Monday, 29 April 2024
เกษตรกร

‘นายกสมาพันธ์ฯ’ เตือน!! ‘ชาวสวน’ อย่านิ่งนอนใจ ชี้ ควรเร่งปรับตัว หลัง ‘เวียดนาม’ จี้ติด!! ส่ง 'ทุเรียน' ไปจีน เกือบครึ่งหนึ่งของไทยแล้ว

(9 ม.ค. 67) นายชลธี นุ่มหนู นายกสมาพันธ์ชาวสวนทุเรียนไทยภาคตะวันออก ได้ออกมาเปิดเผยข้อมูลการสำรวจราคาค้าส่งทุเรียนไทยและทุเรียนเวียดนาม ที่ตลาดเจียซิง มณฑลเจ้อเจียง สาธารณรัฐประชาชนจีน ระหว่างวันที่ 1-31ธ.ค.2566 โดยเจ้าหน้าที่ฝ่ายเกษตร ประจำสถานกงสุลใหญ่ ณ นครเซี่ยงไฮ้ ว่า ราคาทุเรียนหมอนทองของไทย เมื่อวันที่ 1 ธ.ค.2566 ที่ผ่านมาอยู่ประมาณ 1,000-1,200 หยวนต่อกล่องบรรจุ 6 ลูก 

ส่วนราคาทุเรียนหมอนทองของประเทศเวียดนาม 1 กล่อง 6 ลูกอยู่ที่ 900-1,000 หยวน (1 หยวนประมาณ 5 บาท) ขณะที่ทุเรียนก้านยาวเวียดนาม 1 กล่อง 3 ลูก ราคา 400 หยวน

และเมื่อเปรียบเทียบปริมาณการส่งออกทุเรียนไปตลาดเจียซิง มณฑลเจ้อเจียง ประเทศจีน ในช่วงปลายปีที่ผ่านมา พบว่า จำนวนการส่งออกทุเรียนไปตลาดดังกล่าวที่มีประมาณ 49 ตู้ต่อครั้ง เป็นทุเรียนไทยจำนวน 27 ตู้ ส่วนทุเรียนเวียดนาม จำนวน 22 ตู้

ส่วนการเปรียบเทียบการส่งออกทุเรียนจากไทยไปตลาดดังกล่าวเมื่อวันที่ 29 ธ.ค.66 ที่ผ่านมา พบว่าราคาส่งออกทุเรียนหมอนทองไทย 1 กล่อง กล่องละ 6 ลูก ลดลงเหลือเพียง 950-1,100 หยวน เช่นเดียวกับทุเรียนหมอนทองเวียดนาม 1 กล่องละ 6 ลูก ราคา 500-520 หยวน ส่วนก้านยาวเวียดนาม 1 กล่อง 3 ลูก ราคา 380-400 หยวน

โดยปริมาณการส่งทุเรียนไปตลาดเจียซิง มณฑลเจ้อเจียง ประเทศจีน ในวันดังกล่าวที่มีจำนวนรวม 39 ตู้ เป็นทุเรียนไทยจำนวน 25 ตู้ ส่วนทุเรียนเวียดนาม 14 ตู้

นายชลธี เผยว่า หากพิจารณาข้อมูลการส่งออกทุเรียนของเวียดนามไปตลาดจีน จะเห็นว่าสัดส่วนการส่งออกเติบโตเกือบถึงครึ่งหนึ่งของการส่งออกทุเรียนไทยไปจีนแล้ว จึงแสดงให้เห็นว่า เวียดนามมีการพัฒนาคุณภาพทุเรียนส่งออกที่ได้มาตรฐานมากขึ้น

ขณะที่ภาครัฐของเวียดนามเอาใจใส่กับผลผลิตทางการเกษตร และยังเร่งส่งเสริมให้ความรู้กับเกษตรกร สอดรับกับข้อได้เปรียบของเวียดนามที่มีชายแดนติดกับประเทศจีน จึงทำให้เกษตรกรสามารถตัดทุเรียนคุณภาพ (แก่) เพื่อส่งออกได้ทันที

“สิ่งที่เกษตรกรไทยต้องเร่งปรับตัว คือ ทำทุเรียนคุณภาพตั้งแต่ขั้นตอนการตัด คัด ส่งออก ซึ่งในทุกขั้นตอนต้องสัมพันธ์กันทั้งหมด และหากเกษตรกรยังไม่คำนึงถึงคุณภาพทุเรียนส่งออก สุดท้ายจะทำให้ตลาดปลายทางเสียหาย และผลกระทบจะย้อนกลับมาที่ตัวเกษตรกรเอง”

นายกสมาพันธ์ชาวสวนทุเรียนไทยภาคตะวันออก อดีตมือปราบทุเรียนอ่อน ยังบอกอีกว่าที่ผ่านมาได้มีความพยายามในการรณรงค์ให้เกษตรกรทำทุเรียนคุณภาพ และไม่ตัดทุเรียนก่อนกำหนดอย่างต่อเนื่อง

เพราะหากต้นฤดูมีทุเรียนไม่ได้คุณภาพออกสู่ตลาด จะทำให้ทุเรียนทั้งภาคตะวันออก และทั่วประเทศ ตลอดไปจนถึงหน้าทุเรียนในพื้นที่ภาคใต้มีคำสั่งซื้อน้อยลง

ส่วนการจัดทำโครงการหมู่บ้านปลอดทุเรียนอ่อน นำร่องในพื้นที่ จ.ตราด เป็นพื้นที่แรกนั้น นายกสมาพันธ์ชาวสวนทุเรียนไทยภาคตะวันออก บอกว่า เพื่อเป็นการกระตุ้นให้ชาวสวนทุเรียนไทยต้องหันมามองเรื่องการสร้างแบรนด์สินค้าให้เป็นที่ยอมรับของตลาด และกระบวนการผลิตจะต้องสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ถึงที่มาของแหล่งผลิตนั้น

“วันนี้ยังคงยืนยันได้ว่าทุเรียนไทยยังคงเป็นที่ต้องการของตลาดมาก ซึ่งหากเกษตรกรสามารถทำผลผลิตได้ตามคุณภาพตามที่ตลาดปลายทางต้องการจะทำให้ตลาดทุเรียนไทยเติบโตแบบยั่งยืน ขณะเดียวกัน ภาครัฐของไทยต้องเข้มงวดในเรื่องกระบวนการตรวจสอบคุณภาพก่อนส่งออกไปต่างประเทศด้วยเช่นกัน” นายชลธี กล่าว

‘ชาวนากาฬสินธุ์’ หันปลูกแตงโม-ขายเมล็ดส่งนอก โกยเงินล้าน ชี้!! ใช้น้ำน้อย ราคาดีกว่าขายข้าวเปลือก สร้างรายได้ต่อรายสูง

(19 ม.ค.67) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการติดตามบรรยากาศการประกอบอาชีพของเกษตรกรชาว จ.กาฬสินธุ์ ทั้งพื้นที่รับน้ำชลประทานโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำปาว พบว่ามีการทำนาปรังหรือนาฤดูแล้งเต็มพื้นที่ ขณะที่พื้นที่นอกเขตชลประทาน มีการเพาะปลูกพืชอายุสั้น พืชตระกูลแตงเป็นจำนวนมาก โดยใช้น้ำจากแหล่งธรรมชาติที่มีอยู่อย่างเพียงพอ

นางประนอม ภูเต้านา อายุ 45 ปี เกษตรกรบ้านขมิ้น เลขที่ 95 หมู่ 5 ต.นาดี อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า พื้นที่นาอยู่นอกเขตชลประทาน แต่ก็อยู่ใกล้กับหนองเลิงไก่โอก แหล่งน้ำสาธารณะประจำตำบลนาดี ซึ่งปีนี้มีปริมาณน้ำเป็นจำนวนมาก เพียงพอต่อการสูบขึ้นมาหล่อเลี้ยงแปลงแตงโม และแปลงแตงแคนตาลูป ที่เพาะปลูกประมาณ 2 ไร่

นางประนอม กล่าวอีกว่า ที่เลือกเพาะปลูกพืชตระกูลแตง 2 ชนิด เพราะว่าอายุสั้น ใช้น้ำน้อย ทนต่อสภาพดินฟ้าอากาศร้อนแล้งได้ดี อายุ 4 เดือนเก็บผลผลิตจำหน่าย ที่สำคัญมีบริษัทของเอกชนเข้ามาส่งเสริม มีประกันราคาแน่นอน โดยเป็นแตงลูกผสม จำหน่ายเมล็ดส่งต่างประเทศ ก.ก.ละ 1,600-2,000 บาท ปลูกมาประมาณ 20 ปี รายได้เฉลี่ยรายละ 5 หมื่นบาท ซึ่งรายได้สูงกว่าปลูกข้าวนาปรังและพืชฤดูแล้งชนิดอื่น

นางประนอม กล่าวเพิ่มเติมว่า เมื่อราคาขายเมล็ดแตงโมและเมล็ดแตงแคนตาลูปสูง โดยที่ผ่านมาได้กำไรทุกปี ขณะที่ราคาขายข้าวเปลือกยังตกต่ำ รายได้ไม่คุ้มทุน เพราะปัจจัยการผลิต เช่น ปุ๋ยเคมี ค่าแรง ค่าเก็บเกี่ยวสูง ดังนั้น ในปีนี้จึงพบว่าพี่น้องเกษตรกรชาวนาในหมู่บ้าน หันมาปลูกแตงโม และแตงแคนตาลูปลูกผสม เพื่อขายเมล็ดต่างประเทศกับบริษัทเอกชนถึง 20 ราย ที่หากเฉลี่ยได้กำไรไร่ละ 5 หมื่น ก็จะมีรายได้ในภาพรวมถึง 1 ล้านบาททีเดียว

‘ซีพีเอฟ’ รับบท ‘ตลาดรับซื้อ’ หนุน 5,500 เกษตรกรรายย่อย ป้องกันตลาดผันผวน ตัดวงจรเสี่ยงด้านราคาให้แก่เกษตรกร

(31 ม.ค. 67) นายสมพร เจิมพงศ์ ผู้อำนวยการใหญ่ ธุรกิจสุกร ซีพีเอฟ เปิดเผยว่า ซีพีเอฟ ได้มุ่งยกระดับการเลี้ยงสัตว์แก่เกษตรกรรายย่อยทั่วประเทศมากกว่า 5,500 ราย ในรูปแบบ คอนแทรคฟาร์มมิ่ง โดยให้ความสำคัญกับกระบวนการเลี้ยงสัตว์ที่ดี ภายใต้การบริหารจัดการด้านการเลี้ยงสัตว์ที่มีมาตรฐาน ด้วยการนำขีดความสามารถของบริษัทฯ มาถ่ายทอดองค์ความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรมการเลี้ยงแก่เกษตรกร ที่สำคัญเกษตรกรต้องมีตลาดรองรับผลผลิต บริษัทฯ จึงทำหน้าที่เป็นตลาดรับซื้อผลผลิตคืนจากเกษตรกร เพื่อให้มีอาชีพที่ไร้ความเสี่ยงด้านราคาและการตลาด และมีหลักประกันรายได้ที่มั่นคง โดยเฉพาะในช่วงที่ผ่านมาที่ราคาสุกรผันผวนมาก จากการเข้ามาของขบวนการลักลอบนำเข้าเนื้อสุกรเถื่อน หากแต่เกษตรกรรายย่อยที่เลี้ยงสุกรกับซีพีเอฟ ไม่ได้รับผลกระทบเนื่องจากมีการทำสัญญาตกลงราคากันไว้ล่วงหน้า และบริษัทฯ รับซื้อผลผลิตของเกษตรกรไว้ทั้งหมด

“นอกจากการส่งเสริมให้เกษตรกรรายย่อยได้รับทั้งความรู้ด้านการเลี้ยงสัตว์อย่างมีประสิทธิภาพ และการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ทำให้เกษตรกรสามารถดำเนินกิจการได้อย่างต่อเนื่อง ที่สำคัญคือ เกษตรกรไม่ได้รับความเสี่ยงตลาดผันผวน โดยสินค้าที่ซีพีเอฟผลิตส่งจำหน่ายในตลาดและห้างโมเดิร์นเทรดต่าง ๆ ก็มาจากเกษตรกรรายย่อยที่บริษัทฯ รับความเสี่ยงโดยตรง และยังมีเกษตรกรรายกลางอีกร่วม 500 ราย ที่ซีพีเอฟ เข้าไปช่วยสนับสนุนองค์ความรู้ โดยเฉพาะเรื่องความปลอดภัยในอาหาร เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรในห่วงโซ่คุณค่าเติบโตไปด้วยกัน” นายสมพร กล่าว

ตลอดระยะเวลานับตั้งแต่ปี 2518 ที่ซีพีเอฟนำระบบคอนแทรคฟาร์มมิ่ง (Contract Farming) มาประยุกต์ใช้กับธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมแบบครบวงจร เพื่อส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์แบบพันธสัญญาแก่เกษตรกรรายย่อย ภายใต้หลักคิด ‘เกษตรกรคือคู่ชีวิต’ ร่วมสนับสนุนความมั่นคงทางอาชีพและรายได้ให้แก่เกษตรกรรายย่อยของไทย มีความเป็นอยู่ที่ดีอย่างยั่งยืน พึ่งพาตนเองอย่างเข้มแข็ง มีส่วนช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจในระดับชุมชนและประเทศ ควบคู่กับการผลิตเนื้อสัตว์ที่รับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ร่วมกันผลิตและส่งมอบสินค้าอาหารคุณภาพมาตรฐานสูง สร้างความมั่นคงด้านอาหารให้คนไทย 

เกษตรกรเฮ !! สินค้าเกษตร ขยับราคาขึ้น สอดรับนโยบายกระทรวงเกษตรฯ หลังปราบสินค้าเถื่อน

นางสาวอัยรินทร์ พันธุ์ฤทธิ์ โฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (ฝ่ายการเมือง) กล่าวถึงราคาสินค้าเกษตรสำคัญหลายชนิดมีทิศทางปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง สร้างความพึงพอใจให้กับเกษตรกร ตามนโยบายตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้ ของรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ภายใต้การขับเคลื่อนการดำเนินงานของ ร้อยเอก ธรรมนัส พรมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และรัฐมนตรีช่วยฯ ทั้งสองท่าน และการบริหารราชการในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยเฉพาะการปราบปรามการลักลอบนำเข้าสินค้าเกษตรผิดกฎหมาย (สินค้าเถื่อน)อย่างเข้มงวด การเร่งแก้ไขปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ การเพิ่มประสิทธิภาพในการบริการจัดการน้ำช่วงวิกฤติภัยแล้งและฝนทิ้งช่วง รวมไปถึงการมุ่งยกระดับสินค้าเกษตร ซึ่งผลการดำเนินงานตลอดระยะเวลา 4 เดือนที่ผ่านมา พบว่า ข้าว มันสำปะหลัง ยางพารา ปาล์มน้ำมัน มะพร้าว สับปะรด น้ำนมดิบ และสุกร มีทิศทางปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง

โดยเฉพาะ สุกร ราคาขยับขึ้นกิโลกรัมละ 4 บาท หลังจากปราบปราบหมูเถื่อนอย่างจริงจัง  ตลอดจนการตรวจค้นห้องเย็นทั่วประเทศมากกว่า 2 พันแห่ง ขณะที่ ยางพารา ราคายางแผ่นดิบ ปัจจุบัน (28 มกราคม 2567) เฉลี่ยอยู่ที่ 54.89 บาท/กก. สูงขึ้นจากราคา ณ เดือน กันยายน 2566 ที่ราคาเฉลี่ย 45.51 บาท/กก. โดยราคาเริ่มปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจากนโยบายจากภาครัฐในการปราบปรามและตรวจสอบการลักลอบการนำเข้ายางพาราและสินค้าเกษตรผิดกฎหมายไม่ให้ทะลักเข้ามาจากประเทศเพื่อนบ้าน และยังเป็นผลจากมาตรการการสนับสนุนการใช้ยางพาราในประเทศ รวมทั้งจากความต้องการของตลาด ภาวะฟื้นตัวของอุตสาหกรรมทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มยานยนต์ เป็นต้น ส่วนน้ำนมดิบ ปัจจุบันราคาเฉลี่ยที่ 20.21 บาท/กก. เพิ่มขึ้นจากช่วงเดือนกันยายน 2566 ที่ราคา 19.65 บาท/กก. เนื่องจากกระทรวงเกษตรฯ ได้มีประกาศฯ ปรับเพิ่มราคากลางรับซื้อน้ำนมโค ณ ศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบ เพื่อช่วยเหลือเกษตรกร 

ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะยังคงขับเคลื่อนการดำเนินงานในทุกด้านตามนโยบายและแผนที่วางไว้ เพื่อยกระดับคุณภาพสินค้าเกษตรและราคาสินค้าเกษตร แก้ไขปัญหาปากท้องของพี่น้องเกษตรกร ให้กินดีอยู่ดีมีคุณภาพชีวิตที่ดี ภาคการเกษตรเติบโต มีรายได้เพิ่มขึ้นอย่างมั่นคงต่อไป

'นักวิจัยญี่ปุ่น' เผย!! 'ตาข่ายสีแดง' ปกป้องพืชผลจากแมลงได้ดีที่สุด บังตาพืชผล ลดใช้สารเคมี เพิ่มโอกาสพืชรับ 'แสง-น้ำ-อากาศถ่ายเท'

(20 ก.พ. 67) จาก TNN Tech เผยข้อมูลจากนักวิจัยประเทศญี่ปุ่นที่ค้นพบว่า 'ตาข่ายสีแดง' สามารถปกป้องพืชผลจากแมลงได้มีประสิทธิภาพสูงที่สุด ซึ่งแตกต่างจากตาข่ายที่ใช้กับแปลงปลูกผักแบบกางมุ้งในปัจจุบันที่มักเป็นสีดำ สีขาว สีเขียวหรือสีน้ำเงิน

แม้ว่าการปลูกพืชในมุ้งจะเป็นวิธีการหนึ่งที่ทำให้ผักปลอดจากสารเคมีกำจัดแมลงมากที่สุด แต่ยังคงมีแมลงบางชนิดที่สามารถหลุดรอดผ่านมุ้งเข้าไปทำลายแปลงผักของเกษตรกรได้ โดยเฉพาะ 'เพลี้ยไฟหัวหอม' ซึ่งนอกจากกินต้นพืช มันยังมีเชื้อไวรัสที่เป็นอันตรายทิ้งเอาไว้ด้วย

งานวิจัยตาข่ายสีแดงปกป้องพืชชิ้นนี้เกิดขึ้นโดยความบังเอิญหลังมีการตรวจพบว่าเพลี้ยไฟหัวหอม มักอยู่ห่างจากพืชที่ถูกฉายรังสีด้วยแสงสีแดง ทำให้ศาสตราจารย์ มาซามิ ชิโมดะ และทีมงานนักวิจัยมหาวิทยาลัยโตเกียว ตั้งสมมติฐานว่าหากใช้ตาข่ายสีแดงอาจสามารถกันแมลงได้ 

ทีมงานได้ใช้ตาข่ายสีแดงผสมกับสีอื่นๆ สามสี ประกอบด้วย แดง-ขาว แดง-ดำ และแดง-แดง โดยตาข่ายแต่ละสีมีขนาดรูแตกต่างกัน เช่น 2, 1 และ 0.8 มม. เพื่อให้ได้คำตอบของงานวิจัยที่แม่นยำทั้งในด้านของการใช้สีและขนาดของรูตาข่าย

ตาข่ายทั้ง 3 แบบ ถูกนำมาคลุมแปลงต้นหอมคูโจ หรือหัวหอมเวลส์ และเริ่มทำการทดลองปล่อยให้ต้นหอมเจริญเติบโต ผลการทดลองพบว่าแม้ตาข่ายสี 'แดง-แดง' จะมีรูตาข่ายขนาดใหญ่แมลงลอดผ่านได้ง่ายมากกว่าตาข่ายสีอื่น แต่ผักกลับมีร่องรอยการโจมตีของแมลงที่น้อย แสดงว่าให้เห็นว่าแมลงอาจมองไม่เห็นตาข่ายสีแดง

นักวิจัยได้ทำการค้นคว้าเพิ่มเติมและพบคำตอบว่า แมลงส่วนใหญ่รวมถึงเพลี้ยไฟหัวหอม ไม่มีเซลล์รับแสงสีแดงในดวงตาไม่สามารถมองเห็นสีแดงได้เช่นเดียวกับดวงตาของมนุษย์ ทำให้พวกแมลงไม่สามารถมองเห็นตาข่ายสีแดง รวมไปถึงผักที่โดนตาข่ายสีแดงปกป้องเอาไว้ 

อย่างไรก็ตาม นักวิจัยยังคงทำการทดลองต่อไป เพื่อให้เข้าใจคุณสมบัติของตาข่ายสีแดงที่มีผลต่อแมลงและพฤติกรรมของเพลี้ยไฟหัวหอมอย่างแท้จริง รวมไปถึงศึกษาพฤติกรรมของแมลงสายพันธุ์อื่นๆ เนื่องจากตาข่ายสีแดงยังไม่สามารถป้องกันแมลงทุกสายพันธุ์ได้อย่างสมบูรณ์

ทั้งนี้ งานวิจัยดังกล่าว นับว่าเป็นการค้นพบครั้งสำคัญและอาจปูทางไปสู่การลดใช้สารเคมีปราบแมลงในการทำเกษตร นอกจากนี้การใช้ตาข่ายสีแดงและรูตาข่ายที่ใหญ่ขึ้น ยังเพิ่มโอกาสให้พืชสามารถรับแสงแดด น้ำและการไหลเวียนของอากาศได้ดีมากขึ้นยิ่งขึ้น

'รมว.ปุ้ย' กางแผนบริหารจัดการอ้อยทั้งระบบ 'ช่วยเพิ่มรายได้เกษตรกร-ลดมลพิษ' ยกหูถึง 'พีระพันธุ์' ดันใช้ E20 พร้อมปลดล็อกเอทานอลอ้อย ขายให้อุตฯ อื่นได้

'รมว.พิมพ์ภัทรา' รัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดแผนบริหารจัดการอ้อยทั้งระบบ ยกหูถึง 'นายพีระพันธ์' รัฐมนตรีกระทรวงพลังงาน ดันการใช้น้ำมันเชื้อเพลิง E20 เป็นน้ำมันพื้นฐาน ปลดล็อกผู้ผลิตเอทานอลเป็นเชื้อเพลิง ขายให้อุตสาหกรรมอื่น ๆ ได้ เพิ่มการรับซื้อไฟฟ้าชีวมวลในราคาที่เหมาะสม เตรียมดึงแพลตฟอร์มจาก 'ไทยคม' เผยจุด Hot Spot ย้อนหลัง 3 ปี เร่งแก้ปัญหา PM 2.5

(12 มี.ค.67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า หลังจากที่กลุ่มผู้ประกอบการอ้อยและน้ำตาลทราย ในฐานะ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย (TSMC) เข้าพบ โดยได้หารือถึงการพัฒนาอุตสาหกรรมอ้อย เนื่องจากปัจจุบันมีความไม่สมดุลในการสร้างรายได้ของเกษตรกร โดยกลุ่มเอทานอล ขอให้รัฐส่งเสริมการใช้น้ำมันเชื้อเพลิง E20 เป็นน้ำมันพื้นฐานช่วงการเปลี่ยนผ่าน และปลดล็อกให้ผู้ผลิตเอทานอลเป็นเชื้อเพลิง สามารถจำหน่ายเอทานอลให้อุตสาหกรรมอื่น ๆ ได้

ขณะที่กลุ่มไฟฟ้าชีวมวล ขอให้เพิ่มการรับซื้อไฟฟ้าชีวมวลในราคาที่เหมาะสม และต่อสัญญาซื้อขายไฟฟ้าชีวมวลที่จะหมดอายุในราคาที่เหมาะสม

“กระทรวงอุตสาหกรรมได้หารืออยู่ตลอดกับนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และเป็นทางที่รัฐบาลให้ความสนใจในการพัฒนาสอดคล้องกันอยู่แล้ว จากนี้จะเร่งเรื่องนี้เข้าเพิ่มเติมในรายละเอียดและผลักดันไปในระดับนโยบาย ล่าสุดที่ยกหูถึงพี่พี (รัฐมนตรีกระทรวงพลังงาน) ซึ่งก็ได้รับทราบแนวทางดังกล่าวเรียบร้อยแล้ว”

นอกจากนี้ ยังมีการหารือในการที่จะนำเทคโนโลยีดาวเทียม การตรวจหาความร้อน แหล่งกำเนิดฝุ่นควัน PM2.5 มาใช้ในภาคการเกษตร โดยตน และผู้บริหารระดับสูงของกระทรวง รวมถึงผู้บริหารจากคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาล ได้ร่วมหารือกับ คณะผู้บริหาร บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) นำโดย นายปฐมภพ สุวรรณศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ที่จะมุ่งไปที่เรื่องของการใช้แพลตฟอร์มอัจฉริยะที่เรียกว่า ‘Sugarcane Intelligence System’ มีข้อมูลพื้นที่ ข้อมูลแปลงเกษตรไร่อ้อย และสามารถแสดงผลจุดความร้อน (Hot Spot) ดูข้อมูลย้อนหลังได้ 3 ปี

ซึ่งเป็นชุดข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในการวางแผน กำหนดทิศทางเกษตรกรรมของเกษตรกรชาวไร่อ้อย และโรงงานอุตสาหกรรมน้ำตาลได้เป็นอย่างดี ครบวงจร ยังครอบคลุมไปถึงเรื่องของการแก้ปัญหาเผาไร่อ้อยการเก็บเกี่ยวได้อีกด้วย

สำหรับมาตรการการช่วยเหลือเกษตรกร ทั้งเรื่อง ส่งเสริมสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้กับเกษตรกร สำหรับบริหารจัดการแหล่งน้ำและซื้อเครื่องจักรกลการเกษตรในไร่อ้อย ปัจจุบันได้มีการสนับสนุนเกษตรกรที่ตัดอ้อยสดส่งโรงงานน้ำตาลให้ได้รับสิทธิในการลดดอกเบี้ยเงินกู้ สร้างแรงจูงใจให้เกษตรกรเลือกการตัดอ้อยสดแทนการเผา และเป็นการส่งเสริมให้เกษตรกรได้ใช้ประโยชน์จากใบและยอดอ้อย โดยการจำหน่ายให้กับโรงงานเพื่อให้มีรายได้เพิ่มขึ้น และเร็ว ๆ นี้จะมี พ.ร.บ.อากาศสะอาด เป็นกฎหมายควบคุมมลพิษจากต้นกำเนิด PM 2.5 เป็นการแก้ปัญหาการเผาไร่อ้อยได้อย่างยั่งยืน

“เทคโนโลยีนี้เป็นประโยชน์อย่างมากเมื่อนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด สำหรับการบริหารจัดการไร่อ้อยแบบครบวงจร และมีประสิทธิภาพ ซึ่งเราขอเน้นเรื่องของการเพิ่มผลผลิตให้กับเกษตรกรเป็นหลัก”

สำหรับอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลในประเทศไทยมีมูลค่า 235,000 ล้าน แบ่งเป็นน้ำตาล 199,000 ล้านบาท (อ้อย 131,000 ล้านบาท) กลุ่มโมลาสและเอทานอล 22,000 ล้านบาท กลุ่มไฟฟ้าชีวมวล 14,000 ล้านบาท ที่มาจากใบอ้อยเพื่อต้องการลดภาวะฝุ่นควัน PM 2.5 และลดการเผาทิ้ง กลุ่มเชื้อเพลิงชีวภาคจากเอทานอล และอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องทั้งเกรดบริสุทธิ์ เกรดอุตสาหกรรมเภสัชกรรม เกรดเชื้อเพลิง


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top