Sunday, 15 December 2024
Econbiz

‘ARISE Plus Thailand’ เปิดโครงการ ‘เกษตรอินทรีย์ดีต่อใจ’ มุ่งสร้างความตระหนักรู้-พัฒนาการเกษตรในไทยสู่ระดับสากล

(15 ธ.ค. 66) ‘ARISE plus Thailand’ เป็นโครงการที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสหภาพยุโรป ได้นำเสนอโครงการ ‘Organic For All - เกษตรอินทรีย์ดีต่อใจ’ ซึ่งดำเนินกิจกรรมร่วมระหว่างสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (National Bureau of Agriculture Commodity and Food standards - ACFS) และศูนย์พาณิชยกรรมระหว่างประเทศ (International Trade Centre – ITC) โดยมุ่งเน้นไปที่การสร้างความตระหนักรู้ในประเด็นที่มีความเกี่ยวข้องกับเกษตรอินทรีย์ ทั้งด้านสุขภาพ สิ่งแวดล้อม รวมไปถึงประโยชน์ทางเศรษฐกิจของการบริโภคอาหารอินทรีย์ และการพัฒนาการทำเกษตรอินทรีย์ในไทยอีกด้วย

‘โลฆอง ลูร์เดร์’ ที่ปรึกษาด้านเกษตรจากคณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย ระบุว่า ‘Organic For All - เกษตรอินทรีย์ดีต่อใจ’ เป็นกิจกรรมรณรงค์ที่มุ่งเสริมความรู้ความเข้าใจ และเสริมศักยภาพให้กับเหล่าผู้ที่เกี่ยวข้องในด้านการผลิตและมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ พร้อมทั้งสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับการทำเกษตรอินทรีย์ โดยทางสหภาพยุโรปนั้นมีความประสงค์ที่จะสนับสนุนการดำเนินงานดังกล่าวในฐานะผู้ช่วยขับเคลื่อนทางการค้าและเศรษฐกิจ และเป็นหุ้นส่วนสำคัญในการส่งเสริมระบบอาหารแบบยั่งยืนในประเทศไทย

ในด้านของ ‘ซิลวี เบตอม โฆชัง’ จาก ศูนย์พาณิชยกรรมระหว่างประเทศ (ITC) ระบุถึงความสำคัญของการส่งเสริมตลาดเกษตรอินทรีย์ในประเทศไทย ว่า “การทำเกษตรอินทรีย์นั้นนอกจากจะส่งผลดีกับความยั่งยืนทางอาหาร และดีต่อคุณภาพของดินของประเทศในระยะยาวแล้วนั้น เกษตรกรไทยที่ทำเกษตรอินทรีย์ยังมีโอกาสได้เข้าสู่ตลาดเกษตรอินทรีย์สากล ที่บริโภคให้คุณค่ากับการเลือกรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ และมีกระบวนการผลิตที่ดีต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นค่านิยมที่กำลังเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ในระดับโลก”

โดยกิจกรรม ‘Organic For All - เกษตรอินทรีย์ดีต่อใจ’ ได้จัดขึ้น ณ สมาคมฝรั่งเศส กรุงเทพมหานครฯ โดยมีพื้นที่การจัดกิจกรรม เช่น ครัวออร์แกนิก และตลาดออร์แกนิก ซึ่งเป็นพื้นที่สำคัญในการช่วยให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในห่วงโซ่เกษตรอินทรีย์ได้มาพบปะพูดคุย เพื่อสร้างความสัมพันธ์และแลกเปลี่ยนความรู้ โดยมุ่งหวังให้การทำให้เกษตรอินทรีย์เป็นหมุดหมายสำคัญของการพัฒนาความมั่นคงทางอาหารของประเทศไทย ผ่านการสร้างความตระหนักรู้และการส่งเสริมกิจกรรมเกษตรอินทรีย์ พร้อมทั้งให้สาธารณชนมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันในการสร้างระบบอาหารที่ยั่งยืนและยืดหยุ่นให้มากขึ้น เพื่อประโยชน์ของคนรุ่นหลังในประเทศไทยต่อไป 

กิจกรรมนี้ มีผู้อยู่ในแวดวงเกษตรอินทรีย์เข้าร่วมงานกว่า 100 ท่าน ทั้งจากฝั่งรัฐฯ และเอกชน ไปจนถึงฝั่งผู้ผลิตและผู้บริโภค รวมถึงอินฟลูเอนเซอร์สายสุขภาพและสื่อมวลชน ไม่ว่าจะเป็น พิศาล พงศาพิชณ์ เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (ACFS), พงศ์ภพ เมธากุลวัฒน์ จาก ARISE PLUS ประเทศไทย, ภูมิสิทธิ์ มหาสุวีระชัย นักเศรษฐศาสตร์สิ่งแวดล้อมและเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น, นคร ลิมปคุปตถาวร ผู้ก่อตั้ง บ้านเจ้าชายผัก, กนิษฐา ตรีรัตนภรณ์ จาก คิงดอม ออร์แกนิค เนทเวิร์ค และผู้เข้าร่วมจำนวนมาก สะท้อนว่ากิจกรรมนี้ไม่ได้เพียงแค่สร้างความตระหนักรู้ แต่ยังนำไปสู่ผลสัมฤทธิ์ด้านการยกระดับความคิด

“หนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผู้คนหันมาเลือกบริโภคเกษตรอินทรีย์มากขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะช่วงที่โลกประสบกับโรคระบาดในปีที่ผ่านๆ ทำให้คนมีเวลาตระหนักถึงความเชื่อมโยงของสิ่งแวดล้อมกับสุขภาพ และผู้บริโภคยังเชื่อว่า การบริโภคผลิตภัณฑ์ออร์แกนิกไม่เพียงแต่ส่งผลดีต่อสุขภาพของพวกเขาเท่านั้น แต่ส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วยเมื่อเทียบกับการทำเกษตรแบบดั้งเดิมที่ใช้สารเคมี” ผู้ผลิตสินค้าออร์แกนิกภายในงาน กล่าวกับสื่อ

นอกจากจะเป็นการแสดงให้เห็นถึงความสำเร็จอย่างมีนัยยะสำคัญ ทั้งในด้านของการมีส่วนร่วมของผู้เข้าร่วมงาน และการเข้ามามีบทบาทของบริษัทที่เกี่ยวข้องกับการทำเกษตรอินทรีย์ กิจกรรมแถลงข่าวนี้ยังเปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วไปมีส่วนร่วมผ่านสื่อดิจิทัลและสื่อแบบกายภาพ โดยเน้นไปยังประโยชน์ทั้งด้านสุขภาพ ตลอดถึงประโยชน์ทางสิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจจากการบริโภคและการผลิตอาหารออร์แกนิก โดยจุดสำคัญของกิจกรรมนี้คือ การสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้เข้าร่วมงานกับตัวกิจกรรมผ่านพื้นที่ ‘ครัวออร์แกนิก’ และ ‘ตลาดออร์แกนิก’

โดยกิจกรรมแรกในพื้นที่ครัวออร์แกนิก เป็นการจัดแสดงผลิตภัณฑ์ออร์แกนิกผ่านรูปแบบของการจำลองห้องครัว และบอกเล่าสาระประโยชน์ผ่านตัววัตถุจัดแสดง ที่ผู้เข้าร่วมสามารถหยิบจับและสำรวจตัวสินค้า เพื่อสำรวจว่าผลิตภัณฑ์ออร์แกนิกนั้นส่งผลดีกับสุขภาพของอย่างไร และในส่วนที่สอง พื้นที่ ‘ตลาดออร์แกนิก’ เป็นพื้นที่ที่ผู้เข้าร่วมสามารถจำลองประสบการณ์จับจ่ายสินค้าออร์แกนิก เสมือนกับการจ่ายตลาดหรือเที่ยวซูเปอร์มาร์เก็ต โดยได้รับสาระความรู้ไปพร้อมๆ กัน และที่พิเศษไปกว่านั้นคือ การแจกกระเป๋าผ้าลายพิเศษที่สามารถสแกน QR โค้ดเพื่อเข้าถึงแหล่งผลิตภัณฑ์ออร์แกนิกของท้องถิ่นต่าง ๆ ทันที

'อ.พงษ์ภาณุ' เชื่อ!! Fed เตรียมลดดอกเบี้ย ส่งผลดี 'ยุโรป-ไทย' แนะ!! แบงก์ชาติไทย ลดดอกเบี้ยได้ทันที 0.50 โดยไม่ต้องรอ

ทีมข่าว THE STATES TIMES ได้พูดคุยกับ อ.พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ระดับประเทศ ที่พูดคุยในรายการ Easy Econ ซึ่งออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES ในประเด็น 'Fed เตรียมลดดอกเบี้ย เปิดทาง ธปท. ลดดอกเบี้ยไทย' เมื่อวันที่ 17 ธ.ค.66 โดย อ.พงษ์ภาณุ กล่าวว่า...

การประชุม Fed เมื่อวัน 13 ธันวาคมที่ผ่านมา ส่งสัญญาณการยุติวงจรดอกเบี้ยขาขึ้นอย่างชัดเจน และเตรียมพร้อมที่จะลดดอกเบี้ย 3 ครั้งในปี 2024 ถึงประมาณ 0.75% ส่งผลให้ดัชนีตลาดนิวยอร์กทะยานสู่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ วงจรดอกขาขึ้นรอบที่ผ่านมาที่ได้เริ่มต้นเมื่อเดือนมีนาคม 2022 ถือเป็นการขึ้นดอกเบี้ยที่เร็วและรุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์นโยบายการเงิน

ความจริงแล้ว อาจจะเร็วไปสักนิดที่ธนาคารกลางสหรัฐอเมริกาจะเริ่มลดดอกเบี้ย เพราะเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังคงมีความร้อนแรงอยู่มาก แม้ว่าเงินเฟ้อจะลดลงค่อนข้างรวดเร็ว การลดดอกเบี้ยเร็วเกินไปอาจไปกระตุกเงินเฟ้อให้ผงกหัวขึ้นมาได้ แต่การส่งสัญญาณลดดอกเบี้ยครั้งนี้น่าจะเป็นผลดีและลดแรงกดดันต่อประเทศที่มีเศรษฐกิจอ่อนแอกว่า เช่น ยุโรป และรวมถึงประเทศไทย ซึ่งมีแนวโน้มเข้าสู่ภาวะเงินฝืดและเศรษฐกิจถดถอยจากการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารแห่งประเทศไทยในช่วงที่ผ่านมา

ขณะนี้ จึงเป็นโอกาสดีที่ประเทศไทยจะเริ่มลดดอกเบี้ย หลังจาก ธปท. โดย กนง.ตัดสินใจผิดพลาดในการประชุมที่ผ่านมาอย่างน้อย 2 ครั้ง ที่ได้มีการประกาศขึ้นดอกเบี้ยครั้งละ 0.25% ทั้ง ๆ ที่อัตราเงินเฟ้อติดลบ 

ดังนั้นจึงไม่จำเป็นต้องรอให้ Fed ลดดอกเบี้ยก่อนแล้วค่อยทำตาม ธนาคารกลางประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศ รวมทั้งจีน ได้เริ่มลดดอกเบี้ยแล้ว ธปท. จึงควรเลิกดื้อรั้นไม่มีเหตุผลและประกาศลดดอกเบี้ยทันทีอย่างน้อย 0.50% ก่อนที่จะสายเกินไปเหมือนกับการขึ้นดอกเบี้ยล่าช้าเมื่อปีก่อน หากผิดพลาดอีกคราวนี้คนไทยคงไม่ยกโทษให้แน่นอน

การผ่อนคลายนโยบายการเงิน ที่จะดำเนินการไปพร้อมๆ กับมาตรการกระตุ้นทางการคลัง (Fiscal Stimulus) จะช่วยหยุดเศรษฐกิจขาลงของไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพ ภาคครัวเรือนจะมีภาระหนี้ลดลงและกลับมาจับจ่ายใช้สอย ภาคธุรกิจหลังจากหยุดการผลิตและลดสินค้าคงคลังมาสักระยะก็จะกลับมาลงทุนและผลิตใหม่ ส่วนภาครัฐจะสามารถจัดงบประมาณที่ประหยัดได้จากภาระหนี้ที่ลดลงมาใช้ลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานได้เพิ่มขึ้น

กองทุนรวม ESG ซึ่งเป็นการลงทุนที่ได้รับการลดหย่อนภาษีเงินได้และรัฐบาลได้ผลักดันให้ออกมาเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เป็นทางเลือกใหม่ที่น่าสนใจให้กับประชาชนเพื่อออมเงินระยะยาว โดยผ่านกลไกกองทุนรวมที่จะเข้าไปลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ โดยเฉพาะตราสารทุนและตราสารหนี้ของบริษัทจดทะเบียนที่ผ่านการประเมินตามมาตรฐาน ESG แม้ว่าจะหักลดหย่อนได้เพียง 100,000 บาท แต่ก็ออกมาในจังหวะเวลาที่เหมาะสมและน่าจะช่วยกระตุ้นการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้เป็นอย่างดี

อำนาจละมุนหรือ Soft Power กำลังเป็นวาระแห่งชาติ การท่องเที่ยวและการกีฬาเป็นองค์ประกอบสำคัญของ อำนาจละมุน แม้ว่าการท่องเที่ยวในปีนี้อาจจะไม่เป็นไปตามเป้าหมาย แต่ปี 2567 เชื่อว่าการท่องเที่ยวจะกลับมาสู่ระดับเดิมก่อนเกิดโควิด ทั้งนี้จะต้องมีการปรับปรุงด้าน Supply อย่างขนานใหญ่ ในเรื่องความปลอดภัย ความสะดวก ความสะอาด รวมทั้งการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวใหม่ที่เป็น Man-made Attractions ซึ่งขาดการพัฒนามานาน ไม่ว่าจะเป็น Theme Park, Casino หรือสถานที่ท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม และอาจใช้รูปแบบการร่วมทุนกับเอกชนในลักษณะ PPP เพื่ออาศัยความสามารถด้านการบริหารจัดการของธุรกิจเอกชน 

ส่วนด้านการกีฬานั้น ต้องปรับทัศนคติต่อการกีฬาให้มีลักษณะเชิงพาณิชย์มากขึ้น ปัจจุบันกีฬายังอาศัยเงินงบประมาณภาครัฐเป็นหลัก หากสามารถเปิดให้ทุนเอกชนเข้ามาพัฒนากีฬาในเชิงพาณิชย์มากขึ้น โดยเฉพาะกีฬาฟุตบอล มวยไทย และกอล์ฟ เชื่อว่าการกีฬาจะกลายเป็น Soft Power ที่สำคัญและช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยได้มากขึ้น

'จิรายุ' ชี้กองทัพยุค 'บิ๊กทิน' พัฒนา 'ความมั่นคง' พร้อม 'ความมั่งคั่ง' ทาง ศก. หลัง 'ผบ.ทร.' เผย!! สนามบินอู่ตะเภาพร้อมรองรับ EEC เอื้อ ศก.รุดหน้า

(16 ธ.ค.66) นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกกระทรวงกลาโหมฝ่ายการเมือง กล่าวถึงการลงพื้นที่ภาคตะวันออก อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี ของนายสุทิน คลังแสง รมว.กลาโหม ว่า นอกจากการตรวจเยี่ยมการฝึกยุทธวิธีของกองทัพเรือ แล้ว รมว.กลาโหม ยังได้ติดตามความคืบหน้า ในการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา ในอำเภอบ้านฉาง จังหวัดระยอง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ EEC เพื่อรองรับต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทยที่กำลังเติบโตในอนาคตอันใกล้นี้

โดย พล.ร.อ.อะดุง พันธ์ุเอี่ยม ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.) ในฐานะผู้รับผิดชอบโครงการปรับปรุง สนามบินอู่ตะเภา ได้รายงานว่า เพื่อให้สนามบินแห่งนี้มีความทันสมัยในการรองรับ นักท่องเที่ยวต่างประเทศจำนวนมากที่เข้ามาท่องเที่ยวในชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก และรองรับกับนักลงทุนที่เข้ามาลงทุนในโครงการ พัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ซึ่งจะมีทั้งนิคมอุตสาหกรรมใหม่ ๆ และระบบคมนาคม ทั้งทางอากาศ ทางน้ำและทางบก รวมทั้งรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินนั้น ในความรับผิดชอบของ กองทัพเรือมี 2 โครงการ คือการพัฒนาและปรับปรุงทั้งอาคารผู้โดยสารและรันเวย์ที่ 2 เพื่อรองรับเครื่องบินขนาดใหญ่ในปริมาณที่มากขึ้น

ล่าสุด มีความคืบหน้าเป็นอย่างมาก โดยงานจ้างที่ปรึกษาโครงการดำเนินการ ไปถึงขั้นตอนการประกาศเชิญชวน แล้วคาดว่าจะมีการอนุมัติ ในสัปดาห์หน้านี้

นายจิรายุ กล่าวอีกว่า ส่วนงานจ้างก่อสร้างรันเวย์ที่ 2 จะนำเข้าพิจารณากับคณะกรรมการของกองทัพเรือเพื่อขอความเห็นชอบในร่าง TOR ไม่เกิน วันที่ 26 ธันวาคม ปีนี้ เพื่อให้ทันแถลงผลการประชุม คณะกรรมการ EEC ซึ่งท่านนายกรัฐมนตรีเป็นประธานในวันดังกล่าว โดยคาดว่าในปีหน้าโครงการนี้จะมีความคืบหน้าในการรองรับภาวะเศรษฐกิจที่จะเติบโตได้

นายจิรายุ กล่าวต่อไปอีกว่า ในส่วนของกระทรวงกลาโหม รมว.กลาโหม ได้กำชับหน่วยงาน ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการส่งเสริมและพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ให้ดำเนินการตอบสนองตามนโยบายของนายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ในเรื่องแนวนโยบายพัฒนากองทัพควบคู่ไปกับการส่งเสริมเศรษฐกิจของประเทศ โดยใช้ทรัพยากรของกองทัพในการสนับสนุน เนื่องจากโลกยุคใหม่ต้องเดินควบคู่ไปพร้อมกันระหว่างความมั่นคงทางการทหาร และความมั่นคงของเศรษฐกิจ เพราะเมื่อเศรษฐกิจมั่งคั่งความมั่นคงของประเทศไทยก็จะมั่นคงตามไปด้วย

'นายกฯ' เผย JETRO ขอไทยช่วยดูแลระบบเปลี่ยนผ่านสู่ EV หลังหลายบริษัทฯ รับปากจะพิจารณามาลงทุนไทยเร็วขึ้น

(16 ธ.ค.66) ที่บริเวณหน้าลานพระราชวังอิมพีเรียล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยถึงผลการหารือกับผู้บริหารองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (JETRO) และผู้บริหารบริษัทคูโบต้าว่า JETRO ซึ่งเป็นกลุ่มนักธุรกิจที่ติดต่อจะไปลงทุนที่ประเทศไทย ก็ได้มาขอบคุณรัฐบาลที่ช่วยดูแลนักธุรกิจชาวญี่ปุ่น โดยเราหวังว่าจะมีการลงทุนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งตนได้ให้ความมั่นใจว่าการลงทุนของนักลงทุนญี่ปุ่นจะได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลไทยต่อไป พร้อมย้ำว่า ที่ผ่านมาเรามีความสัมพันธ์ดีมากกับญี่ปุ่น อีกทั้งยังมีชาวญี่ปุ่นกว่าแสนคนและกว่า 6,000 บริษัทที่มาทำงานในประเทศไทย ฉะนั้นตรงนี้ทุกอย่างมองตาก็รู้ใจอยู่แล้ว

เมื่อถามว่า JETRO อยากให้รัฐบาลสนับสนุนอะไรเป็นพิเศษหรือไม่ นายกรัฐมนตรี ระบุว่า ก็ดูแลในเรื่องระบบที่กำลังเปลี่ยนผ่านเป็นระบบรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลไทยก็มีการสนับสนุนอยู่แล้ว และจากที่เมื่อวานนี้ (15 ธ.ค.) ได้พบกับ 7 บริษัทยานยนต์ญี่ปุ่น ตนก็ได้ให้ความชัดเจนเรื่องของนโยบายที่จะสนับสนุน พร้อมชี้แจงว่าอยากให้เข้ามาลงทุนเร็วขึ้น โดยหลายบริษัทก็รับไปพิจารณาต่อ

ทั้งนี้ ไทยยืนยันในเรื่องของสนธิสัญญาทางการค้า (FTA) ระหว่างไทย อียู และสหราชอาณาจักร ที่ขับรถพวงมาลัยขวาตรงนี้ก็มีการยืนยันว่าจะเร่งเจรจาให้ได้โดยเร็ว เพื่อรักษาระดับการส่งออกรถยนต์ที่ผลิตในไทย เพราะโดยเฉลี่ยในประเทศใช้เอง 30% ส่งออก 70% ดังนั้นการที่เราเร่งในเรื่องนี้ให้เยอะขึ้น ก็จะเป็นการย้ำว่าปริมาณการส่งออกรถยนต์ของญี่ปุ่นสามารถควบคุมได้

ส่วนการเปลี่ยนขยับไปทำเรื่องโรงงานอีวี ก็เร็วขึ้นในบางราย โดยเฉพาะอย่างยิ่งรถกระบะของอีซูซุ และโตโยต้า

ส่วนการหารือกับผู้บริหารคูโบต้า จะมีความร่วมทางด้านเทคโนโลยีเพื่อมาใช้กับเกษตรกรไทยอย่างไรบ้างนั้น นายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า จากการหารือกับผู้บริหารคูโบต้าถือเป็นการประชุมที่ดีมาก ซึ่งเราเข้าใจผิดว่าคูโบต้าขายแต่รถไถอย่างเดียว แต่เขามีเทคโนโลยีเรื่องของการอัดแน่นซังข้าวโพดที่ไปทำถ่านไร้ควันและเชื้อเพลิง รวมถึงการเก็บเกี่ยวพืชของอนาคต และปัจจุบันในเรื่องของการไถและเก็บเกี่ยวข้าว ซึ่งทางคูโบต้าทำได้ดีอยู่แล้ว แต่พืชในอนาคตของประเทศไทย เช่น ถั่วเหลืองไทยนำเข้าปีละล้านตัน แต่เราผลิตเองได้เพียงหลังหมื่น เนื่องจากมีปัญหาเรื่องการเก็บเกี่ยวที่ไม่คุ้มต้นทุน ฉะนั้น จึงพูดคุยกับทางคูโบต้าที่มีเทคโนโลยี เครื่องจักรที่ช่วยลดต้นทุนได้ รวมถึงการทำระบบชลประทานในภาคการเกษตร ซึ่งระบบครบวงจรเกษตรกรรมทางคูโบต้าดำเนินการอยู่ มีการตกลงว่าไทยจะไปดูสถานที่ และให้ทางคูโบต้ามาช่วยกันพัฒนา ตรงนี้จะเป็นช่องทางที่ทำให้เราเพิ่มรายได้เกษตรกรเป็นสามเท่าภายในสี่ปี ถือเป็นเรื่องใหญ่และเรื่องดี อีกทั้งทางประธานใหญ่คูโบต้าก็ให้การสนับสนุนเต็มที่

นายกรัฐมนตรี เปิดเผยต่อว่า ตนได้ขอให้คูโบต้าทำเรื่องการให้เงินกู้กับสัญญาเช่าซื้อมากกว่าการขายอย่างเดียว และให้ราคาดอกเบี้ยที่เป็นธรรม ทำให้เกษตรกรไทยมีรายได้อย่างแท้จริง หลังจากนี้ ทีมงานก็จะไปคุยกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ด้วย
 

‘สุทิน’ ลุยศรีสะเกษ ตรวจเยี่ยมค่ายสุรนารี-เปิดอนุสรณ์สถานพิทักษ์ไทย เล็งพัฒนาพื้นที่การค้า หวังกระตุ้นเศรษฐกิจชายแดนไทย-กัมพูชา

เมื่อวันที่ 16 ธ.ค. 66 นายสุทิน คลังแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พร้อมคณะ เดินทางตรวจเยี่ยมการปฏิบัติงานของกำลังป้องกันชายแดน ในพื้นที่กองกำลังสุรนารี โดยมี พลตรี พรชัย มาหลิน รองผู้บัญชาการศูนย์ปฏิบัติการกองทัพภาคที่ 2, พลตรี ณัฏฐ ศรีอินทร์ ผู้บัญชาการกองกำลังสุรนารี, นายอนุพงค์สุขสมนิตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ, นายพิจิตร บุญทัน ผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์, พันเอก จิรัฏฐ์ ช่วงฉ่ำ รองผู้บัญชาการกองกำลังสุรนารี และผู้บังคับหน่วย พร้อมทั้งส่วนราชการในพื้นที่ ร่วมให้การต้อนรับ

โดย นายสุทิน คลังแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พร้อมคณะ เดินทางโดยเฮลิคอปเตอร์ ไปยังสนาม ฮ.ชั่วคราว โรงเรียนภูมิซรอลวิทยา อำเภอกันทรลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ จากนั้น คณะเดินทางไปยังศาลาวัฒนธรรม อุทยานแห่งชาติเขาพระวิหาร เพื่อรับฟังการบรรยายสรุปการปฏิบัติงานของกองกำลังสุรนารี พร้อมทั้งตรวจภูมิประเทศบริเวณจุดตรวจการณ์ผามออีแดง ให้โอวาทและมอบสิ่งของบำรุงขวัญแก่กำลังพลของกองกำลังสุรนารี ที่ปฏิบัติหน้าที่ป้องกันชายแดนในพื้นที่ จังหวัดศรีสะเกษ

ในการนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานในพิธีเปิด ‘อนุสรณ์สถานพิทักษ์ไทย’ ซึ่งกองกำลังสุรนารี จัดสร้างขึ้นเพื่อรำลึกถึงวีรกรรมความกล้าหาญของวีรชน ที่ได้เสียสละเลือดเนื้อ ในการรักษาประเทศชาติและอธิปไตย ณ ฐานปฏิบัติการฟ้าลั่น อำเภอกันทรลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ

ต่อมา นายสุทิน และคณะ เดินทางไปยังจุดผ่านแดนถาวรช่องจอม อำเภอกาบเชิง จังหวัดสุรินทร์ เพื่อตรวจเยี่ยมการปฏิบัติงานของด่านศุลกากรช่องจอม พบปะประชาชนที่มาคอยต้อนรับ พร้อมทั้งรับฟังบรรยายสรุป การส่งเสริมการค้าชายแดนตามนโยบายของรัฐบาล เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจ เสริมสร้างความมั่นคงตามแนวชายแดน และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ชายแดนให้ดียิ่งขึ้นต่อไป

‘นายกฯ’ มุ่งมั่นยกระดับ ‘อาเซียน-ญี่ปุ่น’ ให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้น ชี้!! “เดินกับมิตรในความมืดมิด ยังดีกว่าเดินลำพังในแสงสว่าง”

(17 ธ.ค. 66) ที่โรงแรม Okura Tokyo กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถ้อยแถลงในการประชุมสุดยอดอาเซียน-ญี่ปุ่น สมัยพิเศษ เพื่อฉลองวาระครบรอบ 50 ปีความสัมพันธ์อาเซียน-ญี่ปุ่น (the ASEAN-Japan Commemorative Summit for the 50th Year of ASEAN-Japan Friendship and Cooperation) ช่วงที่ 1 Plenary Session ในหัวข้อ Review of ASEAN-Japan relations และ Partners for Peace and Stability & Regional and International Issues

นายกรัฐมนตรี กล่าวขอบคุณ นายกรัฐมนตรีคิชิดะ ของญี่ปุ่น สําหรับการต้อนรับที่อบอุ่น โดยประเทศไทยในฐานะประเทศผู้ประสานงานความสัมพันธ์อาเซียน-ญี่ปุ่น ยินดีอย่างยิ่งที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของการประชุมครั้งประวัติศาสตร์นี้ ซึ่งเป็นการเฉลิมฉลองมิตรภาพและความร่วมมืออาเซียน – ญี่ปุ่น สะท้อนให้เห็นถึงความร่วมมืออันยาวนาน รวมถึงการสถาปนาความเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์แบบรอบด้านในปีนี้ยังเกิดจากความสัมพันธ์ที่โดดเด่นมาตลอดระยะเวลา 50 ปี แสดงถึงความสำเร็จที่ญี่ปุ่นซึ่งเป็นพันธมิตรที่ได้รับความไว้วางใจ ในการนำสันติภาพ เสถียรภาพ ตลอดจนการเติบโตทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งมาสู่ภูมิภาค

สำหรับการกำหนดทิศทางอาเซียน – ญี่ปุ่นด้วยวิสัยทัศน์และแผนปฏิบัติการใหม่ เกิดขึ้นท่ามกลางวิกฤตและความเปราะบางของสันติภาพโลก รวมทั้งความมั่นคงในภูมิภาคที่เกี่ยวโยงกัน จึงจำเป็นต้องดำเนินการอย่างระมัดระวังท่ามกลางความไม่แน่นอนทางภูมิรัฐศาสตร์ ภูมิเศรษฐศาสตร์และภูมิเทคโนโลยี

นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงความพยายามของรัฐบาลในการสร้างความเข้มแข็งให้กับประชาธิปไตยและเศรษฐกิจในประเทศ พร้อมแสดงความมุ่งมั่นในการแสดงบทบาทเชิงรุกมากขึ้นในภูมิภาคและเวทีระหว่างประเทศ รวมถึงยังเน้นย้ำถึงความเข้มแข็งและเป็นเอกภาพของอาเซียน ซึ่งทุกฝ่ายควรทำงานร่วมกัน เพื่อมุ่งสู่วิสัยทัศน์ร่วมกันของภูมิภาคอินโดแปซิฟิกที่เสรี เปิดกว้าง และครอบคลุม ที่มีอาเซียนเป็นแกนกลางของสถาปัตยกรรมความร่วมมือในภูมิภาค

โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีได้นำเสนอประเด็นความร่วมมือในอนาคตเพื่อผลประโยชน์ร่วมกัน 3 ประการ โดยประการแรก การบูรณาการความร่วมมือระดับภูมิภาคที่ก้าวหน้า ทุกฝ่ายจำเป็นต้องใช้ประโยชน์จากความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจอาเซียน - ญี่ปุ่น (ASEAN - Japan Comprehensive Economic Partnership - AJCEP) และความตกลง RCEP อย่างเต็มที่ เพื่อเชื่อมโยงตลาดที่มีศักยภาพ รวมถึงเสริมสร้างความเข้มแข็งให้ความร่วมมือภายใต้กรอบอนุภูมิภาคต่าง ๆ เช่น ACMECS และความร่วมมือแม่โขง-ญี่ปุ่น เพื่อความเชื่อมโยงในระดับภูมิภาค ลดช่องว่างการพัฒนา และสร้างขีดความสามารถระดับภูมิภาคเพื่อการเติบโตที่ครอบคลุมมากขึ้น

ซึ่งขณะนี้ ประเทศไทยกำลังพัฒนาโครงการ ‘Landbridge’ เพื่อส่งเสริมการเชื่อมโยงอย่างไร้รอยต่อ เชื่อมระหว่างมหาสมุทรอินเดียและมหาสมุทรแปซิฟิก ซึ่งไทยยินดีร่วมมือกับทุกพันธมิตรที่สนใจทั้งภาครัฐและเอกชน

ประการที่สอง การพัฒนาที่ยั่งยืนและการเติบโตสีเขียว ไทยยินดีสนับสนุนข้อริเริ่ม ‘Asia Zero Emission’ เพื่อเร่งรัดการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน และยุทธศาสตร์ด้านสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมของอาเซียน (Strategic Program for ASEAN Climate and Environment) เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พร้อมยินดีที่ญี่ปุ่นริเริ่มและมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านสีเขียวของอาเซียนด้วย

นอกจากนี้ ไทยมีความมุ่งมั่นที่จะเป็นผู้ผลิตพลังงานสะอาดชั้นนำและเป็นศูนย์กลางการผลิต EV และรัฐบาลยังดำเนินการเตรียมออกตราสารหนี้ส่งเสริมความยั่งยืน (Sustainability-linked Bond) ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี 

ประการที่สาม ความมั่นคงด้านสุขภาพ โดยการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ตระหนักถึงความมั่นคงทางสุขภาพ โดยนายกรัฐมนตรีชื่นชมที่ญี่ปุ่นสนับสนุนเงินจำนวน 50 ล้านเหรียญสหรัฐ ให้กับศูนย์อาเซียนว่าด้วยสาธารณสุขฉุกเฉินและโรคอุบัติใหม่ หรือ ‘ACPHEED’ เพื่อเสริมสร้างการตอบสนองด้านสาธารณสุขในภูมิภาค รวมถึงยินดีที่ไทยและญี่ปุ่นมีความร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดในการส่งเสริมประเด็นเรื่องประกันสุขภาพถ้วนหน้าในระดับโลก พร้อมหวังว่าจะนำไปสู่ระบบสาธารณสุขที่มีความเท่าเทียมและยั่งยืนมากยิ่งขึ้น

สำหรับประเด็นสถานการณ์ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า จำเป็นต้องกระชับความร่วมมือกันเพื่อแก้ปัญหาความไม่แน่นอนที่เพิ่มขึ้นในความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ เพื่อนำไปสู่สันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาคและต่อโลก ทั้งสงครามในยูเครนที่ยังคงไม่สงบ รวมถึงสถานการณ์ในตะวันออกกลางที่ความขัดแย้งเริ่มขยายตัว สำหรับสถานการณ์ในเมียนมา ความขัดแย้งที่ทวีความรุนแรงขึ้นจะส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของประชาชน ไทยหวังว่าทุกฝ่ายจะยังไม่ยอมแพ้ต่อการสร้างความสงบสุขในเมียนมา ซึ่งประเทศไทยในฐานะประเทศเพื่อนบ้านพร้อมแสดงบทบาทนำในการช่วยเหลือเมียนมา เพื่อนำไปสู่การดำเนินการตามฉันทามติ 5 ข้อ ของอาเซียน

นอกจากนี้ ไทยยังได้ดำเนินการอย่างเร่งด่วนในการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมตลอดแนวชายแดน เพื่อให้พลเรือนได้รับความช่วยเหลือที่จำเป็น พร้อมหวังว่าความช่วยเหลือดังกล่าวจะช่วยสร้างพื้นที่สำหรับการเจรจาจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่ายมากยิ่งขึ้น ทั้งในเมียนมาเองและในกรอบของอาเซียน และเชื่อมั่นว่า อาเซียนและญี่ปุ่นจะร่วมมือกับไทยในเรื่องดังกล่าว

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การดำเนินการจะไม่ง่าย แต่ด้วยความมุ่งมั่นในการทำงานร่วมกันและส่งเสริมมิตรภาพที่ใกล้ชิดของทุกฝ่าย โดยมีความไว้วางใจเป็นกุญแจสำคัญ จะสามารถจัดการกับความท้าทายร่วมกัน และเสริมสร้างโอกาสทองในความสัมพันธ์ของอาเซียนและญี่ปุ่นได้มากขึ้น ดังสุภาษิตที่ว่า “การเดินกับมิตรในความมืดมิด ยังดีกว่าเดินลำพังในแสงสว่าง” (walking with a friend in the dark is better than walking alone in the light)

‘OR’ เตรียมตั้ง ‘PTT Station’ แบบไร้หัวจ่ายน้ำมัน มีแต่ที่ชาร์จ EV 100% ตั้งเป้า 600 แห่ง ปี 67 และ 7,000 แห่งภายในปี 73 ทั่วประเทศ

เมื่อไม่นานนี้ นายดิษทัต ปันยารชุน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ ‘OR’ เปิดเผยว่า บริษัทมีแผนเปิดสถานีบริการน้ำมันรูปแบบใหม่ภายใต้คอนเซปต์แห่งอนาคต ด้วยการไม่มีหัวจ่ายน้ำมันให้บริการ จะมีเพียงแต่สถานีชาร์จไฟฟ้า (Charging Stations) และ ร้านค้าในกลุ่มธุรกิจ Non-Oil เพียงอย่างเดียว ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการศึกษาและวางแผนก่อสร้างคาดว่าจะแล้วเสร็จในช่วงปลายปี 2567

สำหรับ ปัจจุบันแผนการขยายสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า (Charging Stations) ในปี 2567 จะเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 500-600 แห่ง ทั่วประเทศ โดยในส่วนของ OR มุ่งเน้นการขยายสถานีชาร์จใน พีทีที สเตชั่น เป็นหลัก และในปี 2573 จะมีจุดชาร์จรถยนต์ไฟฟ้ามากกว่า 7,000 หัวชาร์จ ตามแผนที่วางไว้ 

ทั้งนี้บริษัทได้ใช้เงินลงทุนราว 600 ล้านบาท ในการก่อสร้างสถานีบริการ พีทีที สเตชั่น แฟลกชิป วิภาวดี 62 (PTT Station Flagship วิภาวดี 62) ซึ่งเป็นต้นแบบสถานีบริการที่จะสะท้อนให้เห็นถึงแนวคิดในการดำเนินธุรกิจของ OR ที่พร้อมสร้างโอกาสให้ผู้คน ชุมชน สิ่งแวดล้อม เติบโตไปด้วยกันอย่างยั่งยืน ตามแนวคิด SDG ในแบบของ OR ในทุกมิติ 

นายดิษทัต กล่าวว่า พีทีที สเตชั่น แฟลกชิป วิภาวดี 62 มีพื้นที่กว่า 5,000 ตารางเมตร และเป็นสถานีบริการที่เป็นต้นแบบ หรือ ‘แฟลกชิป’ (Flagship) ที่สมบูรณ์แบบที่สุดของ OR โดยมีสัดส่วนของ ธุรกิจ Non-Oil สูงได้ 80% ของสถานี และอีก 20% เป็นธุจกิจ Mobility และยังถือเป็นสถานีบริการต้นแบบสำหรับการออกแบบสู่การขยาย พีทีที สเตชั่น ในอนาคตอีกด้วย

บริษัทยังมีแผนการขยายธุรกิจสู่กลุ่ม Health&Beauty ซึ่งมีแผนที่จะขยายธุรกิจเข้าสู่สินค้าเครื่องสำอางค์และความงาม โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างการเจรจากับพันธมิตรทางธุรกิจสัญชาติเกาหลี โดยคาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในไตรมาส 1/2567 รวมถึง ธุรกิจโรงแรม ซึ่งอยู่ระหว่างการก่อสร้างคาดว่าจะแล้วเสร็จในช่วง 5-6 เดือนจากนี้

‘ศอ.บต.’ นำทัพผู้ประกอบการชายแดนใต้ บินแสดงสินค้าถึงซาอุฯ เล็งขยายตลาดฮาลาลสู่ประเทศมุสลิม คาด ดึงเงินนักลงทุน 180 ลบ.

(17 ธ.ค. 66) นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ภายหลังที่ได้มอบแนวนโยบายการแก้ปัญหาความยากจนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ด้วยการส่งเสริมอาชีพ ล่าสุด ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ก็ได้เริ่มเดินหน้าสนับสนุนการสร้างอาชีพแล้ว โดยร่วมกับ สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงริยาด หอการค้าไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และบริษัท อินเด็กซ์ ครีเอทีฟ วิลเลจ จำกัด (มหาชน) นำผู้ประกอบการที่มีศักยภาพ จากจังหวัดชายแดนภาคใต้ เข้าร่วมงานแสดงสินค้า ‘Thailand Mega Fair 2023’ ที่กรุงริยาด ประเทศซาอุดีอาระเบีย ระหว่างวันที่ 13 -16 ธันวาคม 2566

นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ผู้ประกอบการในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ จำนวนกว่า 200 แบรนด์ ได้นำผลิตภัณฑ์ และสินค้าที่ผลิตในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งมีความโดดเด่น และมีความต้องการสูงของกลุ่มประเทศมุสลิม มาจัดแสดง เช่น นมถั่วเหลือง 7 รสชาติ นมข้าวโพด นมแพะ นมโค 3 รสชาติ ผ้าคลุมผมสตรี รองเท้าแตะ สำหรับใช้ในการเดินไปประกอบศาสนกิจ น้ำหอมไม้กฤษณา และ น้ำผึ้งชันโรง โดยสินค้าที่นำไปจัดแสดง ได้รับผลตอบรับจากชาวซาอุดีอาระเบีย เป็นอย่างมาก ซึ่งมีผู้ประกอบการสามารถ Bussiness Macthing กับผู้ประกอบการในซาอุดีอาระเบียและกาตาร์ ได้จำนวน 2 บริษัท รวม 4 ผลิตภัณฑ์

โดยคาดการณ์ว่า จะสามารถสร้างมูลค่าจากการเข้าร่วมกิจกรรมครั้งนี้กว่า 100 ล้านบาท ในระยะ 1 ปีข้างหน้า จึงถือว่า การเข้าร่วมงานแสดงสินค้า สามารถช่วยผู้ประกอบการให้มีโอกาสทางการค้าเพิ่มขึ้น และเกิดการขยายตลาดการส่งออกสินค้าฮาลาลในประเทศโลกมุสลิมมากยิ่งขึ้น

“การส่งเสริมให้ผู้ประกอบการ ไปแสดงสินค้าในต่างประเทศ จะช่วยเพิ่มโอกาสการส่งออก และเพิ่มการจ้างงานในพื้นที่มากขึ้น ซึ่งมีการคาดว่า การแสดงสินค้าในครั้งนี้ จะเกิดมูลค่าการค้า ประมาณ 25 ล้านบาท และจะเกิดการลงทุนเพิ่มเติม 180 ล้านบาท โดยก็จะทำให้เกิดการจ้างงานคนในพื้นที่เพิ่มเติม ทั้งทางตรง และทางอ้อมกว่า 400 คน จึงถือว่า เป็นส่งเสริมอาชีพให้กับพี่น้องประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ได้อย่างชัดเจน และในอนาคต ก็จะผลักดันการขยายตลาดการส่งออกไปสู่ประเทศซาอุดีอาระเบีย และประเทศโลกมุสลิมโดยตรง รวมถึงจะจัดตั้ง ‘Fatoni Halal One Stop Service’ จากเครือข่ายที่อยู่ในประเทศซาอุดีอาระเบียด้วย เพื่อทำให้เกิดการส่งเสริมอาชีพและจ้างงานในพื้นที่มากขึ้น” รองนายกรัฐมนตรี กล่าว

ขณะที่ พ.ต.ท.วรรณพงษ์ คชรักษ์ เลขาธิการ ศอ.บต. กล่าวว่า ผู้ประกอบการที่ได้ร่วมงานในครั้งนี้ ได้ขอบคุณรัฐบาล และ ศอ.บต. ที่สนับสนุนให้ผู้ประกอบการชายแดนใต้ มีโอกาสขยายการส่งออกไปยังประเทศซาอุดีอาระเบีย และประเทศโลกมุสลิมเพิ่มขึ้น เพราะการนำผู้ประกอบการไปแสดงสินค้า ก็เพื่อให้ธุรกิจในพื้นที่เติบโต ขยายตลาดส่งออก เพิ่มการจัดจำหน่าย โดยเท่ากับว่า จะสามารถสร้างงาน สร้างอาชีพให้กับประชาชนในพื้นที่ได้มากขึ้น พร้อมลดจำนวนผู้ว่างงานของคนในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย

ซึ่งภายหลังเสร็จสิ้นงาน ศอ.บต. ก็มีแผนงานนำผู้ประกอบการ ทั้ง 4 กลุ่ม กลับมาเป็นต้นแบบถอดบทเรียนและถ่ายทอดให้แก่ผู้ประกอบการรายอื่นๆ ที่อยากเข้าร่วมกิจกรรมด้วย โดยใช้วิธีต่อยอด เสริมความเข้มแข็ง เพื่อให้เป็นพี่เลี้ยง ช่วยสร้างงาน สร้างอาชีพ และรายได้แก่ครัวเรือนยากจนในพื้นที่ชายแดนใต้ต่อไป

‘นายกฯ’ เผย อินโดฯ สั่งข้าวไทย 2 ล้านตัน เชื่อ ช่วยดันราคาสูงขึ้น พร้อมหารือ ‘ผู้นำ 3 ชาติ’ เล็งจัดเส้นทางท่องเที่ยว 4 ประเทศ

(17 ธ.ค. 66) ที่โรงแรมโอกุระ โตเกียว ประเทศญี่ปุ่น นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยถึงการร่วมประชุมสุดยอดอาเซียน-ญี่ปุ่น สมัยพิเศษฯ ว่า ระหว่างการประชุมได้หารือพูดคุยส่วนตัวกับผู้นำประเทศในอาเซียน อาทิ ประเทศกัมพูชา, ประเทศเวียดนาม และประเทศอินโดนีเซีย สำหรับการพูดคุยกับ ‘นายฮุน มาเนต’ นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ที่มีความสนิทสนมกัน และพบเจอกันในหลายวงประชุมแล้ว ก็ได้หารือกันหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นการสร้างสถานกงศุลที่กรุงเสียมเรียบซึ่งเป็นเมืองที่มีสถานที่ท่องเที่ยวชื่อดังคือนครวัด และมีนักท่องเที่ยวเยอะ โดยทางนายฮุน ยืนยันจะสนับสนุนเต็มที่ รวมถึงขอบคุณประเทศไทยที่ช่วยดำเนินการให้คนกัมพูชาเข้าไทยได้โดยไม่ต้องใช้พาสปอร์ต และทำให้ภาคแรงงานทำให้ขับเคลื่อนไปได้ ซึ่งทุกอย่างเป็นไปได้ด้วยดี

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ขณะที่การหารือร่วมกับ ‘นายหวอ วัน เถือง’ ประธานาธิบดีเวียดนาม ก็จะมีการรื้อฟื้นการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ร่วมสองประเทศ โดยทางเวียดนามเสนอให้จัดช่วงเดือนพฤษภาคมปี 2567 ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ดี นอกจากนี้ ในฐานะที่ทั้งสองประเทศเป็นผู้ผลิตข้าวรายใหญ่ของโลก ก็น่าจะมีการพูดคุยกันเรื่องราคาข้าว เพื่อทำให้เกษตรกรมีรายได้ดีขึ้น

รวมถึงทางเวียดนามเสนอให้ประเทศไทยในฐานะที่มีประสบการณ์สูงในเรื่องการท่องเที่ยว และนโยบายก้าวหน้า รวมถึงมีนักท่องเที่ยวเยอะที่สุดในภูมิภาคนี้ ทางเวียดนามก็ได้เสนอว่า ให้ไทย เวียดนาม สปป.ลาว กัมพูชา มาพูดคุยกันเพื่อร่วมเป็นคณะกรรมการโปรโมทการท่องเที่ยวให้มีความเชื่อมโยงกัน เพราะเวลานักท่องเที่ยวมาภูมิภาคนี้ก็จะได้มาทั้งหมด นำจุดแข็งของแต่ละประเทศมาใช้ ซึ่งตนได้เสนอว่าการประชุมร่วมคณะรัฐมนตรีระหว่างเวียดนามและไทยช่วงเดือนพฤษภาคม เราจะให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา จัดประชุมกับรัฐมนตรีท่องเที่ยวทั้ง 4 ประเทศ เพื่อทำการบ้านไปก่อนคลอดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวของทุกประเทศที่จะดำเนินการต่อไป อีกทั้งแนวคิดนี้ถือเป็นแนวคิดที่สร้างสรรค์ที่ดีมากของนายกรัฐมนตรีเวียดนาม

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ส่วนการพูดคุยกับ ‘นายโจโก วีโดโด’ ประธานาธิบดีอินโดนีเซีย ที่ดำรงตำแหน่งมา 8 ปีแล้ว และปัจจุบันเป็นประธานอาเซียน ซึ่งถือเป็นบุคคลที่มีบารมี และทุกคนให้ความเคารพ ตนได้เจอท่าน 3-4 ครั้ง โดยเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ท่านส่งนักธุรกิจมาคุยเรื่องการค้าข้าวมาพูดคุยก่อนแล้ว และการพบกันวันนี้ประธานาธิบดียืนยันว่าจะซื้อข้าวไทยจำนวน 1 ล้านตันภายในปีนี้ แต่เมื่อระยะเวลาเหลือเพียง 20 วัน ประธานาธิบดียืนยันจะสั่งข้าวไทยเป็น 2 ล้านตัน โดยจะส่งคนมาพบกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ช่วงต้นปี 2567 ซึ่งเชื่อว่าจะทำให้ราคาข้าวไทยมีราคาและความต้องการสูงขึ้น ถือเป็นเรื่องที่น่ายินดี

นอกจากนี้ ประธานาธิบดีอินโดนีเซีย ยังมีความสนใจในเรื่องแลนด์บริดจ์ด้วย เพราะมีนักลงทุนอินโดนีเซียสนใจมาลงทุน โดยจะมีการนัดมาหารือต่อไป

'กฟผ.' เร่งเดินหน้าโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดเขื่อนอุบลรัตน์  ผลิตไฟฟ้ารักษ์โลก-เสริมความมั่งคงด้านพลังงานให้ประเทศ

(18 ธ.ค. 66) ภาวะโลกร้อนที่ทวีความรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่องถือเป็นปัจจัยสำคัญที่เร่งเร้าให้ทั่วโลกเดินหน้าเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น โดยประเทศไทยตั้งเป้าเพิ่มการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนไม่ต่ำกว่า 50% เพื่อสนับสนุนการใช้พลังงานสะอาดโดยเฉพาะในภาคการผลิตไฟฟ้าและขนส่ง เพื่อมุ่งสู่เป้าหมาย Carbon Neutrality ในปี 2050

การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จึงเดินหน้าโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำร่วมกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำ หรือ โรงไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริด (Hydro-floating Solar Hybrid) ซึ่งถือเป็นต้นแบบของโรงไฟฟ้าพลังงานสะอาดแบบผสมผสานระหว่างพลังงานแสงอาทิตย์ทำงานร่วมกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำของ กฟผ. ที่มีอยู่เดิม ทำให้สามารถผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดได้อย่างต่อเนื่องยาวนานขึ้น และมีต้นทุนการผลิตไฟฟ้าต่ำ จนเป็นที่ประจักษ์ต่อสายตาทั่วโลกผ่านโครงการโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดใหญ่ที่สุดในโลกแห่งแรกที่เขื่อนสิรินธร จ.อุบลราชธานี กำลังผลิตไฟฟ้า 45 เมกะวัตต์

สำหรับในปี 2566 กฟผ. เร่งดำเนินโครงการโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดแห่งที่ 2 ณ เขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น กำลังผลิตไฟฟ้า 24 เมกะวัตต์ พัฒนาต่อยอดเพิ่มการติดตั้งระบบกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่ (BESS) แบบลิเธียมไอออนขนาด 6 เมกะวัตต์-ชั่วโมง ช่วยให้ระบบไฟฟ้าในช่วงเปลี่ยนผ่านระหว่างพลังงานแสงอาทิตย์และพลังน้ำมีเสถียรภาพมากขึ้น สามารถผลิตไฟฟ้าได้อย่างต่อเนื่อง ช่วยเสริมความมั่นคงระบบไฟฟ้าของประเทศ

ปัจจุบันโครงการโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดเขื่อนอุบลรัตน์อยู่ในระหว่างดำเนินงานประกอบแผงโซลาร์เซลล์เข้ากับทุ่นลอยน้ำ โดยใช้แผงโซลาร์เซลล์ประมาณ 48,000 แผง ติดตั้งอยู่บนพื้นที่ผิวน้ำประมาณ 320 ไร่ ส่วนการก่อสร้างสายส่งไฟฟ้า 22 กิโลโวลต์ เชื่อมต่อกับสถานีไฟฟ้าแรงสูงอุบลรัตน์ และการก่อสร้างอาคารอุปกรณ์ไฟฟ้า รวมถึงระบบกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่ (BESS) มีความล่าช้าเล็กน้อยจากปัญหาอุทกภัยในหลายพื้นที่ของ จ.ขอนแก่น ในช่วงเดือนตุลาคมที่ผ่านมา คาดว่าจะสามารถดำเนินการได้แล้วเสร็จภายในปี 2566

ทั้งนี้ โรงไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดถือเป็นต้นแบบโรงไฟฟ้าแห่งอนาคตที่จะเข้ามาแทนโรงไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล เพราะเป็นกระบวนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดจึงไม่ก่อให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) โดยกระบวนการทำงานของโรงไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดจะนำพลังงานแสงอาทิตย์มาผลิตไฟฟ้าในช่วงกลางวัน และผลิตไฟฟ้าด้วยโรงไฟฟ้าพลังน้ำเช่วงที่แสงแดดน้อยหรือไม่มีแสงแดด ส่วนระบบกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่จะกักเก็บพลังงานส่วนที่เหลือจากโซลาร์เซลล์ลอยน้ำ และช่วยจ่ายไฟฟ้าเสริมความต้องการของระบบไฟฟ้าในช่วงเปลี่ยนผ่านตอนหัวค่ำ จึงสามารถตอบสนองความต้องการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนได้อย่างต่อเนื่องและยาวนานขึ้น

ส่วนแผงโซลาร์เซลล์ที่นำมาใช้เป็นแผงโซลาร์เซลล์ชนิด Double Glass ที่มีความแข็งแรงทนทานสูง ทนความชื้นได้ดี สามารถออกแบบวางชิดผิวน้ำซึ่งช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์ถึงร้อยละ 10 - 15 และใช้ทุ่นลอยน้ำเป็นทุ่นพลาสติกชนิด High Density Poly Ethylene (HDPE) ซึ่งเป็นวัสดุประเภทเดียวกับท่อส่งน้ำประปาจึงเป็นมิตรต่อสัตว์น้ำและสิ่งแวดล้อม รวมถึงสามารถทนต่อความเสื่อมจากการกระทบของรังสี UV ได้เป็นอย่างดี จึงมีอายุการใช้งานได้นานถึงประมาณ 25 ปี

นอกจากนี้โรงไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดยังตอบโจทย์พลังงานเพื่อทุกคน เนื่องจากเป็นการพัฒนาโครงการที่มีขนาดใหญ่ (Economy of Scale) โดยใช้ที่่ดินและอุปกรณ์โครงข่ายไฟฟ้าของเขื่อนอุบลรัตน์ที่มีอยู่เดิมให้เต็มประสิทธิภาพ จึงสามารถช่วยลดต้นทุนและค่าใช้จ่ายการดำเนินการที่เกี่ยวข้อง ส่งผลให้มีต้นทุนผลิตไฟฟ้าต่ำ อีกทั้งในช่วงการก่อสร้างยังได้จ้างแรงงานท้องถิ่นทำให้เกิดการจ้างงาน กระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่ และเมื่อโครงการก่อสร้างแล้วเสร็จ กฟผ. ได้เตรียมพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวด้านพลังงานหมุนเวียนแห่งใหม่ของ จ.ขอนแก่น เพื่อสร้างรายได้ให้กับประชาชนในท้องถิ่นอีกทางหนึ่งด้วย

โรงไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดถือเป็นก้าวสำคัญของการเดินหน้าผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดที่เชื่อถือได้ และแสดงถึงความมุ่งมั่นเอาจริงเอาจังในการส่งเสริมพลังงานสะอาดของไทย โดยให้ความสำคัญกับชุมชนโดยรอบเพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืน และเดินหน้าสู่สังคมไร้คาร์บอนอย่างแท้จริง เพื่อคนไทยทุกคน


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top