Saturday, 10 May 2025
Econbiz

‘อรรถวิชช์’ จับมือภาคปชช.-นักการเงิน ร่างกม. ‘ปฏิรูปเครดิตบูโร’ ปลดล็อกลูกหนี้ ไม่ต้องติดในระบบแบล็กลิสต์นานกว่า 3 ปี

(5 พ.ย.66) ดร.อรรถวิชช์ สุวรรณภักดี อดีต สส.กทม. เปิดเผยว่า หลังจากลาออกจากรองหัวหน้าชาติพัฒนากล้า ลงมาลุยภาคประชาชนเต็มตัว ได้รับความกรุณาจากพี่ๆ หลากหลายวงการ ทั้งผู้เชี่ยวชาญ กลุ่มที่ใกล้ชิดกับผู้เดือดร้อน มาร่วมกันร่างกฎหมายปฏิรูปเครดิตบูโรสำเร็จแล้วครับ

นายอรรถวิชช์ กล่าวว่า ร่างฉบับนี้จะเป็นการ ‘ยุติการแช่แข็งลูกหนี้’ ลดความเดือดร้อนประชาชน ไม่ต้องติดในระบบแบล็กลิสต์กว่า 3 ปี เราสร้างกติกาใหม่ในการแจ้งข้อมูลเครดิต และการทำลายข้อมูลเก่าที่เกินความจำเป็น ให้เป็นธรรมกับประชาชน ได้มีโอกาสฟื้นตัวและได้รับสินเชื่อที่เป็นธรรม ไม่ต้องโดนดอกเบี้ยสูงของหนี้นอกระบบ  

“สัปดาห์หน้าผมจะไปยื่นต่อท่านประธานสภาฯ เพื่อตรวจร่างกฎหมายและเตรียมขอรายชื่อจากพี่น้องประชาชน 10,000 รายชื่อ ผมขอขอบคุณพี่ๆ ที่ร่วมช่วยร่างตั้งแต่ คุณกรณ์ จาติกวณิช อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง, คุณอิฐบูรณ์ อ้นวงษา รองเลขาธิการองค์กรของผู้บริโภค, คุณ นิวัฒน์ กาญจนภูมินทร์ อดีตผู้จัดการใหญ่ บริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ, พี่ๆ จากสถาบันการเงินต่างๆ ที่ร่วมให้ความเห็นและเสนอร่างกฎหมายร่วมกัน” นายอรรถวิชช์ กล่าว

นายอรรถวิชช์ กล่าวด้วยว่า งานนี้เราขอให้ประชาชนเป็นหลังพิงให้เราทำกฎหมายให้สำเร็จนะครับ โดยจะมีเว็บไซต์ให้ร่วมกันลงชื่อเร็วๆ นี้ และผมเชื่อว่าท่าน สส.-สว.จะให้การสนับสนุนร่างของพวกเราต่อไป

‘โฆษกรัฐบาล’ แจงปมขึ้นเงินเดือน ‘ขรก.-จนท.’ อยู่ระหว่างศึกษา อาจจะทำหรือไม่ทำก็ได้ ต้องพิจารณาอย่างเหมาะสม

(5 พ.ย.66) นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์กรณีที่มี
รายงานข่าวว่าสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) ส่งหนังสือถึงกระทรวงและหน่วยงานราชการให้ศึกษาเรื่องการปรับอัตราค่าแรงขั้นต่ำ และการปรับอัตราเงินเดือนสำหรับกลุ่มข้าราชการพลเรือนและเจ้าหน้าที่ของรัฐ โดยให้พิจารณาถึงความเหมาะสมถึงแนวทางความเป็นไปได้ และกรอบระยะเวลา ผลกระทบของการปรับอัตราเงินดือนฯ กับหน่วยงานเกี่ยวข้องให้ชัดเจน และรายงานผลให้ครม.ทราบภายในเดือน พ.ย.นี้ ว่า เรื่องดังกล่าวไม่ใช่มติคณะรัฐมนตรีแต่เป็นเพียงข้อสั่งการของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง ในที่ประชุม
ครม.โดยมอบหมายให้นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรี กำกับดูแลสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน ไปศึกษาแนวทางว่าจะสามารถทำได้หรือไม่ ทำได้แค่ไหน โดยให้พิจารณาอย่างรอบด้านและให้รายงานกลับมาให้ทราบเท่านั้น 

เวลานี้ยังอยู่ในระหว่างการศึกษา ยังไม่รู้ว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไร และเมื่อผลออกมาแล้วนำเสนอให้นายกฯ ก็ยังไม่รู้ว่าแนวทางที่ศึกษาจะทำได้แค่ไหนอย่างไร และอาจจะทำหรือไม่ทำตามก็ได้ ขอย้ำว่าเรื่องนี้ยังเป็นเพียงการศึกษาแนวทางความเป็นไปได้เท่านั้น 

'นายกฯ' ยัน!! สั่งศึกษาขึ้นเงินเดือน ‘ข้าราชการ-จนท.รัฐ’ เหตุไม่ได้ปรับขึ้นมานานแล้ว ขีดเส้นสิ้นเดือนนี้ได้ข้อสรุป

(6 พ.ย. 66) ที่สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และคลัง กล่าวถึงการพิจารณาปรับอัตราค่าแรงขั้นต่ำและอัตราเงินเดือนข้าราชการพลเรือนและเจ้าหน้าที่ของรัฐว่า เรื่องดังกล่าวมีเอกสารสั่งการใช้ศึกษาเรื่องความเป็นไปได้ ในการที่จะดูในเรื่องของเงินเดือน ซึ่งกระทรวงแรงงานกำลังพิจารณาค่าแรงขั้นต่ำอยู่ ถ้าจะยกระดับก็ต้องดูทั้งหมดในทุกภาคส่วน ได้มอบให้คณะทำงานศึกษาและมารายงานภายในสิ้นเดือนนี้ว่า มีความเป็นไปได้อย่างไร

เมื่อถามว่า นอกจากการศึกษาความเป็นไปได้ในการขึ้นค่าแรง หลังศึกษาแล้วจะมีกรอบหรือไม่ ว่าจะปรับขึ้นภายในปีงบประมาณใด นายเศรษฐา กล่าวว่า ต้องมาดูอีกครั้งถึงจะบอกได้ว่าต้องมีการศึกษาเกิดขึ้น ซึ่งสืบเนื่องตามที่เคยพูดไปแล้วว่าเงินเดือนของข้าราชการและค่าแรงขั้นต่ำไม่ได้ขึ้นมานานแล้ว และปัจจุบันค่าครองชีพสูงขึ้นมาก เราก็เป็นห่วงพี่น้องประชาชนทุกภาคส่วน ทั้งในส่วนของค่าแรงขั้นต่ำและเงินเดือนข้าราชการด้วย

เมื่อถามว่า จะสอดรับในเรื่องค่าแรงขั้นต่ำที่เป็นนโยบายของรัฐบาลด้วยหรือไม่ นายเศรษฐา กล่าวว่า หลักการถือว่าสอดคล้อง แต่จำนวนเงินเปอร์เซ็นต์ที่ขึ้นก็ต้องว่ากันไปแต่ละภาคส่วน

เมื่อถามว่า ในส่วนของแรงงานจะขยับขึ้นได้เมื่อไร เพราะนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.แรงงาน ออกมาระบุว่า อาจจะไม่ได้ขึ้นเป็น 400 บาทในทุกพื้นที่ นายเศรษฐา กล่าวว่า เดี๋ยวต้องฟังรมว.แรงงาน อีกครั้ง ถึงได้บอกว่าต้องมีการศึกษาอีกครั้งทั้งหมด

'รมว.พิมพ์ภัทรา' กำชับ 'สมอ.' เชิญ 8 สถาบันเครือข่าย เร่งกำหนดมาตรฐานให้ได้ตามเป้าหมาย ทันยุคอุตฯ ใหม่

(6 พ.ย. 66) นายวันชัย พนมชัย รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม รักษาราชการแทนเลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เปิดเผยว่า ตนได้รับมอบหมายจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล ให้เชิญ 8 สถาบันเครือข่าย ได้แก่...

- สถาบันอาหาร 
- สถาบันพลาสติก 
- สถาบันการก่อสร้างแห่งประเทศไทย  
- สถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย  
- สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ 
- สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์  
- สถาบันยานยนต์ 
- และ สถาบันรับรองมาตรฐานไอเอสโอ 

ซึ่งทั้งหมดเป็นหน่วยงานเครือข่ายที่มีภารกิจสนับสนุนการดำเนินงานด้านการมาตรฐานของ สมอ. ทั้งการจัดทำมาตรฐาน และการตรวจสอบคุณภาพของสินค้า โดย สมอ. ให้การยอมรับว่าหน่วยงานเหล่านี้สามารถกำหนดมาตรฐานได้ หรือที่เรียกว่า SDOs (Standards Developing Organizations) มาประชุมหารือเพื่อพิจารณาแนวทางการกำหนดมาตรฐานในปี 2567

ทั้งนี้ สมอ.ได้มอบหมายนโยบายให้ SDOs ทั้ง 8 หน่วยงานเร่งรัดจัดทำมาตรฐานในปีนี้ให้ได้ไม่ต่ำกว่า 100 เรื่อง เสริมเติมจากที่ สมอ. ได้วางแผนกำหนดมาตรฐานไว้แล้ว 600 เรื่อง เพื่อให้เป็นไปตามแผนแม่บทการกำหนดมาตรฐานระยะ 5 ปี ของ สมอ. (พ.ศ.2566-2570) ที่มีอยู่จำนวน 1,777 เรื่อง เพื่อรองรับนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และตรงกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรม เช่น มาตรฐาน EV, อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ, เครื่องมือแพทย์, อุตสาหกรรมชีวภาพ, AI,  ฮาลาล และ Soft power

ปัจจุบัน สมอ. มี SDOs จำนวน 43 หน่วยงาน ที่มีศักยภาพสามารถกำหนดมาตรฐานเพื่อให้ตรงกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรม ครอบคลุม 81 สาขา เช่น สาขาเครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ และเทคโนโลยีสารสนเทศ, สีและวาร์นิช, วัสดุอุปกรณ์และเครื่องมือแพทย์, นาโนเทคโนโลยี, ปิโตรเลียม,  ยางและผลิตภัณฑ์ยาง, ระบบการจัดการความเสี่ยง  อาชีวอนามัยและความปลอดภัย, ระบบการจัดการความปลอดภัยของอาหาร, การยศาสตร์, ความรับผิดชอบต่อสังคม, ดิจิทัล, ผลิตภัณฑ์นวัตกรรม, หนังและผลิตภัณฑ์หนัง, ก๊าซธรรมชาติ, แบตเตอรี่, การสื่อสารโทรคมนาคม, ยานพาหนะไฟฟ้า เป็นต้น

“เบื้องต้น สถาบันยานยนต์ จะเร่งจัดทำมาตรฐานด้านความปลอดภัยของยานยนต์สมัยใหม่ รวมทั้งรถไฟฟ้า และชิ้นส่วนยานยนต์อื่นๆ สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ จะเร่งทำมาตรฐานด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ (Cyber Security) เพื่อป้องกันการโจมตีทางไซเบอร์ที่พยายามขโมยข้อมูลสำคัญต่างๆ ของบุคคลหรือองค์กร เช่น บัญชีเงินฝาก ข้อมูลประจำตัว ข้อมูลด้านสุขภาพ หรือข้อมูลสำคัญขององค์กร เป็นต้น สถาบันสิ่งทอ จะจัดทำมาตรฐานด้านความปลอดภัยของสิ่งทอและด้านการป้องกันไฟ เช่น ผ้าม่าน, พรม, ถุงมือกันบาด และถุงมือกันสารเคมี เป็นต้น ทั้งนี้ สมอ. จะรวบรวมรายชื่อมาตรฐานที่ SDOs จะดำเนินการจัดทำทั้งหมด เสนอบอร์ด สมอ. ให้ความเห็นชอบต่อไป” นายวันชัยฯ กล่าว

‘สมาคมครูฯ’ เห็นด้วย!! ‘ปรับขึ้นเงินเดือน ขรก.’ หลังไม่ขยับเป็น 10 ปี เชื่อ!! ช่วยสร้างขวัญกำลังใจในการทำงาน - กระตุ้นเศรษฐกิจในอนาคต

(6 พ.ย. 66) นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง สั่งให้กระทรวงแรงงาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ศึกษาความเป็นไปได้ในการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ และเงินเดือนกลุ่มข้าราชการพลเรือนและเจ้าหน้าที่ของรัฐ เพราะยังไม่ได้ปรับขึ้นเป็นเวลานานนั้น

ต่อกรณีดังกล่าวนายวีรบูล เสมาทอง ประธานสมาพันธ์สมาคมครูแห่งประเทศไทย (ส.ค.ท.) ระบุว่า เห็นด้วยที่จะมีการปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการ เพราะไม่ได้ปรับขึ้นมานานเป็น 10 ปีแล้ว 

ทั้งนี้ ซึ่งการปรับขึ้นเงินเดือนของข้าราชการนั้น จะทำให้ข้าราชการพึงพอใจ นอกจากนี้ จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ เป็นกำลังใจให้ข้าราชการทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

และช่วยแก้ไขปัญหาปากท้องหลายอย่าง เช่น การผ่อนชำระหนี้สินต่างๆ เป็นต้น

ส่วนควรจะปรับขึ้นเงินเดือนเท่าไหร่นั้น ไม่ขอก้าวล่วง แต่ขอให้พิจารณาอย่างรอบคอบ เหมาะสม และให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน เพราะถ้าปรับขึ้นมากไป ประชาชนทั่วไปอาจจะเดือดร้อนได้ เนื่องจากค่าใช้จ่าย สินค้าอุปโภค บริโภคก็จะขึ้นตามไปด้วย

‘ททท.’ ชี้ เที่ยวไทยทางราง ตอบโจทย์ความยั่งยืน ชูจุดเด่น ‘ปล่อยคาร์บอนฯ น้อย-กระจายรายได้สู่ชุมชน’

(6 พ.ย. 66) นายอภิชัย ฉัตรเฉลิมกิจ รองผู้ว่าการด้านสินค้าและธุรกิจท่องเที่ยว การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยว่า ททท. เล็งเห็นประโยชน์ของการต่อยอดการท่องเที่ยวโดยรถไฟซึ่งมีมนต์เสน่ห์เฉพาะตัวที่สามารถเติมเต็มประสบการณ์แก่นักท่องเที่ยว

ททท. จึงจัดโครงการ The story of Railway Journey ‘เที่ยวแบบสับ (จับเรื่อง) ราง’ ขึ้น เพื่อกระตุ้นการเดินทางท่องเที่ยวผ่านทางรถไฟ โดยเฉพาะในกลุ่มวัยทำงานและกลุ่มคนเจน Z

โดยการเดินทางผ่านทางรถไฟจะสามารถกระจายรายได้สู่ท้องถิ่น ผ่านรวมทั้งส่งเสริมรูปแบบการท่องเที่ยวอย่างมีความรับผิดชอบ (Responsible Tourism) ผ่านการเชื่อมโยงกับระบบคมนาคมขนส่งหลักของประเทศ เช่น รถไฟ รถโดยสารสาธารณะ ไปยังชุมชนในพื้นที่ ทำให้เกิดการกระจายรายได้สู่ฐานรากอย่างทั่วถึงต่อไป

อย่างไรก็ดี เมื่อสอบถามว่าการจัดโครงการดังกล่าวจะสามารถเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวทางรถไฟมากน้อยเพียงใด นายอภิชัย ให้ข้อมูลว่า โครงการดังกล่าวยังอยู่ในระยะเริ่มต้น และยังต้องมีการกำหนดเครื่องมือชี้วัดในลำดับต่อไป

นางสาววัลย์ณัฐ บุญประเสริฐ เลขาธิการสมาคมไทยท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และผจญภัย (TEATA) กล่าวว่า การท่องเที่ยวผ่านทางรถไฟเป็นการท่องเที่ยวที่ตอบโจทย์แนวคิดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน จากการที่เดินทางผ่านขบวนรถไฟอาจมีการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์น้อยกว่าการเดินทางรูปแบบอื่น

ขณะที่นายพล เวชการ รองผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการเดินรถ ด้านปฏิบัติการ กล่าวว่า การท่องเที่ยวผ่านทางรถไฟสามารถตอบโจทย์ที่หลากหลาย ด้วยเส้นทางของรถไฟที่ผ่านหลายพื้นที่ของประเทศ ประกอบกับในอนาคตระบบคมนาคมทางรางของไทยจะพัฒนามากขึ้น จากการก่อสร้างรถไฟทางคู่ จะทำให้ผู้โดยสารได้รับความสะดวกมากขึ้น

รายงานจากททท. ระบุว่า ภายใต้โครงการดังกล่าว ททท. ได้ผนึกกับพันธมิตร เปิดพื้นที่ให้เหล่านักท่องเที่ยวมืออาชีพร่วมสร้างสรรค์ และนำเสนอเส้นทางท่องเที่ยวชุมชนโดยรถไฟแบบไม่จำกัดไอเดีย ภายใต้ โครงการ The story of Railway Journey ‘เที่ยวแบบสับ (จับเรื่อง) ราง’ ออกแบบสร้างสรรค์สื่อนำเสนอเส้นทางท่องเที่ยวชุมชนโดยรถไฟ และเพื่อชิงเงินรางวัลรวมกว่า 100,000 แสนบาท พร้อมโล่ประกาศเกียรติคุณจาก ททท. โดยผลการแข่งขัน มีดังนี้

-รางวัลชนะเลิศ : ทีม Touch And Go
-รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 1 : ทีม Freeland
-รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 2 : ทีมเปรี้ยวกับป้า
-รางวัลชมเชย จำนวน 2 รางวัล ได้แก่ ทีม The Couple  และทีมสับราง team

‘รมว.พิมพ์ภัทรา’ หนุนรถแดงเชียงใหม่ใช้ EV สร้าง ‘ภาพจำที่ดี-อัตลักษณ์’ รถประจำถิ่น

รัฐมนตรีอุตสาหกรรม หนุน!! รถแดงเชียงใหม่ ใช้ EV คู่คงอัตลักษณ์รถสาธารณะประจำถิ่น มุ่งลดมลพิษและควันดำ สร้างภาพจำที่ดีให้นักท่องเที่ยว ชี้เป็นนโยบายนำร่องที่ต้องเร่งทำ เหตุจำนวนนักท่องเที่ยวจะเพิ่มสูงขึ้น

(6 พ.ย. 66) นายดนัยณัฏฐ์ โชคอำนวย ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า น.ส.พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม สนับสนุนให้รถแดงคู่เมืองเชียงใหม่เป็นรถที่ใช้พลังงานไฟฟ้าหรือรถยนต์อีวี (EV) เช่นเดียวกับรถยนต์ขนส่งสาธารณะประจำเมืองต่างๆ ซึ่งควรปรับเปลี่ยนกลไกจากรถยนต์ที่ใช้น้ำมันเป็นรถไฟฟ้า

ทั้งนี้ แต่ยังคงไว้ซึ่งอัตลักษณ์ของรถยนต์สาธารณะประจำท้องถิ่นไว้ และสร้างภาพจำที่ดีให้กับนักท่องเที่ยว โดยการผลักดันระบบขนส่งสาธารณะเป็นยานยนต์ไฟฟ้าเป็นนโยบายนำร่องที่ต้องเร่งทำ เพราะจำนวนนักท่องเที่ยวจะเพิ่มสูงขึ้น การใช้รถยนต์สาธารณะจะมีมากขึ้น

เพราะถ้าหากยังเป็นรถยนต์สันดาป ปัญหามลพิษจากควันท่อไอเสียก็จะเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย ดังนั้นการเปลี่ยนรถยนต์สาธารณะเป็นยานยนต์ไฟฟ้าจะลดควันดำและปัญหามลพิษไปในตัว

“จังหวัดเชียงใหม่ถือเป็นเมืองท่องเที่ยวทั้งเชิงวัฒนธรรมและธรรมชาติ การรักษาไว้ซึ่งอัตลักษณ์ของความเป็นเมืองเหนือของเชียงใหม่ทำได้น่าสนใจมาก โดยรถแดงถือเป็นรถสาธารณะที่อยู่คู่กับเมืองเชียงใหม่มานาน”

สำหรับธุรกิจขนาดเล็กที่เริ่มต้นเป็นผู้ผลิตรถไฟฟ้า มีหลายแนวทางที่สามารถใช้เพื่อสนับสนุนและเพิ่มโอกาสในธุรกิจได้ หากมีความรู้เกี่ยวกับตลาดและอุตสาหกรรมนี้มากขึ้น การเริ่มต้นธุรกิจเป็นเรื่องที่ท้าทายและอาจต้องใช้เวลา

แต่หากวางแผนที่ดีในแต่ละขั้นตอนจะช่วยให้สร้างธุรกิจที่ยั่งยืนและประสบความสำเร็จในอุตสาหกรรมรถไฟฟ้าในไทยได้

'สุริยะ' รับลูก 'นายกฯ' สั่งหน่วยงานคมนาคม โละหมด 'รถยนต์สันดาป'  ชี้!! 'หมดสัญญาเช่า' เปลี่ยนใช้ 'EV' ช่วยลดปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5

(7 พ.ย.66) นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า จากข้อสั่งการของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ที่ได้สั่งการให้ทุกส่วนราชการจัดซื้อจัดจ้างรถยนต์พลังงานไฟฟ้า (EV) เพื่อแก้ปัญแทนรถยนต์ที่หมดอายุนั้น กระทรวงคมนาคมได้ให้ความสำคัญ และขานรับข้อสั่งการดังกล่าว ซึ่งได้มอบหมายให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม ทั้งส่วนราชการ และรัฐวิสาหกิจรวบรวมรายละเอียด และพิจารณาเปลี่ยนรถยนต์ใช้น้ำมัน (สันดาป) ที่หมดอายุสัญญาเช่าให้เป็นรถยนต์พลังงานไฟฟ้า สอดคล้องเป้าหมายในการใช้รถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 30% ภายในปี 2573 โดยให้พิจารณาตามความเหมาะสมกับการใช้งาน เพื่อช่วยลดปัญหามลพิษทางอากาศ หรือฝุ่นละออง PM 2.5

ทั้งนี้ จากการรายงานของบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. ระบุว่า ทอท. จะทยอยปรับเปลี่ยนรถที่มีการใช้ให้บริการในท่าอากาศยานทั้งหมดให้เป็นรถไฟฟ้า ตามนโยบายของรัฐบาลในการลดการใช้ยานยนต์ที่ใช้น้ำมัน ซึ่งในปัจจุบัน รถส่วนกลางของ ทอท. ส่วนใหญ่เป็นรถเช่าระยะเวลา 3 ปี ดังนั้น หากหมดสัญญาเช่าแล้ว ให้ ทอท.พิจารณาเริ่มสัญญารถเช่าใหม่ เปลี่ยนให้เป็นรถยนต์ไฟฟ้าแทนรถยนต์ใช้น้ำมันทั้งหมด

แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคม ระบุว่า ขณะนี้ กระทรวงคมนาคม ได้มอบหมายให้นายชาครีย์ บำรุงวงศ์ ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการขนส่งทางบก ประสานไปยังหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม เพื่อมอบหมายให้สรุปรายละเอียดและพิจารณารถยนต์ที่ใช้ภายในของแต่ละหน่วยงาน และจะหมดสัญญาเช่าให้เปลี่ยนเป็นรถยนต์ไฟฟ้า ตามข้อสั่งการของรัฐบาล และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม

ทั้งนี้ ให้แต่ละหน่วยงานพิจารณาตามความเหมาะสมในการใช้งาน เช่น ในเบื้องต้นจะให้เปลี่ยนรถยนต์ที่วิ่งใช้ภายในจังหวัด หรือระยะทางไม่ไกลมากนัก หากเป็นรถยนต์ที่ใช้วิ่งข้ามจังหวัด อาจจะยังคงเป็นรถยนต์ใช้น้ำมันไปก่อร เนื่องจากติดปัญหาเรื่องระยะทางวิ่งที่เกี่ยวเนื่องกับสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าที่ยังไม่ครอบคลุมในทุกพื้นที่ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ให้หน่วยงานทั้งหมดสรุปรายละเอียดและแผนการดำเนินงานเสนอมายังกระทรวงฯ โดยเร็วที่สุด

‘นายกฯ เศรษฐา’ เล็งตั้ง ‘กรมฮาลาล’ ใช้ขับเคลื่อน ‘อาหารฮาลาล’ ส่งออกทั่วโลก

(7 พ.ย. 66) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงการยกระดับอุตสาหกรรมอาหารฮาลาล ว่า มีหน่วยงานในกรมหนึ่งของกระทรวงอุตสาหกรรม รัฐบาลนี้ตระหนักดีถึงความสำคัญของอาหารฮาลาล เป็นอาหารเศรษฐกิจที่สามารถส่งออกได้ไปยังพื้นที่ที่มีชาวมุสลิม ทั้งตะวันออกกลาง หรือแอฟริกา ก็อยากจะยกระดับความสำคัญของงานนี้ขึ้นมาให้เป็นกรม ก็มีการสั่งการไป และมีการพูดคุยกับทางคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ให้ดูเรื่องการยกระดับของหน่วยงานนี้ขึ้นมาให้เป็นกรม จะได้พัฒนาต่อไปได้

KFC ช่วยเด็กนอกระบบ สู่โลกการศึกษา จุดเริ่มต้นสังคมเสมอภาค ลดความเหลื่อมล้ำ

เมื่อวานนี้ (6 พ.ย.66) เศกไชย ชูหมื่นไวย กรรมการผู้จัดการ บริษัท ยัม เรสเทอรองตส์ อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด และประธานมูลนิธิเคเอฟซี กล่าวว่า การทำธุรกิจมายาวนานกว่า 39 ปี มาจากความเชื่อของผู้พันแซนเดอร์สที่ว่าธุรกิจจะเติบโตอย่างยั่งยืนนั้น ทุกฝ่ายในสังคมต้องพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน 

KFC จึงมุ่งมั่นร่วมสร้างสรรค์สิ่งดี ๆ กลับคืนสู่สังคมในหลากหลายมิติ แทนคำขอบคุณคนไทยที่สนับสนุนแบรนด์เป็นอย่างดีเสมอมา เพราะเชื่อว่าธุรกิจที่ดีต้องมีส่วนช่วยเหลือสังคม โดยเฉพาะนับจากปี 2566-2568 ต่อจากนี้ เราจะมุ่งผลักดันศักยภาพครอบคลุมทั้ง 3 ด้าน ได้แก่ ผู้คน (people), โลก (planet) และอาหาร (food) 

โดยจะมุ่งเน้นเรื่องของผู้คนเป็นอันดับแรก ไม่ว่าจะเป็นพนักงานของเรา หรือคนในสังคม ทั้งการผลักดันศักยภาพผู้คน และพนักงานด้วยการมอบโอกาส และการจัดการด้านอาหารผ่านโครงการ Harvest & Colonel’s Kitchen ที่ช่วยลดเรื่องของอาหารส่วนเกินที่ยังอุดมไปด้วยโปรตีนคุณภาพสูงให้กับองค์กรการกุศลที่ต้องการความช่วยเหลือ และ Planet ที่จะมุ่งเน้นเรื่องของความยั่งยืน โดยเริ่มจากบรรจุภัณฑ์ในร้าน และ Green Store Concept ที่จะเริ่มต้นดำเนินการในปีหน้า โดยทุกแผนงานจะเดินหน้าไปพร้อมกันทุกแฟรนไชส์

“สำหรับแผนความยั่งยืน เราอยากโฟกัสไปที่เรื่องคนเป็นหลักก่อน โดยเฉพาะเรื่องของเด็กและการศึกษา ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ระดับประเทศ นับตั้งแต่เกิดโควิด-19 ความเหลื่อมล้ำในสังคมเห็นได้ชัดมาก เราจึงร่วมมือกับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) แก้ปัญหาเด็กไทยหลุดออกจากระบบการศึกษาผ่านโครงการ KFC Bucket Search”

เศกไชย กล่าวต่อว่า เมื่อมองไปถึงระดับประเทศพบว่าเด็กไทยอายุ 15-23 ปี มีแนวโน้มออกจากระบบการศึกษาเพิ่มสูงขึ้นปีละเกือบ 1 แสนคน ทำให้ปัจจุบันประเทศไทยมีเยาวชนที่ไม่อยู่ในระบบการศึกษา การจ้างงานหรือการฝึกอบรมพัฒนาใดๆ หรือกลุ่ม Not in Education, Employment, or Training (NEET) มากถึง 1.4 ล้านคน คิดเป็นราวร้อยละ 10 ของประชากรฐานภาษี

ประชากรกลุ่มนี้ถือเป็นทุนมนุษย์ที่ไม่ได้ใช้ศักยภาพของตัวเองอย่างเต็มที่ แม้บางส่วนจะสำเร็จการศึกษาภาคบังคับ แต่ส่วนใหญ่ยังเป็นเพียงแรงงานนอกระบบ ทำงานลักษณะกึ่งฝีมือหรือไร้ฝีมือ จึงเผชิญกับความไม่มั่นคงทางรายได้และขาดการคุ้มครองทางสังคม

“ปัญหาเด็กไทยหลุดออกจากระบบการศึกษา โดยเฉพาะเด็กกลุ่มเปราะบาง เป็นโจทย์ที่ซับซ้อน และต้องได้รับการแก้ไข จากการทำงานกับเด็กและเยาวชนนอกระบบของ กสศ. พบว่าเมื่อออกจากระบบกลางคัน เด็กส่วนใหญ่ต้องเผชิญปัญหาสูญเสียความมั่นใจ รู้สึกว่าตนเองเป็นผู้แพ้ ถูกตีตราจากสังคม จนเป็นชนวนไปสู่ปัญหาเชิงพฤติกรรม หากปล่อยระยะเวลาให้เนิ่นนาน การช่วยเหลือเยียวยาจะยิ่งทำได้ยาก หนึ่งในภารกิจของ กสศ. คือการส่งเสริมระบบการศึกษาที่มีเส้นทางรองรับเด็กและเยาวชนนอกระบบ ให้ก้าวต่อไปได้บนวิถีทางของตน”

หากแก้ปัญหาเด็กนอกระบบได้สำเร็จ ประเทศไทยจะมีมูลค่าการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคมเพิ่มขึ้นสูงถึง 330,000 ล้านบาททุกปี คิดเป็นปีละประมาณ 3% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (GDP) ของประเทศ

ทั้งนี้ โครงการ KFC Bucket Search เป็นโครงการระยะยาวตลอดปี 2566-2568 โดยมอบโอกาสทางการศึกษา พัฒนาศักยภาพให้กับเด็กและเยาวชนที่ได้รับผลกระทบจากความไม่เสมอภาคทางการศึกษา และความเหลื่อมล้ำทางสังคมในปัจจุบัน ซึ่งเริ่มต้นจากการให้โอกาสพวกเขาทำความเข้าใจตัวเอง และวางแผนชีวิตผ่านการศึกษาทางเลือกที่สอดรับกับความต้องการของตน ทำให้พวกเขาสามารถดูแลตัวเอง และกลับเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยขับเคลื่อนสังคมได้

สำหรับเด็กและเยาวชนภายใต้โครงการนี้จะได้รับการสนับสนุนทั้งด้านองค์ความรู้ ทักษะการดำรงชีวิตและเงินทุนตั้งต้น เติมเต็มทักษะและศักยภาพในด้านที่พวกเขาตั้งใจ โดยไม่กระทบกับชีวิตประจำวันที่บางคนต้องทำงานหาเลี้ยงตัวเองและครอบครัวไปด้วย

ด้วยทางเลือก work & study ที่ช่วยแบ่งเวลาและรายได้ และทางเลือกเงินทุนเพื่อวิชาชีพ หากน้อง ๆ ต้องการเป็นช่างตัดผม ช่างสัก หรือเจ้าของธุรกิจส่วนตัว ก็พร้อมมอบให้ทั้งองค์ความรู้และเงินทุนตั้งต้นอีกด้วย

“อย่างไรก็ตาม สิ้นปีนี้ตั้งเป้าปลดล็อกศักยภาพน้อง ๆ กว่า 200 คน และขยายขึ้นในทุก ๆ ปี ผ่านโครงการ KFC Bucket Search คาดว่าจะมีน้อง ๆ ทั้งสิ้นกว่า 3,000 คนทั่วประเทศ ที่จะเปลี่ยนสถานะจากเด็กนอกระบบการศึกษาสู่การเป็นเด็กนอกกรอบที่เต็มเปี่ยมด้วยศักยภาพ” เศกไชย กล่าว

ด้าน ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ กรรมการบริหาร กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวเสริมว่า สถานการณ์เด็กเสี่ยงหลุดออกจากระบบการศึกษาในช่วง 2-3 ปีนี้ถือว่าวิกฤตหนัก จากงานวิจัยพบมี 2 รูปแบบคือ…

1.เด็กที่ออกจากโรงเรียนกลางคัน จากปัญหาความยากจน ซึ่งพบว่าสถานการณ์โควิดทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำในสังคมมีมากขึ้น ประชาชนเกือบ 3-4 ล้านคน มีรายได้ต่ำกว่าเส้นรายได้ของประเทศ หรือมีรายได้ 1,370 บาทใน 1 เดือน รวม 1 ปีไม่เกิน 2 แสนบาท แต่มีหนี้สินถึง 147,707 บาท ซึ่งเด็กที่มาจากครอบครัวรายได้ต่ำสูง โดยเฉพาะเด็กที่อยู่ในช่วงรอยต่อของ ป.6 จะขึ้น ม.1 หรือ ม.3 จะขึ้น ม.4 ซึ่งการเรียนฟรีไม่มีอยู่จริง เพราะสุดท้ายแล้วก็มีค่าใช้จ่ายที่ต้องจ่ายอีกเยอะ

กลุ่มที่สองคือ กลุ่มเด็กที่ถูกผลักออกจากการศึกษา ซึ่งมาจากปัญหาเชิงพฤติกรรมที่โรงเรียนไม่สามารถรักษาไว้ได้ เช่น เด็กตั้งครรภ์ ยาเสพติด ความรุนแรง ส่วนใหญ่ออกช่วง ม.2 ครึ่ง หรือช่วงมัธยมต้น หรือติดศูนย์ ติด ร. กลุ่มนี้มีจำนวนมากถึงปีละ 6-7 หมื่นราย เฉพาะช่วงโควิด-19 ระยะเวลา 2-3 ปีรวมราว 237,700 ราย แต่ถ้ารวมทั้งหมดตอนนี้มีประมาณ 1.4 ล้านคน

อย่างไรก็ตาม ที่สำคัญคือ 4 ใน 5 ของเด็กกลุ่มนี้ ไม่มีเป้าหมาย หรือแรงจูงใจในการศึกษาที่จะทำให้คุณภาพชีวิตเขาดีขึ้น เขาอยู่ไปวัน ๆ นี่คือกลุ่มที่ใหญ่ของสังคมไทย แล้วเรายังมีเด็กนอกระบบ เด็กด้อยโอกาสอีก 15 กลุ่ม ทั้งเด็กเร่ร่อน ตอนนี้จาก 3 หมื่น พุ่งเป็น 5 หมื่น จากแรงงานเด็ก ที่ทะลุจากชายแดนเมียนมาก็เยอะ เด็กไร้สัญชาติก็มาก ปัญหาใหญ่คือประเทศเพื่อนบ้านเด็กหนีสงครามเข้ามา กลายเป็นเด็กไร้สัญชาติ อยู่ตามแม่สอด เชียงราย แม่ฮ่องสอนเต็มไปหมด พวกนี้ค่อย ๆ ทะลักเข้ามา สุดท้ายมากองรวมที่ กทม.เป็นหลัก

“แม้ว่าเศรษฐกิจจะฟื้นบ้าง แต่ไม่ได้ลงไปถึงคนระดับรากหญ้าเท่าไหร่นัก การจะทำให้การศึกษาไปต่อยากมาก จึงจำเป็นต้องอาศัยความช่วยเหลือกันทั้งภาครัฐ เอกชน ท้องถิ่น จัดโครงการ หรือช่วยกันยกระดับอย่างไรก็ได้ เพราะลำพัง กสศ.หน่วยงานเดียวไม่สามารถทำได้ทั้งหมด แต่เราจะมีหน้าที่ชี้เป้า สร้างต้นแบบ บทเรียน ถ้าเราช่วยกันมากขึ้น อีก 10-15 ปี ความเหลื่อมล้ำจะค่อย ๆ ลดลง หรือดีขึ้นตามลำดับ”


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top