ติวเข้ม!! ชุดปฏิบัติการต้าน IUU ลุยทันที แยกน้ำดี - น้ำเสีย ไร้ Double Standard ไม่เว้นเจ้าหน้าที่รัฐ

หลังจากสหภาพยุโรปประกาศปลดใบเหลือง IUU ให้กับประเทศไทย รัฐบาลได้ดำเนินนโยบาย

ในการยกระดับให้ประเทศไทยเป็นผู้นำต่อต้านการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (Illegal Unreported and Unregulated Fishing : IUU) ในภูมิภาคอาเซียน รวมถึงเป็นประเทศปลอดการประมง IUU ทั้งระบบ(IUU-Free) ซึ่งสอดคล้องกับการแก้ไขปัญหาการใช้แรงงานบังคับ รวมถึงการค้ามนุษย์ในภาคประมง ตามที่ทราบกันโดยทั่วไปแล้ว นั้น

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายการประมงแห่งชาติ ได้มอบหมายให้ พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็นประธานคณะทำงานเพิ่มประสิทธิภาพในการตรวจสอบ ควบคุม เฝ้าระวังการทำประมงไม่ชอบด้วยกฎหมายเพื่อขับเคลื่อนนโยบายข้างต้นให้บรรลุเป้าหมาย โดยบูรณาการการทำงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วยศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (ศรชล.) กรมประมง กรมเจ้าท่า กรมศุลกากร และกระทรวงแรงงาน

ในการนี้ พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. จึงได้สั่งการให้ พล.ต.อ.รอย อิงคไพโรจน์ รองผู้บัญชาการ              ตำรวจแห่งชาติ/ผู้อำนวยการ ศพดส.ตร. และ พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ/รองผู้อำนวยการ ศพดส.ตร./รองประธานอนุกรรมการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ให้ดำเนินการตรวจสอบและปราบปรามกรณีดังกล่าว รวมทั้งจัดให้มีการฝึกอบรมความรู้ทางด้านกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการประมง เพื่อให้เจ้าหน้าที่ตำรวจที่ต้องปฏิบัติหน้าที่ในการบังคับใช้กฎหมายในการแก้ไขปัญหาการประมง สามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

ในวันที่ 7 มกราคม 2565 นี้ จึงได้ร่วมกับนายเฉลิมชัย สุวรรณรักษ์ อธิบดีกรมประมง จัดให้มีการประชุมเพื่อชี้แจงกฎหมายเกี่ยวกับการประมง และการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม(IUU) เพื่อให้เจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการด้านการประมงฯ และเจ้าหน้าที่สืบสวน ศพดส.ตร. ได้มีความรู้ความเข้าใจถึงตัวบทกฎหมายที่เกี่ยวข้อง รวมถึงความเป็นมาของปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม(IUU) ซึ่งเป็นปัญหาที่มีความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องแก้ไขปัญหา เพื่อยกระดับการต่อต้านการค้ามนุษย์ของประเทศไทย

การทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (IUU) เป็นปัญหาระดับโลกซึ่งรัฐบาลได้แก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างจริงจัง โดยออกพระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ถูกออกแบบให้สอดคล้องกับพันธกรณีระหว่างประเทศ ประเทศไทยในฐานะส่วนหนึ่งของประชาคมโลกจึงมีความรับผิดชอบ 4 ด้าน ประกอบด้วย

1) ความรับผิดชอบในฐานะรัฐเจ้าของธงเรือ (Flag State)

2) ความรับผิดชอบในฐานะรัฐเจ้าของท่าเทียบเรือ (Port State)

3) ความรับผิดชอบในฐานะรัฐชายฝั่ง (Coastal State)

4) ความรับผิดชอบในฐานะรัฐเจ้าของตลาด (Market State)

ดังนั้นจึงจำเป็นที่จะต้องจัดการประชุมเพิ่มความเชี่ยวชาญให้กับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติในด้านต่าง ๆ เช่น ที่มาและเนื้อหาของกฎหมาย กระบวนการทำงานควบคุมตรวจสอบเรือประมง ขนถ่ายสัตว์น้ำ และการนำเข้าส่งออกสินค้าประมงตลอดจนกระบวนการดำเนินคดีต่าง ๆ

พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า “การทำงานครั้งนี้เป็นการยกระดับประสิทธิภาพการทำงานด้านการตรวจติดตาม ควบคุม เฝ้าระวัง เพื่อให้ประเทศไทยเป็นผู้นำการต่อต้านประมง IUU ในภูมิภาคและปลอดการทำประมง IUU ทั้งระบบ นอกจากนั้นยังมีความเชื่อมโยงกับการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ที่มีความสลับซับซ้อน มีเครือข่ายข้ามชาติ เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติจึงต้องมีความรอบรู้ในกฎหมายต่าง ๆ อย่างสัมพันธ์กัน เพราะการกระทำความผิดในปัจจุบันไม่อาจบังคับใช้ได้โดยกฎหมายใดกฎหมายหนึ่ง และเพื่อให้เห็นผลการทำงานเป็นรูปธรรมในระยะเวลาอันรวดเร็ว จึงได้แบ่งการทำงานเป็น 4 ชุดปฏิบัติการ ประกอบด้วย

1) ชุดปฏิบัติการด้านการตรวจสอบเพิ่มประสิทธิภาพด่านตรวจประมง มี รศ.ธนพร ศรียากูล กรรมการนโยบายการประมงแห่งชาติ เป็นหัวหน้าชุดปฏิบัติการ และมีพล.ต.ต.ไพโรจน์ กุจิรพันธ์ ผบก.อธ. เป็นรองหัวหน้าชุด ทำหน้าที่ตรวจสอบการกระทำความผิดตามกฎหมาย และเสนอแนะแนวทางปฏิบัติต่อหน่วยงานต่าง ๆ ในการตรวจติดตาม ควบคุมเฝ้าระวัง ของด่านตรวจประมงทุกแห่ง

2) ชุดปฏิบัติการด้านการตรวจสอบและเพิ่มประสิทธิภาพศูนย์แจ้งเข้าออกเรือประมง (PIPO) มี พล.ต.ต.พนัญชัย ชื่นใจธรรม รอง ผบช.ภาค ๑ เป็นหัวหน้าชุด ทำหน้าที่ตรวจสอบการกระทำความผิดตามกฎหมาย และเสนอแนะแนวทางปฏิบัติต่อหน่วยงานต่าง ๆ ในการตรวจติดตาม ควบคุม เฝ้าระวัง ของศูนย์แจ้งเข้าออกเรือประมง (PIPO) ทุกแห่ง

3) ชุดปฏิบัติการด้านการตรวจสอบและเพิ่มประสิทธิภาพการตรวจกลางทะเล มี ผู้แทนศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (ศรชล.) เป็นหัวหน้าชุด และ พ.ต.อ.ชณพล วันขวัญ รอง ผบก.รน. เป็นรองหัวหน้าชุด ทำหน้าที่ตรวจสอบการกระทำความผิดตามกฎหมายในพื้นที่ทะเลทั้งเขตชายฝั่งและนอกเขตชายฝั่ง

4) ชุดปฏิบัติการเคลื่อนที่เร็ว มี พล.ต.ต.อาชยน ไกรทอง รอง ผบช.สตม. เป็นหัวหน้าชุด และ พล.ต.ต.สุทธิพงษ์เพชรรัตน์ ผบก.บ.ตร. เป็นรองหัวหน้าชุด ทำหน้าที่ตรวจสอบการกระทำความผิดตามกฎหมายกรณีเร่งด่วน และสนับสนุนการปฏิบัติงานให้กับชุดปฏิบัติการที่ 1 - 3

ผมได้ย้ำว่า “ให้ทุกชุดปฏิบัติการทำงานให้เต็มกำลังความสามารถ บนพื้นฐานของการอำนวยความยุติธรรม นั่นคือว่ากันตามพยานหลักฐาน ตรงไปตรงมา ไม่มี Double Standard ยึดกฎหมายอย่างเคร่งครัด และไม่มีละเว้นให้กับเจ้าหน้าที่ เพราะถ้าเราละเว้นให้กับเจ้าหน้าที่ พี่น้องชาวประมงก็จะมีความรู้สึกว่า ไม่ได้รับความเป็นธรรม 

ซึ่งเป็นสิ่งที่ผมไม่ต้องการเห็น และผมเชื่อมั่นเสมอว่า การทำหน้าที่อย่างตรงไปตรงมา ไม่เลือกปฏิบัติ จะทำให้เกิดความเชื่อมั่นและศรัทธาในการทำงานของชาวประมงที่มีต่อภาครัฐ ถ้าเราสามารถทำได้เช่นนี้ เราจะแยกน้ำเสียออกจากน้ำดีได้ ผู้กระทำผิดก็ต้องถูกบังคับใช้กฎหมาย ส่วนผู้ที่ปฏิบัติดีภาครัฐก็ต้องดูแลสนับสนุน อำนวยความสะดวกในการทำประมงให้เต็มที่เช่นเดียวกัน