‘พีระพันธุ์’ ลั่น!! อยากตรึงค่าไฟงวด ม.ค.-เม.ย. 67 ไว้ที่ 3.99 ชี้!! อาจต้องให้ ‘ปตท.-กฟผ.’ ช่วยแบกรับแทนประชาชนไปก่อน

(8 ธ.ค.66) นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยถึงประเด็นเรื่องค่าไฟงวด ม.ค.-เม.ย.67 สำหรับกลุ่มประชาชนทั่วไป ว่า ขณะนี้กำลังพยายามหาแนวทางหลากหลายรูปแบบในการดำเนินการ เพื่อทำให้ค่าไฟต่ำกว่า 4.68 บาทตามที่ที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ประกาศล่าสุด

อย่างไรก็ดี คงต้องยอมรับก่อนว่า เรื่องดังกล่าวไม่ใช่ว่าจะสามารถทำได้แบบที่ใจคิด เนื่องจากมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายฝ่าย โดยการที่จะให้ค่าไฟลดลง 10 สตางค์ จะต้องมีค่าใช้จ่าย หรือผู้ที่ต้องแบกรับภาระตั้งแต่ 1,000-10,000 ล้านบาท 

“การพยายามจะตรึงราคาค่าไฟไว้ที่ระดับเดิม 3.99 บาทต่อหน่วยคงทำได้ยาก เพราะราคาค่าก๊าซธรรมชาติที่นำมาใช้ผลิตไฟมีการปรับขึ้นราคาในช่วงฤดูหนาว แต่จะพยายามทำให้ต่ำที่สุด”

ขณะที่ประเด็นที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานต้องการให้ค่าไฟงวดใหม่อยู่ที่ราคา 4.10 บาทต่อหน่วย ไม่ใช่ 4.20 บาทต่อหน่วยตามที่กระทรวงพลังงานเคยระบุว่าจะดำเนินการก่อนหน้านี้นั้น ในความคิดเห็นส่วนตัวต้องการให้อยู่ที่ 3.99 บาทต่อหน่วยมากกว่า

“การจะปรับลดค่าไฟไม่ใช่อยู่ที่การพูดว่าต้องการเท่าไหร่ แต่อยู่ที่หลายภาคส่วนประกอบกัน เช่น ผู้ประกอบการจะอยู่ได้หรือไม่ เพราะปัจจุบันไม่ใช่มีแค่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เท่านั้น แต่ยังมีผู้ประกอบการภาคเอกชนด้วย ซึ่งบางรายเพิ่งฟื้นจากสถานการณ์โควิด19 หากเอกชนที่เป็นรายเล็กบางรายอยู่ไม่ได้ ก็อาจจะทำให้มีไฟฟ้าไม่เพียงพอ ซึ่งคงวุ่นวายไปมากกว่านี้ ดังนั้น ต้องคิดอย่างรอบคอบให้เกิดความเป็นไปได้ของทุกส่วน ต้องแก้ปัญหาให้เป็นวงกลม”

นอกจากนี้ การที่จะดำเนินการช่วยเหลือกลุ่มประชาชนทั่วไปที่ใช้ไฟเกิน 300 หน่วยต่อเดือน จะต้องนำเสนอให้คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) พิจารณาเห็นชอบด้วยในวันที่ 13 ธันวาคม 2566

สำหรับแนวทางการให้ความช่วยเหลือ แน่นอนว่า บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) จะต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการช่วยเหลือ เพราะเป็นองค์กรที่ดูแลเรื่องก๊าซธรรมชาติ เช่นเดียวกับ กฟผ. ที่อาจจะต้องแบกรับภาระเพื่อประชาชนอีก

ส่วนจะใช้โอกาสดังกล่าวนี้ในการปรับโครงสร้างพลังงานทั้งระบบเลยหรือไม่นั้น ปัจจุบันกำลังอยู่ในขั้นตอนของการศึกษาเพื่อไม่ให้ปัญหาทางด้านพลังงานจะต้องเกิดขึ้นทุก 3-4 เดือนที่จะมีการประกาศค่าไฟงวดใหม่ โดยกำลังอยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับปัญหา เพื่อนำมาแก้ไข

“ตอนนี้คงต้องทำตามโครงสร้างเดิมก่อน เพราะเป็นแบบนี้มามากกว่า 40 ปีแล้ว แต่ก็พยายามหาทางทุกมิติว่าจะปรับโครงสร้างพลังงานอย่างไร เพื่อให้ราคาลดลงได้ด้วยตัวเอง และไม่เพิ่มภาระให้ประชาชน หรือเรียกว่าปลดแอกจากราคาที่ขึ้นอยู่กับตลาดโลกเป็นปัจจัยหลักสำคัญ”