Sunday, 5 May 2024
กฟผ

ปตท. ‘ยืดหนี้ - ไม่คิดดอก’ กฟผ. หวังช่วยแบ่งเบาต้นทุนค่าไฟ

ปตท .ร่วมแบ่งเบาต้นทุนค่าไฟฟ้าให้ประชาชน ยืดระยะเวลาชำระหนี้ให้ กฟผ. มูลค่ากว่า 13,000 ล้านบาท และไม่เรียกเก็บอัตราดอกเบี้ยล่าช้า

นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า จากที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้แบกรับภาระค่าไฟฟ้าให้กับประชาชนในการช่วยตรึงค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (FT) ตามนโยบายของภาครัฐตั้งแต่ปลายปี 2564 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นช่วงที่สถานการณ์พลังงานโลกที่มีความผันผวนสูง ส่งผลให้ต้นทุนเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติในการผลิตกระแสไฟฟ้ามีต้นทุนสูงขึ้นมาก ประกอบกับประชาชนยังคงได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 

ดังนั้น ที่ประชุมคณะกรรมการ ปตท. เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2565 จึงมีมติอนุมัติให้ ปตท. ร่วมช่วยบรรเทาภาระต้นทุนผลิตไฟฟ้าให้กับประชาชน โดยการเลื่อนกำหนดชำระเงินค่าก๊าซฯ งวดเดือนพฤษภาคม 2565 มูลค่าประมาณ 13,000 ล้านบาท ออกไปเป็นระยะเวลา 4 เดือน โดยไม่เรียกเก็บอัตราดอกเบี้ยมูลค่าประมาณ 340 ล้านบาทที่จะเกิดขึ้น เพื่อมีส่วนช่วยเสริมสภาพคล่องให้กับ กฟผ. ในการแบกรับต้นทุนการผลิตกระแสไฟฟ้าให้กับประชาชน

“ปตท. และ กฟผ. ต่างเป็นรัฐวิสาหกิจภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงพลังงาน และจากวิกฤตการณ์พลังงานดังกล่าว ทั้งสององค์กรได้หารือร่วมกันกับหน่วยงานภาครัฐ ทั้งจากกระทรวงพลังงานและคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เพื่อพิจารณาการจัดหาเชื้อเพลิงสำหรับใช้ในการผลิตไฟฟ้า โดยมีเป้าหมายเพื่อลดกระทบต่อประชาชนให้มากที่สุด และคำนึงถึงความมั่นคงทางพลังงานของประเทศตาม พันธกิจหลักของทั้งสององค์กร” นายอรรถพล กล่าว


 ที่มา: https://www.thaipost.net/economy-news/145507/

ทัพเรือภาคที่ 1 ร่วม กฟผ.จัดกิจกรรมฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมทางทะเล เกาะขาม

เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2565 ทัพเรือภาคที่ 1 ร่วมกับโครงการปรับปรุงและขยายระบบส่งไฟฟ้าที่เสื่อมสภาพตามอายุการใช้งานสถานีไฟฟ้า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) รวมถึงหน่วยงานภาครัฐ บริษัทเอกชน และโรงเรียนต่าง ๆ ในพื้นที่ อ.สัตหีบ จว.ชลบุรี จัดกิจกรรมฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมทางทะเล ณ อุทยานใต้ทะเลเกาะขาม ทัพเรือภาคที่ 1 อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อคืนความอุดมสมบูรณ์ และความสมดุลของระบบนิเวศน์ให้เหมาะสมต่อการดำรงชีวิตของสัตว์ทะเลบริเวณอุทยานใต้ทะเลเกาะขาม รวมทั้งสร้างจิตสำนึกและทัศนคติที่ดีในการช่วยกันรักษาสิ่งแวดล้อมให้กับผู้ร่วมกิจกรรมฯ และเยาวชนในพื้นที่ ที่เข้าร่วมกิจกรรม จำนวน 100 คน และมีกิจกรรมที่สำคัญ ได้แก่

ทัพเรือภาคที่ 1 โดย พลเรือตรี ขวัญชัย  อินกว่าง รองผู้บัญชาการทัพเรือภาคที่ 1 เป็นผู้แทนรับมอบเงิน จำนวน 100,000 บาท จากนายพิธาน บุญเที่ยง ผู้ช่วยผู้อำนวยการโครงการปรับปรุงและขยายระบบส่งไฟฟ้าที่เสื่อมสภาพตามอายุการใช้งานสถานีไฟฟ้า ผู้แทนการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย สนับสนุนให้แก่อุทยานใต้ทะเลเกาะขาม บรรยายให้ความรู้แก่ผู้ร่วมกิจกรรมฯ เกี่ยวกับการอนุรักษ์และประโยชน์ของปะการัง และหญ้าทะเล รวมถึงให้คำแนะนำการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ โดยไม่ทำลายระบบนิเวศน์ใต้ทะเล ร่วมปล่อยพันธุ์เต่าทะเล จำนวน 12 ตัว

แอควา พาวเวอร์ - ปตท. - กฟผ. ร่วมลงทุนพัฒนาเทคโนโลยีขับเคลื่อนไทย เดินหน้าสู่ฐานการผลิตไฮโดรเจนสีเขียว

ปตท. เดินหน้าเสริมความมั่นคงด้านพลังงานไทย ผนึก แอควา พาวเวอร์ - กฟผ. ลงทุนพัฒนาเทคโนโลยีขับเคลื่อนไทย สู่ฐานการผลิตไฮโดรเจนสีเขียว ตอบรับความต้องการใช้พลังงานสะอาดของประเทศและภูมิภาคอาเซียนในอนาคต 

เมื่อเร็ว ๆ นี้ - เจ้าชายอับดุลอาซิซ บิน อับดุลอาซิซ อัล-เซาด์ (His Royal Highness Prince Abdulaziz bin Abdulaziz AL-Saud) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย (Minister of Energy of the Kingdom of Saudi Arabia) และ นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเพื่อพัฒนาและลงทุนในโครงการไฮโดรเจนสีเขียว (Green Hydrogen) และผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวเนื่อง (Derivatives) เพื่อตอบสนองการใช้พลังงานสะอาดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงโอกาสการส่งออกไปยังภูมิภาคใกล้เคียง ระหว่าง บริษัท แอควา พาวเวอร์ จำกัด (ACWA Power) บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) และ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) โดยมี ผู้บริหารหน่วยงานภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมเป็นสักขีพยาน ณ บ้านปาร์คนายเลิศ กรุงเทพฯ

ตามที่รัฐบาลได้ประกาศคำมั่นว่าประเทศไทยจะบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี ค.ศ. 2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ภายในปี ค.ศ. 2065 ประเทศไทยมีความตั้งใจและมุ่งมั่นที่จะเป็นฐานการผลิตไฮโดรเจนสีเขียวและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวเนื่อง เพื่อเป็นแหล่งพลังงานทางเลือกใหม่ในอนาคต ซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์แก่ทุกภาคส่วน รวมถึงช่วยเสริมสร้างระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนคาร์บอนตํ่า (Low-Carbon Circular Economy) ของประเทศ และเพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายที่ท้าทายนี้ แอควา พาวเวอร์ ปตท. และ กฟผ. จึงได้ร่วมกันศึกษาโอกาสการลงทุนด้านพลังงานสะอาด เพื่อจัดตั้งโรงงานขนาดใหญ่ที่ใช้พลังงานหมุนเวียนภายในประเทศ ในการผลิตไฮโดรเจนสีเขียวและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวเนื่องในประเทศไทย และมีเป้าหมายผลิตไฮโดรเจนสีเขียวในประเทศไทยประมาณ 2.25 แสนตันต่อปี หรือเทียบเท่ากรีนแอมโมเนีย 1.2 ล้านตันต่อปี ด้วยเงินลงทุนประมาณ 7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อตอบรับเทรนด์การใช้พลังงานสะอาดที่กำลังได้รับความสนใจจากทั่วโลก รวมถึงตอบสนองความต้องการใช้พลังงานภายในประเทศที่เพิ่มขึ้น และศึกษาโอกาสในการส่งออกไปยังประเทศในภูมิภาคอาเซียน

นายแพดดี้ ปัทมานาทาน รองประธานกรรมการ บริษัท แอควา พาวเวอร์ จำกัด เปิดเผยว่า การประกาศความร่วมมือกับ ปตท. และ กฟผ. แสดงถึงความมุ่งมั่นอย่างต่อเนื่องของซาอุดีอาระเบีย ในการสนับสนุนพันธมิตรระหว่างประเทศเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม การสนับสนุนและร่วมศึกษาโอกาสการลงทุนในโครงการไฮโดรเจนสีเขียว (Green Hydrogen)และผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวเนื่อง (Derivatives) ในประเทศไทย ซึ่งมีวิสัยทัศน์ในทิศทางเดียวกับซาอุดีอาระเบีย ส่งมอบพลังงานสะอาดที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและพึ่งพาได้ เป็นการส่งเสริมการดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับวาระด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก ความร่วมมือกับ ปตท. และ กฟผ. ในครั้งนี้จะเป็นการวางรากฐานที่จำเป็น รวมทั้งแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ นวัตกรรม ตลอดจนทรัพยากรและความเชี่ยวชาญระหว่างกัน เพื่อให้เกิดความยั่งยืนและบรรลุเป้าหมายต่อไป

นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ปตท. มุ่งมั่นในการมีส่วนร่วมสร้างเสถียรภาพทางด้านพลังงานแห่งอนาคตให้กับประเทศไทย ตามวิสัยทัศน์ 'Powering Life with Future Energy and Beyond ขับเคลื่อนทุกชีวิตด้วยพลังแห่งอนาคต' ตลอดจนให้ความสำคัญต่อการสร้างความร่วมมือกับภาคีต่าง ๆ ในการผลักดันให้เกิดการใช้พลังงานสะอาดเพื่อมุ่งสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ซึ่งเป็นเป้าหมายสำคัญระดับประเทศและระดับโลก ปตท. จึงตั้งเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงร้อยละ 15  ภายในปี ค.ศ. 2030  บรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี ค.ศ. 2040 และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี ค.ศ. 2050 ซึ่งเร็วกว่าเป้าหมายของประเทศ

เหตุผลที่ความมั่นคงทางพลังงานในไทยต่ำมาก เพราะ ‘เกินครึ่ง’ ต้องพึ่ง 'เอกชน-เพื่อนบ้าน'

จากข้อมูล 'กำลังผลิตรวมในระบบไฟฟ้า' โดย กฟผ. รัฐบาลสามารถผลิตไฟฟ้าได้ 34.46% จากความต้องการ ส่วนอีก 65.54% เราซื้อจากเอกชน และจากเพื่อนบ้าน ไทยเรามีความมั่นคงทางพลังงานต่ำมาก

(อ้างอิง: https://www.egat.co.th/home/statistics-all-latest/)

ประชากรบางส่วนเราหูเบา ถูกชักจูงจาก NGO ได้ง่าย จะสร้างอะไรก็ต้าน ก็ด่าไปหมด...

- โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ต้าน 
- ผลิตจากพลังงานเขื่อนต้าน
- ผลิตจากขยะต้าน
- ผลิตจากเตาถ่านหินต้าน
- ผลิตจากพลังงานลมต้าน
- แม้แต่พลังงานแสงอาทิตย์ยังด่า

กฟผ.- เชลล์ หนุนนโยบายโลกลดการปล่อยคาร์บอน ร่วมศึกษาเทคโนโลยีพลังงานสะอาดและการกักเก็บคาร์บอน

กฟผ. และ บ. เชลล์แห่งประเทศไทย ร่วมลงนาม MOU แลกเปลี่ยนและศึกษา Clean Energy Development มุ่งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เดินหน้าประเทศไทยสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ในปี ค.ศ. 2065

นายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และนายปนันท์ ประจวบเหมาะ ประธานกรรมการบริษัท เชลล์แห่งประเทศไทย จำกัด ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) เพื่อแลกเปลี่ยนและศึกษาเทคโนโลยีพลังงานสะอาด อาทิ เทคโนโลยีการดักจับ การใช้ประโยชน์และกักเก็บคาร์บอน Carbon Capture Utilization and Storage (CCUS) และเทคโนโลยีเชื้อเพลิงทางเลือกในการผลิตไฟฟ้า เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2566 ณ อาคาร 50 ปี กฟผ. สำนักงานใหญ่ จ. นนทบุรี

นายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการ กฟผ. กล่าวว่า ประเทศไทยได้ประกาศเจตนารมณ์ในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 26 (COP26) โดยตั้งเป้าหมายสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี ค.ศ. 2050 และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ภายในปี ค.ศ. 2065  เพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายดังกล่าว กฟผ. ได้ขับเคลื่อนองค์กรภายใต้กลยุทธ์ ‘Triple S’ คือ Sources Transformation เพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน พัฒนาเทคโนโลยีทางเลือก และเทคโนโลยีเพื่อรองรับการผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน Sink Co-creation เพิ่มแหล่งดูดซับกักเก็บคาร์บอน ผ่านโครงการปลูกป่าล้านไร่ และการศึกษาเทคโนโลยี CCUS และ Support Measures Mechanism ส่งเสริมการมีส่วนร่วมลดก๊าซเรือนกระจกในภาคประชาชน ผ่านโครงการฉลากประหยัดไฟฟ้าเบอร์ 5 โครงการห้องเรียนสีเขียว และส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า 

‘พีระพันธุ์’ ลั่น!! อยากตรึงค่าไฟงวด ม.ค.-เม.ย. 67 ไว้ที่ 3.99 ชี้!! อาจต้องให้ ‘ปตท.-กฟผ.’ ช่วยแบกรับแทนประชาชนไปก่อน

(8 ธ.ค.66) นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยถึงประเด็นเรื่องค่าไฟงวด ม.ค.-เม.ย.67 สำหรับกลุ่มประชาชนทั่วไป ว่า ขณะนี้กำลังพยายามหาแนวทางหลากหลายรูปแบบในการดำเนินการ เพื่อทำให้ค่าไฟต่ำกว่า 4.68 บาทตามที่ที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ประกาศล่าสุด

อย่างไรก็ดี คงต้องยอมรับก่อนว่า เรื่องดังกล่าวไม่ใช่ว่าจะสามารถทำได้แบบที่ใจคิด เนื่องจากมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายฝ่าย โดยการที่จะให้ค่าไฟลดลง 10 สตางค์ จะต้องมีค่าใช้จ่าย หรือผู้ที่ต้องแบกรับภาระตั้งแต่ 1,000-10,000 ล้านบาท 

“การพยายามจะตรึงราคาค่าไฟไว้ที่ระดับเดิม 3.99 บาทต่อหน่วยคงทำได้ยาก เพราะราคาค่าก๊าซธรรมชาติที่นำมาใช้ผลิตไฟมีการปรับขึ้นราคาในช่วงฤดูหนาว แต่จะพยายามทำให้ต่ำที่สุด”

ขณะที่ประเด็นที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานต้องการให้ค่าไฟงวดใหม่อยู่ที่ราคา 4.10 บาทต่อหน่วย ไม่ใช่ 4.20 บาทต่อหน่วยตามที่กระทรวงพลังงานเคยระบุว่าจะดำเนินการก่อนหน้านี้นั้น ในความคิดเห็นส่วนตัวต้องการให้อยู่ที่ 3.99 บาทต่อหน่วยมากกว่า

“การจะปรับลดค่าไฟไม่ใช่อยู่ที่การพูดว่าต้องการเท่าไหร่ แต่อยู่ที่หลายภาคส่วนประกอบกัน เช่น ผู้ประกอบการจะอยู่ได้หรือไม่ เพราะปัจจุบันไม่ใช่มีแค่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เท่านั้น แต่ยังมีผู้ประกอบการภาคเอกชนด้วย ซึ่งบางรายเพิ่งฟื้นจากสถานการณ์โควิด19 หากเอกชนที่เป็นรายเล็กบางรายอยู่ไม่ได้ ก็อาจจะทำให้มีไฟฟ้าไม่เพียงพอ ซึ่งคงวุ่นวายไปมากกว่านี้ ดังนั้น ต้องคิดอย่างรอบคอบให้เกิดความเป็นไปได้ของทุกส่วน ต้องแก้ปัญหาให้เป็นวงกลม”

นอกจากนี้ การที่จะดำเนินการช่วยเหลือกลุ่มประชาชนทั่วไปที่ใช้ไฟเกิน 300 หน่วยต่อเดือน จะต้องนำเสนอให้คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) พิจารณาเห็นชอบด้วยในวันที่ 13 ธันวาคม 2566

สำหรับแนวทางการให้ความช่วยเหลือ แน่นอนว่า บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) จะต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการช่วยเหลือ เพราะเป็นองค์กรที่ดูแลเรื่องก๊าซธรรมชาติ เช่นเดียวกับ กฟผ. ที่อาจจะต้องแบกรับภาระเพื่อประชาชนอีก

ส่วนจะใช้โอกาสดังกล่าวนี้ในการปรับโครงสร้างพลังงานทั้งระบบเลยหรือไม่นั้น ปัจจุบันกำลังอยู่ในขั้นตอนของการศึกษาเพื่อไม่ให้ปัญหาทางด้านพลังงานจะต้องเกิดขึ้นทุก 3-4 เดือนที่จะมีการประกาศค่าไฟงวดใหม่ โดยกำลังอยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับปัญหา เพื่อนำมาแก้ไข

“ตอนนี้คงต้องทำตามโครงสร้างเดิมก่อน เพราะเป็นแบบนี้มามากกว่า 40 ปีแล้ว แต่ก็พยายามหาทางทุกมิติว่าจะปรับโครงสร้างพลังงานอย่างไร เพื่อให้ราคาลดลงได้ด้วยตัวเอง และไม่เพิ่มภาระให้ประชาชน หรือเรียกว่าปลดแอกจากราคาที่ขึ้นอยู่กับตลาดโลกเป็นปัจจัยหลักสำคัญ”

'กฟผ.' เร่งเดินหน้าโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดเขื่อนอุบลรัตน์  ผลิตไฟฟ้ารักษ์โลก-เสริมความมั่งคงด้านพลังงานให้ประเทศ

(18 ธ.ค. 66) ภาวะโลกร้อนที่ทวีความรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่องถือเป็นปัจจัยสำคัญที่เร่งเร้าให้ทั่วโลกเดินหน้าเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น โดยประเทศไทยตั้งเป้าเพิ่มการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนไม่ต่ำกว่า 50% เพื่อสนับสนุนการใช้พลังงานสะอาดโดยเฉพาะในภาคการผลิตไฟฟ้าและขนส่ง เพื่อมุ่งสู่เป้าหมาย Carbon Neutrality ในปี 2050

การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จึงเดินหน้าโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำร่วมกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำ หรือ โรงไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริด (Hydro-floating Solar Hybrid) ซึ่งถือเป็นต้นแบบของโรงไฟฟ้าพลังงานสะอาดแบบผสมผสานระหว่างพลังงานแสงอาทิตย์ทำงานร่วมกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำของ กฟผ. ที่มีอยู่เดิม ทำให้สามารถผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดได้อย่างต่อเนื่องยาวนานขึ้น และมีต้นทุนการผลิตไฟฟ้าต่ำ จนเป็นที่ประจักษ์ต่อสายตาทั่วโลกผ่านโครงการโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดใหญ่ที่สุดในโลกแห่งแรกที่เขื่อนสิรินธร จ.อุบลราชธานี กำลังผลิตไฟฟ้า 45 เมกะวัตต์

สำหรับในปี 2566 กฟผ. เร่งดำเนินโครงการโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดแห่งที่ 2 ณ เขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น กำลังผลิตไฟฟ้า 24 เมกะวัตต์ พัฒนาต่อยอดเพิ่มการติดตั้งระบบกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่ (BESS) แบบลิเธียมไอออนขนาด 6 เมกะวัตต์-ชั่วโมง ช่วยให้ระบบไฟฟ้าในช่วงเปลี่ยนผ่านระหว่างพลังงานแสงอาทิตย์และพลังน้ำมีเสถียรภาพมากขึ้น สามารถผลิตไฟฟ้าได้อย่างต่อเนื่อง ช่วยเสริมความมั่นคงระบบไฟฟ้าของประเทศ

ปัจจุบันโครงการโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดเขื่อนอุบลรัตน์อยู่ในระหว่างดำเนินงานประกอบแผงโซลาร์เซลล์เข้ากับทุ่นลอยน้ำ โดยใช้แผงโซลาร์เซลล์ประมาณ 48,000 แผง ติดตั้งอยู่บนพื้นที่ผิวน้ำประมาณ 320 ไร่ ส่วนการก่อสร้างสายส่งไฟฟ้า 22 กิโลโวลต์ เชื่อมต่อกับสถานีไฟฟ้าแรงสูงอุบลรัตน์ และการก่อสร้างอาคารอุปกรณ์ไฟฟ้า รวมถึงระบบกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่ (BESS) มีความล่าช้าเล็กน้อยจากปัญหาอุทกภัยในหลายพื้นที่ของ จ.ขอนแก่น ในช่วงเดือนตุลาคมที่ผ่านมา คาดว่าจะสามารถดำเนินการได้แล้วเสร็จภายในปี 2566

ทั้งนี้ โรงไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดถือเป็นต้นแบบโรงไฟฟ้าแห่งอนาคตที่จะเข้ามาแทนโรงไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล เพราะเป็นกระบวนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดจึงไม่ก่อให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) โดยกระบวนการทำงานของโรงไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดจะนำพลังงานแสงอาทิตย์มาผลิตไฟฟ้าในช่วงกลางวัน และผลิตไฟฟ้าด้วยโรงไฟฟ้าพลังน้ำเช่วงที่แสงแดดน้อยหรือไม่มีแสงแดด ส่วนระบบกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่จะกักเก็บพลังงานส่วนที่เหลือจากโซลาร์เซลล์ลอยน้ำ และช่วยจ่ายไฟฟ้าเสริมความต้องการของระบบไฟฟ้าในช่วงเปลี่ยนผ่านตอนหัวค่ำ จึงสามารถตอบสนองความต้องการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนได้อย่างต่อเนื่องและยาวนานขึ้น

ส่วนแผงโซลาร์เซลล์ที่นำมาใช้เป็นแผงโซลาร์เซลล์ชนิด Double Glass ที่มีความแข็งแรงทนทานสูง ทนความชื้นได้ดี สามารถออกแบบวางชิดผิวน้ำซึ่งช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์ถึงร้อยละ 10 - 15 และใช้ทุ่นลอยน้ำเป็นทุ่นพลาสติกชนิด High Density Poly Ethylene (HDPE) ซึ่งเป็นวัสดุประเภทเดียวกับท่อส่งน้ำประปาจึงเป็นมิตรต่อสัตว์น้ำและสิ่งแวดล้อม รวมถึงสามารถทนต่อความเสื่อมจากการกระทบของรังสี UV ได้เป็นอย่างดี จึงมีอายุการใช้งานได้นานถึงประมาณ 25 ปี

นอกจากนี้โรงไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดยังตอบโจทย์พลังงานเพื่อทุกคน เนื่องจากเป็นการพัฒนาโครงการที่มีขนาดใหญ่ (Economy of Scale) โดยใช้ที่่ดินและอุปกรณ์โครงข่ายไฟฟ้าของเขื่อนอุบลรัตน์ที่มีอยู่เดิมให้เต็มประสิทธิภาพ จึงสามารถช่วยลดต้นทุนและค่าใช้จ่ายการดำเนินการที่เกี่ยวข้อง ส่งผลให้มีต้นทุนผลิตไฟฟ้าต่ำ อีกทั้งในช่วงการก่อสร้างยังได้จ้างแรงงานท้องถิ่นทำให้เกิดการจ้างงาน กระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่ และเมื่อโครงการก่อสร้างแล้วเสร็จ กฟผ. ได้เตรียมพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวด้านพลังงานหมุนเวียนแห่งใหม่ของ จ.ขอนแก่น เพื่อสร้างรายได้ให้กับประชาชนในท้องถิ่นอีกทางหนึ่งด้วย

โรงไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดถือเป็นก้าวสำคัญของการเดินหน้าผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดที่เชื่อถือได้ และแสดงถึงความมุ่งมั่นเอาจริงเอาจังในการส่งเสริมพลังงานสะอาดของไทย โดยให้ความสำคัญกับชุมชนโดยรอบเพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืน และเดินหน้าสู่สังคมไร้คาร์บอนอย่างแท้จริง เพื่อคนไทยทุกคน

63 ครอบครัว ‘แม่เมาะ’ เฮลั่น!! ‘รวมไทยสร้างชาติ’ ช่วยได้ ประสาน กฟผ.เยียวยาเงินค่าที่ดินทำกิน 72 ล้านบาท 31 ม.ค.นี้

(27 ม.ค. 67) นางศิริวรรณ ปราศจากศัตรู สส.บัญชีรายชื่อ พรรครวมไทยสร้างชาติ เปิดเผยว่า ได้รับเรื่องร้องเรียนและเข้าช่วยเหลือชาวบ้านพื้นที่อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง เขตพื้นที่บ้านห้วยคิง 62 ครอบครัว และ ชาวบ้านเวียงหงศ์อีก 1 ครอบครัว รวม 63 ครอบครัว ที่มีความประสงค์จะรับเงินเยียวยาจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)

ทั้งนี้ เนื่องจากมีมติ ครม.ปี 2562 ที่ นร. 0505/15899 ลงวันที่ 2 พ.ค.2562 มีมติไม่ขัดข้องที่จะจ่ายเงินเยียวยยา ค่าที่ดินทำกิน 72 ล้านบาท (เป็นค่าที่ดิน สิ่งปลูกสร้างเต็มจำนวน)

นางศิริวรรณ กล่าวว่า ขณะนี้เรื่องได้ดำเนินจาก กฟผ.ไปยัง นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ตามเลขที่หนังสือ กฟผ. s520A0/76526 ลงวันที่ 27 ตุลาคม 2566

จึงขอความอนุเคราะห์ได้นัดวัน เวลา เพื่อไปยื่นเรื่องกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน โดยมีนางศิริวรรณ และ ดร.นงค์เยาว์ อาทิตยานนท์ อดีตผู้สมัคร สส.พรรครวมไทยสร้างชาติ เขต 3 ลำปาง เป็นผู้พาไปยื่นหนังสือดังกล่าว

นางศิริวรรณ กล่าวว่า ล่าสุด กฟผ.พร้อมที่จะเยียวยาเงินจำนวน 72 ล้านบาท ให้กับบุคคลในพื้นที่จำนวน 63 ราย และจะมีการมอบเช็คจำนวนเงินดังกล่าว ให้แก่ชาวบ้านในวันที่ 31 มกราคม 2567 นี้ เวลา 9.00 น.

เปิดประวัติ ‘เทพรัตน์ เทพพิทักษ์’ ผู้ว่าฯ ‘กฟผ.’ คนใหม่ ‘คว่ำหวอด-เชี่ยวชาญ’ สายงานด้านพลังงานแบบรู้ลึก

เมื่อวานนี้ (3 มี.ค. 67) คณะรัฐมนตรี (ครม.) วาระพิเศษ มีติเห็นชอบการแต่งตั้งนายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ เป็นผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) คนใหม่ คนที่ 16 ซึ่งกระทรวงการคลัง โดยสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ได้เห็นชอบในรายละเอียดแล้ว

สำหรับการเสนอแต่งตั้งนายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ เป็นผู้ว่าฯ กฟผ. คนใหม่ ครั้งนี้ ถือว่าค้างมาจากรัฐบาลก่อน โดยจากนี้ไปจะต้องไปดูมติครม.ก่อนว่าเมื่อครม.มีมติแล้วนายเทพรัตน์ จะเริ่มเข้าทำงานอย่างเป็นทางการเมื่อใดต่อไป

ทั้งนี้ ที่ผ่านมา คณะกรรมการ กฟผ. ในการประชุมครั้งที่ 1/2567 ได้มีมติเห็นชอบการยืนยันเสนอชื่อ นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ รองผู้ว่าการประจำสำนักผู้ว่าการ ปฏิบัติงานที่บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) ในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ ให้ดำรงตำแหน่ง ผู้ว่าฯ กฟผ. คนใหม่ ตามที่คณะกรรมการสรรหาเสนอ เพื่อแทนนายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร อดีตผู้ว่าฯ กฟผ. ซึ่งครบวาระการดำรงตำแหน่งไปเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2566 ที่ผ่านมา

จากการตรวจสอบพบว่า ก่อนหน้านี้นายเทพรัตน์ได้เคยลงสมัครชิงตำแหน่งผู้ว่าการ กฟผ. เมื่อปี 2563 แต่พลาดตำแหน่ง จนกระทั่งเมื่อเดือนมิถุนายน 2563 นายเทพรัตน์ ซึ่งอยู่ในตำแหน่งรองผู้ว่าการพัฒนาโรงไฟฟ้าและพลังงานหมุนเวียน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ได้รับตำแหน่ง ขึ้นเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ของเอ็กโก กรุ๊ป ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ กฟผ.  เริ่มงานตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2563

>> ส่วนประวัติของ ‘เทพรัตน์ เทพพิทักษ์’ ประกอบด้วย   

- วันเกิด : 31 ก.ค. 2508 
- อายุ : 58 ปี

>> ประวัติการศึกษา

- ระดับปริญญาตรี วิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิศวกรรมเครื่องกล มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 
- ปริญญาโท วิศวกรรมศาสตร์ สาขา Electricity Industry Management and Technology มหาวิทยาลัยสแตรธไคลด์ (University of Strathclyde) สหราชอาณาจักร 

>> ประวัติการอบรม

- หลักสูตร Advanced Management Program จาก Harvard Business School สหรัฐอเมริกา
- หลักสูตรการป้องกันราชอาณาจักร จากวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร 
- หลักสูตร Senior Executive Program จากสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์ 
- หลักสูตรผู้บริหารระดับสูงด้านวิทยาการพลังงาน จากสถาบันวิทยาการพลังงาน 
- หลักสูตรผู้นำผู้สร้างแรงบันดาลใจสำหรับผู้บริหารระดับสูง จากสถาบันพระปกเกล้า

>> ประวัติการทำงาน 

- ปี 2560 - 2561 ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยผู้ว่าการพลังงานหมุนเวียนและพลังงานใหม่ 
- ปี 2561 - 2563 ดำรงตำแหน่ง รองผู้ว่าการพัฒนาโรงไฟฟ้าและพลังงานหมุนเวียน 
- ปี 2563 - ปัจจุบัน ดำรงตำแหน่งรองผู้ว่าการประจำสำนักผู้ว่าการ ปฏิบัติงานที่บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) ในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่

‘พีระพันธุ์’ เข้ม!! กฟผ. ร้อนนี้ไฟฟ้าห้ามดับ พร้อมรณรงค์ชวนคนไทยร่วมยึดหลัก 5 ป.

8 มี.ค. 67 นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า เมื่อวานนี้ ได้มีการใช้ไฟฟ้าสูงสุดของปี 2567 เมื่อเวลา 19.47 น. ที่ 32,704 เมกะวัตต์ ซึ่งถือว่าค่อนข้างเร็วเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว เนื่องจากฤดูร้อนที่เริ่มต้นเร็วกว่าปกติ และคาดว่าปริมาณการใช้ไฟฟ้าในช่วงฤดูร้อนจะเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

โดยกรมอุตุนิยมวิทยาคาดว่าอุณหภูมิเฉลี่ยอาจจะสูงถึง 45 องศาเซลเซียส ซึ่งจะทำให้มีการใช้ไฟฟ้าโดยเฉพาะเครื่องปรับอากาศเพิ่มมากขึ้น ซึ่งในปีที่ผ่านมาได้เกิด Peak เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2566 เวลา 21.41 น. ที่ 34,826 เมกะวัตต์

ทั้งนี้ ตนได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ตรวจสอบและดูแลระบบการผลิตไฟฟ้าให้เพียงพอต่อความต้องการใช้งานทั้งในภาคครัวเรือนและภาคอุตสาหกรรม เพื่อมิให้กระทบต่อประชาชนและการดำเนินธุรกิจ

นอกจากนี้ กระทรวงพลังงานได้เตรียมออกนโยบาย 5 ป. ได้แก่ ปิด ปรับ ปลด เปลี่ยน ปลูก ซึ่งประกอบด้วย…

1. ปิด : การปิดไฟหรืออุปกรณ์ไฟฟ้าที่ไม่ได้ใช้งาน
2. ปรับ : ปรับอุณหภูมิเครื่องปรับอากาศที่ 26 องศา
3. ปลด : ปลดปลั๊กเครื่องใช้ไฟฟ้าทุกครั้งหลังการใช้งาน
4. เปลี่ยน : หากมีการใช้เครื่องใช้ไฟฟ้า ให้เลือกใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีฉลากเบอร์ 5
5. ปลูก : ปลูกต้นไม้เพิ่มขึ้นเพื่อลดอุณหภูมิภายในบ้าน

“ผมได้สั่งการให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เตรียมความพร้อมในการดูแลเรื่องการผลิตไฟฟ้าให้เพียงพอต่อความต้องการใช้งานในทุกภาคส่วน และจะต้องไม่มีเหตุการณ์ไฟฟ้าดับเกิดขึ้น

ในปีนี้ คาดว่าอุณหภูมิจะร้อนมากกว่าปีที่แล้ว จึงขอความร่วมมือให้ประชาชนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าผ่านนโยบาย 5 ป. เพื่อลดการใช้ไฟฟ้าลง ซึ่งนอกจากจะสามารถลดต้นทุนในการผลิตไฟฟ้าในภาพรวมได้แล้ว ยังสามารถลดค่าไฟฟ้าของประชาชนได้อีกด้วย

และในช่วงหน้าร้อนนี้ ขอเชิญชวนให้ทุกบ้านล้างแอร์ เพื่อให้แอร์สามารถทำงานได้เต็มประสิทธิภาพ ก็จะสามารถลดค่าไฟไปได้อีกทาง” นายพีระพันธุ์ กล่าว


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top