Monday, 20 May 2024
DigitalNomad

‘บิ๊กตู่’ ปลื้ม กรุงเทพฯ ครองอันดับ 2 เมืองที่ดีที่สุดในโลกสำหรับกลุ่ม “Digital Nomads” ปี 2022

‘บิ๊กตู่’ ปลื้ม กรุงเทพฯ ครองอันดับ 2 เมืองที่ดีที่สุดในโลกสำหรับกลุ่ม “Digital Nomads” ปี 2022 กำชับทุกฝ่ายต่อยอดโอกาสพัฒนาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยในทุกมิติ เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น

เมื่อวันที่ (24 มิ.ย.) นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ยินดีที่เว็บไซต์ Instant Offices ผู้ให้บริการปรึกษาและจัดหาพื้นที่ทำงานที่ยืดหยุ่น (Flexible Workspace) ที่มีเครือข่ายใหญ่ที่สุดในโลกจากสหราชอาณาจักร ได้จัดให้กรุงเทพมหานครเป็นอันดับ 2 เมืองที่ดีที่สุดในโลกที่เหมาะสำหรับดิจิทัลโนแมด (Best Digital Nomad Cities Globally 2022) ทั้งยังถือเป็นอันดับ 1 ของเอเชีย ชื่นชมทุกฝ่ายร่วมมือกันพัฒนากรุงเทพฯ สู่เมืองที่เหมาะแก่การทำงานและพักผ่อนระดับโลกอย่างต่อเนื่อง

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ปัจจุบันกระแสดิจิทัลโนแมด (Digital Nomad) หรือกลุ่มคนผู้ใช้ชีวิตเดินทางท่องเที่ยวไปพร้อมกับการทำงานนอกออฟฟิศ ซึ่งใช้ระบบอินเทอร์เน็ตเป็นเครื่องมือหลักในการหารายได้กำลังเป็นที่นิยม โดยเว็บไซต์ Instant Offices ภายใต้บริษัท The Instant Group บริษัทด้านการหาผลลัพธ์การทำงานที่ยืดหยุ่นจากสหราชอาณาจักร จัดกรุงเทพมหานครเป็นอันดับที่ 2 เมืองที่ดีที่สุดในโลกสำหรับกลุ่ม “Digital Nomads” ประจำปี 2022 (Best Digital Nomad Cities Globally 2022) และถือเป็นอันดับ 1 ของเอเชีย จากการจัดอันดับ 80 เมืองทั่วโลก ผ่านการพิจารณาปัจจัยด้านต่าง ๆ เช่น ความสามารถในการจับจ่าย สภาพภูมิอากาศ ความเร็วของระบบอินเตอร์เน็ต ทิวทัศน์ และการขนส่ง เป็นต้น โดยกรุงเทพฯ นำเสนออาหารท้องถิ่นที่ยอดเยี่ยมหลากหลาย ตลาดอาหารริมทาง (Street Food) ที่มีชีวิตชีวา พร้อมด้วยจุดเชื่อมต่อ Wi-Fi กว่า 15,000 แห่ง และที่พักบางแห่งถือว่ามีราคาถูกที่สุดจากทุกเมืองที่ทำการสำรวจ

เตรียมพร้อมรับ Digital Nomad นักท่องเที่ยว สายทำงาน เลือก 3 พิกัดในไทยเป็นหมุดหมายในการมาใช้ชีวิต

หลังจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ประกอบกับการพัฒนาของเทคโนโลยีในปัจจุบัน ทำให้ไลฟ์สไตล์ในการทำงานของผู้คนเปลี่ยนแปลงไป ส่งผลให้นักท่องเที่ยวกลุ่ม Digital Nomad ทั่วโลก เติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดดจาก 15.2 ล้านคน ในปี 2562 เป็น 35 ล้านคนในปี 2565 หรือเติบโตขึ้นกว่า 130% และมีโอกาสแตะระดับ 60 ล้านคน ในปี 2573

จุดเด่นของนักท่องเที่ยวกลุ่ม Digital Nomad คือ การมีระยะเวลาพำนักเฉลี่ยสูงถึง 6 เดือน ส่งผลให้มีการใช้จ่ายมากกว่านักท่องเที่ยวโดยทั่วไปกว่า 56% และไม่ได้มีฤดูกาลท่องเที่ยวที่ชัดเจนแบบนักท่องเที่ยวกลุ่ม Mass ทำให้สามารถเดินทางมาท่องเที่ยวได้ตลอดทั้งปี

ซึ่งส่วนใหญ่แล้ว โปรไฟล์ของกลุ่ม Digital Nomad จะเป็นชาวอเมริกันเป็นหลักโดยมีสัดส่วนสูงถึง 48% ของกลุ่ม Digital Nomad ทั้งหมด รองลงมาได้แก่ สหราชอาณาจักร (7%) รัสเซีย (5%) แคนาดา (4%) และเยอรมัน (4%)

และส่วนใหญ่จะเป็นชาวมิลเลนเนียล (Millennials) หรือกลุ่ม Gen Y โดยกว่า 83% จะประกอบอาชีพอิสระ ซึ่งอาชีพที่พบได้มากที่สุด คือ งานด้านคอมพิวเตอร์/ไอที นักการตลาด งานออกแบบ นักเขียน และงานด้าน E-Commerce

โดยสถานที่ที่นิยมใช้เป็นที่ทำงานแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม

-กลุ่มที่ต้องการเสียงและบรรยากาศที่เป็นธรรมชาติ เพื่อให้มีสมาธิในการทำงาน จะเลือกทำงานใน Co-working Space เป็นหลัก

-กลุ่มที่ต้องการความเงียบสงบในการทำงานจะเลือกทำงานในที่พักอาศัยเป็นหลัก

ส่วนด้านค่าใช้จ่ายในการใช้ชีวิตของกลุ่ม Digital Nomad จะมีงบประมาณในการใช้จ่ายเฉลี่ย 1,875 ดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน หรือราว 62,000 บาทต่อเดือน โดยมีระยะเวลาพำนักเฉลี่ยประมาณ 6 เดือน ก่อนจะย้ายเมืองหรือประเทศที่ใช้เป็นสถานที่ทำงานใหม่ต่อไป

สำหรับประเทศไทย เป็นอีกหนึ่งจุดหมายปลายทางที่ได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวกลุ่ม Digital Nomad เป็นอย่างมาก เพราะว่า 5 ปัจจัยหลักในการเลือกจุดหมายปลายทางของกลุ่ม Digital Nomad คือ ค่าครองชีพต่ำและอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ความปลอดภัย แหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติ วีซ่าที่เหมาะสม ร้านกาแฟ/Co-working Space โดยเรื่องค่าครองชีพและอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงเป็นปัจจัยที่สำคัญมากที่สุด เนื่องจากมีผลต่อกำลังซื้อและประสิทธิภาพในการทำงานโดยตรง ขณะที่เรื่องความปลอดภัย ทั้งความปลอดภัยด้านอาชญากรรมและสภาพแวดล้อมมีความสำคัญรองลงมา

ซึ่ง ประเทศไทยติดอันดับ Top 10 ถึง 3 แห่ง ได้แก่ 1. เกาะพะงัน จ.สุราษฎร์ธานี (อันดับ 1) 2. กรุงเทพฯ (อันดับ 2) 3. จ.เชียงใหม่ (อันดับ 9) 

ด้วยศักยภาพและของ กลุ่ม Digital Nomad ด้าน Krungthai COMPASS ประเมินว่า การเติบโตของนักท่องเที่ยวกลุ่ม Digital Nomad จะเป็นประโยชน์ต่อธุรกิจหลัก คือ

-ธุรกิจที่พักแรม และร้านอาหาร เช่น ธุรกิจ Co-Living Space, Service Apartment, Hostel, โรงแรม และ ธุรกิจ Co-working Space

-ธุรกิจบริการเช่ารถจักรยานยนต์ เนื่องจากเป็นวิธีการเดินทางหลักของ Digital Nomad

-ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการสร้าง Community เช่น การจัดกรุ๊ปทัวร์ทำกิจกรรมต่าง ๆ เช่น เดินป่า ปีนเขา ดำน้ำ รวมถึงคลาสออกกำลังกาย เช่น โยคะ มวยไทย เป็นต้น

-ธุรกิจโทรคมนาคม เนื่องจากระบบอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงและมีประสิทธิภาพมีความสำคัญและจำเป็นอย่างมากสำหรับนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้

นอกจากนี้ ธุรกิจต่อเนื่องหรือธุรกิจที่เกี่ยวข้องทางอ้อมก็มีโอกาสได้รับอานิสงส์ด้วยเช่นกัน ได้แก่ ธุรกิจค้าปลีก ทั้งในกลุ่มร้านสะดวกซื้อ ไฮเปอร์มาร์เก็ต และห้างสรรพสินค้า / ธุรกิจสถานบันเทิง / ธุรกิจการแพทย์

‘รมว.ดีอีเอส’ เล็งดัน ‘Digital Nomad Visa’ ขับเคลื่อนศก. หวังดึงดูดกลุ่มแรงงาน ขยายการรองรับอุตสาหกรรมดิจิทัล

(17 ก.ย. 66) นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เปิดเผย หลังการลงพื้นที่พบปะพูดคุยกับประชาชน ร่วมกับ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โดยได้รับข้อมูลจากคนในท้องถิ่นว่า ปัจจุบันมีกลุ่มบุคคลที่หาเลี้ยงชีพด้วยธุรกิจออนไลน์ (Digital Nomad) ที่ทำงานในจังหวัดเชียงใหม่มากกว่า 5-6 พันคน ซึ่งสามารถสร้างรายได้ให้กับคนในพื้นที่จำนวนมาก จึงขอให้นายกรัฐมนตรี สนับสนุนให้มีการขยายตัวกลุ่ม Digital Nomad เพิ่มมากขึ้น เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกและสร้างแรงจูงใจในการเข้ามาทำงาน ซึ่งทางนายกรัฐมนตรีได้รับปากว่าจะรีบพิจารณาข้อเสนอดังกล่าว

นายประเสริฐ กล่าวว่า Digital Nomad Visa จะเป็นประโยชน์กับเศรษฐกิจ และสามารถขยายผล ในวงกว้างให้กับจังหวัดอื่น ๆ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมดิจิทัล โดยทางดีอีเอสจะเร่งหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และนำเสนอต่อนายกรัฐมนตรีในสัปดาห์หน้า เพื่อเป็นการสนับสนุนนโยบาย Digital Nomad หรือ ‘Remote Worker’ โดยเฉพาะด้านดิจิทัลเทคโนโลยี ในการดึงดูดแรงงานขั้นสูง และกำลังคนดิจิทัลสาขาขาดแคลน

“ทั้งนี้ จะทำการดึงนักศึกษาจากมหาวิทยาลัย Top 600 ระดับโลกก่อน และเชื่อว่ามาตรการนี้ จะส่งผลประโยชน์กับทางจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งถือเป็นเมืองท่องเที่ยวที่สำคัญของประเทศไทยโดยรวมอย่างแน่นอน” รมว.ดีอีเอส กล่าว

'พงศ์พรหม' ชี้!! Digital Nomad โจทย์ใหญ่ที่ไทยควรดันไม่แพ้ 'แลนด์บริดจ์' หลังต่างชาติสายเทคฯ ชอบมา 'กิน-เที่ยว-ทำงาน' แต่กลับไม่เลือกลงทุน

(17 ม.ค. 67) นายพงศ์พรหม ยามะรัต ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก 'Pongprom Yamarat' ฝากถึงภาครัฐ ที่กำลังตื่นเต้นกับ Landbridge จนลืมสิ่งที่กำลังจะสำเร็จ และสร้างรายได้ไม่น้อยกว่า Landbridge รึเปล่า? ความว่า...

10 ปีมานี้เมืองไทยเป็น Digital Nomads hub ที่ใหญ่ติดท็อป 5 โลกมาโดยตลอด

(***Digital Nomads: คนที่ใช้ชีวิตอยู่ตามสถานที่ต่าง ๆ ของโลก ส่วนอาชีพก็คือการทำทุกอย่างที่ได้เงินโดยใช้ระบบออนไลน์ เพียงแค่มีแล็ปท็อปกับอินเทอร์เน็ต เพียงเท่านี้ก็สามารถทำงานจากที่ไหนก็ได้บนโลกใบนี้แล้ว บางคนอาจจะทำ E-commerce, Freelance, Remote Work ซึ่งไลฟ์สไตล์แบบนี้มันสนุกตรงที่สามารถทำงานด้วยแล้วก็เที่ยวด้วยได้)

ผมเจอข้อมูลนี้ในนิตยสาร Monocle เมื่อเกือบ 10 ปีก่อน

>> มีข้อดี...
เค้ามากันเยอะ แปลว่าเค้าชอบครับ 
ทำไมเขาไม่ไปฟิลิปปินส์, เวียดนาม, มาเลเซีย
ก็เพราะเราน่าอยู่ เราครบ คนเรานิสัยดี บ้านเราอยู่สบาย

>> มีข้อดี ก็มีข้อเสีย...
ผมอยู่ในวงการ tech มานานพอสมควร
เรามีพาร์ทเนอร์ทั้งอิสราเอล, อเมริกัน, จีน และสิงคโปร์
เค้าชอบมา Nomad ที่เรา แต่หากจะให้เปิดบริษัท...
‘วันนี้’ เค้าเลือก...
สิงคโปร์, จีน, ไต้หวัน และเวียดนามครับ

>> จึงเกิดปัญหาใหญ่
เค้ามาทำงานที่ไทย ไทยได้ค่าอาหาร ค่าที่พัก
แต่...
สิงคโปร์, จีน, ไต้หวัน, เวียดนาม ได้เงินภาษี และการสร้าง eco system ครับ ซึ่งเป็นเงิน และประโยชน์มากกว่าที่ไทยได้เป็นพัน เป็นหมื่นเท่า

>> สิงคโปร์ จีน ไต้หวัน มีอะไร?
1. การเปิดบริษัทที่เกี่ยวกับนวัตกรรม ได้รับการสนับสนุน เป็น fast track ทั้งภาษี จดทะเบียน ที่ตั้ง การช่วยโปรโมต และการคอร์รัปชันต่ำมาก พูดง่ายๆ ไปแล้วโอกาสเจ๊งต่ำ
2. ไปแล้วหาคนง่าย หมายถึง ดึงคนต่างชาติไปทำงานด้วยง่าย เพราะประเทศเหล่านี้คิดต่างจากไทย เค้าคิดถึงการ ‘ดูดมันสมอง’ เข้าประเทศ ส่วนไทยคิดแต่ว่า ‘ต่างชาติจะมาแย่งงานคนไทย’ รวมถึงคนของเขามีความสามารถสูงกว่าไทย จากการศึกษาที่ดีกว่า

>> แล้วเวียดนามหล่ะ?
1. ภาครัฐยังกระด้อกกระแด้กเหมือนไทยนี่แหละ แต่...
2. คนเวียดนามขยัน เรียนรู้เร็วกว่าคนไทย และมีทักษะนวัตกรรม เทคโนโลยีสูงกว่าคนไทย และค่าจ้างต่ำกว่าไทย ใครมองมุมนี้ล้วนๆ ก็ให้มาเวียดนาม จึงจะเห็นว่าการลงทุน บ.เทค ข้ามชาติมาเวียดนามจนแซงไทยแล้ว

>> กลับมาโอกาส
การที่ Nomad มาไทยเยอะ แปลว่าเค้าชอบ
นี่คือต้นทุนที่ใครก็แย่งไม่ได้ครับ 
แต่...
1. เราต้องมี รมว. DE, รมว. อว. และ รมว.ศึกษา ที่เห็นภาพกว่านี้ และรู้ว่านี่คือ priority
สมัยสุดท้ายที่มีการขับเคลื่อนเหล่านี้อย่างเป็นรูปธรรม คือยุค รอง สมคิด จาตุศรีพิทักษ์, ดร.อุตตม, ดร.พิเชษฐ, ดร.สุวิทย์ และ นพ.ธีระเกียรติ นั่นคือยุคทองเลย ... หลังจากนั้นก็ไร้ทิศทางต่อ
2. รมว. DE และ อว. ต้องติดอาวุธ ให้ Depa และ NIA ในการทำภารกิจนี้ให้สำเร็จ ในความเป็นจริงมีอีก 1 องค์การมหาชนที่ควรมาเกี่ยวข้อง แต่ไม่ได้ใช้ศักยภาพเต็มที่ คือ BEDO ที่ผมไม่ได้ยินข่าวคราวมานานมากแล้ว

เอา บ. Tech เข้ามาไทยให้มาก
โลกเค้ารบกัน นี่คือโอกาส
อันใหญ่ๆ อยู่สิงคโปร์ไป
เอาเล็ก-ถึงกลางมาไทย เดี๋ยวเค้าก็ใหญ่เอง
นี่ผมพูดถึง 4-50,000 ล้านบาทอยู่นะครับ

ครับ
โอกาสที่ใหญ่
ใหญ่กว่า Landbridge มาก
ทำตรงนี้ให้สำเร็จ จะรวยกว่าทำ Landbridge อีก

ส่วน Landbridge ผมไม่มีความเห็น เพราะไม่มีข้อมูล
ความเห็นส่วนตัวคือ
น่าสนใจ แต่ต้องคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมให้มาก


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top