Saturday, 10 May 2025
Econbiz

อนาคต 'รถไฟฟ้าสายสีแดง' สู่ บทบาท 'ฮีโร่' ที่มากกว่าการสัญจร สร้างรายได้ กระจายความเจริญ ลดความแออัดของ กทม.

(18 ม.ค.67) หลังจากมีข่าวที่ ครม. จะสร้างส่วนต่อขยาย รถไฟฟ้าสายสีแดง ไปถึง 'อยุธยา' และ 'นครปฐม' ก็มีชุดข้อมูลเพิ่มเติมที่จะเสริมให้เห็นถึงความเจริญที่จะตามมาอีกมากมาย

โดยเมื่อรถไฟฟ้าสายสีแดง ดำเนินการสร้างโครงข่ายไปถึง 'อยุธยา' และ 'นครปฐม' แล้วเสร็จ อาจจะเห็นความคึกคักของการท่องเที่ยว โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวต่างประเทศ เพราะสามารถนั่งรถไฟฟ้าชิลๆ ไปถึง 'อยุธยา' หรือ 'นครปฐม' ได้ง่ายๆ แถมถ้าดูจากความเร็วสูงสุดแล้ว จะสามารถเดินทาง ไปถึง 'อยุธยา' ภายในเวลาไม่ถึง 1 ชั่วโมง และประมาณ 1 ชั่วโมงสำหรับ 'นครปฐม' (อาจมีการจัดการเดินรถเป็นแบบ ด่วน กับ ท้องถิ่น) เป็นการสร้างรายได้อย่างมหาศาลให้กับท้องถิ่นอีกด้วย

นอกจากนี้ รถไฟสายนี้ ยังจะช่วยลดความแออัดของประชากรใน กทม. ได้เป็นอย่างดี เพราะเมื่อมีระบบขนส่งมวลชนที่มีประสิทธิภาพ ก็สามารถกระจายตัวออกไปอาศัยชานเมืองไกลมากขึ้น ซึ่งย่อมเป็นการกระจายความเจริญสู่ 'จังหวัด' ที่รถไฟฟ้าสายนี้เดินทางถึงอีกด้วย ถือเป็นการเพิ่มคุณภาพชีวิต และ ลดค่าครองชีพได้อย่างมหาศาล 

ยกตัวอย่างง่ายๆ นาย A ทำงานอยู่ในย่านอโศก ปกติเช่าคอนโดอยู่ใจกลางเมือง เดือนละ 30,000 บาท เพื่อสะดวกในการมาทำงาน แต่ถ้ามีรถไฟฟ้าสายสีแดง นาย A อาจจะไปซื้อบ้านอยู่แถวๆ บางปะอิน หรือศาลายา ผ่อนเดือนละหมื่นกว่าบาท โดยมีค่าเดินทางเพิ่มขึ้นมาเดือนละ 6,000 เท่ากับว่านาย A นอกจากจะได้บ้านเป็นของตัวเองแล้ว ยังมีเงินเก็บเพิ่มขึ้นอีกเดือนละเกือบหมื่นบาท เป็นต้น

ทุกท่านคิดว่ารถไฟฟ้าสายสีแดงนี้ จะเป็นฮีโร่ ที่มาช่วยสร้างอนาคตแก่ทุกเส้นทางที่พาดผ่าน ได้จริงได้จริงแค่ไหน? ลองมาแชร์มุมมองกันได้ตามสะดวก...

‘นายกฯ เศรษฐา’ หวังนักลงทุนเปิด Data Center ในไทย และดันไทยสู่ศูนย์กลางของภูมิภาค

(18 ม.ค. 67) นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก ระบุว่า…

“ความหวังของผม คือ การได้บริษัทใหญ่มาลงทุนเปิด Data Center ในประเทศ ให้ไทยเป็นศูนย์กลาง Data Center ของภูมิภาคครับ”

นายเศรษฐา ระบุเพิ่มเติมว่า “จังหวะได้พบ Mr. Bill Gates ผมจึงไม่พลาดโอกาสที่จะนำเสนอศักยภาพของประเทศ และความเป็นไปได้ในการเปิด Data Center ของ Microsoft ในไทย ตามที่ผมได้เคยพูดคุยกับ Mr. Satya Nadella CEO คนปัจจุบันไปแล้วที่ซานฟรานซิสโกครับ”

'รมว.ปุ้ย' ติดตามงานสำคัญทุกภาคส่วนกระทรวงอุตสาหกรรม เผยผลสำเร็จ!! 4 แพ็กเกจของขวัญปีใหม่ 'เข้าเป้า-ทะลุเป้า'

(18 ม.ค.67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า เมื่อวานนี้ (17) ได้นัดหมายผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงอุตสาหกรรม จากทุกกรมมาร่วมกันประชุมเป็นนัดแรกของปี 2567 สาระสำคัญอยู่ที่การติดตามงานที่ได้มอบหมายในหลายๆ เรื่อง

รมว.พิมพ์ภัทรา กล่าวถึงการติดตามเรื่องพลังงานสะอาด ที่กำลังเข้าสู่ยุคการเปลี่ยนแปลงการใช้พลังงานสะอาด โดยกระทรวงอุตสาหกรรมและกระทรวงพลังงาน ได้ร่วมกันเดินหน้าเรื่องนี้อย่างเต็มกำลังผ่านนโยบายและการส่งเสริม สนับสนุนในภาคส่วนที่เกี่ยวข้องอย่างเป็นระบบและเดินหน้าไปได้อย่างรวดเร็วเป็นที่น่าพอใจ 

ที่สำคัญกระทรวงอุตสาหกรรม ได้นำเรื่องพลังงานสะอาดเข้ามาร่วมพัฒนาผู้ประกอบการและภาคอุตสาหกรรม เพื่อยกระดับเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมไทยเข้าสู่อุตสาหกรรมยุค 4.0 และยังมีการติดตามความก้าวหน้าโมเดลเศรษฐกิจ BCG ภายใต้การดำเนินการ Green Industry (GI) และยังได้กำหนดให้มีการรวบรวมข้อมูลงบประมาณอย่างเป็นระบบ เพื่อเป็นข้อมูลในการตอบคำถาม หรือการสืบค้นได้อย่างรวดเร็วคล่องตัวมีความโปร่งใสและชัดเจน

รมว.ปุ้ย กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ในส่วนของการดำเนินงานตามแพ็กเกจของขวัญปีใหม่กระทรวงอุตสาหกรรม ใน 4 มาตรการ ได้แก่ มาตรการสินค้าและบริการดี ราคาพิเศษ, มาตรการเติมทุน เสริมสภาพคล่อง, มาตรการเพิ่มโอกาส เสริมแกร่งธุรกิจ และ มาตรการกระจายรายได้สู่ชุมชนรอบอุตสาหกรรม พบว่ามีตัวชี้วัดที่น่าพอใจอย่างมาก โดยตัวชี้วัดที่ดีเข้าเป้าหมายหรือทะลุเป้าที่วางไว้คือผลสำเร็จ 

"ทุกกรมที่เกี่ยวข้องได้ชี้แจงงบประมาณในปี 2568 พร้อมทั้งนำเสนอโครงการสำคัญที่ก่อให้เกิดผลสนับสนุนเสริมสร้างผู้ประกอบการ และยังมีการเตรียมมาตรการข้อเสนอต่างๆ ที่ได้รวบรวมจากพื้นที่ เพื่อนำเข้าสู่การประชุม ครม.สัญจรครั้งที่ 1 ปี 2567 กลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน (จังหวัดกระบี่ ตรัง พังงา ภูเก็ต ระนอง และสตูล) จังหวัดชุมพร และจังหวัดสุราษฎร์ธานี ระหว่างวันที่ 21-23 มกราคม 2567 นี้ต่อไป" รมว.พิมพ์ภัทรา กล่าว

‘กรมธุรกิจพลังงาน’ ยัน!! น้ำมันมีเพียงพอใช้ในประเทศ หลัง ‘โรงกลั่นไทยออยล์’ ประกาศหยุดซ่อมบำรุง 13 วัน

เมื่อวานนี้ (17 ม.ค. 67) นายสราวุธ แก้วตาทิพย์ อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน (ธพ.) เปิดเผยว่าจากกรณีหน่วยกลั่นน้ำมันดิบที่ 3 ของโรงกลั่นไทยออยล์มีการหยุดซ่อมบำรุง เป็นระยะเวลา 13 วัน ระหว่างวันที่ 16-28 มกราคม 2567 

ทั้งนี้ กรมธุรกิจพลังงานจึงได้ประชุมหารืออย่างต่อเนื่องในวันที่ 16-17 มกราคม 2567 ร่วมกับบริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) โรงกลั่นน้ำมันทุกแห่งและผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 7 เพื่อติดตามสถานการณ์ เตรียมมาตรการป้องกันและแก้ไขการขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิง

โดยพบว่าจะส่งผลกระทบต่อปริมาณการผลิตน้ำมันอากาศยาน (JETA1)110 ล้านลิตร น้ำมันกลุ่มดีเซลหมุนเร็ว 240 ล้านลิตร น้ำมันกลุ่มเบนซิน 60 ล้านลิตร และก๊าซปิโตรเลียมเหลว(LPG) 15 ล้านกิโลกรัม

อย่างไรก็ดี จากการติดตามสถานการณ์ดังกล่าวพบว่าไทยออยล์ และผู้ค้าน้ำมันสามารถจัดหาน้ำมันกลุ่มเบนซินน้ำมันอากาศยาน (JET A1)และLPG ได้เพียงพอต่อความต้องการใช้ภายในประเทศโดยไม่มีผลกระทบ 

สำหรับน้ำมันกลุ่มดีเซลหมุนเร็ว การจัดหาค่อนข้างตึงตัวในช่วงแรกกรมธุรกิจพลังงานจึงได้สั่งการให้ผู้ค้าน้ำมันห้ามส่งออกน้ำมันกลุ่มดีเซลหมุนเร็ว ยกเว้นกรณีจำเป็นตามสัญญาเพื่อเพิ่มปริมาณน้ำมันกลุ่มดีเซลหมุนเร็วภายในประเทศให้เพียงพอต่อความต้องการใช้รวมถึงเร่งนำน้ำมันสำรองตามกฎหมายกลุ่มดีเซลหมุนเร็ว ออกมาจำหน่ายได้ในปริมาณไม่เกินกว่า 20% ของปริมาณสำรองตามกฎหมายที่มีหน้าที่ต้องเก็บสำรอง ส่งผลให้มีน้ำมันเพียงพอต่อความต้องการใช้ของประเทศ 

นอกจากนี้ กรมจะติดตามและประเมินสถานการณ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิดจึงขอให้ประชาชนมั่นใจได้ว่าจะไม่เกิดการขาดแคลนน้ำมันกลุ่มดีเซลหมุนเร็ว

‘ภาครัฐ’ กระตุ้น SMEs รับมือทิศทางการค้าโลก เร่งปรับตัวเข้าสู่ทิศทางแห่งเศรษฐกิจสีเขียว 

(18 ม.ค.67) นายนที สิทธิประศาสน์ กรรมการและเลขานุการ สถาบันการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ได้ดำเนินการร่วมกับสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ศึกษาวิจัยเชิงปฏิบัติการเพื่อจัดทำกลไกการปรับตัวเข้าสู่เศรษฐกิจสีเขียว (Green Transition) สำหรับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) เพื่อยกระดับผู้ประกอบการ SMEs ให้สามารถดำเนินธุรกิจได้ทัดเทียมกับอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ 

ทั้งนี้ ปัจจุบันปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) เป็นความท้าทายระดับโลก โดยได้มีคาดการณ์ว่า ในปีพ.ศ. 2593 การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะส่งผลให้ทั่วโลกมีมูลค่าทางเศรษฐกิจลดลง 10% ประเทศไทยจึงมีนโยบายเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 

โดยในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ UNFCCC COP ในการประชุมหลายครั้งที่ผ่านมา ซึ่งมีการประกาศเป้าหมายสำคัญ คือ ประเทศไทยจะเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปีพ.ศ. 2593 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปีพ.ศ. 2608 

ขณะที่ในต่างประเทศได้เริ่มใช้เงื่อนไขทางด้านสิ่งแวดล้อมเป็นมาตรการทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี (Non-Tariff Measures) เช่น สหภาพยุโรปมีมาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน หรือ CBAM ในหลายกลุ่มผลิตภัณฑ์ ทำให้กระทบต่อการส่งออกของผู้ประกอบการ นอกสหภาพยุโรปแล้ว ประเทศอื่นๆ เช่น สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และจีน อาจมีการพิจารณาการใช้มาตรการในลักษณะเดียวกันในอนาคต 

ดังนั้นแนวคิดเศรษฐกิจสีเขียวจึงเป็นหนึ่งในแนวทางเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว และจะเป็นการพัฒนาสถานการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมโลกไปสู่ความยั่งยืน โดยที่ธุรกิจในทุกระดับจึงต้องดำเนินการปรับตัวเข้าสู่เศรษฐกิจสีเขียว เพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขันจากนโยบายและมาตรการทางสิ่งแวดล้อมที่บังคับใช้ในปัจจุบันและมีแนวโน้มที่จะมีความเข้มข้นขึ้นในอนาคต 

"ส.อ.ท. จึงได้จัดตั้งสถาบันการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อเตรียมความพร้อม และยกระดับการพัฒนาคุณภาพสินค้าและการผลิตในสังคม เศรษฐกิจ อุตสาหกรรมคาร์บอนต่ำ รวมถึงส่งเสริม และสร้างมาตรฐานการตรวจสอบ การรับประกัน และการรับรองในระดับสากล เพื่อยกระดับการประกอบการอุตสาหกรรมของผู้ประกอบการทุกขนาด"

นางอภิรดี ขาวเธียร รองผู้อำนวยการ สสว. กล่าวว่า สสว. เล็งเห็นถึงความสำคัญในการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจสีเขียว จึงร่วมกับ ส.อ.ท. โดยสถาบันการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อยกระดับผู้ประกอบการ SMEs ซึ่งโดยมากแล้วยังขาดองค์ความรู้และบุคลากรในการปรับตัว เพื่อให้สามารถดำเนินธุรกิจได้ทัดเทียมกับอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ที่มีความพร้อมในทุกด้านมากกว่า

โดยเริ่มต้นที่กลุ่มอุตสาหกรรม 6 กลุ่ม ได้แก่ เหล็กและเหล็กกล้า อะลูมิเนียม การท่องเที่ยว พลาสติก สิ่งทอ และอาหาร ซึ่งจัดส่งผู้เชี่ยวชาญเข้าให้คำปรึกษาเชิงลึกร่วมกับการจัดอบรมสัมมนาเชิงปฏิบัติการรายกลุ่มอุตสาหกรรม เพื่อให้สามารถปรับตัวเข้าสู่เศรษฐกิจสีเขียว และพัฒนาองค์ความรู้ของบุคลากรภาคอุตสาหกรรมให้มีความรู้และความสามารถในการจัดการ เพื่อลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นการยกระดับโซ่อุปทานภาคอุตสาหกรรมสู่การเป็นเศรษฐกิจสีเขียวให้สามารถเชื่อมโยงไปยังอุตสาหกรรมต้นน้ำให้สอดคล้องกับนโยบายของประเทศและเศรษฐกิจระดับมหภาค 

‘BBL’ ประกาศยุทธศาสตร์ Connecting ASEAN หนุนธุรกิจไทยเข้าถึงโอกาสโตยั่งยืนในภูมิภาค

(18 ม.ค.67) ธนาคารกรุงเทพ (BBL) ประกาศยุทธศาสตร์ Connecting ASEAN หรือ เชื่อมโยงอาเซียน สนองนโยบายรัฐบาล ในการดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment) เข้าสู่ประเทศไทย เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการลงทุนระยะยาว อีกทั้งสนับสนุนธุรกิจไทยที่ขยายกิจการไปทั่วภูมิภาค

นายชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ BBL กล่าวว่า ธนาคารดำเนินยุทธศาสตร์ Connecting ASEAN ที่สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในการดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment) เข้าสู่ประเทศไทย เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการลงทุนระยะยาว รวมทั้งนโยบายสนับสนุนการพัฒนานวัตกรรม ส่งเสริมเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green – BCG) และการยกระดับของโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor - EEC) ให้เป็นศูนย์กลางอัจฉริยะสำหรับอุตสาหกรรมการผลิตและโลจิสติกส์ของภูมิภาคอาเซียน

“เป็นที่น่ายินดีที่ลูกค้าต่างประเทศของธนาคารกรุงเทพ ได้เริ่มเข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมแห่งอนาคตในประเทศไทยมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า โดยธนาคารได้ให้การสนับสนุนไปแล้วหลายราย ไม่ว่าจะเป็นบริษัท บีวายดี เกรทวอลล์มอเตอร์ส และฉางอาน การที่บริษัทเหล่านี้เลือกเข้ามาตั้งศูนย์การผลิตสำหรับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในพื้นที่ EEC ของไทยจะส่งผลดีต่อเนื่องไปถึงห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมชิ้นส่วนภายในประเทศ และจะกระตุ้นให้เกิดธุรกิจและการจ้างงานใหม่ให้กับคนรุ่นต่อไป” นายชาติศิริ กล่าว

นายชาติศิริ กล่าวว่า ยุทธศาสตร์สำคัญประการหนึ่งที่ธนาคารมุ่งเน้นในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา คือ การสนับสนุนการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศทั่วทั้งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นตลาดที่มีโอกาสเติบโตอย่างแข็งแกร่งสำหรับหลายภาคอุตสาหกรรม ท่ามกลางเศรษฐกิจโลกที่ยังชะลอตัวลง จากปัญหาทางการเมืองระหว่างประเทศ การหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทาน การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และปัจจัยอื่นๆ การดำเนินยุทธศาสตร์ Connecting ASEAN จะมุ่งสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจไทย โดยชูบทบาทโดดเด่นของของไทยในฐานะสะพานสำคัญที่จะช่วยเชื่อมโยงอาเซียนกับนักธุรกิจและนักลงทุนจากทั่วทวีปเอเชียและภูมิภาคอื่นๆ ทั่วโลก

อาเซียนยังเปิดโอกาสให้ภาคธุรกิจสามารถเติบโตได้มากที่สุดเมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่นๆ ของโลก ด้วยจุดเด่นหลายๆ ด้าน เช่น จำนวนประชากรรวมกันกว่า 650 ล้านคน ซึ่งส่วนใหญ่ยังอยู่ในวัยหนุ่มสาว ตลาดที่กำลังพัฒนาและมีความต้องการหลากหลาย มีทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ และมีที่ตั้งทางภูมิศาสตร์อยู่ใกล้อินเดียและจีน ซึ่งมีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ โดยอาเซียนกำลังเติบโตก้าวขึ้นเป็นระบบเศรษฐกิจที่จะมีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 4 ของโลกในปี 2573

“ภูมิภาคอาเซียนยังมีโอกาสทางธุรกิจและการลงทุนอีกมาก ขณะที่ตลาดอื่นๆ ทั่วโลกกำลังชะลอตัว ธนาคารกรุงเทพเป็นธนาคารไทยที่มีความพร้อมที่สุด สำหรับการสนับสนุนบริษัทที่ต้องการขยายตลาดในระดับภูมิภาค เนื่องจากธนาคารมีเครือข่ายทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก ที่มีข้อมูลความรู้เกี่ยวกับการทำธุรกิจในแต่ละประเทศอย่างลึกซึ้ง และมีสายสัมพันธ์ทางธุรกิจที่ดีกับพันธมิตรในประเทศเหล่านั้น ที่สืบทอดมาตลอด 8 ทศวรรษ” นายชาติศิริ กล่าว

“ด้วยจุดแข็งที่โดดเด่นของธนาคาร ที่มีเครือข่ายสาขาใน 9 จาก 10 ประเทศในกลุ่มอาเซียน มีธนาคารในเครือ คือ ธนาคารเพอร์มาตา ที่อินโดนีเซีย ธนาคารบางกอกแบงค์เบอร์ฮาด ที่มาเลเซีย และธนาคารกรุงเทพ (ประเทศจีน) นอกเหนือจากสาขาในฮ่องกง ไต้หวัน ญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา ธนาคารกรุงเทพพร้อมที่จะสนับสนุนลูกค้าของเราด้วยบริการทางการเงินที่ครบถ้วน สำหรับการดำเนินธุรกิจในต่างประเทศ และยังสามารถช่วยเชื่อมโยงลูกค้าเหล่านี้กับบริษัทอื่นๆ ที่มีโอกาสจะร่วมมือกันได้ทั่วทั้งภูมิภาค” นายชาติศิริ กล่าว

ตลอดระยะเวลา 8 ทศวรรษที่ผ่านมา ธนาคารมุ่งเน้นสนับสนุนลูกค้าทุกกลุ่มให้บรรลุเป้าหมายในทุกช่วงชีวิตและเจริญเติบโตได้เต็มศักยภาพ โดยสำหรับลูกค้าบุคคล ให้มีความมั่นคงทางการเงินสำหรับครอบครัว และบริษัททุกขนาด ให้มีความสามารถในการแข่งขันและเติบโตได้อย่างเข้มแข็งและยั่งยืน ซึ่งธนาคารได้ช่วยลูกค้าผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทย ด้วยบริการทางการเงินและเงินทุนสำหรับการดำเนินธุรกิจ แบ่งปันข้อมูล ความรู้ คำแนะนำและสายสัมพันธ์ทางธุรกิจที่เป็นประโยชน์ต่อการเสริมสร้างความเข้มแข็ง ทำให้ลูกค้าสามารถเติบโตขึ้นอย่างยั่งยืน สามารถฟันฝ่าอุปสรรคต่างๆ ก้าวขึ้นเป็นบริษัทชั้นนำของประเทศ ส่วนหนึ่งสามารถขยายกิจการออกไปยังต่างประเทศ โดยเฉพาะในภูมิภาคอาเซียนและทวีปเอเชียที่ธนาคารมีเครือข่ายสาขาอย่างกว้างขวางครอบคลุม

“ในช่วงที่ผ่านมา นอกจากลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่แล้ว ยังมีลูกค้าเอสเอ็มอีของธนาคารจำนวนไม่น้อย ที่มีการค้าขายข้ามชายแดนมากขึ้น หลายรายสามารถขยายกิจการออกไปต่างประเทศ โดยการสนับสนุนจากสาขาในต่างประเทศของธนาคารกรุงเทพ รวมทั้งธนาคารในเครือ ซึ่งธุรกิจเหล่านี้จะมีบทบาทสำคัญมากขึ้นในการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้เศรษฐกิจของประเทศไทย” นายชาติศิริ กล่าว

นายชาติศิริ กล่าวต่อไปว่า ธนาคารตระหนักดีว่ายังคงมีลูกค้าอีกส่วนหนึ่งที่ยังเปราะบาง สืบเนื่องมาตั้งแต่การระบาดของโรคโควิด-19 และยังไม่ฟื้นตัวในภาวะที่เศรษฐกิจโดยรวมยังชะลอตัวลง ธนาคารจะพิจารณามาตรการช่วยเหลือเพิ่มเติม เพื่อช่วยลูกค้าผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและลูกค้าบุคคล ที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจ ให้สามารถผ่านช่วงนี้ไปได้ ตามแนวทางเดียวกับที่ธนาคารได้ดำเนินการมาแล้วในช่วงก่อนหน้าที่กิจกรรมทางธุรกิจได้ชะงักงันเนื่องจากโควิด-19 ในปี 2563 และต่อเนื่องถึงปี 2566

“ท่ามกลางความผันผวนทางธุรกิจในระบบเศรษฐกิจโลก ธนาคารกรุงเทพพร้อมดำเนินการเพื่อสนับสนุนลูกค้าให้สามารถผ่านความท้าทายและความยากลำบากเหล่านี้ และสามารถแสวงหาโอกาสที่เหมาะสมสำหรับสร้างการเติบโต โดยจะดำเนินการอย่างสอดรับกับรัฐบาลที่ได้ออกมาตรการลดภาระค่าน้ำมัน ค่าไฟฟ้า และมาตรการต่างๆ มาให้ความช่วยเหลือ และสอดรับกับธนาคารแห่งประเทศไทยที่ได้ดำเนินนโยบายทางการเงินเพื่อช่วยดูแลเงินเฟ้อ และช่วยให้สภาพแวดล้อมทางธุรกิจมีเสถียรภาพมากขึ้น เพื่อให้บริษัทไทยสามารถฟันฝ่าอุปสรรค ก้าวข้ามความท้าทายที่รออยู่ และเติบโตได้อย่างยั่งยืนต่อไป”

วิเคราะห์!! ไทยค้นพบแร่ลิเทียม 14.8 ล้านตัน โอกาสทำไทยรวยทางลัดกว่า 14 ล้านล้านบาท

(19 ม.ค.67) เป็นที่ฮือฮาอย่างต่อเนื่อง หลังจากที่กระทรวงอุตสาหกรรมได้เผยข่าวการค้นพบแหล่งแร่ลิเทียมในประเทศไทย 2 แหล่ง ได้แก่ แหล่งเรืองเกียรติ และแหล่งบางอีตุ้ม จ.พังงา มากกว่า 14,800,000 ตัน อีกทั้งยังค้นพบแหล่งแร่โซเดียมในพื้นที่ภาคอีสานปริมาณสำรองอีกจำนวนมาก

โดยปัจจุบัน ประเทศที่มีแร่ลิเทียมมากที่สุด 5 อันแรก ได้แก่...

- โบลิเวีย 21.0 ล้านตัน
- อาร์เจนตินา 19.0 ล้านตัน
- ชิลี 9.8 ล้านตัน
- สหรัฐฯ 9.1 ล้านตัน
- ออสเตรเลีย 7.3 ล้านตัน

นั่นหมายความว่า การค้นพบแร่ลิเทียมในไทยตามปริมาณที่กล่าวมานั้น จะทำให้ไทยกลายเป็นประเทศที่มีแร่ลิเทียมมากเป็นอันดับ 3 ของโลกทันที

ยิ่งไปกว่านั้น หากประมาณการมูลค่าดูแล้ว น่าจะอยู่ที่ 14-15 ล้านล้านบาท หากคิดจากราคาแร่ลิเทียมในปัจจุบันที่ขายกันอยู่เฉลี่ยตันละ 30,000 ดอลลาร์ หรือ 1 ล้านบาท

ถ้าให้เปรียบว่ามากขนาดไหน ก็เทียบกับมูลค่าการแจกเงินผ่าน Digital Wallet ที่ใช้งบประมาณ 5 แสนล้านบาท แล้วการค้นพบของไทยหนนี้ สามารถเอามาแจกเงินดิจิทัลได้เกือบ 30 รอบได้เลยทีเดียว

สำหรับแร่ทั้งสองชนิดนี้ ถือเป็นแร่หลักหรือวัตถุดิบสำคัญที่ใช้ในการผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า (EV) 100% ซึ่งแน่นอนว่าการค้นพบครั้งนี้จะเสริมศักยภาพความพร้อมของไทยในการเดินหน้าสู่การเป็นศูนย์กลาง และฐานการผลิตแบตเตอรี่ EV ในภูมิภาคได้อย่างมาก

ขณะเดียวกัน ก็เชื่อว่าจะช่วยดึงดูดนักลงทุนทั้งไทยและต่างชาติที่มีศักยภาพเข้ามาตั้งโรงงาน ท่ามกลางการแข่งขันของนานาประเทศ เพื่อให้ไทยมุ่งสู่การเป็นฐานผลิตหลักของภูมิภาค ภายใต้การคาดการณ์ว่า ความต้องการลิเทียมทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่าภายในปี พ.ศ. 2568 และจะต้องการมากกว่า 2 ล้านตันภายในปี พ.ศ. 2573

ฉะนั้น หากจะพูดว่าประเทศไทยเหมือนตกถังข้าวสารขนาดยักษ์ ก็คงไม่ผิด เพราะปัจจุบันนี้ 70% ของลิเทียมที่ผลิตทั่วโลก ได้ถูกใช้ไปกับแบตเตอรี่ EV หรือรถยนต์ไฟฟ้านั่นแล

เห็นภาพแบบนี้แล้ว เศรษฐกิจไทย คงพุ่งขึ้นอย่างรุนแรงกันเลยทีเดียว...

‘นายกฯ’ หารือ อดีตนายกฯ สหราชอาณาจักร ผลักดันความร่วมมือด้านสภาพภูมิอากาศ

เมื่อวานนี้ (18 ม.ค.67) ณ ศูนย์ประชุม Congress Centre เมืองดาวอส สมาพันธรัฐสวิส นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พบหารือกับนาย Tony Blair ประธานกรรมการบริหาร Tony Blair Institute of Global Change และอดีตนายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักร

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า นาย Tony Blair อดีตนายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักร ได้มาพบและคุยเกี่ยวกับ Tony Blair Institute of Global Change ซึ่งเป็นองค์กรที่ตั้งขึ้นโดยไม่หวังผลกำไร และรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศร่วมกันของโลก โดยมีความตั้งใจที่จะหาความร่วมมือกับประเทศไทย โดยเฉพาะด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate change) และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ (Human development)

โดยทางนาย Tony Blair มีความเชื่อมั่นว่า การร่วมมือระหว่างรัฐบาล และองค์กรต่าง ๆ จะช่วยทำให้ประเทศมีการพัฒนาขึ้นได้อย่างรวดเร็ว โดยนายกรัฐมนตรีได้ให้มีการตั้งคณะทำงานขึ้น เพื่อให้ทางสถาบัน Tony Blair Institute of Global Change ได้เข้ามาศึกษาข้อมูลในประเทศไทย เพื่อพัฒนา และต่อยอดในประเด็นต่าง ๆ ที่ทั้งสองฝ่ายเห็นตรงกัน

'สรยุทธ' เปิดเผยผลสำรวจบนเฟซบุ๊ก 'เศรษฐกิจไทยวันนี้ วิกฤตหรือไม่?' พบ 93% ของคำตอบจาก 2.4 แสนราย บอก "เศรษฐกิจไทยวิกฤต'

(19 ม.ค. 67) นายสรยุทธ สุทัศนะจินดา เปิดเผยในรายการเรื่องเล่าเช้านี้ ว่า ตนได้สอบถามนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง ผ่านรายการกรรมกรข่าวคุยนอกจอ เกี่ยวกับกรณีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ออกมาให้ความเห็นเรื่องเงินดิจิทัลวอลเล็ต

นายสรยุทธ กล่าวต่อว่า โดยนายจุลพันธ์ กล่าวว่า ไม่ใช่อำนาจ ป.ป.ช. มาวินิจฉัยว่าวิกฤตหรือคุ้มค่า กฎหมายกำหนดให้มีอำนาจเพียงแค่เสนอแนะป้องกันปัญหาการทุจริต ไม่ใช่มาสรุปอย่างนั้น และดูจะเป็นการก้าวล้ำ ล่วงเกินอำนาจของฝ่ายอื่น อำนาจที่จะตัดสินใจว่าวิกฤตหรือไม่วิกฤตอยู่ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งนายจุลพันธ์ ยืนยันว่าเดินหน้า เพราะสุดท้ายปลายทางอย่างไรก็มีศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้ชี้ว่าผิดกฎหมายหรือไม่ประการใด

นายสรยุทธ กล่าวด้วยว่า เมื่อวาน (18 ม.ค.) สืบเนื่องจากประเด็นเศรษฐกิจไทยวิกฤตหรือไม่วิกฤต ตนจึงตั้งโพลสอบถามเฉพาะลูกเพจบนเฟซบุ๊กของตนว่า คุณคิดว่าเศรษฐกิจไทยวันนี้ ‘วิกฤต’ หรือ ‘ไม่วิกฤต’ ปรากฏว่าตัวเลขช่วงเวลา 07.00 น. วันนี้ (19 ม.ค.) มีคนมาตอบคำถามกว่า 245,000 คน พบว่า 93% เห็นว่าวิกฤต 7% เห็นว่าไม่วิกฤต

‘ชาวนากาฬสินธุ์’ หันปลูกแตงโม-ขายเมล็ดส่งนอก โกยเงินล้าน ชี้!! ใช้น้ำน้อย ราคาดีกว่าขายข้าวเปลือก สร้างรายได้ต่อรายสูง

(19 ม.ค.67) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการติดตามบรรยากาศการประกอบอาชีพของเกษตรกรชาว จ.กาฬสินธุ์ ทั้งพื้นที่รับน้ำชลประทานโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำปาว พบว่ามีการทำนาปรังหรือนาฤดูแล้งเต็มพื้นที่ ขณะที่พื้นที่นอกเขตชลประทาน มีการเพาะปลูกพืชอายุสั้น พืชตระกูลแตงเป็นจำนวนมาก โดยใช้น้ำจากแหล่งธรรมชาติที่มีอยู่อย่างเพียงพอ

นางประนอม ภูเต้านา อายุ 45 ปี เกษตรกรบ้านขมิ้น เลขที่ 95 หมู่ 5 ต.นาดี อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า พื้นที่นาอยู่นอกเขตชลประทาน แต่ก็อยู่ใกล้กับหนองเลิงไก่โอก แหล่งน้ำสาธารณะประจำตำบลนาดี ซึ่งปีนี้มีปริมาณน้ำเป็นจำนวนมาก เพียงพอต่อการสูบขึ้นมาหล่อเลี้ยงแปลงแตงโม และแปลงแตงแคนตาลูป ที่เพาะปลูกประมาณ 2 ไร่

นางประนอม กล่าวอีกว่า ที่เลือกเพาะปลูกพืชตระกูลแตง 2 ชนิด เพราะว่าอายุสั้น ใช้น้ำน้อย ทนต่อสภาพดินฟ้าอากาศร้อนแล้งได้ดี อายุ 4 เดือนเก็บผลผลิตจำหน่าย ที่สำคัญมีบริษัทของเอกชนเข้ามาส่งเสริม มีประกันราคาแน่นอน โดยเป็นแตงลูกผสม จำหน่ายเมล็ดส่งต่างประเทศ ก.ก.ละ 1,600-2,000 บาท ปลูกมาประมาณ 20 ปี รายได้เฉลี่ยรายละ 5 หมื่นบาท ซึ่งรายได้สูงกว่าปลูกข้าวนาปรังและพืชฤดูแล้งชนิดอื่น

นางประนอม กล่าวเพิ่มเติมว่า เมื่อราคาขายเมล็ดแตงโมและเมล็ดแตงแคนตาลูปสูง โดยที่ผ่านมาได้กำไรทุกปี ขณะที่ราคาขายข้าวเปลือกยังตกต่ำ รายได้ไม่คุ้มทุน เพราะปัจจัยการผลิต เช่น ปุ๋ยเคมี ค่าแรง ค่าเก็บเกี่ยวสูง ดังนั้น ในปีนี้จึงพบว่าพี่น้องเกษตรกรชาวนาในหมู่บ้าน หันมาปลูกแตงโม และแตงแคนตาลูปลูกผสม เพื่อขายเมล็ดต่างประเทศกับบริษัทเอกชนถึง 20 ราย ที่หากเฉลี่ยได้กำไรไร่ละ 5 หมื่น ก็จะมีรายได้ในภาพรวมถึง 1 ล้านบาททีเดียว


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top