Saturday, 10 May 2025
Econbiz

'ไบแนนซ์ ประเทศไทย' คิกออฟ!! เปิดเทรดคริปโตแล้ว กร้าว!! ปลอดภัย โปร่งใส มั่นใจคุณภาพการให้บริการ

(16 ม.ค. 67) เพจ Binance TH ประกาศว่า Binance TH by Gulf Binance แพลตฟอร์มซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลและนายหน้าสินทรัพย์ดิจิทัลในประเทศไทย ได้เปิดให้สมัครสมาชิกได้แล้วตั้งแต่วันนี้ เพื่อเริ่มต้นเทรดคริปโทมากกว่า 110 คู่เหรียญ ฝากและถอนได้ด้วยเงินบาท

Binance TH by Gulf Binance คือแพลตฟอร์มที่ให้บริการศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (สำหรับการซื้อขายด้วยเงินบาท) และบริการนายหน้าซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (สำหรับการซื้อขายระหว่างสินทรัพย์ดิจิทัล) โดยบริษัท กัลฟ์ ไบแนนซ์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างบริษัท กัลฟ์ อินโนวา จำกัด ในเครือของ บมจ. กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (GULF) และบริษัท ไบแนนซ์ แคปปิตอล แมเนจเมนท์ จำกัด ในเครือกลุ่ม Binance

บริษัทได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลประเภทศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลและนายหน้าซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลจากกระทรวงการคลัง และอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2566 ได้แก่ ใบอนุญาตประกอบธุรกิจศูนย์ซื้อขายคริปโทเคอร์เรนซี, ใบอนุญาตประกอบธุรกิจศูนย์ซื้อขายโทเคนดิจิทัล, ใบอนุญาตประกอบธุรกิจนายหน้าซื้อขายคริปโทเคอร์เรนซี และใบอนุญาตประกอบธุรกิจนายหน้าซื้อขายโทเคนดิจิทัล

บริการของบริษัทฯ มีดังนี้

1. บริการศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล บริษัทฯ จะให้บริการเป็นศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลที่ผู้ใช้บริการสามารถวางคำสั่งซื้อหรือขายสินทรัพย์ดิจิทัลกับผู้ใช้บริการอื่นภายในศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลของบริษัทฯ ได้ โดยสอดคล้องกับกลไกการคัดเลือกสินทรัพย์ดิจิทัลที่จะนำมาให้บริการซื้อขาย, กลไกการจับคู่, การชำระราคาและส่งมอบ รวมถึงกลไกการตรวจสอบสภาพตลาดที่เหมาะสม ทั้งนี้ บริการศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลจะให้บริการเฉพาะการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลด้วยสกุลเงินบาทเท่านั้น

และ 2. บริการนายหน้าซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล - บริษัทฯ จะให้บริการเป็นนายหน้าซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลที่ผู้ใช้บริการสามารถวางคำสั่งซื้อหรือขายสินทรัพย์ดิจิทัล ผ่านบริษัทฯ ในฐานะนายหน้าซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล เพื่อส่งไปยังศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลปลายทาง (sourced exchange) ที่เชื่อมต่อกับบริษัทฯ ได้ ภายใต้กลไกเงื่อนไขราคาที่ดีที่สุดตามสภาพตลาด ทั้งนี้ บริการนายหน้าซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลนี้จะให้บริการเฉพาะการซื้อขายระหว่างสินทรัพย์ดิจิทัลด้วยกันเท่านั้น

คุณสมบัติ ในการลงทะเบียนเพื่อใช้งานบัญชีการใช้งาน Binance TH

-กรณีบุคคลธรรมดา อายุครบ 20 ปีบริบูรณ์

-กรณีนิติบุคคล เป็นนิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นและดำรงอยู่โดยชอบภายใต้กฎหมายของประเทศที่จัดตั้งขึ้น และมีความสามารถทางกฎหมาย และสามารถเข้าทำข้อตกลง

-ไม่เคยถูกระงับหรือถูกลบออกจากการใช้งานบริการของบริษัทมาก่อน

-ไม่มีบัญชีการใช้งานกับบริษัทฯ อยู่แล้ว

- การใช้บริการต้องไม่เป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย หรือกฎเกณฑ์ใดๆ ที่บังคับใช้ หรือนิติบุคคลที่ดำเนินการแทน ซึ่งรวมถึงแต่ไม่จำกัดเพียงกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินและการต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายและการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง

- ไม่มีสถานะความเป็นบุคคลอเมริกันตามกฎหมาย FATCA

สำรวจแหล่งแร่ลิเทียมในไทย ขนาดใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก 'ลบจุดอ่อน-เพิ่มศักยภาพ' ไทย สู่ผู้นำการผลิตรถ EV ในอาเซียนเต็มตัว

นับเป็นข่าวดี สำหรับอุตสาหกรรมรถยนต์อีวี ของไทย ที่นอกจากจะมีจุดแข็งในด้านการผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ ที่มีคุณภาพสูง ความเชี่ยวชาญในการผลิตรถยนต์ และยังมีนโยบายส่งเสริมการลงทุนที่โดดเด่นกว่าประเทศคู่แข่ง ล่าสุดก็ได้มีการค้นพบแหล่งแร่ลิเทียมขนาดใหญ่ในประเทศไทย ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตแบตเตอรี่รถยนต์อีวี ทำให้เพิ่มศักยภาพดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมอีวี ได้มากขึ้น และจะมีการลงทุนโรงงานแบดเตอรี่อีวีต้นน้ำมากขึ้น ส่งผลให้ไทยเป็นฐานการผลิตที่มีศักยภาพสูงอย่างรอบด้าน

โดยไม่นานมานี้ นายอดิทัต วะสีนนท์ อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) เปิดเผยว่า กระทรวงฯ ได้ให้การสนับสนุนการลงทุนในอุตสาหกรรมรถยนต์อีวีอย่างเต็มที่ โดยสั่งการให้กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ จัดหาและบริหารจัดการวัตถุดิบ เพื่อรองรับความต้องการของภาคอุตสาหกรรมรถยนต์อีวี

โดยที่ผ่านมา ได้ออกใบอนุญาตอาชญาบัตรพิเศษจำนวน 3 แปลง เพื่อสำรวจแหล่งลิเทียมในพื้นที่อำเภอตะกั่วทุ่ง จังหวัดพังงา ซึ่งจากผลการสำรวจพบว่า หินอัคนีเนื้อหยาบมากสีขาวหรือหินเพกมาไทต์ ซึ่งเป็นหินต้นกำเนิดที่นำพาแร่เลพิโดไลต์สีม่วง หรือแร่ที่มีองค์ประกอบของลิเทียมมาเย็นตัวและตกผลึกจนเกิดเป็นแหล่งลิเทียมที่มีศักยภาพ 2 แหล่ง ได้แก่ แหล่งเรืองเกียรติ มีปริมาณสำรองประมาณ 14.8 ล้านตัน เกรดลิเทียมออกไซด์เฉลี่ย 0.45% อยู่ในเกรดระดับกลาง และแหล่งบางอีตุ้มที่อยู่ระหว่างการสำรวจขั้นรายละเอียดเพื่อประเมินปริมาณสำรอง

สำหรับแหล่งลิเทียมเรืองเกียรติแห่งนี้ ถือได้ว่าเป็นแหล่งที่มีปริมาณแร่ลิเทียมมมากเป็นอันดับ 3 ของโลกในปัจจุบัน เป็นรองเพียงประเทศโบลิเวีย และอาร์เจนตินา ซึ่งหากได้รับประทานบัตรเพื่อทำเหมืองแร่แล้ว คาดว่าจะสามารถนำแร่ลิเทียมมาเป็นวัตถุดิบเพื่อผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนสำหรับยานยนต์ไฟฟ้าขนาด 50 kWh ได้ไม่ต่ำกว่า 1 ล้านคัน คาดว่าจะสามารถออกประทานบัตรผลิตแร่ได้ภายใน 2 ปี จึงเริ่มการทำเหมืองได้

ทั้งนี้ นอกจากทั้ง 2 แหล่งดังกล่าว กพร. ยังได้ออกใบอาชญาบัตรสำรวจแร่ลิเทียมไปแล้ว 6 ราย ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ภาคใต้ และฝั่งตะวันตกที่ จ.ราชบุรี คาดว่าจะพบแร่ลิเทียมได้อีกหลายแหล่ง แต่ทั้งนี้ ในแหล่งแร่บางแห่งอาจจะไม่สามารถผลิตได้ เพราะอยู่ในพื้นที่ความมั่นคงทางทหาร ซึ่งปัญหานี้อาจจะหาทางออกได้ในอนาคต ทำให้คาดว่าจะสำรวจพบแร่ลิเทียมอีกหลายแห่งในประเทศไทย

ส่วน ข้อกังวลในด้านการทำเหมืองแร่ลิเทียมนั้น เทคโนโลยีการแต่งสินแร่ลิเทียมในปัจจุบันสามารถควบคุม และลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนได้เป็นอย่างดี รวมทั้งในกระบวนการสกัดแร่ลิเทียม ก็ไม่มีสารเคมีอันตรายเข้ามาเกี่ยวข้อง ในส่วนของ กพร. ก็จะเข้าไปกำกับดูแลอย่างเข้มงวดในทุกขั้นตอนการผลิต จึงมั่นใจว่าเหมืองใหม่ที่จะเกิดขึ้นนี้ จะมีความปลอดภัยต่อสุขภาพของประชาชนโดยรอบเหมืองลิเทียมอย่างแน่นอน

นอกจากนี้ กพร. ได้พัฒนาเทคโนโลยีที่สามารถ Reuse และ Recycle แบตเตอรี่ที่ใช้แล้วและนำกลับมาใช้เป็นแหล่งพลังงานซ้ำ (Second Life EV Batteries) สำหรับยานยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็ก อาคารบ้านเรือน สำนักงาน หรือโรงงานอุตสาหกรรมอย่างครบวงจร เพื่อรองรับการบริหารจัดการแบตเตอรี่ที่ผ่านการใช้งานแล้วในอนาคตตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนอีกด้วย

ทั้งนี้ นโยบาย EV 3.5 ของรัฐบาลสร้างแรงจูงใจให้บริษัทยานยนต์ไฟฟ้ารายใหม่ ๆ เข้ามาตั้งฐานการผลิตภายในประเทศ ซึ่งหากประเทศไทยมีปริมาณสำรองลิเทียมเป็นจำนวนมาก ย่อมเป็นส่วนสำคัญที่สร้างแรงจูงใจให้นักลงทุนตั้งโรงงานผลิตแบตเตอรี่ซึ่งเป็นชิ้นส่วนที่มูลค่าเป็นสัดส่วนที่สูงมากของรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศ จะส่งผลดีต่อโครงสร้างอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าและซัพพลายเชนทั้งระบบ ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจทั้งด้านการลงทุนและการจ้างงาน

รวมทั้งยังสร้างความได้เปรียบในการเป็นฐานการผลิตรถยนต์อีวี อันดับ 1 ของอาเซียน ลบจุดอ่อนเดิมที่ไม่มีเหมืองแร่ต้นน้ำแบตเตอรี่ เมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่งอย่างประเทศอินโดนีเซีย

สำหรับข้อมูล บริษัท สยามโลหะ อุตสาหกรรม จำกัด ได้รับอาชญาบัตรสำรวจแร่ 3 ใบ ได้แก่...

อาชญาบัตรพิเศษที่ 1/2562มีพื้นที่ 7,670 ไร่ (ประมาณ 12.27 ตร.กม.) ครอบคลุมพื้นที่ ต.ถ้ำ และ ต.กระโสม อ.ตะกั่วทุ่ง จ.พังงา

อาชญาบัตรพิเศษที่ 2/2562 มีพื้นที่ 7,433 ไร่ (ประมาณ 12.64 ตร.กม.) ครอบคลุมพื้นที่ ต.ถ้ำ ต.กะไหล และ ต.กระโสม อ.ตะกั่วทุ่ง จ.พังงา

อาชญาบัตรพิเศษที่ 3/2562 มีพื้นที่ 7,417 ไร่ (ประมาณ 11.87 ตร.กม.) ครอบคลุมพื้นที่ ต.ถ้ำ ต.กะไหล และ อ.ตะกั่วทุ่ง จ.พังงา ปรับตัวทันเทคโนโลยี แต่ต้องรักษาพื้นฐานขนบธรรมเนียมวัฒนธรรมของไทยให้มากที่สุด เพื่อจะทำให้เด็กก้าวหน้าทางเทคโนโลยีทั้งที่ยังมีวัฒนธรรมที่เป็นสมบัติของประเทศ

'ดูไบเวิลด์' บิ๊กโลจิสติกส์-ท่าเรือ UAE เอาจริง!! จ่อลงทุน 'แลนด์บริดจ์' เช็กประวัติ!! เคยให้เปล่า 200 ล้าน วิจัยสร้างท่าเรือกับไทยมาแล้ว

เมื่อวานนี้ (16 ม.ค.67) ระดับโลก ไม่ใช่จะมาหลอกกันง่ายๆ ล่าสุด Dubai World บริษัทโลจิสติกส์ขนาดยักษ์ จาก UAE สนใจโครงการแลนด์บริดจ์ และมีการประสานข้อมูลกับ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร หรือ สนข. 

ทั้งนี้ บริษัทดังกล่าวได้หารือกับนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ระหว่างการเข้าร่วมประชุม World Economic Forum (WEF) ประจำปี 2567 ที่เมืองดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ระหว่างวันที่ 15-19 ม.ค.2567 ภายใต้กำหนดร่วมการประชุม 'Thailand Landbridge: Connecting ASEAN with the World'

สำหรับ Dubai World (ดูไบเวิลด์) เป็นบริษัทชั้นนำของสหรัฐอาหรับเอมิเรสต์ ซึ่งเชี่ยวชาญโลจิสติกส์ การขนส่งสินค้า การดำเนินงานท่าเรือ การขนส่งสินค้าทางทะเลและเขตการค้าเสรี ก่อตั้งปี 2548 ให้บริการขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ 70 ล้านตู้ โดยมีเรือนำเข้า 70,000 ลำต่อปี คิดเป็น 10% ของปริมาณการขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ทั่วโลก และมีพื้นที่ให้บริการในท่าเรือ 82 แห่งใน 40 ประเทศ

โดยที่ผ่านมา มีความสนใจ ที่จะลงทุนด้านโลจิสติกส์ในไทยมาช้านาน 

เคยร่วมมือและศึกษาโครงการแลนด์บริดจ์ร่วมกับรัฐบาลในช่วงปี 2550 ในการพัฒนาสะพานเศรษฐกิจภาคใต้ โดยคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบเมื่อวันที่ 20 พ.ค.2551

Dubai World สนับสนุนแบบให้เปล่า เพื่อศึกษาความเหมาะสมการพัฒนาท่าเรือระหว่างประเทศ 2 แห่ง บนชายฝั่งทะเลอันดามันและบนชายฝั่งทะเลด้านอ่าวไทย วงเงิน 200 ล้านบาท ก่อนที่ประเทศไทยจะมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ซึ่งกระทบกับแผนการลงทุนของ Dubai World

กระทั่งรัฐบาลปัจจุบัน มีท่าทีสนับสนุนโครงการแลนด์บริดจ์ ทาง Dubai World จึงกลับมาให้ความสนใจในโครงการนี้ 

ด้าน สนข.รายงานด้วยว่า “Dubai World เป็นบริษัทแรกๆ ที่เข้ามาช่วยไทยในการศึกษาโครงการแลนด์บริดจ์ ซึ่งขณะนั้นมีบริษัทจากจีนและอีกหลายแห่งที่มาช่วยศึกษา Dubai World จึงถือเป็นอีกหนึ่งเอกชนที่เข้าใจและรู้เรื่องแลนด์บริดจ์เป็นอย่างดี”

‘รมว.ปุ้ย’ เร่ง!! สมอ. ประกาศสินค้าควบคุม 46 รายการ เพิ่มศักยภาพการแข่งขัน-คุ้มครองความปลอดภัย ปชช.

(17 ม.ค.67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรมได้เร่งรัดให้สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม หรือ สมอ. กำหนดมาตรฐานเพื่อให้ทันกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรม และเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันทางการค้า ตลอดจนคุ้มครองประชาชนให้ปลอดภัยจากการใช้สินค้า 

โดยในปีนี้ สมอ. ได้ขออนุมัติบอร์ดกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) ไว้ทั้งสิ้นจำนวน 600 เรื่อง แบ่งเป็นมาตรฐานกำหนดใหม่ 443 เรื่อง และมาตรฐานเดิมที่ต้องทบทวนอีกจำนวน 157 เรื่อง ครอบคลุมกลุ่มอุตสาหกรรม S-curve 105 เรื่อง เช่น ยานยนต์สมัยใหม่ อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ การเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ ฯลฯ กลุ่ม New S-curve 120 เรื่อง เช่น หุ่นยนต์เพื่ออุตสาหกรรม การบินและโลจิสติกส์ เชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ การแพทย์ครบวงจร ฯลฯ กลุ่มมาตรฐานตามนโยบาย 32 เรื่อง เช่น นวัตกรรม สมุนไพร ฯลฯ กลุ่มส่งเสริมผู้ประกอบการ 163 เรื่อง เช่น หลอดรังสีอัลตราไวโอเลตใช้สำหรับการทำผิวสีแทน สายไฟฟ้าสำหรับยานยนต์ แผงเซลล์แสงอาทิตย์ ฯลฯ และกลุ่มอุตสาหกรรมอื่น ๆ 23 เรื่อง เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า เคมีภัณฑ์ ฯลฯ ซึ่งในจำนวน 600 เรื่องนี้ เตรียมประกาศเป็นสินค้าควบคุมเพื่อความปลอดภัยของประชาชนจำนวน 46 เรื่อง เพิ่มเติมจากที่ สมอ. ประกาศไปแล้ว 144 เรื่อง 

ด้าน นายวันชัย พนมชัย เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า สินค้าที่จะประกาศเป็นสินค้าควบคุมภายในปี 2567 นี้ มีจำนวนทั้งสิ้น 46 เรื่อง แบ่งเป็นมาตรฐานบังคับใหม่ 25 เรื่อง เช่น แบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าและรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า การชนด้านข้างและด้านหน้าของรถยนต์ ตู้กดน้ำดื่ม เครื่องใช้ไฟฟ้าที่เติมปรอท คาร์ซีทสำหรับเด็ก ดวงโคมไฟฟ้า ชิ้นส่วนท่อไอเสียรถจักรยานยนต์ รถยนต์ขนาดเล็กที่ติดตั้งระบบก๊าซเพิ่มเติม ลวดชุบแข็งและอบคืนตัวสำหรับคอนกรีต
อัดแรง เหล็กแผ่นเคลือบอะลูซิงค์ เหล็กแผ่นเคลือบสังกะสี ท่อยางและท่อพลาสติกสำหรับใช้กับก๊าซหุงต้ม ถังดับเพลิงก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ กระป๋องสเปรย์ต่าง ๆ ถุงพลาสติกบรรจุอาหาร และกระดาษสัมผัสอาหาร เป็นต้น และมาตรฐานที่บังคับต่อเนื่องอีก 21 เรื่อง เช่น เหล็กแผ่นสำหรับงานโครงสร้าง เข็มพืด เครื่องใช้ไฟฟ้าสำหรับการดูแลผม ขน หรือผิว เครื่องทอดน้ำมันท่วมปริมาณน้ำมันไม่เกิน 5 ลิตร กระทะทอด เตาอบไมโครเวฟ เครื่องปรับอากาศ แบตเตอรี่โทรศัพท์มือถือ แบตเตอรี่โน๊ตบุ๊ค สวิตช์ไฟฟ้า เครื่องตัดวงจรกระแสเหลือสำหรับใช้ในที่อยู่อาศัย และเคเบิลเส้นใยนำแสงโทรคมนาคมภายนอกอาคาร เป็นต้น 

โดยในเดือนมิถุนายน 2567 นี้ สมอ. จะประกาศให้เหล็กแผ่นเคลือบอะลูซิงค์ และเหล็กแผ่นเคลือบสังกะสีเป็นสินค้าควบคุมก่อน ตามด้วยสินค้าที่เหลือตามลำดับ จึงขอฝากถึงผู้ประกอบการที่ทำ และนำเข้าสินค้าดังกล่าว เตรียมยื่นขอ มอก. เพื่อให้การดำเนินธุรกิจเป็นไปอย่างต่อเนื่อง เลขาธิการ สมอ. 

'พงศ์พรหม' ชี้!! Digital Nomad โจทย์ใหญ่ที่ไทยควรดันไม่แพ้ 'แลนด์บริดจ์' หลังต่างชาติสายเทคฯ ชอบมา 'กิน-เที่ยว-ทำงาน' แต่กลับไม่เลือกลงทุน

(17 ม.ค. 67) นายพงศ์พรหม ยามะรัต ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก 'Pongprom Yamarat' ฝากถึงภาครัฐ ที่กำลังตื่นเต้นกับ Landbridge จนลืมสิ่งที่กำลังจะสำเร็จ และสร้างรายได้ไม่น้อยกว่า Landbridge รึเปล่า? ความว่า...

10 ปีมานี้เมืองไทยเป็น Digital Nomads hub ที่ใหญ่ติดท็อป 5 โลกมาโดยตลอด

(***Digital Nomads: คนที่ใช้ชีวิตอยู่ตามสถานที่ต่าง ๆ ของโลก ส่วนอาชีพก็คือการทำทุกอย่างที่ได้เงินโดยใช้ระบบออนไลน์ เพียงแค่มีแล็ปท็อปกับอินเทอร์เน็ต เพียงเท่านี้ก็สามารถทำงานจากที่ไหนก็ได้บนโลกใบนี้แล้ว บางคนอาจจะทำ E-commerce, Freelance, Remote Work ซึ่งไลฟ์สไตล์แบบนี้มันสนุกตรงที่สามารถทำงานด้วยแล้วก็เที่ยวด้วยได้)

ผมเจอข้อมูลนี้ในนิตยสาร Monocle เมื่อเกือบ 10 ปีก่อน

>> มีข้อดี...
เค้ามากันเยอะ แปลว่าเค้าชอบครับ 
ทำไมเขาไม่ไปฟิลิปปินส์, เวียดนาม, มาเลเซีย
ก็เพราะเราน่าอยู่ เราครบ คนเรานิสัยดี บ้านเราอยู่สบาย

>> มีข้อดี ก็มีข้อเสีย...
ผมอยู่ในวงการ tech มานานพอสมควร
เรามีพาร์ทเนอร์ทั้งอิสราเอล, อเมริกัน, จีน และสิงคโปร์
เค้าชอบมา Nomad ที่เรา แต่หากจะให้เปิดบริษัท...
‘วันนี้’ เค้าเลือก...
สิงคโปร์, จีน, ไต้หวัน และเวียดนามครับ

>> จึงเกิดปัญหาใหญ่
เค้ามาทำงานที่ไทย ไทยได้ค่าอาหาร ค่าที่พัก
แต่...
สิงคโปร์, จีน, ไต้หวัน, เวียดนาม ได้เงินภาษี และการสร้าง eco system ครับ ซึ่งเป็นเงิน และประโยชน์มากกว่าที่ไทยได้เป็นพัน เป็นหมื่นเท่า

>> สิงคโปร์ จีน ไต้หวัน มีอะไร?
1. การเปิดบริษัทที่เกี่ยวกับนวัตกรรม ได้รับการสนับสนุน เป็น fast track ทั้งภาษี จดทะเบียน ที่ตั้ง การช่วยโปรโมต และการคอร์รัปชันต่ำมาก พูดง่ายๆ ไปแล้วโอกาสเจ๊งต่ำ
2. ไปแล้วหาคนง่าย หมายถึง ดึงคนต่างชาติไปทำงานด้วยง่าย เพราะประเทศเหล่านี้คิดต่างจากไทย เค้าคิดถึงการ ‘ดูดมันสมอง’ เข้าประเทศ ส่วนไทยคิดแต่ว่า ‘ต่างชาติจะมาแย่งงานคนไทย’ รวมถึงคนของเขามีความสามารถสูงกว่าไทย จากการศึกษาที่ดีกว่า

>> แล้วเวียดนามหล่ะ?
1. ภาครัฐยังกระด้อกกระแด้กเหมือนไทยนี่แหละ แต่...
2. คนเวียดนามขยัน เรียนรู้เร็วกว่าคนไทย และมีทักษะนวัตกรรม เทคโนโลยีสูงกว่าคนไทย และค่าจ้างต่ำกว่าไทย ใครมองมุมนี้ล้วนๆ ก็ให้มาเวียดนาม จึงจะเห็นว่าการลงทุน บ.เทค ข้ามชาติมาเวียดนามจนแซงไทยแล้ว

>> กลับมาโอกาส
การที่ Nomad มาไทยเยอะ แปลว่าเค้าชอบ
นี่คือต้นทุนที่ใครก็แย่งไม่ได้ครับ 
แต่...
1. เราต้องมี รมว. DE, รมว. อว. และ รมว.ศึกษา ที่เห็นภาพกว่านี้ และรู้ว่านี่คือ priority
สมัยสุดท้ายที่มีการขับเคลื่อนเหล่านี้อย่างเป็นรูปธรรม คือยุค รอง สมคิด จาตุศรีพิทักษ์, ดร.อุตตม, ดร.พิเชษฐ, ดร.สุวิทย์ และ นพ.ธีระเกียรติ นั่นคือยุคทองเลย ... หลังจากนั้นก็ไร้ทิศทางต่อ
2. รมว. DE และ อว. ต้องติดอาวุธ ให้ Depa และ NIA ในการทำภารกิจนี้ให้สำเร็จ ในความเป็นจริงมีอีก 1 องค์การมหาชนที่ควรมาเกี่ยวข้อง แต่ไม่ได้ใช้ศักยภาพเต็มที่ คือ BEDO ที่ผมไม่ได้ยินข่าวคราวมานานมากแล้ว

เอา บ. Tech เข้ามาไทยให้มาก
โลกเค้ารบกัน นี่คือโอกาส
อันใหญ่ๆ อยู่สิงคโปร์ไป
เอาเล็ก-ถึงกลางมาไทย เดี๋ยวเค้าก็ใหญ่เอง
นี่ผมพูดถึง 4-50,000 ล้านบาทอยู่นะครับ

ครับ
โอกาสที่ใหญ่
ใหญ่กว่า Landbridge มาก
ทำตรงนี้ให้สำเร็จ จะรวยกว่าทำ Landbridge อีก

ส่วน Landbridge ผมไม่มีความเห็น เพราะไม่มีข้อมูล
ความเห็นส่วนตัวคือ
น่าสนใจ แต่ต้องคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมให้มาก

3 ประเด็น ESG ที่นักลงทุนต้องจับตาในปี 2567 ‘ผลิตภัณฑ์-การระดมทุน’ ไม่เข้าเกณฑ์ อยู่ยาก

(17 ม.ค. 67) ศรชัย สุเนต์ตา CFA SCB Wealth Chief Investment Officer ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารฝ่าย Investment Office and Product Function กลุ่มธุรกิจ Wealth ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) เผยถึง 3 ประเด็น ESG ที่นักลงทุนต้องจับตาในปี 2567 ผ่าน ‘กรุงเทพธุรกิจ’ ระบุว่า...

สำหรับ กฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับประเด็น ESG ประเด็นแรก จะเห็นว่ากฎเกณฑ์ที่ประเทศต่าง ๆ เริ่มบังคับใช้ รวมถึงประกาศว่าจะออกกฎเกณฑ์ใหม่ปีนี้และเร็ว ๆ นี้มากขึ้น โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) 

นอกจากนี้ หน่วยงานกำกับดูแลบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์หลายประเทศ รวมถึงประเทศไทย ได้เพิ่มความเข้มข้นเรื่องการเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืนด้วย เช่น สหภาพยุโรป (EU) บังคับใช้ ข้อบังคับว่าด้วยการรายงานความยั่งยืนขององค์กร (Corporate Sustainability Reporting Directive: CSRD) เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2567 กำหนดให้องค์กรขนาดใหญ่และบริษัทจดทะเบียนทั้งหมด (ยกเว้นบริษัทจดทะเบียนขนาดเล็ก) ต้องเปิดเผยข้อมูลความเสี่ยงและโอกาสด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม รวมถึงผลกระทบการดำเนินธุรกิจต่อผู้มีส่วนได้เสียและสิ่งแวดล้อม หากบริษัทใดเข้าข่ายนี้ ต้องรายงานข้อมูลภายใต้มาตรฐานการรายงานความยั่งยืนของยุโรป (European Sustainability Reporting Standards : ESRS) 

ดังนั้นปี 2567 ถือเป็นปีแรกที่บริษัทต้องเริ่มเก็บข้อมูล เพื่อทำรายงานตามมาตรฐาน ESRS เผยแพร่ในปี 2568

ขณะที่ สหรัฐฯ นอกจากกฎหมาย Clean Competition Act หรือ US-CBAM มาตรการภาษีคาร์บอนที่จะเริ่มบังคับใช้ปี 2568 กับอุตสาหกรรมที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเข้มข้น ก่อนขยายไปอุตสาหกรรมอื่นในปี 2570 ยังมีการบังคับใช้ร่าง พ.ร.บ. การเปิดข้อมูลสภาพภูมิอากาศของรัฐแคลิฟอร์เนีย (California’s New Climate Disclosure Rules) 2 ฉบับ คือ SB 253 กฎหมายว่าด้วยความรับผิดชอบขององค์กรต่อข้อมูลด้านสภาพภูมิอากาศ และ SB 261 กฎหมายว่าด้วยเรื่องก๊าซเรือนกระจก สภาพภูมิอากาศ ความเสี่ยงทางการเงินที่เกี่ยวข้อง แม้ พ.ร.บ. นี้ มีผลบังคับใช้ปี 2568 แต่บริษัทต้องเริ่มเก็บข้อมูลตั้งแต่ปี 2567 แต่ก็ต้องจับตาการเลือกตั้งสหรัฐฯ ปลายปี เพราะหากเปลี่ยนขั้วอำนาจ ก็อาจมีการเปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์ ESG ได้

ทั้งนี้ มีอีกหลายประเทศเตรียมออกกฎหมายและมาตรฐานการรายงานคล้าย ๆ กัน ซึ่งการรายงานที่เข้มข้นขึ้นจะช่วยให้ผู้ลงทุนเห็นว่า หุ้นหรือตราสารหนี้ที่ลงทุนโดยตรง หรือผ่านกองทุนรวม สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมอย่างไร

ประเด็นต่อมาการจัดพอร์ตโฟลิโอคาร์บอนต่ำ เป็นอีกแนวโน้มสำคัญ ไม่ใช่แค่นักลงทุนสถาบัน นักลงทุนรายย่อย ก็เริ่มให้ความสำคัญ มุ่งเน้นการลงทุนในสินทรัพย์หรือกิจการที่ปล่อยคาร์บอนต่ำมากขึ้น เพื่อลดก๊าซเรือนกระจก เช่น การลงทุนผ่านตราสารหนี้เพื่อสิ่งแวดล้อม ตราสารหนี้เพื่อสังคม หรือหุ้นของบริษัทที่การปล่อยคาร์บอนต่ำ เป็นต้น สอดคล้องกับผลสำรวจ Morningstar ที่ระบุว่า เจ้าของสินทรัพย์ 67% เชื่อว่า ESG สำคัญต่อนโยบายลงทุนมากขึ้นในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา โดยมีปัจจัยสิ่งแวดล้อมเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญ ประเด็นนี้จะกดดันให้บริษัทที่จะระดมทุนเพิ่ม ต้องพยายามปรับปรุงการดำเนินงานไปสู่การปล่อยคาร์บอนต่ำ มิฉะนั้น อาจระดมทุนยากขึ้น

ประเด็นสุดท้ายเทคโนโลยีเพื่อความยั่งยืน นานาประเทศและองค์กรทั่วโลก ให้ความสำคัญประเด็น ESG โดยเฉพาะมิติสิ่งแวดล้อม สอดรับเป้าหมายที่โลกต้องเปลี่ยนผ่านสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ซึ่งจำเป็นต้องพึ่งพาเทคโนโลยี เพื่อให้การลดก๊าซเรือนกระจกทำได้เร็วขึ้น โดยเทคโนโลยีที่คาดว่ายังมาแรง จะเกี่ยวกับพลังงานสะอาด เศรษฐกิจหมุนเวียน การเพิ่มประสิทธิภาพในห่วงโซ่อุปทาน การดักจับ ใช้ประโยชน์ และกักเก็บคาร์บอน (CCUS) ยานยนต์ไฟฟ้าหรือที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เชื้อเพลิงที่ยั่งยืน เป็นต้น

ทั้ง 3 ประเด็นนี้ ล้วนสำคัญกับการลงทุน ที่มาพร้อมกับโอกาสและความท้าทาย ซึ่งนักลงทุนคงจะได้เห็นผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับ ESG และ Climate จากองค์กรต่าง ๆ เพิ่มมากขึ้นอย่างแน่นอน

'อ.พงษ์ภาณุ' ซัด!! แบงก์ชาติไม่ลดดอกเบี้ย เหมือนตบหน้ารัฐบาล-คนไทยทั้งประเทศ

(17 ม.ค. 67) อ.พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ระดับประเทศ ได้เผยถึงกรณีแบงก์ชาติไม่ลดดอกเบี้ย ถือเป็นการตบหน้ารัฐบาลและคนไทยทั้งประเทศผ่าน THE STATES TIMES ว่า...

การปฏิเสธไม่ลดดอกเบี้ยเมื่อวานนี้ของธนาคารแห่งประเทศไทย ไม่มีการระบุเหตุผลที่น่าเชื่อถือ เพียงแต่กล่าวว่าอัตราดอกเบี้ยปัจจุบันเหมาะสมแล้ว ถือเป็นการไม่ให้เกียรติคนไทยและรัฐบาล ทั้ง ๆ ที่ขณะนี้เครื่องชี้ทางเศรษฐกิจหลายตัวบ่งบอกว่าเศรษฐกิจไทยกำลังดิ่งลงสู่ภาวะเงินฝืด (Deflation) และถดถอย (Recession) ไม่ว่าจะเป็นอัตราเงินเฟ้อติดลบ 3 เดือนติดต่อกัน อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง (Real Innterest Rate) สูงสุดเป็นประวัติการณ์และอาจจะสูงที่สุดในโลก อัตราเติบโตของสินเชื่อธนาคารพาณิชย์ติดลบต่อเนื่องมาตั้งแต่ต้นปี

"เราไม่สามารถหาคำอธิบายอื่นที่เหมาะสมกว่าที่จะกล่าวว่าธนาคารแห่งประเทศไทยไม่มีความรับผิดชอบ และบกพร่องต่อหน้าที่อย่างร้ายแรง การที่แบงก์ชาติกล่าวอ้างปัญหาโครงสร้างของเศรษฐกิจไทย เป็นเพียงความพยายามที่จะบิดเบือนประเด็นเพื่อโยนความผิดให้กับคนอื่น ทั้ง ๆ ที่เป็นที่ยอมรับในทางวิชาการว่าเสถียรภาพของราคาเป็นเรื่องของนโยบายการเงิน ภายใต้กรอบ Inflation Targeting โดยตรง และผลการทำงานที่ผ่านมา 2 ปีพิสูจน์แล้วว่าธนาคารแห่งประเทศไทยล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงในการดูแลเสถียรภาพราคา จากเงินเฟ้อสูงสุดในโลกในปี 2565 มาเป็นเงินฝืดในปี 2566 การปัดความรับผิดชอบออกไปจากนโยบายการเงิน ซึ่งเป็นหน้าที่โดยตรงตามกฎหมายธนาคารแห่งประเทศไทย จึงเป็นการแสดงถึงความไม่เป็นมืออาชีพเอาเสียเลย"

อ.พงษ์ภาณุ กล่าวอีกว่า สถานการณ์เช่นนี้ ถือเป็นการตอกย้ำความขัดแย้งระหว่างนโยบายการเงินและนโยบายการคลัง ซึ่งไม่เป็นผลดีกับประเทศเลย และควรถึงเวลาแล้ว ที่จะต้องอ้างความบกพร่องต่อหน้าที่อย่างร้ายแรงตามกฎหมาย เพื่อเปลี่ยนตัวผู้รับผิดชอบนโยบายการเงิน ก่อนที่จะสายเกินไป จนบ้านเมืองเสียหายไปกว่านี้

จับตาเทรนด์ ‘ซื้อ-ขาย’ น้ำมันใช้แล้ว สู่การผลิต SAF ลดปล่อยคาร์บอนฯ สูงถึง 80% เมื่อเทียบเชื้อเพลิงปกติ

น้ำมันพืชใช้แล้ว ไม่ว่าจะทอดหรือผัด อาจเป็นสิ่งของที่ต้องนำไปทิ้งเพราะการใช้ซ้ำอาจหมายถึงอันตรายต่อสุขภาพ แต่จากนี้ไปสิ่งเหลือทิ้งอย่างน้ำมันใช้แล้วกำลังจะมีมูลค่า จากการกำหนดราคารับซื้อในตลาดทั่วไป

สาเหตุที่ของเหลือทิ้งนี้กลายเป็นสินค้ามีราคาเพราะน้ำมันพืชใช้แล้วเหล่านี้จะนำไปผลิตเชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืน : Sustainable Aviation Fuel (SAF) ซึ่งสามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้สูงถึง 80%เมื่อเทียบกับเชื้อเพลิงโดยปกติ อีกทั้ง สามารถใช้ผสมในน้ำมันเครื่องบินในปัจจุบัน (Jet A1) ได้ทันทีและมีความปลอดภัย และสอดคล้องกับเป้าหมายองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO)และสมาคมการบินระหว่างประเทศ (International Air Transport Association: IATA) รวมถึงสหภาพยุโรป (อียู) สู่เป้าหมายลดการปล่อยก๊าซโลกร้อนเป็นศูนย์ (net zero goal) ในอุตสาหกรรมการบินพลเรือนภายในปี ค.ศ. 2050

สำหรับกลไกการซื้อน้ำมันพืชใช้แล้ว มีความพยายามสร้างเครือข่ายที่ชัดเจนและน่าสนใจมาก

(17 ม.ค. 67) ธรรมรัตน์ ประยูรสุข รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มธุรกิจโรงกลั่นและค้าน้ำมัน บริษัท บางจากคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ได้ลงนามสัญญาร่วมทุนโดยการเข้าซื้อหุ้นเพิ่มทุนในบริษัท ธนโชคน้ำมันพืช (2012)จำกัด จนมีทุนจดทะเบียน60ล้านบาท โดยบางจากฯ ถือหุ้นในสัดส่วน45%ซึ่งการร่วมทุนนี้เป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์ในการบริหารจัดการน้ำมันปรุงอาหารใช้แล้ว (Used Cooking Oil, UCO)วัตถุดิบในการผลิตน้ำมันอากาศยานSAFของ บริษัท บีเอสจีเอฟ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่าง บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) บริษัท บีบีจีไอ จำกัด (มหาชน) และบริษัท ธนโชค ออยล์ ไลท์ จำกัด 

“ล่าสุดได้ร่วมมือกับบริษัท สปาเก็ตตี้แฟคทอรี่ จำกัดผู้ประกอบการธุรกิจร้านอาหารSpaghetti Factoryและร้านอาหารในเครือ10สาขา รวบรวมน้ำมันปรุงอาหารใช้แล้ว เพื่อนำไปผลิตน้ำมันอากาศยานยั่งยืน”

ด้านผู้ใช้น้ำมันอย่างสายการบินแห่งชาติอย่างบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน)ร่วมมือกับบริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) (OR) นำเชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืน ใช้นำร่องกับเที่ยวบินของการบินไทยในเส้นทางภูเก็ต-กรุงเทพฯ 

อย่างไรก็ตาม แม้สัญญาณการผลิตและใช้น้ำมันSAF จะมีการตื่นตัวอย่างเห็นได้ชัดแต่ในทางปฏิบัติจริงถนนแห่งความยั่งยืนก็ยังไม่ราบรื่นสดใสนักแม้จะปูด้วยก้อนเมฆบนท้องฟ้าก็ตาม

กีรติ กิจมานะวัฒน์ ผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. กล่าวว่าเป้าหมายของ ทอท.ต้องการเป็น Net Zero ภายใน 10 ปี  กลยุทธ์ที่หนึ่ง คือการส่งเสริมและผลักดันน้ำมันเชื้อเพลิงยั่งยืน ซึ่ง ปัจจุบันยังไม่มีผลิตในไทยปัจจุบัน จึงมีราคาแพงกว่าเชื้อเพลิงปกติประมาณ 8 เท่า 

ดังนั้น ทอท.จะมองหาพันธมิตรในการพัฒนา SAF ในไทย เพื่อให้ต้นทุนลดลงเหลือ 2.2 เท่า เป็นโอกาสให้สายการบินได้ใช้ และไม่ถูกกีดกันการค้าจากยุโรปที่ให้ความสำคัญในเรื่องการใช้น้ำมัน SAF

“ปัจจุบันหลายประเทศในยุโรปมีเงื่อนไขกำหนดว่าภายในปี 2025 สายการบินต้องมีน้ำมัน SAF ผสมอยู่ในกระบวนการผลิตน้ำมันเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมการบินราว 2% และเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในทุกปี ดังนั้นจึงเป็นโอกาสของไทยที่จะพัฒนาน้ำมันนี้ ทำให้การลงทุนและสามารถลดค่าใช้จ่ายลงได้ แต่ส่วนสำคัญจะทำให้ธุรกิจเติบโตอย่างยั่งยืน”

ด้านชาย เอี่ยมศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน)  กล่าวว่า มีเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนการใช้น้ำมัน SAF ในฝูงบินของการบินไทย โดยได้เริ่มต้นใช้น้ำมัน SAF ในปีนี้ปริมาณ 1.6 ล้านตัน และจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในปี 2025 ปริมาณ 2.2 ล้านตัน ซึ่งผลแตกต่างของการใช้น้ำมัน SAF และน้ำมันเชื้อเพลิงปกติ หากใช้น้ำมัน SAF 1% จะมีส่วนต่างต้นทุนเพิ่มขึ้น 1.5 พันล้านบาท ดังนั้นหากการบินไทยเพิ่มปริมาณน้ำมัน SAF 10% ก็ต้องมีต้นทุนเพิ่มขึ้น 1.5 หมื่นล้านบาท

“โรดแมปของการบินไทย 2025 จะต้องใช้ SAF 2% ของปริมาณน้ำมันที่ใช้การบินทั้งหมด และเพิ่มต่อเนื่องเพื่อผลักดันเป้าหมาย Net Zero ในปี 2050 โดยอาจจะต้องเพิ่มขึ้นเป็น 60% แต่เป้าหมายเหล่านี้ปัจจุบันยังไม่มีการสนับสนุนทั้งจากภาครัฐ โดย SAF ราคาต้นทุนในสิงคโปร์สูงกว่าน้ำมันปกติ 3 เท่ากว่า ซึ่งจะทำให้ต้นทุนของสายการบินเพิ่มขึ้น”

ถึงเวลานี้ทุกฝ่ายต้องทำความเข้าใจว่าน้ำมัน SAF และช่วยกันทำให้ต้นทุนจับต้องได้เพื่อร่วมกันใช้และผลักดันสู่เป้าหมายความยั่งยืนให้ได้ ไม่ใช่เพื่อใครแต่เพื่อเราทุกคน อย่างน้อยก็รู้ว่าน้ำมันใช้แล้วอย่าทิ้งขายได้

OR เล็งปั้น ‘อุทยานอเมซอนลำปาง’ เป็นแลนด์มาร์กใหม่ หนุนงาน สร้างรายได้ สยายปีกสู่แหล่งท่องเที่ยวสีเขียว

OR จัดงาน OR Sustainability: SDG In Action ตอกย้ำความมุ่งมั่นด้านความยั่งยืนตามกรอบแนวคิด ESG ผ่านวิถีการดำเนินงานด้วย SDG ในแบบฉบับของ OR จนเป็นองค์กรต้นแบบในการบริหารจัดการธุรกิจอย่างยั่งยืน จากการจัดอันดับทั้งในระดับสากลและระดับประเทศในปี 2566 พร้อมเผยเรื่องราวความสำเร็จของการดำเนินธุรกิจตามแนวทาง ESG ผ่านการลงมือทำ

(17 ม.ค. 67) นายดิษทัต ปันยารชุน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR กล่าวว่า OR มีวิสัยทัศน์และแนวคิดในการสร้างความยั่งยืน โดยมีการนำประเด็นความยั่งยืนตามแนวทาง SDG ในแบบฉบับของ OR คือ S-Small โอกาสเพื่อคนตัวเล็ก D-Diversified โอกาสเพื่อการเติบโตทุกรูปแบบ และ G-Green โอกาสเพื่อสังคมสะอาด มาผสมผสานกับกลยุทธ์ทางธุรกิจเพื่อสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน

พร้อมทั้งนำเป้าหมาย OR 2030 Goals มาติดตามและทบทวนอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้การดำเนินงานด้านความยั่งยืนถูกผนวกเข้าไปกับการดำเนินธุรกิจอย่างแท้จริง ซึ่ง OR ได้นำไปสู่การลงมือปฏิบัติจริง แบบ In Action ตั้งแต่กลยุทธ์ แผนปฏิบัติการและเป้าหมายธุรกิจจนเกิดผลลัพธ์อย่างเป็นรูปธรรม อาทิ สถานีบริการ พีทีที สเตชั่น วิภาวดี 62, โครงการไทยเด็ด และการพัฒนาการปลูกกาแฟอย่างยั่งยืน เป็นต้น

นายดิษทัต กล่าวว่า สิ่งที่ทำมาตลอดคือ การคำนึงถึงชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยดูแลคนตัวเล็กไปสู่ธุรกิจใหม่และอยู่ในระบบนิเวศด้านสิ่งแวดล้อม ยกตัวอย่าง คาเฟ่ อเมซอน ที่มี Value Chain ส่งผลให้ปัจจุบันมีสาขามากกว่า 4,000 สาขา พร้อมมีโรงคั่วกาแฟ และมีการนำหุ่นยนต์มาใช้ในการขนส่ง และช่วยคำนวณสต็อก ฯลฯ

นอกจากนี้ ในส่วนของเมล็ดกาแฟ ทาง OR ก็จะนำร่องจังหวัดลำปาง ด้วยการปลูกกาแฟสายพันธุ์ต่าง ๆ อย่างจริงจังบนพื้นที่ของ OR เองราว 600 ไร่ พร้อมทั้งพัฒนาไปสู่เมืองท่องเที่ยว ซึ่งจะช่วยเหลือเกษตรกร สร้างงาน ยกระดับคุณภาพชีวิต กระจายรายได้ ดูแลสิ่งแวดล้อม ได้อย่างมาก

“เราอยากสร้างอุทยานอเมซอนลำปาง ให้เป็นแหล่งการเรียนรู้เพาะพันธุ์กาแฟ เพราะคนไทยชอบดื่มกาแฟ ซึ่งยังไม่มีองค์กรใดทำอย่างจริงจัง จึงหวังว่าอีก 5 ปี เมื่อเราสามารถเพาะพันธุ์ต้นกล้ากาแฟและพัฒนาให้แข็งแรงและสมบูรณ์ จนส่งมอบให้กับเกษตรกรให้เกิดความยั่งยืน พร้อมรับซื้อกาแฟด้วยราคาที่เป็นธรรมได้แล้ว ก็หวังว่า 3-5 ปีนี้ เราจะเห็นความสวยงามบนพื้นที่สีเขียว เกิดแหล่งเยี่ยมชมของประชาชน สร้างรายได้ให้จังหวัดลำปางต่อไป”

นายดิษทัต กล่าวอีกว่า สำหรับงบประมาณในการสร้างอุทยานดังกล่าว ยังไม่สามารถบอกได้ แต่คาดว่าอีก2-3 เดือน จะขออนุมัติงบการลงทุนจากคณะกรรมการบริการฯ โดยความคืบหน้าขณะนี้ได้เตรียมหน้าดิน เรือนเพาะชำไว้รองรับแล้ว จึงหวังว่ากาแฟที่ OR จะทำการวิจัยพัฒนาและเพาะพันธุ์จะมีความเข้มแข็งมีคุณภาพและรสชาติดีที่สุด

สำหรับงบลงทุนด้านความยั่งยืนนั้น คาดว่าจะมีความกว้างในแง่ของหน้างานอย่างมาก เพราะจะแฝงเผื่อเพื่อสอดรับไปในทุกๆ กลุ่มธุรกิจ อาทิ การทำหลังคาโซลาร์รูฟท็อป, ระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage System: ESS) รวมถึงอุปกรณ์สนับสนุนที่ก่อให้เกิดพลังงานสะอาด เป็นต้น ซึ่งตรงนี้ OR จะไม่มองเป็นต้นทุน และไม่ได้มองการดำเนินงานในส่วนนี้เป็นเรื่องของผลกำไรเพียงอย่างเดียว แต่หวังให้อีก 15-20 ปี ได้เห็นการเปลี่ยนแปลงชัดเจนของการเปลี่ยนผ่านพลังงานฟอสซิลเพื่อตอบโจทย์พอร์ตพลังงานสะอาดเพิ่มเข้ามา

“เราเอาธุรกิจยั่งยืนเข้ามา สิ่งที่ทำจะลดต้นทุนทางการเงิน ตอบโจทย์คาร์บอนเครดิตอนาคต โดยทำเป็นระบบที่ถูกต้อง เช่น การปลูกกาแฟโดยมีต้นไม้บังแสงแดดจะเคลมคาร์บอนเครดิตในตลาดสากลได้ ซึ่งเป็นหนึ่งในแผนสร้างแลนด์มาร์กแห่งใหม่นี้ในลำปาง” นายดิษทัต กล่าวเสริม

สำหรับดีมานด์ของคาเฟ่อเมซอนตกอยู่ที่เฉลี่ยปีละ 6,000 ตันต่อปี ในขณะที่ความต้องการกาแฟของทั้งประเทศอยู่ที่ 80,000 ตันต่อปี และการที่ OR เข้ามาจริงจังกับเรื่องนี้ เพราะที่ผ่านมาเรื่องของเพาะพันธุ์กาแฟดูจะยังไม่ได้รับการสนับสนุนอย่างจริงจัง ดังนั้น OR จะเข้ามาช่วยเพิ่มดีมานด์ในส่วนนี้ ขณะเดียวกันก็เพื่อสะท้อนให้ประชาชนรักและรับรู้ว่า OR ซึ่งเป็นองค์กรของรัฐได้ให้การสนับสนุนอย่างจริงจัง

‘วสท.-NCC’ จัดงาน ‘วิศวกรรมแห่งชาติ 2567’ 24-26 ก.ค.67 อัปเดต ‘นวัตกรรม ESG-องค์ความรู้ระดับโลก’ สู่ ‘วิศวกรไทย’

(17 ม.ค. 67) วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) ลงนามข้อตกลงความร่วมมือ (MoU) กับบริษัท เอ็น.ซี.ซี. แมนเนจเม้นท์ แอนด์ ดิเวลลอปเม้นท์ จำกัด (NCC) จัดงาน ‘งานวิศวกรรมแห่งชาติ 2567’ ภายใต้ชื่อ ‘International Engineering Expo 2024’ พร้อมยกระดับการจัดงานสู่เวทีระดับนานาชาติ สร้างโอกาสให้วิศวกรไทยพร้อมก้าวสู่งานวิศวกรรมระดับโลก เสริมทัพองค์ความรู้ด้านวิศวกรรมผ่านเสวนากว่า 50 หัวข้อ อัปเดตนวัตกรรมใหม่ระดับโลกจากบูธที่มาร่วมจัดแสดง 150 บริษัท ระหว่างวันที่ 24 - 26 กรกฎาคม 2567 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ คาดผู้เข้าชมงานตลอด 3 วัน กว่า 30,000 คน สร้างรายได้จากการซื้อขายและ Business Matching กว่า 1,000 ล้านบาท

รองศาสตราจารย์ ดร.วัชรินทร์ กาสลัก นายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) กล่าวว่า การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานภาครัฐนับเป็นหนึ่งในกลไกสำคัญ ที่ช่วยขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศและยกระดับชีวิตของประชาชนให้ดีขึ้น คาดว่าปี 2566 มูลค่าการก่อสร้างของภาครัฐอยู่ที่ 8.4 - 8.5 แสนล้านบาทหรือขยายตัว 2.5 - 3.5% จากฐานในปี 2565 ส่วนปี 2567 เชื่อมั่นว่ายังคงเติบโตเช่นเดียวกับปี 2566 เนื่องจากรัฐบาลยังคงให้การสนับสนุนการลงทุนก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานภาครัฐขนาดใหญ่ (Mega Projects) อย่าง โครงการในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) นอกจากนี้ ยังมีโครงการก่อสร้างจากภาคเอกชนขนาดใหญ่ อาทิ โรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน โครงการอสังหาต่าง ๆ เป็นต้น   

จากการเติบโตของโครงการขนาดใหญ่ทำให้ปัจจุบันความต้องการวิศวกรรมเน้นไปในเรื่องของเทคโนโลยีด้านวิศวกรรมอัจฉริยะ เครื่องจักร อุปกรณ์ทางการก่อสร้าง วัสดุที่ทันสมัยหรือนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ที่แตกต่าง อาทิ AI โดรน หุ่นยนต์อัตโนมัติ เป็นต้น วิศวกรรุ่นใหม่จึงจำเป็นต้องเรียนรู้ศาสตร์ที่หลากหลาย เพื่อตอบรับโอกาสและรองรับความก้าวหน้างานวิศวกรรมระดับโลก นอกจากนี้ ยังต้องมีแนวคิดการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน (Environmental, Social, Governance: ESG) ด้วย  

รองศาสตราจารย์ ดร.วัชรินทร์ กล่าวถึงการจัด ‘งานวิศวกรรมแห่งชาติ’ ว่า เป็นการเปิดโอกาสให้ผู้คนในแวดวงวิศวกรได้เข้ามาอัปเดตความรู้ใหม่ ๆ ตลอด 30 ปีที่จัดงานได้รับความสนใจอย่างดี โดยเฉพาะหัวข้อเสวนาซึ่งปีนี้มีถึง 50 หัวข้อว่าด้วยเรื่อง Engineering Sustainability และจะยกระดับสู่การจัดประชุมระดับนานาชาติด้านวิศวกรรม เพื่อให้ไทยเป็นเวทีในการกำหนดเทรนด์ของภูมิภาค 

“หัวข้อเสวนาเราจะดูเรื่องที่เป็นที่พูดถึงในขณะนั้น อย่างตอนที่สนามบินสุวรรณภูมิร้าว เราก็เอาเรื่องนี้มาเสวนากัน ปีนี้เราจะเน้นในเรื่องวิศวกรรมและความปลอดภัยของระบบราง บ้านเรายังไม่มีมาตรฐานเรื่องนี้ ที่ผ่านมาเราก็อิงมาตรฐานของประเทศอื่นแทน” 

นอกจากนี้ ภายในงานจะมีการนำหุ่นยนต์ AI หรือนวัตกรรมเกี่ยวกับวิศวกรรมต่าง ๆ มานำเสนอ ผู้เข้าชมงานไม่จำเป็นต้องเป็นวิศวกร ประชาชนทั่วไปก็ชมได้ อย่างประชาชนหากต้องการสร้างอาคารสีเขียว มางานนี้จะเข้าใจว่าอาคารสีเขียวเป็นอย่างไร ก็สามารถเอาความรู้ที่ได้ไปสื่อสารกับคนออกแบบ ช่าง หรือวิศวกร ภายในงานมีคลินิกวิศวกรรมสำหรับประชาชน เพื่อให้คำปรึกษาด้านวิศวกรรม เช่น บ้านร้าว บ้านทรุด ต้องแก้ไขอย่างไร 

นายสมจิตร์ เปี่ยมเปรมสุข ประธานคณะกรรมการจัดงาน International Engineering Expo 2024 กล่าวว่า งานวิศวกรรมแห่งชาติ เป็นงานที่จัดต่อกันมาอย่างยาวนาน จนเป็นที่ยอมรับของวงการวิศวกรทั่วประเทศ โดยงานด้านวิศวกรรมเป็นหนึ่งในกลไกขับเคลื่อนเสถียรภาพเศรษฐกิจของประเทศ ผ่านโครงการต่าง ๆ ที่เป็นระบบโครงสร้างพื้นฐาน ระบบการบริหารจัดการแบบดิจิตอล การผลิตและบริหารจัดการด้านพลังงาน อาคารอัจฉริยะต่าง ๆ ซึ่งไทยเป็นประเทศที่มีโครงการด้านวิศวกรรมขนาดใหญ่มากมาย จึงเหมาะให้วิศวกรจากประเทศเพื่อนบ้าน (CLMV) เข้ามาศึกษางานวิศวกรรมขนาดใหญ่ นอกจากนี้ งานด้านวิศวกรรมปัจจุบันยังต้องคำนึงถึงความใส่ใจในความยั่งยืน (ESG) และ Net Zero ด้วย 

“การจัดงานวิศวกรรมแห่งชาติปีนี้อยู่ภายใต้แนวคิด Driving Sustainability Responsiveness ‘ขับเคลื่อนวิศวกรรม เพื่อตอบรับความยั่งยืน’ ภายในงานจะมีการนำเทคโนโลยีวิศวกรรมเพื่อความยั่งยืนมาแสดง ซึ่งปัจจุบัน ESG ในไทยยังเป็นแค่การสมัครใจ แต่ในอนาคตจะต้องบังคับ เพราะต่างชาติจะมาลงในไทยเขาให้ความสำคัญในเรื่องนี้ด้วย”

คุณสุรพล อุทินทุ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็น.ซี.ซี. แมนเนจเม้นท์ แอนด์ ดิเวลลอปเม้นท์ จำกัด กล่าวว่า ความร่วมมือในการจัดงานวิศวกรรมแห่งชาติในครั้งนี้ เป็นการรวมความแข็งแกร่งของวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในด้านองค์ความรู้ในทุกสาขาวิศวกรรมกับความเชี่ยวชาญในการจัดงานแสดงสินค้าของบริษัท เอ็น.ซี.ซี. แมนเนจเม้นท์ แอนด์ ดิเวลลอปเม้นท์ จำกัด และศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เข้าไว้ด้วยกัน เพื่อยกระดับการจัดงานให้เป็นงานระดับนานาชาติ พร้อมต่อยอดโอกาสทางธุรกิจ Exhibitor และ Visitor จากนานาชาติ โดยสัญญาความร่วมมือครั้งนี้จะเริ่มขึ้นในปีนี้และต่อเนื่องไป 3 ปี

“สำหรับพื้นที่ในการจัดงานใช้พื้นที่ 5,000 ตร.ม. มี 150 บริษัททั้งไทยและต่างประเทศมาออกบูธ 50 หัวข้อสัมมนา จากวิทยากร Best Practice หลากหลายแบบอย่างความสำเร็จด้านความยั่งยืน ซึ่งทางเราจะจัดรูทการเดินชมงานและการเข้าฟังสัมมนาที่เหมาะสม สำหรับชาวต่างชาติที่เข้ามาร่วมงานทาง NCC มีความพร้อมในการรองรับ อำนวยความสะดวก ทั้งเรื่องการขนย้ายเทคโนโลยีเข้ามาแสดง การจัดห้องพัก และการที่ศูนย์ประชุมสิริกิติ์อยู่ใกล้ MRT ทำให้สะดวกในการเดินทาง” 

คุณสุรพล กล่าวทิ้งท้ายว่า ปีนี้ผู้แสดงสินค้าจะมีทั้งมาจากโซนยุโรปและโซนเอเชีย ซึ่งนับเป็นปีแรกที่โซนเอเชียเข้าร่วม และยังเป็นปีแรกที่วิศวกรจากกลุ่มประเทศ CLMV จะมาเดินชมงาน ซึ่งจะช่วยเพิ่มจำนวนผู้เข้าชมงานจากภูมิภาคอื่นในปีต่อไป

“องค์ความรู้ด้านวิศวกรรมได้ช่วยให้เมื่อครั้งรีโนเวตศูนย์ประชุมสิริกิติ์ สามารถเลือกใช้นวัตกรรมที่เหมาะสมทำให้ใช้เงินลงทุนน้อยและระยะเวลาการก่อสร้างเร็ว งานดังกล่าวจึงเหมาะกับทุกท่านที่ต้องการองค์ความรู้ด้านวิศวกรรม เครื่องกล นวัตกรรม เทคโนโลยี ซึ่งสามารถมาชมแล้วนำไปขยายต่อได้”

งาน ‘International Engineering Expo 2024’ จะจัดพร้อมงาน ‘ASEAN TOOLS EXPO 2024’ งานแสดงนวัตกรรมฮาร์ดแวร์และเครื่องมือช่างระดับภูมิภาคอาเซียน ระหว่างวันที่ 24-26 กรกฎาคมนี้ ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ คาดผู้เข้าชมงานกว่า 30,000 คน สร้างรายได้จากการซื้อขายและ Business Matching กว่า 1,000 ล้านบาท


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top