Friday, 29 March 2024
เกษตรกร

'นายกฯ' ห่วงเกษตรกร อนุมัติเงิน 2.7 หมื่นลบ. ประกันราคา ‘มันสำปะหลัง-ข้าว/ข้าวโพด’

ที่ทำเนียบรัฐบาล นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า นายกรัฐมนตรี สั่งให้มีการแก้ไขปัญหาปุ๋ยราคาแพงอย่างเร่งด่วน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกร ซึ่งราคาปุ๋ยที่มีราคาสูงตั้งแต่ต้นปี มีสาเหตุจากปัจจัยหลายอย่าง ทั้งราคาน้ำมัน ค่าขนส่ง ค่าระวางเรือ และการนำเข้าจากต่างประเทศร้อยเปอร์เซ็นต์ นายกฯ จึงมอบหมายกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงพลังงาน ร่วมพิจารณาแนวทางการแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วน รวมถึงการชี้แจงทำความเข้าใจกับเกษตรกรว่ารัฐบาลกำลังเร่งดำเนินการแก้ไขอยู่

นานธนกร กล่าวว่า นายกฯ ห่วงใยเกษตรกร ที่ได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาราคาผลผลิตการเกษตรตกต่ำ จากสถานการณ์น้ำท่วม ราคาน้ำมันโลกที่สูงขึ้น โดยมอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เร่งช่วยเหลือเกษตรกรโดยเร่งด่วน ซึ่งที่ประชุมครม.วันนี้ (25 ต.ค.) มีการอนุมัติกรอบวงเงิน 2.7 หมื่นล้านบาท เพื่อช่วยเหลือ 3 โครงการ ประกอบด้วย โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และข้าว

ข้าวหอมมะลิ-มันสำปะหลัง-ปาล์มน้ำมัน เตรียมราคาพุ่ง 

นายสมเกียรติ กิมาวหา รองผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรม ธ.ก.ส. คาดการณ์ราคาสินค้าเกษตรในเดือนพ.ย. 2564 โดยสินค้าเกษตรที่มีแนวโน้มราคาปรับตัวสูงขึ้น ได้แก่ ข้าวเปลือกหอมมะลิ ราคาอยู่ที่ 10,237 - 10,462 บาท/ตัน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 5.02 - 7.32% เนื่องจากปัญหาอุทกภัยในแหล่งผลิตข้าวหอมมะลิที่สำคัญในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทำให้ผลผลิตออกสู่ตลาดลดลง 

ส่วนมันสำปะหลัง ราคาอยู่ที่ 2.17 - 2.22 บาท/กก. เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 4.85 - 7.25% เนื่องจากเป็นช่วงต้นฤดูกาลผลิตมันสำปะหลังปีการผลิต 2564/65 ทำให้มีผลผลิตออกสู่ตลาดไม่มาก ขณะที่ปาล์มน้ำมัน ราคาอยู่ที่ 7.62 - 7.72 บาท/กก. เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 1.24 - 2.30% เนื่องจากเศรษฐกิจทั่วโลกเริ่มฟื้นตัวจากสถานการณ์โควิด-19 ส่งผลให้ความต้องการใช้น้ำมันดิบเพิ่มขึ้น ภาวะการค้าน้ำมันปาล์มภายในประเทศอาจชะลอตัวลงบางส่วนโดยเฉพาะการใช้พลังงานทดแทน 

ขณะที่ สุกร ราคาอยู่ที่ 67.67 - 68.14 บาท/กก. เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 1.09 - 2.53% เนื่องจากความต้องการบริโภคเพิ่มขึ้นจากการผ่อนคลาย มาตรการล็อกดาวน์ของภาครัฐในช่วงต้นเดือนพ.ย. 2564 ทำให้ร้านอาหาร โรงเรียน และสถานประกอบการอื่นๆ กลับมาเปิดให้บริการตามปกติ เช่นเดียวกับกุ้งขาวแวนนาไม ราคาอยู่ที่ 128.27 – 129.78 บาท/กก. เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 1.80 – 3% และโคเนื้อ ราคาอยู่ที่ 95.40 – 95.62 บาท/กก. เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 0.11 - 0.34%

ธ.ก.ส.จัดสินเชื่อเพิ่มหมื่นล.อุ้มช่วยเกษตรกรเจอน้ำท่วม 

นายสมเกียรติ กิมาวหา รองผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ธ.ก.ส. ได้ออกมาตรการสินเชื่อฟื้นฟูและพัฒนาคุณภาพชีวิต วงเงินรวม 10,000 ล้านบาท เพื่อให้เกษตรกรนำไปใช้เป็นค่าลงทุนในการประกอบอาชีพ การสร้าง ซ่อมแซมที่อยู่อาศัยที่ได้รับความเสียหาย หรือลงทุนซ่อมแซมโรงเรือนการเกษตร เครื่องมือ เครื่องจักรกลการเกษตร เพื่อฟื้นฟูการประกอบอาชีพการเกษตรหลังจากได้รับความเสียหาย วงเงินรายละ ไม่เกิน 500,000 บาท อัตราดอกเบี้ย MRR-2 (ปัจจุบัน MRR เท่ากับ 6.50% ต่อปี) ระยะเวลาชำระคืนไม่เกิน 15 ปี นับแต่วันกู้

ก่อนหน้านี้ ธ.ก.ส. ได้ออกสินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายฉุกเฉิน วงเงินรวม 10,000 ล้านบาท เพื่อให้ผู้ประสบภัยนำไปใช้จ่ายที่จำเป็นเร่งด่วนภายในครัวเรือน รายละไม่เกิน 50,000 บาท อัตราดอกเบี้ย 0% ต่อปี เป็นระยะเวลา 6 เดือน และตั้งแต่เดือนที่ 7 อัตราดอกเบี้ย MRR (ปัจจุบัน MRR เท่ากับ 6.50% ต่อปี) ระยะเวลาชำระคืนไม่เกิน 3 ปี นับแต่วันกู้

“อลงกรณ์” เสนอยกระดับสถาบันอาหารเป็นองค์การอาหารแห่งชาติ (National Food Organization) ชี้ปี 2565 คือปีแห่งโอกาสของอุตสาหกรรมอาหาร หลังตัวเลขส่งออกสินค้าเกษตรโตต่อเนื่อง

นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมเสวนาภายใน งาน NFI Talk ครั้งที่ 1 “เดินหน้าอุตสาหกรรมอาหารประเทศไทย ปี 2565” ในวาระครบรอบ25ปีของสถาบันอาหาร (National Food Institute)โดยมี ดร.พจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และประธานคณะกรรมการแรงงานและพัฒนาฝีมือแรงงาน  นางอนงค์ ไพจิตรประภาภรณ์ ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร ตลอดจนแขกผู้มีเกียรติและทุกภาคส่วนที่มีส่วนเกี่ยวข้องเข้าร่วมในงานเสวนาผ่านระบบ ZOOM โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อทบทวนสถานการณ์ที่มีต่อประเด็นท้าทายใหม่ๆ ในการเดินหน้าอุตสาหกรรมอาหารประเทศไทยปี 2565 และในอนาคต และจุดประกายแนวคิดในดำเนินธุรกิจและปรับกลยุทธ์องค์กรพร้อมรับกับการเปลี่ยนแปลงสภาวะแวดล้อมทางธุรกิจในโลกยุค Next normal

โดยการเสวนามีประเด็นในหัวข้อการดำเนินงานเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารของประเทศไทยในช่วงที่ผ่านมา และบทบาทของภาครัฐต่อทิศทางและเป้าหมายในการขับเคลื่อนภาคเกษตรและอาหารของประเทศไทยในปี 2565 และระยะ 3-5 ปีข้างหน้า ปัญหาอุปสรรคในการดำเนินงานของภาคธุรกิจ กลยุทธ์การแข่งขันและการปรับตัวของภาคอุตสาหกรรมอาหารในโลกยุคหลังโควิด-19 และสภาวะแวดล้อมทางธุรกิจและแนวโน้มอุตสาหกรรมอาหารปี 2565 เทรนด์ธุรกิจโลกหลังยุคโควิด-19 และโอกาสผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอาหารไทย ผลสำเร็จที่เป็นรูปธรรมจากการดำเนินงานของภาครัฐเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารของประเทศไทยในช่วงที่ผ่านมา และทิศทางและเป้าหมายในการขับเคลื่อนภาคเกษตรและเกษตรแปรรูปของประเทศไทยปี 2565

นายอลงกรณ์ กล่าวว่าแม้จะเผชิญกับปัญหาและอุปสรรคจากมาตรการปัองกันการแพร่ระบาดโควิด-19 ของประเทศคู่ค้าแต่ด้วยการขับเคลื่อนปฏิรูปภาคการเกษตรด้วยนโยบายเกษตรผลิตพาณิชย์ตลาดตามยุทธศาสตร์ตลาดนำการผลิตซึ่งเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์โดย ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และกระทรวงพาณิชย์ โดยนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีพาณิชย์บนความร่วมมือกับทุกภาคส่วนโดยเฉพาะสถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หอการค้า สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สถาบันเกษตรกรและภาควิชาการเพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคการเกษตรไทยทำให้การส่งออกสินค้าเกษตรและเกษตรอุตสาหกรรมขยายตัวแบบต่อเนื่องและส่งแรงดันต่อไปถึงปีหน้าสะท้อนผลสำเร็จจากตัวเลขการส่งออกสินค้าเกษตร 10 เดือน (ม.ค.-ตุลาคม) มีมูลค่าถึง 677,955 ล้านบาท เติบโต24.5 %และเป็นการขยายตัวต่อเนื่อง 12 เดือนเฉพาะเดือนตุลาคมส่งออก66,048 ล้านบาทขยายตัว 22 %

ในขณะที่การส่งออกสินค้าเกษตรอุตสาหกรรม 10 เดือนมีมูลค่า494,220 ล้านบาท เพิ่มขึ้น3.8 %และขยายตัวต่อเนื่อง 8 เดือนติดต่อกันโดยเฉพาะเดือนตุลาคมส่งออก56,543 ล้านบาทขยายตัว13 % อันเป็นผลมาจากการบริหารจัดการในมิติใหม่ได้แก่

การปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดินและการบริการประชาชนของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ การพัฒนาภาคเกษตรกรรมโดยการใช้เทคโนโลยีตลอดห่วงโซ่อุปทานและมูลค่า(Supply-Value Chain)ตั้งแต่การผลิตจนถึงการตลาด การบริหารเชิงรุกแบบบูรณาการกับทุกภาคส่วนและการส่งเสริมการแปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้าเกษตร รวมถึงการส่งเสริมการค้าแบบออนไลน์และออฟไลน์ การพัฒนาตลาดกลางสินค้าเกษตร การขับเคลื่อนระบบPre order ระบบประกันสินค้า ระบบตรวจสอบย้อนกลับ(Traceability)และการสร้างแบรนด์สินค้าเกษตร(Branding)ตลอดจนการพัฒนาคุณภาพและและมาตรฐานสินค้าเกษตร

และการสนับสนุนส่งเสริมสินค้าใหม่ๆและตลาดใหม่ๆที่มีศักยภาพเช่น อาหารแห่งอนาคต(Future food) อาหารฮาลาล(Halal food)และโปรตีนทางเลือกใหม่จากพืชและแมลง ประการสำคัญคือการพัฒนาโลจิสติกส์อย่างต่อเนื่องจนสามารถเปิดด่านการส่งออกผลไม้ระหว่างไทยกับจีนที่ผ่านประเทศที่ 3 ได้สำเร็จเพิ่มเป็น 16 ด่าน และการเตรียมความพร้อมในการใช้เส้นทางรถไฟจีน-ลาว-ไทยขนส่งสินค้าไปทุกมณฑลของจีนและเชื่อมโยงไปเอเซียกลาง เอเซียใต้ ตะวันออกกลางและ ยุโรป

 

ชาวนา - ชาวสวนยางได้เฮ!! "จุรินทร์" คิกออฟจ่ายเงินประกันรายได้ "ข้าว-ยาง" พร้อมกันทั่วประเทศวันนี้!!

วันที่ 9 ธันวาคม 2564 นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ พร้อมด้วยนายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ นางมัลลิกา บุญมีตระกูล มหาสุข ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน นายกีรติ รัชโน อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการยางแห่งประเทศไทย นางกุลฤดี พัฒนะอิ่ม รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร ผู้บริหารกรมข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์  นายปราโมทย์ เจริญศิลป์ นายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย และผู้แทนธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)แถลงข่าว จ่ายเงินประกันรายได้ ข้าว-ยาง ปี 3 ที่ห้องบุรฉัตรไชยากร ตึกสำนักงานปลัด กระทรวงพาณิชย์

นายจุรินทร์ กล่าวว่า วันนี้เป็นวันที่สำคัญสำหรับเกษตรกร โดยเฉพาะเกษตรกรผู้ปลูกข้าวกับผู้ปลูกยางพารา เนื่องจากมีนโยบายสำคัญคือนโยบายประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมันและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ โดยดำเนินการมาแล้ว 2 ปี ปีนี้ถือว่าเป็นปีที่ 3

สำหรับประกันรายได้ข้าวกับยางนั้น รัฐบาลได้ค้างจ่ายเงินส่วนต่างที่จะต้องจ่ายให้กับเกษตรกร เพื่อชดเชยกับราคาตลาดที่ไม่ถึงรายได้ที่ประกัน สำหรับข้าวค้างจ่าย 5 งวด และยางค้างจ่าย 2 งวด แต่หลังจากท่านนายกรัฐมนตรีขยายเพดานตามพระราชบัญญัติวินัยการคลัง เมื่อวันที่ 24 พ.ย.2564  มีผลให้เพดานเพิ่มขึ้นจาก 30% เป็น 35% สามารถนำเงินที่มีอยู่มาจ่ายเงินส่วนต่างให้กับเกษตรกรผู้ปลูกข้าวกับยางพาราได้

สำหรับข้าว ปีที่ 3 เงินที่เกษตรกรจะได้รับ มี 3 ก้อน

>> ก้อนที่หนึ่ง เงินส่วนต่าง โดยงวดที่ 1-2 กับงวดที่ 3 บางส่วน ได้จ่ายให้กับเกษตรกรไปแล้ววงเงินประมาณ 13,000 ล้านบาท ส่วนงวดที่ 3 ที่เหลือ จะมาจ่ายให้ครบโดยเริ่มจ่ายวันนี้ (9 ธ.ค. 2564) โดยจ่ายงวดที่ค้างอยู่ 5 งวดพร้อมกัน คือ งวดที่ 3 บางส่วนและงวด 4-7 รวมเป็นเงิน 64,847 ล้านบาท

ส่วนงวดที่ 8 จะจ่ายวันที่ 14 ธ.ค.เป็นเงิน 3,720 ล้านบาท  และงวดที่ 9-33 จะทยอยจ่ายทุก 7 วันจนครบ โดยงวดสุดท้าย วันที่ 27 พ.ค. 2565   

เกษตรกรครัวเรือนที่ได้รับเงินส่วนต่างสูงสุดสำหรับผู้ปลูกข้าวหอมมะลิ สูงสุด 58,988 บาท  ข้าวหอมนอกพื้นที่สูงสุด 60,086 บาท ข้าวหอมปทุม สูงสุด 36,358 บาท ข้าวเปลือกจ้าว สูงสุด 67,603 บาท ข้าวเหนียว 71,465 บาท สามารถช่วยชาวนาได้ประมาณ 4.7 ล้านครัวเรือน

>> เงินก้อนที่สอง คือเงินในมาตรการคู่ขนานซึ่งเป็นเงินช่วยเหลือเฉพาะผู้ที่เข้าร่วมโครงการ เช่น เก็บข้าวไว้ในยุ้งฉางเป็นเวลา 5 เดือนเพื่อไม่ให้ข้าวออกสู่ตลาดมากจนเกินไป ช่วยตันละ 1,500 บาท หรือสหกรณ์เก็บไว้จะช่วยตันละ 1,500 บาท และช่วยเหลือดอกเบี้ย ถ้าสหกรณ์เก็บข้าว 12 เดือน ช่วยดอกเบี้ย 3% ถ้าโรงสี เก็บข้าว 6 เดือน จะช่วยดอกเบี้ย 3% เพื่อไม่ให้ข้าวออกสู่ตลาดมากเกินไปและไปกดราคาข้าวในตลาด

>> ก้อนที่สาม คือ ช่วยค่าบริหารจัดการหรือปรับปรุงคุณภาพข้าว ไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกิน 20 ไร่ต่อครัวเรือน สูงสุดไม่เกิน 20,000 บาท โดยจ่ายวันที่ 13 ธ.ค. 2564 เป็นต้นไป เป็นเงิน 53,871 ล้านบาท ให้กับเกษตรกรผู้ปลูกข้าว 4.7 ล้านครัวเรือน

ส่วนชาวนาที่น้ำท่วมเสียหายจะได้เงินอีกก้อนหนึ่ง คือ เงินชดเชยความเสียหายจากอุทกภัยหรือภัยธรรมชาติ

โดยชาวนาที่ปลูกข้าวแล้วน้ำท่วม จะยังได้รับเงินส่วนต่างจากโครงการประกันรายได้ผู้ปลูกข้าว เพราะขอให้ปลูกจริง ไปขึ้นทะเบียนแม้พืชผลจะเสียหายเพราะภัยธรรมชาติจะยังได้รับเงินช่วยเหลือส่วนต่างเช่นกัน

สำหรับยางพาราจะเริ่มจ่ายงวดที่ 1-2 ในวันนี้ ( 9 ธ.ค. 2564) เช่นเดียวกัน โดยงวดที่ 1 วงเงินประมาณ 900 ล้านบาท งวดที่ 2 วงเงิน 540 ล้านบาท รวม 1,440 ล้านบาทโดยประมาณ และจะจ่ายงวดที่ 3-6 ทุกเดือนจนถึงเดือน เม.ย. 2565 โดยงวดที่ 3 จะเริ่มจ่ายวันที่ 7 ม.ค. 2565 วงเงิน 8,626 ล้านบาท  สำหรับยางพารามีเงินเตรียมไว้  10,065 ล้านบาท

โดยวงเงินสูงสุดที่ได้รับเฉพาะงวดที่ 1-2 ยางแผ่นดิบสูงสุด 3,835 บาทต่อครัวเรือนน้ำยางข้น 2,975 บาท และยางก้อนถ้วยจะไม่ได้รับเงินส่วนต่าง ที่ผ่านมายางราคาดีกว่าช่วงก่อน สำหรับน้ำยางข้น ประกันรายได้ที่กิโลกรัมละ 57 บาท ตอนนี้ราคาไปกิโลกรัมละ 60 บาทแล้ว ยางก้อนถ้วย ประกันที่กิโลกรัมละ 23 บาท ตอนนี้ 25-26 บาทแล้วภาคอีสานมากกว่าภาคใต้ 1 บาทเพราะอยู่ใกล้แหล่งการส่งออก ซึ่งยางก้อนถ้วยราคาสูงกว่ารายได้ที่ประกันมาเป็นปีแล้ว

 

กัมพูชา - ชาวนากัมพูชาทิ้งไร่นา!! เนื่องจากระดับน้ำทะเลสูงขึ้น ทำพืชผลเสียหาย

สีหนุวิลล์/กัมพูชา - กลุ่มชาวนาในเขตเปรยนบ ประเทศกัมพูชา ถูกบังคับให้ขายที่ดินของตนเนื่องจากระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นบ่อยครั้ง ซึ่งทำให้พืชผลเสียหาย

พวกเขาเชื่อว่าการจัดตั้งบริษัทเอกชน โดยเฉพาะฟาร์มกุ้ง ใกล้ ๆ กับพวกเขาเป็นสาเหตุสำคัญของการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล เนื่องจากน้ำเค็มไหลจากฟาร์มกุ้งไปยังนาข้าว สร้างความเสียหายแก่พืชผล ส่งผลให้ชาวบ้านเพียง 40% ถึง 50% ยังคงปลูกข้าวในพื้นที่ ส่วนที่เหลือขายที่ดินให้บริษัทเอกชน

“หม่อง ริน” ชาวนาบอกว่าเขาปลูกข้าวมาตั้งแต่ปี 2527 และเมื่อน้ำทะเลเริ่มไหลเข้าสู่นาข้าว เขาถูกบังคับให้ขายที่ดินของเขา เขื่อนเก่ารั่วไหลทำให้น้ำทะเลเข้านาข้าว และสร้างความเสียหายให้กับพืชไร่และไร่ผัก ตามคำกล่าวของคุณรัน รองหัวหน้าชุมชนประมง

รัน ยังรับรองด้วยว่าฟาร์มกุ้งที่ตั้งขึ้นใกล้กับที่ดินของพวกเขา มีส่วนทำให้เกิดความเสียหา ยเนื่องจากน้ำล้นเข้าไปในนาข้าว ทำลายพืชผล นอกจากนี้ รองผู้อำนวยการยังระบุด้วยว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทุกปีทำให้น้ำทะเลไหลลงสู่พื้นที่น้ำจืดอย่างต่อเนื่อง

คุณรันกล่าวเสริมว่า “อย่างไรก็ตาม ในพื้นที่ของเรา เรามีป่าชายเลนที่สามารถช่วยป้องกันการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ แต่พื้นที่ที่อยู่ไกลออกไปเล็กน้อยมักถูกน้ำทะเลท่วม กรมวิชาการเกษตรมาตรวจสอบน้ำท่วม เขื่อน และฝากดินอีกส่วนหนึ่งเพื่อทำให้ถนนสูงขึ้นเพื่อป้องกันไม่ให้น้ำทะเลไหลข้ามถนน แต่ถนนสายใหม่ถูกน้ำทะเลกิน”

“กรมวิชาการเกษตรมาตรวจสอบน้ำท่วม เขื่อน และฝากดินอีกส่วนหนึ่งเพื่อทำให้ถนนสูงขึ้นเพื่อป้องกันไม่ให้น้ำทะเลไหลข้ามถนน แต่ถนนสายใหม่ถูกน้ำทะเลกิน” เขากล่าว

หลังจากเหตุผลดังกล่าว เกษตรกรจำนวนมากจึงตัดสินใจลาออกจากอาชีพและเริ่มทำงานในสาขาอื่น เช่น การก่อสร้าง โดยอธิบายว่าการทำนาเป็น “งานที่ไร้ประโยชน์” หลังจากเหตุผลดังกล่าว เกษตรกรจำนวนมากจึงตัดสินใจลาออกจากอาชีพและเริ่มทำงานในสาขาอื่น เช่น การก่อสร้าง โดยอธิบายว่าการทำนาเป็น “งานที่ไร้ประโยชน์”

 

เช็กเลย ธ.ก.ส. โอนเงินช่วยเกษตรกรชาวสวนยาง เข้าบัญชีแล้ว

นายกษาปณ์ เงินรวง รองผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า วันนี้ (14 ม.ค. 2565) ธ.ก.ส. ได้โอนเงินโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง ระยะที่ 3 เข้าบัญชีเกษตรกรโดยตรง สำหรับรอบที่ 1-2 เพิ่มเติม และรอบที่ 3 แก่เกษตรกรจำนวน 484,609 ราย เป็นเงิน 568 ล้านบาท เพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนจากปัญหาราคายางตกต่ำ อันเนื่องมากจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยจากวิกฤตการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ปัญหาภัยธรรมชาติ และช่วยสร้างความมั่นคงในอาชีพ 

อีกทั้งในวันเดียวกัน ธ.ก.ส. ได้โอนเงินตามโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2564/65 ครั้งที่ 3 แก่เกษตรกร 62,374 ราย เป็นเงิน 490 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรจากภาระต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น รวมถึงเป็นการจูงใจให้เกษตรกรดูแลรักษาข้าวให้มีคุณภาพดี เพื่อที่จะมีโอกาสขายข้าวในราคาที่สูงและมีรายได้มากขึ้น

พลิกโฉมครั้งใหญ่ !!! กรกอ.มีมติ สนับสนุนโครงการประกันราคาสินค้าเกษตร มอบ ”อลงกรณ์” นำทีมยกระดับ พร้อมเห็นชอบโครงการนิคมอุตสาหกรรมเกษตรอาหาร 9 กลุ่มจ.แรก หวังสร้างฐาน สู่หมุดหมายเกษตรมูลค่าสูง

นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการความร่วมมือระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กร.กอ.) เปิดเผยวันนี้(15ม.ค.)ภายหลังการประชุมคณะกรรมการฯ ครั้งที่ 1/ 2565 ผ่านการประชุมทางไกล zoom cloud meeting โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วยนายนราพัฒน์ แก้วทอง กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายวิชัย ไตรสุรัตน์ผู้ช่วยปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายศักดิ์ชัย อุ่นจิตติกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยทั้ง5ภาค นายยงวุฒิ เสาวพฤกษ์ ประธานคณะอนุกรรมการส่งเสริมอุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมี นายวินิต อิทธิสุข รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร และนายพงศ์ไท ไทโยธิน ผู้อำนวยการกองนโยบายและแผนพัฒนาการเกษตร สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร เป็นฝ่ายเลขานุการ 

โดยนายอลงกรณ์กล่าวว่า กรกอ.มีมติสนับสนุนโครงการประกันราคาสินค้าเกษตรโมเดลใหม่โดยภาคเอกชนและให้ตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนโครงการมีเป้าหมายประกันราคาสินค้าเกษตรสำหรับภาคอุตสาหกรรมเกษตรอาหารเพื่อให้ราคาสินค้าเกษตรมีเสถียรภาพและเกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นอย่างมั่นคงและยั่งยืนภายใต้แนวคิดความเป็นหุ้นส่วนระหว่างเกษตรกรกับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมซึ่งเป็นแพลตฟอร์มใหม่และจะเป็นการปฏิรูปครั้งใหญ่ของภาคเกษตรของเรา ภายใต้5ยุทธศาสตร์ของดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ

โดยการสนับสนุนของรองนายกรัฐมนตรีจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รัฐมนตรีพาณิชย์

“ก่อนหน้านี้อุตสาหกรรมกุ้งตลอดห่วงโซ่ธุรกิจร่วมกับเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงกุ้งและกรมประมงโดยกระทรวงเกษตรฯ.เริ่มทดลองโครงการประกันราคากุ้งเฟสแรกตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว และขณะนี้กำลังขยายผลโครงการไปกลุ่มผลไม้เศรษฐกิจภายใต้ฟรุ้ทบอร์ด ในอดีตที่ผ่านมาภาครัฐใช้เงินงบประมาณอุดหนุนสินค้าเกษตรกว่าแสนล้านต่อปีขณะที่ผลิตภาพการผลิตภาคเกษตรยังเป็นปัญหาเช่นเดียวกับราคาสินค้าเกษตรก็ไม่มีความแน่นอน การเอาเปรียบทางการค้ากับเกษตรกรยังมีอยู่ ถ้าโครงการประกันราคาสินค้าเกษตรโดยภาคเอกชนสำเร็จ ต่อไปภาครัฐจะได้ใช้งบประมาณไปทุ่มเทกับการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมเมดอินไทยแลนด์ การพัฒนาผลิตภาพ(Productivity)ทั้งระบบ การพัฒนาการศึกษาด้านการเกษตรและอุตสาหกรรม การเพิ่มทักษะ(Reskill&Upskill)บุคลากรภาครัฐภาคเอกชนภาควิชาการภาคเกษตรกร และการโปรโมทสินค้าเกษตรอาหารของไทยในต่างประเทศ

โครงการนี้ไม่ง่ายเลยแต่มีความเป็นไปได้ขึ้นกับความร่วมมือแบบหุ้นส่วนของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องและความกล้าที่จะทำสิ่งใหม่ ๆ เราต้องช่วยกันปลดกระดุมแล้วกลัดใหม่ สร้างคานงัดใหม่ ๆในการอัปเกรดประเทศไทยของเรา” นายอลงกรณ์กล่าว

นอกจากนี้ที่ประชุมยังเห็นชอบโครงการนิคมอุตสาหกรรมเกษตรอาหาร 9 กลุ่มจังหวัดแรกหวังสร้างฐานอุตสาหกรรมเกษตรสู่หมุดหมายเกษตรมูลค่าสูงและ 12 อุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่(S-Curve) รวมทั้งรับทราบวาระต่าง ๆ เช่น 

(1) บันทึกความร่วมมือการสร้างความมั่นคงอย่างยั่งยืนให้แก่เกษตรกรด้วยการผลิตไฟฟ้าและพลังความร้อนจากพืชพลังงานเพื่อชุมชนและเศรษฐกิจฐานราก กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพลังงาน กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ร่วมลงนามในบันทึกความร่วมมือฯ เมื่อวันศุกร์ที่ 17 ธันวาคม 2564 

(2) ผลการดำเนินงานของคณะอนุกรรมการความร่วมมือระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ระดับภาค (กร.กอ.ระดับภาค) 

(2.1) ความก้าวหน้าภายใต้คณะอนุกรรมการความร่วมมือระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ภาคตะวันออก ได้เสนอกรอบแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารภาคตะวันออก ปี 2566 -2570  มีเป้าหมายสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลผลิตการเกษตรและเชื่อมโยงตลาดในระดับภาคตะวันออกให้เป็นรูปธรรมตามนโยบายตลาดนำการผลิต 

(2.2) ผลการดำเนินงานคณะอนุกรรมการความร่วมมือระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แต่งตั้งคณะทำงานขับเคลื่อนการพัฒนาสินค้าเกษตรที่สำคัญตามศักยภาพแบบครบวงจร ในพื้นที่ 5 กลุ่มจังหวัด ซึ่งได้กำหนดสินค้าแบ่งออกเป็น (1) สินค้าหลัก ได้แก่ ข้าว มันสำปะหลัง ยางพารา อ้อย ผัก โค และแพะ และ (2) สินค้ากลุ่มใหม่ อาทิ แมลงเศรษฐกิจ(จิ้งหรีด) สมุนไพร กัญชาและใบกระท่อม

ที่ประชุมได้พิจารณา “แนวทางการดำเนินการส่งเสริมอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารของกลุ่มจังหวัดนำร่อง” และมีมติ ดังนี้ 

>> (1) เห็นชอบให้มีการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการ (Workshop) เพื่อหารือแนวทางการจัดทำมาตรการส่งเสริมอุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร ของกลุ่มจังหวัดที่มีความพร้อม 9 กลุ่มจังหวัด  

>> (2) มอบหมายให้คณะอนุกรรมการฯระดับภาค และหน่วยงานในพื้นที่ที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการปรับปรุงและเพิ่มเติมรายละเอียดแนวทางการพัฒนาเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารของกลุ่มจังหวัดที่มีความพร้อมบางส่วน และกลุ่มที่ไม่มีความพร้อมให้มีสอดคล้องกันในแนวทางการส่งเสริม

กัมพูชา - บริษัทต่างชาติ บีบเกษตรกรออกจากธุรกิจ - บีบให้แรงงานย้ายถิ่นฐาน!!

เกษตรกรชาวกัมพูชาได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับการครอบงำบริษัทต่างชาติในบ้านเกิดของตน เนื่องจากเจ้าของบริษัทยังคงควบคุมพื้นที่ทำการเกษตรมากขึ้น ทำให้ชาวบ้านหาเลี้ยงชีพได้ยากขึ้นและทำให้เกิดการย้ายถิ่นของแรงงาน

สิ่งนี้เห็นได้ชัดในหมู่บ้านที่ชนกลุ่มน้อย Kouy อาศัยอยู่ในจังหวัดพระวิหาร ทางการได้ให้สิทธิแก่บริษัทต่างชาติในการให้เช่าพื้นที่ต่าง ๆ แก่คนนอกพื้นที่ โดยให้ชาวบ้านที่สูญเสียพื้นที่ทำการเกษตรไปมาก บังคับให้หลายคนมองหาโอกาสในการทำงานในต่างประเทศ ตอนนี้ชาวบ้านและกลุ่มสิทธิที่ได้รับความเดือดร้อนเริ่มโต้เถียงเรื่องพื้นฐานทางกฎหมายของสิทธิของบริษัทในการควบคุมที่ดินและเรียกร้องให้มีการปฏิรูป

นาย ล จันทร์ - ผู้ประสานงานกลุ่มสิทธิ ADHOC จังหวัด บอกว่า “ในหมู่บ้านของฉัน มีข้อพิพาทเรื่องที่ดินกับบริษัทอ้อยตั้งแต่ปี 2555 ชุมชนของฉันได้สูญเสียที่ดินทำกิน พื้นที่เพาะปลูก ป่าไม้ ป่าเชื่อ ฐานรากของวัดโบราณถูกทำลายไปแล้ว”

นายตีบ เติม-ตัวแทนชนพื้นเมืองโกย บอกว่า “บริษัทเป็นบริษัทจีน Hengfu Group บริษัทได้ก่อตั้งบริษัทขนาดเล็กห้าแห่ง ได้แก่ Heng Non Cambodia International Co. Ltd, Heng Yue Cambodia International Co. Ltd, Heng Rui Cambodia International Co. Ltd, Lan Feng Cambodia International Co. Ltd และ Rui Feng Cambodia International Co. Ltd, ”

นาย ล จันทร์-ผู้ประสานงานกลุ่มสิทธิ ADHOC จังหวัด บอกว่า “สัญญาระหว่างรัฐบาลและบริษัทคือการปลูกต้นยางพารา ต้นกระถิน และอ้อย การปลูกอ้อย บริษัทไม่ผิด บริษัทผิดคือเอาที่ดินทำกินคูยเช่าให้พวกอพยพ และที่ไม่ธรรมดาคือบริษัทเอาสัมปทานที่ดินไปปลูกข้าวซึ่งกำลังปล้นธุรกิจของชนพื้นเมืองคูย"

นาย ล จันทร์- ผู้ประสานงานกลุ่มสิทธิ ADHOC จังหวัด บอกว่า “บริษัททำอย่างนั้นแตกต่างไปจากสัญญาที่ตกลงกับรัฐบาล บริษัท มีสิทธิทำเฉพาะแผนแม่บทที่เขียนไว้ในสัญญาที่ลงนามแล้วเท่านั้น”

นาย ล จันทร์- ผู้ประสานงานกลุ่มสิทธิ ADHOC จังหวัด บอกว่า “โดยหลักการแล้ว กฎหมายว่าด้วยสัมปทานที่ดินไม่ได้ให้สิทธิบริษัทการลงทุนที่จะได้รับพื้นที่มากกว่า 10,000 เฮกตาร์ แต่เมื่อเร็ว ๆ นี้ฉันได้ร่วมมือกับ EC เช่นเดียวกับองค์กรอื่น ๆ เราพบว่าห้า บริษัท นั้นมีสัมปทานที่ดินมากกว่า 50,000 เฮกตาร์ ดังนั้นตามหลักการของกฎหมายสัมปทานที่ดิน บริษัท นี้ได้ทำผิดพลาดอย่างร้ายแรง "

นางเซิงแซม-ตัวแทนชาวพื้นเมืองโกย บอกว่า“ด้วยเหตุพิพาทเรื่องที่ดินนี้ ชาวคูตี้จึงต้องอพยพไปทำงานต่างประเทศ เช่น ประเทศไทย และกระทบต่อการศึกษาอย่างหลานๆ ของตัวเองที่เพิ่งลาออกจากโรงเรียน "

นาย. ซินสนา –หลานชายของนางเซิงแซม บอกว่า “ผมเคยร่วมประท้วงปัญหาที่ดินนี้ด้วย เราไปตอนกลางของจังหวัดเพื่อนอนที่นั่น ฉันไปที่นั่นเพราะต้องการสนับสนุนให้พวกเขาอ้างสิทธิ์ในที่ดินที่บริษัทจีนยึดครอง "

นาง Soeung Sam-ตัวแทนชนพื้นเมืองกวย บอกว่า “ฉันรู้สึกเศร้าแต่ไม่รู้ว่าต้องทำอย่างไรเพราะบริษัทมีอำนาจมากกว่าชุมชนของฉัน ดังนั้น เราจะยืนหยัดเพื่อทวงคืนที่ดินของเราเท่านั้น”

 

กาฬสินธุ์ - แล้ง - ว่างงาน!! กาฬสินธุ์เดินหน้า จัดงานวันถ่ายทอดเทคโนโลยีเติมความรู้ชาวบ้าน ก่อนเพาะปลูกฤดูกาลผลิตใหม่

จังหวัดกาฬสินธุ์ เดินหน้าจัดงานวันถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อเริ่มต้นฤดูกาลผลิตใหม่ (Field Day) ประจำปี 2565 เต็มพื้นที่ 18 อำเภอ เพื่อเติมความรู้เกษตรกรในช่วงหลังเก็บเกี่ยวหน้าแล้งและว่างงาน ให้มีความรู้ทุกด้าน เพื่อบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ และลดทุนการผลิต เพิ่มผลผลิต ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ที่ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงตำบลเขาพระนอน (ไร่ภูทองใบ) ของนางจิตตานันท์ ภูทองใบ บ้านโคกแง้ หมู่ที่ 5 ต.เขาพระนอน อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์

นายดนุพงษ์ ภูตรี นายกเทศมนตรีตำบลเขาพระนอน เป็นประธานเปิดงานวันถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อเริ่มต้นฤดูกาลผลิตใหม่ (Field Day) ระดับอำเภอ ประจำปี 2565 โดยมีนางสาวอรนุช เกษสัญชัย หัวหน้ากลุ่มยุทธศาสตร์และสารสนเทศ สำนักงานเกษตร จ.กาฬสินธุ์ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่สำนักงานเกษตร อ.ยางตลาด ส่วนราชการในพื้นที่ ผู้บริหารท้องถิ่น เกษตรกรตำบลเขาพระนอน เข้าร่วมกิจกรรม ภายใต้มาตรการป้องกันโคตรวิด-19

ทั้งนี้ งานวันถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อเริ่มต้นฤดูกาลผลิตใหม่ (Field Day) ดังกล่าว หน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ บูรณาการทำงานร่วมกันเพื่อสนับสนุนเกษตรกร ในสถานีเรียนรู้หลักและสถานีเรียนรู้ย่อย ภายใต้ 6 กิจกรรม ได้แก่ สถานีที่ 1 บัญชีครัวเรือน สถานีที่ 2 การรวมกลุ่ม สถานีที่ 3 ระบบการให้น้ำพืชการใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า สถานีที่ 4 การขยายพันธุ์พืช สถานีที่ 5 เศรษฐกิจพอเพียง การใช้และการผลิตสารชีวภัณฑ์ และสถานีที่ 6 ปรับปรุงบำรุงดิน อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม นวัตกรรมลดการเผาเศษวัสดุทางการเกษตรในพื้นที่การเกษตร

นางสาวอรนุช เกษสัญชัย หัวหน้ากลุ่มยุทธศาสตร์และสารสนเทศ สำนักงานเกษตร จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า การจัดงานวันถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อเริ่มต้นฤดูกาลผลิตใหม่ (Field Day) มีความสำคัญอย่างยิ่งกับพี่น้องเกษตรกรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่จะได้มีการบอกกล่าวให้พี่น้องเกษตรกร ทั้ง 18 อำเภอ ได้ทราบถึงวิธีการปฏิบัติก่อนจะมีการเริ่มต้นฤดูกาลผลิตใหม่ ทำให้เกษตรกรนำองค์ความรู้ที่เหมาะสมกับพื้นที่ ไปประยุกต์ใช้ในไร่นาและสวนของตนเองได้ เช่น การบริหารจัดการเรื่องน้ำ การรวมกลุ่มแปลงใหญ่ การทำบัญชีในครัวเรือน จะทำให้เกิดการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตได้เป็นอย่างดี และสามารถนำองค์ความรู้ที่ได้จากศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) และศูนย์เครือข่ายที่ประสบความสำเร็จ ไปใช้ในพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีความเข้มแข็ง และพึ่งพาตนเองได้

ด้านนายกฤษ กองอุดม ตัวแทนไร่ภูทองใบ กล่าวว่า ไร่ภูทองใบ เมื่อ 20 ปีก่อนเป็นป่าที่เสื่อมโทรมใช้ประโยชน์ไม่ได้ ตนและครอบครัวจึงได้น้อมนำหลักการพัฒนาตามแนวเกษตรทฤษฎีใหม่ ของในหลวงรัชกาลที่ 9 ด้วยการปลูกพืช 3 อย่างประโยชน์ 4 อย่าง ดำเนินการตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงทำให้ประสบความสำเร็จในระดับหนึ่งในปัจจุบัน สามารถเป็นสถานที่เรียนรู้ของเกษตรกรในพื้นที่ใกล้เคียงได้ เช่น เลี้ยงเป็ด เลี้ยงไก่ เลี้ยงปลา ปลูกพืชเศรษฐกิจหลักอย่างมะม่วง ที่สามารถสร้างอาชีพ และสร้างงาน และเป็นแหล่งรองรับแรงงานหลังได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 อีกด้วย

 


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top