Monday, 29 April 2024
เกษตรกร

‘ลุงป้อม’ ชู ปุ๋ยครึ่งราคา-เพิ่มเงินช่วยเหลือต้นทุนเก็บเกี่ยวข้าว หวังสร้างความมั่นคงให้ชาวนา ช่วยกระดูกสันหลังของชาติพ้นความจน

(30 เม.ย. 66) นายชาญกฤช เดชวิทักษ์ โฆษกคณะกรรมการยุทธศาสตร์การเลือกตั้ง พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เปิดเผยว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรค ให้ความสำคัญกับเกษตรกร ซึ่งเป็นกลุ่มวัยทำงานที่มีจำนวนมากที่สุด มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ สามารถสร้างรายได้เข้าประเทศจำนวนมากจากผลผลิตทางการเกษตรที่สำคัญ อาทิ ข้าว, อ้อย, มันสำปะหลัง, ปาล์มน้ำมัน และยางพารา แต่เมื่อพิจารณาถึงรายได้ของเกษตรกรไทยแล้ว กลับเป็นกลุ่มประชากรที่มีรายได้เฉลี่ยต่ำกว่าอาชีพอื่น ๆ ขาดความมั่นคง ก่อให้เกิดปัญหาคุณภาพชีวิต อีกทั้ง มีความเหลื่อมล้ำทางสังคมสูง

นายชาญกฤช ระบุว่า พรรคพลังประชารัฐจึงออกนโยบายเฉพาะเพื่อเกษตรกร ชาวไร่ ชาวนา ซึ่งเปรียบเสมือนกระดูกสันหลังของชาติ โดยเริ่มจากนโยบายที่ 1 นโยบายเติมเงินทุนช่วยเหลือเกษตรกร ครัวเรือนละ 30,000 บาท นโยบายที่ 2 นโยบายปุ๋ยคนละครึ่ง ซึ่งภาครัฐจะช่วยเหลือค่าปุ๋ย 50% และล่าสุด นโยบายที่ 3 นโยบายเพิ่มเงินช่วยเหลือต้นทุนค่าเก็บเกี่ยวข้าวให้ชาวนา อัตราไร่ละ 2,000 บาท จำนวนไม่เกิน 15 ไร่ เป็นเงิน 30,000 บาทต่อราย

‘อนันต์’ ว่าที่ ส.ส.พปชร. เดินหน้าแก้ปัญหาคุณภาพดิน พร้อมดันเรื่องเข้าสภาฯ ช่วยเกษตรกรหลุดพ้นความยากจน

(16 มิ.ย. 66) นายอนันต์ ผลอำนวย ว่าที่ ส.ส.เขต 3 จังหวัดกำแพงเพชร พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) กล่าวว่า 4 ปีที่ผ่านมาตนทำงานอย่างต่อเนื่อง ไม่เคยทิ้งพื้นที่ ตั้งใจทำเพื่อพี่น้องประชาชนมาตลอด ทั้งงานในสภาฯ และนอกสภาฯ เช่นเดียวกับในครั้งนี้ที่ประชาชนได้มอบโอกาสให้ตน ซึ่งยังมีแผนงานที่ต้องเข้าไปสานต่อให้กับเกษตรกรในกำแพงเพชรอีกหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาดิน เพราะพื้นดินในประเทศไทยถูกใช้งานเกษตรมานาน จึงมีความจำเป็นที่จะต้องทำให้ดินมีความอุดมสมบูรณ์ ให้ดินอยู่ในสภาพที่จะใช้ปลูกพืชได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยการแก้ปัญหานี้จะต้องใช้งบกรมพัฒนาที่ดินในการจัดการ ซึ่งตนก็จะผลักดันในสภาฯ เพื่อแก้ปัญหานี้ให้ได้รับการแก้ไข เพราะคุณภาพดินจะต้องดีขึ้นให้ได้ ถ้าฐานไม่แข็งแรง อย่างอื่นก็จะไปได้ยาก

นายอนันต์ กล่าวต่อว่า ประชาชนในประเทศไทยรวมถึงจังหวัดกำแพงเพชร ส่วนใหญ่มีอาชีพเกษตรกร ซึ่งปัญหาที่มีมาอย่างยาวนานก็คือความยากจน ดังนั้นเราต้องแก้ปัญหาที่ต้นน้ำ นั่นก็คือ การบริหารจัดการน้ำ ไม่ว่าจะเป็น การดูแลลำคลอง การทำโครงการแก้มลิง เหล่านี้เป็นหัวใจของ ส.ส.ที่ต้องเร่งทำให้กับประชาชนให้เร็วที่สุด เพราะเป็นเรื่องจำเป็นที่ต้องลดรายได้ เพิ่มรายจ่ายให้เกษตรกร เพราะถ้าผลผลิตที่ได้มีจำนวนต่ำ ทำไปก็ไม่พ้นความยากจน ทั้งนี้ การแก้ปัญหาจะต้องมีการประสานกับหลายหน่วยงาน เช่น กรมทรัพยากรน้ำ, กรมอุทยานแห่งชาติ, สปก., กรมชลประทาน, กรมทรัพยากรน้ำ เพื่อการแก้ไขแบบบูรณาการ เพราะถ้าไม่เร่งทำ โอกาสทางรอดของเกษตรกรจะยากมาก

ทั้งนี้ นายอนันต์ ยังฝากถึงรัฐบาลชุดใหม่ว่า นโยบายบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จะต้องทำให้ครบวงจร ไม่ใช่แค่ให้เงินกับประชาชน แต่ต้องมีการฝึกอาชีพให้ และสามารถทำได้จริง เพราะการดำเนินการตามนี้จะสามารถแก้ปัญหาเศรษฐกิจได้อย่างยั่งยืน รวมถึงในอนาคตจะสามารถแก้ปัญหาการเมืองได้ด้วย

‘ปริญญา ฤกษ์หร่าย’ ว่าที่ ส.ส.กำแพงเพชร เดินหน้า  สานงานต่อในสภาฯเต็มที่ หวังยกระดับคุณภาพชีวิต ให้เกษตรกร

นายปริญญา ฤกษ์หร่าย ว่าที่ ส.ส.เขต 4 จ.กำแพงเพชร พรรคพลังประชารัฐ กล่าวถึงปัญหาของประชาชนในจังหวัดกำแพงเพชรที่ต้องเร่งดำเนินการช่วยเหลือยังคงเป็นเรื่องของน้ำ โดยเฉพาะการช่วยเหลือเกษตร ในการเดินหน้าประสานงานกับกรมชลประทาน และกรมเจ้าท่า เพื่อให้มีการซ่อมบำรุง ฝายกั้นแม่น้ำปิง( ฝายวังบัว)   ที่มีอายุการใช้งานมาอย่างยาวนาน เกิดการชำรุด และมีรอยร้าว จึงเป็นห่วง เรื่องของปริมาณน้ำที่อยู่ในช่วงฤดูมรสุม หากมีน้ำมาก  และอาจทำให้ฝายกั้นน้ำพังได้ ส่งผลกระทบต่อการกักเก็บน้ำในช่วงฤดูแล้ง ซึ่งเชื่อว่าจะมีความคืบหน้าในการดำเนินโครงการซ่อมบำรุงได้เร็วๆนี้

นายปริญญา กล่าวต่อถึงปัญหาที่ทำกินว่า ต้องผลักดันอย่างต่อเนื่อง ประสานกับหน่วยงาน เพื่อให้สามารถออกโฉนดในการถือครองกรรมสิทธิ์ ที่ดิน เหมือนจังหวัดอื่นๆ เพราะประชากรในพื้นที่ส่วนใหญ่ ยังประกอบอาชีพทางการเกษตร ให้เป็นไปตามนโยบายของพรรค ต้องการให้ชาวบ้านมีสิทธิ์ในที่ดินโดยโฉนดเป็นของตนเอง เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต

นายปริญญา ยังกล่าวทิ้งท้ายด้วยว่า ตนขอบคุณประชาชนในพื้นที่ทุกคนสำหรับทุกๆ คะแนนเสียง ทุกๆ ความไว้วางใจที่มอบให้ตนได้เข้าไปทำหน้าที่ตัวแทนในสภาอีก 1 สมัย ซึ่งตนจะตั้งใจทำงานอย่างเต็มที่ เพื่อนำการพัฒนามาสู่จังหวัดกำแพงเพชรบ้านของพวกเรา รวมถึงการแก้ไขปัญหาให้กับชาวกำแพงเพชรทุกคนด้วย

‘อนุรัตน์’ ส.ส.พะเยา พรรคพลังประชารัฐ เร่งแก้ปัญหาถนนชำรุด กระทบการขนส่งพืชผล ของเกษตรกร

นายอนุรัตน์ ตันบรรจง ส.ส.เขต 2 พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) จ.พะเยา กล่าวภายหลังการรายงานตัวรับรองเป็น ส.ส.ว่า ตนจะเข้ามาแก้ไขปัญหาที่ไม่ได้รับการแก้ไขมาอย่างยาวนานให้พี่น้องประชาชน เช่น ปัญหาถนนชำรุด ปัญหาการเกษตร ในจังหวัดพะเยาเป็นพื้นที่ทางการเกษตร โดยเฉพาะการปลูกข้าว รวมถึงผลไม้ต่างๆ เช่น มะม่วง ลำไย และลิ้นจี่ แต่ถนนเพื่อการเกษตรยังขาดการดูแล ทำให้การขนส่งพืชผลมีภาระต้นทุนสูงขึ้น เพราะว่าถนนนั้นยังชำรุดอยู่ หรือทางเข้าออกยากลำบาก การจะนำพืชผลทางการเกษตรออกมาขายได้ต้องใช้เวลานาน จึงทำให้เกิดการเสียหาย 

นายอนุรัตน์ กล่าวต่อถึงเรื่องของบุคลากรอย่าง อสม.ว่า อสม.เป็นหน่วยงานที่ส่งสริมเรื่องของสุขภาพ ที่ผ่านมา อสม.ถือเป็นองค์กรที่เข้มแข็ง แต่ตอนนี้ยังขาดอุปกรณ์ทางการแพทย์ เพื่อที่จะเข้าไปดูแลสุขภาพของประชาชน ไม่ว่าจะเป็นในตำบอล ในหมู่บ้าน ตนจึงอยากจะผลักดันเรื่องของเงินเดือนของ อสม.ให้มีเงินเดือนสูงขึ้น อสม.เป็นจิตอาสา ทำงานอย่างหนัก แต่ได้รับค่าตอบแทนที่ยังไม่คุ้มค่ากับการลงแรงทำงาน นอกจากนี้ ยังมีเรื่องความปลอดภัยในพื้นที่ ที่มี อปพร.กับ ตำรวจบ้าน ทำงานร่วมกันแต่ก็ไม่ได้รับค่าตอบแทนเช่นกัน

นายอนุรัตน์ กล่าวต่อว่า ตนยังมองถึงแผนงานที่จะเพิ่มรายได้ให้ชาวบ้านได้ ก็คือส่งเสริมอาชีพพื้นบ้าน เช่น สินค้าหัตถกรรม โดยเป็นสินค้าที่ทางชุมชนเราผลิตหรือสร้างเอง และนำออกไปขายได้ อย่างเช่น กว๊านพะเยา เป็นแหล่งน้ำที่จะมีผักตบชวา ชาวบ้านจะนำผักตบชวามาตากแห้ง เพื่อเอามาทำเป็นงานจักสานผลิตภัณฑ์ต่างๆ ก็จะสามารถสร้างรายได้ 

"อีกปัญหาหนึ่งที่สำคัญมากในพื้นที่จังหวัดพะเยา คือ เรื่องของแหล่งน้ำ เพราะในช่วงฝนตกหนักจะไม่มีพื้นที่รองรับน้ำ ดังนั้น เราจะต้องเร่งประสานงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อสร้างเขื่อนหรือฝาย หรืออ่างเก็บน้ำเพื่อเก็บน้ำ เพราะปัจจุบันอ่างเก็บน้ำมีจำนวนน้อย ดังนั้นเวลาฝนตกลงมาก็จะมีปัญหาน้ำท่วมอยู่เสมอ"นายอนุรัตน์ กล่าว

‘โชติวุฒิ’ ส.ส.พปชร.เผย ได้งบซ่อมบำรุงเขื่อนกั้นน้ำวัดปราสาท พร้อมจัดรอบเวรสูบน้ำแจกจ่ายให้เกษตรกรสิงห์บุรีอย่างทั่วถึง

(29 มิ.ย. 66) นายโชติวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ ส.ส.สิงห์บุรี เขต 1 พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เปิดเผยว่า ตนได้รับเกียรติจากเทศบาลตำบลอินทร์บุรี เพื่อเข้าร่วมกิจกรรม ‘เทศบาลเคลื่อนที่’ ซึ่งต้องขอชื่นชมเทศบาลตำบลอินทร์บุรีที่จัดกิจกรรมดีๆ เพื่อให้บริการประชาชนในด้านต่างๆ เป็นการอำนวยความสะดวก การมีส่วนร่วม และการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน

นายโชติวุฒิ กล่าวต่อถึงความคืบหน้าในการซ่อมแซมเขื่อนกั้นน้ำริมแม่น้ำเจ้าพระยา ที่ชำรุดเสียหายบริเวณวัดปราสาทว่า ขณะนี้ได้รับงบประมาณการซ่อมแซมมาแล้ว และจะเริ่มดำเนินการตามขั้นตอนแผนงานของหน่วยงานที่รับผิดชอบที่ได้กำหนดไว้

นอกจากนี้ นายโชติวุฒิ ยังกล่าวถึงปัญหาของเกษตรในพื้นที่ว่า ตนได้ไปร่วมประชุมกับพี่น้องเกษตรกรตำบลห้วยชัน รวมถึงผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำฯ ชันสูตร หัวหน้าฝ่ายส่งน้ำฯ ที่ 2 บรมธาตุ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลห้วยชัน และผู้นำหมู่บ้าน ในเรื่องการจัดรอบเวรการสูบน้ำหลังจากที่ทางชลประทานได้นำเครื่องจักรสูบน้ำมาติดตั้งแล้ว เพื่อเป็นการแจกจ่ายน้ำให้แก่เกษตรกรอย่างทั่วถึง จึงต้องมีการจัดรอบเวร พร้อมกำหนดกติกาการสูบน้ำของเกษตรกรผู้ใช้น้ำให้เข้าใจตรงกันและเกิดเท่าเทียมกันด้วย

‘เพื่อไทย’ หารือ ‘สมาคมการค้ามันสำปะหลัง’ มุ่งแก้ปัญหาโรคระบาดใบด่างในมันสำปะหลัง

(25 ก.ค. 66) นายสรวงศ์ เทียนทอง สส.สระแก้ว พรรคเพื่อไทย โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก เกี่ยวกับปัญหาไวรัสใบด่างระบาดในมันสำปะหลัง ที่ฉุดให้ผลผลิตตกต่ำลง ระบุว่า..

พรรคเพื่อไทยเดินหน้าแก้ปัญหาโรคไวรัสมันสำปะหลังระบาดให้เกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติร้อนแล้งซ้ำเติม คาดฉุดผลผลิตลดฮวบ รายได้เกษตรหาย ปากท้องรายได้ ปัญหาเร่งด่วนที่เพื่อไทยรอไม่ได้

ทีมวิชาการการเกษตรเพื่อไทย นำโดยนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง นายสรวงศ์ เทียนทอง นายพรหมมิน สีตบุตร นายคมเดช ไชยศิวมงคล พบนายบุญชัย ศรีชัยยงพานิช ผู้แทนสมาคมการค้ามันสำปะหลังไทย และคณะ แลกเปลี่ยนข้อมูลสถานการณ์และการดำเนินการด้านการป้องกันรักษาโรคไวรัสใบด่างระบาดในมันสำปะหลัง และแนวทางเพื่อรับมือสถานการณ์น้ำแล้ง จากภาวะเอลนีโญ ที่จะส่งผลโดยตรงต่อการผลิตภาคเกษตรที่อาจรุนแรง และส่งผลต่อเนื่องอย่างน้อย 3 ปีจากนี้

นายบุญศรี ให้ข้อมูลว่า เรื่องโรคระบาดในมันสำปะหลังขณะนี้ ยังอยู่ในสถานการณ์ที่สามารถบรรเทาความรุนแรงของการระบาดลงได้ หากได้รับการดูแลอย่างจริงจัง แต่หากยังล่าช้าละเลย สถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นนี้ อาจสร้างความเสียหายลุกลาม แก่อุตสาหกรรมแปรรูปและส่งออกมันสำปะหลังของประเทศไทยมูลค่ารวมกว่าแสนล้านบาท 

ผู้แทนสมาคมมันสำปะหลังไทย ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า จากการศึกษาสถานการณ์แพร่ระบาดโรคไวรัสใบด่างในมันสำปะหลังของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ประมาณการความเสียหายกินพื้นที่ปลูกมันสำปะหลังขณะนี้กว่า 3 ล้านไร่ ขณะที่รายงานของกรมส่งเสริมการเกษตร ระบุว่าสามารถควบคุมพื้นที่การระบาดได้อยู่ที่ 4 แสนไร่เท่านั้น โดยผลกระทบโรคไวรัสใบด่างในมันสำปะหลัง อาจทำให้ผลผลิตมันสำปะหลังหายไปอย่างน้อย 50% จากผลผลิตปีละ 40 ล้านตัน อาจเหลือเพียง 20 ล้านตันเท่านั้น

โดยมาตรการการของหน่วยงานรัฐ ที่ใช้เพื่อการควบคุมโรคระบาดไวรัสใบด่างที่ใช้อยู่ในขณะนี้ คือการตัดเผาทำลายหากตรวจพบในรัศมี 1 ตารางกิโลเมตร และควบคุมการขนย้ายท่อนพันธุ์ ต้องได้รับการอนุญาตจากเจ้าหน้าที่ ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อเกษตรกรในทางปฏิบัติด้วยกรอบกฎระเบียบราชการ

ในส่วนการทำงานของทีมวิชาการเกษตรพรรคเพื่อไทย รับทราบและติดตามปัญหามันสำปะหลังมาโดยตลอด โดยทีมทำงานได้ทำแปลงทดลองแก้ไขปัญหาไวรัสใบด่างในมันสำปะหลังด้วยวิธีการหลากหลาย และเก็บผลเพื่อเปรียบเทียบประสิทธิภาพ 

แปลงที่ 1 ใช้จุลินทรีย์กรีนพลัส ฉีดลงดินเพื่อขจัดเชื้อรา และใช้ชีวพันธุ์โอซิล ตระกูลไคโตซานที่เป็นนาโน ร่วมกับซิลเวอร์นาโน ฉีดพ่นที่ใบและลำต้น เพื่อฆ่าเชื้อและบำรุงท่อน้ำเลี้ยง ร่วมกับน้ำหมักจุลินทรีย์ ซึ่งเป็นการผสมรวมน้ำหมักจุลินทรีย์ และจีพลัส ฮอโมนพืช ควบคุมแปลงโดยนายคมเดช ไชยศิวมงคล ที่จังหวัดกาฬสินธุ์ พบว่าสามารถระงับการแพร่ระบาดได้และต้นมันที่ติดโรคก็สามารถแข็งแรงผลิใบใหม่ได้ 

แปลงที่ 2 ใช้แคลเซียมเซียมคาร์บอเนตเข้มข้น ฉีดพ่นต้นมันสำปะหลังที่เป็นโรค ในแปลงทดสอบ ที่นครราชสีมา พบว่าผนังเซลล์ของมันสำปะหลังแข็งแรงขึ้นสามารถต้านทานโรคได้ดี และฟื้นตัวจากโรคไวรัสใบด่างได้

และแปลงที่ 3 ทดสอบรวมผลการใช้ผลิตภัณฑ์จากแปลงที่ 1 และแปลงที่ 2 ควบคู่กัน สู่ผลลัพธ์ การควบคุมป้องกันโรค และสมมุติฐานความสามารถเพิ่มปริมาณผลผลิตต่อไร่ขึ้นได้ด้วยหรือไม่

พรรคเพื่อไทยลงมือทำงานและศึกษาเรื่องมันสำปะหลังในฐานะพืชเศรษฐกิจหลักของประเทศ ร่วมกับภาครัฐ ภาคเอกชน หน่วยงานสมาคม และทีม สส. พรรคเพื่อไทย มาอย่างต่อเนื่อง เพื่อทราบข้อเท็จจริงและเข้าใจวิธีการแก้ปัญหาความเดือดร้อน อุปสรรคการทำมาหากินของพี่น้องประชาชน ตรงประเด็นที่สุด รวดเร็วที่สุด เพราะปัญหาปากท้องคือความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนที่เรารอไม่ได้ โรคระบาดแก้ได้ต้องรีบจัดการ ส่วนภัยแล้งยังแก้ไม่ได้ต้องหาทางบรรเทาบนพื้นฐานการจัดการที่รวดเร็วมีประสิทธิภาพ

'สส.อรรถกร-พปชร.' ยื่นญัตติด่วนขอสภาฯ ตั้ง กมธ.แก้ไขราคากุ้งตกต่ำ  ช่วยเกษตรกรเลี้ยงกุ้ง 'ปัจจัยรุมเร้า-นำเข้าจาก ตปท.พุ่ง'

(31 ก.ค. 66) นายอรรถกร ศิริลัทธยากร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) จ.ฉะเชิงเทรา เขต 2 พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เปิดเผยว่า ตนได้เสนอญัตติด่วน เพื่อขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการแก้ไขปัญหาราคากุ้งตกต่ำ เนื่องจากในขณะนี้ ผู้ประกอบอาชีพเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งทั้งขนาดกลาง และขนาดย่อยกำลังได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก เนื่องจากราคากุ้งเลี้ยงตกต่ำอย่างรวดเร็ว โดยมีสาเหตุส่วนหนึ่งหลังจากการที่ คณะกรรมการบริหารจัดการห่วงโซ่การผลิตกุ้งทะเลและผลิตภัณฑ์ (Shrimp Board) หรือบอร์ดกุ้งอนุมัติการนำเข้ากุ้งจากเอกวาดอร์และอินเดียเข้ามา โดยอ้างว่าเกษตรกรไทยมีโครงการประกันราคากุ้งอยู่แล้ว

"ปัญหาการขาดทุนจากการเลี้ยงกุ้งของเกษตรกร เกิดมาจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงมีราคาสูง และ มีโรคระบาดในกุ้ง ประกอบกับราคาประกันขั้นต่ำที่ห้องเย็นตั้งไว้นั้นเท่ากับราคาต้นทุนการผลิตที่ยังไม่รวมค่าใช้จ่ายอย่างอื่น ซึ่งเท่ากับเป็นการบังคับให้เกษตรกรขายในราคาขาดทุน ทำให้เกษตรกรประสบปัญหาหนี้สิน" นายอรรถกร กล่าว

นายอรรถกร กล่าวต่อว่า แม้ราคากุ้งจะถูกกำหนดโดยคณะกรรมการบริหารจัดการห่วงโซ่การผลิตกุ้งทะเลและผลิตภัณฑ์ (Shrimp Board) แต่ราคาของจริงไม่ได้ตามที่คณะกรรมการฯ กำหนด จึงต้องการให้รัฐช่วยลดภาระต้นทุนของเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้ง เช่น ค่าอาหารกุ้ง ค่าปู่น ค่าไฟฟ้า ซึ่งส่งผลกระทบต่อกำไรของเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้ง หากภาครัฐไม่ดำเนินมาตรการอย่างเป็นรูปธรรม ปัญหาอาจบานปลายได้ 

"ผมจึงขอให้สภาฯ ตั้ง กมธ.ศึกษาแนวทางการแก้ไขปัญหาราคากุ้งดังกล่าว เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรรายย่อยโดยเร่งด่วน เพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับประโยชน์สำคัญของแผ่นดินและประชาชนจึงมีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะรักษาความมั่นคง ของประเทศในทางเศรษฐกิจและสังคม โดยญัตติที่ผมเสนอไปได้ถูกบรรจุในระเบียบวาระการประชุมสภาฯ เรียบร้อยแล้ว ซึ่งผมหวังว่าจะสามารถช่วยแก้ไขความเดือดร้อนของเกษตรกรได้ทันท่วงที" นายอรรถกร กล่าว

‘สมศักดิ์-วิสุทธิ์’ นำทีม สส.เพื่อไทย ลุยสุราษฎร์ฯ ช่วยพี่น้องเกษตรกร หารือแนวทางแก้ปัญหาโรคใบร่วงระบาด ทำน้ำยางพาราลดลง 40%

เมื่อวันที่ 5 ส.ค. 66 คณะพรรคเพื่อไทย นำโดย สมศักดิ์ เทพสุทิน สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย วิสุทธิ์ ไชยณรุณ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทยและคณะลงพื้นที่ชุมชนบ้านเรียบ ตำบลคลองไทร อำเภอท่าฉาง จังหวัดสุราษฎร์ธานี เยี่ยมผู้นำชุมชน เกษตรกรผู้ปลูกยางพาราในพื้นที่ปักษ์ใต้ เพื่อรวบรวมปัญหาที่พบส่งให้รัฐบาลใหม่ที่กำลังจัดตั้ง ได้นำไปแก้ไขปัญหาให้พี่น้องอย่างทันท่วงทีที่สุด

1.) สมศักดิ์ เทพสุทิน กล่าวว่าขณะนี้เกิดปัญหาโรคใบร่วงระบาดในสวนยาง ส่งผลให้ผลผลิตน้ำยางลดลงถึง 40 เปอร์เซ็นต์ รวมถึงทำให้ต้นยางเกิดปัญหายืนต้นตาย โดยวิธีแก้ไขเบื้องต้นสามารถใช้สารแคลเซียมคาร์บอเนตเพื่อลดปัญหาได้ในระดับหนึ่ง แต่จะต้องได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานของรัฐ ที่จะต้องเข้ามาดูแลช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกร ไม่ให้เกิดปัญหาเช่นนี้อีก

2.) พรรคเพื่อไทย ห่วงใยปัญหาของพี่น้องเกษตรกรทุกกลุ่ม ไม่ใช่แค่กลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกยาง ตลอดเวลาได้ศึกษาวิจัยและรวบรวมข้อมูลและเมื่อจัดตั้งรัฐบาลใหม่เสร็จสิ้น จะสามารถนำมาใช้เพื่อเร่งแก้ไขปัญหาให้พี่น้องประชาชนได้ทันที

3.) วิสุทธิ์ ไชยณรุณ กล่าวว่าในเรื่องของเกษตรกร ถือเป็นนโยบายหลักของพรรคเพื่อไทย ซึ่งหลังจากนี้ จะต้องเดินหน้าในการจัดอบรมให้ความรู้เกษตรกรในการเพาะปลูก และการเลี้ยงปศุสัตว์แบบถูกวิธี ไม่ว่าจะเป็นการหว่าน หรือ การใช้สูตรปุ๋ยที่เหมาะกับพืชที่ปลูก เพื่อที่จะให้ได้ผลผลิตที่มากขึ้น รวมถึงเพิ่มมูลค่าผลผลิตมากขึ้นกว่าเดิม

4.) สกุณา สาระนันท์ สส.สกลนคร กล่าวว่าหน้าที่รัฐบาลใหม่ที่ต้องทำ คือการพัฒนาผลผลิต หาตลาดใหม่ให้แก่ผู้เพาะปลูก รวมทั้งการส่งเสริมใช้นวัตกรรมเพื่อเพิ่มผลผลิตให้งอกเงยมากขึ้น และเพิ่มทุนให้แก่เกษตรกรเพื่อให้มีสภาพคล่องมากกว่าที่เป็นอยู่ 

5.) คณะพรรคเพื่อไทย ที่ลงพื้นที่ในโอกาสนี้ ประกอบด้วย สมศักดิ์ เทพสุทิน สส.บัญชีรายชื่อ, วิสุทธิ์ ไชยณรุณ สส.บัญชีรายชื่อ และประธานนโยบายด้านการเกษตร พรรคเพื่อไทย, ลิณธิภรณ์ วริณวัชรโรจน์ สส.บัญชีรายชื่อ และรองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย, อนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด สส.บัญชีรายชื่อ, สกุณา สาระนันท์ สส.สกลนคร, ประภาพร ทองปากน้ำ สส.สุโขทัย, มนพร เจริญศรี สส.นครพนม, ธัญธารี สันตพันธ์ สส.อุบลราชธานี, สุรพจน์ เตาะเจริญสุข สส.ขอนแก่น, ทินพล ศรีธเรศ สส.กาฬสินธุ์, ศุภจักร บุตรก้ำพี้ และ ดรุฒ คำวิชิตธนาภา

‘พาณิชย์’ เร่งแก้วิกฤต ‘มังคุด’ คุณภาพลด-ราคาตก กก.ละ 8 บาท พร้อมรับฟังปัญหาเกษตรกร-หารือผู้ประกอบการ ร่วมกันหาทางออก

(5 ก.ย. 66) ‘พาณิชย์’ ลงพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช ติดตามสถานการณ์มังคุด และรับฟังข้อเรียกร้องจากเกษตรกร พร้อมประสานผู้ประกอบการ ผู้ส่งออก ผู้รวบรวม เข้ารับซื้อผลผลิตในช่วงนี้เพิ่มขึ้น และเร่งกระจายออกไปยังตลาดปลายทาง ทั้งห้างท้องถิ่น โมบายพาณิชย์ ช่วยระบายผลผลิตอีกทาง เผยช่วงนี้เป็นปลายฤดู ผลผลิตคุณภาพลด ดอกดำ หรือแข็ง มีมากขึ้น ด้านประธานแปลงใหญ่นครศรีธรรมราชยัน มังคุด กก.ละ 8 บาท เป็นเกรดคัดทิ้ง

นายกรนิจ โนนจุ้ย รองอธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า กรมได้ลงพื้นที่ กลุ่มมังคุดชะอวดพูนผล อ.ชะอวด จ.นครศรีธรรมราช เพื่อรับฟังปัญหากรณีเกษตรกรชาวสวนมังคุดได้รับความเดือดร้อน จากราคามังคุดตกต่ำ ว่า กรมยืนยันว่าไม่ได้นิ่งนอนใจแต่อย่างใด จึงได้ลงพื้นที่มาเพื่อติดตามสถานการณ์และรับฟังข้อเรียกร้องของพี่น้องเกษตรกร และยังได้ประสานผู้ประกอบการ ผู้ส่งออก ผู้รวบรวม เข้ารับซื้อผลผลิตในช่วงนี้เพิ่มขึ้น รวมถึงเร่งเปิดจุดปลายทางเพิ่มขึ้นทั้งห้างท้องถิ่น และโมบายพาณิชย์ เพื่อช่วยระบายผลผลิต และให้พี่น้องเกษตรกรมั่นใจว่าราคามังคุดจะมีเสถียรภาพจนจบฤดูกาล

ส่วนการตรวจสอบมังคุดที่เกษตรกรส่วนหนึ่งนำมาเททิ้งนั้น ได้รับรายงานจากสำนักงานพาณิชย์จังหวัดนครศรีธรรมราชว่า เป็นมังคุดช่วงปลายฤดูกาลผลิต ที่ผลผลิตมีคุณภาพลดลง มังคุดตกเกรด ดอกดำ หรือแข็ง และเป็นเกรดที่ส่วนใหญ่ต้องคัดทิ้ง ซึ่งมีปริมาณมากขึ้น และส่งผลให้ราคาปรับตัวลดลง แต่กรมยืนยันว่าจะเข้าไปดูแลอย่างเต็มที่ต่อไป

ทั้งนี้ จากการเข้ามาดูแลพี่น้องเกษตรกร ส่งผลให้ราคารับซื้อมังคุดยังคงมีเสถียรภาพ โดยราคารับซื้อปัจจุบันราคานอกกลุ่มประมูล เกรดมันรวม 30-35 บาท/กิโลกรัม (กก.) เกรดคละ 20-25 บาท/กก. ขณะที่ราคากลุ่มประมูล เกรดมันใหญ่ 35-40 บาท/กก. เกรดมันเล็ก 20-28 บาท/กก. เกรดลายใหญ่ 25-30 บาท/กก. เกรดตกไซส์ บวกดอก 17-20 บาท/กก. และเกรดดำ 15-15.10 บาท/กก.

ก่อนหน้านี้ ในช่วงฤดูการผลิตมังคุดภาคใต้ กรมได้ดำเนินการประสานผู้ประกอบการ ผู้ส่งออก ผู้รวบรวม เข้ารับซื้อมังคุดใต้ผ่านกลไกต่าง ๆ ได้แก่ ทำสัญญาข้อตกลงปริมาณ 27,450 ตัน เปิดจุดจำหน่ายทั่วประเทศ 220 จุด ที่ห้างท้องถิ่น และ 100 จุดที่โมบายพาณิชย์ มีการรับซื้อปริมาณรวม 1,000 ตัน และในช่วงราคาปรับตัวลดลง ก็ได้ประสานผู้ประกอบการ ผู้รวบรวม และผู้ส่งออกเข้าไปรับซื้อมังคุดอย่างต่อเนื่อง เพื่อรักษาระดับราคาในกลุ่มประมูลและจากเกษตรกรโดยตรง ซึ่งผลดำเนินการ ทำให้ราคามังคุดยังคงมีเสถียรภาพจนถึงปัจจุบัน

ร้อยตรีอรุณ บุญวงศ์ ประธานแปลงใหญ่มังคุดจังหวัดนครศรีธรรมราช กล่าวว่า ปีนี้คุณภาพมังคุดมีปัญหา จากสภาพลมฟ้าอากาศไม่เอื้ออำนวย อากาศแล้งมาก มังคุดที่ตั้งเป้าไว้ว่าจะได้ลูกเกรด A B มาก กลายเป็นลูกมังคุดตกเกรด คิดเป็น 20% ของผลผลิตทั้งหมด จากเดิมมีเพียงแค่ 5% ซึ่งต้องขอบคุณกรมการค้าภายในที่พาผู้ประกอบการเข้ามาช่วยซื้อตั้งแต่แรกถึงตอนนี้ ถือว่าเป็นช่วงที่เลยช่วงระยะพีคแล้ว เป็นช่วงปลายฤดูสุดท้ายแล้ว

“ที่มีข่าวเกษตรกรที่ไปเทมังคุดทิ้ง เพราะเหลือ กก.ละ 8 บาท เป็นมังคุดตกเกรด คือ รวมลูกทุกชนิด คุณภาพไม่ได้ ถ้าคัดก็ได้แค่ครึ่งเดียว ซึ่งเคยเสนอไปแล้วให้ระมัดระวัง เพราะถ้ามีการนำมังคุดที่เก็บลูกหล่น หรือที่กินไม่ได้ ใส่ไปขายด้วย คนซื้อที่ซื้อไปส่งล้ง ก็โดนคัดออกเยอะ เมื่อคุณภาพไม่ได้ ราคามันก็ลง และพาราคาลูกที่ดีลงไปด้วย ส่วนราคาในกลุ่มประมูลตอนนี้ เกษตรกรยังรับได้ ส่วนที่ราคาต่ำลงบ้าง ก็เป็นไปตามกลไกตลาด ที่ตอนนี้เป็นช่วงปลายฤดู ผลผลิตอาจคุณภาพไม่ดี โดยที่ประมูลในกลุ่มไม่มีปัญหา ส่วนที่มีปัญหาเป็นพ่อค้ารายย่อยที่ไม่เข้าร่วมกลุ่ม แต่กรมการค้าภายใน ก็พยายามเข้ามาช่วยตลอด ตอนนี้ก็เข้ามาช่วยดูแลแล้ว” ร้อยตรีอรุณ กล่าว

‘จุลพันธ์’ เตรียมเรียกหน่วยงานฯ ถกแผน ‘พักหนี้เกษตรกร-SME’ ขีดเส้น 14 วัน ต้องได้ข้อสรุปกรอบแนวทาง-วิธีการทำงานทั้งหมด

(18 ก.ย.66) นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.การคลัง เปิดเผยว่า ในต้นสัปดาห์นี้คณะทำงานในโครงการพักหนี้ทั้งในส่วนของเกษตรกร และผู้ประกอบการเอสเอ็มอี จะมีการเรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด มาประชุมเพื่อหารือเกี่ยวกับกรอบแนวทาง และวิธีการทำงานทั้งหมด ให้ได้ข้อสรุป เพื่อให้มีผลในทางปฏิบัติ สำหรับเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาภายใน 14 วัน หรือไม่เกินสิ้นเดือน ก.ย. 2566

ทั้งนี้ จากข้อมูลเบื้องต้นพบว่า มีลูกหนี้เกษตรกรทั้งสิ้นกว่า 4.2 ล้านบัญชี ขณะที่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ราว 3 ล้านกว่าบัญชี ก็ต้องมาพิจารณาหลักเกณฑ์ และรายละเอียดว่าจะช่วยเหลืออย่างไร โดยคงไม่ได้ช่วยทั้งหมด เพราะในส่วนนี้เชื่อว่าจะมีรายใหญ่รวมอยู่ด้วย ส่วนว่ามาตรการจะครอบคลุมแค่ไหน หรือจะมีการกำหนดเพดานการช่วยเหลืออย่างไร ขอไปพิจารณาในรายละเอียดอีกครั้ง แต่ยืนยันว่าเป็นเรื่องที่ต้องเร่งดำเนินการให้เร็วที่สุด เพราะได้รับคำสั่งจากนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.การคลังมาแล้ว

“คงต้องดูกรอบวงเงินที่มีความเหมาะสม และต้องดูภาระของงบประมาณที่จะรับได้อีกส่วนหนึ่งด้วย เพราะตอนนี้กระบวนการงบประมาณปี 2567 ที่ล่าช้านั้น ได้มีการกำหนดกรอบปฏิทินใหม่มาแล้ว โดยในส่วนนี้ก็ต้องไปดูภาระงบประมาณในแต่ละส่วน แต่ละโครงการ ต้องดูกรอบใหญ่ว่างประมาณมีภาระด้านอื่น ๆ อย่างไร ดังนั้นหลักของแนวทางการให้ความช่วยเหลือในโครงการพักหนี้ก็จะต้องพิจารณาให้สอดคล้องกับความเป็นจริงและสอดคล้องกับงบประมาณด้วย” นายจุลพันธ์ กล่าว

นายจุลพันธ์ ยังกล่าวถึงความคืบหน้าของมาตรการดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ว่า ยืนยันว่าการดำเนินการจะไม่ช้าไปกว่าเดือน มี.ค. 2567 อย่างแน่นอน โดยนายกรัฐมนตรีตั้งธงมาแล้วว่าจะเริ่มในวันที่ 1 ก.พ. 2567 กระทรวงการคลังก็จะต้องทำให้สำเร็จ โดยอาจจะต้องมีการทดสอบระบบก่อนวันเริ่มดำเนินการเพื่อไม่ให้เกิดปัญหา ส่วนร้านค้าที่จะเข้าร่วมโครงการ คงไม่มีการให้ลงทะเบียนใหม่ทั้งหมด เบื้องต้นอาจจะใช้ข้อมูลร้านค้าเดิมที่เคยเข้าร่วมโครงการคนละครึ่งมาเป็นพื้นฐาน แต่อาจจะต้องให้มีการยืนยันตัวต้นเพิ่มเติมบ้างเท่านั้น

ส่วนข้อเสนอแนะเกี่ยวกับเงื่อนไขการใช้จ่ายในโครงการ โดยเฉพาะการกำหนดรัศมีการใช้จ่ายไม่เกิน 4 กิโลเมตรตามทะเบียนบ้านนั้น ยอมรับว่าที่ผ่านมามีข้อเสนอแนะเข้ามาเยอะว่าเรื่องนี้อาจเป็นข้อจำกัด ซึ่งรัฐบาลเองอาจจะมีการผ่อนปรนหรือเปลี่ยนแปลงเรื่องรัศมีในการใช้จ่าย โดยอาจจะปรับมาเป็นให้ใช้ได้ภายในอำเภอตามทะเบียนบ้าน เพื่อทำให้กระบวนการใช้เงินของประชาชนผ่านดิจิทัลวอลเล็ตราบรื่นที่สุด

“ยอมรับว่าข้อเสนอที่ให้ปรับมาเป็นใช้จ่ายจากรัศมี 4 กิโลเมตรมาเป็นใช้จ่ายได้ภายในอำเภอตามทะเบียนบ้านนั้น เป็นข้อเสนอที่เป็นไปได้มากที่สุด แต่สุดท้ายจะเป็นอย่างไรอยากให้รอฟังดี ๆ อีกครั้ง โดยรัฐบาลยังคงยึดเรื่องการกระตุ้นเศรษฐกิจระดับชุมชนเป็นหลัก ดังนั้นหากจะปรับโดยการปลดล็อกการใช้จ่ายจนอิสระ หรือฟรีไปเลยคงไม่มีทาง เพราะอย่างไรก็ตามคนก็ต้องกลับภูมิลำเนากันอยู่แล้ว ส่วนข้อกำหนดในการซื้อสินค้ายังต้องรอสรุปอีกนิด เพราะมีเรื่องที่ต้องพิจารณาค่อนข้างมาก เช่น กรณีที่เป็นบริการของรัฐ ควรจะให้ใช้ได้หรือไม่ เพราะเงินอาจจะไม่หมุนเข้าระบบเศรษฐกิจตามที่ควรจะเป็น เช่น การจ่ายค่าไฟฟ้า แต่ที่กำหนดชัดเจนแน่นอนแล้ว คือ ไม่สามารถใช้ซื้อสินค้าประเภทอบายมุข และการชำระหนี้สินได้อย่างแน่นอน” นายจุลพันธ์ กล่าว

สำหรับแหล่งเงินที่จะนำมาใช้ในโครงการดิจิทัลวอลเล็ตนั้น ยืนยันว่าไม่มีความจำเป็นต้องกู้อย่างแน่นอน รัฐบาลมีกลไกในการดำเนินการได้ ส่วนรายละเอียดทั้งหมดอยากให้รอดู ตอนนี้ยังตอบอะไรไม่ได้ ส่วนที่มีข้อเสนอว่าให้นำแอปพลิเคชันเป๋าตังเข้ามาใช้นั้น มองว่า แอปพลิเคชันเป๋าตังก็คือเป็นสินทรัพย์ของรัฐบาลอยู่แล้ว หากท้ายที่สุดแล้วสรุปว่าจะนำแอปฯ เป๋าตังไปใส่ในบล็อกเชนของโครงการ ก็มองงว่าเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ หากทำจริงก็ไม่ใช่เรื่องเสียหายอะไร ในมุมมองของรัฐบาลเห็นว่าหากอะไรที่พัฒนาแล้วทำให้ดีขึ้นก็ไม่มีปัญหาอยู่แล้ว เพราะเชื่อว่าโครงการจะเป็นประโยชน์กับการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างมาก โดยเพียงแค่รัฐบาลส่งสัญญาณว่าจะเดินหน้าโครงการ ก็เกิดการหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจแล้ว ร้านค้ามีการวางแผนการสั่งซื้อสินค้า วัตถุดิบเพื่อมารอจำหน่าย เรียกว่าเกิดการหมุนเวียนในระบบทันทีตั้งแต่โครงการยังไม่เริ่ม และเรายังมองว่า การใช้จ่ายในโครงการจะได้รับความนิยม ประชาชนจะใช้จ่ายหมด 10,000 บาทภายในไม่เกิน 1-2 สัปดาห์แน่นอน

อย่างไรก็ดี ข้อกังวลเกี่ยวกับการทุจริตที่อาจเกิดขึ้นในโครงการ เช่น การใช้จ่ายแบบผิดวัตถุประสงค์ โดยการฮั้วกับร้านค้าเพื่อนำเป็นเงินสดออกมานั้น ยอมรับว่าอาจเกิดขึ้นได้ แต่กระทรวงการคลังจะพยายามหาทางป้องกันให้มากที่สุด โดยมองว่าระบบการดำเนินงานผ่านบล็อกเชนจะสามารถตรวจสอบได้ ซึ่งพร้อมรับฟังทุกข้อเสนอแนะและหาทางแก้ไขต่อไป


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top