‘ดร.วิรไท’ แนะ 4 แกนหลัก พลิกฟื้นเศรษฐกิจไทยอย่างยั่งยืน ชี้!! ปรับปรุงโครงสร้าง-แก้กม.ให้สอดรับโลกยุคใหม่คือคำตอบ

เมื่อวันที่ 7 พ.ย. 66 ภาพรวมเศรษฐกิจไทย มีพัฒนาการที่ดีและสามารถขยายตัวได้ต่อเนื่อง แต่อัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้นช้าลง สะท้อนได้จากตัวเลขอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจ (จีดีพี) ในช่วง 20 ปีย้อนหลัง พบว่าช่วงปี 2543-2552 จีดีพีขยายตัวเฉลี่ยที่ 4.3% ขณะที่ช่วงปี 2553-2562 จีดีพีขยายตัวชะลอลงมาเฉลี่ยที่ 3.6%

วิกฤตโควิด-19 กระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลกเช่นเดียวกับเศรษฐกิจไทย ในปี 2563 จีดีพีหดตัว 6.1% อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยกลับมาฟื้นตัวได้ต่อ จีดีพีขยายตัวที่ 1.5% และ 2.6% ในปี 2564 และ 2565 ตามลำดับ สำหรับปี 2566 คาดการณ์จีดีพี โดยสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) คาดขยายตัว 2.8% ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คาดขยายตัว 2.8% ด้านกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดขยายตัว 2.7% ขณะที่ธนาคารโลก คาดขยายตัว 3.4% จะเห็นได้ว่าจีดีพีไทยเติบโตช้าลง ซึ่งเหตุผลไม่ใช่เพียงภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวเท่านั้น แต่ไทยยังเผชิญปัญหาโครงสร้างเศรษฐกิจ ดังนั้น จึงต้องแก้ปัญหาให้ถูกจุด

โดย ดร.วิรไท สันติประภพ อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ให้ความเห็นว่า การจะผลักดันให้เศรษฐกิจไทยให้เติบโตได้ในระดับที่ดีต่อเนื่องและโตได้อย่างยั่งยืน เพื่อให้คนไทยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เท่าทันกับบริบทของโลกที่เปลี่ยนแปลงไปและเท่าทันกับความท้าทายใหม่

แก้ปัญหาโครงสร้างเศรษฐกิจซึ่งทำผ่าน 4 แกนหลัก เรื่องสำคัญที่สุด คือ
1.) การเพิ่มผลิตภาพ (Productivity) ทั้งเรื่องคุณภาพการศึกษาเพื่อให้คนไทยเก่งขึ้น สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้มากขึ้นเพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุ ทั้งนี้ต้องเพิ่มผลิตภาพในภาคเกษตร พัฒนาพันธุ์พืชใหม่และเพิ่มผลผลิตต่อไป ด้านภาคบริการ สามารถเพิ่มผลิตภาพโดยการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ ภาคบริการในอนาคตต้องตั้งอยู่บนฐานเทคโนโลยี และควรเพิ่มผลิตภาพในด้านบริการภาครัฐ ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนให้แก่ประชาชนและภาคธุรกิจได้

2.) การกระจายผลประโยชน์อย่างทั่วถึง (Inclusivity) ซึ่งจะสะท้อนถึงการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ของไทย ที่ผ่านมาภาครัฐพยายามแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านทรัพย์สิน ความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ เช่น การเก็บภาษีทรัพย์สินรูปแบบใหม่ ๆ การทำระบบสวัสดิการที่จะดูแลประชาชนที่อยู่ระดับฐานล่างของสังคม และปัจจุบันต้องแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านโอกาส ทั้งโอกาสการในการเข้าถึงการศึกษาที่ดีและโอกาสในการเข้าถึงเทคโนโลยี ซึ่งจะจำเป็นมากสำหรับการพัฒนาเศรษฐกิจในอนาคต

3.) การสร้างภูมิคุ้มกัน (Immunity) เศรษฐกิจไทยสามารถรับแรงปะทะและความผันผวนได้ค่อนข้างดี เช่น วิกฤตโควิด เราสามารถทำมาตรการต่าง ๆ ออกมารองรับได้ เพราะภาคการคลัง หนี้สาธารณะของไทยไม่ได้สูงมากนักเมื่อเทียบกับประเทศที่อยู่ในระดับการพัฒนาใกล้เคียง แต่ยังมีความท้าทายจากการที่เราเป็นสังคมสูงอายุ รายจ่ายด้านสวัสดิการจะทำให้ภาครัฐมีภาระการคลังมากขึ้นในอนาคต ส่วนภาคการเงิน เสถียรภาพด้านต่างประเทศค่อนข้างดี ทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่ในระดับสูง ด้านหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง น่าเป็นห่วงต้องเร่งแก้เพื่อให้คนสามารถออกจากกับดักหนี้ได้อย่างยั่งยืน ดังนั้น เราควรสร้างและรักษาภูมิคุ้มกันในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับประเทศลงไปถึงระดับครัวเรือน

เพราะความท้าทายที่จะเกิดขึ้นในอนาคตยังมีอีกมาก ถ้าเราทำนโยบายอะไรก็ตามที่ทำลายภูมิคุ้มกันของตัวเอง เราจะไม่สามารถรับแรงปะทะที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตได้และจะถูกกระแทกแรงมาก

4.) ความสามารถในการปรับตัวรองรับการเปลี่ยนแปลง (Adaptability) เพราะโลกในอนาคตจะเปลี่ยนแปลงเร็ว ซึ่งจะเป็นทั้งโอกาสและความท้าทาย ทั้งพัฒนาการของเทคโนโลยีที่เข้ามามีบทบาทมากขึ้น รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศ ซึ่งประเทศไทยเป็นประเทศที่อาจจะได้รับผลกระทบรุนแรง เพราะว่าประชาชนจำนวนมากอยู่ในภาคเกษตรและพึ่งดินฟ้าอากาศ การเปลี่ยนแปลงและความแปรปรวนจะส่งผลต่อระบบชลประทาน การขาดแคลนน้ำสะอาด มีปัญหาน้ำกร่อย น้ำเค็ม เป็นต้น ต้องปรับตัวรองรับให้ทัน เพราะเรื่องนี้กระทบกับวิถีชีวิตของพวกเราทุกคนและกระทบกับวิธีการทำธุรกิจของทุกธุรกิจ

ดร.วิรไท กล่าวว่า การจะทำเรื่องทั้ง 4 แกนหลัก แก้ปัญหาโครงสร้างเศรษฐกิจ ต้องใช้เวลาและใช้ทรัพยากรจำนวนมาก เป็นเรื่องที่ไม่มี Quick Win ไม่ใช่เรื่องที่จะหวังผลในระยะสั้น ๆ ได้ ดังนั้น เรื่องที่ต้องให้ความสำคัญ คือ ต้องปฏิรูปโครงสร้างภาครัฐที่มีลักษณะเป็นไซโล ให้สามารถทำงานสอดประสานกันได้ รวมถึงเร่งปรับปรุงและแก้กฎหมาย (Regulatory Guillotine) โดยเฉพาะกฎหมายที่ไม่เอื้อกับโลกอนาคต การแก้ปัญหาโครงสร้างเศรษฐกิจต้องทำให้ตรงกับกลุ่มเป้าหมาย เพราะแต่ละกลุ่มก็จะมีปัญหา อุปสรรค ข้อจำกัดที่แตกต่างกันออกไป และต้องมีการจัดระบบแรงจูงใจให้ถูกต้อง และระมัดระวังการทำนโยบายแบบเหวี่ยงแห ที่มักจะทำให้เกิดแรงจูงใจที่ผิด ตัวอย่าง คือ นโยบายจำนำข้าว ที่ทำให้เกิดแรงจูงใจว่าคนต้องมาเร่งผลิตข้าวให้เร็วที่สุด เน้นเรื่องปริมาณแทนการเน้นผลิตภาพ เป็นการทำลายพันธุ์ข้าวดี ส่งผลต่อการยกระดับผลิตภาพในระยะยาวได้

“เศรษฐกิจไทยปัจจุบันเปรียบเหมือน ภูเขาน้ำแข็ง หรือ ‘Iceberg’ เราจะมองเห็นและให้ความสำคัญเฉพาะภูเขาน้ำแข็งที่ลอยอยู่เหนือน้ำหรือในด้านของ อัตราการเติบโตเศรษฐกิจ แต่สิ่งที่สำคัญมากกว่าคือสิ่งที่อยู่ใต้น้ำ สิ่งที่มองไม่เห็นซึ่งอาจจะทำให้เกิดภัยพิบัติขึ้นได้ นั่นก็คือเรื่องของโครงสร้างเศรษฐกิจ มองว่าเศรษฐกิจไทยไม่ได้อยู่ในสภาวะวิกฤต แต่อาจจะอยู่ในสภาวะที่เทคออฟได้ช้ากว่าเศรษฐกิจอื่น เชื่อว่าเศรษฐกิจไทยจะสามารถก้าวต่อไปได้อย่างเข้มแข็งหากเราสามารถตั้งเข็มทิศได้ถูกต้อง ผมจึงให้น้ำหนักเรื่องระยะยาวเพราะความจำเป็นในการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นของเราไม่รุนแรง

เหมือนกับความจำเป็นในการที่ต้องเร่งปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทย ให้เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เพื่อสร้างบุญใหม่ให้กับเศรษฐกิจ ถ้าเรายังคงอยู่กับโครงสร้างแบบเดิม ทำแบบเดิม ไม่สามารถที่จะปรับตัวได้อย่างรวดเร็ว ก็หนีไม่พ้นที่จะกินบุญเก่า ซึ่งบุญเก่าก็จะหมดลงเรื่อย ๆ” ดร.วิรไท กล่าว

เศรษฐกิจไทยยังมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก หากเราสามารถเพิ่มผลิตภาพโดยใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีที่ปัจจุบันพัฒนาไปไกลมากและสามารถเข้าถึงได้ง่ายขึ้น และใช้เทคโนโลยีสนับสนุนให้การทำธุรกิจสะดวกมากขึ้น ต้นทุนถูกลง สามารถแข่งขันได้ เอื้อกับการทำธุรกิจที่มีผลิตภาพสูง เชื่อว่าจะมีผู้ประกอบการธุรกิจอีกจำนวนมากที่จะเข้ามาลงทุนต่อยอดกับสิ่งที่เรามี เช่น ภาคเกษตร ภาคการท่องเที่ยว บริการทางการแพทย์ เศรษฐกิจที่อิงกับความคิดสร้างสรรค์ที่เป็น ซอฟต์พาวเวอร์ไทย ตลอดจนธุรกิจใหม่ ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับความยั่งยืนซึ่งเป็นเทรนด์ของโลก

นอกจากการให้ความสำคัญเรื่องโครงสร้างเศรษฐกิจแล้ว โจทย์ใหญ่อีกเรื่องที่ต้องเร่งแก้ปัญหาคือ เรื่องคอร์รัปชัน เพราะคอร์รัปชันเป็นตัวทำลายผลิตภาพ ทำลายการแข่งขันที่เป็นธรรม

การแข่งขันจะไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าใครเก่งกว่าใคร แต่การแข่งขันจะขึ้นอยู่กับว่าใครรู้จักใคร ใครยินดีที่จะจ่ายใต้โต๊ะมากกว่า ใครมีช่องทางในการเข้าถึงอำนาจรัฐและใช้อำนาจรัฐได้มากกว่า

ทั้งนี้ คอร์รัปชันทำให้ต้นทุนของทุกคนสูงขึ้น ต้นทุนการใช้ชีวิต ต้นทุนการทำธุรกิจ และยังเป็นปัจจัยทำลายความไว้วางใจ เวลาที่เราพูดถึงเศรษฐกิจไทย สังคมไทย ที่จะต้องปรับโครงสร้างให้เท่าทันกับโลกใหม่ ๆ ในอนาคต แปลว่า เราจะต้องมีความไว้วางใจกันในการที่จะเริ่มทำเรื่องใหม่ ๆ แต่หากเราอยู่ในสังคมที่มีคอร์รัปชันเป็นบรรทัดฐาน การเริ่มทำเรื่องใหม่จะทำได้ช้ามาก เพราะเกิดการตั้งข้อสังเกตว่าใครหวังอะไร ใครกำลังจะได้อะไร ใครจ่ายใต้โต๊ะ นโยบายที่กำลังจะทำเอื้อต่อใคร ซึ่งการจะเริ่มทำเรื่องใหม่ในประเทศไทยทำได้ช้า ขณะที่ประเทศอื่นสามารถที่จะก้าวไปได้เร็วกว่าเรา

ดังนั้น หากสถานการณ์คอร์รัปชันของเรายังไม่ดีขึ้น จะเป็นความเสี่ยงฉุดเศรษฐกิจไทยเข้าสู่หลุมดำได้