Sunday, 13 October 2024
Econbiz

‘Amity’ เทคโอเวอร์ ‘Tollring’ ยักษ์ใหญ่ AI สัญชาติอังกฤษ ช่วยเร่งเครื่องสู่ความเป็นผู้นำด้าน GenAI ในเวทีโลก

(12 ก.ย. 67) ‘อะมิตี้ โซลูชั่นส์’ (Amity Solutions: ASOL) หนึ่งในผู้พัฒนาซอฟต์แวร์และเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์สร้างสรรค์ (GenAI) ของไทย ประกาศเข้าซื้อหุ้นและกลายเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ใน ‘โทลล์ริง’ (Tollring) ผู้ให้บริการชั้นนำด้านการวิเคราะห์การโทรและระบบธุรกิจอัจฉริยะ มีสำนักงานใหญ่อยู่ในสหราชอาณาจักร

โทลล์ริง ได้รับการยอมรับว่า เป็นหนึ่งในผู้ให้บริการชั้นนำระดับโลกด้านโซลูชันการวิเคราะห์การโทรและระบบธุรกิจอัจฉริยะ โดยให้บริการแก่ธุรกิจกว่า 20,000 แห่งในสหราชอาณาจักร, ยุโรป, สหรัฐอเมริกา และออสเตรเลีย ซึ่งเฉิดฉายและมีชื่อเสียงจากการใช้เทคโนโลยีเอไอ และเจนเอไอ อย่างสร้างสรรค์ในชุดผลิตภัณฑ์ของบริษัท

‘นายกรวัฒน์ เจียรวนนท์’ ประธานกรรมการบริหารและผู้ก่อตั้ง ASOL กล่าวว่า การเข้าซื้อหุ้นครั้งนี้ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในการเดินทางของ ASOL สู่การเป็น GenAI แชมเปี้ยนของไทย

“ความเชี่ยวชาญของ โทลล์ริง ในด้านระบบวิเคราะห์เสียงและการโทรด้วยเทคโนโลยี เอไอ สอดคล้องกับกลยุทธ์ของเราได้อย่างลงตัว และยังช่วยเพิ่มขีดความสามารถของเราในตลาดนี้ได้เป็นอย่างมาก”

ดีลมูลค่าระดับหลักพันล้านบาทนี้ คาดว่าจะก่อให้เกิดคุณประโยชน์สำคัญกับ ASOL เช่น เสริมแกร่งขีดความสามารถด้าน GenAI ความเป็นผู้นำตลาดของ โทลล์ริง ด้านระบบวิเคราะห์เสียงและสายโทรด้วยเทคโนโลยีเอไอ จะช่วยเป็นทั้งตัวเสริมและขยายโครงการด้าน GenAI ต่าง ๆ ที่มีอยู่เดิมของ ASOL

ทั้งเป็นการเพิ่มการเข้าถึงตลาดโลก การเข้าซื้อหุ้นครั้งนี้ช่วยเสริมแกร่งให้กับกลยุทธ์ของ ASOL ไปสู่ระดับนานาชาติ โดยต่อยอดจากรายได้และกำไรที่มาจากตลาดโลกที่มีอยู่เดิมได้อย่างมีนัยสำคัญ

ขณะที่ การผนึกกำลังด้านผลิตภัณฑ์ ชุดผลิตภัณฑ์ของโทลล์ริงสามารถผสานรวมเข้ากับผลิตภัณฑ์ปัจจุบันของ ASOL ได้อย่างราบรื่น สร้างโอกาสในการเกิดการผสานพลังร่วมกัน (cross-synergies) ในระดับโลก ซึ่งชุดผลิตภัณฑ์นวัตกรรมของโทลล์ริงช่วยติดสปีดความสามารถให้ธุรกิจต่างๆ ด้วยการมองเห็นและควบคุมการสื่อสารทางเสียงได้อย่างครอบคลุม อาศัยระบบวิเคราะห์การโทรขั้นสูง ข้อมูลเชิงลึกจากการสนทนาที่ขับเคลื่อนด้วยเอไอ และการผสานรวมกับแพลตฟอร์มการสื่อสารชั้นนำ องค์กรสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการโทร รับรองการปฏิบัติตามกฎระเบียบ และตัดสินใจโดยอิงจากข้อมูลเพื่อยกระดับประสบการณ์และปฏิสัมพันธ์กับลูกค้า

ผลิตภัณฑ์ของ โทลล์ริง มีฟีเจอร์หลักประกอบด้วยการบันทึกและวิเคราะห์ที่ขับเคลื่อนด้วย เอไอ เพื่อการตัดสินใจที่ดีขึ้น การวิเคราะห์การโทรขั้นสูงเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการมีปฏิสัมพันธ์กับลูกค้า และการวิเคราะห์การทำงานร่วมกันเพื่อการจัดการทีมได้อย่างมีประสิทธิผล

ความสามารถเหล่านี้ครอบคลุมการใช้งานต่าง ๆ เช่น การบันทึกการโทร การจัดการการปฏิบัติตามกฎระเบียบ การวิเคราะห์ปฏิสัมพันธ์กับลูกค้า และการวิเคราะห์การทำงานร่วมกัน ลูกค้าของ Tollring นั้นรวมถึงองค์กรชั้นนำต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น BT Group, KPN, Dstny, CallTower, Mitel และ NFON

‘นายโทนี่ มาร์ติโน่’ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร หรือ ซีอีโอ ของ โทลล์ริง กล่าวว่า ช่วงหลายปีที่ผ่านมา การเดินทางของโทลล์ริง นับวันแล้วมีแต่ก้าวที่ยิ่งใหญ่ และความสำเร็จของบริษัท สร้างขึ้นบนพื้นฐานของวัฒนธรรมองค์กรที่ยอดเยี่ยม ควบคู่ไปกับกลยุทธ์ผลิตภัณฑ์ที่แข็งแกร่งที่บริษัทมุ่งเน้นอย่างจริงจังในการตอบสนองความต้องการของลูกค้า

“เรารู้สึกตื่นเต้นมากกับการเดินทางบทใหม่ของเราในฐานะส่วนหนึ่งของ ASOL ซึ่งจะทำให้เราสามารถส่งมอบคุณค่าและขยายขนาดธุรกิจในระดับที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนให้กับลูกค้าและพาร์ตเนอร์ของเรา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่และโอกาสอันมหาศาลในอุตสาหกรรมของเรา”

อย่างไรก็ตาม ดีลครั้งนี้ส่งผลให้ ASOL มีพนักงานใหม่เพิ่มขึ้นอีกประมาณ 120 คน มีสำนักงานอยู่ในลอนดอนและนิวเดลี ซึ่งช่วยเพิ่มความหลากหลายให้กับกลุ่มบุคลากรที่มีความสามารถในเวทีโลก อีกทั้งยังช่วยขยายฐานการดำเนินงานของบริษัท ขณะที่ การร่วมมือครั้งนี้ตอกย้ำถึงความมุ่งมั่นของ ASOL ในด้านนวัตกรรม เร่งเครื่องสู่ความเป็นผู้นำในด้าน GenAI ไม่เพียงแค่ในประเทศไทย แต่รวมถึงในเวทีโลก

'รัฐบาลแพทองธาร' ชัดเจน!! ประกาศนโยบาย 'ลดราคาค่าพลังงาน' พร้อมเดินหน้าปรับปรุงกฎหมายสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้ประเทศ

(12 ก.ย. 67) นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี แถลงนโนบายต่อรัฐสภา โดยนโยบายที่ 3 จาก 10 นโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล คือ รัฐบาลจะเร่งออกมาตรการเพื่อลดราคาค่าพลังงานและสาธารณูปโภค ปรับโครงสร้างราคาพลังงานควบคู่กับการเร่งรัดจัดทำ ปรับปรุงกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง เช่น ข้อกำหนดเกี่ยวกับการทำสัญญาซื้อขายพลังงานได้โดยตรง (Direct PPA) รวมทั้งการพัฒนาระบบสำรองน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อความมั่นคงทางยุทธศาสตร์ของประเทศ (Strategic Petroleum Reserve: SPR) สำรวจหาแหล่งพลังงานเพิ่มเติม และการเจรจาประเด็นพื้นที่ทับซ้อนกับกัมพูชา (OCA) เพื่อลดต้นทุนด้านพลังงาน 

พร้อมกันนี้ รัฐบาลได้เดินหน้าผลักดันการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนสาธารณะ (Mass Transit) และการกำหนดโครงสร้างอัตราค่าโดยสารร่วมในเขตกรุงเทพมหานคร เพื่อรองรับนโยบาย 'ค่าโดยสารราคาเดียว' ตลอดสาย เพื่อลดภาระค่าเดินทาง

นอกจากนี้ สำหรับนโยบายระยะกลางและระยะยาวที่เกี่ยวข้องกับพลังงาน รัฐบาลจะส่งเสริมเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy or Eco-friendly Economy) โดยอาศัยจุดแข็งของที่ตั้งใกล้เส้นศูนย์สูตรเข้าถึงพลังงานแสงอาทิตย์ได้ตลอดทั้งปี เพื่อสนับสนุนให้ประเทศไทยเป็นแหล่งผลิตพลังงานสะอาด ทั้งพลังงานแสงอาทิตย์ เช่น การติดตั้ง แผงโซลาร์เซลล์บนหลังคาและผืนน้ำ พลังงานน้ำ และพลังงานทางเลือกอื่นๆ รวมทั้งพัฒนาตลาดซื้อขายไฟฟ้าเสรีและคาร์บอนเครดิต (Carbon Credit) เพื่อความยั่งยืน และการเสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงานรูปแบบใหม่สำหรับทั้งการบริโภคภายในประเทศและการส่งออกพลังงานสู่ภูมิภาคอาเซียน รวมทั้งการปรับกระบวนการผลิตของภาคอุตสาหกรรม ภาคเกษตรกรรม และภาคธุรกิจบริการ ให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

นอกจากนั้น รัฐบาลจะสานต่อนโยบายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) เพื่อให้ประเทศไทยเป็นผู้นำของอาเซียนในด้านการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศ ซึ่งจะช่วยเปิดประตูบานใหญ่สู่การค้าโลกและช่วยสร้างข้อได้เปรียบให้ผู้ผลิตสินค้าและบริการในประเทศ และส่งเสริมให้ไทยเป็นศูนญ์กลางด้านการซื้อขาย Carbon Credit ของอาเซียนผ่านตลาดหลักทรัพย์ไทย

สำหรับนโยบายเร่งด่วนทั้ง 10 นโยบาย ประกอบด้วย...

นโยบายที่ 1 รัฐบาลจะผลักดันให้เกิดการปรับโครงสร้างหนี้ทั้งระบบ

นโยบายที่ 2 รัฐบาลจะดูแลส่งเสริมพร้อมปกป้องผลประโยชน์ของผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะ SME

นโยบายที่ 3 รัฐบาลจะเร่งออกมาตรการเพื่อลดราคาค่าพลังงานและสาธารณูปโภค

นโยบายที่ 4 รัฐบาลจะสร้างรายได้ใหม่ของรัฐด้วยการนำเศรษฐกิจนอกระบบภาษี (Informat Economy) และเศรษฐกิจใต้ดิน (Underground Economy) เข้าสู่ระบบภาษี

นโยบายที่ 5 รัฐบาลจะเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยให้ความสำคัญกับกลุ่มเปราะบางเป็นลำดับแรก และผลักดันโครงการดิจิทัลวอลเล็ต (Digital Wallet)

นโยบายที่ 6 รัฐบาลจะยกระดับการทำเกษตรแบบดั้งเดิมให้เป็นเกษตรทันสมัย  

นโยบายที่ 7 รัฐบาลจะเร่งส่งเสริมการท่องเที่ยว

นโยบายที่ 8 รัฐบาลจะแก้ไขปัญหายาเสพติดอย่างเด็ดขาดและครบวงจร

นโยบายที่ 9 รัฐบาลจะเร่งแก้ไขปัญหาอาชญากรรม อาชญกรรมออนไลน์/มิจฉาชีพ และอาชญากรรมข้ามชาติ

นโยบายที่ 10 รัฐบาลจะส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพ และจัดสวัสดิการสังคม ให้สอดคล้องกับสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป

'ปตท.' รวมพลัง 'คนเล็กเปลี่ยนโลก' ให้ยั่งยืน จัดพิธีมอบรางวัลหญ้าแฝก-ลูกโลกสีเขียว

(12 ก.ย. 67) บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) (ปตท.) จัดพิธีมอบรางวัลการประกวดการพัฒนาและรณรงค์การใช้หญ้าแฝกอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ครั้งที่ 13 และ พิธีมอบรางวัลลูกโลกสีเขียว ครั้งที่ 22 ภายใต้แนวคิด 'คนเล็กเปลี่ยนโลก' ที่สะท้อนพลังของคนเล็กๆ กว่า 7,800 คนทั่วประเทศที่สามารถเปลี่ยนแปลงโลกให้ยั่งยืนได้จากการมุ่งมั่นทุ่มเทดูแล รักษา ฟื้นฟูและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติอันมีคุณค่า

สำหรับ พิธีมอบรางวัลการประกวดการพัฒนาและรณรงค์การใช้หญ้าแฝกอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ครั้งที่ 13 ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจาก สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระราชทานโล่รางวัลแก่ผู้ชนะเลิศการประกวด 

ส่วนผู้ที่ได้รับรางวัลรองชนะเลิศและรางวัลชมเชยได้รับโล่พร้อมรับเกียรติบัตรจากองค์กรร่วมจัด อันประกอบด้วยมูลนิธิชัยพัฒนา สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.), กรมพัฒนาที่ดิน และบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) โดยมีผู้ได้รับรางวัลทั้งสิ้น 32 ผลงาน แบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่ ประเภทส่งเสริมการปลูกและขยายผล 22 รางวัล และ ประเภทส่งเสริมหัตถกรรมผลิตภัณฑ์จากใบหญ้าแฝก 10 รางวัล

ขณะที่ พิธีมอบรางวัลลูกโลกสีเขียว ครั้งที่ 22 โดยสถาบันลูกโลกสีเขียว มีผู้ได้รับรางวัล 38 ผลงาน จาก 5 ประเภทผลงาน คือ ประเภทชุมชน ประเภทบุคคล ประเภทกลุ่มเยาวชน ประเภทสิปปนนท์ เกตุทัต รางวัลแห่งความยั่งยืน และประเภทงานเขียน

ด้าน ดร.คงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) กล่าวว่า “บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ในฐานะบริษัทพลังงานแห่งชาติ มีพันธกิจหลักในการสร้างความมั่นคงทางพลังงาน ควบคู่กับการดูแลสังคม สิ่งแวดล้อม และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างสมดุล ภายใต้วิสัยทัศน์ 'ปตท. แข็งแรงร่วมกับสังคมไทย และเติบโตในระดับโลกอย่างยั่งยืน' พร้อมทั้งให้การสนับสนุนการดำเนินงานการประกวดการพัฒนาและรณรงค์การใช้หญ้าแฝกอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และสถาบันลูกโลกสีเขียวมาอย่างต่อเนื่องกว่า 20 ปี เพื่อยกย่อง เชิดชู บุคคลต้นแบบด้านการดูแลรักษาความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของประเทศ”

ปตท. ให้ความสำคัญในการดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมาโดยตลอด การจัดงานในปีนี้เป็นโอกาสอันดีที่เครือข่ายผู้ได้รับรางวัลทั้งสองรางวัล มีโอกาสได้มาพบปะ ร่วมแสดงความยินดี แลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำงานอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมต่อยอด ขยายผลองค์ความรู้ สร้างภาคีเครือข่ายให้เข้มแข็ง สร้างผลลัพธ์ต่อคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่สังคมไทยในวงกว้าง รวมพลังทำให้โลกใบนี้น่าอยู่เพื่ออนาคตที่ยั่งยืน

'รมว.คลัง' รับ!! ดิจิทัลวอลเล็ต เฟส 2 แจกไม่ทันปี 67 ชี้!! ต้องดูหลายปัจจัย รวมถึงความพร้อมช่องทางการจ่าย

(13 ก.ย. 67) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงโครงการเงินดิจิทัลวอลเล็ต เฟสที่ 2 จะสามารถดำเนินการจ่ายได้วันไหน ว่า ขอดำเนินการเฟส 1 ให้เสร็จก่อน

ผู้สื่อข่าวถามว่า เฟสที่สองจะสามารถดำเนินการภายในปี 2567 ได้หรือไม่ นายพิชัยตอบว่า ”ไม่น่าจะทันครับ“

เมื่อถามว่า หากเป็นปี 2568 ในเฟสที่สอง จะสามารถดำเนินการได้ภายในเดือนใด นายพิชัย กล่าวว่า เราจะดูความต่อเนื่องอีก 2-3 เรื่อง โดยจะดูพร้อม ๆ กัน ว่าอันไหนดีที่สุด ส่วนจะได้ไตรมาสไหนนั้นจะต้องขอดูหลังจากนี้ก่อน

ส่วนการจ่ายเงินเฟสที่ 2 จะเป็นการแบ่งจ่ายอีกหรือไม่นั้น นายพิชัย กล่าวว่า ก็ต้องดูหลายปัจจัย ในความพร้อมทุก ๆ อย่าง รวมถึงความพร้อมของช่องทางการจ่ายด้วย

ผู้สื่อข่าวถามว่า งบประมาณที่เหลือจะไปดำเนินในโครงการใด หากว่าไม่นำมาใช้ในโครงการนี้ หรือมีโครงการอื่นรองรับแล้ว อย่างเช่นเรื่องการลงทุนต่าง ๆ นายพิชัย กล่าวว่า เรื่องนั้นเราถือว่ามีความสำคัญ ถ้าอะไรตัดปัญหาและสร้างความเข้มแข็งให้ประเทศก็ต้องมาที่หนึ่ง

เมื่อถามย้ำว่า การสร้างความเข้มแข็งคือ การลงทุนในระดับฐานรากใช่หรือไม่ นายพิชัย กล่าวว่า วิธีการจัดเงินก็คงต้องจัดอะไรที่สำคัญ และให้ผลต่อเนื่องอย่างเร็วที่สุด

เมื่อถามย้ำว่า เหตุใดถึงไม่สามารถจ่ายเงินในเฟสที่ 2 ได้ภายในปีนี้ นายพิชัยไม่ตอบ ก่อนเดินขึ้นตึกบัญชาการทันที

อีกหนึ่งแรงสำคัญ!! 'กลุ่ม ปตท.' เร่งส่งมอบถุงยังชีพช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยต่อเนื่อง หลังให้การช่วยเหลือผู้คนในภาคเหนือมาตั้งแต่เดือนสิงหาคม

(13 ก.ย. 67) ดร.คงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) พร้อมด้วยผู้บริหารและพนักงาน ปล่อยรถบรรทุกถุงยังชีพไปยัง จ.เชียงราย เพื่อใช้ในการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย ซึ่งสถานการณ์ยังคงวิกฤต 

ทั้งนี้ กลุ่ม ปตท. ได้ทยอยส่งมอบความช่วยเหลือพี่น้องผู้ประสบภัยในภาคเหนืออย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่เดือนสิงหาคม รวมมูลค่ากว่า 8.8 ล้านบาท ประกอบด้วย ถุงยังชีพ 16,350 ถุง น้ำดื่ม 64,700 ขวด ยารักษาโรค ผ้าห่ม เรือพาย และก๊าซหุงต้มเพื่อใช้ในการประกอบอาหาร โดย กลุ่ม ปตท. ได้ส่งมอบความช่วยเหลือผู้ประสบภัย จ.เชียงราย, แพร่, น่าน, พะเยา, พิษณุโลก และสุโขทัย ในรูปแบบต่าง ๆ ผ่านหน่วยงานภาครัฐทั้งในส่วนกลางและส่วนท้องถิ่น และส่งทีมปฏิบัติการ PTT Group SEALs ลงพื้นที่ที่ยากแก่การเข้าถึง เพื่อมอบถุงยังชีพ อพยพประชาชน เร่งบรรเทาทุกข์ในสถานการณ์วิกฤต อันเป็นพันธกิจสำคัญที่ กลุ่ม ปตท. ยึดถือปฏิบัติเสมอมาในการช่วยเหลือดูแลสังคมและชุมชน 

‘ปิยสวัสดิ์’ เผยสถานะ ‘การบินไทย’ จ่อยื่นขอพ้นแผนฟื้นฟูกิจการ ในปี 68 ย้ำ!! ไม่กลับเป็น ‘รัฐวิสาหกิจ’ อีก มุ่งบริหารแบบคล่องตัว-ไร้การแทรกแซง

(13 ก.ย. 67) สำนักข่าว ‘กรุงเทพธุรกิจ’ ได้เผยแพร่บทความบทสัมภาษณ์ของ ‘นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ถึงทิศทางดำเนินงานหลังออกจากแผนฟื้นฟูกิจการ โดยระบุว่า เป็นเวลา 4 ปี ที่เข้าสู่การฟื้นฟูกิจการนับตั้งแต่วันที่ 14 ก.ย. 63 ก่อนที่ศาลล้มละลายกลางจะเห็นชอบแผนฟื้นฟูกิจการเมื่อวันที่ 20 ต.ค. 65

ปัจจุบันการดำเนินงานตามแผนฟื้นฟูแล้วเสร็จต่อเนื่องทั้งการปรับโครงสร้างองค์กร คุมรายจ่าย ปรับลดพนักงานจาก 30,000 คน เหลือ 15,000 คน และปัจจุบันปรับเพิ่มมาอยู่ที่ 17,000 คน ซึ่งเป็นอัตราที่เพียงพอต่อการดำเนินธุรกิจภายใต้จำนวนเครื่องบินที่มี 79 ลำในปี 2567 และจะเพิ่มต่อเนื่องถึง 100 ลำ

ขณะเดียวกันการบินไทยทำตามเงื่อนไขเพื่อขอออกจากแผนฟื้นฟูกิจการ โดยกำหนดผลสำเร็จของแผนฟื้นฟูกิจการที่ต้องแล้วเสร็จรวม 4 เงื่อนไข ได้แก่ 

1.การเพิ่มทุนจดทะเบียน โดยต้องดำเนินการจดทะเบียนเพิ่มทุน และได้รับสินเชื่อใหม่ตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในแผน และมีจำนวนที่เพียงพอต่อการดำเนินธุรกิจ

2.ดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการ ไม่ผิดนัดชำระหนี้ได้ติดต่อกัน 5 ปี นับตั้งแต่วันที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งเห็นชอบด้วย 

3.มีกำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) จากการดำเนินงานหลังหักเงินสดจ่ายหนี้สินตามสัญญาเช่าซื้อเครื่องบิน เฉลี่ยไม่น้อยกว่า 2 หมื่นล้านบาทต่อปี ใน 2 ปีก่อนจะรายงานผลสำเร็จของแผนฟื้นฟู

4.การแต่งตั้งคณะกรรมการใหม่ ในกรณีที่มีการเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้น

“ผลการดำเนินงานขณะนี้กลับมาเป็นบวก กำไรปีก่อนดีที่สุดเท่าที่เคยดำเนินธุรกิจมา และเงื่อนไข EBITDA ไม่น้อยกว่า 2 หมื่นล้านบาท ก็ทำได้แล้ว เหลือเพียงการทำให้ส่วนทุนเป็นบวก ซึ่งเตรียมออกหุ้นกู้ แปลงหนี้เป็นทุน ถ้าทำได้เรียบร้อยจะทำให้ได้เงิน 8 หมื่นล้านบาท และส่วนทุนกลับมาเป็นบวก”

>>เตรียมยื่นไฟลิ่งเข้าซื้อขายตลาดหุ้น

นายปิยสวัสดิ์ กล่าวว่า การดำเนินงานที่เป็นบวกต่อเนื่องและทำให้บรรลุเงื่อนไข EBITDA ไม่น้อยกว่า 2 หมื่นล้านบาท ขณะนี้การบินไทยอยู่ช่วงฟื้นฟูกิจการขั้นสุดท้ายที่ต้องทำให้ส่วนทุนเป็นบวก 

โดยเตรียมยื่นแบบแสดงรายงานข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์ และร่างหนังสือชี้ชวน (Filing) ให้สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ภายใน 30 ก.ย.นี้

หลังจากนั้นภายในเดือนพ.ย.2567 จะเริ่มกระบวนการใช้สิทธิ และแจ้งเจตนาแปลงหนี้เป็นทุนของเจ้าหนี้แต่ละกลุ่ม และภายในเดือนธ.ค.2567 จะเข้าสู่กระบวนการเสนอขาย และจองซื้อหุ้นเพิ่มทุน สำหรับผู้ถือหุ้นก่อนบริษัท เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ พนักงานบริษัท และนักลงทุนแบบเฉพาะเจาะจง (Private Placement : PP)

รวมทั้งหลังเริ่มกระบวนการปรับโครงสร้างทุน ซึ่งจะทำให้การบินไทยมีส่วนทุนเป็นบวกนั้น อาจต้องใช้เวลา 2 เดือน เพื่อตรวจสอบงบการเงิน และประกาศงบการเงินงวดปี 2567 ในช่วงเดือนก.พ.2568 หลังจากนั้นจะเริ่มยื่นคำร้องต่อศาลล้มละลายกลางเพื่อขอออกจากแผนฟื้นฟูกิจการ และหุ้นของบริษัท กลับเข้าซื้อขายใน ตลท.ภายในไตรมาส 2 ปี 2568

>>การบินไทยเดินหน้าแปลงหนี้เป็นทุน

สำหรับการปรับโครงสร้างทุนตามแผนฟื้นฟูกิจการแบ่งเป็น การแปลงหนี้เป็นทุน ด้วยราคา 2.5452 บาทต่อหุ้น โดยมาจากเงินต้นเจ้าหน้าที่ตามแผนแปลงหนี้เป็นทุน ซึ่งกลุ่มนี้ประกอบด้วย เจ้าหนี้กลุ่มกระทรวงการคลัง แปลงหนี้สัดส่วน 100% ของมูลหนี้เป็นทุน

เจ้าหนี้กลุ่ม 5 (สถาบันการเงินที่มีสิทธิตามสัญญาโอนสิทธิในการรับเงินจากการขายเครื่องบิน), เจ้าหนี้กลุ่ม 6 (สถาบันการเงินไม่มีประกัน) และเจ้าหนี้กลุ่มที่ 18-31 (เจ้าหนี้ผู้ถือหุ้นกู้) แปลงหนี้สัดส่วน 24.50% ของมูลหนี้เป็นทุน และส่วนเจ้าหนี้กลุ่ม 5-6 และเจ้าหนี้ผู้ถือหุ้นกู้ ยังแปลงหนี้เป็นทุนเพิ่มเติมคิดเป็นไม่เกิน 75.50%

ขณะเดียวกันกรณีเจ้าหนี้ใช้สิทธิตามข้อ 2 ไม่ครบ การบินไทยจะเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนด้วยราคาเสนอขายเป็นไปตามที่ผู้บริหารแผนกำหนด โดยไม่ต่ำกว่า 2.5452 บาทต่อหุ้น มีจำนวน 9,822 ล้านหุ้น บวกกับจำนวนหุ้นที่เหลือจากสิทธิตามข้อ 2 โดยเสนอขายเป็นตามลำดับ ประกอบด้วย ผู้ถือหุ้นเดิมก่อนการปรับโครงสร้างทุน หลังจากนั้นเสนอขายส่วนที่เหลือให้พนักงานการบินไทย และส่วนที่เหลือเสนอขายให้นักลงทุนแบบเฉพาะเจาะจง รวมจำนวนหุ้นจากการปรับโครงสร้างทุนไม่เกิน 31,500 ล้านหุ้น

>>ไม่ควรกลับไปเป็นรัฐวิสาหกิจ

ทั้งนี้ หลังปรับโครงสร้างทุนตามแผนฟื้นฟูกิจการจะทำให้สัดส่วนการถือหุ้นของกระทรวงการคลังลดจาก 48% เหลือ 30-40% แน่นอนว่าสถานะการบินไทยจะไม่กลับไปเป็นรัฐวิสาหกิจอีก ซึ่งจะทำให้บริหารธุรกิจคล่องตัว ทำงานเต็มที่ และไม่มีการแทรกแซงจากภายนอก

นอกจากนี้แม้กระทรวงการคลังจะซื้อหุ้นเพิ่มเติมหลังกลับเข้าซื้อขายใน ตลท.ได้ แต่ไม่ควรทำเช่นนั้นเพราะจะทำให้กลับไปเป็นแบบเดิม บริษัทต้องบริหารงานภายใต้การให้ความสำคัญข้อกฎหมาย และกฎระเบียบรัฐที่ใช้เวลาเกิน 50% ของการประชุมต้องพิจารณากฎระเบียบ ขณะที่ปัจจุบันเวลาส่วนใหญ่กว่า 95% พิจารณาประเด็นธุรกิจ ดังนั้นสถานะปัจจุบันจึงคล่องตัวมากกว่า

อีกทั้งเจ้าหนี้ส่วนใหญ่ต้องการให้การบินไทยอยู่สถานะบริษัทเอกชน เพราะต้องการให้บริหารงานแบบที่เป็นอยู่เพื่อสร้างรายได้ต่อเนื่อง และมีความสามารถ ในการจ่ายคืนหนี้ อีกทั้งเพื่อทำให้การบินไทยมีผู้ถือหุ้นหลากหลายและมีความเชี่ยวชาญทางธุรกิจมากขึ้น

“การเปิดขายหุ้นให้กลุ่ม PP เป็นแนวทางที่จะทำให้การบินไทยมีผู้ลงทุนหน้าใหม่ ซึ่งเป็นเรื่องดีเพราะจะมีผู้ถือหุ้นที่เชี่ยวชาญด้านการบินเข้ามา เพราะไม่อยากเห็นการบินไทยเป็นแบบเดิม คิดแบบราชการ การแต่งตั้งโยกย้ายเป็นไปด้วยการวิ่งเต้น ถ้าได้ผู้ถือหุ้นมีความรู้ด้านการบินนับเป็นเรื่องที่ดีกว่า”

ทั้งนี้ การบินไทยเริ่มเจรจาหาพันธมิตรเข้ามาซื้อหุ้นในกลุ่มที่จะเสนอขายให้นักลงทุนแบบเฉพาะเจาะจง ซึ่งเป็นทุนต่างชาติ และอยู่ในธุรกิจสายการบิน เพราะปัจจุบันในไทยไม่มีสายการบินใดที่บริหารกิจการ และทำรายได้ดีกว่าการบินไทย ดังนั้นต้องหาพันธมิตรจากต่างประเทศ คาดว่าได้ข้อสรุปเร็วๆ นี้ แต่จะซื้อหุ้นในสัดส่วนเท่าไรต้องรอดูจำนวนหุ้นที่เหลือจากการแปลงหนี้เป็นทุน

นายปิยสวัสดิ์ กล่าวว่า บทเรียนความผิดพลาดที่การบินไทยจะไม่กลับไปดำเนินการอีก ประเด็นสำคัญคือ เรื่องคน การเอาคนมาบริหารองค์กรต้องเป็นคนที่ทำงานได้ เพราะหากผู้บริหารไม่เก่ง ได้ตำแหน่งมาจากการวิ่งเต้น และการแทรกแซง ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีตจะกลับไปเป็นการบินไทยแบบเดิม ดังนั้นต้องดูเรื่องนี้ให้ดี เพราะไม่อยากให้การบินไทยกลับไปซ้ำรอยเดิม

'รมว.เอกนัฏ' สั่งพักหนี้ SME ที่ได้รับผลกระทบทันที พร้อมสั่งการจัดส่งถุงยังชีพเพิ่มช่วยผู้ประสบภัย

(13 ก.ย. 67) นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า จากสถานการณ์อุทกภัยรุนแรงในพื้นที่ในภาคเหนือ ส่งผลกระทบชีวิตผู้คนทั้งในบ้านเรือนและโรงงานอุตสาหกรรมเป็นวงกว้าง ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรม ได้มีการสรุปรายงานสถานการณ์อุทกภัยที่ผ่านมา รวมทั้ง 14 จังหวัดที่ได้รับผลกระทบ มีสถานประกอบการได้รับความเสียหาย จำนวน 61 ราย คิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 42.1 ล้านบาท และมีผู้ประกอบการ SME รายย่อย ได้รับผลกระทบโดยตรงและโดยอ้อม จำนวนไม่ต่ำกว่า 505 ราย (ข้อมูล ณ วันที่ 11 กันยายน 2567)

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้มีความห่วงใยพี่น้องประชาชนและสถานประกอบการ ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย จึงได้กำชับให้ทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) เตรียมให้ความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน ขณะนี้ทางปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม (นายณัฐพล รังสิตพล) ได้มอบหมายให้สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด (สอจ.) ในพื้นที่ที่ประสบอุทกภัย เร่งสำรวจความเสียหายของสถานประกอบการที่ได้รับผลกระทบว่ามีกี่ราย เสียหายอย่างไรบ้าง และเร่งส่งมอบถุงยังชีพ 'อุตสาหกรรมรวมใจ MIND ไม่ทิ้งกัน' ซึ่งเป็นการร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ เอกชน สถานประกอบการ โรงงานอุตสาหกรรมทั่วประเทศ ผ่านกิจกรรม 'อุตสาหกรรมรวมใจ ช่วยพี่น้องชาวไทย' บรรจุเครื่องอุปโภคบริโภคและสิ่งของจำเป็นถุงยังชีพรวมใจส่งมอบรอยยิ้ม เพื่อเป็นกำลังใจให้กับผู้ประสบอุทกภัยในการก้าวข้ามช่วงเวลาที่ยากลำบากไปได้

นอกจากนั้นยังเตรียมแผนการเยียวยาเต็มรูปแบบ หลังพื้นที่ประสบภัยน้ำเริ่มลดลง ให้หน่วยงานในสังกัด อก. เร่งเข้าไปให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการและประชาชน โดย...

1) จัดเตรียมเจ้าหน้าที่ ทีมวิศวกร หรือช่างชุมชนของโครงการอาชีพช่าง เข้าปรับปรุง ซ่อมแซม ฟื้นฟู เครื่องจักร ระบบไฟฟ้า 

2) จัดส่งเจ้าหน้าที่เข้าประเมินสภาพปัญหาให้คำปรึกษาปัญหาธุรกิจ วางแผน ฟื้นฟูสถานประกอบการ ผ่านศูนย์บริการธุรกิจอุตสาหกรรมดีพร้อม (DIPROM BSC) 

3) จัดส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปให้คำปรึกษาฟื้นฟูกระบวนการผลิต ระบบคุณภาพ GMP/HACCP/GHP มาตรฐานความปลอดภัย ผ่านศูนย์ DIPROM Center ในพื้นที่ส่วนภูมิภาค เพื่อให้ผู้ประกอบการและประชาชนสามารถกลับมาดำเนินการได้อย่างปกติโดยเร็ว 

4) การพักชำระหนี้ 3 เดือน สำหรับลูกหนี้กองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีฯ

"หลังน้ำลดและสถานการณ์คลี่คลาย ผมและคณะผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรม จะเร่งลงพื้นที่เพื่อเข้าให้ความช่วยเหลือสถานประกอบการและพี่น้องประชาชนโดยรอบ ทั้งนี้ กระทรวงอุตสาหกรรม ขอร่วมส่งกำลังใจให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยในครั้งนี้ ให้ทุกท่านผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปได้และกลับมาดำเนินชีวิตในรูปแบบปกติได้โดยเร็ว และจะเดินเคียงข้างพี่น้องประชาชนให้ก้าวข้ามช่วงเวลาที่ยากลำบากไปได้" รมว.เอกนัฏ กล่าวทิ้งท้าย

‘ผู้ว่าฯ ธปท.’ มอง!! การเติบโตเศรษฐกิจไทย ไม่ควรล่า ‘GDP’ แบบเดิมอีกต่อไป เผย!! ควรเน้นการเติบโตจากท้องถิ่น ชี้!! นี่คือ ‘กุญแจสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน'

เมื่อวานนี้ (13 ก.ย.67) ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวปาฐกถาพิเศษในงานสัมมนา ‘Big Heart Big Impact สร้างโอกาสคนตัวเล็ก..Power of Partnership จับมือไว้ไปด้วยกัน’ ที่จัดโดยสำนักข่าว Thaipublica ในหัวข้อ ‘สร้างไทยเข้มแข็งด้วยท้องถิ่นนิยม Localism Future of Thailand’ ว่า ประเทศไทยจะเติบโตแบบเดิมๆ ไม่ได้อีกต่อไป ต้องหารูปแบบการเติบโตใหม่ ๆ ที่ต่างไปจากที่เราเคยเติบโต

ตัวสะท้อนที่เห็นชัด ว่าเราจะเติบโตแบบเดิมไม่ได้ ด้านแรก หากดูในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา อัตราการเติบโตของจีดีพี ถือว่าไม่ได้สะท้อนเรื่องของความมั่งคั่งหรือรายได้ของครัวเรือนเท่าที่ควร 

โดยเฉพาะหากมองไปข้างหน้า อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มชะลอตัวลง จากปัญหาเชิงโครงสร้าง ดังนั้นแม้ตัวเลขจีดีพีเติบโต แต่ไม่ได้หมายความว่า รายได้หรือความมั่งคั่งของครัวเรือนหรือรายได้ต่างเพิ่มขึ้น 

ด้านที่สอง ในมุมของภาคธุรกิจ เห็นการกระจุกตัวค่อนข้างสูง โดยปัจจุบันสัดส่วนรายได้จากธุรกิจขนาดใหญ่ที่อยู่ที่ 5% แต่มีสัดส่วนรายได้สูงถึงเกือบ 90% เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง หากเทียบกับก่อนหน้าที่อยู่ระดับ 84-85%

สะท้อนการกระจุกตัวของรายได้ธุรกิจที่เพิ่มขึ้น มิหนำซ้ำ หากดูธุรกิจรายเล็กที่เพิ่งเกิดใหม่ และมีการก่อตั้งธุรกิจมาน้อยกว่า 5 ปีหลัก มีอัตราการปิดกิจการ หรือการตายที่เพิ่มสูงขึ้น สะท้อนถึง Dynamic ที่เริ่มลดลง สะท้อนการกระจุกตัวสูงขึ้น

ด้านที่สาม ภายใต้บริบทของโลกที่เปลี่ยนไป ทำให้อานิสงส์ที่ประเทศไทยเคยได้รับ ไม่เหมือนเดิม โดยเฉพาะ การพึ่งพาการลงทุนจากต่างประเทศหรือ FDI ที่เข้ามาในประเทศ ที่ไทยหวังพึ่งแบบเดิมไม่ได้เหมือนเดิม หากดูมาร์เก็ตแชร์ของไทยเคยอยู่ที่ 0.57%  ซึ่งสูงกว่าเพื่อนบ้านอย่างอินโดนีเซีย เวียดนาม มาก แต่ปัจจุบัน FDI  เวียดนามแซงไทยไปมาก

สะท้อนให้เห็นว่าเราทำแบบเดิมไม่ได้อีกต่อไป ไม่เหมือนอดีตที่เรามีเสน่ห์แม้เรานั่งเฉยๆ เขาก็วิ่งมาหาเรา แต่ตอนนี้ไม่ใช่อีกต่อไป ดังนั้นประเทศไทยต้องปรับตัว ต้องออกแรงมากขึ้น จะหวังพึ่งต่างชาติไม่ได้เหมือนเดิม หมายความเราจำเป็นที่ต้องพึ่งความเข้มแข็งภายในของเรามากขึ้น

“เราไม่ควรโตแบบล่าตัวเลขอย่างเดียว ล่าจีดีพี ล่า FDI เพราะการเติบโตที่ผ่านมาก็ไม่ได้สะท้อนไปสู่เรื่องของชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น แต่ตัวเลขที่ต้องล่าคือ ชีวิตความเป็นอยู่ของคน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องรายได้คน ความมั่งคั่งของคน ที่เป็นสะท้อนคุณภาพของชีวิตความเป็นอยู่ของคน เช่น ตัวเลขสาธารณสุข การศึกษา และโอกาสต่างๆ เพราะตัวเลขวันนี้ไม่ได้สวยหรูเหมือนเมื่อก่อน”

ดังนั้นการเติบโตอย่างยั่งยืนมากขึ้น เข้มแข็งกว่าเดิม หรือเติบโตบนรูปแบบใหม่ ต้องอาศัยหลายๆ เรื่อง ภายใต้ More Local 

ด้านแรก เน้นการเติบโตแบบท้องถิ่นมากขึ้น ซึ่งปัจจุบันประชากร 80% อยู่นอกพื้นที่ กทม./ปริมณฑล

ซึ่งต้องสร้างความมั่งคั่งนอกพื้นที่ และด้านที่สอง ธุรกิจประมาณ 80% อยู่นอกพื้นที่ กทม./ปริมณฑล ซึ่งหากดูสัดส่วนประชากรเมืองหลวง และเมืองรองมีช่องว่าง (Gap) มหาศาล และด้านที่สาม จากตัวเลข World Bank

สะท้อนว่าการเติบโตจีดีพีสูง แต่การเติบโตของประชากรเพียง 0.22% เท่านั้น 

อย่างไรก็ดี การเติบโตแบบท้องถิ่น จะต้องโตแบบแข่งขันได้ และเป็นการแข่งขันกับโลกได้ด้วย ไม่เฉพาะแข่งขันเฉพาะจังหวัดเท่านั้น แต่การเติบโตที่แข่งขันได้ ต้องก้าวข้ามหลายด้าน 

ซึ่งสิ่งที่ไม่ควรทำ หรือของที่ไม่ใช่

ด้านแรก การเติบโตโดยอาศัยความหนาแน่นของพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ที่เริ่มส่งผลกระทบ จากความหนาแน่นเหล่านี้แล้ว ทั้งความแออัด ต้นทุนที่สูงขึ้น ที่เริ่มเห็นจีดีพีต่อหัวของกรุงเทพฯ และปริมณฑลที่ชะลอตัวลง 

ด้านที่สอง นโยบายที่เน้นการกระจายความเจริญไปพื้นที่ต่างๆ ที่ไม่ค่อยประสบความสำเร็จมากนัก เช่น การพยายามไปพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ  หรือ Special Economic Zone  เพื่อดึงดูดความมั่งคั่งการลงทุนต่าง ซึ่งจากการทำมาตั้งแต่ ปี 2558 พบว่ามีมูลค่าลงทุน หากเทียบกับสัดส่วนของมูลค่าการออกบัตรส่งเสริมการลงทุนในประเทศทั้งหมด ที่พบว่าอยู่เพียง 0.5% หรือไม่ถึง1%  ดังนั้นแม้นโยบายเหล่านี้ เป็นเจตนารมณ์ที่ดีของนโยบายรัฐ เพื่อหวังให้เกิดการกระจายความเจริญ แต่หากไม่ได้ศักยภาพต่างๆ นโยบายพวกนี้อาจเป็นนโยบายที่ไม่ใช่ 

ส่วนสิ่งที่ ‘ใช่’ คือ การสร้างท้องถิ่นสากลให้มีเอกลักษณ์ที่แตกต่างกัน จุดเด่นแต่ละพื้นที่ไม่เหมือนกัน ทั้งทรัพยากร และประวัติศาสตร์ แต่จะต้องแข่งขันกับโลกได้ด้วยต้นทุนที่ต่ำ แต่มีมูลค่าสูงขึ้น โดยการที่ทำให้ท้องถิ่นสากลได้ ต้องมี 5-6 เรื่อง 

1.เชื่อมกับตลาด แต่จากท้องถิ่นที่ไม่หนาแน่น กระจายไม่เยอะ ทำให้ต้นทุนจะต่ำได้น้อยมาก แต่กระแสออนไลน์จะทำให้การเชื่อมกับตลาดได้ง่ายขึ้น

2.สร้างมูลค่าเพิ่มโดยการหาจุดเด่น และเอกลักษณ์ 

3.ร่วมมือกับพันธมิตร (Partner) จะช่วยได้ โดยตัวเล็กจับมือกับตัวใหญ่ เพื่อสร้างโอกาสที่เป็น Win-Win

4.ทำให้เมืองรองโต ทำให้เกิดการเข้าถึงเมืองรอง สร้างการกระจุกตัวในเมืองใหม่ ๆ 

5.ให้ท้องถิ่นบริหารจัดการเองได้ เพราะอะไรที่จากส่วนกลางแบบ One size fits all จะไม่เหมาะกับทุกพื้นที่ เช่น ต่างประเทศที่พัฒนาได้ดี อาทิ เกาะเจจู ของเกาหลีที่ให้พื้นที่ออกนโยบายเอง ทำให้รายได้ต่อหัวเพิ่มขึ้นเป็น 10 เท่า จากเดิมอยู่ที่ 1,500 ดอลลาร์

6.สร้างระบบติดตาม ประเทศที่ทำได้ดี คือ เวียดนาม ที่มีการคำนวณความสามารถในการแข่งขันในแต่ละจังหวัด และแต่ละพื้นที่ โดยมีการสำรวจความเห็นนักลงทุนถึงกฎระเบียบการลงทุน และอุปสรรคมีอะไรบ้าง เพื่อพยายามให้เกิดความสามารถในการแข่งขัน 

จับภาวะเศรษฐกิจไทย ในจังหวะ 'ต้นทุนแพง แข่งขันลำบาก' โจทย์ใหญ่สุดหินของรัฐบาล ส่วนฝ่ายค้านก็ค้านแต่เรื่องผิดๆ ถูกๆ

ข่าวปิดกิจการ ของห้างสรรพสินค้า ‘ตั้งฮั่วเส็ง ธนบุรี’ พร้อมการยุติการจ่ายกระแสไฟฟ้า เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2567 กระทบต่อผู้ประกอบการร้านค้า ที่เช่าพื้นที่ขาย บนอาคาร 12 ชั้น ทั้งหมด ร้านอาหารที่ใช้ตู้แช่เย็น เพื่อเก็บวัตถุดิบ หากไม่สามารถขาย หรือขนย้ายได้ทัน ก็คงเสียหายไปอีกไม่น้อย

ธุรกิจเอสเอ็มอีไทย 8 เดือนแรกปีนี้ 'ปิดกิจการ' 10,000 ราย ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) เปิดเผยว่า ข้อมูลการปิดกิจการของธุรกิจ SMEs ในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2567 มีอยู่ประมาณ 10,000 ราย (อ้างอิงข้อมูลกรมพัฒนาธุรกิจการค้า) โดยภาคอีสานและภาคเหนือเป็นภูมิภาคที่มีความเปราะบางสูงสุด สะท้อนจากสัดส่วนธุรกิจที่ปิดกิจการเทียบกับธุรกิจที่มีอยู่

ไม่ใช่แค่ปัจจัยเรื่องเศรษฐกิจที่กระทบต่อเอสเอ็มอีไทย แต่พบว่ายังมีความท้าทายจากปัจจัยภายในที่เผชิญ ซึ่งเป็นอุปสรรคในการดำเนินธุรกิจที่อุตสาหกรรมส่วนใหญ่ก็เผชิญร่วมกัน โดย 95% ของกลุ่มตัวอย่างพบว่า 3 เรื่องที่มีความกังวลและกดดันศักยภาพในการทำธุรกิจมากที่สุดคือ 

1.ต้นทุนการผลิต ต้นทุนการดำเนินงาน ต้นทุนวัตถุดิบที่สูง 

2.พฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป 

3.กลยุทธ์การผลิตและการตลาดที่ล้าสมัย ทำให้เอสเอ็มอีไทยอาจมีแนวโน้มฟื้นช้ากว่าคาด

ทั้งนี้มองในระยะข้างหน้าปัญหาเหล่านี้อาจจะมีความรุนแรง แก้ไขและควบคุมได้ยาก พบ 4 ประเด็นจากปัจจัยภายนอกที่เข้ามาซ้ำเติมปัญหาเหล่านี้คือ 

1.ต้นทุนพลังงานที่น่าจะผันผวน 

2.ต้นทุนค่าแรงที่กำลังจะปรับสูงขึ้น 

3.สถาบันการเงินมีความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ 

และ 4.ปัญหาการแข่งขันที่รุนแรงโดยเฉพาะกับธุรกิจขนาดใหญ่ที่ขยายเข้าไปในท้องถิ่นต่าง ๆ ทำให้เอสเอ็มอีแข่งขันได้ยากขึ้น รวมถึงยังเน้นแข่งขันด้านราคา ที่ทำให้สภาพคล่องของธุรกิจด้อยลงอย่างต่อเนื่อง

ต้นทุนเป็นปัญหาหลัก ที่ส่งผลให้ SMEs ปิดตัวลงเป็นจำนวนมาก แต่รัฐบาล เตรียมประกาศปรับขึ้นค่าแรง 400 บาท ทั่วประเทศ ในวันที่ 1 ตุลาคม 2567 นี้ !! ซึ่งก็ต้องรอดูว่า มาตรการที่จะมาช่วยเหลือผู้ประกอบการ ที่ต้องแบกรับต้นทุนค่าแรงงาน ที่สูงขึ้น จะออกมาในรูปแบบใด หากมาตรการไม่สามารถช่วยเหลือได้ จำนวนตัวเลขการปิดกิจการ ก็คงเพิ่มขึ้นในอัตราก้าวหน้า และแรงงาน ก็คงตกงานกันอีกเป็นจำนวนมาก

ฝ่ายค้าน ที่จะต้องทำหน้าที่ตรวจสอบและควบคุมการบริหารของรัฐบาลให้เป็นไปโดยชอบตามทำนองคลองธรรม จากการอภิปรายล่าสุด ก็ยังไม่พบว่า มีข้อแนะนำในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ จากแกนนำฝ่ายค้าน อ่านตัวเลขงบประมาณ ยังผิด ๆ ถูก ๆ มีแต่ข่าวคราว การหาเสียงเลือกตั้งซ่อม เลือกตั้งท้องถิ่น ผลักดันสุราเสรี จัดสัมมนาเรื่อง Sex Tourism และเพศพาณิชย์ ที่ยังมองไม่เห็นว่า จะช่วยผลักดันเศรษฐกิจได้อย่างไร เมื่อเทียบกับโครงการรถไฟความเร็วสูง โครงการแลนด์บริจด์ 

ม.หอการค้าไทย เปิดเผย ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค เดือนสิงหาคม 2567 อยู่ที่ระดับ 57.7 เป็น 56.5 เป็นการปรับตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 และอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 13 เดือนนับตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2566 

เดือนมีนาคม 2567 'ดนันท์ สุภัทรพันธุ์' กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด เคยกล่าวถึงกรณีการแข่งขันอันดุเดือดท่ามกลางสมรภูมิขนส่งไว้ว่า 'ไปรษณีย์ไทย' กำลังเจอปัญหาการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมเพราะโดนกีดกันจากแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ เนื่องจากร้านค้าและลูกค้าไม่สามารถเลือกขนส่งเองได้ เขาเสนอว่า ต้องมี 'Regulator' หรือหน่วยงานที่เข้ามาทำหน้าที่กำกับดูแลเป็นผู้กำหนดกติกาการแข่งขัน เพื่อความเป็นธรรมและชัดเจนมากขึ้น 

เท่านั้นยังไม่พอ เพราะตอนนี้ต้องเจอศึกหนักจาก ‘Temu’ ที่มีความยากกว่าหลายเท่า เนื่องจากเป็นแพลตฟอร์มที่ไม่มีสำนักงานในไทย แม้แต่กรมสรรพากรก็ตรวจสอบไม่ได้ ทำให้ต้นทุนของ Temu ต่ำกว่าเดิม จากที่ส่วนแบ่งในตลาดถูก 'Shopee' และ 'Lazada' ปันส่วนไป 

ถ้าคนขายตาย ผู้ประกอบการตาย ขนส่งก็ไม่รอด ‘GDP’ ไหลออกนอกประเทศ แล้วรัฐบาลจะหารายได้จากแหล่งใด มากระตุ้นเศรษฐกิจ สุดท้าย ผู้ประกอบการ ธุรกิจ SMEs ในประเทศต้องปิดตัวลง ถ้ายังไม่แก้ สุดท้ายก็ตายกันหมด

เพจดังชี้!! ท่องเที่ยวโดดเด่น เดินทางสะดวก ดึงดูดนักลงทุน

(15 ก.ย. 67) เพจ ‘Bangkok I Love You’ โพสต์ข้อความ โดยระบุว่า …

การลงทุนสร้างสวนสนุกขนาดใหญ่ที่มีมาตรฐานระดับโลก เช่น ดิสนีย์แลนด์ ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ในอำเภอบางปะอิน จังหวัดอยุธยา ซึ่งเป็นเมืองชั้นนอกกรุงเทพมหานครที่มีศักยภาพสูง ทั้งด้านตำแหน่งที่ตั้งและโครงสร้างพื้นฐาน

สวนสนุกขนาดใหญ่เป็นสถานที่ที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ให้เดินทางเข้ามาเที่ยว
โดยมีข้อดีหลายประการดังนี้

1.ประเทศไทยเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางยอดนิยมของนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก โดยมีจำนวนผู้เยี่ยมชมมากเป็นอันดับต้น ๆ ของโลกทุกปี สถานที่ตั้งในอำเภอบางปะอินซึ่งอยู่ใกล้กับกรุงเทพมหานครและเมืองมรดกโลกอย่างอยุธยา จะช่วยสร้างแรงดึงดูดให้สวนสนุกเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ครบวงจร นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางมาได้ทั้งจากในประเทศและต่างประเทศ

2.ทำเลที่ตั้งและความสะดวกสบายในการเดินทาง: อำเภอบางปะอินอยู่ห่างจากกรุงเทพมหานครเพียง 45 นาที โดยใช้บริการรถไฟความเร็วสูงซึ่งกำลังอยู่ในระหว่างการพัฒนา นอกจากนี้ ยังมีทางด่วนและมอเตอร์เวย์ที่เชื่อมโยงกับกรุงเทพฯ และจังหวัดอื่น ๆ อย่างง่ายดาย ทำให้การเดินทางเป็นไปอย่างสะดวกและรวดเร็ว สวนสนุกที่ตั้งอยู่ในจุดนี้จะเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สามารถเข้าถึงได้ง่ายและดึงดูดกลุ่มนักท่องเที่ยวที่หลากหลาย

3.ใช้ประโยชน์จากเครือข่ายแม่น้ำเจ้าพระยาริมแม่น้ำเจ้าพระยาจะเป็นการขยายเครือข่ายการท่องเที่ยวที่เชื่อมต่อกับแหล่งท่องเที่ยวสำคัญต่าง ๆ ได้โดยสะดวก เช่น การท่องเที่ยวทางน้ำที่เชื่อมต่อไปยังเกาะรัตนโกสินทร์ เกาะเกร็ด จังหวัดปทุมธานี หรือการเดินทางต่อไปยังอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา นอกจากนี้ นักท่องเที่ยวยังสามารถเดินทางด้วยรถไฟหรือทางบกเพื่อเยี่ยมชมแหล่งมรดกโลกได้อย่างง่ายดาย

4.การสร้างประสบการณ์การท่องเที่ยวแบบครบวงจร: สวนสนุกแห่งนี้สามารถเป็นศูนย์กลางของการท่องเที่ยวในภาคกลางของประเทศไทย ไม่เพียงแต่มีเครื่องเล่นและกิจกรรมสนุกสนานระดับโลก แต่ยังสามารถสร้างประสบการณ์เชื่อมโยงกับการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมที่อยุธยา ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญ นอกจากนี้ยังมีโอกาสในการพัฒนาการท่องเที่ยวทางน้ำที่นำเสนอความเป็นเอกลักษณ์ของแม่น้ำเจ้าพระยา

5..สวนสนุกขนาดใหญ่ในทำเลที่ตั้งเชิงยุทธศาสตร์เช่นนี้สามารถเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจที่ส่งเสริมการเติบโตของธุรกิจท่องเที่ยวและบริการในพื้นที่โดยรอบได้ ทั้งโรงแรม ร้านอาหาร และศูนย์การค้า ยิ่งไปกว่านั้น การเป็นส่วนหนึ่งของแหล่งท่องเที่ยวที่ครบวงจร จะช่วยเสริมสร้างความมั่นคงให้กับการลงทุนระยะยาว

ด้วยศักยภาพการท่องเที่ยวที่โดดเด่น ความสะดวกในการเดินทาง และทำเลที่ตั้งที่ใกล้กรุงเทพฯ การลงทุนสร้างสวนสนุกขนาดใหญ่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาในอำเภอบางปะอิน จึงเป็นโอกาสที่น่าจับตามองและมีแนวโน้มที่จะกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวระดับโลกที่ดึงดูดทั้งนักท่องเที่ยวและนักลงทุน


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top