Friday, 17 May 2024
ชุมชน

เพชรบูรณ์-จัดโครงการเครือข่ายหมู่บ้าน/ชุมชนร่วมใจต้านภัยยาเสพติดจังหวัดเพชรบูรณ์ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566

ที่กองร้อยอาสารักษาดินแดนจังหวัดเพชรบูรณ์ ที่ 1 นายชนก มากพันธุ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ เป็นประธานพิธีเปิดการฝึกอบรม 'โครงการเครือข่ายหมู่บ้าน/ชุมชนร่วมใจ ต้านภัยยาเสพติด จังหวัดเพชรบูรณ์ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566' โดยมีนายชัยสิทธิ์ ชัยสัมฤทธิ์ผล ปลัดจังหวัดเพชรบูรณ์ กล่าวรายงาน พร้อมด้วย หัวหน้าส่วนราชการ และผู้เข้ารับการฝึกอบรมจาก 11 อำเภอ จำนวน 100 คน เข้าร่วม

นายชัยสิทธิ์ ชัยสัมฤทธิ์ผล ปลัดจังหวัดเพชรบูรณ์ กล่าวว่า ที่ทำการปกครองจังหวัดเพชรบูรณ์ ได้จัดทำ โครงการเครือข่ายหมู่บ้าน/ชุมชนร่วมใจต้านภัยยาเสพติด จังหวัดเพชรบูรณ์ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 จำนวน 1 รุ่น โดยใช้เวลาการฝึกอบรมจำนวน 2 คืน 3 วัน ระหว่างวันที่ 6-8 ธันวาคม 2565 มีผู้เข้ารับการฝึกอบรมจาก 11 อำเภอ จำนวน 100 คน โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อสำรวจกลุ่มเป้าหมาย เยาวชน ที่มีแนวโน้มหรือมีโอกาสที่จะเข้าไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติดหรือสร้างปัญหาในพื้นที่หมู่บ้าน/ชุมชนในอนาคต เพื่อใช้เป็นกลุ่มเป้าหมายในการเฝ้าระวัง เพื่อคัดเลือกประชาชนวัยเสี่ยง ห้วงอายุ 13-29 ปี ที่อำเภอเห็นว่าเป็นผู้ที่จะสามารถนำมาพัฒนาให้เป็นผู้นำ หรือเป็นแนวร่วมทำกิจกรรมต่างๆ เพื่อป้องกันปัญหายาเสพติดในพื้นที่ได้ตามเป้าหมายที่กำหนด เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันและหากิจกรรมการมีส่วนร่วมให้แก่ประชาชนวัยเสี่ยง ห้วงอายุ 13-29 ปี ที่ไม่ได้อยู่ในระบบการศึกษาภาคปกติ หรือกลุ่มว่างงาน หรือเป็นผู้มีจิตอาสาช่วยเหลืองานสาธารณประโยชน์ ได้มีส่วนร่วมในการป้องกันแก้ไขปัญหายาเสพติดในพื้นที่ เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับครอบครัวและชุมชน ได้ตระหนักรู้ถึงปัญหายาเสพติด เพื่อลดและป้องกันผู้เกี่ยวข้องกับยาเสพติดรายใหม่ โดยการมีส่วนร่วมทำกิจกรรมกลุ่มในชุมชนอย่างต่อเนื่อง และเพื่อเพิ่มศักยภาพและประสิทธิภาพการทำงานของอำเภอ ในการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด โดยการนำประชาชนที่ผ่านการ ฝึกอบรมหลักสูตร มาช่วยเหลืองานของทางราชการ หรือการรวมกลุ่มจัดกิจกรรมรูปแบบต่างๆ ร่วมกัน เช่น ดนตรี กีฬา หรืองานบริการสาธารณประโยชน์ในพื้นที่

กรม ทช. ลงพื้นที่ติดตามตรวจสอบชุมชนหน้าองค์การสะพานปลา (เกาะสิเหร่) ตำบลรัษฎา จังหวัดภูเก็ต

วันที่ 9 ธันวาคม​ 2565 เวลา 08.30 น. นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (อทช.) ได้มอบหมายให้กองป้องกันและปราบปราม ชุดปฏิบัติการพิเศษที่ 10 สำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 10 ร่วมกับศูนย์​อำนวยการรักษาผลประโยชน์​ของชาติทางทะเล​จังหวัด​ภูเก็ต​ ( ศรชล.จังหวัด​ภูเก็ต)​ เจ้าหน้าที่​จากเทศบาลตำบลรัษฎา​ ผู้ใหญ่​บ้าน​ และผู้นำชุมชน​ ลงพื้นที่​ชุมชน​หน้าองค์การ​สะพาน​ปลา(เกาะสิเหร่)​ตำบลรัษฎา​ อำเภอเมือง​ จังหวัดภูเก็ต​ เพื่อตรวจ​สอบการบุกรุกพื้นที่ป่าชายเลนบริเวณโครงการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชน​ คทช​.ชุมชน​หน้าองค์การ​สะพาน​ปลา(เกาะสิเหร่)​

จากการลงพื้นที่ตรวจสอบในครั้งนี้ เจ้าหน้าที่ศูนย์บริหารจัดการทรัพยากรป่าชายเลน จังหวัด​ภูเก็ต​ ได้ดำเนินการปักหลักเขตชั่วคราว และแสดงแนวเขตพื้นที่เป้าหมาย​โครงการ​ คทช​. ของชุมชน​หน้าองค์การ​สะพาน​ปลา (เกาะสิเหร่)​แล้ว เพื่อป้องกันไม่ให้มีการบุก​รุกเพิ่มเติม​ จากการตรวจสอบพบมีสิ่งปลูกสร้าง​ มีลักษณะ​เป็นบ้านพักอาศัยจำนวน​ 1 หลัง​ ที่อยู่​นอกขอบเขตพื้นที่ กำหนดเป็นเป้าหมาย​โครงการ​ คทช.​​ แต่อยู่​ในหลักเกณฑ์​ที่จะนำมาดำเนินโครงการ​ คทช.ได้​ ซึ่งอาจเป็นพื้นที่ตกสำรวจ โดยเจ้าหน้าที่ศูนย์บริหารจัดการทรัพยากรป่าชายเลน จังหวัด​ภูเก็ต​ จะกำหนดให้เป็นพื้นที่เป้าหมาย​ คทช.​​เพิ่ม​เติมเพื่อเสนอต่อผู้ว่าราชการจังหวัดให้ความเห็นชอบต่อไป​ แต่สำหรับ​สิ่งปลูกสร้าง​ที่อยู่​นอกเขตโครงการ​ คทช.​ และไม่เข้าหลัก​เกณฑ์​ เจ้าหน้าที่​ได้ดำเนินการเจ​รจาให้ดำเนินการ​รื้อถอน​ ภายใน 15 วัน 

รมต.อนุชา ลงพื้นที่เกาะหลีเป๊ะ จังหวัดสตูล ติดตามการแก้ปัญหากรณีชุมชนชาวเลหลีเป๊ะได้รับความเดือดร้อนจากการปิดกั้นทางสัญจรในชุมชน

วันนี้ 16 ธันวาคม 2565 เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2565 ที่ผ่านมา นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยนายชาตรี ณ ถลาง ปลัดจังหวัดสตูล,คณะทำงานสำนักงานบริหารนโยบายของนายกรัฐมนตรี ผู้แทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ผู้แทนกรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) ผู้แทนสำนักงานคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่ชุมชนชาวเลหลีเป๊ะ เกาะหลีเป๊ะ อำเภอเมืองสตูล จังหวัดสตูล เพื่อติดตามและรับฟังข้อมูลข้อเท็จจริงจากประชาชน และผู้แทนขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม กรณีการปิดกั้นเส้นทางสาธารณประโยชน์ ซึ่งประชาชนได้รับความเดือดร้อนจากการปิดกั้นทางสัญจรในชุมชน ที่ชาวบ้านใช้สำหรับเดินทางไปโรงเรียน โรงพยาบาล สุสาน รวมถึงแหล่งท่องเที่ยวสัญจรของนักท่องเที่ยว 

เมื่อคณะเดินทางไปถึงได้หารือกับชาวบ้านนับร้อยคนที่มารอรับ โดยชาวบ้านได้เล่าถึงสภาพปัญหาและข้อเสนอต่างๆโดยเฉพาะการขอให้เปิดเส้นทางดั้งเดิมเหมือนในอดีต นอกจากนี้ชาวบ้านได้เสนอข้อเรียกร้อง ให้แก้ไขปัญหาโดยมีเนื้อหาสรุปว่า ชาวเลอูรักลาโว้ยเกาะหลีเป๊ะได้รับผลกระทบและความเดือดร้อนอย่างรุนแรงจากกรณีการซื้อขายที่ดินของผู้ที่ครอบครองเอกสาร น.ส.3 เลขที่ 11 จึงขอให้ภาครัฐเร่งดำเนินการเพื่อดำรงความเป็นธรรม ป้องกันการละเมิดสิทธิชุมชนดั้งเดิมและเพื่อเป็นการป้องกันความขัดแย้ง ลดความรุนแรง และคุ้มครองชุมชนดั้งเดิม

รุ่นใหญ่ยิ้มออก สาวใหญ่ใจดี ตัดผมฟรีสำหรับผู้ใหญ่อายุ 70 ปี ขึ้นไป เผย “เคยได้รับโอกาส ขอตอบแทนให้กับชาวบ้านสูงวัย”

ที่ร้านตัดผมชาย-หญิง ในพื้นที่ซอย 6 ต.เมืองการุ้ง อ.บ้านไร่ จ.อุทัยธานี ของนางพันธนันท์ จุทส อายุ 52 ปี ได้เปิดตัดฟรีให้กับผู้ที่มีอายุ 70 ปีขึ้น ส่วนคนคนทั่วไปผู้ใหญ่หัวละ 60 บาท เด็กเล็ก 20-40 บาท 

โดยนางพันธนันท์ เจ้าของร้านเปิดเผยถึงเหตุผลที่ตัดผมให้กับผู้ที่อายุ 70 ปีขึ้นไปฟรีทุกคนว่า ก่อนที่ตนจะได้เป็นช่างตัดผมก็ต้องอดทนมามาก โดยได้รับโอกาสจากคนที่สอนเรามากว่าจะได้มีวันนี้ไม่ใช้เรื่องง่าย จึงอยากจะขอตอบแทนให้กับชาวบ้านผู้สูงวัยบ้าง เนื่องจากคนที่มีอายุมากก็ไม่ค่อยจะมีงานทำ รายได้ก็ไม่ค่อยมี ถ้าเทียบกับคนบ้านๆ ตามชนบท พร้อมอยากเห็นรอยยิ้มที่มีความสุขของผู้สูงวัยมากกว่า ที่ไม่ต้องเครียดกับเรื่องค่าใช้จ่ายในการตัดผม ซึ่งเราอาจจะช่วยเขาเรื่องอื่นไม่ได้ แต่เราช่วยตัดผมให้กับเขาได้โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายเลยสักบาท

‘พิมพ์ภัทรา’ มอบ ‘อสจ.สุราษฎร์ฯ-ศูนย์ฯ ภาค 10’ ร่วมพัฒนาอุตสาหกรรม มุ่งขับเคลื่อนประเทศ สอดรับ ‘อุตสาหกรรมไทยเติบโตคู่ชุมชนอย่างยั่งยืน’

เมื่อวันที่ 10 พ.ย. 66 นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ลงพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ตรวจราชการและมอบนโยบายให้แก่หน่วยงานภายใต้กระทรวงอุตสาหกรรม โดยมีนายวัชรินทร์ ไชยานุพงศ์ อุตสาหกรรมจังหวัดสุราษฎร์ธานี (อสจ.สุราษฎร์ธานี) นางสาวอริยาพร อำนรรฆสรเดช ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 10 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ผู้แทนศูนย์วิจัยและเตือนภัยมลพิษโรงงานภาคใต้ สาขาย่อยจังหวัดสุราษฎร์ธานี กรมโรงงานอุตสาหกรรม ผู้การภาค 7 ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย และผู้จัดการธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย สาขาสุราษฎร์ธานี ร่วมต้อนรับ ณ ห้องประชุมศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 10 จังหวัดสุราษฎร์ธานี

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้กล่าวให้กำลังใจการปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการ พนักงาน ลูกจ้าง สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดสุราษฎร์ธานี และศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 10 ผู้บริหาร บุคลากรทุกคนเป็นกำลังหลักสำคัญในการขับเคลื่อนองคาพยพของกระทรวงอุตสาหกรรม และยังต้องมีหน้าที่เป็นผู้ประสานระหว่างชุมชนถึงโรงงานอุตสาหกรรม เพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมเดินหน้าอยู่คู่ชุมชนได้อย่างมีความสุข

ทั้งนี้ ขอให้หน่วยงานทุกภาคส่วนร่วมกันขับเคลื่อนประเทศ สู่การพัฒนาอุตสาหกรรมไทยให้เติบโตอย่างสมดุลในระยะยาว ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ตามนโยบาย ‘ปฏิรูปอุตสาหกรรมไทยสู่อุตสาหกรรมเศรษฐกิจ ให้เติบโตคู่ชุมชนยั่งยืน’ ซึ่งเป็นแนวทางของการพัฒนาอุตสาหกรรมยุคใหม่ที่สามารถเติบโตไปได้ อยู่ได้ร่วมกับชุมชนอย่างมีความสุขนั่นเอง

อสจ.สุราษฎร์ธานี ระบุว่า พื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี มีผู้ประกอบกิจการโรงงานอุตสาหกรรมที่ดำเนินกิจการ จำนวน 934 โรง มีจำนวนการจ้างงาน 36,419 คน โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีการลงทุนมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ กลุ่มการผลิตอื่น ๆ เช่น ขุดดิน ดูดทราย ผลิตไฟฟ้า คัดแยกวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว จำนวน 364 โรงงาน กลุ่มแปรรูปไม้และผลิตภัณฑ์จากไม้ จำนวน 232 โรงงาน กลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร เช่น ผลิตน้ำแข็ง เครื่องดื่ม แปรรูปผลผลิตทางการเกษตร จำนวน 135 โรงงาน กลุ่มยางและผลิตภัณฑ์ยาง จำนวน 69 โรงงาน และกลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องดื่ม จำนวน 10 โรงงาน มีเงินลงทุน จำนวน 65,334.48 ล้านบาท

นอกจากนี้ ยังมีประทานบัตรเปิดการทำเหมือง จำนวน 33 ประทานบัตร และยังได้รายงานการปฏิบัติงานที่เห็นผลสำคัญ คือ โครงการยกระดับสินค้าเกษตรอินทรีย์ เกษตรปลอดภัยด้วยนวัตกรรมสร้างสรรค์ ที่มีแนวโน้มมุ่งสู่ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ มีคุณค่าทางโภชนาการ และมีความสะดวกในการบริโภค มีบรรจุภัณฑ์ที่เหมาะสม สามารถคงคุณภาพผลิตภัณฑ์ไว้ได้ยาวนาน การเตรียมความพร้อมให้กับเกษตรกร ผู้ผลิต หรือเอสเอ็มอี มีขีดความสามารถพร้อมเข้าสู่การผลิตสินค้าที่มีคุณค่าเพิ่ม (Value Creation) ภายใต้กระบวนการผลิตอาหารปลอดภัย (Food Safety)

ทั้งนี้ มีโครงการค่าใช้จ่ายแปรรูปสินค้าเกษตรอุตสาหกรรม 1 จังหวัด 1 ชุมชน เสริมสร้างความรู้ด้านการสร้างมูลค่าเพิ่ม การพัฒนาผลิตภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์ต้นแบบ และทดสอบตลาด ในปี 2566 โดยมีกรณีที่ประสบความสำเร็จ คือ ซอสคั่วกลิ้งปรุงสำเร็จ จากกลุ่มวิสาหกิจชุมชนแม่บ้านเกษตรกรบ้านควนไทร ต.ท่าโรงช้าง อ.พุนพิน จ.สุราษฎร์ธานี ผลิตภัณฑ์ตัวนี้ได้พัฒนาต่อยอดมาจากส่วนผสมพื้นถิ่นที่ได้รับความนิยมอย่างมาก

นอกจากนี้ ยังได้รายงานถึงการดำเนินงาน ‘พลอยได้…พาสุข’ ผลิตภัณฑ์ปุ๋ยหมักอินทรีย์ ภายใต้โครงการเสริมสร้างขีดความสามารถ เพื่อสนับสนุนการแข่งขันแบบจำลองธุรกิจและการนำไปดำเนินการ เป็นโครงการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการรายย่อย วิสาหกิจชุมชน หรือ กลุ่มบุคคล ที่มีศักยภาพและความคิดสร้างสรรค์ในการนำสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว (Waste) หรือ วัสดุพลอยได้ (By-product) จากภาคอุตสาหกรรม มาต่อยอดทำเป็นผลิตภัณฑ์ที่สร้างมูลค่าเพิ่มตามหลักแนวคิด ‘การพึ่งพาอาศัยกันระหว่างภาคอุตสาหกรรมและชุมชน’ ซึ่งเห็นผลและสอดคล้องกับนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมอีกด้วย

สสส.สนับสนุน ม.อ.ทำโครงการสื่อสารณรงค์ลดปัจจัยเสี่ยงทั้งบุหรี่ แอลกอฮอล์และอุบัติเหตุในมหาวิทยาลัยและชุมชน 5 วิทยาเขตภาคใต้

อธิการบดี หวังเป็นต้นแบบจัดตั้งกลไกจัดการปัจจัยเสี่ยง ผู้ทรงคุณวุฒิสสส.ชี้โครงการมีการจัดเก็บข้อมูลพฤติกรรมเสี่ยงก่อนและหลังจัดกิจกรรมเป็นตัวชี้วัดที่ดี เผยผลสำรวจพบการสูบบุหรี่ไฟฟ้ามากขึ้น ส่วนการสวมหมวกกันน็อคลดลง

เช้าวันเสาร์ที่ 6 มกราคม 2567 ณ ห้องประชุมใหญ่ ชั้น ๒ ศูนย์กีฬาและสุขภาพ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา มีการแถลงข่าวเปิดตัว โครงการสานพลังมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์รณรงค์และจัดการความรู้ ลดปัจจัยเสี่ยงในมหาวิทยาลัยและชุมชน โดย ได้รับการสนับสนุนการดำเนินโครงการจาก  สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

​ผศ.ดร.นิวัติ แก้วประดับ อธิการบดี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่าต้องขอบคุณ สสส. ที่ให้การสนับสนุนโครงการนี้ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายและทิศทางของมหาวิทยาลัยในการสร้างพื้นที่ปลอดภัยด้านปัจจัยเสี่ยง อุบัติเหตุ บุหรี่ และแอลกอฮอล์ให้กับ นักศึกษาและบุคลากร ของมหาวิทยาลัย เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืนทำให้คนมีชีวิตที่มีสุขภาพดีและส่งเสริมสวัสดิภาพสำหรับคนทุกวัยและเป็นไปตามค่านิยมหลัก คือ มีความเป็นมืออาชีพ ความรับผิดชอบต่อสังคม และความเป็นเอกภาพ เป็นหนึ่งเดียว ด้วยวัฒนธรรมองค์กรที่ยึดถือประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์เป็นกิจที่หนึ่ง โดยมหาวิทยาลัยได้ กำหนดวัตถุประสงค์เชิงกลยุทธ์ที่สำคัญคือ สร้างสรรค์องค์ความรู้และนวัตกรรมด้านสุขภาพและการแพทย์ ด้วยการสร้างพื้นที่ปลอดภัยจากปัจจัยเสี่ยงด้านสุขภาพและสังคมที่สำคัญทั้งอุบัติเหตุ บุหรี่ และแอลกอฮอล์

อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์กล่าวต่อว่า มหาวิทยาลัยมี นโยบายที่สำคัญ 8 ด้านคือ การสนับสนุนการทำงานทางด้านวิชาการ การจัดการความรู้ เพื่อขับเคลื่อน การลดปัจจัยเสี่ยงระดับนโยบายของมหาวิทยาลัย การพัฒนากลไกจัดการปัจจัยเสี่ยงในมหาวิทยาลัย และชุมชนรอบมหาวิทยาลัยครอบคลุมทั้ง 5 วิทยาเขต การรณรงค์และสื่อสารสร้างสรรค์เพื่อการเปลี่ยนแปลง มุ่งเน้นการสื่อสารรณรงค์ลดพฤติกรรมเสี่ยงในมหาวิทยาลัย และประชาชนในชุมชนเป้าหมาย การประกาศนโยบายคุ้มครองสุขภาพผู้ไม่สูบบุหรี่และจัดเขตสูบบุหรี่เป็นการเฉพาะ นำไปสู่การพัฒนามหาวิทยาลัยเป็นมหาวิทยาลัยปลอดบุหรี่อย่างยั่งยืน การสนับสนุนระบบการขนส่งรถสาธารณะในมหาวิทยาลัยเพื่อลดการใช้รถจักรยานยนต์ และ รถยนต์ ส่วนตัว การปรับสภาพถนนและสภาพแวดล้อมที่เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุให้ปลอดภัย การสนับสนุนและส่งเสริมเพื่อพัฒนาไปสู่การเป็นมหาวิทยาลัยสร้างเสริมสุขภาพ และการร่วมมือกับองค์กร ภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนและภาคประชาสังคม เพื่อนำไปสู่การสร้างกลไกให้มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์เป็นต้นแบบการจัดการปัจจัยเสี่ยงสุขภาพและ ปัจจัยเสี่ยงสังคม

ด้านนายวิเชษฐ์ พิชัยรัตน์ ผู้ทรงคุณวุฒิ กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) กล่าวว่า สสส.เห็นความตั้งใจของผู้บริหาร บุคลากร ของมหาวิทยาลัยรวมทั้งบัณฑิตอาสาที่ต้องการดำเนินงานสื่อสารณรงค์ลดปัจจัยเสี่ยงทั้งภายในมหาวิทยาลัยและชุมชนรอบ มหาวิทยาลัย จึงให้การสนับสนุนงบประมาณเพื่อดำเนินโครงการโดยเชื่อมั่นว่า  ด้วยบทบาทของการเป็นมหาวิทยาลัยที่มีความเข้มแข็งทางวิชาการและการทำงานรับใช้ชุมชนจะทำให้โครงการนี้เป็นแบบอย่างของ การดำเนินกิจกรรมสร้างเสริมสุขภาพที่สามารถประเมินผลลัพธ์ของโครงการได้เนื่องจากมีการจัดเก็บข้อมูลพฤติกรรมเสี่ยงภายใน 5 วิทยาเขตและชุมชนเป้าหมายก่อนเข้าไปดำเนินโครงการเพื่อนำมาเป็นข้อมูลในการจัดกิจกรรมสื่อสาร รณรงค์ลดปัจจัยเสี่ยงได้ตรงตามเป้าหมาย หลังจากนั้นจะมีการจัดเก็บขอมูลอีกครั้งก่อนจบโครงการเพื่อเปรียบเทียบว่าผลจากการจัดกิจกรรมต่างๆได้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งความรู้ ความคิดและพฤติกรรมของบุคลากรในมหาวิทยาลัยและคนในชุมชนอย่างไร เพื่อที่ในอนาคตหากมหาวิทยาลัยต้องการขยายผลหรือขยายพื้นที่ในการดำเนินงานในวงกว้างมากขึ้นก็จะทำให้ประชาชนชุมชนและสังคมโดยรวมมีสุขภาวะที่ดีขึ้นซึ่ง สสส.ก็ยินดีที่จะสนับสนุนบทบาทเหล่านี้ต่อไปในอนาคต

ขณะที่ รศ.ดร.นฤทธิ์ ดวงสุวรรณ์ หัวหน้าโครงการฯกล่าวถึงวัตถุประสงค์ ของโครงการว่าเพื่อศึกษาสถานการณ์ด้านปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพและทางสังคมด้านยาสูบ แอลกอฮอล์ และอุบัติเหตุ ทั้ง ภายใน 5 วิทยาเขตและชุมชนเป้าหมาย นอกจากนั้นยังต้องการให้เกิดการสร้างและพัฒนากลไกการจัดการปัจจัยเสี่ยงทั้งในระดับมหาวิทยาลัยและชุมชนควบคู่กับการสร้างและพัฒนานักรณรงค์สุขภาวะรุ่นใหม่จากนักศึกษา บุคลากรในมหาวิทยาลัย บัณฑิตอาสา และประชาชนเป้าหมาย ให้มีส่วนร่วมในการรณรงค์ สื่อสารสร้างการรับรู้เพื่อสร้างความเปลี่ยนทางความคิดและนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม และสุดท้ายคือการจัดการความรู้ที่ได้จากการสำรวจ สถานการณ์สุขภาพ การจัดกิจกรรมเพื่อสื่อสาร การถอดบทเรียนและการใช้ประโยชน์ในการขับเคลื่อนนโยบายในระดับต่างๆต่อไป   โดยมีระยะเวลาดำเนินงาน 18 เดือน  ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2566  ที่ผ่านมาจนถึงวันที่ 15 มกราคม 2568 งบประมาณรวม  4,994,000 บาทถ้วน

หัวหน้าโครงการฯได้ให้รายละเอียดเพิ่มเติมว่า 3 ประเด็นปัจจัยเสี่ยงที่แต่ละวิทยาเขตเลือกคือ. บุหรี่ และบุหรี่ไฟฟ้า วิทยาเขตปัตตานีและวิทยาเขตภูเก็ตจะเป็นผู้ดำเนินการ เรื่องอุบัติเหตุ วิทยาเขตหาดใหญ่และ วิทยาเขตตรัง จะเป็นผู้ดำเนินการ ส่วนแอลกอฮอล์ วิทยาเขตสุราษฎร์เป็นผู้ดำเนินการ ในขณะที่การเลือก ชุมชนเป้าหมายนั้น วิทยาเขตปัตตานี เลือกตำบลบ้านตรัง อำเภอมายอ จังหวัดปัตตานี วิทยาเขตหาดใหญ่ เลือกเขตเทศบาลเมืองคอหงส์ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา วิทยาเขตตรัง เลือกตำบลควนปริง อำเภอเมือง จังหวัดตรัง วิทยาเขตภูเก็ต เลือกพื้นที่ชุมชนเขาน้อย ต.กระทู้ อำเภอกะทู้ จังหวัดภูเก็ต วิทยาเขตสุราษฎร์ธานี เลือกตำบลขุนทะเล อำเภอเมือง จังหวัดสุราษฏร์ธานี ซึ่งที่ผ่านมาแต่ละวิทยาเขตได้ลงพื้นที่จัดเก็บข้อมูลเสร็จเรียบร้อยแล้วพร้อมกับการวิเคราะห์ วางแผนกำหนดแนวทาง รูปแบบการสื่อสารและณรงค์ต่อไป โดยหลังจากการแถลงข่าวจะมีการจัดอบรมพัฒนาศักยภาพด้านการสื่อสารและการรณรงค์ให้แก่ อาสาสมัครที่เข้าร่วมโครงการทั้ง 5 วิทยาเขตด้วย  

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าข้อมูลที่มีการจัดเก็บสถานการณ์ปัจจัยเสี่ยงในมหาวิทยาลัยและชุมชนมีข้อมูลที่น่าสนใจ เช่น ด้านบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้านั้นแม้ผู้ตอบส่วนใหญ่จะตอบว่าไม่ได้สูบบุหรี่ แต่มีอยู่ประมาณ 5 %ที่สูบบุหรี่ไฟฟ้าในรูปแบบของพอตที่หน้าตาเหมือนของเล่นและแบบแท้งค์น้ำยา ส่วนใหญ่หาซื้อเอง ส่วนการสูบบุหรี่มวนมีทั้งสูบตั้งแต่ 2-5 มวนต่อวันไปจนถึง 11-20 มวนต่อวัน ด้านอุบัติเหตุนั้นพบข้อมูลที่คล้ายคลึงกันคือผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์ไม่สวมหมวกกันน็อค อยู่ระหว่าง 24%-47.1% ส่วนคนซ้อนไม่สวมหมวกกันน็อคอยู่ระหว่าง 17.6%-44.6% สะท้อนว่าการสวมหมวกกันน็อคลดลงเรื่อยๆ ส่วนประเด็นแอลกอฮอล์นั้นพบว่าพฤติกรรมการดื่ม 37.2% จะดื่มที่บ้านตัวเองและที่พัก รองลงมา33.5% ดื่มในงานเลี้ยงและงานเทศกาล

อนุชุมชนฯ ลงพื้นที่ฉะเชิงเทรา ขับเคลื่อนการเชื่อมโยงประโยชน์จากการลงทุนสู่ประชาชนและชุมชนในพื้นที่ อีอีซี

เมื่อวันที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2567 คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการเชื่อมโยงประโยชน์จากการลงทุนสู่การพัฒนาพื้นที่และชุมชน นำโดย รองศาสตราจารย์มณฑล แก่นมณี ประธานอนุกรรมการ พร้อมด้วย นายธนาคม จงจิระ รองประธานฯ และอนุกรรมการ รวมทั้งผู้บริหาร สกพอ. นางธัญรัตน์ อินทร รองเลขาธิการฯ สายงานพื้นที่และชุมชน และเจ้าหน้าที่ สกพอ. นายอาทร เสริมศักดิ์ศศิธร ประธาน YEC และผู้ผแทน YEC ได้เดินทางลงพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา เพื่อเรียนรู้แนวทางการช่วยเหลือเกื้อกูลกันของนิคมอุตสาหกรรม ฯ และชุมชนรอบโครงการอย่างเป็นรูปธรรม และการยกระดับผลิตภัณฑ์จากภูมิปัญญาท้องถิ่นให้มีมูลค่าสูงขึ้นของวิสาหกิจชุมชนในพื้นที่ รวมถึงร่วมประชุมหารือกับหน่วยงานในพื้นที่และผู้นำท้องถิ่นเกี่ยวกับแนวทางการสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกผ่านโครงการ EEC Tambon Mobile Team คณะอนุกรรมการฯ ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ของ สกพอ. ได้ลงพื้นที่ประชุมหารือและศึกษาแนวทาง การดำเนินงาน 'เขาดิน โมเดล' 

ซึ่งเป็นตัวอย่างความสำเร็จของการช่วยเหลือเกื้อกูลและสนับสนุนส่งเสริมกันของนิคมอุตสาหกรรมฉะเชิงเทรา บลูเทค ซิตี้ และชุมชนรอบโครงการทั้งด้านที่ดิน ด้านอาชีพ และด้านสิ่งแวดล้อม ณ ศูนย์เรียนรู้ “ทุ่งสมุนไพรป่าชายเลน” แห่งแรกของประเทศไทย โดยมีนางสาวกุลพรภัสร์ วงค์มาจารภิญญาประธานผู้บริหารนิคมอุตสาหกรรมฉะเชิงเทรา บลูเทคซิตี้ ให้การต้อนรับ ทั้งนี้ ได้มีการหารือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับแนวทางส่งเสริมผลิตภัณฑ์สมุนไพรในชุมชนให้มีมูลค่าสูงขึ้น และสามารถขยายช่องทางการตลาดได้มากขึ้น ซึ่งจะนำไปขยายผลในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมอื่น ๆ ต่อไป จากนั้น ได้เข้าเยี่ยมชมโรงงานผลิตแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนและระบบกักเก็บพลังงานแบบครบวงจร ของบริษัท บริษัท อมิตา เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นโรงงานที่ทันสมัยและใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอาเซียน เกิดจากการร่วมลงทุนระหว่างกลุ่มบริษัทพลังงานบริสุทธิ์ กับ บริษัท อมิตา เทคโนโลยี (ไต้หวัน) ผลผลิตของโรงงานแห่งนี้ถือเป็นปัจจัยพื้นฐานสำคัญในการขับเคลื่อนการลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมายในพื้นที่ อีอีซี  

นอกจากนี้ คณะอนุกรรมการฯ ได้ร่วมประชุมหารือร่วมกับนายศักรินทร์ ศรีสมวงศ์ นายอำเภอบ้านโพธิ์ จังหวัดฉะเชิงเทรา และผู้นำท้องถิ่น ประกอบด้วย นายหิรัญ หริ่มเจริญ กำนันตำบลหนองตีนนก นายสมศักดิ์ ไหลไผ่ทอง ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 4 และนายเมืองแมน มนจ้อย ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 5 ตำบลหนองตีนนก และนายวิลาศ สุวินัย นายกองค์การบริหารส่วนตำบลหนองตีนนก เป็นต้น เกี่ยวกับแนวทางการทำงานร่วมกันในการสร้างการรับรู้และความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการพัฒนาพื้นที่ อีอีซี รวมทั้งการเตรียมพื้นที่และชุมชนให้มีความพร้อมและศักยภาพที่จะรองรับการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย ผ่านโครงการ EEC Tambon Mobile Team จากนั้น ได้เข้าเยี่ยมวิสาหกิจชุมชนเกษตรผสมผสานและการแปรรูปตำบลหนองตีนนก ซึ่งได้รับรางวัลชมเชยจากการประกวดวิสาหกิจชุมชนดีเด่น ระดับจังหวัด ประจำปี 2567 วิสาหกิจชุมชนแห่งนี้เกิดขึ้นจากการรวมกลุ่มกันของประชาชนในชุมชนเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารให้แก่สมาชิก ด้วยการปลูกผักและเลี้ยงสัตว์ด้วยวิธีการธรรมชาติ ให้สมาชิกมีอาหารที่ปลอดภัยอย่างเพียงพอ ส่วนรายได้ที่เกิดจาการจำหน่ายผลผลิตทางการเกษตรจะนำมาปันผลให้แก่สมาชิก และช่วยเหลือสมาชิกยามเจ็บป่วย มีการนำวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดเพื่อลดต้นทุนการผลิตและรักษาสิ่งแวดล้อม ซึ่งสอดคล้องกับการประกอบธุรกิจแบบ BCG โดยคณะอนุกรรมการฯ จะนำข้อมูลและบทเรียนแห่งความสำเร็จไปเป็นแนวทางในการขับเคลื่อนการเชื่อมโยงจากการลงทุนสู่พื้นที่และชุมชน ซึ่งเป็นเป้าหมายสำคัญของคณะอนุกรรมการฯ ต่อไป


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top