Saturday, 10 May 2025
Econbiz

'พิมพ์ภัทรา' หารือ 'กมธ.อุตสาหกรรม' กรุยทางขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ยก!! 'เปลี่ยนยุค EV - เหมืองโปแตซ - ฮาลาลสากล' วาระใหญ่

(9 พ.ย.66) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรม ได้ประชุมร่วมกับคณะกรรมาธิการอุตสาหกรรม สภาผู้แทนราษฎร นำเสนอแผนการขับเคลื่อนนโยบายอุตสาหกรรมเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างยั่งยืนคู่ชุมชน การปรับภารกิจเข้าสู่ดิจิทัลอย่างเป็นระบบ (Digital Government) การบูรณาการการกำกับดูแลโดยใช้กลไกทางกฎหมาย และกองทุนพัฒนาอุตสาหกรรม ตลอดจนแผนการดำเนินงานของหน่วยงานในสังกัด ในโอกาสที่คณะกรรมาธิการฯ เดินทางเข้าพบ เพื่อแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นสำหรับการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมในชั้นกรรมาธิการต่อไป

โดยที่ประชุมได้หารือในประเด็นต่างๆ อาทิ การส่งเสริมผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเดิมให้สามารถปรับไปสู่อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า สำหรับผู้ประกอบการที่มีศักยภาพความพร้อม โดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม และการนำเสนอแนวโน้มทิศทางอุตสาหกรรมโดยสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม เพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินธุรกิจสำหรับผู้ประกอบการที่ยังไม่พร้อมปรับแผนการผลิต รวมทั้งการสนับสนุนแหล่งเงินทุนสำหรับการเปลี่ยนผ่านจากกองทุนพัฒนาอุตสาหกรรม และการส่งเสริมการทำเหมืองโพแตซ ให้สามารถผลิตปุ๋ยได้เองภายในประเทศ ซึ่งช่วยลดรายจ่ายจากการนำเข้าปุ๋ยปีละกว่า 2 หมื่นล้านบาท โดยในส่วนนี้คณะกรรมาธิการฯ ได้เน้นย้ำให้ผู้ประกอบการเหมืองแร่ ประกอบธุรกิจด้วยความรับผิดชอบ และบริหารความสัมพันธ์ให้สามารถอยู่ร่วมกับชุมชนได้อย่างเป็นสุข

นอกจากนี้ที่ประชุมยังได้หารือเกี่ยวกับมาตรการส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ รวมทั้งมาตรการควบคุมดูแลกากอุตสาหกรรม พร้อมชื่นชมการขับเคลื่อนนโยบายส่งเสริมอุตสาหกรรมฮาลาลของกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อเสริมสร้างศักยภาพในการส่งออกผลิตภัณฑ์ไปยังกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง โดยขอให้พิจารณาเกณฑ์การรับรองมาตรฐานให้เหมาะสม และมีความรวดเร็วเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการ ซึ่งอยู่ระหว่างการหารือกับคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (กพ.) ในการยกระดับหน่วยงานดำเนินการขึ้นเป็น กรมอุตสาหกรรมฮาลาล

"อย่างไรก็ดี กระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมให้ความร่วมมือกับ คณะกรรมาธิการอุตสาหกรรม สภาผู้แทนราษฎร ในการให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการทำงาน รวมทั้งการรับฟังเสียงสะท้อนจากภาคประชาชนเพื่อยกระดับการขับเคลื่อนนโยบายอย่างเต็มศักยภาพ" นางสาวพิมพ์ภัทรา กล่าวทิ้งท้าย

‘JKN’ ยื่นคำร้องขอ ‘ฟื้นฟูกิจการ’ ต่อศาลล้มละลายกลาง แก้ปัญหาสภาพคล่อง-สร้างผลกําไรให้มั่นคงยิ่งขึ้นในอนาคต

(9 พ.ย.66) นายจักรพงษ์ จักราจุฑาธิบดิ์ หรือ แอน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ บริษัท เจเคเอ็น โกลบอล กรุ๊ป จํากัด (มหาชน) หรือ JKN รายงานจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ มีมติอนุมัติให้บริษัทในฐานะลูกหนี้ ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ และเสนอผู้จัดทำแผนฟื้นฟูกิจการ ต่อศาลล้มละลายกลางภายใต้พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 โดยในวันที 8 พฤศจิกายน 2566 บริษัทฯ ได้ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการของบริษัทแล้ว ระบุรายละเอียดในเอกสารเอาไว้ดังนี้

วันที่ 9 พฤศจิกายน 2566 เรื่อง การยื่นคําร้องขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลางของ บริษัท เจเคเอ็น โกลบอล กรุ๊ป จํากัด (มหาชน) เรียน กรรมการและผู้จัดการ

บริษัท เจเคเอ็น โกลบอล กรุ๊ป จํากัด (มหาชน) (“บริษัท”) ขอเรียนแจ้งให้ทราบว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท ครั้งที่ 10/2566 เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2566 ได้มีมติอนุมัติให้ บริษัทในฐานะลูกหนี้ยื่นคําร้องขอฟื้นฟูกิจการ และเสนอ ผู้จัดทําแผนฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลางภายใต้พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 (รวมที่แก้ไขเพิ่มเติม) โดยในวันที่ 8 พฤศจิกายน 2566 บริษัทได้ยื่นคําร้องขอฟื้นฟูกิจการของบริษัทเรียบร้อยแล้ว

ในการนี้ บริษัทขอเรียนชี้แจงสรุปสาระสําคัญของคําร้องฟื้นฟูกิจการ ดังนี้

1. บริษัทในฐานะลูกหนี้เป็นผู้ยื่นคําร้องขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลาง
2. บริษัทเสนอ บริษัท เจเคเอ็น โกลบอล กรุ๊ป จํากัด (มหาชน) เป็นผู้ทําแผน
3. แนวทางของแผนฟื้นฟูกิจการในเบื้องต้น ดังนี้

3.1 การปรับโครงสร้างกิจการ และโครงสร้างทางการเงินให้สอดคล้องกับสมมติฐานทางการเงิน และสภาพเศรษฐกิจปัจจุบัน ตลอดจนแก้ไขปัญหาของกิจการในส่วนของเงินทุนหมุนเวียน เพื่อแก้ไขปัญหาสภาพคล่องทางการเงินของบริษัท รวมถึงการปรับโครงสร้างภายในองค์กร

3.2 การขยายระยะเวลาการชําระหนี้ การผ่อนผันในเรื่องอัตราดอกเบี้ย เพื่อให้บริษัทสามารถ สร้างรายรับจากการประกอบกิจการและนํามาจัดสรรชําระหนี้แก่เจ้าหนี้ได้อย่างครบถ้วนและบริษัทยังคงดําเนินกิจการต่อไปได้

3.3 การได้รับเงินสนับสนุนทางด้านการเงินจากแหล่งเงินทุน โดยได้รับจากผู้ลงทุนรายใหม่ หรือ สถาบันการเงินเพื่อเป็นการหมุนเวียนในกิจการของบริษัท

3.4 การจัดหาแนวทางการดําเนินการขายทรัพย์สินที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์หรือก่อให้เกิดรายได้ เพื่อนำเงินที่ได้จากการขายทรัพย์สินดังกล่าวมาชําระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ทั้งหลาย
3.5 การจัดเตรียมแผนงาน และกลยุทธ์ในการบริหารสภาพคล่องของบริษัท และการปรับปรุง ระบบ โครงสร้างภายในองค์กร และการพัฒนาต่อยอดธุรกิจให้มีประสิทธิภาพ

การเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการของบริษัทจะช่วยให้บริษัทแก้ไขปัญหาสภาพคล่องของบริษัทได้อย่างมี ประสิทธิภาพ โดยมีกฎหมายรองรับ และให้ความคุ้มครองแก่ผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายอย่างเป็นธรรม อีกทั้งบริษัทยังสามารถประกอบธุรกิจต่อไปได้ในระหว่างที่อยู่ในกระบวนการฟื้นฟูกิจการ เพื่อการแก้ไขปัญหาของบริษัท และเพื่อสร้างผลกําไร จากการดําเนินกิจการต่อไปในอนาคตได้อย่างมั่นคง

บริษัทจะแจ้งให้ทราบเกี่ยวกับความคืบหน้าใด ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับการฟื้นฟูกิจการของบริษัทต่อไป จึงเรียนมาเพื่อทราบ

ขอแสดงความนับถือ นายจักรพงษ์ จักราจุฑาธิบดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ ผู้มีอํานาจรายงานสารสนเทศ

อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2566 ที่ผ่านมา แอน จักรพงษ์ ได้ทำการขายหุ้น JKN จำนวน 116 ล้านบาท โดยแจ้งกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ กลต. ว่า บริษัทมีรายการขายหุ้นและรับโอนหุ้นหลายรายการ ทั้งนี้รายการขายหุ้นนั้นมาจากบัญชี มาร์จิ้น ถูกฟอร์ซเซลล์หรือบังคับขาย เนื่องจากราคาหุ้นตกแรงกว่า 50% ในช่วงเวลาดังกล่าว จึงอาจเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ส่งผลให้ JKN ต้องทำเอกสารยื่นร้องขอฟื้นฟูกิจการนั่นเอง

‘สายสีชมพู’ ปลุก ‘แจ้งวัฒนะ-รามอินทรา-มีนบุรี’ คึกคัก ‘คอนโดใหม่’ ทะลัก 6.8 หมื่น ลบ. ราคาที่ดินพุ่งเท่าตัว

(8 พ.ย. 66) นายภัทรชัย ทวีวงศ์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและการสื่อสาร บริษัท คอลลิเออร์ส อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย จำกัด เปิดเผยว่า ภาพรวมตลาดคอนโดมิเนียมตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีชมพูช่วงแคราย-มีนบุรี หลังเตรียมเปิดบริการในวันที่ 18 ธันวาคม 2566 ส่งผลให้ตลาดคอนโดมิเนียมตลอดเส้นทางของรถไฟฟ้าสายนี้กลับมาคึกคักอีกครั้ง 

โดยพบว่าผู้พัฒนารายใหญ่มีการลงทุนเปิดตัวโครงการใหม่คึกคัก ทั้งย่านรามอินทรา แจ้งวัฒนะ และมีนบุรี โดย สิ้นไตรมาส 3 ปี 2566  มีโครงการคอนโดมิเนียมเปิดขายตลอดแนวสายสีชมพูแล้ว 38,192 ยูนิต มูลค่า 68,700 ล้านบาท ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่แนวถนนติวานนท์ และแจ้งวัฒนะมากสุดคิดเป็น 49.28 % ของจำนวนทั้งหมด และมีอัตราการขายเฉลี่ยของทุกพื้นที่อยู่ที่ 73.50%

“ช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ภาพรวมของราคาคอนโดมิเนียมแนวสายสีชมพู ปรับตัวสูงขึ้นกว่า 100% หรือเฉลี่ยปีละกว่า 10% โดยช่วงก่อนหน้าการกระจุกตัวของโครงการคอนโดมิเนียมส่วนใหญ่อยู่ถนนติวานนท์-แจ้งวัฒนะ และรามอินทราเป็นส่วนใหญ่ แต่หลังรถไฟฟ้ามีความคืบหน้าพบว่าย่านมีนบุรี ถนนรามคำแหง 209 มีผู้พัฒนารายใหญ่ เช่น ออริจิ้น, แอสเซทไวส์ เข้าไปพัฒนาโครงการใหม่และได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี” นายภัทรชัยกล่าว

นายภัทรชัยกล่าวว่า ตลาดคอนโดมิเนียมสายสีชมพูคึกขึ้น เกิดจากคอนโดมิเนียมในกรุงเทพมหานครชั้นในเริ่มมีมากขึ้นและราคาที่ดินปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลต่อเนื่องมายังโครงการคอนโดมิเนียมที่มีการปรับราคาขายที่สูงขึ้นในทุกปี ทำให้ผู้ซื้อระดับกลาง-ล่างที่เป็นกลุ่มใหญ่ที่สุดเริ่มหาซื้อคอนโดมิเนียมได้ยากขึ้น ด้านผู้พัฒนาก็ยังต้องการจับกำลังซื้อกลุ่มระดับกลาง-ล่างเอาไว้ให้มากที่สุด จำเป็นต้องมองหาทำเลใหม่ที่ราคาที่ดินยังไม่สูง ยังสามารถพัฒนาโครงการเพื่อรองรับกำลังซื้อกลุ่มนี้ได้ แต่ยังจำกัดอยู่ในบริเวณมีศักยภาพ มีศูนย์การค้า ศูนย์ราชการ ชุมชนขนาดใหญ่ เช่น แยกติวานนท์ ถนนแจ้งวัฒนะ ถนนรามอินทรา

นายภัทรชัยกล่าวว่า ปัจจุบันราคาขายเฉลี่ยอยู่ที่ 65,000 บาท/ตารางเมตร(ตร.ม.) มีคอนโดมิเนียมเปิดขายตั้งแต่ระดับราคา 45,000 - 90,000 บาท/ตร.ม. ขึ้นอยู่กับทำเล รูปแบบโครงการ โดยราคาขายปรับขึ้นมาจากเมื่อปี 2556 มากกว่า 100% หรือเฉลี่ยอยู่ที่ปีละ 10% และหากสายสีชมพูเปิดอย่างเป็นทางการคาดการณ์ว่าคอนโดมิเนียมใหม่ที่เปิดขายหลังจากนี้คงมีราคาเริ่มต้นที่ไม่ต่ำกว่า 70,000 บาท/ตร.ม.แน่นอน เพราะราคาที่ดินเริ่มปรับขึ้นไปแล้วเช่นกันในช่วง 1-2 ปีนี้ โดยเพิ่มขึ้นมากกว่า 15% หรือมากกว่านี้ในบางทำเล ซึ่งราคาขายที่ดินอยู่ในช่วง 80,000-300,000 บาท/ตารางวา อนาคตคาดว่าจะพุ่งขึ้นเป็นเท่าตัว จึงเป็นที่คาดการณ์ว่าคอนโดมิเนียมหรือบ้านจัดสรรใหม่ ๆ ต้องมีราคาแพงกว่าปัจจุบันแน่นอน

‘EA’ ได้รับการจัดอันดับหุ้นยั่งยืน SET ESG Ratings ระดับ AA ปี 66 ตอกย้ำ!! ความใส่ใจ-รับผิดชอบสิ่งแวดล้อม-ดำเนินธุรกิจสู่ความยั่งยืน

เมื่อไม่นานมานี้ บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA ได้รับการจัดอันดับ ‘หุ้นยั่งยืน ระดับ AA’ ประจำปี 2566 (SET ESG Ratings : AA) จากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สะท้อนให้เห็นถึงนโยบายและการให้ความสำคัญในการดำเนินธุรกิจสู่ความยั่งยืน ด้านสิ่งแวดล้อม ความรับผิดชอบต่อสังคม การบริหารงานตามหลักบรรษัทภิบาล (Environmental, Social, Governance: ESG) การเปิดเผยกระบวนการดำเนินธุรกิจและมีแนวทางการบริหารจัดการที่ชัดเจน เพื่อให้เห็นถึงความสามารถในการสร้างโอกาสทางธุรกิจและเกิดประโยชน์กับผู้ถือหุ้นและทุกภาคส่วนของสังคม ซึ่งในปีนี้ EA ได้รับการคัดเลือกต่อเนื่องเป็นปีที่ 6 นับตั้งแต่ปี 2560

นายอมร ทรัพย์ทวีกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) ผู้นำนวัตกรรมด้านพลังงานสะอาด กล่าวว่า “EA มุ่งมั่นดำเนินธุรกิจด้านนวัตกรรมพลังงานสะอาด ควบคู่ไปกับการรับผิดชอบสังคมและสิ่งแวดล้อม ที่เป็น ‘Green Product’ เพื่อประโยชน์ต่อสังคมที่ยั่งยืน โดยครอบคลุมในทุกมิติด้านพลังงานสะอาด ทั้งธุรกิจพลังงานทดแทน ธุรกิจพลังงานหมุนเวียน ธุรกิจผลิตแบตเตอรี่และยานยนต์ไฟฟ้า ยกระดับนวัตกรรมฝีมือคนไทยสู่ระดับนานาชาติ 

นอกจากนี้ EA มุ่งมั่นสร้างระบบนิเวศยานยนต์ไฟฟ้าที่ครบวงจร เดินหน้าพัฒนายานยนต์ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์อย่างต่อเนื่อง ครอบคลุมระบบขนส่งทั้งรถหัวลากไฟฟ้า รถบรรทุกไฟฟ้า ระบบขนส่งมวลชน ได้แก่โดยสารไฟฟ้า เรือโดยสารไฟฟ้า ยกระดับการเดินทางระบบขนส่งมวลชนสาธารณะของไทยที่มีความสะดวก ทันสมัย เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม”

‘ไทย’ พลิกบทบาทฐานผลิต ‘รถยนต์สันดาป’ สู่ ‘EV’ ชั้นนำโลก เล็งดึงเม็ดเงินบริษัทต่างชาติลงทุน 1 ล้านล้านบาท ภายใน 4 ปี

เมื่อวันที่ 8 พ.ย. 66 เพจเฟซบุ๊ก ‘เดือดทะลักจุดแตก’ ได้โพสต์ข้อความถึงกรณีที่เมื่อไม่นานนี้ ทางสำนักข่าวบลูมเบิร์กเทเลวิชัน ของสหรัฐอเมริกา รายงานข่าวว่า ‘ไทยแลนด์’ ฐานผลิตรถยนต์ (น้ำมัน) แห่งเอเชีย’ พลิกเดิมพัน EV หวังดูดเงินลงทุนมหาศาล 1 ล้านล้านบาท โดยระบุว่า…

ประเทศไทยซึ่งได้รับฉายาว่าเป็น ‘ดีทรอยต์แห่งเอเชีย’ (Detroit of Asia) ในแง่ของการผลิตรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปภายใน ได้แสดงความมุ่งมั่นที่จะก้าวขึ้นเป็นผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ระดับแถวหน้าของโลก ด้วยการตั้งเป้าหมายที่จะดึงดูดเม็ดเงินลงทุนต่างชาติถึง 1 ล้านล้านบาท (2.8 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) ภายในระยะเวลา 4 ปี

โดยสำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า ไทยได้จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการพิเศษ เพื่อดึงดูดนักลงทุนรายใหญ่ให้มาลงทุนในอุตสาหกรรม EV และภาคส่วนอื่น ๆ ที่เป็นกลยุทธ์ทางเศรษฐกิจของไทย โดยนายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวว่า กลุ่มผู้ผลิต EV ของจีนถือเป็นเป้าหมายหลักของไทย

นายนฤตม์กล่าวว่า อุตสาหกรรม EV, ยานยนต์, อิเล็กทรอนิกส์, ดิจิทัล, สำนักงานใหญ่ระดับภูมิภาค และอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ถือเป็น ‘5 อุตสาหกรรมเชิงกลยุทธ์’ ที่บีโอไอให้ความสำคัญเป็นลำดับต้น ๆ

ข้อมูลจาก fDi Markets ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ติดตามการลงทุนในอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมระบุว่า ในขณะที่ไทยสามารถดึงดูดเงินลงทุนจากบริษัทจีนหลายแห่ง ซึ่งรวมถึงบีวายดี, เกรท วอลล์ มอเตอร์ และเอสเอไอซี มอเตอร์นั้น ทิศทางด้านการลงทุนในอุตสาหกรรม EV ในปี 2565 แสดงให้เห็นว่าไทยต้องเร่งดำเนินการอย่างมากเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย ขณะที่สหรัฐฯ, ฮังการี, เม็กซิโก, อินโดนีเซีย และเยอรมนี ได้รับเงินลงทุนจากมูลค่าทั้งหมดกว่า 1.06 แสนล้านดอลลาร์ที่ลงทุนในโครงการ EV ทั่วโลกเมื่อปีที่แล้ว

ศูนย์ปฏิบัติการพิเศษเพื่อการลงทุนเชิงกลยุทธ์ (Special Operation Center For Strategic Investment) ซึ่งอยู่ในกรุงเทพฯนั้น กำลังทำงานเกือบจะตลอด 24 ชั่วโมงเพื่อดึงดูดนักลงทุนที่มีศักยภาพสูง และจัดการประชุมระดับสูงให้กับรัฐบาล รวมทั้งคอยสนับสนุนนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เกี่ยวกับทริปการเดินทางไปต่างประเทศที่สำคัญ เพื่อพยายามทำข้อตกลงด้านการลงทุน

ทั้งนี้ หลังจากที่นายเศรษฐาเดินทางเยือนสหรัฐฯ เมื่อเดือนที่แล้ว บีโอไอพยายามโน้มน้าวบริษัทรายใหญ่ ซึ่งรวมถึงไมโครซอฟท์, กูเกิล และอะเมซอน เว็บ เซอร์วิส ให้เข้ามาสร้างหรือเพิ่มฐานธุรกิจในประเทศไทยผ่านทางการลงทุนใหม่ ๆ

สรุปสถานการณ์ตลาดน้ำมันสัปดาห์ที่ 30 ต.ค. - 3 พ.ย. 66 จับตาปัจจัย ‘บวก-ลบ’ พร้อมแนวโน้ม 6 - 10 พ.ย. 66

ราคาน้ำมันดิบชะลอตัว หลังนักลงทุนกังวลภาวะเศรษฐกิจจีนและสหรัฐฯ

• ราคาน้ำมันปรับตัวลดลงจากความกังวลเศรษฐกิจจีน ซึ่งล่าสุดสำนักสถิติแห่งชาติจีน (National Bureau of Statistics: NBS) รายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิต (Manufacturing Purchasing Managers’ Index: PMI) ในเดือน ต.ค. 66 ลดลง 0.7 จุด จากเดือนก่อนหน้า อยู่ที่ 49.5 จุด ทั้งนี้ ดัชนีต่ำกว่า 50 จุด บ่งชี้ภาวะหดตัว

• กระทรวงแรงงานสหรัฐฯ รายงานอัตราว่างงาน (Unemployment Rate) ในเดือน ต.ค. 66 เพิ่มขึ้น 0.1% จากเดือนก่อนหน้า อยู่ที่ 3.9% สูงสุดตั้งแต่เดือน ม.ค. 65 และภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ของสหรัฐฯ มีแนวโน้มชะลอตัว หลังสหภาพแรงงานยานยนต์ (United Auto Workers: UAW) ซึ่งมีสมาชิกประมาณ 400,000 ราย มีการประท้วงหยุดงานจำนวน 46,000 ราย เพื่อขอขึ้นค่าจ้างและสวัสดิการ ตั้งแต่วันที่ 15 ก.ย. 66

• วันที่ 31 ต.ค. - 1 พ.ย. 66 ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของสหรัฐฯ (Federal Open Market Committee: FOMC) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 5.25-5.50% และมีแนวโน้มคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับเดิมในการประชุมครั้งถัดไปวันที่ 12 - 13 ธ.ค. 66

• ให้ติดตามการอ่อนค่าของเงินสกุลดอลลาร์ ซึ่งล่าสุดดัชนีดอลลาร์สหรัฐฯ (USDX) เทียบกับเงินสกุลหลักโลก 6 สกุล อยู่ที่ 104.8 จุด ต่ำสุดตั้งแต่ 20 ก.ย. 66 โดย CEO ของบริษัทจัดการลงทุน DoubleLine Capital ในสหรัฐฯ นาย Jeffrey Gundlach คาดการณ์ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) จะลดดอกเบี้ยในช่วงครึ่งแรกของปี 2567 ส่งผลให้มีการเคลื่อนย้ายเงินทุน (Fund Flows) จากเงินสกุลดอลลาร์สู่สกุลเงินต่างประเทศอื่น ทั้งนี้ การอ่อนค่าของดอลลาร์จะผลักดันอุปสงค์ของประเทศผู้นำเข้าน้ำมัน

• รมว. กระทรวงพลังงานของซาอุดีอาระเบีย เจ้าชาย Abdulaziz bin Salman ประกาศซาอุดีอาระเบียจะคงมาตรการลดปริมาณการผลิตน้ำมันดิบโดยสมัครใจปริมาณ 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน ไปจนสิ้นสุดเดือน ธ.ค. 66 (เริ่มตั้งแต่ ก.ค. 66) แม้ว่าจะเกิดสงครามระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาส ซึ่งตลาดกังวลว่าจะกระทบต่ออุปสงค์น้ำมัน ทั้งนี้ ปัจจุบันซาอุดีอาระเบียผลิตน้ำมันดิบอยู่ที่ประมาณ 9 ล้านบาร์เรลต่อวัน

'ฉางอัน ออโต' วางศิลาฤกษ์ 'โรงงานผลิต EV' ในไทย มองไกล!! ทุ่ม 2 หมื่นล้าน จ่อผลิต 2 แสนคันต่อปี

(9 พ.ย.66) สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า ฉางอัน ออโต (Changan Auto) ผู้ผลิตยานยนต์ชั้นนำของจีน ได้จัดพิธีวางศิลาฤกษ์โรงงานผลิตยานยนต์แห่งแรกของบริษัทในไทย ซึ่งนับเป็นก้าวสำคัญของการขยับขยายธุรกิจในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

โดยโรงงานแห่งใหม่นี้ครอบคลุมพื้นที่ราว 1,520 ไร่ ตั้งอยู่ที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ในจังหวัดระยอง ประกอบด้วยหน่วยทาสี ประกอบชิ้นส่วน ประกอบเครื่องยนต์ และประกอบแบตเตอรี่ รวมถึงสิ่งอำนวยความสะดวกสนับสนุนอันจำเป็น

รายงานระบุว่าการดำเนินงานระยะแรกมีกำหนดเริ่มต้นช่วงต้นปี 2025 โดยการออกแบบเบื้องต้นกำหนดกำลังการผลิตสูงแตะ 1 แสนคันต่อปี ส่วนการดำเนินงานระยะที่ 2 จะมีการลงทุนรวมสูงถึง 2 หมื่นล้านบาท ทำให้กำลังการผลิตสูงแตะ 2 แสนคันต่อปี

อนึ่ง ไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์แห่งสำคัญของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มาเนิ่นนาน เนื่องจากมีข้อได้เปรียบด้านห่วงโซ่อุตสาหกรรมและที่ตั้งทางภูมิศาสตร์

การลงทุนของฉางอันในไทยสอดคล้องกับเป้าหมายของรัฐบาลไทยที่มุ่งเพิ่มสัดส่วนการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าให้สูงแตะร้อยละ 30 ของการผลิตยานยนต์ทั้งหมดภายในปี 2030 และจะครอบคลุมทั่วตลาดอาเซียน รวมถึงตลาดยานยนต์พวงมาลัยขวาทั่วโลก

ด้านนายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนของไทย กล่าวว่าการลงทุนของฉางอันสะท้อนศักยภาพและความพร้อมของไทยในการเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าระดับภูมิภาคและระดับโลก

หวังฮุย รองประธานของฉางอัน ออโตโมบิล เผยว่าฉางอันมุ่งมีบทบาทเชิงรุกในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนผ่านสู่อุตสาหกรรมยานยนต์อันเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนยิ่งขึ้น ขณะไทยเร่งปรับตัวสู่การใช้ยานยนต์ไฟฟ้าอย่างรวดเร็ว

การเข้าสู่ไทยของฉางอันไม่เพียงเสนอหลักประกันตามเป้าหมายจัดวางให้ไทยเป็นศูนย์กลางยานยนต์ไฟฟ้าระดับภูมิภาคของฉางอัน แต่ยังมีบทบาทสำคัญต่อการส่งเสริมการบูรณาการเชิงลึกของกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์พลังงานใหม่ในจีนและไทย

ทั้งนี้ นอกเหนือจากฉางอันแล้ว กลุ่มผู้ผลิตยานยนต์ของจีน เช่น เกรตวอลล์ (Great Wall) และบีวายดี (BYD) ได้ก่อสร้างโรงงานและเปิดตัวยานยนต์ไฟฟ้ารุ่นต่างๆ ในไทยเช่นกัน ด้านข้อมูลจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ระบุว่าแบรนด์จีนครองสัดส่วนกว่าร้อยละ 70 ของยอดจำหน่ายยานยนต์ไฟฟ้าในไทยในช่วงครึ่งแรก (มกราคม-มิถุนายน) ของปีนี้

‘สธ.-สสส.-MBK’ รวมพลังปลุกกระแส ‘อาหารไทยถิ่น กินเป็นยา’ กระตุ้นท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ-เพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจ-ดึงเม็ดเงินเข้าประเทศ

(9 พ.ย. 66) นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นประธานเปิดงานเสวนาวิชาการและนิทรรศการอาหารเป็นยาครั้งที่ 1/2566 ภายใต้แนวคิด ‘อาหารไทยถิ่น กินเป็นยา’ ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 9-12 พฤศจิกายน 2566 ที่ลาน MBK Avenue A ศูนย์การค้าเอ็ม บี เค เซ็นเตอร์ กรุงเทพมหานคร โดยมี นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รักษาราชการแทนรองปลัด สธ. นพ.ขวัญชัย วิศิษฐานนท์ รองอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ผู้บริหาร สธ.ภาคีเครือข่ายร่วมงาน พร้อมทั้งมอบป้ายโลโก้อาหารเป็นยา ให้กับสถานประกอบการ ทั้ง 20 แห่ง ที่ผ่านเกณฑ์การคัดเลือกผู้จำหน่ายอาหารที่มีเมนูสุขภาพจากวัตถุดิบในท้องถิ่น ปลอดสารพิษ

นายสันติกล่าวว่า รัฐบาลมีนโยบายที่จะสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว เพื่อกระตุ้นภาคเศรษฐกิจและสร้างงานให้กับประชาชน โดยเฉพาะการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพด้านอาหารที่สร้างรายได้ให้กับประเทศนับแสนล้านบาท

ซึ่งมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง ข้อมูลจากกรมการท่องเที่ยว ระบุว่า ประเทศไทยมีสัดส่วนรายได้จากการท่องเที่ยวด้านอาหาร ถึงร้อยละ 20 ของรายได้การท่องเที่ยวทั้งหมด และในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา รายได้จากอาหารและเครื่องดื่มจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 5.74 สธ.จึงเห็นโอกาสในการขับเคลื่อนนโยบายอาหารเป็นยา เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจ ความเชื่อมั่น ให้กับประชาชนเกี่ยวกับการสร้างเสริมสุขภาพด้วยการบริโภคอาหาร นำไปสู่สร้างเศรษฐกิจให้กับประเทศ

“อาหารไทยได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวอย่างแพร่หลาย ซึ่งรัฐบาลได้กำหนดรายการอาหารยอดนิยมของนักท่องเที่ยวไว้ จำนวน 6 รายการ ได้แก่ ผัดไทย ต้มยำกุ้ง แกงเขียวหวาน ส้มตำ มัสมั่น ต้มข่าไก่ และยังมีรายการอาหารไทยที่ควรส่งเสริมให้นักท่องเที่ยวได้รู้จักมากยิ่งขึ้น เช่น ผัดกะเพรา ผัดฉ่า เครื่องดื่มสมุนไพรซึ่งมีสรรพคุณตามรสยา เพื่อช่วยให้ร่างกายแข็งแรง และบรรเทาอาการเจ็บป่วยเบื้องต้น” นายสันติกล่าว

นพ.สุรโชค กล่าวว่า การจัดงานในครั้งนี้ เป็นความร่วมมือของ สธ.สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ศูนย์การค้าเอ็ม บี เค เซ็นเตอร์ และภาคีเครือข่าย เพื่อขับเคลื่อนการนำอาหารไทย สมุนไพรไทย มาช่วยสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคในระดับท้องถิ่นและระดับประเทศ ภายใต้แนวคิด ‘อาหารไทยถิ่น กินเป็นยา’ เป็นการสร้างกระแสให้ประชาชนหันมาใส่ใจการรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพเพิ่มมากขึ้น รวมถึงเยาวชนรุ่นใหม่จะได้ตระหนักรู้ว่าอาหารไทย สมุนไพรไทยมีคุณค่า เป็นการผสม ‘ศาสตร์’ การดูแลสุขภาพด้วยภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย กับ ‘ศิลป์’ ความพิถีพิถัน ความละเอียดอ่อนในการปรุงอาหาร ที่ช่วยสร้างคุณค่าและมูลค่าให้กับอาหารไทย คาดว่าการจัดงานในครั้งนี้จะทำให้เศรษฐกิจเกิดการหมุนเวียนจากการจับจ่ายใช้สอยของนักท่องเที่ยวที่เข้ามาชมงานประมาณ 5-6 หมื่นคนต่อวัน

ด้าน นพ.ขวัญชัยกล่าวว่า ที่ผ่านมากรมการแพทย์แผนไทยฯ ได้จัดกิจกรรมอาหารเป็นยาโดยนำร่องจังหวัดที่เป็นเมืองสมุนไพร อาทิ สงขลา อุดรธานี จันทบุรี สระบุรี เชียงใหม่ เป็นต้น ซึ่งได้การตอบรับเป็นอย่างดี รวมถึงได้ร่วมมือกับ ‘การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย’ (ททท.) มอบป้ายโลโก้ให้ผู้ประกอบการ สตรีทฟู้ด ร้านอาหารเครื่องดื่ม และโรงแรม แล้วกว่า 200 ร้านค้า เพื่อเป็นเครื่องหมายรับรองคุณภาพ และเป็นสัญลักษณ์ที่แสดงว่ามีเมนูสุขภาพที่ใช้วัตถุดิบในท้องถิ่น ปลอดสารพิษ เป็นการช่วยสร้างรายได้ให้ชุมชนอย่างยั่งยืน

ทั้งนี้ กิจกรรมภายในงานประกอบด้วย เวทีเสวนาวิชาการ ให้ความรู้เกี่ยวกับสรรพคุณทางสมุนไพรที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย กิจกรรมอาการเป็นยา เช่น กินยังไง? ไม่ให้ป่วย, กินสร้างสุข, กินลดโรค การออกร้านจำหน่ายอาหาร-เครื่องดื่มจากชุมชนทั่วประเทศ

‘DTI’ เซ็น MOU ร่วม ‘THAICOM’ พัฒนาท่าอวกาศยาน เพิ่มขีดความสามารถด้านอวกาศไทยขึ้นไปอีกขั้น

(10 พ.ย.66) สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ (สทป.) หรือ ‘DTI’ จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความเข้าใจ (MOU) ว่าด้วยความร่วมมือด้านการพัฒนาท่าอวกาศยาน ภาครัฐเชิงพาณิชย์ (Commercial Governmental Spaceport) สิ่งอำนวยความสะดวกท่าอวกาศยานต่างๆ และ เทคโนโลยีทางอวกาศอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ระหว่าง สทป. กับ บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) 

โดยมี พลเอกพอพล มณีรินทร์ ประธานกรรมการ สทป. ร่วมเป็นสักขีพยานกิตติมศักดิ์ และมี พลเอกชูชาติ บัวขาว ผอ.สทป. และ นายปฐมภพ สุวรรณศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) ให้เกียรติในการลงนาม พร้อมด้วย ดร.ปิยะวัฒน์ จริยเศรษฐพงศ์ หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านการค้าร่วมเป็นสักขีพยาน เพื่อร่วมมือกันศึกษา วิจัย พัฒนา ส่งเสริม และสนับสนุน การจัดตั้งท่าอวกาศยานภาครัฐเชิงพาณิชย์ หรือ ‘Commercial Governmental Spaceport’ รวมถึงสิ่งอำนวยความสะดวกท่าอวกาศยานต่างๆ และเทคโนโลยีทางอวกาศอื่นๆ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ทั้งในด้านความมั่นคงทางการทหาร ด้านเศรษฐกิจและสังคม และด้านการพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและวิทยาการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องต่อไป ณ อิมแพ็ค เมืองทองธานี Hall 9-12

สำหรับงานด้านอวกาศ ถือเป็นโอกาสที่จะทำให้ประเทศเกิดการพัฒนาและเติบโตขึ้นในหลายมิติ โดยสิ่งหนึ่งที่มีความจำเป็น หากต้องการแข่งขันทางด้านอวกาศในระดับนานาชาติ คือ การพัฒนา Spaceport หรือ ‘ท่าอวกาศยาน’ ซึ่งมีความคล้ายกับแอร์พอร์ต หรือท่าอากาศยาน แต่ Spaceport นี้จะถูกใช้เป็นฐานยิงจรวด ยิงดาวเทียมขึ้นสู่อวกาศ รวมทั้งเป็นจุดสำหรับรับจรวดรับดาวเทียมกลับสู่โลก

ทั้งนี้ ประเทศไทย อยู่ในฐานะประเทศที่มีลักษณะทางภูมิศาสตร์ได้เปรียบและเหมาะสมในการสร้าง Spaceport ฉะนั้น การบุกเบิก Spaceport จะนำไปสู่เศรษฐกิจใหม่แห่งอนาคตที่เรียกว่า ‘เศรษฐกิจอวกาศ’ หรือ ‘Space Economy’ ต่อไป

‘ผู้แทนการค้าไทย’ มั่นใจ!! ‘Sharp’ ลงทุนในไทยต่อเนื่อง เล็งดึง ‘Foxconn’ ตั้งบริษัท ปั้นรถ EV ส่งออกต่างประเทศ

(10 พ.ย. 66) นางนลินี ทวีสิน ผู้แทนการค้าไทย กล่าวว่า ตนได้หารือกับนายชูเฮย์ อาราอิ กรรมการผู้จัดการบริษัท ชาร์ป ไทยจำกัด และคณะ โดยชาร์ปได้ยืนยันที่จะรักษาฐานการผลิตในประเทศไทย หลังจากที่เริ่มทำธุรกิจและลงทุนในไทยมาอย่างยาวนานตั้งแต่ปี 2530 และยังสนใจที่จะลงทุนในอุตสาหกรรมไฮเทค ซึ่งเป็นเป้าหมายของประเทศไทย โดยเฉพาะการตั้งโรงงานผลิตเซมิคอนดักเตอร์หรือสารกึ่งตัวนำเพื่อรองรับอุตสาหกรรมที่ใช้ชิปที่มีแนวโน้มเติบโตมากขึ้น โดยในปี 2559 ชาร์ปได้ควบรวมกับบริษัท ฟ็อกซ์คอนน์ (Foxconn) ผู้นำการผลิตและประกอบชิ้นส่วนสินค้าอิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่ที่สุดของโลก และต่อมาในปี 2564 ฟ็อกซ์คอนน์ได้ร่วมลงทุนกับบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เพื่อก่อตั้งบริษัทและโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้าภายใต้ชื่อ Horizon+ ในไทย ซึ่งคาดว่าจะช่วยส่งเสริมการจ้างงาน และทำให้ไทยมีรถยนต์ไฟฟ้าเป็นสินค้าส่งออกได้ในอนาคต โดยชาร์ปจะเข้ามามีส่วนร่วมในการผลิตอุปกรณ์รถยนต์ไฟฟ้า เช่น แผงวงจร หน้าจอรถยนต์ 

ผู้แทนการค้าไทย กล่าวว่า ชาร์ปเล็งเห็นถึงศักยภาพของประเทศไทยทั้งในเรื่องภูมิรัฐศาสตร์ที่มีความได้เปรียบ และสามารถพัฒนาเป็นศูนย์กระจายสินค้าไปยังภูมิภาคเอเชียใต้ ตะวันออกกลาง และอื่น ๆ ได้ รวมทั้งรัฐบาลยังมีสิทธิประโยชน์เพื่อการลงทุนที่น่าสนใจ ขณะที่กำลังซื้อของผู้บริโภคไทยก็เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในอนาคตชาร์ปสนใจที่จะนำเสนอผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ เช่น เครื่องซักผ้าที่ใช้น้ำน้อยและสามารถรีไซเคิลน้ำกลับมาใช้ใหม่ หรือไดร์เป่าผมที่มีเสียงเบาเหมาะกับคอนโดขนาดเล็กใจกลางเมือง 

ทั้งนี้ตนจะเดินทางไปเข้าร่วม งาน Sharp Tech Day ในโอกาสเฉลิมฉลองการก่อตั้งบริษัทครบรอบ 111 ปี ตามคำเชิญของชาร์ป ในระหว่างวันที่ 10 - 12 พ.ย. 66 ที่ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น โดยจะมีโอกาสได้พบกับผู้บริหารระดับสูงของชาร์ป ตัวแทนของฟ็อกซ์คอนน์ และบริษัทอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชั้นนำต่าง ๆ ที่มาร่วมงานนี้ เพื่อเจรจาเชิญชวนให้เข้ามาลงทุนในไทยด้วย

นางนลินี กล่าวว่า ผู้บริหารชาร์ปบอกด้วยว่าจะเป็นเรื่องที่ดีมากหากนายกรัฐมนตรีมีโอกาสได้ไปเยี่ยมชมบริษัทแม่ของชาร์ป ที่นครโอซากา ระหว่างการเดินทางไปเยือนญี่ปุ่นในช่วงเดือน ธ.ค. 66 นี้ 

สำหรับบริษัทชาร์ป ไทย ปัจจุบันก้าวเข้าสู่ปีที่ 36 แล้ว โดยมีบริษัทในเครือ 7 แห่ง แบ่งเป็น บริษัทสาขาการขาย 4 แห่ง และโรงงาน 3 แห่ง สร้างยอดขายกว่า 3,500 ล้านบาทต่อปี และมีพนักงานมากกว่า 7,300 คน ที่ผ่านมาได้ช่วยถ่ายทอดเทคโนโลยีขั้นสูงให้กับบุคลากรของไทย และยังคัดสรรนวัตกรรมคุณภาพเพื่อส่งมอบให้แก่ผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top