Saturday, 10 May 2025
Econbiz

‘นายกฯ’ เล็งลงพื้นที่ดูแล ศก. 3 จว.ชายแดนใต้ สิ้นเดือน ก.พ. หาทางพัฒนา-ยกระดับ ‘ของดีพื้นถิ่น’ ให้มีมูลค่าสูงยิ่งขึ้น

(9 ม.ค. 67) นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า สิ้นเดือน ก.พ. ตนจะลงพื้นที่ 3 จังหวัดภาคใต้ ไม่ใช่ไปดูเรื่องความมั่นคง แต่ไปดูเรื่องเศรษฐกิจ ไปพร้อมกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เพื่อไปดูเรื่องต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว ศิลปะ วัฒนธรรม อาหาร ซึ่งหลายอย่างเชื่อว่ามีของดีอยู่มากใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

รัฐบาลนี้ใส่ใจ หลาย ๆ อย่างจะถูกนำขึ้นมา อย่างเมืองยะลา เป็นเมืองที่มีผังเมืองสวยที่สุดในประเทศและพร้อมรับนักท่องเที่ยว อาหารใต้มีเสน่ห์ มีเอกลักษณ์ แต่ขาดการโปรโมตในเวทีโลก ดังนั้น หากผู้ใหญ่ในรัฐบาลลงพื้นที่และสนับสนุนต่อเนื่อง ก็เชื่อว่าสิ่งดี ๆ เหล่านี้จะนำเงินเข้าประเทศได้จำนวนมาก ทำให้พี่น้องประชาชนภาคใต้มีกินมีใช้ขึ้นอีก

“อย่างประเทศฝรั่งเศส หลายท่านดื่มไวน์ก็รู้ว่าองุ่นกิโลกรัมละไม่กี่ร้อย แต่ถ้านำไปทำเป็นสินค้าที่มี Value added จริง ๆ กลายเป็นไวน์ขวดหนึ่งก็เป็นหลายหมื่นได้ ตัวอย่างมีอยู่ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งผมจะลงไปดูในครั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องปลาหน้าตก หรือ ปลานิลสายน้ำไหล ที่เลี้ยงโดยว่ายสวนน้ำขึ้นไปที่มีราคาสูงถึงตัวละ 3,000 บาท ไม่มีใครทราบ ไม่มีใครโปรโมต แต่ผมเชื่อว่า หลังจากสิ้นเดือนหน้าแล้ว รัฐบาลนี้ลงไปจะสร้างตลาดให้กับสินค้าประเภทนี้และอีกหลายประเภท ซึ่งยังไม่มีใครสร้าง” นายกรัฐมนตรีกล่าว

‘นายกสมาพันธ์ฯ’ เตือน!! ‘ชาวสวน’ อย่านิ่งนอนใจ ชี้ ควรเร่งปรับตัว หลัง ‘เวียดนาม’ จี้ติด!! ส่ง 'ทุเรียน' ไปจีน เกือบครึ่งหนึ่งของไทยแล้ว

(9 ม.ค. 67) นายชลธี นุ่มหนู นายกสมาพันธ์ชาวสวนทุเรียนไทยภาคตะวันออก ได้ออกมาเปิดเผยข้อมูลการสำรวจราคาค้าส่งทุเรียนไทยและทุเรียนเวียดนาม ที่ตลาดเจียซิง มณฑลเจ้อเจียง สาธารณรัฐประชาชนจีน ระหว่างวันที่ 1-31ธ.ค.2566 โดยเจ้าหน้าที่ฝ่ายเกษตร ประจำสถานกงสุลใหญ่ ณ นครเซี่ยงไฮ้ ว่า ราคาทุเรียนหมอนทองของไทย เมื่อวันที่ 1 ธ.ค.2566 ที่ผ่านมาอยู่ประมาณ 1,000-1,200 หยวนต่อกล่องบรรจุ 6 ลูก 

ส่วนราคาทุเรียนหมอนทองของประเทศเวียดนาม 1 กล่อง 6 ลูกอยู่ที่ 900-1,000 หยวน (1 หยวนประมาณ 5 บาท) ขณะที่ทุเรียนก้านยาวเวียดนาม 1 กล่อง 3 ลูก ราคา 400 หยวน

และเมื่อเปรียบเทียบปริมาณการส่งออกทุเรียนไปตลาดเจียซิง มณฑลเจ้อเจียง ประเทศจีน ในช่วงปลายปีที่ผ่านมา พบว่า จำนวนการส่งออกทุเรียนไปตลาดดังกล่าวที่มีประมาณ 49 ตู้ต่อครั้ง เป็นทุเรียนไทยจำนวน 27 ตู้ ส่วนทุเรียนเวียดนาม จำนวน 22 ตู้

ส่วนการเปรียบเทียบการส่งออกทุเรียนจากไทยไปตลาดดังกล่าวเมื่อวันที่ 29 ธ.ค.66 ที่ผ่านมา พบว่าราคาส่งออกทุเรียนหมอนทองไทย 1 กล่อง กล่องละ 6 ลูก ลดลงเหลือเพียง 950-1,100 หยวน เช่นเดียวกับทุเรียนหมอนทองเวียดนาม 1 กล่องละ 6 ลูก ราคา 500-520 หยวน ส่วนก้านยาวเวียดนาม 1 กล่อง 3 ลูก ราคา 380-400 หยวน

โดยปริมาณการส่งทุเรียนไปตลาดเจียซิง มณฑลเจ้อเจียง ประเทศจีน ในวันดังกล่าวที่มีจำนวนรวม 39 ตู้ เป็นทุเรียนไทยจำนวน 25 ตู้ ส่วนทุเรียนเวียดนาม 14 ตู้

นายชลธี เผยว่า หากพิจารณาข้อมูลการส่งออกทุเรียนของเวียดนามไปตลาดจีน จะเห็นว่าสัดส่วนการส่งออกเติบโตเกือบถึงครึ่งหนึ่งของการส่งออกทุเรียนไทยไปจีนแล้ว จึงแสดงให้เห็นว่า เวียดนามมีการพัฒนาคุณภาพทุเรียนส่งออกที่ได้มาตรฐานมากขึ้น

ขณะที่ภาครัฐของเวียดนามเอาใจใส่กับผลผลิตทางการเกษตร และยังเร่งส่งเสริมให้ความรู้กับเกษตรกร สอดรับกับข้อได้เปรียบของเวียดนามที่มีชายแดนติดกับประเทศจีน จึงทำให้เกษตรกรสามารถตัดทุเรียนคุณภาพ (แก่) เพื่อส่งออกได้ทันที

“สิ่งที่เกษตรกรไทยต้องเร่งปรับตัว คือ ทำทุเรียนคุณภาพตั้งแต่ขั้นตอนการตัด คัด ส่งออก ซึ่งในทุกขั้นตอนต้องสัมพันธ์กันทั้งหมด และหากเกษตรกรยังไม่คำนึงถึงคุณภาพทุเรียนส่งออก สุดท้ายจะทำให้ตลาดปลายทางเสียหาย และผลกระทบจะย้อนกลับมาที่ตัวเกษตรกรเอง”

นายกสมาพันธ์ชาวสวนทุเรียนไทยภาคตะวันออก อดีตมือปราบทุเรียนอ่อน ยังบอกอีกว่าที่ผ่านมาได้มีความพยายามในการรณรงค์ให้เกษตรกรทำทุเรียนคุณภาพ และไม่ตัดทุเรียนก่อนกำหนดอย่างต่อเนื่อง

เพราะหากต้นฤดูมีทุเรียนไม่ได้คุณภาพออกสู่ตลาด จะทำให้ทุเรียนทั้งภาคตะวันออก และทั่วประเทศ ตลอดไปจนถึงหน้าทุเรียนในพื้นที่ภาคใต้มีคำสั่งซื้อน้อยลง

ส่วนการจัดทำโครงการหมู่บ้านปลอดทุเรียนอ่อน นำร่องในพื้นที่ จ.ตราด เป็นพื้นที่แรกนั้น นายกสมาพันธ์ชาวสวนทุเรียนไทยภาคตะวันออก บอกว่า เพื่อเป็นการกระตุ้นให้ชาวสวนทุเรียนไทยต้องหันมามองเรื่องการสร้างแบรนด์สินค้าให้เป็นที่ยอมรับของตลาด และกระบวนการผลิตจะต้องสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ถึงที่มาของแหล่งผลิตนั้น

“วันนี้ยังคงยืนยันได้ว่าทุเรียนไทยยังคงเป็นที่ต้องการของตลาดมาก ซึ่งหากเกษตรกรสามารถทำผลผลิตได้ตามคุณภาพตามที่ตลาดปลายทางต้องการจะทำให้ตลาดทุเรียนไทยเติบโตแบบยั่งยืน ขณะเดียวกัน ภาครัฐของไทยต้องเข้มงวดในเรื่องกระบวนการตรวจสอบคุณภาพก่อนส่งออกไปต่างประเทศด้วยเช่นกัน” นายชลธี กล่าว

‘EA’ เริ่มส่งมอบคาร์บอนเครดิตโครงการ E-Bus ในกทม. ให้สวิตเซอร์แลนด์  ตามข้อตกลงปารีส Article 6.2 มุ่งขับเคลื่อนสู่เป้าหมาย NDC

(9 ม.ค.67) บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA ได้เริ่มส่งมอบคาร์บอนเครดิตจากโครงการ ‘รถโดยสารประจำทางไฟฟ้าในพื้นที่กรุงเทพมหานคร’ (Bangkok E-Bus Programme) ซึ่งเป็นโครงการซื้อขายคาร์บอนเครดิตระหว่างประเทศโครงการแรกของโลกที่มีการซื้อขายกันเกิดขึ้น ภายใต้ความตกลงปารีส Article 6.2 ซึ่งเป็นการร่วมมือกันระหว่างไทย-สวิตเซอร์แลนด์ ผ่านกรอบความร่วมมือกันระหว่างประเทศที่มีการระบุชัดเจนว่าจะต้องเป็นโครงการการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจที่อยู่นอกเหนือจากแผนการดำเนินงานของประเทศ (Nationally Determined Contributions : NDC) มีการปฏิบัติตรงตามมาตรฐานด้านคุณภาพต่อสิ่งแวดล้อมและสิทธิมนุษยชน โดยมี Klik Foundation เป็นผู้ซื้อ Carbon Credit ที่เกิดขึ้นและนำ Carbon Credit ดังกล่าวไปลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศสวิตเซอร์แลนด์ตามเป้าหมายที่ได้วางไว้

นายฉัตรพล ศรีประทุม ผู้อำนวยการโครงการกลยุทธ์ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการพัฒนาอย่างยั่งยืน บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า โครงการแลกเปลี่ยนคาร์บอนเครดิตภายใต้ข้อตกลงปารีส 6.2 ซึ่งรถโดยสารประจำทาง EV นี้เป็นโครงการอันดับแรก ๆ ของโลกที่มีการแลกเปลี่ยนคาร์บอนเครดิตสำเร็จ โดยทาง EA มีความมุ่งมั่นที่จะเป็นผู้นำในการส่งเสริมความร่วมมือกันระหว่างประเทศในด้านการรักษาสิ่งแวดล้อม การเดินหน้าของโครงการดังกล่าวจะเป็นการสนับสนุนให้เราก้าวเข้าสู่สังคม เศรษฐกิจแบบปลอดคาร์บอนฯ อีกทั้งสามารถเข้าถึงเงินทุนระหว่างประเทศเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และช่วยเป็นแรงกระตุ้นที่ดีสำหรับภาคเอกชนในการพัฒนาโครงการที่ช่วยรักษาและปกป้องสิ่งแวดล้อม

Mr. Michael Brennwald Head International, Klik Foundation กล่าวว่า “โครงการแลกเปลี่ยนคาร์บอนเครดิตภายใต้ความตกลงปารีส ของรถโดยสารประจำทาง EV นี้ เป็นโครงการนำร่อง เพื่อการสนับสนุนกิจกรรมการรักษาสิ่งแวดล้อมแบบยั่งยืน การแลกเปลี่ยนคาร์บอนเครดิตภายใต้ข้อตกลงปารีส 6.2 นั้น มีการร่วมกันพัฒนามาอย่างแข็งขันจากทุกภาคส่วน นอกจากนี้ยังมองหาโอกาสในการร่วมมือกับภาคเอกชนในประเทศไทยและประเทศข้างเคียง เพื่อที่จะสร้างโครงการในการร่วมมือกันระหว่างประเทศกับสวิตเซอร์แลนด์

ทั้งนี้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของทั้งประเทศไทยและประเทศสวิตเซอร์แลนด์ได้มีการลงนามในความร่วมมือระหว่างประเทศภายใต้ความตกลงปารีส 6.2 เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2565   โดยสัญญาแบบทวิภาคีกำหนดกรอบความร่วมมือกันระหว่างทั้งสองประเทศและสร้างแนวทางสำหรับ การพัฒนาโครงการเพื่อสิ่งแวดล้อม เพื่อจัดทำกรอบความร่วมมือโดยสมัครใจสำหรับการถ่ายโอนผลการลดก๊าซเรือนกระจกระหว่างประเทศและเป็นส่วนสำคัญในการเร่งให้เกิดการเปลี่ยนผ่านสู่สังคมคาร์บอนต่ำในประเทศไทยอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป

กรมควบคุมมลพิษ หนุนใช้ ‘น้ำมันยูโร 5’ เชื่อช่วยลดฝุ่น PM2.5 ได้กว่า 20-24%

(9 ม.ค. 67) นางสาวปรีญาพร สุวรรณเกษ อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) เปิดเผยว่า พล ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะประธานคณะกรรมการจัดการปัญหามลพิษทางอากาศเพื่อความยั่งยืน ติดตามการดำเนินงานตามมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการเชิงพื้นที่ (พื้นที่ที่มีปัญหา/พื้นที่เสี่ยงต่อปัญหาฝุ่นละออง) รวมถึงการควบคุมฝุ่นในเมือง สนับสนุนเร่งรัดการจำหน่ายน้ำมันคุณภาพมาตรฐานยูโร 5 ให้ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ 

ทั้งนี้ เพื่อลดมลพิษจากไอเสียรถยนต์โดยเฉพาะฝุ่นละออง PM2.5 ซึ่งกระทรวงพลังงานได้ดำเนินการปรับปรุงคุณภาพน้ำมันในกลุ่มน้ำมันเบนซิน –แก๊สโซฮอล์ และกลุ่มดีเซล ให้เป็นมาตรฐาน ยูโร 5 โดยโรงกลั่นน้ำมันทั้ง 6 แห่ง ได้แก่ ไทยออยล์ บางจาก พีทีทีจีซี บางจากศรีราชา ไออาร์พีซี  และเอสพีอาร์ซี พร้อมจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงมาตรฐานยูโร 5 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567

สำหรับน้ำมันเชื้อเพลิงมาตรฐานยูโร 5 ทั้งกลุ่มน้ำมันเบนซิน – แก๊สโซฮอล์ และกลุ่มดีเซล จะมีกำมะถันไม่เกิน 10 ppm (10 ส่วนในล้านส่วนโดยน้ำหนัก) ขณะที่มาตรฐานยูโร 4 จะมีกำมะถันไม่เกิน 50 ppm 

โดยน้ำมันเชื้อเพลิงมาตรฐานยูโร5 สามารถใช้ได้กับรถยนต์ทั้งรุ่นเก่าและรุ่นใหม่ และไม่ก่อเกิดปัญหาต่อเครื่องยนต์ จากการทดสอบการปล่อยมลพิษโดยห้องปฏิบัติการตรวจวัดมลพิษทางอากาศจากยานพาหนะของกรมควบคุมมลพิษ  รถยนต์มาตรฐานยูโร

และรถยนต์มาตรฐานยูโร 4 ซึ่งมีการใช้งานมากที่สุด เมื่อมาใช้น้ำมันเชื้อเพลิงมาตรฐานยูโร 5 จะทำให้ค่าฝุ่น PM 2.5 ลดลงถึง 20 – 24%

ในช่วงนี้มีความกดอากาศสูง สภาพอากาศปิด อัตราการระบายอากาศไม่ดี ทำให้ฝุ่นละอองเกิดการสะสมในบรรยากาศจนอยู่ในระดับที่มีผลกระทบต่อสุขภาพอนามัย ซึ่งยานพาหนะเป็นแหล่งกำเนิดฝุ่น PM2.5 หลักในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล

‘คลัง’ เตรียมปล่อยแพ็กเกจอุดหนุน ESG ลงทุนเพื่อ ‘สิ่งแวดล้อม’ ลดหย่อนภาษีได้

(9 ม.ค. 67) นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ขณะนี้กระทรวงการคลัง อยู่ระหว่างการจัดทำมาตรการส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development) รวมถึงการดำเนินการตามมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมสังคมและธรรมาภิบาล (Environment, Social, Governance: ESG) ซึ่งเป็นไปตามเทรนด์การลงทุนของโลกเนื่องจากธุรกิจที่มี ESG ที่ดีจะสะท้อนให้เห็นถึงความสามารถในการแข่งขัน และศักยภาพของการเติบโตในระยะยาว

ปัจจุบันมีมาตรการหลากหลายในการส่งเสริม และจูงใจที่จะพัฒนาประเทศไปสู่ความยั่งยืนซึ่งในส่วนของกระทรวงการคลังนั้นจะพิจารณามาตรการภาษีคาร์บอนเพื่อจูงใจให้เกิดการลงทุนในธุรกิจสีเขียวใช้พลังงานหมุนเวียน และพลังงานสะอาดมากขึ้น

ขณะเดียวกันต้องมีมาตรการลดหย่อนภาษีสำหรับการชำระภาษีบุคคลธรรมดา และนิติบุคคลสำหรับการสนับสนุนด้าน ESG ด้วย นอกจากนี้ยังมีมาตรการสินเชื่อธุรกิจสีเขียวดอกเบี้ยต่ำเพื่อสนับสนุนการดำเนินธุรกิจสีเขียวหรือการติดตั้งแผงโซลาร์ตามบ้านเรือนซึ่งสถาบันการเงินของรัฐได้ดำเนินการไปแล้ว

“มาตรการใดพร้อมก็จะเดินหน้าไปก่อนได้เลยไม่ต้องรอให้ออกมาเป็นแพ็กเกจเพราะหากรออาจใช้เวลาในการดำเนินการ และไม่ทันต่อสถานการณ์ได้”

ด้าน นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพสามิต กล่าวว่า ในปีนี้กรมฯ มีแผนที่จะผลักดันมาตรการทางภาษีเพื่อดูแลสังคม และสิ่งแวดล้อมใน 4 รายการประกอบด้วย 

1.มาตรการสนับสนุนการผลิตและใช้แบตเตอรี่ในรถยนต์ไฟฟ้า (BEV) และรวมถึงแบตเตอรี่ที่ใช้ในอุตสาหกรรมอื่น ๆ เช่นโซลาร์เซลล์

2.มาตรการภาษีลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน 

3.มาตรการสนับสนุนการผลิตไบโอพลาสติก 

และ 4.มาตรการภาษีเพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุโดยกรมฯ อยู่ระหว่างการศึกษา และเร่งหาข้อสรุปเพื่อเสนอให้กระทรวงการคลังพิจารณาต่อไป

สำหรับมาตรการสนับสนุนการผลิต และใช้แบตเตอรี่ BEV จะผูกกับเงื่อนไขกับการมีระบบรีไซเคิลแบตเตอรี่ที่ใช้แล้วเพื่อไม่ให้เป็นปัญหาต่อสิ่งแวดล้อมในอนาคต

ในปีที่ 2566 ยอดการจดทะเบียนรถ BEV สูงกว่าปีก่อนหน้าถึง 700% และคาดว่าในอีก 10 ปีข้างหน้าการใช้รถ BEV จะสูงขึ้นกว่านี้ดังนั้นจึงจำเป็นต้องวางแผนการกำจัดซากแบตเตอรี่ในอนาคตด้วย ทั้งนี้กรมฯ จะได้วางระบบ Track and Test เพื่อติดตามแบตเตอรี่ลูกนั้น ๆ ว่าปัจจุบันอยู่ที่ไหนด้วย

ทั้งนี้หลักคิดในการจัดเก็บภาษีแบตเตอรี่คือ ปัจจุบันกรมสรรพสามิตเก็บภาษีสรรพสามิตแบตเตอรี่ในอัตรา 8% แต่หากมีการรีไซเคิลแบตเตอรี่ที่ใช้แล้วหรือเป็นแบตเตอรี่ที่มีประสิทธิภาพการให้พลังงานได้สูง และมีน้ำหนักเบา เป็นต้น อัตราภาษีที่กรมฯ จะคิดนั้นก็จะต่ำลงโดยอาจกำหนดอัตราภาษีเป็นหลายอัตราตามประสิทธิภาพของแบตเตอรี่ เช่น 1%, 3%, 5% และ 8%

ขณะเดียวกันกรมฯ อาจต้องทบทวนเงื่อนไขการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับแบตเตอรี่ที่ผูกติดกับเงื่อนไขที่ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าจะต้องมีแผนการรีไซเคิลแบตเตอรี่ที่ขายออกไปด้วย เนื่องจากผู้ประกอบการเห็นว่าแนวทางนี้มีความยุ่งยากเพราะเมื่อกรมฯ ให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี แก่ผู้ประกอบการไปแล้วจะต้องติดตามไปตลอดอายุการใช้งานของแบตเตอรี่ลูกนั้นซึ่งอาจนานถึง 20 ปีหากผู้ประกอบการไม่ได้รีไซเคิลตามที่ตกลงกรมฯ จะต้องเรียกสิทธิประโยชน์ทางภาษีคืน และต้องมีค่าปรับทางภาษีด้วย ซึ่งเมื่อถึงเวลานั้นผู้ประกอบการรายดังกล่าวอาจเลิกกิจการไปแล้วก็ได้ การติดตามทวงภาษีคืนก็อาจทำไม่ได้

“กรมฯ จะต้องทบทวนระบบการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีที่ผูกกับการรีไซเคิลซึ่งมีหลายรูปแบบโดยในบางประเทศใช้ระบบ Deposit Refund โดยตั้งเป็นกองทุนเพื่อการนี้ซึ่งเมื่อมีการนำซากแบตเตอรี่ มาคืนกองทุนนี้ก็จะจ่ายเงินให้จำนวนหนึ่งสำหรับแนวทางหนึ่งที่กรมฯ กำลังพิจารณาคือ การมอบให้คนกลางหรือบริษัทที่มีความเชี่ยวชาญด้านรีไซเคิลแบตเตอรี่มาทำหน้าที่รีไซเคิลแทนผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าเป็นต้น”

ส่วนมาตรการภาษีคาร์บอนนั้นหลักคิดคือ นอกเหนือจากมีเป้าหมายจะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนในประเทศแล้วยังเพื่อรองรับการค้าระหว่างประเทศที่ให้ความสำคัญเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้นโดยเฉพาะกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป (อียู) แต่ต้องไม่เป็นภาระต่อประชาชนผู้ใช้สินค้า และบริการ

‘บางกอกแอร์เวย์ส’ เดินหน้าสู่ภารกิจ ‘สายการบินรักษ์โลก’ หวังลด ‘มลพิษ-ก๊าซเรือนกระจก’ ที่กระทบต่อสิ่งแวดล้อม

(10 ม.ค. 67) นับเป็นทั้งโอกาสสำคัญและความท้าทายของอุตสาหกรรมการบินในการเปลี่ยนผ่านสู่ ‘สายการบินรักษ์โลก’ 

โดย กัปตันพุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ผู้ให้บริการสายการบิน ‘บางกอกแอร์เวย์ส’ ฉายภาพว่า เส้นทางการพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืนของบริษัทฯ ดำเนินภายใต้แนวคิดการเชื่อมโยงความสุขสานต่อถึงชุมชนและสังคมไทยอย่างยั่งยืน ‘Connect Your Happiness’ ในมิติ ESG

เริ่มด้วย ‘E - Environmental Journey’ การปูเส้นทางการบินสีเขียว ถือเป็นภารกิจใหญ่ที่ทุกฝ่ายต้องช่วยกันผลักดัน เนื่องจาก ‘ECO Friendly’ ได้กลายเป็นโจทย์สำคัญในการแข่งขันทางธุรกิจของทุกวันนี้ โดยเน้นกระบวนการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก

“นับเป็นความท้าทายครั้งใหญ่ของอุตสาหกรรมการบินรวมถึงธุรกิจท่าอากาศยานทั่วโลก ทุกภาคส่วนทางธุรกิจที่เกี่ยวข้องต่างมีความจำเป็นที่จะต้องร่วมแรงร่วมใจกัน เพื่อรับมือกับปัญหาทางด้านการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและวิกฤติสิ่งแวดล้อม ที่มีแนวโน้มทวีคูณความรุนแรงขึ้นจากหลายปัจจัย”

โดยตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา ‘อุตสาหกรรมการบิน’ อาจถูกมองว่าเป็นผู้ก่อมลพิษรายใหญ่ เนื่องจากเป็นผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกในสัดส่วนอันดับ 3 ของภาคการขนส่ง หรือ 11% ของการปล่อยก๊าซทั้งหมด จึงเป็นที่มาของการกำหนดเป้าหมายการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้เป็นศูนย์ของรัฐบาลทั่วโลก รวมถึงกรอบนโยบายของสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ หรือ ‘ไออาต้า’ (The International Air Transport Association: IATA) ที่วางแผนจะก้าวเข้าสู่เป้าหมาย ‘Net Zero Carbon Emission’ หรือคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ ในปี 2050

เช่นเดียวกับบางกอกแอร์เวย์สที่ให้ความตระหนักต่อการจัดการกับปัญหาทางสิ่งแวดล้อมผ่านหลายโครงการที่เป็นรูปธรรม อาทิ ‘ด้านการบริหารจัดการความเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ’ (Climate Crisis Management) ประกอบด้วย โครงการการวางแผนใช้น้ำมันอากาศยานอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในระดับนานาชาติ ซึ่งปัจจุบันได้มีการวางระบบปฏิบัติการสำหรับนักบินประจำสายการบินฯ เพื่อเป็นแนวทางสำหรับการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำมันอย่างคุ้มค่า

อีกทั้งยังได้วางแผนศึกษา ‘การใช้เชื้อเพลิงการบินแบบยั่งยืน’ (Sustainable Aviation Fuels: SAF) และบูรณาการเทคโนโลยีกับนวัตกรรมต่างๆ มาช่วยประหยัดพลังงาน พร้อมกันนี้ยังได้เข้าร่วมโครงการ ‘Carbon offsetting and Reduction Scheme for International Aviation’ ขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ เพื่อสนับสนุนให้ภาคการบินบรรลุเกณฑ์การรักษาระดับปริมาณการปล่อยคาร์บอนสุทธิอย่างสมดุล

เพื่อตอกย้ำเป้าหมายการสร้างอุตสาหกรรมการบินสีเขียว หรือ ‘Green Aviation’ ที่มุ่งเน้นลดมลพิษและก๊าซเรือนกระจก บางกอกแอร์เวย์สได้เดินหน้าโครงการพัฒนา ‘สนามบินสีเขียว’ นำร่องด้วย 3 สนามบินภายใต้การบริหารของบริษัทฯ ได้แก่ ‘สมุย ตราด สุโขทัย’ เพื่อชูโมเดลการจัดการทรัพยากรและการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ผ่านการปรับปรุงและพัฒนาการออกแบบก่อสร้างอาคารผู้โดยสารให้มีลักษณะเปิดโล่งและจัดให้มีพื้นที่สีเขียวโดยรอบสนามบิน การันตีด้วยรางวัลตราสัญลักษณ์ G - Green จากกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่ประกาศให้สนามบินสมุยและสนามบินตราดเป็นกรีนแอร์พอร์ต หรือสนามบินที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในปี 2021

“นอกจากนี้ ในอนาคตยังมุ่งกำหนดแนวทางเพื่อปั้นเมกะโปรเจกต์ที่สำคัญระดับประเทศอย่างโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ให้เป็นหนึ่งในสนามบินสีเขียวที่มีผลงานโดดเด่นระดับภูมิภาคอีกด้วย”

และเพื่อเน้นย้ำเป้าหมายการลดคาร์บอนในกระบวนการทำงาน ล่าสุดบริษัทฯ ได้ริเริ่มวางแผนสำหรับโครงการ Low Carbon Skies by Bangkok Airways โดยจะเริ่มดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมในปี 2567 เพื่อมุ่งสร้างระบบนิเวศทางธุรกิจภายใต้ความยั่งยืนในมิติต่างๆ ตามแนวทางของ IATA ที่เน้นด้านการจัดสรรการใช้เชื้อเพลิงการบินที่ยั่งยืน (SAF) การกำจัดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่แหล่งกำเนิด การชดเชยและการดักจับคาร์บอน การศึกษาการนำเทคโนโลยีใหม่ไฟฟ้าและไฮโดรเจนเข้ามาใช้ และการปรับปรุงด้านโครงสร้างพื้นฐานและประสิทธิภาพการดำเนินงาน

กัปตันพุฒิพงศ์ เล่าถึงอีกมิติของแนวคิด ESG ว่า ‘S - Social Development’ เพราะหัวใจสำคัญของก้าวที่ยั่งยืน คือการก้าวไปพร้อมกับชุมชน ตลอด 55 ปีที่ผ่านมา บางกอกแอร์เวย์สมุ่งมั่นดำเนินธุรกิจให้เติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืนเพื่อเป็นสายการบินที่ดีที่สุดของเอเชีย! โดยคำนึงถึงการสนับสนุนชุมชนและสังคมเป็นหัวใจสำคัญ สะท้อนผ่านพันธกิจของบริษัทฯ ที่มุ่งมั่นให้การสนับสนุนและมีส่วนร่วมในการสร้างคุณค่าที่ยั่งยืนให้กับสังคม

ไม่ว่าจะเป็นชุมชนในเส้นทางที่บริษัทฯ ทำการบินรวมกว่า 11 หมุดหมายแห่งอารยธรรมที่มีความเป็นเอกลักษณ์ ตลอดจนถึงการจัดตั้งชุมชนสัมพันธ์สนามบินจำนวน 3 แห่ง ณ สมุย ตราด และสุโขทัย โดยได้เข้าไปสร้างปฏิสัมพันธ์ใกล้ชิดกับชุมชน ผ่านการประสานความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ-เอกชน เพื่อรับรู้ถึงปัญหาและเข้าไปมีส่วนร่วมในการช่วยเหลือพัฒนาในด้านต่างๆ ที่จะสามารถสานพลังสร้างสรรค์ชุมชนให้น่าอยู่อย่างยั่งยืน

“ผู้โดยสารสายการบินบางกอกแอร์เวย์สจะได้สัมผัสประสบการณ์ความยั่งยืนตั้งแต่ก้าวแรกที่ใช้บริการ ไม่ว่าจะเป็นบริการเสิร์ฟอาหาร ณ บูทีคเลาจน์ ซึ่งรวบรวมผลิตผลจากชุมชนเกษตรกร สดจากสวน มารังสรรค์เป็นเมนูสุดพิเศษเสิร์ฟตามเทศกาลต่างๆ เช่น เมนูมะยงชิดลอยแก้ว ส่งตรงจากโครงการเกษตรอินทรีย์ สุโขทัย และกาละแมลำไย วัตถุดิบจากเชียงใหม่”

ด้านมิติ ‘G - Good Governance’ ธุรกิจการบินกับมิติธรรมาภิบาล โดยตั้งแต่แรกก่อตั้งสายการบินบางกอกแอร์เวย์ส บริษัทฯมีเป้าหมายดำเนินงานและพัฒนาระบบการบริหารจัดการ ยึดหลักธรรมาภิบาลและการกำกับดูแลกิจการที่ดี ถ่ายทอดแนวความคิดจากรุ่นสู่รุ่น

เพื่อเป็นการการันตีถึงการดำเนินธุรกิจตามกรอบธรรมาภิบาล และการขับเคลื่อนธุรกิจที่ให้ความสำคัญทั้งมิติเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ล่าสุดบริษัทฯ มีความภาคภูมิใจที่ได้รับการพิจารณาคัดเลือกเป็นหนึ่งในรายชื่อหุ้นยั่งยืน ประจำปี 2566 ‘SET ESG Ratings 2023’ ระดับ BBB ในกลุ่มธุรกิจบริการ (Services) จากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และได้รับคะแนน CGR บริษัทจดทะเบียนที่มีการกำกับดูแลกิจการระดับ 5 ดาว ‘ดีเลิศ’ (Excellent CG Scoring) จากสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) โดยการสนับสนุนจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สะท้อนถึงการดำเนินธุรกิจที่มุ่งเน้นเรื่องการกำกับดูแลกิจการที่ดี

อีกทั้งยังได้รับการพิจารณาผ่านเกณฑ์ประเมินสำหรับรางวัลการันตี ‘ดาวแห่งความยั่งยืน’ ระดับ 5 ดาว ในโครงการ STAR : Sustainable Tourism Acceleration Rating โดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เพื่อยกระดับมาตรฐานการท่องเที่ยวยั่งยืน และรางวัลการันตีด้านสิ่งแวดล้อมโดยได้รับประกาศนียบัตร ‘EIA Symposium and Monitoring Awards 2023’ ซึ่งสนามบินสุโขทัย - สนามบินสมุยได้รับรางวัลยอดเยี่ยม - ดีเด่น ในโครงการที่ปฏิบัติตามมาตรการในรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ประจำปี 2566 เพื่อสร้างคุณค่าร่วมให้กับผู้มีส่วนได้เสียและสร้างการเติบโตให้กับธุรกิจพร้อมมุ่งมั่นพัฒนาการดำเนินธุรกิจ สู่การเปลี่ยนผ่านเป็นหนึ่งใน ‘สายการบินรักษ์โลก’ อย่างเต็มขั้นต่อไปในอนาคต

‘พีระพันธุ์’ เล็ง ‘รื้อระบบพลังงานไทย’ หลังวางแผนผิดมาหลาย 10 ปี

อยากรู้ อยากเคลียร์เบื้องลึก ว่าทำไม ‘พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค’ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พลังงาน ถึงกล้าที่จะประกาศ ‘รื้อ’ โครงสร้างพลังงานทั้งระบบอย่างที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน!! ติดตามต่อเต็ม ๆ ได้ที่ >> ‘รื้อ-ลด-ปลด-สร้าง’ 👉 https://youtu.be/WoVPPtVOM0c 

‘มทส.-ปตท.-สุรเทค’ ผสานกำลังเดินหน้าพัฒนาพื้นรองเท้า AI ช่วยประเมินความเสี่ยงต่อการล้มของผู้สูงวัย ให้รพ.เกษมราษฎร์

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และบริษัท สุรเทค จำกัด เดินหน้าขยายผลนวัตกรรมทางการแพทย์ พื้นรองเท้า AI วิเคราะห์ความเสี่ยงต่อการล้มของผู้สูงอายุ ส่งมอบโรงพยาบาลเกษมราษฎร์ อินเตอร์เนชั่นแนล รัตนาธิเบศร์

(10 ม.ค.67) รองศาสตราจารย์ ดร.อนันต์ ทองระอา อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี เปิดเผยว่า แพลตฟอร์มบ่มเพาะและเร่งสร้างเติบโตนวัตกรรมเชิงลึก มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (SUT Horizon) ได้สนับสนุนและเป็นพี่เลี้ยงด้านธุรกิจและทรัพย์สินทางปัญญาให้กับ บริษัท สุรเทค จำกัด โดยได้รับความร่วมมือจาก บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์พื้นรองเท้า AI (Surasole) สำหรับวิเคราะห์การทรงตัวและประเมินความเสี่ยงต่อการล้มของผู้สูงอายุโดยใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) และเครื่องสแกนแรงกดใต้ฝ่าเท้า (Surapodo) ในการกระจายแรงกดใต้ฝ่าเท้าสำหรับออกแบบรองเท้าที่เหมาะสม เพื่อป้องกันการเกิดแผลกดทับใต้ฝ่าเท้าของผู้ป่วย

นอกจากนี้ยังสามารถนำไปใช้ในการวิเคราะห์ความเสี่ยงของการเกิดแผลกดทับใต้ฝ่าเท้าของผู้ป่วยเบาหวาน รวมถึงช่วยในการออกแบบรองเท้าสุขภาพสำหรับผู้ป่วยเบาหวานซึ่งเป็นการลดความเสี่ยงในการถูกตัดเท้าเนื่องจากการเกิดแผลใต้ฝ่าเท้า

การส่งมอบ Surasole และ Surapodo ให้กับ โรงพยาบาลเกษมราษฎร์ อินเตอร์เนชั่นแนล รัตนาธิเบศร์ ครั้งนี้ จึงนับเป็นโอกาสสำคัญที่จะนำนวัตกรรมทางการแพทย์ที่เกิดจากการวิจัยพัฒนาของนักวิจัยไทยมาขยายผลและนำมาใช้ได้จริง ทดแทนการนำเข้าจากต่างชาติและทำให้เกิด ‘ไทยทำ ไทยใช้ ไทยแบรนด์’

ทั้งนี้ งานวิจัยได้รับเงินทุนสนับสนุนจากหน่วยบริหารงานและจัดการทุนด้วยการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ให้คำปรึกษาเรื่องการยื่นจด IP การทำ Licensing Agreement, การทำสัญญาซื้อขาย รวมถึงให้คำแนะนำในการดำเนินงานนวัตกรรมทางธุรกิจ ส่งผลให้งานวิจัยในห้องปฏิบัติการ พัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์สู่งานนวัตกรรมเชิงพาณิชย์ได้ นอกจากนั้นยังได้รับการสนับสนุนเงินทุนวิจัยจากบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ในการพัฒนาเซ็นเซอร์วัดแรงกดจากท่อนาโนคาร์บอน (Carbon nanotubes: CNTs) ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง พร้อมส่งออกจำหน่ายในต่างประเทศทั่วโลก

รองศาสตราจารย์ ดร. สุดเขตต์ พจน์ประไพ อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิศวกรรมเซรามิก สำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี และหัวหน้าโครงการวิจัยผู้คิดค้นนวัตกรรม กล่าวว่า Surasole และ Surapodo เป็นผลงานการคิดค้นและพัฒนาโดยคณะนักวิจัย ภาควิชาวิศวกรรมเซรามิก ภาควิชาวิศวกรรมโทรคมนาคม วิศวกรรมพอลิเมอร์ สำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ภายใต้ความร่วมมือของคณะวิจัยทดสอบภาคสนาม และคณะห้องปฏิบัติการงานวิจัยจาก โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี สำนักวิชาแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี, ภาควิชาเวชศาสตร์ฟื้นฟู โรงพยาบาลศรีนครินทร์ คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยขอนแก่น, ฝ่ายเวชศาสตร์ฟื้นฟู โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และ โรงเรียนกายอุปกรณ์สิรินธร คณะแพทยศาสตร์ศิริราชและพยาบาล

โดยชุดวิเคราะห์แรงกดใต้ฝ่าเท้าและวิเคราะห์การเคลื่อนไหว มีอุปกรณ์หลัก ประกอบด้วย 1. แผ่นพื้นรองเท้าอิเล็กทรอนิกส์ Surasole เป็นแผ่นพื้นรองเท้า หรือ insole ที่ฝังเซ็นเซอร์วัดแรงกดและวงจรอิเล็กทรอนิกส์ไว้ภายใน สามารถที่จะประเมินรูปแบบการเดิน (gait pattern) การทรงท่า (balance) และประเมินความเสี่ยงในการหกล้มในผู้สูงอายุ (fall risk) นอกจากนั้นยังสามารถใช้วิเคราะห์และฝึกการเดิน การทรงตัว ของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) พากินสัน (Parkinson) และผู้ป่วยหลังการผ่าตัดสะโพกหรือข้อเข่า 2.เครื่องสแกนฝ่าเท้าแบบดิจิตอล Surapodo มีเซ็นเซอร์วัดแรงกดจำนวน 2,500 จุด สำหรับตรวจวัดแรงกดใต้ฝ่าเท้าแบบละเอียดและใช้ในการวิเคราะห์ลักษณะของฝ่าเท้า ประเมินความเสี่ยงแผลกดทับใต้ฝ่าเท้าของผู้ป่วยเบาหวาน และใช้ในการออกแบบแผ่นรองเท้าสุขภาพที่เหมาะสมสำหรับแต่ละบุคคล การวิเคราะห์ข้อมูลทั้งหมดจะทำในรูปแบบ cloud computing และแสดงผลได้แบบ real time ซึ่งสามารถประยุกต์ใช้กับระบบการเฝ้าติดตามสุขภาพระยะไกลได้ (tele-health monitoring)

คุณสรไนย เลิศอักษร ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่แยกก๊าซธรรมชาติ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทได้สนับสนุนทุนวิจัยและร่วมมือทำงานกับคณะวิจัยของ มทส. และ พัฒนาเซ็นเซอร์วัดแรงกดแบบฟิล์มหนา (Thick Film) อย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลากว่า 2 ปี โดยใช้ส่วนผสมของท่อนาโนคาร์บอน (Carbon nanotubes: CNTs) ซึ่งเป็นผลพลอยได้และการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ที่ได้จากกระบวนการในอุตสาหกรรมก๊าซและน้ำมันของบริษัท มาใช้เป็นส่วนประกอบสำคัญของ Surasole นวัตกรรมนี้แสดงให้เห็นถึงความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนในการพัฒนาเทคโนโลยีเซ็นเซอร์และ AI สำหรับการแพทย์

ด้านคุณกล้า จิระสานต์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สุรเทค จำกัด เปิดเผยว่า Surasole และ Surapodo เป็นนวัตกรรมทางการแพทย์ที่ได้รับการพัฒนาและถ่ายทอดสิทธิบัตรจากงานวิจัยของ มทส. พร้อมทั้งยังได้การสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาจากหลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนอย่างต่อเนื่องตลอดหลายปีที่ผ่านมา หัวใจของเทคโนโลยีของนวัตกรรมนี้คือ การวิเคราะห์ข้อมูลจากการเดิน การทรงตัวและแรงกดใต้ฝ่าเท้าจาก Surasole และ Surapodo ที่ถูกประมวลผลด้วยเทคโนโลยี AI และแสดงผลในรูปแบบรายงานเพื่อให้ง่ายต่อการเข้าใจของบุคลากรทางการแพทย์

คุณกันตพร หาญพาณิชย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายการตลาดบริษัท บางกอก เชน ฮอสปิทอล จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารโรงพยาบาลเกษมราษฎร์ อินเตอร์เนชั่นแนล รัตนาธิเบศร์ กล่าวว่า ในฐานะตัวแทนโรงพยาบาล เป็นเกียรติอย่างยิ่ง ที่ได้รับมอบนวัตกรรม ‘ชุดวิเคราะห์แรงกดใต้ฝ่าเท้าและวิเคราะห์การเคลื่อนไหว’ Surasole และ Surapodo ซึ่งมีเทคโนโลยีและอุปกรณ์ตรวจวัดที่ทันสมัยและเป็นนวัตกรรมของนักวิจัยไทย ทางโรงพยาบาลยินดีที่จะทำงานร่วมกับ มทส. บริษัท สุรเทค และ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ในการเป็นจุดเริ่มต้นที่นำนวัตกรรมทางการแพทย์มาใช้ได้จริงและทำให้เกิด ‘ไทยทำ ไทยใช้ ไทยแบรนด์’ ตามที่ท่านอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ได้กล่าวไว้

'รมว.ปุ้ย' หารือ 'รมว.อุตฯ ซาอุฯ' ถกความร่วมมือภาคอุตสาหกรรมสองชาติ มั่นใจ!! ช่วยกระตุ้น ศก.ระหว่างกัน โดยเฉพาะประเด็น 'แร่โปแตช'

(10 ม.ค. 67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า เมื่อช่วงเย็นวานนี้ (9 ม.ค.) ได้ทำหน้าที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ของประเทศไทย ในราชอาณาจักรซาอุดิอาระเบีย โดยมีภารกิจสำคัญ ได้แก่ การเข้าหารือกรอบทวิภาคี หรือเป็นการหารือการประชุมร่วมกัน 2 ฝ่าย 

โดย รมว.ปุ้ย ได้นำคณะผู้แทนฯ และบุคลากรของกระทรวงอุตสาหกรรมของประเทศไทย เข้าประชุมหารือร่วมแบบทวิภาคีกับ ท่าน Bandar bin Ibrahim AlKhorayef รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและการเหมืองแร่ราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย ซึ่งให้เกียรตินำคณะผู้บริหาร เข้าร่วมพูดคุยถึงความร่วมมือและพันธกิจระหว่างกันของทั้งกระทรวงอุตสาหกรรมไทย และกระทรวงอุตสาหกรรมและการเหมืองแร่ราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย

รมว.พิมพ์ภัทรา กล่าวว่า ในการเข้าประชุมหารือร่วมระหว่าง 2 ประเทศ มีเรื่องน่ายินดีถึงทิศทางความร่วมมือในการพัฒนาร่วมกันในอุตสาหกรรมต่างๆ โดยเฉพาะเรื่องแร่ ซึ่งทั้ง 2 ประเทศได้หารือกันในประเด็นแร่โปแตช ที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจอุตสาหกรรมหลายด้าน และเป็นต้นทางของปุ๋ยในอุตสาหกรรมการเกษตร อันเป็นต้นทางของวัตถุดิบในอุตสาหกรรมอาหาร, อุตสาหกรรมฮาลาล ที่ประเทศไทยกำลังเร่งพัฒนา และรวมถึงอุตสาหกรรมอื่นๆ อีกหลายส่วน ที่ประเทศไทยและราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย มีศักยภาพและขีดความสามารถพัฒนาร่วมกันได้ ซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์ร่วมกันของทั้งสองประเทศต่อไป

‘ธ.กสิกรไทย’ จริงจัง!! เริ่มใช้ ‘รถแลกเปลี่ยนเงินตรา’ พลังงานไฟฟ้า พร้อมตั้งเป้าผลิตบัตรเครดิต-เดบิตด้วยวัสดุรีไซเคิล 20 ล้านใบใน 7 ปี

(11 ม.ค. 67) นายพิพิธ เอนกนิธิ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า ธนาคารกสิกรไทยตระหนักถึงความสำคัญเร่งด่วนในการแก้ปัญหาโลกร้อน จึงเดินหน้านโยบายและปรับการดำเนินงานต่าง ๆ ภายในองค์กร รวมถึงส่งเสริมให้คนไทยเข้าถึงไลฟ์สไตล์กรีนเพื่อมุ่งสู่ Net Zero Commitment ตามที่ธนาคารได้ประกาศไว้เมื่อปี 2564

โดยด้านการดำเนินงานเพื่อลดก๊าซเรือนกระจกภายในองค์กรเมื่อปี 2566 ที่ผ่านมา ได้มีการเปลี่ยนรถยนต์ของธนาคารจากรถยนต์สันดาปเป็นรถยนต์ไฟฟ้าไปแล้วจำนวน 175 คัน และจะทยอยเปลี่ยนจนครบทั้งหมดภายในปี 2573 มีการทยอยติดตั้งแผงโซลาร์ในอาคารสำนักงานหลักและสาขา โดยตั้งเป้าติดตั้งให้ครบทุกสาขาที่มีศักยภาพในการติดตั้งจำนวน 278 แห่ง ภายใน 2 ปี การปรับเปลี่ยนไปใช้วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ปรับกระบวนการทำงานและการให้บริการของธนาคารไปสู่ดิจิทัลเพิ่มมากขึ้น

และให้ความสำคัญกับการจัดการขยะในอาคารสำนักงานหลักเพื่อลดปริมาณขยะที่ไปสู่หลุมฝังกลบเป็นศูนย์ รวมทั้งส่งเสริมพนักงานและบุคลากรของธนาคารให้มีความรู้และเกิดพฤติกรรมที่ใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อม

นอกจากนี้ธนาคารยังมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมให้ลูกค้ามีส่วนร่วมในการรักษ์โลกได้ง่ายขึ้น ผ่านการใช้บริการของธนาคารที่ใส่ใจเรื่องความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ล่าสุด ธนาคารกสิกรไทยได้เปิดตัวนวัตกรรมบริการที่มีเป้าหมายช่วยลดก๊าซเรือนกระจก 2 โครงการ เป็นธนาคารแรกในไทย ได้แก่ การพัฒนารถยนต์พลังงานไฟฟ้าแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ หรือรถ EV Currency Exchange และการจัดทำและเปลี่ยนบัตรเครดิตและบัตรเดบิตเป็นบัตรที่ผลิตจากวัสดุรีไซเคิล ซึ่งทั้งสองโครงการได้พัฒนาสำเร็จเป็นที่เรียบร้อย และมีการนำไปให้บริการจริงแล้ว

สำหรับรถ EV Currency Exchange เป็นรถแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า 100% ขับเคลื่อนได้สูงสุด 120 กิโลเมตรต่อการชาร์จ 1 ครั้ง และใช้แบตเตอรี่ที่ได้พลังงานจากแผงโซลาร์ที่ติดตั้งบริเวณหลังคารถสำหรับการให้บริการแลกเปลี่ยนเงินตราในรถได้ต่อเนื่องสูงสุด 10 ชั่วโมงโดยไม่ต้องเสียบปลั๊กไฟ ปัจจุบันนำร่องเพิ่มความสะดวกสบายในการให้บริการแลกเงินแก่นักท่องเที่ยวในแหล่งท่องเที่ยวต่าง ๆ ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด โดยเริ่มที่ จ.ภูเก็ต เป็นจังหวัดแรก และมีแผนขยายจำนวนรถให้ครอบคลุมมากขึ้นในอนาคต

ด้านบัตรเครดิตและบัตรเดบิตธนาคารกสิกรไทย มีการเปลี่ยนมาใช้บัตรที่ผลิตจากวัสดุรีไซเคิล ซึ่งช่วยลดการผลิตเม็ดพลาสติกใหม่ สามารถลดก๊าซเรือนกระจกได้ใบละ 42 กรัมคาร์บอนฯ หรือลดลง 62% จากการใช้วัสดุแบบเดิม โดยเริ่มมีการทยอยนำบัตรแบบใหม่นี้มาใช้ตั้งแต่เดือน พ.ย. 2566 ให้แก่ลูกค้าที่ออกบัตรใหม่ บัตรทดแทน และบัตรต่ออายุ ทั้งนี้คาดว่าจะสามารถเปลี่ยนบัตรกว่า 20 ล้านใบได้ครบทั้งหมดภายใน 7 ปี ซึ่งจะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ถึง 770 ตันคาร์บอนฯ เทียบเท่าการปลูกต้นไม้ 51,333 ต้น

นายพิพิธกล่าวตอนท้ายว่า ในปี 2567 ธนาคารยังคงเดินหน้าผลักดันลูกค้าให้ร่วม GO GREEN Together อย่างต่อเนื่อง ด้วยการสนับสนุนเงินทุน องค์ความรู้ และการพัฒนา Innovation ใหม่ ๆ รวมถึงการจับมือกับพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อสร้าง Green Ecosystem ให้เกิดขึ้นจริง และร่วมกันพาประเทศสู่ Net Zero อย่างยั่งยืนต่อไป


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top