Wednesday, 14 May 2025
Econbiz

📌‘พาณิชย์’ เปิดงานบางกอกเจมส์ครั้งที่ 70 สุดตระการตา คาดเงินสะพัดกว่า 100 ล้านเหรียญสหรัฐ

เมื่อวานนี้ (9 ก.ย. 67) นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานเปิดงานแสดงสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับครั้งที่ 70 (The 70th Bangkok Gems and Jewelry Fair) ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ (QSNCC) จัดโดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) ร่วมกับ สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ GIT และสนับสนุนโดยองค์กรภาครัฐและเอกชนรวมถึงสมาคมการค้าสำคัญในอุตสาหกรรมฯ 16 องค์กร โดยงานนี้มีกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 9 - 13 กันยายน 2567 จัดแสดงเต็มพื้นที่ชั้น G และ LG (Hall 1 - 8)

นายวุฒิไกร กล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์ ได้จัดงานแสดงสินค้า Bangkok Gems and Jewelry Fair มาอย่างต่อเนื่องยาวนานกว่า 40 ปี เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการทุกระดับได้พบและเจรจาธุรกิจในระดับนานาชาติ และเป็นที่น่ายินดีว่างานบางกอกเจมส์เติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดดในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา จนปัจจุบันเป็น 1 ใน 4 งานแสดงสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับสำคัญที่ผู้ค้าจากทั่วโลกต้องปักหมุดมาเยือน สำหรับงานบางกอกเจมส์ครั้งที่ 70 นี้ ได้รับการตอบรับอย่างล้นหลาม มีผู้เข้าร่วมงานทั้งจากไทยและต่างประเทศกว่า 20 ประเทศ รวมกว่า 1,100 ราย 2,470 คูหา จัดแสดงเต็มพื้นที่ ชั้น G และ LG และคาดว่าจะมีผู้เข้าชมงานรวมกว่า 40,000 คน และคาดว่าจะสร้างมูลค่าการค้าได้ถึงกว่า 100 ล้านเหรียญสหรัฐ

อัญมณีและเครื่องประดับนับเป็นอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศเป็นอย่างมาก และจากจุดเด่นของประเทศไทยในการเป็นศูนย์กลางการค้าพลอยสีที่สำคัญของโลก รวมถึงคุณภาพและความประณีตในการเผาพลอยสีและการเจียระไนพลอย 

โดยนายวุฒิไกร ได้กล่าวถึงความสำคัญของอุตสาหกรรมฯ ว่า “เป็น 1 ใน 10 อุตสาหกรรมส่งออกสำคัญที่ทำรายได้สูงสุดให้กับประเทศมาอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าช่วงที่ผ่านมา ทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทยต้องเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวและความท้าทายต่าง ๆ แต่การส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับของไทย (ไม่รวมทองคำไม่ขึ้นรูป) กลับเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2566 ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.40 และสำหรับช่วง 7 เดือนแรกของปี 2567 ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.7 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา เห็นได้ชัดว่างานบางกอกเจมส์ ซึ่งเป็นงานแสดงสินค้าที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยและเก่าแก่ที่สุดในเอเชีย ถือเป็นกลไกหลักที่ช่วยผลักดันให้ประเทศไทยกลายเป็นศูนย์กลางการค้าอัญมณีและเครื่องประดับที่สำคัญของโลกในวันนี้”

ด้านนายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดี DITP ผู้จัดงานหลัก ได้กล่าวถึงงานฯ กระแสตอบรับ และแผนการขยายพื้นที่ในปีหน้าว่า “ผมขอเชิญชวนทุกท่านมาร่วมพิสูจน์ความยิ่งใหญ่ของงานบางกอกเจมส์ครั้งที่ 70 โดยสินค้าที่จัดแสดงภายในงานครอบคลุมทุกกลุ่มสินค้า โดยกว่าร้อยละ 50 เป็นกลุ่มพลอยสี ทั้งนี้ จากแบบประเมินผลความพึงพอใจของ Exhibitor และ Visitor ในงานครั้งที่ 69 พบว่าอยู่ในระดับดีเยี่ยมเฉลี่ยกว่าร้อยละ 95 และเห็นว่าเป็นงานที่ดีที่สุดเมื่อเทียบกับภาพรวมการจัดงานแสดงสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับสำคัญทั่วโลก ซึ่งจากกระแสความต้องการเข้าร่วมงานที่เพิ่มขึ้น ในปี 2568 เราได้มีแผนขยายพื้นที่จัดงานบริเวณ Foyer หน้าทางเข้าอาคารชั้น LG และมีการปรับผังคูหาใหม่ ซึ่งคาดว่าจะสามารถรองรับความต้องการของ Exhibitor เพิ่มขึ้นอีกกว่า 150 คูหาด้วย”

นายสุเมธ ประสงค์พงษ์ชัย ผู้อำนวยการ GIT ผู้ร่วมจัดงาน กล่าวเสริมว่า “นอกจากบางกอกเจมส์จะเป็นแพลตฟอร์มเจรจาการค้าสำคัญระดับโลกแล้ว ยังเป็นเวทีสร้างพันธมิตรทางธุรกิจ เวทีแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ และสร้างภาพลักษณ์อุตสาหกรรมฯ ผ่านกิจกรรมพิเศษและกิจกรรมคู่ขนานที่เกี่ยวเนื่องมากมาย ครอบคลุมทุกมิติแบบครบวงจร” โดยภายในงาน มีโซนที่น่าสนใจ ได้แก่ โซนจัดแสดงสินค้า The New Faces ซึ่งนำเสนอผลงานของผู้ประกอบการหน้าใหม่ที่มีศักยภาพ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มนักออกแบบรุ่นใหม่ The Jewellers โดย DITP กลุ่มผู้ประกอบการจากโครงการ Smart Jewelers by GIT และกลุ่มผู้ประกอบการท้องถิ่นจังหวัดจันทบุรีนำโดยสำนักงานพาณิชย์จังหวัด ฯลฯ รวมกว่า 60 ราย รวมถึงยังมีกิจกรรมพิเศษและกิจกรรมคู่ขนานอื่น ๆ มากมาย อาทิ นิทรรศการจัดแสดงสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับจากช่างฝีมือไทย ‘The Spirit of Jewelry Making’ กิจกรรม Networking Reception กิจกรรมสัมมนาภายในงานกว่า 10 หัวข้อ ครอบคลุมองค์ความรู้ที่เกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมฯ ทั้งด้านเทคนิคและการตลาด ฯลฯ

นอกจากนี้ นายสุเมธ ยังได้แนะนำบริการพิเศษจาก GIT ว่า “ในช่วงระหว่างงาน GIT ยังมีบริการตรวจสอบอัญมณีที่ได้มาตรฐานสากลและออกใบรับรองภายในช่วงงาน ซึ่งในปีนี้ เราได้ขยายพื้นที่เพื่อให้สามารถรองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ทาง GIT ยังได้มีการเปิดตัวเทคโนโลยีตู้แสง LED เพื่อการตรวจสีพลอย อันเป็นผลงานวิจัยของ GIT อีกด้วย”

ปี 2566 ไทยส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับ (ไม่รวมทองคำไม่ขึ้นรูป) คิดเป็นมูลค่า 8,658.11 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.40 และสำหรับช่วง 7 เดือนแรกของปี 2567 ไทยส่งออกฯ คิดเป็นมูลค่ากว่า 5,103.78 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.7 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา

สำหรับงาน Bangkok Gems and Jewelry Fair ครั้งที่ 70 มีกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 9 - 13 กันยายน 2567 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ Hall 1 ถึง 8 ชั้น G และ LG ติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ : www.bkkgems.com หรือ facebook.com/Bangkokgemsofficial

‘ไทยออยล์’ คว้ารางวัล ‘องค์กรที่น่าทำงานด้วยมากที่สุดในไทย ประจำปี 67’ ตอกย้ำแนวคิด ‘คนสำราญ งานสำเร็จ’ สภาพแวดล้อมองค์กรเป็นมิตรกับบุคลากร

เมื่อไม่นานมานี้ นายบัณฑิต ธรรมประจำจิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) พร้อมด้วยนายวิโรจน์ วงศ์สถิรยาคุณ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ด้านบริหารศักยภาพองค์กร และทีมงาน รับมอบรางวัลและประกาศเกียรติคุณอย่างเป็นทางการจากนายราโดลสลอว์ กอลสกี ผู้บริหารสูงสุดบริหารสายงานระบบข้อมูล และนายจีรวัฒน์ ตั้งบวรพิเชฐ ที่ปรึกษาอาวุโสด้านการสร้างแบรนด์นายจ้าง บริษัท เวิร์คเวนเจอร์ เทคโนโลจีส์ จำกัด (WorkVenture) ให้บริษัทไทยออยล์เป็น ‘Best Places to Work’ องค์กรที่น่าทำงานด้วยมากที่สุดในประเทศไทยประจำปี 2567 ซึ่งเป็นการยอมรับจาก WorkVenture บริษัทที่ปรึกษาชั้นนำด้านการสร้างแบรนด์องค์กร และผู้จัดทำโพลสุดยอด 50 องค์กรที่คนรุ่นใหม่อยากทำงานด้วยมากที่สุดของประเทศไทย (TOP50 Companies in Thailand)

รางวัลและการรับรองนี้ มาจากการสำรวจความคิดเห็นของพนักงานที่ทำงานในไทยออยล์ โดยพิจารณา 4 ด้านหลัก ได้แก่ ลักษณะงาน (Job Attributes) ค่าตอบแทนและความก้าวหน้า (Reward and Career) การดูแลพนักงานและวัฒนธรรมองค์กร (People and Culture) รวมถึงภาพลักษณ์องค์กร (Corporate Image) 

โดยผลการสำรวจถูกนำมาวิเคราะห์ตามหลักเกณฑ์มาตรฐานของ WorkVenture ซึ่งรางวัลและผลการรับรอง Best Places to Work เป็นเครื่องยืนยันว่าไทยออยล์ เป็นองค์กรที่มอบประสบการณ์เชิงบวก ทำให้พนักงานรู้สึกพึงพอใจและมองเห็นคุณค่าในการทำงาน มีวัฒนธรรมองค์กรที่ส่งเสริมการทำงานเป็นทีม มีความมั่นคงในอาชีพการงาน ได้รับโอกาสในการทำงานที่ท้าทาย พร้อมทั้งโอกาสในการเติบโตในสายอาชีพอย่างเหมาะสม

นอกจากนี้ไทยออยล์ยังให้ความสำคัญกับการสร้างประสบการณ์ที่ดีเยี่ยมแก่พนักงาน ด้วยการดูแล และสนับสนุนด้านสวัสดิการต่าง ๆ เพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้พนักงาน ซึ่งสะท้อนถึงแนวคิดในการดูแลทรัพยากรบุคคลของไทยออยล์ที่ว่า ‘คนสำราญ งานสำเร็จ’

ข้อมูลจากการสำรวจยังสะท้อนให้เห็นถึงความผูกพันของพนักงานที่มีต่อองค์กรในระดับสูงรวมถึงความมุ่งมั่นในการสร้างสภาพแวดล้อมของการทำงานที่ดีอย่างยั่งยืนให้แก่พนักงาน และผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม ตามวิสัยทัศน์ของไทยออยล์ในการ ‘สร้างสรรค์คุณภาพชีวิต ด้วยพลังงานและเคมีภัณฑ์ที่ยั่งยืน’ และนี่คืออีกหนึ่งความสำเร็จที่ไทยออยล์ภาคภูมิใจและมุ่งมั่นที่จะพัฒนาต่อไปในอนาคต เพื่อให้เป็นองค์กรชั้นนำที่ประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืน

1 ปี ‘กระทรวงพาณิชย์’ ใต้บังเหียน ‘ภูมิธรรม เวชยชัย’ ช่วย ‘เพิ่มรายได้-ลดรายจ่าย-สร้างโอกาส’ แก่ ‘คนตัวเล็ก’

ผ่านไปแล้ว 1 ปี กับบทบาทบนเก้าอี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ของนายภูมิธรรม เวชยชัย ก่อนจะลุกไปครองเก้าอี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม นายภูมิธรรม ก็ได้สร้างภาพจำไว้ได้ไม่น้อย 

แน่นอนว่า หากมองในภาพโดยผิวเผิน ก็อาจพบเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากประชาชนในเรื่องของราคาสินค้ากันพอสมควร แต่หากได้พิจารณาถึงการแถลงผลงานครบรอบ 1 ปี ซึ่งถือเป็นภารกิจสุดท้าย ในฐานะเจ้ากระทรวงฯ ของ ‘ภูมิธรรม’ โดยมี 2 รัฐมนตรีช่วยว่าการอย่าง นภินทร ศรีสรรพางค์ และ สุชาติ ชมกลิ่น คณะผู้บริหารระดับสูง ข้าราชการ เจ้าหน้าที่ในสังกัดกระทรวงพาณิชย์ ตลอดจนถึง พาณิชย์จังหวัดทั่วประเทศและทูตพาณิชย์ที่ร่วมรับฟัง จะพบว่า นโยบายในการทำงานของกระทรวงพาณิชย์ที่ตั้งไว้ 7 ด้าน มีความคืบหน้าที่น่าสนใจพอสมควร ไม่ว่าจะเป็น…

1.ลดค่าใช้จ่าย เพิ่มรายได้ ขยายโอกาส 2.บริหารให้เกิดความสมดุลระหว่างผู้บริโภค เกษตรกร ผู้ประกอบการ 3.ทำงานเชิงรุกระหว่างพาณิชย์จังหวัดและทูตพาณิชย์ 4.แก้ไขข้อจำกัดของกฎหมายหรือปรับปรุงกฎหมายที่เก่าล้าสมัย 5.ร่วมขับเคลื่อนนโยบายดิจิทัล วอลเล็ต 6.เร่งผลักดันส่งออกจากติดลบให้เป็นบวก และ 7.ผลักดันการใช้ประโยชน์จาก FTA 

โดยผลงานทั้ง 7 ด้าน สามารถดูแลรากฐานของระบบเศรษฐกิจไทย ตั้งแต่เกษตรกร ที่เป็นคนฐานรากของประเทศ อีกทั้งยังสามารถดูแลประชาชนผู้บริโภคให้มีภาระค่าครองชีพลดลง ยิ่งไปกว่านั้น การดูแลผู้ประกอบการ โดยเฉพาะ SME ให้มีขีดความสามารถในการแข่งขันและช่วยเพิ่มรายได้ ก็ดูจะได้รับความพึงพอใจต่อภาคผู้ประกอบการไม่น้อย ภายหลังจาก ‘ทีมพาณิชย์’ ซึ่งมีบทบาทบูรณาการการทำงานของกระทรวงพาณิชย์ 9 คณะขับเคลื่อนทุกภารกิจให้เดินหน้าไปพร้อมกัน ได้แก่...  

1. ส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพเกษตรกรเพื่อการพาณิชย์
2. ส่งเสริมและยกระดับ SMEs ไทย 
3. ส่งเสริมและขับเคลื่อนการค้าและเศรษฐกิจเชิงรุกไทย-จีน-อาเซียน 
4. ขับเคลื่อนการทำงานเพื่อบูรณาการตามยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์  
5. ขับเคลื่อนนโยบายโลจิสติกส์ทางการค้า 
6. พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ Big data และอินฟลูเอนเซอร์เพื่อการค้า 
7. พัฒนากฎหมายกระทรวงพาณิชย์ 
8. พัฒนาการค้าตามระเบียบการค้าโลกใหม่ 
และ 9. สร้างการรับรู้และภาพลักษณ์กระทรวงพาณิชย์ 

นอกจากนี้ ยังเน้นการทำงานเชิงรุก โดยพาณิชย์จังหวัดและทูตพาณิชย์ต้องรู้จักสินค้า เข้าใจความต้องการตลาด เข้าถึงช่องทางการค้ายุคใหม่ บริหารจัดการประโยชน์ของทุกกลุ่มทุกภาคส่วนให้มีความสมดุล ทั้งเกษตรกร ผู้ผลิต ผู้ประกอบการรายเล็ก รายกลาง รายใหญ่ และ ผู้บริโภค 

นี่คือภาพโดยรวม…

แต่ถ้าแยกย่อยลงไปตาม นโยบาย เพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย สร้างโอกาส จะพบรายละเอียดที่ดูเป็นรูปธรรมอย่างมาก…

>> นโยบายเพิ่มรายได้ 
สามารถเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรเพิ่มขึ้นเกือบ 2 แสนล้านบาท จากการปรับตัวสูงขึ้นของราคาพืชผลทางการเกษตร โดยพืชหลัก ได้แก่ ข้าว, ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์, มัน, ปาล์ม, ยางพารา / ช่วยเหลือเกษตรกรได้เกือบ 8 ล้านครัวเรือน / ดูแลปริมาณผลผลิตเกือบ 90 ล้านตัน / สร้างสถิติราคาซื้อขายข้าวเปลือกเจ้าได้สูงสุดในรอบ 20 ปี 

ส่วน พืชรอง ได้แก่ ผลไม้ พืช 3 หัว และผัก ช่วยเหลือเกษตรกรเกือบ 1.5 ล้านครัวเรือน ดูแลปริมาณผลผลิตกว่า 8 ล้านตัน สร้างสถิติราคาซื้อขายสับปะรด, กระเทียม, หอมแดง สูงสุดเป็นประวัติศาสตร์ 

ขณะเดียวกัน ยังช่วยเพิ่มรายได้ให้เกษตรกร ผู้ประกอบการชุมชน และ SME โดยผลักดันการค้า e-Commerce ทั้งในและต่างประเทศ เกิดมูลค่าการซื้อขาย 2,347.70 ล้านบาท อาทิ ทำ MOU กับ Rakuten ญี่ปุ่น เพื่อจำหน่ายสินค้าไทย / ร่วมมือกับ Amazon ขายออนไลน์ / นำสินค้าไทยขายบน Shopee มียอดขาย 71.44 ล้านบาท / เชื่อมโยงการท่องเที่ยวกับตลาดต้องชม 251 แห่ง เพิ่มรายได้ 1,987 ล้านบาท / พัฒนาหมู่บ้านทำมาค้าขาย เพิ่มรายได้ 185 ล้านบาท / ผลักดันเพิ่มมูลค่าสินค้า GI สร้างรายได้ 71,000 ล้านบาทต่อปี / ใช้ร้านอาหาร Thai SELECT ในต่างประเทศเป็นโชว์รูม เพื่อเพิ่มรายได้ให้ผู้ประกอบการและผลักดัน Soft Power ทั้งอาหาร ดนตรี / เชื่อมโยงร้านอาหาร Thai SELECT กับการท่องเที่ยว เพื่อเพิ่มรายได้ และเพิ่มรายได้ให้ร้านธงฟ้า / จัดไปรษณีย์@ธงฟ้า อำนวยความสะดวกผู้ค้าออนไลน์ และประชาชน ให้บริการ Drop Off ให้บริการรับพัสดุแล้วกว่า 1 แสนชิ้น 

นอกจากนี้ ยังได้จัดกิจกรรมฟื้นฟูเศรษฐกิจ ผ่านการจัดตลาดพาณิชย์ทั่วประเทศ โดยประสานพื้นที่จำหน่ายสินค้าให้ผู้ประกอบการรายเล็ก ในช่วง 1 ส.ค. - 30 ส.ค. จำนวน 318 ครั้ง มีผู้ประกอบการเข้าร่วม 4,683 ราย สร้างรายได้ 373 ล้านบาท / ตั้งเป้าจัดตลาดพาณิชย์ 935 ครั้ง ในช่วง ส.ค.-พ.ย.67 คาดว่าจะช่วยเพิ่มรายได้ให้ผู้ประกอบการรายย่อยได้เป็นจำนวนมาก และยังเพิ่มรายได้ให้ผู้ประกอบการจากการเข้าร่วมงานแสดงสินค้า อาทิ HoReCa 2024, THAIFEX - Anuga Asia 2024 และ STYLE Bangkok 2024 สร้างมูลค่าซื้อขายกว่า 1 แสนล้านบาท / จัด Thailand SME Synergy Expo 2024 สร้างมูลค่าการค้ากว่า 200 ล้านบาท 

>> นโยบายลดรายจ่าย 
จัดโครงการ ‘พาณิชย์สั่งลุย...ลดราคา’ ลดราคาสินค้าจำเป็น ช่วงเทศกาลสำคัญ ปีใหม่ ตรุษจีน กินเจ ก่อนเปิดภาคเรียน ลดสูงสุด 60-85% รวม 8 กิจกรรม ลดค่าครองชีพได้ 8,060 ล้านบาท และกระตุ้นเศรษฐกิจกว่า 13,400 ล้านบาท / จัด ‘โครงการธงฟ้าราคาประหยัด ลดค่าครองชีพประชาชน’ จำหน่ายสินค้าจำเป็นราคาต่ำกว่าท้องตลาด 20-40% รวม 1,134 ครั้ง ลดค่าครองชีพ 130 ล้านบาท / จัดจำหน่ายสินค้าผ่านรถโมบายในแหล่งชุมชน 450 จุด ลดค่าครองชีพ 122.09 ล้านบาท / จัดโครงการร้านอาหารธงฟ้า มีจำนวน 5,607 ร้าน ลดภาระค่าใช้จ่ายประชาชนประมาณวันละ 2.63 ล้านบาท หรือ 960 ล้านบาท 

จัดพาณิชย์สั่งลุยราคาปุ๋ย ลดต้นทุนให้เกษตรกร 102 ล้านบาท ลดต้นทุนให้ร้านค้า ผู้ประกอบการ 14,000 ราย มูลค่า 53 ล้านบาท ด้วยการงดจัดเก็บค่าเช่าพื้นที่ในกระทรวง และขอความร่วมมือตลาดในสังกัด กทม.ไม่เก็บด้วย / งดการจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์ให้ผู้ประกอบการใช้เพลงที่มีลิขสิทธิ์ถูกต้อง ฟรี 3 เดือน ตั้งแต่ ธ.ค.66 - มี.ค.67 และมอบส่วนลดค่าลิขสิทธิ์เพลง 50–55% ต่อเนื่องอีก 1 ปี ลดต้นทุนผู้ประกอบการ SME ที่ใช้งานเพลง 400,000 ราย มูลค่า 3,300 ล้านบาท และขอฝากกรมการค้ารวบรวมร้านค้า เพื่อเข้าสู่โครงการดิจิทัลวอลเล็ต 

>> นโยบายสร้างโอกาส
สำหรับการขยายโอกาสทางการค้า ได้เดินหน้าเจาะตลาดหลัก โดยจีน นำเข้าผู้ประกอบการเข้าร่วมงาน CAEXPO สหรัฐฯ / นำเอกชนลงนาม MOU ซื้อขายข้าวและอาหาร ญี่ปุ่น / ผลักดันอาหาร ผลไม้ ผ้าไทย ผ่านซีรีส์วายในงาน Thai Festival Tokyo ฝรั่งเศส / นำเอกชนเข้าร่วมงาน Cannes Film Festival 2024 คาดมูลค่าเจรจาการค้ากว่า 11,000 ล้านบาท / ใช้แคมเปญ Think Thailand Next Leve ในการบุกตลาดอินเดีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เกาหลีใต้ ซาอุดีอาระเบีย และแอฟริกาใต้ 

นอกจากนี้ ยังได้ผลักดันการค้าชายแดน และแก้ไขอุปสรรคทางการค้า โดยเฉพาะการเจรจาเปิดด่าน เพื่อรองรับฤดูกาลผลไม้ไทย / การลงนาม FTA ไทย-ศรีลังกา ผลักดันการเจรจา FTA ไทย-EFTA ให้แล้วเสร็จภายในสิ้นปี 2567 / เปิดเจรจา FTA ใหม่ อาทิ ไทย-เกาหลีใต้ ไทย-ภูฏาน และไทย-บังกลาเทศ / การรุกตลาดเมืองรอง โดยต่อยอด MOU ที่ลงนามไปแล้ว สร้างมูลค่าการค้ากว่า 5,500 ล้านบาท อาทิ ความร่วมมือกับมณฑลกานซู่ ปูซาน โคฟุ เป็นต้น

ทั้งนี้ จุดที่ชวนให้สนใจในกระทรวงพาณิชย์ชุดนี้ คือ การเพิ่มโอกาสทางการค้าผ่านกลยุทธ์ตลาดแนวใหม่ ยกตัวอย่าง การใช้ซีรีส์วาย ซีรีส์ยูริ ดึงมาย-อาโป ฟรีน-เบ็คกี้ เพื่อยกระดับสินค้าชุมชน อาทิ สมุนไพร สุราชุมชน ขนมขบเคี้ยว Tie-in เข้าสู่ตลาดโลกผ่านซีรีส์ / การเข้าร่วมงานแสดงสินค้าที่ฮ่องกง เวียดนาม ฝรั่งเศส เกิดการจับคู่ธุรกิจ 756 คู่ มูลค่า 4,102 ล้านบาท รวมถึงการใช้เครือข่าย KOL จีนไลฟ์สดขายสินค้าและบริการไทย เพื่อสร้างรายได้ให้คนตัวเล็ก ที่กำหนดวันจัดไว้ที่ 25-29 ก.ย.67 คาดการณ์มูลค่า 1,500 ล้านบาท 

ไม่เพียงเท่านี้ ยังได้จัดทำ MOU กับ Sinopec ด้วยการนำสินค้าไทยไปจำหน่ายใน Easy Joy ร้านสะดวกซื้อในปั๊มน้ำมัน คาดการณ์มูลค่า 1,000 ล้านบาท ภายใน 3 ปี / การเจรจาธุรกิจออนไลน์ (OBM) เช่น ข้าว มันสำปะหลัง ฮาลาล สินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ เป็นต้น คาดการณ์มูลค่ากว่า 6,000 ล้านบาท และยังทำงานเชิงรุกทูตพาณิชย์และพาณิชย์จังหวัด ขายกล้วยหอมเข้าสู่ตลาดญี่ปุ่น ขายลำไยเข้าสู่ตลาดจีน ขายมังคุดไปจีนและญี่ปุ่น และเปิดตลาดผ้าไทยในญี่ปุ่น เป็นต้น รวมไปถึงการช่วยสร้างโอกาสทางการค้า จากการใช้ประโยชน์จาก Big Data คิดค้า.com เพื่อให้เกษตรกร ผู้ประกอบการใช้ประโยชน์ มีสินค้าเกษตร 13 ชนิด เศรษฐกิจการค้ารายจังหวัด และเศรษฐกิจการค้าระหว่างประเทศ เป็นต้น มีผู้ใช้งานกว่า 220,000 คน เฉลี่ย 22,000 คนต่อเดือน

ที่กล่าวมานี้ คือ รากฐานใหม่ ที่ถือเป็นการคิดแบบนอกกรอบ เพื่อสร้างสรรค์งานเศรษฐกิจไทยในเชิงรุก มุ่งเน้นเข้าไปเหลือ ‘คนตัวเล็ก’ ให้ได้ประโยชน์เสียมาก ซึ่งก็ต้องยอมรับว่าทิศทางการทำงานของกระทรวงพาณิชย์แบบนี้ อาจจะดูเป็นเรื่องใหม่ในสายตาคนไทย แต่หากมันทัชใจตลาด โอกาสเก็บกินในระยะยาว ก็มีสูง...

'พีระพันธุ์' ย้ำ!! กม.ใหม่ คิดราคาน้ำมันตามต้นทุนแท้จริง แทนอิงราคาต่างชาติ พร้อมกำหนดให้การปรับราคาน้ำมันทำได้เดือนละหนึ่งครั้ง ไม่ใช่ปรับทุกวัน

(10 ก.ย. 67) นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้เผยถึงความคืบหน้าเกี่ยวกับกฎหมายด้านพลังงานฉบับใหม่ หลังจากได้เรียกประชุมผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายและด้านพลังงาน เพื่อตรวจทานรายละเอียดของกฎหมายกำกับดูแลการประกอบกิจการค้าน้ำมันที่ผมได้ยกร่างขึ้นมาในเบื้องต้นทั้งหมด 180 มาตรา 

โดยกฎหมายฉบับนี้จะกำหนดให้การปรับราคาน้ำมันทำได้เดือนละหนึ่งครั้ง ไม่ใช่ปรับทุกวัน และให้ปรับราคาได้ตามความเป็นจริงของต้นทุนน้ำมัน โดยจะนำระบบ Cost Plus ซึ่งหมายถึงระบบที่คิดราคาตามต้นทุนที่แท้จริง เข้าใช้แทนระบบอ้างอิงราคาน้ำมันต่างประเทศ และจะกำกับดูแลไปถึงเรื่องของการจำหน่ายก๊าซหุงต้มด้วย

ในกฎหมายฉบับนี้ ยังจะเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการขนส่ง ผู้ให้บริการสาธารณะกุศล รวมไปถึงสหกรณ์การเกษตร การประมง สามารถจัดหาน้ำมันมาใช้ได้เอง เพราะถือเป็นการค้าเสรีอย่างแท้จริง ประชาชนต้องมีสิทธิเสรีในการหาพลังงานของตัวเอง ถ้าหากผู้ประกอบการสามารถจัดหาน้ำมันมาใช้เองได้ในราคาที่ถูกกว่าราคาจำหน่ายหน้าปั๊ม ก็สามารถดำเนินการได้ตามหลักเกณฑ์ของกฎหมาย และเมื่อภาระต้นทุนน้ำมันของผู้ประกอบการลดลงแล้ว ก็จะอ้างต้นทุนค่าขนส่งแพงไม่ได้ และจะนำไปสู่การปรับลดราคาสินค้าตามมาด้วย  ซึ่งจะเป็นการลดภาระของประชาชนในอีกทางหนึ่ง

"ผมใช้เวลาร่างกฎหมายฉบับนี้ตั้งแต่เดือนเมษายน 2567 หลังจากที่ได้ข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับต้นทุนราคาน้ำมันที่กำหนดให้ผู้ค้าน้ำมันต้องแจ้งเป็นครั้งแรกในรอบ 50 ปี และคาดว่าการตรวจสอบร่างกฎหมายนี้จะเสร็จสิ้นสมบูรณ์ได้ภายในปีนี้ พร้อม ๆ กับกฎหมายกํากับดูแลการติดตั้งระบบไฟฟ้าโซลาร์บนหลังคาบ้าน และขอให้เชื่อมั่นว่า ผมจะเร่งผลักดันกฎหมายทั้งสองฉบับนี้ รวมทั้งกฎหมายด้านพลังงานอื่น ๆ ให้มีผลบังคับใช้โดยเร็วที่สุดเพื่อประโยชน์ของพี่น้องประชาชน และเพื่อให้การ 'รื้อ ลด ปลด สร้าง' ระบบพลังงานไทย เพื่อความมั่นคง เป็นธรรม และยั่งยืน เกิดขึ้นได้อย่างเป็นรูปธรรมครับ" นายพีระพันธุ์ กล่าว

‘นายกฯ อิ๊งค์’ เผย!! แถลง ‘ดิจิทัลวอลเล็ต’ 12 ก.ย.นี้ ยัน!! เงินหมื่นช่วยกระตุ้น-หมุน ศก.ไทยได้ทั้งระบบ

(11 ก.ย. 67) น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เดินทางเข้าอาคารชินวัตร 3 โดยมี นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรี เดินทางเข้ามาด้วยเพื่อเตรียมความพร้อมข้อมูลต่าง ๆ ในการแถลงนโยบายคณะรัฐมนตรีต่อรัฐสภา ในวันที่ 12-13 ก.ย.

โดย น.ส.แพทองธาร ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ได้กำชับรัฐมนตรีทุกกระทรวงชี้แจงทันทีในข้อสงสัยของสมาชิกรัฐสภาที่อภิปราย ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายฯเพื่อความเข้าใจ ว่า ใช่ เพราะจริง ๆ แล้วรัฐมนตรีทุกท่านตั้งแต่ตั้งรัฐบาลมา ก็ทำงานกันอยู่แล้ว จึงอยากให้รัฐมนตรีที่รับผิดชอบในเรื่องต่าง ๆ ได้ตอบเอง 

ในส่วนของนายกฯ ตอบภาพรวมได้ แต่ดีเทลการทำงานของแต่ละกระทรวง เขามีดีเทลที่เขาทำจริง ๆ ซึ่งจะชัดเจนกว่าและจะสามารถให้ข้อมูลประชาชนได้ชัดเจน และจะได้ไม่เกิดข้อสงสัยหรือเข้าใจผิดกัน จึงคิดว่าอยากให้รัฐมนตรีที่รับผิดชอบได้ตอบงานของตัวเอง

เมื่อถามว่า โครงการดิจิทัลวอลเล็ตจะเกิดความชัดเจนจากเวทีนี้ใช่หรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า ใช่ แน่นอนวันที่ 12 ก.ย.แถลงแล้ว จะแถลงภาพรวมของนโยบาย แต่นโยบายดิจิทัลวอลเล็ต รมว.การคลังจะเป็นคนแถลงรายละเอียดทั้งหมด

เมื่อถามว่า พรรคเพื่อไทยหาเสียงไว้ 10,000 บาทได้ทั้งหมดก้อนเดียวดิจิทัลวอลเล็ต แต่วิธีการทำกับการหาเสียงแตกต่างกัน จะสามารถอธิบายประชาชนอย่างไร นายกฯ กล่าวว่า มันมีความแตกต่างแน่นอน พอได้ลงมือทำจริง ๆ เมื่อเข้ามาเป็นรัฐบาลมันมีเรื่องของระบบที่จะต้องติดตั้งอีกนาน ฉะนั้นเราคิดว่าเมื่อระบบและสิ่งอื่น ๆ ยังมีข้อพิพาทต่าง ๆ ซึ่งมันต้องรอ แต่เศรษฐกิจรอไม่ได้ประชาชนรอไม่ไหว ฉะนั้นต้องปรับเปลี่ยนในจุดนี้ให้ประชาชนก่อน เพราะเรื่องเศรษฐกิจเป้าหมายของเราในการทำดิจิทัลวอลเล็ตนั่นคือการกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งระบบ หากกระตุ้นไม่พอ เรายังพร้อมที่จะปรับโครงสร้างเศรษฐกิจในแบบดิจิทัลด้วย แต่ว่ามันมาช้ากว่า แต่เศรษฐกิจต้องถูกกระตุ้นก่อน เราทำอันนี้เสร็จไม่ใช่มีแค่นโยบายเดียว เรามีอีกหลายอันที่สามารถเศรษฐกิจได้ แต่อันนี้เป็นอันหลัก เร่งด่วนและเห็นผลทันทีจึงอยากรีบทำ

เมื่อถามว่า รัฐบาลวันนี้สานต่องานของรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกฯ ซึ่งเคยมีนโยบายจ่ายเงินดิจิทัล รอบเดียวไม่แบ่งจ่ายกระตุ้นเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจภาพใหญ่ แต่วันนี้เปลี่ยนไปการกระตุ้นเศรษฐกิจจะเป็นตามเป้าหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า การวางแผนเรื่องการกระตุ้นเศรษฐกิจมีหลายเฟสที่ต้องกระตุ้น อย่าง 10,000 บาท ที่ได้แถลงไปแล้วว่าจะจ่ายก่อน ก็เป็นการกระตุ้นอันหนึ่ง ภาพใหญ่หนึ่งภาพก่อน แต่ส่วนหลังจากนั้นก็ไม่ลืมทิ้งโครงสร้างดิจิทัลที่เราจะต้องทำต่อด้วย อันนี้สำคัญ ตอนแรกเราจะไม่ให้เป็นเงินสดเลยทั้งหมด จะเป็นเงินดิจิทัลทั้งหมด แต่อย่างที่บอกเศรษฐกิจรอไม่ได้ เราก็เลยต้องแบ่งเฟส ดิจิทัลยังอยู่แต่เราอาจจะเปลี่ยนเป็นว่า 5,000 บาทไหม หรืออย่างไร เดี๋ยวให้ รมว.การคลังแถลงรายละเอียด

เมื่อถามว่า พอแบ่งจ่ายอาจจะไม่ใช่พายุหมุนเหมือนที่เราตั้งใจไว้ หลายคนมองว่าเหลือเพียงแค่หย่อมความกดอากาศต่ำ นายกฯ กล่าวว่า มันเป็นการกระตุ้นแน่นอนแต่รูปแบบเปลี่ยนไป ฉะนั้นขอให้ รมว.การคลัง แจงในรายละเอียดอีกที

เมื่อถามว่าเป้าในการกระตุ้นเศรษฐกิจจะลดลงหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า ไม่ค่ะ เพราะเราแบ่งเฟสแล้วและอย่างที่บอกไม่ได้มีนโยบายเดียว ที่จะให้การกระตุ้นเศรษฐกิจเกิดขึ้น ฉะนั้นการแบ่งทีละเฟสควบคู่กับนโยบายอื่น ๆ ก็จะทำให้เกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจดูดี

เมื่อถามว่าพรรคเพื่อไทยหาเสียงจ่ายเงินดิจิทัลขณะที่ยังไม่ศึกษารายละเอียดจึงทำให้การจ่ายเงินล่าช้า นายกฯ กล่าวว่า มันล่าช้าเพราะเราเข้ามาเราคิดว่าจริง ๆ แล้วระบบมันจะสามารถดำเนินไปได้เลย แต่มันต้องมีการรับฟัง แน่นอนถ้าไม่เกิดการรับฟังมีปัญหาอย่างแน่นอน ซึ่งต้องรับฟังหลาย ๆ ฝ่ายว่ามีข้อกังวลหรือข้อสงสัยอะไร อันนี้คือสิ่งที่เราพยายามทำให้รัดกุม และดีที่สุดสำหรับประเทศด้วย

เมื่อถามว่า ในการแถลงนโยบายต่อรัฐสภามีความมั่นใจเต็มที่หรือไม่ เนื่องจากทั้งฝ่ายค้านและ สว.จองคิวไว้เต็มที่ นายกฯ กล่าวว่า “เหรอคะ เราก็ทำเต็มที่ แต่จริง ๆ แล้วขอโฟกัสเรื่องน้ำท่วม หลังการแถลงก่อน”

เมื่อถามย้ำว่า จำเป็นถึงกับจะต้องมีองครักษ์พิทักษ์นายกฯ หรือไม่ นายกฯ ไม่ตอบได้แต่ร้องอ๋อ

เมื่อถามว่า ยังมีเสียงข้อครหารัฐบาลแพทองธาร ไม่ต้องนับปีเอาแค่นับเดือนจะรอดหรือไม่ นายกฯ ยิ้มพร้อมกล่าวว่า “ก็ช่วยกันนับ”

'รมว.เอกนัฏ' เปิดฉาก!! 'ปฏิรูปอุตสาหกรรม' หลังเข้ากระทรวงอุตฯ วันแรก พร้อมเตรียมงานเชิงรุก ก่อนลุยเก็บข้อมูลกากของเสียรั่วไหลที่ระยอง

(11 ก.ย. 67) นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมคณะ เดินทางเข้ากระทรวงอุตสาหกรรมเป็นวันแรก เพื่อเตรียมการทำงาน แลกเปลี่ยนมุมมองกับคณะผู้บริหารระดับสูง โดยมีนายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม นำเสนอภาพรวมการดำเนินงาน พร้อมแนะนำผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรม

โดยนายเอกนัฏ กล่าวถึง 'การปฏิรูปอุตสาหกรรมไทย' (Industrial Reform) เพื่อรับโอกาสใหม่ที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงของโลกใน 3 พันธกิจสำคัญเร่งด่วน ดังนี้...

1. จัดการกากอุตสาหกรรมตกค้างทั้งระบบอย่างเข้มงวด

2. ปกป้องอุตสาหกรรมไทยจากการทุ่มตลาด: ช่วยผู้ประกอบการรายย่อย ที่รับผลกระทบจากการทะลักเข้าของสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐาน และยกระดับขีดความสามารถ SME ไทย

3. สร้างอุตสาหกรรมแห่งอนาคต สร้าง New S-Curve กับประเทศ ด้วยสินค้าเกษตรเทคโนโลยีสูง พลาสติกชีวภาพ โอลีโอเคมี น้ำมันเชื้อเพลิง อุตสาหกรรมยานยนต์ EV ชิพเซมิคอนดักเตอร์ อุตสาหกรรมป้องกันประเทศ

นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เตรียมที่จะรื้อปรับปรุง กฎหมาย กฎกระทรวงที่เกี่ยวข้อง พร้อมผสานความร่วมมือกับภาคประชาชน เอกชน ท้องถิ่น และกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อบูรณาการงานให้สำเร็จตามเป้าหมายภายในระยะเวลาที่ชัดเจน

รวมถึงการจัดตั้ง 'กองทุนเพื่อการปฏิรูปอุตสาหกรรม' แบบครบวงจร เพื่อเพิ่มขีดความสามารถผู้ประกอบการไทย อัปสกิลผลิตแรงงานคุณภาพสูง ส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมด้วยเครื่องมือและเทคโนโลยี บริหารจัดการค่าจับปรับด้านสิ่งแวดล้อมแบบไม่ต้องพึ่งพางบกลาง

"ผมจะทำทันที ทำทุกวินาที ไม่ยอมจนกว่าจะทำให้สำเร็จ" รมว.อุตสาหกรรม กล่าวเสริม

หลังจากประชุมกับผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงแล้วนายเอกนัฏ และคณะ ได้ออกเดินทางทันที เพื่อสำรวจพื้นที่ที่มีสารเคมีรั่วไหลใน อ.บ้านค่าย จ.ระยอง ตามข้อร้องเรียนของประชาชน

'ผลสำรวจ' ชี้!! หนี้ครัวเรือนไทยปี 67 ทะลุ 6 แสน/ครัวเรือน สูงสุดในรอบ 16 ปี ส่วนใหญ่ก่อหนี้ที่ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น 'ลงทุน ประกอบอาชีพ-บ้าน-รถ'

(11 ก.ย. 67) นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า จากการสำรวจจากทั่วประเทศ จำนวน 1,300 ตัวอย่าง ตั้งแต่วันที่ 1-7 กันยายน 2567 พบว่า คนไทยมีหนี้เฉลี่ย 606,378 บาท/ครัวเรือน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 8.4% เพิ่มขึ้น 47,000 บาท

เมื่อเทียบจากปี 66 และ สูงสุดในรอบ 16 ปีตั้งแต่ทำการสำรวจในปี 52 ที่มีหนี้สินครัวเรือนเฉลี่ยต่อครัวเรือนที่ 143,476.32 บาท ส่วนการผ่อนชำระต่อเดือนปี 67 อยู่ที่ 18,787.38 บาท เพิ่มขึ้นจากปี 66 ที่อยู่ 16,742 บาท 

และสูงสุดเป็นอันดับ 7 ของโลก คิดเป็น 90.4-90.8% ของจีดีพีประเทศ โดยมีอัตราภาระการผ่อนชำระ18,787บาท/เดือน

โดยสาเหตุที่ก่อให้เกิดปัญหาหนี้ครัวเรือนเกิดจากสภาพเศรษฐกิจที่ชะลอตัว และ รายรับไม่พอกับรายจ่าย ประกอบกับ ปัจจุบันคนกู้หนี้นอกระบบมากกว่าในระบบมากขึ้น และจากผลการสำรวจชี้ให้เห็นว่าส่วนใหญ่ กู้เพื่อนำไปลงทุน ประกอบอาชีพ ซื้อสินค้าอุปโภคบริโภค ซื้อสินทรัพย์คงทนอาทิ บ้าน และรถ ซึ่งเป็นหนี้ที่ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น แต่ก็ยอมรับว่าหนี้ครัวเรือนที่สูงขึ้นส่งผลทางจิตวิทยา ด้านความเชื่อมั่นของนักลงทุนจากต่างชาติ

"ปัญหาหนี้ครัวเรือนก่อนปี 2556 คนอื่นไม่ถึง 80% ต่อจีดีพี เรามีปัญหาน้ำท่วมใหญ่ในปี 2557 อัตราการขยายตัว หรือ จีดีพีติดลบ ผ่านมา 11 ปี ปัญหาหนี้ครัวเรือนยังไม่ถูกการแก้ไขให้ต่ำกว่า 80% ต่อจีดีพี"

อยากให้ภาครัฐชำแหละหนี้ให้ชัดเจน ยกตัวอย่าง ทางธกส. มีข้อมูลหนี้เกษตรกร ทางออมสิน มีข้อมูลหนี้ธนาคารประชาชน ทางธอส. มีข้อมูลหนี้บ้าน ถ้าทำได้เราจะหาวิธีแก้ที่ตรงจุด

อย่างไรก็ดี คาดว่าหากสามารถจ่ายเงินดิจิทัลวอลเล็ตล็อตแรก 1.4 แสนล้านบาท ให้กลุ่มเปราะบาง 14.5 ล้านคน ภายใน 20 ก.ย. นี้ จะทำให้มีเงินหมุนในระบบเศรษฐกิจ 2 รอบ ทำให้จีดีพีไตรมาส 4 โต 3.5-4% ผลักให้จีดีพีโตเพิ่มได้ 0.2-0.4 % และทำให้จีดีพีทั้งปีนี้ โตเพิ่มจาก 2.5% เป็น 2.8% ได้ เพราะมั่นใจว่ากลุ่มนี้จะมีการใช้จ่ายทันที

นางอุมากมล สุนทรสุรัติ ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย จากการเปรียบเทียบรายได้และค่าใช้จ่ายของครัวเรือนในปัจจุบันพบว่า จากกลุ่มตัวอย่างรายได้ต่อเดือนของครัวเรือน มีรายได้ 5,000-15,000 บาท 3% มีรายได้ 15,001-30,000 บาท 15.2% มีรายได้ 30,001-50,000 บาท 18% มีรายได้ 50,001-100,000 บาท 34.7% มีรายได้มากกว่า 100,000 บาทขึ้นไป 29.1%

ทั้งนี้ การเก็บออมเพื่อใช้ในยามฉุกเฉินในปัจจุบัน พบว่า ไม่เคยเก็บออม 48.1% มีเพียงพอสำหรับค่าใช้จ่าย 6 เดือนขึ้นไป 22.6% มีเพียงพอสำหรับค่าใช้จ่าย 3-6 เดือน 16% มีแต่น้อยกว่าค่าใช้จ่าย 3 เดือน 13.3% ขณะที่การเก็บออมเทียบกับปีก่อน ลดลง 46.8% 

สำหรับพฤติกรรมการใช้จ่ายของครัวเรือน โดยสัดส่วนค่าใช้จ่ายของกลุ่มตัวอย่าง พบว่า ใช้จ่ายค่าอาหารและเครื่องดื่ม (ไม่มีแอลกอฮอล์) 23.2% ค่าเดินทาง / ยานพาหนะ 10.2% ค่าที่อยู่อาศัย / เครื่องใช้ / เครื่องเรือน 8.7% ยาสูบ / เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ 8.2% ของใช้ส่วนตัว 8.1% ค่าใช้ด้านการท่องเที่ยว 7.9% เวชภัณฑ์และค่ารักษาพยาบาล 7.1% ค่าใช้จ่ายด้านการศึกษา 7% ค่าใช้จ่ายด้านการสื่อสาร 6.8% กิจกรรมศาสนา 6.8% และการบันเทิง จัดงานพิธี จัดเลี้ยง 6% 

หากเปรียบเทียบรายได้และค่าใช้จ่ายของครัวเรือนในปัจจุบัน พบว่า รายได้ครัวเรือนน้อยกว่ารายจ่าย 46.3% รายได้ของครัวเรือนเท่ากับรายจ่าย 35% รายได้ครัวเรือนมากกว่ารายจ่าย 18.7%  

การแก้ไขปัญหากรณีที่รายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่ายในปัจจุบัน กลุ่มตัวอย่างเลือกวิธีการแก้ไขปัญหาโดยการกู้ยืมจากแหล่งต่าง ๆ 55% มากจากการกดเงินสดจากบัตรเครดิต 24.8% กู้จากธนาคารพาณิชย์ 23.7% กู้ธนาคารเฉพาะกิจ 21.2% จำนำทรัพย์ที่มี 7.9% กู้เงินสหกรณ์ 7.6% เป็นต้น

โดยในช่วง 1 ปีที่ผ่านมาคนส่วนมาก 71.1% เคยผิดนัดชำระหนี้ และ 28.4 % ไม่เคย ซึ่งปัจจัยที่ทำให้ผิดนัดชำระหนี้มากที่สุดคือ เศรษฐกิจไม่ดี รองลงมาคือรายได้ลดลง สภาพคล่องธุรกิจลดลง ราคาพืชผลเกษตรตกต่ำ ค่าครองชีพเพิ่มสูงขึ้นเป็นต้น

'รมว.เอกนัฏ' ลุยงานเชิงรุก สางปม 'กาก-น้ำ-อากาศพิษ' กระทบประชาชนเตรียมยกเครื่องจัดการกากอุตสาหกรรมทั้งระบบอย่างเป็นรูปธรรม

(11 ก.ย. 67) นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ลุยงานเชิงรุก ลงพื้นที่บริษัท วินโพรเสส จำกัด อำเภอบ้านค่าย จังหวัดระยอง รับฟังข้อมูล เพื่อวางแนวทางการแก้ไขปัญหาการลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรมทั้งระบบ โดยมี ดร.ณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม และคณะผู้บริหารระดับสูงกระทรวงอุตสาหกรรม เข้าร่วม

นายเอกนัฏ กล่าวว่า จากปัญหาการลักลอบทิ้งกากของเสียอุตสาหกรรมออกสู่สิ่งแวดล้อมและพื้นที่สาธารณะ นำไปสู่การรั่วไหลแพร่กระจายของสารมลพิษเป็นพื้นที่ปนเปื้อนในหลายพื้นที่ ก่อให้เกิดความเสียหายและส่งผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพอนามัยของประชาชนเป็นวงกว้าง ซึ่งตนได้รับเรื่องร้องเรียนจากชาวบ้านและติดตามสถานการณ์มาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในกรณีของ บริษัท วินโพรเสส จำกัด อำเภอบ้านค่าย จังหวัดระยอง ที่เกิดเหตุเพลิงไหม้อาคารโรงงานที่มีการลักลอบเก็บกากของเสียและสารอันตรายจำนวนมาก ทำให้สารเคมีและสารมลพิษเกิดการแพร่กระจายและชะล้างออกสู่พื้นที่ภายนอก สร้างปัญหาและความเดือดร้อนให้แก่ชาวบ้านข้างเคียง 

"วันนี้ ได้ลงพื้นที่ร่วมกับคณะผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อรับฟังข้อมูลข้อเท็จจริงและผลกระทบจากการแพร่กระจายของมลพิษ ตลอดจนแนวทางและการดำเนินการแก้ปัญหาด้วยตนเอง เพื่อวางแนวทางการจัดการกากอุตสาหกรรมตกค้างอย่างเข้มงวด พร้อมยกระดับการบริหารจัดการกากอุตสาหกรรมทั้งระบบอย่างเป็นรูปธรรม"

นอกจากนี้ รมว.อุตสาหกรรม ยังเตรียมที่จะรื้อปรับปรุงกฎหมายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง จัดตั้งกองทุนเพื่อการปฏิรูปอุตสาหกรรมแบบครบวงจร พร้อมผสานความร่วมมือกับภาคประชาชน เอกชน ท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อบูรณาการงานให้สำเร็จตามเป้าหมายภายในระยะเวลาที่ชัดเจน ยกระดับความปลอดภัยในพื้นที่โรงงานอุตสาหกรรม และสร้างความเชื่อมั่นให้กับชุมชนที่อาศัยอยู่โดยรอบ ต่อไป

ด้าน ดร.ณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า กรณีของ บริษัท วินโพรเสส จำกัด อำเภอบ้านค่าย จังหวัดระยอง กระทรวงอุตสาหกรรมได้ฟ้องร้องต่อศาลจังหวัดระยองและเร่งรัดให้บริษัทฯ ทำการบำบัดกำจัดกากของเสียและสารอันตรายในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งเกิดเหตุเพลิงไหม้ในช่วงเช้าของวันที่ 22 เมษายน 2567 ทำให้สารเคมีและสารมลพิษเกิดการแพร่กระจายและชะล้างออกสู่พื้นที่ของชาวบ้านข้างเคียง โดยในระยะเร่งด่วน กระทรวงอุตสาหกรรมได้เร่งดำเนินการ ดังนี้...

1)  ทำการเบี่ยงทางน้ำป้องกันปริมาณน้ำฝนไม่ให้ไหลกัดเซาะบ่อกักเก็บน้ำเสียและชะล้างสารเคมีหรือกากอุตสาหกรรมไหลปนเปื้อนออกสู่พื้นที่ของชาวบ้านข้างเคียง ซึ่งปัจจุบันดำเนินการติดตั้งระบบไฟฟ้า เครื่องสูบน้ำและวางระบบท่อพร้อมใช้งาน โดยได้รับการสนับสนุนจากภาคอุตสาหกรรมผ่านกิจกรรม 'อุตสาหกรรมรวมใจ' เช่น บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด กลุ่มบริษัทในเครือเอสซีจี บริษัท อูเบะ เคมิคอลส์ (เอเชีย) จำกัด (มหาชน) และบริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) 

2) เร่งทำการบำบัดกำจัดตะกรันอะลูมิเนียมโดยใช้งบประมาณ 4 ล้านบาท จากเงินที่วางไว้ต่อศาลจังหวัดระยอง 

และ 3) เร่งทำการบำบัดน้ำเสียในพื้นที่เพื่อลดการปนเปื้อนและรั่วซึมไปสู่พื้นที่ของชาวบ้าน นอกจากนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมจะเร่งทำการกำจัดของเสียทั้งหมดที่อยู่ภายในอาคารโรงงานและพื้นที่โดยรอบอาคาร และจะทำการบำบัดกำจัดของเสียที่อยู่ใต้ดิน ตลอดจนทำการฟื้นฟูพื้นที่ในระยะต่อไป เพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนให้กับชาวบ้านโดยเร็วที่สุด 

"ผมจะต่อสู้กับปัญหาขยะพิษที่ทำร้ายชีวิตประชาชน ไม่อ่อนข้อให้ผลประโยชน์ ไม่เกรงกลัวต่ออิทธิพล เดินหน้า เร่งคืนน้ำที่สะอาด และอากาศที่บริสุทธิ์ให้คนไทย" รมว.เอกนัฏ กล่าวทิ้งท้าย

จับตา!! ร่างกฎหมายกำกับดูแลราคาน้ำมัน สกัดผู้ค้าปรับราคาตามอำเภอใจ การปฏิรูปโครงสร้างพลังงานไทยครั้งใหญ่เพื่อคนไทยจาก 'พีระพันธุ์'

(12 ก.ย. 67) เชื่อว่าหลาย ๆ คน คงจดจำโมเมนต์การเติมน้ำมันผิดวันได้เป็นอย่างดี ในวันที่เราเพิ่งเติมเต็มถัง กลับมีข่าวประกาศว่า “พรุ่งนี้น้ำมันลดราคา 30 สตางค์” หรือในวันที่เลิกงานช้าถึงบ้านดึก แล้วมาพบข่าวว่า “พรุ่งนี้น้ำมันขึ้น 60 สตางค์” 

แม้จะไม่ใช่มูลค่ามากมาย แต่ถ้าเลือกได้คงไม่มีใครอยากจ่ายแพงกว่าเดิมแน่ ๆ นี่ยังไม่รวมโมเมนต์หงุดหงิดกับราคาน้ำมันที่ถูกอ้างว่าขึ้นตามตลาดโลก แต่เวลาตลาดโลกลดลง ทำไมราคาน้ำมันในบ้านเรากลับยังเท่าเดิม จนทำให้คิดไปได้ว่า ผู้ค้าน้ำมันนึกอยากจะขึ้นก็ขึ้นใช่หรือไม่?

ประเด็นที่เกิดขึ้นนี้ จึงเป็นหนึ่งในภารกิจสำคัญที่นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ต้องการเร่งออกกฎหมายเพื่อมากำกับดูแลราคาน้ำมัน

แหล่งข่าวในกระทรวงพลังงาน มองว่า นับตั้งแต่ที่นายพีระพันธุ์ เข้ามาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานได้ 1 ปี เขาได้กลายเป็นรัฐมนตรีที่สร้างความแตกต่างไปจากอดีตรัฐมนตรีพลังงานในอดีตอย่างสิ้นเชิง 

แม้นายพีระพันธุ์จะมาจากสายกฎหมาย มิใช่ผู้บริหารระดับสูงจากบริษัทน้ำมัน และไม่มีประสบการณ์ด้านพลังงานมาก่อน แต่นายพีระพันธุ์สามารถใช้องค์ความรู้และความเชี่ยวชาญด้านกฎหมายเข้ามาจัดการแก้ไขปัญหาพลังงานที่หมักหมมมาตลอดหลายสิบปี โดยปัญหาราคาน้ำมันที่หมักหมมมาตลอดหลายสิบปี เป็นเพราะไม่มีใครสามารถรู้ราคาต้นทุนของน้ำมันเชื้อเพลิงมาก่อน ซึ่งเมื่อไม่รู้ต้นทุนที่แท้จริงก็ไม่สามารถกำหนดราคาที่เป็นธรรมได้ แต่กระทรวงพลังงานในยุคของนายพีระพันธุ์สามารถออกประกาศกระทรวงพลังงานที่กําหนดให้ผู้ค้าน้ำมันต้องแจ้งต้นทุน และมีผลบังคับใช้ในเดือนเมษายน 2567 ที่ผ่านมาแล้ว  

นอกจากประเทศไทยจะไม่เคยมีกฎหมายให้ผู้ค้าแจ้งต้นทุนราคาน้ำมันแล้ว เราก็ไม่เคยมีกฎหมายในการควบคุมการขึ้นลงของราคาน้ำมัน ซึ่งเรื่องนี้พี่น้องประชาชนเคยสงสัยกันมาตลอด สงสัยกันมานานแล้วว่า ทำไมกระทรวงพลังงานไม่ดูแลเลย นั่นเป็นเพราะกระทรวงพลังงานไม่มีกฎหมายอยู่ในมือจึงไม่มีอำนาจจะไปกำกับควบคุมการปรับราคาน้ำมันขึ้นหรือลงได้

ที่ผ่านมา ประเทศไทยมีแต่กฎหมายในการอนุญาตให้ค้าน้ำมัน แต่ไม่มีกฎหมายในการกํากับดูแลราคาน้ำมัน ซึ่งเป็นเรื่องเหลือเชื่อมาก ๆ เพราะขนาดราคาค่าไฟฟ้า ยังมีคณะกรรมการกํากับกิจการพลังงาน เป็นผู้กํากับดูแลการปรับขึ้นราคาที่ต้องสมเหตุผล ขนาดการกํากับดูแลกิจการสื่อก็ยังมี กสทช. แต่ราคาน้ำมันไม่มีการกำกับดูแล และเป็นอย่างนี้มาหลายสิบปีแล้ว จึงทำให้กระทรวงพลังงานในยุคของนายพีระพันธุ์ ลุกขึ้นมาจัดทำร่างกฎหมายเพื่อกํากับดูแลการประกอบธุรกิจการค้าน้ำมันจนเสร็จเรียบร้อยแล้ว เพื่อให้กระทรวงมีอำนาจในการดูแลราคาน้ำมัน สกัดกั้นบรรดาผู้ค้าน้ำมันที่ปรับราคาขึ้นลงตามอำเภอใจ หรืออ้างขึ้นราคาตามตลาดโลก แต่เวลาราคาตลาดโลกลดกลับไม่ลดราคาตาม

แหล่งข่าวมองว่า ภารกิจที่ท้าทายในเรื่องน้ำมันนั้น ก็คือ การผลักดันกฎหมายเรื่องสํารองน้ำมันของประเทศ เพราะที่ผ่านมาหลายสิบปี ประเทศไทยไม่เคยมีการสํารองน้ำมันของประเทศเลย ที่อ้างอิงหรือระบุว่ามีนั้นมิใช่สํารองน้ำมันของประเทศ แต่เป็นสํารองน้ำมันของผู้ค้าน้ำมัน ซึ่งนั่นเท่ากับว่า เราปล่อยให้คนทั้งประเทศและเสถียรภาพทางพลังงานทั้งหมดตกอยู่ในมือของบรรดาผู้ค้าน้ำมัน 

ดังนั้นการจัดทำระบบสำรองน้ำมันทางยุทธศาสตร์เพื่อความมั่นคงของประเทศ หรือ SPR (Strategic Petroleum Reserve) จึงเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมันให้อยู่ในระดับที่รัฐบาลสามารถควบคุมราคาได้เอง และหากสามารถผลักดันการสำรองน้ำมันของประเทศได้ นายพีระพันธุ์ก็ยังมีแผนที่จะนำน้ำมันสำรองมาดูแลแก้ไขปัญหาราคาน้ำมันแทนการใช้กลไกของกองทุนน้ำมันฯ เพื่อให้ประเทศไทยมีน้ำมันสำรอง และให้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเปลี่ยนน้ำมันสำรองนี้มาเป็นสินทรัพย์ของกองทุน เพื่อให้การบริหารจัดการราคาน้ำมันของกองทุนน้ำมันกลายเป็นการสร้างทรัพย์สินของประเทศให้เพิ่มพูน กองทุนน้ำมันจะไม่ต้องแบกหนี้สินจากการตรึงราคาน้ำมัน และมิใช่ภาระหนี้สินของประเทศอีกต่อไป

สำหรับเรื่องพลังงานไฟฟ้า นายพีระพันธุ์ ก็กำลังผลักดันกฎหมายกำกับดูแลการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคา เพื่อให้ประชาชนสามารถผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ได้ง่ายขึ้น เพราะการติดตั้งในปัจจุบันมีความยุ่งยากทั้งเรื่องขออนุญาตและการติดตั้ง ซึ่งสาเหตุก็มาจากการที่ไม่มีกฎหมาย ซึ่งพอไม่มีกฎหมาย บรรดากระทรวงและ หน่วยงานต่าง ๆ ก็บอกว่าเป็นอํานาจของหน่วยงานตนเองหมดเลย ประชาชนก็ต้องวิ่งไปขออนุญาตทุกที่ เสียเวลาเสียค่าใช้จ่าย และสร้างความยุ่งยากกว่าจะได้ติดตั้ง แต่หากกฎหมายของกระทรวงพลังงานเสร็จเรียบร้อย จะเปรียบเสมือนการปลดล็อกให้ประชาชนสามารถติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์บนหลังคา หรือในพื้นที่บ้านได้สะดวกและง่ายขึ้น

และนอกจากการออกกฎหมายให้เข้าถึงพลังงานแสงอาทิตย์ได้ง่ายขึ้นแล้ว กระทรวงพลังงานก็กำลังหาทางช่วยให้ประชาชนเข้าถึงการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ในราคาที่ถูกลง ด้วยการพัฒนาระบบต่าง ๆ ให้มีคุณภาพสูงแต่มีราคาถูกลง ได้แก่ ระบบแบตเตอรี่สำรอง เพราะการใช้ไฟฟ้าในตอนกลางคืนที่ไม่มีแสงแดด จะต้องใช้แบตเตอรีเก็บสํารองที่มีราคาแพงมาก กระทรวงพลังงานจึงได้มีการตั้งคณะกรรมการโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อประชาชน ซึ่งมีการประชุมมาอย่างต่อเนื่อง โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการทดสอบแผงโซลาร์เซลล์ระบบอินเวอร์เตอร์ และระบบแบตเตอรี่สำรอง ซึ่งทั้งหมดต้องผ่านการตรวจสอบจากหน่วยงานผู้เชี่ยวชาญ เพื่อให้ได้ชุดผลิตและสำรองไฟฟ้าที่มีมาตรฐานและความปลอดภัย โดยโจทย์สำคัญที่สุดคือจะต้องทำให้มีราคาที่ประชาชนสามารถเข้าถึงได้

'อรวดี' ชี้!! ชีพจรเศรษฐกิจไทย-โลก พร้อมทิศทางการลงทุนที่น่าจับตา

รายการ THE TOMORROW มหาชนต้องรู้ ออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES เมื่อวันที่ 14 ก.ย.67 ได้พูดคุยกับคุณอรวดี ศิริผดุงธรรม Senior Investment Advisory ถึงทิศทางการลงทุนในจังหวะที่การเมืองเริ่มนิ่ง ว่า...

ด้วยการขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่มีทิศทางมากขึ้น รวมถึงนโยบายของภาครัฐที่เตรียมเดินหน้า ทำให้บรรยากาศการลงทุนโดยเฉพาะในตลาดหุ้นไทยกลับมาคึกคัก ในขณะที่กระทรวงการคลัง ก็ได้มีนโยบายระดมทุนผ่านกองทุนวายุภักษ์ ซึ่งจะเริ่มเปิดขาย 16-20 ก.ย.นี้ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นกลไกเสริมสร้างการออม และการลงทุนให้กับประชาชน ตลอดจนสนับสนุนการพัฒนาตลาดเงิน และตลาดทุน ทำให้นักลงทุนเชื่อมั่นมากขึ้น 

แต่ในด้านของตลาดทองคำ ยังมีความผันผวน ถ้าพิจารณาให้ดีในช่วงกันยายนของทุกปี จะเป็นช่วงที่นักลงทุนนิยมขายสินทรัพย์มั่นคง เช่น ทองคำ สกุลเงินดิจิทัล ออกไปมาก เนื่องจากนักลงทุนอยากปรับพอร์ตและลงทุนในทรัพย์สินที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่าในระยะสั้น ๆ 

ส่วนการลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์ คาดว่า ยังเติบโตในบางกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มตลาดบ้านและคอนโดมิเนียม พูลวิลล่า ระดับราคา 100 ล้านบาทขึ้นไป โดยเฉพาะที่จังหวัดภูเก็ตเติบโตมาก โดยได้รับความสนใจจากเศรษฐีรัสเซีย, ไต้หวัน, ฮ่องกง และสิงคโปร์ เป็นจำนวนมาก 

เมื่อถามถึงเทรนด์การทำธุรกิจในอนาคต? คุณอรวดี มองว่า ควรพิจารณาจากเมกะเทรนด์ให้มากขึ้น เช่น คนจีนยุคใหม่นิยม 'แข่งกันประหยัด' และหลายประเทศทั่วโลกก็เริ่มมาหันมาสนใจ หรือแม้แต่การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภายใต้แนวคิด Zero Waste ตรงนี้ต้องจับตาให้ดี เพราะถ้าเราทำธุรกิจอะไรที่เกี่ยวข้องและตอบโจทย์เทรนด์เหล่านี้ก็มีโอกาสเติบโตสูง 

เมื่อถามถึงภาพรวมเศรษฐกิจโลก? คุณอรวดี กล่าวว่า เริ่มที่สหรัฐฯ ต้องจับตามองการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐในวันที่ 5 พฤศจิกายนนี้ ระหว่าง นางกมลา แฮร์ริส กับ นายโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งมีนโยบายหาเสียงแตกต่างกันอย่างสุดขั้ว โดยนักวิเคราะห์มองว่า ถ้านายโดนัลด์ ทรัมป์ ได้กลับมาเป็นประธานาธิบดีอีกครั้ง คงหนีไม่พ้นที่จะขับเคลื่อนนโยบายด้านกำแพงภาษีแบบสุดโต่ง ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลกได้ ขณะเดียวกันหาก นางกมลา แฮร์ริส ได้เป็นประธานาธิบดี อาจส่งผลดีกว่า เพราะไม่ได้ชูนโยบายด้านกำแพงภาษีสุดโต่งแบบนายโดนัลด์ ทรัมป์ 

ส่วนเศรษฐกิจยุโรป ยังคงมีปัญหาค่าครองชีพสูงขึ้น เนื่องจากภาวะวิกฤตด้านพลังงานซึ่งตอนนี้ยุโรปใกล้เข้าสู่ฤดูหนาวแล้ว ทำให้ธนาคารกลางยุโรป (European Central Bank) ประกาศลดดอกเบี้ยไปก่อนหน้านี้แล้ว เพื่อให้เศรษฐกิจเดินหน้าเต็มที่ 

ส่วนจีน การบริโภคภายในประเทศลดลงอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะการบริโภคน้ำมันเนื่องจากการขนส่งลดลง รวมถึงปัญหาอสังหาริมทรัพย์ที่ยังคงมีปัญหาต่อเนื่อง 

ส่วนอาเซียน มาเลเซียและอินโดนีเซีย มีการปรับตัวเข้าสู่ธุรกิจเทรนด์ใหม่ เน้นธุรกิจ AI เพิ่มมากขึ้น 

ในด้านการลดดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ Fed (The Federal Reserve) คุณอรวดี เผยว่า จะมีการประชุมอีกครั้งประมาณกลางเดือนกันยายนนี้ โดยนักวิเคราะห์มองว่ามีโอกาสสูงที่ Fed จะปรับลดดอกเบี้ยลง 0.25 เนื่องจากเศรษฐกิจสหรัฐฯ ส่งสัญญาณชะลอตัวชัดเจน อัตราเงินเฟ้อเริ่มคลี่คลาย และที่สำคัญใกล้ช่วงเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ซึ่งจากสถิติที่ผ่านมา ตลาดเงิน ตลาดทุน ส่วนใหญ่จะได้รับข่าวดีในช่วงนี้ ซึ่งจะทำให้ตลาดกลับมาคึกคักอีกครั้ง 


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top