Sunday, 11 May 2025
Econbiz

‘เอ็กโก กรุ๊ป’ ปักมาตรการ 3 ระยะ บรรเทาปัญหาสภาพภูมิอากาศ ตั้งเป้า ‘บรรลุการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์’ ในปี 2050

เมื่อไม่นานมานี้ บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็กโก กรุ๊ป โดย นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ร่วมแบ่งปันประสบการณ์และแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เพื่อสนับสนุนให้ภาคธุรกิจบูรณาการเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ขององค์การสหประชาชาติในการดำเนินงาน และเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืนตามมาตรฐานในรายงานประจำปี One Report ของบริษัทจดทะเบียน ชูเป้าหมาย SDG13 การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการบริหารจัดการพลังงาน (Climate Action) เป็นสิ่งที่ต้องเร่งดำเนินการ ในงานสัมมนาเปิดตัว ‘คู่มือเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนสำหรับบริษัทจดทะเบียน และมาตรฐานผลกระทบ SDG’ หัวข้อ ‘การเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืนตามเป้าหมายการพัฒนา ที่ยั่งยืน (SDGs) ใน 56-1 One Report’ ซึ่งจัดโดยสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ณ โรงแรมแกรนด์ ไฮแอท เอราวัณ กรุงเทพฯ โดยภายในงานได้รับเกียรติจากนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานเปิดงานและกล่าวปาฐกถาพิเศษ

นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอ็กโก กรุ๊ป เปิดเผยว่า เอ็กโก กรุ๊ป ดำเนินธุรกิจผลิตไฟฟ้าและพลังงานอย่างยั่งยืนมากว่า 31 ปี ภายใต้การกำกับกิจการที่ดี โปร่งใส และตรวจสอบได้ และได้บูรณาการเรื่องความยั่งยืน (ESG) ให้อยู่ในทุกกระบวนการการทำงาน 

โดยช่วงแรก เอ็กโก กรุ๊ป ได้จัดทำรายงาน CSR Report ซึ่งเป็นการเปิดเผยข้อมูลด้านการมีส่วนร่วมพัฒนาชุมชนและสังคมมาอย่างต่อเนื่อง ควบคู่กับการจัดทำรายงานทั้งแบบแสดงข้อมูลประจำปี (56-1) และรายงานประจำปี (56-2) ตามหลักเกณฑ์ของ ก.ล.ต. 

ต่อมาจึงเริ่มพัฒนาการรายงานเป็น Sustainability Report หรือรายงานความยั่งยืนฉบับแรก โดยแยกเล่ม คู่กับรายงานประจำปี ในปี 2561 จากนั้นได้เปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืนในรูปแบบ One Report ภาคสมัครใจในปี 2563 หรือล่วงหน้า 1 ปี ก่อนข้อกำหนดของ ก.ล.ต. จะมีผลบังคับใช้ โดยเนื้อหาใน One Report ครอบคลุมถึงการสนับสนุนและการบูรณาการเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 17 ข้อ ขององค์การสหประชาชาติ เป็นกรอบในการดำเนินงาน ตลอดจนอ้างอิงหลักเกณฑ์ของ ก.ล.ต. รวมทั้งมาตรฐานและข้อกำหนดของการเขียนรายงานที่ถูกต้อง ได้แก่ GRI Standards และ Integrated Reporting โดยข้อมูลที่เปิดเผยใน One Report ได้ผ่านการตรวจสอบและรับรองข้อมูลจากหน่วยงานภายนอก เพื่อให้ผู้มีส่วนได้เสียมีความเชื่อมั่นในความถูกต้องของข้อมูล

จากเป้าหมาย SDGs ทั้งหมด 17 ข้อ เอ็กโก กรุ๊ป ได้กำหนด 5 เป้าหมายหลักซึ่งสอดคล้องกับบริบทโดยตรงและกิจกรรมหลักของบริษัท ได้แก่ SDG3 การมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี SDG7 การมีพลังงานสะอาดที่ทุกคนเข้าถึงได้ SDG8 การจ้างงานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ SDG9 อุตสาหกรรม นวัตกรรม และโครงสร้างพื้นฐาน และ SDG13 การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการบริหารจัดการพลังงาน (Climate Action) ซึ่งเป็นเป้าหมายที่ทุกภาคส่วนให้ความสำคัญและแก้ไขอย่างเร่งด่วน 

โดย เอ็กโก กรุ๊ป ได้กำหนดเป้าหมายการมุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำเพื่อร่วมบรรเทาปัญหาสภาพภูมิอากาศ ภายใต้แนวคิด ‘Cleaner, Smarter, and Stronger to Drive Sustainable Growth’ ซึ่งแบ่งเป็น 3 ระยะ ได้แก่

-เป้าหมายระยะสั้นในปี 2573 (2030) ลดการปล่อยปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ต่อหน่วยไฟฟ้าที่ผลิตได้ (Carbon Emissions Intensity) ลง 10% และเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเป็น 30% 
-เป้าหมายระยะกลางในปี 2583 (2040) บรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral)
-เป้าหมายระยะยาวในปี 2593 (2050) บรรลุการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero)

“การติดตาม ประเมินผล และเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืน ใน One Report ของเอ็กโก กรุ๊ป สะท้อนถึง การดำเนินธุรกิจบนแนวทางความยั่งยืนอย่างเป็นรูปธรรม ช่วยสร้างความมั่นใจให้นักลงทุนและผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน รวมถึงมีส่วนช่วยประเมินผลการดำเนินงานภายในองค์กรเองและสามารถนำไปใช้เป็นส่วนหนึ่งในการตอบแบบประเมินด้านความยั่งยืน เช่น ดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ (Dow Jones Sustainability Indices - DJSI) ซึ่งบริษัทได้รับคัดเลือกให้เป็นสมาชิก 3 ปีต่อเนื่อง 

สำหรับ ‘คู่มือเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนสำหรับบริษัทจดทะเบียนและมาตรฐานผลกระทบ SDG’ จะเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยให้ ภาคธุรกิจขับเคลื่อนการบรรลุเป้าหมาย SDGs ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยการวัดและจัดการผลกระทบ ที่สำคัญของธุรกิจที่มีต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม และบูรณาการเป้าหมาย SDGs ไว้ในกระบวนการตัดสินใจ การรายงาน และการบริหารจัดการภายในทุกระดับ เพื่อบรรเทาผลกระทบเชิงลบและขยายผลกระทบ เชิงบวกต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมให้มากที่สุด โดยยังสามารถบรรลุเป้าหมายทางธุรกิจและการเงินของบริษัทไปพร้อมกัน” นายเทพรัตน์ กล่าวสรุป

รัฐบาลเร่งจัดสรรที่ดินทำกินแก่ ปชช. 50 ล้านไร่ ชงใช้ ‘โฉนดดิจิทัล’ แทนโฉนดที่ดินแบบกระดาษ

(1 พ.ย. 66) นายชนินทร์ รุ่งธนเกียรติ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง กล่าวถึงการประชุมคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) ครั้งที่ 3/2566 ว่า คณะกรรมการโดยมีนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธาน ได้ประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการที่ดินของประเทศ เพื่อให้นโยบายในการดำเนินงานโดยยึดหลักว่า ‘ประชาชนต้องมีที่ดินและที่ทำกิน อย่างพอเพียง’ ซึ่งเป็นไปตามนโยบายการจัดสรรที่ดินทำกิน 50 ล้านไร่ ตามคำแถลงของนายกรัฐมนตรีที่ได้กล่าวต่อรัฐสภา เมื่อวันจันทร์ที่ 11 กันยายน 2566 ที่ผ่านมา ซึ่งจะครอบคลุมทั้งพื้นที่ในเขต ส.ป.ก. และพื้นที่ป่าไม้ ที่เป็นภารกิจที่ต้องบูรณาการหลายกระทรวง ได้แก่ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงมหาดไทย เป็นต้น โดยให้ศึกษาผลกระทบให้รอบด้าน ตลอดจนแนวทางในการแก้ไขข้อกฎหมายต่าง ๆ ที่เป็นข้อจำกัดอยู่ เพื่อให้สามารถจัดสรรที่ดินทำกินให้กับพี่น้องประชาชนได้ตามที่ให้คำมั่นสัญญาไว้

“การเร่งรัดให้ประชาชนมีสิทธิ์มีที่ดินทำกิน มิใช่เพียงการให้อาชีพ ให้โอกาสในการสร้างรายได้ สร้างความมั่นคงในชีวิตให้กับพี่น้องประชาชนเท่านั้น แต่รัฐบาลยังมุ่งหวังให้สามารถใช้เอกสารสิทธิ์หรือหนังสืออนุญาตที่รัฐออกให้เหล่านี้ เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันในการเข้าถึงแหล่งทุนให้ได้จริง เพื่อต่อยอดเป็นทุนในการประกอบอาชีพได้ด้วย” นายชนินทร์กล่าว

นายชนินทร์ กล่าวอีกว่า ที่ประชุมยังมีข้อสั่งการให้สำนักงานคณะกรรมการที่ดินแห่งชาติ ศึกษาแนวทางในการทำ ‘โฉนดดิจิทัล’ เชื่อมต่อกับระบบแผนที่ One-Map เพื่อให้ใช้ฐานข้อมูลที่ดินออนไลน์กลาง แทนการแนบแผนที่แนบท้ายในรูปแบบกระดาษของหน่วยงานต่าง ๆ โดยประสานการใช้ประโยชน์จากข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมธีออส 2 (THEOS-2) ที่จะทำให้การทำงานของภาครัฐมีความแม่นยำ รวดเร็ว ลดต้นทุนค่าใช้จ่าย และภาคประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลได้อย่างสะดวกมากขึ้น ตามหลักคิดของนโยบายรัฐบาลดิจิทัล

‘เสถียร’ เตรียมเปิดตัว 2 แบรนด์ ‘เบียร์’ หัวหอก ‘คาราบาว-ตะวันแดง’ จ่อวางตลาด 9 พ.ย.นี้ หวังเพิ่มทางเลือกให้นักดื่มคอทองแดงในไทย

(1 พ.ย. 66) ภาพรวมตลาดเบียร์ในประเทศไทยมีมูลค่าประมาณ 2.7 แสนล้านบาท โดย 3 ขั้วใหญ่ ที่ทำตลาด ประกอบด้วย บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด ของ ‘ตระกูลภิรมย์ภักดี’ มีสินค้าหลากแบรนด์ในพอร์ตโฟลิโอ เช่น เบียร์สิงห์ ลีโอ ฯลฯ  และ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ของราชันย์น้ำเมา ‘เจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี’ มีแบรนด์ช้าง อาชา ฯลฯ เสิร์ฟคนไทย และ กลุ่มธุรกิจทีเอที บิ๊กแบรนด์ระดับโลกจากเนเธอร์แลนด์ที่มี ไฮเนเก้น ครองความเป็นหนึ่งในเซ็กเมนต์พรีเมียม

ผู้ท้าชิงใหม่ลงสนาม ซึ่งแม่ทัพคนสำคัญ อย่าง ‘เสถียร เสถียรธรรมะ’ ได้ประกาศจะต่อยอดความสำเร็จในการทำตลาดน้ำเมาสีอำพันผ่านโรงเบียร์เยอรมันตะวันแดงมากว่า 20 ปี และสร้างประวัติศาสตร์ให้เกิดขึ้นอีกครั้ง

>> ‘คาราบาว’ และ ‘ตะวันแดง’ 2 แบรนด์เบียร์ใหม่

เสถียร ประกาศทุ่มงบลงทุนกว่า 4,000 ล้านบาท สร้างโรงงานผลิตเบียร์ที่มีกำลังการผลิตประมาณ 400 ล้านลิตรต่อปี แต่ใช้กำลังผลิตเบื้องต้นยังไม่เต็มที่เพื่อตอบสนองผู้บริโภค พร้อมกันนี้ กลุ่มคาราบาว โดยบริษัท โรงเบียร์ตะวันแดง 1999 จำกัด จะเปิดตัวเบียร์ 2 แบรนด์ใหม่ ได้แก่ ‘คาราบาว’ และ ‘ตะวันแดง’ อย่างเป็นทางการวันที่ 9 พ.ย.นี้ 

เบียร์น้องใหม่ยังจัดเต็มติดอาวุธการตลาดด้วย Sport Marketing กับแคมเปญใหญ่หวังดึงดูดชาวไทยไปสัมผัสประสบการณ์ฟุตบอลระดับโลก คาราบาว คัพ นัดชิง ที่กลุ่มคาราบาว เพิ่งทุ่มเงิน 18 ล้านปอนด์ หรือประมาณ 800 ล้านบาท ต่อสัญญาเป็นผู้สนับสนุน คาราบาว คัพ (Carabao Cup) การแข่งขันฟุตบอลในอังกฤษ ไปอีก 3 ปี คือ ฤดูกาลแข่งขัน 2024/2025, 2025/2026 และ 2026/2027

เสถียร เคยกล่าวว่า ในการทำตลาดเบียร์ครั้งนี้ภายใต้แบรนด์คาราบาวและตะวันแดง ต้องการเป็นขั้วที่ 3 ของค่ายเบียร์ยักษ์ใหญ่ของเมืองไทย บริษัทจึงทุ่มสุดตัวทั้งเม็ดเงินก้อนโต และการร่วมมือกับสถาบัน VLB BERLIN ผู้เชี่ยวชาญการวิจัยและพัฒนาเบียร์ยาวนานถึง 140 ปี มาช่วยดูแลและพัฒนาคุณภาพสินค้า

สำหรับผลิตภัณฑ์เบียร์ 2 แบรนด์ ที่ออกมาทำตลาดมีทั้งสิ้น 5 ชนิด ได้แก่ 1.เบียร์ลาร์เกอร์ 2.เบียร์ดำ หรือ Dunkel 3.เบียร์ไวเซ่น 4.เบียร์โรเซ่ และ 5.เบียร์ไอพีเอ (India Pale Ale:IPA) โดยสินค้ามีทั้งแบบขวดแก้วและกระป๋อง ดังนี้ แบบขวดแก้วขนาด 620 มิลลิลิตร (มล.) กระป๋อง 490 มล. และกระป๋อง 320 มล. และจุดเด่นของเบียร์น้องใหม่คือการยึดกฎการทำเบียร์เยอรมัน(German Purity Law) ที่มีวัตถุดิบแค่มอลต์ ฮอปส์ และยีสต์เท่านั้น เพื่อตอบสนองนักดื่ม

ทางด้าน ไทยเบฟเวอเรจ แม้ธุรกิจ ‘เบียร์’ ในไทยยังเป็นรอง ส่วนแบ่งตลาดไล่หลัง ‘บุญรอดบริวเวอรี่’ หรือค่ายสิงห์ แต่ไทยเบฟยิ่งใหญ่และแข็งแกร่งในตลาดเบียร์ระดับภูมิภาคอาเซียนเพราะมีส่วนแบ่งทางการตลาด ‘แถวหน้า’ (รวมเบียร์ของไทยเบฟ และ SABECO เวียดนาม เบียร์ในประเทศเมียนมา)

ในงานแถลงแผนประจำปี 2566 ของไทยเบฟ แม่ทัพใหญ่อย่าง ‘ฐาปน สิริวัฒนภักดี’ ได้กล่าวตอนหนึ่งว่า มีโอกาสได้เจอคุณอาเสถียร ยังเอ่ยถึงเลยว่าที่ท่านตัดสินใจเข้ามาลงทุนในธุรกิจเบียร์ และกำลังออกสินค้าตัวใหม่ เป็นเรื่องที่ดี และเป็นการสร้างสรรค์ในเรื่องแข่งขันของตลาด ซึ่งผู้บริโภคจะได้รับประโยชน์

“ตราบใดที่เป็น Healthy Competition มองว่าการแข่งขันเป็นเรื่องปกติ เราคงบอกไม่ได้ว่าเราเห็นการแข่งขันเป็นเรื่องที่ไม่ดี ขณะที่ในการทำธุรกิจเราต้องปรับตัวตลอดเวลา โดยเฉพาะการเรียนรู้พฤติกรรมผู้บริโภค เพิ่มขีดความสามารถขององค์กร การแข่งขันเป็นเรื่องปกติ ที่สุดแล้วต้องอยู่ในกฎเกณฑ์ กติกาเดียวกัน ไม่งั้นลำบาก”

สำหรับการบุกตลาดเบียร์ของไทยเบฟ นอกจากในประเทศได้ออกสินค้าใหม่เซ็กเมนต์พรีเมียมอย่างช้าง อันพาสเจอร์ไรซ์ บริษัทยังเดินหน้าขยายตลาดต่างประเทศต่อเนื่อง โดยเฉพาะการทุ่มงบลงทุน 4,000 ล้านบาท สร้างโรงงานผลิตเบียร์ในประเทศกัมพูชา ยังเดินหน้าขยายโรงงานผลิตเบียร์ในประเทศเมียนมา ผ่านเฟรเซอร์แอนด์นีฟ(เอฟแอนด์เอ็น) และซาเบโก้(SABECO) เดินหน้าซื้อหุ้นจากผู้ถือหุ้นในกลุ่มโรงเบียร์ต่างๆ เพื่อเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ด้วย

>> บิ๊กแบรนด์รุมรับน้องเบียร์

หลังจาก เสถียร เดินเกมรุกสร้างการรับรู้เบียร์น้องใหม่ ทำให้บิ๊กแบรนด์ต่างๆ มีการขยับตัวกันถ้วนหน้า โดยเฉพาะผู้นำตลาดอย่าง ‘ลีโอ’ ของค่ายบุญรอดฯ ที่แม่ทัพใหญ่ ‘ภูริต ภิรมย์ภักดี’ ตลอดจนขุนพลการตลาดได้เผยการปรับโฉมแบรนด์ลีโอใหม่ให้เป็นเสือหนุ่มมากขึ้น และมีการสื่อสารการตลาดผ่านสื่อออนไลน์ สื่อโฆษณานอกบ้านกันอย่างคึกคัก

ฟากกลุ่มธุรกิจทีเอพี นอกจากพยายามผลักดัน ไฮเนเก้น ซิลเวอร์ เจาะนักดื่มรุ่นใหม่แบรนด์ ‘เชียร์’ ขยับตัวออกสินค้ารสชาติใหม่ ดึงส้มยูซุแท้จากประเทศญี่ปุ่นมาสร้างสีสัน

ทั้งนี้ ความเคลื่อนไหวของแบรนด์ใหญ่นอกจากต้อนรับน้องใหม่ อีกด้านหนึ่งยังเป็นการปล่อยหมัดการตลาดเพื่อรองรับช่วงปลายปี ซึ่งถือเป็นไฮซีซันของตลาดเบียร์ด้วย

การแย่งชิงขุมทรัพย์เบียร์ ‘แสนล้านบาท’ หัวใจสำคัญคือช่องทางจำหน่ายสินค้าไม่ว่าจะเป็นผับ บาร์ ร้านอาหาร สถานบันเทิง โรงแรมฯ (On-Premise) ช่องทางร้านค้าทั่วไปเป็นอีกจิ๊กซอว์ทำเงิน ซึ่งต้องมีขุมพลังเอเย่นต์ หรือตัวแทนจำหน่ายรายใหญ่คอยเป็นกองหนุน สำหรับบุญรอดฯ ครองบัลลังก์เบียร์ มีเอเย่นต์ในมือราว 300 ราย และเครือข่ายร้านค้าส่งอีกเฉียดหมื่น (ข้อมูลที่เปิดเผย ณ ปี 2560) ขณะที่ไทยเบฟเวอเรจ มีเอเย่นต์ไม่แพ้กันจำนวนหลายร้อยราย

ดังนั้น การทำตลาดของ ‘คาราบาว’ และ ‘ตะวันแดง’ จึงต้องหากองทัพในการส่งและกระจายสินค้า ซึ่งที่ผ่านมาบริษัทได้ทุ่มเงินผ่านสื่อสิ่งพิมพ์ (Traditional Media) เพื่อประกาศหาเอเย่นต์ทั่วประเทศมาร่วมเป็นพันธมิตร

สำหรับภาพรวมตลาดเบียร์ในประเทศไทยมีมูลค่ากว่า 2.7 แสนล้านบาท โดยแบ่งเป็นเซ็กเมนต์อีโคโนมี (ตลาดล่าง) หรือ Mass สัดส่วน 75% หรือมูลค่า 1.5 แสนล้านบาท สแตนดาร์ดสัดส่วน 20% และเซ็กเมนต์พรีเมียมประมาณ 5% ตลาดยังมีเบียร์เฉพาะกลุ่มหรือ Niche Market อย่างคราฟต์เบียร์ (เบียร์แบรนด์ไทยและนำเข้า) แทรกตัวอยู่ โดยมีสัดส่วน 0.5-1% หรือมูลค่าประมาณ 2,000 ล้านบาทเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม การชิงขุมทรัพย์น้ำเมาสีอำพันไม่ง่าย ‘คาราบาว’ และ ‘ตะวันแดง’ น้องใหม่เบียร์มาจากโรงงานที่กำลังการผลิตราว 400 ล้านลิตรต่อปี หากเทียบรุ่นใหญ่ในตลาด เช่น บุญรอดฯ โรงงานมีกำลังผลิตรวมระดับ 2,000 ล้านลิตร ทำรายได้ระดับ ‘แสนล้านบาท’ ไทยเบฟ เช่นกันที่กำลังการผลิตมหาศาล ทำเงินแสนล้านบาท

‘อยุธยา’ เปิดให้บริการชม 4 วัดยามค่ำคืน คนละ 950 บาท หลัง ‘พรหมลิขิต’ กระแสบูม หวังสร้างเม็ดเงินให้จังหวัดมากขึ้น

(1 พ.ย.66) นายมานัส ทรัพย์มีชัย ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เปิดเผยประชาชาติธุรกิจว่า ภาพรวมของการท่องเที่ยวจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ตอนนี้เริ่มมีนักท่องเที่ยวเข้ามาเพิ่มขึ้นจำนวนมากช่วงวันศุกร์-เสาร์-อาทิตย์ ปกตินักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ที่เดินทางมาจังหวัดพระนครศรีอยุธยามักเดินทางแบบไป-กลับ ไม่พักค้างคืน

แต่หลังจากมีกระแสของละครเรื่อง ‘พรหมลิขิต’ เริ่มออกอากาศไป และทางกรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม ได้อนุญาตเปิดบริการให้นักท่องเที่ยวสามารถเข้าไปชมวัดไชยวัฒนารามได้จนถึงเวลา 22.00 น. ในช่วงวันศุกร์-เสาร์-อาทิตย์ จากการสอบถามผู้ประกอบการโรงแรม ร้านอาหาร โดยเฉพาะโรงแรมมีอัตราการจองเข้าห้องพักประมาณ 80% สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวได้มากยิ่งขึ้น

ปัจจุบันช่วงวันศุกร์-เสาร์-อาทิตย์ มีนักท่องเที่ยวเข้ามาในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาเฉลี่ย 20,000 คนต่อวัน ส่วนวันธรรมดา จันทร์-ศุกร์ มีนักท่องเที่ยวเฉลี่ย 2,000 คนต่อวัน โดยนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ยังเป็นคนไทย ส่วนนักท่องเที่ยวต่างชาติ เช่น เกาหลี จีน และโซนยุโรป ทั้งนี้ ค่าใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวเฉลี่ย ประมาณ 1,000 ต่อหัวต่อคน คาดการณ์เงินสะพัด 200 ล้านบาทต่อเดือน

“สำหรับวัดไชยวัฒนาราม เป็นวัดเก่าแก่สมัยอยุธยาตอนปลายและเป็นไฮไลต์ของละครดังกล่าว ปกติจะเปิดให้บริการ 08.00-18.00 น. ช่วงกลางคืนวัดค่อนข้างสวยงามเป็นตัวดึงดูดนักท่องเที่ยวให้นอนพักค้างคืนได้ โดยจะเปิดแถลงข่าวโปรโมตอย่างเป็นทางการในวันที่ 10 พฤศจิกายน 2566 และสิ้นสุดโครงการวันที่ 31 ธันวาคม 2566 แต่ถ้ากระแสตอบรับดีอาจจะมีการขยายเวลาให้บริการ” นายมานัส กล่าว

ขณะเดียวกันทางสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดพระนครศรีอยุธยาร่วมกับ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานพระนครศรีอยุธยา ได้มีการขออนุญาตเปิดให้บริการสถานที่ท่องเที่ยวตอนกลางคืนเพิ่มอีก 4 แห่ง ได้แก่ วัดพระราม วัดพระศรีสรรเพชญ์ วัดราชบูรณะ และวัดมหาธาตุ ตั้งแต่วันที่ 11 พฤศจิกายน 2566 เป็นต้นไป จนถึง 31 มีนาคม 2567

โดยใช้ชื่อกิจกรรมว่า ‘ไนต์แอดเดอะเทมเพิล’ จะเปิดให้บริการศุกร์-เสาร์-อาทิตย์ กรุ๊ปละ 20 คน ค่าบริการประมาณ 950 บาทต่อคน ใช้ระยะเวลาประมาณ 2 ชั่วโมง มีรถตุ๊กตุ๊กรับ-ส่ง ให้บริการ 4 รอบต่อวัน รอบแรกเวลา 18.30 น. รอบสองเวลา 19.00 น. รอบสามเวลา 19.30 น. รอบสี่เวลา 20.00 น. โดยแต่ละรอบต้องมีหัวหน้าไกด์ ผู้ช่วยไกด์ เจ้าหน้าที่กรมศิลป์เข้าไปดูแล

รวมถึงทำประกันชีวิตให้กับนักท่องเที่ยว โดยกิจกรรมดังกล่าวต้องทำในรูปแบบบริษัททัวร์ แม้ทางกรมศิลปากรได้มีการอนุญาตเปิดให้บริการ แต่จะต้องเข้าไปเป็นหมู่คณะหรือกรุ๊ปทัวร์ เนื่องจากมีบางจุดที่ค่อนข้างมืด ส่งผลอันตรายต่อนักท่องเที่ยว

ทั้งนี้ จัดกิจกรรมนี้ขึ้นเพื่อกระตุ้นให้นักท่องเที่ยวพักค้างแรมที่จังหวัดอยุธยาให้เพิ่มมากขึ้น จะทดลองให้บริการประมาณ 2 สัปดาห์ หากได้กระแสตอบรับที่ดีจะมีการโปรโมตประชาสัมพันธ์อย่างเป็นทางการ

ปัจจุบันจังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีห้องพักเปิดให้บริการประมาณ 2,000 กว่าห้อง เปิดให้บริการ 100% และคาดว่าช่วงไฮซีซั่นเดือนธันวาคม 2566 อัตราการเข้าพักน่าจะ 90-100%

ด้าน นายณัฐปคัลภ์ อัครวิชญ์ ผู้อำนวยการ ททท. สำนักงานพระนครศรีอยุธยา เปิดเผยกับประชาชาติธุรกิจว่า ปัจจุบันมีนักท่องเที่ยวเข้ามาในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา 800,000 คนต่อเดือน เฉลี่ยเป็นชาวไทย 700,000 คน และต่างชาติ 100,000 คน หากเทียบกับปี 2565 มีนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก เป้าหมายจำนวนนักท่องเที่ยวของจังหวัดจะพยายามทำให้ได้ 80% ของตัวเลขปี 2562

ซึ่งเป็นปีที่มีนักท่องเที่ยวเข้ามาอยุธยามากที่สุด รวมเกือบ 40 ล้านคนต่อปี แต่จังหวัดพระนครศรีอยุธยาค่อนข้างอยู่ใกล้กับกรุงเทพฯ นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่เดินทางไปเช้า-กลับเย็น และจากข้อมูลของอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา หลังละครเรื่องพรหมลิขิตได้มีการออนแอร์ไป พบว่ามีนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น จากเดิมช่วงวันธรรมดา (จันทร์-ศุกร์) มีนักท่องเที่ยวประมาณ 1,000 คนต่อวัน ตอนนี้เพิ่มขึ้น 2,000-3,000 คนต่อวัน

และมีแนวโน้มนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะคนไทย และหลังจากกรมศิลปากรได้อนุญาตให้นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางเข้าไปเยี่ยมชมวัดไชยวัฒนารามตอนกลางคืนได้ เฉลี่ยมีนักท่องเที่ยวประมาณ 1,000-2,000 คนต่อวัน ถือว่าได้การตอบรับที่ดี

นอกจากนี้ มีกิจกรรมล่องเรือรับประทานอาหารเย็น พยายามหากิจกรรมภาคท่องเที่ยวตอนกลางคืนให้นักท่องเที่ยวสนใจและเดินชม จึงได้มีการจัดทำกิจกรรม กับสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดพระนครศรีอยุธยา คือ

‘ไนต์แอดเดอะเทมเพิล’ หรือ Night at the Temples 2023 ท่องเที่ยวโบราณสถานในยามค่ำคืน ก็หวังว่ากิจกรรมดังกล่าวจะกระตุ้นเศรษฐกิจ และสามารถดึงดูดให้นักท่องเที่ยวพักค้างคืน และสร้างรายได้ให้จังหวัดพระนครศรีอยุธยาได้เพิ่มมากยิ่งขึ้น

‘รมว.อุตสาหกรรม’ เตรียมหารือหน่วยงานเกี่ยวข้อง ดูแลราคาอ้อย ไม่ให้กระทบเกษตรกร

"การปรับขึ้นราคา…หากราคาน้ำตาลในประเทศมีราคาถูก อาจเกิดการลักลอบขายออกนอกประเทศ และเกิดการกักตุนเก็งกำไร ซึ่งทำให้ผู้บริโภคถูกเอาเปรียบในที่สุด ขณะที่การปรับขึ้น จะทำให้เกษตรกรได้ประโยชน์จากส่วนแบ่งที่ถูกกำหนดโดย พรบ.ด้วย ไม่ใช่เฉพาะโรงงาน และเงินบางส่วนจะไปที่กองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย เพื่อนำไปใช้ในการแก้ไขปัญหาด้านมลภาวะทางอากาศ PM2.5 หาปริมาณฝุ่น PM2.5 เพิ่มขึ้น เพื่อลดผลกระทบกับอีกหลายระบบนิเวศ...

"รัฐบาลพร้อมดูแลเกษตรกร ภายหลังการเข้าควบคุมราคา โดยจะมีการหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อลดภาระให้กับประชาชนผู้บริโภคและเกษตรกรชาวไร่อ้อยให้ได้รับการเยียวยาอย่างเป็นธรรม" 

พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เผยว่ากระทรวงพาณิชย์มีมติไม่ให้ปรับขึ้นราคาน้ำตาล 4 บาท ต่อกิโลกรัม โดยกระทรวงอุตสาหกรรมจะกลับไปหามาตรการที่จะมาช่วยเหลือกลุ่มชาวไร่อ้อย เพราะที่ประชุม ครม.เห็นชอบให้น้ำตาลเป็นสินค้าควบคุม ตามมติที่ประชุมคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.)

‘ไทยสมายล์กรุ๊ป’ เปิดตัวรถเมล์ร้อนราคาประหยัด ‘EV สีส้ม’ ด้วยค่าบริการ 10 บาทตลอดสาย เริ่มวิ่ง 10 เส้นทาง 60 คัน

(1 พ.ย.66) นางสาวกุลพรภัสร์ วงศ์มาจารภิญญา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ไทย สมายล์ กรุ๊ป เปิดเผยถึงความคืบหน้าการดำเนินงานของไทยสมายล์บัสตลอด 3 ไตรมาสที่ผ่านมาของปี 2566 ระบุว่า การพัฒนาธุรกิจในเครือไทยสมายล์กำลังขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ทั้งในแง่ของเส้นทางให้บริการที่ปัจจุบัน มีทั้งสิ้น 123 เส้นทาง ประกอบกับการเพิ่มจำนวนรถเข้าให้บริการพี่น้องประชาชน จาก 800 คัน ในช่วงต้นปี 2565 จนปัจจุบันเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 2,200 คันแล้ว

ส่งผลให้ยอดผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากเดิมเฉลี่ยมากกว่า 300,000 คน/วัน สอดคล้องกับจำนวนรถและรอบที่ให้บริการมากขึ้น ทำให้เห็นถึงแนวโน้มการเติบโตที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องที่พี่น้องประชาชนหันมาใช้บริการรถสาธารณะที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานสะอาดมากยิ่งขึ้น ขณะเดียวกันทางบริษัทได้เพิ่มความถี่ เพิ่มจำนวนรถ เพิ่มจำนวนรอบ ไปจนถึงการขยายเวลาการวิ่งให้บริการเป็น 24 ชั่วโมง ใน 4 เส้นทาง

ส่วนแผนระยะยาว ทางไทยสมายล์บัส มีแผนขยายการให้บริการในหลากหลายรูปแบบ ทั้งการวิ่งรถในเส้นทางใบอนุญาตปัจจุบัน และการขยายให้บริการรูปแบบ Feeder เชื่อมต่อการขนส่ง ทั้งรถ-เรือ-ราง ทั้งยังเพิ่มการให้บริการกลุ่มลูกค้าองค์กรต่าง ๆ ซึ่งในปีหน้าเชื่อว่าจะมีรถเข้ามาให้บริการเพิ่มเป็น 3,100 คันตามเป้าหมายที่วางไว้ได้ คาดการณ์ว่าจะมียอดผู้โดยสารใช้งานเฉลี่ยมากกว่า 500,000 คน/วัน

อย่างไรก็ตาม ซีอีโอ ไทย สมายล์ กรุ๊ป ยอมรับว่า ตนรับทราบถึงความเห็นของผู้ใช้บริการ ที่อาจยังพบกับความไม่สะดวกในบางส่วน ทางบริษัทรับฟังและได้ทำการแก้ไขต่อเนื่อง เช่น รถเมล์ไฟฟ้าของ TSB ไม่จอดรับผู้โดยสาร วิ่งเลนขวา ทางบริษัทได้ลงทุนสร้างศูนย์ฝึกอบรมครบวงจร ที่จะปั้นพนักงานขับรถ ‘กัปตันเมล์’ รุ่นใหม่เข้ามาให้บริการด้วยมาตรฐานที่ยกระดับขึ้น

ทั้งยังปรับสิทธิประโยชน์รายได้ของพนักงานให้สอดคล้องกับพฤติกรรม นอกจากนี้บริษัทได้เริ่มทดลองใช้ระบบ Fleet management ซึ่งเป็นระบบที่ใช้กำกับการเดินรถ สามารถตรวจการเข้าป้าย ความเร็ว ปริมาณผู้โดยสารบนรถ ไปจนถึงการตรวจสอบพฤติกรรมของผู้ขับขี่-พนักงานผู้ให้บริการ จึงขอให้มั่นใจว่า การบริการของ TSB จะปรับปรุงแก้ไข พัฒนาบริการให้ดียิ่งขึ้นในทุกมิติ

โดยในวันเดียวกันนี้ ยังได้มีการเปิดตัว รถเมล์ไฟฟ้าราคาประหยัด หรือ ‘รถ EV สีส้ม’ ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของภาครัฐ ที่มีกำหนดนโยบายว่าเอกชนผู้ได้รับใบอนุญาต ต้องดำเนินการจัดหาให้มีรถร้อนออกให้บริการประชาชนเพื่อลดภาระค่าใช้จ่าย ซึ่งทางบริษัทได้จัดหามาทั้งสิ้นจำนวน 60 คัน เพื่อนำไปเสริมการเข้าถึงบริการขนส่งมวลชนให้ครอบคลุมพื้นที่ต่าง ๆ มากขึ้น

ในเฟสแรกจะให้บริการใน 10 เส้นทาง จากนั้นจะศึกษาผลตอบรับเพื่อนำไปพัฒนาการให้บริการต่อไปในอนาคต ด้วยอัตราค่าโดยสาร 10 บาทตลอดสาย ตามข้อกำหนดใบอนุญาตของกรมการขนส่งทางบก ซึ่งผู้ใช้บริการสามารถชำระค่าโดยสารได้ทั้งรูปแบบ HOP Card ที่จะได้รับสิทธิประโยชน์ เดลิ แมกซ์ แฟร์ เดินทางไม่จำกัดในราคาเพียง 40 บาทตลอดสาย ไปจนถึงการชำระด้วยรูปแบบเงินสด

ด้านการพัฒนาของ ไทย สมายล์ โบ๊ต ได้มีการเสริมฟีดเรือโดยสารพลังงานไฟฟ้า รูปแบบใหม่ ขนาด 19 เมตร เป็นเรือ Catamaran พลังงานสะอาด 100% ซึ่งมีความแตกต่างในทางกายภาพจากเรือรูปแบบเดิมของบริษัท ด้วยขนาดที่กะทัดรัดคล่องตัวมากขึ้น เหมาะที่จะเดินเรือในเส้นทางแม่น้ำเจ้าพระยาได้ในทุกสภาพอากาศแม้ช่วงน้ำขึ้น ปัจจุบันได้รับเพิ่มมาแล้วจำนวน 9 ลำ

ส่งผลให้บริษัทมีฟลีตเรือให้บริการทั้งสิ้น 35 ลำ ซึ่งจะเข้าไปบริการในเส้นทาง Urban และ City Line ก่อนในช่วงแรก แล้วจึงขยายไปเส้นทาง Metro Line ตามความต้องการของผู้โดยสารในแต่ละเส้นทาง สร้างความสะดวกสบายให้แก่ผู้เดินทาง โดยเฉพาะช่วงชั่วโมงเร่งด่วน คาดว่าจะสามารถเพิ่มความถี่ให้บริการได้ ทุก 7-10 นาที พร้อมทั้งยังสามารถให้บริการกับลูกค้าองค์กร เช่น การเช่าเหมาลำ การวิ่งตามฟีดเส้นทาง หรือเรือนำเที่ยวได้อีกด้วย

'พิมพ์ภัทรา' สั่ง!! สอน.เร่งหาแนวทางที่เป็นประโยชน์ ดูแล 'ชาวไร่อ้อย-ผู้บริโภค-ผู้ส่งออก' ทั้ง 'ผลผลิต-ราคา'

(2 พ.ย .66) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยถึง สถานการณ์อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย ที่อาจส่งผลกระทบต่อเกษตรชาวไร่อ้อย ว่า กระทรวงอุตสาหกรรมมีความห่วงใยพี่น้องเกษตรกรชาวไร่อ้อยอย่างมาก จากต้นทุนการเพาะปลูกที่เพิ่มสูงขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นผลจากปรากฏการณ์เอลนีโญที่ส่งผลกระทบให้เกิดความแห้งแล้งและทำให้ปริมาณผลผลิตอ้อยลดน้อยลง กระทรวงอุตสาหกรรม จึงสั่งการและกำชับให้สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) เร่งหาแนวทางที่เป็นประโยชน์สำหรับชาวไร่อ้อยให้ได้รับผลตอบแทนที่เป็นธรรม 

ขณะเดียวกันต้องไม่ส่งผลกระทบต่อผู้บริโภค ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมรับทราบการขึ้นทะเบียนน้ำตาลเป็นสินค้าควบคุม 1 ปี ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ลงวันที่ 31 ตุลาคม 2566 ที่รัฐบาลเร่งควบคุมราคาเพื่อป้องกันผลกระทบต่อประชาชนผู้บริโภค 

“กระทรวงอุตสาหกรรม ขอขอบคุณนายกรัฐมนตรี และกระทรวงพาณิชย์ ที่มีความห่วงใยและเข้ามาร่วมช่วยทั้ง 3 ส่วน คือ ชาวไร่อ้อย ผู้ส่งออก และประชาชนผู้บริโภค โดยกระทรวงอุตสาหกรรมพร้อมยกระดับความร่วมมือกับกระทรวงพาณิชย์ เพื่อดูแลทุกข์สุขของพี่น้องชาวไร่อ้อย ยกระดับอุตสาหกรรมน้ำตาล เสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับเศรษฐกิจของประเทศ” รัฐมนตรีฯ พิมพ์ภัทรา กล่าว 

ทั้งนี้ รัฐบาลได้เน้นย้ำว่า พร้อมสนับสนุนเงินชดเชยให้กับเกษตรกร และระบบอุตสาหกรรมอ้อยน้ำตาลทราย โดยกระทรวงอุตสาหกรรมจะเร่งหามาตรการที่เหมาะสมสำหรับการส่งออก 

อย่างไรก็ตาม วันนี้ (2 พ.ย.66) ในการประชุมคณะอนุกรรมการพิจารณาการส่งออกไปนอกราชอาณาจักรซึ่งน้ำตาลทราย ประกอบด้วย กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงการคลัง จะร่วมกันหารือแนวทางเพื่อหาทางออกต่อสถานการณ์ดังกล่าวต่อไป

‘พีระพันธุ์’ เตรียมข้อมูลแก้กฎหมายพลังงานทั้งระบบ สร้างความเป็นธรรม-มั่นคง-ยั่งยืน ใช้ต่อได้แม้เกิน 4 ปี

(2 ต.ค. 66) นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน โพสต์รูปภาพขณะนั่งทำงาน พร้อมข้อความกำกับว่า… “เตรียมข้อมูลแก้กฎหมายพลังงานทั้งระบบครับ”

ก่อนหน้านี้ นายพีระพันธุ์ ได้ประกาศข่าวดี โดยกระทรวงพลังงานสามารถตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่ให้เกินลิตรละ 30 บาท และลดราคาเบนซิน 91 ลง 2.50 บาท 

ส่วนไฟฟ้าปรับลดจากราคาหน่วยละ 4.45 บาท ให้เหลือ 4.10 บาท โดยจะดำเนินการเพิ่มเติมในส่วนอื่นที่เกี่ยวข้องต่อไปอีก เพื่อหาทางปรับลดราคาค่าไฟฟ้าให้เหลือไม่เกินหน่วยละ 4 บาท

และสำหรับก๊าซหุงต้มตามแนวโน้มตลาดโลกจะขึ้นทุกปลายปี เพราะเป็นช่วงฤดูหนาวจะทำให้ราคาก๊าซหุงต้มในประเทศไทยสูงตามไปด้วย แต่สัญญาว่าจะตรึงราคาไว้ที่ 423 บาท สำหรับถังขนาด 15 กิโลกรัม ราคาเดิมต่อไป

นอกจากนี้ยังได้กำหนดแผนระยะสั้น-กลาง-ยาว เพื่อดูแลราคาพลังงานให้เป็นธรรม มั่นคง ยั่งยืนเพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชน โดยแผนการทำงานระยะสั้นจะเป็นนโยบายพรรครวมไทยสร้างชาติ ที่จะปรับลดราคาพลังงาน และเป็นสิ่งโชคดีที่ นายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน มีแนวนโยบายนี้และเป็นแนวนโยบายของรัฐบาลด้วย ทำให้นโยบายระยะสั้นเป็นจริงได้คือ ‘การลดค่าไฟฟ้า ลดราคาน้ำมัน’

ส่วนระยะกลางคือ การปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย เพื่อเปลี่ยนแปลงรูปแบบการทำงานของกระทรวงและทำให้โครงสร้างพลังงานมีความเป็นธรรม เหมาะสม และรองรับความมั่นคงของประเทศทุกด้าน สโคปของแผนก็คือ

1) จะรวบรวมกฎหมายเกี่ยวกับพลังงานทั้งหมดมาศึกษา หากรวมได้จะรวม ถ้าไม่จำเป็นก็ยกเลิก เพื่อลดจำนวนกฎหมายให้น้อยลง หรือหากเรื่องไหนไม่มีกฎหมายก็เขียนใหม่

2) กฎหมายพลังงานจะต้องตอบสนอง 3 เรื่อง คือ ต้องทำให้เกิดความมั่นคง เป็นธรรม และเกิดความยั่งยืน

นายพีระพันธุ์ กล่าวว่า ตอนนี้ผมได้ตั้งคณะกรรมการปรับปรุงและแก้ไขกฎหมาย มี ท่านอธึก อัศวานันท์ ที่ปรึกษาเป็นประธาน เริ่มทำงานมา 2 นัดแล้ว และมีตัวแทนจาก สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ที่ดูแลด้านกฎหมายมาทำ ให้รายงานทุก 30 วัน ส่วนระยะยาวต้องเตรียมการงานบริหารกระทรวง ทั้งกฎหมายที่ต้องออกมารองรับเพื่อให้นโยบายเป็นไปตามที่บอกทั้งหมด มั่นคง เป็นธรรม ยั่งยืน สามารถเดินต่อไปได้แม้ว่าจะเลยจากนี้ไป 4 ปีก็จะยังคงอยู่

‘SINOPEC SUSCO’ ปั๊มน้ำมันน้องใหม่เลือดผสม ‘ไทย-จีน’  ปักหมุดสาขาแรก ‘รัชดาภิเษก’ ตั้งเป้าขยายครบ 5 สาขาในปีนี้

สถานีบริการน้ำมัน ‘SINOPEC SUSCO’ ปั๊มน้ำมันยักษ์ใหญ่สัญชาติ ‘ไทย-จีน’ เปิดตัว ‘สาขาแรก’ ในประเทศไทย ปักหมุด ‘รัชดาภิเษก’ เป็นที่เรียบร้อย โดยมาพร้อมกับสโลแกน Fuel To The Max ที่พร้อมเติมพลังให้เต็มแมกซ์ในทุกวัน เลือกพิกัดดี มีสิ่งอำนวยความสะดวกหลายอย่าง เช่น ศูนย์บริการรถยนต์ B-Quik, ร้านสะดวกซื้อ Lawson108 และร้านชาวดอยคอฟฟี่ ฯลฯ

หลี่ เว่ย กรรมการผู้จัดการบริษัท เปิดเผยว่า เลือกพิกัดรัชดาภิเษก เนื่องจากอยู่ในโซนตัวเมือง และเขตชุมชน พร้อมตั้งเป้าขยายสาขา ให้ครบ 5 สาขาภายในปีนี้

ทั้งนี้ ปั๊มน้ำมันดังกล่าว เป็นของบริษัท ไซโนเปค ซัสโก้ จำกัด ซึ่งเป็นการร่วมทุนระหว่าง บริษัท ซัสโก้ จำกัด (มหาชน) หรือ SUSCO ถือหุ้น 51% กับบริษัท ไซโนเปค (ฮ่องกง) 49% ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ SINOPEC Group ยักษ์พลังงานจีน

สำหรับดีลดังกล่าว เกิดขึ้นเมื่อปลายปี 2565 ที่คณะกรรมการ บริษัท ซัสโก้ จำกัด (มหาชน) มีมติเห็นชอบขายหุ้น บริษัท ซัสโก้ ดีลเลอร์ส จำกัด (SDA) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ SUSCO ในสัดส่วน 49% ให้แก่ ไซโนเปค (ฮ่องกง) บริษัทลูกในเครือไซโนเปค ด้วยมูลค่า 34 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ1,175.18 ล้านบาท

บริษัทร่วมทุนนี้ จะมีสถานีบริการน้ำมัน และ น้ำมันอากาศยาน รวมไปถึงการขยายโอกาสธุรกิจในอนาคต

ขณะที่ SUSCO ได้รับซื้อสินทรัพย์ของสถานีบริการน้ำมันกลับไปจำนวน 14 สถานี ทำให้บริษัทร่วมทุน SDA มีสถานีบริการน้ำมันเหลืออยู่ 25 แห่ง พร้อมกันนี้ SDA ได้เช่าที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างจำนวน 10 แปลงเป็นเวลา 20 ปี ด้วยค่าเช่ารวมประมาณ 278.40 ล้านบาท

โดยมีสถานีบริการน้ำมันภายใต้การบริหารของบริษัท 25 แห่ง มีเป้าหมายจะเปลี่ยนเป็นสถานีบริการน้ำมัน SINOPEC SUSCO ต่อไป ซึ่งมีอยู่ทั้งในกรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมทั้งต่างจังหวัด เช่น พระนครศรีอยุธยา นครปฐม ราชบุรี กาญจนบุรี สระบุรี ชลบุรี และนครราชสีมา

หลังเปิดตัวด้วยการอัดโปรโมชั่น ลดราคาน้ำมันลิตรละ 1 บาท ถึงสิ้นเดือนที่ผ่านมา โดยราคาน้ำมันส่วนใหญ่ เท่ากับแบรนด์เจ้าตลาด และยังมีโปรบัตรเครดิต รวมถึงโปรเติม 900 แจกน้ำ 1 ขวด เหมือนเช่นปั๊ม SUSCO ก่อนหน้านี้ด้วย

‘สุริยะ’ เล็ง!! ใช้เวทีเอเปคที่สหรัฐฯ 11 - 17 พ.ย.นี้  ประเดิมโรดโชว์ ‘แลนด์บริดจ์’ ดึงต่างชาติร่วมทุน

(2 พ.ย.66) นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ตนเตรียมเดินทางร่วมกับนายกรัฐมนตรี เพื่อเข้าประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (เอเปก) ที่สหรัฐอเมริกา ระหว่าง 11 - 17 พ.ย.นี้ ซึ่งกระทรวงคมนาคมจะใช้โอกาสนี้โปรโมทโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจเชื่อมฝั่งทะเลอันดามันและอ่าวไทย (แลนด์บริดจ์) ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการลงทุนขนาดใหญ่ที่รัฐบาลอยู่ระหว่างผลักดัน เพื่อให้เอกชนทั้งไทยและต่างชาติเข้าร่วมลงทุนโครงการนี้ เพราะเป็นโครงการสำคัญสนับสนุนการเดินทาง การค้า และการขนส่ง

“ขณะนี้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เห็นชอบในหลักการและให้กระทรวงคมนาคมเริ่มโรดโชว์โครงการเพื่อดึงดูดนักลงทุนเข้าร่วมลงทุนในแลนด์บริดจ์ การเดินทางไปประชุมเอเปกครั้งนี้ จึงถือเป็นการประเดิมโรดโชว์โครงการนี้ด้วย โดยกระทรวงฯ จะใช้เวทีกลุ่มย่อยในการเจรจาความร่วมมือด้านการคมนาคมและการขนส่งนี้ โปรโมทแลนด์บริดจ์เพื่อให้เป็นสื่อกลางไปยังนักลงทุนเอกชน และหลังจากนี้กระทรวงฯ มีเป้าหมายจะโปรโมทแลนด์บริดจ์ไปในอีกหลายประเทศต้นไตรมาส 1 ของปี 2567” นายสุริยะ กล่าว

สำหรับความพร้อมของการผลักดันแลนด์บริดจ์ ปัจจุบันรัฐบาลอยู่ระหว่างเร่งจัดทำร่าง พ.ร.บ.เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ พ.ศ…. เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่พิเศษภาคใต้ (SEC) ซึ่งโครงการแลนด์บริดจ์จะอยู่ในพื้นที่ดังกล่าวด้วย โดยเบื้องต้นคาดการณ์ว่ากฎหมายฉบับนี้จะแล้วเสร็จในเดือน ธ.ค.2567 หลังจากนั้นจะมีการตั้งสำนักงานพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ เพื่อเป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนโครงการนี้ โดยหากขั้นตอนเหล่านี้แล้วเสร็จ คาดว่าแลนด์บริดจ์จะสามารถเริ่มเปิดให้มีการยื่นข้อเสนอการลงทุนจากเอกชนในปี 2568

ทั้งนี้กรอบการดำเนินงานที่ ครม.อนุมัติในการผลักดันโครงการแลนด์บริดจ์ เบื้องต้นกำหนดให้กระทรวงคมนาคมโรดโชว์โครงการแลนด์บริดจ์ไปยังประเทศต่างๆ ทั่วโลกตั้งแต่บัดนี้ไปจนถึงไตรมาส 1 ของปี 2558 และมีกำหนดให้เอกชนยื่นข้อเสนอในช่วงเดือน เม.ย. - มิ.ย. 2568 จากนั้นจะเสนอ ครม.เห็นชอบรายชื่อผู้ชนะการประมูลในโครงการภายในเดือน ส.ค. 2568 และให้เอกชนที่ชนะการประมูลเริ่มก่อสร้างได้ในเดือน ก.ย. 2568 โดยโครงการนี้จะใช้ระยะเวลาก่อสร้างประมาณ 5 ปี และคาดว่าจะเปิดดำเนินการได้ในเดือน ต.ค. 2573

สำหรับผลการศึกษาโครงการแลนด์บริดจ์ กระทรวงคมนาคม โดยสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ประเมินจะจัดใช้วงเงินรวมกว่า 1 ล้านล้านบาท แบ่งออกเป็น โครงการท่าเรือฝั่งชุมพร 3 แสนล้านบาท โครงการท่าเรือฝั่งระนอง 3.3 แสนล้านบาท โครงการพัฒนาพื้นที่เปลี่ยนรูปแบบการขนส่งสินค้า (SRTO) รวม 1.4 แสนล้านบาท และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเส้นทางเชื่อมโยงท่าเรือ วงเงินราว 2.2 แสนล้านบาท


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top