Saturday, 10 May 2025
Econbiz

‘จุลพงศ์’ แนะ ‘ธปท.’ ไล่จี้!! ‘ธ.พาณิชย์’ ขึ้นดอกเบี้ยเงินฝาก ลองลดกำไรลงบ้าง อาจกระตุ้น ปชช. กลับมาออมได้

(11 ม.ค.67) ที่รัฐสภา นายจุลพงศ์ อยู่เกษ สส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล กล่าวถึง กรณีการวิพากษ์วิจารณ์ส่วนต่างของดอกเบี้ยเงินฝากกับดอกเบี้ยเงินกู้ของธนาคารพาณิชย์ ว่า ตามที่รัฐบาลอ้างว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ควรลดลงเพราะเงินเฟ้อของไทยอยู่ในระดับต่ำนั้น อันที่จริงแล้วเงินเฟ้อของไทยถูกบิดเบือน ไม่ได้สะท้อนสภาพที่เป็นจริง เพราะรัฐบาลทั้งที่ผ่านมาและรัฐบาลชุดปัจจุบันได้แทรกแซงราคาพลังงานและราคาค่าไฟฟ้า ทำให้ดูเหมือนเงินเฟ้อของไทยต่ำ รวมถึงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 2.50 เปอร์เซ็นต์ ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศนั้น ยังต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายของประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ที่ประเทศมาเลเซีย อยู่ที่ 3 เปอร์เซ็นต์ ประเทศเวียดนาม 4 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐอยู่ที่ 5.35 เปอร์เซ็นต์

นายจุลพงศ์ กล่าวว่า การที่รัฐบาลเรียกร้องให้ธนาคารแห่งประเทศไทยลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงโดยหวังว่าดอกเบี้ยเงินกู้ของธนาคารจะลดลงนั้น จะทำให้เกิดปัญหาเงินทุนไหลออกไปประเทศอื่นที่มีผลตอบแทนสูงกว่า อาจจะทำให้ค่าเงินบาทอ่อนลงจนไม่มีเสถียรภาพ ซึ่งหน้าที่ของธนาคารแห่งประเทศไทยคือการรักษาเสถียรภาพค่าเงินบาท

“ตนมองว่าหากไม่มีการใช้นโยบายแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ธนาคารแห่งประเทศไทยอาจจะสามารถลดดอกเบี้ยนโยบายลงได้ แต่การที่เศรษฐกิจไทยยังไม่ดี ประกอบกับการที่รัฐบาลมีนโยบายดังกล่าว การลดดอกเบี้ยนโยบายลงจะเป็นการกดดันค่าเงินบาท ปีที่แล้วเงินทุนจากต่างประเทศไหลออกจากประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง ผู้นำเข้าสินค้าไทยในต่างประเทศจะหยุดซื้อสินค้าจากไทยเพื่อหวังว่าค่าเงินบาทของไทยจะอ่อนลงไปอีก ก็จะเกิดปัญหาการส่งออกตามมา”

นายจุลพงศ์ กล่าวว่า ตนเห็นด้วยกับนักการเงินบางท่านที่ออกมาให้ความเห็นว่าดอกเบี้ยที่ควรจะเปลี่ยนแปลงนั้น ไม่ใช่ดอกเบี้ยเงินกู้ แต่ควรจะเปลี่ยนแปลงโดยการให้ธนาคารพาณิชย์ขึ้นดอกเบี้ยเงินฝากมากกว่า เพราะดอกเบี้ยเงินฝากแทบจะไม่ขยับขึ้นเลยในช่วงหลายปีที่ผ่านมา อัตราดอกเบี้ยเงินฝากลบด้วยอัตราเงินเฟ้อติดลบมายาวนาน หากอัตราดอกเบี้ยเงินฝากต่ำกว่าอัตราเงินเฟ้อ

“การขึ้นดอกเบี้ยเงินฝากอาจจะทำให้กำไรของธนาคารลดลง แต่ในสภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้ ธนาคารพาณิชย์ควรลดส่วนต่างของดอกเบี้ยเงินกู้กับดอกเบี้ยเงินฝากลง อย่าเอาแต่กำไรอย่างเดียวเพราะตามรายงานข่าวในขณะนี้ รายได้ที่เพิ่มขึ้นของธนาคารพาณิชย์จากส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยในไตรมาสที่สามของปี 2566 เทียบกับไตรมาสที่สามของปี 2565 ถึงเกือบ 20 เปอร์เซ็นต์” นายจุลพงศ์ กล่าว

นายจุลพงศ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า ธนาคารแห่งประเทศไทยควรกดดันให้ธนาคารพาณิชย์ขึ้นดอกเบี้ยเงินฝาก เพื่อเป็นแรงจูงใจให้ประชาชนกลับมาเก็บออมเงินมากขึ้น แทนที่จะใช้เงินก่อนเก็บเงินเช่นทุกวันนี้

'นายกฯ' หนุนสร้างรถไฟฟ้าเชียงใหม่ ยกระดับด้าน ‘คมนาคม-ท่องเที่ยว’

(11 ม.ค. 67) ที่ห้องประชุมกองบิน 41 ต.สุเทพ อ.เมืองเชียงใหม่ จ.เชียงใหม่ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานการประชุมติดตามความคืบหน้าโครงการต่าง ๆ ที่เชื่อมโยงระบบขนส่ง และเดินทางในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ โดยมี นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคม นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รมช.คมนาคม นายเกรียง กัลป์ตินันท์ รมช.มหาดไทย นายไชยา พรหมา รมช.เกษตรและสหกรณ์ นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมด้วย 

นายกฯ กล่าวในที่ประชุมว่า ขอขอบคุณวันนี้มาประชุมกันพร้อมเพียง ตน และคณะรัฐมนตรีมาพบทุกท่านที่เชียงใหม่ มีความห่วงใยกับสถานการณ์หมอกควัน และไฟป่า ซึ่งส่งผลกระทบต่อพี่น้องภาคเหนือหลายจังหวัด จึงต้องการหารือแนวทางการแก้ไขปัญหา และวิธีการป้องกันที่ถูกต้อง จากการที่ได้มาตรวจราชการเมื่อวันที่ 28 พ.ย. ปีที่ผ่านมา ต้องขอบคุณทุกหน่วยงานข้าราชการที่ช่วยกันให้ปัญหาต่าง ๆ ได้รับการแก้ไข และคลี่คลายไปในทิศทางที่ดีขึ้น ขอเน้นให้ทุกฝ่ายทุกหน่วยงานบูรณาการความร่วมมือโดยยึดหลักแนวทางการดำเนินงานนี้

นายกฯ กล่าวว่า สถานการณ์ต้องดีขึ้นทุกวัน ด้วยการทำงานเต็มหน้าที่อย่างจริงจัง ขอให้ท่านแบ่งหน้าที่ และพื้นที่ความรับผิดชอบเอ็กซเรย์พื้นที่ความรับผิดชอบของท่านว่ายังมีปัญหาใดที่จะต้องแก้ไขเร่งด่วน และรายงานให้ตนทราบทุกวันถ้าไม่ดีกว่าเดิมต้องแจ้งให้ตนทราบว่ามีอุปสรรคอะไร เป็นความประสงค์ของรัฐบาลนี้ที่อยากจะคืนอากาศบริสุทธิ์แก่พี่น้องประชาชนภาคเหนือให้ได้โดยเร็วที่สุด การบริหารจัดการแก้ไขปัญหาหมอกไฟป่าต้องมีแนวทางแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า ระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว เพื่อความยั่งยืน เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติต้องมีข้อมูลที่ชัดเจนแม่นยำ เพื่อให้การแก้ไขเป็นไปได้อย่างรวดเร็ว การดูแลพี่น้องประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาสุขภาพ

นายกฯ กล่าวว่า ขอให้จังหวัดและหน่วยงานราชการโดยเฉพาะกระทรวงสาธารณสุข กรมการปกครองส่วนท้องถิ่น ดูแลประชาชนให้ครอบคลุมทุกมิติ สุขภาพอนามัยของเด็ก โดยเฉพาะผู้สูงอายุใช้ชีวิตความเป็นอยู่การรณรงค์ใส่หน้ากาก จัดพื้นที่เซฟตรงศูนย์พักพิงของประชาชน ต้องแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูแลให้ประชาชนมีหน้ากากกรองฝุ่นที่มีประสิทธิภาพ สามารถเข้าถึงเครื่องฟอกอากาศที่มีประสิทธิภาพและราคาที่เข้าถึงได้ ต้องให้ความสำคัญกับการสร้างจิตสำนึกประชาชนในการรับรู้ข่าวสาร ยกระดับความตื่นตัวให้ประชาชนรู้ถึงภัยของ PM2.5  พร้อมขอความร่วมมือประชาชนดูแลพื้นที่ป่าลดการเผา เพราะปัญหานี้ไม่ใช่ของคนใดหรือหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง ซึ่งต้องได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่ายที่จะช่วยกันแก้ไขปัญหา เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งชุมชนจะต้องร่วมกันแก้ไขปัญหาในระยะยาว ต้องให้ทุกฝ่ายช่วยกันสร้างอากาศบริสุทธิ์ และปฏิบัติให้ได้ 

นายกฯ กล่าวว่า ขณะเดียวกันการคมนาคมต้องเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมถึงการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย จากการที่ตนได้ลงพื้นที่ มีการพูดคุยกับส่วนงานราชการหลาย หน่วยงาน รู้สึกกันดีเมื่อเทียบตัวเลขปีที่แล้วของ PM 2.5 พบว่าปัญหาฝุ่นลดลงไปหลายเท่าตัว การแสดงแผนที่ Red Zone อย่างมีในนัยพิสูจน์ทราบได้ว่า จากการลงพื้นที่แก้ไขปัญหาจึงทำให้ตัวเลขลดลงอย่างมีนัย ส่งผลอย่างยิ่งเรื่องการท่องเที่ยว โดยเฉพาะพื้นที่ดอยอินทนนท์มีนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นจาก 13,000 คน เป็น 17,000 คนต่อวัน แสดงให้เห็นว่าเรื่องการมี PM 2.5 น้อยลง ดูจากกราฟเป็นเรื่องที่ดี ต้องขอบคุณทุกฝ่ายที่ร่วมกันบูรณาการ วันนี้เราจะมีการพูดคุยกันหลายเรื่อง โดยเฉพาะการคมนาคม ซึ่งหลายเรื่องยึดโยงถึง PM 2.5 ด้วย ไม่ใช่แค่การเผาป่าอย่างเดียวแต่เป็นเรื่องที่เรา ใช้เรื่องการเปลี่ยนแปลงระบบคมนาคม กระทรวงคมนาคมให้ความสำคัญต่อเรื่องนี้และจะจัดสรรงบประมาณให้เป็นลำดับความสำคัญต้นๆในการที่จะดำเนินการเหล่านี้ต่อไป 

“ขอให้ทุกท่านช่วยกัน ซึ่งการทำงาน 2 เดือนที่ผ่านมาต้องกราบพระคุณทุกท่าน ทุกหน่วยงาน ที่ทำงานประสานงานกันอย่างดี ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นจุดศูนย์รวมของจิตใจและช่วยกันประสานให้ทุกฝ่าย เหมาะสำหรับการเป็นแม่แบบไปใช้ในจังหวัดต่าง ๆ ที่ทำงานร่วมกันอย่างดีเยี่ยม ระหว่างฝ่ายความมั่นคง ตำรวจ สาธารณสุข เกษตร คมนาคม คือเป็นแม่แบบที่ดีมากต้องขอชื่นชม” นายกฯกล่าว 

จากนั้นนายกฯ รับฟังข้อเสนอของทางจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเรื่องของการแก้ไขปัญหาจราจรและการคมนาคมที่ติดขัด โดยเฉพาะบริเวณหน้ากองบิน 41 และถนนนิมมานเหมินทร์ นายกฯ ระบุว่า หลังกลับจากเชียงใหม่จะเชิญรมว.คมนาคม และผู้บัญชาการทหารอากาศ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาหารือเรื่องการแก้ไขปัญหานี้ต่อ 

ส่วนข้อเสนอการจะทำรถไฟฟ้าเชื่อมต่ออำนวยความสะดวกนักท่องเที่ยวและการลดการใช้รถยนต์ เพื่ออากาศสะอาด ลดความแออัดในเมืองเป็นสิ่งที่ดี เห็นด้วยควรสร้างรถไฟฟ้า เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว เพราะนักท่องเที่ยวมาเชียงใหม่ในระดับต้น ๆ ถือเป็นเมืองที่ใหญ่มาก แต่ยังไม่มีระบบของรถไฟฟ้า ตรงนี้น่าจะนำมาพิจารณา ถือว่ามีประโยชน์ต่อพี่น้องประชาชนและเศรษฐกิจหลักของประเทศ ทั้งนี้ในระหว่างก่อสร้างไม่ต้องห่วงเรื่องปัญหาจราจร จะทำจริงก็ต่อเมื่อวงแหวนการจราจรข้างต้นเสร็จก่อนเพื่อแบ่งเบาภาระการจราจรลงไปได้

นายกรัฐมนตรี ยังกล่าวขอบคุณที่ช่วยกันคิดในเรื่องของการท่องเที่ยวมาอย่างเต็มที่ เชื่อว่าจะทำให้ความมั่นใจดีขึ้น ส่วนเรื่องการพัฒนารถสองแถวแดงพลังงานไฟฟ้า ถือเป็นเรื่องสำคัญเพราะรถสองแถวแดงถือเป็นเอกลักษณ์สำคัญของจังหวัดเชียงใหม่ และเป็นเสน่ห์ของการท่องเที่ยว ซึ่งเราต้องให้ความสำคัญต่ออากาศสะอาดด้วย หากเรื่องสองแถวรถแดง ผู้ต้องการทำรถ EV และต้องการ การสนับสนุนเรื่องดอกเบี้ยต่ำ ต้องฝากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพูดคุยกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เป็นรูปธรรมและขอให้เป็นวาระสำคัญ ในการพูดคุย หาเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ เพื่อมาสนับสนุนจุดนี้ โดยเฉพาะธนาคารที่อยากมีส่วนช่วยเหลือสังคมและอยากจะมาช่วยดูแลตรงนี้

นายกฯ กล่าวว่า ตนเชื่อว่าการพัฒนาระบบคมนาคม ซึ่งถ้าหากพี่น้องชาวเชียงใหม่และภาคเหนือได้มานั่งฟัง ก็น่าจะมีขวัญและกำลังใจขึ้นอีกเยอะ เพราะจากการทำงานบูรณาการของทุกภาคส่วน ถือว่าเป็นการทำงานที่คิดมาอย่างครบวงจรแล้ว แต่ต้องการประสานงานที่ดี ซึ่งตนอยากจะเห็นผู้ว่าราชการทุกจังหวัดมีความสามารถที่จะผนึกกำลังอย่างที่ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ได้ทำไว้ ถือเป็นตัวอย่างที่ดี ทั้งนี้ วันนี้ผู้ว่าการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ก็มา ช่วยทำให้ความมั่นใจสูงอย่างแน่นอน เพราะจะทำให้มองเห็นไม่ใช่แค่แผนปฏิบัติการเร่งรัด (ควิกวิน) อย่างเดียว แต่เรามีแผนการทำงานที่ชัดเจนและอาจจะกลายเป็นแผนเพิ่ม 4-5 เท่า ได้อย่างชัดเจน สอดคล้องกับเรื่องฟรีวีซ่าที่รัฐบาลได้ทำ และเมื่อวันที่ 10 ม.ค.ที่ผ่านมาผู้ว่าฯ ททท. ได้มาพูดคุยกับตนเรื่องเที่ยวบินอินเดียที่เข้ามาประเทศไทยน้อย ซึ่งจากการที่ตนได้เจอกับเอกอัครราชทูตอินเดีย ประจำประเทศ ไทย ก็จะมีการทำเอ็มโอยู เพื่อให้มีสายการบินเข้ามาเพิ่มขึ้น ทั้งนี้นักท่องเที่ยว ที่บินเข้ามาคือนักท่องเที่ยวจากประเทศมาเลเซีย รองลงมาคือนักท่องเที่ยวจีน และประเทศที่ 3 ที่ทำให้ตนแปลกใจคือประเทศเกาหลี เพราะจากที่ตนเดินทางมาเชียงใหม่ตั้งแต่เมื่อวันที่ 10 ม.ค.ที่ผ่านมาก็เจอแต่นักท่องเที่ยวเกาหลี คาดว่าที่เชียงใหม่มีสนามกอล์ฟเยอะ จึงทำให้นักท่องเที่ยวเกาหลีเดินทางมา 

นายกฯ กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม ปัญหาใหญ่ที่ทำให้นักท่องเที่ยวไม่เดินทางมาคือปัญหาฝุ่น PM  2.5 ซึ่งเราได้มีการบริหารจัดการไปอย่างดีเยี่ยม รวมถึงการคมนาคมก็ต้องไม่ทำให้รถติด เพราะจะทำให้เขาไม่อยากมา ซึ่งรัฐบาลได้ตอบโจทย์ในระยะใกล้ ระยะกลางและระยะยาวแล้วอย่างบูรณาการเต็มที่ รวมถึงมีการรักษาเรื่องดี ๆ ของเชียงใหม่ไว้ด้วย อาทิ รถสองแถวแดงที่ถือเป็นไฮไลต์คู่บ้านคู่เมืองจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเราพยายามจะเปลี่ยนให้เป็นรถไฟฟ้า ตนเชื่อว่าทุกอย่างมีการคิดกันมาอย่างดีมาก ทำให้การทำงานเชื่อมต่อระหว่างกระทรวงคมนาคม กระทรวงมหาดไทย ท้องถิ่น และทุกฝ่ายได้มาพูดคุยกัน รวมถึงพรรคการเมืองเองก็จะทำให้จังหวัดเชียงใหม่มีศักยภาพที่โดดเด่นได้

นายกฯ กล่าวต่อว่า ถ้าวันนี้พี่น้องชาวเชียงใหม่ได้มาได้ยิน ได้ฟังในสิ่งที่เรามาหารือกัน ตนก็เชื่อว่าเป็นสิ่งที่ดีมาก ๆ และอยากจะนำโมเดลดังกล่าวไปใช้ในหลายจังหวัด รวมถึงในพื้นที่ภาคใต้และพื้นที่ภาคอีสาน ซึ่งตนเชื่อมั่นว่าถ้าหากเราร่วมใจกันเช่นนี้จะทำให้ความเชื่อมั่นของประชาชนสนับสนุนเราอย่างดี 

“ถึงแม้ว่ารัฐบาลนี้มาเพียงแค่ 4 เดือน แต่ก็เห็นการทำงานของทีมไทยแลนด์อย่างชัดเจน ที่ทุกคนได้ทุ่มเทกันอย่างเต็มที่ รวมถึงคนที่ทำงานปิดทองหลังพระอย่างฝ่ายความมั่นคง กองทัพ  ที่ทำงานในการป้องกันไฟป่าแม้เป็นจุดเล็ก ๆ แต่ก็ไม่ควรมองข้ามไป ผมจึงขอให้รักษาตรงนี้ไว้และดำเนินการต่อไป” นายกฯ กล่าว

นายกฯ กล่าวว่า เรื่องงบบูรณาการ ให้ข้อคิดตามหลักการทำงาน ถ้าปี 67 เราทำงานมีผลชัดเจนเชื่อว่าเรื่องงบเป็นเรื่องที่เราสามารถพูดคุยได้ไม่มีปัญหา เพียงแค่ต้องการเหตุผลที่ชัดเจน

นายกฯ กล่าวว่า ส่วนเรื่องปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก หรือ PM2.5 เรื่องสำคัญคือลดจุดความร้อน หรือ ฮอตสปอต การทำแนวกันไฟที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน สร้างความเข้าใจพี่น้องประชาชน หาลดการเผา ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และต้องไม่เผาวัชพืชเปลี่ยนทำเป็นปุ๋ยเพื่อจะใช้เป็นพลังงานทดแทนได้ ขณะเดียวกันก็มีการปลูกป่าเพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นเชื่อว่าจุดความร้อนและค่า PM2.5 จะลดลง และวันนี้ถือเป็นนิมิตหมายที่ดี พ.ร.บ.อากาศสะอาดได้เข้าสภาแล้ว มีความคืบหน้าอย่างชัดเจน

นอกจากนี้นายกฯ ขอร้องทางกองทัพภาคที่ 3 ช่วยจัดอากาศยานเพิ่ม มาช่วยปฏิบัติการแก้ปัญหาดับไฟป่า และยังเป็นการช่วยเรื่องของปัญหาฝุ่นละอองขนาดเดียวกันก็จะประสานไปยังกองทัพอากาศเพื่อขออากาศยานมาช่วยขน วัชพืชส่งไปยังโรงงานต่าง ๆ เพื่อช่วยลดปัญหาเรื่องการขนส่งอีกทางนึง ส่วนเรื่องงบประมาณ ยืนยันรับทราบทุกหน่วยงานที่ขอมา ไม่ต้องเป็นห่วงขอให้ดำเนินงานตามขั้นตอนอย่างเต็มที่

ขณะที่แม่ทัพภาค 3 กล่าวว่ายินดีและพร้อมสนับสนุนอย่างเต็มที่โดยจะมีการประสานไปยังส่วนกลาง

จากนั้นนายกฯ เยี่ยมชมรถไฟฟ้าร้อยเปอร์เซ็นต์ที่ใช้มอเตอร์ไฟฟ้า ซึ่งเป็นการดัดแปลงจากรถดีเซลมาเป็นรถอีวี ผลงานของคณะวิศวกรรมศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ก่อนที่จะขึ้นรถแดง ทะเบียน 30-6198 เชียงใหม่ เพื่อไปยังบริเวณจุดจอดอากาศยานกรมฝนหลวงและการบินเกษตรกองบิน 41 ติดตามความพร้อมปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อบรรเทาปัญหาหมอกควันและฝุ่นละออง PM 2.5 รวมถึงชมสาธิตวิธีการปล่อยฝนหลวงด้วย

ถอดรหัสธุรกิจรักษ์โลก สไตล์ 'รอยัล ภูเก็ต มารีน่า'  ย่างก้าวสู่ท่าจอดเรือปลอดคาร์บอนแห่งแรกในเอเชีย

(11 ม.ค.67) รอยัล ภูเก็ต มารีน่า (RPM) ได้ประกาศตัวในฐานะท่าจอดเรือปลอดคาร์บอนแห่งแรกของเอเชีย ความสำเร็จครั้งสำคัญที่ถูกสร้างขึ้นจากความมุ่งมั่นที่ผ่านมาในการเปลี่ยนแปลงมากมายสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน การได้รับการรับรองในครั้งนี้ RPM ไม่เพียงแต่ตอกย้ำตัวเองในฐานะผู้นำถึงการพัฒนาด้านความยั่งยืน กำหนดมาตรฐานในการเป็นผู้นำในการสร้างแนวทางปฏิบัติทางเรือที่มีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมไปสู่ทั่วทั้งเอเชียอีกด้วย

RPM เป็นที่รู้จักกันดีในด้านนวัตกรรมเชิงนิเวศน์ที่มีการผสมผสานความหรูหรา ความยั่งยืน และความสง่างาม เข้าไว้ด้วยกันอย่างลงตัว มอบประสบการณ์การใช้ชีวิตที่แตกต่างในสภาพแวดล้อมอันเงียบสงบของจังหวัดภูเก็ต

>> RPM พัฒนาที่ยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

RPM เปรียบเสมือนประตูสู่อ่าวพังงาและทะเลอันดามัน ท่าเรือมาตรฐานระดับสากล ผู้บุกเบิกด้านการบริการท่าจอดเรือที่ได้รับรางวัลและการรับรองมาตรฐานสูงสุดของภูเก็ต สะอาด ปลอดภัย ทันสมัยท่ามกลางความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติ มอบบริการครบวงจร ดั่งสวรรค์ของการใช้ชีวิตริมทะเล

นอกจากบริการที่จอดเรือแล้ว ยังมีที่พักอาศัยระดับ 5 ดาว ตั้งแต่อพาร์ตเมนต์ เพนต์เฮาส์ ไปจนถึงวิลล่าและอความิเนียม (ที่พักพร้อมท่าจอดเรือส่วนตัว) นอกเหนือจากเสน่ห์ในการอยู่อาศัยแล้ว RPM ยังเป็นศูนย์กลางธุรกิจ ด้วยทำเลทองที่ตั้งใจกลางเกาะภูเก็ต จึงเหมาะอย่างยิ่งกับการเป็นอีกหนึ่งตัวเลือกสำหรับธุรกิจ พื้นที่เช่าสำหรับร้านอาหารหรือสำนักงาน และพื้นที่ในการจัดกิจกรรม อีเวนต์ต่าง ๆ มากมาย

เป็นเวลากว่า 20 ปีที่ RPM บุกเบิกและเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมท่าจอดเรือ ที่ให้ความสำคัญกับความเป็นเลิศในการให้บริการ สิ่งอำนวยความสะดวก สุขภาพ และความปลอดภัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาที่ยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

โดยตั้งแต่ปี 2559 RPM หันมาใช้พลังงานแสงอาทิตย์ โดยแผงโซลาร์เซลล์บนอาคารที่จอดเรือในร่ม สามารถจ่ายพลังงานได้มากกว่า 40% ต่อวัน รับการรับรองจากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกแห่งประเทศไทย หรือ อบก. ในฐานะที่เป็นองค์กรที่มีส่วนช่วยสนับสนุนให้เกิดโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภายในประเทศเพื่อต่อสู้กับปัญหาภาวะโลกร้อน นอกจากนี้ RPM ยังทำงานร่วมกับพันธมิตร ในการลดการใช้ขวดพลาสติกในกิจกรรมการเดินเรือทุกประเภท ตั้งเป้าหากสำเร็จจะสามารถช่วยลดขวดพลาสติกไปได้ราว ๆ กว่า 4 ล้านขวดต่อปี

ในฐานะผู้นำที่มีวิสัยทัศน์ด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน RPM มีจุดประสงค์ในการสร้างแรงบันดาลใจที่กระตุ้นและเน้นย้ำให้ผู้คนหันมาให้ความสำคัญกับแนวทางปฏิบัติที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ท่าจอดเรือควรมีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาอย่างยั่งยืน ควบคู่ไปกับการบรรลุเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (Environmental, Social and Governance: ESG) ของประเทศไทยมีความสอดคล้องกับแนวทางกับหลักสากลด้วย ความมุ่งมั่นนี้สอดคล้องกับเป้าหมายอันยิ่งใหญ่ของประเทศไทยในการบรรลุความเป็นกลางของคาร์บอนภายในปี 2593 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2608

RPM ตั้งใจอย่างยิ่งที่จะมีส่วนร่วมในการสร้างภาพลักษณ์ของอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและมีความรับผิดชอบมากขึ้น พร้อมสร้างความสัมพันธ์ที่ดีและยั่งยืนกับผู้อยู่อาศัยในปัจจุบันและขยายศักยภาพกับนักลงทุนและชุมชนโดยรอบที่กว้างขึ้น ความมุ่งมั่นดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับประเทศไทยในฐานะการเป็นผู้นำด้านการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน และสร้างมาตรฐานสำหรับความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมในภาคการท่องเที่ยวทั้งในประเทศไทยและทั่วทั้งเอเชีย

นายกูลู ลัลวานี ประธานบริษัท รอยัล ภูเก็ต มารีน่า (RPM) กล่าวว่านอกเหนือจากบทบาททั่วไปในฐานะท่าจอดเรือแล้ว RPM เป็นเหมือนจุดหมายปลายทางที่ผสมผสานความหรูหราและความยั่งยืนได้อย่างลงตัว ด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกที่มอบไลฟ์สไตล์ที่กลมกลืนกับความงามดั้งเดิมของภูเก็ต ในฐานะท่าจอดเรือปลอดคาร์บอนแห่งแรกและแห่งเดียวในเอเชีย และนี่คือการสร้างมาตรฐานใหม่ให้กับการใช้ชีวิตที่หรูหราแต่ทว่าเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

เดือนที่ผ่านมา เรายังเป็นองค์กรธุรกิจผสมผสาน (Mixed-use Development) ที่เป็นกลางทางคาร์บอนแห่งแรกและแห่งเดียวในภูเก็ต ก้าวสำคัญในครั้งนี้ส่งผลให้เรากำลังวางแผนที่จะพัฒนาโครงการใหม่ในปีนี้ รวมถึงโรงแรมระดับ 5 ดาว วิลล่าหรู และคอนโดมิเนียม เพื่อตอกย้ำเส้นทางสู่ความสำเร็จของเรา ไม่ว่าจะเป็นการค้นหาพื้นที่สำหรับจอดเรือ พื้นที่เชิงพาณิชย์ เปิดโอกาสให้ได้สัมผัสวิถีชีวิตของท่าเรือที่ผสมผสานความหรูหรา สะท้อนถึงคุณค่าและความมุ่งมั่นของ RPM ได้เป็นอย่างดี

‘รมว.ปุ้ย’ สานต่อภารกิจ ‘ศูนย์นวัตกรรมจังหวัดมิเอะ-ไทย’ ดันส่งออกไทย ‘อาหาร-เกษตร’ แตะ 1.32 ล้านล้านในปี 70

(11 ม.ค. 67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรม จับมือผู้ว่าราชการจังหวัดมิเอะ ประเทศญี่ปุ่น ผลักดันต่อยอดความบันทึกความเข้าใจ (MOU) ขยายกรอบการทำงาน (Framework Agreement) ชูนวัตกรรมอาหารแห่งอนาคต ยกระดับเกษตรอุตสาหกรรมแปรรูป พร้อมจัดงานใหญ่ ‘นวัตกรรมอาหารแห่งอนาคต Mie-Thailand’ ฉลองความสำเร็จครบรอบ 5 ปี พาเหรดผู้เชี่ยวชาญอุตสาหกรรมอาหารชื่อดังจากจังหวัดมิเอะ นำทัพสินค้าอาหารเกรดพรีเมียมมาให้ชม ชิม และจับคู่ธุรกิจภายในงาน ตั้งเป้าต่อยอดพัฒนานวัตกรรมและผลิตภัณฑ์อาหารแห่งอนาคตร่วมกัน หวังเกิดการค้า การลงทุนระหว่างไทย-ญี่ปุ่น และคาดว่าจะสามารถเพิ่มสัดส่วนส่งออกกลุ่มสินค้าอาหารแปรรูปของไทยเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 60 หรือคิดเป็นมูลค่ากว่า 1.32 ล้านล้านบาท ภายในปี 2570

รมว.พิมพ์ภัทรา เปิดเผยว่า ประเทศไทยและญี่ปุ่นมีความสัมพันธ์และความร่วมมือกันในทุก ๆ มิติมาอย่างยาวนานซึ่งปัจจุบันญี่ปุ่นมีบทบาทสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทย เห็นได้จากการลงทุนของญี่ปุ่นในประเทศไทยมีมูลค่ากว่าร้อยละ 40 ของการลงทุนจากต่างชาติทั้งหมด ดังนั้น กระทรวงอุตสาหกรรม จึงให้ความสำคัญกับการสร้างความร่วมมือกับประเทศญี่ปุ่นในการส่งเสริมและพัฒนาภาคอุตสาหกรรมของสองประเทศมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอาหารที่ได้มุ่งเน้นยกระดับศักยภาพผู้ประกอบการไทยให้มีขีดความสามารถในการแข่งขันในระดับเวทีโลก ผ่านศูนย์นวัตกรรมมิเอะ-ประเทศไทย (Mie-Thailand Innovation Center) ซึ่งเกิดจากความร่วมมือระหว่าง 3 หน่วยงาน ได้แก่ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือดีพร้อม, สถาบันอาหาร และจังหวัดมิเอะ ประเทศญี่ปุ่นเพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ นวัตกรรม และเทคโนโลยีในอุตสาหกรรมอาหาร ซึ่งนับเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่มสูงสามารถตอบสนองความต้องการของตลาดได้ดียิ่งขึ้นและช่วยผลักดันให้การส่งออกสินค้ากลุ่มอาหารแปรรูปของไทยเติบโตได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งคาดว่าไทยจะมีสัดส่วนการส่งออกกลุ่มสินค้าอาหารแปรรูปเพิ่มขึ้นร้อยละ 60 หรือคิดเป็นมูลค่ากว่าร้อยละ 1.32 ล้านล้านบาท ภายในปี 2570 

ขณะเดียวกัน กระทรวงอุตสาหกรรม โดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมได้ต่อยอดความร่วมมือกับจังหวัดมิเอะในการมุ่งเน้นพัฒนากลุ่มอุตสาหกรรมอาหารทั้งในด้านการพัฒนาทรัพยากรบุคคลและการแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านนวัตกรรมอาหาร เพื่อช่วยยกระดับความสามารถการแข่งขันให้กับอุตสาหกรรมอาหารของประเทศไทย และเสริมสร้างความแน่นแฟ้นของการเชื่อมโยงระหว่างภาคอุตสาหกรรมของทั้ง 2 ประเทศให้สามารถก้าวหน้าไปด้วยกันในลักษณะ win-win นอกจากนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมมีความยินดีที่จะส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการค้า การลงทุนระหว่างไทยและญี่ปุ่น เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการของทั้ง 2 ประเทศ

ด้านนายภาสกร ชัยรัตน์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า สำหรับศูนย์นวัตกรรมมิเอะ-ประเทศไทย จัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2561 นับเป็นหนึ่งในเครือข่ายของศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรม (ITC) ที่กระทรวงอุตสาหกรรมมอบหมายสถาบันอาหารดำเนินการ โดยได้ติดตั้งเครื่องจักรและอุปกรณ์สำหรับการแปรรูปอาหารที่ได้รับจาก บริษัท ซูเอฮิโระ อีพีเอ็ม (SUEHIRO EPM) ประเทศญี่ปุ่น เพื่อช่วยยกระดับศักยภาพผู้ประกอบการไทยในการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมผลิตภัณฑ์อาหารต้นแบบให้มีศักยภาพและเพิ่มความสามารถทางการแข่งขันให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอาหาร ดังนั้น ศูนย์นวัตกรรมฯ นี้ ถือเป็นกรณีความสำเร็จที่มีนัยสำคัญที่เป็นผลลัพธ์จากการร่วมลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) ในปี 2558 ระหว่างกระทรวงอุตสาหกรรม โดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือดีพร้อม และจังหวัดมิเอะ 

สำหรับการจัดงานในวันนี้เป็นการขยายความร่วมมือโดยการแลกเปลี่ยนกรอบการทำงาน (Framework Exchange) ระหว่างดีพร้อมและจังหวัดมิเอะ เพื่อต่อยอดความร่วมมือจากใน MOU ที่มุ่งเน้นการขยายโอกาสธุรกิจของเอสเอ็มอีทั้ง 2 ประเทศสู่ระดับสากล ด้วยการพัฒนาสินค้าอาหารและเกษตรแปรรูป ทักษะบุคลากรในภาคอุตสาหกรรม นวัตกรรมอาหารแห่งอนาคต ยกระดับเกษตรอุตสาหกรรมแปรรูป ตลอดจนเทคโนโลยีด้านสิ่งแวดล้อมและพลังงานหมุนเวียน ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมทั่วโลก เพื่อสนับสนุนให้ผู้ประกอบการเตรียมพร้อมรับกระแสความเปลี่ยนแปลงในบริบทต่าง ๆ และอยู่รอดได้ในโลกยุคใหม่อย่างมั่นคงและยั่งยืน 

นางศุภวรรณ ตีระรัตน์ ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร กล่าวเพิ่มเติมว่า ตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา 
ศูนย์นวัตกรรมมิเอะ-ประเทศไทย ได้ดำเนินกิจกรรมทางวิชาการร่วมกันมาอย่างต่อเนื่องและการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากการใช้เครื่อง Twin Screw Extruder เพื่อช่วยยกระดับศักยภาพผู้ประกอบการไทยในการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมผลิตภัณฑ์อาหารต้นแบบให้มีศักยภาพและเพิ่มความสามารถทางการแข่งขันให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอาหาร และกิจกรรมอื่น ๆ อาทิ การจัดแสดงผลิตภัณฑ์อาหารที่พัฒนาด้วยเทคโนโลยีจากเครื่อง Twin Screw Extruder ณ งาน THAIFEX 2019 การเข้าร่วมงานสัมมนาที่จังหวัดมิเอะ รวมทั้งนำผู้ประกอบการไทยร่วมกิจกรรมจับคู่ธุรกิจ (Business Matching) และสร้างเครือข่ายกับผู้ซื้อของประเทศญี่ปุ่น ณ จังหวัดมิเอะ โดยล่าสุดได้ร่วมกันพัฒนาผลิตภัณฑ์โปรตีนจากพืช จาก Isolate soy protein กับ Pea starch และนำมาทดลองปรุงอาหารเป็นเมนูกระเพาะปลาน้ำแดง เพื่อสอดรับแนวโน้มตลาดอาหาร Plant-based ที่กำลังมาแรง ซึ่งคาดว่าระหว่างปี 2566-2576 ตลาดอาหารโลกจะเติบโตเฉลี่ยต่อปีสูงถึงร้อย 12.2 โดยในปี 2566 ที่ผ่านมามีมูลค่าสูงถึง 11.3 พันล้านดอลลาร์ 

นอกจากวันนี้จะเป็นการฉลองความสำเร็จ 5 ปี ในการจัดตั้งศูนย์นวัตกรรมฯ แล้ว จังหวัดมิเอะยังได้นำคณะผู้แทนด้านเศรษฐกิจซึ่งประกอบด้วยเจ้าหน้าที่จังหวัดมิเอะ และผู้ประกอบการ จำนวน 14 ราย เข้าร่วมกิจกรรมเจรจาธุรกิจ (Business Matching) พร้อมบรรยายความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีเครื่องจักรแปรรูปอาหารและเรื่องราวความสัมพันธ์ระหว่างจังหวัดมิเอะ-ไทย ตลอดจนการสาธิตการปรุงอาหารจากวัตถุดิบที่มีชื่อเสียงของจังหวัดมิเอะ อาทิ เนื้อวัว ปลาดิบ เบียร์ และขนม นอกจากนี้ ยังจัดแสดงผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูปอื่น ๆ ของจังหวัดมิเอะอีกด้วย

‘TCMA’ ชู!! ต้นแบบนิเวศนวัตกรรม บรรลุ Net Zero 2050  พร้อมดัน ‘สระบุรี’ ต้นแบบเมืองคาร์บอนต่ำแห่งแรกในไทย

เมื่อวานนี้ (10 ม.ค.67) ดร.ชนะ ภูมี นายกสมาคมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทย (TCMA) เปิดเผยว่า TCMA ได้ดำเนินการร่วมกับกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.)

ทั้งนี้ เพื่อนำเสนอความก้าวหน้าดำเนินงานของอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ ที่ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ มุ่งสู่การลดการปล่อยคาร์บอนอย่างต่อเนื่อง ภายใต้ 2050 Net Zero Cement and Concrete Roadmap การนำโรดแมปสู่การปฏิบัติการเปลี่ยนผ่าน

อีกทั้งยังได้แลกเปลี่ยนการดำเนินงานภายใต้แนวคิด Climate Partnership Determination นอกจากนี้ TCMA ได้ร่วมกับ Global Cement and Concrete Association (GCCA) องค์กรด้านซีเมนต์และคอนกรีตระดับโลก นำเสนอความก้าวหน้าดำเนินงาน Decarbonization Action และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ทำงานร่วมกับประเทศสมาชิกในระดับโลก

ดร.ชนะ กล่าวอีกว่า TCMA นำ 2050 Net Zero Cement and Concrete Roadmap มาสู่การปฏิบัติการเปลี่ยนผ่าน เพื่อบรรลุเป้าหมาย Net Zero 2050 มีการจัดทำแผนการดำเนินงานที่ลงรายละเอียด และพัฒนานิเวศนวัตกรรมดำเนินงานบูรณาการความร่วมมือเชิงพื้นที่ในจังหวัดสระบุรี ภายใต้ Public-Private-People Partnership (PPP)-Saraburi Sandbox: A Low Carbon City สร้างสระบุรีเป็นต้นแบบเมืองคาร์บอนต่ำแห่งแรกในไทย 

PPP-Saraburi Sandbox เป็นการพัฒนารูปแบบความร่วมมือทำงานในเชิงพื้นที่ (Area Base) โดยใช้แนวทาง 3C คือ Communication - Collaboration - Conclusion step-by-step และ 3P คือ Public - Private - People Partnership นำโดยจังหวัดสระบุรี บูรณาการความร่วมมือและร่วมกันกำกับดูแล ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในทุกระดับ ทั้ง ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ทำงานเชื่อมโยงระหว่างอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง ผ่านโครงการต้นแบบที่สอดคล้องกับ Thailand NDC แผนลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ ครอบคลุมมิติด้านนโยบาย กฎหมาย กฎระเบียบ (Policy/ Law/ Regulation) 

อีกทั้ง ด้านแหล่งทุน (Climate Funding) ด้านเทคโนโลยี (Technology) และด้านการกำกับดูแล (Governance) การดำเนินงานด้วยวิธีนี้ จะทำให้โครงการที่ทำด้านลดก๊าซเรือนกระจกมีความชัดเจนและวัดผลได้

สำหรับโครงการภายใต้ PPP-Saraburi Sandbox จะประกอบด้วย 

- การเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด (Accelerating Energy Transition) เช่น การจัดหาพื้นที่ผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบทุ่นลอยน้ำ (Solar Floating) และระบบผลิตไฟฟ้าจากไฮโดรเจน การพัฒนาสร้างระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ (Grid Modernization) และการส่งเสริมปลูกพืชพลังงาน เช่น หญ้าเนเปียร์

- การยกระดับเป็นอุตสาหกรรมสีเขียว (Fostering Green Industry & Green Product) ด้วยการศึกษาเทคโนโลยีดักจับคาร์บอน และส่งเสริมการใช้ปูนซีเมนต์คาร์บอนต่ำ หรือปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก รวมถึงการพัฒนาปูนซีเมนต์ที่ผลิตจากนวัตกรรมใหม่ที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

- การจัดการวัสดุเหลือใช้ (Turning Waste to Value) ด้วยการนำวัสดุเหลือใช้มาเป็นวัตถุดิบทดแทน หรือใช้เป็นเชื้อเพลิงทดแทนตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy: CE)

- การทำเกษตรกรรมคาร์บอนต่ำ (Promoting Green Agriculture) ด้วยการปลูกพืชพลังงานตามโมเดล BCG เช่น การทำนาเปียกสลับแห้ง ลดการใช้น้ำ และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

- การเพิ่มพื้นที่สีเขียว (Increasing Green Space) สนับสนุนการปลูกป่าชุมชนเพิ่ม 38 แห่งทั่วจังหวัด ช่วยดูดซับคาร์บอน ต่อยอดสู่การซื้อขายคาร์บอนเครดิต และสร้างรายได้ให้ชุมชน

"การนำเสนอดังกล่าวอยู่ในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 28 (COP28) ที่เมืองดูไบ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์" 

‘คลัง’ เตรียมตั้งบริษัทร่วมทุน ‘JV AMC’ ช่วยลูกหนี้ 3 ล้านบัญชี มูลหนี้ 2.3 แสนล้าน

(12 ม.ค. 67) นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล เลขานุการ รมว.คลัง กล่าวถึงมาตรการแก้ปัญหาหนี้สินประชาชนว่า กระทรวงการคลัง ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เตรียมจัดตั้งบริษัทร่วมทุน JV AMC ระหว่างธนาคารเฉพาะกิจ (SFI) ของรัฐกับบริษัทบริหารสินทรัพย์ โดยถือหุ้นในสัดส่วน 50:50 เพื่อแก้ปัญหาหนี้สินของประชาชนที่หมักหมมมานาน 

โดยบริษัทร่วมทุน JV AMC รับโอนลูกหนี้ขนาดวงเงินไม่เกิน 20 ล้านบาท จากธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ สู่บริษัทร่วมทุน JV AMC นำสู่การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้ลูกหนี้อย่างน้อย 1 ครั้ง ซึ่งไม่ติดอุปสรรคหลักเกณฑ์มาตรฐานบัญชี ปรับลดเงินงวดผ่อนชำระง่ายขึ้น ตัดต้นเงิน-ตัดจบหนี้ได้เร็วขึ้น เพื่อให้ประชาชนหลุดพ้นจากการเป็นหนี้เสีย และกลับเข้าสู่ระบบสินเชื่อได้อีกครั้ง 

ต่างจากในอดีต ธนาคารเฉพาะกิจของรัฐมีข้อจำกัดเรื่องการปรับโครงสร้างหนี้ เช่น ไม่สามารถตัดต้นเงินได้ ค่าติดตามไม่คุ้มกับมูลหนี้ หลักเกณฑ์มาตรฐานบัญชีที่เป็นอุปสรรค จึงเป็นปัญหาเรื้อรัง ขาดความคล่องตัว ทำให้หนี้เสียไม่ได้รับการแก้ไข ตั้งเป้าช่วยเหลือลูกหนี้ที่เป็นหนี้เสียคงค้างอยู่กับ SFI ได้ประมาณ 3 ล้านบัญชี มูลหนี้ 230,000 ล้านบาท

‘พีระพันธุ์’ ยังไม่พอใจ!! มองราคาค่าไฟยังลดได้อีก ยัน!! แผนรื้อโครงสร้างราคาพลังงานทุกชนิด ไม่เงียบ

(12 ม.ค. 67) นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ปี 67 จะดำเนินการรื้อ ลด ปลด สร้าง จะแก้กฎหมายกฎระเบียบ หรือการเขียนกฎหมายขึ้นมาใหม่ เพื่อให้โครงสร้างราคาพลังงานทุกชนิด ไม่ใช่แค่เฉพาะไฟฟ้าให้มีความเป็นธรรม โดยมองว่าประชาชนต้องไม่ได้รับความเดือดร้อนจากราคาพลังงาน และจะต้องมีความยั่งยืน

"ในอนาคตจะมีการรื้อโครงสร้างราคาค่าไฟฟ้า โดยพยายามหามาตรการ เช่น การหาแหล่งเชื้อเพลิงต้นทุนต่ำ การรื้อสัญญาโรงไฟฟ้าที่มีข้อผูกพันในระยะยาว การเข้าไปดูแลการนำเข้า Spot LNG"

ทั้งนี้ ที่ผ่านมากระทรวงพลังงานพยายามหามาตรการในการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน ซึ่งในส่วนของค่าไฟฟ้า จะแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ บ้านที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือน จะจ่ายค่าไฟฟ้าในอัตราเดิมคือ 3.99 บาทต่อหน่วย

ส่วนบ้านที่ใช้ไฟฟ้าเกิน 300 หน่วยต่อเดือน จากเดิมที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานได้ประกาศไว้ที่ 4.68 บาทต่อหน่วย แต่ด้วยความร่วมมือจากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ,การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทำให้ลดค่าไฟฟ้าเหลือเพียง 4.18 บาทต่อหน่วย หรือลดลงอีก 50 สตางค์ต่อหน่วยจากที่ กกพ. ประกาศ

อย่างไรก็ดี ต้องยอมรับว่า กระทรวงพลังงานได้ดำเนินทุกมาตรการที่สามารถดำเนินการได้ในระยะเวลาที่จำกัด แต่เนื่องจากต้นทุนเชื้อเพลิง โดยเฉพาะค่าก๊าซธรรมชาตินำเข้าหรือ LNG แม้จะเริ่มมีราคาลดลง แต่ก็ยังถือว่าอยู่ในระดับสูง แต่คาดว่าค่าไฟฟ้าในงวด พ.ค.-ส.ค. 67 จะมีแนวโน้มไปในทางที่ดี เนื่องจากก๊าซธรรมชาติจากแหล่งในอ่าวไทยจะสามารถผลิตได้ตามแผนที่วางไว้ที่ 800 ล้านลูกบาศ์กฟุตต่อวัน รวมถึงการปรับโครงสร้างราคาที่กำลังดำเนินการอยู่ ก็คาดว่าจะทำให้ค่าไฟฟ้าลดลงจากราคาปัจจุบันได้อีก

นายพีระพันธุ์ กล่าวอีกว่า กระทรวงพลังงานให้แต่ละหน่วยงานหามาตรการ เพื่อให้สามารถลดภาระค่าครองชีพของประชาชนได้มากที่สุด โดยตัวอย่างที่ดำเนินการแล้ว เช่น การให้โรงแยกก๊าซธรรมชาติมาใช้ราคา Pool Gas (ราคาเฉลี่ยรวมก๊าซธรรมชาติจากทุกแหล่ง) ก็เป็นส่วนหนี่งที่ทำให้ราคาค่าไฟลดลงมาได้ และที่สำคัญคือเป็นการลดแบบถาวร

นอกจากนี้ ยังได้ความร่วมมือจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ในการขยายหนี้ออกไปอีก 1 งวด และ ปตท. ในการกำหนดราคาขายก๊าซธรรมชาติ

'ผู้ประกอบการไทย' ชี้!! อนาคตสถานบันเทิงไทย ปี 67 หลังไฟเขียวตี 4 พร้อมแนะ!! จับตาตลาดท่องเที่ยวคาซัคฯ มาแรง หลังฟรีวีซ่า

จากรายการ THE TOMORROW มหาชนต้องรู้ ได้พูดคุยกับ คุณพีระพล พิภวากร เจ้าของร้านอาหาร Ministry of Single และรองประธาน Kazakh Thai Alliance ในประเด็น 'อนาคตสถานบันเทิงไทย เปิดถึงตี 4 ดีจริงไหม?' โดยคุณพีระพล กล่าวว่า...

ในช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมาร้านอาหารและสถานบันเทิงได้รับผลกระทบพอสมควร จากการที่ผู้ประกอบการต้องปรับตัวจากนโยบายของภาครัฐในขณะนั้น 

อย่างไรก็ตาม เมื่อปีที่ผ่านมาบรรยากาศการท่องเที่ยวไทยเริ่มดีขึ้น เพียงแต่ต้องมีการปรับบริบทและกลยุทธ์ใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ โดยก่อนโควิด-19 กลุ่มเป้าหมายยังเป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติ แต่ปัจจุบันกลุ่มเป้าหมายเปลี่ยนเป็นคนไทยแล้ว

ฉะนั้นอยากให้ภาครัฐที่ออกนโยบายลงมาพูดคุยกับผู้ประกอบการถึงความต้องการจริงๆ ว่าต้องการอะไร เพื่อให้สอดคล้องกับธุรกิจ และมีความเท่าเทียมกัน โดยเฉพาะการเปิดสถานบริการถึงตี 4 ก็ควรเข้มงวดในเรื่องกฎหมาย เช่น การเมาแล้วขับรถต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง นอกจากนี้ควรส่งเสริมผู้ประกอบการในด้านอื่นๆ เช่น การลดหย่อนภาษี มีกองทุนร้านอาหารเพื่อแปลงหนี้เป็นทุน หรือส่งเสริมการเข้าถึงแหล่งเงินทุนมากขึ้น เป็นต้น 

นอกจากนี้ คุณพีระพล ยังได้เปิดประเด็นสำคัญอีกเรื่องเกี่ยวกับมุมมองตลาดท่องเที่ยวคาซัคสถานหลังฟรีวีซ่า ซึ่งในฐานะรองประธาน Kazakh Thai Alliance คุณพีระพล กล่าวว่า...

พฤติกรรมของนักท่องเที่ยวคาซัคสถานส่วนใหญ่จะมีวันหยุดยาวเป็นเดือนโดยเลือกจุดหมายมาเมืองไทยกันเป็นจำนวนมากในช่วงนี้หลังจากฟรีวีซ่า โดยนักท่องเที่ยวคาซัคสถานมีกำลังซื้อสูง นิยมท่องเที่ยวภูเก็ต, กระบี่ และพัทยา โดยแต่ละปีมาท่องเที่ยวเมืองไทยกว่า 300,000 คน 

ส่วนตลาดนักท่องเที่ยวไทยไปเที่ยวคาซัคสถานในปัจจุบันยังน้อยอยู่ด้วยหลายปัจจัย เช่น เที่ยวบินจากไทยไปคาซัคสถานยังไม่เพียงพอ โดยปัจจุบันรูปแบบการท่องเที่ยวต้องไปกับทัวร์เพียงอย่างเดียว ซึ่งตรงนี้ถือเป็นโอกาสของผู้ประกอบการท่องเที่ยวไทยอย่างมาก

ขณะเดียวกัน ในด้านการส่งเสริมการตลาดที่ประเทศคาซัคสถาน ก็ต้องบอกว่าเป็นข่าวดี เพราะยังมีความต้องการสินค้าจากประเทศไทยสูง เนื่องจากสินค้าไทยมีคุณภาพที่น่าเชื่อถือ คนในคาซัคฯ ก็เชื่อมั่นมาก หลายๆ ชนิดสินค้าก็ได้รับการตอบรับดี เช่น ผลไม้ไทย, น้ำจิ้มไก่, อาหารทะเลแปรรูปแช่แข็ง, เครื่องกระป๋อง เป็นต้น 

แน่นอนว่า ในส่วนของคาซัคสถานเอง ก็อยากนำสินค้ามาเปิดตลาดในไทยด้วยเช่นกัน เช่น เนื้อวัว, เนื้อม้า, เนื้อแกะ, ข้าวสาลี เป็นต้น 

คุณพีระพล ทิ้งท้ายอีกด้วยว่า ในปีนี้ช่วงหลังเดือนกุมภาพันธ์ ตนจะมีการจัดทริป Business Matching เพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการไทยที่อยากไปเปิดตลาดธุรกิจที่คาซัคสถานอีกครั้ง ถ้าท่านใดสนใจท่องเที่ยวและร่วมทริป Business Matching สามารถสอบถามได้ที่ 095-936-9635

‘พีระพันธุ์’ พร้อม!! ตรึงดีเซลไม่เกิน 30 บาท 3 เดือน ลั่น!! จะดูแลราคาพลังงานให้อยู่ในระดับนี้ตลอดปี

ข่าวดี!! ‘พีระพันธุ์’ ลั่น!! ตรึงดีเซลไม่เกิน 30 บาท ทั้งปี 67 ด้านค่าไฟเริ่มเห็นสัญญาณต้นทุนทรงตัวจากปริมาณก๊าซในแหล่งอ่าวไทยเพิ่มขึ้น พร้อมลุย!! ‘รื้อ-ลด-ปลด-สร้าง’ เต็มรูปแบบควบคู่การดูแลราคาพลังงาน

(12 ม.ค. 67) นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ปี 2567 จะดูแลราคาพลังงานให้อยู่ในระดับนี้ต่อไป โดยตลอดปีนี้ ทั้งค่าไฟ ที่เริ่มเห็นสัญญาณต้นทุนทรงตัว เพราะจะมีปริมาณก๊าซในแหล่งอ่าวไทยเพิ่มขึ้น รวมถึงน้ำมันโดยเฉพาะน้ำมันดีเซลต้องอยู่ระดับไม่เกิน 30 บาทต่อลิตรต่อไป ขณะที่ ราคาแอลพีจี (LPG) และเอ็นจีวี (NGV) จะดูแลให้อยู่ระดับนี้ต่อไปด้วยเช่นกัน ซึ่งทั้งหมดต้องอาศัยความร่วมมือจากรัฐบาล ทุกหน่วยงานรัฐ

นอกจากนี้ จะเดินหน้า ‘รื้อ-ลด-ปลด-สร้าง’ เต็มรูปแบบควบคู่การดูแลราคาพลังงาน โดยคาดว่ากฎหมายหลายฉบับที่ปรับแก้ รื้อ หรือยกร่างใหม่จะชัดเจนทั้งหมด อาทิ ประเด็นโครงสร้างราคาน้ำมัน ปัจจุบันประกอบด้วย ราคาหน้าโรงกลั่นของฝั่งเอกชน บวกฝั่งรัฐคือ ภาษีต่าง ๆ บวกส่งเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง หรือกองทุนฯ อุดหนุน ซึ่งฝั่งรัฐกลายเป็นต้นทุนที่เพิ่มขึ้นเกือบ 100%

ดังนั้น สิ่งที่ทำได้ทันทีคือ การหารือกับกระทรวงการคลัง (นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง) และกระทรวงมหาดไทย (นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย) โดยเป็นการหารือระดับรัฐมนตรี เพื่อเป็นนโยบายรัฐบาลในการช่วยเหลือประชาชนอย่างถาวร เพราะโครงสร้างจากรัฐมีมานานตั้งแต่ตั้งกระทรวง ไม่มีการปรับแก้ 

ส่วนต้นทุนหน้าโรงกลั่นเมื่อแก้กฎหมายแล้ว กระทรวงพลังงานจะมีอำนาจเรียกดูข้อมูลที่เอกชนอ้างเป็นความลับทางการค้า ทั้งหมดนี้ราคาน้ำมันของไทยจะลดลงด้วยโครงสร้างที่เป็นธรรมอย่างแท้จริง

ด้านกรณีการตรึงราคาดีเซล 3 เดือน (ม.ค.-มี.ค. 67) ไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร โดยไม่มีการช่วยเหลือทางภาษีจากกระทรวงการคลังนั้น คาดว่าวันที่ 16 มกราคมนี้ คณะรัฐมนตรี (ครม.) จะเห็นชอบตามที่กระทรวงการคลังเสนอคือ ลดภาษีดีเซลเพื่อช่วยเหลือประชาชน โดยรายละเอียดอยู่ที่กระทรวงการคลังในการพิจารณาอัตรา และช่วงเวลาการสนับสนุน

นายพีระพันธุ์ กล่าวอีกว่า ผลงานสำคัญของกระทรวงพลังงานปีที่ผ่านมาคือ การลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานอย่างต่อเนื่อง ทั้งค่าไฟฟ้า ล่าสุดงวดเดือน ม.ค.-เม.ย. 67 อยู่ที่ 4.18 บาทต่อหน่วย และกลุ่มเปราะบาง 3.99 บาทต่อหน่วย

ขณะที่น้ำมัน กลุ่มเบนซินไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร ลดกลุ่มเบนซิน โดยเฉพาะน้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91 ราคาลดลง 2.50 บาทต่อลิตร นอกจากนี้ยังตรึงราคาก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี) และก๊าซธรรมชาติสำหรับรถยนต์ (เอ็นจีวี) ด้วย

"ประเด็นค่าไฟได้มีการปรับโครงสร้างก๊าซธรรมชาติ ด้วยการบริหารให้โรงแยกก๊าซธรรมชาติใช้ก๊าซในราคาพูลก๊าซ คือ ราคาเฉลี่ยจากทุกแหล่งที่มา ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าลดลงได้ ถือเป็นความสำเร็จหนึ่งในการปรับโครงสร้างพลังงานประเทศที่ผมประกาศไว้" นายพีระพันธุ์ ทิ้งท้าย

‘นายกฯ’ เตรียมดันค่าแรงขั้นต่ำแตะ 400 บาท ในปีนี้ ไม่ทิ้งเป้า ‘ป.ตรี 2.5 หมื่นบาท-ค่าแรง 600 บาท’ ในปี 70

(12 ม.ค. 67) ที่ห้องรอยัล จูบิลี่ บอลรูม อาคารชาเลนเจอร์ อิมแพ็ค เมืองทองธานี นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง เป็นประธานพิธีเปิดโครงการประชุมสัมมนาการมอบนโยบายและแนวทางการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 มีคณะรัฐมนตรี อาทิ นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และรมว.พาณิชย์, พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และรมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, นายสุทิน คลังแสง รมว.กลาโหม, นางพวงเพ็ชร ชุนละเอียด รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี, นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.แรงงาน, ผบ.เหล่าทัพ รวมถึงหัวหน้าส่วนราชการ และข้าราชการ รัฐวิสาหกิจ ผู้ว่าราชการจัดหวัด เข้าร่วม

โดย นายเศรษฐา กล่าวตอนหนึ่งว่า นโยบายที่ดำเนินการภายใต้รัฐบาลนี้ จะต้องมีเป้าหมายที่ชัดเจน จับต้องได้อย่างเป็นรูปธรรม เพื่อให้ประชาชนสบายใจได้ว่าภาษีของพวกเค้าถูกใช้ในการสร้างประโยชน์ให้กับประเทศ ในด้านต่าง ๆ อาทิ ด้านการเกษตร ช่วงที่ผ่านมาตนได้เดินหน้าเจรจาการค้า เพื่อเปิดตลาดใหม่ ๆ ให้กับพี่น้องเกษตรกรทุกกลุ่ม ทั้งพืช และปศุสัตว์ ด้านการท่องเที่ยวถือเป็นนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจที่สำคัญ และรัฐบาลมีเป้าหมายรายได้จากการท่องเที่ยว 3 ล้านล้านบาท มุ่งให้ไทยเป็นจุดหมายของนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก ทั้งเมืองหลักและเมืองรอง เรื่องที่ดำเนินการไปแล้ว คือ วีซ่าฟรีนักท่องเที่ยวจีน คาซัคสถาน อินเดีย ไต้หวัน และขยายเวลาสำหรับชาวรัสเซีย ซึ่งก็ทำให้เราก็มีนักท่องเที่ยวเข้ามาประเทศไทยกว่า 24 ล้านคน และนำจุดเด่นของแต่ละพื้นที่มาใช้ดึงดูดนักท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็น Hardware เช่น สถานที่ วัฒนธรรม อาหาร หรือเป็น Software ที่ตนใช้เรียกการจัดกิจกรรม Festival หรือ Event ต่างๆ ที่ประกอบกันเป็น Soft Power ของแต่ละพื้นที่ และต้องส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงธุรกิจมากขึ้น ให้มีการใช้สถานที่จัดประชุม เป็นเจ้าภาพแสดงสินค้า งานเทศกาลระดับโลก ในประเทศไทยให้ได้

นายเศรษฐา กล่าวต่อว่า ในเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน รัฐบาลให้ความสำคัญกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทั้งทางถนน ทางรางทางน้ำ และทางอากาศ และอีกหนึ่งโครงการที่ขอให้ความสำคัญ คือโครงการ แลนด์บริดจ์ ที่ใช้จุดแข็งของสภาพภูมิศาสตร์ที่เชื่อมทั้งสองฝั่งของมหาสมุทร เปิดประตูการค้าสองฝั่งมหาสมุทรทางภาคใต้ที่จะทำให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลาง การค้าและคมนาคมที่สำคัญ เสริมสร้างความเชื่อมโยงในภูมิภาคให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยเราจะ เสริมความแข็งแกร่งของการขนส่งผ่านช่องแคบมะละกาและคาดว่าจะสร้างงาน 280,000 ตำแหน่ง คาด GDP โตขึ้นปีละ 5.5%โครงการนี้มีประโยชน์ต่อประเทศมหาศาล และตนขอให้ทุกท่านช่วยกันสนับสนุน ผลักดันไปด้วยกัน จากนโยบายด้านเศรษฐกิจทั้งหมด ครอบคลุมทั้งการท่องเที่ยว การค้า การลงทุนการต่างประเทศ Soft Power โครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ อีกส่วนนึงที่อยากผลักดัน คือการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำให้สำเร็จ มั่นใจว่าคนไทยเรามีฝีมือ มีทักษะ และพร้อมจะเรียนรู้ เป้าหมายของตน ยังชัดเจน ค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาท ปริญญาตรี 25,000 บาท ภายในปี 2570 โดยปีนี้จะต้องทำ ค่าแรงขั้นต่ำให้มากกว่า 400 บาทให้ได้

นายเศรษฐา กล่าวว่า ในเรื่องปัญหายาเสพติด รัฐบาลนี้จะปราบปรามผู้มีอิทธิพลและยาเสพติดให้หมด ไปจากสังคมไทย โดยใช้มาตรการปราบปรามทางกฎหมาย ยึดทรัพย์ และดำเนินการเจรจาทางการทูตกับประเทศตามแนวชายแดน เพื่อควบคุมการลักลอบนำยาเสพติดเข้ามาในประเทศควบคู่กับการสร้างภูมิคุ้มกันและป้องกันยาเสพติดในเด็ก เยาวชน ผู้ใช้แรงงาน สำหรับความเป็นอยู่ของประชาชนจะต้องได้รับการพัฒนาขึ้นเรื่อย ๆ ในตลอดสมัยของรัฐบาลนี้ ทั้งรถไฟฟ้า น้ำประปา และสิ่งแวดล้อม อากาศสะอาด ด้านค่าโดยสารรถไฟฟ้าของประชาชน รัฐบาลมีนโยบายที่จะทำ ‘20 บาทตลอดสาย’ ให้สำเร็จ ในปัจจุบันรถไฟฟ้าสายสีม่วง และสายสีแดง ก็เหลือ 20 บาทแล้ว ทางกระทรวงคมนาคมก็จะเดินหน้าพัฒนาระบบ Feeder ที่เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าทั้งสองสายให้มากขึ้น และเราจะต้องเดินหน้าทำส่วนอื่นให้สำเร็จ เพื่อทำให้ 20 บาทตลอดสายเกิดขึ้นได้จริงสำหรับประชาชนครับ

ขณะที่ด้านกองทัพ รัฐบาลจะสนับสนุนการปรับโครงสร้างของหน่วยงานด้านความมั่นคงให้มีความทันสมัย สามารถตอบสนองต่อการคุกคามและภัยความมั่นคงรูปแบบใหม่ ๆ ได้ทุกมิติ พัฒนากองทัพให้เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาศักยภาพของประเทศและประชาชน พัฒนากระบวนการทำงาน การลงทุนในอุปกรณ์ การฝึกอบรม ที่จะทำให้ทหารเป็น ‘ทหารอาชีพ’ ลดกำลังพล และงบประมาณลง ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ของประเทศ เปลี่ยนรูปแบบการเกณฑ์ทหารให้เป็นสมัครใจให้มีนัย

นายเศรษฐา กล่าวว่า รัฐบาลนี้จะต้องเดินหน้าแก้ไขกฏระเบียบ กฏหมาย ข้อจำกัดต่าง ๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อการสร้างเนื้อสร้างตัวของประชาชน การทำธุรกิจ การคิดค้นธุรกิจใหม่ ๆ โดยเฉพาะกฏหมายเกี่ยวกับการทำสุราพื้นบ้าน ซึ่งจะกลายมาเป็นหนึ่งในสินค้าส่งออกที่ชุมชนจะสามารถชูจุดเด่นของตนเองได้ สนับสนุนการแข่งขันที่เป็นธรรม ทำให้คนตัวเล็กสามารถเติบโตได้ ขณะที่เรื่องการเดินหน้าสู่ประชาธิปไตย รัฐบาลนี้จะทำประชามติ เพื่อทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้แล้วเสร็จ โดยไม่จุดขนวนความขัดแย้งในสังคมให้ได้ มุ่งหน้าทำให้ประเทศไทยมีหลักนิติธรรมที่เข้มแข็งในที่สุด

“อย่างที่ทุกคนทราบว่าหนึ่งในนโยบายเรือธงของรัฐบาลนี้คือการทำ ดิจิทัล วอลเล็ตให้สำเร็จ แม้ว่าในวันนี้ เราจะเดินหน้าออก พ.ร.บ.กู้เงินก็ตาม แต่ก็ขอให้ไม่ลืมที่จะตั้งงบประมาณเผื่อไว้ ในกรณีที่ต้องใช้พัฒนาและดำเนินโครงการด้วย แต่ขอให้ตั้งอย่างสมเหตุสมผล ในปีงบประมาณ 2568 การใช้จ่ายภาครัฐจะมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนการดำเนินนโยบายของรัฐบาลทั้งระยะสั้น ระยะกลางและระยะยาว ให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม”

นายเศรษฐา กล่าวว่า นโยบายทั้งหมดของรัฐบาลที่กล่าวไปนั้น จะต้องอาศัยการทำงานบูรณาการกัน เป็นอย่างมาก มีความเชื่อมโยงหลายส่วนการจัดทำงบประมาณ จะต้องขอให้สำนักงบประมาณช่วยคอยดูทั้งตัวชี้วัดงบประมาณที่ขอ เพื่อไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อน และต้องดูรายละเอียดเนื้อหาให้ถี่ถ้วนด้วยว่าตอบโจทย์ของรัฐบาลหรือไม่ ในปีงบประมาณ 68 จะเป็นการดำเนินการที่ต่อเนื่องจากปี 67 โดยช่วงเวลาการทำงานจะทับซ้อนกัน จึงขอขอบคุณทุกหน่วยงานที่ให้ความร่วมมือในการดำเนินการ เพื่อผลักดันให้การจัดทำงบประมาณตอบโจทย์ความต้องการและเป็นประโยชน์ต่อประชาชนมากที่สุด และเพื่อให้หน่วยงานสามารถจัดทำคำของบประมาณที่สอดคล้องกับจุดเน้นตาม นโยบายของรัฐบาลที่ต้องดำเนินการในปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 จำนวน 142 ประเด็น สำนักงบประมาณ จึงอยู่ระหว่างดำเนินการนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อ ปรับปรุงปฏิทินงบประมาณ โดยขยายระยะเวลาการจัดส่งคำขอได้ถึงวันที่ 2 ก.พ.


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top