Saturday, 10 May 2025
Econbiz

‘วินโคสท์’ ตอกย้ำผู้นำสวนอุตสาหกรรมสีเขียว จ่อติดโซลาร์เพิ่ม 5 เมกกะวัตต์ ในไตรมาส 1/67

(19 ม.ค. 67) นายจักร จามิกรณ์ ประธานกรรมการ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สวนอุตสาหกรรม วินโคสท์ จำกัด (มหาชน) หรือ WIN เปิดเผยว่า บริษัทเตรียมดำเนินการติดตั้งโซลาร์เพิ่มอีก 5 เมกกะวัตต์ ในไตรมาส 1/67

ทั้งนี้ ล่าสุดได้ส่งมอบงานรับเหมาก่อสร้าง (EPC) โครงการติดตั้งโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ จำนวน 15 โครงการ ทั้งในโครงการภาครัฐ และเอกชน  คิดเป็นอัตราการเติบโตถึง 97.15% รวมถึงการรับรู้รายได้ ของธุรกิจให้เช่าพื้นที่คลังสินค้า มีกลุ่มลูกค้าเข้ามาใช้บริการเช่าคลังสินค้าเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จาก 71.86% เพิ่มขึ้นเป็น 86.69%

นอกจากนี้บริษัทจะทยอยรับรู้รายได้จากโครงการที่อยู่ระหว่างดำเนินการ ประกอบด้วย การติดตั้งโซลาร์ให้กับ โรงพยาบาลนวเวช และศูนย์พัฒนากีฬากองทัพบก

ผลการดำเนินธุรกิจตลอดปี 66 มีปัจจัยที่เป็นบวกต่อการดำเนินธุรกิจทั้งสองประเภท สะท้อนให้เห็นถึงความต้องการใช้พลังงานสะอาดขององค์กรภาครัฐและเอกชน ที่ให้ความสำคัญต่อการบริหารจัดการต้นทุนด้านพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงการขับเคลื่อนธุรกิจที่มุ่งไปสู่การลดปริมาณการปล่อยคาร์บอน 

ขณะที่กลุ่มธุรกิจการให้บริการเช่าพื้นที่คลังสินค้าในเขตปลอดอากรและคลังทั่วไป มีอัตราการขยายตัวเช่าพื้นที่ของกลุ่มลูกค้าจากต่างชาติเข้ามาต่อเนื่อง ซึ่งบริษัทพร้อมเดินหน้าสู่การพัฒนาโครงการ สวนอุตสาหกรรม สีเขียววินโคสท์ 2 เพื่อรองรับการฟื้นตัวเศรษฐกิจ และการลงทุนในอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

‘อรรถวิชช์’ ดัน!! ปฏิรูปเครดิตบูโร ล่า 10,000 รายชื่อ แก้กฏหมาย

จากรายการ THE TOMORROW มหาชนต้องรู้ ออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES ได้พูดคุยกับ ดร.อรรถวิชช์ สุวรรณภักดี อดีต สส.กทม. ซึ่งได้ให้คำแนะนำรัฐบาลถึงการแก้หนี้นอกระบบ พร้อมทั้งการปฏิรูปกฎหมายเครดิตบูโร ยุติแช่แข็งลูกหนี้ และเตรียมรวม 10,000 รายชื่อ เสนอกฎหมายเข้าสภาฯ เมื่อวันที่ 20 ม.ค.67 ระบุว่า...

ปัญหาเรื่องหนี้นอกระบบมีปัจจัยหลายประการ โดยเฉพาะคนที่ติดหนี้นอกระบบแล้วโดนดอกเบี้ยสุดโหด ไม่สามารถกลับเข้ามากู้เงินในระบบได้ เนื่องจากธนาคารไม่ปล่อยกู้ให้ เพราะติดแบล็กลิสต์กับธนาคาร ถึงแม้จะจ่ายหนี้หมดแล้วก็ตาม เนื่องจากมีประวัติข้อมูลต่างๆ ค้างอยู่ในระบบข้อมูลเครดิตถึง 3 ปี ซึ่งทางธนาคารจะใช้มาประกอบการพิจารณาอนุมัติเงินกู้ ทำให้ประชาชนผู้ที่มีประวัติ เสียโอกาสในการขอสินเชื่อจากธนาคารเพื่อนำมาลงทุนธุรกิจ 

ขณะที่ประชาชนบางท่านที่ไม่ได้มีเจตนาหนีหนี้ แต่เกิดจากการหลงลืม เช่น ลืมจ่ายค่าบัตรเครดิตไปเพียงครั้งเดียวก็สามารถติดแบล็กลิสต์เครดิตบูโรได้เช่นกัน ทั้งที่จริงๆ แล้วควรพิจารณาจากนิสัยการใช้เงินของลูกหนี้ประกอบด้วยว่ามีพฤติกรรมอย่างไร 

จากจุดนี้ ผมจึงพยายามผลักดันให้เกิดการปฏิรูปกฎหมายเครดิตบูโร เช่น ชำระหนี้หมดแล้วต้องลบข้อมูลหนี้บัญชีนั้นทันที หรือกลับมาจ่ายได้ปกติหกเดือนติดต่อกัน ก็ควรลบข้อมูลค้างเก่าในบัญชีนั้นเช่นกัน ลูกหนี้จะได้มีโอกาสกู้ในระบบได้บ้าง ซึ่งผมนำเสนอให้ใช้ระบบคะแนนเครดิต Credit Scoring ใครคะแนนเครดิตดีได้ดอกเบี้ยต่ำ ใครคะแนนเครดิตต่ำได้ดอกเบี้ยสูง ถ้าทำแบบนี้ จะเกิดการแข่งขันเรื่องดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์กันมากขึ้น

ส่วนคำถามที่ว่าการเปลี่ยนเป็นระบบ Credit Scoring มีผลดีหรือผลเสียอย่างไร ขอตอบว่าไม่มีผลเสีย แต่จะมีผลดี คือ ธนาคารปล่อยกู้ได้ง่ายขึ้น โดยมีระบบการประเมินที่เป็นสากล การใช้ระบบ Credit scoring เป็นการแจ้ง ‘คะแนน’ ที่จะนำเอา ‘ข้อมูลดี’ มาประกอบด้วย เช่น รายได้ การจ่ายเงินค่าน้ำ ค่าไฟ ระบบการจ่ายเงินทางอิเล็กทรอนิกส์บนแอปพลิเคชันต่างๆ 

ตัวอย่างที่มีให้เห็นชัดเจน ก็เช่นกรณี ‘บังฮาซัน’ สู้ชีวิต อินฟลูเอนเซอร์คนดัง ขายอาหารทะเลให้ชุมชน เก็บเงินสด 30 ล้าน สร้างบ้านเอง เพราะไม่สามารถเข้าถึงเงินกู้ได้ เนื่องจาก ‘เคย’ ติดหนี้บัตรเงินสดสมัยที่ยังทำงานสู้ชีวิตอยู่ในกรุงเทพฯ แต่จะมีสักกี่คน ที่มีความสามารถหาเงินได้แบบนี้ โดยไม่ต้องใช้ทุนตั้งตัว

อย่างไรเสีย เรื่องนี้จะเกิดขึ้นได้จริงหรือไม่ สามารถทำโดยการเสนอร่างแก้ไข พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจข้อมูลเครดิต พ.ศ.2545 ซึ่งเกี่ยวข้องกับการทำหน้าที่ของบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด โดยเฉพาะ ด้วยการแก้ไขให้ใช้ระบบ Credit Scoring เป็นรูปแบบการจำแนกคุณภาพสินเชื่อของบุคคลตามจริง แทนที่ระบบแบล็กลิสต์ เพื่อเพิ่มโอกาสให้ประชาชนเข้าถึงสินเชื่อได้มากขึ้น และรักษาระบบสินเชื่อให้เป็นไปตามความจริง ซึ่งขณะนี้ได้ร่างกฎหมายปฏิรูปเครดิตบูโร โดยจะรวบรวมรายชื่อประชาชนไม่น้อยกว่า 10,000 รายชื่อ คาดว่าจะสามารถดำเนินการได้ภายในเดือนพฤษภาคม 2567 นี้

‘อ.พงษ์ภาณุ’ ชี้!! BRICS โอกาสทองของไทย ช่วย ‘แลนด์บริดจ์ไทย’ เนื้อหอม เชื่อม BRI

ทีมข่าว THE STATES TIMES  ได้พูดคุยกับ อ.พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ระดับประเทศ ที่มาร่วมพูดคุยในรายการ Easy Econ ซึ่งออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES ในประเด็น 'BRICS กับโอกาสทองของไทย' เมื่อวันที่ 21 ม.ค.67 โดย อ.พงษ์ภาณุ กล่าวว่า…

เหตุการณ์น่าสนใจช่วงปีใหม่ที่ผ่านมาคือการที่กลุ่ม BRICS รับประเทศสมาชิกใหม่หลายประเทศ รวมทั้ง ซาอุดีอาระเบีย, สหรัฐอาหรับเอมมิเรตส์ และอิหร่าน ซึ่งเป็นการขยายขนาดและอิทธิพลของกลุ่มครั้งใหญ่ที่สุด นับจากก่อตั้งขึ้นมากว่า 20 ปี

กลุ่ม BRICS ไม่มีชื่ออย่างเป็นทางการ แต่เป็นการนำตัวอักษรนำหน้าชื่อประเทศสมาชิกก่อตั้งมาเรียงกัน จีนเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในกลุ่ม คิดเป็นกว่า 50% ของ GDP รวมของกลุ่ม สมาชิกมีความแตกต่างและไม่มีที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ร่วมกันดังเช่นกลุ่มเศรษฐกิจอื่นๆ แต่สิ่งสำคัญที่ประเทศสมาชิกมีร่วมกัน คือแนวคิดต่อต้านระเบียบโลก (World Order) และการครอบงำของสหรัฐอเมริกาและตะวันตก

กลุ่ม BRICS ไม่มีกฏบัตรและหลักเกณฑ์การรับสมาชิกใหม่ แต่ได้เป็นเวทีให้สมาชิกใช้แสดงความไม่เห็นด้วยและโจมตีนโยบายและการทำงานของสถาบันต่างที่อยู่ภายใต้ระเบียบโลก กลุ่ม BRICS ตั้ง Mini World Bank และ Mini IMF ขึ้นมาเพื่อเป็นทางเลือกให้ประเทศสมาชิกใช้ประโยชน์ นอกเหนือจากสถาบันการเงินในระบบ Bretton Woods

ประเทศสมาชิกหลายประเทศ โดยเฉพาะรัสเซีย และจีน ถูกสหรัฐอเมริกาและประเทศตะวันตกใช้มาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ (Sanctions) และหลายครั้งถูกสหรัฐฯ ใช้เงินดอลลาร์เป็นอาวุธร้ายมาลงโทษประเทศเหล่านี้เมื่อเกิดความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ อาทิเช่น เมื่อสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ผ่านมา รัสเซียถูกอายัดทุนสำรองที่เป็นดอลลาร์สหรัฐฯ และถูกตัดขาดออกจากระบบการชำระเงินระหว่างประเทศ ดังนั้นกลุ่ม BRICS จึงพยายามผลักดันการใช้เงินสกุลท้องถิ่น (Local Currencies) ทดแทนเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ด้วย

แนวคิดเหล่านี้ของกลุ่ม BRICS ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะประเทศไทยสมัยนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร ก็เคยผลักดัน Asian Bond Market Initiative (ABMI) เมื่อราว 20 ปีที่แล้ว จนเป็นที่รู้จักและเห็นผลเป็นรูปธรรมบ้างแล้ว ธนาคารกลางในเอเชียลงขันกันตั้งกองทุน Asian Bond Fund เพื่อลงทุนในพันธบัตรที่ออกในสกุลเงินของประเทศสมาชิก ตลาดตราสารหนี้ของประเทศในเอเชีย รวมทั้งประเทศไทย มีการเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว จนปัจจุบันถือเป็นเสาหลักของระบบการเงินของประเทศ

ไม่นานมานี้ จีนได้จัดงานครบรอบ 10 ปีของโครงการเส้นทางสายไหม (Belt and Road Initiative : BRI) โดยใน 10 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยเองไม่มีโครงการอยู่ใน BRI เลย แต่การที่นายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน เดินทางไปกรุงปักกิ่ง เพื่อเข้าร่วมงานด้วยตนเอง บ่งชี้ความสำคัญและวิสัยทัศน์ของไทยที่จะเข้าร่วมเส้นทางสายไหมของจีนนี้ โดยเฉพาะโครงการแลนด์บริดจ์ ซึ่งเชื่อมมหาสมุทรอินเดียและอ่าวไทย จะเป็นเส้นทางยุทธศาสตร์สำคัญของ BRI 
ยิ่งเมื่อพิจารณาร่วมกับการขยายสมาชิกสภาพของกลุ่ม BRICS ที่ครอบคลุมถึงซาอุดีอาระเบีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซึ่งเป็นแหล่งน้ำมันดิบที่สำคัญที่สุดของจีนด้วยแล้ว โครงการแลนด์บริดจ์จะยิ่งทวีความสำคัญในเชิงยุทธศาสตร์มากขึ้น และเชื่อแน่ว่าหากเข้าเป็นสมาชิกกลุ่ม BRICS ประเทศไทยจะกลายเป็นประเทศที่มีบทบาทสำคัญประเทศหนึ่งของโลกแน่นอน

ความพยายามของกลุ่ม BRICS ที่จะจัดระเบียบโลกด้านเศรษฐกิจใหม่ เป็นความพยายามที่น่าชมเชย แต่จะสำเร็จหรือไม่คงจะเป็นเรื่องไม่ง่าย และไม่แน่ประเทศไทยอาจจะเป็นตัวแปรสำคัญในการสร้างความสำเร็จนี้ก็ได้

‘ธนาคารออมสิน’ มอบสินเชื่อเสริมสภาพคล่อง ผู้ค้ารายย่อย หนุนอาชีพอิสระมีเงินทุน ไม่ต้องใช้หลักประกัน-ผ่อนได้ถึง 8 ปี

(20 ม.ค. 67) นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ธนาคารออมสินมอบสินเชื่อเพื่อผู้ประกอบอาชีพอิสระรายย่อย เพื่อเสริมสภาพคล่องในการประกอบอาชีพ วงเงินสูงสุด 100,000 บาท ไม่ต้องใช้หลักประกัน ผ่อนชำระนานสูงสุด 96 งวด เพื่อให้ผู้ประกอบอาชีพอิสระ หรือผู้ประกอบการรายย่อย เช่น ผู้ขับขี่รถมอเตอร์ไซด์รับจ้าง, ผู้ขับขี่รถแท็กซี่, ผู้ขับขี่รถตู้สาธารณะ, พ่อค้าแม่ค้า หรือผู้จำหน่ายสินค้าออนไลน์ เป็นต้น สำหรับเป็นเงินทุนประกอบอาชีพ โดยให้กู้ตามความจำเป็นและความสามารถในการชำระหนี้ ไม่เกินรายละ 100,000 บาท ไม่ต้องใช้หลักประกัน อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 1.00 ต่อเดือน (Flat Rate) แต่หากอัตราผิดนัดไม่ชำระหนี้ อัตราดอกเบี้ยเท่ากับอัตราดอกเบี้ยสูงสุดตามสัญญา บวกร้อยละ 0.25 ต่อเดือน

นางรัดเกล้า กล่าวว่า โดยผู้ประกอบอาชีพอิสระ หรือผู้ประกอบการรายย่อย ต้องเป็นบุคคลธรรมดา สัญชาติไทย อายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป และเมื่อรวมอายุผู้กู้กับระยะเวลาชำระเงินกู้ ต้องไม่เกิน 70 ปี และเป็นผู้มีถิ่นที่อยู่หรือสถานประกอบการที่แน่นอน สามารถติดต่อได้

ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจ และมีคุณสมบัติตรงตามเงื่อนไขสามารถสมัครได้ที่ ธนาคารออมสินทุกสาขาหรือสมัครออนไลน์ที่เว็บไซต์ของธนาคาร (https://www.gsb.or.th/gsb_govs/loan4idpc/#section4) โดยนำเอกสารการสมัครไปให้ครบถ้วน

“การกู้ยืมสำหรับผู้ประกอบอาชีพอิสระ หรือผู้ประกอบการรายย่อย ดูเหมือนเป็นเรื่องยุ่งยาก ธนาคารออมสินจึงได้มอบสินเชื่อตามนโยบายรัฐบาลนี้เพื่อช่วยเสริมสภาพคล่อง หรือใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการประกอบอาชีพ ซึ่งสินเชื่อนี้จะเป็นอีกหนึ่งตัวเลือกที่น่าเชื่อถือสำหรับผู้ที่สนใจ” นางรัดเกล้า กล่าว

‘มิตซูบิชิ อีเล็คทริค’ ผุด ‘XY Series’ ผลิตภัณฑ์ใหม่ กลุ่มอินเวอร์เตอร์ พร้อมรุกธุรกิจ B2B ครบวงจร ตั้งเป้ารักษาแชมป์ตลาดเครื่องปรับอากาศ

(20 ม.ค. 67) มิตซูบิชิ อีเล็คทริค กันยงวัฒนา เดินหน้ารักษาแชมป์อันดับ 1 ผู้นำตลาดเครื่องปรับอากาศภายในบ้าน จัดหนักแคมเปญส่งเสริมการตลาด พร้อมขยายฐานผู้บริโภคต่อเนื่อง คว้า ‘นนท์ - ธนนท์ จำเริญ’ พรีเซนเตอร์ปีที่ 2 สานต่อปรากฏการณ์ความสำเร็จจากปีที่ผ่านมาด้วยกลยุทธ์ Music Marketing เจาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ ตอกย้ำ จุดแข็งแบรนด์คุณภาพ พร้อมเปิดตัวผลิตภัณฑ์เครื่องปรับอากาศกลุ่มอินเวอร์เตอร์รุ่นใหม่ ‘XY Series’ ที่สุดของเทคโนโลยี ‘Fast Cooling Plus’ ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ที่ลงตัว และตู้เย็นกลุ่ม ‘Premium Series’ คุณภาพสูง โดดเด่นด้วยเทคโนโลยีถนอมอาหาร พร้อมเร่งขับเคลื่อนธุรกิจ B2B มุ่งสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน

นายชินจิ คามิยะ กรรมการผู้จัดการ บริษัท มิตซูบิชิ อีเล็คทริค กันยงวัฒนา จำกัด เปิดเผยว่า “ปี 2566 ที่ผ่านมา วงการธุรกิจเครื่องปรับอากาศ เครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน ต้องประสบปัญหาการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ล่าช้าไม่เป็นไปตามที่คาดหวังไว้ แต่อย่างไรก็ตาม จากภาวะอากาศที่ร้อนจัดในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ส่งผลให้ประมาณการได้ว่า บริษัทฯ จะสามารถสร้างยอดขายโดยรวมทั้งปีงบประมาณ 2566 (เมษายน 2566 - มีนาคม 2567) ได้เติบโตสูงกว่าปีก่อนหน้าที่ 10%”

“ในกลุ่มผลิตภัณฑ์หลัก เช่น เครื่องปรับอากาศภายในบ้าน ปั๊มน้ำ และพัดลมระบายอากาศ เรายังคงสามารถรักษาส่วนแบ่งทางการตลาดได้สูงสุดต่อเนื่องจากปีก่อน รวมทั้งผลการดำเนินกิจกรรมการสร้างแบรนด์ยังได้รับผลตอบรับในความไว้วางใจ โดยนิตยสารทางธุรกิจที่มีชื่อเสียง เช่น นิตยสาร Marketeer และ BrandAge ได้จัดอันดับให้ทั้งผลิตภัณฑ์เครื่องปรับอากาศภายในบ้านและปั๊มน้ำมิตซูบิชิ อีเล็คทริค เป็นแบรนด์อันดับ 1 ที่ได้รับความเชื่อถือสูงสุดในประเทศไทยต่อเนื่องจากปีก่อนเช่นกัน”

“สำหรับปี 2567 นี้ บริษัทฯ ยังคงยึดมั่นแนวทางหลักในการดำเนินธุรกิจ ผ่านการจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์เครื่องปรับอากาศ เครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านและงานบริการ ตามพันธกิจองค์กรที่วางไว้ โดยมุ่งให้ผลิตภัณฑ์และการบริการ รวมทั้งกิจกรรมต่าง ๆ ของบริษัทฯ มอบประโยชน์ด้านการสร้างความสะดวกสบายในการใช้ชีวิตประจำวันของผู้บริโภคชาวไทย รวมทั้งสร้างประโยชน์ต่อการพัฒนาและแก้ไขปัญหาทางสังคมไทยได้มากยิ่ง ๆ ขึ้น”

“และในปีนี้ บริษัทฯ ยังคงตั้งเป้าหมายรักษาอัตราการเติบโตของยอดขายโดยรวมไว้ให้ได้มากกว่า 10% โดยมุ่งเน้นดำเนินการหลัก ๆ 4 ประการ เพื่อบรรลุเป้าหมาย ได้แก่

1.) กิจกรรมด้านผลิตภัณฑ์ โดยพัฒนาในแต่ละกลุ่มผลิตภัณฑ์ให้มีฟังก์ชันการทำงานที่โดดเด่นมากยิ่งขึ้น และเพิ่มความหลากหลายหรือเพิ่ม Line Up ในแต่ละตัวผลิตภัณฑ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในผลิตภัณฑ์เครื่องปรับอากาศภายในบ้าน ซึ่งจะพัฒนายกระดับประสิทธิภาพด้านการประหยัดพลังงานให้สอดรับกับมาตรฐานประหยัดพลังงานฉบับใหม่ที่ประกาศใช้ในปัจจุบัน 

2.) ในปีนี้ บริษัทฯ ได้เตรียมงบทางการตลาดไว้ ประมาณ 1,200 ล้านบาท โดยมุ่งยกระดับคุณค่าแบรนด์ เพื่อสร้างการจดจำและรับรู้ในแบรนด์ ตลอดจนมุ่งเน้นกิจกรรมการโฆษณาประชาสัมพันธ์ และกิจกรรมส่งเสริมการขายร่วมกับร้านค้าให้มากยิ่งขึ้น

3.) ด้านธุรกิจเชิงพาณิชย์ บริษัทฯ ตระหนักว่าธุรกิจในกลุ่มนี้จะเป็นรากฐานการสร้างความเจริญเติบโตให้บริษัทฯ ในอนาคตได้ ดังนั้น จึงกำหนดการสร้างเสริมระบบงานการตลาดการขายที่มีความพร้อม ช่วยสนับสนุนการเจรจาการค้าในส่วนภูมิภาค ควบคู่กับการพัฒนาการนำเสนองาน ให้เป็นที่ยอมรับในการตอบโจทย์ที่ลูกค้าต้องการ หรือโซลูชันในธุรกิจระบบปรับอากาศ ระบบระบายอากาศ ซึ่งเป็นความชำนาญการพิเศษของเรา เพื่อขยายการจัดจำหน่ายในส่วนนี้ให้ได้มากยิ่งขึ้น

4.) งานบริการหลังการขาย เน้นการยกระดับความพึงพอใจของลูกค้า และพัฒนาระบบงานที่จะรับส่งข้อมูลต่าง ๆ เช่น งานซ่อมจากลูกค้าให้ได้อย่างรวดเร็ว พร้อมทั้งพัฒนาการเพิ่มทักษะฝีมือของช่างบริการ เพื่อให้สามารถส่งมอบงาน บริการหลังการขายที่มีคุณภาพดียิ่งขึ้น

จากกิจกรรมทางธุรกิจที่ได้กล่าวไปนั้น บริษัทฯ เชื่อมั่นว่าธุรกิจจะยังคงได้รับความไว้วางใจในการจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ภายใต้แบรนด์ มิตซูบิชิ อีเล็คทริค อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งในปีนี้เราจะยังคงมุ่งมั่นพัฒนาการทำงานให้ดียิ่งขึ้น เพื่อให้ผลิตภัณฑ์ของเราเป็นแบรนด์ที่ผู้บริโภคชาวไทยทุกคนต้องการอย่างแท้จริง”

นายประพนธ์ โพธิวรคุณ กรรมการรองผู้จัดการ บริษัท มิตซูบิชิ อีเล็คทริค กันยงวัฒนา จำกัด กล่าวว่า “สำหรับกลยุทธ์ด้านบริการหลังการขายในปี 2567 นี้ บริษัทฯ วางแผนลงทุนเพิ่มเติมทรัพยากรที่จำเป็น ได้แก่ การพัฒนาเทคโนโลยีระบบ Online Service เพื่อเพิ่มศักยภาพการบริการ การพัฒนาศักยภาพบุคลากรให้สามารถรองรับการบริการให้กับลูกค้ามิตซูบิชิ อีเล็คทริค ทั้งกลุ่ม B2C และ B2B ได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงการลงทุนในส่วนของเครื่องมือที่ทันสมัยและอุปกรณ์ อาทิ การสำรองชิ้นส่วนอะไหล่สินค้าทั้งในส่วนของสำนักงานใหญ่ และศูนย์จำหน่ายอะไหล่แต่งตั้งที่มีอยู่กว่า 40 แห่ง เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้าได้ว่ามีอะไหล่พร้อมบริการ พร้อมเสริมความแข็งแกร่งของศูนย์บริการแต่งตั้งที่มีอยู่ครอบคลุมทุกพื้นที่ เพื่อรองรับการบริการหลังการขายที่ได้มาตรฐานให้กับลูกค้ามิตซูบิชิ อีเล็คทริค ทั่วประเทศ นอกจากนี้ ยังมีช่องทางที่หลากหลายให้ลูกค้าได้ติดต่อกับทางศูนย์บริการ ไม่ว่าจะเป็น Hot Line 1325 รวมถึง Facebook และ Line Official Account : มิตซูบิชิ อีเล็คทริค เป็นต้น”

“ขณะเดียวกันได้เตรียมแผนพัฒนาบุคลากรช่างเทคนิคให้มีความรู้ความสามารถ ผ่านการรับรองในสาขาช่างเครื่องปรับอากาศและการพาณิชย์ขนาดเล็ก ระดับ 1 ซึ่งปัจจุบันช่างเทคนิคของศูนย์บริการมิตซูบิชิ อีเล็คทริค สำนักงานใหญ่ ได้ผ่านการทดสอบหลักสูตรดังกล่าวทั้งหมด และในปีนี้ ยังคงเดินหน้ายกระดับความสามารถของช่างเทคนิค ศูนย์บริการแต่งตั้งทั่วประเทศให้มีศักยภาพและมาตรฐานเดียวกัน

นอกจากนี้ บริษัทฯ ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการยกระดับอุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศไทยสู่มาตรฐานสากล สานต่อ ‘โครงการจัดการเรียนการสอนหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง สาขาวิชาไฟฟ้ากำลัง สาขาเครื่องทำความเย็นและปรับอากาศ (ระบบทวิภาคี)’ ต่อเนื่องเป็นปีที่ 12 ร่วมกับวิทยาลัยเทคนิคชั้นนำต่าง ๆ โดยมีช่างผู้เชี่ยวชาญของบริษัทฯ เป็นผู้ถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยี ด้านเครื่องทำความเย็นและเครื่องปรับอากาศ ให้กับนักศึกษาของวิทยาลัยเทคนิค ให้มีความรู้และทักษะวิชาชีพ เมื่อจบหลักสูตรแล้วสามารถนำความรู้ไปประกอบวิชาชีพได้ต่อไป

ด้านกลุ่มธุรกิจ B2B เรามีความพร้อมทั้งในด้านผลิตภัณฑ์เครื่องปรับอากาศ และระบบปรับอากาศที่เหมาะสมสำหรับที่อยู่อาศัย และกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่แบบครบวงจร มีทีมงานวิศวกรโครงการและช่างเทคนิคมืออาชีพ รวมถึงสำนักงานสนับสนุนลูกค้าโครงการระบบปรับอากาศซิตีมัลติ (CMS) เพื่อให้บริการทั้งก่อนและหลังการขายในพื้นที่ต่าง ๆ และพร้อมที่จะทำงานร่วมกับตัวแทนจำหน่าย ตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงส่งมอบงาน เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในความสำเร็จและเติบโตไปด้วยกัน”

นายชิซุโอะ นาคาสึคาสะ กรรมการและผู้จัดการทั่วไปส่วนการตลาดและการขาย บริษัท มิตซูบิชิ อีเล็คทริค กันยงวัฒนา จำกัด เปิดเผยว่า “ด้านยอดขายเครื่องปรับอากาศภายในบ้านของบริษัทฯ ในปีงบประมาณ 2566 เชื่อมั่นว่าจะสามารถสร้างการเติบโตได้ถึง 30% สำหรับกลยุทธ์การตลาดในปี 2567 นี้ เรายังคงมุ่งมั่นดำเนินมาตรการต่าง ๆ อย่าง แข็งขันเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการขาย สำหรับกลุ่ม B2C ได้กำหนดกลยุทธ์การขายเป็นรายผลิตภัณฑ์อย่างชัดเจน โดยกลุ่มเครื่องปรับอากาศภายในบ้าน เน้นเสนอเทคโนโลยีที่ตอบโจทย์ความต้องการของคนไทย ที่เย็นเร็ว รู้ใจ ประหยัดไฟยิ่งขึ้น และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ในกลุ่มตู้เย็นจะเน้นส่งเสริมการขายผลิตภัณฑ์ที่สูงด้วยคุณภาพและเสริมสร้างการรับรู้ ความน่าสนใจในคุณค่าของผลิตภัณฑ์ที่ยกระดับสูงขึ้นในตู้เย็นกลุ่ม ‘Premium Series’

นอกจากนี้ ในธุรกิจ B2B จะมุ่งเน้นไปที่ระบบงานหลัก ๆ เพื่อให้บรรลุการเติบโตของธุรกิจส่วนนี้ต่อไป ได้แก่ ทำการขยายขอบเขตธุรกิจ (ขยายกลุ่มผลิตภัณฑ์) และเพิ่มความแข็งแกร่งให้กับยอดขายในช่องทางจัดจำหน่าย CAD (City-Multi Sales Authorized Dealer) โดยบริษัทฯ พร้อมจะสนับสนุนอย่างเต็มที่ในการนำเสนอโซลูชันต่าง ๆ ที่เหมาะสมให้กับลูกค้าได้ต่อไป”

“ในปีนี้ บริษัทฯ ได้วางแผนสื่อสารการตลาดครบวงจร ทั้งการเปิดตัวภาพยนตร์โฆษณาชุดใหม่ ผ่านพรีเซนเตอร์ปีที่ 2 ‘นนท์ - ธนนท์ จำเริญ’ พร้อมสานต่อกลยุทธ์ Music Marketing ที่ประสบความสำเร็จในด้านการสร้างการรับรู้และมีส่วนร่วมกับแบรนด์อย่างมากในปีที่ผ่านมา โดยในปีนี้ยังคงเน้นทำกิจกรรมกับกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่เริ่มเข้าสู่วัยทำงานถึงกลุ่มลูกค้า ผู้มีรายได้ระดับปานกลางเป็นหลัก นอกจากนี้ ยังทำการโฆษณาประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่าง ๆ โดยเฉพาะทางโซเชียลมีเดียและแพลตฟอร์มออนไลน์ โดยเน้นสร้างคอนเทนต์ที่สามารถเข้าถึงลูกค้าในแต่ละกลุ่มเป้าหมายได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น ขณะเดียวกันได้ทำการสื่อสารผ่านช่องทางทั้ง Offline และ Online Media ควบคู่กันไป พร้อมทั้งเสริมความแข็งแกร่งทางการขายโดยร่วมจัดแคมเปญ กิจกรรมส่งเสริมการขายต่าง ๆ ร่วมกับร้านค้าตัวแทนจำหน่ายควบคู่ต่อเนื่องต่อไปด้วยเช่นกัน”

นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังคงมุ่งเน้นการมีส่วนร่วมในการพัฒนายกระดับความสุขสบายในการดำเนินชีวิตประจำวันของผู้บริโภค ผ่านผลิตภัณฑ์ที่สูงด้วยคุณภาพ ความน่าเชื่อถือ ความทนทาน พร้อมนวัตกรรม และการประหยัดพลังงาน ได้ตามค่ามาตรฐานใหม่ที่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยกำหนดขึ้น โดยผลิตภัณฑ์หลัก ๆ ที่เปิดตัวในปีนี้ ได้แก่

• เครื่องปรับอากาศมิตซูบิชิ อีเล็คทริค มิสเตอร์สลิม ระบบอินเวอร์เตอร์ ในรุ่น XY Series ด้วยเทคโนโลยีล่าสุด ‘Fast Cooling Plus’ ที่ทำความเย็นได้อย่างรวดเร็วเมื่อเครื่องปรับอากาศทำงาน มาพร้อมเซนเซอร์ตรวจจับโดยคำนวนจากอุณหภูมิภายในห้องนั้น เพื่อปรับความเย็นและลมเย็นจากเครื่องปรับอากาศให้เหมาะสมที่สุด เพื่อให้ผู้ใช้ได้รับความสบายสูงสุดและเหมาะกับสภาพในขณะนั้นได้อย่างอัตโนมัติ รวมทั้งรุ่น GY Series ที่ได้รับการออกแบบใหม่ให้มีดีไซน์หรูหราขึ้น และมีประสิทธิภาพการประหยัดพลังงานที่สูงมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ เครื่องปรับอากาศระบบอินเวอร์เตอร์ทุกรุ่น ได้พัฒนาให้คุณภาพอากาศภายในห้องดียิ่งขึ้นด้วยการเพิ่ม ‘V-Air Filter’ และ ‘PM2.5 Filter’ แผ่นกรองฝุ่นที่ออกแบบมาเป็นพิเศษเฉพาะ สามารถกำจัดไวรัส แบคทีเรีย และดักจับฝุ่น PM 2.5 ได้อย่างดี ซึ่งล้วนเป็นฟังก์ชันที่พัฒนาขึ้นมาเพื่อความใส่ใจในสุขภาพของผู้ใช้เป็นสำคัญ

• ตู้เย็นมิตซูบิชิ อีเล็คทริค ‘Premium Series’ คุณภาพสูง ทนทาน โดดเด่นด้วยเทคโนโลยีถนอมอาหาร มีให้เลือกถึง 7 รุ่น ใน 5 ซีรีส์ อาทิ ตู้เย็นแบบ 2 ประตูรุ่นใหม่ ‘HS Series’ โดดเด่นด้วยช่องแช่แข็งที่มีขนาดความจุใหญ่ขึ้น และเพิ่มความสะดวกในการใช้งานด้วยการออกแบบให้ช่องแช่อเนกประสงค์พิเศษและช่องแช่ผักอยู่ในตำแหน่งส่วนกลางของตัวตู้เย็น ทำให้ผู้ใช้หยิบจับอาหารในช่องชั้นต่าง ๆ ได้สะดวก นอกจากนี้ ที่ช่องแช่อเนกประสงค์พิเศษในตู้เย็น ‘Premium Series’ ของมิตซูบิชิ อีเล็คทริค ยังออกแบบให้สามารถปรับตั้งค่าอุณหภูมิได้ (โดยเลือกโหมด Chill หรือ Soft Freezing) ซึ่งเป็นฟังก์ชันพิเศษที่สามารถลดเวลาทำละลายเนื้อสัตว์หรือเนื้อปลาได้อย่างมาก สามารถนำออกไปปรุงอาหารได้ในทันที ถือว่าเป็นตู้เย็นที่ถนอมอาหารได้ยาวนานขึ้น และในตู้เย็นแบบ 4 ประตู ได้เพิ่มสีใหม่ ‘Glass Dark Silver’ ดูหรูหราและสวยงามมากยิ่งขึ้น

• พัดลมมิตซูบิชิ อีเล็คทริค ตั้งพื้นกึ่งตั้งโต๊ะ รุ่นใหม่ เพิ่มสองสีใหม่ คือ ฟ้าพาสเทล และเขียวพาสเทล พร้อมดีไซน์ตะแกรงหน้าแบบเรียบ สามารถส่งลมได้แรงขึ้น ไกลขึ้น และพัดลมรุ่น R12-MC มีใบพัดที่ออกแบบใหม่ สามารถถอดและทำความสะอาดได้ง่าย เพียงคลิกเดียว นอกจากนี้ พัดลมมิตซูบิชิ อีเล็คทริค ทุกรุ่น ยังมีความปลอดภัยสูงตามมาตรฐาน Premium Safety พร้อมรับประกันมอเตอร์ 5 ปี

• ปั๊มน้ำ มิตซูบิชิ อีเล็คทริค ยกระดับความน่าเชื่อถือไปอีกขั้น ด้วยการขยายระยะเวลาการรับประกันมอเตอร์ถึง 11 ปี พร้อมประสิทธิภาพการกระจายความร้อนสูงด้วยโครงสร้างมอเตอร์อะลูมิเนียมที่ทนทานและมีความปลอดภัยสูงตามมาตรฐาน Premium Safety

“อีกกลยุทธ์หนึ่งที่เรามุ่งเน้น คือ การสร้างการรับรู้ในแบรนด์ มิตซูบิชิ อีเล็คทริค อย่างต่อเนื่อง โดยต่อยอดแนวคิดจากปี 2566 ‘ไม่หยุดทำ แค่คำว่าดี’ โดยในปีนี้ เราจะนำเสนอแนวคิดใหม่ คือ ‘แอร์ที่ใช่ ใส่ใจทุกรายละเอียด’ ซึ่งสะท้อนถึงการให้ความใส่ใจในทุกรายละเอียดและเสริมสร้างเอกลักษณ์ของแบรนด์อย่างต่อเนื่อง จากแนวคิดดังกล่าว บริษัทฯ จึงได้ผลิตภาพยนตร์โฆษณาทางโทรทัศน์ขึ้นใหม่ 3 เรื่อง ผ่านการนำเสนอโดยพรีเซนเตอร์ คุณนนท์ ธนนท์ ที่สื่อให้เห็นถึงเจตนารมย์ของมิตซูบิชิ อีเล็คทริค ที่จะมุ่งมั่นพัฒนาเทคโนโลยีต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง รวมทั้งแนะนำจุดเด่นต่าง ๆ ด้วยเนื้อหาที่ง่ายต่อการจดจำในผลิตภัณฑ์เครื่องปรับอากาศมิตซูบิชิ อีเล็คทริค มิสเตอร์สลิม ให้แก่ผู้บริโภค”

“จากกลยุทธ์การตลาดต่าง ๆ เพื่อสร้างการเติบโตทางธุรกิจ และเพิ่มทางเลือกที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคยุคใหม่ บริษัทฯ มั่นใจว่าจะช่วยสานต่อความสำเร็จในการทำตลาดของมิตซูบิชิ อีเล็คทริค และผลักดันยอดขายให้เติบโตได้ตามเป้าหมาย รวมถึงผลักดันให้ผลิตภัณฑ์มิตซูบิชิ อีเล็คทริค ได้เข้าสู่ตลาดอย่างกว้างขวาง เพื่อนำเสนอให้ผู้บริโภคได้ใช้ชีวิตประจำวันได้สะดวกสบายยิ่งขึ้น ซึ่งบริษัทฯ มั่นใจว่า สิ่งนี้จะยังประโยชน์สู่สังคมโดยรวมในที่สุดได้” นายชิซุโอะ นาคาสึคาสะ กล่าวทิ้งท้าย

‘พีระพันธุ์’ เคาะ!! ‘ค่าไฟฟ้าสีเขียว’ 4.55 บาท/หน่วย เปิดทางพลังงานสะอาด ดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ

‘กระทรวงพลังงาน’ คาด ก.พ. เคาะราคาค่าบริการไฟฟ้าสีเขียว คาดราคาเหมาะสม 4.55 บาทต่อหน่วย ปลดเงื่อนไขทางต่างชาติต้องการพลังงานสะอาด ด้านกระทรวงอุตสาหกรรมเร่งแก้กฎหมายโรงงานผลิตไฟฟ้าโซลาร์หลังคาเกิน 1,000 หน่วยไม่ต้องขออนุญาต

(20 ม.ค. 67) นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ภายในไม่เกินเดือน ก.พ.2567 กระทรวงพลังงานจะประกาศอัตราค่าบริการไฟฟ้าสีเขียว หลังจากที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้ประกาศหลักเกณฑ์การให้บริการและการกำหนดอัตราค่าบริการไฟฟ้าสีเขียวไปแล้ว นับว่าประเทศไทยเป็นประเทศแรกในภูมิภาคอาเซียนที่มีความพร้อมในการจัดหา ‘ไฟฟ้าสีเขียว’ มีทั้งกระบวนการผลิต จัดหา และการรับรองไฟฟ้าสีเขียวเพื่อรองรับความต้องการพลังงานของธุรกิจ

นอกจากนี้ ยังรวมถึงบริษัทข้ามชาติ ที่ต้องการขยายการลงทุน หรือย้ายฐานการผลิตมายังประเทศไทย ทั้งจะเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการไทย ขจัดอุปสรรคด้านการค้า การลงทุน จากมาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป (CBAM) ได้เป็นอย่างดี มั่นใจว่าจะมีไฟฟ้าสีเขียวในปริมาณที่เพียงพอต่อความต้องการ

ทั้งนี้ จึงมีโครงการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนตามแผน PDP เพื่อเพิ่มสัดส่วนพลังงานสะอาดในระบบอย่างต่อเนื่อง ประกอบด้วยแบบที่ผู้ใช้ไฟฟ้าสีเขียวจะไม่สามารถเจาะจงแหล่งที่มาของไฟฟ้าสีเขียวจากโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนในสัญญาบริการ และแบบที่ผู้ใช้ไฟฟ้าสามารถเจาะจงแหล่งที่มาได้

รับฟังความเห็นสาธารณะ ม.ค. นี้
เสมอใจ ศุขสุเมฆ ประธานกกพ.กล่าวว่า ตั้งแต่การประกาศเชิญชวนการรับซื้อไฟฟ้าพลังสะอาดภายใต้โครงการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) ปี 2565 - 2573 สำหรับกลุ่มไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง จำนวน 5,203 เมกะวัตต์ ซึ่งมีกำหนดให้ผู้ผลิตไฟฟ้าที่ได้รับคัดเลือกจำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (SCOD) เข้าสู่ระบบกว่า 4,800 เมกะวัตต์ ภายในปี 2573 ควบคู่ไปกับการออกแบบกำหนดหลักเกณฑ์การคิดอัตราค่าไฟฟ้าสีเขียว และแนวทางการกำกับดูแลให้กระบวนการบริหารจัดการและรับรองแหล่งกำเนิดไฟฟ้าสีเขียวให้มีประสิทธิภาพและมีมาตรฐานสากล

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้การคำนวณอัตราราคาเสร็จเรียบร้อยทั้งหมดแล้ว และพร้อมให้การไฟฟ้าให้บริการแล้ว และเตรียมที่จะเปิดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะในช่วงเดือนม.ค. 2567 นี้ โดยการประกาศโครงการ การจัดทำอัตราค่าบริการไฟฟ้าสีเขียว (Utility Green Tariff: UGT) จะสามารถขยายโครงการนี้ให้ครอบคสุมความต้องการของผู้ใช้ไฟฟ้าได้หลากหลายขึ้นและปรับปรุงข้อจำกัดต่าง ๆ

พลังงานสะอาดจากโซลาร์เซลล์สูงสุด
ประเสริฐ สินสุขประเสริฐ ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 250 ล้านตันต่อปี โดย 100 ล้านตัน มาจากภาคการไฟฟ้า มีการตั้งเป้าหมายว่าภายในปี 2030 การปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลดลงเหลือ 75 ล้านตัน และภายในปี 2080 จะมีการใช้พลังงานหมุนเวียน 80% โดยส่วนใหญ่มาจากโซลาร์เซลล์ ประมาณ 20,000 เมกะวัตต์

คมกฤชคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการ กกพ. กล่าวว่า อัตราค่าบริการไฟฟ้าสีเขียวเบื้องต้นที่คำนวณเพื่อจะนำมาเปิดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะภายในเดือนม.ค. 2567 โดยคำนวณราคาค่าไฟไว้ที่ 4.55 บาทต่อหน่วย ที่น่าจะเป็นตัวเลขที่เหมาะสม มารับฟังความเห็นฯ โดยตัวเลขต่างๆ มีการรวบรวมจากค่าบริการของต่างประเทศที่ได้มีการประกาศใช้ไปแล้วด้วย

แก้กฎหมาย-ลดหย่อนภาษีโซลาร์หลังคา
ณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวเมื่อเร็ว ๆ นี้ ได้สั่งการให้กรมโรงงานอุตสาหกรรมเดินหน้าแก้ไขกฎหมายปลดล็อคให้การผลิตพลังงานไฟฟ้าจาก Solar Rooftop ไม่เข้าข่ายโรงงานที่ต้องขอรับ ใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานอีกต่อไป ซึ่งขณะนี้ อยู่ระหว่างกระบวนการแก้ไขกฎกระทรวง คาดว่าจะมีผลบังคับใช้ภายในปี พ.ศ. 2567

นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า กระทรวงการคลังได้เตรียมมาตรการบริษัทจัดการพลังงาน (ESCO) สำหรับหน่วยงานภาครัฐ และส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนหลังคาสำหรับหน่วยงานรัฐ รวมทั้งเตรียมผลักดันมาตรการลดหย่อนภาษีประจำปี ส่งเสริม Solar Rooftop ในกลุ่มบ้านอาศัย วงเงินไม่เกิน 2 แสนบาท 10 กิโลวัตต์ เพื่อสนับสนุนคนใช้โซลาร์ 9 หมื่นครัวเรือนต่อปี เพื่อลดค่าใช้จ่ายไฟฟ้า สำหรับประชาชนผู้ร่วมโครงการโซลาร์ภาคประชาชน

‘S&P’ หนุนองค์กรใช้พลังงานสะอาด-ซื้อคาร์บอนเครดิต มุ่งสู่ความเป็นกลางคาร์บอน ใส่ใจสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

(20 ม.ค. 67) ‘มณีสุดา ศิลาอ่อน’ ประธานเจ้าหน้าที่สำนักพัฒนาความยั่งยืนและสื่อสารองค์กร บริษัท เอส แอนด์ พี ซินดิเคท จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า รางวัลนั้นเกิดจากความพยายามเดินหน้าธุรกิจ ตามแนวคิด ‘คุณภาพ คุณค่า คุณธรรม’ เพื่อสร้างคุณค่าที่ยั่งยืนให้กับสังคมและสิ่งแวดล้อม คำนึงถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียตลอดห่วงโซ่คุณค่า

จากจุดเริ่มต้นปี พ.ศ. 2559 ที่บริษัทเริ่มติดตั้งระบบโซลาร์รูฟท็อป บนอาคาร 4 แห่ง ได้แก่ โรงงานผลิตเบเกอรี่ บางพลี โรงงานผลิตเบเกอรี่ จ.ลำพูน และโรงงานผลิตอาหารลาดกระบัง รวมทั้งศูนย์กระจายสินค้า S&P (S&P Smart Distribution Center) ที่ลงทุนกว่า 500 ล้านบาท พร้อมติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปขนาด 594 กิโลวัตต์ต่อชั่วโมง สามารถผลิตไฟฟ้าได้ 785,712 กิโลวัตต์ต่อชั่วโมงต่อปี ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 390 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า หรือเทียบเท่าการปลูกต้นไม้ได้ถึง 12,104 ต้น

ขณะที่โรงงานผลิตเบเกอรี่และอาหาร 3 แห่ง ได้แก่ โรงงานผลิตเบเกอรี่บางนา-ตราด กม.23.5 (เฟส 3) โรงงานผลิตเบเกอรี่ลำพูน และ โรงงานผลิตอาหารลาดกระบัง สามารถผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์รวมทั้งสิ้น 2,285,531 กิโลวัตต์ ต่อชั่วโมงต่อปี ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ถึง 1,092 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า หรือเทียบเท่าการปลูกต้นไม้ได้ถึง 33,980 ต้น ส่วนโรงงานผลิตเบเกอรี่สุขุมวิท 62 โครงสร้างอาคารไม่สามรถติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปได้ จึงนำระบบ Solar Light มาใช้แทน ซึ่งรวมแล้วทั้งหมด สามารถลดการใช้พลังงานไฟฟ้าได้ราว 20-25%

นอกจากนี้ ในการบริหารจัดการคาร์บอน สโคป 1 และ 2 เป็นเรื่องที่เอสแอนด์พีดำเนินการต่อเนื่อง และพยายามพัฒนาแนวทางใหม่ ๆ ขึ้นเรื่อย ๆ โดยปี 2566 เอสแอนด์ พี ได้ซื้อคาร์บอนเครดิตจากบริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เพื่อชดเชยการปล่อยคาร์บอนแล้ว 1.3 หมื่นตัน ซึ่งเทียบเท่ากับปริมาณคาร์บอนที่เอส แอนด์ พี ปล่อยต่อปี โดยยังไม่รวมปริมาณคาร์บอนจากสาขาอีกเกือบ 500 สาขา ที่จะเริ่มนับและคำนวณปริมาณคาร์บอนในปีนี้

นอกจากนี้ ยังได้นำรถไฟฟ้า S&P EV Truck จำนวน 1 คัน มาใช้ในการขนส่งสินค้า ช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลงปีละประมาณ 20 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ทั้งนี้ บริษัทฯ ยังตั้งเป้าการเพิ่มรถบรรทุกพลังงานสะอาดอีก 4 คัน ในปี 2567 เพื่อครอบคลุมระยะทางขนส่งสายหลัก และยังช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการเผาไหม้เชื้อเพลิง

ขณะเดียวกันได้มีการปรับปรุงระบบการขนส่งใหม่ ของศูนย์กระจายสินค้า ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ตั้งแต่การบรรจุสินค้าใส่รถยนต์ การกำหนดเส้นทางการเดินรถ เพื่อช่วยประหยัดพลังงาน และค่าใช้จ่าย และช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารงานด้าน Supply chain ให้ดียิ่งขึ้น หลังจากการปรับปรุงทำให้สามารถลดค่านํ้ามันลงได้ถึง 9 ล้านบาทต่อเดือน

มณีสุดา กล่าวอีกว่า การทำงานด้านความยั่งยืน และใส่ใจสิ่งแวดล้อม เกิดจากจุดเริ่มต้นการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปที่โรงงาน ซึ่งขณะนั้นยังไม่มีการตื่นตัวเรื่องนี้ ทำให้ต้องใช้งบค่อนข้างสูง

อีกทั้ง สิ่งที่ดำเนินการไปพร้อม ๆ กัน เป็นการปรับพฤติกรรมพนักงานในองค์กร เริ่มจากการแยกขยะ เก็บขวดพลาสติกมาอัพไซคลิ่งเป็นเสื้อของพนักงานทำมาแล้ว 3 รุ่น รวมไปถึงการปรับเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์สินค้า สู่วัสดุรีไซเคิล หมายรวมถึงพลาสติกที่เริ่มจากการลดความหนาของพลาสติกลง ซึ่งขณะนี้ดำเนินการไปได้แล้วทั้งหมด 94%

“การเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์ในร้าน ซึ่งมีอยู่เกือบ 500 สาขาทั่วประเทศ หากต้องเปลี่ยนพลาสติกทั้งหมด ต้องใช้งบไม่ตํ่ากว่า 100 ล้านบาท หรือแม้แต่การลงทุนเพื่อปรับเปลี่ยนภาคในองค์กร รวมถึงกระบวนการผลิตทั้งหมดให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ต้องใช้งบเป็น 1,000 ล้านบาท เพราะฉะนั้นการลงมือทำ จากสิ่งใกล้ตัวก่อนและค่อย ๆ ทยอยทำ จะช่วยให้งานทั้งหมดสามารถเดินหน้าไปได้ ไม่เช่นนั้นคำนวณ Payback Period มันไม่คุ้ม”

เอส แอนด์ พี พยายามทำทั้ง Green Product และ Green Restaurant ซึ่งดำเนินการไปแล้ว 11 สาขา รวมถึงการทำ โครงการ Food Rescue โดยร่วมกับมูลนิธิสโกลารส์ ออฟซัสทีแนนซ์ หรือ ‘SOS Thailand’ ส่งต่ออาการส่วนเกินให้กับผู้ที่มีความต้องการ ทำให้สามารถลดขยะอาหารจาก 240 ล้านบาท เหลือ 168 ล้านบาทในปัจจุบัน

“เอส แอนด์ พี ยังดำเนินการร่วมกับซัพพลายเชน เช่น เกษตรกรและพาร์ทเนอร์ต่าง ๆ เพื่อให้บรรลุตามเป้าหมายขององค์กร เพื่อเดินหน้าสู่เป้าหมาย Carbon Neutrality ค.ศ.2050”

‘เศรษฐา-อุ๊งอิ๊ง’ ชู ‘มวยไทย’ เป็นซอฟต์พาวเวอร์ เล็งดันสู่โอลิมปิก เผย รัฐบาลเตรียมออกวีซ่าพิเศษให้ต่างชาติเข้ามาเรียนได้ 90 วัน

เมื่อวันที่ 20 ม.ค. 67 ที่สนามกีฬาสมโภชเชียงใหม่ 700 ปี ตำบลดอนแก้ว อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ พร้อม น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) ในฐานะรองประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ และผู้เรียนหลักสูตรรวมมิตร รวมทั้ง สส.ของพรรค พท. เยี่ยมชมกิจกรรมการแสดงมวยไทย และชมการไหว้ครูของเยาวชนมวยไทย รวมถึงชมการแสดงศิลปะการไหว้ครูของ ร.ท.สมบัติ บัญชาเมฆ หรือ ‘บัวขาว บัญชาเมฆ’ และโชว์การชกมวยกับนักมวยชาวต่างประเทศด้วย ซึ่งถือเป็นซอฟต์พาวเวอร์อย่างหนึ่งของประเทศไทย

โดยนายกฯ ได้ชมการแสดงอย่างตื่นเต้นและสนุกสนาน ท่ามกลางเสียงเชียร์จากผู้เข้าร่วมชม โดยเฉพาะช่วงการโชว์อาวุธแม่ไม้มวยไทยของ บัวขาว บัญชาเมฆ และ ‘พญาหงส์ บัญชาเมฆ’ นักมวยหญิง แชมป์ K1 ที่โชว์แม่ไม้มวยไทยได้อย่างถึงใจ

น.ส.แพทองธาร กล่าวว่า วันนี้รู้สึกดีใจและเป็นเกียรติที่ได้มาอยู่ที่แห่งนี้ ขออนุญาตเป็นตัวแทนคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ บอกเล่าให้ฟังว่า ตอนนี้รัฐบาลกำลังทำซึ่งเกี่ยวกับมวยไทยโดยตรง มวยไทยจะต้องไปโอลิมปิกโลกให้ได้ หลายๆ ท่านที่อยู่ในที่นี้ เชื่อว่าอยากเห็นภาพของตัวเองไปยืนอยู่บนเวทีโลก คงไม่ใช่ความฝันแค่ของตัวเอง แต่เป็นความฝันของคนที่ท่านรักด้วย และแน่นอนเป็นความฝันของคนไทยทุกๆ คน การดำเนินงานด้านกีฬาทั้งหมดจะนำโดย ผศ.พิมล ศรีวิกรม์ ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ประธานอนุกรรมการด้านกีฬาในคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ ซึ่งจะรู้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้ของมวยไทย

น.ส.แพทองธาร กล่าวว่า การที่จะบอกว่ามวยไทยเป็นโอลิมปิกนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย แต่รัฐบาลเชื่อว่าไม่ใช่เรื่องที่ยากเกินไปอย่างแน่นอน จะต้องสร้างรากฐานมาตรฐานต่างๆ ให้มวยไทยมีรากฐานที่มีการยอมรับที่ชัดเจนขึ้น เราจะตั้งสถาบันมวยไทยแห่งชาติ เพื่อเป็นศูนย์กลางของการสร้างมาตรฐานมีหลักสูตรมวยไทยที่ชัดเจนเป็นระบบ และมีความรู้ที่ให้ชาวต่างชาติเข้ามาดูมวยไทย จะได้ความรู้ต่างๆ ที่เกี่ยวกับมวยไทยไปด้วย

น.ส.แพทองธาร กล่าวว่า นอกจากนั้น ก็จะยกระดับอาชีพครูมวยไทยให้มีใบประกอบวิชาชีพ และพัฒนาองค์ความรู้ทั้งระบบทั้งเรื่องของการสอนมวย และค่ายมวย รวมไปถึงการจัดแข่งขันมวยให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น ถือเป็นการสื่อสารจากหนึ่งกีฬาของไทยสู่สายตาโลก ตนและนายกฯ ได้มีโอกาสไปดูเวทีมวยวันแชมเปียนชิปที่สนามมวยลุมพินี ได้เห็นฝีมือคนไทยมาแล้วถือว่าเก่งมาก

“เราจะทำค่ายมวยไทยในต่างประเทศให้มากขึ้น ปัจจุบันมีกว่า 40,000 ค่ายมวยแล้ว จึงอยากให้มีมากกว่านี้ โดยมีระบบจัดสรรให้ดียิ่งขึ้นและที่สำคัญรัฐบาลได้ มองเห็นว่ามวยเป็นการกีฬาของไทยที่โดดเด่น จึงอยากจะให้เป็นศูนย์กลางของการกีฬาที่จะได้เผยแพร่วัฒนธรรมไทยของเรา ไม่ว่าจะเป็นการไหว้ครู รวมถึงเสื้อผ้าให้เป็นการส่งออกวัฒนธรรมได้ มวยถือเป็นอาวุธสำคัญทำให้ต่างชาติรักเมืองไทยได้ง่ายขึ้น ทั้งหมดนี้เป็นยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์ ที่รัฐบาลได้มองเห็น จะพัฒนาทั้งระบบให้มากขึ้นและเป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น” น.ส.แพทองธารกล่าว

ต่อมา นายเศรษฐา ได้โพสต์ข้อความผ่าน X ถึงการเดินหน้าผลักดันมวยไทยเพิ่มเติม ระบุว่า…

“ศิลปะแม่ไม้มวยไทยเป็นที่รู้จัก และนิยมของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ซึ่งคุณบัวขาว บัญชาเมฆ ร่วมกับสมาคมมวยต่างๆ รวบรวมน้องๆ เยาวชนจากค่ายมวยไทยในจังหวัดเชียงใหม่ รวมถึงชาวต่างชาติที่เข้ามาเรียนมวยไทย มาจัดแสดงการไหว้ครูมวย ทั้งสวยงาม เต็มไปด้วยความเป็นไทย มวยไทย คือ Soft Power หนึ่งที่รัฐบาลให้การสนับสนุน เรากำลังพิจารณาให้วีซ่าพิเศษ 90 วันสำหรับคนที่เข้ามาเรียนหลักสูตรมวยซึ่งต้องใช้เวลาฝึกฝน ดังนั้น วีซ่าต้องเอื้ออำนวยให้ทำกิจกรรมได้นานพอจนเรียนจบครับ”

‘รมว.ปุ้ย’ ล็อกเป้า!! ผลักดันหลากผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทยที่ชุมพร ยกระดับสู่ ‘อุตฯ ชุมชน’ ไม่ต้องใหญ่ถึงขั้นโรงงาน แต่มั่นคง ยั่งยืน

เมื่อวันที่ 20 ม.ค. 67 นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กในหัวข้อ ‘สมุนไพรไทยที่ชุมพร คุณค่าทางเศรษฐกิจอุตสาหกรรมในชุมชน’ ระบุว่า…

“วันนี้ปุ้ยจะเล่าให้ฟังเรื่องสมุนไพรไทยค่ะ ปุ้ยอยากให้สมุนไพรไทยเป็นประกายหนึ่ง ที่สามารถต่อยอดทางเศรษฐกิจอุตสาหกรรมในชุมชน หลายชุมชนในประเทศไทยมีจุดแข็งเรื่องนี้ค่ะ ที่จะสามารถนำมาพัฒนาต่อยอดได้ และแน่นอนค่ะ กระทรวงอุตสาหกรรมพร้อมที่จะเป็นพี่เลี้ยง ส่งเสริม สนับสนุน”

นี่เป็นสิ่งที่ รมว.พิมพ์ภัทรา กำลังเตรียมการหลังจากได้เดินทางไปชุมพร เพื่อร่วมในการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ ในหลักสูตร ‘การพัฒนาผลิตภัณฑ์สมุนไพรท้องถิ่นเพื่อรองรับการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ’ ซึ่งเป็นหลักสูตรที่อยู่ในโครงการ ยกระดับเศรษฐกิจชุมชนสู่ความยั่งยืน ในการจัดการของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม

รมว.ปุ้ย กล่าวอีกว่า หนึ่งในแนวนโยบายของกระทรวงอุตสาหกรรมหลัก คือ การส่งเสริม สนับสนุนภาคอุตสาหกรรม และผู้ประกอบการทุกกลุ่มให้เติบโตได้อย่างมีคุณภาพ และที่สำคัญคือ การยกระดับเศรษฐกิจฐานรากให้เข้มแข็ง สามารถพัฒนาสร้างรายได้จากต้นทุนในชุมชนทั้งทุนวัฒนธรรม วัตถุดิบในท้องถิ่นอาศัย พยายามเน้นการผนวกวิชาการด้านอุตสาหกรรมเข้ากับวิถีชุมชน เป็นแนวทางหนึ่งในการสร้างรายได้ 

“คำว่า ‘อุตสาหกรรม’ ไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องโรงงานใหญ่ๆ เครื่องจักรใหญ่โตเสมอไป”

รมว.ปุ้ย กล่าวต่อ “มาที่เรื่องสมุนไพร ที่ชุมพร หลักสูตร ‘การพัฒนาผลิตภัณฑ์สมุนไพรท้องถิ่นเพื่อรองรับการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ’ จะช่วยพัฒนาองค์ความรู้ เทคนิค วิธีการต่างๆ สร้างความเชื่อมโยงที่ก่อให้เกิดเศรษฐกิจในชุมชน จากทรัพยากรสมุนไพรในท้องถิ่นในชุมชนที่เป็นจุดแข็ง ไปสู่การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ… ที่ปุ้ยเห็นมีตะไคร้, ขมิ้น, ไพลหอม สมุนไพรเครื่องหอมต่างๆ อีกสารพัดที่มีคุณสมบัติดีต่อสุขภาพทั้งผิวพรรณ น้ำมันหอมระเหย…

“สมุนไพรเหล่านี้สามารถนำไปสู่การแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เชิงสุขภาพ และสามารถโยงไปสร้างโอกาสสร้างมูลค่าเพิ่มกับการท่องเที่ยวในชุมชน อันนี้น่าสนใจมาก พี่องอีกหลายชุมชนมีของดีสมุนไพรดีๆ ในท้องถิ่น ลองร่วมกันคิดร่วมกันทำค่ะ สร้างความร่วมมือในชุมชน ปุ้ยจะนำกรมกองต่างๆ ในกระทรวงอุตสาหกรรม ไปร่วมสร้าง ร่วมส่งเสริมองค์ความรู้สร้างเศรษฐกิจในชุมชนด้วยกันนะคะ”

ผลประกอบการธนาคารพาณิชย์ สวยหรู!! แรงกระเพื่อมสั่น ‘รัฐบาล’ สะเทือน ‘ผู้ว่าธปท.’

ต้อนรับปีมังกร 9 ธนาคารพาณิชย์ประกาศผลประกอบการออกมา มีกำไรมากกว่า 2.26 แสนล้านบาท สูงสุดเป็นประวัติการณ์ อานิสงส์จากอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นในปี 2566 

9 ธนาคารพาณิชย์ มีผลประกอบการดีทุกธนาคาร ไล่จาก ‘SCB’ ทำกำไรได้สูงสุด รองลงมา เป็น ‘KBANK’ และอันดับที่ 3 ‘BBL’ และ มีถึง 3 ธนาคาร ที่สามารถทำกำไรได้สูงสุดในรอบ 10 ปี นำโดย BBL, KTB และ TTB ซึ่งหากดูกำไรสุทธิโดยรวมทั้ง 9 ธนาคาร สิ้นปี 2566 อยู่ที่ 226,169 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 17.44% หากเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ที่มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 192,578 ล้านบาท 

รวมทั้งธนาคารขนาดกลาง ‘TISCO’ ปีนี้มีกำไรขึ้นมาอยู่ที่ 7,302 ล้านบาท เป็นผลงานสูงสุดเป็นประวัติการณ์เช่นเดียวกัน

กำไรกลุ่ม ‘ธนาคาร’ เลยกลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ของสังคมอย่างมาก หลังมีการหยิบยกประเด็น ‘กำไร’ และส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย หรือ ‘NIM’ ว่า สูงเกินไปหรือไม่? โดยที่ประชาชนเป็นเสมือนผู้รับ ‘ภาระดอกเบี้ย’ ที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ธนาคารพาณิชย์บางธนาคารสามารถทำกำไรสุทธิได้เติบโตสูงสุดในปีนี้ 

หากมาดูถึงปัจจัยที่ทำให้หลายธนาคารมีกำไรสุทธิสูงสุด ส่วนหนึ่งย่อมมาจาก ‘รายได้ดอกเบี้ย’ ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น สอดคล้องกับดอกเบี้ยนโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ในปัจจุบันที่ 2.50% ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญต่อผลประกอบการปีนี้อย่างมาก

ในปี 2566 มีการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย จำนวน 5 ครั้ง จากการประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ทั้งหมด 6 ครั้ง เพิ่มจาก 1.25% ในปี 2565 มาอยู่ที่ 2.50% หรือปรับสูงขึ้นเท่าตัว

อีกด้านของงบการเงิน ในการ ‘ตั้งสำรองหนี้เสีย’ สำหรับธนาคารทั้ง 9 แห่ง พบว่า ส่วนใหญ่ปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยธนาคารที่มีการตั้งสำรองสูงที่สุด คือ KBANK ตั้งสำรองสูงถึง 5.1 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นระดับใกล้เคียงกับปีก่อน ขณะที่ KTB ตั้งสำรองเพิ่มขึ้นถึง 52% หรือ 3.7 หมื่นล้านบาทหากเทียบกับปีก่อนหน้า, BAY ตั้งสำรองเพิ่มขึ้น 33.64%, TTB เพิ่มขึ้น 21% ส่งผลให้สำรองโดยรวมทั้ง 9 แบงก์ เพิ่มมาอยู่ที่ 229,860 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 19.03% จากปีก่อน ที่สำรองอยู่ที่ 193,104 ล้านบาท 

ในส่วน ‘หนี้เสีย’ หรือหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ ‘NPL’ พบว่า โดยรวมปรับลดลง มาอยู่ที่ 498,720 ล้านบาท ลดลง 0.13% จาก 499,358 ล้านบาท แต่บางธนาคาร หนี้เสียยังปรับเพิ่มขึ้น สอดคล้องกับการตั้งสำรองที่เพิ่มขึ้น เพื่อรองรับคุณภาพหนี้ที่อาจตกชั้นในระยะข้างหน้า เช่น SCB หนี้เสียเพิ่มขึ้นที่ 1.58%, KBANK 1.84%, BAY เพิ่มขึ้น 14.2%, TISCO เพิ่มขึ้น 14.2%, LHFG เพิ่มขึ้น 20% และ CIMBT เพิ่มขึ้นเกือบ 6%

ประเด็นดังกล่าวเริ่มกลายเป็นแรงกระเพื่อมต่อรัฐบาล เพราะในมุมมองของประชาชนและภาคธุรกิจต่างๆ รู้สึกถึงความเดือดร้อนจากดอกเบี้ยเงินกู้ที่สูง โดยช่วงค่ำวันที่ 7 มกราคม ที่ผ่านมา นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ทวีตข้อความว่า…

“จากการที่แบงก์ชาติขึ้นดอกเบี้ยทั้งๆ ที่เงินเฟ้อติดลบติดต่อกันหลายๆ เดือนนั้น ไม่เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจเลย และยังมีผลกระทบต่อประชาชนที่มีรายได้น้อย และ SMEs อีกด้วย

ผมจึงอยากให้กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงที่เกี่ยวข้องเข้าไปดูราคาสินค้าเกษตรบางชนิดให้เหมาะสม เพราะอาจจะต่ำไปก็ได้ และหวังว่าแบงก์ชาติจะช่วยดูแลประชาชน ไม่ขึ้นดอกเบี้ยสวนทางกับเงินเฟ้อนะครับ”

และวันที่ 8 มกราคม 2567 นายกฯ เศรษฐา ก็ได้ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ออกมาติงเรื่องการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ไม่เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจว่า “ความจริงแล้วเราพูดคุยกันตลอดอยู่แล้วในเรื่องนี้ ซึ่งเรื่องการขึ้นดอกเบี้ย ตนมีจุดยืนชัดเจนว่า ‘ผมไม่เห็นด้วย’ แต่ท่าน (แบงก์ชาติ) ก็มีอำนาจในการขึ้น”

พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรีระบุว่า ปัจจุบันเงินเฟ้อต่ำมาก ดังนั้น อาจจะต้องฝากให้พิจารณาเรื่องการลดดอกเบี้ย และระบุว่าหลังจากนี้จะมีการพูดคุยกับผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย

ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 9 มกราคม 2567 ถึงกรณีที่เอกชนเริ่มเลื่อนจ่ายหุ้นกู้ที่ครบกำหนด ส่งผลต่อภาวะเศรษฐกิจอย่างไรหรือไม่ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง ให้สัมภาษณ์ว่า วันที่ 10 มกราคม 2567 ได้มีการพูดคุยกับ รมช.คลัง และผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ในเวลา 13.30 น. โดยมีการพูดคุยกันหลายเรื่อง เป็นเรื่องที่สำคัญที่เราต้องให้ความสำคัญและนำข้อมูลมาหยิบยกกัน

และคงเป็นประเด็นที่ต้องติดตามอย่างต่อเนื่องว่า แรงกระเพื่อมนี้ จะส่งผลอย่างไรกับความสัมพันธ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย กับรัฐบาลที่นำโดย นายกฯ เศรษฐา ที่ต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจประเทศไทย ในภาวะที่โครงการ Digital Wallet ที่ก็ยังคงไม่สามารถหาจุดลงตัวในการดำเนินการได้

เรื่อง : The PALM


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top