Sunday, 11 May 2025
Econbiz

‘พิมพ์ภัทรา’ ลงพื้นที่ชลบุรี เร่งหารือพัฒนาภาคอุตสาหกรรม หวังปั้นเมืองชลฯ สู่เมืองเศรษฐกิจชั้นนำแห่งภูมิภาคอาเซียน

(27 ต.ค. 66) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดชลบุรี (สอจ.ชลบุรี) พร้อมหารือแนวทางการขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน โดยมีนางสาวศิรินันท์ ศิริพานิช ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงอุตสาหกรรม, นายดนัยณัฏฐ์ โชคอำนวย ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม, นายวิษณุ ทับเที่ยง หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม (หน.ผตร.อก.), นายภาสกร ชัยรัตน์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม, นางสาวไพลิน เทียนสุวรรณ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม, นายเตมีย์ พันธุ์วงค์ราช ผู้อำนวยการกองตรวจราชการ สำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมหารือ และมีนางสาวอังศุมาลิน ฉัตรสุวรรณวารี อุตสาหกรรมจังหวัดชลบุรี (อสจ.ชลบุรี), นางสาวภารดี เสมอกิจ หัวหน้ากลุ่มพัฒนาการส่งเสริมธุรกิจอุตสาหกรรม รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 9 (ศภ.9) ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ สอจ.ชลบุรี และ ศภ.9 และสภาอุตสาหกรรมจังหวัดชลบุรี (สอท.ชลบุรี) ให้การต้อนรับ ณ ห้องประชุม ชั้น 7 ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 9 จังหวัดชลบุรี

อสจ.ชลบุรี ได้รายงานว่า จังหวัดชลบุรี มีโรงงานอุตสาหกรรม จำนวน 4,248 โรงงาน อยู่ในนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ แหลมฉบัง ปิ่นทอง ดับบลิวเอชเอ และปิ่นทอง (แหลมฉบัง) จำนวน 1,099 โรงงาน นอกนิคมอุตสาหกรรม จำนวน 3,149 โรงงาน มีวิสาหกิจชุมชน จำนวน 620 กลุ่ม มี OTOP จำนวน 1,395 ราย มีเหมืองแร่ในจังหวัดได้ประทานบัตร 31 แปลง เปิดการทำเหมือง 22 แปลง ประกอบด้วย อุตสาหกรรมชนิดหินแกรนิต หินปูน และอยู่ระหว่างต่ออายุ 6 แปลง หยุดการทำเหมือง 3 แปลง

นอกจากนี้ สอจ.ชลบุรี ได้รายงานแนวทางปฏิบัติงานภายใต้นโยบายของกระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) MIND ใช้ ‘หัว’ และ ‘ใจ’ ปั้นอุตสาหกรรมคู่ชุมชน ด้วยแนวคิดสร้างสรรค์ ที่ทันสมัย และเป็นสากล ซึ่งจังหวัดชลบุรีเป็นจังหวัดที่มีนักลงทุนชาวต่างชาติ จีน ญี่ปุ่น เกาหลี และยุโรป มาลงทุนเป็นจำนวนมาก และได้ดำเนินงานโครงการต่างๆ เช่น โครงการอุตสาหกรรมสีเขียว, โครงการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพของอุตสาหกรรมในภูมิภาค, โครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์และกระบวนการผลิตภาคอุตสาหกรรมให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เป็นต้น และได้มีการจัดทำระบบ LINE Open Chat เป็นกลุ่มผู้ประกอบการอุตสาหกรรม ผู้ประกอบการ SME ในจังหวัดชลบุรี จำนวน 1,800 ราย เพื่อเป็นช่องทางในการประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารด้านอุตสาหกรรมต่าง ๆ อีกด้วย

ด้านนายณัฏฐ์ธน สารทจีนพงษ์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดชลบุรี ได้กล่าวถึงแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรม เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาจังหวัด 20 ปี ‘เมืองเศรษฐกิจชั้นนำอาเซียน นวัตกรรมเพิ่มมูลค่า แลนด์มาร์ก การท่องเที่ยว สังคมคุณภาพ สิ่งแวดล้อมยั่งยืน’ การพัฒนาอุตสาหกรรมตามแนวทาง BCG และ ESG ของจังหวัดชลบุรี ในด้านยุทธศาสตร์ทางจังหวัดได้ตั้งเป้าในลดปริมาณก๊าซเรือนกระจก ลดลงร้อยละ 16 ผ่านการดำเนินโครงการปรับเปลี่ยนอุปกรณ์ไฟฟ้าทั้งจังหวัด โดยเฉพาะแสงสว่าง ปรับเปลี่ยนพลังงานเป็นพลังงานสะอาด จัดรูปแบบการขนส่งและการขนส่งสาธารณะ แบบ multimodal transportation โครงการปลูกป่า 1 ผู้ประกอบการอุตสาหกรรม 1 ป่า 1 ไร่ ส่วนการพัฒนาผู้ประกอบการสู่เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศน์ ได้มีการตั้งค่าเป้าหมายระดับการเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ระดับที่ 5 ภายในปี 70

ทั้งนี้ สอท.ชลบุรี มีข้อเสนอในการพัฒนาเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมในจังหวัดชลบุรี ดังนี้

1.) ส่งเสริมให้มีนิคมอุตสาหกรรมของรัฐฯ เนื่องจากราคาที่ดินในการนิคมของภาคเอกชนมีราคาค่อนข้างสูงเป็นอุปสรรคปัญหาของนักลงทุนที่ต้องการสร้างโรงงานในนิคมอุตสาหกรรม

2.) ต่อยอดพัฒนาเอสเอ็มอีและวิสาหกิจชุมชน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในด้านเทคโนโลยี เงินทุนหมุนเวียน และการตลาด ซึ่งการต่อรองกับผู้ประกอบการที่เป็นแบรนด์ของสินค้าให้มีการเลือกใช้ผู้ประกอบการไทยเป็นหลัก

3.) การจัดตั้งกองทุนเพื่อการพัฒนาตามแนวทางพี่ช่วยน้อง (big brother) ในการช่วยบริหารจัดการแบบมีผลประโยชน์ร่วมกัน

4.) การพัฒนาการตรวจประเมินรับรองและสร้างมาตรฐาน เรื่อง Carbon Neutrality เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน

5.) การพัฒนาฝีมือแรงงานภาคอุตสาหกรรมและการยกระดับฝีมือแรงงานตามคุณวุฒิวิชาชีพ ซึ่งยังไม่ตรงเป้าหมายตามความต้องการ

6.) ส่งเสริมอุตสาหกรรมที่มีวัตถุดิบภายในประเทศ อุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับภาคการเกษตร เช่น ยางพารา ปาล์มน้ำมัน มันสำปะหลัง อ้อย พืชสมุนไพร เป็นต้น

นอกจากนี้ ทาง สอท. ยังได้เพิ่มเติมในเรื่อง FTA (Free Trade Area) เขตการค้าเสรี ซึ่งเป็นการทำความตกลงทางการค้าของประเทศ โดยขอให้มีการเปิดเขตการค้าเสรีให้มากยิ่งขึ้น ควรมีการพัฒนากฎหมายให้ครอบคลุมภาคอุตสาหกรรมในปัจจุบัน และภาครัฐควรมีการรวบรวมฐานข้อมูลให้เป็นปัจจุบัน เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถนำข้อมูลมาพัฒนาธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ในวันนี้ได้รับทราบข้อเสนอแนะของทางภาคเอกชน และจะนำข้อเสนอแนะของท่านไปหารือกับคณะรัฐมนตรีต่อไป ทั้งนี้ รัฐบาลได้ให้ความสำคัญและเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำ ไม่ว่าจะเป็นน้ำแล้งหรือน้ำหลาก มีนโยบายเตรียมการวางแผนแก้ไขปัญหาน้ำในระยะยาว

และสุดท้ายนี้ ขอให้กำลังใจพี่ๆ น้องๆ ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติหน้าที่ทุกท่านไม่ว่าจะเป็น สอจ.ชลบุรี ศภ.9 สอท.ชลบุรี ที่ปฏิบัติภารกิจและหน้าที่ให้กับ อก. หรือการบริหารจัดการความขัดแย้งระหว่างประชาชนและผู้ประกอบการเป็นภารกิจที่ยิ่งใหญ่มาก ขอเป็นตัวแทนของ อก. ขอบคุณทุกท่านที่เสียสละ และสนับสนุนในทุกๆ กิจกรรมของกระทรวง

หลังจากนั้น คณะรัฐมนตรีฯ ได้เยี่ยมชมบริษัท ไลอ้อน (ประเทศไทย) จำกัด (เครือสหพัฒน์) ประกอบกิจการผลิตและจำหน่ายสินค้าอุปโภค บริโภค แบบครบวงจร โดยมีนายนิติ วิวัฒน์วานิช รองผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี นายวรจักร สถาพรภิญโญ นายอำเภอศรีราชา และคุณสายชล ศีติสาร กรรมการบริหารการผลิต บริษัท ไลอ้อน (ประเทศไทย) จำกัด ให้การต้อนรับ

ส่องแผนแม่บท พัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบิน EEC ถึงเวลาเปิดรับผู้ร่วมทุนรายย่อย 'นานาชาติ' ใต้สิทธิพิเศษแล้ว

(28 ต.ค.66) จากเพจเฟซบุ๊ก 'โครงสร้างพื้นฐาน ประเทศไทย Thailand Infrastructure' ได้โพสต์ข้อความเกี่ยวกับแผนแม่บท พัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบิน EEC ที่พร้อมเปิดรับผู้ร่วมทุนรายย่อย นานาชาติ รวมถึงสิทธิพิเศษ EEC สู่ศูนย์เศรษฐกิจใหม่ของไทย ไว้ดังนี้...

วันนี้แวะไปชมเว็บไซต์ ของ UTA ซึ่งเป็นผู้ได้รับสัมปทานสนามบินอู่ตะเภา Terminal 3 และพื้นที่เมืองการบินภาคตะวันออก ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการหลักของการพัฒนา EEC 

>> ลิงก์เว็บไซต์โครงการ : https://www.uta.co.th

โดยในเว็บไซต์ได้มีการเปิดข้อมูล และแผนแม่บทการใช้พื้นที่ของสนามบินอู่ตะเภา ใน 3 ส่วนคือ…

- อาคาร Terminal 3 สนามบินอู่ตะเภา
- เมืองการบินภาคตะวันออก
- พื้นที่คลังสินค้านานาชาติ 

ซึ่งในเว็บไซต์ UTA มีการเปิดให้นักลงทุนรายย่อย เข้ามาร่วมทุนในการพัฒนาเมือง สาธารณูปโภค และการดึงดูดบริษัทมาให้บริการในพื้นที่เมืองการบิน

โดยมีสิทธิพิเศษในพื้นที่เมืองการบิน และ EEC ได้แก่...
- สถานบริการ และสถานบันเทิง 24 ชั่วโมง
- พื้นที่ปลอดภาษี (Free Trade Zone)
- พื้นที่ให้บริการจำหน่ายสินค้าปลอดภาษี
- การบริการพิธีการศุลกากร ด้วยระบบพิเศษ
- ขยายมูลค่าการซื้อสินค้า เข้า-ออก จากเขตระหว่างประเทศ
- ให้สิทธิพิเศษด้านการขอสิทธิ์การทำงาน (Work Permit)
- สิทธิพิเศษด้านภาษี ทั้งบุคคลธรรมดา และนิติบุคคล

ความคืบหน้าล่าสุด!!
- มีการส่งมอบพื้นที่เพื่อเริ่มก่อสร้าง (NTP) ไปเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2566!!
- เปิดให้บริการพื้นที่พาณิชยกรรม ในปลายปี 2569

ผมไม่ค่อยห่วงกับโครงการสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบิน เป็นโครงการที่มีขอบเขตชัดเจน และทหารเรือเป็นผู้ส่งออกให้

แต่อีกส่วนหนึ่งที่สำคัญและยังสรุปรายละเอียดไม่ลงตัว คือ โครงการรถไฟความเร็วสูง เชื่อม 3 สนามบิน ซึ่งยังอยู่ระหว่างการปรับแก้ไขสัญญา 

หวังว่ารัฐบาลใหม่จะเร่งการเจรจาและจบได้ภายในปี 2566 เพื่อให้เดินหน้าได้ในปี 2567

5 นโยบายเร่งด่วนรัฐ เรื่องไหนกระตุ้น ศก. เรื่องไหนกระตุ้นความกังวล ‘แก้รธน.-ส่งเสริมท่องเที่ยว-แก้หนี้-ลดราคาพลังงาน-แจกเงินดิจิทัล’

คำแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี แถลงต่อรัฐสภา วันจันทร์ที่ 11 กันยายน 2566 ที่ผ่านมา สรุป 5 ประเด็นสำคัญ ที่ประกาศเป็นนโยบายเร่งด่วน

1.เติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet

2.แก้ปัญหาหนี้สิน เช่น พักหนี้เกษตรกร ช่วยประคองหนี้สิน ลดต้นทุนทางการเงิน

3.ลดภาระค่าใช้จ่ายราคาพลังงาน ค่าไฟฟ้า ค่าก๊าซหุงต้ม ค่าน้ำมัน

4.สร้างรายได้จากการท่องเที่ยว ตั้งเป้าอำนวยความสะดวก ปรับปรุงขั้นตอนขอ-เก็บค่าธรรมเนียมวีซ่า ปรับปรุงระบบคมนาคม

5.หารือแนวทางนำประชามติแก้รัฐธรรมนูญ ให้คนไทยมีรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น และไม่แก้ในหมวดพระมหากษัตริย์

จากวันที่แถลงนโยบาย มาจนถึงปัจจุบัน  นโยบายที่เห็นเป็นรูปธรรม ลำดับแรก คงเป็น นโยบายที่ 3 คือ การลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานให้แก่ประชาชน อันเป็นปัจจัยสำคัญในการดำรงชีวิตและเศรษฐกิจ ซึ่งมีการปรับลดค่าน้ำมันเชื้อเพลิง เริ่มจากน้ำมันดีเซล ให้ต่ำกว่า 30 บาทต่อลิตร และ ลดน้ำมันเบนซินแก๊สโซฮอล์ 91 ลง 2.50 บาทต่อลิตร จากโครงสร้างราคาเดิม เป็นระยะเวลา 3 เดือน ซึ่ง ครม. ก็ได้ให้ไฟเขียวในการประชุมไปเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม ที่ผ่านมา รวมทั้งปรับลดค่าไฟฟ้าเหลือ 3.99 บาท/หน่วย มีผลตั้งแต่รอบบิลเดือนกันยายน 2566 จนถึงรอบบิลเดือนธันวาคม 2566

นอกจากนี้ รัฐบาลจะปรับเปลี่ยนโครงสร้างการใช้พลังงานของประเทศ โดยวางแผนความต้องการและสนับสนุนการจัดหาแหล่งพลังงานอย่างเหมาะสม ส่งเสริมการผลิต และการใช้พลังงานสะอาดและพลังงานหมุนเวียน เพื่อให้สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน เร่งเจรจาการใช้พลังงานในพื้นที่อ้างสิทธิกับประเทศข้างเคียง และสำรวจแหล่งพลังงานเพิ่มเติม รวมถึงการสนับสนุนให้เกิดการจัดหาแหล่งพลังงานใหม่ๆ ภายใต้กลไกตลาด เพื่อให้มั่นใจว่าประเทศไทยจะมีความมั่นคงทางพลังงานที่จะขับเคลื่อนประเทศต่อไป

นโยบายเร่งด่วนถัดมา ที่เริ่มดำเนินการ คือ นโยบายที่ 2 การแก้ปัญหาหนี้สินทั้งในภาคเกษตร ภาคธุรกิจ และภาคประชาชน รัฐบาลจะลดภาระพี่น้องเกษตรกรด้วยการพักหนี้เกษตรกรตามเงื่อนไขและคุณสมบัติที่เหมาะสม รวมถึงมาตรการช่วยประคองภาระหนี้สินและต้นทุนทางการเงินสำหรับภาคประชาชนที่ครอบคลุม ถึงผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ให้ได้มีโอกาสในการฟื้นตัวและกลับมาดำเนินธุรกิจได้อีกครั้ง ซึ่งในส่วนการพักชำระหนี้เกษตรกร ระยะเวลา 3 ปี เริ่มเปิดให้ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการ เมื่อ 1 ตุลาคม ที่ผ่านมา ปัจจุบันมีเกษตรกรที่ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการผ่าน BAAC Mobile ของ ธ.ก.ส. มากกว่า 2.5 แสนราย

นโยบายอีกด้านที่ลงมือดำเนินการแล้ว คือ นโยบายที่ 4 ผลักดันการสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจได้ในระยะสั้น และสร้างงานให้กับประชาชน ซึ่งภาคเอกชน ร่วมกันขานรับ ทั้งมาตรการการยกเว้นการเก็บค่าธรรมเนียมวีซ่า และมาตรการยกเลิกการออกวีซ่าประเทศเป้าหมายชั่วคราว ซึ่งคาดการณ์ว่าจะกระตุ้นยอดนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าพื้นที่ท่องเที่ยวไม่น้อยกว่า 30-40% โดยเริ่มใช้นโยบายวีซ่าฟรีกับกลุ่มนักท่องเที่ยวจีนและคาซัคสถาน ตั้งแต่ 25 ก.ย. 2566-29 ก.พ. 2567 รวมระยะเวลา 5 เดือน ซึ่งก็ได้รับการตอบรับจากนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

จากนโยบาย ทั้ง 3 ที่ 'ลด แลก แถม' ในแพ็กเก็จต่างๆ ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ หลัง Covid-19 ให้ฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่อง กระทบฐานะทางการคลังของประเทศไม่มากนัก และส่งเสริมให้ภาครัฐ สามารถจัดเก็บภาษีกลับคืนได้พอสมควร 

แต่ที่ประเด็นใหญ่ ที่ยังหาช่องทางดำเนินการไม่ได้ คงไม่พ้น นโยบาย 'แจก' เงินดิจิทัล 10,000 บาท ที่นักเศรษฐศาสตร์ของไทยเกือบ 100 คน ลงชื่อคัดค้านไม่เห็นด้วยในการดำเนินการ เนื่องจากจะกระทบกับเสถียรภาพทางด้านการคลังเป็นอย่างมาก โดยมี 2 อดีต ผู้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทย ร่วมคัดค้านในนโยบาย ที่จะ 'ได้ไม่คุ้มเสีย' ฟากรัฐบาลก็ยังไม่มีทีท่าจะยกเลิก โดยพยายามหาแนวทางในการดำเนินการ และจุดสำคัญ คือ จะจัดหาเงินงบประมาณ 560,000 ล้านบาท มาจากที่ไหน อย่างไร เพื่อมาแจกให้กับประชาชน

สำหรับอีก 1 นโยบายเร่งด่วนที่แถลงต่อรัฐสภา คือ การแก้ปัญหาความเห็นที่แตกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 เพื่อให้คนไทยได้มีรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น แน่นอนว่า ประเด็นนี้ ไม่ช่วยในการกระตุ้นเศรษฐกิจ เป็นเพียงการแก้ไข ที่จะเปิดช่อง กำหนดกติกาให้นักการเมืองในฝ่ายตน ได้เปรียบในการแข่งขันลงเลือกตั้ง เพื่อถืออำนาจรัฐในมือมากกว่า 

สุดท้าย นโยบายเร่งด่วน ที่รัฐบาลปัจจุบันแถลง ฐานะทางการเงินของประเทศไทย จากที่เคยมีทุนสำรองระหว่างประเทศรวม (Gross Reserves) อยู่ที่ 2.46 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นเงินบาทที่ 8.17 ล้านล้านบาท ณ เดือนตุลาคม 2564 สูงเป็นลำดับที่ 12 ของโลก หลังจากนี้ไป จะเป็นอย่างไร คงต้องจับตามองอย่างใกล้ชิด

‘กรมประมง’ เล็งลดการปล่อยคาร์บอนฯ ในฟาร์มเพาะเลี้ยงกุ้งทะเล หารือ 3 องค์กรเพื่อสิ่งแวดล้อม หวังเปิดทางกุ้งไทยสู่ตลาดสหรัฐฯ-ยุโรป

เมื่อวานนี้ (27 ต.ค. 66) นายถาวร ทันใจ รองอธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า เพื่อการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (BCG Model) กรมประมงได้มีการหารือ กับ Dr. Aaron Mcnevin Global Network Lead จากองค์กร World Wildlife Fund (WWF), ดร.ระวี วิริยธรรม ตัวแทนจาก Seafood Task Force (STF), ผู้แทนจาก Gordon and Betty Moore Foundation และนางพิชญา ชัยนาค ผู้เชี่ยวชาญด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง กรมประมง

ทั้งนี้ องค์กร World Wildlife Fund (WWF) เป็นองค์กรที่ทำงานด้านการอนุรักษ์ด้านทรัพยากรป่าไม้ ทรัพยากรน้ำจืด และทรัพยากรทางทะเล เพื่อมุ่งมั่นที่จะปกป้องดูแลรักษาธรรมชาติและทรัพยากรสิ่งแวดล้อม โดยเน้นการทำงานเพื่อหาทางออกในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นรูปธรรม และองค์กร Seafood Task Force (STF) เป็นความร่วมมือกันของบริษัทอาหารทะเลระดับโลกภาครัฐ รวมถึงภาคประชาสังคม ที่ร่วมสนับสนุนการทำประมงโดยใช้เครื่องมือประมงที่ถูกกฎหมาย เพื่อลดผลกระทบต่อระบบนิเวศจากการจับสัตว์น้ำ และป้องกันทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน ไร้การควบคุม (Illegal, Unreported and Unregulated Fishing: IUU Fishing) 

ส่วนองค์กร Gordon and Betty Moore Foundation เป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่มีเป้าหมายสนับสนุนทางวิทยาศาสตร์ในการรักษาสิ่งแวดล้อม ซึ่งได้ร่วมหารือการใช้นวัตกรรมต่าง ๆ ในระบบการเพาะเลี้ยงกุ้งทะเลที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การสร้างระบบนิเวศที่หมุนเวียนกลับคืนมา ซึ่งกรมประมงมีระบบตรวจสอบย้อนกลับที่น่าเชื่อถือ และครบวงจรตั้งแต่วัตถุดิบ การผลิต การแปรรูป จนถึงมือผู้บริโภค สามารถตรวจสอบย้อนกลับแหล่งที่มาของสัตว์น้ำได้ 

ซึ่งทั้ง 3 องค์กรยินดีให้การสนับสนุนกรมประมงเพื่อร่วมกันลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์หรือก๊าซเรือนกระจกสู่สิ่งแวดล้อม (Carbon Credit) ในระบบการเพาะเลี้ยงกุ้งทะเล โดย Gordon and Betty Moore Foundation ยินดีจะช่วยประชาสัมพันธ์ และส่งเสริมการตลาดสำหรับการผลิตสินค้าที่สามารถช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์หรือก๊าซเรือนกระจกสู่สิ่งแวดล้อม (Carbon Credit) และสร้างการรับรู้ จูงใจให้ผู้ซื้อ นำไปสู่การตัดสินใจนำเข้าสินค้ากุ้งของไทยทั้งยุโรป สหรัฐอเมริกา หรือประเทศอื่น ๆ จึงส่งผลให้สินค้าประเภทนี้มีราคาที่ค่อนข้างสูงเมื่อเปรียบเทียบกับสินค้าทั่วไป จึงเป็นโอกาสดี และทางเลือกของเกษตรกรที่สนใจ

นอกจากนี้ยังได้มีการหารือวิธีการเลี้ยงสัตว์น้ำที่ช่วยลดปริมาณคาร์บอน เช่น การใช้หอยสองฝาและสาหร่ายช่วยลดปริมาณคาร์บอนในระบบการเลี้ยงซึ่งจะนำไปสู่ตลาดคาร์บอนเครดิตในอนาคตซึ่งในการหารือในครั้งนี้เป็นประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยงกุ้งของไทย

‘รถไฟฟ้าสายสีแดง’ ทุบสถิติ!! ยอดผู้โดยสารพุ่งสูงสุด ตั้งแต่เปิดให้บริการนโยบาย 20 บาทตลอดสายมา

(28 ต.ค.66) ดร.พิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง เปิดเผยว่า เมื่อวันศุกร์ที่ 27 ต.ค.66 ซึ่งเป็นวันศุกร์สิ้นเดือนแรก หลังจากมีนโยบายอัตราค่าโดยสารสูงสุด 20 บาท ซึ่งเริ่มขึ้นเมื่อ 16 ต.ค.66 ที่ผ่านมา มีผู้ใช้บริการสายสีแดงสูงสุดตั้งแต่เปิดให้บริการมา โดยมีผู้ใช้บริการระบบรางรวมทั้งสิ้น 1,675,588 คน-เที่ยว ประกอบด้วย

1. รถไฟระหว่างเมืองของ รฟท. ให้บริการเดินรถไฟ 213 ขบวน มีผู้ใช้บริการรวม 81,539 คน-เที่ยว แบ่งเป็นขบวนรถเชิงพาณิชย์ 29,583 คน-เที่ยว และขบวนรถเชิงสังคม 51,956 คน-เที่ยว 
2. รถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล 1,594,049 คน-เที่ยว ประกอบด้วย

- รถไฟฟ้า Airport Rail Link ให้บริการ 224 เที่ยววิ่ง (รวมเสริม 9 เที่ยววิ่ง) จำนวน 742,752 คน-เที่ยว
- รถไฟฟ้าสายสีแดง ให้บริการ 294 เที่ยววิ่ง จำนวน 34,161 คน-เที่ยว (รวมผู้โดยสารรถไฟทางไกลใช้บริการสายสีแดงฟรี 143 คน-เที่ยว) สูงสุดตั้งแต่เปิดให้บริการเดินรถไฟฟ้าสายสีแดง (นิวไฮ)
- รถไฟฟ้าสายฉลองรัชธรรม (สายสีม่วง) ให้บริการ 319 เที่ยววิ่ง (รวมเสริม 3 เที่ยววิ่ง) จำนวน 74,208 คน-เที่ยว  
- รถไฟฟ้าสายเฉลิมรัชมงคล (สายสีน้ำเงิน) ให้บริการ 490 เที่ยววิ่ง (รวมเสริม 27 เที่ยววิ่ง) จำนวน 494,335 คน-เที่ยว
- รถไฟฟ้า BTS สายสีเขียว (สายสุขุมวิทและสายสีลม) ให้บริการ 1,264 เที่ยววิ่ง จำนวน 869,736 คน-เที่ยว
- รถไฟฟ้า BTS สายสีทอง ให้บริการ 219 เที่ยววิ่ง จำนวน 6,911 คน-เที่ยว 
- รถไฟฟ้าสายสีเหลืองให้บริการ 276 เที่ยววิ่ง จำนวน 41,946 คน-เที่ยว

จากข้อมูลข้างต้น พบว่า ภายหลังจากดำเนินการตามนโยบายอัตราค่าโดยสารสายสีแดงและสายสีม่วงสูงสุด 20 บาทแบบตลอดทั้งวัน โดยเมื่อวันที่ 27 ต.ค.66 มีประชาชนมาใช้บริการรถไฟฟ้าชานเมือง (สายสีแดง) จำนวน 34,161 คน-เที่ยว มากที่สุดตั้งแต่เปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีแดง (นิวไฮ)  เพิ่มมากขึ้นจำนวน 2,704 คน-เที่ยว หรือเพิ่มขึ้น ร้อยละ 8.60 เมื่อเทียบกับวันศุกร์ที่ 20 ต.ค.66 (วันที่ 20 ต.ค.66 ผู้ใช้บริการสายสีแดงนิวไฮก่อนหน้านี้ทั้งหมด 31,457 คน-เที่ยว (รวมทางไกลต่อสายสีแดงฟรี 139 คน-เที่ยว) และเพิ่มขึ้น 7,887 คน-เที่ยวหรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 30.02% เมื่อเทียบกับวันศุกร์สิ้นเดือน ก.ย.66 ก่อนมีนโยบายฯ (ศุกร์ 29 ก.ย.66 สายสีแดงมีผู้ใช้บริการรวมจำนวน 26,274 คน-เที่ยว (รวมรถไฟทางไกลต่อสายสีแดงฟรี 150 คน-เที่ยว)) เนื่องจากเมื่อวานเป็นศุกร์สิ้นเดือน ประกอบกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิตจัดงานเปิดบ้านธรรมศาสตร์ Open house 2023 ระหว่างวันที่ 27-28 ต.ค.66

ทั้งนี้ เมื่อวานนี้ (27 ต.ค.66) กระทรวงคมนาคมได้จัดประชุมหน่วยที่เกี่ยวข้องในการทำแผนจัดทำระบบฟีดเดอร์ (feeder) เพื่ออำนวยความสะดวกและลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางป้อนผู้โดยสารให้กับระบบราง โดยเฉพาะรถไฟฟ้าสายสีม่วงและสายสีแดง ภายหลังจากได้มีการปรับค่าโดยสาร 20 บาทตลอดสายแล้วพบว่ามีปริมาณผู้โดยสารใช้บริการในปริมาณเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อย่างต่อเนื่อง จึงมีแนวทางเพิ่มศักยภาพจุดเชื่อมต่อการเดินทางที่สำคัญต่าง ๆ ที่ควรนำมาใช้อำนวยความสะดวก อาทิ ศูนย์การค้าฟิวเจอร์พาร์ครังสิต มหาวิทยาลัยรังสิต มหาวิทยาลัยกรุงเทพ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา ศิริราช ตลอดจนการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ต่อไป

นอกจากนี้ กรมการขนส่งทางรางยังได้มีการติดตามปริมาณผู้โดยสารระบบรางประจำวันอย่างต่อเนื่อง โดยจะมีการประเมินผลหลังปรับอัตราค่าโดยสารสูงสุด 20 บาทตลอดสายสำหรับรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง และรถไฟฟ้ามหานครสายฉลองรัชธรรม ครบ 1 เดือนและรอบ 3 เดือนต่อไป

‘กมธ.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม’ ลงพื้นที่ศึกษาดูงาน จ.สุพรรณบุรี พร้อมเรียนรู้ ‘ผลิตน้ำมันจากขยะพลาสติก-ทำดินปลูกสร้าง BCG model’

เมื่อไม่นานมานี้ คณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นำโดย นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ รองประธานคณะกรรมาธิการคนที่ 4 พร้อมด้วย พลเรือเอก ชัยวัฒน์ เอี่ยมสมุทร กรรมาธิการ และคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาเกี่ยวกับด้านทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลและชายฝั่ง ลงพื้นที่ศึกษาดูงาน ณ ศูนย์การเรียนรู้การบริหารจัดการขยะ สวนพุทธชาติ ตำบลบางปลาม้า อำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี โดยมีนางพีรดา ปฏิทัศน์ ประธานวิสาหกิจชุมชนแนวร่วมปฏิวัติขยะสุพรรณบุรี และคณะให้การต้อนรับ 

ในการนี้ คณะเดินทางได้รับฟังบรรยายสรุปและลงพื้นที่เยี่ยมชมฐานเรียนรู้ผลิตน้ำมันจากขยะพลาสติก ด้วยกระบวนการไพโรไลซิส ฐานเรียนรู้ทำดินปลูกสร้าง BCG model ฐานเรียนรู้ชุมชนเครือข่ายสร้างสวัสดิการชุมชนด้วยขยะจากชุมชนหัวเขา เดิมบางนางบวช จังหวัดสุพรรณบุรี

‘นายกฯ’ เล็งปั้น ‘ศุลกากรหนองคาย’ สู่ ‘One Stop Service’ จ่อถกผู้นำลาว เล็งผุด ‘สะพานมิตรภาพ 2’ เชื่อมขนส่งถึงจีน

(29 ต.ค. 66) ที่สำนักงานศุลกากรหนองคาย อำเภอเมืองหนองคาย นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานประชุมติดตามประเด็นปัญหาการส่งออก ขั้นตอนพิธีการศุลกากร การค้าชายแดนและการพัฒนา One Stop Service ระหว่างราชอาณาจักรไทย กับสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) และสาธารณรัฐประชาชนจีน มีหัวหน้าส่วนราชการ และผู้เกี่ยวข้องเข้าร่วม

นายเศรษฐา กล่าวว่า ตนเดินทางมา จ.หนองคาย เป็นครั้งที่ 2 โดยหนองคาย เป็นจังหวัดยุทธศาสตร์ที่รัฐบาลกำหนดไว้ให้เป็นจุดสำคัญในการเชื่อมโยงโลจิสติกส์จากไทยไปจีน และจากการพบกับ นายสี จิ้น ผิง ประธานาธิบดีสาธารณรัฐประชาชนจีน รวมถึงนายกรัฐมนตรีจีน พบว่าต้องการสินค้าการเกษตรอย่างมาก

ดังนั้น เรื่องระบบขนส่งจึงสำคัญ และ จ.หนองคาย ถือเป็นจุดสำคัญที่มีความพร้อมมาก มีนิคมอุตสาหกรรม แต่ที่ผ่านมาหยุดแค่ จ.หนองคายหรือฝั่งลาว จึงต้องสร้างสะพานอีกแห่งหนึ่งใน จ.หนองคาย และทำเป็นจุดวันสต็อปเซอร์วิส และอยากให้ศุลกากรเป็นเจ้าภาพเรื่องวันสต็อปเซอร์วิส และใน จ.หนองคาย เป็นต้นแบบแรก

โดยให้ทำงานร่วมกับกระทรวงเกษตรฯ กระทรวงสาธารณสุข และตม.หากเราทำให้การค้าขายไม่เดินหน้าจะลำบาก ทั้งนี้ในวันที่ 30 ต.ค.นี้ ตนจะเดินทางไปพบผู้นำ สปป.ลาว จะพูดคุยในเรื่องทำสะพานมิตรภาพ 2 ในจ.หนองคาย เพื่อให้เราสามารถส่งสินค้าไปถึงจีนได้ ฉะนั้นหน่วยงานในพื้นที่ถ้าติดขัดตรงไหนขอให้บอกมา หากลงทุนแสนล้านแต่ไม่มีความต่อเนื่องในแง่ขนถ่ายสินค้า ลงทุนไปก็จะเสียหายเยอะ

นายเศรษฐา กล่าวว่า วันนี้โลกพัฒนาไปมาก ใครจะมาลงทุนต้องดูหลายๆด้าน ถ้าเข้าจะมาลงทุนแล้วติดปัญหาเยอะก็ไม่ดี ส่วนเรื่องการท่องเที่ยว ไทยขยายได้เยอะ และอยากจะขยายงานแบบนี้ไปอีกหลายจังหวัดทั่วประเทศ ตามนโยบายหลักของรัฐบาล ดังนั้น ควรทำประชาสัมพันธ์เชิงรุก เพื่อทำให้การท่องเที่ยวเมืองรองดีขึ้น

‘นักวิชาการ’ ชี้!! ลดแจกเงินดิจิทัล ศก.ปีหน้าหด แต่ ‘ยั่งยืน-คลังไม่เสี่ยง’ แนะ!! ปรับเกณฑ์คัดกรอง ใช้ ‘ทรัพย์สิน-ภาระหนี้’ พิจารณาร่วมด้วย

เมื่อวันที่ 29 ต.ค. 66 นายอนุสรณ์ ธรรมใจ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจดิจิทัล การลงทุน และการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า การปรับลดขนาดและวงเงินดิจิทัลวอลเล็ตลงมาช่วยลดความเสี่ยงทางการคลังในอนาคตลงมาได้ แม้จะทำให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจปีหน้าลดลงบ้าง แต่จะให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจมีเสถียรภาพมากกว่าในระยะปานกลาง หากมุ่งเป้าไปที่กลุ่มผู้มีรายได้น้อยประมาณ 15 ล้านคน จะใช้เงินงบประมาณ 1.5 แสนล้านบาท และอาจไม่จำเป็นต้องกู้เงินเลย และผลต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจไม่มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเปรียบเทียบกับการแจกเงินแบบถ้วนหน้า 56 ล้านคน หรือตัดคนที่มีเงินเดือนเกินกว่า 25,000 บาท และ/หรือมีบัญชีเงินฝากเกิน 1 แสนบาทออก เหลือผู้มีสิทธิประมาณ 43 ล้านคน ใช้งบประมาณ 4.3 แสนล้านบาท หรือตัดผู้มีเงินเดือนเกินกว่า 50,000 บาท และ/หรือมีบัญชีเงินฝากกว่า 5 แสนบาท เหลือผู้มีสิทธิ 49 ล้านคน ใช้งบประมาณ 4.9 แสนล้านบาท

การแจกเฉพาะกลุ่มเน้นไปที่คนยากจนหรือชนชั้นกลางรายได้ต่ำมีแนวโน้มใช้จ่ายมากและเร็ว มักซื้อสินค้าจำเป็นภายในประเทศ มีความจำเป็นและมีปัญหาสภาพคล่อง จะทำให้ประสิทธิภาพและประสิทธิผลของโครงการแจกเงินเพิ่มขึ้น รวมทั้งทำให้ต้นทุนงบประมาณโครงการแจกเงินลดลง นโยบายแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ตต้องดูทั้งมิติทางด้านมหภาคและจุลภาค ต้องมีมาตรการอื่น ๆ ด้านจุลภาคเสริมให้เงินแจกที่ประชาชนได้รับกลายเป็นการลงทุนขนาดเล็กในระดับชุมชนมากกว่าแปลงเป็นการบริโภคเพียงอย่างเดียว

หากไม่แจกเงินถ้วนหน้า รัฐบาลควรปรับเกณฑ์คัดกรองคนมีรายได้สูงนอกเหนือจากเกณฑ์เงินฝากและเงินเดือน รัฐบาลควรนำสินทรัพย์อื่น ๆ และภาระหนี้สินมาร่วมพิจารณา เช่น การถือครองที่ดิน การถือครองอสังหาริมทรัพย์ เงินลงทุนในตลาดการเงิน การถือครองพันธบัตรและหุ้น ภาระหนี้สิน เป็นต้น มาเป็นเกณฑ์ในการคัดกรอง การตัดคนที่เงินเดือนเกินกว่า 25,000 บาทออกแต่ยังใช้งบประมาณมากกว่า 4.3 แสนล้านบาท เนื่องจากคนจ่ายภาษีเงินได้บุคคลธรรมดามีอยู่ประมาณ 4 ล้านกว่าคนจากกำลังแรงงานทั้งหมดเกือบ 40 ล้านคนนั้น การที่คนเสียภาษี 4 ล้านคนนี้แบกรับภาระมาตรการแจกเงิน เกิดประเด็นทางนโยบายสาธารณะว่า เราควรพัฒนาระบบภาษีให้เป็นธรรม และขยายฐานภาษีให้กว้างขวางขึ้นและ เร่งแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจโดยด่วน

ปัญหาของการไม่แจกถ้วนหน้า คือ ต้นทุนการบริหารการแจกเงินสูงขึ้นและอาจยุ่งยากในการคัดกรองหากข้อมูลไม่ครบถ้วน ผู้ที่ประกอบอาชีพอิสระหรือไม่ได้อยู่ในฐานข้อมูลการเสียภาษีเงินได้จำนวนหนึ่งอาจมีเงินเดือนมากกว่า 25,000 บาทก็ได้ แต่อาจไม่ได้ถูกคัดออก หรือบางคนอาจมีเงินเดือนสูงกว่า 25,000 บาทแต่มีภาระหนี้สินมาก อาจถูกคัดออกทั้งที่ควรได้รับเงินแจก หรือบางคนมีเงินเดือนต่ำกว่า 25,000 บาท เงินฝากต่ำกว่า 1 แสนบาท แต่มีทรัพย์สินอย่างอื่นจำนวนมาก อาจไม่มีความจำเป็นต้องได้รับเงินแจก ฐานคนเสียภาษีต่ำทำให้การใช้เงินงบประมาณยังสูงอยู่มาก คัดคนมีรายได้สูงออกมากเท่าไหร่ ตัวทวีคูณทางการคลังเฉลี่ยเพิ่มขึ้น เพราะผู้มีรายได้น้อยมากเท่าไหร่ จะมีความโน้มเอียงในการบริโภคสูงขึ้นเท่านั้น หรือ MPC (Marginal Propensity to Consume) สูง การแจกเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจจะมีประสิทธิภาพประสิทธิผลสูงกว่า ใช้งบประมาณน้อยลง ก่อหนี้ก่อภาระผูกพันในอนาคตน้อยลง ความเสี่ยงฐานะการคลังลดลงมาก

ขณะที่เศรษฐกิจไทยได้รับผลบวกจากการขยายตัวอย่างมากของการส่งออกอาหารและสินค้าเกษตร ภาคส่งออกและภาคท่องเที่ยวของไทยยังคงฟื้นตัวต่อเนื่อง การขยายตัวของการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมอาหารเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดในเดือนกันยายน มูลค่าการส่งออกแตะเกือบ 9 แสนล้านบาท มีอัตราขยายตัวเพิ่มขึ้น 2.1% บวกต่อเนื่องสองเดือนติดต่อกัน เฉพาะสินค้าเกษตรขยายตัวเพิ่ม 12% เป็นบวก 2 เดือนติดต่อกัน และสินค้าอุตสาหกรรมเกษตรเพิ่ม 5.4% เป็นบวกครั้งแรกในรอบ 6 เดือน โดยสินค้าสำคัญที่เพิ่มขึ้น เช่น ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็ง และแห้งเพิ่ม 166.2% ข้าวเพิ่ม 51.4% ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังเพิ่ม 3.7% น้ำตาลทรายเพิ่ม 16.3% ไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์เพิ่ม 12.8% สิ่งปรุงรสอาหารเพิ่ม 27.1% ผักกระป๋องและผักแปรรูปเพิ่ม 17.3% นมและผลิตภัณฑ์นมเพิ่ม 3.1% ผักสด แช่เย็น แช่แข็ง และแห้งเพิ่ม 7.9% ไข่ไก่สดเพิ่ม 52.7% ทำให้เศรษฐกิจไทยยังฟื้นตัวต่อเนื่องแม้อาจชะลอตัวลงบ้างจากผลกระทบสงครามในตะวันออกกลาง

ผลกระทบต่อการแตกตัวของโลกาภิวัตน์ การแยกขั้วของภูมิรัฐศาสตร์และเศรษฐกิจของโลก (Geo-Economic Fragmentation: GEF) ต่อเศรษฐกิจ การค้าการลงทุนของไทยจะเพิ่มขึ้นหากสงครามในฉนวนกาซาลุกลามสู่สงครามในภูมิภาคตะวันออกกลางและมีการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่อกัน รัฐบาลควรรักษาพื้นที่ทางการคลัง (Fiscal Space) เอาไว้ หากเกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยจะได้มีงบประมาณเพียงพอแก้ปัญหาเศรษฐกิจในอนาคตหากมีความจำเป็น ถ้าแจกเงินอย่างถ้วนหน้าจะส่งผลให้พื้นที่ทางการคลังจะลดลง ช่วงต้นปี GEF เพิ่มอย่างแน่นอนหากสงครามอิสราเอลขยายวงสู่การคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ การเตรียมพื้นที่ทางการคลังไว้กระตุ้นเศรษฐกิจภายหลังและช่วยบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจและความเดือดร้อนทางเศรษฐกิจเป็นเรื่องที่เตรียมการล่วงหน้าไว้ก่อน

ช่วงที่เหลือของปีนี้ ตลาดการเงินโลกจะมีความผันผวนมาก อัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐอเมริกาอาจปรับขึ้นได้อีก แม้ในการประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ ในวันที่ 31 ต.ค.-1 พ.ย.นี้จะไม่มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย หากไม่มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต้นเดือนพฤศจิกายน ในการประชุมครั้งต่อไปในเดือนธันวาคมน่าจะมีปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อ คาดผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวสหรัฐยังอยู่ในช่วงขาขึ้นต่อไป โดยมองว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะ 10 ปีอาจแตะระดับ 6% ได้ ปัจจัยดังกล่าวทำให้เงินทุนเคลื่อนย้ายมายังตลาดพันธบัตร และเทขายการลงทุนในตลาดสินทรัพย์เสี่ยง ทำให้ตลาดหุ้นทั่วโลกปรับตัวลงแรงต่อเนื่อง นอกจากนี้ผลกระทบสงครามขยายวง ทำให้ราคาทองและน้ำมันปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อไป

หน้าที่ของอัตราดอกเบี้ยในระบบเศรษฐกิจ คือ การทำให้ปริมาณเงินและอุปสงค์ของเงินมีความสมดุล เป็นหลักประกันว่า เงินออมที่เกิดขึ้นในปัจจุบันจะถูกเคลื่อนย้ายไปสู่การลงทุนหรือการบริโภคเพื่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ นอกจากนี้ยังเป็นเครื่องมือหนึ่งของนโยบายการเงินของทางการ รวมทั้งเป็นกลไกในการจัดสรรทรัพยากรและสินเชื่อไปยังโครงการลงทุนที่คาดว่าจะให้อัตราผลตอบแทนสูงสุด เส้น Yield Curve สามารถเป็นตัวสะท้อนข้อมูลตลาดและภาวะเศรษฐกิจ บอกถึงกิจกรรมเศรษฐกิจในอนาคตและการคาดการณ์หรือคาดคะเนของตลาด (Market Expectation) ถ้าเส้น Yield Curve ทอดขึ้น ผู้คนในตลาดและระบบเศรษฐกิจจะคาดการณ์ว่าอัตราดอกเบี้ยจะสูงขึ้นในอนาคต อัตราดอกเบี้ยจะผันแปรไปตามวัฏจักรธุรกิจ (Business Cycle) หรือภาวะเศรษฐกิจ ทุกคนจะคาดการณ์ว่า ระบบเศรษฐกิจกำลังจะขยายตัวเพิ่มขึ้น ขณะที่ Yield Curve ที่ทอดลงจะสะท้อนจุดเริ่มต้นของภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวลง ลักษณะและความชันของ Yield Curve มีความสำคัญและมีผลต่อสถาบันการเงินและตัวกลางทางการเงิน เช่น ธนาคาร และ บริษัทเงินทุน กู้เงินจากตลาดการเงินระยะสั้นแล้วปล่อยกู้ ในโครงการระยะยาว ยิ่ง Yield Curve ทอดขึ้นและมีความชันมากเท่าไหร่ สถาบันการเงินย่อมได้รับผลตอบแทนมากเท่านั้น

เนื่องจากส่วนต่าง (Spread) ระหว่างอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นและระยะยาวจะมีมากขึ้น กำไรของสถาบันการเงินและตัวกลางทางการเงินย่อมเพิ่มขึ้น ขณะนี้เส้นผลตอบแทนจะมีลักษณะทอดขึ้นจากซ้ายไปขวาอาจจะเรียกว่า เป็น Ascending Yield Curve ก็ได้ ในกรณีนี้จะมีการคาดคะเนว่า อัตราดอกเบี้ยระยะสั้นในอนาคตจะสูงขึ้น อัตราผลตอบแทนระยะยาว คือ ค่าเฉลี่ยของอัตราปัจจุบันกับอัตราดอกเบี้ยในอนาคตนั้นอยู่เหนืออัตราดอกเบี้ยปัจจุบัน แสดงว่า อัตราดอกเบี้ยระยะยาวสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น กองทุนขนาดใหญ่และเฮดจ์ฟันด์ยังคงเคลื่อนย้ายเงินทุนจากตลาดหุ้นมายังตลาดพันธบัตรต่อไป จนกว่าราคาหุ้นจะปรับฐานลงมาสู่ระดับที่ทำให้การลงทุนในตลาดสินทรัพย์เสี่ยงมีความน่าสนใจหรือบริษัทต่างๆสามารถจ่ายเงินปันผลเพิ่มขึ้นได้ หรือ มี Market P/E Ratio ลดลงมากพอ อัตราผลตอบแทนเมื่อปรับความเสี่ยงแล้วของตลาดหุ้นสามารถแข่งขันกับอัตราผลตอบแทนของตลาดพันธบัตรที่ยังคงปรับตัวสูงขึ้นอยู่

นายอนุสรณ์ กล่าวว่า เงินก็เหมือนกับสินค้าทั่วไปที่ระดับราคาของมัน หรืออัตราดอกเบี้ยถูกกำหนดโดยอุปสงค์และอุปทาน หน่วยการผลิตจะผลิตเพิ่มขึ้นหรือลดลงขึ้นอยู่กับการเปรียบเทียบระหว่างอัตราผลตอบแทนที่คาดหวังว่าจะได้รับเพิ่มขึ้นอันเนื่องมาจากการลงทุนเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งหน่วย (Marginal Efficiency of Investment-MEI) กับ อัตราดอกเบี้ยในตลาด เมื่อ MEI ยังสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยในตลาด หน่วยการผลิตจะยังขยายการลงทุนไปเรื่อย ๆ จนกระทั่ง MEI เท่ากับ อัตราดอกเบี้ย ในภาวะที่ระบบเศรษฐกิจไทยมีกำลังการผลิตส่วนเกินอยู่ อัตราเงินเฟ้อค่อนข้างต่ำ รัฐบาลก่อหนี้เพิ่ม สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีสูงมาก ทางการไม่ควรปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีกแม้นในหนึ่งหรือสองไตรมาสข้างหน้า อัตราเงินเฟ้ออาจเพิ่มขึ้นจากราคาพลังงานปรับสูงขึ้น ในระบบเศรษฐกิจแบบเสรีนิยม อัตราดอกเบี้ยจึงทำหน้าที่เป็นกลไกจัดสรรทรัพยากรของสังคมและระบบเศรษฐกิจตามการขึ้นลงของราคาของเงิน หรืออัตราดอกเบี้ย ที่ระดับอัตราดอกเบี้ย ณ ระดับใดระดับหนึ่งในระบบการเงิน

หน่วยเศรษฐกิจที่มีประสิทธิภาพในการลงทุนจะสามารถประมูลเงินทุนไปดำเนินในกระบวนการผลิต (คือสามารถรับภาระของดอกเบี้ย) ส่วนหน่วยเศรษฐกิจที่มีประสิทธิภาพต่ำย่อมไม่สามารถได้เงินทุนไปขยายการผลิต หน่วยธุรกิจที่สามารถมีกำไรได้และมีประสิทธิภาพสูง ไม่ได้หมายความว่า การผลิตจะมีคุณค่าต่อสังคมเสมอไป เช่น โรงงานผลิตสุรา โรงงานผลิตยาสูบ สถานอาบอบนวด เป็นต้น กำไรมากแต่มีผลกระทบทางสังคม หรือการผลิตบางอย่าง กำไรต่ำหรือบางครั้งก็มีประสิทธิภาพต่ำแต่เป็นกิจการที่มีความสำคัญต่อสังคมและระบบเศรษฐกิจ เช่น สถานเลี้ยงดูเด็กกำพร้า บ้านพักคนชรา หรือ การทำนาหรือเกษตรกรรม เป็นต้น เมื่อเป็นเช่นนี้ เราจึงไม่สามารถอาศัยกลไกอัตราดอกเบี้ยเพียงอย่างเดียวในการจัดสรรทรัพยากรของสังคม จำเป็นต้องมีกลไกหรือเครื่องมืออื่นๆรวมทั้งการแทรกแซงโดยรัฐด้วย โดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนาและประเทศเหล่านี้มักอาศัยธนาคารเฉพาะกิจของรัฐในการเข้ามาดูแลในการจัดสรรทรัพยากรของระบบเศรษฐกิจรวมทั้งการช่วยเหลือภาคเกษตรกรรมและธุรกิจขนาดเล็กด้วย

หากรัฐบาลตัดสินใจแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ตอย่างถ้วนหน้า รัฐบาลต้องกู้เงินจำนวนมากจากตลาดการเงินภายใน อาจจะเกิด Crowding out Effect ดันอัตราดอกเบี้ยในตลาดให้สูงขึ้นและไปเบียดบังการลงทุนภาคเอกชน การลงทุนโดยรวมอาจไม่ได้ปรับเพิ่มขึ้นตามเป้าหมาย ผลสุทธิของการกระตุ้นเศรษฐกิจจากนโยบายแจกเงินจะเบาบางลงจากการลดลงจากต้นทุนทางการเงินของภาคเอกชนที่เพิ่มสูงขึ้น การลงทุนลดลงของภาคเอกชน ส่งผลต่อการสะสมทุนลดลง (Less Capital Accumulation) นำมาสู่การเติบโตที่ลดลงในระยะยาว แม้ในระยะสั้น มาตรการแจกเงินจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการบริโภคก็ตาม

Grab จับมือพาร์ตเนอร์ให้กู้ซื้อรถอีวี BYD 'ไม่ดูประวัติการเงิน-เงินดาวน์' ขอแค่ประวัติขับ Grab และหักผ่อนรายวันจากค่าบริการ เริ่มต้นปี 67

(30 ต.ค. 66) เมธิณี อนวัชกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานธุรกิจการเดินทางและบริหารพาร์ตเนอร์คนขับ แกร็บ ประเทศไทย เปิดเผยว่า แกร็บเตรียมผนึกความร่วมมือกับ Moove ผู้ให้บริการด้านสินเชื่อยานยนต์ และ Rever Automotive ผู้จัดจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้า BYD 

เปิดโอกาสให้พาร์ตเนอร์คนขับสามารถเป็นเจ้าของรถยนต์ไฟฟ้าเพื่อใช้ให้บริการรับส่งผู้โดยสารในโปรแกรม 'ผ่อนขับรับรถ' (Drive-to-Own)

ทั้งนี้ไม่ต้องใช้ประวัติทางการเงิน แต่จะพิจารณาอนุมัติสินเชื่อจากประวัติในการให้บริการกับแกร็บ คือ พาร์ตเนอร์คนขับไม่ต้องวางเงินดาวน์ และสามารถผ่อนจ่ายได้แบบรายวันผ่านการหักรายได้จากการให้บริการในแต่ละวัน

สำหรับความพิเศษของโปรแกรมสินเชื่อที่มีระยะเวลาผ่อนนานสูงสุด 72 เดือนนี้ และยังมีสิทธิประโยชน์เสริมอื่น ๆ อาทิ ฟรีค่าซ่อมบำรุงรถ รวมถึงครอบคลุมการทำประกันรถยนต์ ประกันสุขภาพและประกันชีวิตให้กับพาร์ตเนอร์คนขับ

อย่างไรก็ตาม โปรแกรมดังกล่าวจะเริ่มเปิดให้พาร์ตเนอร์คนขับแกร็บสามารถจองรถยนต์ไฟฟ้าจาก BYD ได้ในได้ในช่วงต้นปี 2567 และคาดว่าจะทำให้พาร์ตเนอร์คนขับสามารถเข้าถึงรถยนต์ไฟฟ้าได้ทั้งสิ้น 5,000 คันภายในปี 2568 

‘ส่งออกไทย’ 7 เดือนแรก โกยมูลค่าทะลุ 2 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ชี้ ‘ถุงมือกีฬา’ โตแกร่ง!! หลังการแข่งขันกลับมาคึกคักต่อเนื่อง

(30 ต.ค. 66) นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยสถิติการใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าสำหรับการส่งออกภายใต้ระบบสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป หรือ GSP ที่ไทยได้รับในปัจจุบัน ได้แก่ สหรัฐอเมริกา สวิตเซอร์แลนด์ นอร์เวย์ และกลุ่มประเทศเครือรัฐเอกราช โดยใน 7 เดือนแรกของปี 2566 มีมูลค่ารวม 2,017.86 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วนการใช้สิทธิฯ ประมาณ 53% และตลาดที่ไทยมีการใช้สิทธิ GSP ส่งออกมากที่สุดเป็นอันดับ 1 คือ สหรัฐฯ ซึ่งมีมูลค่า 1,854.57 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วน 91.90% ของมูลค่าการส่งออกรวมที่ใช้สิทธิ GSP

สำหรับการใช้สิทธิ GSP ในการส่งออกสินค้าไปสหรัฐฯ ที่มีความน่าสนใจและมีอัตราการเติบโตได้ดีตามปริมาณความต้องการสินค้าที่เพิ่มขึ้นจากรายการแข่งขันกีฬาที่กลับมาคึกคักอย่างต่อเนื่องหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 คือ สินค้าถุงมือสำหรับกีฬา อาทิ กอล์ฟ เบสบอล และการแข่งขันรถจักรยานยนต์ทางเรียบ โดยมีมูลค่าการใช้สิทธิฯ 26.74 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ทั้งนี้ สหรัฐฯ มีการนำเข้าสินค้าดังกล่าวจากไทยมากเป็นลำดับที่ 3 รองจากเวียดนามและอินโดนีเซีย คิดเป็นสัดส่วนการนำเข้า 16.33% ของมูลค่าการนำเข้าสินค้าเดียวกันจากทั่วโลก ซึ่งการนำเข้าที่ใช้สิทธิ GSP ทำให้ไทยได้รับการลดภาษีนำเข้าสหรัฐฯ จากเดิมที่ต้องเสียภาษี 4.9% (MFN Rate) ลดลงเหลือ 0% นอกจากนี้ยังมีสินค้าสำคัญอื่นๆ ที่มีมูลค่าการใช้สิทธิ GSP ส่งออกไปสหรัฐฯ สูง โดยสินค้าอันดับ 1 ยังคงเป็นส่วนประกอบของเครื่องปรับอากาศ และสินค้าอื่นๆ อาทิ กรดมะนาวหรือกรดซิทริก อาหารปรุงแต่ง กระเป๋าเดินทาง ถุงมือยางเพื่อการแพทย์ และเลนส์แว่นตา เป็นต้น

สำหรับโครงการ GSP ของสวิตเซอร์แลนด์ นอร์เวย์ และกลุ่มประเทศเครือรัฐเอกราช (CIS) ที่สินค้ามีมูลค่าการใช้สิทธิฯ สูง อาทิ เพชรพลอยรูปพรรณทำด้วยโลหะมีค่า (สวิตเซอร์แลนด์) ของผสมของสารที่มีกลิ่นหอมชนิดที่ใช้ในอุตสาหกรรมอาหารหรือเครื่องดื่ม (สวิตเซอร์แลนด์) หน้าปัดนาฬิกาชนิดคล็อกหรือวอตซ์ (สวิตเซอร์แลนด์) ข้าวโพดหวาน (นอร์เวย์) สูทของสตรีหรือเด็กหญิงทำด้วยขนแกะหรือขนละเอียดของสัตว์ (นอร์เวย์) เนื้อสัตว์แปรรูป (นอร์เวย์) สับปะรดกระป๋อง ปลาทูน่า ปลาสคิปแจ็ก และปลาโบนิโตชนิดซาร์ดา (CIS) เป็นต้น


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top