'พงศ์พรหม' ชี้!! Digital Nomad โจทย์ใหญ่ที่ไทยควรดันไม่แพ้ 'แลนด์บริดจ์' หลังต่างชาติสายเทคฯ ชอบมา 'กิน-เที่ยว-ทำงาน' แต่กลับไม่เลือกลงทุน

(17 ม.ค. 67) นายพงศ์พรหม ยามะรัต ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก 'Pongprom Yamarat' ฝากถึงภาครัฐ ที่กำลังตื่นเต้นกับ Landbridge จนลืมสิ่งที่กำลังจะสำเร็จ และสร้างรายได้ไม่น้อยกว่า Landbridge รึเปล่า? ความว่า...

10 ปีมานี้เมืองไทยเป็น Digital Nomads hub ที่ใหญ่ติดท็อป 5 โลกมาโดยตลอด

(***Digital Nomads: คนที่ใช้ชีวิตอยู่ตามสถานที่ต่าง ๆ ของโลก ส่วนอาชีพก็คือการทำทุกอย่างที่ได้เงินโดยใช้ระบบออนไลน์ เพียงแค่มีแล็ปท็อปกับอินเทอร์เน็ต เพียงเท่านี้ก็สามารถทำงานจากที่ไหนก็ได้บนโลกใบนี้แล้ว บางคนอาจจะทำ E-commerce, Freelance, Remote Work ซึ่งไลฟ์สไตล์แบบนี้มันสนุกตรงที่สามารถทำงานด้วยแล้วก็เที่ยวด้วยได้)

ผมเจอข้อมูลนี้ในนิตยสาร Monocle เมื่อเกือบ 10 ปีก่อน

>> มีข้อดี...
เค้ามากันเยอะ แปลว่าเค้าชอบครับ 
ทำไมเขาไม่ไปฟิลิปปินส์, เวียดนาม, มาเลเซีย
ก็เพราะเราน่าอยู่ เราครบ คนเรานิสัยดี บ้านเราอยู่สบาย

>> มีข้อดี ก็มีข้อเสีย...
ผมอยู่ในวงการ tech มานานพอสมควร
เรามีพาร์ทเนอร์ทั้งอิสราเอล, อเมริกัน, จีน และสิงคโปร์
เค้าชอบมา Nomad ที่เรา แต่หากจะให้เปิดบริษัท...
‘วันนี้’ เค้าเลือก...
สิงคโปร์, จีน, ไต้หวัน และเวียดนามครับ

>> จึงเกิดปัญหาใหญ่
เค้ามาทำงานที่ไทย ไทยได้ค่าอาหาร ค่าที่พัก
แต่...
สิงคโปร์, จีน, ไต้หวัน, เวียดนาม ได้เงินภาษี และการสร้าง eco system ครับ ซึ่งเป็นเงิน และประโยชน์มากกว่าที่ไทยได้เป็นพัน เป็นหมื่นเท่า

>> สิงคโปร์ จีน ไต้หวัน มีอะไร?
1. การเปิดบริษัทที่เกี่ยวกับนวัตกรรม ได้รับการสนับสนุน เป็น fast track ทั้งภาษี จดทะเบียน ที่ตั้ง การช่วยโปรโมต และการคอร์รัปชันต่ำมาก พูดง่ายๆ ไปแล้วโอกาสเจ๊งต่ำ
2. ไปแล้วหาคนง่าย หมายถึง ดึงคนต่างชาติไปทำงานด้วยง่าย เพราะประเทศเหล่านี้คิดต่างจากไทย เค้าคิดถึงการ ‘ดูดมันสมอง’ เข้าประเทศ ส่วนไทยคิดแต่ว่า ‘ต่างชาติจะมาแย่งงานคนไทย’ รวมถึงคนของเขามีความสามารถสูงกว่าไทย จากการศึกษาที่ดีกว่า

>> แล้วเวียดนามหล่ะ?
1. ภาครัฐยังกระด้อกกระแด้กเหมือนไทยนี่แหละ แต่...
2. คนเวียดนามขยัน เรียนรู้เร็วกว่าคนไทย และมีทักษะนวัตกรรม เทคโนโลยีสูงกว่าคนไทย และค่าจ้างต่ำกว่าไทย ใครมองมุมนี้ล้วนๆ ก็ให้มาเวียดนาม จึงจะเห็นว่าการลงทุน บ.เทค ข้ามชาติมาเวียดนามจนแซงไทยแล้ว

>> กลับมาโอกาส
การที่ Nomad มาไทยเยอะ แปลว่าเค้าชอบ
นี่คือต้นทุนที่ใครก็แย่งไม่ได้ครับ 
แต่...
1. เราต้องมี รมว. DE, รมว. อว. และ รมว.ศึกษา ที่เห็นภาพกว่านี้ และรู้ว่านี่คือ priority
สมัยสุดท้ายที่มีการขับเคลื่อนเหล่านี้อย่างเป็นรูปธรรม คือยุค รอง สมคิด จาตุศรีพิทักษ์, ดร.อุตตม, ดร.พิเชษฐ, ดร.สุวิทย์ และ นพ.ธีระเกียรติ นั่นคือยุคทองเลย ... หลังจากนั้นก็ไร้ทิศทางต่อ
2. รมว. DE และ อว. ต้องติดอาวุธ ให้ Depa และ NIA ในการทำภารกิจนี้ให้สำเร็จ ในความเป็นจริงมีอีก 1 องค์การมหาชนที่ควรมาเกี่ยวข้อง แต่ไม่ได้ใช้ศักยภาพเต็มที่ คือ BEDO ที่ผมไม่ได้ยินข่าวคราวมานานมากแล้ว

เอา บ. Tech เข้ามาไทยให้มาก
โลกเค้ารบกัน นี่คือโอกาส
อันใหญ่ๆ อยู่สิงคโปร์ไป
เอาเล็ก-ถึงกลางมาไทย เดี๋ยวเค้าก็ใหญ่เอง
นี่ผมพูดถึง 4-50,000 ล้านบาทอยู่นะครับ

ครับ
โอกาสที่ใหญ่
ใหญ่กว่า Landbridge มาก
ทำตรงนี้ให้สำเร็จ จะรวยกว่าทำ Landbridge อีก

ส่วน Landbridge ผมไม่มีความเห็น เพราะไม่มีข้อมูล
ความเห็นส่วนตัวคือ
น่าสนใจ แต่ต้องคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมให้มาก