Sunday, 11 May 2025
Econbiz

ไขกระจ่าง!! 4 ความเข้าใจผิดที่คนคิดเกี่ยวกับ กนง. ภายใต้นโยบายการเงินที่ไม่ได้เอื้อคนแค่บางกลุ่ม

ทุกครั้งที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ตัดสินใจขึ้นหรือลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ย่อมส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศเป็นวงกว้าง มีทั้งผู้ได้และเสียประโยชน์ 

แต่หลายคนอาจสงสัยว่า กนง. ตัดสินนโยบายการเงินบนหลักการอะไร จำเป็นหรือไม่ที่ต้องดำเนินนโยบายตามปัจจัยด้านต่างประเทศ และต้องสอดคล้องกับทิศทางของประเทศเศรษฐกิจหลักเสมอ 'พระสยาม BOT MAGAZINE' จะมาไข 4 ข้อสงสัยที่คนมักเข้าใจผิดเกี่ยวกับ กนง.

1. กนง. ตัดสินนโยบายการเงินแล้วมีเพียงบางกลุ่มเท่านั้นที่ได้ประโยชน์?

ตอบ: กนง. ดำเนินนโยบายการเงินเพื่อประโยชน์ของเราทุกคน โดยมีเป้าหมายสำคัญ คือ การรักษาเสถียรภาพด้านราคา เพราะระดับราคาสินค้าที่เปลี่ยนแปลงอย่างค่อยเป็นค่อยไป จะช่วยให้สาธารณชนคาดการณ์ภาระค่าครองชีพและต้นทุนการผลิตได้อย่างง่ายดาย ทำให้ประชาชนมั่นใจที่จะจับจ่ายใช้สอย ภาคธุรกิจวางแผนการผลิตและลงทุนได้อย่างเหมาะสม ก่อให้เกิดรายได้และการจ้างงานที่ยั่งยืน 

แต่การดำเนินนโยบายการเงินเพื่อให้บรรลุเป้าหมายในระยะยาวนั้น อาจทำให้มีผู้ได้ประโยชน์และผู้เสียประโยชน์ในระยะสั้น เช่น ช่วงที่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อสู้กับเงินเฟ้อ ในระยะสั้น ธนาคารพาณิชย์อาจได้รับกำไรจากอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ปรับเพิ่มขึ้น 

ขณะที่ต้นทุนกู้ยืมของประชาชนและธุรกิจกลับแพงขึ้น แต่ในระยะยาว เมื่ออัตราเงินเฟ้อปรับลดลงแล้ว ประชาชนและภาคธุรกิจจะได้ประโยชน์จากค่าครองชีพและต้นทุนการผลิตที่ปรับลดลง ส่งผลดีต่อการบริโภคและการผลิต ทำให้เศรษฐกิจสามารถเติบโตได้อย่างต่อเนื่องและยั่งยืน

2. กนง. ตัดสินใจปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายบนหอคอยงาช้าง โดยดูแค่ตัวเลข?

ตอบ: กนง. กำหนดนโยบายการเงินโดยรับฟังอย่างเปิดกว้างและเข้าใจประชาชน โดย กนง. 7 ท่านประกอบด้วย กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากภายนอก ธปท. ถึง 4 ท่าน ซึ่งเป็นผู้มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญที่หลากหลาย ทั้งในด้านเศรษฐกิจ ธุรกิจ ตลาดการเงิน การธนาคาร ซึ่งมีจำนวนมากกว่ากรรมการที่เป็นผู้บริหาร ธปท. โดยตำแหน่ง 3 ท่าน (ผู้ว่าการ ธปท. และรองผู้ว่าการ ธปท. 2 คน) ซึ่งในการตัดสินใจนโยบายนั้น 

นอกจากพิจารณาจากข้อมูลทางเศรษฐกิจที่ได้มาอย่างเป็นทางการแล้ว กนง. ยังได้รับฟังความเห็นและมุมมองของภาคธุรกิจ ผ่านการส่งคณะตัวแทนของ ธปท. เข้าไปพบปะพูดคุย แลกเปลี่ยนมุมมองด้านเศรษฐกิจและนโยบายกับภาคธุรกิจ สมาคม องค์กร และหน่วยงานภาครัฐกว่า 800 แห่งต่อปี ตามโครงการแลกเปลี่ยนข้อมูลเศรษฐกิจและธุรกิจ (Business Liaison Program: BLP) ซึ่งครอบคลุมทุกสาขาธุรกิจและทุกภูมิภาคของประเทศไทย นอกจากนี้ ธปท. ยังรับฟังความคิดเห็นของประชาชนที่อยู่ในสื่อสังคมออนไลน์ผ่านระบบ Social Listening อย่างสม่ำเสมออีกด้วย

3. กนง. ต้องปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายตามข้อมูลเงินเฟ้อที่ออกมาเสมอและทันที?

ตอบ: กนง. จำเป็นต้องพิจารณาทั้งข้อมูลเงินเฟ้อในปัจจุบันที่เกิดขึ้นแล้ว และแนวโน้มเงินเฟ้อในระยะข้างหน้าควบคู่กันในการตัดสินนโยบายการเงิน ภายใต้กรอบเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อแบบยืดหยุ่น เปรียบเหมือนกัปตันเรือที่ต้องคิดถึงหลายปัจจัย เช่น คลื่นลม กระแสน้ำ สิ่งกีดขวางโดยรอบ ในการเร่งเครื่องหรือชะลอความเร็วเพื่อให้เรือถึงจุดหมายปลายทางอย่างนิ่มนวลและปลอดภัย 

เพราะในความเป็นจริงนั้น กว่าการเร่งเรือหรือชะลอความเร็วจะส่งผ่านไปยังเครื่องยนต์เศรษฐกิจเต็มที่ต้องใช้เวลากว่า 6-8 ไตรมาส ดังนั้น หากในระยะข้างหน้ายังมีแรงกดดันจากเงินเฟ้อสูง กนง. จำเป็นต้องผ่อนคันเร่ง ด้วยการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้แต่เนิ่นๆ เพื่อไม่ให้ภาระค่าครองชีพและต้นทุนการผลิตปรับเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จนทำให้เศรษฐกิจหดตัวรุนแรงในระยะข้างหน้า

4. กนง. ต้องกำหนดอัตราดอกเบี้ยนโยบายตามปัจจัยด้านต่างประเทศ เช่น อัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ หรือค่าเงินบาท?

ตอบ: กนง. กำหนดอัตราดอกเบี้ยตามบริบทของประเทศไทยเป็นหลัก ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับประเทศเศรษฐกิจหลัก เช่น สหรัฐฯ แต่ กนง. จะพิจารณาจากภาวะเศรษฐกิจ เงินเฟ้อ และเสถียรภาพระบบการเงินของไทยเป็นสำคัญ ตัวอย่างเช่น ปี 2565 ที่เงินเฟ้อสูงทั่วโลก แต่ กนง. เริ่มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไปในช่วงครึ่งหลังของปี ตามบริบทเศรษฐกิจและตลาดแรงงานไทยที่เพิ่งเริ่มฟื้นตัวจากการเปิดเมืองและนักท่องเที่ยวที่กลับมา 

ขณะที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ เร่งเหยียบเบรกตั้งแต่ต้นปี 2565 ด้วยการขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งละสูง ๆ เพื่อสกัดเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จากเศรษฐกิจที่ขยายตัวร้อนแรงและตลาดแรงงานที่ตึงตัว ซึ่งหาก กนง. เร่งขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างรวดเร็วตามสหรัฐฯ ตั้งแต่ต้นปี โดยไม่พิจารณาความเหมาะสมของบริบทเศรษฐกิจไทย ก็จะทำให้ต้นทุนการกู้ยืมของเอกชนเร่งสูงขึ้น การบริโภคและการลงทุนหดตัว ส่งผลให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยสะดุดโดยไม่จำเป็น

นอกจากนี้ การปรับอัตราดอกเบี้ยเพื่อดูแลค่าเงินบาทอาจไม่เกิดประสิทธิผลมากนัก เพราะในระยะสั้น ค่าเงินบาทผันผวนจากหลากหลายปัจจัย โดยเฉพาะปัจจัยจากภายนอกประเทศ เช่น ข้อมูลเศรษฐกิจ เงินเฟ้อ ตลาดแรงงาน และการคาดการณ์นโยบายการเงินของประเทศเศรษฐกิจหลัก ขณะที่ประเทศไทยใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนลอยตัวภายใต้การจัดการ (managed float) ซึ่งสามารถใช้การทำธุรกรรมซื้อขายเงินตราต่างประเทศ (FX intervention) เพื่อลดความผันผวนที่สูงเกินไปในระยะสั้น ควบคู่กับการส่งเสริมให้ภาคเอกชนป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนอย่างยั่งยืน 

จึงเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิผลมากกว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบาย อีกทั้งยังช่วยให้นโยบายการเงินมีความยืดหยุ่นเพื่อไปดูแลเศรษฐกิจและเงินเฟ้อในภาพรวม ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนของภาคเอกชนและเศรษฐกิจได้มากกว่า

‘ท๊อป จิรายุส’ แชร์ 3 มุมมอง ‘ทรัพย์สินดิจิทัล’ หากทลายกำแพงนี้ได้ ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจไทย

งาน World Economic Forum 2024 หรือ การประชุมสภาเศรษฐกิจโลก ระหว่างวันที่ 15-19 มกราคม 2567 ณ กรุงดาวอส สมาพันธรัฐสวิส เป็นการประชุมสำคัญที่รวมตัวผู้นำของแต่ละประเทศ นักธุรกิจชั้นนำในอุตสาหกรรมต่างๆ หน่วยงานและนักวิชาการจากทั่วโลกกว่า 2,800 คน มาร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นต่อทิศทางเศรษฐกิจโลกในแต่ละปี

โดยนายจิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด ก็ได้เข้าร่วม World Economic Forum 2024 แลกเปลี่ยนความคิดเห็นต่อทิศทางเศรษฐกิจโลกในแต่ละปีด้วยเช่นกัน 

โดย ‘ท๊อป จิรายุส’ ได้รับเชิญเข้าร่วมการประชุมนี้เป็นปีที่ 3 ภายใต้แนวคิด ‘Rebuilding Trust’ หรือการฟื้นคืนความเชื่อมั่นให้กลับมาหลังจากที่เศรษฐกิจทั่วโลกเผชิญกับการชะงักงันในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา

‘ท๊อป จิรายุส’ ได้ร่วมเสวนาในหัวข้อ ‘Clear-Eyed about Crypto’ เพื่อแลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับแนวทางการกำกับดูแลอุตสาหกรรมสินทรัพย์ดิจิทัลที่เหมาะสมทั้งต่อการส่งเสริมผู้ประกอบธุรกิจและปกป้องผู้บริโภค รวมถึงทิศทางของอุตสาหกรรมสินทรัพย์ดิจิทัล ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนระดับโลก

โดยนายจิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา กล่าวถึงมุมมองเกี่ยวกับ 3 ประเด็นสำคัญของสินทรัพย์ดิจิทัลบนเวทีโลก ดังนี้

1) การสร้างมาตรฐานของกฎระเบียบและข้อบังคับในการกำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัลขึ้นมา เพื่อให้เกิดการพัฒนาศักยภาพของคริปโทเคอร์เรนซีได้อย่างเต็มที่และไม่ขัดต่อกฎหมาย ซึ่งประเทศไทยโชคดีที่มีสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กำกับดูแลอุตสาหกรรมนี้ให้ถูกกฎหมายและมีสถาบันการเงินอีก 2 แห่งเข้ามาให้บริการในตลาดด้วย จึงมั่นใจว่าจะมีนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่ถูกพัฒนาต่อยอดอีกมาก

2) การอนุมัติ Spot Bitcoin ETF จะยิ่งเร่งให้มีความต้องการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลในปริมาณที่มากขึ้น ซึ่งการออกกฎระเบียบจำเป็นต้องคำนึงไม่ให้กระทบในการลดหรือจำกัดการแข่งขันนี้ โดยหน่วยงานกำกับดูแลควรต้องเข้ามาเรียนรู้และทำความเข้าใจ หรือทดลองใช้งานสินทรัพย์ดิจิทัล ก่อนออกแนวทางกำกับดูแล เพื่อให้กฎระเบียบมีความสอดคล้องกับสภาพธุรกิจจริง

3) การออกกฎระเบียบด้านสินทรัพย์ดิจิทัลไม่สามารถใช้เป็น one-size-fits-all ได้ จำเป็นต้องพิจารณาบริบทในแต่ละพื้นที่ให้เหมาะสม

‘รมว.ปุ้ย’ ลุย ‘ระนอง’ รวบปัญหา ศก.ภาคใต้ฝั่งอันดามัน เตรียมนำเสนอ ‘ข้อเรียกร้อง-ทางแก้’ เข้าครม.สัญจร พรุ่งนี้

‘รมว.พิมพ์ภัทรา’ ลงพื้นที่จังหวัดระนอง ประชุม กรอ.กลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน หน่วยงานภาครัฐ และเอกชนที่เกี่ยวข้อง เพื่อเตรียมนำเสนอประเด็นและวาระการพัฒนากลุ่มจังหวัดต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ พร้อมลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมชมและรับฟังปัญหาอุปสรรค และข้อเสนอแนะจากผู้ประกอบกิจการโรงงานในพื้นที่

(22 ม.ค. 67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน (กรอ.) ซึ่งประกอบด้วย จังหวัดกระบี่, ตรัง, พังงา, ภูเก็ต, ระนอง และสตูล ร่วมกับส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ และเอกชน เพื่อเตรียมนำเสนอข้อมูลที่ได้จากการประชุมสอบถามความต้องการขอรับการสนับสนุน ปัญหาและอุปสรรค รวมทั้งข้อเสนอแนะของผู้ประกอบกิจการโรงงานในพื้นที่ เพื่อนำเสนอประเด็นและวาระการพัฒนากลุ่มจังหวัดฯ ต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ณ ห้องประชุมรัตนรังสรรค์ ชั้น 5 ศาลากลางจังหวัดระนอง ศูนย์ราชการจังหวัดระนอง

โดยในการประชุมมีการนำเสนอประเด็นและความต้องการขอรับการสนับสนุนในหลายประเด็น สรุปได้ดังนี้…

>> การนำเสนอประเด็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ ด้วยการพัฒนาและยกระดับศักยภาพของผู้ประกอบการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ เช่น โครงการพัฒนาและยกระดับ Andaman Wellness and Spa ที่มุ่งเน้นพัฒนาองค์ความรู้ให้กับบุคลากร เพิ่มศักยภาพให้กับผู้ประกอบการ Wellness and Spa  โดยการบูรณาการร่วมกับกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน โดยให้จังหวัดระนอง เป็นเจ้าภาพหลัก

>> การยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน เนื่องจากค่าไฟฟ้าในภาคอุตสาหกรรมเพิ่มสูงขึ้น ทำให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้น ซึ่งในการแก้ไขควรจัดให้มีการฝึกอบรมเรื่องการลดใช้พลังงาน การสนับสนุนพลังงานทดแทน ปรับปรุงเครื่องจักรที่ทำให้ประหยัดพลังงาน

>> การพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการอุตสาหกรรมฮาลาล รวมถึงยกระดับมาตรฐานฮาลาลของไทย เพื่อตอบสนองความต้องการขยายตัวของตลาดโลก โดยการจัดตั้งองค์กรกลางหรือมาตรฐานที่เกี่ยวกับฮาลาล ที่นานาชาติยอมรับ เพื่อให้สามารถจำหน่ายในประเทศต่างๆ ได้ทั่วโลก โดยเฉพาะในประเทศมุสลิม

>> การเพิ่มมูลค่าสำหรับอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารทะเล และแปรรูปเกษตรอื่นๆ ด้วยการสร้างมูลค่าเพิ่มผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมแปรรูปอาหารทะเลตามแนวทาง BCG Model ในกลุ่มจังหวัดภาคใต้กลุ่มอันดามัน โดยต้องเป็นการบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องส่งเสริมและพัฒนาองค์ความรู้ รวมถึงเทคโนโลยีและนวัตกรรม
การขาดแคลนฝีมือแรงงาน โดยได้ขอรับการสนับสนุนให้มีการพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานให้สอดคล้อง ตามความต้องการของสถานประกอบการ  

>> การสนับสนุนสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการที่มีข้อจำกัด ที่ได้ขอให้มีการสนับสนุนผู้ประกอบการทุกระดับในการเข้าถึงสินเชื่อ

นอกจากนี้ มีการนำเสนอประเด็นอื่นๆ อาทิ พื้นที่ที่เหมาะสมในการประกอบกิจการอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับการประมง แต่ไม่สามารถขออนุญาตประกอบกิจการโรงงานได้ ซึ่งเรื่องนี้ มีการเสนอให้แก้ไขผังเมืองให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่เพื่อส่งเสริมการลงทุน หรือกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการจัดการกากอุตสาหกรรม ได้สร้างภาระเพิ่มต้นทุนให้แก่ผู้ประกอบการโรงงาน ซึ่งได้มีการเสนอให้กระทรวงอุตสาหกรรมพิจารณาปรับปรุงแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการจัดการกากอุตสาหกรรมด้วย

“ปัญหาและอุปสรรคในการพัฒนาอุตสาหกรรมในพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน เกิดจากปัจจัยทั้งภายในและภายนอกที่ส่งผลต่อต้นทุนการผลิต ความสามารถในการแข่งขัน และการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน ดิฉัน รับทราบถึงกรณีที่เกิดขึ้นและจะนำแนวทางการแก้ไขปัญหาและอุปสรรคเหล่านี้ เพื่อเสนอประเด็นและวาระ การพัฒนากลุ่มจังหวัดต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในวันพรุ่งนี้ (23 ม.ค.67) เพื่อส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรม ในกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามันให้มีประสิทธิภาพ และประสิทธิผลมากยิ่งขึ้น” นางสาวพิมพ์ภัทรา กล่าว

จากนั้นช่วงบ่าย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ลงพื้นที่จังหวัดระนอง เพื่อเยี่ยมชมสถานประกอบการ 2 แห่ง ได้แก่ บริษัท สยามชัยอาหารสากล จำกัด ผู้ผลิตผลิตภัณฑ์อาหารทะเลแช่แข็งและผลิตภัณฑ์ซูริมิ ซอฟท์เซลล์ สินค้าปู สินค้ากุ้ง และบริษัท มินเนอรัล รีซอร์สเซส ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (เหมืองดินขาว MRD)

โดยบริษัท สยามชัยอาหารสากล จำกัด ได้รับมาตรฐาน BRC, ISO 9000 ปี 2015, GMP, HACCP, HALAL เป็นต้น รวมทั้งได้รับรางวัลอุตสาหกรรมสีเขียว ระดับ 2 และยังเข้าร่วมโครงการของกระทรวงอุตสาหกรรม ในการติดตั้งระบบ Sensor เพื่อควบคุมค่ามาตรฐานต่างๆ ในสถานที่เก็บ เพื่อให้สามารถแสดงค่าของปัจจัยได้ตลอดเวลา ผ่านระบบ loT on Cloud เพื่อให้ได้มาตรฐานความปลอดภัย และเพิ่มประสิทธิภาพสถานประกอบกิจการด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล นอกจากนี้บริษัทฯ ยังได้เข้าร่วมโครงการพลิกธุรกิจ SMEs ไทย สู่การผลิตสมัยใหม่ 4.0 ปี 2565 ด้วย ในการเยี่ยมชม บริษัทฯ ได้ชี้แจงถึงปัญหา อุปสรรคที่พบทั้งค่าพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้นส่งผลให้ผู้ประกอบการมีต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น และไม่สามารถคุมราคาขายกับผู้บริโภคได้ ซึ่งในปี 2567 กระทรวงฯ ได้เตรียมที่จะส่งเสริมเรื่องการลดใช้พลังงานในโรงงาน อบรมการใช้เทคโนโลยีและอุปกรณ์ เครื่องจักร รวมทั้งการจัดการ Logistic เพื่อทำ Cost Cutting เป็นต้น

ส่วนบริษัท มินเนอรัล รีซอร์สเซส ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (เหมืองดินขาว MRD) ซึ่งเป็นบริษัทฯ ผลิตแร่ดินขาวได้ปริมาณและคุณภาพที่ดี สามารถผลิตป้อนอุตสาหกรรมต่างๆ ส่งแร่ดินขาวให้กลุ่มอุตสาหกรรมภายในประเทศ ประมาณร้อยละ 80 และส่งออกต่างประเทศ ร้อยละ 20 ได้รับมาตรฐานระบบบริหารงานคุณภาพ มอก. 9001-2559 และระบบการจัดการอาชีวอนามัย และความปลอดภัย มอก. 45001-2561 เข้าร่วมโครงการ CSR-DRIM ตั้งแต่ปี 2555 และเข้าร่วมเครือข่าย CSR-DRIM ตั้งแต่ปี 2557 และได้รับมาตรฐานเหมืองแร่สีเขียวประจำปี 2566 และ การรับรองอุตสาหกรรมสีเขียวระดับ 2 ตั้งแต่ปี 2554 และระดับ 3 ตั้งแต่ปี 2560 ผลการดำเนินงานที่ผ่านมาของบริษัทฯ มีการดำเนินธุรกิจที่มีประสิทธิภาพและมีความรับผิดชอบต่อสังคม โดยมีการปฏิบัติตามมาตรฐานสากลและมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนในพื้นที่ 

อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ ยังคงมีอุปสรรคและปัญหาบางประการที่ต้องได้รับการแก้ไขและสนับสนุนจากภาครัฐ เช่น ปัญหาการแข่งขันกับสินค้านำเข้าที่ราคาถูก ปัญหาขาดแคลนแรงงาน ปัญหาต้นทุนพลังงานสูง ปัญหาความซับซ้อนและใช้เวลานานในการขออนุญาตและประทานบัตร และปัญหาระยะเวลาในการขออนุญาตนำแร่ออกนอกเขตไหล่ทวีป ทั้งนี้ ในปี 2567 กระทรวงฯ จะเข้าไปส่งเสริมการสร้างมาตรการปกป้องผู้ผลิตในประเทศ การพัฒนาฝีมือแรงงาน และการให้ความรู้ภาษาอังกฤษ สนับสนุน/ส่งเสริมการใช้เครื่องจักร ทดแทนแรงงานและเพิ่มประสิทธิภาพ ส่งเสริมการใช้วัตถุดิบในประเทศ ผลักดันให้มีเจ้าหน้าที่ด้านเหมืองแร่ประจำที่จังหวัดระนอง การจ่ายค่าภาคหลวงออนไลน์ที่จังหวัดระนอง เป็นต้น

“บริษัทฯ ทั้งสองแห่งมีการดำเนินธุรกิจที่มีประสิทธิภาพและมีความรับผิดชอบต่อสังคม โดยได้รับมาตรฐานสากลและมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนในพื้นที่ อย่างไรก็ตาม บริษัททั้งสองแห่งยังคงมีอุปสรรคและปัญหาบางประการที่ต้องได้รับการแก้ไขและสนับสนุนจากภาครัฐ เช่น ปัญหาการแข่งขันกับสินค้านำเข้าที่ราคาถูก ปัญหาขาดแคลนแรงงาน ปัญหาต้นทุนพลังงานสูง ปัญหาความซับซ้อนและใช้เวลานานในการขออนุญาตและประทานบัตร และปัญหาระยะเวลาในการขออนุญาตนำแร่ออกนอกเขตไหล่ทวีป กระทรวงฯได้กำหนดแนวทางการส่งเสริมและสนับสนุนบริษัททั้งสองแห่ง โดยในปี 2567 จะให้การส่งเสริมเรื่องการลดใช้พลังงานในโรงงาน อบรมการใช้เทคโนโลยี และอุปกรณ์ เครื่องจักร รวมทั้งการจัดการ Logistic เพื่อทำ Cost Cutting หรือการสร้างมาตรการปกป้องผู้ผลิตในประเทศ พัฒนาฝีมือแรงงาน และการให้ความรู้ภาษาอังกฤษ สนับสนุน/ส่งเสริมการใช้เครื่องจักร ทดแทนแรงงานและเพิ่มประสิทธิภาพ ส่งเสริมการใช้วัตถุดิบในประเทศ ผลักดันให้มีเจ้าหน้าที่ด้านเหมืองแร่ประจำที่จังหวัดระนอง การจ่ายค่าภาคหลวงออนไลน์ที่จังหวัดระนอง เป็นต้น เชื่อว่าแนวทางการส่งเสริมและสนับสนุนดังกล่าว จะช่วยส่งเสริมให้บริษัททั้งสองแห่ง สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับประเทศ และสร้างประโยชน์ให้กับชุมชนในพื้นที่อย่างยั่งยืน” นางสาวพิมพ์ภัทรา กล่าว

ขณะที่ในช่วงเย็น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้ลงพื้นที่ท่าเรือชุมพร (แหลมริ่ว) และท่าเรือระนองแห่งใหม่ (อ่าวอ่าง) เพื่อเยี่ยมชมพื้นที่พัฒนาโครงสร้างด้านการคมนาคมขนส่งของประเทศ เชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและทะเลอันดามัน ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (Southern Economic Corridor : SEC) ภายใต้ชื่อ ‘โครงการแลนด์บริดจ์’ เพื่อเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงการค้าและโลจิสติกส์กับพื้นที่เศรษฐกิจหลักของประเทศ และภูมิภาคฝั่งทะเลอันดามัน (BIMSTEC) เพื่อเป็นฐานการพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพและการแปรรูปเกษตรมูลค่าสูง ยกระดับคุณภาพมาตรฐานการท่องเที่ยวสู่นานาชาติ

'พฤกษา' จับมือ 'ออริจิ้น' ร่วมทุนปั้น 3 โปรเจกต์ 'โรงแรม-คอนโด-บ้านเดี่ยว' มูลค่า 8,700 ล้าน

(22 ม.ค. 67) นายอุเทน โลหชิตพิทักษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัท พฤกษา โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ PSH เปิดเผยว่า ‘พฤกษา’ ได้ลงนามในสัญญาร่วมทุนกับ 3 บริษัทในเครือ ‘ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้’ ได้แก่ บริษัท วัน ออริจิ้น จำกัด (มหาชน) หรือ ONEO บริษัท พาร์ค ลักชัวรี่ จำกัด หรือ PARK และบริษัท บริทาเนีย จำกัด (มหาชน) หรือ BRI เพื่อก่อสร้างและพัฒนา 3 โครงการ ได้แก่ 

(1) การร่วมทุนในธุรกิจโครงการมิกซ์ยูส ประกอบด้วย โรงแรม เซอร์วิสอพาร์ตเมนต์ และศูนย์บริการด้านสุขภาพ ทำเลสุขุมวิท มูลค่าโครงการประมาณ 5,000 ล้ านบาท 

(2) การร่วมทุนเพื่อพัฒนาโครงการคอนโดมิเนียมระดับพรีเมียม ย่านพหลโยธิน มูลค่าโครงการ ประมาณ 2,800 ล้านบาท 

และ (3) การพัฒนาโครงการบ้านเดี่ยวระดับพรีเมียม ย่านเพชรเกษม มูลค่าโครงการประมาณ 980 ล้านบาท ในอัตราส่วนการลงทุน 50:50

“สำหรับการร่วมทุนเชิงกลยุทธ์ในการพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ครั้งนี้นับเป็นข้อตกลงที่ได้รับประโยชน์ร่วมกันของทั้งสองบริษัท (Win-Win) และจะก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด จากการนำทรัพยากรและที่ดินของทั้งสองบริษัทที่มีอยู่แล้วมาพัฒนาโครงการ แชร์เทคโนโลยีและโนว์ฮาวโดยนำจุดแข็งของกลุ่ม ‘พฤกษา’ ที่มีความแข็งแกร่งด้านเงินทุน 

พร้อมมุ่งพัฒนาการอยู่อาศัยที่ ‘อยู่ดี มีสุข’ ด้วยนวัตกรรมเพื่อการอยู่อาศัยและการดูแลสุขภาพแบบครบวงจร ด้วยการสนับสนุนจากกลุ่มธุรกิจในเครือที่หลากหลาย ทั้งธุรกิจพัฒนาและก่อสร้างอสังหาริมทรัพย์ ธุรกิจเฮลธ์แคร์ ได้แก่ โรงพยาบาลวิมุต และโรงพยาบาลเทพธารินทร์ พร้อมด้วยธุรกิจอีคอมเมิร์ซที่พัฒนาเทคโนโลยีสมาร์ทโฮม MyHaus ตัวช่วยที่ส่งเสริมเรื่องที่อยู่อาศัย ให้ผู้คนมีชีวิตที่ง่ายและสะดวกขึ้น ไปจนถึงการสร้างที่อยู่อาศัยด้วยความใส่ใจในเรื่องสิ่งแวดล้อมด้วยนวัตกรรมแผ่นพรีคาสท์คาร์บอนต่ำจากอินโน พรีคาสท์ในเครือพฤกษา ประกอบกับความเชี่ยวชาญด้านการควบคุมคุณภาพการก่อสร้าง เมื่อผนึกกำลังกับจุดแข็งของ ‘ออริจิ้น’ ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในธุรกิจโรงแรมและการบริการ (Hospitality) และอสังหาริมทรัพย์เพื่อการพาณิชย์ 

จึงเชื่อมั่นว่า ด้วยศักยภาพ และข้อได้เปรียบจากทั้ง ‘พฤกษา’ และ ‘ออริจิ้น’ จะร่วมกันส่งเสริมให้ทั้ง 3 โครงการร่วมทุนนี้ประสบความสำเร็จ ส่งมอบความอยู่ดี มีสุขให้คนในสังคม และจะได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี ซึ่งความร่วมมือทางธุรกิจครั้งนี้ พฤกษาจะได้ประโยชน์จากการนำที่ดินที่มีอยู่ในมือมาใช้พัฒนาผ่านแบรนด์ใหม่เพื่อสร้างฐานลูกค้าเพิ่มขึ้น และเป็นการเพิ่มช่องทางเพื่อการสร้างการรับรู้รายได้อย่างต่อเนื่อง (Recurring Income) อีกด้วย” นายอุเทน กล่าว

นายพีระพงศ์ จรูญเอก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) หรือ ORI ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ครบวงจร กล่าวว่า การได้พฤกษามาเป็นพันธมิตรร่วมพัฒนาโครงการต่าง ๆ จะก่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนนวัตกรรม เทคโนโลยี องค์ความรู้ ความเชี่ยวชาญต่าง ๆ ระหว่างกัน และช่วยให้ยกระดับการพัฒนาคุณภาพการก่อสร้างโครงการ การออกแบบฟังก์ชันและพื้นที่ในอาคาร เติมเต็มความต้องการของการใช้ชีวิตในแต่ละทำเลได้อย่างยอดเยี่ยม

“ในไทยเราอาจไม่ค่อยเห็นผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่จับมือร่วมทุนกันเอง แต่ในต่างประเทศ เช่น ญี่ปุ่น มีความร่วมมือระหว่างผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์เกิดขึ้นเป็นเรื่องปกติ เพราะแต่ละรายต่างมีความถนัด ความเชี่ยวชาญในเซกเมนตฺและทำเลแตกต่างกัน โดยเครือออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ มุ่งมั่นพัฒนาและสร้างสรรค์ฟังก์ชันและนวัตกรรมที่ตอบโจทย์การอยู่อาศัยและการพักผ่อนของคนยุคใหม่ เช่น การพัฒนาคอนโดฯ สำหรับกลุ่ม Pet Lover การพัฒนาห้องแบบ Duo Space เพดานสูง 4.2 เมตร บ้านเดี่ยวที่ใส่ใจ Universal Design ทางด้านพฤกษาเองเป็นผู้พัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ มีความเชี่ยวชาญในด้านนวัตกรรมการก่อสร้าง และประสบการณ์การพัฒนาโครงการมากมายจึงเชื่อว่าการร่วมมือในครั้งนี้จะสามารถมาช่วยเติมเต็มความถนัดและโอกาสซึ่งกันและกันได้ เราเชื่อมั่นว่าความร่วมมือระหว่างออริจิ้นและพฤกษาในครั้งนี้จะเป็นมิติใหม่ของวงการอสังหาริมทรัพย์ไทย ที่บริษัทระดับท็อปของตลาด 2 ราย มารวมพลังกัน พัฒนาทั้งโรงแรม คอนโดมิเนียม และบ้านเดี่ยว ยกระดับการพักผ่อนและการอยู่อาศัยให้แก่ผู้บริโภค” นายพีระพงศ์ กล่าว

สำหรับ บริษัท พฤกษา โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ PSH ประกอบธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่อขาย ธุรกิจการให้บริการด้านสุขภาพ และการลงทุนในธุรกิจใหม่ที่เกี่ยวเนื่องกับสองธุรกิจหลัง เพื่อสร้างรายได้ประจำ โดยปัจจุบัน ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์แบ่งเป็น 3 กลุ่มผลิตภัณฑ์ ได้แก่

(1) กลุ่มผลิตภัณฑ์ทาวน์เฮาส์ ซึ่งมีโครงการที่เปิดขายภายใต้ชื่อแบรนด์ ดังนี้ บ้านกรีนเฮาส์ (Baan GreenHaus) บ้านพฤกษา (Baan Pruksa) พฤกษาวิลล์ (Pruksa Ville) เดอะ คอนเนค (The Connect) และพาทิโอ (Patio)

(2) กลุ่มผลิตภัณฑ์บ้านเดี่ยว ภายใต้ชื่อแบรนด์ เดอะ แพลนท์ (The Plant) ภัสสร (Passorn) และเดอะ ปาล์ม (The Palm)

และ (3) กลุ่มผลิตภัณฑ์คอนโดฯ ภายใต้ชื่อแบรนด์ พลัม คอนโด (Plum Condo) เดอะ ทรี (The Tree) แชปเตอร์ (Chapter) แชปเตอร์ วัน (Chapter One) เดอะ ไพรเวซี่ (The Privacy) และเดอะ รีเซิร์ฟ (The Reserve) โดยส่งมอบที่อยู่อาศัยเพื่อคนไทยไปแล้วมากกว่า 260,000 ครอบครัว 

สำหรับธุรกิจด้านสุขภาพมีโรงพยาบาลวิมุต เป็นโรงพยาบาลแห่งแรกของกลุ่มธุรกิจ และในปี 2564 วิมุตฯ ได้เข้าลงทุนในกิจการโรงพยาบาลเทพธารินทร์เพิ่มเติม และ PSH ได้ขยายธุรกิจใหม่ด้านอีคอมเมิร์ซด้วยการก่อตั้งบริษัท ซินเนอร์จี โกรท จำกัด เพื่อใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเป็นเครื่องมือในการขยายธุรกิจ รวมทั้งก่อตั้งบริษัท อินโน พรีคาสท์ จำกัด เพื่อรองรับความต้องการด้านพรีคาสท์ในตลาดธุรกิจก่อสร้าง และมีการลงทุนอื่น ๆ เพื่อส่งเสริมและเพิ่มความสามารถในการสร้างผลกำไร สร้างรายได้ประจำอย่างต่อเนื่อง

สำหรับ บริษัท ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) หรือ ORI มีโครงสร้างธุรกิจหลากหลาย ประกอบด้วย

1.ธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัยเพื่อการขาย (Residential Development Business) พัฒนาคอนโดมิเนียมและบ้านจัดสรรมาแล้ว 158 โครงการ (ณ สิ้นไตรมาส 4/2566) เช่น แบรนด์ พาร์ค ออริจิ้น (Park Origin) โซ ออริจิ้น (So Origin) ออริจิ้น ปลั๊ก แอนด์ เพลย์ (Origin Plug & Play) ไนท์บริดจ์ (Knightsbridge) นอตติ้ง ฮิลล์ (Notting Hill) ออริจิ้น เพลส (Origin Place) ดิ ออริจิ้น (The Origin) เคนซิงตัน (Kensington) แฮมป์ตัน (Hampton) ออริจิ้น เพลย์ (Origin Play) บริกซ์ตัน (Brixton) และบริทาเนีย (Britania) รวมมูลค่าโครงการกว่า 240,661 ล้านบาท

2.ธุรกิจที่สร้างรายได้ประจำ (Recurring Income Business) เช่น โรงแรม เซอร์วิส อพาร์ตเมนต์ ค้าปลีก

3.ธุรกิจบริการ (Service Business) เช่น ธุรกิจให้บริการลูกบ้าน ธุรกิจการจัดการอสังหาริมทรัพย์ ธุรกิจตัวแทนซื้อ ขาย เช่า อสังหาริมทรัพย์ ธุรกิจที่ปรึกษาด้านอสังหาริมทรัพย์

และ 4.ธุรกิจเมกะเทรนด์ระยะยาว (Mega Trends) กลุ่มธุรกิจใหม่ที่มีแนวโน้มเติบโตในระยะยาว เช่น ธุรกิจโลจิสติกส์ ธุรกิจเฮลท์แคร์ ธุรกิจพลังงาน ธุรกิจด้านการเงิน ธุรกิจเอนเตอร์เทนเมนต์ เพื่อยกระดับคุณภาพการใช้ชีวิตของผู้บริโภคแบบครบวงจร

‘ก.พลังงาน’ เล็งใช้สิทธิทางภาษีจูงใจ ‘ภาคเอกชน’ หันมาใช้เครื่องจักรคุณภาพสูง เพื่อลดการใช้พลังงาน

(23 ม.ค.67) นายชำนาญ กายประสิทธิ์ รองอธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดการสัมมนา ‘การส่งเสริมการผลิต การใช้และการปรับเปลี่ยนเครื่องจักร วัสดุ และอุปกรณ์ประสิทธิภาพสูง ด้วยการใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษี’ ภายใต้โครงการพัฒนาและติดตามผล มาตรการทางภาษีเพื่อการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ว่า การดำเนินงานโครงการนั้นเป็นการศึกษาแนวทางการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี เพื่อส่งเสริมการลงทุนและการปรับมาใช้เครื่องจักร วัสดุ และอุปกรณ์ที่มีประสิทธิภาพพลังงาน โดยใช้กลไกทางการเงินเพื่อเป็นการสร้างแรงจูงใจให้เกิดการลงทุนและการปรับเปลี่ยนมาใช้เครื่องจักร วัสดุ และอุปกรณ์ที่มีประสิทธิภาพสูง ด้วยการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานของประเทศ

ด้าน นายสมชาติ ตั้งลิขสิทธิ์ ผู้อำนวยการกองส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน กล่าวว่า พพ. ได้ดำเนินการศึกษาโครงสร้างภาษี ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการพลังงานและสิ่งแวดล้อม รวมถึงรูปแบบสิทธิประโยชน์ทางภาษี เครื่องจักร อุปกรณ์และกิจกรรมที่ให้สิทธิประโยชน์ ผู้รับสิทธิประโยชน์ และอัตราภาษีที่ได้รับสิทธิประโยชน์ ที่ได้ดำเนินการในประเทศไทย และในต่างประเทศ

พร้อมกันนี้ ยังได้จัดประชุมหารือและรับฟังความคิดสำหรับ (ร่าง) แนวทางและหลักเกณฑ์การส่งเสริมการผลิตการใช้ และการปรับเปลี่ยนเครื่องจักร วัสดุ และอุปกรณ์ประสิทธิภาพสูงด้วยสิทธิประโยชน์ทางภาษี กับหน่วยงานภาครัฐ และเอกชน

อย่างไรก็ดี ได้มีผลการศึกษาแนวทางในการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีที่เหมาะสมต่อประเทศไทย คือ รูปแบบการยกเว้นภาษีเงินได้ โดยหักเป็นค่าใช้จ่ายก่อนการคำนวณภาษี และสนับสนุนอุปกรณ์ที่ติดฉลากประหยัดพลังงานประสิทธิภาพสูง, อุปกรณ์ที่ติดฉลากแสดงระดับประสิทธิภาพพลังงาน เพื่อผลักดันให้มีการเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพสูงมากยิ่งขึ้น และยังช่วยลดการใช้พลังงานในภาพรวมของประเทศ ภายใต้เงื่อนไขอัตราภาษีที่จะนำไปคำนวณสิทธิประโยชน์ที่เหมาะสมนั้น จะต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ด้านพลังงานที่จะได้รับ

อย่างไรก็ตาม แนวทางที่ได้จากการศึกษาจำเป็นต้องมีการนำเสนอต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณาก่อนดำเนินการต่อไป

‘รมว.พีระพันธุ์’ เดินหน้าให้ความรู้ด้าน ‘พลังงาน’ แก่คนไทย หนุนผลิต-ใช้ ‘พลังงานทดแทน’ ปักหมุด ‘ไทย’ สู่ศูนย์กลางเอเชีย

(23 ม.ค. 67) เพจเฟซบุ๊ก ‘พรรครวมไทยสร้างชาติ United Thai Nation Party’ โพสต์ข้อความในหัวข้อ รมว.พลังงานลงพื้นที่ จ.ชุมพร เปิดกิจกรรม ‘คาราวานความสุข @ชุมพร’ หนุนชุมชนใช้พลังงานทดแทน โดยระบุว่า…

เมื่อวันที่ 22 มกราคม นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พลังงาน ลงพื้นที่จังหวัดชุมพร เปิดงาน ‘กระทรวงพลังงาน คาราวานความสุข @ ชุมพร’ ตามนโยบายสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน เพื่อวางรากฐานให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางพลังงานในภูมิภาคเอเชีย และ สร้างเศรษฐกิจฐานรากให้มีความเข้มแข็งจากภาคพลังงาน โดยมีหัวหน้าส่วนราชการ ผู้นำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้นำองค์กรเอกชน กลุ่มพลังมวลชน ร่วมพิธีกว่า 2,000 คน ณ ลานกิจกรรมเทศบาลเมืองชุมพร อำเภอเมืองชุมพร จังหวัดชุมพร 

นายพีระพันธุ์ ให้สัมภาษณ์ว่า กิจกรรมครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของแคมเปญ ‘พลังงานสร้างสุข ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ มั่นคง เป็นธรรม ยั่งยืน เพื่อคนไทยทุกคน’ เพื่อประชาสัมพันธ์ เกี่ยวกับนโยบายด้านการส่งเสริมสนับสนุนการผลิตและใช้พลังงานทดแทนและการอนุรักษ์พลังงาน สร้างความเข้าใจและเข้าถึงองค์ความรู้ด้านพลังงานทดแทนและการอนุรักษ์พลังงาน ไปยังกลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน ผู้ประกอบการอาคาร โรงงานและประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

ทั้งนี้ มีการประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ด้านพลังงานและส่งเสริมผลิตภัณฑ์ด้านพลังงานและสินค้าชุมชนให้มีโอกาสพบผู้บริโภคได้โดยตรง รวมทั้งสร้างเครือข่ายระหว่างผู้ประกอบการและชุมชนต่าง ๆ ให้สามารถแลกเปลี่ยน ซื้อขาย ตลอดจนตกลงร่วมมือทางด้านพลังงานทดแทนและการอนุรักษ์พลังงาน เสริมสร้างและพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคการผลิตและบริการสร้างความเชื่อมโยงของห่วงโซ่มูลค่าระหว่างภาคเกษตร อุตสาหกรรม บริการ และเพื่อเป็นกรณีตัวอย่างแก่ผู้ประกอบการและชุมชนอื่น ๆ ให้เกิดการขยายผลในวงกว้าง

'กรมพัฒนาธุรกิจฯ' เผย!! ปี 66 ต่างชาติลงทุนไทยเฉียด 1.3 แสนล้าน พบ!! 'ญี่ปุ่น-สิงคโปร์' มาแรง ส่วนเม็ดเงินสะพัดอยู่ในธุรกิจรับจ้างผลิต

(23 ม.ค.67) นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์เปิดเผยว่า กรมพัฒนาธุรกิจการค้าจะนำข้อมูลของปีที่ผ่านมาจากคลังข้อมูลธุรกิจที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย DBD DataWarehouse+ มาทำการวิเคราะห์และประมวลผลภาพรวมการลงทุนในประเทศ สะท้อนถึงความเชื่อมั่นและเสถียรภาพทางเศรษฐกิจประเทศในสายตานักลงทุนทั้งคนไทยและต่างชาติ รวมทั้ง นักลงทุนสามารถนำไปใช้เป็นข้อมูลเบื้องต้นสำหรับวิเคราะห์คู่แข่งทางการตลาดก่อนตัดสินใจลงทุน ทำให้เกิดความมั่นใจและพร้อมลงทุนในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง  

สำหรับภาพรวมการลงทุนในประเทศไทยตลอดปี 2566 ประมวลผลออกมาเป็น ‘ที่สุดแห่งปี 2566 ด้านการลงทุนในประเทศไทย’ พบว่า ในส่วนของการลงทุนของคนไทยในประเทศไทย : การจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจใหม่ในประเทศ พบว่า ปี 2566 เป็นปีที่มียอดการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจใหม่สูงสุดในรอบ 10 (ปี 2557-2566) โดยปี 2566 มีนักลงทุนจดทะเบียนฯ จำนวนรวมทั้งสิ้น 85,300 ราย เพิ่มขึ้นจากปี 2565 จำนวน 8,812 ราย หรือ 12% มูลค่าทุน 562,469.64 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2565 จำนวน 132,640.83 ล้านบาท หรือ 31% (ปี 2565 จัดตั้ง 76,488 ราย ทุน 429,828.81 ล้านบาท)

เมื่อทำการวิเคราะห์การจัดตั้งนิติบุคคลปี 2566 พบว่า จำนวนการจดทะเบียนจัดตั้งเพิ่มขึ้นกว่า 12% ได้รับปัจจัยสนับสนุนหลักจากธุรกิจในภาคต่างๆ ทั้งธุรกิจภาคบริการ ภาคค้าส่ง/ค้าปลีก และภาคการผลิต โดยในส่วนของภาคบริการ คิดเป็น 58% ของจำนวนการจัดตั้งทั้งหมด โดยมีธุรกิจหลักที่ขับเคลื่อนให้เกิดการขยายตัวของการจดทะเบียนเพิ่มขึ้น คือ ธุรกิจกิจกรรมเกี่ยวกับแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ 366 ราย เติบโต 1.46 เท่า ธุรกิจกิจกรรมของสำนักงานจัดหางานหรือตัวแทนจัดหางาน 43 ราย เติบโต 1.39 เท่า และ ธุรกิจกิจกรรมบริการที่เกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์โดยได้รับค่าตอบแทนหรือตามสัญญาจ้าง 707 ราย เติบโต 1.36 เท่า

ภาคค้าส่ง/ค้าปลีก คิดเป็น 32% ของจำนวนการจัดตั้งธุรกิจทั้งหมด มีธุรกิจหลักที่ขับเคลื่อนให้เกิดการขยายตัวของการจดทะเบียนเพิ่มขึ้น ได้แก่ ธุรกิจการขายปลีกเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ชนิดใช้ในครัวเรือนบนแผงลอยและตลาด 16 ราย เติบโต 2.20 เท่า ธุรกิจการขายส่งข้าวเปลือกและธัญพืช 203 ราย เติบโต 1.51 เท่า และธุรกิจการขายส่งอิฐหินปูนทรายและผลิตภัณฑ์คอนกรีต 66 ราย เติบโต 1.06 เท่า และเมื่อพิจารณาในส่วนของ

ภาคการผลิต คิดเป็น 10% ของจำนวนการจัดตั้งธุรกิจทั้งหมด โดยมีธุรกิจหลักที่ขับเคลื่อนให้เกิดการขยายตัวของการจดทะเบียนเพิ่มขึ้น ได้แก่ ธุรกิจการผลิตเครื่องมือกล 18 ราย เติบโต 2.60 เท่า ธุรกิจการผลิตแผ่นวงจรอิเล็กทรอนิกส์ 17 ราย เติบโต 2.40 เท่า และ ธุรกิจการผลิตส่วนประกอบอิเล็กทรอนิกส์ 88 ราย เติบโต 1.59 เท่า

สำหรับการจัดตั้งธุรกิจทั่วประเทศมีจำนวนทั้งสิ้น 85,300 ราย เป็นการจัดตั้งธุรกิจในพื้นที่กรุงเทพมหานคร 25,120 ราย (29%) และ ภูมิภาค 60,180 ราย (71%) หากพิจารณาตามเขตภูมิภาค แบ่งออกเป็น 6 ภาค คือ ภาคกลาง มีสัดส่วนการจัดตั้งธุรกิจสูงสุด 17,581 ราย (20.61%) ภาคใต้ 11,675 ราย (13.69%) ภาคตะวันออก 10,948 ราย (12.83%) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 8,942 ราย (10.48%) ภาคเหนือ 8,604 ราย (10.09%) และภาคตะวันตก 2,430 ราย (2.85%) โดยทุกภาคมีอัตราการเติบโตของจำนวนการจัดตั้งที่เพิ่มสูงขึ้นจากปี 2565 ที่ผ่านมา ยกเว้น ภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่มีอัตราการเติบโตลดลงในปี 2566

ขณะที่พื้นที่การจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจในเขตภูมิภาค ปี 2566 จังหวัดที่มีการจัดตั้งนิติบุคคลสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ จ.ชลบุรี 7,370 ราย จ.ภูเก็ต 4,983 ราย และจ.นนทบุรี 4,583 ราย โดยจังหวัดที่มีอัตราการเติบโตของจำนวนการจัดตั้งสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ จ.ภูเก็ต เติบโต 40.82% จ.สุราษฎร์ธานี เติบโต 32.16% และ จ.พังงา เติบโต 21.99% ซึ่ง 3 จังหวัดดังกล่าวอยู่ในพื้นที่เศรษฐกิจที่สำคัญ ทั้งด้านการท่องเที่ยว การลงทุน

>> การเลิกประกอบธุรกิจ ปี 2566

ปี 2566 มีจำนวนธุรกิจที่เลิกประกอบกิจการทั้งสิ้น 23,380 ราย เพิ่มขึ้นจากปี 2565 จำนวน 1,500 ราย (7%) มูลค่าทุนเลิกประกอบกิจการ 160,056.48 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2565 จำนวน 33,008.08 ล้านบาท (26%) (ปี 2565 เลิกประกอบธุรกิจ 21,880 ราย ทุน 127,048.39 ล้านบาท)

ประเภทธุรกิจที่มีการเลิกประกอบกิจการสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ 1. ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป 2,166 ราย (9.26%) 2. ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ 1,146 ราย (4.90%X และ 3. ธุรกิจภัตตาคาร/ร้านอาหาร เลิกประกอบธุรกิจ 699 ราย (2.99%)

นายอรมน ยังกล่าวถึงที่สุดแห่งปี 2566 ด้านการลงทุนของชาวต่างชาติในประเทศไทย ภายใต้พระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542

ปี 2566 อนุญาตให้คนต่างชาติเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในประเทศไทย ภายใต้พระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 รวมทั้งสิ้น 667 ราย เงินลงทุนรวม 127,532 ล้านบาท จ้างงานคนไทยรวม 6,845 คน เป็นการลงทุนผ่านช่องทางการขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว 228 ราย และการขอหนังสือรับรองการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว (ผ่านช่องทางการลงทุนตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน หรือได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และการใช้สิทธิตามสนธิสัญญาหรือความตกลงระหว่างประเทศ) 439 ราย

>> 10 ประเทศที่เป็นที่สุดของการลงทุนในประเทศไทย

‘ญี่ปุ่น’เป็นประเทศที่เข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในประเทศไทยเป็นอันดับ 1 ทั้งจำนวนนักลงทุนและจำนวนเงินลงทุน โดยมีนักลงทุนจำนวน 137 ราย (20.5 %) เงินลงทุนรวม 32,148 ล้านบาท (25.2%) และลำดับอื่นๆ ที่ไล่ลงมามีดังนี้

อันดับที่ 2 สิงคโปร์ มีนักลงทุน 102 ราย (15.3%) และทุน 25,405 ล้านบาท (19.9%)
อันดับที่ 3 สหรัฐอเมริกา มีนักลงทุน 101 ราย (15.1%) และทุน 4,291 ล้านบาท (3.4%)
อันดับที่ 4 จีน มีนักลงทุน 59 ราย (8.9%) และทุน 16,059 ล้านบาท (12.6%)
อันดับที่ 5 ฮ่องกง มีนักลงทุน 34 ราย (5.1%) และทุน 17,325 ล้านบาท (13.6%)
อันดับที่ 6 เยอรมนี มีนักลงทุน 26 ราย (3.9%) และทุน 6,087 ล้านบาท (4.8%)
อันดับที่ 7 สวิตเซอร์แลนด์ มีนักลงทุน 23 ราย (3.5%) และทุน 2,960 ล้านบาท (2.3%)
อันดับที่ 8 เนเธอร์แลนด์ มีนักลงทุน 20 ราย (3.0%) และทุน 911 ล้านบาท (0.7%)
อันดับที่ 9 สหราชอาณาจักร มีนักลงทุน 19 ราย (2.9%) และทุน 433 ล้านบาท (0.3%)
อันดับที่ 10 ไต้หวัน มีนักลงทุน 18 ราย (2.7%) และทุน 1,125 ล้านบาท (0.9%)

>> 10 ประเภทธุรกิจที่นักลงทุนต่างชาติสนใจเข้ามาประกอบธุรกิจในประเทศไทย

อันดับที่ 1 บริการรับจ้างผลิต จำนวน 136 ราย (20.4%) และทุน 42,644 ล้านบาท (33.4%)
อันดับที่ 2 บริการด้านคอมพิวเตอร์ จำนวน 68 ราย (10.2%) และทุน 1,434 ล้านบาท (1.1%)
อันดับที่ 3 บริการให้คำปรึกษา จำนวน 62 ราย (9.3%) และทุน 7,803 ล้านบาท (6.1%)
อันดับที่ 4 ค้าส่งสินค้า จำนวน 58 ราย (8.7%) และทุน 7,873 ล้านบาท (6.2%)
อันดับที่ 5 บริการทางวิศวกรรม จำนวน 46 ราย (6.9%) และทุน 2,756 ล้านบาท (2.2%)
อันดับที่ 6 บริการให้เช่า จำนวน 45 ราย (6.8%) และทุน 16,096 ล้านบาท (12.6%)
อันดับที่ 7 ค้าปลีกสินค้า จำนวน 41 ราย (6.2%) และทุน 1,635 ล้านบาท (1.3%)
อันดับที่ 8 บริการทางการเงิน จำนวน 23 ราย (3.5%) และทุน 6,805 ล้านบาท (5.3%)
อันดับที่ 9 คู่สัญญาเอกชน จำนวน 22 ราย (3.3%) และทุน 689 ล้านบาท (0.5%)
อันดับที่ 10 นายหน้า จำนวน 20 ราย (3.0%) และทุน 1,697 ล้านบาท (1.3%)

'รมว.พีระพันธุ์' มอบนโยบายพลังงานสู่ 7 จังหวัดภาคใต้ ช่วยชาวบ้านเข้าถึง 'พลังงานทดแทน' ต่อยอดวิสาหกิจชุมชน

(24 ม.ค. 67) นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานพร้อมคณะผู้บริหารกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ได้ดำเนินการมอบนโยบายให้กับพลังงานจังหวัดทั้ง 7 จังหวัดที่เข้าร่วมนำเสนอผลิตภัณฑ์จากวิสาหกิจชุมชน โดยให้พลังงานจังหวัดเป็นตัวแทนของกระทรวงพลังงานในการสำรวจพื้นที่ต่างๆ รวมถึงสอบถามความต้องการของประชาชนในส่วนที่กระทรวงพลังงานจะสามารถเข้าไปให้ความช่วยเหลือและสนับสนุนให้ประชาชนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นได้

ทั้งนี้ หลายวิสาหกิจชุมชนที่ได้รับการสนับสนุนเทคโนโลยีและความรู้จากพลังงานจังหวัด ทำให้ชาวบ้านสามารถแปรรูปอาหารและผลิตภัณฑ์ต่างๆ จนทำให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น โดยการส่งเสริมเทคโนโลยีพลังงานทดแทนให้กับประชาชน จึงมีความสำคัญ และเป็นหน้าที่ที่ข้าราชการและเจ้าหน้าที่กระทรวงพลังงาน โดยเฉพาะพลังงานจังหวัดต้องเข้าไปให้ความช่วยเหลือ 

ดังนั้น จึงต้องการให้พลังงานจังหวัดทุกจังหวัดช่วยกันสำรวจพื้นที่ ทำหน้าที่ใกล้ชิดประชาชน รวมถึงพื้นที่ที่ไม่มีไฟฟ้าใช้ เพื่อให้ประชาชนได้มีไฟฟ้าใช้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และมีรายได้จากการใช้เทคโนโลยีพลังงาน 

‘นทท.ต่างชาติ’ เข้าไทย 15-21 ม.ค. ทะลุ 7 แสนคน อานิสงส์ ‘ฟรีวีซ่า’ ไม่แผ่ว ‘นทท.จีน’ ทะลัก 1.2 แสนคน

(23 ม.ค. 67) นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยว่า จากกองเศรษฐกิจการท่องเที่ยวและกีฬา พบว่า สัปดาห์ที่ผ่านมานักท่องเที่ยวกลุ่มตลาดระยะใกล้มีการฟื้นตัว โดยเฉพาะกลุ่มนักท่องเที่ยวจีน เป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามามากที่สุด โดยมีปัจจัยจากความต้องการท่องเที่ยวต่างประเทศ และจำนวนเที่ยวบินที่เพิ่มขึ้นของจีน การยกเว้นการตรวจลงตราหนังสือเดินทาง หรือวีซ่าฟรี ให้แก่นักท่องเที่ยวจีน 

ส่งผลให้สัปดาห์ที่ผ่านมา ในภาพรวมไทยมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งสิ้น 715,579 คน เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อนหน้า 20,753 คน หรือ 2.99% คิดเป็นจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทยเฉลี่ยวันละ 102,226 คน 

โดย 5 อันดับแรกของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ได้แก่ จีน 120,381 คน เพิ่มขึ้น 15.12% มาเลเซีย 73,085 คน บวก 14.37% เกาหลีใต้ 55,218 คน บวก 2.21% ส่วนรัสเซีย 48,114 คน ลดลง 10.12% และอินเดีย 40,300 คน ลดลง 5.11%

น.ส.สุดาวรรณกล่าวว่า สัปดาห์ถัดไป คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติปรับตัวเพิ่มขึ้น จากความต้องการท่องเที่ยวต่างประเทศของชาวจีน และจำนวนเที่ยวบินขาออกของจีนที่เพิ่มขึ้น วีซ่าฟรีให้แก่นักท่องเที่ยวจีน และคาซัคสถาน การขยายเวลาพำนักแก่นักท่องเที่ยวรัสเซีย และการเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยวตลาดระยะไกล ทั้งภูมิภาคยุโรป และอเมริกา

น.ส.สุดาวรรณกล่าวว่า จากข้อมูล ณ วันที่ 22 มกราคม 2567 พบว่ามีจำนวนนักท่องเที่ยวสะสมตั้งแต่วันที่ 1-21 มกราคม 2567 ที่ผ่านมาทั้งสิ้น 2,015,942 คน สร้างรายได้จากการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติแล้ว ประมาณ 97,911 ล้านบาท โดยจำนวนนักท่องเที่ยวสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ จีน 306,805 คน มาเลเซีย 218,453 คน เกาหลีใต้ 153,135 คน รัสเซีย 150,286 คน และอินเดีย 105,740 คน

‘ซาอุฯ’ สั่งรองเท้าเพื่อสุขภาพ 'จะนะ สงขลา' มูลค่ากว่า 150 ล้านบาท ในงาน Thailand Mega Fair 2023 ณ ซาอุดีอาระเบีย

เมื่อวันที่ 22 ม.ค. 67 ผู้ประกอบการในประเทศซาอุดีอาระเบียให้ความสนใจสั่งซื้อรองเท้าแตะเพื่อสุขภาพ บริษัท ปาปิโล เรียล ไทยแลนด์ จำนวน 50 ตู้คอนเทนเนอร์ ตู้ละ 20,000 คู่ มูลค่ากว่า 150 ล้านบาท 

สืบเนื่องจากที่ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) นำผู้ประกอบการบินร่วมจำหน่ายสินค้าในงาน Thailand Mega Fair 2023 ณ ซาอุดีอาระเบีย เมื่อวันที่ 13-16 ธ.ค. 2566 ที่ผ่านมา เพื่อจำหน่ายสินค้าประเทศไทย และจับคู่ธุรกิจ matching กับคู่ค้าต่างประเทศ โดยกลุ่มนักศึกษาไทยที่กำลังศึกษาในซาอุดีอาระเบีย และเป็นเซลล์แมนประเทศไทย ได้แจ้งข่าวนี้แก่ ศอ.บต. และหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง 

พันตำรวจโท วรรณพงษ์ คชรักษ์ เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ขอบคุณ นายดามพ์ บุญธรรม เอกอัครราชทูตไทยประจำซาอุดิอาระเบีย ณ กรุงริยาด ที่ให้โอกาสผู้ประกอบการชายแดนใต้ ร่วมเปิดบูธสินค้าและจับคู่ธุรกิจ ส่งผลให้ผู้ประกอบการมีออเดอร์ส่งไปยังต่างประเทศเป็นจำนวนมากในวันนี้ ซึ่งเท่ากับจะสามารถจ้างงานประชาชนในพื้นที่ได้เป็นจำนวนมาก สามารถสร้างอาชีพให้กับประชาชนในพื้นที่ได้มากขึ้น ลดจำนวนผู้ว่างงานและมีรายได้น้อยในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ในการนี้เลขาธิการ ศอ.บต. ยังชื่นชมกลุ่มนักศึกษาชายแดนใต้ในประเทศซาอุดีอาระเบียที่ร่วมกันเป็นเซลล์แมนที่ดีให้กับประเทศไทยด้วย

รองเท้าแตะเพื่อสุขภาพ บริษัท ปาปิโล เรียล ไทยแลนด์ เป็นรองเท้าแตะที่ทำจากวัสดุยาง 100% มีลักษณะปุ่มนวดเท้าเพื่อผ่อนคลายขณะใช้งาน กันลื่นได้ดี เหมาะกับการสวมใส่อาบน้ำละหมาด เมื่อใช้ไปเป็นเวลานาน จะสามารถลดอาการปวดเมื่อยเท้าได้

สำหรับงาน Thailand Mega Fair 2023 ณ ประเทศซาอุดีอาระเบีย จัดโดย บริษัท อินเด็กซ์ ครีเอทีฟ วิลเลจ จำกัด (มหาชน) ร่วมกับ หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และบริษัท คอสมอส อีเว้นท์ ภายใต้การสนับสนุนของสถานเอกอัครราชทูตไทยประจำซาอุดีอาระเบีย โดยมีผู้ประกอบการไทยเข้าร่วมงานกว่า 200 แบรนด์ ครอบคลุม 9 ธุรกิจ ที่มีศักยภาพ อาทิ อาหารและเครื่องดื่ม การท่องเที่ยวและบริการ MICE การเกษตรอัจฉริยะและนวัตกรรม น้ำหอม สินค้าสุขภาพและความงาม รวมถึงชิ้นส่วนยานยนต์ สินค้าตกแต่งบ้าน และสินค้าไลฟ์สไตล์


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top