในรายละเอียดอีกมาก แต่หลักการสำคัญที่สุดที่ไม่อาจขาดได้ คือการทำให้หน่วยการปกครองที่มีอำนาจสูงสุดทั้งในระดับจังหวัดและในระดับท้องถิ่นพื้นฐานอย่างเทศบาล และ อบต. ต้องมาจากการเลือกตั้งของประชาชน ซึ่งไม่ใช่รูปแบบที่เป็นอยู่ในปัจจุบันของการปกครองท้องถิ่น ภายใต้กลไกราชการส่วนกลางและส่วนภูมิภาคแน่ ๆ

การจัดความสัมพันธ์ระหว่างส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น ที่เป็นอยู่ในปัจจุบันเป็นปัญหาอย่างมาก โดยเฉพาะในเรื่องของอำนาจและงบประมาณ ที่เต็มไปด้วย ‘งบฝาก’ ให้ท้องถิ่นทำภารกิจที่ไม่ใช่เรื่องของท้องถิ่น แต่แทบไม่มีงบประมาณให้ท้องถิ่นได้ทำเรื่องของตัวเองจริงๆ กลายเป็นอุปสรรคที่บดบังเจตนารมณ์ของประชาชนที่จะสร้างบ้านสร้างเมืองของตัวเอง ทำให้ประชาธิปไตยไม่มีความหมาย ทำให้การเลือกตั้งในระดับท้องถิ่น ไม่มีครั้งไหนที่ทำให้ชีวิตดีได้อย่างมีนัยสำคัญ

ธนาธรกล่าวต่อไปว่า ในด้านหนึ่งการรวมศูนย์เช่นนี้คือต้นเหตุหนึ่งของความเหลื่อมล้ำที่รุนแรงมากในประเทศไทย ที่สะท้อนออกมาให้เห็นได้อย่างชัดเจนที่สุดในต่างจังหวัด งานและรายได้ที่กระจุกตัวอยู่แต่เฉพาะตามเมืองใหญ่ โดยเฉพาะกรุงเทพมหานคร นอกจากนี้ระบบราชการรวมศูนย์ยังเป็นปัจจัยที่ฉุดรั้งขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยมากที่สุดเป็นอันดับหนึ่งด้วย นั่นเป็นเพราะภายใต้โครงสร้างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน การอนุมัติโครงการใด ๆ แม้กระทั่งการสร้างสะพานลอยสักเส้นหนึ่งในตำบลหนึ่ง ล้วนแต่เป็นเรื่องของส่วนกลาง ต้องรอให้ถูกหยิบยกมาพิจารณาแล้วรอการอนุมัติ ทำให้ทุกการแก้ปัญหาเป็นเรื่องล่าช้า

เรื่องของอำนาจท้องถิ่นจึงเป็นเรื่องที่ส่งผลโดยตรงในทุกมิติของชีวิตประชาชน โดยเฉพาะในเรื่องเศรษฐกิจปากท้อง และได้เกิดข้อพิสูจน์มาแล้วว่าการกระจายอำนาจสามารถระเบิดพลังทางเศรษฐกิจได้จริง อย่างเช่นที่ญี่ปุ่น ที่ในปลายทศวรรษที่ 1980 เมื่อเผชิญกับวิกฤติฟองสบู่แตก ต้องหา new s-curve (อุตสาหกรรมใหม่) ที่จะพาประเทศไปข้างหน้าได้ สิ่งที่ญี่ปุ่นทำคือการกระจายอำนาจอย่างเต็มรูปแบบ เกิดการยกเลิกกฎหมายกว่า 100 ฉบับที่เดิมเคยให้ส่วนกลางเป็นผู้มีอำนาจตัดสินใจในทุกเรื่องของท้องถิ่น เปลี่ยนมาเป็นการให้ท้องถิ่นมีอำนาจเต็ม จนแต่ละเมืองเริ่มมีการผลักดันสถานที่ท่องเที่ยว สินค้าและผลิตภัณฑ์ของท้องถิ่นขึ้นมาเป็นจุดขายใหม่ ออกแบบระบบขนส่งสาธารณะ และบริการสาธารณะต่าง ๆ ของตัวเองขึ้นมา

ธนาธรกล่าวต่อไป ว่า new s-curve คือสิ่งที่ประเทศไทยก็กำลังพยายามแสวงหาอยู่เช่นกัน เพราะอุตสาหกรรมที่เป็นเสาหลักของประเทศไทยมาโดยตลอดอย่างยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ มาถึงจุดอิ่มตัวของมันเองแล้ว แม้จะเพิ่มการลงทุนในรูปแบบเม็ดเงินใหม่ได้ แต่ไม่อาจเพิ่มกำลังการผลิต ไม่สามารถนำไปสู่การจ้างงานใหม่ ๆ ได้อีกต่อไป เรียกได้ว่าอุตสาหกรรมทั้งยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ จบที่ยุคนี้แล้ว

'กูรูใหญ่' ฟันธง!! พปชร. หัวหอกขั้วที่ 3 ตั้งรัฐบาล ได้เวลาการเมืองยุคใหม่ที่เปิดเผยตรงไปตรงมา

(3 เม.ย.66) นายไพศาล พืชมงคล นักกฎหมาย และอดีตกรรมการผู้ช่วยรองนายกรัฐมนตรี (พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า การเมืองยุคใหม่ที่เปิดเผยตรงไปตรงมา สง่างาม!!!

1.ในวาระวันสมัครรับเลือกตั้ง2566 วันแรก ลุงป้อม ไสช้างออกมากลางสมรภูมิแล้ว ประกาศพร้อมเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 โดย “จะเป็นนายกฯ ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน” จึงสวม 3 บท คือ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ลงสมัครรับเลือกตั้งแบบปาร์ตี้ลิสต์ และเป็นแคนดิเดตนายกลำดับ 1 ของ พปชร.

2.ในขณะเดียวกันก็เป็นแกนพรรคขั้วที่สาม ซึ่งขณะนี้มี 5 พรรค เตรียมการจัดตั้งรัฐบาลหลังเลือกตั้งไปพร้อมกัน และจัดขบวน 6 สาย ประสาน ส.ว. ประกันให้ได้เสียงเกิน 376 ในการเลือกนายกรัฐมนตรี

3.ในการฟอร์มรัฐบาลจะให้มีเสียงในสภาผู้แทนราษฎรเกิน 300 เสียง ซึ่งอาจมี 3 พรรคเป็นฝ่ายค้าน 150 เสียง เพื่อความงดงามในระบอบประชาธิปไตย ใช้ยุทธศาสตร์ก้าวข้ามความขัดแย้งเริ่มต้นใหม่ประเทศไทย และสามัคคีประชาชาติไทย ทำสงครามกับความยากจน

จาก 'โรงงานยาสูบเก่า' พื้นที่กว่า 311 ไร่ สู่โครงการ 'สวนเบญจกิติ' สวนสาธาณะแห่งใหม่ ปอดใหญ่ใจกลางเมือง เพื่อประชาชนทุกคน

หากจะบอกว่า 'สวนป่าเบญจกิติ' คือสิ่งปลูกสร้างที่ช่วยเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ให้กับกรุงเทพ คงไม่ผิดไปนัก จากพื้นที่ที่ซึ่งเป็นของโรงงานยาสูบเดิม ปัจจุบันถูกปรับปรุงโฉม ให้กลายเป็น 'สวนสาธารณะ' แบบเต็มรูปแบบ มากไปกว่านั้น ยังถือเป็น 'ป่าในเมือง' หรืออาจเรียกได้ว่าเป็น 'ปอดใหญ่' ที่ช่วยสร้างสมดุลทางธรรมชาติให้กับพื้นที่กรุงเทพมหานคร

ย้อนเวลากลับไปราวปี พ.ศ.2535 กรมธนารักษ์และกระทรวงการคลัง ผู้เป็นเจ้าของที่ดินของโรงงานยาสูบ มีความตั้งใจที่จะคืนพื้นที่บริเวณดังกล่าวนี้ให้เป็นสวนสาธารณะให้กับคนเมือง โดยทำการปรับปรุงภูมิทัศน์พื้นที่โรงงานยาสูบเดิม ราว 130 ไร่ ให้กลายเป็นสวนน้ำเบญจกิติ 

กระทั่งต่อมา ได้มีการทยอยย้ายโรงงานยาสูบออกไปยังจังหวัดพระนครศรีอยุธยาจนหมดสิ้น ทำให้พื้นที่เดิมอีกกว่า 300 ไร่ ได้รับการขยายสร้างให้เป็น 'สวนป่าเบญจกิติ' โดยโครงการดังกล่าวถูกสร้างขึ้นในปี 2559 ในรัฐบาลของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา กระทั่งเสร็จสมบูรณ์ในปี 2565 พร้อมเปิดให้ประชาชนได้เข้ามาใช้ประโยชน์บนพื้นที่กว่า 300 ไร่แห่งนี้

สีสันวันรับสมัคร ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ แฟนคลับแห่เชียร์-ให้กำลังใจ ฟาก ‘ชูวิทย์’ โผล่จุดรับสมัคร ทักก้าวไกลปมงูเห่าในพรรค

(4 เม.ย.66) ที่อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เขตดินแดง ซึ่งคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กำหนดให้เป็นสถานที่รับสมัคร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ และรับแจ้งรายชื่อบุคคล ซึ่งพรรคการเมืองนั้นมีมติว่าจะเสนอให้สภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ระหว่างวันที่ 4-7 เมษายน 2566 บรรยากาศเป็นไปด้วยความคึกคัก โดยมีบรรดากองเชียร์จากพรรคต่างๆ เดินทางเข้ามาให้กำลังใจผู้สมัคร ส.ส.ของพรรคตัวเอง

เช่น พรรคเพื่อไทย (พท.) เหล่ากองเชียร์ต่างตะโกนว่า “แลนด์สไลด์ เพื่อไทย สู้ๆ” พรรคไทยศิวิไลย์ รวมทั้ง พรรคเพื่อชาติ (พช.) นำโดย น.ส.ปวิศรัฐฐ์ ติยะไพรัช หัวหน้าพรรค นพ.เรวัต วิศรุตเวช แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ร.อ.ดร.จารุพล เรืองสุวรรณ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี เดินทางถึงศาลาว่าการ กทม. ตั้งแต่เวลา 06.35 น.


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top