Friday, 13 December 2024
Econbiz

‘ททท.’ เผย ยอดต่างชาติเที่ยวไทย ปี 66 ทะลุเป้า 27 ล้านคน สวนทางรายได้ วืดเป้า 4 แสนล้าน เหตุเศรษฐกิจชะลอตัวทั่วโลก

เมื่อวันที่ 7 ธ.ค. 66 นางสาวฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า ททท.คาดว่าตลอดปี 2566 จะมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศไทยกว่า 27 ล้านคน สร้างรายได้จากตลาดต่างประเทศ 1.2 ล้านล้านบาท ต่ำกว่าเป้าหมายที่ ททท. ตั้งไว้ตลอดปีนี้ ซึ่งตั้งเป้ามีนักท่องเที่ยวต่างชาติ 25-28 ล้านคน สร้างรายได้ 1.6 ล้านล้านบาท

หลังจำนวนนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติสะสมตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. - 3 ธ.ค. 2566 รวม 25,081,212 คน สร้างรายได้ 1,067,513 ล้านบาท และเมื่อประเมินเฉพาะเดือน ธ.ค. ซึ่งตรงกับช่วงเทศกาลปีใหม่ จึงคาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามา 2 ล้านคน สร้างรายได้ไม่ต่ำกว่า 2 แสนล้านบาท

“ด้วยปัญหาเศรษฐกิจโลก ปัญหาจำนวนเที่ยวบินยังไม่กลับมาเป็นปกติ ขณะที่ตลาดนักท่องเที่ยวจีนซึ่งเป็นความหวังว่าจะเห็นการฟื้นตัว 4-4.04 ล้านคน น่าจะได้จริงเพียง 3.4-3.5 ล้านคน ห่างจากปี 2562 ก่อนโควิด-19 ระบาดที่มีนักท่องเที่ยวจีนเดินทางเข้าไทยกว่า 11 ล้านคน เนื่องจากในตอนนี้เศรษฐกิจจีนเองกำลังมีปัญหา และรัฐบาลจีนเน้นส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศ เห็นได้จากค่าตั๋วเครื่องบินภายในประเทศจีน เดือน ธ.ค. เฉลี่ย 590 หยวน ลดลง 19% จากเดือน พ.ย. ที่มีราคา 728 หยวน ส่วนราคาตั๋วเครื่องบินไปต่างประเทศในเดือน ธ.ค. ราคาเท่ากับเดือน พ.ย. ซึ่งเฉลี่ยอยู่ที่ 1,980 หยวน ทำให้คนจีนออกท่องเที่ยวภายในประเทศกันเป็นจำนวนมาก” ผู้ว่าการ ททท. กล่าว

ด้านกระแสการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศของคนไทย จากสถิติช่วง 11 เดือนแรก ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. - 30 พ.ย.ที่ผ่านมา พบว่ามีผู้เยี่ยมเยือนชาวไทย (รวมนักท่องเที่ยวและนักทัศนาจร) เดินทางสะสมแล้ว 228 ล้านคน-ครั้ง สูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ตลอดปี 2566 ที่ 200 ล้านคน-ครั้ง และคาดว่าทั้งปีนี้จะไปถึง 240 ล้านคน-ครั้ง สร้างรายได้ 8 แสนล้านบาท เนื่องจากคนไทยใช้จ่ายน้อยลง แต่มีความถี่ในการเดินทางมากขึ้นจากการกระตุ้นของรัฐบาล

“แม้ว่าจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติจะเป็นไปตามเป้าหมาย แต่เมื่อรวมรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ 1.2 ล้านล้านบาท และนักท่องเที่ยวไทยอีก 8 แสนล้านบาท ทำให้ในปี 2566 ประเทศไทยจะมีรายได้รวมการท่องเที่ยว 2 ล้านล้านบาท ต่ำกว่าเป้ารายได้ที่ตั้งไว้ 2.4 ล้านล้านบาท หรือขาดไป 4 แสนล้านบาท” ผู้ว่าการ ททท. กล่าว

เหตุผลหลักมาจากรายได้ของนักท่องเที่ยวต่างชาติไม่เป็นไปตามเป้าหมาย เนื่องจากค่าใช้จ่ายต่อคนต่อทริปที่เพิ่มขึ้นในกลุ่มนักท่องเที่ยวยุโรปซึ่งพักค้างคืนในไทยนานขึ้น ยังมีสัดส่วนน้อยกว่านักท่องเที่ยวจากประเทศเพื่อนบ้านที่มีคนเดินทางเข้ามาจำนวนมาก แต่พักค้างระยะสั้น เช่น นักท่องเที่ยวมาเลเซีย ซึ่งคาดว่าสิ้นปีนี้จะมีจำนวนเดินทางเข้าไทย 4.59 ล้านคน แต่มีค่าใช้จ่ายต่อคนต่อทริปที่ 26,000 บาท เพิ่มขึ้น 3% เมื่อเทียบกับปี 2562 ก่อนโควิด-19 ระบาด

ส่วนนักท่องเที่ยวจีน ซึ่งมีจำนวนมากเป็นอันดับ 2 ในปีนี้ คาดใช้จ่ายเฉลี่ย 50,000 บาท เพิ่มขึ้น 6% เมื่อเทียบกับปี 2562 โดยรายงานจาก ‘อาลีเพย์’ (Alipay) ระบุว่า นักท่องเที่ยวจีนมียอดใช้จ่ายเฉพาะการชอปปิงและทานอาหารในไทย (ไม่รวมค่าตั๋วเครื่องบินและที่พัก) เพิ่มขึ้น 100% จาก 10,000 บาทต่อทริป เป็น 20,000 บาทต่อทริป

นางสาวฐาปนีย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ตามที่รัฐบาลออกมาตรการยกเว้นการตรวจลงตรา (Visa Exemption) หรือ ‘ฟรีวีซ่า’ เป็นการชั่วคราวให้แก่นักท่องเที่ยวจีน คาซัคสถาน อินเดีย และไต้หวัน พร้อมขยายระยะเวลาพำนักของนักท่องเที่ยวรัสเซียเป็นสูงสุดไม่เกิน 90 วันนั้น ได้ช่วยสนับสนุนภาคการท่องเที่ยวอย่างมาก และถือว่ามาตรการนี้ได้ผล เห็นได้จากประเทศคู่แข่งได้ออกมาตรการอำนวยความสะดวกด้านวีซ่าเพื่อกระตุ้นตลาดเป้าหมาย โดยล่าสุดประเทศมาเลเซียเพิ่งประกาศมาตรการฟรีวีซ่าแก่ชาวจีนตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค. 2566 ไปจนถึงสิ้นปี 2567

“ททท.เตรียมเสนอรัฐบาลต่ออายุมาตรการฟรีวีซ่าให้นักท่องเที่ยวจีน ที่จะหมดลงในวันที่ 29 ก.พ. 2567 รวมทั้งให้พิจารณาเพิ่มวันพำนักแก่นักท่องเที่ยวจากประเทศที่ได้รับฟรีวีซ่าอยู่แล้ว จาก 30 วัน ให้เพิ่มเป็น 90 วัน รวมทั้งเตรียมหารือกระทรวงการต่างประเทศ ให้ชาวต่างชาติที่ทำวีซ่านักท่องเที่ยวสามารถเข้าออกประเทศไทยได้หลายครั้ง (Multiple Visa) เพื่อรองรับพฤติกรรมของนักท่องเที่ยว ที่สนใจเดินทางจากไทยเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน ดึงดูดให้เขากลับมาเที่ยวประเทศไทยอีก” ผู้ว่าการ ททท. กล่าว

‘อ.พงษ์ภาณุ’ ชี้!! ฤๅไทยจะเข้าสู่ภาวะเงินฝืดจริงๆ แล้วเรื่องนี้ ‘แบงก์ชาติ’ จะมี ‘คำอธิบาย-แก้ตัว’ ใด?

(9 ธ.ค.66) ทีมข่าว THE STATES TIMES  ได้พูดคุยกับ อ.พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ระดับประเทศ ในประเด็น 'ฤๅไทยจะเข้าสู่ภาวะเงินฝืด (Deflaion) จริงๆ' โดย อ.พงษ์ภาณุ กล่าวว่า...

อาจจะยังเร็วเกินไปที่จะกล่าวว่าประเทศไทยเข้าสู่ภาวะเงินฝืดแล้ว แต่ดัชนีราคาผู้บริโภค (Consumer Price Index-CPI) ของเดือนพฤศจิกายน 2566 ที่กระทรวงพาณิชย์ประกาศเมื่อ 7 ธันวาคม ได้ติดลบ 0.44% แบบ Year on Year ซึ่งถือเป็นการติดลบต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 และเมื่อประกอบกับการดำเนินนโยบายการเงินที่ผิดพลาด (Policy Blunder) ของธนาคารแห่งประเทศไทย น่าจะเป็นการเพิ่มความเสี่ยงเป็นอย่างมากให้กับประเทศที่จะเข้าสู่ภาวะเงินฝืด

หลายท่านอาจจะคิดว่าระดับราคาสินค้าและบริการลดลงเป็นผลดีต่อประชาชน แต่ในทางเศรษฐศาสตร์การเงินแล้ว ถือว่าเป็นสิ่งที่น่ากลัวกว่าภาวะเงินเฟ้อเสียอีก ระดับราคาที่ลดลงอย่างต่อเนื่องจะทำให้ครัวเรือนและธุรกิจชะลอการจับจ่ายใช้สอยเนื่องด้วยคาดการณ์ว่าราคาจะลดลงต่อไปเรื่อยๆ ภาระหนี้ (Debt Burden) จะสูงขึ้น เพราะมูลหนี้ที่แท้จริงรวมทั้งอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง (Real Interest Rate) สูงขึ้น และอาจนำไปสู่วิกฤตหนี้ได้ ขณะนี้หนี้ของประเทศ โดยเฉพาะหนี้ครัวเรือนและหนี้สาธารณะ อยู่ในระดับสูงเป็นประวัติการณ์ และอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงของไทยก็อาจถือว่าอยู่ในระดับที่สูงที่สุดในโลก

ภาวะเงินฝืดไม่เกิดขึ้นบ่อยนัก แต่เมื่อเกิดขึ้นแล้วแก้ไขได้ยากกว่าเงินเฟ้อ อย่างประเทศญี่ปุ่น ตอนเข้าสู่ภาวะเงินฝืดราวปี 1990 หลังฟองสบู่ในภาคอสังหาริมทรัพย์และตลาดหุ้นแตก ต้องใช้เวลาแก้ไขนานกว่า 25 ปีจึงเริ่มที่จะเห็นสัญญาณหลุดพ้นในปัจจุบัน ด้วยการดำเนินนโยบายการเงินที่ตรึงดอกเบี้ยไว้ต่ำ ไม่ขึ้นตามธนาคารกลางอื่น และปล่อยให้ค่าเงินเยนอ่อนลงอย่างมาก 

ประเทศสหรัฐฯ และยุโรป ก็เคยประสบปัญหาเงินฝืดจนต้องลดดอกเบี้ยลงใกล้ศูนย์ เท่านั้นยังไม่พอต้องใช้มาตรการ Quantitative Easing (QE) พิมพ์เงินอัดฉีดเข้าระบบ จีนก็ได้เข้าสู่ภาวะเงินฝืดมาสักระยะแล้วหลังจากฟองสบู่ภาคอสังหาริมทรัพย์แตกและมีบริษัทขนาดใหญ่ล้มละลายไปหลายบริษัท

ผมได้เคยเตือนมาเป็นระยะเวลาพอสมควรแล้วว่า ประเทศไทยอาจเดินตามจีนเข้าสู่ Deflation แต่กลับตกใจที่ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ดำเนินนโยบายการเงินที่ผิดพลาดมาโดยตลอด ตั้งแต่ปีที่แล้วที่ Delay การขึ้นดอกเบี้ยด้วยความเกรงใจรัฐบาลก่อนที่แต่งตั้งผู้ว่าการฯ เข้ามา จนทำให้ประเทศไทยมีเงินเฟ้อสูงที่สุดในโลกประเทศหนึ่ง และหลุดกรอบ Inflation Targeting ไปกว่าเท่าตัว 

แต่พอมาปีนี้กลับมาเร่งขึ้นดอกเบี้ยหลังการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อเดือนพฤษภาคม แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อจะลดต่ำลงแรงจนหลุดกรอบล่างของเป้าหมายเงินเฟ้อเป็นเวลา 6 เดือนติดต่อกัน โดยเฉพาะการประชุม กนง. 2-3 ครั้งที่ผ่านมา การหยุดขึ้นดอกเบี้ยครั้งหลังดูเหมือนจะเป็นการยอมรับความผิดพลาด แต่ก็ไม่วายโทษรัฐบาลว่า ความไม่แน่นอนของมาตรการ Digital Wallet ทำให้การคาดการณ์เศรษฐกิจต่ำกว่าเป้าเป็นอย่างมาก 

การที่ CPI ติดลบ 2 เดือนติดต่อกันครั้งนี้ ก็เชื่อว่าคงจะไม่ยอมรับผิด แล้วก็คงจะโทษคนอื่นตามฟอร์ม ว่ามีการออกมาตรการบรรเทาค่าครองชีพให้ประชาชน

อยากขอให้สำนึกว่าหน้าที่หลักของธนาคารกลางคือการรักษาเสถียรภาพทางการเงิน ความเป็นอิสระของธนาคารกลางมาพร้อมกับความรับผิดชอบ (Accountability) ต่อเป้าหมาย

‘บุปผา เรืองสุด’ ปลื้ม!! เด็กไทยคว้า 6 เหรียญสุดยิ่งใหญ่ ในเวทีแข่งขันฝีมือแรงงานระดับเอเชีย ณ กรุงอาบูดาบี

จากรายการ THE TOMORROW ซึ่งออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES ได้พูดคุยอัปเดตกับ นางสาวบุปผา เรืองสุด อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ในประเด็น ‘เยาวชนไทยคว้าชัยจากเวทีการแข่งขันฝีมือแรงงานเอเชีย ครั้งที่ 2 ณ กรุงอาบูดาบี สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์’ เมื่อวันที่ 9 ธ.ค.66 โดยมีรายละเอียด ดังนี้...

การแข่งขันฝีมือแรงงานเอเชีย ครั้งที่ 2 ณ กรุงอาบูดาบี สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ได้เสร็จสิ้นลงแล้ว โดยเยาวชนไทยสามารถคว้าเหรียญรางวัลในเวทีการแข่งขันฝีมือแรงงาน ระดับเอเชียมาได้ทั้งหมด 6 เหรียญ ประกอบด้วย... 

>> 1 เหรียญทอง จากสาขาแต่งผม นายสิทธิพร พาสง่า สนับสนุนโดยโรงเรียนเสริมสวยอรอุบล  

>> 2 เหรียญเงิน ได้แก่ สาขาเทคโนโลยีงานเชื่อม นายสิทธิชัย ไชยวิเศษ จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย สาขาหุ่นยนต์เคลื่อนที่ (ประเภททีม) ได้แก่ นายภัคพล ปรีชาวนา และนายฬูค่า ชนกันต์ บอนด์ จากศูนย์การเรียนรู้การเขียนโปรแกรมและนวัตกรรมหุ่นยนต์ 

>> 1 เหรียญทองแดง จากสาขาเทคโนโลยีเว็บ นายณฐนันท์ แพน้อย วิทยาลัยเทคโนโลยีภาคตะวันออก (อี.เทค) 

>> และคว้าเหรียญฝีมือยอดเยี่ยมมาได้อีก 2 สาขา คือ สาขาเทคโนโลยีระบบทำความเย็น นายหัตศนัยต์ บุญแก้วคง จากวิทยาลัยเทคนิคสงขลา และสาขากราฟิกดีไซน์ นางสาวปภัชญา พีรกรวรธรรม จากวิทยาลัยเทคโนโลยีสยามบริหารธุรกิจ วิทยาเขตสะพานใหม่

นางสาวบุปผา กล่าวต่อว่า น้อง ๆ ที่คว้ารางวัลกลับมายังประเทศไทยในครั้งนี้ ได้สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศ และได้แสดงศักยภาพด้านทักษะฝีมือให้ประเทศอื่น ๆ ได้เห็นว่า เด็กไทยมีฝีมือไม่แพ้ชาติใดในโลก ส่วนน้อง ๆ ที่พลาดเหรียญรางวัลก็ไม่ต้องเสียใจ ทุกคนได้ทำหน้าที่ตัวแทนประเทศไทยอย่างเต็มที่และสุดความสามารถแล้วประสบการณ์ที่ได้รับมีคุณค่ามากกว่า เพราะหาฝึกจากที่ไหนไม่ได้  และต้องยอมรับว่าทุกคนที่ก้าวมาถึงเวทีนี้ถือว่าสุดยอดมาก ๆ ขอให้นำประสบการณ์ในครั้งนี้เป็นแรงผลักดันในการต่อสู้ในเวทีอื่น ๆ และนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์กับการเรียนและการทำงานในอนาคตต่อไป 

ทั้งนี้ต้องขอขอบคุณทุกภาคส่วน ทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน รวมถึงสถาบันการศึกษาผู้อยู่เบื้องหลังแห่งสำเร็จในครั้งนี้ที่ให้การสนับสนุนในช่วงระหว่างการเก็บตัวฝึกซ้อม พร้อมกับสนับสนุนด้านต่าง ๆ จนทำให้เยาวชนไทยสามารถไปร่วมการแข่งขันและคว้าเหรียญรางวัลกลับประเทศไทยอย่างภาคภูมิใจ เวทีการแข่งขันทุกเวทีเป็นการกระตุ้นให้เกิดการ Upskill แรงงานได้ กระทรวงแรงงาน โดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงานจะส่งแรงงานและเยาวชนเข้าร่วมในทุกเวทีและทุกด้าน เพื่อสร้างแรงผลักดันให้แรงงานไทยทุกคนได้เห็นความสำคัญของการพัฒนาหรือ Upskill ฝีมือตนเองอย่างต่อเนื่องเพื่อให้พร้อมกับการก้าวเข้าสู่ตลาดแรงงานต่อไป

อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับเยาวชนที่สามารถคว้าเหรียญรางวัล จะได้รับรางวัลดังนี้ เหรียญทอง 261,000 บาท เหรียญเงิน 161,500 บาท เหรียญทองแดง 82,000 บาท เหรียญฝีมือยอดเยี่ยม 35,000 บาท และรางวัลปลอบใจสำหรับน้องที่พลาดเหรียญรางวัลคนละ 10,000 บาท สำหรับการดูแลต่อจากนี้ นอกเหนือจากการเก็บตัวฝึกซ้อมเพื่อไปแข่งในระดับนานาชาติช่วงเดือนกันยายน 2567 หากน้อง ๆ ต้องการที่จะศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้น กรมพัฒนาฝีมือแรงงานจะประสานกับทางมหาวิทยาลัย จัดหาโควต้าในการศึกษาต่อให้ สำหรับการเข้าทำงานต้องยอมรับว่า น้อง ๆ มีทักษะสูงจึงมีบริษัทจองตัวไว้แล้ว อีกส่วนหนึ่ง กรมพัฒนาฝีมือแรงงานเตรียมรับเป็นวิทยากรของกรมฯ เพื่อทำหน้าที่ครูฝึกให้แก่แรงงานต่อไปด้วย

‘พีระพันธุ์’ ลั่น!! อยากตรึงค่าไฟงวด ม.ค.-เม.ย. 67 ไว้ที่ 3.99 ชี้!! อาจต้องให้ ‘ปตท.-กฟผ.’ ช่วยแบกรับแทนประชาชนไปก่อน

(8 ธ.ค.66) นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยถึงประเด็นเรื่องค่าไฟงวด ม.ค.-เม.ย.67 สำหรับกลุ่มประชาชนทั่วไป ว่า ขณะนี้กำลังพยายามหาแนวทางหลากหลายรูปแบบในการดำเนินการ เพื่อทำให้ค่าไฟต่ำกว่า 4.68 บาทตามที่ที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ประกาศล่าสุด

อย่างไรก็ดี คงต้องยอมรับก่อนว่า เรื่องดังกล่าวไม่ใช่ว่าจะสามารถทำได้แบบที่ใจคิด เนื่องจากมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายฝ่าย โดยการที่จะให้ค่าไฟลดลง 10 สตางค์ จะต้องมีค่าใช้จ่าย หรือผู้ที่ต้องแบกรับภาระตั้งแต่ 1,000-10,000 ล้านบาท 

“การพยายามจะตรึงราคาค่าไฟไว้ที่ระดับเดิม 3.99 บาทต่อหน่วยคงทำได้ยาก เพราะราคาค่าก๊าซธรรมชาติที่นำมาใช้ผลิตไฟมีการปรับขึ้นราคาในช่วงฤดูหนาว แต่จะพยายามทำให้ต่ำที่สุด”

ขณะที่ประเด็นที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานต้องการให้ค่าไฟงวดใหม่อยู่ที่ราคา 4.10 บาทต่อหน่วย ไม่ใช่ 4.20 บาทต่อหน่วยตามที่กระทรวงพลังงานเคยระบุว่าจะดำเนินการก่อนหน้านี้นั้น ในความคิดเห็นส่วนตัวต้องการให้อยู่ที่ 3.99 บาทต่อหน่วยมากกว่า

“การจะปรับลดค่าไฟไม่ใช่อยู่ที่การพูดว่าต้องการเท่าไหร่ แต่อยู่ที่หลายภาคส่วนประกอบกัน เช่น ผู้ประกอบการจะอยู่ได้หรือไม่ เพราะปัจจุบันไม่ใช่มีแค่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เท่านั้น แต่ยังมีผู้ประกอบการภาคเอกชนด้วย ซึ่งบางรายเพิ่งฟื้นจากสถานการณ์โควิด19 หากเอกชนที่เป็นรายเล็กบางรายอยู่ไม่ได้ ก็อาจจะทำให้มีไฟฟ้าไม่เพียงพอ ซึ่งคงวุ่นวายไปมากกว่านี้ ดังนั้น ต้องคิดอย่างรอบคอบให้เกิดความเป็นไปได้ของทุกส่วน ต้องแก้ปัญหาให้เป็นวงกลม”

นอกจากนี้ การที่จะดำเนินการช่วยเหลือกลุ่มประชาชนทั่วไปที่ใช้ไฟเกิน 300 หน่วยต่อเดือน จะต้องนำเสนอให้คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) พิจารณาเห็นชอบด้วยในวันที่ 13 ธันวาคม 2566

สำหรับแนวทางการให้ความช่วยเหลือ แน่นอนว่า บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) จะต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการช่วยเหลือ เพราะเป็นองค์กรที่ดูแลเรื่องก๊าซธรรมชาติ เช่นเดียวกับ กฟผ. ที่อาจจะต้องแบกรับภาระเพื่อประชาชนอีก

ส่วนจะใช้โอกาสดังกล่าวนี้ในการปรับโครงสร้างพลังงานทั้งระบบเลยหรือไม่นั้น ปัจจุบันกำลังอยู่ในขั้นตอนของการศึกษาเพื่อไม่ให้ปัญหาทางด้านพลังงานจะต้องเกิดขึ้นทุก 3-4 เดือนที่จะมีการประกาศค่าไฟงวดใหม่ โดยกำลังอยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับปัญหา เพื่อนำมาแก้ไข

“ตอนนี้คงต้องทำตามโครงสร้างเดิมก่อน เพราะเป็นแบบนี้มามากกว่า 40 ปีแล้ว แต่ก็พยายามหาทางทุกมิติว่าจะปรับโครงสร้างพลังงานอย่างไร เพื่อให้ราคาลดลงได้ด้วยตัวเอง และไม่เพิ่มภาระให้ประชาชน หรือเรียกว่าปลดแอกจากราคาที่ขึ้นอยู่กับตลาดโลกเป็นปัจจัยหลักสำคัญ”

‘พีระพันธุ์’ จ่อชง ครม. ดึงงบกลางตรึงค่าไฟ 3.99 บ. ต่อหน่วย ช่วยผู้ใช้ไฟไม่เกิน 300 หน่วย จำนวน 17.7 ล้านครัวเรือน

(8 ธ.ค. 66) นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า เพื่อลดค่าครองชีพประชาชนและเป็นของขวัญปีใหม่กระทรวงพลังงานเตรียมนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่จะตรึงค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (Ft) งวด ม.ค.-เม.ย. 67 ไว้ที่อัตราเดิม 3.99 บาท/หน่วยให้เฉพาะกลุ่มเปราะบางจำนวน 17.7 ล้านครัวเรือน โดยอ้างอิงจากข้อมูลเดิมคือผู้ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือน โดยจะต้องขอความเห็นชอบจาก ครม.เพื่อใช้งบกลางปี 2567 ราว 2,000 ล้านบาท ส่วนผู้ใช้ไฟฟ้าที่เกิน 300 หน่วยขึ้นไป เตรียมที่จะนำเสนอที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ในวันที่ 13 ธันวาคมนี้ เพื่อหารือถึงแนวทางในการดูแลค่าไฟให้กลุ่มนี้ต่อไปเพื่อลดผลกระทบ

“คงเน้นไปที่กลุ่มเปราะบางก่อนในระยะสั้นนี้ แต่ต่อไปก็จะเร่งพิจารณาส่วนผู้ใช้ไฟที่เกิน 300 หน่วยต่อเดือนโดยแนวทางก็อาจจะพิจารณายืดหนี้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และ ให้ บมจ. ปตท. ลดราคาต้นทุนค่าก๊าซธรรมชาติลง ซึ่งยังต้องหาข้อสรุปว่าจะสามารถลดค่าไฟให้เหลือ 3.99 บาทตอนหน่วยได้หรือไม่ เนื่องจากการจะลดค่าไฟทั่วประเทศจะต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก เพราะราคาก๊าซธรรมชาติในระยะนี้สูงขึ้นเช่นกัน แต่ยืนยันค่าไฟฟ้าจะไม่ถึง 4.68 บาทต่อหน่วยแน่นอน โดยคาดว่าจะได้ข้อสรุปไปในเดือนธันวาคมนี้” นายพีระพันธุ์กล่าว

สำหรับการจัดทำน้ำมันดีเซลราคาถูกให้กับกลุ่มเกษตรกรว่า เตรียม จะเสนอร่างกฎหมาย จัดทำโครงสร้าง ราคาน้ำมันดีเซล ให้กับกลุ่มเกษตรกรเช่นเดียวกับน้ำมันเขียวที่ขายให้กับกลุ่มประมง ภายในวันที่ 12 ธันวาคมนี้ ที่จะมีการประชุมรัฐสภาสมัยประชุมสามัญประจำปีครั้งที่ 2 เบื้องต้นอยู่ระหว่างการจัด ร่างกฎหมาย โดย จะมีความแตกต่าง จากน้ำมันเขียว ที่ได้รับการยกเว้นจัดเก็บภาษีน้ำมันดีเซลสรรพสามิต แต่ในส่วนน้ำมันของเกษตร ยืนยันว่าจะขายในราคาต่ำกว่าราคาดีเซลปัจจุบัน  

‘เศรษฐา’ ชี้!! เดินสายทั่วโลก ช่วยดึงดูดนักลงทุนชั้นนำ ยกเคส Google ร่วมไทย นำเทคโนโลยีใหม่เอื้อ ‘ชีวิต-งาน’

‘เศรษฐา’ โชว์วิสัยทัศน์ พร้อมขอบคุณ Google ร่วมมือรัฐบาลไทย นำเทคโนโลยี มาใช้ทำงานในชีวิต เชื่อ AI-Cloud ตอบโจทย์พันธกิจ พัฒนาธุรกิจไทย ลั่น!! วันนี้สวมหมวกรัฐบาล ทำงานเชิงรุก หวังคนไทยกินดีอยู่ดี ย้ำ!! ไม่ทิ้งคนไหนไว้ข้างหลัง

(8 ธ.ค.66)  ที่ห้องแมคโนเลียบอลรูม โรงแรมวอลดอร์ฟ แอสโทเรีย กรุงเทพ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง กล่าวปาฐกถาพิเศษในงาน ‘Google Digital Samart Thailand’ ว่า ขอขอบคุณผู้บริหาร Google และหลายภาคส่วนที่สำคัญ ทั้งภาคธุรกิจประชาชนคนไทยและอีกหลายท่านที่มาร่วมงานในวันนี้ถือเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดความร่วมมือระหว่าง Google และรัฐบาลไทยในวันนี้การนำเทคโนโลยี Google มาใช้ในการทำงานและชีวิตประจำวันการพัฒนาขีดความสามารถและการใช้งานจำนวนมากในภาคประชาชนและธุรกิจล้วนเป็นจุดเริ่มต้นสารตั้งต้นของงานในวันนี้

นายกฯ กล่าวว่า วันนี้เป็นครั้งที่ 2 ที่ได้มาพูดในงาน Google ประเทศไทย ครั้งแรกจำได้ดีตอนอยู่ภาคเอกชนเดือนมิถุนายนปีที่แล้วประสบการณ์ของตนและ Google ทำให้ทราบว่านอกจากเป็นผู้นำทางด้านดิจิทัลแล้ว ยังใส่ใจในความแตกต่างความหลากหลายของผู้คนในสังคมหน่วยงานในภาครัฐและภาคธุรกิจขนาดใหญ่ขนาดกลางและขนาดเล็ก วันนี้ตนได้เห็นภาพชัดเจนของโครงการและการลงทุนต่างๆ ของ Google โดยเฉพาะด้าน AI และ Cloud นั้นจะตอบโจทย์พันธกิจ ของ Google ช่วยประเทศไทยและพัฒนาคนไทยและธุรกิจไทยอย่างแน่นอน 

นายกฯ กล่าวว่า วันนี้สวมหมวกใหม่ในฐานะรัฐบาลเราให้ความสำคัญในการทำงานเชิงรุกที่สร้างความอยู่ดีกินดีให้กับพี่น้องประชาชนคนไทย ซึ่งที่ผ่านมาก็พยายามดำเนินนโยบายหลังเร่งด่วนมาโดยตลอด ขณะเดียวกันขอย้ำเสมอว่าประเทศไทยอยู่ท่ามกลางความท้าทายของสภาพเศรษฐกิจโลกที่ผันผวน และตนได้ออกไปเชิญนักธุรกิจทั่วโลกในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา เป็นที่ประจักษ์ดีว่าเพื่อประกาศให้โลกรู้ประเทศไทยเปิดแล้วสำหรับการทำธุรกิจ และเราจะทำให้ประเทศไทยกลับมาเป็นจุดมุ่งหมายของการลงทุนของนักลงทุนชั้นนำอีกด้วย ยกระดับเศรษฐกิจไทยให้ไปสู่ยุคเศรษฐกิจดิจิทัลนำ AI และ Cloud เข้ามาพัฒนาการให้บริการพี่น้องประชาชน นำไปสู่การสร้างเศรษฐกิจมูลค่าสูงด้วยกลยุทธ์การดำเนินการที่กล่าวไปแล้วเราได้ดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมในหลายมิติ

“การไปประชุมที่นิวยอร์กเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา ได้พบปะกับ ประธานบริหารการลงทุนและประธานบริหารการเงิน ของ Google ซึ่งหารือถึงการทำงานร่วมกันเพื่อยกระดับเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศไทยโดยรวม นับจากนั้นเป็นต้นมา คณะทำงานของทั้งสองฝ่าย ต้องขอขอบคุณทาง Google ประเทศไทยและทีมงานของตนที่ได้ทำงานกันอย่างหนักเชิงรุกร่วมกันอย่างเข้มแข็ง จนบรรลุถึง MOU ความร่วมมืออย่างเป็นทางการ ระหว่างไทยและ Google ที่การประชุมเอเปคกลางเดือนที่ผ่านมาความร่วมมือทั้งสองฝ่ายประกาศร่วมกัน 4 เรื่องด้วยกัน ได้แก่ การต่อยอดการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเศรษฐกิจดิจิทัล เช่น การลงทุนขยาย Data Center ในประเทศไทยการส่งเสริมการใช้ Cloud และ AI อย่างมีความรับผิดชอบและปลอดภัยเพื่อยกระดับการให้บริการของภาครัฐการวางหลักการเกี่ยวกับนโยบายการใช้งานระบบ Cloud เป็นหลัก หรือที่เรียกว่า Cloud first Policies และการทำให้คนไทยสามารถเข้าถึงทักษะด้านดิจิทัลได้อย่างมากขึ้น” นายกฯกล่าว

นายกฯ กล่าวต่อว่า รัฐบาลได้ประกาศนโยบายการใช้ระบบ Cloud เป็นหลัก ซึ่งจะเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้อย่างแข็งแรงในยุคเศรษฐกิจ AI รัฐบาลได้จัดทำนโยบายและแผนเพื่อเป็นกรอบการขยายงานใช้งาน Cloud และเป็นโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีทั้งภาครัฐและเอกชนโดยเน้นการใช้งาน Public Ground ที่มีมาตรฐานในการดูแลข้อมูลของภาครัฐ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมจะเป็นผู้เรื่องขับเคลื่อนนโยบาย เน้นบูรณาการด้านเทคโนโลยี Cloud กับการดำเนินงานของภาครัฐ ซึ่งทำให้เกิดผลได้เชิงปฏิบัติโดยเร็ว โดยอยู่ในการพิจารณาของคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติต่อไป

อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดนี้นอกจากจะเร่งให้เกิดการยกระดับการให้บริการในภาครัฐแล้ว ยังยกระดับขีดความสามารถของประเทศไทย ซึ่งเป็นหนึ่งในจุดหมายการลงทุนของระบบ บริษัทชั้นนำของทั่วโลก เรื่องที่ 2 เรากำลังวางแนวทางจัดแผน ในหน่วยงานรัฐและที่เกี่ยวข้องทั้งหมดให้มีมาตรฐานลดความซ้ำซ้อนเพิ่มการป้องกันการคุกคามภัยทางไซเบอร์อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยเมื่อ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมาทางคณะกรรมการรักษาความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์แห่งชาติ ได้มีการคิกออฟการทำงานไปแล้ว ต้นปีหน้าเราจะเห็นแผนการทำงานที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น และเรื่องที่ 3 อัปสกิล-รีสกิล ตนยินดีอย่างยิ่งที่ได้เห็นความร่วมมือกับ Google และกระทรวงและหน่วยงานราชการ ซึ่งจะพัฒนาขีดความสามารถของบุคลากร และหน่วยงานภาครัฐทั้งหมดทำให้การบริการพี่น้องประชาชนได้ดียิ่งขึ้น เริ่มโครงการนำร่องใช้ในงานของภาครัฐ ความร่วมมือดังกล่าว

“ต้องขอบคุณกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ BOI ที่เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงใหญ่ ในการส่งเสริมผลักดันความร่วมมือกับ Google และบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำอื่นของโลกทั้งในเรื่อง AI Cloud และความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์การดำเนินการเชิงรุกของรัฐบาลยกระดับเศรษฐกิจไทยไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัลยุคใหม่ และดีใจที่วันนี้เรามีการร่วมมือกับทาง Google จะทำงานกันต่อไป โดยไม่ทิ้งคนไทยคนไหนไว้ข้างหลัง” นายกฯกล่าว

ด้านนาย Karan Bajwa Vice President Asia Pacific Google Cloud กล่าวว่า จากผลการวิจัยพบว่าหากภาคส่วนและองค์กรต่างๆ ในประเทศไทยนำนวัตกรรม AI มาใช้งานจะสามารถปลดล็อกผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจได้อย่างน้อย 2.6 ล้านล้านบาท ภายในปี 2573 อย่างไรก็ตาม เทคโนโลยีฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์แบบดั้งเดิมยังขาดความสามารถในการปรับขนาดและความยืดหยุ่น เพื่อรองรับความต้องการด้าน AI ที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้ความสามารถของเทคโนโลยี Cloud AI ที่ออกแบบมาเพื่อการใช้งานระดับองค์กร โดยเฉพาะกลายเป็นปัจจัยสำคัญในการกระตุ้นให้เกิดนวัตกรรม

ดังนั้น เราจึงได้ร่วมมือกับรัฐบาลไทยในการร่างนโยบาย Go Cloud First เพื่อสร้างแนวทางที่ชัดเจนขึ้นสำหรับองค์กรต่างๆ ในการเข้าถึงความสามารถเหล่านี้อย่างรวดเร็ว ภายใต้ความร่วมมือกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงคมนาคม และสถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ เราจะดำเนินการในขั้นตอนต่อไปในการเตรียมความพร้อมให้กับเจ้าหน้าที่ผู้ให้บริการแก่ประชาชนในการสร้างและปรับใช้โซลูชั่น Generative AI โดยใช้ความสามารถของ Cloud AI ซึ่งอยู่ระหว่างดำเนินการความร่วมมือ โดยมีเป้าหมายทำให้องค์กรต่างๆ ได้รับประโยชน์ที่มีอยู่ Generative AI เพื่อช่วยพลิกโฉมเศรษฐกิจประเทศไทย และสร้างประโยชน์ในวงกว้างต่อคนไทยทุกคนได้อย่างรวดเร็ว

'อ.พงษ์ภาณุ' ชี้!! สัญญาณดี แก้ฝุ่น PM 2.5 แบบยั่งยืน เมื่อรัฐบาลจัดมาตรการเชิงรุก และเอกชนช่วยผลักดันอีกแรง

ทีมข่าว THE STATES TIMES ได้พูดคุยกับ อ.พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ระดับประเทศ ที่พูดคุยในรายการ Easy Econ ซึ่งออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES ในประเด็น 'การกลับมาของฝุ่น PM 2.5 ภารกิจสำคัญที่รัฐบาลต้องยกให้เป็นวาระแห่งชาติ' เมื่อวันที่ 10 ธ.ค.66 โดย อ.พงษ์ภาณุ กล่าวว่า...

ฝุ่น PM 2.5 กำลังจะเป็นประเด็นขึ้นมาอีก รัฐบาลควรต้องเตรียมการป้องกันแก้ไขและยกเป็นวาระแห่งชาติ

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและปัญหาโลกร้อนมีหลายประเด็นที่น่าสนใจในสัปดาห์ที่ผ่านมา จากการประชุม COP 28 ที่เมืองดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) 

ความพยายามที่จะให้มีการยุติการใช้เชื้อเพลิง Fossil Fuels อย่างสิ้นเชิง แม้จะยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจน แต่ก็ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี 

ส่วนผลสำเร็จที่เป็นรูปธรรมน่าจะเป็นการจัดตั้งกลไกการเงินที่เรียกว่า กองทุน Loss and Damage ที่จะทำหน้าที่เป็นแหล่งเงินทุนเยียวยาและสนับสนุนการปรับตัวของประเทศที่มีความเสี่ยงสูงและได้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อน 

ประเทศไทยก็อยู่ในกลุ่มประเทศที่มีความเปราะบางและสามารถเข้าถึงแหล่งเงินใหม่นี้ด้วย กองทุนนี้น่าจะเริ่มดำเนินการได้ในปี 2567 โดยมีธนาคารโลกเป็นผู้จัดการกองทุน

ทั้งนี้ ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ในไทย ก็เป็นผลพวงหนึ่งจากภาวะโลกร้อน ความพยายามของรัฐบาลก่อนที่ใช้มาตรการภาคบังคับทางกฏหมายได้พิสูจน์แล้วว่าไม่บังเกิดผลและล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง จนภาคประชาชนที่จังหวัดเชียงใหม่ได้ยื่นฟ้องรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา และศาลปกครองจังหวัดเชียงใหม่ได้ตัดสินให้รัฐบาลเป็นฝ่ายแพ้และต้องเร่งแก้ไขสภาพอากาศให้กับคนเชียงใหม่ ซึ่งถือเป็นชัยชนะที่ยิ่งใหญ่ของคนเชียงใหม่และเป็นการยืนยันว่ามาตรการของรัฐไม่สามารถดูแลความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชนได้

ทางออกของเรื่องฝุ่น PM 2.5 นี้ จึงน่าจะอยู่ที่การใช้กลไกตลาดและกลไกทางธุรกิจของภาคเอกชน และก็เป็นที่น่ายินดี ที่ขณะนี้ธุรกิจเอกชนได้ริเริ่มโครงการหยุดเผาเรารับซื้อ โดยเข้ามารับซื้อเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรจากชาวไร่ชาวนา เพื่อนำไปแปรรูปเป็นแท่งเชื้อเพลิงชีวมวล (Biomass Pellets) และส่งขายให้กับธุรกิจขนาดใหญ่ทั้งในและต่างประเทศ นอกจากนี้ยังสามารถนำปริมาณคาร์บอนที่ลดได้จากการหยุดเผามาขายเป็นคาร์บอนเครดิต เพื่อส่งต่อเป็นรายได้เสริมให้กับเกษตรกรอีกด้วย

มาตรการริเริ่มของรัฐบาลที่น่าชมเชยคือ การจัดตั้งกองทุน ESG เพื่อระดมทุนจากประชาชนและนักลงทุนและจัดสรรเงินลงทุนไปสู่บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ที่ได้มาตรฐานด้านการรักษาสิ่งแวดล้อม ความรับผิดชอบต่อสังคม และธรรมาภิบาล จึงเป็นโอกาสอันดีที่คนไทยทุกคนจะได้มีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมด้วย

พีระพันธ์ุ ชี้!! 3 ข้อ ที่สามารถหนุนลดค่าไฟได้

(9 ธ.ค.66) จากเพจเฟซบุ๊ก ‘พรรครวมไทยสร้างชาติ United Thai Nation Party’ ได้โพสต์ข้อความของ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวถึงค่าไฟฟ้าที่ลดได้จะเกิดจาก 3 ส่วนหลัก ๆ ได้แก่…

1.) การขยายหนี้ กฟผ. ออกไปอีก 1 งวด 2.) การปรับโครงสร้างราคาก๊าซธรรมชาติ และ 3.) การกำหนดราคาขายก๊าซธรรมชาติของ ปตท.

‘THAI FIGHT’ บุกจีน ลุยส่งเสริมอุตสาหกรรมมวยไทย เตรียมเปิดยิมสอนทักษะ 10,000 แห่ง ภายในเวลา 5 ปี

(9 ธ.ค.66) นายนพพร วาทิน ผู้ก่อตั้งและประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไทยไฟท์ จำกัด เจ้าของแบรนด์ THAI FIGHT บริษัทจัดการแข่งขันมวยไทยอาชีพระดับโลก กล่าวว่า บริษัทฯ ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ (เอ็มโอยู) กับ บริษัท ยูไนเต็ด แวนเซน สปอร์ต แมเนจเมนท์ จำกัด โดยนายวิลเลียม หวู ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เป็นผู้ลงนาม มีนางจิราพร สุดานิช กงสุลใหญ่ไทย ณ นครกว่างโจว สาธารณรัฐประชาชนจีน ร่วมเป็นสักขีพยาน เมื่อวันที่ 4 ธันวาคมที่ผ่านมา โดยข้อตกลงความร่วมมือดังกล่าว THAI FIGHT และ United Vansen จะร่วมกันส่งเสริมอุตสาหกรรมมวยไทยเข้าสู่จีนแผ่นดินใหญ่ ได้แก่ การจัดการแข่งขันมวยไทยระดับโลกในประเทศจีน ดำเนินการเปิดยิมมวยไทยทั่วประเทศจีนเพื่อฝึกอบรมตลอดจนปลูกฝังและคัดเลือกนักมวยไทยมืออาชีพที่เป็นชาวจีน รวมทั้งบุคคลทั่วไปที่สนใจออกกำลังกายด้วยวิชามวยไทยเพื่อสุขภาพที่ดีและรวมถึงเป็นศิลปะการป้องกันตัวด้วย ตั้งเป้าจะเปิดยิมมวยไทย 10,000 ยิม ภายในเวลา 5 ปี

นายนพพร กล่าวว่า บริษัท ยูไนเต็ด แวนเซน สปอร์ต แมเนจเมนท์ จำกัด บริหารจัดการกีฬาชั้นนำอันดับต้นๆ ของจีน มีสำนักงานใหญ่ที่กรุงปักกิ่ง ความร่วมมือครั้งนี้ได้รับการประสานงานจากนายเชาว์ชัย เจียมวิจิตร และนายฉัตรชัย เล่งอี้ ประธานและรองประธานคณะอนุกรรมการหอการค้าแห่งประเทศไทยด้านค้าชายแดนด้านจีนตอนใต้ ซึ่งตรงกับนโยบายหลักของบริษัทฯ คือความเป็น ‘THAI SPIRIT’ ที่บ่งบอกความเป็นไทยและคนไทยเท่านั้นที่จะทำได้ดีที่สุด

นายวิลเลี่ยม กล่าวว่า ความร่วมมือของทั้งสองบริษัทครั้งนี้ถือเป็นการเปิดตัวโครงการแลกเปลี่ยนการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมของจีน-ไทย ซึ่งจะช่วยส่งเสริมพัฒนาในเชิงลึกของทั้ง 2 ประเทศไม่ว่าจะเป็นในด้านวัฒนธรรม กีฬา การท่องเที่ยว และด้านอื่นๆ หลังจากพิธีลงนามทั้งสองฝ่ายยังได้หารือและวางแผนในเชิงลึกเกี่ยวกับความร่วมมือในด้านการจัดการแข่งขัน พัฒนาการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมกีฬา และกีฬาเพื่อสุขภาพอย่างละเอียด รวมถึงมีแผนจะผลักดันด้านลิขสิทธิ์กีฬา สื่อบันเทิงกีฬา รวมถึงอุปกรณ์และผลิตภัณฑ์กีฬาต่างๆ ที่มีคุณภาพของประเทศไทย รวมถึงเครื่องดื่มชูกำลังด้วย

‘รมว.ปุ้ย’ ร่วมคณะ ‘นายกฯ’ ตรวจเยี่ยม จ.กาญจนบุรี  ‘รับฟัง-หาแนวทางแก้’ ปัญหา ‘ศก.-หนี้สิน-ยาเสพติด-เกษตรฯ’ ในพื้นที่

(9 ธ.ค. 66) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมคณะนายกรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน ลงตรวจราชการเพื่อติดตามความคืบหน้าเส้นทาง โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายบางใหญ่-กาญจนบุรี (M81) และประชุมหารือแนวทางการพัฒนาและแก้ไขปัญหาภาพรวมจังหวัดกาญจนบุรี รวมทั้งตรวจเยี่ยมสถานการณ์การค้าชายแดนบริเวณจุดผ่านแดนถาวรบ้านพุน้ำร้อน โดยมีนายเอกนิติ รมยานนท์ รองเลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม รักษาราชการแทนผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม, นายวิฤทธิ์ วิเศษสินธุ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย รักษาราชการแทนเลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย, นายเนตร์ กัญยะมาสา อสจ.กาญจนบุรี และผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมคณะด้วย ณ จังหวัดกาญจนบุรี 

สำหรับภารกิจในครั้งนี้ ทาง รมว.พิมพ์ภัทรา พร้อมคณะผู้บริหารในกระทรวงอุตสาหกรรมได้มีการประชุมหารือแนวทางการพัฒนาและแก้ไขปัญหา ภาพรวมจังหวัดกาญจนบุรี โดยได้ไปติดตามข้อมูลทางด้านเศรษฐกิจอุตสาหกรรม และปัญหาเชิงลึกแต่ละกรณี 

นอกจากนี้ ยังได้ติดตามการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจในพื้นที่ ปัญหาหนี้สินที่เป็นนโยบายสำคัญขณะนี้ ยาเสพติดที่ต้องเร่งปราบปราม การค้าขายระหว่างพรมแดนและผลิตภัณฑ์การเกษตร อันเป็นอีกช่องทางเศรษฐกิจสำคัญ เพราะพื้นที่กาญจนบุรีมีพรมแดนติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน มีการค้าขายเชื่อมโยง และมีโอกาสพัฒนาการที่ดีต่อไปในอนาคต

ทั้งนี้ ระหว่างการลงพื้นที่ เพื่อติดตามการพัฒนาเศรษฐกิจการค้าในพื้นที่ และรับฟังพร้อมหาแนวทางแก้ไขปัญหาภาพรวมของจังหวัดกาญจนบุรี โดยมีการพบปะพูดคุยเกี่ยวกับปัญหาเศรษฐกิจในพื้นที่ หนี้สิน ยาเสพติด การค้าขายระหว่างพรมแดนและผลิตภัณฑ์การเกษตรนั้น ได้มีประชาชนในพื้นที่เดินทางมาให้กำลังใจจำนวนมากอีกด้วย

ในการนี้มีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม, นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม, ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมลงพื้นที่ด้วย


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top