Saturday, 10 May 2025
Econbiz

รู้จัก ‘e-Refund’ โครงการรองรับผู้ไม่เข้าข่ายรับเงินดิจิทัล 10,000 บาท ภาคต่อ ‘ช้อปดีมีคืน’ กระตุ้นการจับจ่าย-ลดหย่อนภาษี-มุ่งสู่ e-Government

เมื่อวันที่ 10 พ.ย. 66 นโยบายเติมเงินดิจิทัล 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต (Digital Wallet) ได้ข้อสรุปแล้ว หลังจากนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงินดิจิทัล 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet แถลงผลการประชุมคณะกรรมการชุดใหญ่ ซึ่งมีมติเห็นชอบรายละเอียดและเงื่อนไขของโครงการเรียบร้อย

โดยปรับหลักเกณฑ์ของผู้ได้รับสิทธิเป็นประชาชนอายุ 16 ปีขึ้นไป และมีเงินเดือนต่ำกว่า 70,000 บาท หรือมีเงินในบัญชีรวมกันน้อยกว่า 500,000 บาท คิดเป็นจำนวนประชากรผู้ได้รับจำนวน 50,000,000 คน ตามคำแนะนำของธนาคารแห่งประเทศไทย และสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

นั่นหมายความว่า ‘คนรวย’ หรือผู้มีรายได้สูง 4.8 ล้านคน จะไม่สามารถเข้าร่วมในโครงการเติมเงินดิจิทัล 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต (Digital Wallet) ได้

ทั้งนี้ ผู้ที่เข้าร่วมโครงการเติมเงินดิจิทัล 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต (Digital Wallet) ไม่ได้นั้น นายกรัฐมนตรี ยอมรับว่า รัฐบาลจะออกโครงการ ‘e-Refund’ ให้คนไทยสามารถลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากการซื้อสินค้าและบริการแทน

สำหรับโครงการ ‘e-Refund’ มีเงื่อนไข รายละเอียดสรุปได้ดังนี้
- ผู้เข้าร่วมโครงการต้องไม่ได้เข้าร่วมโครงการรับเงินดิจิทัล 10,000 บาท
- สามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จากการซื้อสินค้าและบริการมูลค่าไม่เกิน 50,000 บาท
- ต้องซื้อสินค้าจากร้านค้าที่อยู่ในระบบภาษี และเฉพาะที่ออกใบกำกับภาษีในรูปแบบ electronics เท่านั้น
- โครงการ e-Refund เริ่มตั้งแต่เดือนมกราคม 2567 เป็นต้นไป

“ผู้ที่เข้าร่วมโครงการเงินดิจิทัล 10,000 บาท ไม่ได้ รัฐบาลจะออกโครงการ e-Refund ให้คนไทยสามารถลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จากการซื้อสินค้าและบริการมูลค่าไม่เกิน 50,000 บาท โดยให้นำใบกำกับภาษี มาประกอบการยื่นภาษีบุคคลธรรมดา และรัฐฯ จะคืนเงินภาษีให้ท่าน เพราะฉะนั้น คนที่ไม่ได้รับสิทธิ Digital Wallet ก็สามารถเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านโครงการนี้ได้ และจะทำให้ร้านค้าเข้าระบบภาษีดิจิทัลมากขึ้นด้วย” นายกฯ ระบุ

นายเศรษฐา กล่าวว่า โครงการ e-Refund นั้น ประชาชนจะได้รับภาษีคืนจากการจับจ่ายสินค้าและบริการ รวมมูลค่าไม่เกิน 50,000 บาท จากร้านค้าที่อยู่ในระบบภาษี และเฉพาะที่ออกใบกำกับภาษีในรูปแบบ electronics เท่านั้น เพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ ในขณะที่จูงใจให้ร้านค้าเข้าสู่ระบบภาษีดิจิทัลมากขึ้น มุ่งไปสู่การเป็น ‘e-Government’ ในอนาคต ซึ่งโครงการ e-Refund จะเริ่มตั้งแต่เดือนมกราคม 2567 เป็นต้นไป

‘นลินี’ บิน ‘ญี่ปุ่น’ ดึง ‘SHARP’ ชวนลงทุน-ขยายฐานผลิตมาไทย ย้ำ!! ภาครัฐพร้อมหนุน เสริมข้อได้เปรียบ แถมสิทธิประโยชน์อื้อ!!

(11 พ.ย. 66) นางนลินี ทวีสิน ผู้แทนการค้าไทย เปิดเผย ภายหลังเข้าร่วมพิธีเปิดงาน SHARP Tech-Day เพื่อเฉลิมฉลองครบรอบ 111 ปี ของการก่อตั้งบริษัทชาร์ป และพบหารือกับนายโรเบิร์ต วู ประธานกรรมการบริษัท ชาร์ป คอร์ปอเรชัน ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ว่า นายโรเบิร์ตเคยดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการของบริษัทชาร์ป ไทย เป็นเวลา 3 ปี ก่อนจะได้รับตำแหน่งประธานกรรมการบริษัทชาร์ป เคยมีผลงานสำคัญ เช่น การจัดทำวิดีโอโปรโมทการท่องเที่ยวไทยร่วมกับกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เพื่อประชาสัมพันธ์บนโทรทัศน์ Sharp Aquos 8K ในหลายประเทศทั่วเอเชีย

ชาร์ปให้ความสำคัญกับไทย เพราะเป็นตลาดที่มีศักยภาพทั้งในด้านที่ตั้ง และมีกำลังซื้อที่เติบโตต่อเนื่อง ปัจจุบันมีโรงงานตั้งอยู่ในไทย 3 แห่ง คือ โรงงานผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน โรงงานผลิตเครื่องถ่ายเอกสาร และโรงงานผลิตโทรทัศน์ และยังสนใจจะพัฒนา AI Center และ Data Center เนื่องจาก ประเทศไทยมีบุคลากรคนรุ่นใหม่ที่มีทักษะและความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยีนวัตกรรมได้ในอนาคต โดยต้องการการสนับสนุนจากภาครัฐของไทย เพื่อให้การดำเนินธุรกิจและขยายการลงทุนเป็นไปได้ด้วยดี

นอกจากนี้ การก่อตั้งโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้าภายใต้ชื่อ HORIZON+ ของบริษัทฟ็อกซ์คอนน์ที่ร่วมลงทุนกับบริษัท ปตท. ในไทยนั้น คาดว่าจะเริ่มการผลิตได้ในปี 2567 โดยชาร์ปจะมีส่วนร่วมในการผลิตอุปกรณ์ต่าง ๆ เช่น แผงวงจร หน้าจอรถยนต์

ผู้แทนการค้าไทย กล่าวว่า ตนยังได้พบกับนายเคอิโซะ ฟูจิโมโต ผู้แทนบริษัท Kaneka Corporation ผู้ผลิตนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีและโฟมชั้นนำของญี่ปุ่น มุ่งเน้นการผลิตสินค้าที่ช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมและสร้างการพัฒนาที่ยั่งยืน เช่น โพลิเมอร์ที่ย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติ พลังงานสะอาดจากโซลาร์เซลล์ เป็นต้น

ปัจจุบัน Kaneka มีสำนักงานตั้งอยู่ใน 3 เมืองหลักของญี่ปุ่น คือ โตเกียว โอซากา และนาโกยา และร่วมทุนกับบริษัทต่างชาติ เช่น อังกฤษ เยอรมนี จีน และสหรัฐอเมริกา รวมทั้งยังมีโรงงานผลิตอยู่ที่ จ.ระยอง ของไทยอีกด้วย โดย Kaneka เล็งเห็นถึงศักยภาพของตลาดอาเซียนที่มีการเติบโตอย่างรวดเร็ว

ที่ผ่านมามีการลงทุนในมาเลเซีย แต่พบปัญหาเรื่องความแตกต่างด้านภาษาและวัฒนธรรม จึงต้องการหันไปลงทุนในประเทศอื่น ซึ่งตนได้เชิญชวนให้เข้ามาลงทุนในประเทศไทย เนื่องจากรัฐบาลให้การสนับสนุนการลงทุนจากต่างประเทศ และไทยยังมีความพร้อมในด้านต่าง ๆ เช่น การให้สิทธิประโยชน์ด้านการลงทุนทั้งภายใต้ BOI และ EEC ความได้เปรียบทางภูมิรัฐศาสตร์ ที่สามารถพัฒนาเป็นศูนย์กระจายสินค้าไปอย่างภูมิภาคอื่นได้ และยังสามารถใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรีที่ไทยมีกับประเทศต่าง ๆ เช่น อินเดีย เพื่อช่วยเพิ่มความได้เปรียบทางด้านการค้าการลงทุนให้กับ Kaneka ได้เป็นอย่างดี

“แนวคิดหลักของการจัดงาน SHARP Tech-Day ครั้งนี้ คือ ‘Be a Game Changer’ หรือ เทคโนโลยีที่จะเปลี่ยนแปลงอนาคต โดยนำเสนอเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เป็นแรงผลักดัน เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน มีการจัดแสดงสินค้านวัตกรรมที่น่าสนใจ เช่น Super Silent Cleaner เครื่องดูดฝุ่นที่มีเสียงเบาแต่มีประสิทธิภาพสูง, High Speed Oven เครื่องอบความเร็วสูงที่สามารถอบเนื้อสัตว์ให้สุกได้ภายใน 5 นาที, Driver Monitoring Camera กล้องติดหน้ารถที่ใช้เทคโนโลยี AI ช่วยประเมินประสิทธิภาพของคนขับรถเพื่อป้องกันการหลับใน เป็นต้น ซึ่งสามารถนำแนวคิดมาต่อยอดการพัฒนาในประเทศไทยต่อไปได้” นางนลินี กล่าว

‘สุริยะ’ เยือน ‘สหรัฐฯ’ ร่วมประชุมเอเปค เตรียมโรดโชว์ ‘แลนด์บริดจ์’ ดึงต่างชาติมาร่วมลงทุน หวังดัน ‘ไทย’ เป็นประตูการค้าสู่ภูมิภาคเอเชีย

(11 พ.ย. 66) นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และตน พร้อมด้วยคณะผู้บริหารระดับสูงกระทรวงคมนาคม และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) จะเดินทางไปจัดงาน ‘Thailand Landbridge Roadshow’ วันที่ 13 พ.ย.นี้ ที่โรงแรม Ritz Carlton เมืองซานฟรานซิสโก สหรัฐอเมริกา ในระหว่างเดินทางไปประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ 30

โดยนายกฯ และตน ในฐานะเจ้าภาพจัดงานจะร่วมกันให้ข้อมูลรายละเอียดต่าง ๆ เพื่อประชาสัมพันธ์ให้นานาประเทศรู้จักโครงการเพิ่มมากขึ้น อาทิ โอกาสทางธุรกิจ รูปแบบการลงทุน ศักยภาพทำเลที่ตั้งของพื้นที่โครงการ และประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากโครงการ โดยมีนักลงทุนภาคธุรกิจของประเทศสหรัฐอเมริกา ทั้งสายการเดินเรือ ผู้บริหารท่าเรือ กลุ่มโลจิสติกส์ กลุ่มพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ และกลุ่มผู้ลงทุนด้านอุตสาหกรรม เป็นต้น ให้ความสนใจเข้าร่วมงาน

โดยกลุ่มนักลงทุนให้ความสนใจประเด็นโอกาสในการลงทุนของโครงการ ทั้งนี้ ในอนาคตโครงการสะพานเศรษฐกิจภาคใต้เชื่อมฝั่งทะเลอ่าวไทย - อันดามัน (ชุมพร - ระนอง) หรือ ‘แลนด์บริดจ์’ จะเป็นช่องทางการค้าแห่งใหม่ เพื่อใช้เป็นเส้นทางขนถ่ายสินค้าหลักระดับภูมิภาคและจะเป็นประตูสู่ภูมิภาคเอเชีย และช่วยลดระยะเวลาการขนส่งทางทะเล รวมถึงลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ในพื้นที่ห่างไกลจากตัวเมือง อีกทั้ง จะช่วยให้เกิดการพัฒนาในพื้นที่ให้เป็นศูนย์กลางการค้า ประกอบด้วย เขตการค้า เมืองท่าและเขตอุตสาหกรรม และธุรกิจอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้มีนักลงทุนจากหลายประเทศให้ความสนใจโครงการเป็นอย่างมาก อาทิ ฝรั่งเศส ประเทศฝั่งตะวันออกกลาง และสาธารณรัฐประชาชนจีน เป็นต้น

‘อ.พงษ์ภาณุ’ หวั่น!! หากภาวะ ‘เงินฝืด’ เกิดขึ้นในเมืองไทย ก่อผลกระทบ ‘รุนแรง-กว้างขวาง’ แก้ไขได้ยากกว่า ‘เงินเฟ้อ’

(11 พ.ย. 66) อ.พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ระดับประเทศ ให้มุมมองต่อภาวะความเสี่ยงเงินฝืดกับประเทศไทย ภาคต่อ ไว้ว่า…

‘ภาวะเงินฝืด’ (Deflation) เกิดขึ้นไม่บ่อยนัก เพราะเรามักคุ้นเคยกับ ‘เงินเฟ้อ’ (Inflation) มากกว่า แต่เมื่อเกิดภาวะเงินฝืดขึ้นแล้ว จะก่อเกิดผลกระทบรุนแรง กว้างขวาง และแก้ไขได้ยากกว่า 

เนื่องจากผู้บริโภคจะชะลอการจับจ่ายใช้สอยและธุรกิจชะลอการลงทุน เพราะภาระหนี้ที่แท้จริงจะสูงขึ้น ดังเช่นที่เกิดขึ้นที่ญี่ปุ่นเป็นเวลากว่า 20 ปี และที่กำลังเกิดขึ้นในประเทศจีนขณะนี้ หรือในประเทศตะวันตกหลังวิกฤตการเงินแฮมเบอร์เกอร์ ธนาคารกลางต้องใช้นโยบายดอกเบี้ย 0% ร่วมกับ Quantitative Easing (QE) เพื่ออัดฉีดเม็ดเงินเข้าระบบเป็นเวลากว่า 10 ปี

อาจจะเร็วเกินไปที่จะกล่าวว่าไทยเริ่มเข้าภาวะเงินฝืด แต่ก็มีความเสี่ยงสูงขึ้น อัตราเงินเฟ้อของไทยมีแนวโน้มลดลงอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง จากปีที่แล้วที่มีเงินเฟ้อสูงสุดในโลกประเทศหนึ่ง จนกลายเป็นอัตราเงินเฟ้อติดลบเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา 

แน่นอนไทยได้รับผลกระทบจากจีนที่เข้าสู่ภาวะเงินฝืดตั้งแต่เดือนมิถุนายนที่ผ่านมา เนื่องจากจีนเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของไทย แต่ภาวะเงินฝืดในไทยมีสาเหตุอีกส่วนหนึ่งจากการดำเนินนโยบายการเงินผิดพลาดของธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ได้มีการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายในจังหวะเวลาที่ไม่เหมาะสม โดยเฉพาะได้มีการเร่งขึ้นดอกเบี้ยที่ล่าช้ากว่าประเทศอื่นในระยะที่เงินเฟ้ออยู่ในช่วงขาลงแล้ว ซึ่งเป็นการซ้ำเติมวัฏจักรธุรกิจ

อย่างไรก็ตาม ก็ยังถือเป็นความโชคดีของประเทศไทยที่ขณะนี้รัฐบาลได้เริ่มทยอยออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว แม้ว่าจะต้องมีการก่อหนี้เพื่อระดมเงินมาใช้จ่าย แต่ส่วนใหญ่เป็นการใช้จ่ายครั้งเดียวจบและไม่ผูกพันงบประมาณแผ่นดินในอนาคต 

อีกทั้งขนาดและความเร็วในการอัดฉีดเม็ดเงินลงสู่ภาคเศรษฐกิจจริงๆ เหล่านี้ ก็จะมีความสำคัญอย่างมากต่อการฟื้นเศรษฐกิจไทยให้ผ่านพ้นภาวะเงินฝืดได้ชัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับ ‘ดิจิทัลวอลเล็ต’ ที่แม้จะใช้ได้จริงก็เป็นเดือนพฤษภาคมปีหน้า แต่ความชัดเจนจากคำแถลงของนายกรัฐมนตรี ย่อมสร้างผลที่เรียกว่า Announcement Effect ในทันที และกระตุ้นให้ภาคธุรกิจลงทุนเพื่อผลิตสินค้าอุปโภคบริโภครองรับการใช้จ่ายที่กำลังจะเพิ่มขึ้นในปีหน้าด้วยความมั่นใจต่อไป...

อ่านบทความเกี่ยวเนื่อง : ‘เงินฝืดจ่อไทย’ >> https://www.facebook.com/100064606066871/posts/pfbid02UjG5nDK1oHfcZqdWee1KWQp963cCQoZ7K29Z5W5tsfz4ShNBBq5qhHKeUdXy4xM4l/

‘พิมพ์ภัทรา’ มอบ ‘อสจ.สุราษฎร์ฯ-ศูนย์ฯ ภาค 10’ ร่วมพัฒนาอุตสาหกรรม มุ่งขับเคลื่อนประเทศ สอดรับ ‘อุตสาหกรรมไทยเติบโตคู่ชุมชนอย่างยั่งยืน’

เมื่อวันที่ 10 พ.ย. 66 นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ลงพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ตรวจราชการและมอบนโยบายให้แก่หน่วยงานภายใต้กระทรวงอุตสาหกรรม โดยมีนายวัชรินทร์ ไชยานุพงศ์ อุตสาหกรรมจังหวัดสุราษฎร์ธานี (อสจ.สุราษฎร์ธานี) นางสาวอริยาพร อำนรรฆสรเดช ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 10 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ผู้แทนศูนย์วิจัยและเตือนภัยมลพิษโรงงานภาคใต้ สาขาย่อยจังหวัดสุราษฎร์ธานี กรมโรงงานอุตสาหกรรม ผู้การภาค 7 ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย และผู้จัดการธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย สาขาสุราษฎร์ธานี ร่วมต้อนรับ ณ ห้องประชุมศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 10 จังหวัดสุราษฎร์ธานี

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้กล่าวให้กำลังใจการปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการ พนักงาน ลูกจ้าง สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดสุราษฎร์ธานี และศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 10 ผู้บริหาร บุคลากรทุกคนเป็นกำลังหลักสำคัญในการขับเคลื่อนองคาพยพของกระทรวงอุตสาหกรรม และยังต้องมีหน้าที่เป็นผู้ประสานระหว่างชุมชนถึงโรงงานอุตสาหกรรม เพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมเดินหน้าอยู่คู่ชุมชนได้อย่างมีความสุข

ทั้งนี้ ขอให้หน่วยงานทุกภาคส่วนร่วมกันขับเคลื่อนประเทศ สู่การพัฒนาอุตสาหกรรมไทยให้เติบโตอย่างสมดุลในระยะยาว ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ตามนโยบาย ‘ปฏิรูปอุตสาหกรรมไทยสู่อุตสาหกรรมเศรษฐกิจ ให้เติบโตคู่ชุมชนยั่งยืน’ ซึ่งเป็นแนวทางของการพัฒนาอุตสาหกรรมยุคใหม่ที่สามารถเติบโตไปได้ อยู่ได้ร่วมกับชุมชนอย่างมีความสุขนั่นเอง

อสจ.สุราษฎร์ธานี ระบุว่า พื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี มีผู้ประกอบกิจการโรงงานอุตสาหกรรมที่ดำเนินกิจการ จำนวน 934 โรง มีจำนวนการจ้างงาน 36,419 คน โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีการลงทุนมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ กลุ่มการผลิตอื่น ๆ เช่น ขุดดิน ดูดทราย ผลิตไฟฟ้า คัดแยกวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว จำนวน 364 โรงงาน กลุ่มแปรรูปไม้และผลิตภัณฑ์จากไม้ จำนวน 232 โรงงาน กลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร เช่น ผลิตน้ำแข็ง เครื่องดื่ม แปรรูปผลผลิตทางการเกษตร จำนวน 135 โรงงาน กลุ่มยางและผลิตภัณฑ์ยาง จำนวน 69 โรงงาน และกลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องดื่ม จำนวน 10 โรงงาน มีเงินลงทุน จำนวน 65,334.48 ล้านบาท

นอกจากนี้ ยังมีประทานบัตรเปิดการทำเหมือง จำนวน 33 ประทานบัตร และยังได้รายงานการปฏิบัติงานที่เห็นผลสำคัญ คือ โครงการยกระดับสินค้าเกษตรอินทรีย์ เกษตรปลอดภัยด้วยนวัตกรรมสร้างสรรค์ ที่มีแนวโน้มมุ่งสู่ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ มีคุณค่าทางโภชนาการ และมีความสะดวกในการบริโภค มีบรรจุภัณฑ์ที่เหมาะสม สามารถคงคุณภาพผลิตภัณฑ์ไว้ได้ยาวนาน การเตรียมความพร้อมให้กับเกษตรกร ผู้ผลิต หรือเอสเอ็มอี มีขีดความสามารถพร้อมเข้าสู่การผลิตสินค้าที่มีคุณค่าเพิ่ม (Value Creation) ภายใต้กระบวนการผลิตอาหารปลอดภัย (Food Safety)

ทั้งนี้ มีโครงการค่าใช้จ่ายแปรรูปสินค้าเกษตรอุตสาหกรรม 1 จังหวัด 1 ชุมชน เสริมสร้างความรู้ด้านการสร้างมูลค่าเพิ่ม การพัฒนาผลิตภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์ต้นแบบ และทดสอบตลาด ในปี 2566 โดยมีกรณีที่ประสบความสำเร็จ คือ ซอสคั่วกลิ้งปรุงสำเร็จ จากกลุ่มวิสาหกิจชุมชนแม่บ้านเกษตรกรบ้านควนไทร ต.ท่าโรงช้าง อ.พุนพิน จ.สุราษฎร์ธานี ผลิตภัณฑ์ตัวนี้ได้พัฒนาต่อยอดมาจากส่วนผสมพื้นถิ่นที่ได้รับความนิยมอย่างมาก

นอกจากนี้ ยังได้รายงานถึงการดำเนินงาน ‘พลอยได้…พาสุข’ ผลิตภัณฑ์ปุ๋ยหมักอินทรีย์ ภายใต้โครงการเสริมสร้างขีดความสามารถ เพื่อสนับสนุนการแข่งขันแบบจำลองธุรกิจและการนำไปดำเนินการ เป็นโครงการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการรายย่อย วิสาหกิจชุมชน หรือ กลุ่มบุคคล ที่มีศักยภาพและความคิดสร้างสรรค์ในการนำสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว (Waste) หรือ วัสดุพลอยได้ (By-product) จากภาคอุตสาหกรรม มาต่อยอดทำเป็นผลิตภัณฑ์ที่สร้างมูลค่าเพิ่มตามหลักแนวคิด ‘การพึ่งพาอาศัยกันระหว่างภาคอุตสาหกรรมและชุมชน’ ซึ่งเห็นผลและสอดคล้องกับนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมอีกด้วย

‘พีระพันธุ์’ ร่วมศึกษางานบริษัทพลังงานชั้นนำของ ‘จีน’ เล็งพัฒนาความร่วมมือ หนุนพลังงานสีเขียวอย่างยั่งยืน

(11 พ.ย. 66) นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในฐานะหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ขณะเข้าร่วมการประชุม Communist Party of China (CPC) in Dialogue with Political Parties from Southeast and South Asian Countries (ในหัวข้อ Enhancing the Pillars of High-quality Development, Embracing a Brighter) ณ WYNDHAM GRAND Plaza Royale Colorful Yunnan Kunming ประเทศจีน ระบุว่า…

ระหว่างเดินทางไปร่วมประชุมที่นครคุนหมิงตามคำเชิญของพรรคคอมมิวนิสต์จีนครั้งนี้ ผมได้มีโอกาสไปเยี่ยมชมและศึกษาดูงานที่บริษัท Yunnan Energy Investment Group จำกัด (YEIG) ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจด้านพลังงานสะอาดขนาดใหญ่ของมณฑลยูนนาน และได้รับการจัดอันดับเป็นหนึ่งใน ‘บริษัทยอดเยี่ยม 500 อันดับแรกของจีน’ ติดต่อกัน 7 ปี

ผมได้รับทราบข้อมูลว่า บริษัท YEIG นี้ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2557 เดิมชื่อ ‘บริษัท การลงทุนไฟฟ้ามณฑลยูนนาน จำกัด’ อยู่ภายใต้การบริหารจัดการของคณะกรรมการกำกับดูแลและบริหารทรัพย์สินของรัฐของรัฐบาลมณฑลยูนนาน (State-owned Assets Supervision and Administration Commissionof Yunnan Provincial People's Government) โดยมีธุรกิจหลัก คือ การผลิตพลังงานสะอาด (น้ำ ลม แสงอาทิตย์ ก๊าซธรรมชาติ และชีวภาพ) และยังดำเนินธุรกิจด้านการเงิน โลจิสติกส์ สารสนเทศ (Big Data) และกิจการอื่นๆ ผ่านบริษัทในเครือกว่า 100 บริษัท 

นอกจากนี้ YEIG ยังได้นำยุทธศาสตร์ ‘ก้าวออกไป’ ของรัฐบาลจีนมาประยุกต์ใช้ในการดำเนินกิจการในต่างประเทศ โดยการก่อตั้งบริษัท Hong Kong Yunnan Energy International Investment จำกัด เพื่อลงทุนโครงการสถานีไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติและพลังไอน้ำในเมียนมา และโรงงานปูนซีเมนต์ในลาวและอินโดนีเซีย รวมทั้งได้จัดตั้งสำนักงานตัวแทนในต่างประเทศ เช่น ไทย สิงคโปร์ เวียดนาม ติมอร์-เลสเต บังกลาเทศ และเนปาล รวมถึงในสหรัฐอเมริกาและยุโรป เพื่อแสวงหาความร่วมมือด้านพลังงาน รวมทั้งมุ่งดำเนินการตามวิสัยทัศน์ของประธานาธิบดี สี จิ้นผิง และแผนยุทธศาสตร์ที่สำคัญของคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน คณะกรรมการพรรคคอมมิวนิสต์มณฑลยูนนาน และรัฐบาลมณฑลยูนนาน โดยเฉพาะการส่งเสริมการพัฒนาพลังงานสีเขียวให้เป็นอุตสาหกรรมหลัก เพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาใหม่ที่ยั่งยืนของมณฑลต่อไป

ผมขอขอบคุณท่าน หู จวิน ประธานบริษัทฯ รวมทั้งเจ้าหน้าที่ทุกๆ ท่าน ที่ให้การต้อนรับผมและคณะเป็นอย่างดี และทาง YEIG ยังพร้อมที่จะให้ความร่วมมือกับกระทรวงพลังงานในภารกิจต่างๆ ด้านพลังงาน โดยจะให้ตัวแทนในประเทศไทยติดต่อผม เพื่อประสานงานแนวทางต่าง ๆ กันต่อไป ซึ่งถือเป็นเรื่องที่น่ายินดีครับ

‘รัฐบาล’ เตรียมผลักดัน ‘กรมอุตสาหกรรมฮาลาล’ เพื่อรองรับการท่องเที่ยว-ส่งออกไปตลาดที่มีศักยภาพ

เมื่อวานนี้ (11 พ.ย.66) นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงอุตสาหกรรมอาหารฮาลาล เป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายที่รัฐบาล ว่า อุตสาหกรรมฮาลาลมีมากกว่าเรื่องอาหาร​ แต่รวมถึงการผลิตหรือการบริการอื่น ที่ไม่ขัดต่อบัญญัติของศาสนาอิสลาม ได้แก่ เครื่องสำอางค์ เครื่องใช้ประจำวัน เครื่องนุ่งห่ม สาธารณูปโภค การผลักดันให้ไทยได้เป็นศูนย์กลางอาหารฮาลาลในภูมิภาค หรือ ฮาลาลฮับ (Halal Hub) และเป็นครัวโลกนั้นเป็นเพียงจุดเริ่มต้น​ ฮาลาลเป็นยิ่งกว่าอาหาร​ ฮาลาลคือความศรัทธาและวิถีชีวิต เราจะไปให้ไกลกว่าแค่เรื่องอาหาร

นางรัดเกล้า กล่าวว่า ในก้าวแรกนี้​ สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กระทรวงอุตสาหกรรมได้เตรียมมาตรการและแผนงาน รวมทั้งแก้ไขกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรค เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลสำหรับรองรับการท่องเที่ยวและผลักดันการส่งออกไปยังตลาดที่มีศักยภาพ เช่น ตะวันออกกลาง อาเซียน และเอเชียใต้ เป็นต้น นอกจากนี้จะมีการผลักดันกรมก่อตั้งกรมอุตสาหกรรมฮาลาล ขึ้นมาโดยเฉพาะเพื่อยกระดับฮาลาลไทยสู่สากลอย่างเต็มที่ ​

นางรัดเกล้า กล่าวว่า ตลาดอาหารฮาลาลเป็นตลาดที่มีศักยภาพ ที่มีมูลค่ากว่า 2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ เติบโตเฉลี่ยร้อยละ 13.5 ตามสัดส่วนประชากรมุสลิมโลกที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันประเทศไทยส่งออกสินค้าอาหารฮาลาลในปี 2566 เพียงครึ่งปีแรก (ม.ค.-ก.ค.) สามารถส่งออกมีมูลค่าถึง 136,503 ล้านบาท เติบโตเฉลี่ยร้อยละ 7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มอาหารฮาลาลโดยธรรมชาติ เช่น ข้าว ธัญพืช น้ำตาลทราย ฯลฯ ในขณะที่กลุ่มอาหารที่ต้องผ่านการรับรอง เช่น เนื้อสัตว์-อาหารทะเล อาหารแปรรูป ฯลฯ มีอัตราการเติบโตลดลงร้อยละ 7.5 และ 10.3 ตามลำดับ ซึ่งไทยมีผู้ผลิตอาหารฮาลาลกว่า 15,043 ราย มีร้านอาหารฮาลาลมากกว่า 3,500 ร้าน ดังนั้น หากจะผลักดันให้อาหารฮาลาลของไทยขยายตลาดมากขึ้นและเป็นที่ยอมรับในตลาดโลก 

นางรัดเกล้า กล่าวว่า การผลักดันครั้งนี้​ เป็นโอกาสที่ดีมากสำหรับคนไทย​ โดยเฉพาะพี่น้องมุสลิม ซึ่งการที่ไทยมีพรหมแดนติดกับประเทศมาเลเซียนั้นเป็นจุดแข็งให้สามารถเป็นศูนย์กลางอาหารฮาลาลในภูมิภาค หรือ ฮาลาลฮับ (Halal Hub) เป็นฐานการผลิตที่ดีสำหรับทั้งชาวมุสลิมในประเทศเองและเพื่อส่งออกรองรับตลาดโลก สอดรับกับการเป็นครัวของโลกอย่างชัดเจน​ และที่น่าตื่นเต้นที่สุดคือนี่เป็นเพีบงแค่จุดเริ่มต้น

'ลดราคาน้ำมัน' นโยบายจากรัฐช่วยลดภาระประชาชน 3 เดือน ช่วงแรก 'น้ำมันหมด' จุดเสียงก่นด่า แต่เป็นการกรุยทางปรับลดระยะยาว

ขณะนี้นโยบาย ‘ลดภาระค่าใช้จ่ายราคาพลังงาน ค่าไฟฟ้า ค่าก๊าซหุงต้ม ค่าน้ำมัน’ กำลังดำเนินไป และมีการปรับลดราคาน้ำมันลงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะ กลุ่มน้ำมันเบนซิน ที่มีการปรับลดราคาลงในคราวเดียว 2.50 บาท ต่อ ลิตร เมื่อวันที่ 6 พ.ย.66 ที่ผ่านมา โดยเบนซิน และแก๊สโซฮอล์ 91 ลดลง 1 บาทต่อลิตร แก๊สโซฮอล์ 95 ลดลง 2.50 บาทต่อลิตร ส่วน E85 และ E20 ลดลง 0.80 บาทต่อลิตร ซึ่งมีผลในวันที่ 7 พ.ย. 66 เวลา 05.00 น. เป็นต้นไป

แต่ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น พบว่า ตั้งแต่วันที่ 7 พ.ย. 66 เป็นต้นมา สถานีบริการน้ำมัน หลายแห่ง ขึ้นป้าย ‘น้ำมันหมด’ โดยเฉพาะ กลุ่มน้ำมันแก๊สโซฮอล์ ส่งผลกระทบต่อการเดินทางสัญจรของประชาชน จนมีกระแสข่าวว่า สถานีบริการน้ำมันกักตุนน้ำมันไม่ยอมนำออกมาจำหน่าย

ซึ่งหากติดตามข้อมูลจากแหล่งข่าวต่าง ๆ รวมทั้งสถานการณ์ราคาน้ำมันที่ผ่านมา ย่อมเข้าใจได้ว่า หลัง มติ ครม. ที่ให้ปรับลดราคาน้ำมัน ผ่านกลไกภาษีสรรพสามิต และบริหารจากกองทุนน้ำมันฯ โดยปรับลดราคาน้ำมันสูงสุด 2.50 บาท ต่อลิตร นาน 3 เดือน มีผล 7 พ.ย. 66 สถานีบริการน้ำมันต่าง ๆ ย่อมต้องบริหารสต๊อกน้ำมัน เพื่อให้ขาดทุนน้อยที่สุด เนื่องจากรัฐบาลไม่ได้ชดเชยส่วนต่างที่ปรับลงอย่างรุนแรงให้ ส่งผลให้แทบไม่มีสถานีบริการน้ำมันใด สั่งน้ำมันมาจำหน่ายในช่วงก่อนปรับลดราคา

และในวันที่ 9 พ.ย. 66 ก็มีการปรับลดราคาน้ำมันลงอีก 60 สตางค์ต่อลิตร หากสถานีบริการใด ที่ยังสต๊อกน้ำมันที่ซื้อก่อนวันที่ 6 พ.ย. 66 เท่ากับว่า ราคาลงไป 2.50+0.6 = 3.10 บาท ต่อลิตร นั่นหมายความว่า หากลองคำนวณว่า ยังมีน้ำมันคงเหลือ 10,000 ลิตร ปั๊มก็จะขาดทุนทันที 31,000 บาท ปรากฏการณ์น้ำมันหมด จึงเกิดขึ้นแทบทุกพื้นที่

การลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน เป็นปัจจัยสำคัญในการดำรงชีวิตและเศรษฐกิจ โดยเฉพาะกลุ่มประชาชนตามต่างจังหวัด ที่ใช้รถจักรยานยนต์ในการเดินทางเป็นจำนวนมาก ย่อมได้รับเสียงชื่นชมนโยบายนี้ ถึงแม้จะเป็นช่วงระยะเวลาสั้น ๆ เพียง 3 เดือน แต่ย่อมเริ่มเห็นทิศทางในการปรับกลไกราคาน้ำมัน ให้สอดคล้องตามต้นทุน และสามารถพยุงช่วยเหลือค่าครองชีพของประชาชน ให้เหมาะสม

'น้ำมันหมด' ปรากฏการณ์สั้น ๆ ที่อาจได้รับเสียงก่นด่า จากผู้ที่เข้าเติมน้ำมันตามสถานีบริการ ในช่วงเวลานี้ ที่จะทำให้ประชาชนเริ่มยิ้มได้ กับ สถานการณ์ราคาน้ำมัน ที่มีแนวโน้มลดลงในระยะยาว

เรื่อง: The PALM

‘FETCO’ ชี้!! รบ.ออก พ.ร.บ.กู้เงินแจกดิจิทัลวอลเล็ต  เป็นแนวทางที่ถูกต้อง ‘มีความโปร่งใส-มีผู้ตรวจสอบ’ 

(13 พ.ย.66) นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ และประธานสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) กล่าวถึงกรณีการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ว่า การที่รัฐบาลมีการออก พ.ร.บ.กู้เงิน 500,000 ล้านบาท ถือเป็นแนวทางที่ถูกต้อง เพื่อให้เกิดความโปร่งใส และมีผู้ตรวจสอบ ดังนั้นเรื่องนี้ต้องโปร่งใส ตรงไปตรงมา 

ทั้งนี้ นายกอบศักดิ์ เผยว่าอีก โครงการดังกล่าว คาดว่า จะก่อหนี้ให้กับประเทศเพิ่ม 2-3% แต่คงไม่ถึงกับไปกระทบให้ถูกปรับลดเครดิตเรตติ้งของประเทศไทย 

‘สาธารณสุข’ เผย ‘โซลาร์’ บนหลังคา รพ. คืบหน้า ช่วยลดปล่อยคาร์บอน เซฟค่าไฟกว่า 300 ล้านต่อปี

จากข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้ระบุถึง ความคืบหน้าการขับเคลื่อนการอนุรักษ์พลังงาน ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ตามนโยบาย Smart Energy and Climate Action 

ล่าสุดหน่วยงานในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แล้ว 1,252 แห่ง ช่วยลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 35,420 tCO2-eq /ปี ประหยัดค่าไฟได้กว่า 322 ล้านบาท/ปี

ทั้งนี้การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกสู่ชั้นบรรยากาศ เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน (Climate Change) ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน ทั้งจากโรคต่างๆ และภัยธรรมชาติที่รุนแรงมากขึ้น โดยผลการศึกษาในปี พ.ศ.2565 พบว่าโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในสัดส่วน 9% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งประเทศ หรือ 33,766,720 tCO2-eq /ปี

โดยกิจกรรมที่ทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจกสูงสุดคือ การเดินทางมาโรงพยาบาลของผู้ป่วย และญาติ และการใช้ไฟฟ้าในโรงพยาบาล ซึ่งข้อมูลการจัดการพลังงาน ปี 2564 พบว่า มีปริมาณการใช้ไฟฟ้าถึง 1,217 ล้านกิโลวัตต์/ปี คิดเป็นค่าไฟฟ้าประมาณ 4,730 ล้านบาท/ปี

สำหรับหน่วยงานในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ส่วนใหญ่เป็นโรงพยาบาลระดับต่างๆ ซึ่งข้อมูลล่าสุด ณ วันที่ 31 ต.ค.2566 มีหน่วยบริการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แล้ว 1,252 แห่งจากทั้งหมด 1,857 แห่ง มีกำลังการผลิตไฟฟ้ารวม 62,245.80 กิโลวัตต์


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top