‘พิมพ์ภัทรา’ มอบ ‘อสจ.สุราษฎร์ฯ-ศูนย์ฯ ภาค 10’ ร่วมพัฒนาอุตสาหกรรม มุ่งขับเคลื่อนประเทศ สอดรับ ‘อุตสาหกรรมไทยเติบโตคู่ชุมชนอย่างยั่งยืน’

เมื่อวันที่ 10 พ.ย. 66 นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ลงพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ตรวจราชการและมอบนโยบายให้แก่หน่วยงานภายใต้กระทรวงอุตสาหกรรม โดยมีนายวัชรินทร์ ไชยานุพงศ์ อุตสาหกรรมจังหวัดสุราษฎร์ธานี (อสจ.สุราษฎร์ธานี) นางสาวอริยาพร อำนรรฆสรเดช ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 10 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ผู้แทนศูนย์วิจัยและเตือนภัยมลพิษโรงงานภาคใต้ สาขาย่อยจังหวัดสุราษฎร์ธานี กรมโรงงานอุตสาหกรรม ผู้การภาค 7 ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย และผู้จัดการธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย สาขาสุราษฎร์ธานี ร่วมต้อนรับ ณ ห้องประชุมศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 10 จังหวัดสุราษฎร์ธานี

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้กล่าวให้กำลังใจการปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการ พนักงาน ลูกจ้าง สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดสุราษฎร์ธานี และศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 10 ผู้บริหาร บุคลากรทุกคนเป็นกำลังหลักสำคัญในการขับเคลื่อนองคาพยพของกระทรวงอุตสาหกรรม และยังต้องมีหน้าที่เป็นผู้ประสานระหว่างชุมชนถึงโรงงานอุตสาหกรรม เพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมเดินหน้าอยู่คู่ชุมชนได้อย่างมีความสุข

ทั้งนี้ ขอให้หน่วยงานทุกภาคส่วนร่วมกันขับเคลื่อนประเทศ สู่การพัฒนาอุตสาหกรรมไทยให้เติบโตอย่างสมดุลในระยะยาว ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ตามนโยบาย ‘ปฏิรูปอุตสาหกรรมไทยสู่อุตสาหกรรมเศรษฐกิจ ให้เติบโตคู่ชุมชนยั่งยืน’ ซึ่งเป็นแนวทางของการพัฒนาอุตสาหกรรมยุคใหม่ที่สามารถเติบโตไปได้ อยู่ได้ร่วมกับชุมชนอย่างมีความสุขนั่นเอง

อสจ.สุราษฎร์ธานี ระบุว่า พื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี มีผู้ประกอบกิจการโรงงานอุตสาหกรรมที่ดำเนินกิจการ จำนวน 934 โรง มีจำนวนการจ้างงาน 36,419 คน โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีการลงทุนมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ กลุ่มการผลิตอื่น ๆ เช่น ขุดดิน ดูดทราย ผลิตไฟฟ้า คัดแยกวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว จำนวน 364 โรงงาน กลุ่มแปรรูปไม้และผลิตภัณฑ์จากไม้ จำนวน 232 โรงงาน กลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร เช่น ผลิตน้ำแข็ง เครื่องดื่ม แปรรูปผลผลิตทางการเกษตร จำนวน 135 โรงงาน กลุ่มยางและผลิตภัณฑ์ยาง จำนวน 69 โรงงาน และกลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องดื่ม จำนวน 10 โรงงาน มีเงินลงทุน จำนวน 65,334.48 ล้านบาท

นอกจากนี้ ยังมีประทานบัตรเปิดการทำเหมือง จำนวน 33 ประทานบัตร และยังได้รายงานการปฏิบัติงานที่เห็นผลสำคัญ คือ โครงการยกระดับสินค้าเกษตรอินทรีย์ เกษตรปลอดภัยด้วยนวัตกรรมสร้างสรรค์ ที่มีแนวโน้มมุ่งสู่ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ มีคุณค่าทางโภชนาการ และมีความสะดวกในการบริโภค มีบรรจุภัณฑ์ที่เหมาะสม สามารถคงคุณภาพผลิตภัณฑ์ไว้ได้ยาวนาน การเตรียมความพร้อมให้กับเกษตรกร ผู้ผลิต หรือเอสเอ็มอี มีขีดความสามารถพร้อมเข้าสู่การผลิตสินค้าที่มีคุณค่าเพิ่ม (Value Creation) ภายใต้กระบวนการผลิตอาหารปลอดภัย (Food Safety)

ทั้งนี้ มีโครงการค่าใช้จ่ายแปรรูปสินค้าเกษตรอุตสาหกรรม 1 จังหวัด 1 ชุมชน เสริมสร้างความรู้ด้านการสร้างมูลค่าเพิ่ม การพัฒนาผลิตภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์ต้นแบบ และทดสอบตลาด ในปี 2566 โดยมีกรณีที่ประสบความสำเร็จ คือ ซอสคั่วกลิ้งปรุงสำเร็จ จากกลุ่มวิสาหกิจชุมชนแม่บ้านเกษตรกรบ้านควนไทร ต.ท่าโรงช้าง อ.พุนพิน จ.สุราษฎร์ธานี ผลิตภัณฑ์ตัวนี้ได้พัฒนาต่อยอดมาจากส่วนผสมพื้นถิ่นที่ได้รับความนิยมอย่างมาก

นอกจากนี้ ยังได้รายงานถึงการดำเนินงาน ‘พลอยได้…พาสุข’ ผลิตภัณฑ์ปุ๋ยหมักอินทรีย์ ภายใต้โครงการเสริมสร้างขีดความสามารถ เพื่อสนับสนุนการแข่งขันแบบจำลองธุรกิจและการนำไปดำเนินการ เป็นโครงการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการรายย่อย วิสาหกิจชุมชน หรือ กลุ่มบุคคล ที่มีศักยภาพและความคิดสร้างสรรค์ในการนำสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว (Waste) หรือ วัสดุพลอยได้ (By-product) จากภาคอุตสาหกรรม มาต่อยอดทำเป็นผลิตภัณฑ์ที่สร้างมูลค่าเพิ่มตามหลักแนวคิด ‘การพึ่งพาอาศัยกันระหว่างภาคอุตสาหกรรมและชุมชน’ ซึ่งเห็นผลและสอดคล้องกับนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมอีกด้วย