Wednesday, 14 May 2025
Crimes

รองโฆษก ตร. ชี้!แนวโน้ม’อาชญากรรมทางเทคโนโลยี’ ใน ปี พ.ศ.2565

วันที่ 3 ม.ค.2565 พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ ดีพอ รอง ผบก.ปอท. ในฐานะรองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งขาติ กล่าวถึงแนวโน้มอาชญากรรมทางเทคโนโลยีใน ปี พ.ศ.2565 ว่า เมื่อพิจารณาข้อมูลจากสถิติการเข้าแจ้งความร้องทุกข์ ศูนย์บริการประชาชน บก.ปอท. ปี พ.ศ. 2561-2564   พบว่า รูปแบบของอาชญากรรมทางเทคโนโลยีหรือใช้เทคโนโลยีในการกระทำความผิดที่มีประชาชนมาแจ้งความร้องทุกข์ดำเนินคดีมากที่สุดเป็นอันดับ 1 ยังคงเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท 

โดยในปี 2564 มีผู้มาแจ้งความร้องทุกข์จำนวน 698 ราย สาเหตุที่การด่าทอ ให้ร้ายกันในสื่อสังคมออนไลน์ ครองความเป็นอันดับ 1 มาตลอดหลายปี อาจเนื่องมาจาก ประชาชนเข้าถึงสื่อสังคมออนไลน์มากขึ้น การโพสต์ การแสดงความคิดเห็น การส่งต่อข้อมูลที่ทำให้ผู้อื่นเสียหายจึงมีมากขึ้น  

แต่ที่น่าสนใจจากสถิติดังกล่าวพบว่า มีผู้ได้รับความเสียหายจากการถูกแฮก เพื่อปรับเปลี่ยน/ขโมย/ทำลายข้อมูลคอมพิวเตอร์ พบเป็นอันดับที่ 2 โดยมีผู้มาแจ้งความร้องทุกข์จำนวน 585 ราย ความเสียหายรวมประมาณ 67 ล้านบาทแสดงให้เห็นถึง ประชาชนอาจขาดการระวังป้องกันการเข้าถึงระบบคอมพิวเตอร์/ข้อมูลคอมพิวเตอร์จากแฮกเกอร์  

ส่วนการหลอกขายสินค้า/บริการ พบว่ามาเป็นอันดับ 3 โดยมีผู้มาแจ้งความร้องทุกข์จำนวน 445 ราย ความเสียหายรวมประมาณ 45 ล้านบาท 

ซึ่งจากสถิติดังกล่าวข้างต้นทำให้สังเกตได้ว่า รูปแบบของอาชญากรรมทางเทคโนโลยีในปัจจุบัน หากไม่นับความผิดฐานหมิ่นประมาทแล้ว พบว่าจะมีอยู่ 2 รูปแบบหลัก ๆ คือ การแฮกข้อมูล และการฉ้อโกงออนไลน์ เป็นหลัก ซึ่งพบว่าอาชญากรรมใน 2 รูปแบบนี้ คนร้ายมักอาศัยโอกาสจากเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาเอื้อประโยชน์ในการกระทำความผิดหรือปกปิดตัวตนไม่ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถสืบสวนหาตัวคนร้ายได้โดยง่าย โดยใช้ช่องทางต่างๆ เช่น การปกปิดตัวตนโดยนำภาพหรือชื่อบุคคลอื่นมาสร้างบัญชีสื่อสังคมออนไลน์ปลอม หรือใช้บัญชีอวตา (Avatar) , การปกปิดที่อยู่ไอพี (ip address) , การใช้ช่องทางสกุลเงินดิจิทัล ในการรับทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำความผิด หรือ การซื้อบัญชีธนาคารจากผู้ที่รับจ้างเปิดบัญชีธนาคาร เป็นต้น ซึ่งเป็นการสร้างความยุ่งยากให้กับเจ้าหน้าที่ ในการสืบสวนหาตัวผู้กระทำความผิดมาดำเนินคดีตามกฎหมาย 

ดังนั้นความเห็นส่วนตัวยังเห็นว่า แนวโน้มอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ในปี 2565 ยังไม่น่าจะแตกต่างไปจากเดิม แต่คนร้ายอาจนำเทคโนโลยีสมัยใหม่หรือเทคโนโลยีที่มีอยู่มาใช้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น การให้ร้ายหรือระรานทางไซเบอร์(Cyber Bullying) , การหลอกลวงผ่านอีเมล (email scam) , การแฮกเพื่อเอาข้อมูลหรือเงินผ่านการลวงให้กดล่อให้กรอก (Phishing) , มัลแวร์เรียกค่าไถ่ (Ransomware), การหลอกลวงขายสินค้า , การหลอกรักออนไลน์(Romance Scam) , การหลอกรักลวงลงทุน (Hybrid Scam) , การหลอกลวงด้วยการโทรศัพท์โดยแก๊งคอลเซ็นเตอร์ , การหลอกให้ลงทุนในลักษณะแชร์ออนไลน์และแชร์ลูกโซ่ , การขูดรีดดอกเบี้ยเงินกู้และการทวงหนี้ในลักษณะผิดกฎหมายจากแก๊งแอพพลิเคชั่นเงินกู้ , การปล่อยข่าวปลอมในโลกออนไลน์เพื่อหวังผลด้านต่าง ๆ (Fake News) เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ประโยคที่ว่า “อาชญากรรมมักทิ้งร่องรอย” ยังคงใช้ได้กับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี จึงเป็นเรื่องที่ท้าทายเจ้าหน้าที่ตำรวจในการสืบสวนติดตามจับกุมคนร้าย ที่อาจพัฒนาตัวเองจากอาชญากรภาคพื้นดิน (On Ground) มาเป็นอาชญากรบนอากาศ (Online) โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจต้องมีการพัฒนาทักษะ ความรู้ ในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ทั้งนี้จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากผู้ให้บริการด้านต่างๆ ในการสนับสนุนข้อมูลที่เกี่ยวข้องเพื่อประกอบข้อมูลในการสืบสวนสอบสวน  

ตชด 436 พบเรือต้องสงสัยจอดทิ้งใกล้ป่าโกงกางริมทะเล ตรวจสอบพบกัญชาอัดแท่งเพียบ!!

เมื่อวันที่ 2 มกราคม 2565 ที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ ตชด.ยังคงทำงานกันอย่างหนักในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2565 โดยเฉพาะตามแนวตะเข็บชายแดนไทยมาเลเซีย ทางทะเลริมชายฝั่ง ได้มีการออกลาดตระเวนตามแนวชายฝั่ง เฝ้าระวัง การลักลอบทำผิดกฎหมาย ล่าสุดพล.ต.ต.อรรถวุฒิ  อ่อนทรัพย์ ผบก.ตชด.ภาค 4 ,พ.ต.อ.ยงศักดิ์ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต  ผกก.ตชด.43,พ.ต.ท.ธีรศักดิ์  ศรีราชยา ผบ.ร้อย ตชด.436, ร.ต.อ.พรเทพ หมื่นแกล้ว รองผบ.ร้อย ตชด.436,ร.ต.อ.ปริวรรต หมาดรา หน.ชปข. ร้อย ตชด.436  นำกำลังเจ้าหน้าที่ ตชด.436 ,ชฝต.4301 พร้อมเจ้าหน้าที่ตำรวจน้ำสตูล,ตำรวจ ตม.สตูล,ทหาร,ได้ออกลาดตระเวนทางน้ำริมชายฝั่งตั้งแต่ท่าเทียบเรือตํามะลังถึงหลักเขตแดนที่ 1 คลองกุ้งเมื่อเวลาประมาณ 10.00 น.ระหว่างเรือออกลาดตระเวนตรวจพบเรือที่จอดอยู่บริเวณใกล้ป่าโกงกาง บ้านหัวแหลมหมู่ที่ 3 ตำบลปูยู อำเภอเมือง จังหวัดสตูล

จากนั้นเจ้าหน้าที่จึงทำการตรวจสอบเรือที่ผูกอยู่กับต้นไม้ปรากฏว่าไม่มีผู้ควบคุมเรือจากนั้นจึงได้ตรวจสอบภายในเรือพบกระสอบสีขาวจำนวน 4 กระสอบห่อหุ้มด้วยถุงพลาสติกสีดำอีกชั้นหนึ่งห่อด้วยผ้ายางสีส้มภายในลำเรือดังกล่าวจากนั้นเจ้าหน้าที่จึงทำการเปิดกระสอบปุ๋ยต้องสงสัยออกดูปรากฏว่าบรรจุวัสดุเป็นแท่งห่อหุ้มด้วยกระดาษฝอยสีทองห่อหุ้มด้วยพลาสติกใสอีกชั้นหนึ่ง เจ้าหน้าที่จึงตรวจสอบภายในพบว่าเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 5 (กัญชา ) จำนวน 71 แท่ง/กิโลกรัม ที่เกิดเหตุไม่พบผู้ใดแสดงตนเป็นเจ้าของ คาดว่าจะไหวตัวและหลบหนีไปได้ มูลค่าของกลาง  852,000 บาท

 

"ตำรวจ PCT” แถลงผลการระดมกวาดล้างอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ช่วงเทศกาลปีใหม่ 2565 จับกุม ผู้ต้องหากว่า 3,000 ราย มูลค่าความเสียหายกว่า 300 ล้านบาท!!

วันนี้ (6 ม.ค. 65) เวลา 10.30 น. ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ รอง ผบ.ตร.​ ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศปอส.ตร.) หรือ PCT, พล.ต.ท.ปรีชา เจริญสหายานนท์ ผู้ช่วย ผบ.ตร., พล.ต.ท.สุคุณ พรหมายน ผบช.ทท.,พล.ต.ต.ไตรรงค์ ผิวพรรณ รอง ผบช.น.,พล.ต.ต.สันติ ชัยนิรามัย รอง ผบช.ก. และ พล.ต.ต.พันธนะ นุชนารถ ผบก.สส.สตม. ร่วมแถลงผลการระดมกวาดล้างอาชญากรรมทางเทคโนโลยีทั่วประเทศ ช่วงเทศกาลปีใหม่ 2565

พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ ฯ เปิดเผยว่า พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. ได้สั่งการให้ทุกหน่วยเร่งระดมกวาดล้างอาชญากรรมทั่วไปและอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ในช่วงเทศกาลปีใหม่ ตั้งแต่ 25 ธ.ค.64  - 3 ม.ค.65 เพราะเป็นช่วงที่พี่น้องประชาชนเดินทางกลับบ้าน และมีการสังสรรค์ เกรงจะมีเหตุรุนแรงเกิดขึ้น ซึ่งจากผลการระดมกวาดล้าง สามารถจับกุมการกระทำความผิดอาชญากรรมทางเทคโนโลยีได้ทั้งสิ้น จำนวน 3,634 ราย โดยแบ่งเป็น 5 ประเภท ได้แก่ การหลอกลวงทางออนไลน์ 238 คดี, การหลอกลวงจำหน่ายสินค้าออนไลน์และสินค้าผิดกฎหมาย 335 คดี, การเผยแพร่ข่าวปลอมและคดีความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ 878 คดี, การล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กหรือสตรีทางอินเทอร์เน็ตและค้ามนุษย์ 194 คดี และ การพนันออนไลน์ อาชญากรรมข้ามชาติ และอื่น ๆ อีก 1,989 คดี รวม มูลค่าความเสียหายรวมกว่า 356 ล้านบาท โดยพบเป็นเงินทุนหมุนเวียนที่เกี่ยวกับการพนันออนไลน์ถึง 335 ล้านบาท

พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ ฯ กล่าวอีกว่า ได้สั่งการให้ พล.ต.ต.พันธนะ นุชนารถ ผบก.สส.สตม. หัวหน้าชุดปฏิบัติการที่ 1 พร้อมกำลัง สืบสวนปราบปรามอาชญากรรมออนไลน์  รวมถึงการลักลอบจำหน่ายสิ่งของผิดกฎหมายต่างๆ ผ่านช่องทางออนไลน์ เช่น ยาเสพติด อาวุธปืน ซึ่งจากการสืบสวนพบว่าร้านค้าออนไลน์หลายรายได้จำหน่ายสิ่งเทียมอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน ส่วนประกอบอาวุธปืน ออกไปแล้วจำนวนมาก

หลังจากได้เป้าหมายแล้ว ได้ประสานไปยังตำรวจภูธร ภาค 1-9 ตำรวจนครบาล ตรวจคนเข้าเมือง และตำรวจท่องเที่ยว ร่วมปิดล้อมตรวจค้นเป้าหมาย โดยเน้นไปยังกลุ่มที่สั่งซื้อสิ่งเทียมอาวุธปืน(บีบีกัน) ส่วนประกอบอาวุธปืน เช่น ลำกล้อง ชุดอุปกรณ์ลั่นไก เพื่อนำไปดัดแปลงให้สามารถยิงกระสุนจริงออกมาได้ และกลุ่มที่สั่งซื้อเครื่องกระสุนปืนเพื่อนำไปใช้กับอาวุธปืนผิดกฎหมายได้ใช้การประกาศโฆษณาขายสินค้าโดยทำการอำพรางชื่อเพื่อป้องกันการถูกตรวจสอบ

โดยในวันที่ 3 ม.ค.65 ได้ทำการปิดล้อมตรวจค้น จำนวน 60 เป้าหมาย สามารถจับกุมผู้ต้องหาได้ จำนวน 31 ราย พร้อมของกลาง 5 รายการ ดังนี้

1. อาวุธปืนสงคราม จำนวน 1 กระบอก

2. อาวุธปืน จำนวน 49 กระบอก

3. เครื่องกระสุนปืน จำนวน 1,566 นัด

4. ยาบ้า จำนวน 203 เม็ด

5. ยาไอซ์ จำนวน 2.85 กรัม

6. กัญชาอัดแท่ง จำนวน 15 กรัม

ซึ่งการปิดล้อมตรวจค้นในครั้งนี้ สืบเนื่องมาจากเมื่อวันที่ 19 พ.ย.64 ชุดปฏิบัติเดียวกันนี้ ได้เข้าปิดล้อมตรวจค้นไปแล้ว จำนวน 40 เป้าหมาย สามารถจับกุมผู้ต้องหาได้ 24 ราย พร้อมของกลาง 6 รายการ คือ

1. อาวุธปืน จำนวน 23 กระบอก

2. เครื่องกระสุนปืน จำนวน 1,005 นัด

3. วัตถุระเบิดปิงปอง จำนวน 1 ลูก

4. ยาบ้า จำนวน 9,902 เม็ด

5. ยาไอซ์ จำนวน 0.94 กรัม

6. กัญชาอัดแท่ง จำนวน 6.34 กรัม

ภาพรวมขณะนี้ได้ทำการตรวจค้นเป้าหมายลักลอบขายอาวุธปืนทางออนไลน์ไปแล้ว 100 เป้าหมาย จับกุมผู้ต้องหาทั้งสิ้น 55 ราย ตรวจยึดของกลางเป็น อาวุธปืนสงคราม 1 กระบอก , อาวุธปืน 72 กระบอก ,วัตถุระเบิดปิงปอง  จำนวน 1 ลูก , เครื่องกระสุนปืน จำนวน 2,571 นัด และยาบ้าอีกจำนวน 10,105 เม็ด ยาไอซ์ 3.79 กรัม, กัญชาอัดแท่ง จำนวน 21.34 กรัม โดยหลังจากนี้ จะได้ขยายผลไปยังร้านค้าที่ลักลอบขายปืนบนแพลตฟอร์มออนไลน์ต่อไป

สตูล - เจ้าหน้าที่ยังเดินหน้าค้นหาร่างเด็กชาย 9 ขวบ พลัดตกน้ำในคลองลำโลน สูญหาย 4 วันยังไม่พบ!!

วันนี้ 6 มกราคม 2565 เมื่อวันที่ 5 มกราคม 2565 ที่ผ่านมา นายวรศิษฎ์ เลียงประสิทธิ์ สส.จังหวัดสตูล เขต 2 พร้อมด้วยหน่วยรักษาความปลอดภัยทางทะเลกองทัพเรือเกาะหลีเป๊ะ/สถานีเรือละงู จัดกำลังพลพร้อมเรือยาง ร่วมกับ ชุดปฏิบัติการพิเศษ นก.กมต.ศรชล.ภาค 3 และมูลนิธิกู้ภัยร่มไทรจังหวัดสตูล ร่วมกันทำการค้นหาร่างของ ด.ช.พงศพัศ ขำกิ้ม อายุ 9 ปี ที่ประสบเหตุพลัดลื่นตกน้ำสูญหาย เป็นวันที่ 3 โดยดำเนินการดำน้ำค้นหาบริเวณจุดที่คาดว่าผู้สูญหายอาจจะติดอยู่กับโขดหินหรือรากไม้ที่อยู่ใต้น้ำ และลาดตระเวนทางเรือค้นหาผิวน้ำ บ้านวังใน ต.น้ำผุด อ.ละงู จังหวัดสตูล ระยะทางกว่า 10 กิโลเมตร

ทั้งนี้ เนื่องจากกระแสน้ำที่ไหลเชี่ยวแรง และมีความขุ่น มองเห็นได้เพียงระยะใกล้ ประกอบกับใต้น้ำมีรากไม่และโขดหินจำนวนมาก ทำให้เป็นอุปสรรคต่อทีมงานในการค้นหาอย่างมาก อย่างไรก็ตามทีมค้นหาได้ดำเนินการค้นหาจนถึงเวลาประมาณ 17.30 น. ยังไม่พบผู้สูญหาย จึงได้ยุติการค้นหา และจะดำเนินการค้นหาต่อไปในวันนี้

 

ติวเข้ม!! ชุดปฏิบัติการต้าน IUU ลุยทันที แยกน้ำดี - น้ำเสีย ไร้ Double Standard ไม่เว้นเจ้าหน้าที่รัฐ

หลังจากสหภาพยุโรปประกาศปลดใบเหลือง IUU ให้กับประเทศไทย รัฐบาลได้ดำเนินนโยบาย

ในการยกระดับให้ประเทศไทยเป็นผู้นำต่อต้านการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (Illegal Unreported and Unregulated Fishing : IUU) ในภูมิภาคอาเซียน รวมถึงเป็นประเทศปลอดการประมง IUU ทั้งระบบ(IUU-Free) ซึ่งสอดคล้องกับการแก้ไขปัญหาการใช้แรงงานบังคับ รวมถึงการค้ามนุษย์ในภาคประมง ตามที่ทราบกันโดยทั่วไปแล้ว นั้น

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายการประมงแห่งชาติ ได้มอบหมายให้ พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็นประธานคณะทำงานเพิ่มประสิทธิภาพในการตรวจสอบ ควบคุม เฝ้าระวังการทำประมงไม่ชอบด้วยกฎหมายเพื่อขับเคลื่อนนโยบายข้างต้นให้บรรลุเป้าหมาย โดยบูรณาการการทำงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วยศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (ศรชล.) กรมประมง กรมเจ้าท่า กรมศุลกากร และกระทรวงแรงงาน

ในการนี้ พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. จึงได้สั่งการให้ พล.ต.อ.รอย อิงคไพโรจน์ รองผู้บัญชาการ              ตำรวจแห่งชาติ/ผู้อำนวยการ ศพดส.ตร. และ พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ/รองผู้อำนวยการ ศพดส.ตร./รองประธานอนุกรรมการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ให้ดำเนินการตรวจสอบและปราบปรามกรณีดังกล่าว รวมทั้งจัดให้มีการฝึกอบรมความรู้ทางด้านกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการประมง เพื่อให้เจ้าหน้าที่ตำรวจที่ต้องปฏิบัติหน้าที่ในการบังคับใช้กฎหมายในการแก้ไขปัญหาการประมง สามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

ในวันที่ 7 มกราคม 2565 นี้ จึงได้ร่วมกับนายเฉลิมชัย สุวรรณรักษ์ อธิบดีกรมประมง จัดให้มีการประชุมเพื่อชี้แจงกฎหมายเกี่ยวกับการประมง และการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม(IUU) เพื่อให้เจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการด้านการประมงฯ และเจ้าหน้าที่สืบสวน ศพดส.ตร. ได้มีความรู้ความเข้าใจถึงตัวบทกฎหมายที่เกี่ยวข้อง รวมถึงความเป็นมาของปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม(IUU) ซึ่งเป็นปัญหาที่มีความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องแก้ไขปัญหา เพื่อยกระดับการต่อต้านการค้ามนุษย์ของประเทศไทย

การทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (IUU) เป็นปัญหาระดับโลกซึ่งรัฐบาลได้แก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างจริงจัง โดยออกพระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ถูกออกแบบให้สอดคล้องกับพันธกรณีระหว่างประเทศ ประเทศไทยในฐานะส่วนหนึ่งของประชาคมโลกจึงมีความรับผิดชอบ 4 ด้าน ประกอบด้วย

1) ความรับผิดชอบในฐานะรัฐเจ้าของธงเรือ (Flag State)

2) ความรับผิดชอบในฐานะรัฐเจ้าของท่าเทียบเรือ (Port State)

3) ความรับผิดชอบในฐานะรัฐชายฝั่ง (Coastal State)

4) ความรับผิดชอบในฐานะรัฐเจ้าของตลาด (Market State)

ดังนั้นจึงจำเป็นที่จะต้องจัดการประชุมเพิ่มความเชี่ยวชาญให้กับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติในด้านต่าง ๆ เช่น ที่มาและเนื้อหาของกฎหมาย กระบวนการทำงานควบคุมตรวจสอบเรือประมง ขนถ่ายสัตว์น้ำ และการนำเข้าส่งออกสินค้าประมงตลอดจนกระบวนการดำเนินคดีต่าง ๆ

พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า “การทำงานครั้งนี้เป็นการยกระดับประสิทธิภาพการทำงานด้านการตรวจติดตาม ควบคุม เฝ้าระวัง เพื่อให้ประเทศไทยเป็นผู้นำการต่อต้านประมง IUU ในภูมิภาคและปลอดการทำประมง IUU ทั้งระบบ นอกจากนั้นยังมีความเชื่อมโยงกับการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ที่มีความสลับซับซ้อน มีเครือข่ายข้ามชาติ เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติจึงต้องมีความรอบรู้ในกฎหมายต่าง ๆ อย่างสัมพันธ์กัน เพราะการกระทำความผิดในปัจจุบันไม่อาจบังคับใช้ได้โดยกฎหมายใดกฎหมายหนึ่ง และเพื่อให้เห็นผลการทำงานเป็นรูปธรรมในระยะเวลาอันรวดเร็ว จึงได้แบ่งการทำงานเป็น 4 ชุดปฏิบัติการ ประกอบด้วย

1) ชุดปฏิบัติการด้านการตรวจสอบเพิ่มประสิทธิภาพด่านตรวจประมง มี รศ.ธนพร ศรียากูล กรรมการนโยบายการประมงแห่งชาติ เป็นหัวหน้าชุดปฏิบัติการ และมีพล.ต.ต.ไพโรจน์ กุจิรพันธ์ ผบก.อธ. เป็นรองหัวหน้าชุด ทำหน้าที่ตรวจสอบการกระทำความผิดตามกฎหมาย และเสนอแนะแนวทางปฏิบัติต่อหน่วยงานต่าง ๆ ในการตรวจติดตาม ควบคุมเฝ้าระวัง ของด่านตรวจประมงทุกแห่ง

2) ชุดปฏิบัติการด้านการตรวจสอบและเพิ่มประสิทธิภาพศูนย์แจ้งเข้าออกเรือประมง (PIPO) มี พล.ต.ต.พนัญชัย ชื่นใจธรรม รอง ผบช.ภาค ๑ เป็นหัวหน้าชุด ทำหน้าที่ตรวจสอบการกระทำความผิดตามกฎหมาย และเสนอแนะแนวทางปฏิบัติต่อหน่วยงานต่าง ๆ ในการตรวจติดตาม ควบคุม เฝ้าระวัง ของศูนย์แจ้งเข้าออกเรือประมง (PIPO) ทุกแห่ง

3) ชุดปฏิบัติการด้านการตรวจสอบและเพิ่มประสิทธิภาพการตรวจกลางทะเล มี ผู้แทนศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (ศรชล.) เป็นหัวหน้าชุด และ พ.ต.อ.ชณพล วันขวัญ รอง ผบก.รน. เป็นรองหัวหน้าชุด ทำหน้าที่ตรวจสอบการกระทำความผิดตามกฎหมายในพื้นที่ทะเลทั้งเขตชายฝั่งและนอกเขตชายฝั่ง

4) ชุดปฏิบัติการเคลื่อนที่เร็ว มี พล.ต.ต.อาชยน ไกรทอง รอง ผบช.สตม. เป็นหัวหน้าชุด และ พล.ต.ต.สุทธิพงษ์เพชรรัตน์ ผบก.บ.ตร. เป็นรองหัวหน้าชุด ทำหน้าที่ตรวจสอบการกระทำความผิดตามกฎหมายกรณีเร่งด่วน และสนับสนุนการปฏิบัติงานให้กับชุดปฏิบัติการที่ 1 - 3

ตำรวจ PCT ทลายเครือข่ายพนันออนไลน์ “ไพลิน” พบเงินหมุนเวียนกว่า 300 ล้านบาท!!

ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ รอง ผบ.ตร.​ ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศปอส.ตร.) หรือ PCT, พล.ต.ท.ปรีชา เจริญสหายานนท์ ผู้ช่วย ผบ.ตร./รอง ผอ.ฯ , พล.ต.ท.สุคุณ พรหมายน ผบช.ทท. และ พล.ต.ต.สันติ ชัยนิรามัย รอง ผบช.ก. ร่วมกันแถลงผลการจับกุมการพนันออนไลน์เครือข่าย “ไพลิน” การพนันกำถั่วออนไลน์ มูลค่าความเสียหายกว่า 300 ล้านบาท

พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ ฯ เปิดเผยว่า พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. ได้สั่งการให้ทุกหน่วยเร่งระดมกวาดล้างอาชญากรรมทั่วไปและอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ในช่วงเทศกาลปีใหม่ ตั้งแต่ 25 ธ.ค.64  - 3 ม.ค.65 เพราะเป็นช่วงที่พี่น้องประชาชนเดินทางกลับบ้าน และมีการสังสรรค์ เกรงจะมีเหตุรุนแรงเกิดขึ้น ซึ่งจากผลการระดมกวาดล้าง สามารถจับกุมการกระทำความผิดอาชญากรรมทางเทคโนโลยีได้ทั้งสิ้น จำนวน 3,634 ราย

รอง ผบ.ตร. กล่าวว่า ได้มอบให้ พล.ต.ต.สันติฯ รอง ผบช.ก. หัวหน้าชุดปฏิบัติการที่ 2 ทำการสืบสวนจนทราบว่า  เครือข่าย”ไพลิน” ได้ลักลอบเปิด ให้มีการเล่นการพนันออนไลน์ ชักชวนให้ประชาชนทั่วไปรวมทั้งเด็กและเยาวชนเข้าเล่นพนันอย่างเปิดเผย ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ชนิดต่างๆ เจ้าหน้าที่ตำรวจ PCT จึงได้ขอหมายค้นจากศาลเข้าทําการตรวจค้นสถานที่ซึ่ง เกี่ยวข้องกับการกระทําความผิดจํานวน 1 จุด ณ บ้านไม่มีเลขที่ หมู่ 1 ถนนพุทธมณฑลสาย 2 แขวงบางแคเหนือ เขตบางแค กรุงเทพมหานคร และได้จับกุมผู้ต้องหา จํานวน 8 คน ดังต่อไปนี้
1. นายพัชรพงษ์ สงวนนามสกุล

2. นางสาววีนา สงวนนามสกุล

3. นางสาวภัสสราณัฐ สงวนนามสกุล

4. นางสาววิไลพร สงวนนามสกุล

5. นางสาวสุภัคกรณ์ สงวนนามสกุล

6. นางสาวสุชาวรรณ สงวนนามสกุล

7. นางสาวสุรภา สงวนนามสกุล

8. นางสาวรัญชนา สงวนนามสกุล

ตามหมายจับศาลแขวงธนบุรีที่ จ.331-338/2564 ลงวันที่ 29 ธ.ค. 64 ในข้อหา “ร่วมกันจัดให้มีการเล่น หรือทําอุบายล่อช่วยประกาศโฆษณาหรือชักชวนโดยทางตรงหรือทางอ้อมให้ผู้อื่นเข้าเล่นหรือเข้าพนันในการเลน่ซึ่ง มิได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงาน”

จากการรวบรวมพยานหลักฐานพบว่าเครือข่ายการพนันนี้ได้มีการจัดให้เล่นพนันผ่านแอปพลิเคชั่น ไลน์ ( LINE ) โดยกลุ่มผู้ต้องหาได้ร่วมกันจัดให้มีการเล่นพนันออนไลน์ประเภท “กําถั่ว” โดย Line Official ชื่อ ไพลิน ( @pailin100 ) มีสมาชิกกว่า 3,000 คน โดยลักลอบเปิดให้มีการเล่นการพนันออนไลน์มาตั้งแต่เมื่อประมาณเดือน พ.ค.64 โดยมียอดเงินหมุนเวียนกว่าเดือนละ 300 ล้านบาท ในการปฏิบัติการครั้งนี้ ได้ตรวจยึดทรัพย์สินที่ได้มาจาก การกระทําความผิดจากการจัดให้มีการเล่นพนันดังกล่าวและอายัดบัญชีธนาคารที่เกี่ยวข้อง ดังต่อไปนี้
1.จอคอมพิวเตอร์ จํานวน 5 จอ

2. ซีพียูคอมพิวเตอร์ จํานวน 5 เครื่อง

3. โทรศัพท์มือถือและแทปเล็ต จํานวน 9 เครื่อง

4.กล้องถ่ายและอุปกรณไ์ลฟ์สดขณะนําเล่น(WEBCAM)จํานวน 2 ตัว

5. กล้องไอพี จํานวน 1 ตัว

6. อินเตอร์เน็ตเราท์เตอร์ จํานวน 2 เครื่อง

7.อุปกรณ์และเครื่องประกอบในการเล่นการพนันประเภท“กําถั่ว”จํานวน 154 รายการ

8. เอกสารบัญชีรายรับ - รายจ่ายในการเล่น จํานวน 57 ชุด

9. บัญชีธนาคารกสิกรไทย จํานวน 8 บัญชี

ตร. เตือน!! สมัครงานออนไลน์ ระวังถูกหลอกเอาบัญชีไปโกงผู้อื่น เสี่ยงถูกดำเนินคดี

วันที่ 10 ม.ค. 2565 พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ ดีพอ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า ตามที่ พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. ได้มีนโยบายให้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ แจ้งเตือนและประชาสัมพันธ์ให้พี่น้องประชาชนรู้เท่าทันถึงอาชญากรรมทางเทคโนโลยี และได้กำชับให้เจ้าหน้าที่ตำรวจทำการสืบสวนจับกุมผู้กระทำผิดมาดำเนินคดีตามกฎหมายอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอดนั้น

ปัจจุบัน พบว่ามีพี่น้องประชาชนจำนวนมากตกเป็นเหยื่อของอาชญากร อย่างไม่รู้ตัวในรูปแบบของการสมัครงานทางออนไลน์ โดยขอให้นำบัญชีธนาคารของตนเองมาใช้ในการทำงาน สำหรับพฤติการณ์ของคนร้ายเริ่มต้นจาก การประกาศรับสมัครงานผ่านช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่าง ๆ อ้างว่าเป็นงานที่รายได้สูง สามารถทำงานจากที่บ้านได้ แค่เพียงมีคอมพิวเตอร์เท่านั้น ซึ่งหากสนใจสมัคร คนร้ายก็จะอธิบายรูปแบบของการทำงาน

โดยงานดังกล่าวจะเป็นการรับโอนเงิน อ้างว่าเป็นตำแหน่งบัญชี รับเงินจากผู้ซื้อสินค้าออนไลน์ เมื่อมีเงินเข้าบัญชี จะให้โอนเงินต่อไปยังบัญชีที่คนร้ายกำหนด และจะได้รับส่วนแบ่งเป็นเงินตามจำนวนครั้งที่ทำรายการ ซึ่งเงินที่เข้ามาในบัญชีจริง ๆ แล้วเป็นเงินที่ได้จากการหลอกลวงผู้อื่นหรือได้มาจากการกระทำความผิด ส่งผลให้เจ้าของบัญชีถูกแจ้งความดำเนินคดี เนื่องจากเป็นเจ้าของบัญชีธนาคารที่ถูกใช้ในการกระทำความผิด

พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ ได้กล่าวต่อไปอีกว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีความห่วงใยพี่น้องประชาชนเป็นอย่างมาก จึงอยากจะประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนให้พี่น้องประชาชนโปรดใช้ความระมัดระวังในการสมัครงานผ่านทางสื่อสังคมออนไลน์โดยใช้บัญชีธนาคารของท่านในการรับโอนเงินจากผู้อื่น เพราะท่านอาจ ตกเป็นเครื่องมือของคนร้ายในการหลอกลวงผู้อื่น หรือคนร้ายอาจนำบัญชีธนาคารของท่านไปใช้ในการกระทำความผิดอื่น เช่น ความผิดเกี่ยวกับการฉ้อโกง การพนัน ยาเสพติด หรือการกระทำผิดกฎหมายอื่น ๆ เจ้าของบัญชีธนาคารอาจถูกดำเนินคดีอาญาได้ในกรณีดังต่อไปนี้

1.ในฐานะตัวการร่วมในการกระทำความผิด ต้องระวางโทษตามที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83

2.ผู้สนับสนุนในการกระทำความผิด ต้องระวางโทษสองในสามส่วน ของโทษที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86

 

ตำรวจ PCT ทลายเครือข่ายแชร์ลูกโซ่ “บ้าน M” เงินหมุนเวียนกว่า 10 ล้านบาท!!

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ รอง ผบ.ตร.​ ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศปอส.ตร.) หรือ PCT, พล.ต.ท.ปรีชา เจริญสหายานนท์ ผู้ช่วย ผบ.ตร./รอง ผอ.ฯ , พล.ต.ท.สุคุณ พรหมายน ผบช.ทท. และ พล.ต.ต.ไตรรงค์ ผิวพรรณ รอง ผบช.น. ร่วมแถลงผลการจับกุมเครือข่ายแชร์ลูกโซ่ “บ้าน M ” และ เครือข่ายค้าอาวุธปืนผิดกฎหมาย

 พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ ฯ เปิดเผยว่า พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. ได้สั่งการให้ทุกหน่วยเร่งระดมกวาดล้างอาชญากรรมทั่วไปและอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ในช่วงเทศกาลปีใหม่ ตั้งแต่ 25 ธ.ค.64  - 3 ม.ค.65 เพราะเป็นช่วงที่พี่น้องประชาชนเดินทางกลับบ้าน และมีการสังสรรค์ เกรงจะมีเหตุรุนแรงเกิดขึ้น ซึ่งจากผลการระดมกวาดล้าง สามารถจับกุมการกระทำความผิดอาชญากรรมทางเทคโนโลยีได้ทั้งสิ้น จำนวน 3,634 ราย

 รอง ผบ.ตร. กล่าวว่าได้สั่งการให้ พล.ต.ต.ไตรรงค์ฯ รอง ผบช.น. หัวหน้าชุดปฏิบัติการที่ 4 สืบสวนจนทราบว่า เมื่อวันที่ 28 ธ.ค.64 เวลาประมาณ 18.00 น. กลุ่มผู้เสียหายได้เข้ามาแจ้งความร้องทุกข์ต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ ให้ดำเนินคดีกับ น.ส.วัชรา สงวนนามสกุล  ผู้ต้องหาซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ที่จังหวัดร้อยเอ็ด โดยมีพฤติการณ์ชักชวนให้ประชาชนทั่วไปเข้ามาระดมทุนเล่นแชร์ โดยการเปิด Facebook และกลุ่มไลน์ชื่อ “CM Gold” และ “บ้านแชร์ M” แล้วหลอกให้ประชาชนที่หลงเชื่อเข้ามาเล่นแชร์โดยปกปิดวิธีการเล่น อ้างว่ามีการเปียแชร์รวมถึงการจะจ่ายผลตอบแทนสูงกว่าอัตราที่ดอกเบี้ยที่สถาบันการเงินพึงจ่ายได้ หากแต่กลับนำเงินดังกล่าวมาหมุนจ่ายให้กับสมาชิกรายอื่น และไม่ได้มีการเปียแชร์หรือจ่ายดอกเบี้ยจริง ทำให้มีประชาชนเสียหายหลงเชื่อเข้าจ่ายดอกด้วยหวังว่าจะได้เปียแชร์ในรอบต่อไป แต่ต่อมาเมื่อถึงกำหนดจากเงินสมาชิกได้ปิดกลุ่มแล้วหลบหนีไป ทั้งนี้ กรณีดังกล่าวผู้เสียหายได้เข้าร้องทุกข์ต่อหน่วยงานต่างๆ ทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจ และเจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) โดยเบื้องต้นพบว่ามีเหยื่อคนหลงเชื่อสมัครเล่นแชร์ดังกล่าวกว่า 300 ราย ต่อมาเจ้าหน้าที่ตำรวจได้รวบรวมพยานหลักฐานขออนุมัติหมายจับต่อศาลอาญากรุงเทพใต้ ในความผิดฐาน “ฉ้อโกงประชาชน และกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน” ซึ่งสามารถจับกุม นางสาววัชราฯ ผู้ต้องหา ได้ที่บ้านเอื้ออาทร ต.สวนหลวง อ.กระทุ่มแบน สมุทรสาคร ทั้งนี้ได้มีผู้เสียหายกว่า 50 รายมายืนยันตัวผู้กระทำความผิดและเรียกร้องค่าเสียหายมูลค่ากว่า 10,000,000 บาท

นอกจากนี้ ยังสามารถจับกุมคดีค้าอาวุธปืนออนไลน์ โดยเมื่อวันที่ 2 ม.ค.65 เวลาประมาณ 15.30 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจ PCT ชุดเดียวกันร่วมกับ เจ้าหน้าที่ตำรวจนครบาล สืบสวนทราบว่า นายกฤษดา สงวนนามสกุล มีพฤติการณ์ลักลอบจำหน่ายอาวุธปืนออนไลน์ ผ่านแอปพลิเคชันไลน์ชื่อ “QB Thailand” และ “เศษเหล็กกิโลละแสน” เพื่อชักชวนให้ผู้สนใจเข้าซื้อขายอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืน และจัดส่งสินค้าอาวุธปืนผิดกฎหมายผ่านทางบริษัทขนส่งเอกชน เจ้าหน้าที่ตำรวจ PCT และ นครบาล ได้รวบรวมพยานหลักฐานเข้าทำการตรวจค้นบ้านเลขที่ 42/50 ซ.หมู่บ้านจามจุรี ต.ราชาเทวะ อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ ผลการตรวจค้นพบอาวุธปืนจริงและอาวุธปืนไทยประดิษฐ์ จำนวน 6 กระบอก เครื่องกระสุนปืนจำนวนมาก ตลอดจนอุปกรณ์ในการผลิตปืนกว่า 17 รายการ ภายหลังการจับกุม พบว่าผู้ต้องหารายนี้เป็นบุคคลเดียวกันกับคนร้ายที่เมื่อปี 63 ขณะมีภูมิลำเนาอยู่ที่หนองบัวลำภู ได้ก่อเหตุขับรถยนต์หรูแหกด่านเคอร์ฟิวเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.เมืองหนองบัวลำภู ต่อมารถคันดังกล่าวได้เสียหลักชนแบริเออร์ข้างทางทำให้ไม่สามารถไปต่อได้ แต่คนร้ายได้ทิ้งรถหลบหนี ต่อมาตรวจสอบพบอาวุธปืนขนาด 9 มม.พร้อมเครื่องกระสุนในรถคันเกิดเหตุ ส่วนรถยนต์คันดังกล่าวเป็นรถยนต์สวมทะเบียนปลอม ทั้งนี้ ชุดจับกุมยังตรวจสอบพบอีกว่ามีหมายจับของศาลจังหวัดเลย ที่ 82/2563 ลง 27 เม.ย.63 ในความผิดฐาน “มีอาวุธปืนติดมือ และพกพาอาวุธปืนโดยไม่ได้รับอนุญาต” และหมายจับของศาลจังหวัดหนองบัวลำภู ที่ จ.115/64 ลง 16 ส.ค.64 ในความผิดฐานเดียวกัน

 

โฆษก ตร. เตือน!! "เมาแล้วขับ" คุก 10 ปี เพิกถอนใบขับขี่ เสี่ยง "อุบัติเหตุร้ายแรง"

11 ม.ค.65 พล.ต.ต.ยิ่งยศ เทพจำนงค์ โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เผยว่า จากกรณีที่มีการเผยแพร่ในสื่อสังคมออนไลน์ เหตุการณ์เริ่มต้นจากการที่มีพลเมืองดีแจ้งกับเจ้าหน้าที่ตำรวจว่าพบผู้หญิงรายหนึ่งขับรถไม่ไปตามทิศทางที่กำหนด (ย้อนศร) และมีอาการคล้ายคนเมาสุรา เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงเข้าไปตรวจสอบ เมื่อไปถึงพบรถยนต์คันดังกล่าว เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงเชิญตัวไปตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์ แต่เจ้าของรถไม่ยินยอม จึงได้นำตัวไปที่สถานีตำรวจเพื่อตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์ นั้น

พล.ต.ต.ยิ่งยศฯ โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า จากเหตุการณ์ดังกล่าว เมื่อเจ้าหน้าที่นำตัวเจ้าของรถไปตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์ แล้วพบว่ามีปริมาณเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด จึงได้จับกุมตัว และแจ้งข้อกล่าวหาดำเนินคดีตามกฎหมาย จึงขอแจ้งเตือนพี่น้องประชาชนว่า ห้ามขับขี่ขณะเมาสุราหรือของมึนเมาอย่างอื่น เนื่องจากจะทำให้ไม่มีสติในการขับรถ ซึ่งเป็นสาเหตุให้เกิดอุบัติเหตุร้ายแรง เกิดความเสียหายทั้งต่อตนเองและผู้อื่น จนทำให้เกิดความสูญเสีย ถึงขั้นมีผู้เสียชีวิตได้ ซึ่งการกระทำดังกล่าวอาจเป็นความผิดตามกฎหมาย

>> พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522

>> มาตรา 43 (2) ห้ามมิให้ผู้ขับขี่ขับรถ ในขณะเมาสุราหรือของเมาอย่างอื่น

>> มาตรา 160 ตรี ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 43 (2) ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับตั้งแต่ 5,000 บาทถึง 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับขี่ของผู้นั้นมีกำหนดไม่น้อยกว่า 6 เดือน หรือเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่

ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่งเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1 ปี ถึง 5 ปี และปรับตั้งแต่ 20,000 บาท ถึง 100,000 บาท และให้ศาลสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับขี่ของผู้นั้นมีกำหนดไม่น้อยกว่า 1 ปี หรือเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่

ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่งเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัส ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 2 ปี ถึง 6 ปี และปรับตั้งแต่ 40,000 บาทถึง 120,000 บาท และให้ศาลสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับขี่ของผู้นั้นมีกำหนดไม่น้อยกว่า 2 ปี หรือเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่

ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่งเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3 ปี ถึง 10 ปี และปรับตั้งแต่ 60,000 บาท ถึง 200,000 บาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่

>> พระราชบัญญัติจราจรทางบก (ฉบับที่ 10) พ.ศ.2557

>> มาตรา 4 ให้ยกเลิกความในมาตรา 142 แห่งพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติจราจรทางบก (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2542 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

>> มาตรา 142 เจ้าพนักงานจราจรหรือพนักงานเจ้าหน้าที่มีอํานาจสั่งให้ผู้ขับขี่หยุดรถในเมื่อ

(1) รถนั้นมีสภาพไม่ถูกต้องตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 6 

(2) เห็นว่าผู้ขับขี่หรือบุคคลใดในรถนั้นได้ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้หรือกฎหมายอันเกี่ยวกับรถนั้น ๆ

ในกรณีที่มีพฤติการณ์อันควรเชื่อว่าผู้ขับขี่ฝ่าฝืนมาตรา 43 (1) หรือ (2) ให้เจ้าพนักงานจราจรพนักงานสอบสวน หรือพนักงานเจ้าหน้าที่สั่งให้มีการทดสอบผู้ขับขี่ดังกล่าวว่าหย่อนความสามารถในอันที่จะขับหรือเมาสุราหรือของเมาอย่างอื่นหรือไม่

ในกรณีที่ผู้ขับขี่ตามวรรคสองไม่ยอมให้ทดสอบ ให้เจ้าพนักงานจราจร พนักงานสอบสวน หรือพนักงานเจ้าหน้าที่มีอํานาจกักตัวผู้นั้นไว้ดําเนินการทดสอบได้ภายในระยะเวลาเท่าที่จําเป็นแห่งกรณีเพื่อให้การทดสอบเสร็จสิ้นไปโดยเร็ว หากผู้นั้นยอมให้ทดสอบและผลการทดสอบปรากฏว่าไม่ได้ฝ่าฝืนมาตรา 43 (1) หรือ (2) ก็ให้ปล่อยตัวไปทันที

ในกรณีที่มีพฤติการณ์อันควรเชื่อว่าผู้ขับขี่ขับรถในขณะเมาสุราหรือของเมาอย่างอื่น หากผู้นั้นยังไม่ยอมให้ทดสอบตามวรรคสามโดยไม่มีเหตุอันสมควร ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้นั้นฝ่าฝืนมาตรา 43 (2) การทดสอบตามมาตรานี้ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กําหนดในกฎกระทรวง

โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ตำรวจได้มีการตั้งจุดตรวจ จุดสกัด เพื่อตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์ของผู้ใช้รถใช้ถนนอย่างเข้มงวด และมีการดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดอย่างเคร่งครัด ทั้งนี้เพื่อความปลอดภัยของพี่น้องประชาชนทุกคน ซึ่งในหลาย ๆ คดี ศาลได้มีคำพิพากษาจำคุก และเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่ 

 

“ดูหมิ่นเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่” มีโทษจำคุก! โปรดอย่าหาทำ! โฆษก ตร.ขอเตือน

12 ม.ค.65 พล.ต.ต.ยิ่งยศ เทพจำนงค์ โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เผยว่า ในห้วงเวลาที่ผ่านมา มีเหตุการณ์ที่เจ้าหน้าที่ตำรวจกำลังปฏิบัติหน้าที่ในการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรม ระงับเหตุ สืบสวน หรือจับกุมผู้กระทำผิด ซึ่งบ่อยครั้งที่ผู้กระทำความผิดบางรายไม่พอใจในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ได้มีการสบประมาท ดูถูก อันเป็นการดูหมิ่น เหยียดหยามเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ปฏิบัติตามหน้าที่ซึ่งทำให้มีพฤติกรรมเลียนแบบเกิดขึ้นหลายครั้ง นั้น

พล.ต.ต.ยิ่งยศฯ โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจปฏิบัติหน้าที่เพื่อป้องกันและปราบปรามอาชญากรรม เพื่อความปลอดภัย และอำนวยความสะดวกให้พี่น้องประชาชน ซึ่งอาจสร้างความไม่พอใจต่อผู้ที่กระทำผิดกฎหมาย จนถึงขั้นด่าทอหรือใช้ถ้อยคำหยาบคาย พูดจาดูหมิ่น เหยียดหยามเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ได้ปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าว ซึ่งในหลาย ๆ คดี ศาลได้มีคำพิพากษาลงโทษไปแล้ว จึงอยากเตือนไปยังผู้ที่กระทำดังกล่าว หรือผู้ที่อาจจะมีพฤติกรรมเลียนแบบว่า อาจมีความผิดตามกฎหมาย

ประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา 136 ผู้ใดดูหมิ่นเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ หรือเพราะได้กระทำการตามหน้าที่ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 2,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top