Monday, 29 April 2024
เกษตรกร

‘ครม.’ เคาะสั่งลุยมาตรการพักหนี้เกษตรกร 3 ปี ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เริ่ม 1 ตุลาคมนี้

(26 ก.ย.66) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบการแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อกำหนดมาตรการในการพักหนี้เกษตรกรและผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เป็นระยะเวลา 3 ปี และ 1 ปี ตามลำดับ โดยมี นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธาน สำนักงานเศรษฐกิจการคลังเป็นฝ่ายเลขานุการ และพิจารณาให้ความเห็นชอบมาตรการพักชำระหนี้ให้กับลูกหนี้รายย่อยตามนโยบายรัฐบาล จำนวนทั้งสิ้น 11,096 ล้านบาท โดยมีรายละเอียด ดังนี้

กลุ่มเป้าหมาย เกษตรกรและบุคคลตามข้อบังคับ ธ.ก.ส. (ฉบับที่ 44 และ 45) ทุกจังหวัดทั่วประเทศ ที่มีต้นเงินเป็นหนี้คงเหลือทุกสัญญารวมกัน ณ วันที่ 30 กันยายน 2566 ไม่เกิน 300,000 บาท และมีสถานะเป็นหนี้ปกติ และ/หรือเป็นหนี้คงค้างชำระ จำนวน 2.698 ล้านราย รวมต้นเงินคงเป็นหนี้ทั้งหมด 283,327.99 ล้านบาท (ข้อมูล ณ วันที่ 16 กันยายน 2566) ระยะเวลา ระยะที่ 1 ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2566 - 30 กันยายน 2567 (1 ปี)

ส่วนวิธีดำเนินโครงการ เกษตรกรลูกค้า ธ.ก.ส.ที่ต้องการรับสิทธิพักชำระหนี้สามารถแสดงความประสงค์เข้าร่วมมาตรการดังกล่าวได้ตามความสมัครใจ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2566 - 31 มกราคม 2567 งบประมาณ รัฐบาลชดเชยดอกเบี้ยเงินกู้แทนเกษตรกรลูกค้า ธ.ก.ส.ที่เข้าร่วมมาตรการในอัตราร้อยละ 4.50 ต่อปี

นายชัยกล่าวว่า ที่ประชุมยังพิจารณาเห็นชอบการพัฒนาศักยภาพเพื่อฟื้นฟูลูกหนี้ของ ธ.ก.ส. งบประมาณ 1,000 ล้านบาท กลุ่มเป้าหมายคือเกษตรกรลูกค้าที่เข้าร่วมมาตรการพักชำระหนี้ และสมัครใจเข้ารับการพัฒนาศักยภาพ โดยการจัดอบรมเพื่อส่งเสริมฟื้นฟูการประกอบอาชีพแก่ลูกหนี้ที่เข้าร่วมมาตรการ

‘รัฐ’ ดีเดย์ 15 ม.ค.67 แจกโฉนดที่ดินเพื่อเกษตรกรรม คุณสมบัติ ‘ถือ ส.ป.ก.4-01-ทำประโยชน์ไม่น้อยกว่า 5 ปี’

(19 ต.ค.66) นายฐิติกันต์ ฐิติพฤฒิกุล โฆษกคณะกรรมาธิการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า ที่ประชุม กมธ.ที่ดินฯ วานนี้ (18 ต.ค.) มีวาระการพิจารณาเรื่อง ‘นโยบายรัฐบาลในการขับเคลื่อนการปรับปรุงหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. 4-01) ให้เป็นโฉนดที่ดินเพื่อเกษตรกรรม’ ซึ่งเป็นการทำหน้าที่ติดตามการผลักดันนโยบายของรัฐบาล โดยคณะกรรมาธิการได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมให้ข้อมูลได้แก่ ตัวแทนกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตัวแทนจากคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ และตัวแทนจากกรมที่ดิน ร่วมให้ข้อมูล 

ประเด็นสำคัญในหลักการการดำเนินนโยบาย อาทิ เร่งรัดปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมาย ระเบียบ ประกาศ คำสั่ง และมติคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม หรือ คปก. ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องให้สอดรับกับการขับเคลื่อนภารกิจดังกล่าวให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 15 ธันวาคม 2566 การจัดทำร่างระเบียบเพื่อกำหนดรูปแบบและนิยามโฉนดที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พร้อมทั้งหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการเปลี่ยนเอกสารสิทธิ ส.ป.ก.4-01 เป็นโฉนดที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ตามกฎหมายว่าด้วยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม กำหนดคุณสมบัติผู้ได้รับการจัดที่ดินซึ่งเป็นเกษตรกรที่ถือครอง ส.ป.ก.4-01 และได้ทำประโยชน์ในที่ดินมาเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 5 ปี กำหนดวิธีการจัดที่ดินโดยจะเป็นการจัดที่ดิน เพื่อประกอบเกษตรกรรมตามการจำแนกพื้นที่เพื่อใช้ประโยชน์ที่ดิน กำหนดหลักเกณฑ์การเปลี่ยนแปลงผู้ทำประโยชน์ โดยให้สามารถเปลี่ยนมือได้ระหว่างเกษตรกรที่มีคุณสมบัติด้วยกันตามที่กฎหมายกำหนด และจำนวนเนื้อที่การถือครองยังคงเป็นไปตามที่กฎหมายว่าด้วยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมกำหนด คือ เกษตรกรรมไม่เกิน 50 ไร่ และการเลี้ยงสัตว์ใหญ่ไม่เกิน 100 ไร่

รวมถึงการดำเนินการออกโฉนดที่ดินเพื่อเกษตรกรรมฉบับแรก จะสามารถแจกให้เป็นจังหวัดต้นแบบได้ภายในวันที่ 15 มกราคม 2567 เป็นของขวัญปีใหม่ให้กับพี่น้องเกษตรกร และ ส.ป.ก. จะดำเนินการในการออกเอกสารสิทธิในรูปแบบโฉนดที่ดินเพื่อเกษตรกรรมในทุกจังหวัดภายใน 1 ปี และจะดำเนินการปรับปรุงเอกสารสิทธิให้กับเกษตรกรที่มีคุณสมบัติครบภายใน 5 ปี

นายฐิติกันต์ กล่าวว่า คณะกรรมาธิการ มีข้อสังเกตว่า โฉนดที่ดินเพื่อเกษตรกรรม คือ ที่ดินที่ยังอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงเกษตรฯ มีความต่างกับโฉนดที่ดินของกรมที่ดิน เรื่องหลักกรรมสิทธิ์ ส่วนโฉนดที่ดินเพื่อเกษตรกรรมที่เป็นนโยบายรัฐบาลนั้น เป็นเพียงแค่สิทธิ์ แต่พยายามทำให้มีการเคลื่อนไหวแห่งสิทธิ์เหมือนกันกับโฉนดที่ดิน และมีการจํากัดว่าคนที่จะมาถือสิทธิ์ต้องครอบครอง ส.ป.ก.4-01 และได้ทำประโยชน์ในที่ดินมาเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 5 ปี การยกระดับสิทธิ์และพัฒนาสิทธิ์ในการใช้ประโยชน์ที่ดิน ส.ป.ก. เพิ่มจากเดิมที่ให้เพียงสิทธิการเข้าทำประโยชน์ ไม่สามารถซื้อ ขาย เปลี่ยนมือ โอนไปยังบุคคลอื่นได้

กรรมาธิการฯ ยังกังวลถึงเรื่องข้อพิพาทจากการประกาศแนวเขตปฏิรูปที่ดินที่ไม่ชัดเจนและทับซ้อนกับแนวเขตที่ดินประเภทอื่น อาทิ แนวเขตป่าไม้ ที่ดินสาธารณประโยชน์ ที่ดินราชพัสดุ เพราะฉะนั้นก่อนจะมีนโยบายเปลี่ยน ส.ป.ก. เป็นโฉนด จะมีแนวทางในการแก้ไขปัญหาเรื่องนี้อย่างไร เนื่องจากหากดำเนินการไปแล้วอาจทำให้ปัญหาพื้นฐานที่มีอยู่ซับซ้อนขึ้นไปอีก ซึ่งทางกรรมาธิการยังไม่ได้รับคำตอบที่ชัดเจน

อีกทั้งกังวลเรื่องวิธีการตรวจสอบคุณสมบัติและวิธีการดำเนินการกับนายทุนผู้ที่ครอบครองพื้นที่เกินกว่านโยบายและ จะทวงคืนอย่างไร รวมถึงมีแนวทางติดตามและตรวจสอบการเปลี่ยนมือที่ดินหลังจากการดำเนินนโยบายอย่างไร ซึ่งทางคณะกรรมาธิการจะติดตามข้อมูลเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่อง 

'ส่งออกผลไม้ไทย' ช็อก!! 'สับปะรดภูแล' โดนจีนแบนเป็นครั้งแรก กุมขมับ!! ยังไม่รู้สาเหตุชัด หวั่น!! อาจกระทบอาชีพปอกสับปะรด

(2 พ.ย.66) นายสัญชัย ปุรณะชัยคีรี นายกสมาคมผู้ค้าและส่งออกผลไม้ไทย เผยว่า ขณะนี้สับปะรดภูแล ที่ตัดแต่งส่งออกไม่ได้ โดนจีนแบน กำลังเช็กกันอยู่ว่าเกิดจากสาเหตุอะไร แต่มีการสันนิษฐานเบื้องต้นในหมู่วงการว่าจะเกิดจากสุขอนามัยหรือไม่ หรือเกิดจากสาเหตุอะไรกันแน่ ตอนนี้เกษตรกรจังหวัดเชียงรายเริ่มเดือดร้อนกันแล้ว เพราะส่งออกไม่ได้ แต่โชคดีสับปะรดผลผลิตเริ่มจะออก คาดว่าผลผลิตจะออกมามากในเดือนธันวาคม ไปจนถึงกุมภาพันธ์ ปี 67 จะเป็นช่วงที่ผลผลิตจะออกมามาก พอถึงตรงนั้นจะกลายเป็นปัญหาใหญ่

“ปกติประเทศไทยมีการส่งออกสับปะรดทุกวัน แล้วพอเกิดปัญหาทำให้ส่งออกไม่ได้ สับปะรดต้องทะลักเข้าในประเทศ และจะกระทบกับคนที่มีอาชีพปอกสับปะรดในกลุ่มนี้หลายพันคนในอำเภอภูแล จังหวัดเชียงรายตกงาน เพราะจะเหลือคนที่ผลิตแค่ในประเทศเท่านั้น ก็มีปัญหาเพราะคนกินน้อยกว่าส่งออก”

นายสัญชัย กล่าวว่า การแก้ไขก็จะต้องรีบหามาตรการ และให้ค้นหาความจริงว่าจีนแบนด้วยเหตุผลอะไร และเร่งให้มีการเจรจา ต้องทำอย่างไร เพราะก่อนหน้านี้ทุเรียนแกะเนื้อผลสด ก็มีการแบนไปแล้ว เพราะถือว่าอยู่ในรูปอาหาร จึงทำให้สันนิษฐานที่ทำให้โดนแบน คือ 1.) อยู่ในหมวดอาหารหรือไม่ ต้องเปลี่ยนพิกัดอาหาร พอเข้าอาหาร ก็ต้องเข้าในเรื่องสุขอนามัย ซึ่งถ้าเป็นเรื่องอาหาร ไทยก็ยังไม่ได้รับการรับรองจากจีน และ 2.) ตรวจเจอเชื้อแบคทีเรีย หรือสุขอนามัยของตัวพืชเองอาจจะไม่ได้ จึงคิดว่าจะมาจาก 2 ประเด็นนี้หรือไม่

"แต่ยังไม่ได้บทสรุปชัดเจนว่าเกิดจากสาเหตุอะไร ซึ่งได้สอบถามไปยังทูตเกษตร แต่ยังไม่ได้คำตอบเลย เมื่อเกิดเหตุการณ์แบบนี้สงสัยว่ามีใครออกมาพูดกันบ้างหรือยังว่าจะหาแนวทางแก้ไขอย่างไร เพราะถ้ารอปล่อยเวลาไปแล้วสุดท้ายพ่อค้าก็จะตกเป็นจำเลยอีกเช่นเคยเวลามีปัญหา ไม่อยากให้เกิดซ้ำรอยเดิม" นายสัญชัย กล่าวทิ้งท้าย

‘ครม.’ เคาะ!! หนุนเงินช่วยชาวนา ไร่ละ 1 พันบาท ไม่เกิน 20 ไร่ พร้อมไฟเขียวขึ้นราคา ‘น้ำตาล’ 2 บาท/กก. หลังต้นทุนชาวไร่อ้อยพุ่ง

(14 พ.ย. 66) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะปฏิบัติหน้าที่ประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า สำหรับส่วนที่ตนดูและรับผิดชอบก็คือเรื่องข้าวและน้ำตาล ในเรื่องราคาข้าวนั้น เป็นเรื่องที่คณะกรรมการนโยบายข้าว ได้มีการประชุมกันและได้ให้ส่วนที่เกี่ยวข้องทำการหารือกัน ซึ่งได้แก่ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงการคลัง กระทรวงพาณิชย์ และ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ได้หารือและนำสรุปเข้า ครม.วันนี้ ได้ข้อสรุปว่า เงินค่าช่วยบริหารจัดการ ที่จะให้เกษตรกรไร่ละ 1,000 บาท ทั้งหมดจำนวนไม่เกิน 20 ไร่ เกษตรกรแต่ละครัวเรือนก็จะได้ครั้งละไม่เกิน 20,000 บาท ตรงนี้ก็ได้ประชุมเรียบร้อยแล้ว ให้ดำเนินการตั้งแต่มติ ครม.ออก ซึ่งจะรอให้ ธ.ก.ส.เคลียร์รายละเอียดประชุมเสนออีกครั้งหนึ่ง เข้าใจว่าอย่างเร็วก็จะเป็นวันศุกร์ที่ 17 พฤศจิกายน หรือวันจันทร์ที่ 20 พฤศจิกายนนี้ แต่อยู่ภายในกรอบหนึ่งเดือน ซึ่งเกษตรกรจะได้รับเงินตรงนี้ต่อเนื่องไป

นายภูมิธรรมกล่าวว่า ส่วนเรื่องน้ำตาล ตนก็ได้รับฟังจากที่ประชุม ซึ่งตนได้มีการประชุมกับคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) และได้พูดคุยกับเกษตรกร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ อธิบดีกรมการค้าภายใน อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ และอธิบดีกรมเจรจาการค้าต่างประเทศ ก็ได้ประชุมหารือร่วมกันไปถึง 2 ครั้ง และได้ข้อสรุปว่าเราจะดำเนินการ ในการที่จะพิจารณาอย่างเหมาะสม ตามความเป็นจริง ประเด็นแรก คือ ดูต้นทุนของเกษตรกรชาวไร่อ้อย แล้วเห็นว่าก็สมควรให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยขึ้นราคา 2 บาท ตามที่ต้นทุนมีอยู่

นายภูมิธรรมกล่าวว่า ส่วนกรณีของเรื่องอีก 2 บาท ที่ขอขึ้นเพื่อจะใช้ในกองทุนเพื่อดูแลสิ่งแวดล้อม อันนี้เรายังไม่ให้ขึ้น ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรม และกรรมการที่เกี่ยวข้องไปหารือกันว่า เรื่องนี้ไม่ควรจะให้ผู้บริโภครับผิดชอบคนเดียว ให้ไปดูว่าเรื่องนี้เกี่ยวพันกับใครอย่างไร มีช่องทางในการดำเนินการจัดการอย่างไร ซึ่งตรงนี้เป็นประเด็นที่ยังไม่อนุมัติ และขอให้ดำเนินการตามนี้

เมื่อถามถึง ปัญหาเรื่องน้ำตาลขาด นายภูมิธรรมกล่าวว่า ก็ได้คุยกับที่ประชุมที่เกี่ยวข้องทุกส่วนแล้ว ยืนยันว่า น้ำตาลจะไม่ขาด

เมื่อถามว่า การประชุมมีเรื่องอื่นด้วยหรือไม่ นายภูมิธรรมกล่าวว่า คิดว่าเอาเรื่องเฉพาะหน้า ที่เกษตรกรกำลังเดือดร้อน และก็จะได้คุมราคาน้ำตาลขึ้นสองบาท แล้วก็สามารถดำเนินการได้ ให้ส่วนที่เกี่ยวข้องไปดำเนินการจัดการแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ได้ก่อน ส่วนเรื่องอื่นๆ สำหรับอนาคตที่จะต้องมีการปรับอะไรต่างๆ ก็ค่อยว่ากัน เพื่อแก้ปัญหาเรื่องฉุกเฉิน ที่มีปัญหาอยู่ และเพื่อช่วยบรรเทาปัญหาที่ประชาชนกำลังรับผิดชอบ

เมื่อถามว่า จะมีผลตั้งแต่วันนี้หรือไม่ นายภูมิธรรมกล่าวว่า ครม.ได้กำหนดเรียบร้อยแล้ว ส่วนที่เกี่ยวข้องก็ไปดำเนินการต่อ จะมีผลตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป

‘กรมการข้าว’ เดินสายติวเข้ม ‘เกษตรกร’ หวังยกระดับการผลิตข้าวแบบลดโลกร้อน

(19 พ.ย.66) นายอานนท์ นนทรีย์ รองอธิบดีกรมการข้าว เปิดเผยว่า กรมการข้าว มีเป้าหมายนำเทคโนโลยีการเกษตรสมัยใหม่ หรือ Modern Agriculture Technology จากงานวิจัยมาส่งเสริมเกษตรกร เพื่อช่วยเพิ่มผลผลิต ลดต้นทุน รวมถึงเกิดการผลิตข้าวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นเป้าหมายที่สอดคล้องกับนโยบายหลักของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และแนวทางปฏิบัติของ นายณัฏฐกิตติ์ ของทิพย์ อธิบดีกรมการข้าว ที่เน้นให้เกิดการยกระดับเศรษฐกิจฐานราก ด้วยแนวทาง BCG Model 

“งานวิจัย ถือเป็นภารกิจต้นน้ำของกรมการข้าว แล้วนำมาต่อยอดในช่วงกลางน้ำ ด้วยการขยายผลนำเทคโนโลยีที่ได้มาเผยแพร่ สู่การยอมรับและนำไปใช้ของกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเกษตรกร และปลายน้ำเป็นการนำมาปรับใช้และสร้างมูลค่าเพิ่ม ดั่งคำที่ว่าตลาดนำการผลิต และทำน้อยแต่ได้มาก ล้วนแล้วแต่เป็นการนำเทคโนโลยีเกษตรสมัยใหม่มาใช้ทั้งสิ้น แต่ทั้งหมดที่กล่าวมาเราจะมุ่งเน้นเพียงแค่เพิ่มของผลผลิตเพียงอย่างเดียวคงไม่ได้ เพราะหากการเพิ่มผลผลิตให้สูงขึ้น แต่ขาดความรับผิดชอบต่อสังคมโดยการทำลายสิ่งแวดล้อมย่อมทำให้การผลิตข้าวไม่ก่อให้เกิดความยั่งยืน” นายอานนท์ กล่าว

การจัดการน้ำแบบเปียกสลับแห้ง หรือ AWD นับเป็นหนึ่งในตัวอย่างความสำเร็จ ของการส่งเสริมเทคโนโลยีเกษตรสมัยใหม่ โดยเป็นองค์ความรู้ที่กรมการข้าวได้ดำเนินการวิจัยมาอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งส่งเสริมให้ชาวนาได้นำไปใช้ประโยชน์อย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะในเขตพื้นที่ปลูกข้าวนาชลประทาน ทั้งนี้ การจัดการน้ำแบบเปียกสลับแห้ง เป็นการจัดการน้ำที่ใช้น้ำในปริมาณที่ลดลงอย่างมาก ซึ่งจะใช้ประมาณ 850-900 ลูกบาศก์เมตรต่อไร่ต่อฤดูกาลเพาะปลูก

เมื่อเปรียบเทียบกับการใช้น้ำแบบขังตลอดเวลาจะสามารถใช้น้ำลดลงได้มากถึงร้อยละ 30 แล้วยังเพิ่มผลผลิตข้าวได้อีกถึงร้อยละ10-15 ที่สำคัญเทคโนโลยีนี้ยังสามารถลดการปลดปล่อยก๊าซมีเทนซึ่งเป็นก๊าซเรือนกระจกที่สำคัญอันก่อเกิดภาวะโลกร้อนลงได้ถึงร้อยละ 80 ทั้งนี้ตัวอย่างของเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่ยกมาให้เห็นนี้เป็นเพียงบางส่วนของงานวิจัยที่กรมการข้าวได้ดำเนินการ และขยายผลสู่เกษตรกรให้มีการผลิตข้าวแบบลดโลกร้อน

“กรมการข้าว ได้นำผลงานวิจัยดังกล่าว มาถ่ายทอดสู่เกษตรกร ผ่านการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ ‘การถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตรสมัยใหม่เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าว’ ซึ่งจัดขึ้น ณ โรงแรมวิสมา โฮเทล จังหวัดราชบุรี

โดยการฝึกอบรมดังกล่าว เป็นการจัดครั้งที่ 2 กลุ่มเป้าหมาย ประกอบด้วย เจ้าหน้าที่ของกรมการข้าว และเกษตรกรชั้นนำภายใต้กลุ่มศูนย์ข้าวชุมชนในเขตภาคกลาง จำนวน 100 คน เข้าเรียนรู้เกี่ยวกับสายพันธุ์ข้าวที่มีระบบรากแข็งแรงต้านทานภัยแล้ง เทคนิคการปรับพื้นที่ให้ราบเรียบด้วยเลเซอร์ การปลูกข้าวด้วยเครื่องหยอดข้าวงอกและข้าวแห้ง การใช้โดรนฉีดพ่นทางการเกษตรให้ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ และการใช้สารอินทรีย์รมกำจัดแมลงศัตรูข้าวในโรงเก็บซึ่งปลอดภัยต่อคนและสภาพแวดล้อมอีกด้วย” นายอานนท์ กล่าว

‘พิมพ์ภัทรา’ จ่อชง ครม. เคาะราคาชดเชยตัดอ้อยสด 120 บาท/ตัน พร้อมหาแนวทางช่วยเกษตรกร แก้ปัญหาตัดอ้อยสดในฤดูกาลต่อไป

(20 พ.ย. 66) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า จากที่ตัวแทนสมาคมเกษตรกรชาวไร่อ้อย 37 แห่ง เข้าพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมเพื่อขอรับทราบถึงความคืบหน้าการดำเนินโครงการสนับสนุนเกษตรกรชาวไร่อ้อยตัดอ้อยสดคุณภาพดีเพื่อลดฝุ่น PM 2.5 ปีการผลิต 2565/2566 ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมได้เสนอบรรจุวาระการพิจารณาในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีต่อไป

ในส่วนของการพิจารณาราคาอ้อยขั้นสุดท้ายและผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นสุดท้าย ฤดูการผลิตปี 2565/2566 ซึ่งเกษตรกรชาวไร่อ้อยได้ร้องขอให้เร่งการประกาศราคาเพื่อให้โรงงานเบิกจ่ายได้อย่างรวดเร็ว โดยคณะกรรมการบริหาร (กบ.) ครั้งที่ 9/2566 เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ได้มีการพิจารณาราคาอ้อยขั้นสุดท้าย ฤดูการผลิตปี 2565/2566 และอยู่ระหว่างการเสนอต่อคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) ในลำดับต่อไป 

ทั้งนี้ คณะกรรมการบริหาร (กบ.) ได้กำหนดการประชุมครั้งต่อไป โดยมีวาระพิจารณาเพื่อกำหนดราคาอ้อยขั้นต้นและผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นต้น ฤดูการผลิตปี 2566/2567 
ในวันที่ 28 พฤศจิกายนนี้

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับข้อเรียกร้องเกี่ยวกับแนวทางการส่งเสริมการตัดอ้อยสดฤดูการผลิตปี 2566/2567 ในส่วนนี้ต้องอาศัยความร่วมมือกันระหว่างภาครัฐโดยกระทรวงอุตสาหกรรม และพี่น้องเกษตรกรชาวไร่อ้อย เพื่อการหาแนวทางที่เหมาะสมร่วมกัน ให้การเพาะปลูกและการเก็บเกี่ยวอ้อยเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ไม่กระทบกับต้นทุนราคาอ้อย ทั้งยังจะช่วยให้ชาวไร่อ้อยมีคุณภาพชีวิตที่ดีมากยิ่งขึ้น โดยในช่วงท้ายของการหารือผู้แทนชาวไร่อ้อยได้กล่าวขอบคุณกระทรวงอุตสาหกรรม ที่สนับสนุนและรับฟังปัญหาของชาวไร่อ้อย พร้อมสนับสนุนการทำงานร่วมกันระหว่างสองฝ่ายเพื่อให้สามารถบรรลุความต้องการ

กรณีดังกล่าวเกิดจากการที่นายนราธิป อนันตสุข หัวหน้าสำนักงานสหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย และตัวแทนจากสมาคมชาวไร่อ้อยทั่วประเทศประมาณ 200 คน เดินทางเข้าพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อหารือถึงความชัดเจนเกี่ยวกับโครงการช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยตัดอ้อยสดเพื่อลดฝุ่น PM 2.5 ตามมติ ครม. ที่จะจัดสรรงบประมาณเพิ่ม ค่าตัดอ้อยให้ตันละ 120 บาทต่อเนื่อง แต่ฤดูหีบปี 2565/66 ที่ผ่านมา ยังคงไม่ได้รับการพิจารณา 

นายนราธิป ระบุว่า ฤดูหีบปี 2566/67 ในเดือน ธ.ค.นี้ ก็ยังไม่มีความชัดเจนในเรื่องดังกล่าว เพราะหากมีการเปิดหีบอ้อยแล้วยังไม่ชัดเจน เกรงว่าปัญหาอ้อยไฟไหม้ก็อาจจะไม่ได้ลดลง เพราะต้องยอมรับว่าการตัดอ้อยสดเพื่อส่งเข้าโรงงานยังมีต้นทุนสูง

‘ภูมิธรรม’ หนุน ‘คนรุ่นใหม่’ สานต่อการเกษตรกรในอนาคต เชื่อ!! พลังของคนตัวเล็กเกิดได้ แค่มีใจรัก-กล้าคิด-กล้าฝัน

(27 พ.ย.66) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ โพสต์ข้อความและภาพผ่านเพจ ‘Phumtham Wechayachai’ ระบุว่า

“ศักยภาพของเกษตรกรรุ่นใหม่

ผมเพิ่งกลับมาจากการตรวจราชการที่ อ.พาน จ.เชียงราย

มีเรื่องของเกษตรกรรุ่นใหม่ 2 ท่าน ที่ได้พูดคุย ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงพลังของคนตัวเล็กเกิดขึ้นและเป็นจริงได้หากมีใจรัก กล้าคิด กล้าฝัน พร้อมองค์ความรู้ที่ได้จากประสบการณ์ และการเรียนรู้จากผู้อื่นทั้งเครือข่ายภายใน และภายนอกชุมชนของตน สุดท้ายคือความเชื่อมั่นและการกล้าที่จะทำในสิ่งใหม่ๆ

ท่านแรก คือ คุณอานู มัสจิต เจ้าของร้านดงดิบคาเฟ่ ซึ่งเคยเป็นพนักงานออฟฟิศในกรุงเทพฯ กลับมาทำเกษตรอินทรีย์ บุกเบิกที่ดินของตัวเองเป็นนาข้าว พืชผักอินทรีย์ และคาเฟ่ ตั้งใจทำให้เป็นร้านกาแฟและร้านอาหารสายสุขภาพ โดยมีลูกชายที่เรียนจบเชฟจากเลอกอร์ดองเบลอช่วยเป็นที่ปรึกษา และที่นี่ยังเป็นแหล่งเรียนรู้การทำปุ๋ย การทำน้ำหมัก คุณอานูบอกว่าอยากทำร้านนี้เป็นธุรกิจแบบ Social Enterprise

อีกท่าน คือ คุณนพดล ธัญวรรธนา ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้เลี้ยงแพะแกะส่งออก ซึ่งเคยเป็นอดีตนายกองค์การศึกษา มช. และเคยเข้าร่วมกิจกรรม Young Leader พรรคไทยรักไทย วันนี้ได้นำความรู้และประสบการณ์จากการทำงานในบริษัทเอกชน กลับมาพัฒนางานเกษตรด้านปศุสัตว์ที่บ้านเกิด โดยวางแผนการทำโรงเชือดแพะแกะที่ได้มาตรฐานการส่งออก

ซึ่งทั้งสองท่านได้แสดงให้เห็นถึงการทำงานที่มีองค์ประกอบของ 3C ซึ่งท่านนายกรัฐมนตรีเคยพูดถึง นั่นคือ C-Common หมายถึงประชาชน กลุ่มเป้าหมาย ทั้งสองท่านเริ่มต้นทำงานด้วยการทำความเข้าใจกลุ่มเป้าหมาย รู้จักตลาด C-Connection การทำงานร่วมกับเครือข่าย ไม่ทำตัวคนเดียว เพราะเครือข่ายจะสร้างพลังในการขับเคลื่อนงานได้ในทุกมิติ และ C-Can Do ความเชื่อมั่นว่าทำได้ มีใจรักในงานที่ทำ รวมถึงการทำงานด้วยพื้นฐานของความรู้ทั้งที่มาจากประสบการณ์ จากผู้รู้ หรือจากข้อมูลตามหลักวิชาการ

ผมคิดว่าวันนี้ในสังคมต่างจังหวัด มีเกษตรกรรุ่นใหม่จำนวนไม่น้อยที่นำความรู้และประสบการณ์ที่เคยได้รับจากการทำงานในเมืองใหญ่ กลับไปพัฒนาต่อยอดงานด้านการเกษตรของรุ่นพ่อรุ่นแม่ ตามแนวทาง ‘ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้’

เกษตรกรรุ่นใหม่เหล่านี้จะเป็นพลังขับเคลื่อน เพื่อนำไปสู่การปรับเปลี่ยนคุณภาพชีวิตของเกษตรกรไทยในอนาคต

“พลังของคนตัวเล็ก

ยิ่งใหญ่และมหัศจรรย์เสมอ”

‘รมว.ปุ้ย’ ให้ความเชื่อมั่นชาวไร่อ้อย “ทุกปัญหามีทางออก” แย้มข่าวดี!! เสนอ ครม.อนุมัติเงินหนุนตัดอ้อยสดคุณภาพดี

‘รมว.พิมพ์ภัทรา’ ให้คำมั่นต่อเกษตรกรชาวไร่อ้อยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ “ทุกปัญหามีทางออก” และพร้อมช่วยเหลือเต็มที่ สั่งการสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) หาแนวทางดูแลเกษตรกรอย่างใกล้ชิด แย้มข่าวดีหากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี อนุมัติเห็นชอบเงินสนับสนุนตัดอ้อยสด ในโครงการสนับสนุนเกษตรกรชาวไร่อ้อยตัดอ้อยสดคุณภาพดีเพื่อลดฝุ่น PM 2.5 คาดว่าชาวไร่อ้อยจะมีรายได้เพิ่มขึ้นประมาณ 8,000 ล้านบาท ซึ่งสามารถบรรเทาความเดือดร้อนของชาวไร่อ้อยในช่วงที่ต้นทุนการผลิตอ้อยปรับตัวสูงขึ้นได้  

เมื่อวันที่ 3 ธ.ค. 66 นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยในระหว่างการลงพื้นที่พบปะเกษตรกรชาวไร่อ้อยพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ณ สมาคมกลุ่มชาวไร่อ้อยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดอุดรธานี ว่า กระทรวงอุตสาหกรรม ไม่ได้นิ่งนอนใจต่อสถานการณ์ราคาอ้อยและน้ำตาลทรายในปัจจุบัน ล่าสุดราคาน้ำตาลทรายหน้าโรงงานกิโลกรัมละ 21-22 บาท จากเดิมที่กิโลกรัมละ 19-20 บาท  

โดยรายได้หลังหักค่าใช้จ่ายต่างๆ จะใช้เป็นองค์ประกอบในการคำนวณราคาอ้อยขั้นต้น จะทำให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยและโรงงานมีรายได้ที่เพิ่มขึ้น ส่วนราคาอ้อยขั้นต้น ฤดูการผลิตปี 2566/67 ได้มีการผลักดันให้มีราคาที่ 1,400 บาท/ตันอ้อย เนื่องจากต้นทุนการผลิตอ้อยของชาวไร่สูงขึ้นและความต้องการน้ำตาลทรายในตลาดโลกเพิ่มขึ้น ซึ่งการขึ้นราคาน้ำตาลทรายในครั้งนี้ ส่งผลดีต่อชาวไร่อ้อยโดยช่วยให้ชาวไร่อ้อยมีรายได้เพิ่มขึ้น แต่ขณะเดียวกันอาจส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคบ้าง แต่จะทำให้น้ำตาลในประเทศมีปริมาณที่เพียงพอและมีเสถียรภาพมากขึ้นตามไปด้วย 

อย่างไรก็ตาม ได้สั่งการให้สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ติดตามสถานการณ์ราคาน้ำตาลทรายในตลาดโลก ว่าจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมน้ำตาลในประเทศอย่างไร พร้อมหาแนวทางช่วยเหลือดูแลปัญหาอย่างใกล้ชิด 

“ดิฉัน เชื่อว่าทุกปัญหาจะมีทางออกหากพวกเราร่วมมือกัน โดยกระทรวงฯ จะประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ส่วนแนวโน้มราคาน้ำตาลทรายในอนาคตที่คาดว่าจะยังคงอยู่ในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากความต้องการน้ำตาลทรายในตลาดโลกยังคงมีแนวโน้มสูงขึ้น รวมทั้งปัจจัยอื่นๆ เช่น สภาพอากาศและภาวะเศรษฐกิจโลก ก็อาจส่งผลกระทบต่อราคาน้ำตาลทรายได้ เรื่องนี้เราก็จะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดเช่นกัน” นางสาวพิมพ์ภัทราฯ กล่าว 

จากนั้น คณะของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ประกอบด้วย ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม (นายณัฐพล รังสิตพล) และผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงอุตสาหกรรม ได้เยี่ยมชมนิทรรศการพันธุ์อ้อย ชมการสาธิตการใช้โดรนในการใส่ปุ๋ย พ่นยาฆ่าแมลง ชมการสาธิตเครื่องจักรกลการเกษตร การวิเคราะห์ดิน และการผสมปุ๋ย พร้อมมอบรางวัลให้กับชาวไร่อ้อยดีเด่น และมอบเครื่องสางใบอ้อยให้เกษตรกรชาวไร่ยืมไว้ใช้ในการดำเนินงาน 

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ยังกล่าวปิดท้ายด้วยว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรีในวันนี้ (4 ธ.ค.66) กระทรวงอุตสาหกรรม ได้นำเสนอโครงการสนับสนุนเกษตรกรชาวไร่อ้อยตัดอ้อยสดคุณภาพดี เพื่อลดฝุ่น PM 2.5 ซึ่งชาวไร่อ้อยจะมีรายได้เพิ่มขึ้นประมาณ 8,000 ล้านบาท จะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของชาวไร่อ้อยในขณะที่ต้นทุนการผลิตอ้อยปรับตัวสูงขึ้น 

ทั้งนี้ หากคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติโครงการดังกล่าว ชาวไร่อ้อยจะได้รับเงินสนับสนุนตัดอ้อยสดตันละ 120 บาท โดยที่คาดว่าจะมีชาวไร่อ้อยเข้าร่วมโครงการประมาณ 140,000 ราย

ไชยาให้คำมั่นพาเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูอีสานฝ่าวิกฤติหมูเถื่อน

ไชยา พรหมา รมช.เกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่รับฟังปัญหาการเลี้ยงหมูหรือสุกร ปัญหาการลักลอบนำหมูเถื่อนเข้ามาจำหน่ายในพื้นที่ และแนะแนวทางแก้ไขต้นทุนการเลี้ยงสุกรในปัจจุบันและในอนาคต

วันที่ 22 ธันวาคม 2566 ที่ห้องประชุมโรงแรมเพชรรัตน์การ์เดนท์ อ.เมือง จ.ร้อยเอ็ด นายไชยา พรหมา รมช.เกษตรและสหกรณ์ พร้อมคณะ เดินทางลงพื้นที่รับฟังปัญหาการเลี้ยงสุกร ของเกษตรกรรายย่อยภาคอีสาน โดยมีนายไพโรจน์ จิตจักร ปลัดจ.ร้อยเอ็ด นายเดือนเพ็ญ ยิ้มแย้ม ประธานชมรมผู้เลี้ยงสุกรรายย่อยภาคอีสาน และเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูร่วมงาน และร่วมเสนอปัญหา ที่กลุ่มผู้เลี้ยงสุกร กำลังประสบ โดยเฉพาะเนื้อหมูเถื่อนตีตลาด แย่งลูกค้า และต้นทุนการผลิตด้านอาหารสุกร ที่สูงขึ้น

นายไชยา พรหมา รมช.เกษตรและสหกรณ์กล่าวว่า ปัญหาดังกล่าว รัฐบาลและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ไม่ได้นิ่งนอนใจ นับตั้งแต่เข้ามาปฏิบัติหน้าที่ ได้ร่วมกับส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการกวาดล้าง จับกุมเนื้อหมูเถื่อนทั่วประเทศ หลายแห่ง หลายราย ควบคู่กับการหาแนวทางช่วยเหลือเกษตรกรรายย่อยตลอดมา

นายไชยากล่าวอีกว่า ปัญหาเนื้อหมูเถื่อน ทำให้เศรษฐกิจของประเทศพัง เกษตรกรผู้เลี้ยงหมูรายย่อย ต้องแบกรับปัญหานานัปการ ทั้งนี้  รัฐบาลและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีเป้าหมายที่จะให้ความช่วยเหลือเยียวยาทั้งระยะสั้น และระยะยาวต่อไป โดยหาเงินชดเชย และด้านการผลิตอาหารสุกรต้นทุนต่ำ มีคุณภาพ ยืนยันว่าจะนำพาเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูรายย่อยภาคอีสานและทั่วประเทศ เดินหน้าแก้ไขปัญหาให้เบ็ดเสร็จเด็ดขาดในเร็ว ๆ นี้

'รมว.ปุ้ย' เผย!! โอนเงินสนับสนุนตัดอ้อยสดคุณภาพดีเข้าบัญชีวันนี้วันแรก  ภายใต้ความร่วมมือ 'ก.คลัง-ก.พาณิชย์-ก.อุตสาหกรรม'

(26 ธ.ค.66) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า โครงการสนับสนุนเกษตรกรชาวไร่อ้อยตัดอ้อยสดคุณภาพดีเพื่อลดฝุ่น PM 2.5 มีเกษตรกรชาวไร่อ้อยที่มีสิทธิ์ได้รับเงินสนับสนุน 125,139 ราย ปริมาณอ้อยสดคุณภาพดี 64.53 ล้านตัน เป็นเงิน 7,743.859 ล้านบาท โดยรัฐบาลเริ่มโอนเงินวันนี้เป็นวันแรก ผ่านบัญชีธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) 

"ในวันนี้มีเกษตรกรชาวไร่อ้อยได้รับเงิน 105,411 ราย เป็นเงิน 6,918.02 ล้านบาท หรือคิดเป็น 84% ของเกษตรกรที่มีสิทธิ์ได้รับเงิน เกษตรกรที่ได้รับเงินสนับสนุนจะสามารถเก็บเกี่ยวอ้อยสดคุณภาพดี รวมทั้งนำเงินไปปรับปรุงพื้นที่ที่มีข้อจำกัดที่ทำให้เกิดการเผาอ้อย ในอนาคตเราจะนำเครื่องจักรกลการเกษตรและเทคโนโลยีมาบริหารจัดการในไร่อ้อย ตั้งแต่การเตรียมพื้นที่ การเพาะปลูก การบำรุง และการเก็บเกี่ยว เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงาน และให้อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม" รมว.พิมพ์ภัทรา กล่าว

ด้าน นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยหลังเป็นประธาน Kick off โครงการสนับสนุนเกษตรกรชาวไร่อ้อยตัดอ้อยสดคุณภาพดีเพื่อลดฝุ่น PM 2.5 ฤดูการผลิตปีที่ผ่านมา ว่า เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2566 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบโครงการสนับสนุนเกษตรกรชาวไร่อ้อยตัดอ้อยสดคุณภาพดีเพื่อลดฝุ่น PM 2.5 ภายใต้กรอบวงเงินงบประมาณ 7,990.60 ล้านบาท ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ ซึ่งรัฐบาลมีความตั้งใจที่จะดูแลและสนับสนุนเกษตรกรชาวไร่อ้อยให้มีรายได้ที่เพิ่มขึ้น มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ความสำเร็จในครั้งนี้เกิดจากความร่วมมือของกระทรวงการคลัง กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ขอให้พี่น้องเกษตรกรชาวไร่อ้อยมีความสุขกับของขวัญปีใหม่ที่รัฐบาลได้มอบให้


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top