‘บพข.’ ผนึก ‘รัฐ-เอกชน-ชุมชน’ แก้ปัญหาขยะพลาสติก เปลี่ยน ‘ขยะซองขนม’ ไร้ราคา เป็น ‘อะลูมิเนียม’ ที่มีค่า
(11 ธ.ค.66) รายงานข่าวจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มเความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ในสังกัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยว่า บพข.ได้ร่วมมือ UNDP ประเทศไทย, CIRAC, บริษัท โกลบอล อาร์แอนด์ดี จำกัด, ทีมวิจัยเคมีเทคนิคจุฬาฯ และชุมชนวัดจากแดง ในโครงการแก้ปัญหาขยะพลาสติกผสมชั้นอะลูมิเนียมอย่างยั่งยืน ด้วยเครื่องจักรไพโรไลซิสแบบต่อเนื่องออกแบบโดยคนไทย เพื่อรีไซเคิลอะลูมิเนียมและพลาสติกใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์
โดยได้เปิดตัวเครื่องจักรไพโรไลซิสแบบต่อเนื่องสำหรับรีไซเคิลอะลูมิเนียมจากขยะพลาสติกผสมชั้นอะลูมิเนียม หรือที่รู้จักกันดีในชื่อ ‘ถุงวิบวับ’ เพื่อแยกชั้นอะลูมิเนียมออกจากพลาสติก (Laminated Plastic) และนำอะลูมิเนียมที่แยกได้มาหลอมเป็นอะลูมิเนียมก้อนที่มีความบริสุทธิ์สูงมากกว่า 97% นำกลับไปใช้ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่มีความต้องการใช้อะลูมิเนียมได้ ขณะที่ขยะพลาสติกที่เหลืออยู่จะเปลี่ยนเป็นน้ำมันเชื้อเพลิง และขายต่อได้
ดร.พงษ์วิภา หล่อสมบูรณ์ ประธานอนุกรรมการแผนงานกลุ่มเศรษฐกิจหมุนเวียน บพข. กล่าวว่า เครื่องจักรดังกล่าวใช้หลักการของไพโรไลซิสในการแยก Laminated Plastic โดยเฉพาะอะลูมิเนียมออกกัน คาดว่าจะสามารถรับขยะประเภทกล่องนม และถุงขนมขับเคี้ยวได้ 100 กิโลกรัมต่อวัน และได้อะลูมิเนียมจากการรีไซเคิลประมาณ 20 กิโลกรัมต่อวัน ทั้งยังมีผลพลอยได้เป็นน้ำมันจากการหลอมละลายพลาสติก ซึ่งสามารถขายต่อได้ รวมถึงได้ Fuel Gas ที่สามารถนำมาใช้หมุนเครื่องจักรแทนก๊าซ LPG ได้อีก จึงตอบโจทย์ บพข. ทั้งด้านการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าโดยการเอาอะลูมิเนียมกลับมาใช้ใหม่ ด้านการลดของเสีย และการลดการเกิดก๊าซเรือนกระจก เนื่องจาก Fuel Gas นำมาใช้แทน LPG ได้ เป็นการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง
“ต้องขอบคุณ UNDP และ CIRAC ที่เริ่มต้นดำเนินโครงการกันมาตั้งแต่ระดับ Lab Scale ขอบคุณทีมวิจัยจากภาควิชาเคมีเทคนิค จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และบริษัท โกลบอล อาร์แอนด์ดี จำกัด ที่ร่วมกันพัฒนาเทคโนโลยีเตาปฏิกรณ์ไพโรไลซิสแบบต่อเนื่องจากระดับ Lab Scale สู่ระดับ Pilot Scale ทำให้ได้เครื่องจักรที่จัดการกับขยะกลุ่ม Laminated Plastic ได้อย่างมีประสิทธภาพ ที่ขาดไม่ได้เลยคือความร่วมมือจากทางวัดจากแดงที่อนุเคราะห์สถานที่สำหรับดำเนินโครงการ และชาวบ้านในชุมชนที่ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี”
ด้าน ดร.ศิขริน เตมียกุล ผู้ร่วมก่อตั้ง CIRAC กล่าวเสริมว่า ปัญหา คือโอกาส เนื่องจากขยะพลาสติกมีอะลูมิเนียมซึ่งเป็นโลหะที่มีมูลค่าสูงผสมอยู่ หากแยกออกมาได้ จะเปลี่ยนขยะที่ไม่มีมูลค่าให้เป็นสินค้าที่มีมูลค่าสูง และเติบโตได้ในเชิงธุรกิจ ซึ่งบริษัทผู้ผลิตสินค้าที่จำเป็นต้องใช้บรรจุภัณฑ์กลุ่ม Aluminum Plastic ต่างให้ความสนใจแก้ไขปัญหาขยะจากบรรจุภัณฑ์ชนิดดังกล่าว ซึ่ง CIRAC เป็นหนึ่งใน Solution Provider ให้บริษัทต่าง ๆ คาดว่าหากโครงการนี้ได้รับการขยายผลในเชิงพาณิชย์สำเร็จจะมีกำไรสุทธิ (Potential Profit) จากการจำหน่ายอะลูมิเนียมรีไซเคิลได้ถึง 140-340 เหรียญสหรัฐต่อตัน นับว่าคุ้มค่าเป็นอย่างมาก
นอกจากนี้ยังเป็นการแก้ปัญหาขยะบรรจุภัณฑ์พลาสติกผสมชั้นอะลูมเนียมที่ยังไม่มีใครสามารถจัดการอย่างยั่งยืนในระดับชุมชน และระดับประเทศ ลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจากกระบวนการผลิตอลูมิเนียม และลดการนำเข้าของอะลูมิเนียมจากต่างประเทศอีกด้วย
จากการสำรวจของทีมวิจัย พบว่าขยะพลาสติกในประเทศไทยมีที่มีอะลูมิเนียมผสมอยู่คิดเป็นปริมาณ 50 ตันต่อวัน เพียงพอต่อการสร้างรถยนต์ได้ถึง 150 คัน ถ้าหากรีไซเคิลอะลูมิเนียมกลับมาใช้ในอุตสาหกรรมได้ จะเพิ่มมูลค่าในอุตสาหกรรมอะลูมิเนียมได้มหาศาลจากการไม่ต้องนำเข้าอะลูมิเนียมจากต่างประเทศ และสามารถที่จะใช้อะลูมิเนียมที่รีไซเคิลมาจากขยะได้เอง
ตลาดอะลูมิเนียมในไทย (Total Market) มีมูลค่าสูงถึง 2,000 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่ประเทศไทยไม่ใช่ประเทศที่ผลิตอะลูมิเนียมเองได้ ต้องนำเข้า 100% หากคิดเฉพาะอะลูมิเนียมที่แทรกซึมอยู่ตามถุงขนม ซองกาแฟ กล่องนม กล่องน้ำผลไม้ต่างๆ ที่ไม่สามารถรีไซเคิลนำกลับมาใช้ได้ มีมูลค่าถึง 35 ล้านเหรียญสหรัฐ
รายงานข่าวระบุว่า ประเทศไทยได้รับการจัดให้เป็นประเทศที่มีการปล่อยขยะพลาสติกลงสู่สิ่งแวดล้อมมากเป็นอันดับ 6 ของโลก และปัจจุบันการรีไซเคิลขยะพลาสติก เช่น ขวดน้ำพลาสติก (PET) หรือถุงแกง กลับมาใช้งานใหม่หรือเปลี่ยนสภาพเพื่อใช้ประโยชน์ในรูปแบบอื่นทำได้ไม่ยากนักด้วยกระบวนการทางเคมี
แต่โครงการนี้มุ่งเน้นการจัดการกับปัญหาขยะพลาสติกในกลุ่มที่เรียกว่า ‘Aluminum Plastic Packaging’ หรือก็คือ บรรจุภัณฑ์ที่มีชั้นอะลูมิเนียมเป็นเลเยอร์อยู่ด้านในตรงกลางระหว่างชั้นพลาสติก เรียกอีกอย่างว่า Laminated Plastic ที่ยากต่อการรีไซเคิล และไม่สามารถขายต่อได้ จนกลายเป็นปัญหาทางสิ่งแวดล้อมนั่นเอง