Tuesday, 18 March 2025
Econbiz

‘มือเศรษฐกิจจุลภาค’ ชี้!! กระแส ‘EV’ มาแรง เขย่าวงการรถยนต์ แนะ ‘ไทย’ จับทิศทางให้ถูก รับมือการเปลี่ยนแปลงรอยต่อเทคโนโลยี

(10 ธ.ค. 66) นายพลัฏฐ์ ศิริกุลพิสุทธิ์ มือเศรษฐกิจจุลภาค อดีตเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ‘Ta Plus Sirikulpisut’ เกี่ยวกับกระแสตอบรับของรถยนต์ไฟฟ้า จากงาน ‘Motor Expo 2023’ ระบุว่า…

‘Motor Expo’ คราวนี้ รถยนต์ไฟฟ้าขายดีมากๆ ยุคแห่งการเปลี่ยนแปลงเริ่มแล้วในไทย?

รถยนต์เป็นพาหนะที่คุ้นเคย จากราคาน้ำมันในตลาดโลกที่แพงขึ้น ทำให้คนเริ่มเปลี่ยนมาใช้รถยนต์ไฟฟ้า แม้รถยนต์ไฟฟ้าจะมีปัญหาในเรื่องของจุดชาร์จ แบตดับก่อนที่ Range ในจอบอกไว้ ขายต่อยาก และค่าประกันแพง

แต่ปัญหาเหล่านี้ทยอยถูกแก้ไข และที่สำคัญคือ ‘คนใช้รถ’ จะเอาเงินค่าเติมน้ำมันมาผ่อนรถได้เกือบฟรีเลย ค่าบำรุงรักษาก็น้อยมาก ยกเว้นเปลี่ยนแบตเตอรี่ การตัดสินใจตรงนี้ทำให้มีการเปลี่ยนไปใช้รถไฟฟ้ามากขึ้น

แต่รถไฟฟ้า ไม่ใช่แค่ธุรกิจรถยนต์ มันมี 3 ธุรกิจ อยู่ในนั้น คือ ไฟฟ้า คอมพิวเตอร์ซอฟต์แวร์ และยานยนต์

นั่นคือ Toyota, Panasonic และ Apple รวมกัน

เทคโนโลยีเปลี่ยนเร็วมาก ถ้ามีระบบที่ทำให้ชาร์จไว และวิ่งได้นานขึ้น จาก 400 Km เป็น 700 Km รถที่คุณใช้จะกลายเป็นรถตกรุ่นเหมือนโทรศัพท์ตกรุ่นทันที และถ้ารถมีเทคโนโลยีช่วยขับ คนเก่าก็ตกรุ่นทันที อีกหน่อยถ้าบินได้ยิ่งแล้วใหญ่เลย

วันนึงถ้า Apple พร้อม แล้วออกรถยนต์ไฟฟ้า Toyota, Benz, BMW, Tesla, BYD จะเจอเหมือน Nokia, Motorola, Nikon, Seiko การ Disrupt ครั้งใหญ่จะเกิดขึ้น

ในทางกลับกันค่ายญี่ปุ่นที่เคยมองข้าม EV เพราะหลายปีก่อน มันมีทางแยกเทคโนโลยี ยุโรปพัฒนา ‘Diesel’ ส่วนญี่ปุ่นพัฒนา ‘Hybrid’ และข้ามไปสู่ ‘Hydrogen’ ในขณะที่ ‘Elon Musk’ พัฒนา EV เมื่อจีนเข้ามาเร่งปฎิกริยา EV ดูเหมือน EV จะชนะแล้ว แต่ญี่ปุ่นยังไม่ยอมแพ้ ยังไม่ทิ้ง Hydrogen การที่ไม่ยอมแพ้ทำให้ เงิน R&D กระจายไป 3 ทาง Hybrid, EV และ Hydrogen ไม่สุดสักทาง

อย่างไรก็ดี ขอให้ไทยเราจับทิศทางให้ถูกเพื่อสร้างอุตสาหกรรม เพื่อการจ้างงานในประเทศ ดูแลคนไทยในยุครอยต่อของเทคโนโลยี

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ‘ภาคเหนือ-ใต้’ ลดลง สะท้อน ‘นโยบายประชานิยม’ ใช้ไม่ได้ผลเสมอไป

สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) ได้รายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน พฤศจิกายน 2566 ในภาพรวมนั้น ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เท่ากับ 55.0 ปรับลดจาก 55.8 ในเดือนตุลาคม 2566

สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค จำแนกรายภาค เปรียบเทียบกับเดือนตุลาคม 2566 พบว่า

- กรุงเทพฯ และปริมณฑล ดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 55.9 มาอยู่ที่ระดับ 57.4

- ภาคกลาง ดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 55.3 มาอยู่ที่ระดับ 55.7

- ภาคเหนือ ดัชนีปรับตัวลดลงจากระดับ 57.3 มาอยู่ที่ระดับ 53.4

- ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 56.3 มาอยู่ที่ระดับ 57.0

- ภาคใต้ ดัชนีปรับตัวลดลงจากระดับ 53.1 มาอยู่ที่ระดับ 51.8

ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่นผู้บริโภค ที่สำคัญที่สุด คือ ‘เศรษฐกิจไทย’ คิดเป็นร้อยละ 44.12 รองลงมา คือ ‘มาตรการภาครัฐ’ คิดเป็นร้อยละ 14.93 ลำดับ 3 เป็น ‘ราคาสินค้าเกษตร’ คิดเป็นร้อยละ 11.48 

ถึงแม้ว่า หากเทียบกับดัชนีความเชื่อมั่น ในปี 2564 เฉลี่ยอยู่ที่ 43.0 และ ปี 2565 เฉลี่ยอยู่ที่ 46.2 จะพบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ปรับตัวสูงขึ้นมาก แต่ส่วนหนึ่ง เกิดจากภาวะการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า (COVID-19) และ สงครามรัสเซีย-ยูเครน ซึ่งกระทบต่อเศรษฐกิจโลก และ เศรษฐกิจไทย เป็นอย่างมาก ส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ต่ำกว่าระดับ 50.0 หมายถึง ผู้บริโภคมีความไม่เชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจ (อยู่ในช่วงไม่เชื่อมั่น) 

ซึ่งในปี 2566 ดัชนีความเชื่อมั่นโดยรวม อยู่เกินระดับ 50.0 ในทุกเดือน สะท้อนให้เห็นถึง สถานการณ์ปัจจุบัน หลังผ่านเหตุการณ์สำคัญดังกล่าว ภาพรวมของเศรษฐกิจไทย ปรับตัวดีขึ้นมาก รวมทั้งการท่องเที่ยวที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น สิ่งหนึ่งที่ต้องชื่นชมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ก็คือ มาตรการของรัฐ ที่ใช้กระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงภาวะวิกฤต ของรัฐบาลชุดที่ผ่านมา 

แต่หากพิจารณาเฉพาะข้อมูลส่วนนี้ จะพบประเด็นที่น่าสนใจ ว่า พื้นที่ ภาคเหนือ และ ภาคใต้ ดัชนีความเชื่อมั่นปรับตัวลดลง โดยเฉพาะภาคเหนือ มีอัตราการลดลง มากที่สุด อยู่ที่ 3.9 และ ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อดัชนีความเชื่อมั่น ของพื้นที่ภาคเหนือ ลำดับที่ 2 อยู่ที่ ‘มาตรการภาครัฐ’ สัญญาณเล็กๆ นี้ ที่รัฐบาลชุดปัจจุบัน อาจต้องให้ความสนใจพอสมควร เพราะสิ่งที่ต้องไม่ลืม ในทางการเมือง พื้นที่นี้ เดิม เป็นพื้นที่ฐานเสียงหลักของรัฐบาลปัจจุบัน และการเลือกตั้งที่ผ่านมา หลายพื้นที่ ได้เสียฐานคะแนนเสียงให้กับคู่แข่ง มากพอสมควร

ประชาชนในพื้นที่ภาคเหนือ มีดัชนีความเชื่อมั่นลดต่ำลง และ ปัจจัยสำคัญ คือ มาตรการภาครัฐ ที่จะใช้เพื่อการประชานิยม เพิ่มคะแนนเสียง และมาตรการสำคัญที่กำลังถูกจับตา คือ นโยบายการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท หรือโครงการ Digital wallet ที่อาจจะยังมองไม่เห็นทางออกในการดำเนินการโครงการนี้ ซึ่งมีการปรับเปลี่ยนเงื่อนไข ลดกลุ่มเป้าหมายที่จะแจกเงินดิจิทัล ลงอย่างต่อเนื่อง

สุดท้าย พื้นที่สำคัญนี้ ของรัฐบาล จะรักษาไว้ได้ หรือ เสียคะแนนเพิ่ม ดัชนี้ผู้บริโภค อาจเป็นคำตอบได้เป็นอย่างดี

‘พีระพันธุ์’ เปิดอาคาร ‘Net zero energy building’ ใหญ่สุดในไทย หนุน ไทยมีอาคารใช้พลังงานสุทธิเป็นศูนย์ 2,000 แห่ง ภายในปี 79 

(10 ธ.ค. 66) นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ได้เป็นประธานในพิธีเปิดอาคารต้นแบบสาธิตการใช้พลังงานสุทธิเป็นศูนย์ ‘Net Zero Energy Building’ (อาคาร 70 ปี พพ.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันการสร้างอาคารใหม่ ๆ ของไทยได้นำแนวคิดด้านการประหยัดพลังงานและการใช้พลังงานทดแทน โดยการทำให้การใช้พลังงานสุทธิเท่ากับศูนย์ (Net Zero Energy Building : NZEB) เริ่มถูกนำมาประยุกต์ใช้ในอาคารและที่อยู่อาศัยมากขึ้น ซึ่งเป็นแนวคิดในการพัฒนาอาคารที่สอดคล้องกับแผนปฏิบัติการ เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขององค์การสหประชาชาติ (United Nations) ที่จะลดก๊าซเรือนกระจกทั่วโลกลงให้ได้ 45% ในปี พ.ศ. 2573 และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ในปี พ.ศ. 2593

ในขณะที่ประเทศไทยในฐานะสมาชิกองค์การสหประชาชาติ ได้มีการประกาศแผนการลดก๊าซเรือนกระจกให้ได้ 20% ถึง 25% ภายในปี พ.ศ. 2573 ทำให้ทุกภาคส่วนในประเทศไทยได้มีการประกาศแผนการลดก๊าซเรือนกระจกไว้ในแผนธุรกิจและแผนการบริหารจัดการองค์กรมากขึ้น

ดังนั้น กระทรวงพลังงาน โดยกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) จึงได้เห็นความสำคัญที่จะต้องวางแผนและเริ่มการศึกษา ออกแบบ และก่อสร้างอาคารที่ใช้พลังงานสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Energy Building) ซึ่งมีการดำเนินการในต่างประเทศอย่างแพร่หลาย แต่ในประเทศยังไม่มีตัวอย่างที่สมบูรณ์ให้ศึกษาเรียนรู้

โดยในปี 2562 พพ. ได้เริ่มศึกษาและได้จัดสรรงบประมาณกว่า 81,600,000 บาท เพื่อสร้างอาคารต้นแบบสาธิตการใช้พลังงานสุทธิเป็นศูนย์ ‘Net Zero Energy Building’ หรือ ‘อาคาร 70 ปี พพ.’ แห่งนี้ โดยมีการออกแบบภายใต้หลักการการอนุรักษ์พลังงาน เพื่อลดการใช้พลังงานอาคารผ่านการออกแบบที่ใช้ประโยชน์จากสภาวะแวดล้อม และการใช้วัสดุอุปกรณ์ประสิทธิภาพสูง พร้อมการใช้พลังงานทดแทนจากระบบผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ เพื่อให้เกิดอาคารพลังงานสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Energy Building : NZEB)

ตลอดจนมีการออกแบบตามมาตรฐานอาคารเขียวภาครัฐ ‘G–GOODs’ ของกรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย พ.ศ. 2562 เพื่อให้การก่อสร้างอาคารมีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน อีกทั้ง ยังเป็นโครงการที่เข้ารับการประเมินการรับรองมาตรฐานอาคารเขียวไทย (TREES-NC) ให้การรับรองโดยสถาบันอาคารเขียวไทย ระดับ Platinum และยังเป็นอาคารสำนักงาน ‘Zero Energy Building’ ที่มีพื้นที่ใช้สอยขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย อีกด้วย

นายโสภณ มณีโชติ รองอธิบดี รักษาราชการแทนอธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กล่าวว่า คาดการณ์ว่าภายในปี 2579 ประเทศไทยจะมีอาคารใช้พลังงานเป็นศูนย์มากกว่า 2,000 อาคาร แม้ต้นทุนในการพัฒนาอาคารใช้พลังงานเป็นศูนย์จะสูงกว่าอาคารทั่วไป แต่ก็มีความคุ้มค่าในระยะยาว ไม่เพียงอาคารใหม่ที่สามารถพัฒนา เพื่อเป็นอาคารใช้พลังงานสุทธิเป็นศูนย์ อาคารเก่าที่เปิดใช้งานไปแล้ว ก็ยังสามารถปรับปรุงเพื่อเป็นอาคารใช้พลังงานสุทธิเป็นศูนย์ได้เช่นเดียวกัน

‘Boeing’ เล็งจัดหาเครื่องบิน ‘Boeing 787’ ให้ ‘การบินไทย’ หนุนแผนพัฒนาฟื้นฟูองค์กร เพิ่มขีดการแข่งขันตลาดการบิน

เมื่อวันที่ 9 ธ.ค. 66 สำนักข่าวรอยเตอร์ รายงานว่า ‘Boeing’ กำลังมีความก้าวหน้าครั้งสำคัญในการหารือกับ ‘การบินไทย’ เพื่อจัดหาเครื่องบินลำตัวกว้าง ‘Boeing 787 Dreamliner’ ประมาณ 80 ลำให้กับสายการบิน

รายงานที่เกิดขึ้น บ่งชี้ถึงความได้เปรียบของ ‘Boeing’ ที่มีเหนือ ‘Airbus’ ในการเจรจาอย่างต่อเนื่องเกี่ยวกับแผนการพัฒนาฝูงบินของการบินไทย ซึ่งนี่จะถือเป็นหนึ่งในคำสั่งซื้อเครื่องบินลำตัวกว้างที่สำคัญที่สุดรายการหนึ่ง ที่เกิดขึ้นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ข้อตกลงที่จะเกิดขึ้นจะถือเป็นความสำเร็จที่โดดเด่นของ Boeing ในตลาดการบินที่มีการแข่งขันสูง

การเจรจาจัดหาเครื่องบินใหม่นี้ รายงานโดยรอยเตอร์เป็นครั้งแรกในเดือนกันยายน โดยเน้นย้ำถึงความตั้งใจของการบินไทยที่จะขยายฝูงบินด้วยเครื่องบินลำตัวกว้างสูงสุด 80 ลำ และเครื่องบินลำตัวแคบ 15 ลำ แผนการปรับปรุงฝูงบินนี้ จุดชนวนให้เกิดการแข่งขันกันอย่างดุเดือดระหว่างเครื่องบิน Boeing 787 Dreamliner จาก Boeing และเครื่องบินรุ่น Airbus A350 จาก Airbus ทั้งนี้ Boeing, Airbus และรวมถึงการบินไทย ยังคงงดแสดงความคิดเห็นในเรื่องนี้ 

ด้านการบินไทย ตั้งเป้าที่จะใช้ประโยชน์จากการเดินทางที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว หลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยการปรับปรุงเส้นทางบินในภูมิภาคด้วยฝูงบินที่ได้รับการปรับปรุงใหม่

อย่างไรก็ตาม มีความกังวลเกี่ยวกับขีดความสามารถของผู้ผลิตเครื่องบินรายใหญ่อย่าง Boeing และ Airbus ในการเพิ่มการผลิตเครื่องบิน เพื่อรองรับความต้องการที่เพิ่มมากขึ้น การตัดสินใจของสายการบินในการจัดหาฝูงบิน Boeing 787 Dreamliners จำนวนมาก ถือเป็นการเคลื่อนไหวเชิงกลยุทธ์ เพื่อเสริมความแข็งแกร่งให้กับสถานะของตนในตลาดการท่องเที่ยวที่กำลังเติบโต

'นิคมฯ อุดรธานี' วอนรัฐ หนุนเป็นเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ NeEC เชื่อ!! เปิดประตู 'เศรษฐกิจ-การลงทุน' สู่พื้นที่ 'CLMVT-จีนตอนใต้'

นิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี วอนภาครัฐขยายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษหนองคายครอบคลุมถึงพื้นที่นิคมฯ เพื่อให้ผู้ประกอบการได้รับสิทธิประโยชน์เทียบเท่า ชงส่งเสริม Logistics Park ในนิคมฯ ให้เป็น One Stop Service เชื่อมโยงการบริการขนส่งด้วยตู้คอนเทนเนอร์ และพิธีศุลกากรในจุดเดียวเบ็ดเสร็จ หวังจูงใจการลงทุนในพื้นที่ CLMVT

(11 ธ.ค.66) นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า การประชุมหัวหน้าส่วนราชการและภาคเอกชน ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 1 จังหวัดอุดรธานี เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2566 ที่ผ่านมา ได้เปิดโอกาสให้ภาคเอกชนนำเสนอปัญหาและอุปสรรคในการประกอบกิจการ โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานราชการต่างๆ ในพื้นที่ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมด้วย 

ทั้งนี้ บริษัท เมืองอุตสาหกรรมอุดรธานี จำกัด ซึ่งเป็นผู้บริหารนิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี และเป็นนิคมอุตสาหกรรมร่วมดำเนินงานกับ กนอ. ได้ขอรับการสนับสนุนจากภาครัฐ ให้ยกระดับพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี เป็นเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ NeEC เทียบเท่าเขตเศรษฐกิจพิเศษหนองคาย เนื่องจากนิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี ตั้งอยู่ในยุทธศาสตร์ที่เหมาะสมจะพัฒนาเป็นศูนย์กลางการขนส่งของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และยังเป็นประตูสู่ประเทศ CLMVT และจีนตอนใต้อีกด้วย

สำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมายนั้น ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มกิจการ A4 (กิจการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีเป้าหมาย) ของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) โดยจะได้รับสิทธิประโยชน์จาก BOI ตามประเภทกิจการ ซึ่งผู้ประกอบการจะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 3 ปี และหากได้รับการยกระดับให้เป็นเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ NeEC ผู้ประกอบการจะได้รับสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมอีก 5 ปี รวมเป็น 8 ปี 

นอกจากนี้ บริษัท เมืองอุตสาหกรรมอุดรธานี จำกัด ยังมีแผนพัฒนาพื้นที่กว่า 400 ไร่ ที่อยู่ติดกับทางรถไฟสายกรุงเทพฯ-หนองคาย เพื่อพัฒนาเป็นศูนย์ Logistic Park ในระยะที่ 1 ก่อสร้างอาคารคลังสินค้าให้เช่า และขออนุญาตจัดตั้งโรงพักสินค้าพร้อมลานกองเก็บตู้คอนเทนเนอร์ (CY) เพื่อบรรจุและตรวจปล่อยสินค้าขาเข้าและขาออก 

ระยะที่ 2 ขออนุญาตจัดตั้งเขตศุลกากร พร้อมลานฝากตู้คอนเทนเนอร์ภายในประเทศ Inland Container Depot : ICD ที่สามารถเชื่อมระบบรางเข้ามาภายในพื้นที่เพื่อให้บริการขนส่งสินค้าทางรางเต็มรูปแบบ

นิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี ตั้งเป้าพัฒนาให้เป็นนิคมอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนและเทคโนโลยีสะอาด สนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร และอุตสาหกรรมท่องเที่ยว 

นอกจากนี้ ยังเป็นนิคมอุตสาหกรรมแห่งเดียวในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่ตั้งอยู่บนเส้นทางรถไฟความเร็วสูง ไทย-ลาว-จีน จึงเป็นโอกาสดึงดูดนักลงทุนจากในประเทศและต่างประเทศให้เข้ามาลงทุนในนิคมฯ มากขึ้น และยังช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้อย่างเป็นรูปธรรม

"ข้อเสนอที่บริษัทฯ ได้นำเสนอต่อที่ประชุมนั้น ถือว่าเป็นประโยชน์ โดยเฉพาะนวัตกรรม ICD Logistic Park ที่น่าจะเกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่ง กนอ.จะประสานกับคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) และกรมศุลกากรให้ ขณะที่เรื่องการยกระดับให้เป็นเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ NeEC เทียบเท่าเขตเศรษฐกิจพิเศษหนองคาย เพื่อเพิ่มเติมสิทธิประโยชน์ให้เป็นแรงจูงใจในการดึงดูดการลงทุนในพื้นที่นั้น คงต้องหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งนำเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ (กพศ.) ต่อไป" นายวีริศ กล่าว

นิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี ตั้งอยู่ที่ตำบลโนนสูง อำเภอเมืองอุดรธานี จังหวัดอุดรธานี มีพื้นที่ประมาณ 2,170 ไร่ ดำเนินการโดย บริษัท เมืองอุตสาหกรรมอุดรธานี จำกัด ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2557 ปัจจุบันมีลูกค้า 8 ราย พื้นที่ประมาณ 145 ไร่ ประเภทกิจการ ได้แก่ 1.ผลิตอาหารแปรรูป (ไตปลา,ปลาร้าต้มสุก) 2.คลังสินค้า คลังสินค้าแช่เย็น 3.ศูนย์จัดเก็บและกระจายสินค้า 4.โรงพักสินค้า (Warehouse) 5.สร้างโรงงานมาตรฐานให้เช่า และ 6.ผลิตผลิตภัณฑ์โลหะ รวมถึงชิ้นส่วนโลหะและผลิตภัณฑ์พลาสติก หรือเคลือบด้วยพลาสติก

‘สุริยะ’ ไฟเขียว!! จัดตั้งคณะทำงานกลุ่มนักลงทุนสัมพันธ์ ช่วยประชาสัมพันธ์ - ดูแลนักลงทุนที่มาลงทุนในไทย

‘บอร์ดเร่งรัดลงทุน อีอีซี’ ไฟเขียวจัดตั้งคณะทำงานกลุ่มนักลงทุนสัมพันธ์เชื่อมร่วมมือ ‘บีโอไอ-กนอ.’ ดึงลงทุนเข้าประเทศ พร้อมอัปเดต 4 โปรเจกต์หลัก เร่งเคลียร์ส่งมอบพื้นที่ไฮสปีดเชื่อมสามสนามบิน ลุ้นอัยการตีความบัตรส่งเสริมการลงทุน คาดเริ่มสร้างปีหน้า เสร็จตามแผนในปี 71 ส่วน ‘เมืองการบิน-แหลมฉบังเฟส 3-ท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด’ เปิดใช้ปี 70

(11 ธ.ค. 66) นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการเร่งรัดการลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ครั้งที่ 1/2566 เมื่อวันที่ 8 ธ.ค. 2566 ที่ผ่านมา โดยมีนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคม เป็นประธานฯ ว่า ที่ประชุมฯ ได้พิจารณาเห็นชอบข้อเสนอการบูรณาการทำงานร่วมกันของหน่วยงานส่งเสริมการลงทุน ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.), สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) และการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เพื่อลดความซ้ำซ้อนการดำเนินงานหน่วยงานภาครัฐ และเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ

ทั้งนี้ ในด้านพื้นที่การให้สิทธิประโยชน์ สกพอ. จะให้สิทธิประโยชน์เฉพาะในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ ตามมาตรา 48 ของ พ.ร.บ. เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ 35 เขต แบ่งเป็นพื้นที่ในนิคมอุตสาหกรรม 28 แห่งและพื้นที่เขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษเพื่อกิจการพิเศษ 7 แห่ง โดยพื้นที่นอกเหนือเขตส่งเสริมฯ ดังกล่าว จะเป็นไปตามกฎหมายของบีโอไอและ กนอ. ด้านผู้รับสิทธิประโยชน์ สกพอ. จะให้สิทธิประโยชน์แก่ผู้ประกอบการใน 12 อุตสาหกรรมเป้าหมาย และต้องเป็นโครงการที่ไม่เคยได้รับการส่งเสริมลงทุน และไม่ได้ใช้สิทธิประโยชน์ร่วมกับโครงการจากบีโอไอมาก่อน

นายจุฬา กล่าวต่อว่า กรณีโครงการเคยได้รับส่งเสริมลงทุนจากบีโอไอ สกพอ. จะพิจารณาเฉพาะสิทธินอกเหนือ เช่น สิทธิประโยชน์ถือครองห้องชุด สิทธิประโยชน์ยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายศุลกากร เป็นต้น ด้านการอนุมัติอนุญาตตามกฎหมาย สกพอ. ได้มีระบบบริการภาครัฐแบบเบ็ดเสร็จครบวงจร (EEC One Stop Service) รองรับการอนุมัติ อนุญาต ออกใบอนุญาต รับแจ้งจดทะเบียนตามกฎหมายต่างๆ เช่น กฎหมายว่าขุดดินถมดิน การควบคุมอาคาร การจดทะเบียนเครื่องจักร กฎหมายคนเข้าเมือง เป็นต้น

ทั้งนี้ จำเป็นต้องร่วมกับบีโอไอ และ กนอ. เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการทำงาน โดยสิทธิประโยชน์ของ สกพอ. จะเริ่มตั้งแต่ 1 ม.ค. 2567 อีกทั้ง ที่ประชุมฯ ได้มอบหมายให้ สกพอ. บีโอไอ และ กนอ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีคณะทำงานฯ ร่วมกัน ทำหน้าที่เป็นกลุ่มนักลงทุนสัมพันธ์ เพื่อเป็นศูนย์กลางรับรองนักลงทุนที่จะเข้ามาลงทุนในประเทศไทย และประชาสัมพันธ์ส่งเสริมการลงทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นายจุฬา กล่าวอีกว่า สำหรับการขับเคลื่อนโครงการโครงสร้างพื้นฐานนั้น ที่ประชุมฯ ได้รับทราบความก้าวหน้าโครงการลงทุน 4 โครงสร้างพื้นฐานหลักของอีอีซี ประกอบด้วย 1.โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน มีมติให้เร่งรัดการส่งมอบพื้นที่ส่วนที่เหลือ ช่วงพญาไทถึงบางซื่อให้เสร็จภายใน พ.ค. 2567 ส่วนพื้นที่อื่น มีความพร้อมสำหรับการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงและพื้นที่เชิงพาณิชย์ (TOD) แล้ว คงเหลือแต่รอให้เอกชนคู่สัญญาส่งเอกสารไปที่บีโอไอ เพื่อรับบัตรส่งเสริมการลงทุน ที่จะหมดอายุในวันที่ 22 ม.ค. 2567

ทั้งนี้ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) อยู่ระหว่างเตรียมออกหนังสืออนุญาตเข้าพื้นที่ (NTP) ซึ่งในเงื่อนไขของการออก NTP ระบุไว้ว่าเอกชนคู่สัญญาจะต้องได้รับบัตรส่งเสริมการลงทุนก่อน เพื่อครบเงื่อนไขเริ่มต้นโครงการที่กำหนดในสัญญา โดย รฟท. จึงได้ยื่นไปยังสำนักงานอัยการสูงสุด เพื่อพิจารณาเงื่อนไข อย่างไรก็ตาม หากสำนักงานอัยการสูงสุดตีความว่า สามารถส่งมอบพื้นที่ได้โดยไม่ต้องรอบีโอไอ โดย รฟท. จะเร่งรัดเอกชนคู่สัญญาให้แล้วเสร็จภายใน ม.ค. 2567 ก่อนจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างได้ตามแผนในปี 2567

อย่างไรก็ตาม ส่วนปัญหาการพิจารณาแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนในโครงการดังกล่าวนั้น ปัจจุบันได้ผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ซึ่งในวันที่ 13 ธ.ค. 2566 จะมีการประชุมร่วมกับเอกชนคู่สัญญาเพื่อพิจารณารายละเอียดร่างสัญญาอีกครั้ง ก่อนจะเสนอไปยังอัยการสูงสุด หากพิจารณาเห็นชอบก็จะเสนอกลับมายัง กพอ.เพื่อนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติลงนามสัญญาใหม่ต่อไป อย่างไรก็ตาม คาดว่า โครงการดังกล่าวจะแล้วเสร็จ พร้อมเปิดให้บริการในปี 2571

นายจุฬา กล่าวต่ออีกว่า 2.โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ที่ประชุมมีมติให้เร่งรัดกองทัพเรือประกาศจัดซื้อจัดจ้างงานก่อสร้างทางวิ่ง 2 และทางขับ ภายในกลาง ธ.ค. 2566 และเร่งรัดให้ สกพอ. รฟท. และเอกชนคู่สัญญาโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน และเอกชนคู่สัญญาโครงการสนามบินอู่ตะเภา สรุปแผนการทำงานร่วมกัน เพื่อให้เงื่อนไขการเริ่มต้นโครงการครบสมบูรณ์ตามที่กำหนดในสัญญา และโครงการสนามบินอู่ตะเภา สามารถเริ่มก่อสร้างได้ภายใน ม.ค. 2567 โดยคาดว่า จะแล้วเสร็จพร้อมเปิดให้บริการตามแผนในปี 2570

3.โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 มีมติให้การท่าเรือแห่งประเทศไทยเร่งรัด และกำกับการก่อสร้างงานถมทะเล (Infrastructure) ให้แล้วเสร็จและส่งมอบพื้นที่ให้เอกชนคู่สัญญาภายใน พ.ย. 2568 ตามที่กำหนดในสัญญาร่วมลงทุน และคาดว่าเอกชนคู่สัญญาจะก่อสร้างโครงสร้างท่าเรือ (Superstructure) ในส่วนท่าเรือ F1 แล้วเสร็จและเปิดให้บริการปลายปี 2570

4.โครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 มีมติให้การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ติดตามการถมทะเล (Infrastructure) ของเอกชนคู่สัญญา ให้แล้วเสร็จภายในธ.ค. 2567 โดยในปัจจุบันงานมีความคืบหน้าแล้วประมาณ 69.64% และคาดว่าเอกชนคู่สัญญาจะก่อสร้างโครงสร้างท่าเรือก๊าซเสร็จและเปิดให้บริการต้นปี 2570

'รมว.ปุ้ย' เร่งแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม เอื้อ 'คุณภาพชีวิตคน-การค้ายุคใหม่' หนุน 'ชุมชน-ภาคอุตสาหกรรม' ใช้ 'มาตรฐาน' ลดโลกร้อน

(12 ธ.ค.66) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานในพิธีเปิดการสัมมนาภายใต้กิจกรรม สมอ.สัญจร ณ จังหวัดนครศรีธรรมราช เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมาว่า...

รัฐบาลให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน พร้อมไปกับการพัฒนาเศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยถือเป็นวาระแห่งชาติที่กระทรวงอุตสาหกรรมต้องเร่งดำเนินการ และตนได้มอบเป็นนโยบายสำคัญให้หน่วยงานในสังกัดเร่งรัดดำเนินการให้สอดคล้องกับภารกิจและบริบทของแต่ละหน่วยงาน ทั้งในด้านกฎหมาย กฎระเบียบ มาตรฐาน และสิทธิประโยชน์ ตลอดจนกองทุนต่างๆ เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานอย่างเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะ 'มาตรฐาน' ที่ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือสำคัญในการแข่งขันทางการค้าในหลายๆ ประเทศทั่วโลก เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน และลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม เช่น มาตรฐานสินค้าชุมชน / มาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับการลดโลกร้อน ลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เป็นต้น ซึ่งสอดคล้องกับกฎกติกาใหม่ของการค้าระหว่างประเทศที่ให้ความสำคัญต่อปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยนำมาเป็นข้อกีดกันทางการค้า 

กระทรวงอุตสาหกรรม จึงต้องเร่งดำเนินการส่งเสริมให้ทุกภาคส่วน ทั้งภาคชุมชนฐานราก ภาคอุตสาหกรรม หน่วยงานภาครัฐ และรัฐวิสาหกิจนำมาตรฐานดังกล่าวไปใช้เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันทางการค้า ดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม และเสริมสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่ประชาชน พร้อมๆ ไปกับการเติบโตอย่างยั่งยืนของทุกภาคส่วน

ด้าน นายวันชัย พนมชัย รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม รักษาราชการแทน เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้ สมอ. ประกาศใช้มาตรฐานชุมชนไปแล้ว จำนวน 1,432 มาตรฐาน และมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมจำนวน 829 มาตรฐาน ซึ่งเป็นมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) จำนวน 778  มาตรฐาน และมาตรฐานการตรวจสอบและรับรองแห่งชาติ (มตช.) เป็นมาตรฐานระบบการจัดการในองค์กรอีกจำนวน 47 มาตรฐาน เช่น มาตรฐานลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก มาตรฐานแนวทางการหาปริมาณคาร์บอนฟุตพริ๊นท์ มาตรฐานแนวทางการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นต้น นอกจากนี้ ยังเป็นมาตรฐานอุตสาหกรรมเอส (มอก.เอส) จำนวน 4 มาตรฐาน 

สำหรับในปี 2567 สมอ. เตรียมประกาศใช้มาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมและพลังงาน เพิ่มอีก  96 มาตรฐาน ซึ่งจะดำเนินการกำหนดมาตรฐานควบคู่ไปกับการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมนำมาตรฐานไปใช้เป็นแนวทางในการดำเนินธุรกิจ พัฒนาผลิตภัณฑ์ และพัฒนาองค์กรให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมโดยมีหลักการที่สำคัญคือ ใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด ลดการผลิตของเสียให้น้อยที่สุด และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ 

ทั้งนี้ ได้เริ่มนำร่องในกิจกรรม สมอ. สัญจร ณ จังหวัดนครศรีธรรมราช เมื่อวันที่30 พฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมา โดยให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรม ผู้ประกอบการกลุ่มผลิตภัณฑ์คอนกรีตและซีเมนต์ รวมทั้งผู้ผลิตชุมชน ในเรื่องความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon neutrality) การใช้ปูนซิเมนต์ไฮโดรลิคแทนปูนซิเมนต์ปอร์ตแลนด์ และการพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชนเชิงสร้างสรรค์ด้วยแนวคิดเศรษฐกิจใหม่ เพื่อส่งเสริมให้ผู้ประกอบการและผู้ผลิตชุมชนเกิดความตระหนักถึงความสำคัญของการดำเนินงานเพื่อมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน เพื่อลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และสามารถนำความรู้ที่ได้รับไปใช้พัฒนาในกระบวนการผลิตสินค้าให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม นำไปสู่การแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อนร่วมกันต่อไป

นอกจากนี้ ยังให้ความรู้ด้านการมาตรฐานแก่เจ้าหน้าที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อให้มีความรู้ความเข้าใจด้านการมาตรฐาน ตระหนักถึงความสำคัญ สามารถนำไปใช้ในการปฏิบัติงาน และเผยแพร่ความรู้สู่ชุมชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

"ทั้งนี้ สมอ. จะเดินสายให้ความรู้ผู้ประกอบการ ร้านจำหน่าย ผู้ผลิตชุมชน และเจ้าหน้าที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้ครอบคลุมทุกภูมิภาคทั่วประเทศ สามารถติดตามข่าวสารด้านการมาตรฐาน หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม ได้ที่ www.tisi.go.th หรือ http://www.facebook.com/tisiofficial หรือ โทร. 0 2430 6833 ต่อ 2310" นายวันชัยฯ กล่าว

‘บพข.’ ผนึก ‘รัฐ-เอกชน-ชุมชน’ แก้ปัญหาขยะพลาสติก เปลี่ยน ‘ขยะซองขนม’ ไร้ราคา เป็น ‘อะลูมิเนียม’ ที่มีค่า

(11 ธ.ค.66) รายงานข่าวจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มเความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ในสังกัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยว่า บพข.ได้ร่วมมือ UNDP ประเทศไทย, CIRAC, บริษัท โกลบอล อาร์แอนด์ดี จำกัด, ทีมวิจัยเคมีเทคนิคจุฬาฯ และชุมชนวัดจากแดง ในโครงการแก้ปัญหาขยะพลาสติกผสมชั้นอะลูมิเนียมอย่างยั่งยืน ด้วยเครื่องจักรไพโรไลซิสแบบต่อเนื่องออกแบบโดยคนไทย เพื่อรีไซเคิลอะลูมิเนียมและพลาสติกใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ 

โดยได้เปิดตัวเครื่องจักรไพโรไลซิสแบบต่อเนื่องสำหรับรีไซเคิลอะลูมิเนียมจากขยะพลาสติกผสมชั้นอะลูมิเนียม หรือที่รู้จักกันดีในชื่อ ‘ถุงวิบวับ’ เพื่อแยกชั้นอะลูมิเนียมออกจากพลาสติก (Laminated Plastic) และนำอะลูมิเนียมที่แยกได้มาหลอมเป็นอะลูมิเนียมก้อนที่มีความบริสุทธิ์สูงมากกว่า 97% นำกลับไปใช้ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่มีความต้องการใช้อะลูมิเนียมได้ ขณะที่ขยะพลาสติกที่เหลืออยู่จะเปลี่ยนเป็นน้ำมันเชื้อเพลิง และขายต่อได้ 

ดร.พงษ์วิภา หล่อสมบูรณ์ ประธานอนุกรรมการแผนงานกลุ่มเศรษฐกิจหมุนเวียน บพข. กล่าวว่า เครื่องจักรดังกล่าวใช้หลักการของไพโรไลซิสในการแยก Laminated Plastic โดยเฉพาะอะลูมิเนียมออกกัน คาดว่าจะสามารถรับขยะประเภทกล่องนม และถุงขนมขับเคี้ยวได้ 100 กิโลกรัมต่อวัน และได้อะลูมิเนียมจากการรีไซเคิลประมาณ 20 กิโลกรัมต่อวัน ทั้งยังมีผลพลอยได้เป็นน้ำมันจากการหลอมละลายพลาสติก ซึ่งสามารถขายต่อได้ รวมถึงได้ Fuel Gas ที่สามารถนำมาใช้หมุนเครื่องจักรแทนก๊าซ LPG ได้อีก จึงตอบโจทย์ บพข. ทั้งด้านการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าโดยการเอาอะลูมิเนียมกลับมาใช้ใหม่ ด้านการลดของเสีย และการลดการเกิดก๊าซเรือนกระจก เนื่องจาก Fuel Gas นำมาใช้แทน LPG ได้ เป็นการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง

“ต้องขอบคุณ UNDP และ CIRAC ที่เริ่มต้นดำเนินโครงการกันมาตั้งแต่ระดับ Lab Scale ขอบคุณทีมวิจัยจากภาควิชาเคมีเทคนิค จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และบริษัท โกลบอล อาร์แอนด์ดี จำกัด ที่ร่วมกันพัฒนาเทคโนโลยีเตาปฏิกรณ์ไพโรไลซิสแบบต่อเนื่องจากระดับ Lab Scale สู่ระดับ Pilot Scale ทำให้ได้เครื่องจักรที่จัดการกับขยะกลุ่ม Laminated Plastic ได้อย่างมีประสิทธภาพ ที่ขาดไม่ได้เลยคือความร่วมมือจากทางวัดจากแดงที่อนุเคราะห์สถานที่สำหรับดำเนินโครงการ และชาวบ้านในชุมชนที่ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี”

ด้าน ดร.ศิขริน เตมียกุล ผู้ร่วมก่อตั้ง CIRAC กล่าวเสริมว่า ปัญหา คือโอกาส เนื่องจากขยะพลาสติกมีอะลูมิเนียมซึ่งเป็นโลหะที่มีมูลค่าสูงผสมอยู่ หากแยกออกมาได้ จะเปลี่ยนขยะที่ไม่มีมูลค่าให้เป็นสินค้าที่มีมูลค่าสูง และเติบโตได้ในเชิงธุรกิจ ซึ่งบริษัทผู้ผลิตสินค้าที่จำเป็นต้องใช้บรรจุภัณฑ์กลุ่ม Aluminum Plastic ต่างให้ความสนใจแก้ไขปัญหาขยะจากบรรจุภัณฑ์ชนิดดังกล่าว ซึ่ง CIRAC เป็นหนึ่งใน Solution Provider ให้บริษัทต่าง ๆ คาดว่าหากโครงการนี้ได้รับการขยายผลในเชิงพาณิชย์สำเร็จจะมีกำไรสุทธิ (Potential Profit) จากการจำหน่ายอะลูมิเนียมรีไซเคิลได้ถึง 140-340 เหรียญสหรัฐต่อตัน นับว่าคุ้มค่าเป็นอย่างมาก

นอกจากนี้ยังเป็นการแก้ปัญหาขยะบรรจุภัณฑ์พลาสติกผสมชั้นอะลูมเนียมที่ยังไม่มีใครสามารถจัดการอย่างยั่งยืนในระดับชุมชน และระดับประเทศ ลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจากกระบวนการผลิตอลูมิเนียม และลดการนำเข้าของอะลูมิเนียมจากต่างประเทศอีกด้วย

จากการสำรวจของทีมวิจัย พบว่าขยะพลาสติกในประเทศไทยมีที่มีอะลูมิเนียมผสมอยู่คิดเป็นปริมาณ 50 ตันต่อวัน เพียงพอต่อการสร้างรถยนต์ได้ถึง 150 คัน ถ้าหากรีไซเคิลอะลูมิเนียมกลับมาใช้ในอุตสาหกรรมได้ จะเพิ่มมูลค่าในอุตสาหกรรมอะลูมิเนียมได้มหาศาลจากการไม่ต้องนำเข้าอะลูมิเนียมจากต่างประเทศ และสามารถที่จะใช้อะลูมิเนียมที่รีไซเคิลมาจากขยะได้เอง

ตลาดอะลูมิเนียมในไทย (Total Market) มีมูลค่าสูงถึง 2,000 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่ประเทศไทยไม่ใช่ประเทศที่ผลิตอะลูมิเนียมเองได้ ต้องนำเข้า 100% หากคิดเฉพาะอะลูมิเนียมที่แทรกซึมอยู่ตามถุงขนม ซองกาแฟ กล่องนม กล่องน้ำผลไม้ต่างๆ ที่ไม่สามารถรีไซเคิลนำกลับมาใช้ได้ มีมูลค่าถึง 35 ล้านเหรียญสหรัฐ

รายงานข่าวระบุว่า ประเทศไทยได้รับการจัดให้เป็นประเทศที่มีการปล่อยขยะพลาสติกลงสู่สิ่งแวดล้อมมากเป็นอันดับ 6 ของโลก และปัจจุบันการรีไซเคิลขยะพลาสติก เช่น ขวดน้ำพลาสติก (PET) หรือถุงแกง กลับมาใช้งานใหม่หรือเปลี่ยนสภาพเพื่อใช้ประโยชน์ในรูปแบบอื่นทำได้ไม่ยากนักด้วยกระบวนการทางเคมี 

แต่โครงการนี้มุ่งเน้นการจัดการกับปัญหาขยะพลาสติกในกลุ่มที่เรียกว่า ‘Aluminum Plastic Packaging’ หรือก็คือ บรรจุภัณฑ์ที่มีชั้นอะลูมิเนียมเป็นเลเยอร์อยู่ด้านในตรงกลางระหว่างชั้นพลาสติก เรียกอีกอย่างว่า Laminated Plastic ที่ยากต่อการรีไซเคิล และไม่สามารถขายต่อได้ จนกลายเป็นปัญหาทางสิ่งแวดล้อมนั่นเอง

‘สารัชถ์ รัตนาวะดี’ ขึ้นแท่นเศรษฐีหุ้นไทยอันดับ 1 ปี 66 ครองแชมป์ 5 ปีซ้อน มั่งคั่งกว่า 1.9 แสนล้านบาท!!

(12 ธ.ค. 66) วารสารการเงินธนาคาร ร่วมกับอาจารย์ประจำคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทำการจัดอันดับเศรษฐีหุ้นไทยติดต่อกันปีนี้เป็นปีที่ 30 แล้ว โดยวัดจากผู้ถือหุ้นรายใหญ่ประเภทบุคคลธรรมดาในประเทศที่ถือหุ้นสูงสุด 10 อันดับแรกของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) และตลาดหลักทรัพย์ mai ตามการปิดสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นล่าสุดภายในวันที่ 30 กันยายน 2566

สำหรับผลการจัดอันดับเศรษฐีหุ้นไทยปี 2566 ในวารสารการเงินธนาคาร ฉบับเดือนธันวาคม 2566 ปรากฏว่า แชมป์เศรษฐีหุ้นไทยปี 2566 ยังคงเป็นของ ‘สารัชถ์ รัตนาวะดี’ กรรมการ รองประธานกรรมการ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ หรือ ‘GULF’ ซึ่งเป็นการครองแชมป์ติดต่อกันเป็นปีที่ 5 แล้ว โดยถือหุ้นมูลค่าสูงสุดเป็นอันดับ 1 รวม 190,828,06 ล้านบาท ลดลง 28,153.53 ล้านบาท หรือ 12.86% นอกจากสารัชถ์ จะถือหุ้น GULF สูงเป็นอันดับ 1 ในสัดส่วน 35.67% คิดเป็นมูลค่า 190,421.51 ล้านบาทแล้ว ในปีนี้ยังถือหุ้น บมจ.ไอ-เทล คอร์ปอเรชั่น (ITC) บริษัทในกลุ่มไทยยูเนี่ยนที่ทำธุรกิจผลิตอาหารสัตว์เลี้ยงส่งออกทั่วโลกอีก 0.67% มูลค่า 406.55 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าปีนี้ความมั่งคั่งจะลดลงไป แต่ตลอด 5 ปีของการครองแชมป์เศรษฐีหุ้นไทย มูลค่าหุ้นที่สารัชถ์ ถือครองก็อยู่ในระดับไม่ต่ำกว่า 1 แสนล้านบาททุกปี ซึ่งนับเป็นมูลค่าสูงสุดในทำเนียบเศรษฐีหุ้นไทยตั้งแต่ปี 2537 จนถึงปัจจุบัน

โดยในปี 2562 ซึ่งเป็นปีแรกที่ก้าวขึ้นครองแชมป์ สารัชถ์มีความมั่งคั่งรวม 120,959.99 ล้านบาท ต่อมาในปี 2563 ความมั่งคั่งลดลงไปเล็กน้อยที่ 115,289.99 ล้านบาท ก่อนทะยานสู่ 173,099.73 ล้านบาท ในปี 2564 และพุ่งทะลุไปถึง 218,981.58 ล้านบาท ในปี 2565 จนล่าสุดลดลงมาที่ 190,828.06 ล้านบาท ในปี 2566

เศรษฐีหุ้นอันดับ 2 ได้แก่ ‘นิติ โอสถานุเคราะห์’ นักลงทุนรายใหญ่ ทายาทอาณาจักรโอสถสภา โดยถือครองหุ้นมูลค่ารวม 61,790.61 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3,666.61 ล้านบาท หรือ 6.31% ซึ่งพอร์ตการลงทุนที่มีชื่อนิติเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ 10 อันดับแรกในปีนี้ยังคงอยู่ใน 8 บริษัท โดยถือหุ้นในสัดส่วนใกล้เคียงกับปีที่แล้ว

เศรษฐีหุ้นอันดับ 3 ได้แก่ ‘นพ.ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ’ หรือ ‘หมอเสริฐ’ เจ้าของกลุ่มโรงพยาบาลกรุงเทพ และสายการบินบางกอกแอร์เวย์ส โดยถือครองหุ้น บมจ.การบินกรุงเทพ (BA) และ บมจ.กรุงเทพดุสิตเวชการ (BDMS) มูลค่ารวม 57,001.68 ล้านบาท ลดลง 5,734 ล้านบาท หรือ 9.14%

เศรษฐีหุ้นอันดับ 4 ได้แก่ ‘ปณิชา ดาว’ โดยยังคงเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่อันดับ 1 ของ บมจ.พีเอสจี คอร์ปอเรชั่น (PSG) ในสัดส่วน 80% รวมมูลค่าหุ้นที่ถือครอง 41,595.20 ล้านบาท ลดลง 40,035.38 ล้านบาท หรือ 49.04% สำหรับ PSG ได้มีกลุ่มทุนจาก สปป.ลาว นำโดย ‘เดวิด แวน ดาว’ สามีของปณิชา ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในบริษัท หลวงพระบาง พาวเวอร์ ในนาม บริษัท พีที จำกัดผู้เดียว (PTS) เจ้าของโรงไฟฟ้าพลังน้ำหลวงพระบาง ที่ สปป.ลาว เข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่กลุ่มใหม่ในปี 2564

เศรษฐีอันดับ 5 ได้แก่ ‘ปรมาภรณ์ ปราสาททองโอสถ’ ประธานกรรมการบริหาร และกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.กรุงเทพดุสิตเวชการ ทายาทหมอเสริฐ โดยยังคงถือหุ้น BDMS ในสัดส่วนที่ใกล้เคียงกับปีที่แล้วคือ 5.18% และถือหุ้น BA ในสัดส่วนเดิมที่ 6.49% ส่วน บมจ.เดอะ วัน เอ็นเตอร์ไพรส์ (ONEE) ปีนี้ได้ลดการถือหุ้นจาก 40.04% เหลือ 25.05% ส่งผลให้มีมูลค่าหุ้นที่ถือครองรวมทั้งสิ้น 26,634.59 ล้านบาท ลดลง 8,367.28 ล้านบาท หรือ 23.91%

เศรษฐีหุ้นอันดับ 6 และอันดับ 7 ได้แก่ สองเจ้าของ บมจ.เมืองไทยแคปปิตอล (MTC) หรือชื่อเดิมคือ ‘เมืองไทยลิสซิ่ง’ โดย ‘ชูชาติ เพ็ชรอำไพ’ อยู่ในอันดับ 6 รวมมูลค่าหุ้นที่ถือครอง 25,933.90 ล้านบาท ลดลง 584.17 ล้านบาท หรือ 2.20% โดยถือหุ้น MTC 33.49% และ บมจ.เอ็กซ์สปริง แคปปิตอล (XPG) 3.12% ส่วน ‘ดาวนภา เพ็ชรอำไพ’ อยู่ในอันดับ 7 ถือหุ้น MTC 33.96% มูลค่า 25,920 ล้านบาท ลดลง 180 ล้านบาท หรือ 0.69%

เศรษฐีหุ้นอันดับ 8 ได้แก่ ‘นพ.พงศ์ศักดิ์ ธรรมธัชอารี’ นักลงทุนรายใหญ่ที่ปีนี้มีพอร์ตการลงทุนมูลค่ารวม 22,462.51 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 11,181.71 ล้านบาท หรือ 99.12% ความมั่งคั่งในพอร์ตหุ้นของหมอพงศ์ศักดิ์ที่เพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัว โดยเมื่อคลี่พอร์ตหุ้นออกมาดูพบว่า หุ้นที่หมอพงศ์ศักดิ์เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ 10 อันดับแรก เพิ่มขึ้นเป็น 14 บริษัท จาก 7 บริษัทเมื่อปีที่แล้ว

เศรษฐีหุ้นอันดับ 9 ได้แก่ ‘อนันต์ อัศวโภคิน’ บิ๊กอสังหาริมทรัพย์ยักษ์ใหญ่ แบรนด์ ‘แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์’ ถือหุ้น บมจ.แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ (LH) สูงเป็นอันดับ 1 ในสัดส่วน 23.93% มูลค่า 22,308 ล้านบาท ลดลง 3,146 ล้านบาท หรือ 12.36%

เศรษฐีหุ้นอันดับ 10 ได้แก่ ‘สุระ คณิตทวีกุล’ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.คอมเซเว่น (COM7) เจ้าของธุรกิจค้าปลีกสินค้าด้านไอที โดยถือหุ้นรวมมูลค่า 21,387.57 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10,381.50 ล้านบาท หรือ 94.33% ซึ่งปีนี้พอร์ตหุ้นที่สุระเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ 10 อันดับแรกเพิ่มขึ้นเป็น 17 บริษัทจาก 11 บริษัทเมื่อปีที่แล้ว โดยสุระเป็นผู้ถือหุ้นอันดับ 1 ของ บมจ.คอมเซเว่น (COM7) ในสัดส่วน 25.05% และ บมจ.เวฟ เอกซ์โพเนนเชียล (WAVE) ในสัดส่วน 7.56% ส่วน บมจ.เอ็ม วิชั่น (MVP) สุระถือหุ้น 9.30% สูงเป็นอับดับ 2 รองจากผู้ถือหุ้นอันดับ 1 คือ Capital Asia Investment ที่ถือหุ้น 14.62%

สำหรับความมั่งคั่งของตระกูลเศรษฐีหุ้นไทยในปีนี้ หดหายไปตามการปรับลดลงของดัชนีหุ้นไทยในปี 2566 โดยตระกูลรัตนาวะดี ยังคงครองแชมป์ตระกูลเศรษฐีหุ้นไทยปี 2566 ติดต่อกันเป็นปีที่ 5 มีความมั่งคั่งรวม 190,828.06 ล้านบาท ลดลง 28,153.53 ล้านบาท หรือ 12.86% จากการถือหุ้น บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (GULF) และ บมจ.ไอ-เทล คอร์ปอเรชั่น (ITC) ของแชมป์เศรษฐีหุ้นไทย สารัชถ์ รัตนาวะดี

อันดับ 2 ตระกูลปราสาททองโอสถ โดย 6 เครือญาติในตระกูล ได้แก่ นพ.ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ และ 5 ทายาท พุฒิพงศ์ สมฤทัย, อาริญา ปรมาภรณ์ และ พลตำรวจโทวิสนุ ปราสาททองโอสถ ที่ถือครองหุ้นรวมกันเป็นมูลค่า 96,820.59 ล้านบาท ลดลง 11,161.75 ล้านบาท หรือ 10.34%

อันดับ 3 ตระกูลโอสถานุเคราะห์ โดย 6 เครือญาติในตระกูลโอสถสภา ได้แก่ นิติ, คฑา, ธัชรินทร์, นาฑี, เกสรา และภาสุรี โอสถานุเคราะห์ ถือครองหุ้นรวมมูลค่า 72,721.58 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 650.12 ล้านบาท หรือ 0.90%

อันดับ 4 ตระกูลเพ็ชรอำไพ โดยเจ้าของ บมจ.เมืองไทยแคปปิตอล (MTC) ดาวนภา-ชูชาติ เพ็ชรอำไพ ถือครองหุ้นรวมมูลค่า 51,853.90 ล้านบาท ลดลง 764.17 ล้านบาท หรือ 1.45%

และอันดับ 5 ตระกูลดาว ของปณิชา ดาว กลุ่มทุนจาก สปป.ลาว ที่เข้ามาถือหุ้น บมจ.พีเอสจี คอร์ปอเรชั่น (PSG) ในสัดส่วน 80% ตั้งแต่ปีที่แล้ว ซึ่งปีนี้ความมั่งคั่งของตระกูลดาวปรับลดลงไป 49.04% โดยถือครองหุ้นรวมมูลค่า 41,595.20 ล้านบาท

'เครือสหพัฒน์ฯ' ร่วมทุน 'Zhen Ding Tech' ปักหมุดสร้างโรงงาน PCB ในไทย ดึงเงินลงทุนเข้าประเทศ 'เฟสแรกหมื่นล้าน-มากกว่า 5 หมื่นล้าน' ภายในปี 2573

(12 ธ.ค. 66) นายวิชัย กุลสมภพ ประธานกรรมการบริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท สหพัฒนาอินเตอร์โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ SPI เปิดเผยว่า เครือสหพัฒน์ โดยบมจ. สหพัฒนาอินเตอร์โฮลดิ้ง  ได้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางธุรกิจ กับ กลุ่มบริษัท Zhen Ding Tech ตั้งบริษัทร่วมทุนเพื่อดำเนินธุรกิจพัฒนาผลิตและจำหน่ายแผงวงจรพิมพ์ด้วยเทคโนโลยีขั้นสูงหลายชั้น (Multi-layer PCB) โดยเริ่มก่อสร้างโรงงานในสวนอุตสาหกรรมเครือสหพัฒน์กบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรีเมื่อเดือนธ.ค. 2566 ที่ผ่านมา

เครือสหพัฒน์ หวังเป็นอย่างยิ่งว่า การขยายการลงทุนของกลุ่มบริษัท Zhen Ding Tech ดังกล่าว จะเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันให้ประเทศไทยมีสัดส่วนการผลิต PCB ในตลาดโลกเพิ่มขึ้น เป็นฐานการผลิต PCB ที่สำคัญในภูมิภาคอาเซียน สร้างโอกาสการจ้างงานที่มีคุณภาพ และเกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยีขั้นสูงที่ใช้ในกระบวนการผลิตมายังประเทศไทย รวมทั้งสร้างโอกาสการดึงดูดผู้ประกอบการรายใหญ่ในห่วงโซ่อุปทานให้เข้ามาลงทุนในประเทศไทยได้เพิ่มเติมในอนาคต

สำหรับการร่วมทุนระหว่างเครือสหพัฒน์ และกลุ่มบริษัท Zhen Ding Tech ในครั้งนี้ เครือสหพัฒน์คาดการณ์ว่าจะมีมูลค่าการลงทุนเข้าสู่ประเทศไทยประมาณ 1 หมื่นล้านบาทในเฟสแรก และมากกว่า 5 หมื่นล้านบาท ภายในปี 2573 โดยอุตสาหกรรม PCB เป็นอีกหนึ่งอุตสาหกรรมเป้าหมายที่รัฐบาลส่งเสริม และได้รับการสนับสนุนจาก BOI (The Board of Investment of Thailand)

นายชาร์ล เสิ่น ประธานกลุ่มบริษัท Zhen Ding Tech โดย บริษัท Zhen Ding Technology Holding Limited กล่าวว่า กลุ่ม Zhen Ding Tech เล็งเห็นศักยภาพของประเทศไทย และมีความเชื่อมั่นที่ได้ร่วมมือทางธุรกิจกับเครือสหพัฒน์ พร้อมที่จะเข้ามาขยายการลงทุนสร้างความเติบโต ผลักดันธุรกิจให้เป็นไปตามเป้าหมาย นับเป็นโอกาสเติบโตที่ยิ่งใหญ่เพราะ PCB ถือเป็นส่วนประกอบสำคัญในสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ทุกชนิด

สำหรับกลุ่มบริษัท Zhen Ding Tech เป็นผู้ดำเนินธุรกิจออกแบบ ค้นคว้าวิจัย พัฒนา ผลิตและจำหน่ายแผงวงจร (Printed Circuit Board, PCB) รายใหญ่อันดับ 1 ของโลก หรือคิดเป็นสัดส่วน 7% มีฐานการผลิตที่สำคัญ 6 แห่งตั้งอยู่ในเมืองเซิ่นเจิ้น (Shenzhen) เมืองหฺวายอาน (Huai’an) เมืองฉินหวงเต่า (Qinhuangdao) เขตเถา-ยฺเหวียน (Taoyuan) และเกาสฺยง (Kaohsiung) และเมืองเจนไน (Chennai) ทางตอนใต้ของอินเดีย โดยคาดว่าภายในปี 2573 ส่วนแบ่งทางการตลาดของกลุ่มบริษัท Zhen Ding Tech จะเพิ่มขึ้นเท่ากับ 10% ของตลาดทั้งหมด

“เครือสหพัฒน์มีความพร้อมในการร่วมมือกับพันธมิตรที่มีความตั้งใจเข้ามาลงทุนในประเทศไทย เรามีที่ดินเพียงพอ มีเครือข่ายที่พร้อมช่วยส่งเสริมให้ธุรกิจเติบโตได้อย่างรวดเร็วและดูแลครบวงจร ครอบคลุม 4 ทำเลยุทธศาสตร์ได้แก่ 1.อำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี 2.อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี 3.อำเภอเมืองลำพูน จังหวัดลำพูน 4.อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก

ซึ่งการลงทุนครั้งนี้ใช้ที่ดินกว่า 300 ไร่ เป็นการเปิดประตูเข้าสู่อุตสาหรรมใหม่และเป็นอีกก้าวย่างที่สำคัญในการปูรากฐานสู่อนาคต ให้กับบริษัทในเครือสหพัฒน์เข้าสู่เศรษฐกิจยุคใหม่ ที่เน้นเทคโนโลยี  สร้างงานที่พัฒนาทักษะด้านวิศวกรรมมากกว่าหนึ่งพันตำแหน่ง เชื่อว่าการขยายการลงทุนภายใต้แนวความคิด ECO-TECH INDUSTRIAL PARK นอกจากจะเป็นประโยชน์โดยตรง ต่อชุมชนแล้วยังส่งผลช่วยยกระดับขีดความสามาถในการแข่งขันให้กับอุตสาหกรรมในประเทศอีกด้วย” นายวิชัย กล่าว


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top