Friday, 4 July 2025
ตรึงค่าไฟ

‘พีระพันธุ์’ ลั่น!! อยากตรึงค่าไฟงวด ม.ค.-เม.ย. 67 ไว้ที่ 3.99 ชี้!! อาจต้องให้ ‘ปตท.-กฟผ.’ ช่วยแบกรับแทนประชาชนไปก่อน

(8 ธ.ค.66) นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยถึงประเด็นเรื่องค่าไฟงวด ม.ค.-เม.ย.67 สำหรับกลุ่มประชาชนทั่วไป ว่า ขณะนี้กำลังพยายามหาแนวทางหลากหลายรูปแบบในการดำเนินการ เพื่อทำให้ค่าไฟต่ำกว่า 4.68 บาทตามที่ที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ประกาศล่าสุด

อย่างไรก็ดี คงต้องยอมรับก่อนว่า เรื่องดังกล่าวไม่ใช่ว่าจะสามารถทำได้แบบที่ใจคิด เนื่องจากมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายฝ่าย โดยการที่จะให้ค่าไฟลดลง 10 สตางค์ จะต้องมีค่าใช้จ่าย หรือผู้ที่ต้องแบกรับภาระตั้งแต่ 1,000-10,000 ล้านบาท 

“การพยายามจะตรึงราคาค่าไฟไว้ที่ระดับเดิม 3.99 บาทต่อหน่วยคงทำได้ยาก เพราะราคาค่าก๊าซธรรมชาติที่นำมาใช้ผลิตไฟมีการปรับขึ้นราคาในช่วงฤดูหนาว แต่จะพยายามทำให้ต่ำที่สุด”

ขณะที่ประเด็นที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานต้องการให้ค่าไฟงวดใหม่อยู่ที่ราคา 4.10 บาทต่อหน่วย ไม่ใช่ 4.20 บาทต่อหน่วยตามที่กระทรวงพลังงานเคยระบุว่าจะดำเนินการก่อนหน้านี้นั้น ในความคิดเห็นส่วนตัวต้องการให้อยู่ที่ 3.99 บาทต่อหน่วยมากกว่า

“การจะปรับลดค่าไฟไม่ใช่อยู่ที่การพูดว่าต้องการเท่าไหร่ แต่อยู่ที่หลายภาคส่วนประกอบกัน เช่น ผู้ประกอบการจะอยู่ได้หรือไม่ เพราะปัจจุบันไม่ใช่มีแค่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เท่านั้น แต่ยังมีผู้ประกอบการภาคเอกชนด้วย ซึ่งบางรายเพิ่งฟื้นจากสถานการณ์โควิด19 หากเอกชนที่เป็นรายเล็กบางรายอยู่ไม่ได้ ก็อาจจะทำให้มีไฟฟ้าไม่เพียงพอ ซึ่งคงวุ่นวายไปมากกว่านี้ ดังนั้น ต้องคิดอย่างรอบคอบให้เกิดความเป็นไปได้ของทุกส่วน ต้องแก้ปัญหาให้เป็นวงกลม”

นอกจากนี้ การที่จะดำเนินการช่วยเหลือกลุ่มประชาชนทั่วไปที่ใช้ไฟเกิน 300 หน่วยต่อเดือน จะต้องนำเสนอให้คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) พิจารณาเห็นชอบด้วยในวันที่ 13 ธันวาคม 2566

สำหรับแนวทางการให้ความช่วยเหลือ แน่นอนว่า บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) จะต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการช่วยเหลือ เพราะเป็นองค์กรที่ดูแลเรื่องก๊าซธรรมชาติ เช่นเดียวกับ กฟผ. ที่อาจจะต้องแบกรับภาระเพื่อประชาชนอีก

ส่วนจะใช้โอกาสดังกล่าวนี้ในการปรับโครงสร้างพลังงานทั้งระบบเลยหรือไม่นั้น ปัจจุบันกำลังอยู่ในขั้นตอนของการศึกษาเพื่อไม่ให้ปัญหาทางด้านพลังงานจะต้องเกิดขึ้นทุก 3-4 เดือนที่จะมีการประกาศค่าไฟงวดใหม่ โดยกำลังอยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับปัญหา เพื่อนำมาแก้ไข

“ตอนนี้คงต้องทำตามโครงสร้างเดิมก่อน เพราะเป็นแบบนี้มามากกว่า 40 ปีแล้ว แต่ก็พยายามหาทางทุกมิติว่าจะปรับโครงสร้างพลังงานอย่างไร เพื่อให้ราคาลดลงได้ด้วยตัวเอง และไม่เพิ่มภาระให้ประชาชน หรือเรียกว่าปลดแอกจากราคาที่ขึ้นอยู่กับตลาดโลกเป็นปัจจัยหลักสำคัญ”

‘พีระพันธุ์’ จ่อชง ครม. ดึงงบกลางตรึงค่าไฟ 3.99 บ. ต่อหน่วย ช่วยผู้ใช้ไฟไม่เกิน 300 หน่วย จำนวน 17.7 ล้านครัวเรือน

(8 ธ.ค. 66) นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า เพื่อลดค่าครองชีพประชาชนและเป็นของขวัญปีใหม่กระทรวงพลังงานเตรียมนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่จะตรึงค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (Ft) งวด ม.ค.-เม.ย. 67 ไว้ที่อัตราเดิม 3.99 บาท/หน่วยให้เฉพาะกลุ่มเปราะบางจำนวน 17.7 ล้านครัวเรือน โดยอ้างอิงจากข้อมูลเดิมคือผู้ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือน โดยจะต้องขอความเห็นชอบจาก ครม.เพื่อใช้งบกลางปี 2567 ราว 2,000 ล้านบาท ส่วนผู้ใช้ไฟฟ้าที่เกิน 300 หน่วยขึ้นไป เตรียมที่จะนำเสนอที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ในวันที่ 13 ธันวาคมนี้ เพื่อหารือถึงแนวทางในการดูแลค่าไฟให้กลุ่มนี้ต่อไปเพื่อลดผลกระทบ

“คงเน้นไปที่กลุ่มเปราะบางก่อนในระยะสั้นนี้ แต่ต่อไปก็จะเร่งพิจารณาส่วนผู้ใช้ไฟที่เกิน 300 หน่วยต่อเดือนโดยแนวทางก็อาจจะพิจารณายืดหนี้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และ ให้ บมจ. ปตท. ลดราคาต้นทุนค่าก๊าซธรรมชาติลง ซึ่งยังต้องหาข้อสรุปว่าจะสามารถลดค่าไฟให้เหลือ 3.99 บาทตอนหน่วยได้หรือไม่ เนื่องจากการจะลดค่าไฟทั่วประเทศจะต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก เพราะราคาก๊าซธรรมชาติในระยะนี้สูงขึ้นเช่นกัน แต่ยืนยันค่าไฟฟ้าจะไม่ถึง 4.68 บาทต่อหน่วยแน่นอน โดยคาดว่าจะได้ข้อสรุปไปในเดือนธันวาคมนี้” นายพีระพันธุ์กล่าว

สำหรับการจัดทำน้ำมันดีเซลราคาถูกให้กับกลุ่มเกษตรกรว่า เตรียม จะเสนอร่างกฎหมาย จัดทำโครงสร้าง ราคาน้ำมันดีเซล ให้กับกลุ่มเกษตรกรเช่นเดียวกับน้ำมันเขียวที่ขายให้กับกลุ่มประมง ภายในวันที่ 12 ธันวาคมนี้ ที่จะมีการประชุมรัฐสภาสมัยประชุมสามัญประจำปีครั้งที่ 2 เบื้องต้นอยู่ระหว่างการจัด ร่างกฎหมาย โดย จะมีความแตกต่าง จากน้ำมันเขียว ที่ได้รับการยกเว้นจัดเก็บภาษีน้ำมันดีเซลสรรพสามิต แต่ในส่วนน้ำมันของเกษตร ยืนยันว่าจะขายในราคาต่ำกว่าราคาดีเซลปัจจุบัน  

ลุ้น 'พีระพันธุ์’ ตรึงค่าไฟ 'ก.ย.-ธ.ค.' คงไว้ 4.18 บาทต่อหน่วย คาด!! อาจต้องของบประมาณจากรัฐบาลมาช่วยหนุน

ไม่นานมานี้ ทางคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้พิจารณาอัตราค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ หรือค่าเอฟที งวดปลายปี (กันยายน-ธันวาคม 2567) พบว่าต้นทุนค่าไฟเพิ่มขึ้นอีกประมาณหน่วยละ 20-40 สตางค์ จากค่าไฟงวดปัจจุบันหน่วยละ 4.18 บาท และจะมีการแถลงข่าว 3 ทางเลือกค่าไฟวันที่ 12 กรกฎาคมนี้ เพื่อให้ประชาชนและผู้มีส่วนได้เสีย ทำการเลือกและแสดงความเห็น ก่อนจะประกาศใช้ทางการวันที่ 1 สิงหาคมนี้ 

สำหรับปัจจัยการขึ้นค่าไฟมาจากต้นทุนเชื้อเพลิง ปริมาณการใช้ไฟฟ้า และหนี้ให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) วงเงินประมาณ 98,000 ล้านบาท ดังนั้น ตัวเลขการปรับขึ้นจะอยู่ใน 3 ทางเลือก คือ 1.ขึ้นไม่มาก รวมการคืนหนี้ กฟผ.เล็กน้อย 2.ขึ้นบางส่วนรวมคืนหนี้ กฟผ.บางส่วน และขึ้นสูงสุด หมายถึงการคืนหนี้ให้ กฟผ. วงเงินประมาณ 98,000 ล้านบาท ส่วนใหญ่เมื่อรับฟังความเห็นแล้ว จะเลือกการปรับขึ้นน้อยที่สุด

“ส่วนแนวทางไม่ขึ้นเลย ตรึงระดับ 4.18 บาทต่อหน่วย ต้องขึ้นกับนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พิจารณา โดยอาจของบประมาณจากรัฐบาลมาสนับสนุน” รายงานข่าวระบุ

รายงานข่าวจากกระทรวงพลังงานแจ้งด้วยว่า ความคืบหน้าการกำหนดราคาดีเซลตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม เป็นต้นไป ภายหลังครบกำหนดกรอบราคาไม่เกิน 33 บาทต่อลิตร ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) กำหนดตรึงราคาตั้งแต่วันที่ 20 เมษายน 2567 และครบกำหนด 31 กรกฎาคม 2567 นั้น เบื้องต้นมีแนวโน้มว่าคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) ที่มีนายพีระพันธุ์เป็นประธาน จะพิจารณาแนวทางการปรับขึ้นราคาดีเซลแบบทยอยขึ้นกรอบ 1 บาทต่อลิตร ทำให้ราคาปลายทางระดับไม่เกิน 34 บาทต่อลิตร เพื่อรักษาสภาพคล่องให้กับกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่ปัจจุบันฐานะ ณ วันที่ 7 กรกฎาคม 2567 ติดลบ 111,595 ล้านบาท แบ่งเป็น บัญชีน้ำมันติดลบ 63,944 ล้านบาท และบัญชีแอลพีจี ติดลบ 47,651 ล้านบาท

รายงานข่าวระบุว่า ปัจจุบันราคาน้ำมันดีเซลตลาดโลกยังมีความผันผวนสูง ช่วงเดือนที่ผ่านมาแนวโน้มลดลงบ้างจนกองทุนน้ำมันฯลดอุดหนุนระดับ 4 บาทต่อลิตร จนสามารถเก็บเงินผู้ใช้น้ำมันดีเซลเข้ากองทุนน้ำมันฯสำเร็จ แต่ขณะนี้แนวโน้มกลับมาขึ้นอีกครั้ง ทำให้กองทุนน้ำมันฯต้องอุดหนุนกว่า 2 บาทต่อลิตร สถานการณ์ดังกล่าวหากไม่ปรับราคาหลังวันที่ 31 กรกฎาคม อาจทำให้กองทุนน้ำมันฯสถานการณ์ยิ่งแย่

รายงานข่าวระบุอีกว่า ก่อนจะพิจารณาแนวทางปรับราคา ตลอดจนเดือนมิถุนายนจนถึงปัจจุบัน ได้พยายามดำเนินการอีก 2 แนวทางเพื่อไม่ให้กระทบต่อราคาขายปลีก แต่ด้วยสถานการณ์และปัจจัยต่าง ๆ พบว่าไม่น่าจะดำเนินการได้ ประกอบด้วย...

1. การส่งหนังสือถึงสำนักงบประมาณ เพื่อขอใช้งบกลางปี 2567 วงเงิน 6,500 ล้านบาท แบ่งเป็น ดีเซล 6,000 ล้านบาท และแอลพีจี 500 ล้านบาท เป็นตามที่ ครม.อนุมัติไว้ภายใต้เงื่อนไขให้ใช้กลไกกองทุนน้ำมันฯดูแลราคาน้ำมันและแอลพีจีก่อน แต่เบื้องต้นได้รับการประสานอย่างไม่เป็นทางการว่างบกลางฯมีจำกัด อาจไม่สามารถนำมาดูแลราคาดีเซลและแอลพีจีได้ 

2. การเสนอกระทรวงการคลัง โดยกรมสรรพสามิตลดการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตดีเซลลงในอัตราที่เหมาะสม เบื้องต้นจากท่าทีของกระทรวงการคลังไม่ตอบรับการลดภาษีดังกล่าว เพราะจำเป็นต้องจัดเก็บรายได้ตามเป้าหมายที่รัฐบาลกำหนด นอกจากฐานะกองทุนน้ำมันฯที่ติดลบทะลุแสนล้าน กองทุนน้ำมันฯยังมีภาระหนี้จากการกู้เงินมาเสริมสภาพคล่องประมาณ 110,000 ล้านบาท กองทุนน้ำมันฯมีภาระต้องจ่ายคืนเงินต้นกู้จากสถาบันการเงินก้อนแรก 30,000 ล้านบาท เดือนพฤศจิกายนนี้ 

ดังนั้น จึงต้องพยายามดูแลสภาพคล่องกองทุนน้ำมันฯ และวางแผนการชำระหนี้ดังกล่าว เดือนกรกฎาคมนี้จะทำแผนการบริหารหนี้ภาพรวมเสนอสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) คาดว่า สบน.จะทำแผนบริหารหนี้ปีงบประมาณ 2568 ภายในเดือนสิงหาคม 2567

ด้านนายอภิชาติ ไพรรุ่งเรือง ประธานสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ตามกระแสข่าวคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) มีแนวโน้มจะปรับราคาน้ำมันดีเซลเพิ่มขึ้น 1 บาท จาก 33 บาท ไป 34 บาท ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2567 เป็นเรื่องจริงนั้น ทางสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย จะรับมือเบื้องต้นในการขึ้นราคาค่าขนส่งเพิ่ม รวมถึงเดินหน้าสานต่อการเคลื่อนม็อบรถบรรทุกทันที หลังจากเลื่อนออกไปอย่างไม่มีกำหนดเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคมที่ผ่านมา


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top