Sunday, 11 May 2025
Econbiz

‘โรบินสัน’ ผนึก ‘Tesla’ จัดทำ Supercharger ในภาคเหนือ รับเทรนด์ตลาด EV เติบโต มุ่งสู่องค์กรต้นแบบค้าปลีกสีเขียว

(21 ม.ค. 67) เข้าสู่ตลาดรถไฟฟ้าที่มีการเติบโตแรงเป็นทางเลือกของผู้บริโภค ทำให้ค้าปลีกไทยต่างมีการติดตั้ง สถานีชาร์จไว้รองรับความต้องการของกลุ่มลูกค้าในแทบทุกพื้นที่แล้ว รวมถึง ศูนย์การค้าโรบินสันไลฟ์สไตล์ ในเครือเซ็นทรัล รีเทล ร่วมจัดบริการจุดชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า Supercharger ศูนย์การค้าโรบินสันไลฟ์สไตล์ กำแพงเพชร เป็นสาขาแรกในภาคเหนือ เพื่อให้เป็นศูนย์กลางทางภาคเหนือตอนล่างในการอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ใช้งานรถไฟฟ้าได้อย่างรวดเร็ว

‘Supercharger’ เป็นความร่วมมือกับ เทสลา (Tesla) ได้ติดตั้งอยู่บริเวณลานจอดรถภายในศูนย์การค้าโรบินสันไลฟ์สไตล์ กำแพงเพชร จำนวนทั้งสิ้น 8 หัวชาร์จ ประกอบด้วย ประเภท CCS2 DC รองรับการจ่ายกำลังไฟฟ้าได้สูงสุด 250 กิโลวัตต์ จำนวน 6 หัวชาร์จ และประเภท AC รองรับการจ่ายกำลังไฟฟ้าได้สูงสุด 11 กิโลวัตต์ จำนวน 2 หัวชาร์จ

ทั้งนี้ ทำให้ลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการในศูนย์การค้าได้รับความสะดวก รวมถึงสามารถตรวจสอบความพร้อมของสถานี Supercharger และตรวจสอบสถานะการชาร์จ ผ่านแอปพลิเคชัน Tesla ได้

“การติดตั้ง สถานี Supercharger ในศูนย์การค้าครั้งนี้ สอดคล้องกับไลฟ์สไตล์ของผู้คนยุคปัจจุบันที่หันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น จากข้อมูลของกรมการขนส่งทางบกพบว่าตลาดรถยนต์ไฟฟ้าปี 2566 มีสัดส่วนการเติบโตกว่า 399.05%”

แผนในระยะต่อไป ศูนย์การค้าโรบินสันไลฟ์สไตล์ มีแผนร่วมมือกับ Tesla เพื่อจัดทำ Supercharger ในสาขาอื่น ๆ ต่อไป โดยเป็นไปตามแนวทางองค์กรที่วางไว้ ‘A Lifestyle Community for All Living’

ทั้งนี้ มีความสอดคล้องกับแผนโรดแมป ภารกิจลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2593 ของ เซ็นทรัล รีเทล ในการเป็นองค์กรต้นแบบค้าปลีกสีเขียว Green & Sustainable Retail ร่วมสร้างความยั่งยืนในระยะยาว

‘รมว.ปุ้ย’ สั่งทีมตรวจเข้มมาตรการป้องกัน ‘อัคคีภัย-อุบัติเหตุ’ ในโรงงาน ด้าน ‘ปลัดฯ ณัฐพล’ รับลูก ‘สำรวจ-ตรวจตรา’ ทุกโรงงานเสี่ยงอัคคีภัย

(21 ม.ค. 67) ดร.ณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมแจ้งเตือนให้ระมัดระวังเหตุอัคคีภัยและอุบัติเหตุจากการประกอบกิจการในช่วงฤดูแล้ง เพื่อป้องกันการเกิดเหตุอุบัติภัยและอัคคีภัยจากการประกอบกิจการและเหมืองแร่ ว่า...

ตนได้สั่งการให้กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) และสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดทั่วประเทศ ให้ดำเนินการแจ้งเตือนสถานประกอบการและเหมืองแร่ในพื้นที่ให้ระมัดระวังการปฏิบัติงาน โดยเฉพาะโรงงานที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดอัคคีภัยสูง เช่น โรงงานแป้งมัน, โรงงานสิ่งทอ-ปั่นด้าย-ทอผ้า, โรงงานตัดเย็บเสื้อผ้า, โรงงานเฟอร์นิเจอร์ไม้, โรงงานผลิตกระดาษ, โรงงานประกอบกิจการสี-ทินเนอร์, โรงงานทำพลุและดอกไม้เพลิง, โรงงานผลิตภัณฑ์ยาง โรงงานผลิตภัณฑ์พลาสติก หรือประเภทอื่นๆ และขอให้ทุกหน่วยแนะนำและเผยแพร่ข้อปฏิบัติฯ คู่มือด้านความปลอดภัยต่างๆ ที่กระทรวงฯ ได้จัดทำไว้ให้กับผู้ประกอบกิจการโรงงาน เพื่อสร้างความตระหนักรู้ และให้ความสำคัญกับมาตรการป้องกันอัคคีภัยและอุบัติเหตุจากการประกอบกิจการ เช่น การตรวจสอบ บำรุงรักษา หรือสับเปลี่ยนอุปกรณ์ไฟฟ้าและเครื่องจักรตามระยะเวลาที่กำหนด การให้ความรู้ด้านมาตรการป้องกันอัคคีภัย และอุบัติเหตุแก่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานอย่างสม่ำเสมอ

“มาตรการดังกล่าวเป็นไปตามนโยบายของนางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ที่ได้มอบหมายและกำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสำรวจอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นทุกปี หรือในพื้นที่ที่เกิดขึ้นซ้ำตามกฎหมายโรงงาน โดยให้รวบรวมและศึกษาแนวทางแก้ไขปัญหาร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างเร่งด่วน ซึ่งสอดรับกับที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มีความเป็นห่วงและเสียใจต่อเหตุการณ์พลุระเบิดในจังหวัดสุพรรณบุรีที่มีผู้เสียชีวิต 23 ราย และได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกระทรวงอุตสาหกรรม สำรวจการจัดตั้งโรงงาน ระบบความปลอดภัย กระทรวงสาธารณสุข ดูแลประชาชนในพื้นที่โดยรอบที่ได้รับผลกระทบ กระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม ดูแลสภาพแวดล้อมต่างๆ และกระทรวงแรงงาน ให้ช่วยเหลือเยียวยาญาติผู้เสียชีวิต และขอให้ทุกฝ่ายตรวจสอบโรงงานประเภทที่มีวัตถุอันตรายทั่วประเทศ เพื่อสร้างความมั่นใจว่าจะไม่มีเหตุการณ์กรณีเดียวกันเกิดขึ้นอีก” ปลัดฯ ณัฐพล กล่าว

ทั้งนี้ ขอให้ทุกหน่วยแนะนำและเผยแพร่ข้อปฏิบัติฯ คู่มือด้านความปลอดภัยให้กับผู้ประกอบกิจการโรงงาน โดยสามารถดาวน์โหลดข้อมูลดังกล่าวได้ที่เว็บไซต์ของ กรอ. : www.diw.go.th

‘BOI’ ชี้!! ลงทุนสุขภาพ ปี 67 เติบโตก้าวกระโดด รับ ‘เทรนด์สูงวัย-โรคอุบัติใหม่-ท่องเที่ยวการแพทย์’

(21 ม.ค. 67) นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า การลงทุนในอุตสาหกรรมการแพทย์และสุขภาพในปีนี้ยังมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยมีปัจจัยสนับสนุนหลายด้าน อาทิ กระแสการดูแลสุขภาพ การเข้าสู่สังคมสูงวัย อัตราการเจ็บป่วยที่มีแนวโน้มสูงขึ้นและเป็นโรคที่ซับซ้อนมากขึ้น การเกิดโรคติดเชื้ออุบัติใหม่ รวมทั้งการขยายตัวของตลาดท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและการแพทย์

โดยในช่วงที่ผ่านมามีกลุ่มการลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) ส่วนใหญ่สนใจเข้ามาในกิจการผลิตเครื่องมือแพทย์และอาหารทางการแพทย์ ซึ่งเป็นผู้ผลิตรายใหญ่จากประเทศต่างๆ เช่น ญี่ปุ่น จีน สหรัฐและยุโรป

ทั้งนี้ อุตสาหกรรมการแพทย์และสุขภาพ เป็นสาขาที่ประเทศไทยมีศักยภาพสูงในการเป็นผู้นำของภูมิภาค ด้วยจุดแข็งในด้านคุณภาพการรักษาพยาบาลเป็นที่ยอมรับในระดับโลก ความพร้อมของโรงพยาบาลที่ผ่านการรับรองมาตรฐาน JCI กว่า 60 แห่ง มากเป็นอันดับ 4 ของโลก อันดับ 1 ของอาเซียน รวมทั้งมีค่ารักษาพยาบาลที่แข่งขันได้

ดังนั้น อุตสาหกรรมการแพทย์และสุขภาพจึงเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่บีโอไอให้ความสำคัญ โดยมีแพ็กเกจให้สิทธิประโยชน์เพื่อส่งเสริมการลงทุนแบบครบวงจร ทั้งด้านการผลิตและการให้บริการ ทั้งในรูปแบบสิทธิประโยชน์ทางภาษี เช่น ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 3-8 ปี ยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักร ยกเว้นอากรขาเข้าวัตถุดิบสำหรับการผลิตเพื่อส่งออก ยกเว้นอากรขาเข้าสำหรับของที่นำมาใช้ในการวิจัยและพัฒนา

รวมทั้งสิทธิประโยชน์ที่ไม่ใช่ภาษี ซึ่งจะใช้อำนวยความสะดวกแก่ผู้ลงทุน เช่น สิทธิในการถือครองที่ดินเพื่อประกอบกิจการ การอำนวยความสะดวกด้านวีซ่าและใบอนุญาตทำงาน เป็นต้น

โดยสิทธิประโยชน์จะครอบคลุมกิจการ ตั้งแต่การผลิตเครื่องมือแพทย์ เวชภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์ยา อาหารทางการแพทย์ และผลิตภัณฑ์สมุนไพร รวมถึงการให้บริการทางการแพทย์ เช่น โรงพยาบาล ศูนย์การแพทย์เฉพาะทาง ศูนย์การแพทย์แผนไทยหรือแผนไทยประยุกต์ ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุหรือผู้มีภาวะพึ่งพิง ศูนย์ฟื้นฟูสุขภาพ ตลอดจนการวิจัยทางคลินิก (Clinical Research) และการพัฒนาซอฟต์แวร์หรือแอปพลิเคชันทางการแพทย์

โดยในปี 2566 มีโครงการที่ยื่นขอรับการส่งเสริมในอุตสาหกรรมการแพทย์และสุขภาพ จำนวน 65 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนกว่า 16,000 ล้านบาท ในแง่เงินลงทุน ส่วนใหญ่อยู่ในกิจการโรงพยาบาล 10 โครงการ เงินลงทุน 9,000 ล้านบาท รองลงมาเป็นกิจการผลิตเครื่องมือแพทย์และชิ้นส่วน 24 โครงการ 2,700 ล้านบาท กิจการศูนย์การแพทย์เฉพาะทางต่างๆ เช่น โรคไต โรคมะเร็ง และจิตเวช 9 โครงการ 1,600 ล้านบาท และกิจการผลิตยา 12 โครงการ 1,000 ล้านบาท

ขณะเดียวกัน บีโอไอได้มีการประชุมหารือกับบุคลากรในวิชาชีพอย่างสม่ำเสมอ ให้มีการปรับปรุงนโยบายและมาตรการส่งเสริมการลงทุนให้สอดรับกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งในอนาคตอาจมีการพิจารณาเพิ่มประเภทกิจการใหม่ที่เกี่ยวข้องเพื่อพัฒนาให้เกิดการต่อยอดในอุตสาหกรรมการแพทย์ และหากเป็นกิจการเฉพาะ (นิช มาร์เก็ต) ที่ประเทศไทยมีศักยภาพ จะช่วยสนับสนุนการสร้าง Ecosystem ที่จำเป็นต่อการเป็น Medical Hub ของประเทศไทย เช่น กิจการบริการเดลิเวอรี่ทางการแพทย์ การผลิตไบโอพอลิเมอร์สำหรับการแพทย์ เป็นต้น

‘สื่อฮ่องกง’ ชี้ ‘ทุเรียนไทย’ กำลังเสียแชมป์เจ้าตลาดในแดนมังกร หลัง ‘เวียดนาม-ฟิลิปปินส์’ แข่งส่งออก ซ้ำ!! ‘จีน’ หันมาผลิตเอง

เมื่อวานนี้ (21 ม.ค. 67) หนังสือพิมพ์เซาท์ไชน่ามอร์นิงโพสต์รายงานว่า ภายในแค่ 3 ปี จีนประสบความสำเร็จสามารถปลูกทุเรียนได้เองเพิ่มกำลังการผลิตจาก 50 ตัน มาอยู่ที่ 500 ตัน ภายในปีหน้า

"การบริโภคทุเรียนภายในประเทศคาดจะสามารถเพิ่มการผลิต 250 ตันปีนี้ แต่ภายในปีหน้าจะสามารถมีกำลังการผลิตมหาศาลโดยกำลังการผลิตสามารถแตะ 500 ตัน” เฟง ซูจี (Feng Xuejie) ผู้อำนวยการสถาบันผลไม้เขตอากาศร้อนชื้น (Institute of Tropical Fruit Trees) ประจำสถาบันวิทยาศาสตร์การเกษตรไห่หนาน (Hainan Academy of Agricultural Sciences)

ปีที่ผ่านมา มณฑลไห่หนานประสบความสำเร็จสามารถผลิตทุเรียนได้ถึง 50 ตัน ซึ่งเฟงมองว่ายังไม่เพียงพอต่อความต้องการทุเรียนอย่างสูงของผู้บริโภคชาวจีน

“สำหรับราคาและรสชาติของทุเรียนภายในประเทศในอนาคตนั้นขอให้เฝ้ารอ” เฟง กล่าวเสริม

ซึ่งกลายเป็นที่ฮือฮาไปทั่วเมื่อ ‘ปักกิ่ง’ ปีที่ผ่านมาประสบความสำเร็จสามารถออกผลผลิตทุเรียนปลูกเองภายในประเทศที่มณฑลไห่หนานได้

หนังสือพิมพ์ฮ่องกงรายงานว่า ผู้บริโภคทุเรียนในจีนมองทุเรียนโดยเฉพาะคนชั้นกลางที่มีกำลังซื้อต่างมองผลไม้เปลือกแข็งหนามแหลมและมีรสชาติที่หอมหวานไม่เหมือนใครว่าเป็นเสมือนรางวัล ซึ่งทุเรียนนั้นขึ้นชื่อว่าเป็น ‘ราชาผลไม้’

หนังสือพิมพ์ฮ่องกงชี้ต่อว่า การนำเข้าทุเรียนปีที่แล้วสูงลิ่ว แต่ทว่าปักกิ่งซึ่งเป็นผู้ซื้อรายใหญ่เริ่มกระจายการซื้อทุเรียนไปยังหลายแหล่งเพื่อให้ตรงตามความต้องการที่หลากหลายของผู้บริโภคชาวจีนภายในประเทศ ซึ่งจากแต่เดิมเคยนำเข้าทุเรียนจาก ‘ไทย’ เพียงเจ้าเดียว โดยปักกิ่งได้นำเข้าทุเรียนจาก ‘เวียดนาม’ และ ‘ฟิลิปปินส์’ ส่งผลทำให้ไทยกำลังสูญเสียความเป็นเจ้าตลาดทุเรียนในจีนไปอย่างช่วยไม่ได้

อ้างอิงข้อมูลจากตัวเลขทางการของสำนักงานศุลกากรจีนพบว่า จีนนำเข้าทุเรียนทั้งหมด 1.4 ล้านตันภายใน 12 เดือนแรกของปี 2023 สูง 69% จากปีก่อนหน้า

ขณะที่ไทยซึ่งอดีตเคยเป็นเจ้าการตลาดการส่งออกทุเรียนไปจีน มียอดการส่งออกตกจากเกือบ 100% ในปี 2021 มาอยู่ที่ 95.36 ในปี 2022 และเหลือแค่ 67.98% มาจนถึงเดือนธันวาคมปี 2023

อ้างอิงข้อมูลวันที่ 11 เม.ย ปี 2566 จากกรมการส่งออก การผลิตทุเรียนไทยต่อปีที่ 1,480,000 ตัน และสายพันธุ์ที่ปลูกและส่งออกคือ ชะนีหมอนทอง ก้านยาว กระดุมพวงมณี

กรมการส่งออกพบว่า ‘ทุเรียนฟิลิปปินส์’ ที่ส่งออกไปจีนเป็นพันธุ์ปูยัต (Puyat) มีลักษณะเนื้อสีทอง กลิ่นหอมแรงและรสชาติเข้มข้น

สมาคมอุตสาหกรรมทุเรียนดาเวา (DIADC) ให้ข้อมูลว่า ปัจจุบัน มณฑล/เขต ที่ปลูกทุเรียนของฟิลิปปินส์มีจำนวน 47 แห่ง พื้นที่ปลูกทุเรียนรวมประมาณ 160 ตารางกิโลเมตร ผลผลิต 100,000 ตันต่อปี สายพันธุ์ทุเรียนที่สามารถปลูกได้ในฟิลิปปินส์คือ ชะนี, หมอนทอง, alcon fancy, arancillo และ puyat

ส่วน ‘ทุเรียนเวียดนาม’ ที่ส่งเข้าไปตีตลาดจีนและแซงหน้าไทยได้นั้นเป็น ‘พันธุ์หมอนทอง’ (Ri6 หมอนทอง 6) จากจ.ดักลัก ซึ่งก็เป็นสายพันธุ์เดียวกันกับทุเรียนไทยที่ส่งออกมายังตลาดจีน

ตามรายงานของกรมการส่งออกระบุว่า จุดแข็งของทุเรียนเวียดนามคือ ระยะทางที่สั้นและเวลาการขนส่งน้อยแค่ 2 ชม. ถึงด่านจีน ทำให้ทุเรียนเวียดนามยังคงรักษาคุณภาพได้เป็นอย่างดี

เซาท์ไชน่ามอร์นิงโพสต์รายงานว่า บรรดาผู้ส่งออกทุเรียนเวียดนามไปจีนนั้นเริ่มตั้งแต่เกือบ 0% ไปอยู่ที่ 4.63% ที่ 188.1 ล้านดอลลาร์ในปี 2022, และเพิ่มไปอยู่ที่ 31.82 % ใน 11 เดือนแรกของปี 2023 มีมูลค่าอยู่ที่ 2.1 พันล้านดอลลาร์ เบียดการส่งออกทุเรียนจากไทย

ขณะที่บรรดาผู้ส่งออกทุเรียนในมาเลเซียต่างพยายามผลักดันข้อตกลงในปีนี้เพื่อเฉลิมฉลองครบรอบ 50 ปีของความสัมพันธ์จีน-มาเลเซีย ไซมอน ชิน (Simon Chin) ผู้ก่อตั้งบริษัทส่งออก DKing กล่าว

ปัจจุบันมาเลเซียได้รับอนุญาตให้ส่งออกทุเรียนแช่แข็งไปจีนเท่านั้น

ชินแสดงความเห็นกับสื่อฮ่องกงว่า “ปัจจุบันพวกเรากำลังอยู่ระหว่างการเจรจากับจีนเพื่อหาลู่ทางการส่งออกผลไม้สด เช่นเดียวกับที่ไทยและเหมือนเช่นที่ฝ่ายไทยทำ”

อย่างไรก็ตามในแง่รายได้ การส่งออกทุเรียนไทยมาจีนนั้นยังคงเพิ่มในปีที่ผ่านมาเนื่องมาจากความต้องการสูงของตลาดผู้บริโภคจีนในเมืองระดับการที่เริ่มจะมีมากขึ้น แซม ซิน (Sam Sin) ผู้อำนวยการพัฒนาประจำ S&F Produce Group ที่มีฐานอยู่ในฮ่องกงชี้

'รมว.ปุ้ย' ลงพื้นที่ จว.ใต้ ฝั่งอันดามัน ปักหมุดจังหวัดแรก 'ชุมพร' 'เยี่ยมชม-ให้กำลังใจ-รับฟังปัญหา' กลุ่มผู้ประกอบการ

'รัฐมนตรีฯ พิมพ์ภัทรา' นำคณะผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน ปักหมุดจังหวัดแรก 'ชุมพร' เยี่ยมชมและให้กำลังใจ พร้อมรับฟังปัญหาอุปสรรคและข้อเสนอแนะ จาก 2 ผู้ประกอบกิจการโรงงานในพื้นที่ ผลักดันสู่เป้าหมายตามนโยบายของกระทรวงอุตสาหกรรม ทั้งด้านผลิตภาพ ดูแลสิ่งแวดล้อม ใส่ใจชุมชน รวมทั้งพัฒนาอาชีพ กระจายรายได้ให้กับชุมชน

(22 ม.ค. 67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นำคณะผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรม ประกอบด้วยปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม และผู้บริหารระดับสูงกระทรวงอุตสาหกรรม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ไปตรวจราชการ และประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ครั้งที่ 1/2567 และลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน ในพื้นที่จังหวัดชุมพร จังหวัดระนอง และจังหวัดสุราษฎร์ธานี 

โดยในวันนี้ (22 ม.ค. 67) ได้นำคณะตรวจเยี่ยมผู้ประกอบกิจการโรงงานในจังหวัดชุมพร เป็นจังหวัดแรก เพื่อเยี่ยมชมและให้กำลังใจพร้อมรับฟังปัญหาและอุปสรรคต่าง ๆ จากการประกอบกิจการ รวมทั้งข้อเสนอแนะจากผู้ประกอบกิจการในพื้นที่ โดยมุ่งเป้าไปที่การพัฒนาอุตสาหกรรมในพื้นที่และอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ ซึ่งเป็นนโยบายของกระทรวงอุตสาหกรรม ในด้านการเพิ่มผลผลิต การดูแลสิ่งแวดล้อม การดูแลชุมชน การพัฒนาอาชีพ เพื่อเป็นการกระจายรายได้ให้กับชุมชนอย่างทั่วถึง

โดยการลงพื้นที่จังหวัดชุมพรครั้งนี้ จุดแรกได้ไปตรวจเยี่ยม บริษัท ชุมพรอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม จำกัด (มหาชน) จังหวัดชุมพร ตำบลสลุย อำเภอท่าแซะ ประกอบกิจการสกัดน้ำมันปาล์ม กลั่นและแยกไข บรรจุน้ำมันพืช ผลิตไฟฟ้าจากก๊าซชีวภาพ และผลิตปุ๋ยจากตะกอนน้ำเสีย โดยบริษัทฯ ได้รับการรับรองมาตรฐานอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มตาม Roundtable on Sustainable Palm Oil (RSPO) และมาตรฐาน ISO 9001:2015, GHPs, HACCP, HALAL และ KOSHER 

ซึ่งในปี 2567 กระทรวงฯ เตรียมที่จะส่งเสริมและพัฒนาให้เป็นต้นแบบอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันครบวงจรอย่างยั่งยืน ตามแนวนโยบาย MIND อุตสาหกรรมวิถีใหม่ พร้อมเป็นพี่เลี้ยงให้กับสถานประกอบการอื่น ๆ ในพื้นที่ ขณะเดียวกันก็จะเพิ่มมูลค่า by product จากการสกัดและแยกไขสู่อุตสาหกรรมโอเลโอเคมีคอล (Oleochemical) สนับสนุนเงินทุนหรือขยายเวลาเรื่องการติดตั้งระบบ CEMs และระบบดักฝุ่น (ESP) ของหม้อน้ำ

จากนั้นได้เดินทางไปยังจุดที่ 2 วิสาหกิจชุมชนกลุ่มกาแฟบ้านถ้ำสิงห์ ตำบลถ้ำสิงห์ อำเภอเมือง โดยวิสาหกิจชุมชนฯ ได้รับการรับรองมาตรฐานสาธารณสุข อย. และมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.) และได้เข้าร่วมโครงการแปรรูปสินค้าเกษตรอุตสาหกรรม 1 จังหวัด 1 ชุมชน (OPOAI -C) ประจำปีงบประมาณ 2566 ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ลูกอมกาแฟ มูลค่าทางเศรษฐกิจประมาณ 23,600 บาทต่อปี ซึ่งในปี 2567 กระทรวงฯ เตรียมที่จะเข้าไปให้การส่งเสริมและพัฒนาวิสาหกิจชุมชนฯ ในด้านต่าง ๆ อาทิ พัฒนากระบวนการผลิต เช่น การปรับปรุงอาคารล้าง การขยายขนาดเครื่องอบร้อน เป็นต้น หรือการขอรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ใหม่ ส่งเสริมการขอรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.) สำหรับผลิตภัณฑ์ใหม่ เช่น ลูกอมกาแฟ และส่งเสริมการตลาด เพื่อเพิ่มช่องทางการจำหน่ายผลิตภัณฑ์

"ผู้ประกอบการทั้ง 2 ราย ถือได้ว่าเป็นสถานประกอบการที่มีประสิทธิภาพสูง ได้รับการยอมรับและการรับรองมาตรฐานจากหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภายในและต่างประเทศ สามารถสร้างมูลค่าเศรษฐกิจในพื้นที่จังหวัดได้เป็นอย่างดี ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมเองก็พร้อมที่จะให้การสนับสนุนตามการร้องขอของผู้ประกอบการ เพื่อให้การพัฒนาธุรกิจมุ่งไปสู่เป้าหมายที่กระทรวงฯ ได้ตั้งเป้าไว้ คือ การเพิ่มผลผลิต การดูแลสิ่งแวดล้อม การดูแลชุมชน การพัฒนาอาชีพ เพื่อเป็นการกระจายรายได้ให้กับชุมชนอย่างทั่วถึง ขณะเดียวกันในส่วนของปัญหา อุปสรรคต่าง ๆ รวมทั้งข้อเสนอแนะที่ผู้ประกอบการทั้ง 2 ราย ได้ร้องขอมานั้น ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยการผลิตในพื้นที่ไม่เพียงพอ ต้นทุนวัตถุดิบเพิ่มสูงขึ้น กฎหมายที่เกี่ยวข้องบางฉบับไม่เป็นธรรมกับผู้ประกอบการ สิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้วยังถูกมองว่าเป็นขยะ ผู้ประกอบการขาดแหล่งเงินทุนหมุนเวียน และระบบสาธารณูปโภค สาธารณูปการในพื้นที่ยังไม่เพียงพอนั้น ดิฉันขอรับเรื่องดังกล่าวไปพิจารณา และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไปดำเนินการให้เรียบร้อย และแก้ปัญหาให้ตรงจุด เพื่อไม่ให้เกิดช่องโหว่ หรือเกิดการสะดุดในระหว่างประกอบกิจการได้" นางสาวพิมพ์ภัทรา กล่าว

ทั้งนี้ จังหวัดชุมพร มีมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP : Gross Provincial Product) 130,074 ล้านบาท เป็นลำดับที่ 22 ของประเทศ และลำดับ 4 ของภาคใต้ รองจากจังหวัดสงขลา จังหวัดนครศรีธรรมราช และจังหวัดสุราษฎร์ธานี มีรายได้ GPP (GPP Per Capital) ต่อคนมูลค่า 259,853 บาทต่อคนต่อปี อยู่ในลำดับที่ 11 ของประเทศ และลำดับที่ 1 ของภาคใต้ โดยมีภาคธุรกิจหลัก ๆ คือ อุตสาหกรรมการบริการและการท่องเที่ยว ร้อยละ 35.64 มูลค่า 46,362 ล้านบาท  ภาคการเกษตรกรรม ร้อยละ 56.75 มูลค่า 73,812 ล้านบาท และภาคอุตสาหกรรม ร้อยละ 7.61 มูลค่า 9,899 ล้านบาท และมีพืชเศรษฐกิจที่สำคัญ ประกอบด้วย ปาล์มน้ำมัน ทุเรียน ยางพารา มะพร้าว และกาแฟ เป็นต้น

"จังหวัดชุมพร เป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศหลายด้าน ซึ่งหากมีการส่งเสริมและสนับสนุนอย่างเหมาะสม จะช่วยให้จังหวัดชุมพรสามารถเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศต่อไปได้" รมว.พิมพ์ภัทรา กล่าวทิ้งท้าย

‘นายกฯ เศรษฐา’ ลงพื้นที่ระนอง ติดตามโครงการแลนด์บริดจ์ เชื่อ!! ช่วยสร้างอาชีพ-รายได้-พัฒนาพื้นที่อย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

(22 ม.ค. 67) ผู้สื่อข่าวรายงานภารกิจของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในการเดินทางตรวจราชการ และการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ครั้งที่ 1/2567 ที่จังหวัดระนอง ระหว่างวันที่ 22-23 ม.ค.ว่า เมื่อเวลา 09.30 น. นายกรัฐมนตรีและคณะออกเดินทางจากท่าอากาศยานทหาร 2 กองบิน 6 (บน.6) ดอนเมือง กรุงเทพฯ ไปยังท่าอากาศยานระนอง ตำบลราชกรูด อำเภอเมืองระนอง จังหวัดระนอง

จากนั้น เวลา 10.50 น. นายกรัฐมนตรี สักการะศาลหลักเมืองระนองและอนุสาวรีย์พระยาดำรงสุจริตมหิศรภักดี (คอซู้เจียง) ณ ศาลหลักเมืองระนอง ตำบลเขานิเวศน์ อำเภอเมืองระนอง จังหวัดระนอง ก่อนที่เวลา 11.15 น. นายกรัฐมนตรีติดตามประเด็นการค้าผ่านแดนแรงงานข้ามชาติ พิธีการศุลกากรและประมง และพบปะผู้แทนชาวประมงในการแก้ไขปัญหา IUU ณ ท่าเรือระนอง-เกาะสอง ตำบลปากน้ำ อำเภอเมืองระนอง จังหวัดระนอง

ส่วนในช่วงบ่าย เวลา 14.00 น. นายกรัฐมนตรีติดตามพื้นที่โครงการสะพานเศรษฐกิจเชื่อมฝั่งทะเล อ่าวไทย-อันดามัน (Land Bridge ชุมพร-ระนอง) ณ อุทยานแห่งชาติแหลมสน ตำบลม่วงกลวง อำเภอกะเปอร์ จังหวัดระนอง และเวลา 17.00 น. นายกรัฐมนตรี เยี่ยมชมการบริหารจัดการบ่อน้ำแร่ร้อนรักษะวาริน ณ บ่อน้ำแร่ร้อนรักษะวาริน ตำบลบางริ้น อำเภอเมืองระนอง จังหวัดระนอง

และในวันอังคารที่ 23 มกราคม เวลา 08.30 น.นายกรัฐมนตรี เดินทางถึงหอประชุมคอซู้เจียง ศูนย์ราชการจังหวัดระนอง ถนนเพชรเกษม ตำบลบางริ้น อำเภอเมืองระนอง จังหวัดระนอง

ขณะที่ท่าอากาศยานจังหวัดระนอง เมื่อเวลา 08.20 น. ผู้ว่าราชการจังหวัดระนองพร้อมด้วยคณะเตรียมให้การต้อนรับนายกรัฐมนตรี

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้โพสต์ข้อความก่อนเดินทางว่า “ครม.สัญจร ครั้งที่ 2 เรามี จ.ระนองเป็นเป้าหมายครับ เพราะเป็นหนึ่งในจังหวัดที่จะมีบทบาทสำคัญมากในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจไทย โดยโครงการ Landbridge จะมาสร้างอาชีพ รายได้ และพัฒนาพื้นที่ให้คนในพื้นที่อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนครับ”

สำหรับประเด็นการลงพื้นที่ก่อสร้างโครงการแลนด์บริดจ์ของนายกรัฐมนตรีครั้งนี้ มีประเด็นที่นายกรัฐมนตรี ต้องติดตามด้วยกัน 4 ประเด็นหลัก ได้แก่ 

1.เรื่องการผลักดันให้แลนด์บริดจ์เป็นประตูการค้า โดยเป็นประตูการค้ารองรับการนำเข้า-ส่งออกของไทย และเป็นประตูการค้ารองรับการนำเข้า-ส่งออกของประเทศในภูมิภาคอาเซียน ประเทศในกลุ่มโครงการพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง รวมถึงจีนตอนใต้

2.เรื่องของการถ่ายลำเรือสินค้า โดยพัฒนาให้แลนด์บริดจ์เป็นทางเลือกในการถ่ายลำการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ ในมหาสมุทรอินเดีย และประเทศในมหาสมุทรแปซิฟิก ไม่ว่าจะเป็น ญี่ปุ่น เกาหลี จีน ใต้หวัน เป็นต้น โดยเชื่อมต่อทางรางและทางถนน

3.การพัฒนาอุตสาหกรรมหลังท่า โดยมีการตั้งเขตพื้นที่เศรษฐกิจเสรี ดึงดูดนักลงทุน เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมหลังท่าเรือระนอง และท่าเรือชุมพร ส่งเสริมแลนด์บริดจ์ และเพิ่มศักยภาพการแข่งขันด้านเศรษฐกิจในพื้นที่ภาคใต้

4.การรับฟังความคิดเห็นจากภาคประชาชนในพื้นที่ และการทำความเข้าใจกับคนในพื้นที่ รวมทั้งขั้นตอนการดำเนินงานทางกฎหมาย และแผนงานที่เกี่ยวข้องกับโครงการ เช่น การประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ การประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม และการประเมินผลกระทบต่อสุขภาพเป็นต้น

ทั้งนี้ ปัจจุบันในพื้นที่มีประชาชนที่คัดค้านและสนับสนุนโครงการแลนด์บริดจ์ โดยผู้ที่ประกอบอาชีพประมงพื้นบ้าน ไม่ต้องการให้มีการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกที่อ่าวอ่าง ตำบลราชกรูด อำเภอเมืองระนอง เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าว เป็นแหล่งทำประมงพื้นบ้าน หากก่อสร้างท่าเรือแล้วจะไม่มีที่ทำมาหากิน นอกจากนี้ผู้ที่อยู่ในแนวเส้นทางโครงการ ก็จะได้รับผลกระทบด้วย โดยเฉพาะเรื่องที่อยู่อาศัย จึงอยากให้รัฐบาลเยียวยาและจัดหาที่อยู่ให้ใหม่ ขณะที่บางคนเห็นด้วยกับโครงการแลนด์บริดจ์ เพราะบ้านเมืองจะได้เจริญ ลูกหลานจะได้มีงานทำ

สำหรับกำหนดการอื่นของนายกรัฐมนตรี ช่วงเย็นนายกรัฐมนตรี และคณะ จะเดินทางไปเยี่ยมชมการบริหารจัดการบ่อน้ำแร่ร้อนรักษะวาริน ที่บ่อน้ำแร่ร้อนรักษะวาริน ตำบลบางริ้น อำเภอเมืองระนอง จังหวัดระนอง

ทั้งนี้นายกรัฐมนตรี ยังได้มอบหมายให้คณะรัฐมนตรีร่วมลงพื้นที่โดยแยกกัน อาทิ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ภูมิธรรม เวชยชัย เดินทางไปพูดคุยตัวแทนผู้ปลูก-ส่งออกมังคุด รับฟังข้อมูลเกษตรที่โรงแรมเฮอริเทจ แกรนด์ คอนเวนชั่นระนอง

ปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ไปตรวจเยี่ยมด่านศุลกากรระนอง, อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย จะเดินไปทางติดตามข้อร้องเรียนการสร้างสะพานข้ามคลองล่าช้าที่เกาะพยาม, พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ลงพื้นที่ประชุมแก้ไขกลุ่มจังหวัดภาคใต้จังหวัด ที่สำนักงานอุตสาหกรรมระนอง, จุลพันธ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ลงพื้นที่ติดตามปัญหาแก้ไขหนี้นอกระบบ ยกระดับความเป็นอยู่ประชาชนที่มัสยิดเราะห์มะห์ เป็นต้น

‘ไทย’ เตรียมรับมือวิกฤตอาหาร ภายใต้สภาพอากาศสุดขั้ว ยก Food loss food waste ใช้วัตถุดิบอย่างคุ้มค่าเป็นทางออก

การเปลี่ยนแปลงทุกอย่างย่อมมี ‘ต้นทุน’ รวมถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งหมายถึงต้นทุนที่เป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจที่ทุกคนบนโลกกำลังจ่ายไปทุกเวลา นาที ชั่วโมงและทุกวัน รวมเป็นความสูญเสียทางเศรษฐกิจที่มีมูลค่ามหาศาลในการขาดแคลนอาหารในอนาคต

ข้อมูลจาก World economic forum ระบุว่า เหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้ว สภาพภูมิอากาศ และที่เกี่ยวข้องกับน้ำทำให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจเกือบ 1.5 ล้านล้านดอลลาร์ ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาจนถึงปี 2562 มูลค่าความเสียหายนี้จะเพิ่มขึ้นมาจาก 184 พันล้านดอลลาร์ในปี 2513 อย่างไรก็ตาม หากอ้างอิงตามรายงานขององค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (WMO) จะพบว่าตัวเลขที่แท้จริงของความสูญเสียดังกล่าวมีแนวโน้มที่จะสูงกว่านี้อีก

เนื่องจาก ความล้มเหลวในการบรรเทาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ได้รับการจัดอันดับให้เป็นหนึ่งในภัยคุกคามที่สำคัญในรายงานความเสี่ยงทั่วโลก โดยแบบสำรวจ 70% ให้คะแนนมาตรการที่มีอยู่เพื่อป้องกันหรือเตรียมพร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศว่า “ไม่มีประสิทธิภาพ” หรือ “ไม่มีประสิทธิภาพอย่างมาก”

วิศิษฐ์ ลิ้มลือชา ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์อาหารแปรรูปและอาหารแห่งอนาคต หอการค้าไทย กล่าวว่า เรื่องน่ากังวลในอนาคตอีกอย่างที่เกี่ยวกับ 1 ในปัจจัย 4 ที่สำคัญการดำรงชีวิต คือความมั่นคงด้านอาหาร หรือ Food security โดยไทยมีการเตรียมการเรื่องของอาหารแห่งอนาคต Future food ไม่ว่าจะเกิดโรคระบาดในสัตว์หรือสภาพภูมิอากาศที่จะส่งผลทำไม่มีผลผลิตจากปศุสัตว์นั้น ก็จะมีการนำพืชเข้ามาทดแทนหรือแมลง สาหร่าย รวมถึงจุลินทรีย์เข้ามาทดแทน เมื่อมีความจำเป็น

ในปัจจุบันนั้นมีการนำมาตรการ Food loss food waste ซึ่งเป็นการนำวัตถุดิบมาใช้คุ้มค่าที่สุด โดยมี กระบวนการ 3Rs อันได้แก่ ใช้น้อยหรือลดการใช้ (Reduce) ใช้ซ้ำ (Reuse) และใช้ใหม่ (Recycle)

“ภาคของธุรกิจอย่างน้อยต้องเตรียมในเรื่องพื้นฐานความยั่งยืนที่ต้องล้อไปตามเทรนด์ของโลก โดยเริ่มตั้งแต่การปรับเปลี่ยนทั้งด้านพลังงานทางเลือกเพื่อเป็นจุดเริ่มต้นและให้คู่ค้าเห็นว่ามีโครงสร้างพื้นฐานที่สนับสนุนความยั่งยืน และยังต้องเตรียมความพร้อมรับมาตรการบังคับทางด้านภาษีที่ยังไม่น่าจะมีผลในเร็ว ๆ นี้ แต่ก็ต้องมีการเตรียมพร้อมเพื่อรับมือการเปลี่ยนแปลงในอนาคต”

ประเทศไทยสามารถใช้จุดแข็งเพื่อการเตรียมรับมือกับวิกฤติที่จะเกิดขึ้น แต่ในภาพรวมจากการประเมินทางเศรษฐกิจกำลังชี้ว่าวิกฤติสภาพภูมิอากาศเริ่มเป็นความเสี่ยงที่มีความชัดเจนมากขึ้น นับเป็นต้นทุนทางเศรษฐกิจที่ทุกคนต้องจ่าย

ยกตัวอย่างประเทศจีนที่ประสบความสูญเสียทางเศรษฐกิจโดยตรงมากกว่า 42,000 ล้านดอลลาร์ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2566 จากภัยพิบัติทางธรรมชาติ รวมถึงฝนตกหนัก แผ่นดินถล่ม พายุลูกเห็บ และไต้ฝุ่น ตามข้อมูลของรัฐบาลจีนที่อ้างอิงจากข้อมูลของ WMO ระบุว่า ความเสียหายจากพายุไซโคลนเขตร้อนถือเป็นสัดส่วนที่ใหญ่ที่สุด รองลงมาคือน้ำท่วม และภัยแล้งตามมาเป็นอันดับสาม

ขณะที่ในแอฟริกา ภัยพิบัติระหว่างปี 2513-2564 ก่อให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจถึง 43,000 ล้านดอลลาร์ โดยภัยแล้งคิดเป็น 95% ของสาเหตุการเสียชีวิต ส่วนที่ยุโรปตามข้อมูลของ WMO ระบุว่าความเสียหายอยู่ที่ 562 พันล้านดอลลาร์ โดย 8% ของการเสียชีวิตจากภัยพิบัติทั่วโลกที่กระทบคนยุโรป 

สำหรับอเมริกาใต้ มูลค่าขาดทุนอยู่ที่ 115.2 พันล้านดอลลาร์ และสำหรับอเมริกาเหนือ อเมริกากลาง และแคริบเบียน อยู่ที่ 2 ล้านล้านดอลลาร์ ในขณะเดียวกัน การประเมินสภาพภูมิอากาศแห่งชาติของสหรัฐฉบับล่าสุดได้สรุปว่าเหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้วในปัจจุบันทำให้ประเทศเสียหาย 1 พันล้านดอลลาร์ทุกสามสัปดาห์ และความเสียหายเฉลี่ย 150 พันล้านดอลลาร์ในแต่ละปีระหว่างปี 2561-2565

เหตุการณ์สุดขั้วที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศถูกกำหนดให้เกิดขึ้นบ่อยและรุนแรงมากขึ้น 

นอกจากนี้ ตามรายงานของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ในฐานะเจ้าภาพการประชุมภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศครั้งที่ 28 หรือที่เรียกว่า COP28 ที่ชี้ว่า “ต้องมีการรับมือภัยพิบัติที่มากขึ้น”

แม้ว่าทั่วโลกได้ใช้ความพยายามทั้งการสนับสนุนด้านต่าง ๆ ตลอดเวลา 30 ปีที่ผ่านไปเพื่อต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแต่ก็ยังไม่เห็นผลที่ชัดเจน ความเสียหายยังหลอกหลอนต่อไป การเข้าใจและเตรียมความพร้อมอาจทำให้วิกฤติกลายเป็นโอกาสเหมือนที่ไทยใช้เตรียมพร้อมด้านอาหารมั่นคง

‘วิชัย ทองแตง’ อุทิศตนช่วย ‘ลดเหลื่อมล้ำ’ เดินหน้าปั้นธุรกิจสตาร์ตอัปไทยให้แข็งแกร่ง

เมื่อวันที่ 21 มกราคม ที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ จัดงาน 2 ทศวรรษแห่งการแบ่งปัน 9 ทศวรรษแห่งการสร้างสรรค์สังคม เนื่องในโอกาสครบรอบ 20 ปี กองทุนทำบุญวันเกิดกับธรรมศาสตร์ และ 90 ปี การสถาปนามหาวิทยาลัย โดยมีทั้งศิษย์เก่า และศิษย์ปัจจุบันเข้าร่วมงานคับคั่ง

พร้อมกันนี้ ภายในงาน ยังได้จัดเวทีเสวนาพิเศษ “มุมมองฅนธรรมศาสตร์ มองปัญหาสู่ทางออกสังคมไทย ปัญหาคอร์รัปชัน เศรษฐกิจและตำรวจ” โดยศิษย์เก่าธรรมศาสตร์หลายรุ่น ศาสตราจารย์พิเศษวิชา มหาคุณ อดีตกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) คุณวิชัย ทองแตง ทนายความ และนักลงทุน และ คุณศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคก้าวไกล ร่วมเสวนา

ทั้งนี้ คุณนายวิชัย ทองแตง ได้ให้มุมมองทางด้านเศรษฐกิจในโลกยุคใหม่ไว้อย่างน่าสนใจ ว่า ที่ผ่านมาประเทศไทยตกอยู่ในกับดักบางอย่าง คนไทยมีรายได้เฉลี่ยปานกลาง 2.4 แสนบาทต่อปี ในขณะที่ประเทศที่พัฒนาแล้วมี 4.5 แสนบาทต่อปี ซึ่งตนเองสนใจตัวเลขนี้แล้วก็ติดตามตัวเลขนี้มาตั้งแต่จบมหาลัยธรรมศาสตร์ ทุกวันนี้ยังสะเทือนใจอยู่ว่า เส้นแบ่งแห่งความยากจนอยู่ที่ 2,802 บาท หรือปีละ 30,000 กว่าบาทเท่านั้นเอง คนไทยส่วนใหญ่อยู่ภายใต้กับดักความเหลื่อมล้ำนี้ แน่นอนว่า สิ่งที่คนไทยกำลังเผชิญอยู่นี้ เป็นเรื่องที่ตนเองยอมรับไม่ได้ จึงได้ออกเดินสายบรรยายฟรีทั่วประเทศ เพื่อที่จะลดความเหลื่อมล้ำเหล่านี้ให้ได้ ส่วนจะได้มากหรือน้อยไม่ว่ากัน

ขณะเดียวกัน ยังมีอีกหนึ่งเรื่องที่น่าสะเทือนใจ ก็คือ ตอนที่รัฐบาลประกาศให้ประชาชนเข้ามาจดเข้ามาลงทะเบียนรับสิทธิ์เรื่องบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือ ที่เรียกทั่วไปว่า บัตรคนจนนั้น มีผู้ยื่นลงทะเบียนถึง 22,293,473 ล้านราย นับเป็นสัดส่วนถึง 30% ของประเทศนี้

ขณะที่ จีดีพีภาคเกษตรไทยไตรมาสที่หนึ่งปี 66 มีสัดส่วนประมาณ 6.2% ของจีดีพีประเทศไทย ในขณะที่เนื้อที่ทางการเกษตรมีถึง 149.25 ล้านไร่ หรือ 46% ของทั้งประเทศ ตรงนี้คือความเหลื่อมล้ำหรือไม่ และด้วยความเหลื่อมล้ำที่ยังแผ่ขยายอยู่ในสังคมไทย จึงมีแนวคิดที่จะช่วยปั้นธุรกิจของคนไทยให้เติบโตและอยู่รอดต่อไป

คุณวิชัย ระบุว่า ตนเองผ่านอุปสรรคผ่านการทําธุรกิจมามากมาย โดยยึดมั่นในหลักการ 2 อย่าง Execution การลงมือปฏิบัติทำให้บรรลุผล และ implementation กระบวนการที่เริ่มตั้งแต่เอาความคิดมาวางแผนขึ้นโครงการให้สามารถปฏิบัติให้เกิดผลได้ ซึ่งทั้ง 2 ข้อนี้คือหัวใจสำคัญที่จะให้ธุรกิจประสบความสำเร็จได้ตามเป้าหมายที่วางไว้

ยกตัวอย่าง เมื่อเดือนพฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมา ได้จัดงานครั้งแรกที่เชียงใหม่ เกี่ยวกับปัญหาฝุ่น PM2.5 ซึ่งจังหวัดเชียงใหม่ติดอันดับเมืองที่มีฝุ่นควันติดเป็นอันดับ 1 ของโลกมา 20 ปีแล้ว แม้จะมีหน่วยงานต่าง ๆ เข้าไปประชุมหาทางแก้ไขมาตลอด แต่ปัจจุบันฝุ่นควัน PM2.5 ก็ยังเป็นปัญหาของจังหวัดเชียงใหม่อยู่เช่นเดิม ทั้งนี้ ตนเองได้เข้าไปทำโครงการที่เรียกว่า “หยุดเผา เรารับซื้อ” ซึ่งเป็นการลงทุนสร้างโรงงานรับซื้อสิ่งที่ชาวบ้านเผา ไม่ว่าจะเป็น ฟางข้าว ใบไม้ และตอซังข้าวโพด นำมาขายเข้าโรงงาน เพื่อที่จะนำไปผลิตชีวมวลอัดเม็ดส่งขายต่างประเทศต่อไป 

ซึ่งชีวมวลอัดเม็ด กำลังเป็นที่ต้องการของตลาดโลก โดยเฉพาะประเทศญี่ปุ่นมีความต้องการอย่างสูง มีออเดอร์มาแล้ว 10 ล้านตันต่อปี แต่ประเทศไทยสามารถผลิตและส่งออกไปได้ไม่ถึงปีละ1 แสนตัน ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า ในวิกฤตฝุ่น PM2.5 ได้สร้างโอกาสอันยิ่งใหญ่ให้กับประเทศไทย และเกษตรกรไทย เพียงแต่ยังไม่มีใครมาพลิกใช้วิกฤตที่เกิดขึ้นนำไปสร้างโอกาสต่อเท่านั้น

พร้อมกันนี้ คุณวิชัย ยังระบุถึงภารกิจในปัจจุบันซึ่งก็คือ การเป็นนักปั้น หมายถึงปั้นธุรกิจสตาร์ตอัปไทยให้ประสบความสำเร็จ เพราะจากสถิติที่ผ่านมา มีสตาร์ตอัปไทยเกิดขึ้นมานับหมื่นราย แต่มีศักยภาพเหลือรอดแค่ 1% ทั้ง ๆ ที่มีกลุ่มธุรกิจเงินร่วมลงทุน (Venture Capital : VC) มาลงทุนร่วมกับสตาร์ตอัปไทยจำนวนเยอะมาก แต่กลับไปไม่ถึงไหน 

“จากการที่ได้เข้ามาช่วยปั้นธุรกิจมาหลายปี พบว่า อุปสรรคสำคัญที่สตาร์ตอัปไม่สามารถเติบโตต่อไปได้ คือ เมื่อไหร่ที่บริษัทจะเพิ่มทุนหรือขยายธุรกิจ จะต้องมาขอความเห็นชอบ (consent) จากผู้ร่วมลงทุนก่อน ซึ่งถือว่าเป็นปัญหาใหญ่สําหรับคนปฏิบัติงาน เพราะไม่มีสิทธิ์ตัดสินได้เอง ก่อนหน้านี้เคยลงไปช่วยปั้นสตาร์ตอัป 2 ราย แต่ไม่สำเร็จ เพราะติดปัญหาต้องได้รับความเห็นชอบจากผู้ลงทุน ซึ่งถือหุ้นอยู่เพียง 5% เท่านั้น แน่นอนว่าเรื่องเช่นนี้ถือเป็นอีกหนึ่งบทเรียนสำหรับผู้ที่จะเข้าไปลงทุนในสตาร์ตอัปต้องพิจารณาให้ดี”

นายวิชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนของเงื่อนไข การปั้นธุรกิจนั้น ได้วางไว้เป็นพื้นฐาน 3 ข้อ ประกอบด้วย 1. เราจะไม่ใช้เทคโนโลยี เพื่อโกง หรือหลอกลวงผู้อื่น 2. เราจะเรียนรู้ เพื่อสร้างสรรค์สังคมที่ดี มีคุณธรรม และ3. เราจะแบ่งปันความรู้ และโอกาส แก่ผู้ที่ด้อยกว่า ซึ่งเงื่อนไขนี้ เกิดขึ้นเมื่อครั้งที่ตนเองจะเซ็นสัญญาร่วมทุนกับ บริษัท บิทคับ จํากัด เมื่อปี 2565 ขณะนั้นมีคนในเครือข่าย 1,500 คน ตนได้บอกกับ คุณท็อป (จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา) ไปว่าหากคนในเครือข่ายปฏิญาณยอมรับในเงื่อนไข 3 ข้อนี้ได้ ตนเองจะช่วย ซึ่งทางกลุ่มบิทคับยอมรับในเงื่อนไขนี้ จึงเกิดการทำงานร่วมกันในช่วงที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน 

ส่วนการคัดเลือกบริษัทที่จะปั้นนั้น จะโฟกัสที่ 3 ส่วน คือ สตาร์ตอัป, SME และบริษัทที่มีศักยภาพในการเติบโต โดยธุรกิจที่จะเข้าไปสนับสนุนหรือไปปั้นต่อนั้น จะต้องมี 2G ก่อน G แรกคือ Growth ต้องมีการเติบโต รายได้มากน้อยไม่ว่ากัน และ G ที่สอง คือ Gain ต้องมีกำไร เพราะนั่นแปลว่าเข้าใจวิธีการบริหารและต้นทุนธุรกิจดีถ้ามี 2G แล้ว ก็ไม่ต้องเหนื่อยมาก จากนั้นก็จะหาช่องทางระดมทุน หรือแนะนำกลุ่ม VC พร้อมทั้งช่วยวางแผนทางการเงินให้ ปัจจุบันมีทีมงานช่วยวิเคราะห์จำนวน 90 คน ทำเรื่องวิเคราะห์ธุรกิจเอสเอ็มอี หรือสตาร์ตอัป ที่ต้องการความช่วยเหลือโดยเฉพาะ 

คุณวิชัย ย้ำว่า นอกเหนือจากเงินทุน และแผนธุรกิจที่จะทำให้สตาร์ตอัปประสบความสำเร็จแล้ว สิ่งหนึ่งที่สำคัญอย่างมากนั่นคือ “เป้าหมายที่ยิ่งใหญ่” เพื่อนำพาธุรกิจไปสู่ความสำเร็จ และทุกครั้งที่ไปบรรยายจะเน้นให้ทุกคนคำนึงถึง 3 เรื่องหลัก ๆ คือ Collaboration การทํางานร่วมกันเป็นพันธมิตรกัน, Connection การเชื่อมต่อทางธุรกิจ และ Mergers & Acquisition (M&A) การควบรวมกิจการ เพราะการทำธุรกิจไม่ต้องไปแย่งชิงกัน แต่ต้องจับมือกันแบ่งปัน ใครเก่งด้านใดก็ทำเรื่องนั้น ซึ่งทั้ง 3 ส่วนนี้จะนำพาธุรกิจไปสู่เป้าหมายที่ยิ่งใหญ่ได้อย่างแน่นอน

“ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ผมทำให้หลายบริษัทสามารถจับมือเป็นพันธมิตรกันแล้วเพิ่มความแข็งแกร่ง ส่วนการเชื่อมต่อธุรกิจต่อธุรกิจนั้น ไม่จําเป็นต้องเป็นธุรกิจเดียวกัน บางครั้งการที่นักธุรกิจสองฟากฝั่งคนละธุรกิจมานั่งคุยแลกเปลี่ยนกันก็อาจจะเกิดนวัตกรรมใหม่เกิดความคิดใหม่ ๆ ส่วนเรื่อง M&A หากต้องการเติบโตไปกว่าเดิมจะต้องทำเรื่องนี้ ยกตัวอย่าง กลุ่มโรงพยาบาลของผม กลุ่มพญาไทและเปาโว ซึ่งตอนนั้นมี 8 โรงพยาบาล ได้ร่วมกับอาจารย์ประเสริฐ ประสาททองโอสถ ซึ่งขณะนั้นมี 22โรงพยาบาล ทำการควบรวมกิจการกันเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2553 ทำให้มีจำนวนโรงพยาบาล 30 โรงพยาบาล และหลังจากนั้น เกิดกระแสเงินสดใหม่เข้ามาในธุรกิจเยอะมาก ทําให้เราสามารถขยายธุรกิจได้อย่างรวดเร็ว จนถึงวันนี้เรามี 53 โรงพยาบาล รวมถึงโรงงานผลิตยา 2 โรงงาน และร้านขายยาอีก 1,100 แห่ง ทำให้กลุ่มของเราสามารถก้าวขึ้นไปอยู่ในอันดับหนึ่งของเอเชีย และเป็นอันดับ 5 ของโลก แต่หากพิจารณาด้าน Hospitality หรือความมีไมตรีจิตในการบริการ เราเป็นอันดับหนึ่งของโลกแทบจะทุกครั้งที่มีการประกวด ซึ่งตรงนี้คือจุดแข็งและศักยภาพของคนไทย ที่ไม่มีใครปฏิเสธได้”

คุณวิชัย ยังให้มุมมองต่อธุรกิจในอนาคตด้วยว่า ปัจจุบันบริบทของโลกได้มุ่งเน้นให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจบนพื้นฐานด้น ESG คือ ความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล ล่าสุดในการประชุม COP28 ที่เมืองดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ได้มีข้อตกลง เรียกร้องให้เปลี่ยนผ่านจากเชื้อเพลิงฟอสซิลในระบบพลังงาน ในลักษณะที่ยุติธรรม เป็นระเบียบเรียบร้อยและเท่าเทียมกันเพื่อที่จะบรรลุเป้าหมายปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2050 ตามหลักวิทยาศาสตร์ เพราะฉะนั้นภาคธุรกิจจะต้องตื่นตัวในเรื่อง ESG แม้จะเป็นเรื่องยาก แต่ก็จะต้องทำ เพราะถ้าเราไม่ทำ ในวันข้างหน้าเราจะถูกชาวคนทั้งโลกแบน และอยากให้ทุกธุรกิจยึดมั่นว่าสโลแกน มุ่ง Net Zero, GO Green, Lean เหลื่อมล้ำ, ย้ำความร่วมมือ แล้วทุกธุรกิจจะบรรลุเป้าหมายและช่วยรักษาโลกไปพร้อม ๆ กันอีกด้วย

‘บลจ. พรินซิเพิล’ สานต่อโครงการกิจกรรมเพื่อสังคม รวมเงินพนักงานร่วมแสน มอบโอกาสแก่โรงเรียนที่ชัยภูมิ

(22 ม.ค. 67) คุณแบรนดา ชู ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนพรินซิเพิล จำกัด พร้อมด้วยผู้บริหารและพนักงาน ร่วมโครงการกิจกรรมเพื่อสังคม (CSR) ส่งมอบโอกาสแก่เด็กนักเรียนในโรงเรียนโบว์มอนท์ ร่วมพัฒนา อำเภอซับใหญ่ จังหวัดชัยภูมิ โดยมอบเงินจากการโอนสิทธิวันหยุดพักผ่อนประจำปีของพนักงานรวม 178,000 บาท และเสื้อกันหนาวสำหรับเด็กนักเรียนชั้นอนุบาล อายุ 3 - 6 ปี และเด็กนักเรียนใหม่จำนวน 100 ตัว แก่ คุณทิม โบว์มอน ผู้ก่อตั้งโรงเรียนโบว์มอนท์ ร่วมพัฒนา เพื่อนำไปพัฒนาโรงเรียนและมอบให้แก่เด็กนักเรียนต่อไป 

ทั้งนี้ บลจ. พรินซิเพิล จัดทำโครงการ CSR มาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2563 สอดคล้องกับนโยบายของกลุ่มพรินซิเพิลที่ดูแลและทำงานเพื่อสังคมผ่านมูลนิธิ Principal Financial Group Foundation เมืองดีมอยน์ (Des Moines) รัฐไอโอวา (Iowa) ประเทศสหรัฐอเมริกา ภายใต้หลักการสำคัญ 3 ข้อ คือ Learn more, Earn more, Save more เพื่อส่งเสริมความรู้ ความเข้าใจด้านการเงินแก่ผู้ด้อยโอกาส และมอบโอกาสต่อยอดสู่การสร้างพฤติกรรมการออม ตลอดจนสร้างผลตอบแทนการลงทุนให้เพียงพอต่อการใช้ชีวิตไปจนถึงวัยเกษียณ 

‘สุริยะ’ หนุนโครงสร้างพื้นฐาน กระตุ้น จ.ท่องเที่ยวใต้ ชู!! แผนคล้อง ‘แลนด์บริดจ์’ เชื่อม ‘อ่าวไทย - อันดามัน’

(22 ม.ค.67) นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ประชุมติดตามความคืบหน้าและรับฟังการบรรยายสรุปงานโครงการสำคัญของกระทรวงคมนาคม ณ ห้องประชุมแขวงทางหลวงชนบทระนอง พร้อมตรวจราชการและประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ครั้งที่ 1/2567 ณ จังหวัดระนอง ระหว่างวันที่ 22 - 23 มกราคม 2567 พร้อมด้วย นางมนพร เจริญศรี และนายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ร่วมประชุม และลงพื้นที่ติดตามการก่อสร้างโครงการสำคัญในพื้นที่จังหวัดระนอง โดยมี นายนริศ นิรามัยวงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดระนอง หัวหน้าส่วนราชการในพื้นที่ ผู้นำท้องถิ่น ผู้แทนภาคเอกชน และประชาชนให้การต้อนรับ ในวันที่ 22 มกราคม 2567

นายสุริยะ กล่าวว่า สำหรับการตรวจราชการในพื้นที่จังหวัดระนองครั้งนี้ เพื่อติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานโครงการสำคัญต่างๆ ของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม พร้อมประชุมมอบนโยบายในการส่งเสริมและพัฒนาระบบโครงข่ายทางถนน ให้ครอบคลุมความต้องการเดินทางของประชาชน ‘ถนน’ ต้องช่วยลดระยะเวลาการเดินทาง ลดต้นทุนการขนส่ง และมีโครงข่ายที่ส่งเสริมต่อภาคการเกษตร การท่องเที่ยว การค้า การลงทุน แหล่งอุตสาหกรรม และสามารถบูรณาการกับระบบขนส่งได้ ในทุกมิติ ลดระยะเวลาต้นทาง - ปลายทาง เนื่องจากกลุ่มจังหวัดฝั่งอันดามัน ได้แก่ ระนอง, พังงา, ภูเก็ต, กระบี่ ตรังและสตูล เป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์สำคัญที่จะส่งเสริมต่อการเพิ่มขีดความสามารถ สมรรถภาพทางเศรษฐกิจของประเทศ และเชื่อมโยงการเดินทางได้อย่างไร้รอยต่อ อีกทั้งให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม เร่งพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐาน เส้นทางคมนาคมขนส่งให้ประชาชนในพื้นที่จังหวัดระนอง และกลุ่มจังหวัดฝั่งอันดามันได้รับประโยชน์สูงสุดในการขนส่งสินค้า การเดินทาง และการท่องเที่ยวตามนโยบายของรัฐบาล เพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจการท่องเที่ยว โดยได้เน้นย้ำให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม เน้นการดูแลบริการประชาชนด้านการคมนาคมเป็นหลัก รวมถึงพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เส้นทางคมนาคมจากเมืองสู่ชุมชน ให้สะดวกปลอดภัยเชื่อว่าในวาระรัฐบาลชุดนี้จะมีการพัฒนาการคมนาคมขนส่งกระตุ้นเศรษฐกิจ การค้า และการท่องเที่ยวได้มากที่สุด 

สำหรับพื้นที่จังหวัดระนอง กระทรวงคมนาคมมีแผนพัฒนายกระดับระบบคมนาคมอย่างต่อเนื่อง อาทิ โครงการขยาย 4 ช่องจราจร บน ทล.4 ทล.4006 และถนนสาย รน.1039 รน.1038 รวมทั้งมีแผนการพัฒนาท่าอากาศยานระนอง เพื่อรองรับปริมาณผู้โดยสารที่เพิ่มมากขึ้น อีกทั้งกระทรวงคมนาคมได้มีการพัฒนาพื้นที่ จังหวัดระนองให้ครอบคลุมทุกมิติ ประกอบด้วย...

1. มิติการพัฒนาทางถนน มีโครงการที่สำคัญในพื้นที่จังหวัดระนอง อาทิ การพัฒนาโครงข่ายทางหลวง ทางหลวงชนบท แผนแม่บทการพัฒนาโครงข่ายเชื่อมโยงระหว่างภูมิภาค MR-MAP โครงการถนนเพื่อการท่องเที่ยว Andaman Riviera และการเชื่อมโยงระบบขนส่งสาธารณะจังหวัดระนอง

2. มิติการพัฒนาทางราง อาทิ โครงการรถไฟสายสุราษฎร์ธานี - ท่านุ่น (MR9) โครงการเส้นทางรถไฟ สายชุมพร - ระนอง (MR8) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการแลนด์บริดจ์ และโครงการรถไฟทางคู่ ชุมพร - ระนองแนวเส้นทางเชื่อมโยงโครงการท่าเรือน้ำลึกฝั่งชุมพร และท่าเรือน้ำลึกฝั่งระนอง 

3. มิติการพัฒนาทางน้ำ มีโครงการที่สำคัญในพื้นที่จังหวัดระนอง และภาคใต้ฝั่งอันดามัน ได้แก่ สะพานเศรษฐกิจเชื่อมฝั่งทะเลอ่าวไทย - อันดามัน (Land Bridge ชุมพร - ระนอง) การขุดลอกร่องน้ำและบำรุงรักษาร่องน้ำชายฝั่งทะเล จังหวัดระนอง โครงการวงแหวนอันดามัน และโครงการท่าเรือสำราญขนาดใหญ่ (Cruise Terminal)

4. มิติการพัฒนาทางอากาศ มีท่าอากาศยานภาคใต้ที่อยู่ระหว่างการพัฒนาในปัจจุบัน 8 แห่ง ประกอบด้วย ท่าอากาศยานสุราษฎร์ธานี ท่าอากาศยานภูเก็ต ระยะที่ 2 ท่าอากาศยานภูเก็ต แห่งที่ 2 (ท่าอากาศยานอันดามัน) ท่าอากาศยานกระบี่ ท่าอากาศยานตรัง ท่าอากาศยานเบตง ท่าอากาศยานชุมพร และท่าอากาศยานระนอง

จากนั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และคณะ ได้เดินทางไปสมทบกับนายกรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน ณ พื้นที่โครงการสะพานเศรษฐกิจเชื่อมฝั่งทะเลอ่าวไทย - อันดามัน อุทยานแห่งชาติแหลมสน (บริเวณชายหาดอุทยาน) ก่อนเดินทางไปยังพื้นที่โครงการถนนเชื่อมโยงแนวเส้นทางเลียบชายฝั่งทะเลอันดามัน ช่วงจังหวัดระนอง - สตูล โดยมีความคืบหน้าโครงการ ดังนี้…

1. โครงการสะพานเศรษฐกิจเชื่อมทะเลฝั่งอ่าวไทย - อันดามัน (Land Bridge ชุมพร - ระนอง) เป็นโครงการเชื่อมต่อการขนส่งทางทะเลระหว่าง 2 ฝั่งทะเล เชื่อมมหาสมุทรแปซิฟิกกับมหาสมุทรอินเดีย โดยอาศัยความได้เปรียบของตำแหน่งที่ตั้งประเทศไทย ซึ่งอยู่ในใจกลางภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และมีโครงข่ายการคมนาคมทางบก ทั้งทางถนน และทางราง ที่เชื่อมต่อประเทศเพื่อนบ้านที่มีความสมบูรณ์ สิ่งสำคัญที่จะเกิดตามมา คือ การพัฒนาพื้นที่เขตจังหวัดระนอง ที่จะทำให้พี่น้องชาวระนองมีรายได้เพิ่มขึ้น มีการจ้างงาน ซึ่งจะช่วยทำให้พื้นที่ภาคใต้มีการพัฒนาอย่างก้าวกระโดด โดย สนข. ได้รับการจัดสรรงบประมาณปี 2567 ให้ดำเนินการศึกษาจัดเตรียมเอกสารและให้คำปรึกษาในการคัดเลือกเอกชนเข้าร่วมลงทุน ปัจจุบันอยู่ระหว่างการจัดทำร่างขอบเขตของงานจ้างที่ปรึกษา โดยการลงทุนเบื้องต้นในระยะที่ 1 มีมูลค่าการลงทุนกว่า 522,000 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินงาน 5 ปี มีแผนงานก่อสร้างในปี 2568 และจะสามารถเปิดให้บริการในระยะแรกได้ในปี 2573 

นายสุริยะ กล่าวต่อว่า รัฐบาลพร้อมที่จะผลักดันโครงการ โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของทุกกลุ่ม ตามที่ท่านนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวก่อนหน้านี้ว่าจะต้องรับฟังความเห็นของทุกฝ่าย และกำหนดแนวทางในการเยียวยาที่เหมาะสมให้กับทุกกลุ่มที่ได้รับผลกระทบ โดยการลงทุนครั้งนี้จะให้เอกชนลงทุนทั้ง 100% ภาครัฐจะเป็น ผู้เวนคืนพื้นที่ ทั้งนี้ ผลการศึกษาพบว่า โครงการฯ จะส่งเสริมให้ GDP ของไทย ขยายตัวในภาพรวมไม่ต่ำกว่าร้อยละ 5.5 และเกิดการจ้างงานในพื้นที่จังหวัดระนอง และชุมพร จำนวนกว่า 280,000 อัตรา ในอุตสาหกรรมท่าเรือ อุตสาหกรรมโลจิสติกส์ อุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปขั้นสูง อุตสาหกรรมไฮเทค และอุตสาหกรรมต่อเนื่องอื่น ๆ ทำให้เกิดการพัฒนาพื้นที่รอบโครงการ ทำให้พี่น้องในพื้นที่ทั้งสองจังหวัดรวมถึงพื้นที่ภาคใต้ได้กลับมาทำงานใกล้บ้าน และมีความกินดีอยู่ดีเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน

2. โครงการแนวเส้นทางเลียบชายฝั่งทะเลอันดามัน (Andaman Riviera) ช่วงระนอง - สตูล กระทรวงคมนาคมได้ดำเนินโครงการเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวของกลุ่มจังหวัดอันดามัน โดย สนข. ได้รับงบประมาณปี 2566 ศึกษาความเหมาะสมเบื้องต้นและออกแบบแนวคิดเบื้องต้นเส้นทาง Andaman Riviera ช่วงระนอง - สตูล มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาวิเคราะห์ความเหมาะสมทางวิศวกรรม เศรษฐกิจ การเงิน และสิ่งแวดล้อมของการพัฒนาเส้นทางท่องเที่ยวเลียบชายฝั่งทะเลอันดามัน จัดทำแบบเบื้องต้น (Preliminary Design) รายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น (IEE) และจัดทำแผนปฏิบัติการการพัฒนาด้านคมนาคมทางบกเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวเลียบชายฝั่งทะเลอันดามัน และสนับสนุนแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติในประเด็นด้านการท่องเที่ยว ระยะทางโครงการไม่น้อยกว่า 600 กิโลเมตร ปัจจุบันที่ปรึกษาได้จัดส่งรายงานความก้าวหน้าฉบับที่ 1 แล้ว สนข. อยู่ระหว่างการพิจารณารายละเอียดก่อนกำหนดนัดประชุมคณะกรรมการเพื่อพิจารณา คาดว่าจะมีการสัมมนาแนะนำโครงการในพื้นที่ทั้ง 6 จังหวัดภาคใต้อันดามันช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2567

ในโอกาสนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้ขอบคุณทุกส่วนราชการ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ผู้นำท้องถิ่น และพี่น้องชาวจังหวัดระนองและจังหวัดใกล้เคียงที่ให้การต้อนรับ และแจ้งให้ทราบถึงปัญหา ความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนในวันนี้ โดยตนจะเร่งรัดจัดสรรงบประมาณเพื่อดำเนินการโครงการต่างๆ ให้แล้วเสร็จตามแผนที่กำหนดไว้ เพื่อให้พี่น้องประชาชนได้มีระบบคมนาคมที่มีประสิทธิภาพ สามารถเดินทางได้สะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย เพื่อความอุดมสุขของประชาชนอย่างยั่งยืนต่อไป


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top