Tuesday, 29 April 2025
CoolLife

4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2445 ร.5 ทรงเปิดโรงกษาปณ์สิทธิการ แห่งที่ 3 พร้อมเครื่องจักรผลิตเหรียญกษาปณ์ไฟฟ้าครั้งแรก

ความเจริญก้าวหน้าด้านการค้าของประเทศ ส่งผลให้ความต้องการใช้ เหรียญกษาปณ์เพิ่มสูงขึ้นในขณะที่เครื่องจักรแรงดันไอน้ำที่มีอยู่เริ่ม ชำรุดเนื่องจากใช้ติดต่อกันมาเป็นเวลานาน ถึง 25 ปี พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างโรงกษาปณ์สิทธิการแห่งใหม่ขึ้นในบริเวณอันเป็นที่ตั้งของวังเจ้านาย 6 พระองค์ ซึ่งเรียกสถานที่นี้ว่า ‘วังสะพานเสี้ยว’ ริมคลองหลอดด้าน ถนนเจ้าฟ้าทางทิศเหนือของท้องสนามหลวง โดยมีลักษณะเป็นอาคาร ก่ออิฐถือปูน สูง 2 ชั้น มีรูปแบบเป็นสถาปัตยกรรมตะวันตก เมื่อย้ายโรงกษาปณ์ไปอยู่สถานที่แห่งใหม่แล้ว กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานแห่งชาติคือ ‘หอศิลป์แห่งชาติถนนเจ้าฟ้า’ ในปัจจุบัน

พิธีเปิดโรงกษาปณ์แห่งที่ 3 อย่างเป็นทางการมีขึ้น เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2445 และได้รับการยกฐานะขึ้นเป็น ‘กรมกษาปณ์ สิทธิการ’ ติดตั้งเครื่องจักรผลิตเหรียญกษาปณ์เครื่องใหม่ ซึ่งทำงานด้วยกำลังไฟฟ้าสามารถผลิตเหรียญได้ประมาณวันละ 80,000 ถึง 100,000 เหรียญ โดยไม่ต้องทำการล่วงเวลา ส่วนเงินพดด้วงได้ โปรดเกล้าฯ ให้เลิกใช้ภายในวันที่ 31 กรกฎาคม 2451

เมื่อมีการประกาศใช้ พระราชบัญญัติมาตราทองคำ รัตนโกสินทร์ศก 127 (พ.ศ. 2451) ได้ทรงพระกรุณาโปรด เกล้าฯ ให้ผลิตเหรียญกษาปณ์ชนิดราคา 1 บาทตราพระบรมรูปตราไอราพต จากโรงกษาปณ์ปารีส จำนวน 1,036,691 เหรียญ แต่ไม่ทันได้ประกาศใช้ก็สิ้นรัชกาลเสียก่อน โดยตราไอราพตได้ใช้เป็นตราประจำแผ่นดินเรื่อยมาจนสิ้นรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ประเทศไทยได้รับผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจอันเนื่องมาจากสงครามโลกครั้งที่ 1 โลหะที่ใช้ในการ ผลิตเหรียญกษาปณ์มีราคาสูงขึ้น จึงต้องลดส่วนผสมของโลหะเงินลงและผลิตธนบัตร ราคา 1 บาทออกใช้แทน เหรียญกษาปณ์

5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2404 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้สร้าง ‘ถนนเจริญกรุง’

วันนี้ เมื่อ 162 ปีก่อน พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้าง ‘ถนนเจริญกรุง’ ถนนหลักสายแรกของประเทศไทย

ถนนเจริญกรุง ถูกดำริให้สร้างขึ้นเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2404 โดยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นด้วยเหตุที่มีชาวต่างชาติ ได้เข้ามาทำธุรกิจห้างร้าน รวมถึงที่ทำการกงสุลต่าง ๆ ก็ถูกก่อสร้างขึ้นในย่านนี้ ซึ่งกลุ่มคนเหล่านี้ได้ขอให้สร้างถนนสายสำหรับขี่ม้า หรือนั่งรถม้า พระองค์จึงทรงดำริให้มีการสร้างถนนที่มีมาตรฐานขึ้น แล้วเสร็จเมื่อราวปี พ.ศ. 2407

แรกเริ่มเดิมที ผู้คนเรียกถนนสายนี้ว่า ‘ถนนใหม่’ ส่วนฝรั่งเรียกว่า ‘นิวโรด’ (New Road) และชาวจีนเรียกว่า ซินพะโล้ว แปลว่า ถนนตัดใหม่ เช่นกัน ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามถนนว่า ‘ถนนเจริญกรุง’ ซึ่งมีความหมายถึง ความเจริญรุ่งเรืองของบ้านเมือง

6 กุมภาพันธ์ ของทุกปี ‘วันมวยไทย’ มรดกภูมิปัญญาจากบรรพชน เทิดพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าเสือ ‘พระบิดาแห่งมวยไทย’

วันที่ 6 กุมภาพันธ์ ของทุกปี ถือเป็น ‘วันมวยไทย’ เทิดพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าเสือ ‘พระบิดาแห่งมวยไทย’ พระมหากษัตริย์ไทยที่มีพระปรีชาสามารถด้านมวยไทย ส่งต่อภูมิปัญญามาจวบจนปัจจุบัน

‘มวยไทย’ เป็นศิลปะการต่อสู้และการป้องกันตัวของชนชาติไทย มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมล้ำค่า ที่กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม ได้ประกาศขึ้นทะเบียนมวยไทยเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ สาขากีฬาภูมิปัญญาไทย เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2553 เพื่อให้มรดกภูมิปัญญานี้ได้รับการยกย่อง ส่งเสริม และเชิดชูให้คนในชาติให้ความสำคัญต่อศิลปะการป้องกันตัวของชาติไทย ได้รับการสืบสาน รักษาพร้อมต่อยอด เป็น Soft Power พัฒนาเศรษฐกิจของประเทศให้ยั่งยืน 

7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2500 ในหลวง ร.9 เสด็จฯ ทรงเปิด ‘เขื่อนเจ้าพระยา’ เขื่อนทดน้ำขนาดใหญ่แห่งแรกของไทย

7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2500 ในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จทำพิธีเปิด ‘เขื่อนเจ้าพระยา’ เขื่อนทดน้ำขนาดใหญ่ที่ทำประโยชน์ให้พื้นที่เกษตรภาคกลาง

วันนี้เมื่อ 66 ปีมาแล้ว เป็นวันสำคัญเมื่อพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้เสด็จพระราชดำเนินไปในการทำพิธีเปิด ‘เขื่อนเจ้าพระยา’ ซึ่งเป็นเขื่อนทดน้ำแห่งแรกของประเทศไทย

กล่าวถึงเขื่อนเจ้าพระยา เริ่มสร้างเมื่อ พ.ศ. 2495 แล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2500 โดยเป็นเขื่อนทดน้ำ ที่ไม่ใช่สำหรับกักเก็บน้ำ สร้างขวางแม่น้ำเจ้าพระยา ทำหน้าที่ยกระดับน้ำให้สูงขึ้น +16.50 เมตร จากระดับน้ำทะเล เพื่อส่งน้ำเข้าไปยังลำคลอง ในพื้นที่การเกษตร ทั้งฝั่งซ้ายและขวาของแม่น้ำเจ้าพระยา

8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563 ‘จ่าคลั่ง’ ก่อเหตุกราดยิงที่โคราช หนึ่งในโศกนาฏกรรม ครั้งเลวร้ายที่สุดของไทย

ครบรอบ 3 ปี เหตุการณ์ จ่าคลั่ง ก่อเหตุกราดยิงผู้บริสุทธิ์ ส่งผลให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนมาก

เรียกว่ายังคงจำฝังใจคนไทย สำหรับเหตุการณ์ กราดยิงที่จังหวัดนครราชสีมา พ.ศ. 2563 เป็นเหตุกราดยิงในจังหวัดนครราชสีมา ประเทศไทย เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563 กรณีจ่าสิบเอก จักรพันธ์ ถมมา ใช้ปืนยิงผู้บังคับบัญชาและญาติถึงแก่ความตาย แล้วหลบหนีเข้ามาในตัวเมือง กราดยิงผู้คนตามรายทาง ก่อนเข้าไปซ่อนตัวหลบอยู่ในห้างสรรพสินค้าเทอร์มินอล 21 โคราช จับบุคคลในห้างเป็นตัวประกัน 

สำหรับเหตุการณ์ในวันนั้นเริ่มขึ้น เวลาประมาณ 15.30 น. 8 กุมภาพันธ์ 2563 จ่าสิบเอก จักรพันธ์ ใช้ปืนยิงผู้บังคับบัญชา คือ พันเอก อนันต์ฐโรจน์ กระแสร์ อายุ 48 ปี ผู้บังคับกองพันสรรพาวุธกระสุนที่ 22 กองบัญชาการช่วยรบที่ 2 และนางอนงค์ มิตรจันทร์ อายุ 65 ปี แม่ยายของพันเอก อนันต์ฐโรจน์ ถึงแก่ความตายที่บ้านพักในตำบลหนองจะบก อำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา ขณะที่นายหน้าวิ่งหนีไป จึงถูกไล่ยิงเข้าข้างหลังแต่ไม่เสียชีวิต

จากนั้น จ่าสิบเอก จักรพันธ์ ไปชิงอาวุธสงครามออกมาจากคลังอาวุธกองพันสรรพาวุธกระสุนที่ 22 กองบัญชาการช่วยรบที่ 2 ค่ายสุรธรรมพิทักษ์ ตำบลไชยมงคล โดยยิงทหารเวรกองรักษาการณ์ และทหารดูแลคลังอาวุธ มีพลทหารบาดเจ็บ 1 นาย เสียชีวิตอีก 1 นาย ต่อมา จ่าสิบเอก จักรพันธ์ ขับรถฮัมวีหลบหนีออกไปทางด้านหลังค่าย มุ่งไปทางวัดป่าศรัทธารวม ตำบลหัวทะเล เพราะทราบว่าภรรยาของผู้บังคับบัญชาออกไปทำบุญที่วัดป่าศรัทธารวม ได้กราดยิงผู้คนตามรายทางถึงแก่ความตายรวม 9 คน คนร้ายกราดยิงกระสุนนับร้อยนัด โดยยิงคนในรถเสียชีวิตและบาดเจ็บ ยังยิงเด็กนักเรียนที่ขับขี่รถจักรยานยนต์และยังเดินไปยิงซ้ำอีก จากนั้นมีตำรวจมา 2 นาย ไม่ทันลงจากรถก็ถูกยิงจนพรุนเสียชีวิต แต่ปรากฏว่า ได้ทราบว่า ภรรยาของผู้บังคับบัญชาไปกินข้าวที่เทอร์มินอล 21 โคราช

9 กุมภาพันธ์ ของทุกปี ถือเป็น ‘วันพิซซ่า’ ร่วมฉลองอาหารอิตาลีที่โดนใจคนทั่วโลก

วันพิซซ่า (Pizza) ตรงกับวันที่ 9 กุมภาพันธ์ ร่วมเฉลิมฉลองพิซซ่า อาหารอิตาลีชื่อดังที่คนทั่วโลกต่างหลงใหล ซึ่งมีลักษณะเป็นแป้งแผ่นกลมแบนราดด้วยซอสมะเขือเทศ แล้วทำให้สุกโดยการอบในเตาอบ

รู้หรือไม่ วันที่ 9 กุมภาพันธ์ของทุกปีเป็นวันพิซซ่า (Pizza) วันแห่งการร่วมเฉลิมฉลองพิซซ่า อาหารอิตาลีชื่อดังที่คนทั่วโลกต่างหลงใหล

พิซซ่า (Pizza) เป็นอาหารอิตาลีและอาหารจานด่วนประเภทหนึ่งที่ชาวอิตาลีเป็นผู้คิดค้น มีลักษณะเป็นแป้งแผ่นกลมแบนราดด้วยซอสมะเขือเทศ แล้วทำให้สุกโดยการอบในเตาอบ โดยในประเทศอิตาลีจะมีการเสิร์ฟพิซซ่าในโอกาสที่เป็นทางการ เช่น การทานในภัตตาคาร ซึ่งจะเสิร์ฟโดยไม่หั่นและจะรับประทานโดยใช้มีดและส้อม ในขณะที่ชาวอิตาเลียนโดยทั่วไป เมื่อรับประทานพิซซ่าในโอกาสที่ไม่เป็นทางการ เช่น ทานกันเองที่บ้าน พิซซ่าจะถูกหั่นให้เป็นชิ้นพอดีคำและนิยมทานโดยใช้มือ

จากบันทึกทางประวัติศาสตร์ พบว่า พิซซ่า ได้รับการบันทึกครั้งแรกในช่วงศตวรรษที่ 10 ในบันทึกเอกสารภาษาละติน ณ เมืองกาเอตา (Gaeta) ทางตอนใต้ของอิตาลีในแคว้นลัตซีโอ บนพรมแดนติดกับกัมปาเนีย โดยพิซซ่าสมัยใหม่ได้ถูกคิดค้นขึ้นในเนเปิลส์ และได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในเวลาต่อมา

10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566 ครบรอบ 69 ปี วันคล้ายวันสถาปนา ‘กองอาสารักษาดินแดน’

วันที่ 10 กุมภาพันธ์ ของทุกปี กำหนดให้เป็น ‘วันอาสารักษาดินแดน’

‘กองอาสารักษาดินแดน’ มีฐานะเป็นนิติบุคคลจัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติกองอาสารักษาดินแดน พ.ศ. 2497 ซึ่งประกาศใช้เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2497 นับเป็นเวลายาวนานถึง 69 ปี มาแล้ว โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้มีกำลังสำรองในการช่วยเหลือประชาชนและประเทศชาติ ทั้งในยามปกติ และในยามสงคราม โดยการรับสมัครจากราษฎรชายหญิงที่สมัครใจอาสาเข้ามาเป็นสมาชิกกองอาสารักษาดินแดน ภายใต้สังกัดกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย โดยแบ่งส่วนราชการกองอาสารักษาดินแดนออกเป็น 2 ส่วน คือ

ส่วนกลาง มีกองบัญชาการกองอาสารักษาดินแดน (บก.อส.) รับผิดชอบการบริหารงานในส่วนกลาง โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นผู้บัญชาการ

ส่วนภูมิภาค มีกองบังคับการกองอาสารักษาดินแดนจังหวัด (บก.อส.จ.) รับผิดชอบการบริหารงานในส่วนภูมิภาค โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นผู้บังคับการกองอาสารักษาดินแดนจังหวัด และกองร้อยอาสารักษาดินแดนอำเภอ (กองร้อย อส.อ.) โดยนายอำเภอเป็นผู้บังคับกองร้อยอาสารักษาดินแดนอำเภอ เป็นผู้ควบคุมบังคับบัญชา  

ปัจจุบันกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย มีจำนวนสมาชิกกองอาสารักษาดินแดน (อส.) สั่งใช้ทั่วประเทศทั้งสิ้น 25,925 นาย ประจำทั้ง 971 กองร้อยทั่วประเทศ มีหน้าที่ตามพระราชบัญญัติ กองอาสารักษาดินแดน พ.ศ. 2497 ดังนี้

(๑) บรรเทาภัยที่เกิดจากธรรมชาติและการกระทําของข้าศึก

(๒) ทําหน้าที่ตํารวจรักษาความสงบภายในท้องที่ร่วมกับพนักงานฝ่ายปกครองหรือตํารวจ

11 กุมภาพันธ์ ของทุกปี ถือเป็น ‘วันเสื้อยืดขาว’ รำลึกการประท้วงจ้างงานไม่เป็นธรรม

รู้หรือไม่ เสื้อยืดขาวมีประวัติความเป็นมาสำคัญอย่างไร ทุกวันที่ 11 กุมภาพันธ์เป็นวันเสื้อยืดขาว (White T-Shirt Day) ซึ่งเป็นวันสำคัญของคนงานรถยนต์วันหนึ่ง เป็นวันที่รำลึกถึงการสิ้นสุดการประท้วงของคนงานรถยนต์เพื่อเรียกร้องสวัสดิการและการจ้างงานที่ไม่เป็นธรรมด้วยการสวมใส่เสื้อยืดขาวในการประท้วง

จุดเริ่มต้นของวันเสื้อยืดขาว เริ่มจากพนักงานของบริษัทเจอเนอรัลมอเตอร์ส (General Motors) ได้ก่อการประท้วงครั้งประวัติศาสตร์เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2480 เพื่อหวังเรียกร้องสวัสดิการและการจ้างงานที่ไม่เป็นธรรม หลังจากที่บริษัทเจอเนอรัลมอเตอร์ส บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ชื่อดังต้องการลดต้นทุนและเลิกจ้างคนงาน โดยทำการยกเลิกโมเดลรถยนต์ที่ราคาแพงและจ้างคนงานในค่าแรงที่น้อยกว่าเดิม

12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2352 วันเกิด ‘ชาร์ลส์ ดาร์วิน’ ผู้ปฏิวัติความคิดเรื่องจุดกำเนิดสิ่งมีชีวิต

12 กุมภาพันธ์ 'วันดาร์วิน' เพื่อระลึกถึง ‘ชาร์ลส์ ดาร์วิน’ ผู้ปฏิวัติความคิดเรื่องจุดกำเนิดสิ่งมีชีวิต จากความเชื่อเรื่องพระเจ้าเป็นผู้สร้าง สู่ทฤษฎีการวิวัฒนาการสมัยใหม่

วันดาร์วินสากล (International Darwin Day) ตรงกับวันที่ 12 กุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นวันคล้ายวันเกิดของ ชาร์ลส์ ดาร์วิน (Charles Darwin) นักธรรมชาติวิทยา ชาวอังกฤษ ผู้ทำการปฏิวัติความเชื่อเดิม ๆ เกี่ยวกับจุดกำเนิดของสิ่งมีชีวิต และนำเสนอทฤษฎีซึ่งเป็นทั้งรากฐานของทฤษฎีวิวัฒนาการสมัยใหม่ รวมไปถึงหลักการพื้นฐานของกลไกการคัดเลือกโดยธรรมชาติ

ผลงานหนังสือที่ตีพิมพ์ของชาร์ลส์ ดาร์วิน เป็นผลงานที่มีประโยชน์อย่างมาก ทั้งทางชีววิทยา และมานุษยวิทยา โดยเฉพาะทฤษฎีวิวัฒนาการ ถือได้ว่าเป็นก้าวสำคัญในวงการชีววิทยา สำหรับผลงานที่โด่งดังที่สุดของเขาก็คือ On the Origin of Species (กำเนิดสรรพชีวิต) ซึ่งได้รวมทฤษฎีของศาสตร์เกี่ยวกับชีวิต และอธิบายถึงความหลากหลายทางชีวภาพของสิ่งมีชีวิต เปลี่ยนมุมมองความคิดเรื่องจุดกำเนิดสิ่งมีชีวิต จากพระเจ้าเป็นผู้สร้าง มาสู่ทฤษฎีการวิวัฒนาการ

13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2446 ไทยเสียดินแดนฝั่งขวาแม่น้ำโขงให้ ฝรั่งเศส แลกการถอนทหารออกจากเมืองจันทบุรี

วันนี้ เมื่อ 120 ปีก่อน ไทยได้เสียดินแดนฝั่งขวาแม่น้ำโขง ตรงข้ามเมืองหลวงพระบาง ตรงข้ามเมืองจำปาศักดิ์ และเมืองมโนไพรฝั่งให้ฝรั่งเศส แลกกับเมืองจันทบุรี ที่ฝรั่งเศสยึดไว้ตั้งแต่เหตุการณ์ ร.ศ. 112 (พ.ศ. 2437)

ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (พ.ศ. 2411-2453) การแผ่อิทธิพลของมหาอำนาจตะวันตกรุนแรง และแข็งกล้า ยิ่งกว่าสมัยใดๆ..... มหาอำนาจตะวันตกที่คอยคุกคามไทยทางด้านตะวันออกคือ.....ฝรั่งเศส

ฝรั่งเศสได้ขยายอำนาจมาทางตะวันออกของแหลมอินโดจีน จนครอบครองญวนทั้งประเทศ รวมทั้งเขมรส่วนนอก ทั้งหมดด้วย แต่ความต้องการของฝรั่งเศสไม่ได้หยุดนิ่งแค่นั้น ยังมีความต้องการที่จะครอบครองดินแดนที่อยู่บริเวณลุ่มแม่น้ำโขงทั้งหมด ซึ่งขณะนั้นมีดินแดนบางส่วนที่อยู่ภายใต้ครอบครองของไทย การขยายตัวของฝรั่งเศส จึงสร้างปัญหาให้กับประเทศไทยเรื่อยมา.......โดยเฉพาะ.. ความพยายามที่จะ แทรกแซงในดินแดนฝั่งซ้ายของแม่น้ำ โขง ในระยะแรกฝรั่งเศสได้แทรกแซงโดยวิธีการทูต แต่เมื่อเห็นว่าไม่ประสบผลสำเร็จจึงใช้นโยบายเรือปืนข่มขู่ไทย บริเวณปากแม่น้ำ ในที่สุดก็นำไปสู่วิกฤตกาลที่เรียกว่า "วิกฤตกาล ร.ศ. 112" เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2536 ผลของการรบปรากฏว่าฝ่ายไทยยอมจำนน และทำสัญญาสงบศึกกับฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2436


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top