Saturday, 10 May 2025
Econbiz

'พิมพ์ภัทรา' จี้!! ผู้ประกอบการหลัก เร่งผลิต 'โปแตช' ห้ามล่าช้า หากเกษตรกรต้องแบกราคาปุ๋ยแพงนาน สั่งเปลี่ยนเจ้าทันที

'รมว.อุตสาหกรรม' จี้ผู้ประกอบการเร่งผลิต 'โปแตช' วัตถุดิบสำคัญในการผลิตปุ๋ยเข้าสู่ระบบ ย้ำถ้าผลิตไม่ได้ต้องหาผู้ประกอบการรายใหม่เข้าดำเนินการ

เมื่อวันที่ 7 พ.ย. 66 น.ส.พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ปัจจุบัน โปแตช คือ วัตถุดิบสำคัญในการผลิตปุ๋ย ซึ่งตลาดโลกมีความต้องการสูงมาก และในประเทศไทยก็มีแร่ชนิดนี้มากเป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากแคนาดา แต่ปัจจุบันมีการขาดแคลนโปแตช ที่เป็นวัตถุดิบต้นทางอย่างกว้างขวาง ทำให้ปุ๋ยที่ไปถึงมือเกษตรกรมีราคาสูงขึ้นอย่างมาก ขณะเดียวกันความต้องการใช้ปุ๋ยในอุตสาหกรรมการเกษตรมีความจำเป็นอย่างมาก 

รมว.อุตสาหกรรม กล่าวย้ำว่า การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 7 พ.ย.นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลังได้ติดตามสอบถามถึงผู้รับสัมปทานทั้ง 3 ราย ให้เร่งดำเนินการผลิตเพื่อนำวัตถุดิบเข้าระบบ แนวนโยบายและการสั่งการสำคัญขณะนี้คือ หากผู้รับสัมปทานทั้ง 3 รายที่ได้สัมปทานไปยังไม่ดำเนินการหรือดำเนินการไม่ได้ กระทรวงอุตสาหกรรม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องเร่งหาผู้ดำเนินการรายใหม่เข้าดำเนินการแทน เพื่อให้มีวัตถุดิบเข้าไปในระบบการผลิตปุ๋ยเพื่ออุตสาหกรรมการเกษตร และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องให้ได้อย่างรวดเร็ว ขณะนี้ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่เข้าติดตามแล้ว

"นายกฯ ได้มีการสอบถามการผลิตแร่โปแตชในประเทศไทย ซึ่งล่าสุดมีผู้ประกอบการเข้ารับสัมปทานจำนวน 3 ราย ในจังหวัดชัยภูมิ, อุดรธานี และนครราชสีมา โดยได้ให้นโยบายว่า จะต้องมีการเร่งรัดให้มีการผลิตแร่เข้าสู่ระบบ แต่จนถึงขณะนี้พบว่า ผู้ประกอบการทั้ง 3 ราย ยังไม่ได้ดำเนินการทำให้เกิดความล่าช้าในการแก้ไขปัญหา จึงได้มีการสั่งการให้เร่งรัดและหากปัญหาเกิดจากผู้ประกอบการไม่สามารถดำเนินการได้ จะต้องหาผู้ประกอบการรายใหม่" รมว.พิมพ์ภัทรา กล่าว

'บิ๊กทุนจีน' ทุ่ม!! 10,000 ล้านบาท ลงทุนในพื้นที่ EEC ลุย 'มอเตอร์ไซค์อีวี-แบตเตอรี่-ตู้เปลี่ยนแบตฯ-ลิซซิ่ง'

เมื่อวานนี้ (7 พ.ย.66) ดร.จุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรือ อีอีซี (EEC) พร้อมด้วยผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ สกพอ. ได้เข้าร่วมประชุมและหารือกับ บริษัท SMOGO Holding Co.,Ltd. ภายใต้ชื่อ ‘SMOGO’ ผู้ประกอบการธุรกิจผลิตรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า แบตเตอรี่ และอุปกรณ์การผลิตอัจฉริยะในยานพาหนะพลังงานไฟฟ้า ชั้นนำจากประเทศจีน

นำโดยนายหวัง หย่ง เจีย ประธานกรรมการ (Mr. Huang Yongjie) Chairman of SMOGO และคณะ เพื่อผลักดันให้เกิดการลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมายสำคัญในพื้นที่อีอีซี โดยเฉพาะในกลุ่มคลัสเตอร์ยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี)

การผลิตรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า หรือมอเตอร์ไซค์อีวี ปัจจุบันกำลังเป็นที่นิยม และเป็นที่ต้องการของตลาดยานยนต์เพิ่มขึ้นในทั่วโลกรวมทั้งในประเทศไทย สร้างโอกาสให้พื้นที่อีอีซีเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์อีวีในภูมิภาค สอดคล้องกับนโยบายหลักของรัฐบาล เพื่อให้เกิดการลงทุนพัฒนาอุตสาหกรรมสมัยใหม่ที่ยั่งยืน

ทั้งนี้ โครงการลงทุนนี้เริ่มต้นโดย บริษัท Suzhou Harmontronics Automation Technology Co., Ltd. ซึ่งจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เซี่ยงไฮ้ เป็นหนึ่งในบริษัทที่มีบทบาทสำคัญในอุตสาหกรรมอัตโนมัติและเทคโนโลยีดิจิทัลในประเทศจีนได้ตัดสินใจร่วมมือกับ บริษัท GI New Energy Co.,Ltd. ขยายการลงทุนมายังประเทศไทย ภายใต้ชื่อ ‘SMOGO’ 

โดยเบื้องต้นจะเลือกฐานการผลิตและลงทุนที่นิคมอุตสาหกรรมโรจนะหนองใหญ่ ซึ่งเป็นพื้นที่เขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมายของอีอีซี โดยจะขยายการลงทุนครอบคลุมธุรกิจการผลิตและประกอบ มอเตอร์ไซค์อีวี การผลิตแบตเตอรี่ การผลิตและติดตั้งตู้เปลี่ยนแบตเตอรี่สำหรับมอเตอร์ไซค์อีวี (Swap Battery) และการให้บริการทางการเงิน (Leasing) ควบคู่ไปด้วย

โดยจะเริ่มทำการตลาดในพื้นที่ 3 จังหวัดอีอีซี (ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา) เป็นโครงการนำร่อง (Pilot Project) ในช่วงแรก และจะขยายการจัดจำหน่ายไปยังประเทศอื่นๆ โดยคาดว่าทาง SMOGO จะมีกำลังผลิตมอเตอร์ไซค์อีวี ได้ประมาณ 150,000 คันต่อปี และคาดว่าจะเกิดการลงทุนโครงการ ฯ เกี่ยวเนื่องทั้งหมด ในกรอบวงเงินรวมสูงถึง 10,000 ล้านบาท ภายในระยะเวลา 5 ปี (ช่วงปี 2566 – 2571)

พร้อมกันนี้ ทางอีอีซี และ SMOGO ได้ร่วมกันหารือถึงแนวทางเพื่อสนับสนุนการลงทุน อาทิ ด้านการขอรับสิทธิประโยชน์ในพื้นที่เขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ ด้านการอำนวยความสะดวกขอรับบริการลงทุน การขอใบอนุมัติ อนุญาตต่างๆ และการประสานความร่วมมือการพัฒนาทักษะบุคลากร

โดยเฉพาะในด้านการฝึกอบรม และการศึกษาถึงนวัตกรรมด้านการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า ที่ผู้ประกอบการจากจีนมีความเชี่ยวชาญ เพื่อเป็นการเตรียมสร้างบุคลากรให้ตรงกับความต้องการต่อยอดการลงทุนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในอนาคต

'พิมพ์ภัทรา' เดินหน้า!! เร่งก่อตั้ง 'กรมอุตสาหกรรมฮาลาล' หลังนายกฯ ไฟเขียว เพื่อยกระดับฮาลาลไทยสู่สากล

(8 พ.ย.66) น.ส.พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลังได้เชิญตนเข้าร่วมหารือ โดยมีประเด็นข้อหารือสำคัญคือ การเร่งยกระดับอุตสาหกรรม 'ฮาลาล' ที่จะเป็นโอกาสสำคัญของประเทศไทย โดยนายกรัฐมนตรีได้ให้แนวคิดเพื่อความรวดเร็วและเห็นผลการปฏิบัติว่า จะต้องมีหน่วยงานหลักระดับ 'กรม' ซึ่งจะต้องเป็นอีกกรมหนึ่งของกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อทำงานรองรับอุตสาหกรรมนี้โดยเฉพาะจากความละเอียดอ่อนในแง่มุมต่างๆ และการควบคุมมาตรฐานให้เป็นไปตามหลักการฮาลาลสากล

น.ส.พิมพ์ภัทรา กล่าวว่า รัฐบาลได้ให้ความสำคัญอย่างมากกับอุตสาหกรรมอาหารฮาลาล มองเห็นโอกาสการขยายตัวของอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลในระดับโลก เพราะมีผู้บริโภคที่กว้างขวางมากในประเทศกลุ่มมุสลิมหลายภูมิภาคของโลก ทั้งตะวันออกกลาง, แอฟริกา หรือแม้แต่ในภูมิภาคเอเชียเอง

"มีความจำเป็นที่จะต้องยกระดับความสำคัญของกลุ่มงานอุตสาหกรรมฮาลาลให้เป็นรูปธรรม และมีกระบวนการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ มีความรับผิดชอบอย่างชัดเจนในรูปของกรม ตามแนวบัญชาการของนายกรัฐมนตรี ขณะนี้มีการสั่งการไปแล้ว และมีการพูดคุยกับทางคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (กพ.) ให้เร่งดูขั้นตอนของกฎหมายเพื่อยกระดับหน่วยงานนี้ขึ้นมาให้เป็นหน่วยงานระดับกรมที่สังกัดอยู่ในกระทรวงอุตสาหกรรม" รมว.อุตสาหกรรมกล่าว

‘EA’ จัดโชว์นวัตกรรมฝีมือคนไทย ในงาน 4th iTIC FORUM 2023 ชู ‘รถโดยสารไฟฟ้า-เรือไฟฟ้า’ หนุนการขนส่งสาธารณะแบบไร้มลพิษ

เมื่อไม่นานมานี้ บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA ผู้นำพลังงานสะอาด หนุนมูลนิธิศูนย์ข้อมูลจราจรอัจฉริยะไทย (iTIC) ร่วมจัดแสดงผลงานและให้การต้อนรับ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ในงาน ‘4th iTIC FORUM 2023: Power of Connectivity and Smart Mobility’ พร้อมเปิดประสบการณ์ใหม่การเดินทางสาธารณะด้วยไทยสมายล์บัส และ ไทยสมายล์โบ้ท ที่ช่วยขับเคลื่อนและสร้างการเปลี่ยนแปลงด้านคมนาคม ด้วยฝีมือคนไทย บริการด้วยใจ ห่วงใยสิ่งแวดล้อม 

นายสมโภชน์ อาหุนัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) และนายนินนาท ไชยธีรภิญโญ ประธานมูลนิธิศูนย์ข้อมูลจราจรอัจฉริยะไทย ร่วมให้การต้อนรับ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ในโอกาสเยี่ยมชมการจัดแสดงผลงานของนวัตกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ระบบชาร์จ แบบ ‘EV Smart Building ภายใต้แนวคิด EA’s Electric Public Transportation: Solutions for Smart Cities’ ในงาน ‘4th iTIC FORUM 2023: Power of Connectivity and Smart Mobility’ ซึ่งงานดังกล่าวได้จัดขึ้นเพื่อเผยแพร่ความรู้ด้านการเชื่อมต่อการเดินทางและขนส่งอัจฉริยะ (Connectivity and Smart Mobility) ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ตลอดจนยกระดับการพัฒนาระบบขนส่งและจราจรอัจฉริยะในประเทศไทย พร้อมระดมพลังความร่วมมือและขับเคลื่อนข้อมูลในการแก้ปัญหาการจราจรและลดอุบัติเหตุได้อย่างตรงจุด

นอกจากนี้ นายสมโภชน์ อาหุนัย ยังได้ร่วมบรรยายพิเศษ ภายใต้แนวคิด ศักยภาพของเอกชนไทยในการขับเคลื่อนสมาร์ทโลจิสติกส์ รถ-เรือ-ราง ‘The Potential of Thai Private Sector in Driving Smart Logistics’ ที่จะมีส่วนในการส่งเสริมระบบขนส่งของไทยให้มีความทันสมัย สะดวกสบาย ด้วยยานยนต์ไฟฟ้ายกระดับขนส่งไทยไร้มลภาวะ 

นอกจากนี้ EA ร่วมกับ ไทย สมายล์ กรุ๊ป ต้อนรับคณะจากมูลนิธิศูนย์ข้อมูลจราจรอัจฉริยะไทย (iTIC) เปิดประสบการณ์ (Technical Tour) การเดินทางด้วยรอยยิ้มใส่ใจสิ่งแวดล้อม ไปกับบริการขนส่งสาธารณะ รถโดยสารไฟฟ้า MINE Bus และ เรือโดยสารไฟฟ้า MINE Smart Ferry โดยปัจจุบัน รถโดยสารไฟฟ้า MINE Bus ให้บริการแล้วกว่า 2,200 คัน ในพื้นที่ 123 เส้นทาง ทั้งในกรุงเทพฯ และปริมณฑล และเรือโดยสารไฟฟ้า MINE Smart Ferry ที่ให้บริการผู้โดยสารตั้งแต่ ท่าเรือสาทร - ท่าเรือสะพานพระนั่งเกล้า มีเรือไฟฟ้าให้บริการทั้งหมด 35 ลำ สร้างมิติใหม่แห่งการขนส่งด้วยนวัตกรรมยานยนต์ไฟฟ้าโดยฝีมือคนไทย โดยล่องแม่น้ำเจ้าพระยาเพื่อชมวิววัดวาอารามและฟังบรรยายที่มาของรถ-เรือโดยสารไฟฟ้า ยกระดับการขนส่งมวลชนด้วยยานยนต์ไฟฟ้าไร้มลพิษครบวงจร ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และลดปัญหาฝุ่น PM2.5 ของประเทศ

‘รัฐบาล’ เผย!! ‘นทท.ต่างชาติ’ เพิ่มขึ้นทุกภูมิภาคในหนึ่งสัปดาห์ สร้างรายได้กว่า 9 แสนลบ. สะท้อนผลสำเร็จจากนโยบายรัฐฯ

(8 พ.ย.66) นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงสถานการณ์การท่องเที่ยวของประเทศไทย พบว่านักท่องเที่ยวชาวยุโรปขยายตัวเพิ่มขึ้น คิดเป็นร้อยละ 28.75 หรือ 32,053 คน และนักท่องเที่ยวชาวรัสเซียขยับเพิ่มขึ้นมาเป็นอันดับที่ 3 ของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เดินทางมายังประเทศไทย ซึ่งเป็นตัวเลขในช่วงเวลาเพียง 1 สัปดาห์ ระหว่างวันที่ 30 ตุลาคม - 5 พฤศจิกายน 2566 

นายชัย กล่าวว่า จากการคาดการณ์ของกองเศรษฐกิจการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ว่า จำนวนนักท่องเที่ยวในช่วงสัปดาห์ (30 ตุลาคม - 5 พฤศจิกายน 2566) จะมีจำนวนเพิ่มขึ้น ซึ่งผลปรากฏว่า สถิติจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามายังประเทศไทยสอดคล้องกับการประเมินดังกล่าว โดยมีจำนวนเพิ่มขึ้นถึง 557,554 คน (ข้อมูล ณ วันที่ 6 พฤศจิกายน 66) เพิ่มจากสัปดาห์ก่อนหน้าร้อยละ 10.26 หรือเพิ่มขึ้น 51,882 คน สร้างรายได้จากการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติสะสมทั้งสิ้นกว่า 954,239 ล้านบาท โดยนักท่องเที่ยวจากมาเลเซีย เป็นนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้าไทยมากที่สุด รองลงมา ได้แก่ จีน รัสเซีย อินเดีย และเกาหลีใต้ ตามลำดับ

นายชัย กล่าวว่า โดยเป็นผลมาจากการเพิ่มจำนวนเที่ยวบินที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เมื่อเข้าสู่ช่วงฤดูกาลท่องเที่ยวในช่วงฤดูหนาวของเที่ยวบินจากยุโรป และภูมิภาคเอเชียตะวันออก การมีวันหยุดต่อเนื่องในเทศกาลดิวาลีของอินเดีย รวมทั้งสะท้อนผลสำเร็จจากมาตรการต่าง ๆ ของภาครัฐที่อำนวยความสะดวกให้แก่นักท่องเที่ยว ทั้งการยกเลิกบัตร ตม.6 ด่านสะเดา เป็นการชั่วคราว การยกเว้นการตรวจลงตราหนังสือเดินทาง หรือ วีซ่าฟรีให้แก่นักท่องเที่ยวชาวจีน คาซัคสถาน อินเดีย และไต้หวัน รวมถึงการขยายวันพำนักให้กับนักท่องเที่ยวชาวรัสเซียอีกด้วย

นายชัย กล่าวว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้ความสำคัญในการกำหนดนโยบายสนับสนุนอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในประเทศ ถือเป็นนโยบายเร่งด่วน พลิกฟื้น และขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยการท่องเที่ยว ซึ่งเชื่อมั่นว่าจะสร้างรายได้มหาศาลให้กับประเทศ พร้อมชื่นชมความร่วมมือของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ร่วมกันสนับสนุนการทำงานซึ่งกันและกันอย่างบูรณาการทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาในไทยมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง สะท้อนผลสำเร็จจากมาตรการเชิงรุกต่าง ๆ ของรัฐบาล

‘เอสซีจี’ ขยายผลความร่วมมือเพื่อความยั่งยืนในอาเซียน จัด ESG Symposium 2023 ที่อินโดนีเซียเป็นครั้งแรก

(8 พ.ย. 66) เอสซีจีจัดงาน ESG Symposium 2023 ที่ประเทศอินโดนีเซียเป็นครั้งแรก เป็นการต่อยอดความร่วมมือด้านความยั่งยืนสู่ภูมิภาค จากเวที ESG Symposium ในประเทศไทย โดยงาน ESG Symposium 2023 Indonesia จัดภายใต้แนวคิด ‘ความร่วมมือเพื่ออินโดนีเซียที่ยั่งยืน’ (Collaboration for Sustainable Indonesia)

เพื่อส่งเสริมความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เร่งการบรรลุเป้าหมายการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกให้เป็นศูนย์ ลดความเหลื่อมล้ำ ตามกลยุทธ์ ESG 4 Plus และมุ่งสู่การบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2060 ตามเป้าหมาย Nationally Determined Contributions (NDC) ของอินโดนีเซีย

ทั้งนี้งานดังกล่าวได้รับความร่วมมือจากภาครัฐ ภาคเอกชน ประชาสังคม และคนรุ่นใหม่กว่า 500 คน รวมพลังนำอินโดนีเซียสู่ความยั่งยืน ผ่านการแสดงวิสัยทัศน์ นโยบาย และนวัตกรรมเทคโนโลยี อาทิ โครงการด้านพลังงานสะอาด เชื้อเพลิงทดแทนจากขยะมูลฝอย โซลูชันพลาสติกที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม บรรจุภัณฑ์ที่ย่อยสลายได้ นวัตกรรมระบบบำบัดน้ำเสีย และแพลตฟอร์มดิจิทัลสำหรับการจัดการป่าไม้และการวัดปริมาณคาร์บอนเครดิต เป็นต้น

นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี กล่าวว่า ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต้องเผชิญกับความเสี่ยงจากวิกฤตการณ์โลก เนื่องจากมีประชากรจำนวนมากและมีกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่พัฒนาอย่างรวดเร็ว ปัจจุบันอินโดนีเซียกำลังเผชิญกับปัญหาระดับชาติ เช่น มลพิษทางอากาศ ระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น การจัดการขยะ และความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ

“ท่ามกลางความท้าทายเหล่านี้ รวมถึงภาคอุตสาหกรรมที่พัฒนาอย่างรวดเร็ว การดำเนินธุรกิจเพื่อความยั่งยืนจึงเป็นภารกิจที่จำเป็นต้องทำไม่ใช่ทางเลือก อินโดนีเซียมีเป้าหมาย NDC การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2060 องค์กรธุรกิจจึงมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว”

‘ภูมิธรรม-นลินี’ เยือนนครเซี่ยงไฮ้ เดินหน้าหนุนเจาะการค้าจีนระดับท้องถิ่น จ่อคว้าโอกาสประชุม JC ‘ไทย-จีน’ ขยายตลาดใหม่-ส่งออกสินค้าไทยเพิ่ม

(8 พ.ย. 66) นางนลินี ทวีสิน ผู้แทนการค้าไทย กล่าวถึงการเดินทางไปเยือนนครเซี่ยงไฮ้ สาธารณรัฐประชาชนจีน ร่วมกับนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และผู้บริหารกระทรวงพาณิชย์ ระหว่างวันที่ 4 - 6 พ.ย. 66 ว่า การได้พบกับนายหวัง เหวินเต้า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ของจีน เป็นโอกาสอันดีที่ได้กระชับความสัมพันธ์ทางด้านการค้าของทั้งสองประเทศ โดยในปีนี้จีนได้จัดงาน ‘China International Import Expo’ (CIIE) ครั้งที่ 6 ขึ้น ตามนโยบายการเปิดกว้างทางเศรษฐกิจของจีนที่ให้ประเทศต่าง ๆ มีส่วนร่วม ซึ่งประเทศไทยได้เข้าร่วมงานใน 2 ส่วน คือ การจัดนิทรรศการ ‘Country Exhibition Thailand Pavilion’ ประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์ประเทศไทย และการจัดแสดงสินค้า ‘Enterprise and Business Exhibition’ เน้นนำเสนอผลิตภัณฑ์อาหารและการเกษตรของไทย ซึ่งมีผู้เข้าชมเป็นจำนวนมาก

ผู้แทนการค้าไทย กล่าวว่า ปัจจุบันสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายลง และทั้งสองฝ่ายจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่เสร็จสิ้นแล้วจึงเป็นโอกาสอันดี ที่จะมีการประชุมคณะกรรมการร่วมว่าด้วยการค้าการลงทุนและความร่วมมือทางเศรษฐกิจ (JC) ไทย - จีน ครั้งที่ 7 ในระยะอันใกล้นี้ เพื่อสานต่อเป้าหมายทางการค้าและจัดทำแผนปฏิบัติการร่วมฉบับใหม่ การเปิดตลาดสินค้าเกษตร การอำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้าระหว่างไทยและจีน เพื่อส่งเสริมการขยายมูลค่าการค้ากันระหว่างกัน

“ที่ผ่านมาไทยและจีนมีความร่วมมือทางการค้าลงไปถึงในระดับมณฑล/ท้องถิ่น โดยกระทรวงพาณิชย์ของไทยได้จัดทำบันทึกความเข้าใจกับเมืองหรือมณฑลของจีนแล้ว 4 ฉบับ คือ ไห่หนาน กานซู่ เซินเจิ้น และยูนนาน โดยในอนาคตจะทำบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือทางการค้ากับเมืองหรือมณฑลอื่นเพิ่มเติม เช่น เซี่ยเหมิน ซานซี เฮร์หลงเจียง และเหอเป่ย

ทั้งนี้ จีนเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ที่มีมูลค่าการค้าระหว่างกันกับไทยสูงที่สุดติดต่อกันถึง 11 ปี ตั้งแต่ปี 2556 โดยปีที่แล้วมีมูลค่าการค้ารวม 105,196.80 ล้านเหรียญสหรัฐฯ สินค้าส่งออกหลักของไทยไปจีน ได้แก่ ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็ง และแห้ง ผลิตภัณฑ์ยาง เม็ดพลาสติก มันสำปะหลัง เครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ส่วนประกอบ เป็นต้น” นางนลินี กล่าว

'รมว.พลังงาน' ตั้งคณะทำงานตรวจสอบการจำหน่ายน้ำมัน คาด 2-3 วัน ปริมาณการใช้น้ำมันจะเข้าสู่สภาวะปกติ

จากกรณีที่มีการเผยแพร่สถานีบริการน้ำมันหลายแห่งไม่มีน้ำมันให้บริการ โดยเฉพาะน้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91 รวมถึงน้ำมันประเภทอื่นที่ลดราคาตามมาตรการรัฐบาลและกระทรวงพลังงานที่ลดราคาน้ำมันกลุ่มเบนซินเพื่อช่วยลดภาระประชาชนจากค่าใช้จ่ายด้านพลังงานนั้น

(8 พ.ย. 66) นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า จากกรณีที่มีการเผยแพร่ข่าวว่าสถานีบริการน้ำมันบางแห่งมีน้ำมันไม่เพียงพอต่อความต้องการ ซึ่งจากการตรวจสอบข้อมูลย้อนหลังพบว่า...

ปริมาณการใช้น้ำมันช่วงก่อนหน้าที่จะมีการลดราคาน้ำมัน โดยเฉพาะในช่วงระหว่างวันที่ 4 - 6 พฤศจิกายน 2566 ตัวเลขเบื้องต้น มีการใช้น้ำมันลดลงกว่า 60% ซึ่งปกติน้ำมันแก๊สโซฮอล์ 95 จะมีการใช้ประมาณวันละ 17 ล้านลิตร ก็เหลือเพียงประมาณวันละ 7 ล้านลิตร ส่วนน้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91 ลดลงจากวันละ 6 ล้านลิตร เหลือวันละประมาณ 2 ล้านลิตร รวมทั้ง E20 และ E85 ก็มีปริมาณลดลงเช่นกัน อาจจะเป็นเพราะประชาชนได้รับทราบข่าวสารล่วงหน้าในนโยบายการลดราคาน้ำมันเบนซินของกระทรวงพลังงาน จึงชะลอการใช้บริการ

นอกจากนั้น ก็มีการเปลี่ยนการเติมชนิดน้ำมันจากน้ำมันแก๊สโซฮอล์ 95 มาเป็น 91 ทำให้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91 มีไม่เพียงพอต่อความต้องการของประชาชน

ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้ ทางกรมธุรกิจพลังงาน ก็ได้มีการสั่งการให้ผู้ค้าน้ำมันให้เตรียมปริมาณน้ำมันสำรองในสถานีบริการให้เพียงพอ แต่เนื่องจากประชาชนได้ชะลอการเติมในช่วงก่อนที่จะมีการลดราคาน้ำมัน ทำให้วันที่ 7 พฤศจิกายน 2566 ซึ่งเป็นวันแรกที่มีการลดราคาน้ำมัน ทำให้ปริมาณการใช้เพิ่มสูงขึ้นมากจนหลายสถานีบริการมีปริมาณน้ำมันไม่เพียงพอต่อการจำหน่าย 

อย่างไรก็ดี ทางกรมธุรกิจพลังงานได้สั่งการให้ผู้ค้าน้ำมันเร่งแก้ไขปัญหาโดยเร็วเพื่อลดผลกระทบกับประชาชน คาดว่าภายใน 2 - 3 วันนี้ การใช้บริการจะกลับสู่ภาวะปกติ

“หลังจากที่ได้รับเรื่องร้องเรียน ผมได้สั่งการให้กรมธุรกิจพลังงานเร่งประสานผู้ค้าน้ำมันทุกราย เพื่อไม่ให้ประชาชนได้รับผลกระทบการใช้น้ำมัน ทั้งนี้ จากการตรวจสอบก็พบว่า ปริมาณการเติมน้ำมันในช่วงวันที่ 4 - 6 พฤศจิกายน ลดลงเป็นอย่างมาก คาดว่าน่าจะเกิดจากประชาชนได้ชะลอการเติมน้ำมันเพื่อที่จะมาเติมน้ำมันในวันที่ 7 พฤศจิกายน 2566 ซึ่งจะเป็นการลดราคาน้ำมันเป็นวันแรก จึงคาดว่าภายใน 2 – 3 วันนี้ ปริมาณน้ำมันในสถานีบริการจะเข้าสู่ภาวะปกติ และขอย้ำว่าการปรับลดราคาครั้งนี้ เป็นการลดภาระค่าใช้จ่ายประชาชน สถานีบริการไม่ได้รับการชดเชยจากภาครัฐ ดังนั้น สถานีบริการที่ซื้อน้ำมันในราคาสูงก่อนหน้าวันปรับลดราคาจะขาดทุนในสต๊อก จึงไม่มีแรงจูงใจที่จะกักตุนน้ำมัน แต่จากราคาที่ลดลงส่งผลให้ประชาชนชะลอการเติมน้ำมันก่อนหน้านี้เพื่อรอเติมน้ำมันราคาต่ำในวันที่เริ่มปรับลดราคาพร้อม ๆ กัน ทำให้สถานีบริการน้ำมันหมด ซึ่งจะเกิดในช่วงระยะเวลาสั้น ๆ” นายพีระพันธ์ุ กล่าว

นอกจากนี้ นายพีระพันธุ์ ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงได้ลงนามคำสั่งกระทรวงพลังงานที่ 47/2566 แต่งตั้งคณะทำงานตรวจสอบการจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อทำหน้าที่รับเรื่องร้องเรียน ติดตามและ ตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีการไม่จำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงของสถานีน้ำมันเชื้อเพลิงทั่วประเทศขึ้นทันที

“เพื่อดูแลไม่ให้ประชาชนเกิดความเดือดร้อนและได้รับบริการจากสถานีน้ำมันตามปกติ ผมจะให้คณะทำงานชุดนี้รับเรื่องมาและตรวจสอบเพื่อแก้ปัญหาให้กับพี่น้องประชาชน โดยประชุมกันแล้วในบ่ายวันนี้ เพื่อกำหนดแนวทางการตรวจสอบสถานีบริการทั่วประเทศ และจะจัดตั้งศูนย์รับเรื่องร้องเรียนกรณีเป็นการเฉพาะที่กระทรวงพลังงาน โดยประชาชนสามารถแจ้งเรื่องร้องเรียนได้ที่ โทร. 02 140 7000 และหากพบว่าสถานีบริการหรือผู้ประกอบการใดตั้งใจงดให้บริการประชาชนจะพิจารณาดำเนินการตามกฎหมายทันที” นายพีระพันธุ์กล่าวทิ้งท้าย

‘สุริยะ’ สั่ง!! ‘ทอท.’ เร่งลดความแออัดภายในสนามบิน พร้อมรับนักท่องเที่ยว ‘อินเดีย-ไต้หวัน’ 10 พ.ย.นี้

(8 พ.ย.66) นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า สำหรับการเตรียมความพร้อมรองรับผู้โดยสารชาวอินเดียและไต้หวันตามนโยบายฟรีวีซ่าของรัฐบาลนั้น ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติในหลักการฟรีวีซ่าให้กับนักท่องเที่ยวชาวอินเดียและไต้หวันให้อยู่ในราชอาณาจักรไทยได้ไม่เกิน 30 วัน ตั้งแต่วันที่ 10 พฤศจิกายน 2566 - 10 พฤษภาคม 2567 ระยะเวลา 6 เดือน ซึ่งเป็นช่วงฤดูการท่องเที่ยวของชาวอินเดียและไต้หวัน เพื่ออำนวยความสะดวก และสร้างแรงจูงใจให้กับนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาเที่ยวประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น รวมถึงกระตุ้นภาคการท่องเที่ยวและขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศในช่วงปี 2566-2567

“ตนได้มอบหมายให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องบูรณาการความร่วมมือในการเตรียมการรองรับนักท่องเที่ยวให้ดีที่สุด ตั้งแต่เดินทางเข้าสู่ประเทศตลอดจนถึงการเดินทางกลับออกจากประเทศไทย เบื้องต้นได้สั่งการให้บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. เตรียมความพร้อมในด้านต่าง ๆ รวมถึงหาแนวทางการดำเนินการ เพื่ออำนวยความสะดวกรองรับการเดินทางของผู้โดยสาร ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ดอนเมือง และอื่น ๆ พร้อมทั้งให้ประสานงานกับตำรวจตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) เพื่อให้กระบวนการทุกขั้นตอนมีความสะดวกรวดเร็ว ไม่ให้ผู้โดยสารเกิดความแออัด หรือใช้เวลานานหลังจากลงจากเครื่องบิน”

นายสุริยะ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ได้จัดตั้งศูนย์บัญชาการร่วม (Single Command Center) เพื่อเป็นศูนย์ประสานงานร่วมของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการในทุกขั้นตอนในท่าอากาศยาน ทำหน้าที่ตรวจสอบติดตามการให้บริการ และกวดขันการบริหารการจราจรบริเวณหน้าท่าไม่ให้เกิดความแออัดหนาแน่น และเก็บบันทึกข้อมูลการให้บริการ ภาพถ่ายกล้องวงจรปิด เพื่อนำมาวิเคราะห์ประกอบการให้บริการให้ดียิ่งขึ้น

ขณะเดียวกันยังได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เตรียมการในด้านต่าง ๆ เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้รับความสะดวกสบายตลอดการเดินทางในประเทศไทย ประกอบด้วย การเตรียมความพร้อมท่าอากาศยานในภูมิภาค การเตรียมความพร้อมการเดินทางภายในกรุงเทพมหานคร (กทม.) การเตรียมความพร้อมการเดินทางไปต่างจังหวัดทางรถไฟและรถโดยสาร การเตรียมความพร้อมการเดินทางในต่างจังหวัด

ส่วนการเตรียมความพร้อมสำหรับความปลอดภัยในการท่องเที่ยวทางน้ำอีกทั้งให้ทุกหน่วยงานถือปฏิบัติตามหลักการเดียวกัน คือ การให้บริการที่มีประสิทธิภาพ สะดวกรวดเร็ว ปลอดภัย สะอาดสวยงาม พนักงานให้บริการด้วยมนุษยสัมพันธ์ที่ดี และมีอัตราค่าบริการที่เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด

นอกจากนี้กระทรวงคมนาคมได้เดินหน้าบริหารจัดการทุกขั้นตอนการบริการที่เป็นประตูสู่ประเทศไทย พร้อมรองรับปริมาณเที่ยวบินและผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้น เพื่อให้ประเทศไทยเป็นประตูและเป็นศูนย์กลางการเดินทางของภูมิภาค กระตุ้นการหมุนเวียนเม็ดเงินในระบบเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน การท่องเที่ยว และความมั่นคงของประเทศ

สำหรับจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางมายังประเทศไทยนั้น จากข้อมูลกองเศรษฐกิจการท่องเที่ยวและกีฬาข้อมูล กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ณ วันที่ 6 พฤศจิกายน 2566 พบว่า ตั้งแต่วันที่ 30 ตุลาคม - 5 พฤศจิกายน 2566 มีนักท่องเที่ยวต่างชาติ จำนวนทั้งสิ้น 557,554 คน คิดเป็นจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทยเฉลี่ยวันละ 79,651 คน

โดยนักท่องเที่ยวจากมาเลเซีย เป็นนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้าไทยมากที่สุด จำนวน 73,297 คน รองลงมา ได้แก่ จีน จำนวน 67,443 คน, รัสเซีย จำนวน 39,136 คน, อินเดีย จำนวน 30,547 คน และเกาหลีใต้ จำนวน 30,255 คน ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวสะสมตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2566 ที่ผ่านมา รวมทั้งสิ้น 22,622,522 คน สร้างรายได้จากการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติแล้ว 954,239 ล้านบาท

‘ดร.วิรไท’ แนะ 4 แกนหลัก พลิกฟื้นเศรษฐกิจไทยอย่างยั่งยืน ชี้!! ปรับปรุงโครงสร้าง-แก้กม.ให้สอดรับโลกยุคใหม่คือคำตอบ

เมื่อวันที่ 7 พ.ย. 66 ภาพรวมเศรษฐกิจไทย มีพัฒนาการที่ดีและสามารถขยายตัวได้ต่อเนื่อง แต่อัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้นช้าลง สะท้อนได้จากตัวเลขอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจ (จีดีพี) ในช่วง 20 ปีย้อนหลัง พบว่าช่วงปี 2543-2552 จีดีพีขยายตัวเฉลี่ยที่ 4.3% ขณะที่ช่วงปี 2553-2562 จีดีพีขยายตัวชะลอลงมาเฉลี่ยที่ 3.6%

วิกฤตโควิด-19 กระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลกเช่นเดียวกับเศรษฐกิจไทย ในปี 2563 จีดีพีหดตัว 6.1% อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยกลับมาฟื้นตัวได้ต่อ จีดีพีขยายตัวที่ 1.5% และ 2.6% ในปี 2564 และ 2565 ตามลำดับ สำหรับปี 2566 คาดการณ์จีดีพี โดยสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) คาดขยายตัว 2.8% ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คาดขยายตัว 2.8% ด้านกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดขยายตัว 2.7% ขณะที่ธนาคารโลก คาดขยายตัว 3.4% จะเห็นได้ว่าจีดีพีไทยเติบโตช้าลง ซึ่งเหตุผลไม่ใช่เพียงภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวเท่านั้น แต่ไทยยังเผชิญปัญหาโครงสร้างเศรษฐกิจ ดังนั้น จึงต้องแก้ปัญหาให้ถูกจุด

โดย ดร.วิรไท สันติประภพ อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ให้ความเห็นว่า การจะผลักดันให้เศรษฐกิจไทยให้เติบโตได้ในระดับที่ดีต่อเนื่องและโตได้อย่างยั่งยืน เพื่อให้คนไทยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เท่าทันกับบริบทของโลกที่เปลี่ยนแปลงไปและเท่าทันกับความท้าทายใหม่

แก้ปัญหาโครงสร้างเศรษฐกิจซึ่งทำผ่าน 4 แกนหลัก เรื่องสำคัญที่สุด คือ
1.) การเพิ่มผลิตภาพ (Productivity) ทั้งเรื่องคุณภาพการศึกษาเพื่อให้คนไทยเก่งขึ้น สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้มากขึ้นเพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุ ทั้งนี้ต้องเพิ่มผลิตภาพในภาคเกษตร พัฒนาพันธุ์พืชใหม่และเพิ่มผลผลิตต่อไป ด้านภาคบริการ สามารถเพิ่มผลิตภาพโดยการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ ภาคบริการในอนาคตต้องตั้งอยู่บนฐานเทคโนโลยี และควรเพิ่มผลิตภาพในด้านบริการภาครัฐ ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนให้แก่ประชาชนและภาคธุรกิจได้

2.) การกระจายผลประโยชน์อย่างทั่วถึง (Inclusivity) ซึ่งจะสะท้อนถึงการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ของไทย ที่ผ่านมาภาครัฐพยายามแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านทรัพย์สิน ความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ เช่น การเก็บภาษีทรัพย์สินรูปแบบใหม่ ๆ การทำระบบสวัสดิการที่จะดูแลประชาชนที่อยู่ระดับฐานล่างของสังคม และปัจจุบันต้องแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านโอกาส ทั้งโอกาสการในการเข้าถึงการศึกษาที่ดีและโอกาสในการเข้าถึงเทคโนโลยี ซึ่งจะจำเป็นมากสำหรับการพัฒนาเศรษฐกิจในอนาคต

3.) การสร้างภูมิคุ้มกัน (Immunity) เศรษฐกิจไทยสามารถรับแรงปะทะและความผันผวนได้ค่อนข้างดี เช่น วิกฤตโควิด เราสามารถทำมาตรการต่าง ๆ ออกมารองรับได้ เพราะภาคการคลัง หนี้สาธารณะของไทยไม่ได้สูงมากนักเมื่อเทียบกับประเทศที่อยู่ในระดับการพัฒนาใกล้เคียง แต่ยังมีความท้าทายจากการที่เราเป็นสังคมสูงอายุ รายจ่ายด้านสวัสดิการจะทำให้ภาครัฐมีภาระการคลังมากขึ้นในอนาคต ส่วนภาคการเงิน เสถียรภาพด้านต่างประเทศค่อนข้างดี ทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่ในระดับสูง ด้านหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง น่าเป็นห่วงต้องเร่งแก้เพื่อให้คนสามารถออกจากกับดักหนี้ได้อย่างยั่งยืน ดังนั้น เราควรสร้างและรักษาภูมิคุ้มกันในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับประเทศลงไปถึงระดับครัวเรือน

เพราะความท้าทายที่จะเกิดขึ้นในอนาคตยังมีอีกมาก ถ้าเราทำนโยบายอะไรก็ตามที่ทำลายภูมิคุ้มกันของตัวเอง เราจะไม่สามารถรับแรงปะทะที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตได้และจะถูกกระแทกแรงมาก

4.) ความสามารถในการปรับตัวรองรับการเปลี่ยนแปลง (Adaptability) เพราะโลกในอนาคตจะเปลี่ยนแปลงเร็ว ซึ่งจะเป็นทั้งโอกาสและความท้าทาย ทั้งพัฒนาการของเทคโนโลยีที่เข้ามามีบทบาทมากขึ้น รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศ ซึ่งประเทศไทยเป็นประเทศที่อาจจะได้รับผลกระทบรุนแรง เพราะว่าประชาชนจำนวนมากอยู่ในภาคเกษตรและพึ่งดินฟ้าอากาศ การเปลี่ยนแปลงและความแปรปรวนจะส่งผลต่อระบบชลประทาน การขาดแคลนน้ำสะอาด มีปัญหาน้ำกร่อย น้ำเค็ม เป็นต้น ต้องปรับตัวรองรับให้ทัน เพราะเรื่องนี้กระทบกับวิถีชีวิตของพวกเราทุกคนและกระทบกับวิธีการทำธุรกิจของทุกธุรกิจ

ดร.วิรไท กล่าวว่า การจะทำเรื่องทั้ง 4 แกนหลัก แก้ปัญหาโครงสร้างเศรษฐกิจ ต้องใช้เวลาและใช้ทรัพยากรจำนวนมาก เป็นเรื่องที่ไม่มี Quick Win ไม่ใช่เรื่องที่จะหวังผลในระยะสั้น ๆ ได้ ดังนั้น เรื่องที่ต้องให้ความสำคัญ คือ ต้องปฏิรูปโครงสร้างภาครัฐที่มีลักษณะเป็นไซโล ให้สามารถทำงานสอดประสานกันได้ รวมถึงเร่งปรับปรุงและแก้กฎหมาย (Regulatory Guillotine) โดยเฉพาะกฎหมายที่ไม่เอื้อกับโลกอนาคต การแก้ปัญหาโครงสร้างเศรษฐกิจต้องทำให้ตรงกับกลุ่มเป้าหมาย เพราะแต่ละกลุ่มก็จะมีปัญหา อุปสรรค ข้อจำกัดที่แตกต่างกันออกไป และต้องมีการจัดระบบแรงจูงใจให้ถูกต้อง และระมัดระวังการทำนโยบายแบบเหวี่ยงแห ที่มักจะทำให้เกิดแรงจูงใจที่ผิด ตัวอย่าง คือ นโยบายจำนำข้าว ที่ทำให้เกิดแรงจูงใจว่าคนต้องมาเร่งผลิตข้าวให้เร็วที่สุด เน้นเรื่องปริมาณแทนการเน้นผลิตภาพ เป็นการทำลายพันธุ์ข้าวดี ส่งผลต่อการยกระดับผลิตภาพในระยะยาวได้

“เศรษฐกิจไทยปัจจุบันเปรียบเหมือน ภูเขาน้ำแข็ง หรือ ‘Iceberg’ เราจะมองเห็นและให้ความสำคัญเฉพาะภูเขาน้ำแข็งที่ลอยอยู่เหนือน้ำหรือในด้านของ อัตราการเติบโตเศรษฐกิจ แต่สิ่งที่สำคัญมากกว่าคือสิ่งที่อยู่ใต้น้ำ สิ่งที่มองไม่เห็นซึ่งอาจจะทำให้เกิดภัยพิบัติขึ้นได้ นั่นก็คือเรื่องของโครงสร้างเศรษฐกิจ มองว่าเศรษฐกิจไทยไม่ได้อยู่ในสภาวะวิกฤต แต่อาจจะอยู่ในสภาวะที่เทคออฟได้ช้ากว่าเศรษฐกิจอื่น เชื่อว่าเศรษฐกิจไทยจะสามารถก้าวต่อไปได้อย่างเข้มแข็งหากเราสามารถตั้งเข็มทิศได้ถูกต้อง ผมจึงให้น้ำหนักเรื่องระยะยาวเพราะความจำเป็นในการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นของเราไม่รุนแรง

เหมือนกับความจำเป็นในการที่ต้องเร่งปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทย ให้เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เพื่อสร้างบุญใหม่ให้กับเศรษฐกิจ ถ้าเรายังคงอยู่กับโครงสร้างแบบเดิม ทำแบบเดิม ไม่สามารถที่จะปรับตัวได้อย่างรวดเร็ว ก็หนีไม่พ้นที่จะกินบุญเก่า ซึ่งบุญเก่าก็จะหมดลงเรื่อย ๆ” ดร.วิรไท กล่าว

เศรษฐกิจไทยยังมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก หากเราสามารถเพิ่มผลิตภาพโดยใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีที่ปัจจุบันพัฒนาไปไกลมากและสามารถเข้าถึงได้ง่ายขึ้น และใช้เทคโนโลยีสนับสนุนให้การทำธุรกิจสะดวกมากขึ้น ต้นทุนถูกลง สามารถแข่งขันได้ เอื้อกับการทำธุรกิจที่มีผลิตภาพสูง เชื่อว่าจะมีผู้ประกอบการธุรกิจอีกจำนวนมากที่จะเข้ามาลงทุนต่อยอดกับสิ่งที่เรามี เช่น ภาคเกษตร ภาคการท่องเที่ยว บริการทางการแพทย์ เศรษฐกิจที่อิงกับความคิดสร้างสรรค์ที่เป็น ซอฟต์พาวเวอร์ไทย ตลอดจนธุรกิจใหม่ ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับความยั่งยืนซึ่งเป็นเทรนด์ของโลก

นอกจากการให้ความสำคัญเรื่องโครงสร้างเศรษฐกิจแล้ว โจทย์ใหญ่อีกเรื่องที่ต้องเร่งแก้ปัญหาคือ เรื่องคอร์รัปชัน เพราะคอร์รัปชันเป็นตัวทำลายผลิตภาพ ทำลายการแข่งขันที่เป็นธรรม

การแข่งขันจะไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าใครเก่งกว่าใคร แต่การแข่งขันจะขึ้นอยู่กับว่าใครรู้จักใคร ใครยินดีที่จะจ่ายใต้โต๊ะมากกว่า ใครมีช่องทางในการเข้าถึงอำนาจรัฐและใช้อำนาจรัฐได้มากกว่า

ทั้งนี้ คอร์รัปชันทำให้ต้นทุนของทุกคนสูงขึ้น ต้นทุนการใช้ชีวิต ต้นทุนการทำธุรกิจ และยังเป็นปัจจัยทำลายความไว้วางใจ เวลาที่เราพูดถึงเศรษฐกิจไทย สังคมไทย ที่จะต้องปรับโครงสร้างให้เท่าทันกับโลกใหม่ ๆ ในอนาคต แปลว่า เราจะต้องมีความไว้วางใจกันในการที่จะเริ่มทำเรื่องใหม่ ๆ แต่หากเราอยู่ในสังคมที่มีคอร์รัปชันเป็นบรรทัดฐาน การเริ่มทำเรื่องใหม่จะทำได้ช้ามาก เพราะเกิดการตั้งข้อสังเกตว่าใครหวังอะไร ใครกำลังจะได้อะไร ใครจ่ายใต้โต๊ะ นโยบายที่กำลังจะทำเอื้อต่อใคร ซึ่งการจะเริ่มทำเรื่องใหม่ในประเทศไทยทำได้ช้า ขณะที่ประเทศอื่นสามารถที่จะก้าวไปได้เร็วกว่าเรา

ดังนั้น หากสถานการณ์คอร์รัปชันของเรายังไม่ดีขึ้น จะเป็นความเสี่ยงฉุดเศรษฐกิจไทยเข้าสู่หลุมดำได้


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top