Friday, 9 May 2025
Econbiz

'รมว.ปุ้ย' สั่งสมอ.เร่ง 8 มาตรการเชิงรุก กวาดล้างสินค้าไร้มาตรฐานสิ้นซาก

(18 ธ.ค. 66) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ได้กำชับให้สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ยกระดับความเข้มข้นของ 8 มาตรการเชิงรุกภายใต้ภารกิจ Quick win ในการตรวจติดตามการจำหน่ายสินค้าในท้องตลาดและทางออนไลน์อย่างเข้มงวด เพื่อกวาดล้างสินค้าด้อยคุณภาพให้หมดไปจากท้องตลาด 

โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าที่อยู่ในการควบคุมของ สมอ. ทั้ง 143 รายการ ที่มีการโฆษณาผ่านทางทีวีดิจิทัลและสื่อออนไลน์ต่าง ๆ ซึ่งหากไม่ได้มาตรฐานอาจเกิดอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน 

ทั้งนี้ จึงได้สั่งการให้ สมอ. เข้มงวดกับร้านค้าออนไลน์ในทุกแพลตฟอร์มที่มีการโฆษณาขายสินค้าผ่านทางออนไลน์ รวมถึงการรีวิวขายสินค้า หรือโฆษณาโบรชัวร์ออนไลน์ ซึ่งถือเป็นกระบวนการหนึ่งในการขายสินค้าด้วยเช่นกัน หากสินค้าดังกล่าวเป็นสินค้าควบคุมที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยของประชาชน จะต้องมีคุณภาพตามมาตรฐาน ตั้งแต่ต้นทางไปจนถึงมือผู้บริโภค รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าว

นายวันชัย พนมชัย รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม รักษาราชการแทน เลขาธิการ สมอ. กล่าวว่า สมอ. ได้ดำเนินการกวาดล้างสินค้าด้อยคุณภาพอย่างเข้มงวดและต่อเนื่องในทุกช่องทาง

อย่างไรก็ดี จากการตรวจสอบแพลตฟอร์มการจำหน่ายสินค้าออนไลน์พบว่ายังมีแพลตฟอร์มบางแห่งที่โฆษณาขายสินค้าโดยไม่แสดงเครื่องหมายมาตรฐาน มอก. และ QR Code ทำให้ประชาชนไม่สามารถตรวจสอบได้ว่าเป็นสินค้าได้มาตรฐานหรือไม่ 

สมอ. จึงได้เชิญผู้จำหน่ายสินค้าทางออนไลน์ เช่น ช้อปปี้ ลาซาด้า ติ๊กต๊อก เซ็นทรัลเทรดดิ้ง ไลน์คอมพานี บุญถาวร สยามโกลบอลเฮาส์ ออฟฟิศเมท ฯลฯ กว่า 300 ราย เข้าร่วมหารือ เพื่อหาแนวทางในการควบคุมสินค้าที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยของประชาชน

โดยเฉพาะเครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือน เช่น กระทะไฟฟ้า เตาปิ้งย่าง หม้ออบลมร้อน พัดลม ไดร์เป่าผม ที่หนีบผม ปลั๊กพ่วง เป็นต้น ซึ่งที่ผ่านมายังพบการกระทำความผิดอยู่บ่อยครั้ง

สมอ. จึงต้องดำเนินการอย่างเข้มงวด โดยกำชับให้ผู้ค้าดำเนินการดังนี้ 

-ตรวจสอบสินค้าว่าเป็นสินค้าควบคุมของ สมอ.หรือไม่  

-หากตรวจสอบแล้วพบว่าเป็นสินค้าควบคุม ให้ตรวจสอบต่อไปว่าได้รับใบอนุญาตจาก สมอ. ถูกต้องแล้วหรือไม่ หากถูกต้องแล้วสามารถโฆษณาและจำหน่ายได้ 
-ภาพที่ใช้ในการโฆษณาเพื่อการจำหน่ายสินค้า ต้องให้เห็นเครื่องหมายมาตรฐาน และ QR Code อย่างชัดเจน 

"สมอ. จะตรวจติดตามอย่างเข้มข้นตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 เป็นต้นไป หากพบว่าร้านค้าออนไลน์หรือแพลตฟอร์มรายใดยังไม่ปฏิบัติตาม จะดำเนินการตามกฎหมายทันที"

‘GML - อ.ต.ก.- PAS’ เดินขบวนรถไฟเที่ยวปฐมฤกษ์  ขยายตลาดสินค้าเกษตรไทยสู่ ‘จีน - รัสเซีย - สหภาพยุโรป’

เมื่อไม่นานมานี้ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์, ศ.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ทำหน้าที่ผู้แทนการค้าไทย, นายประยูร อินสกุล ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์, นางวรรณภรณ์ เกตุทัต ผู้ตรวจราชการกระทรวงพาณิชย์ และผู้แทนกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ, ดร.บุรณิน รัตนสมบัติ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจใหม่และโครงสร้างพื้นฐาน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน), นายปณิธาน มีไชยโย ผู้อำนวยการองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร และ Mr. Phillip Zhu ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แพน-เอเชีย ซิลด์ โรด จำกัด ร่วมพิธีเดินขบวนรถไฟเที่ยวปฐมฤกษ์ นำร่องส่งสินค้าเกษตรไทย ได้แก่ ข้าวหอมมะลิ ทุเรียนแช่แข็ง และยางพารา ไปยังนครเฉิงตู สาธารณรัฐประชาชนจีน สหพันธรัฐรัสเซีย และสหภาพยุโรป 

ภายใต้ความร่วมมือระหว่างองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) บริษัท Global Multimodal Logistics (GML) ดำเนินธุรกิจด้านโลจิสติกส์ครบวงจรกลุ่ม ปตท. และบริษัท แพน-เอเชีย ซิลด์ โรด จำกัด (PAS) เพื่อขยายตลาดส่งออกสินค้าเกษตรและสินค้าอุปโภคบริโภคผ่านระบบการขนส่งทางราง โดยมีเป้าหมายในการยกระดับเศรษฐกิจของประเทศสอดรับโครงการภายใต้ยุทธศาสตร์ Belt and Road Initiative (BRI) ของจีน โดยจุดเริ่มต้นในครั้งนี้จะเพิ่มมูลค่าผลผลิตภาคการเกษตรไทย ลดต้นทุนและระยะเวลาขนส่ง

‘ปตท.’ ผนึกกำลัง ‘ตรีเพชรอีซูซุเซลส์ - มิตซูบิชิคอร์ปอเรชั่น (ญี่ปุ่น)’ ปั้นโปรเจกต์ทดสอบรถพลังงานสะอาด มุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน 

เมื่อไม่นานมานี้ ดร.บุรณิน รัตนสมบัติ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจใหม่และโครงสร้างพื้นฐาน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน), Mr.Takashi Hata, President of Tri Petch Isuzu Sales Company Limited และ Mr. Shigeru Wakabayashi, EVP, Group CEO, Automotive & Mobility Group Misubishi Corporation ร่วมพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือพัฒนาโครงการทดสอบรถพลังงานสะอาดเพื่อมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน ระหว่างบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) บริษัท ตรีเพชรอีซูซุเซลส์ และบริษัท มิตซูบิชิคอร์ปอเรชั่น (ประเทศญี่ปุ่น) 

โดยโครงการดังกล่าวประกอบด้วยการทดสอบการวิ่งใช้งานจริงของรถบรรทุกไฟฟ้าอีซูซุ โดยใช้ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน 100% ผ่านระบบบริหารจัดการพลังงาน ระบบชาร์จ และ EV Ecosystem ของ ปตท. 

นอกจากนี้ ยังมีโครงการลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์สำหรับรถยนต์ดีเซล โดยการทดสอบใช้ HVO         (Hydro Vegetable Oil) หรือน้ำมันไบโอดีเซลจากน้ำมันพืชใช้แล้ว รวมทั้งร่วมกับมิตซูบิชิ คอร์ปอเรชั่น (ประเทศญี่ปุ่น) ศึกษาวิจัยน้ำมัน e-fuels ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงสังเคราะห์ช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และสามารถใช้งานในเครื่องยนต์สันดาปที่มีอยู่ในปัจจุบัน โดยความร่วมมือดังกล่าวจะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยสนับสนุนเป้าหมาย ความเป็นกลางทางคาร์บอนของประเทศไทยให้สำเร็จได้ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้

'เศรษฐา-สุริยะ' โชว์จุดแข็ง 'แลนด์บริดจ์' โน้มน้าวใจนักลงทุนญี่ปุ่น  ลด 'ต้นทุน-เวลา' ขนส่ง เล็งให้สัมปทานยาว 50 ปี คืนทุนใน 24 ปี

(18 ธ.ค. 66) ที่ห้องซากุระ โรงแรมอิมพีเรียล โตเกียว นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง เป็นประธานการเปิดสัมมนางานภาพรวมของโครงการแลนด์บริด์จ และโอกาสทางธุรกิจ ซึ่งมีบริษัทชั้นนำของญี่ปุ่นเกือบ 30 บริษัทให้ความสนใจร่วมเข้ารับฟัง โดยมีนายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกฯ และรมว.ต่างประเทศ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคม นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรี เข้าร่วมด้วย

โดยนายกรัฐมนตรี กล่าวขอบคุณทุกคนที่เข้าร่วมงาน ‘Thailand Landbridge Roadshow’ ในวันนี้ ซึ่งโครงการแลนด์บริดจ์เป็นโครงการที่รัฐบาลไทยได้ริเริ่มขึ้น จากโอกาสและศักยภาพของไทยที่จะเป็นศูนย์กลางการค้าและการขนส่งของภูมิภาค และในอนาคตอาจจะเป็นศูนย์กลางการค้าและการขนส่งอีกแห่งหนึ่งของโลก

นายกฯ ยังได้นำเสนอข้อมูลของโครงการว่าทวีปเอเชียมีมูลค่าการส่งออกและนำเข้าสูงสุดอยู่ที่ประมาณ 40% รองลงมาเป็นทวีปยุโรปที่มีมูลค่าการส่งออกและนำเข้าอยู่ที่ประมาณ 38% ซึ่งการค้าขายส่วนใหญ่จะอาศัยการขนส่งทางเรือเป็นหลัก เนื่องจากขนส่งได้ในปริมาณมากและประหยัดที่สุด และการเดินเรือสินค้าระหว่างเอเชียกับยุโรปนั้นส่วนใหญ่จะใช้เส้นทางผ่านช่องแคบมะละกา ซึ่งช่องแคบมะละกาจัดได้ว่าเป็นเส้นทางการขนส่งสินค้าทางทะเลหลักในภูมิภาค โดยตู้สินค้าผ่านช่องแคบมะละกามีสัดส่วนร้อยละ 25 ของจำนวนตู้สินค้าที่ขนส่งทั่วโลก และการขนส่งน้ำมันผ่านช่องแคบมะละกามีสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 60 ของการขนส่งน้ำมันทั่วโลก 

ซึ่งช่องแคบมะละกามีปริมาณการเดินเรือที่คับคั่ง และแออัดมากที่สุดในโลกแห่งหนึ่ง ทำให้ปริมาณการขนถ่ายตู้สินค้า หรือตู้คอนเทนเนอร์ที่เกิดขึ้นในท่าเรือต่างๆ ที่อยู่บริเวณช่องแคบมะละกามีอยู่ประมาณ 70.4 ล้านตู้ต่อปี และจำนวนเรือที่เดินทางผ่านช่องแคบมะละกามีประมาณ 90,000 ลำต่อปี คาดการณ์ว่าในปี ค.ศ. 2030 ปริมาณเรือจะเกินกว่าความจุของช่องแคบมะละกา และจะประสบปัญหาตู้สินค้าจำเป็นต้องรอที่ท่าเรือ เพื่อรอเรือเข้ามาทำการขนถ่ายตู้สินค้า ทำให้เกิดค่าเสียโอกาส และการเพิ่มขึ้นของต้นทุนจากความล่าช้า

นายกฯ กล่าวอีกว่า ไทยได้เห็นโอกาสในการพัฒนาเส้นทางที่ช่วยบรรเทาผลกระทบ โดยใช้ทำเลที่ตั้งที่เป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญในใจกลางคาบสมุทรอินโดจีน ที่สามารถพัฒนาให้เกิดการเชื่อมโยงระหว่างมหาสมุทรแปซิฟิกและมหาสมุทรอินเดีย ไทยจึงเชื่อว่าโครงการแลนด์บริด์จเป็นเส้นทางเลือกที่สำคัญ ที่จะรองรับการขนส่งสินค้าที่เพิ่มขึ้น โดยมีความได้เปรียบของเส้นทางที่ประหยัดกว่า เร็วกว่า และปลอดภัยกว่า เมื่อเปรียบเทียบต้นทุนและระยะเวลาสำหรับการขนส่งตู้สินค้าผ่านแลนด์บริดจ์ กับผ่านช่องแคบมะละกาแล้วนั้น พบว่า กลุ่มเป้าหมายหลักของเรือขนส่งตู้สินค้าที่จะเข้ามาใช้แลนด์บริดจ์ ได้แก่ เรือขนส่งตู้สินค้าขนาดกลาง (Feeder) ที่ขนส่งตู้สินค้าระหว่างประเทศในมหาสมุทรแปซิฟิกกับมหาสมุทรอินเดีย

ทั้งนี้ ในปัจจุบันการขนส่งตู้สินค้าจากประเทศผู้ผลิตในกลุ่มเอเชียตะวันออก อาทิ ญี่ปุ่น จีน และเกาหลีใต้ ไปยังประเทศผู้บริโภคในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอเชียกลาง และตะวันออกกลาง ตู้สินค้าส่วนใหญ่จะถูกขนส่งมาโดยเรือขนาดใหญ่ (Mainline) แล้วมาเปลี่ยนถ่ายตู้สินค้าลงเรือ (Feeder) ที่ท่าเรือในช่องแคบมะละกา เพื่อขนส่งไปยังประเทศผู้บริโภค ซึ่งในอนาคตเมื่อมีโครงการแลนด์บริดจ์ ตู้สินค้าเหล่านั้นจะเปลี่ยนรูปแบบการขนส่งจากประเทศผู้ผลิตโดยใช้เรือ Feeder แล้วมาเปลี่ยนถ่ายตู้สินค้าลงเรือ Feeder อีกลำที่ แลนด์บริดจ์ ซึ่งจะสามารถประหยัดต้นทุนขนส่งได้อย่างน้อย 4% และประหยัดเวลาได้ 5 วัน

นายกฯ กล่าวต่อว่า สำหรับสินค้าซึ่งผลิตจากประเทศผู้ผลิตในแถบทะเลจีนใต้ เช่น จีนด้านตะวันออก ไต้หวัน เวียดนาม ฟิลิปปินส์ มายังประเทศผู้บริโภคในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอเชียกลาง และตะวันออกกลาง ส่วนใหญ่จะใช้การขนส่งโดยเรือ Feeder แล้วมาถ่ายลำที่ท่าเรือในช่องแคบมะละกา ไปลงเรือ Feeder อีกลำ เพื่อขนส่งตู้สินค้าไปยังประเทศผู้บริโภค ซึ่งเมื่อมีโครงการแลนด์บริดจ์ ตู้สินค้าเหล่านั้นจะมาถ่ายลำที่แลนด์บริดจ์ ซึ่งจะสามารถประหยัดต้นทุนขนส่งได้อย่างน้อย 4% และประหยัดเวลาได้ 3 วัน

นายกฯ กล่าวอีกว่า ในกลุ่มสินค้าอีกกลุ่มหนึ่ง ที่ผลิตขึ้นในประเทศไทย ลาว กัมพูชา เมียนมา และประเทศจีนตอนใต้ สามารถขนถ่ายตู้สินค้าผ่านโครงข่ายคมนาคมทางบกของไทย ไปออกที่ แลนด์บริดจ์ ด้วยเรือ Feeder ไปยังประเทศผู้บริโภคต่าง ๆ เช่น ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ประเทศในเอเชียกลาง และประเทศในตะวันออกกลาง โดยโครงการแลนด์บริดจ์ จะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายจากเดิมได้มากถึง 35% และประหยัดเวลาได้มากถึง 14 วันดังนั้น เฉลี่ยแล้วการขนส่งตู้สินค้าในทุกเส้นทางดังกล่าว ผ่านแลนด์บริดจ์ จะช่วยลดระยะเวลาการเดินทางได้ 4 วัน และลดต้นทุนได้ 15% ซึ่งจากการคาดการณ์ปริมาณตู้สินค้าทั้งหมดที่จะผ่านท่าเรือฝั่งตะวันตกของโครงการแลนด์บริดจ์ จะอยู่ที่ประมาณ 19.4 ล้านตู้ และผ่านท่าเรือฝั่งตะวันออกจะอยู่ที่ประมาณ 13.8 ล้านตู้ หากเทียบเป็นสัดส่วนกับจำนวนตู้สินค้าทั้งหมดที่ผ่านท่าเรือต่าง ๆ ในช่องแคบมะละกา จะคิดเป็นสัดส่วนเพียง 23%

นายกฯ กล่าวด้วยว่า ทั้งนี้ ตัวเลขดังกล่าวเป็นการประมาณการแบบขั้นต่ำ และพิจารณา การเชื่อมโยงสินค้าที่เกิดจากเรือ Feeder มาต่อเรือ Feeder เท่านั้น ยังไม่รวมโอกาสที่เรือขนาดใหญ่ หรือ Mainline จะเข้ามาเทียบท่าในโครงการแลนด์บริดจ์ในอนาคต ทั้งนี้ ในส่วนของการขนส่งน้ำมันดิบจากภูมิภาคตะวันออกกลาง พบว่าในปัจจุบันมีการขนส่งน้ำมันดิบอยู่ที่ประมาณ 19 ล้านบาร์เรลต่อวัน โดยที่ 56% หรือประมาณ 10.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน จะขนส่งผ่านช่องแคบมะละกา ซึ่งหากใช้ แลนด์บริดจ์เป็นจุดกระจายน้ำมันดิบในภูมิภาค จะประหยัดต้นทุนขนส่งได้อย่างน้อย 6% 

อีกทั้งในการลงทุนโครงการดังกล่าว นักลงทุนจะได้รับผลประโยชน์จากการพัฒนาโครงการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องอีกด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจในภาคบริการ ธุรกิจภาคการขนส่งและโลจิสติกส์ ธุรกิจการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ รวมถึงธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับภาคการเงินและการธนาคาร โดยผลประโยชน์จะเกิดขึ้นกับธุรกิจในภาคเกษตรกรรม และธุรกิจในภาคอุตสาหกรรมโดยเฉพาะอุตสาหกรรมในกลุ่ม New S-curves ที่จะได้สิทธิประโยชน์เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามโครงการแลนด์บริดจ์ จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยได้ในภาพรวม โดยคาดว่าจะเกิดการสร้างงานในพื้นที่จำนวนไม่น้อยกว่า 280,000 อัตรา และคาดว่า GDP ของประเทศไทยจะเติบโตถึง 5.5% ต่อปี หรือประมาณ 6.7 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ เมื่อมีการพัฒนาโครงการอย่างเต็มรูปแบบ

“ผมเชื่อมั่น และเชิญชวนให้ญี่ปุ่นร่วมลงทุนในโอกาสครั้งสำคัญที่ไม่เคยมีมาก่อนในการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ระดับภูมิภาค ทั้งในเชิงพาณิชย์ และเชิงยุทธศาสตร์ที่เชื่อมโยงมหาสมุทรแปซิฟิกและมหาสมุทรอินเดีย เพื่อความเติบโตในเศรษฐกิจร่วมกัน” นายกฯ กล่าว

ด้านนายสุริยะ กล่าวถึง 2 เหตุผลสำคัญ 1. ข้อได้เปรียบของที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ของ Landbridge ประเทศไทยตั้งอยู่ใจกลางภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และโครงข่ายคมนาคมในไทยได้รับการพัฒนาเชื่อมโยงกับเครือข่ายการขนส่งของประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาค ทำให้ประเทศไทยเป็นประตูสำหรับการนำเข้าและส่งออกของประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาค

2. โครงการแลนด์บริดจ์ เป็นการแก้ปัญหาความแออัดในช่องแคบมะละกา ซึ่งมีสาเหตุมาจากจำนวนเรือบรรทุกตู้สินค้าที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี และเนื่องจากข้อจำกัดด้านความจุของช่องแคบ เรือจึงต้องเข้าคิวเป็นเวลานานก่อนที่จะสามารถผ่านช่องแคบ และเดินทางต่อไปยังจุดหมายปลายทาง ดังนั้น โครงการแลนด์บริดจ์ จะช่วยลดระยะทาง ลดเวลา และลดต้นทุนการขนส่ง

นายสุริยะ กล่าวต่อถึงแผนการดำเนินโครงการ ได้มีการวางแผนการพัฒนาทั้งโครงการเป็น 4 ระยะ เริ่มตั้งแต่ปีค.ศ. 2025 ถึง ค.ศ. 2040 รูปแบบการหาผู้มาลงทุนและดำเนินการจะเป็นการประมูลแบบนานาชาติ(International Biding) โดยมีระยะเวลาสัมปทาน 50 ปี เป็นสัญญาเดียว ส่วนกลุ่มนักลงทุนที่มาดำเนินการโครงการ ต้องเป็นกลุ่มนักลงทุนที่มีศักยภาพ ประกอบด้วย สายการเดินเรือ ผู้ให้บริการด้านโลจิสติกส์ ผู้ประกอบการและบริหารท่าเรือ ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ และนักลงทุนภาคอุตสาหกรรม โดยไทยจะออกกฏหมายใหม่ เพื่อพัฒนาโครงการและพื้นที่โดยรอบโดยเฉพาะ การอำนวยความสะดวกการจูงใจให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนและจากการศึกษาความคุ้มค่าการลงทุนโครงการดังกล่าวผู้ลงทุนจะคืนทุนใน 24 ปี โดยคิดจากรายได้ของการขนส่งสินค้าผ่านท่าเรือเท่านั้น ยังไม่รวมผลตอบแทนผลตอบแทนที่จะมาจากด้านอื่นๆไม่ว่าจะเป็นนิคมอุตสาหกรรมการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ รวมถึงธุรกิจอื่นๆที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้นักลงทุนญี่ปุ่นหลายรายคุ้นเคยในประเทศไทยโครงการนี้จะทำให้น่าลงทุนยิ่งขึ้น และการลดโชว์ในครั้งนี้ เพื่อนำเสนอศักยภาพของประเทศไทยในการเป็นศูนย์กลางขนส่งตู้สินค้าทางทะเลของภูมิภาค และอาจเป็นศูนย์กลางแห่งหนึ่งของโลก

‘นายกรัฐมนตรี’ ร่วมเปิดงาน 45 ปี ปตท. ขอบคุณทุกภาคส่วน  สนับสนุนพันธกิจสร้างความมั่นคงทางพลังงานเพื่อคนไทย

เมื่อไม่นานมานี้ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) จัดงานขอบคุณคนไทยแบบคาร์บอนนิวทรัล อีเวนต์ (Carbon Neutral Event) ปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากงานเท่ากับศูนย์ โดยใช้คาร์บอนเครดิตจากการปลูกป่ามาชดเชยในการฉลองสู่ปีที่ 45 นับตั้งแต่ก่อตั้ง การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย เป็นรัฐวิสาหกิจเมื่อปี พ.ศ. 2521 เดินหน้าสู่การจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เป็น บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ในปี พ.ศ. 2544 จากการสนับสนุนของคนไทยทุกคน ผนวกกับความทุ่มเทของผู้บริหารและพนักงานจากรุ่นสู่รุ่น พิสูจน์ได้ถึงการมุ่งสร้างความมั่นคงทางพลังงาน พร้อมฝ่าทุกวิกฤตและร่วมดูแลสังคมไทยตลอดมา

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ให้เกียรติเป็นประธานเปิดงาน ‘PTT 45th Anniversary’ Ignite Life Potential งานเลี้ยงรับรองขอบคุณผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วน เนื่องในวาระครบรอบ 45 ปี บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) โดยมี ดร.ประเสริฐ สินสุขประเสริฐ ปลัดกระทรวงพลังงาน และประธานกรรมการ ปตท. นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท. พร้อมคณะผู้บริหารและพนักงาน ปตท. ร่วมต้อนรับแขกผู้มีเกียรติที่มีส่วนสนับสนุน ปตท. มาโดยตลอด ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ กรุงเทพฯ

นายเศรษฐา กล่าวว่า ปตท. เป็นบริษัทด้านพลังงานรายใหญ่ที่อยู่คู่สังคมไทยอย่างยาวนาน เป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนให้ประเทศก้าวพ้นวิกฤตการณ์ด้านพลังงานเสมอมา และมีส่วนร่วมผลักดันด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เกี่ยวข้อง เป็นการช่วยยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ควบคู่ไปกับการให้ความสำคัญผ่านโครงการดี ๆ เพื่อพัฒนาสังคมและพัฒนาคุณภาพชีวิตของพี่น้องชาวไทย วันนี้เป็นโอกาสอันดียิ่งที่ได้แสดงความยินดีกับ ปตท. ให้กิจการมีความก้าวหน้าและประสบความสำเร็จ เพื่อเป็นพลังของประเทศต่อไป

นายอรรถพล เปิดเผยว่า การก้าวสู่ปีที่ 45 ในปี พ.ศ. 2566 ของ ปตท. อาจเปรียบเทียบได้กับวัยกลางคนที่ผ่านร้อนผ่านหนาว ผ่านประสบการณ์ชีวิตมากพอที่จะเรียนรู้จากอดีตและมองถึงอนาคต มีความรับผิดชอบ และทำหน้าที่เป็นผู้สนับสนุนเคียงข้างกับคนทุกวัย ซึ่งกิจกรรมวาระพิเศษในวันนี้ จัดขึ้นเพื่อแสดงความขอบคุณผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเสมือนตัวแทนของประชาชนทุกภาคส่วน ที่สนับสนุนการเติบโตของ ปตท. มาตลอด ในฐานะบริษัทพลังงานของคนไทย ที่มีภารกิจในการสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศ พร้อมสร้างการเติบโตอย่างสมดุลและยั่งยืนแก่สังคม

“ตลอด 45 ปีของการเติบโตจนถึงวันนี้ ปตท. ขอให้ความเชื่อมั่นว่าจะไม่หยุดพัฒนา และยังคงมุ่งมั่นขยายธุรกิจพลังงานแห่งอนาคต และธุรกิจใหม่ที่ไกลกว่าพลังงาน พร้อมกับการแสวงหาโอกาสใหม่ ๆ เพื่อให้ ปตท. สามารถเติบโตในระยะยาวคู่กับประเทศไทยได้อย่างมั่นคง ตามวิสัยทัศน์ ‘Powering Life with Future Energy and Beyond ขับเคลื่อนทุกชีวิตด้วยพลังแห่งอนาคต’ พร้อมเป็นกำลังสำคัญ ยกระดับอุตสาหกรรมใหม่ และขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ตลอดจนยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีให้คนไทย เพื่อให้ ปตท. เป็นองค์กรแห่งความภาคภูมิใจของคนไทยตลอดไป” นายอรรถพล กล่าว

ภายในงานได้มีการจัดนิทรรศการผลงานของ ปตท. อาทิ การพัฒนาธุรกิจก๊าซธรรมชาติ การพัฒนาธุรกิจน้ำมันจนถึง PTT Life Station การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานของไทย การพัฒนา EV Ecosystem โครงการปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติฯ และการพัฒนาพื้นที่วังจันทร์วัลเลย์ นอกจากนี้ยังมีการถ่ายทอดความผูกพันระหว่าง ปตท. และคนไทย ในรูปแบบละครเวที และปิดท้ายด้วยบทเพลงพิเศษในวาระ 45 ปี ปตท. ‘เธอคือพลังของฉัน’ ขับร้องโดยศิลปินระดับประเทศอย่าง เบิร์ด-ธงไชย อิ้งค์-วรันธร ที่สื่อสารมาตลอดปี 2566 เพื่อแสดงความขอบคุณคนไทยในโอกาสนี้

อนึ่งการจัดงานในครั้งนี้ได้จัดขึ้นในรูปแบบการจัดงานแบบ Carbon Neutral Event หรืองานปลอดคาร์บอน ซึ่งได้รับการรับรองจากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) โดยใช้คาร์บอนเครดิต (Carbon Credit) จากกิจกรรมการปลูกป่าของ ปตท. มาชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากกิจกรรมในการจัดงาน ให้มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากงานเท่ากับศูนย์ จึงมั่นใจได้ว่าการจัดงานครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ตามเป้าหมายในแนวทางการดำเนินงาน PTT NET ZERO EMISSIONS ภายในปี ค.ศ. 2050

‘รมว.ปุ้ย’ สั่งทุกหน่วยงาน เร่งมาตรการลด PM 2.5 ‘สอน.-กรอ-กพร.’ รับลูก เดินหน้ามาตรการต่อเนื่อง

(18 ธ.ค. 66) น.ส.พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานในกระทรวงอุตสาหกรรม เร่งหามาตรการเพิ่มในการลดฝุ่นพิษ PM 2.5 ให้มีความเข้มข้นขึ้น มีดัชนีชี้วัดตรวจสอบชัดเจน เพื่อเป็นการแก้ปัญหาระยะยาวอย่างยั่งยืน จะมีทั้งมาตรการส่งเสริมทั้งด้านการเงิน เช่น อัตราดอกเบี้ยพิเศษ องค์ความรู้ มาตรฐานต่าง ๆ รวมทั้งการปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้มีความเข้มงวดขึ้น ซึ่งเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาล ส่วนมาตรการระยะสั้น ขณะนี้หน่วยงานต่าง ๆ ของกระทรวงอุตสาหกรรม ได้เดินหน้ามาตรการอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ในส่วนของสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ได้มีการดำเนินงาน อาทิ เดินหน้าสนับสนุนแก้ปัญหาการเผาอ้อย มีมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่ ให้ตัดอ้อยสด ล่าสุด ครม.ได้อนุมัติช่วยค่าตัดอ้อยสด 120 บาทต่อตัน ให้ชาวไร่อ้อย 1.4 แสนราย เริ่มจ่ายประมาณเดือนม.ค. 67 และต่อไปอยู่ระหว่างปรับปรุงมาตรการออกระเบียบรับซื้ออ้อยไฟไหม้ให้เข้มงวดมากขึ้น ขณะที่สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เช่น ออกมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับฝุ่น PM 2.5 เตรียมบังคับใช้มาตรฐานยูโร 5 วันที่ 1 ม.ค. 67 เพื่อควบคุมสารมลพิษจากรถยนต์ขนาดเล็กที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซล และรถยนต์ขนาดใหญ่ ได้แก่ รถกระบะ รถบัส และรถบรรทุก ทั้งที่ใช้เครื่องยนต์เบนซินและดีเซล, ออกมาตรฐานเครื่องฟอกอากาศ มอก.60335 เล่ม 2 (65)-2564 3. และมาตรฐานหน้ากากอนามัย รวมทั้งอยู่ระหว่างพิจารณามาตรฐานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องต่อไป

ส่วนกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ได้เข้มงวดกรณีตรวจพบโรงงานปล่อยเกินมาตรฐาน จะถูกออกคำสั่งหยุดปรับปรุงแก้ไข และส่งดำเนินการทางกฎหมายต่อไป รวมทั้งได้พัฒนาระบบเฝ้าระวังเตือนภัยมลพิษทางอากาศระยะไกล และได้ปรับปรุงมาตรฐานการระบายมลพิษทางอากาศจากโรงงานอุตสาหกรรมให้เทียบเท่ามาตรฐานสากล รวมทั้งตรวจด้านฝุ่นละอองโรงงานเข้มข้นที่มีกระบวนการเผาไหม้ โรงงานที่ใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิง โรงงานที่มีการใช้หม้อน้ำ โรงงานหลอมเหล็กหรือโลหะ โรงงานผลิตคอนกรีตผสมเสร็จ และโรงงานผลิตแอสฟัลติก ที่มีความเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดฝุ่นละอองขนาดเล็กในกรุงเทพฯ และปริมณฑล

“ได้ให้กรอ.นำรถตรวจวัดคุณภาพอากาศเคลื่อนที่ตรวจเฝ้าระวังคุณภาพอากาศในบรรยากาศ เลือกจุดที่มีอุตสาหกรรมหนาแน่น เช่น นิคมอุตสาหกรรม สวนอุตสาหกรรม เขตประกอบการให้มากขึ้น และต่อเนื่อง และที่ผ่านมาโรงงานอุตสาหกรรมต่าง ๆ ได้ติดตั้งอุปกรณ์ตรวจสอบคุณภาพอากาศจากปล่องแบบอัตโนมัติอย่างต่อเนื่อง ซึ่งข้อมูลจากการตรวจวัดนี้จะถูกส่งมาแสดงผลผ่านระบบเฝ้าระวังและเตือนภัยมลพิษระยะไกลบนเว็บไซต์ของ กรอ. และบนมือถือแอปพลิเคชัน เพื่อให้ประชาชนสามารถติดตามผลการควบคุมการระบายมลพิษอากาศของโรงงานได้ตลอดเวลา” น.ส.พิมพ์ภัทรา กล่าว

ขณะที่กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) ให้เข้มงวดตรวจสอบและเฝ้าระวังการประกอบการเหมืองแร่ โรงแต่ง แร่และโรงประกอบโลหกรรม ให้ปฏิบัติตามมาตรการต่างๆอย่างถูกต้องและปลอดภัยแล้ว ยังให้คำปรึกษา และแนะนำ เพื่อให้สถานประกอบการปฏิบัติตามมาตรการต่าง ๆ ได้มีประสิทธิภาพ ไม่ให้การประกอบการสร้างความเดือดร้อนด้านสิ่งแวดล้อมแก่ประชาชนในพื้นที่ รวมถึงให้หน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องร่วมแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 อีกด้วย

'พีระพันธุ์' เตรียมเสนอลดค่าไฟฟ้างวดใหม่ ครม.พรุ่งนี้  ยัน!! จะทำให้ดีที่สุด ตัวเลขต้องไม่เกิน 4.20 บาทต่อหน่วย 

(18 ธ.ค.66) นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี  เปิดเผย ว่าการประชุม ครม.วันพรุ่งนี้ (19 ธ.ค.) นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เตรียมเสนอปรับลดค่าไฟฟ้างวดใหม่ ม.ค. - เม.ย.67   

โดยตัวเลขค่าไฟจะไม่เกินที่ 4.20 บาทต่อหน่วย ขณะนี้กำลังทำตัวเลขอยู่ว่าจะได้เท่าไหร่ภายใต้เงื่อนไขปัจจุบัน ส่วนครัวเรือนที่เป็นกลุ่มเปราะบางที่เคยใช้ไฟไม่เกิน 300 หน่วย ก็จะมีช่วยเหลือ อยู่ที่ราคาเดิม คือ 3.99 บาท ซึ่งสามารถช่วยครัวเรือนได้ประมาณ 17 ล้านราย  

นางรัดเกล้า กล่าวว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ยืนยันอยากที่จะให้ค่าไฟฟ้า อยู่ที่ 4.10 บาท แต่จะต้องมีหลายส่วนที่ต้องดูให้สอดคล้องกัน และรัฐมนตรีพลังงานอยู่ระหว่างการพิจารณาว่าจะต้องดูทั้งระบบ ไม่ใช่แค่ปรับโครงสร้างเท่านั้น   

“ขอประชาชนไม่ต้องห่วง รัฐบาลและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานจะพยายามทำให้ดีที่สุด ทั้งเรื่องของพลังงานไฟฟ้า ราคาน้ำมัน โดยจะรื้อทั้งระบบที่เคยมีมากว่า 30 ปี ทั้งนี้เข้าใจความเดือดร้อนของประชาชนเป็นอย่างดี ซึ่งจะไม่สร้างภาระให้กับประชาชน และสิ่งใดที่สามารถทำได้จะทำทันที” นางรัดเกล้า กล่าว

'รมว.ปุ้ย' ขานรับ Soft Power สั่ง สมอ. ออกประกาศมาตรฐานท่องเที่ยว 6 ด้าน ดันผู้ประกอบการฯ ช่วยกันกระตุ้นคุณภาพการให้บริการแก่ นทท.

(18 ธ.ค.66) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว เป็นอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพในการสร้างรายได้เข้าประเทศ ถือเป็น Soft Power ด้านหนึ่งของประเทศไทย โดยตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเดือนกรกฎาคม 2566 ประเทศไทยมีรายได้จากการท่องเที่ยว สะสมรวมกว่า 1.045 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ 613,030 ล้านบาท และรายได้จากนักท่องเที่ยวชาวไทย 432,194 ล้านบาท ตนจึงเร่งรัดให้สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) จัดทำมาตรฐานที่ตอบโจทย์และรองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวตามนโยบายรัฐบาล และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ที่ตั้งเป้าหมายให้ประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางของการท่องเที่ยวระดับโลกที่เน้นคุณภาพ 

โดย สมอ. เตรียมประกาศมาตรฐาน Soft Power ด้านการท่องเที่ยว จำนวน 6 เรื่อง ที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวสถานที่ธรรมชาติ, วัฒนธรรม และประวัติศาสตร์ รวมทั้งการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ภายในเดือนธันวาคมนี้ หากผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวนำมาตรฐานดังกล่าวไปใช้เป็นแนวทาง จะทำให้นักท่องเที่ยวเกิดความเชื่อมั่นในคุณภาพการให้บริการ และนำไปสู่การกระจายรายได้ให้แก่ชุมชน และธุรกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

นายวันชัย พนมชัย รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม รักษาราชการแทน เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กล่าวเพิ่มเติมว่า สมอ. เตรียมประกาศมาตรฐาน Soft Power ด้านการท่องเที่ยว จำนวน 6 เรื่อง ภายในเดือนธันวาคมนี้ โดยอ้างอิงตามมาตรฐานสากล ซึ่งเป็นมาตรฐานระบบการจัดการต่างๆ ภายในหน่วยงาน และเป็นมาตรฐานภาคสมัครใจที่ผู้ประกอบการนำไปใช้ได้โดยไม่ได้มีกฎหมายบังคับ ได้แก่...

1) มาตรฐานการเยี่ยมชมสถานที่ทางธรรมชาติ วัฒนธรรม และประวัติศาสตร์ ซึ่งเป็นมาตรฐานสำหรับผู้ให้บริการสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติ วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ และการท่องเที่ยวเชิงอุตสาหกรรม โดยพนักงานและไกด์นำเที่ยวต้องมีความรู้เกี่ยวกับสถานที่ท่องเที่ยวนั้นๆ สามารถจัดเตรียมข้อมูลในการท่องเที่ยวได้อย่างถูกต้อง รวมถึงมีแผนรองรับเหตุฉุกเฉินเพื่อความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว 

2) มาตรฐานการดำเนินงานเกี่ยวกับชายหาด เป็นมาตรฐานสำหรับผู้ดูแล ผู้ประกอบการริมชายหาด และผู้ใช้บริการ โดยต้องมีการสร้างอาคาร และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ สำหรับนักท่องเที่ยว มีการเตรียมการด้านสุขภาพและความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว มีการดูแลความสะอาดของชายหาด รวมถึงมีแผนรองรับเหตุฉุกเฉินที่อาจเกิดขึ้น  

3) มาตรฐานโรงแรมย้อนยุค เป็นมาตรฐานสำหรับเจ้าของกิจการโรงแรม นำไปใช้เป็นแนวทางในการให้บริการนักท่องเที่ยวที่ชื่นชอบวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ ศิลปะ และสถาปัตยกรรมย้อนยุค โดยเน้นที่ความเข้ากันของอุปกรณ์ เฟอร์นิเจอร์ และรูปแบบการให้บริการของโรงแรมที่ตรงตามยุคสมัยนั้นๆ 

4) มาตรฐานร้านอาหารแบบดั้งเดิม เป็นมาตรฐานการให้บริการด้านอาหารในรูปแบบดั้งเดิม ได้แก่ รูปลักษณ์ภายนอก การผสมผสานทางวัฒนธรรม และการให้บริการที่สอดคล้องกับรูปแบบของร้าน เช่น การจัดสถานที่ อุปกรณ์ การจัดโต๊ะอาหาร การออกแบบรายการอาหาร เป็นต้น รวมทั้งต้องมีการรักษาความสะอาดของอาหาร อุปกรณ์ต่างๆ ให้มีความปลอดภัยด้วย 

5) มาตรฐานการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ เป็นมาตรฐานการให้บริการแก่นักท่องเที่ยวที่ต้องการรักษาทางการแพทย์ สำหรับผู้อำนวยความสะดวกและผู้ให้บริการสามารถใช้เป็นแนวทางในการให้บริการอย่างมีคุณภาพและเป็นไปตามความคาดหวังของนักท่องเที่ยว โดยผู้ให้บริการต้องมีความรู้พื้นฐานทางการแพทย์ และมีความรู้ด้านการเดินทางและดำเนินการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในแต่ละช่วงเวลาการรักษา เพื่อให้การบริการมีความปลอดภัยกับนักท่องเที่ยว 

6) มาตรฐานการบริการนักท่องเที่ยวเพื่อสาธารณะประโยชน์โดยหน่วยงานคุ้มครองพื้นที่คุ้มครองธรรมชาติ เป็นมาตรฐานสำหรับอุทยานหรือหน่วยงานที่ดูแลพื้นที่คุ้มครองทางธรรมชาติในการให้บริการแก่นักท่องเที่ยว โดยเน้นการอนุรักษ์พื้นที่คุ้มครองธรรมชาติ และสร้างความพึงพอใจแก่นักท่องเที่ยว เป็นแนวทางในการจัดเตรียมกิจกรรม ข้อมูลและสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ อย่างเหมาะสม และมีความปลอดภัยกับนักท่องเที่ยว โดยไม่ส่งผลกระทบต่อชุมชนรอบข้างและสิ่งแวดล้อม รวมถึงมีการจัดการขยะต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากการท่องเที่ยวอย่างถูกต้องด้วย ซึ่งมาตรฐานทั้ง 6 เรื่องนี้ จะประกาศใช้ภายในเดือนธันวาคมนี้ ผู้ประกอบการสามารถนำมาตรฐานดังกล่าวไปใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติงานได้ ซึ่งจะเกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทย และเป็นแรงผลักดันให้ประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางของการท่องเที่ยวระดับโลกได้ต่อไป

‘คมนาคม’ เล็งเจรจาผู้ประกอบการรถไฟฟ้าทุกสี ปรับเวลาให้บริการตั้งแต่ตี 4 รับดีมานด์เที่ยวปีใหม่

(18 ธ.ค.66) นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า กระทรวงฯ ได้สั่งการให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) และองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) บูรณาการร่วมกันในการเพิ่มจุดเชื่อมต่อในช่วงที่ประชาชนเดินทางกลับภูมิลำเนา อาทิ เพิ่มจุดส่งผู้โดยสารขาเขากรุงเทพฯ ที่สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ รวมไปถึงการขยายเวลาให้บริการรถไฟฟ้าจากเดิมเปิดบริการ 05.00 น. ปรับเป็นเปิดบริการ 04.00 น.ในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2567 หรือระหว่างวันที่ 29 ธ.ค.2566 ถึง 2 ม.ค. 2567

“เพื่อรองรับการเดินทางของประชาชนแบบไร้รอยต่อ ได้สั่งการให้กรมการขนส่งทางราง (ขร.) พูดคุยขอความร่วมมือกับภาคเอกชนผู้ให้บริการรถไฟฟ้าในทุกสีไม่ใช่เพียงแต่รถไฟฟ้าที่กำกับโดยภาครัฐเท่านั้น แต่จะได้รับความร่วมมือกี่สายทางต้องรอผลการเจรจาในเร็วๆ นี้ ต่อไป ส่วนการให้บริการรถไฟฟ้าในคืนส่งท้ายปี 2567 จะมีการเปิดให้บริการถึง 02.00 น. เหมือนทุกปี” นายสุรพงษ์ กล่าว

สำหรับปริมาณผู้โดยสารคาดว่าส่วนของ ร.ฟ.ท. จะมีประชาชนใช้บริการช่วงเทศกาลปีใหม่ ประมาณ 1 แสนคนต่อวัน ขณะที่ บขส. คาดว่าจะมีผู้ใช้บริการประมาณ 7 หมื่นคนต่อวัน โดยยืนยันว่าทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เตรียมรถเสริมไว้ให้บริการประชาชนที่มีความประสงค์เดินทางกลับภูมิลำเนาในช่วงเทศกาลปีใหม่เรียบร้อยแล้ว ดังนั้นยืนยันว่าจะไม่มีผู้โดยสารตกค้าง อีกทั้งประชาชนจะได้รับความสะดวกสบายในการเดินทางเชื่อมต่อระบบด้วยรถไฟฟ้าเพื่อรองรับการเดินทางกลับหลังปีใหม่ด้วย

ด้านนายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) กล่าวว่า จากนโยบายเตรียมความพร้อมรองรับการเดินทางปีใหม่ ร.ฟ.ท.ได้จัดแผนอำนวยความสะดวกและความปลอดภัย รองรับการเดินทางของประชาชน โดยมีเป้าหมายเพื่อไม่ให้มีผู้โดยสารตกค้าง ตลอดจนได้รับความสะดวกในการเดินทางเชื่อมต่อกับระบบขนส่งสาธารณะอื่นๆ ซึ่งในช่วงเทศกาลปีใหม่ครั้งนี้ การรถไฟฯ ได้จัดเตรียมความพร้อมโดยการเพิ่มตู้โดยสารจนเต็มหน่วยลากจูงในขบวนรถประจำจำนวน 214 ขบวนต่อวัน และเพิ่มขบวนรถเสริมพิเศษช่วยการโดยสารจำนวน 12 ขบวน สามารถรองรับการเดินทางของผู้โดยสารไม่ต่ำกว่า 1 แสนคนต่อวัน 

รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคม ระบุว่า ช่วงเทศกาลปีใหม่ 2567 ระหว่างวันที่ 29 ธ.ค. 2566 - 2 ม.ค. 2567 กระทรวงฯ ได้ประเมินการเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด คาดว่ามีปริมาณผู้โดยสารรวมประมาณ 9 ล้านคนเที่ยว หรือเพิ่มขึ้นกว่า 20% แบ่งเป็น รถไฟฟ้า การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด (รฟฟท.) และรถไฟฟ้าที่ให้บริการโดย บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) 8.4 ล้านคนเที่ยว เพิ่มขึ้นจากปีก่อนอยู่ที่ 6.7 ล้านคนเที่ยว ส่วนรถไฟระหว่างเมือง คาดผู้โดยสารใช้บริการอยู่ที่ประมาณ 6.18 แสนคนเที่ยว เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่มีจำนวน 5.67 แสนคนเที่ยว

MI ชี้!! ปี 67 ‘อินฟลูเอนเซอร์’ แบกอุตฯ โฆษณา เข้าถึง ‘กลุ่มย่อย-ทรงประสิทธิภาพ’ มากกว่าสื่ออื่น

(18 ธ.ค. 66) นายภวัต เรืองเดชวรชัย ประธานและกรรมการบริหาร บริษัท มีเดีย อินเทลลิเจนซ์ กรุ๊ป จำกัด หรือเอ็มไอ กรุ๊ป เผยผลการประเมินของทีม MI Learn Lab ของบริษัท โดยคาดว่าเม็ดเงินโฆษณาในปี 2567 จะมีมูลค่าประมาณ 87,960 ล้านบาท หรือเท่ากับการเติบโต 4% จากปี 2566 นี้ ซึ่งจากข้อมูลช่วง 11 เดือน เชื่อว่าสิ้นปี 2566 มูลค่าเม็ดเงินโฆษณาจะอยู่ที่ 84,500 ล้านบาท และเติบโต 4.4% จากปีก่อนหน้า โดยตัวเลขนี้น้อยกว่าการเติบโตในปี 2565 ที่เม็ดเงินเพิ่มขึ้น 6.3% 

นายภวัต กล่าวอีกว่า เม็ดเงินที่เติบโต 4% นี้ จะกระจุกอยู่ในกลุ่มสื่อออนไลน์ และสื่อนอกบ้าน ขณะที่สื่ออื่น ๆ ทั้งทีวี สิ่งพิมพ์ ยังหดตัวต่อเนื่องโดยเป็นผลจากฟังก์ชั่ันใหม่อย่าง Affiliate หรือการแบ่งรายได้จากการขายสินค้า-บริการให้กับ KOL (Key Opinion Leader) หรืออินฟลูเอนเซอร์ เมื่อผู้บริโภคซื้อผ่านลิงก์ในโพสต์หรือวิดีโอ ร่วมกับพฤติกรรมการรับสื่อของผู้บริโภคที่ย้ายไปออนไลน์อย่างต่อเนื่อง 

ทั้งนี้ บริษัทคาดว่าในปี 2567 สื่อทีวีจะมีเม็ดเงินโฆษณาลดจาก 36,199 ล้านบาทในปี 2566 เป็น 35,475 ล้านบาท ขณะที่เม็ดเงินในสื่อออนไลน์ จะเพิ่มจาก 28,999 ล้านบาทเป็น 31,899 ล้านบาท เช่นเดียวกับสื่อนอกบ้านที่จะได้เม็ดเงินเพิ่มจาก 12,101 ล้านบาทเป็น 13,311 ล้านบาท ความเปลี่ยนแปลงนี้ทำให้ส่วนแบ่งของสื่อออนไลน์กับทีวีขยับเข้าใกล้กันเป็น 36.3% และ 40.3% ตามลำดับ 

นายภวัต กล่าวต่อไปอีกด้วยว่า KOL (Key Opinion Leader) หรือ อินฟลูเอนเซอร์ จะเป็นตัวขับเคลื่อนการเติบโตของอุตฯ โฆษณาในปี 2567 และมีบทบาทในการทำการตลาดและสร้างยอดขายให้กับแบรนด์มากขึ้น โดยเฉพาะ KOL ระดับไมโครและนาโน ที่แม้มีฐานแฟนน้อยแต่เฉพาะกลุ่มนั้น เนื่องจากเป็นเครื่องมือการตลาดที่สามารถตอบโจทย์ท้าทายของตลาด ทั้งการโฟกัสกับการสร้างยอดขายของบรรดาธุรกิจเพื่อรับมือปัญหาสภาพเศรษฐกิจ และการเข้าถึงผู้บริโภคที่แตกเป็นกลุ่มย่อยลงไปเรื่อย ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าสื่ออื่น

เนื่องจาก KOL ทยอยหันไปสร้างรายได้ผ่าน Affiliate กันมากขึ้น ทำให้แบรนด์สามารถใช้งาน KOL โดยหวังผลได้แบบครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำ อย่างสร้างการรับรู้ ไปจนถึงปิดการขายและสร้างฐานแฟนคลับให้กับแบรนด์ซึ่งนำไปสู่การซื้อซ้ำ ซึ่งเป็นปลายน้ำในช่องทางเดียว ขณะเดียวกันความสามารถเข้าถึงผู้บริโภคแต่ละกลุ่มย่อย ได้ช่วยให้แบรนด์รับมือกับตลาดที่แยกย่อยเป็นหลายกลุ่มหลายเซ็กเมนต์ได้ง่ายขึ้น

อย่างไรก็ตาม รูปแบบการใช้-ทำงานกับ KOL จะเปลี่ยนแปลงไปหลายด้าน ทั้งการคัดเลือกและสร้างคอนเทนต์กับ KOL ให้ตรงกับโจทย์ของธุรกิจและฐานแฟนของ KOL ซึ่งต้องละเอียดมากขึ้น ทั้งนี้ คาดว่าค่าใช้จ่ายในการใช้ KOL จะเพิ่มขึ้นตามไป


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top