Sunday, 25 May 2025
เกษตรกร

'มิสเตอร์เอทานอล' เตือนรัฐบาลอย่าทอดทิ้งเอทานอล พลังงานไทยจากหยาดเหงื่อของเกษตรกรกว่า1ล้านครัวเรือน

“อลงกรณ์”ห่วงอุตสาหกรรม
เอทานอลล่มสลายเกษตรกรล่มจม
เสนอ 5 มาตรการเดินหน้าอุตสาหกรรมเอทานอล

วันนี้นายอลงกรณ์ พลบุตร ฉายา“มิสเตอร์เอทานอล”(Mr.Ethanol)และรองประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ พรรคประชาธิปัตย์โพสต์ข้อความในเฟสบุ๊ค“อลงกรณ์ พลบุตร”เรื่อง อย่าทอดทิ้งเอทานอล พลังงานไทยจากหยาดเหงื่อเกษตรกร“แสดงความกังวลต่อนโยบาย”เอทานอล“ของกระทรวงพลังงานพร้อมเสนอ 5 มาตรการเดินหน้าอุตสาหกรรมเอทานอลโดยมีข้อความดังต่อไปนี้

อลงกรณ์ขับรถไถจากสวนจิตรลดาบุกทำเนียบรัฐบาลในเดือนกันยายนปี2544เพื่อโปรโมทโครงการเอทานอลจนคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบในสัปดาห์ถัดมา

”อย่าทอดทิ้งเอทานอล พลังงานสะอาดจากหยาดเหงื่อของเกษตรกรไทย“

ผมกังวลใจที่ทราบว่ากระทรวงพลังงานจะไม่สนับสนุนเอทานอลน้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพที่ผลิตจากอ้อยและมันสำปะหลังโดยการจำหน่ายน้ำมันจะเหลือเพียง น้ำมันเบนซินและน้ำมันแก๊สโซฮอล์95 (E10) ทั้งที่ในแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP) สนับสนุนE20จะทำให้
การใช้เอทานอลลดลงถึง50%กระทบต่อเกษตรกรและอุตสาหกรรมเอทานอลที่ประเทศไทยเริ่มมาตั้งแต่ปี2544จนปัจจุบันประเทศไทยมีโรงงานเอทานอล28โรงมีกำลังการผลิต 6.8 ล้านลิตรต่อวัน เป็นอันดับ 7 ของโลก ซึ่งทุกวันนี้ผลิตเพียง3.1-3.2 ล้านลิตรต่อวัน หากในอนาคตปรับเหลือแค่ E10 ก็จะลดลงไปอีก50% อาจถึงการล่มสลายของอุตสาหกรรมเอทานอลและเกษตรกรล่มจม

“เมื่อปี2543เกิดวิกฤติการณ์น้ำมันประเทศไทยกระทบรุนแรงเพราะนำเข้าน้ำมันถึง90% ผมเสนอให้ประเทศไทยผลิตน้ำมันเอทานอล(แอลกอฮอล์)จากพืชซึ่งมีโรงงานต้นแบบของในหลวงในวังสวนจิตรลดาจึงได้รับแต่งตั้งจากรัฐมนตรีวิทยาศาสตร์ฯ.(ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์)เป็นประธานโครงการผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพจากพืชในต้นปี2544และเสนอรายงานต่อคณะรัฐมนตรี(ฯพณฯ.ชวน หลีกภัย)ให้ความเห็นชอบให้ผลิตเอทานอลเป็นน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นครั้งแรกในประเทศไทยเมื่อวันที่19 กันยายน 2544 เพื่อลดการนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศ ลดคาร์บอนและสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรชาวไร่อ้อยชาวไร่มันสำปะหลังซึ่งเป็นวัตถุดิบในการแปรรูปเป็นน้ำมันเอทานอลที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมจนได้รับฉายา”มิสเตอร์เอทานอล“ 

นับเป็นเวลากว่า20ปีที่อุตสาหกรรมเอทานอลเติบโตและมีน้ำมันแก๊สโซฮอล์(เบนซิน-แก๊สโซลีนผสมเอทานอล-แอลกอฮอล์)จำหน่ายทุกปั้มทั่วประเทศ มีน้ำมัน E10 E20และE85 (EคือEthanol, E10คือเอทานอล10%เบนซิน90% E20และE85มีส่วนผสมเอทานอล 20%และ85%) โดยอุตสาหกรรมยานยนต์ยอมรับการปรับแต่งเครื่องยนต์และอุตสาหกรรมน้ำมันก็ให้การสนับสนุน

การที่รัฐบาลปัจจุบันโดยกระทรวงพลังงานจะลดการส่งเสริมสนับสนุนจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมเอทานอลและเกษตรกรชาวไร่อ้อยชาวไร่มันสำปะหลังประสบความเดือดร้อนอย่างรุนแรงเพราะเพียงแค่มีข่าวว่าจะลดเหลือเพียงน้ำมันE10ชาวไร่ก็ถูกกดราคาแล้ว

ผมจึงขอเสนอมาตรการให้รัฐบาลโดยเฉพาะกระทรวงพลังงานพิจารณา ดังต่อไปนี้
1. ส่งเสริมการใช้น้ำมันเชื้อเพลิง E20 เป็นน้ำมันพื้นฐานและยังคงจำหน่ายน้ำมัน E85
2. ขยายเวลาการบังคับ “มาตรการยกเลิกชดเชยราคาน้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพ” ตาม พ.ร.บ.กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2562 รอบ2 เป็นเวลา 2 ปี ซึ่งปัจจุบันราคาน้ำมันกลุ่มเบนซิน-แก๊สโซฮอล์ ก็เป็นราคาตามกลไกตลาดโลกและต้นทุนของเอทานอลอยู่แล้ว โดยกองทุนน้ำมันฯ ไม่ได้นำเงินไปช่วยชดเชยราคาแต่อย่างใด และยังเรียกเก็บเงินจากผู้ใช้น้ำมันส่งเข้ากองทุนน้ำมันฯ อีกด้วย
3. ส่งเสริมเอทานอลเกรดอุตสาหกรรมให้สามารถนำไปใช้ในอุตสาหกรรมอื่นได้ อาทิ ไบโอพลาสติก,อุตสาหกรรมยา,อุตสาหกรรมสีทาบ้านและอุตสาหกรรมเคมี เป็นต้นโดยแก้ไขหรือยกเลิก พระราชบัญญัติสุรา พ.ศ. 2493 เพราะปัจจุบันเอทานอลไม่สามารถนำมาใช้ด้วยเกรงจะถูกนำไปผลิตเป็นเหล้าเถื่อนกระทบบริษัทผลิตเหล้าและองค์การสุราทั้งที่มีมาตรการป้องกันได้เหมือนการนำเอทานอลมาใช้เป็นน้ำมันเชื้อเพลิง

4. ส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรมไบโอรีไฟนารี่(Biorefinery)คืออุตสาหกรรมพลังงานและเคมีชีวภาพซึ่งเป็นอุตสาหกรรมแห่งอนาคตเพื่อต่อยอดเพิ่มมูลค่าเอทานอล
5. เพิ่มศักยภาพการส่งออกเอทานอล โดยภาครัฐสนับสนุนการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต(Productivity)ของโรงงานและชาวไร่ให้มีผลผลิตสูงขึ้นสามารถแข่งขันชิงตลาดโลกได้
ประเทศของเราผลิตเอทานอลได้เกือบ7ล้านลิตรต่อวันแต่กลับหยุดส่งออกเอทานอลตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2556 หรือ11ปีมาแล้วโดยรัฐบาลขณะนั้นออกมาตรการระงับการส่งออกด้วยเกรงเอทานอลจะไม่พอใช้ในประเทศ โดยยกเว้นให้ส่งออกเป็นบางกรณี เช่น เดือนมีนาคม 2557 มีการส่งออกจำนวน 4 ล้านลิตรและเดือนธันวาคม 2563 ส่งออกเพียง 5.4 หมื่นลิตร มีตลาดส่งออกสำคัญ ได้แก่ ฟิลิปปินส์ ญี่ปุ่น และอังกฤษ ปัจจุบันกำลังการผลิตใช้เพียงครึ่งเดียวเหลือวันละ 3 ล้านลิตร หากส่งออกได้ก็จะเพิ่มกำลังผลิตได้เต็มกำลังการผลิตจริง 

“รถจดทะเบียนสะสมมีกว่า 44 ล้านคัน ส่วนรถไฟฟ้ามีแสนกว่าคัน ดังนั้นน้ำมันสำหรับรถสันดาปภายในยังมีความต้องการอีกมาก การผลิตน้ำมันชีวภาพ(Biofuel)ทั้งเอทานอลและไบโอดีเซลมีประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม กระทรวงพลังงานและรัฐบาลใช้กองทุนน้ำมันอุดหนุนราคาดีเซลและแก๊สกว่าแสนล้านบาทโดยไม่ได้อุดหนุนราคาแก๊สโซฮอลล์มิหนำซ้ำกลับจะทำลายรากฐานของการพึ่งพาตัวเองของประเทศที่เราสามารถพัฒนาอุตสาหกรรมเอทานอลจนเติบใหญ่เป็นอันดับ7ของโลกและช่วยลดการนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศ เรามาไกลเกินกว่าจะหันหลังกลับ ผมขอให้กระทรวงพลังงานและรัฐบาลทบทวนนโยบายเสียใหม่ อย่าทอดทิ้งเอทานอล พลังงานไทยจากหยาดเหงื่อของเกษตรกรกว่า1ล้านครัวเรือน “

‘สส.รวมไทยสร้างชาติ’ วอน!! รัฐช่วยเหลือเกษตรกร ‘สวนทุเรียน’ ภาคใต้ หลังเผชิญปัญหาภัยแล้ง เพราะหากเสียหายต้องปลูกใหม่นาน 7-8 ปี

(20 มิ.ย.67) นายวิชัย สุดสวาสดิ์ สส. จังหวัดชุมพร เขต 1 พรรครวมไทยสร้างชาติ ได้ร่วมอภิปรายร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ว่า ก่อนอื่นขอชื่นชมการจัดสรรงบประมาณไปสู่กระทรวงต่าง ๆ เพื่อที่จะแก้ไขปัญหาให้กับพี่น้องประชาชน แต่ทั้งนี้ ตนอยากจะย้ำเตือนในเรื่องการแก้ปัญหาภัยแล้งทั่วประเทศ โดยเฉพาะในโซนภาคใต้ พื้นที่จังหวัดชุมพร สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นพื้นที่ปลูกพืชเศรษฐกิจอย่างทุเรียนอยู่เป็นจำนวนมาก แต่ทว่าเกษตรกรในพื้นที่จังหวัดดังกล่าวต้องเผชิญกับปัญหาภัยแล้งอย่างหนัก

แต่ทั้งนี้ ต้องขอชื่นชม ท่านนายกรัฐมนตรี ที่ได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานดำเนินการช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรที่ประสบภัยแล้ง โดยเฉพาะพี่น้องเกษตรกรชาวสวนทุเรียน แต่อย่างไรก็ดี ขอเรียนไปถึงท่านรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการน้ำ โดยเฉพาะท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวมถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ให้ช่วยจัดสรรงบประมาณเพื่อดูแลและแก้ไขปัญหาภัยแล้งให้กับเกษตรกรอย่างทั่วถึงทุกพื้นที่

นายวิชัย กล่าวด้วยว่า ในพื้นที่ภาคใต้โดยเฉพาะจังหวัดชุมพร มีการขยายพื้นที่ปลูกทุเรียนเพิ่มมากขึ้นทุกปี เพราะถือว่าเป็นพืชเศรษฐกิจอันดับหนึ่งที่สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรมากที่สุด ซึ่งจากข้อมูลการส่งออกทุเรียนของจังหวัดชุมพรในปี 2566 ที่ผ่านมา พบว่า มีสูงถึง 223,140 ตัน คิดเป็นมูลค่ากว่า 37,200 ล้านบาท สูงกว่าพืชเศรษฐกิจอื่น ๆ และยังมีส่วนช่วยสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับชุมชนต่าง ๆ ทั้งการจ่ายค่าแรงงาน ค่าปุ๋ย และอุปกรณ์ทางการเกษตรต่าง ๆ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องยอมรับว่า ทุเรียนนั้นเป็นพืชที่ต้องการน้ำในการหล่อเลี้ยง หากในพื้นที่ประสบปัญหาภัยแล้ง ย่อมทำให้ได้รับความเสียหายอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

เพราะฉะนั้น ถึงเวลาแล้วที่รัฐบาลหรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมด ต้องลงมาดูแลและแก้ไขปัญหาให้กับพี่น้องเกษตรกรชาวสวนทุเรียน อย่าปล่อยให้ทุเรียนของเขาได้รับความเสียหาย แล้วต้องกลับมาเริ่มต้นการปลูกใหม่อีก 7 - 8  ปี ถึงจะได้รับผลผลิตอีกครั้ง 

“จากการเก็บข้อมูลและลงพื้นที่พบพี่น้องเกษตรกร ได้รับเสียงสะท้อนมาว่า ปัญหาภัยแล้งในพื้นที่ชุมพรและจังหวัดใกล้เคียง เผชิญปัญหาภัยแล้งมาตั้งแต่ปี 2566 ที่รุนแรงต่อเนื่องประมาณ 5 - 6 เดือน แต่ก็ไม่ได้รับการแก้ไขปัญหาจากนั้นในปี 2567 ก็มีปัญหาอีก 4 - 5 เดือน และผมเชื่อว่าในปี 2568 ปัญหาเหล่านี้ก็จะกลับมาอีกเช่นเคย ดังนั้น จึงอยากจะฝากถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด โดยเฉพาะกระทรวงหลัก ๆ อย่าง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่รับผิดชอบกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ให้ช่วยเข้ามาดูแลแก้ไขปัญหาให้กับพี่น้องประชาชน ด้วยการเจียดเงินงบประมาณ 2,000 - 3,000 ล้านบาท จากงบประมาณที่ได้รับการจัดสรรกว่า 10,000 ล้านบาท เพื่อแก้ไขปัญหาให้กับพี่น้องชาวสวนทุเรียน ซึ่งไม่เพียงแค่จังหวัดชุมพรและภาคใต้เท่านั้น แต่รวมไปถึงชาวสวนทุเรียนในภาคตะวันออก ที่รอการช่วยเหลืออยู่เช่นกัน”

นายวิชัย กล่าวย้ำว่า อยากจะขอให้กรมทรัพยากรน้ำบาดาล ช่วยไปศึกษาและช่วยหาแนวทางในเรื่องการนำน้ำจากใต้ดินขึ้นมาใช้ให้ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับพี่น้องเกษตรกร และขอให้กระทรวงที่เกี่ยวข้องบูรณาการแก้ไขปัญหาให้กับพี่น้องประชาชน โดยเฉพาะในโซนที่มีปัญหาเรื่องภัยแล้งทั่วประเทศอย่างเร่งด่วน

“มะระขี้นก” โกอินเตอร์ เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจสร้างรายได้ให้เกษตรกรและโกยเม็ดเงินเข้าประเทศ

กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ต่อยอดสมุนไพร Herbal Champions 15 รายการ ภายใต้แผนปฏิบัติการด้านสมุนไพรแห่งชาติ ฉบับที่ 2 พ.ศ.2566-2570  ค้นพบพืชสมุนไพรเศรษฐกิจตัวใหม่ “มะระขี้นก” สร้างรายได้เม็ดงามวางเป้าหมายผลักดันสู่ตลาดโลก สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้แก่ประเทศ

นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก เปิดเผยว่า ที่ได้มีการประกาศสมุนไพร Herbal Champions 15  รายการ ตามแผนปฏิบัติการด้านสมุนไพรแห่งชาติ ฉบับที่ 2 พ.ศ.2566-2570 มะระขี้นกซึ่งเป็น 1 ในสมุนไพร Herbal Champions มีตลาดทั่วโลกมูลค่ารวมกว่า 28,000 ล้านบาท กำลังมีแนวโน้มของตลาดกำลังเติบโตอย่างต่อเนื่อง  ข้อมูลเชิงลึกที่สำรวจประเทศเม็กซิโกเป็นประเทศที่มีการส่งออกมะระสูงสุดในโลกมีมูลค่า 17,000 ล้านบาท  ขณะที่ประเทศไทยส่งออกมะระขี้นกเพียง 18 ล้านบาท  สะท้อนให้เห็นว่าโอกาสของมะระขี้นกในตลาดโลกสามารถจะเติบโตอย่างต่อเนื่องในอนาคต

การศึกษาวิจัยหลายฉบับบ่งชี้ว่ามะระขี้นกมีสารสำคัญที่ชื่อว่า ชาแรนติน (Charantin) ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดได้   ประกอบกับเทรนด์การรักสุขภาพของผู้บริโภคทั่วโลกที่หันมาสนใจผลิตภัณฑ์ธรรมชาติและสมุนไพรมากขึ้นจึงทำให้มะระขี้นก เป็นทางเลือกที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้รักสุขภาพในหลายประเทศทั่วโลก ประเทศไทยจึงมีการพัฒนาสายพันธุ์สาเกต 101  ของมะระขี้นกขึ้นใหม่เพื่อให้ได้สารสำคัญในปริมาณที่มากขึ้น เพียงพอต่อการแข่งขันในตลาดโลก ซึ่งมีการนำร่องให้เกษตรกรจังหวัดมหาสารคามนำไปขยายพันธุ์ปลูกและเกิดการซื้อขายระหว่างผู้ประกอบการจากสาธารณรัฐประชาชนจีนจำนวนมูลค่า 250 ล้านบาท เพื่อนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ

ทางด้าน ดร.ภญ.มณฑกา ธีรชัยสกุล ผู้อํานวยการกองสมุนไพรเพื่อเศรษฐกิจ กล่าวว่า ปัจจุบันมีการทำโมเดล การเกษตรต้นน้ำมูลค่าสูงของมะระขี้นก เพื่อเป็นการสร้างงาน สร้างอาชีพให้กับเกษตรกร และวิสาหกิจชุมชน โดยเป็นการพัฒนาสายพันธุ์มะระขี้นก เพื่อให้ได้สารสำคัญคือ Charantin ในปริมาณที่สูงขึ้น ผลการศึกษาเบื้องต้นพบว่าสายพันธุ์ใหม่ ที่พัฒนาทำให้มะระขี้นกใหญ่ขึ้น และสามารถให้สาร Charantin มากกว่าเดิม ประมาณ 2 เท่า ซึ่งส่งผลให้ราคามะระขี้นก  เพิ่มสูงขึ้น จากเดิมกิโลกรัมละ 30 บาท เป็นกิโลกรัมละ 50 บาท เป็นการยกระดับรายได้ของคนในจังหวัด สร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจฐานราก นอกจากนี้ยังมีการส่งเสริมการแปรรูปมะระขี้นกด้วยเทคโนโลยีขั้นสูง ให้เป็นผลิตภัณฑ์รูปแบบต่างๆ  ที่มีมูลค่า ทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น อาทิ มะระขี้นกแบบน้ำสกัดเข้มข้น ซุปมะระขี้นกแบบผง มะระขี้นกดองกิมจิ 3 รส  เป็นต้น เป็นการผลักดันให้เกิดเกษตรมูลค่าสูงสอดคล้องกับนโยบายของคณะกรรมการนโยบายสมุนไพรแห่งชาติ  ที่มีความมุ่งมั่น ในการผลักดันสมุนไพรให้เป็นพืชเศรษฐกิจ โดยการสนับสนุนผู้ประกอบการแปรรูปสมุนไพรให้สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตให้มีคุณภาพมาตรฐาน ผลักดันจากการขายส่งวัตถุดิบเปลี่ยนเป็นการส่งออกผลิตภัณฑ์ในรูปแบบต่างๆ  ที่มีมูลค่าสูงเพื่อสร้างความแตกต่างและสร้างมูลค่าเพิ่มแก่สมุนไพร เป็นการต่อยอดสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจของสมุนไพรไทย

การจัดงานมหกรรมสมุนไพรแห่งชาติ และการประชุมวิชาการประจำปีการแพทย์แผนไทย การแพทย์พื้นบ้าน และการแพทย์ทางเลือกแห่งชาติ ครั้งที่ 21 ในปีนี้ จัดภายใต้แนวคิด “นวดไทย สปาไทย สมุนไพรไทยสู่เวทีโลก” ระหว่างวันที่ 3-7 กรกฏาคม 2567 ฮอลล์ 11 - 12 อิมแพ็ค เมืองทองธานี ภายในงานจะมีการจัดแสดงสมุนไพรไทยหลากหลายชนิด โดยเฉพาะ “มะระขี้นก” พร้อมนิทรรศการและผลิตภัณฑ์แปรรูปต่างๆ ผู้เข้าร่วมงานจะได้พบกับมะระขี้นกสายพันธุ์ใหม่ที่พัฒนาขึ้นเพื่อให้ได้สาร Charantin ในปริมาณที่สูงขึ้น นอกจากนี้ยังมีการจัดแสดงนวัตกรรมและงานวิจัยล่าสุด รวมถึงกิจกรรมการสาธิตการปลูกและ แปรรูปสมุนไพร ร่วมกันสร้างเศรษฐกิจที่เข้มแข็งด้วยสมุนไพรไทย สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก              โทร. 0-2591-7007, อินสตาแกรม, TIKTOK, Facebook Fanpage มหกรรมสมุนไพรแห่งชาติหรือ Website: https://natherbexpo.dtam.moph.go.th ,Line ID  : @DTAM

เจนกิจ นัดไธสง  รายงาน

‘สส.รัฐบาล 2 พรรค’ ร่วมค้าน ‘ปุ๋ยคนละครึ่ง’ ลั่น!! ชาวนาขอคง ‘ไร่ละพัน’ ตอบโจทย์กว่า

(18 ก.ค. 67) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ณ รัฐสภา มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ทำหน้าที่ประธานการประชุม โดยก่อนเข้าสู่วาระการประชุม ได้เปิดให้สมาชิกหารือปัญหาความเดือดร้อนในพื้นที่ โดยนายกรวีร์ ปริศนานันทกุล สส.อ่างทอง พรรคภูมิใจไทย หารือถึงปัญหาความเดือดร้อนของเกษตรกร ว่า… 

“เรื่องแมลงหวี่ขาว ซึ่งตอนนี้ระบาดหนักใน 7 อำเภอ ของ จ.อ่างทอง มีพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายนับหมื่นไร่ ปกติชาวนาจะเจอเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลหนักอยู่แล้ว ตอนนี้มาเจอแมลงหวี่ขาวอีก แม้จะฉีดยาฆ่าแมลง 2-3 รอบแล้วก็ยังแก้ปัญหาไม่ได้ บวกกับภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจากค่าปุ๋ย ค่ายา และความเสี่ยงที่จะเกิดความเสียหายต่อผลผลิต จึงขอฝากไปยังกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เร่งแก้ไขปัญหาระยะสั้น และระยะยาว ในการให้ความรู้กับเกษตรกร”

นายกรวีร์ กล่าวต่อว่า เรื่องโครงการปุ๋ยคนละครึ่ง ซึ่งเป็นโครงการหลักของรัฐบาลที่จะช่วยลดต้นทุนการผลิตให้กับชาวนาที่จะช่วยเหลือค่าปุ๋ย ไร่ละไม่เกิน 500 บาท สูงสุด 20 ไร่ เป็นเงิน 1 หมื่นบาท ซึ่งมีปัญหามากมาย ทั้งการลงทะเบียนผ่านแอปพลิเคชัน สูตรปุ๋ยที่อาจจะไม่ตรงใจกับชาวนา ร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการ ที่สำคัญคือ เงินที่พี่น้องเกษตรกรจะต้องนำไปซื้อปุ๋ยและต้องสำรองจ่ายก่อนครึ่งหนึ่ง

“พี่น้องชาวนาฝากให้ผมมาพูดว่าอยากให้รัฐบาลได้ทบทวน และถ้าเป็นไปได้พี่น้องเกษตรกรอยากได้การช่วยเหลือแบบไร่ละพันเหมือนเดิมที่ผ่านมา เอาปุ๋ยคนละครึ่งคืนไป เอาไร่ละพันกลับมา” นายกรวีร์ กล่าว

นายฉลาด ขามช่วง สส.ร้อยเอ็ด พรรคเพื่อไทย หารือว่า ถ้ารัฐบาลมีความจริงใจต่อเกษตรกร ขอให้ยกเลิกโครงการปุ๋ยคนละครึ่ง แต่โครงการเยียวยาชาวนาไร่ละ 1 พันบาทขอให้คงไว้ตามเดิม

ด้าน นายทินพล ศรีธเรศ สส.กาฬสินธุ์ พรรคเพื่อไทย หารือว่า ขอยืนยันว่าชาวนาในจังหวัดของตน ก็เป็นกังวลกับโครงการปุ๋ยคนละครึ่งของรัฐบาลว่าจะตอบโจทย์ช่วยเหลือชาวนาจริงหรือไม่ ถ้าชาวนาไม่มีเงินสมทบเติมเพื่อซื้อปุ๋ยจะทำอย่างไร ตามปกติถ้าชาวนาไม่มีเงินก็จะเชื่อปุ๋ยมาก่อน หรือไม่ก็นำปุ๋ยจากกองทุนหมู่บ้านมาใช้ เมื่อขายผลผลิตได้แล้วจึงนำเงินไปใช้หนี้ แต่สำหรับโครงการนี้กลับต้องนำเงินไปใส่สมทบไว้เสียก่อน นี่คือข้อกังวลของชาวนา

“ซ้ำร้ายกว่านั้นได้ยินมาว่าหากมีโครงการปุ๋ยคนละครึ่งแล้ว จะไม่มีโครงการไร่ละพัน ยิ่งทำให้ชาวนาทุกข์ใจเพิ่มมากขึ้น หากรัฐบาลยังยืนยันจะทำโครงการปุ๋ยคนละครึ่งอยู่ ชาวบ้านขอเรียกร้องอยากให้โครงการไร่ละพันอยู่เหมือนเดิม เพราะตอบโจทย์ชาวนามากกว่า จึงฝากไปยังรัฐบาลและรมว.เกษตรและสหกรณ์ทบทวนพร้อมชี้แจงให้ประชาชนทราบด้วย” นายทินพล กล่าว

ด้านนายสนอง เทพอักษรณรงค์ สส.บุรีรัมย์ พรรคภูมิใจไทย หารือว่า ได้รับการร้องเรียนจากชาวนาเกี่ยวกับปุ๋ยคนละครึ่ง ที่รัฐบาลกำลังดำเนินโครงการ เนื่องจากโครงการนี้แทนที่จะเป็นการช่วยเหลือกลับเป็นการซ้ำเติม เพราะประชาชนจะต้องไปกู้เงินมาล่วงหน้าเพื่อมาสมทบก่อน และปุ๋ยที่ได้ไม่แน่ใจว่าจะมีคุณภาพ ถูกต้องตรงตามที่ต้องการหรือไม่ และไม่สามารถที่จะนำเงินเหล่านี้ไปใช้ช่วยลดปัจจัยการผลิตด้านอื่น ๆ ได้

และยังกล่าวต่อว่า ไม่เหมือนโครงการไร่ละ1 พันบาท ซึ่งเกษตรกรได้รับเงินโดยตรงไม่ต้องมีหนี้สิน สามารถนำเงินเหล่านั้นไปใช้ลดต้นทุนการผลิต ทั้งค่าเก็บเกี่ยว ค่าไถ ค่าหว่าน ค่าปุ๋ย ได้ทุกอย่างครบวงจร จึงขอให้รัฐบาลทบทวนโครงการนี้ เพื่อให้มีประสิทธิภาพและชาวนาได้รับประโยชน์สูงสุดตามนโยบายของรัฐบาล

ส่วนนายวินัย ภัทรประสิทธิ์ สส.พิจิตร พรรคภูมิใจไทย หารือว่า เมื่อวันที่ 14 ก.ค.ที่ผ่านมา พี่น้องเกษตรกร อ.วังทรายพูน จ.พิจิตร ได้ทำหนังสือถึงตนไม่เห็นด้วยกับโครงการปุ๋ยคนละครึ่ง แต่อยากได้โครงการเดิมที่รัฐบาลเคยช่วยเหลือพี่น้องชาวไร่ชาวนา ในการเพิ่มผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าวไร่ละ 1 พันบาท จึงอยากฝากหนังสือดังกล่าวไปยังคณะรัฐมนตรี (ครม.) และรัฐมนตรี ให้รับทราบด้วย

'ภูมิธรรม' ควง 'นภินทร สุชาติ' โชว์ผลสำเร็จพาณิชย์จับมือทุกภาคส่วน ดูแลพืชเกษตรหลัก พืชเกษตรรอง ดันราคาพุ่ง สร้างรายได้เกษตรกรไทยเพิ่มเฉียด 2 แสนล้าน

'ภูมิธรรม' โชว์ผลสำเร็จมาตรการบริหารจัดการสินค้าเกษตร ทั้งพืชหลัก พืชรอง เผยพืชเกษตรหลัก ข้าว ยาง ปาล์ม ข้าวโพด มันสำปะหลัง ราคาปรับตัวสูงขึ้น ส่วนพืชรอง ใช้แนวคิดใหม่ “คนตัวใหญ่ ช่วยคนตัวเล็ก” ดึงผู้ประกอบการ ปั๊มนน้ำมัน ห้าง หมู่บ้าน คอนโดมิเนียม ช่วยซื้อผลผลิต ดันราคาสูงขึ้นเช่นเดียวกัน รัฐไม่ต้องแทรกแซง ทำประหยัดงบ เผยราคาพืชหลัก พืชรอง เพิ่มขึ้น 23% มูลค่าเฉียด 2 แสนล้านบาท สร้างรอยยิ้มให้กับเกษตรกร 7.4 ล้านครัวเรือนทั่วประเทศ

เมื่อวานนี้ (9 ส.ค.67) เวลา 10.00 น.นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานแถลงความสำเร็จของการขับเคลื่อนมาตรการดูแลพืชรอง ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างภาคีเครือข่ายภาครัฐและเอกชนรายใหญ่กว่า 12 กลุ่มธุรกิจ 20 เครือ 27 หน่วยงาน ณ ห้องมโนปกรณ์นิติธาดา ชั้น 12 กระทรวงพาณิชย์ โดยมีนายนภินทร ศรีสรรพางค์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์

นายวุฒิไกร ลีวีระพันธ์ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ และคณะผู้บริหารกระทรวงพาณิชย์ บริษัทเอกชนรายใหญ่ เข้าร่วมว่า กระทรวงพาณิชย์ได้ดำเนินการขับเคลื่อนมาตรการดูแลสินค้าเกษตร ตามนโยบายของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ที่ได้ให้ความสำคัญกับการดูแลความเป็นอยู่ของพี่น้องเกษตรกร เนื่องจากประเทศไทย เป็นประเทศเกษตรกรรม มีประชากรกว่า 27 ล้านคน หรือ 40% อยู่ในภาคการเกษตร มีปริมาณผลผลิตพืชเศรษฐกิจหลัก 87.7 ล้านตัน ได้แก่ ข้าว มันสำปะหลัง ข้าวโพด ปาล์ม ยางพารา และพืชรอง 8.24 ล้านตัน ได้แก่ ผลไม้ พืช 3 หัว และผัก รวมปีละกว่า 96 ล้านตัน มูลค่ารวมกว่า 1.32 ล้านล้านบาท คิดเป็น 9% ของ GDP และไทยสามารถสร้างรายได้จากส่งออกสินค้าเกษตรและเกษตรอุตสาหกรรม ในปี 2566 กว่า 1.69 ล้านล้านบาท

โดยที่ผ่านมา กระทรวงพาณิชย์ได้มีมาตรการดูแลพืชเกษตร ได้วางแผนการจัดผลผลิต มีปฏิทินสินค้ารู้ว่าแต่ละเดือน แต่ละช่วง สินค้าอะไรจะออกสู่ตลาด และได้เตรียมมาตรการบริหารจัดการไว้ล่วงหน้า ไม่รอให้เกิดปัญหา ซึ่งในส่วนของพืชเศรษฐกิจตัวหลัก ได้มีมาตรการบริหารจัดการ และดูแลอย่างใกล้ชิดตั้งแต่เข้ามารับผิดชอบกระทรวงพาณิชย์ ทำให้ราคาปรับตัวสูงขึ้น โดยข้าวหอมมะลิราคาสูงสุดในรอบ 5 ปี ข้าวเจ้าราคาสูงสุดในรอบ 20 ปี ข้าวเหนียวสูงสุดในรอบ 4 ปี ยางแผ่นดิบ น้ำยาง ราคาสูงสุดในรอบ 10 ปี ปาล์มน้ำมัน ราคาอยู่ในเกณฑ์สูงที่เฉลี่ย 6 บาท/กิโลกรัม (กก.) สูงสุด 6.40 บาท/กก. ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ราคาที่เกษตรกรขายได้อยู่ที่ 11.2 บาท/กก. มันสำปะหลัง ราคา 2.75-3.15 บาท/กก. และยังได้แก้ช่วยแก้ไขปัญหาโรคใบด่าง ด้วยการจัดหาท่อนพันธ์ทนทานและต้านทานโรค 

ทั้งนี้ เมื่อบริหารจัดการพืชเศรษฐกิจตัวหลักได้สำเร็จแล้ว นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้ดำเนินการเชิงรุก ดูแลความเป็นอยู่ของพี่น้องเกษตรกรพืชเกษตรเศรษฐกิจตัวรอง ควบคู่ไปกับพืชหลัก ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ได้รับนโยบาย และดำเนินการขับเคลื่อนร่วมกับรัฐมนตรีช่วยว่าการทั้ง 2 ท่าน เริ่มจากมีมาตรการบริหารจัดการผลไม้ปี 2567 ที่ได้วางแผนไว้ล่วงหน้าก่อนที่ผลผลิตจะออกสู่ตลาด และยังได้มีแผนดูแลพืชเศรษฐกิจตัวรอง ได้แก่ ผลไม้ พืช 3 หัว และผัก โดยได้ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ เอกชน หน่วยงานพันธมิตร ในแผนงาน “คนตัวใหญ่ ช่วยคนตัวเล็ก” ที่จะร่วมมือกันในการบริหารจัดการพืชรอง ตั้งแต่ช่วงผลผลิตออกจนผลผลิตสู่ตลาด โดยหน่วยงานภาครัฐและเอกชนช่วยรับซื้อพืชรองต่างๆ ไปจำหน่าย แปรรูป หรือเป็นกิจกรรมเพื่อสังคม (CSR) ที่แต่ละบริษัทมีงบประมาณในส่วนนี้อยู่แล้ว ซึ่งจะเป็นกลไกใหม่ในการช่วยดูดซับผลผลิตและเพิ่มรายได้ให้เกษตรกรไปในคราวเดียวกัน “เครือข่ายพันธมิตรคนตัวใหญ่ ช่วยคนตัวเล็ก“ เป็นการดำเนินการสมดุล

นายภูมิธรรมกล่าวว่า ปัจจุบันเครือข่ายพันธมิตร คนตัวใหญ่ ช่วยคนตัวเล็ก มีจำนวน 12 กลุ่มธุรกิจ 20 เครือ 27 หน่วยงาน อาทิ กลุ่มผู้ผลิตสินค้าในเครือเจริญโภคภัณฑ์ กลุ่มธุรกิจปั้มน้ำมัน ได้แก่ ปตท. พีที บางจาก ซัสโก้ สมาคมโรงพยาบาลเอกชน กลุ่มธุรกิจหมู่บ้าน-คอนโด ได้แก่ แสนสิริ แอสเซทไวส์ เสนา ไอริส ห้างค้าปลีก-ค้าส่ง และห้างท้องถิ่นทั่วประเทศ รวมถึงหน่วยงานภาครัฐพันธมิตร อาทิ กรมราชทัณฑ์ โดยมีเป้าหมายช่วยดูดซับเชื่อมโยงผลไม้ พืช 3 หัว ผัก เป้าหมาย 321,579 ตัน แยกเป็นผลไม้กว่า 2 แสนตัน พืช 3 หัว 2 หมื่นตัน ผัก 3 หมื่นตัน มูลค่ากว่า 4,000 ล้านบาท

โดยปัจจุบันได้ดำเนินการไปแล้วในส่วนของทุเรียน และจะทยอยส่งมอบมังคุด ลำไย ไปจนถึงสิ้น ก.ย.นี้ รวม 33,500 ตัน ไปยังเรือนจำ ธนาคาร ห้าง โรงแรม นิคมอุตสาหกรรม โรงพยาบาล บริษัทเอกชนรายใหญ่ และมีแผน ส่งมอบต่อเนื่องไปถึงต้นปีหน้า ทั้งผลไม้ ส้ม ลองกอง พืชผัก พืช 3 หัว หอมแดง กระเทียม หอมใหญ่ ที่จะเริ่มออกมาก
ในช่วงสิ้นปีไปจนถึงต้นปีหน้า

ทั้งนี้ ผลการดำเนินมาตรการดูแลสินค้าเกษตร ทั้งพืชหลัก พืชรอง สามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจของ ข้าวเปลือก ยางพารา ผลไม้ พืช 3 หัว เฉลี่ยสูงขึ้นจากปีก่อน 23% ทำให้เกษตรกร กว่า 7.4 ล้านครัวเรือน มีรายได้รวม เพิ่มขึ้นเกือบ 2 แสนล้านบาท (196,536 ล้านบาท) จากราคาที่ปรับสูงขึ้นกว่าปีก่อน 

“วันนี้เศรษฐกิจฐซบเซา ขาดกำลังซื้อ ประเทศเราเป็นประเทศเกษตรกรรมประชากร 40% เป็นเกษตรกร เราได้ชื่อว่าแหล่งอาหารของโลก ขอบคุณทุกภาคส่วนที่เข้าใจเห็นความเดือดร้อนของเกษตรกร มาร่วมกันพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก ทำงานเชิงรุกร่วมกันทำให้ผู้ผลิตได้ราคาที่ดีขึ้นให้คนตัวใหญ่ช่วยคนตัวเล็ก และขอให้เกษตรกรทำสินค้าที่มีคุณภาพ จากนี้กระทรวงพาณิชย์จะเร่งบุกตลาดต่างประเทศเพิ่มขึ้น มีเป้าหมายที่ประเทศอินเดียที่มีประชากรถึง 1,400 ล้านคน นอกจากที่เราเร่งบุกตลาดจีนที่มีประชากร 1,200 ล้านคนแล้ว“

นายนภินทร ศรีสรรพางค์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า เกือบหนึ่งปีของรัฐบาลชุดนี้ที่ได้เข้ามาบริหาร เราสามารถดึงราคาสินค้าเกษตรขึ้นโดยไม่ต้องจำนำสินค้าเกษตร ไม่ต้องประกันราคาสินค้าเกษตร ทำให้พืชหลักและพืชรองราคาสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ สิ่งสำคัญคือความร่วมมือของภาคเอกชนทำให้ราคาสินค้าสูงขึ้น ขอขอบคุณภาคเอกชน หน่วยงานภาครัฐและวิสาหกิจทุกภาคส่วน เราจะร่วมมือกันตลอดไป เพื่อให้สินค้าเกษตรมีราคาสูงขึ้น ทำให้เศรษฐกิจรากฐานของประเทศไทยดีขึ้น

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ขอขอบคุณผู้ประกอบการ สถาบันการเงิน ข้าราชการทุกคน เป็นภาพรวมของการทำงานของกระทรวงพาณิชย์ เราไม่สามารถทำได้ด้วยตัวของเราเอง ต้องอาศัยภาคเอกชนและหน่วยงานที่มีส่วนร่วม ทำให้คนตัวใหญ่ช่วยคนตัวเล็กเกิดผลสำเร็จเป็นรูปธรรม ขอขอบคุณอีกครั้งในนามของกระทรวงพาณิชย์

สำหรับพืชเกษตรเศรษฐกิจตัวรองที่กระทรวงพาณิชย์ได้เข้าไปดูแล มีจำนวน 18 ชนิด แยกเป็นผลไม้ 11 ชนิด ได้แก่ 1.ทุเรียน 2.มังคุด 3.เงาะ 4.ลองกอง 5.ลำไย 6.สับปะรด 7.ลิ้นจี่ 8.ส้มโอ 9.ส้มเขียวหวาน 10.มะยงชิด 11.มะม่วง ผัก 4 ชนิด ได้แก่ 1.มะนาว 2.มะเขือเทศ 3.ฟักทอง 4.พริกขี้หนูจินดา และพืชสามหัว 3 ชนิด ได้แก่ 1.หอมแดง 2.หอมหัวใหญ่ 3.กระเทียม

'แรงงาน' แจ้งข่าว!! รับสมัครคนไทยไปทำงานที่เกาหลีใต้ เน้นแรงงาน 'ภาคเกษตร-ประมง' เงินเดือนสูงสุด 6.2 หมื่นบาท

(11 ก.ย. 67) นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า กระทรวงแรงงาน โดยกรมการจัดหางาน (กกจ.) เปิดรับสมัครคนไทยไปทำงานภาคเกษตรและประมงตามฤดูกาลในสาธารณรัฐเกาหลี จำนวน 2 ตำแหน่ง 15 อัตรา ได้แก่ คนงานเกษตรตามฤดูกาล ทำงานเพาะปลูกในไร่ และเพาะปลูกกระเทียม จำนวน 13 อัตรา เพศชาย 10 อัตรา เพศหญิง 3 อัตรา ค่าจ้าง 2,060,740 วอนต่อเดือน ประมาณ 52,343 บาท

คนงานประมงตามฤดูกาล ทำงานเพาะเลี้ยงพืชทะเล และเพาะเลี้ยงสาหร่าย จำนวน 2 อัตรา เพศชาย ค่าจ้าง 2,473,000 วอน หรือประมาณ 62,814 บาท (อัตราแลกเปลี่ยน ณ วันที่ 4 กันยายน 2567 : 1 วอน เท่ากับ 0.0254 บาท) มีระยะเวลาการจ้างงาน 5 เดือน และสามารถขยายระยะเวลาเพิ่มได้อีก 3 เดือน ผู้สนใจสามารถสมัครทางเว็บไซต์ toea.doe.go.th

โดยลงทะเบียนระบบอิเล็กทรอนิกส์การบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ กรอกข้อมูลเพื่อลงทะเบียนคนหางาน และดำเนินการสมัครไปทำงาน โดยเลือกหัวข้อ ‘สมัครไปทำงานโดยรัฐจัดส่ง’ และเลือกรายการ ‘การรับสมัครคนหางานเพื่อไปทำงานภาคประมงตามฤดูกาลในอำเภอโคฮึง จังหวัดชอลลานัม สาธารณรัฐเกาหลี’ ภายในวันที่ 11-13 กันยายน 2567 ตลอด 24 ชั่วโมง

“กระทรวงแรงงาน สนับสนุนให้คนไทยเดินทางไปทำงานต่างประเทศอย่างถูกต้องตามกฎหมายมาโดยตลอด เพราะนอกจากทำให้แรงงานไทยมีโอกาสทางอาชีพ มีรายได้เพิ่มขึ้น สามารถยกระดับคุณภาพชีวิตตนเองและครอบครัวได้แล้ว เม็ดเงินที่ได้รับยังถูกส่งกลับมาหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ ส่งผลต่อการเจริญเติบโตและยั่งยืนของประเทศไทยต่อไป แรงงานไทยที่เดินทางไปทำงานด้วยวีซ่า E-8 ไม่ต้องทดสอบทักษะภาษาเกาหลี และผู้ที่เคยเดินทางไปทำงานแล้วยังสามารถไปซ้ำได้ในปีถัดไป เงื่อนไขนี้จะเปิดโอกาสให้คนไทยเดินทางไปทำงานเกาหลีใต้ได้มากขึ้น” นายพิพัฒน์กล่าว

ด้าน นายสมชาย มรกตศรีวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า สำหรับวิธีการคัดเลือกในครั้งนี้กรมการจัดหางานจะคัดเลือกคนหางานโดยการคัดเลือกจากใบสมัครและสัมภาษณ์ออนไลน์ หากผ่านการคัดเลือก จะส่งเอกสารให้อำเภอโคฮึงยื่นขอวีซ่าที่สาธารณรัฐเกาหลี

โดยผู้สมัครต้องมีอายุระหว่าง 25-39 ปี เป็นแรงงานเกษตร หรือประมงชาวไทย ที่อาศัยอยู่ในจังหวัดยโสธร หรือจังหวัดสตูล และต้องมีประสบการณ์ด้านการเกษตรหรือประมงไม่น้อยกว่า 1 ปี มีร่างกายสมบูรณ์แข็งแรง ไม่เป็นโรคติดต่อ เช่น วัณโรค ซิฟิลิส หรือเป็นผู้ติดยาเสพติด ไม่มีภาวะตาบอดสี ไม่มีประวัติอาชญากรรม หรือมีประวัติเข้าเมืองและพำนักผิดกฎหมายในสาธารณรัฐเกาหลี ไม่เป็นคนที่ให้กำเนิดบุตรไม่เกิน 1 ปี หรืออยู่ระหว่างการตั้งครรภ์ ไม่เป็นบุคคลที่ถูกห้ามเดินทางเข้าสาธารณรัฐเกาหลี

“การรับสมัครเพื่อไปทำงานภาคเกษตรหรือประมงตามฤดูกาล ในอำเภอโคฮึง จังหวัดซอลลานัม สาธารณรัฐเกาหลี เป็นการจัดส่งไปทำงานโดยวิธีรัฐจัดส่งเท่านั้น คนหางานไม่ต้องสอบภาษาเกาหลี ไม่ต้องเสียค่าบริการใด ๆ ทั้งสิ้น ผู้ที่ได้รับการคัดเลือกให้ไปทำงานจ่ายเพียงค่าใช้จ่ายที่จำเป็น ได้แก่ ค่าทำหนังสือเดินทาง (กรณียังไม่มี) ค่าตรวจสุขภาพและตรวจสารเสพติด ค่าตรวจประวัติอาชญากรรม ค่าเดินทางไปสนามบิน ค่าโดยสารเครื่องบินไป-กลับ ค่าประกันการเดินทาง และค่าสมัครสมาชิกกองทุนเพื่อช่วยเหลือคนหางานไปทำงาน รวมค่าใช้จ่ายประมาณ 35,000 บาท

หากมีผู้แอบอ้างว่าสามารถช่วยเหลือในการจัดหาและส่งแรงงานภาคเกษตรหรือประมงตามฤดูกาลไปทำงานในสาธารณรัฐเกาหลีได้ โปรดอย่าหลงเชื่อ ขอให้แจ้งและตรวจสอบข้อมูลกับกรมการจัดหางานก่อน” นายสมชายกล่าวและว่า

หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 หรือที่กองบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ ทางโทรศัพท์หมายเลข 0-2245-1034 หรือสายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร 1506 กด 2 กรมการจัดหางาน หรือสายด่วนกรมการจัดหางาน โทร 1694

‘สุชาติ ชมกลิ่น’ ย้ำเตรียมความพร้อมทุกมิติ ลดผลกระทบราคา ‘ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์’ ตกต่ำ

(28 ต.ค. 67) นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้รับมอบหมายจากนายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ตอบกระทู้แทนท่านนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นกระทู้ถามด้วยวาจาของท่านเศรณี อนิลบล สมาชิกวุฒิสภา เกี่ยวกับประเด็นราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ว่า

“กระผมในฐานะที่ได้รับมอบหมายให้มาชี้แจงประเด็นต่อท่านสมาชิกวุฒิสภาในวันนี้ ก่อนอื่นจะขอนำเรียนว่า ท่านนายกรัฐมนตรี นางสาวแพทองธาร ชินวัตร ได้ให้ความสำคัญในการช่วยเหลือดูแลสินค้าเกษตร ซึ่งถือเป็นนโยบายหลักของรัฐบาล และด้วยความเป็นห่วงของท่านนายก ท่านได้ให้นโยบายให้ส่วนราชการหามาตรการต่าง ๆ ในการช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรอย่างเร่งด่วน 

โดยเฉพาะกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดกับกระทรวงพาณิชย์ ในส่วนประเด็นของข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ รัฐบาลโดยกระทรวงพาณิชย์ขอชี้แจงภาพรวม ถึงปริมาณข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ของประเทศไทยผลิตได้ประมาณ 4.9-5.0 ล้านตัน ขณะที่ความต้องการใช้มีประมาณ 8.91 ล้านตัน แต่ปัญหาคือการกระจุกตัวของผลผลิต โดยจะออกพร้อมกันประมาณ 70% - 80% ช่วงกันยายน – ธันวาคม ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าวส่งผลให้ราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่เกษตรกรขายได้ปรับตัวลดลง“

ในส่วนของราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ความชื้น 14.5% อยู่ที่ 9.23 บาท/กิโลกรัม และโรงงานอาหารสัตว์รับซื้อ อยู่ที่ 9.80 บาท/กิโลกรัม ซึ่งเมื่อเทียบกับราคาเฉลี่ยย้อนหลัง 3 ปี (ปี62-64) ที่ 8.60 บาท/กิโลกรัม และ 9.29 บาท/กิโลกรัม ซึ่งมีสถานการณ์ปกติ ไม่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตสงครามรัสเซีย-ยูเครน แล้วพบว่าราคายังสูงกว่า 7% และ 5% ตามลำดับ 

สำหรับราคาที่มีแนวโน้มลดลงตั้งแต่ต้นเดือนกันยายน 2567 นั้น เกิดจากผลกระทบฝนตกหนักและน้ำท่วมในหลายพื้นที่ ทำให้ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มีความชื้นสูง ประกอบกับเกษตรกรเร่งเก็บผลผลิตที่ยังไม่ครบอายุ ส่งผลให้พ่อค้ารวบรวมปรับปรุงคุณภาพไม่ทัน มีการชะลอการรับซื้อผลผลิตของเกษตรกร 

ในเรื่องนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายพิชัย นริพทะพันธุ์) ได้สั่งการให้กรมการค้าภายใน และ สำนักงานพาณิชย์จังหวัด ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและเตรียมความพร้อมในการดำเนินการแก้ไขปัญหาการรับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่ออกสู่ตลาดมาก โดยจะนำผู้ซื้อนอกพื้นที่เข้าไปรับซื้อในพื้นที่ที่มีผลผลิตออกกระจุกตัว หากผู้รวบรวมในพื้นที่ ไม่สามารถรับซื้อผลผลิตจากเกษตรกรได้ รวมทั้งกำกับดูแลการรับซื้อให้มีความเป็นธรรม ทั้งด้านคุณภาพและราคา”

“รัฐบาลโดยกระทรวงพาณิชย์ ได้ดำเนินมาตรการในการรักษาเสถียรภาพราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์อย่างต่อเนื่อง เพื่อแก้ปัญหาราคาข้าวโพดตกต่ำโดยเฉพาะในช่วงที่ผลผลิตออกมากเพื่อไม่ให้การกระจุกตัวของผลผลิตส่งผลต่อราคาที่เกษตรกรจะได้รับ โดยให้สถาบันเกษตรกรผู้รวบรวมรับซื้อผลผลิตและเก็บไว้รอจำหน่ายในช่วงที่ราคาเหมาะสมส่งผลให้ราคา ที่เกษตรกรได้รับอยู่ในเกณฑ์ดีและเป็นธรรม ซึ่งมาตรการนี้กระทรวงพาณิชย์มีโครงการที่ดำเนินการแล้วตั้งแต่ปี 2566-2567 จำนวน 2 โครงการคือ 

โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร 

และโครงการชดเชยดอกเบี้ยในการเก็บสต๊อกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ปีการผลิต 2566/67 ซึ่งปัจจุบันกระทรวงพาณิชย์ยังได้ผลักดันทั้ง 2 โครงการดังกล่าวต่อเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และเสนอโครงการเพิ่มช่องทางการตลาดข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ปี 67/68 ต่อ คณะรัฐมนตรี  ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างเตรียมเสนอคณะรัฐมนตรีและดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายที่เกี่ยวข้อง“

”นอกจากการรักษาเสถียรภาพราคาแล้ว กระทรวงพาณิชย์ก็มีมาตรการนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์โดยกำหนดช่วงเวลานำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ยังคงมีผลบังคับใช้อยู่ซึ่งในช่วงกันยายนถึงธันวาคม 2567 จะเป็นช่วงที่ผู้นำเข้าทั่วไปไม่สามารถนำเข้าได้และกรมการค้าภายในได้หารือกับโรงงานอาหารสัตว์ให้รับซื้อผลผลิตอย่างต่อเนื่องเพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อราคาอย่างไม่มีเหตุผล 

สำหรับมาตรการนำเข้าข้าวสาลีที่กำหนดให้ต้องรับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศ 3 ส่วนต่อการนำเข้าข้าวสาลี 1 ส่วนนั้น ปัจจุบันยังคงมีผลบังคับใช้เช่นเดียวกัน เพื่อยกระดับและรักษาเสถียรภาพราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศโดยเฉพาะในช่วงที่ผลผลิตออกสู่ตลาดมากในแต่ละปี ซึ่งมาตรการทั้งหมดนี้รัฐบาลจะทำอย่างจริงจัง จริงใจ เพื่อพี่น้องเกษตรกร“

“ผมคาดว่าราคาที่เกษตรกรขายได้จะไม่ปรับตัวลดลงจากราคาปัจจุบัน เนื่องจากภาครัฐได้มีการดำเนินมาตรการรักษาเสถียรภาพราคา รวมทั้งมาตรการการกำกับดูแลการนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และข้าวสาลี ซึ่งจะช่วยรักษาระดับราคารับซื้อภายในประเทศสุดท้ายต้องขอขอบคุณ ท่านสมาชิกที่มีความห่วงใยปัญหาของประชาชน” นายสุชาติ กล่าว


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top