‘นายกสมาพันธ์ฯ’ เตือน!! ‘ชาวสวน’ อย่านิ่งนอนใจ ชี้ ควรเร่งปรับตัว หลัง ‘เวียดนาม’ จี้ติด!! ส่ง 'ทุเรียน' ไปจีน เกือบครึ่งหนึ่งของไทยแล้ว

(9 ม.ค. 67) นายชลธี นุ่มหนู นายกสมาพันธ์ชาวสวนทุเรียนไทยภาคตะวันออก ได้ออกมาเปิดเผยข้อมูลการสำรวจราคาค้าส่งทุเรียนไทยและทุเรียนเวียดนาม ที่ตลาดเจียซิง มณฑลเจ้อเจียง สาธารณรัฐประชาชนจีน ระหว่างวันที่ 1-31ธ.ค.2566 โดยเจ้าหน้าที่ฝ่ายเกษตร ประจำสถานกงสุลใหญ่ ณ นครเซี่ยงไฮ้ ว่า ราคาทุเรียนหมอนทองของไทย เมื่อวันที่ 1 ธ.ค.2566 ที่ผ่านมาอยู่ประมาณ 1,000-1,200 หยวนต่อกล่องบรรจุ 6 ลูก 

ส่วนราคาทุเรียนหมอนทองของประเทศเวียดนาม 1 กล่อง 6 ลูกอยู่ที่ 900-1,000 หยวน (1 หยวนประมาณ 5 บาท) ขณะที่ทุเรียนก้านยาวเวียดนาม 1 กล่อง 3 ลูก ราคา 400 หยวน

และเมื่อเปรียบเทียบปริมาณการส่งออกทุเรียนไปตลาดเจียซิง มณฑลเจ้อเจียง ประเทศจีน ในช่วงปลายปีที่ผ่านมา พบว่า จำนวนการส่งออกทุเรียนไปตลาดดังกล่าวที่มีประมาณ 49 ตู้ต่อครั้ง เป็นทุเรียนไทยจำนวน 27 ตู้ ส่วนทุเรียนเวียดนาม จำนวน 22 ตู้

ส่วนการเปรียบเทียบการส่งออกทุเรียนจากไทยไปตลาดดังกล่าวเมื่อวันที่ 29 ธ.ค.66 ที่ผ่านมา พบว่าราคาส่งออกทุเรียนหมอนทองไทย 1 กล่อง กล่องละ 6 ลูก ลดลงเหลือเพียง 950-1,100 หยวน เช่นเดียวกับทุเรียนหมอนทองเวียดนาม 1 กล่องละ 6 ลูก ราคา 500-520 หยวน ส่วนก้านยาวเวียดนาม 1 กล่อง 3 ลูก ราคา 380-400 หยวน

โดยปริมาณการส่งทุเรียนไปตลาดเจียซิง มณฑลเจ้อเจียง ประเทศจีน ในวันดังกล่าวที่มีจำนวนรวม 39 ตู้ เป็นทุเรียนไทยจำนวน 25 ตู้ ส่วนทุเรียนเวียดนาม 14 ตู้

นายชลธี เผยว่า หากพิจารณาข้อมูลการส่งออกทุเรียนของเวียดนามไปตลาดจีน จะเห็นว่าสัดส่วนการส่งออกเติบโตเกือบถึงครึ่งหนึ่งของการส่งออกทุเรียนไทยไปจีนแล้ว จึงแสดงให้เห็นว่า เวียดนามมีการพัฒนาคุณภาพทุเรียนส่งออกที่ได้มาตรฐานมากขึ้น

ขณะที่ภาครัฐของเวียดนามเอาใจใส่กับผลผลิตทางการเกษตร และยังเร่งส่งเสริมให้ความรู้กับเกษตรกร สอดรับกับข้อได้เปรียบของเวียดนามที่มีชายแดนติดกับประเทศจีน จึงทำให้เกษตรกรสามารถตัดทุเรียนคุณภาพ (แก่) เพื่อส่งออกได้ทันที

“สิ่งที่เกษตรกรไทยต้องเร่งปรับตัว คือ ทำทุเรียนคุณภาพตั้งแต่ขั้นตอนการตัด คัด ส่งออก ซึ่งในทุกขั้นตอนต้องสัมพันธ์กันทั้งหมด และหากเกษตรกรยังไม่คำนึงถึงคุณภาพทุเรียนส่งออก สุดท้ายจะทำให้ตลาดปลายทางเสียหาย และผลกระทบจะย้อนกลับมาที่ตัวเกษตรกรเอง”

นายกสมาพันธ์ชาวสวนทุเรียนไทยภาคตะวันออก อดีตมือปราบทุเรียนอ่อน ยังบอกอีกว่าที่ผ่านมาได้มีความพยายามในการรณรงค์ให้เกษตรกรทำทุเรียนคุณภาพ และไม่ตัดทุเรียนก่อนกำหนดอย่างต่อเนื่อง

เพราะหากต้นฤดูมีทุเรียนไม่ได้คุณภาพออกสู่ตลาด จะทำให้ทุเรียนทั้งภาคตะวันออก และทั่วประเทศ ตลอดไปจนถึงหน้าทุเรียนในพื้นที่ภาคใต้มีคำสั่งซื้อน้อยลง

ส่วนการจัดทำโครงการหมู่บ้านปลอดทุเรียนอ่อน นำร่องในพื้นที่ จ.ตราด เป็นพื้นที่แรกนั้น นายกสมาพันธ์ชาวสวนทุเรียนไทยภาคตะวันออก บอกว่า เพื่อเป็นการกระตุ้นให้ชาวสวนทุเรียนไทยต้องหันมามองเรื่องการสร้างแบรนด์สินค้าให้เป็นที่ยอมรับของตลาด และกระบวนการผลิตจะต้องสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ถึงที่มาของแหล่งผลิตนั้น

“วันนี้ยังคงยืนยันได้ว่าทุเรียนไทยยังคงเป็นที่ต้องการของตลาดมาก ซึ่งหากเกษตรกรสามารถทำผลผลิตได้ตามคุณภาพตามที่ตลาดปลายทางต้องการจะทำให้ตลาดทุเรียนไทยเติบโตแบบยั่งยืน ขณะเดียวกัน ภาครัฐของไทยต้องเข้มงวดในเรื่องกระบวนการตรวจสอบคุณภาพก่อนส่งออกไปต่างประเทศด้วยเช่นกัน” นายชลธี กล่าว