Sunday, 11 May 2025
Econbiz

'ประดิษฐ์-ส.จักรยานไทย' เนรมิต 'เหมืองทองคำอัครา' สู่พิกัดท่องเที่ยวเชิงกีฬา ขึ้นแท่นสนามแข่งเสือภูเขาระดับนานาชาติ พ่วงศูนย์ฝึกนักปั่นทีมชาติไทย

(26 ต.ค. 66) ประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ อดีต รมช.คมนาคม, อดีต รมช.คลัง และ สส.พิจิตร 4 สมัย เนรมิต ‘เหมืองทองอัครา’ อ.ทับคล้อ จ.พิจิตร เป็นสนามแข่งขันจักรยานเสือภูเขามาตรฐานระดับนานาชาติ สามารถใช้เป็นศูนย์เก็บตัวฝึกซ้อมนักกีฬาทีมชาติไทย และเป็นศูนย์ฝึกซ้อมนานาชาติยิ่งใหญ่ระดับโลกครบวงจรทั้งครอสคันทรี่, ดาวน์ฮิล และอิลิเนเตอร์ ซึ่งจะมีการบรรจุเข้าแข่งขันในกีฬาโอลิมปิกเกมส์ 2028 ที่นครลอสแองเจลีส สหรัฐอเมริกา โดยจะประเดิมใช้จัดการแข่งขันจักรยานเสือภูเขา ชิงแชมป์ประเทศไทย ชิงถ้วยพระราชทานฯ สนามที่ 5 ประจำปี 2567 ระหว่างวันที่ 28-30 มิ.ย.67 เป็นรายการแรก

‘เสธ.หมึก’ พลเอกเดชา เหมกระศรี ประธานสหพันธ์จักรยานแห่งอาเซียน (เอซีเอฟ) และนายกสมาคมกีฬาจักรยานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เปิดเผยว่า สมาคมกีฬาจักรยานแห่งประเทศไทยฯ ร่วมกับจังหวัดพิจิตร และองค์การบริหารส่วนจังหวัดพิจิตร เดินหน้าในการส่งเสริมให้จังหวัดพิจิตร เป็นเมืองศูนย์กลางกีฬาจักรยานเต็มตัว มีสนามแข่งขันมาตรฐานครบวงจรทั้งในประเภทถนน บีเอ็มเอ็กซ์ และเสือภูเขา หลังจากความร่วมมือแรกในการดำเนินการสร้างเส้นทางจักรยานรอบบึงสีไฟ ในโครงการพระราชดำริอุทยานระบบนิเวศในพื้นที่ชุ่มน้ำบึงสีไฟ ที่จะประเดิมเปิดสนามอย่างเป็นทางการในการแข่งขันจักรยานประเภทเสือภูเขาทางเรียบ และประเภทถนน ไทยแลนด์ โอเพ่น ชิงแชมป์ประเทศไทย ประจำปี 2567 ชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สนามที่ 1 ระหว่างวันที่ 2-3 ธันวาคม 2566

พลเอกเดชา กล่าวว่า สำหรับประเภทบีเอ็มเอ็กซ์ ทาง อบจ.พิจิตร อยู่ระหว่างดำเนินการจัดสร้างสนามแข่งขันบีเอ็มเอ็กซ์เรซซิง ให้ได้มาตรฐานของสหพันธ์จักรยานนานาชาติ (ยูซีไอ) ในพื้นที่บึงสีไฟ โดยทางสมาคมกีฬาจักรยานแห่งประเทศไทยฯ ได้ส่งทีมงานไปสำรวจพื้นที่มาเรียบร้อยแล้ว พร้อมกับวางแปลนการก่อสร้างโดย มร.ฮาวีย์ เครป ผู้เชี่ยวชาญด้านบีเอ็มเอ็กซ์ของยูซีไอ และผู้ฝึกสอนบีเอ็มเอ็กซ์ทีมชาติไทย ขณะที่ประเภทเสือภูเขา ล่าสุด นายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม, อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพิจิตร 4 สมัย ในฐานะประธานที่ปรึกษาพิเศษ องค์การบริหารส่วนจังหวัดพิจิตร มีโครงการจัดสร้างสนามแข่งขันจักรยานเสือภูเขามาตรฐานระดับนานาชาติที่สามารถใช้เป็นศูนย์เก็บตัวฝึกซ้อมนักกีฬาทีมชาติไทย และเป็นศูนย์ฝึกซ้อมนานาชาติที่ยิ่งใหญ่ระดับโลก โดยใช้พื้นที่ฟื้นฟูภายในเหมืองทองอัครา อำเภอทับคล้อ จังหวัดพิจิตร

นายกสองล้อไทย กล่าวอีกว่า การดำเนินการดังกล่าว ฝ่ายเทคนิคของสมาคมกีฬาจักรยานแห่งประเทศไทยฯ พร้อมด้วยทีมงานขององค์การบริหารส่วนจังหวัดพิจิตร เดินทางเข้าไปสำรวจพื้นที่ภายในเหมืองทองอัครา พบว่าพื้นที่ฟื้นฟูซึ่งไม่ได้ใช้งานเหมืองแล้ว มีความเหมาะสมเป็นอย่างมาก ซึ่งก็สอดคล้องกับความต้องการขององค์การบริหารส่วนจังหวัดพิจิตร ที่มีแนวคิดจะพัฒนาพื้นที่ดังกล่าวให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และการกีฬา เนื่องจากมีทัศนียภาพสวยงาม มีบ่อน้ำรูปหัวใจที่อยู่ระหว่างการพัฒนาให้เป็นแหล่งน้ำทางการเกษตรสำหรับชุมชนเกษตรกรในพื้นที่อำเภอทับคล้อ

พลเอกเดชา กล่าวต่อไปว่า จากการสำรวจพื้นที่เบื้องต้น ได้รับรายงานจากฝ่ายเทคนิคว่าสภาพภูมิประเทศมีความเหมาะสมที่จะดำเนินการจัดสร้างสนามแข่งขันครอสคันทรี่ในระดับนานาชาติ ตามมาตรฐานของยูซีไอ ในขณะเดียวกัน ก็ยังมีพื้นที่ภูเขาที่มีความสูงเพียงพอในการจัดสร้างสนามแข่งขันดาวน์ฮิลที่มีความท้าทายทั้งในเรื่องระยะทางและเทคนิค ซึ่งปัจจุบันพื้นที่ที่มีความพร้อมในการดำเนินการทั้งครอสคันทรี่และดาวน์ฮิลหาได้ยากมาก นอกจากนี้ก็จะทำสนามแข่งขันเสือภูเขาอิลิมิเนเตอร์ เพื่อรองรับสำหรับการบรรจุเข้าแข่งขันในกีฬาโอลิมปิกเกมส์ 2028 ที่นครลอสแองเจลีส ประเทศสหรัฐอเมริกา

“ในเรื่องการดำเนินการจัดสร้าง ท่านประดิษฐ์ยืนยันว่าจะได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากองค์การบริหารส่วนจังหวัดพิจิตร ทั้งในเรื่องการจัดหาเครื่องจักรที่จำเป็น ตลอดจนกำลังคนในการดำเนินการ เช่นเดียวกันกับความร่วมมือจากบริษัท อัครา รีซอสเซส ซึ่งเป็นเจ้าของสัมปทานเหมืองแร่ทองคำที่มีความประสงค์จะฟื้นฟูพื้นที่การทำเหมืองเมื่อแล้วเสร็จ ให้เกิดคุณประโยชน์ต่อพื้นที่ในทุก ๆ ด้าน เท่าที่จะสามารถดำเนินการได้ และการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงกีฬา ก็เป็นหนึ่งในนโยบายของการฟื้นฟูพื้นที่” พลเอกเดชา กล่าว

ทั้งนี้ พลเอกเดชา กล่าวเสริมว่า ในขั้นตอนถัดไป สมาคมกีฬาจักรยานแห่งประเทศไทยฯ จะส่งทีมงานฝ่ายเทคนิคจักรยานเสือภูเขา เข้าพื้นที่ดังกล่าวเพื่อสำรวจพื้นที่อย่างละเอียด จากนั้นก็จะวางแผนการดำเนินการจัดสร้างสนามแข่งขันทั้งครอสคันทรี่, ดาวน์ฮิล และอิลิมิเนเตอร์ เพื่อให้แล้วเสร็จทันการแข่งขันจักรยานเสือภูเขาชิงแชมป์ประเทศไทย ชิงถ้วยพระราชทานประจำปี 2567 ที่จังหวัดพิจิตร จะเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันสนามที่ 5 ระหว่างวันที่ 28-30 มิถุนายน 2567 ต่อไป

AIS ผุดแคมเปญ ‘ทิ้ง E-Waste รับ AIS Points’ ชวนลูกค้าทิ้งขยะอิเล็กทรอนิกส์อย่างถูกวิธี

AIS ชูภารกิจ Zero e-waste to landfill ชวนลูกค้าทิ้งขยะอิเล็กทรอนิกส์อย่างถูกวิธี ดีต่อโลก ดีต่อสิ่งแวดล้อม พร้อมผุดแคมเปญ ทิ้ง E-Waste กับ AIS รับทันที AIS Points

(26 ต.ค. 66) AIS เดินหน้าเป้าหมายการเป็นศูนย์กลางด้านการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ หรือ Hub of e-waste อย่างต่อเนื่อง ล่าสุดเปิดตัวแคมเปญ ‘ทิ้ง E-Waste รับ AIS Points’ ชวนลูกค้านำขยะอิเล็กทรอนิกส์ ไม่ว่าจะเป็น โทรศัพท์มือถือ แท็บเล็ต คอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ก อุปกรณ์เสริมมือถือ ชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ขนาดเล็ก มาทิ้งกับ AIS ที่ศูนย์บริการ AIS Shop ที่ร่วมรายการ ผ่านแอปพลิเคชัน E-Waste+ แพลตฟอร์มการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์บน Blockchain ที่จะทำให้เรารู้สถานะการทิ้งตั้งแต่ต้นจนเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลอย่างถูกวิธีโดยปราศจากการฝังกลบหรือ Zero e-waste to landfill รับทันที AIS Points สูงสุดถึง 5 คะแนน

นางสายชล ทรัพย์มากอุดม หัวหน้าหน่วยธุรกิจประชาสัมพันธ์และธุรกิจสัมพันธ์ AIS กล่าวว่า “เพื่อเป็นการตอกย้ำความพร้อมในการเป็น Hub of e-waste มุ่งสร้าง Ecosystem ในการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ ตั้งแต่การสร้างองค์ความรู้ให้ตระหนักถึงปัญหา สร้างการมีส่วนร่วมไปจนถึงการสร้างกระบวนการจัดเก็บและรีไซเคิลแบบ Zero e-waste to landfill ตามมาตรฐานสากล โดยการทำงานครั้งนี้เราได้ต่อยอดเทคโนโลยี Blockchain กับแอปพลิเคชัน E-Waste+ ในแคมเปญทิ้ง E-Waste รับ AIS Points เปลี่ยนทุกการทิ้งขยะอิเล็กทรอนิกส์ให้เป็นคะแนน AIS Points ซึ่งนอกเหนือจากการสร้างการมีส่วนร่วมให้คนไทยและลูกค้าตระหนักถึงการดูแลสิ่งแวดล้อมแล้ว การนำเทคโนโลยี Blockchain มาใช้จะช่วยทำให้ขยะ E-waste ทุกชิ้น สามารถตรวจสอบสถานะได้ทั้งกระบวนการ รวมถึงยังคำนวณขยะที่ได้ออกมาเป็น Carbon Scores เพื่อให้ทราบว่าเราช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกไปเป็นปริมาณเท่าไหร่จากการร่วมทิ้ง E-Waste ในครั้งนี้” 

สำหรับลูกค้า AIS สามารถร่วมแคมเปญ ‘ทิ้ง E-Waste รับ AIS Points’ ได้ง่าย ๆ เพียงนำขยะอิเล็กทรอนิกส์ อาทิ โทรศัพท์มือถือเก่า แท็บเล็ตเสีย คอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ก อุปกรณ์เสริมมือถือ ชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ขนาดเล็กที่ไม่ใช้แล้ว มาทิ้งกับ AIS ที่ศูนย์บริการ AIS Shop ที่ร่วมรายการ โดยสามารถทิ้งผ่านแอปพลิเคชัน E-Waste + ก็รับทันที AIS Points สามารถดูรายละเอียดที่ https://sustainability.ais.co.th/th/update/e-waste/686/aisewaste-aispoints  

บิ๊กดีล!! WHA เซ็นขายที่นิคมฯ 250 ไร่ให้ ‘ฉางอาน ออโต้ฯ’ ตั้งฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแห่งแรก เพื่อส่งออกทั่วโลก

(26 ต.ค. 66) บริษัท ดับบลิวเอชเอ อินดัสเตรียล ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) ในเครือดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป ลงนามในสัญญาซื้อขายที่ดินครั้งใหญ่กับบริษัท ฉางอาน ออโต้ เซ้าท์อีส เอเชีย จำกัด หนึ่งในกลุ่มยานยนต์ชั้นนำ 4 กลุ่มของจีน จำนวน 250 ไร่ ในนิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ อีสเทิร์น ซีบอร์ด 4 ของดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป บนพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เพื่อสร้างโรงงานผลิตยานยนต์ไฟฟ้า นับเป็นการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment) ครั้งสำคัญแห่งปี 2566 สะท้อนถึงศักยภาพและการบูรณาการด้านการส่งเสริมการลงทุนอันโดดเด่นของประเทศไทย และมาตรฐานการจัดการนิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศน์อัจฉริยะ (Smart ECO Industrial Estate) ของดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป นับเป็นการก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าครบวงจรชั้นนำของโลก

ในพิธีลงนามในสัญญาครั้งสำคัญนี้ ได้รับเกียรติจาก มิสจาง เซียว เซียว อัครราชทูตจีน ประจำแผนกพาณิชย์ สถานทูตจีนประจำประเทศไทยร่วมเป็นสักขีพยาน โดยมีนางสาวจรีพร จารุกรสกุล ประธานคณะกรรมการบริหาร และประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และนายเซิน ซิงหัว กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฉางอาน ออโต้ เซ้าท์อีส เอเชีย จำกัด และกรรมการผู้จัดการและประธานกรรมการ บริษัท ฉางอาน ออโต้ เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด เป็นผู้ลงนามในสัญญา

นายเซิน ซิงหัว กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฉางอาน ออโต้ เซ้าท์อีส เอเชีย จำกัด และกรรมผู้จัดการและประธานกรรมการ บริษัท ฉางอาน ออโต้ เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า การตัดสินใจลงทุนจัดตั้งโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย ใช้เงินลงทุนในเฟสแรกกว่า 8,862 ล้านบาท เพื่อตั้งฐานการผลิตรถยนต์พวงมาลัยขวา ทั้งประเภท BEV, PHEV, REEV (Range Extended EV) สำหรับจำหน่ายในไทยและส่งออกสู่ภูมิภาคอาเซียน ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อังกฤษ และแอฟริกาใต้ ด้วยกำลังการผลิตรถยนต์ 100,000 คันต่อปี รวมถึงจัดตั้งโรงงานผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า คาดว่าจะเริ่มผลิตรถยนต์ได้ในปี 2568 โดยบริษัทยังเล็งเห็นถึงศักยภาพของไทยมากกว่าการเป็นฐานการผลิต จึงมีแผนจัดตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนารถยนต์ในไทยในระยะต่อไปอีกด้วย

ด้วยทำเลที่ตั้งและชื่อเสียงของดับบลิวเอชเอ กรุ๊ปในฐานะผู้พัฒนานิคมอุตสาหกรรมชั้นนำของภูมิภาค ซึ่งนิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ อีสเทิร์นซีบอร์ด 4 มีทำเลที่ตั้งอันโดดเด่นบนพื้นที่เขตส่งเสริมอุตสาหกรรมเป้าหมายของอีอีซี ทรัพยากรบุคคลที่มีคุณภาพ ระบบสาธารณูปโภคและบริการระดับเวิลด์คลาส รวมไปถึงการขนส่งและโครงสร้างพื้นฐานคุณภาพสูง และการขยายคลัสเตอร์ยานยนต์ในอีอีซีด้วย

นางสาวจรีพร จารุกรสกุล ประธานคณะกรรมการบริหาร และประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การตัดสินใจลงทุนของฉางอานฯโดยเลือกดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป ให้เป็นส่วนหนึ่งของแผนการจัดตั้งฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแห่งใหม่ในไทย ซึ่งการลงนามในสัญญาซื้อขายที่ดินครั้งนี้ถือเป็นความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่แห่งปี ของความร่วมมือระหว่างภาครัฐกับเอกชน ในการส่งเสริมภาคอุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคต และการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทย ตลอดจนเป็นสิ่งยืนยันได้ว่า ประเทศไทยคือจุดหมายด้านการลงทุนอุตสาหกรรมไฮเทคจากต่างประเทศที่สำคัญของเอเชีย

ปัจจุบัน การเข้ามาลงทุนตั้งฐานการผลิตของผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้ารายใหญ่ของโลกจำนวนมาก ส่งผลให้เกิดการขยายคลัสเตอร์ยานยนต์ในอีอีซีอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยในปัจจุบันผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าจากประเทศจีนได้เข้ามาลงทุนในประเทศไทย โดยมีมูลค่าการลงทุนกว่า 1.44 พันล้านดอลลาร์ ช่วยผลักดันให้ประเทศไทยกลายเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า ที่สำคัญในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นเครื่องแสดงให้เห็นถึงความพร้อมของประเทศไทย ในการก้าวสู่การเป็นหนึ่งในศูนย์กลางยานยนต์ไฟฟ้าสำคัญของโลกต่อไป โดยที่ผ่านมาบีโอไอได้อนุมัติโครงการยานยนต์ไฟฟ้าไปแล้ว 23 โครงการจาก 16 บริษัท และภายในปี 2573 รถยนต์พลังงานไฟฟ้าจะมีสัดส่วน 30% ของการผลิตรถยนต์ทั้งหมดของประเทศไทย หรือ 725,000 คันต่อปี

นิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ อีสเทิร์นซีบอร์ด 4 เป็นนิคมอุตสาหกรรมลำดับที่ 9 ของดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป ในประเทศไทย มีพื้นที่ทั้งหมด 2,443 ไร่ (รวมพื้นที่ส่วนขยาย) ตั้งอยู่ในทำเลยุทธศาสตร์ของอีอีซีที่เอื้อต่อการส่งออกสู่ภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วโลก ทั้งทางบก ทางเรือ และทางอากาศ ได้รับการออกแบบให้เป็นนิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศน์อัจฉริยะ (Smart ECO Industrial Estate)

โดยมีโครงสร้างพื้นฐาน และระบบสาธารณูปโภคที่ได้มาตรฐานระดับโลก เพียบพร้อมด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรมล่าสุดต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านการสื่อสาร การคมนาคมขนส่ง การรักษาความปลอดภัย การควบคุมด้านสิ่งแวดล้อม ไปจนถึงการผลิตและการบำบัดน้ำเสีย และมีการเชื่อมต่อกับศูนย์ควบคุมส่วนกลางของดับบลิวเอชเอ (Unified Operation Center หรือ UOC) ทำให้บริษัทฯ สามารถตรวจสอบสภาวะด้านสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ได้แบบเรียลไทม์ ซึ่งสอดคล้องกับพันธกิจของดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป ในการพัฒนาธุรกิจเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน The Ultimate Solution for Sustainable Growth

“การตัดสินใจลงทุนในประเทศไทยของฉางอาน ออโต้ เซ้าท์อีส เอเชีย มีความสำคัญอย่างยิ่ง ต่อการส่งเสริมบทบาทของประเทศไทยในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าบนเวทีโลก เพราะนอกจากแสดงถึงความเชื่อมั่นของฉางอาน ออโต้ เซ้าท์อีส เอเชีย ที่มีต่อประเทศไทยทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐาน ศักยภาพของตลาด นโยบายเชิงรุกในการส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า รวมทั้งระบบโลจิสติกส์และซัพพลายเชนที่ครบวงจรพร้อมรองรับการผลิต ดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป พร้อมสนับสนุนนโยบายรัฐบาล โดยเฉพาะแผนยุทธศาสตร์ชาติในการผลักดันให้ประเทศไทยมุ่งสู่การเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนที่สำคัญของโลก ตลอดจนการขยายเครือข่ายสถานีชาร์จ และการผลิตแบตเตอรี่สำหรับยานยนต์ไฟฟ้า เพื่อส่งเสริมให้เกิดระบบนิเวศของยานยนต์ไฟฟ้าอย่างครบวงจร สู่การบรรลุเป้าหมายการใช้ยานยนต์ที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ (Zero Emission Vehicle) ภายในปี 2573 หรือ 2030 ซึ่งสอดคล้องกับความมุ่งมั่นของดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป ที่จะบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2050” นางสาวจรีพร กล่าว

‘นายกฯ’ ปักหมุดไทยศูนย์กลางผลิตรถ EV - ชิ้นส่วนในอาเซียน พร้อมหนุนสร้างศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติ เฟส 2

(26 ต.ค. 66) นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง กล่าวถึงเรื่องการเร่งเครื่องลงทุนในอุตสาหกรรมรถยนต์ทั้งแบบสันดาปและอีวี ว่า เป็นที่ทราบกันดีว่าประเทศไทยเป็นเบอร์ 1 ที่มีโรงงานผลิตรถยนต์อีวี และมีอัตราการใช้รถอีวีที่มีอัตราการเติบโตสูงสุด ซึ่งตนได้ให้ความมั่นใจกับนักลงทุนในสหรัฐฯ ไปว่า มีการสนับสนุนการประกอบรถยนต์อีวีอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ยังไม่ทราบว่าสิทธิประโยชน์ทางด้านภาษีจะให้ได้นานขนาดไหน ซึ่งไทยจำเป็นต้องดูแลพาร์ตเนอร์เก่ารายใหญ่ที่สุดในรอบ 50-60 ปี คือญี่ปุ่น ซึ่งเป็นรถแบบสันดาป แต่ก็กำลังค่อย ๆ เฟดลงไป

ส่วนการขับเคลื่อนโครงการสร้างศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติ ที่เป็นสนามทดสอบสมรรถนะและความเร็วของรถซึ่งสร้างที่จังหวัดฉะเชิงเทราไปแล้วเฟสแรก เพื่อรองรับ จะสนับสนุนการลงทุนในเฟสที่ 2 ต่อหรือไม่ อย่างไรนั้น นายกฯ กล่าวว่า ยังไม่ทราบรายละเอียดของโครงการนี้ จึงต้องขอดูเรื่องก่อน แต่ยืนยันว่า ถ้าเป็นเรื่องที่ดี ทำให้ชีวิตของพี่น้องประชาชนดีขึ้นก็พร้อมสนับสนุน

สำหรับความคืบหน้าการก่อสร้างโครงการศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติ ซึ่งสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เป็นผู้ดำเนินโครงการดังกล่าว โดยดำเนินอยู่บนพื้นที่ 1,235 ไร่ บริเวณเขตสวนป่าลาดกระทิง ตำบลลาดกระทิง อำเภอสนามชัยเขต จังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งอยู่ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) โดยการลงทุนของภาครัฐทั้งหมดภายใต้กรอบวงเงิน 3,705.7 ล้านบาท  

ซึ่งเมื่อวันที่ 10 ก.พ. 66 ที่ผ่านมา นายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ได้ลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าการก่อสร้างโครงการ พบว่าได้ดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จกว่า 55% ใช้งบประมาณไปแล้ว 2,038 ล้านบาท คงเหลือการดำเนินงานอีก 45% ในวงเงินประมาณ 1,667.69 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2569 หากแล้วเสร็จสมบูรณ์ ศูนย์ทดสอบแห่งนี้จะกลายเป็นฮับการทดสอบมาตรฐานอันดับ 1 ในอาเซียนและอันดับที่ 11 ของโลก

ล่าสุดทางสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เปิดให้มีการประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ โครงการประกวดราคาจ้างก่อสร้างสนามทดสอบความเร็วและสมรรถนะ และการป้องกันดินสไลด์สู่สนามทดสอบยางล้อ ตามมาตรฐาน UN R117 ต.ลาดกระทิง อ.สนามชัยเขต จ.ฉะเชิงเทรา 1 สนาม ได้โดยมีข้อมูลอยู่ในระบบอีบิดดิ้ง มีผู้แข่งขัน 2 รายและมีผู้รับการคัดเลือก เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยบริษัทผู้รับคัดเลือกมีราคาต่ำสุด อยู่ที่ 844,230,000 บาท  

โดยคาดว่าจะมีการประกาศรายชื่อบริษัทที่ชนะการประกวดราคาทางอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อเดินหน้าก่อสร้างโครงการดังกล่าวในเร็ว ๆ นี้ ให้สามารถดำเนินโครงการในแต่ละระยะให้แล้วเสร็จทั้งโครงการและเปิดใช้บริการได้ในปี 2569 ตามกรอบเวลาของโครงการ

‘กรมทรัพย์สินทางปัญญา’ ขึ้นทะเบียน ‘มังคุดทิพย์พังงา’ เป็นสินค้า GI มุ่งจัดระบบควบคุมคุณภาพสินค้า-สร้างมูลค่าเพิ่ม-ดึงรายได้สู่ชุมชนอย่างยั่งยืน

(26 ต.ค. 66) นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เปิดเผยว่า กรมทรัพย์สินทางปัญญาได้ขึ้นทะเบียน ‘สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์’ หรือ ‘GI’ เพื่อคุ้มครองสินค้าที่มีอัตลักษณ์เฉพาะในแต่ละท้องถิ่น เพิ่มมูลค่าสินค้า สร้างรายได้ให้แก่ชุมชนอีกทั้งยังเป็นการควบคุมคุณภาพสินค้าเพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้บริโภค

ล่าสุด กรมทรัพย์สินทางปัญญาได้ประกาศขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) รายการใหม่ คือ ‘มังคุดทิพย์พังงา’ พืชเศรษฐกิจที่สำคัญของจังหวัดพังงา ที่มีการเพาะปลูกกันมาอย่างยาวนาน มีชื่อเสียงและมีผลผลิตจำหน่ายทั้งในและต่างประเทศ โดยมีตลาดส่งออกที่สำคัญ เช่น จีน เวียดนาม เป็นต้น สร้างรายได้เข้าสู่ชุมชนกว่า 280 ล้านบาท

‘มังคุด’ ถือเป็นราชินีแห่งผลไม้เมืองร้อน รสชาติอร่อย เป็นที่นิยมของผู้บริโภค โดยชื่อ ‘ทิพย์พังงา’ มีความหมายว่า ‘ผลไม้ของเทวดาที่มีรสเลิศจากจังหวัดพังงา’ มีลักษณะเด่นคือ เป็นมังคุดพันธุ์พื้นเมือง ผลทรงกลม เปลือกค่อนข้างหนา แห้ง แตกลาย เนื้อสีขาว หนานุ่ม ไม่ฉ่ำน้ำ รสชาติหวานอมเปรี้ยว ปลูกและผลิตในเขตพื้นที่จังหวัดพังงา ซึ่งสภาพพื้นที่ส่วนใหญ่มีความลาดชัน ดินระบายน้ำดี อีกทั้งลักษณะภูมิอากาศแบบมรสุมเมืองร้อน ทำให้จังหวัดพังงามี 2 ฤดู คือ ฤดูฝนและฤดูร้อน

ด้วยสภาพภูมิประเทศและสภาพภูมิอากาศดังกล่าว ประกอบกับกระบวนการปลูกมังคุดของเกษตรกรชาวพังงาที่เน้นการดูแลรักษาแบบธรรมชาติ จึงเกิดเพลี้ยไฟในช่วงออกดอกและติดผลอ่อน มีผลดีคือ ทำให้โครงสร้างของผิวเปลือกเปลี่ยนแปลง มีรอยแยกระหว่างเซลล์เกิดเป็นช่องว่างบนผิว ทำให้ผิวของผลมังคุดส่วนใหญ่มีลักษณะเป็นลาย ระบายน้ำในผลออกมาได้ดี ส่งผลให้เนื้อมังคุดสีขาว แห้ง ไม่ฉ่ำน้ำ และเปลือกมังคุดค่อนข้างหนาทำให้เนื้อมังคุดไม่ช้ำง่าย

‘มังคุดทิพย์พังงา’ ถือเป็นสินค้า GI ลำดับที่ 3 ของจังหวัดพังงา ต่อจากทุเรียนสาลิกาพังงา และข้าวไร่ดอกข่าพังงาที่ได้ขึ้นทะเบียน GI ไปก่อนหน้านี้ ซึ่งกรมทรัพย์สินทางปัญญาจะเดินหน้าส่งเสริมการจัดทำระบบควบคุมคุณภาพสินค้า และสนับสนุนช่องทางการตลาด เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า และสร้างรายได้ให้เกษตรกรในชุมชนอย่างยั่งยืน

ทั้งนี้ กรมทรัพย์สินทางปัญญา ขอเชิญชวนทุกท่านติดตามข่าวสารความเคลื่อนไหว และร่วมสนับสนุนผู้ประกอบการสินค้า GI ได้ที่ Facebook Page : GI Thailand หรือโทรสายด่วน 1368

‘ที่ปรึกษา รมว.อุตฯ’ ร่วมเปิดงาน ‘LogiMAT 2023’ หนุน ‘โรงงาน-คลังสินค้า’ เป็นต้นแบบอุตฯ ไร้คาร์บอน

(26 ต.ค. 66) นายดนัยณัฏฐ์ โชคอำนวย ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานในพิธีเปิดงาน LogiMAT | Intelligent Warehouse 2023 จัดโดย บริษัท เอ็กซ์โปลิงค์ โกลบอลเน็ทเวอร์ค จำกัด ร่วมกับสมาคมการจัดการระบบคลังสินค้าไทย โดยมีภาคส่วนเอกชนที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม ณ อิมแพค เอ็กซิบิชั่น เซ็นเตอร์ ฮอลล์ 5-6 ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี

ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ธุรกิจคลังสินค้าเป็นอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญ และเป็นฟันเฟืองเศรษฐกิจที่สามารถกระตุ้นรายได้มวลรวมของประเทศ โดยในปัจจุบัน ระบบคลังสินค้าได้มีการปรับเปลี่ยนสู่ระบบอัจฉริยะ ที่นำระบบคอมพิวเตอร์ เทคโนโลยี จนถึงระบบอัตโนมัติ เข้ามาสนับสนุนธุรกิจ โดยสามารถช่วยลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันรวมถึงการขยายสายป่านของผลิตภัณฑ์และขอบเขตการให้บริการได้อย่างครอบคลุมและทั่วถึง ทำให้ระบบอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ของประเทศไทยสามารถขยายตัวอย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น 

การจัดงาน ‘LogiMAT Intelligent Warehouse’ ถือเป็นนิมิตหมายอันดี ที่จะสามารถนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่มีความเหมาะสมให้เข้ามาเป็นส่วนช่วยทำให้ธุรกิจอินทราโลจิสติกส์ (Intralogistics) ในประเทศไทยเกิดการเติบโตได้อย่างมั่นคง อีกทั้งช่วยสนับสนุนการขับเคลื่อนในส่วนของโรงงานและการบริหารจัดการคลังสินค้าให้เกิดต้นแบบอุตสาหกรรมคาร์บอนที่เป็นศูนย์ (Zero Carbon Industry) เพื่อรองรับการเจริญเติบโตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เน้นในภาคการผลิต การใช้พลังงานสะอาด ซึ่งเป็นกลไกหลักในการดึงดูดเม็ดเงินลงทุน ในภาคอุตสาหกรรมทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมยินดีที่จะร่วมขับเคลื่อน สนับสนุนและบูรณาการความร่วมมือกับทุกภาคส่วน เพื่อก่อให้เกิดการผลักดันและขับเคลื่อนที่เป็นประโยชน์ต่อภาคอุตสาหกรรมของประเทศไทย

ทั้งนี้ งานแสดงสินค้าเทคโนโลยีคลังสินค้าและระบบจัดการ ‘LogiMAT IntelligentWarehouse 2023’ จะจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 25-27 ตุลาคม 2566 ณ อิมแพ็ค เอ็กซิบิชั่น เซ็นเตอร์ ฮอลล์ 5-6 ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี

‘ผู้แทนการค้าไทย’ หารือความร่วมมือฯ ทูต ‘กลุ่มประเทศเบเนลักซ์’ หวังเจาะตลาดยุโรปเพิ่ม ผลักดันเอฟทีเอ ‘ไทย-อียู’ สำเร็จใน 2 ปี

(27 ต.ค. 66) นางนลินี ทวีสิน ผู้แทนการค้าไทย เปิดเผยถึงการหารือกับเอกอัครราชทูตกลุ่มประเทศเบเนลักซ์ประจำประเทศไทย นางซีบีย์ เดอ การ์ตีเย ดีฟว์ เอกอัครราชทูตราชอาณาจักรเบลเยียม, นายแพทริก เฮมเมอร์ เอกอัครราชทูตราชรัฐลักเซมเบิร์ก และนายเร็มโก โยฮันเนิส ฟัน ไวน์คาร์เดิน เอกอัครราชทูตราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลนโยบายและแนวทางยกระดับความร่วมมือระหว่างประเทศไทย กับสหภาพยุโรปและกลุ่มประเทศเบเนลักซ์ โดยเฉพาะเรื่องการจัดทำความตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) ไทย-สหภาพยุโรป ที่เป็นคู่ค้าอันดับ 4 ของไทย รองจากจีน สหรัฐฯ และญี่ปุ่น ไม่รวมอาเซียน โดยการค้ารวมมีมูลค่า 41,038.10 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือคิดเป็น 6.95% ของการค้าไทยในตลาดโลก

นางนลินี กล่าวว่า การเจรจาความตกลงฯ ไทย-สหภาพยุโรป หยุดชะงักมาตั้งแต่ปี 2557 ต่อมาเดือน มี.ค. 2566 ทั้งสองฝ่ายได้ร่วมกันประกาศเปิดการเจรจาอย่างเป็นทางการ โดยวางแผนว่าจะจัดการประชุมปีละ 3 ครั้ง ตั้งเป้าเบื้องต้นเพื่อหาข้อสรุปการเจรจาภายใน 2 ปี โดยเริ่มเจรจารอบแรก ณ กรุงบรัสเซลล์ เมื่อวันที่ 18 - 22 ก.ย. ที่ผ่านมา โดยการเจรจาเป็นไปด้วยดี และเราหวังว่าจะได้รับการสนับสนุนการเจรจา เพื่อให้สามารถสรุปผลและบังคับใช้ได้โดยเร็ว ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการสร้างโอกาสทางการค้าและการลงทุนระหว่างไทยกับสหภาพยุโรป รวมถึงประเทศเบลเยียม เนเธอร์แลนด์ และลักเซมเบิร์ก ด้วย และไทยมีกำหนดเป็นเจ้าภาพจัดการเจรจารอบต่อไปในเดือน ม.ค. 2567

นางนลินี กล่าวว่า นายกรัฐมนตรี เน้นย้ำว่า รัฐบาลมีแนวทางสร้างรายได้โดยใช้การทูตเศรษฐกิจเชิงรุก เพื่อเปิดประตูการค้าสู่ตลาดใหม่ หนึ่งในนั้นคือ กลุ่มสหภาพยุโรป และมุ่งเน้นพัฒนาเศรษฐกิจใหม่ เช่น พัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล อุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูง อุตสาหกรรมสีเขียว และสานต่อนโยบาย Carbon Neutrality ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายข้อตกลงสีเขียว (EU Green Deal) ของสหภาพยุโรป ที่ต้องการสร้างสังคมที่เป็นธรรมบนพื้นฐานเศรษฐกิจที่ทันสมัย ใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ และตั้งเป้าลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 55% ภายในปี 2030 และลดเป็นศูนย์ภายในปี 2050

ทั้งนี้ ไทยคาดหวังว่าจะมีการพูดคุยและร่วมมือเชิงลึกเกี่ยวกับมาตรการ การรายงานข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของสินค้าแต่ละชนิด เพื่อลดภาระของผู้ประกอบการไทยในการส่งสินค้าออกไปยังสหภาพยุโรปต่อไป

'สุริยะ' เผย 'สนามบินเชียงใหม่' พร้อมเปิดให้บริการ 24 ชม. รองรับ นทท. ตามนโยบาย 'Quick-Win' เริ่ม!! 1 พ.ย.นี้

(27 ต.ค. 66) นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ตามที่ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีมีข้อสั่งการในการอำนวยความสะดวกการเดินทางและรองรับนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางเข้ามายังประเทศไทยในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว (ไฮซีซั่น) อาทิ นักท่องเที่ยวจีน ภายหลังรัฐบาลมีนโยบายวีซ่าฟรี รวมถึงรองรับนักท่องเที่ยวจากยุโรปและประเทศอื่น ๆ ที่มีแนวโน้มว่าจำนวนนักท่องเที่ยวจะเพิ่มมากขึ้นในอนาคต ตามนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น (Quick-Win) ของรัฐบาลนั้น

ทั้งนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายดังกล่าว บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. จึงเตรียมเปิดดำเนินการท่าอากาศยานเชียงใหม่ ตลอด 24 ชั่วโมง (ชม.) ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2566 เป็นต้นไป จากเดิมเปิดดำเนินการทำการบิน 18 ชม. หรือตั้งแต่เวลา 06.00 - 24.00 น. เพื่อรองรับนักท่องเที่ยว และเที่ยวบินที่จะเดินทางมายังจังหวัดเชียงใหม่

อย่างไรก็ตามสำหรับเที่ยวบินแรกที่จะเริ่มทำการบิน ภายหลังท่าอากาศยานเชียงใหม่เปิดดำเนินการ 24 ชม. นั้น คือ สายการบินไทยเวียตเจ็ท เที่ยวบินที่ VZ822 เส้นทางเชียงใหม่ - โอซาก้า ออกจากท่าอากาศยานเชียงใหม่ เวลา 00.30 น. ของวันที่ 1 พฤศจิกายน 2566 (คืนวันที่ 31 ตุลาคม 2566) เดินทางถึงท่าอากาศยานคันไซ (โอซาก้า) เวลา 07.50 น. (ตามเวลาท้องถิ่น)

ขณะเดียวกันยังได้สั่งการให้ ทอท. หารือร่วมกับสายการบินและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาจัดตารางการบินให้เหมาะสม และเกิดผลกระทบต่อประชาชนให้น้อยที่สุด และให้ดำเนินการเป็นไปตามรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) รวมทั้งให้มีมาตรการในการดูแลเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบตามที่กฎหมายกำหนด อย่างไรก็ตาม ให้ ทอท. จัดทำประชาพิจารณ์รับฟังความคิดเห็นจากประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบอีกครั้งต่อไป

นอกจากนี้ ให้เตรียมความพร้อมรองรับนักท่องเที่ยวในทุกมิติ เช่น สถานที่ บุคลากร และสิ่งอำนวยความสะดวก เป็นต้น อีกทั้งให้ประสานระบบขนส่งสาธารณะเพื่อรับ - ส่งนักท่องเที่ยว เข้าไปยังที่พัก และสถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ ให้มีความสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย ตามนโยบาย “Transport Future for All : คมนาคมแห่งอนาคต เพื่อประชาชนทุกคน” ขณะเดียวกัน มอบหมายให้ ทอท. พิจารณาจัดสรรพื้นที่ในท่าอากาศยานเชียงใหม่ เพื่อให้วิสาหกิจชุมชนฯ นำผลิตภัณฑ์มาจำหน่ายแก่นักท่องเที่ยวที่เดินทางมาจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อสร้างรายได้ และกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่อีกด้วย

นายสุริยะ กล่าวต่อว่า สำหรับการเตรียมพร้อมเพื่อเปิดให้บริการ 24 ชม. นั้น ท่าอากาศยานเชียงใหม่ได้บูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สายการบิน และผู้ประกอบการ เพื่อเตรียมบุคลากรให้สามารถปฏิบัติงานได้ครอบคลุมเวลาเปิดให้บริการ โดยคาดว่าช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2566 ซึ่งเป็นช่วงฤดูกาลท่องเที่ยวของประเทศไทย จะมีเที่ยวบินและผู้โดยสารเส้นทางระหว่างประเทศของท่าอากาศยานเชียงใหม่เพิ่มขึ้นประมาณ 30% จากปัจจุบันมีผู้โดยสารระหว่างประเทศเฉลี่ยประมาณ 4,800 คนต่อวัน มีเส้นทางระหว่างประเทศ 20 เส้นทาง และมีเที่ยวบินระหว่างประเทศขาเข้าและขาออก (เที่ยวบินปกติ - เที่ยวบินพิเศษ) รวม 36 เที่ยวบินต่อวัน

อย่างไรก็ตาม จังหวัดเชียงใหม่เป็นอีกหนึ่งจังหวัดที่มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีเที่ยวบินระหว่างประเทศ รวมทั้งเป็นจังหวัดที่มีศักยภาพด้านการท่องเที่ยวอย่างมาก ดังนั้น การขยายเวลาการเปิดให้บริการของท่าอากาศยานเชียงใหม่เป็น 24 ชม. ถือเป็นการปลดล็อกข้อจำกัดด้านเวลาที่จะช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยว รองรับเที่ยวบินระยะกลางหรือระยะไกล ที่ใช้เวลาบินออกจากท่าอากาศยานเชียงใหม่หลังเวลา 24.00 น. เพื่อไปถึงประเทศปลายทางในตอนเช้า รวมถึงเป็นการเพิ่มตารางการบิน (Slot) และเที่ยวบิน ให้สายการบินมีทางเลือกในการจัดตารางการบินด้วย

'อ.พงษ์ภาณุ' เปิด 4 เหตุผล มาตรการแจกเงินดิจิทัลต้องรันต่อ อย่าพะวงเสียงวิจารณ์ ในจังหวะประเทศโตอืดมานาน

ทีมข่าว THE STATES TIMES ได้พูดคุยกับ อ.พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ระดับประเทศ ที่พูดคุยในรายการ Easy Econ ซึ่งออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES ในประเด็น 'มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ...ถึงเวลาแล้วหรือยัง ใครได้ใครเสีย?' เมื่อวันที่ 29 ต.ค.66 โดย อ.พงษ์ภาณุ กล่าวว่า...

ขณะนี้น่าจะเป็นเวลาเหมาะสมที่รัฐบาลจะใช้มาตรการทางการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ (Fiscal Stimulus) และการออกมาวิพากษ์วิจารณ์ของนักวิชาการรวมทั้งธนาคารแห่งประเทศไทย แม้จะสามารถทำได้ แต่ก็ล้วนไร้เหตุผลที่น่าเชื่อถือและอาจมีวัตถุประสงค์ทางการเมืองแอบแฝง

ทั้งที่ในความเป็นจริง ตัวชี้วัดสำคัญที่บ่งบอกว่าเศรษฐกิจไทยกำลังหดตัว คือ สินเชื่อธนาคารพาณิชย์ เพราะโดยปกติสินเชื่อธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบจะเติบโตต่อปีประมาณ 1.5 เท่าของอัตราเติบโตของ GDP แต่หลายเดือนที่ผ่านมาสินเชื่อธนาคารพาณิชย์กลับติดลบแบบ YOY ซึ่งเป็นสัญญาณที่น่ากลัวมาก ซึ่งผมหวังว่านักวิชาการและธนาคารแห่งประเทศไทยน่าจะหัดดูตัวเลขเหล่านี้บ้าง ยังจะเป็นประโยชน์กว่าไปลอกตำราฝรั่งมา

ฉะนั้น หากมองมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ว่าจะจำเป็นหรือไม่นั้น ก็ขึ้นอยู่กับเหตุผลทางเศรษฐกิจ การคลัง และรูปแบบของมาตรการเอง เศรษฐกิจไทยเติบโตต่ำกว่าศักยภาพมาเป็นเวลานาน นับจากวิกฤตต้มยำกุ้งเมื่อ 2540 ความขัดแย้งทางการเมืองเสื้อเหลืองเสื้อแดง การปฏิวัติรัฐประหาร รวมทั้งวิกฤตโควิดก็ทำให้ไทยได้รับผลกระทบมากว่าประเทศอื่น แม้ว่าวิกฤตจะผ่านไปแล้วเศรษฐกิจไทยก็ไม่สามารถฟื้นตัวกลับมาสู่ระดับก่อนโควิดได้เหมือนประเทศอื่น แนวโน้มระยะข้างหน้าก็ไม่สู้จะดีนัก เมื่อพิจารณาเศรษฐกิจโลกที่กำลังได้รับผลกระทบจากภาวะสงคราม และอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับสูง

สถานการณ์ช่องว่างทางการคลัง (Fiscal Space) ของไทยยังถือว่ามีอยู่ค่อนข้างมาก แม้ว่ารัฐบาลที่ผ่านมาจะสร้างหนี้สาธารณะไว้เป็นจำนวนมาก แต่ระดับหนี้สาธารณะที่ 62%ของ GDP ก็ถือว่าไม่สูงนักเมื่อเทียบกับประเทศอื่นที่มีหนี้เกิน 100% ขึ้นไปทั้งนั้น ส่วนสภาพคล่องในตลาดการเงิน แม้ว่าจะตึงตัวขึ้นบ้างและอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้น แต่ยังถือว่าตลาดยังเปิดสำหรับการกู้ยืมโดยภาครัฐ ทั้งนี้คำนึงจาก Yield Curve ที่อยู่ในระดับค่อนข้างต่ำ และเงินเฟ้อในประเทศที่เข้าใกล้ศูนย์เข้าไปทุกที

รูปแบบของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจก็มีความสำคัญต่อผลสัมฤทธิ์ของมาตรการ Fiscal Stimulus ที่ดีจะต้องมีคุณสมบัติ 4 T ได้แก่ Timely / Targeted / Temporary และ Transparent มาตรการเงินดิจิทัลของรัฐบาลมีคุณสมบัติครบทั้ง 4 ประการ กล่าว คือ...

1) ทันการสามารถอัดฉีดการใช้จ่ายเงินเข้าภาคเศรษฐกิจจริงได้ทันที ต่างจากข้อเสนอให้ใช้การลงทุนภาครัฐ ที่อาจต้องใช้เวลาอย่างน้อย 4-5 ปีกว่าจะบังเกิดผล 

2) มีเป้าหมายชัดเจน เพราะมุ่งให้เกิดการใช้จ่ายบริโภคกระจายไปทั่วประเทศและกระตุ้นการผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคในประเทศเพิ่มขึ้น 

3) ชั่วคราว ใช้แล้วจบ ไม่ฝังอยู่ในโครงสร้างทางการคลัง และไม่เป็นภาระการคลังในระยะ และที่สำคัญที่สุด 

4) โปร่งใสและตรวจสอบได้ เพราะระบบดิจิทัลจะสามารถแสดงข้อมูลแบบ Online และ Real time เพื่อให้ประชาชนเจ้าของเงินภาษีสามารถติดตามตรวจสอบการใช้จ่ายเงินของรัฐบาลไปพร้อมๆ กับองค์กรตรวจสอบอย่างมีประสิทธิภาพ

อ.พงษ์ภาณุ ยังกล่าวทิ้งท้ายอีกว่า "ส่วนประเด็นที่ว่าทำไมแจกทุกคนเหมือนกันหมด อยากเรียนว่ามาตรการนี้ไม่ใช่เรื่องสังคมสงเคราะห์หรือสวัสดิการสังคม แต่เป็นเรื่องการกระตุ้นเศรษฐกิจ คนไทยทุกคนไม่ว่ารวยหรือจนก็ได้รับผลกระทบจากโควิดหรือสงครามเหมือนกันหมด และคนไทยทุกคนก็ควรมีโอกาสใช้จ่ายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจเหมือนกัน รัฐบาลสหรัฐฯ ทั้งทรัมป์และไบเดน ก็ได้จ่ายเช็คไปยังทุกครัวเรือนในจำนวนเท่ากันเพื่อให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ฟื้นจากโควิดได้อย่างรวดเร็ว"

ถอดกลยุทธ์ 'ท่องเที่ยวไทย' ยุคดิจิทัล พิชิตเป้า 25 ล้านนักท่องเที่ยว พร้อมวอนคนไทยต้อง Land of Smile ไม่เผลอ Crocodile Smile

จากรายการ THE TOMORROW ออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES เมื่อวันที่ 28 ต.ค.66 ได้พูดคุยกับ คุณนรินทร์ ทิจะยัง ผู้อำนวยการฝ่ายดิจิทัลและเทคโนโลยีสารสนเทศ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ถึงภาพรวมการท่องเที่ยวไทยในปี พ.ศ. 2566 โดยมีเนื้อหาดังนี้...

ปีนี้ประเทศไทยตั้งเป้าหมายนักท่องเที่ยวเข้าไปอยู่ที่ 25 ล้านคน ขณะนี้มีนักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวเมืองไทยประมาณ 21 ล้านคนแล้ว ซึ่งมีโอกาสเป็นไปตามเป้า 

ส่วนผลกระทบเรื่องสงครามในตะวันออกกลางก็ไม่น่าห่วงเท่าไหร่ อาจมีการชะลอตัวลงบ้าง เนื่องจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศ (ททท.) มีการกระจายความเสี่ยงของนักท่องเที่ยวไว้หลากหลายตลาด ทั้งในยุโรป, สหรัฐอเมริกา และโดยเฉพาะในตลาดเอเชีย ซึ่งมีการกระจายไว้หลายส่วน 

โดย Top 5 ก็จะเป็นนักท่องเที่ยวจาก มาเลเซีย, จีน, เกาหลีใต้, อินเดีย และรัสเซีย ส่วนนักท่องเที่ยวชาวไทยเราก็ตั้งเป้าไว้ทั้งปี เฉลี่ย 250 ล้านคน/ครั้ง 

ทั้งนี้ คุณนรินทร์ ได้เล่าถึงในส่วนของการนำเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาใช้ด้านการท่องเที่ยวไว้อย่างน่าสนใจด้วยว่า...

"ตอนนี้เรามีการวางแผนไว้ทั้ง Before Trip During Trip และ End of trip ซึ่งแต่ละส่วนจะมีเครื่องมือขับเคลื่อน เช่น Before Trip ก็จะมีแพลตฟอร์ม Social Media ที่เป็น Marketing Tools ซึ่งทาง ททท. มีมากถึง 9 แพลตฟอร์ม พร้อมผู้ติดตามรวมแล้วประมาณ 10 ล้าน (Follower) ด้วยการส่งเสริมให้เห็นถึงภาพการเดินทางจริงของนักท่องเที่ยวได้มิติต่างๆ ของไทย 

"ส่วน During Trip คือ ในช่วงระหว่างการเดินทาง ก็จะมีสื่อสังคมออนไลน์คอยให้ข้อมูลกับนักท่องเที่ยวมากขึ้น เพื่อกระตุ้นให้นักท่องเที่ยวเกิดการใช้จ่าย ณ แหล่งท่องเที่ยวนั้นๆ 

"และ End of trip คือ เมื่อท่องเที่ยวเสร็จ ก็จะมีการรับเรื่องร้องเรียนจากนักท่องเที่ยว เป็น Voice Of Social ถึงแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ ว่ามีอะไรที่ต้องปรับปรุงบ้าง มีความประทับใจส่วนใดบ้างหรือไม่ เพื่อประสานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป

ส่วนยุทธศาสตร์ของการท่องเที่ยวในด้านดิจิทัล คุณนรินทร์ ได้กล่าวถึงองค์ประกอบสำคัญ ดังนี้...

1.การพัฒนาเครื่องมือทางการตลาดดิจิทัล เช่น ในอนาคตเราเตรียมใช้ Social Listening เพื่อวิเคราะห์ข้อมูลเสียงจากนักท่องเที่ยวทั่วโลกว่าพูดถึงแหล่งท่องเที่ยวในประเทศไทยอย่างไร ชอบสถานที่ท่องเที่ยวที่ไหนเป็นพิเศษ เพื่อนำมาประมวลผลและทำเป็นโปรแกรมท่องเที่ยวให้ตรงใจชาวต่างชาติต่อไป

2.การพัฒนาโครงสร้างข้อมูลให้พร้อม โดยเฉพาะ Data นำข้อมูลมาสอนให้พนักงานของ ททท. เข้าใจและใช้ข้อมูลเหล่านั้นเพื่อพัฒนาในด้านต่างๆ มากขึ้น 

3.การพัฒนาองค์กรให้มีสมรรถภาพสูงและมีธรรมาภิบาลด้วย ส่วนของ Smart Data ในการเชื่อมโยงข้อมูลกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานตำรวจตรวจคนเข้าเมือง สำนักงานตำรวจทางหลวง สำนักงานอุตุนิยมวิทยา โดยนำข้อมูลต่างๆ มา ทำให้เกิดข้อมูลพร้อมใช้สำหรับนักท่องเที่ยว ซึ่งยังเป็นการรวบรวมข้อมูลทางการตลาดให้นักท่องเที่ยวได้เข้าร่วมโครงการ เช่น โครงการท้าทาย ของ ททท. ซึ่งรวบรวมข้อมูลในลักษณะ Core Plus ขึ้นมา เพื่อสร้างฐานข้อมูลชุดใหม่เพื่อให้กับนักท่องเที่ยวได้

นอกจากนี้ ยังมองถึงการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ด้วยการนำ เทคโนโลยีเพื่อความยั่งยืน (Sustainable Technology) มาใช้ตามวิสัยทัศน์ในการขับเคลื่อนการท่องเที่ยวของประเทศและส่งมอบคุณค่าที่ดีและพัฒนาไปสู่ความยั่งยืน โดยเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมไหนที่มีความสอดคล้องกับการท่องเที่ยว ก็จะถูกเลือกนำมาใช้ เช่น เทคโนโลยีที่ผลักดันให้ผู้ประกอบการท่องเที่ยวตระหนักถึงการช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน หรือประชาสัมพันธ์ให้นักท่องเที่ยวต่างชาติทราบว่ามาเที่ยวเมืองไทยแล้วไม่ทำลายธรรมชาติ เป็นต้น

"อย่างไรก็ตาม อีกเรื่องสำคัญ คือ ต้องขอฝากคนไทยให้ช่วยกันต้อนรับนักท่องเที่ยวด้วยรอยยิ้ม มีไมตรีจิต เพราะเราคงไม่อยากให้นักท่องเที่ยวพูดว่า เมื่อก่อนเป็น Land of smile แต่ตอนนี้เป็น Crocodile smile แล้ว ผู้ประกอบการจึงไม่ควรเอารัดเอาเปรียบนักท่องเที่ยว หรือหลอกลวงให้นักท่องเที่ยวซื้อรายการนำเที่ยว สินค้าต่างๆ ในราคาที่สูงเกินจริง เพื่อสร้างความประทับใจให้กับนักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวเมืองไทยเพิ่มมากขึ้น" คุณนรินทร์ กล่าวทิ้งท้าย


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top