Tuesday, 29 April 2025
CoolLife

4 มกราคม ของทุกปี ‘วันทหารม้า’ สดุดีวีรกรรมพระเจ้าตากสินมหาราช ต่อสู้กับทหารพม่าบนหลังม้า ณ บ้านพรานนก

วันทหารม้า ตรงกับวันที่ 4 มกราคมของทุกปี เป็นวันที่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ได้นำกำลังทหารตีฝ่าวงล้อมกองทัพพม่าที่ล้อมกรุงศรีอยุธยา หลังจากที่ทหารพม่ารวบรวมกำลังไล่ติดตามมาถึง ณ บ้านพรานนก อำเภออุทัย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชพร้อมด้วยทหารเอกคู่พระทัยจำนวน 4 นาย ได้ทำการรบบนหลังม้าต่อสู้กับทหารพม่าจำนวน 30 นายจนได้รับชัยชนะ

โดยตลอดการรบในครั้งนั้นชาวบ้านได้จัดส่งข้าวเม่าให้เป็นเสบียงและส่งธนูให้แก่ทหารใช้เป็นอาวุธ กองทหารได้ปะทะกับพม่าที่คลองแห่งหนึ่ง จนเมื่อพระยาตากตีทหารพม่าแตกพ่าย จึงตั้งชื่อคลองว่า ‘คลองชนะ’ ฝ่ายทหารพม่าได้ติดตามไปอย่างกระชั้นชิดตลอดระยะทางที่หนีออกจากกรุงศรีอยุธยา พระยาตากต้องต่อสู้กับพม่าถึง 4 ครั้ง แต่กองทหารพม่าก็ไม่ยอมลดละ และไล่ตามไปทันที่บ้านโพธิ์สังหาร ซึ่งมีหญิงสาวชาวบ้านชื่อนางโพ ได้ช่วยรบกับพม่าจนเสียชีวิต โดยภายหลังจากพระยาตากกู้ชาติได้แล้วจึงได้ระลึกถึงกลับมาตั้งชื่อหมู่บ้านโพธิ์สังหาร เป็นหมู่บ้านโพสาวหาญและยังใช้มาจนถึงปัจจุบันนี้

5 มกราคม พ.ศ. 2452 วันพิราลัย ‘เจ้าอินทวโรรสสุริยวงษ์’ เจ้านครเชียงใหม่ องค์ที่ 8

วันนี้เมื่อ 113 ปีก่อน คือวันพิราลัย ‘เจ้าอินทวโรรสสุริยวงษ์’ เจ้านครเชียงใหม่ องค์ที่ 8 หลังประชวรด้วยโรคปอด

เจ้าอินทวโรรสสุริยวงษ์ มีพระนามเดิมว่า เจ้าน้อยสุริยะ ประสูติเมื่อวันศุกร์ เดือน 6 ขึ้น 5 ค่ำ ปีมะแม จ.ศ. 1221 (6 พฤษภาคม พ.ศ. 2402) เป็นโอรสในพระเจ้าอินทวิชยานนท์ เจ้านครเชียงใหม่ องค์ที่ 7 กับแม่เจ้ารินคำ ณ ลำพูน และเป็นนัดดา (หลานปู่) ในพระยาราชวงศ์ (มหาพรหมคำคง) นครเชียงใหม่ และราชนัดดา (หลานตา) ในเจ้าไชยลังกาพิศาลโสภาคย์คุณ เจ้าผู้ครองนครลำพูน องค์ที่ 6

เมื่อถึง พ.ศ. 2432 ได้เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานสัญญาบัตรเป็น “เจ้าราชบุตร” และได้ช่วยราชการพระเจ้าเชียงใหม่ซึ่งเป็นพระบิดา ในช่วงเวลาที่รับราชการอยู่ได้ทำหน้าที่ด้านการบ้านการเมือง

ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2444 ได้รับรับโปรดเกล้าฯ พระราชทานสัญญาบัตรแต่งตั้งเป็น “เจ้าอินทวโรรสสุริยวงศ์ ดำรงนพีสีนคร สุนทรทศลักษ์เกษตร วรฤทธิเดชดำรง จำนงยุติธรรมสุจริต วิศิษฐ์สัตยธาดา มหาโยนางคราชวงศาธิบดี” เจ้านครเชียงใหม่

6 มกราคม พ.ศ. 2481 พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล เสด็จฯ ทรงเปิดโรงพยาบาลอานันทมหิดล จ.ลพบุรี

วันนี้เมื่อ 84 ปีก่อน พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร รัชกาลที่ 8 เสด็จฯ ทรงเปิดโรงพยาบาลอานันทมหิดล จังหวัดลพบุรี

พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร รัชกาลที่ 8 ได้พระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์ในการสร้างโรงพยาบาล และพระราชทานนามโรงพยาบาลแห่งนี้ว่า โรงพยาบาลอานันทมหิดล ซึ่งตั้งอยู่ในอำเภอเมืองลพบุรี จังหวัดลพบุรี หลังจากการสร้างแล้วเสร็จ จึงเสด็จพระราชดำเนินมาทรงเปิดโรงพยาบาลแห่งนี้

โดยในปี พ.ศ. 2481 ซึ่งเป็นปีแรกที่เปิดให้บริการ โรงพยาบาลอานันทมหิดล สามารถให้การพยาบาลแก่ผู้ป่วยไม่เกิน 200 เตียง ตัวอาคารของโรงพยาบาลไม่สามารถสร้างเสริมให้ครบตามแผนได้ เนื่องจากเกิดสงครามมหาเอเชียบูรพา จึงมีเพียงอาคารศัลยกรรม 1 หลัง อายุรกรรม 1 หลัง และสูตินรีเวชกรรม 1 หลัง เท่านั้น

7 มกราคม พ.ศ. 2408 วันสวรรคต ‘กษัตริย์วังหน้า’ พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว

วันนี้เมื่อ 157 ปีก่อน พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว กษัตริย์วังหน้า พระเจ้าแผ่นดินพระองค์ที่ 2 เสมอด้วยรัชกาลที่ 4 เสด็จสวรรคต

พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ที่ประสูติแต่สมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี เสด็จพระราชสมภพ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2351 ณ พระราชวังเดิม คลองบางกอกใหญ่ อันเป็นที่ประทับของสมเด็จพระราชบิดา ซึ่งในครั้งนั้นเรียกว่าพระบวรราชวังใหม่ 

เนื่องมาจากในขณะนั้นพระราชบิดายังดำรงพระอิสริยยศที่กรมพระราชวังบวรสถานมงคล ทรงมีพระเชษฐาร่วมพระราชมารดารวมทั้งสิ้น 3 พระองค์ ได้แก่ เจ้าฟ้าราชกุมาร, เจ้าฟ้ามงกุฎ (พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว) และพระองค์เป็นเจ้าฟ้าพระองค์น้อย

เมื่อพระองค์ประสูติได้ประมาณ 1 ปี พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชเสด็จสวรรคต พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยจึงได้เสด็จขึ้นครองราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 2 ก่อนบรมราชาภิเษกได้ 10 วัน เจ้าฟ้าพระองค์น้อยได้เสด็จตามสมเด็จพระราชบิดามาประทับในพระบรมมหาราชวัง เมื่อพระองค์มีพระชนมายุได้ 12 พรรษา จึงได้มีการพระราชพิธีโสกันต์อย่างธรรมเนียมสำหรับสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้า หลังจากนั้นเมื่อพระชนมายุได้ 13 พรรษา ได้ผนวชเป็นสามเณร ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม เพื่อศึกษาศีลธรรมและพระศาสนา เมื่อพระองค์ลาผนวชทรงได้ศึกษาวิชาตามแบบแผนราชสกุลที่จัดให้เจ้านายเรียน

เมื่อพระองค์มีพระชนมายุได้ 16 พรรษา พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงพระประชวรและเสด็จสวรรคต พระเจ้าลูกเธอกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ พระราชโอรสพระองค์ใหญ่ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยเสด็จขึ้นครองราชสมบัติพระนามว่า พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์จึงเสด็จกลับไปประทับ ณ พระราชวังเดิม พร้อมกับพระราชมารดา ส่วนสมเด็จพระเชษฐาของพระองค์นั้นทรงสมณเพศประทับอยู่ ณ วัดมหาธาตุและวัดสมอราย

เมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวใกล้สวรรคต เจ้าพระยาพระคลัง (ดิศ บุนนาค) ได้เดินทางไปเข้าเฝ้าสมเด็จเจ้าฟ้ามงกุฎซึ่งทรงผนวชอยู่วัดบวรนิเวศวิหาร กราบทูลว่าจะเชิญเสด็จขึ้นครองราชย์ สมเด็จเจ้าฟ้ามงกุฎตรัสว่าท่านฟากข้างโน้น (หมายถึงเจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์) มีพระชะตาแรงต้องเป็นพระเจ้าแผ่นดิน ให้ถวายราชสมบัติแก่ท่านนั้นด้วย เพราะหากพระองค์รับราชสมบัติเพียงพระองค์เดียวจะเกิดอัปมงคล ด้วยไปกีดกันบารมีของสมเด็จพระอนุชา ถ้ามีพระเจ้าแผ่นดินสองพระองค์เหมือนอย่างสมเด็จพระนเรศวรสถาปนาสมเด็จพระเอกาทศรถเป็นพระเจ้าแผ่นดินด้วยก็จะพ้นจากอัปมงคล เจ้าพระยาพระคลังจึงไปเข้าเฝ้าเจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ ณ พระราชวังเดิมตามรับสั่ง 

๘ มกราคม วันคล้ายวันประสูติ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา

ทรงพระเจริญ
ควรมิควรแล้วแต่จะโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม
ข้าพระพุทธเจ้า คณะผู้บริหารและพนักงาน สำนักข่าวออนไลน์ THE STATES TIMES

8 มกราคม พ.ศ. 2530 วันประสูติ ‘สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา’

สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ประสูติเมื่อวันที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2530 ทรงเป็นพระราชธิดาพระองค์ที่ 2 ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 ทรงเป็นพระราชนัดดาในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง มีพระเชษฐภคินีและพระอนุชา 2 พระองค์ คือ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภานเรนทิราเทพยวดี และสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าทีปังกรรัศมีโชติ มหาวชิโรตตมางกูร สิริวิบูลยราชกุมาร

เมื่อแรกประสูติทรงดำรงพระอิสริยยศ ‘หม่อมเจ้า’ มีพระนามว่า ‘หม่อมเจ้าบุษย์น้ำเพชร มหิดล’ ต่อมาได้รับพระราชทานพระนามใหม่ว่า ‘หม่อมเจ้าจักรกฤษณ์ยาภา มหิดล’ จากนั้นสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระราชทานพระนามใหม่ว่า ‘หม่อมเจ้าสิริวัณวรี มหิดล’ ภายหลังพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ สถาปนาขึ้นเป็น ‘พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริวัณณวรีนารีรัตน์’ เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2548

สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงเป็นทั้งนักกีฬาขี่ม้าและอดีตนักแบดมินตันทีมชาติไทย ในวันที่ 21 กรกฎาคม สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร มีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระยศ ‘พันเอกหญิง’ ในฐานะพระอาจารย์หัวหน้าแผนก โรงเรียนทหารม้า ศูนย์การทหารม้า (อัตราพันเอก)

9 มกราคม พ.ศ. 2472 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ วางศิลาฤกษ์ สะพานพระพุทธยอดฟ้า

วันนี้เมื่อ 93 ปีก่อน พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินทรงวางศิลาฤกษ์ สะพานพระพุทธยอดฟ้า

วันที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2472 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 7) เสด็จพระราชดำเนินทรงวางศิลาฤกษ์สร้างสะพานปฐมบรมราชานุสรณ์ และโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามสะพานว่า 'สะพานพระพุทธยอดฟ้า' โดยเริ่มก่อสร้างในปี 2471 เมื่อการก่อสร้างแล้วเสร็จ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดสะพานเมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2475

สะพานพระพุทธยอดฟ้า เป็นสะพานที่สร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 7) เมื่อปี พ.ศ. 2472 เนื่องในโอกาสสถาปนากรุงเทพมหานครครบ 150 ปี และโปรดเกล้าฯ ให้มีพระราชพิธีฉลองพระนครครบ 150 ปีด้วย จึงมีพระราชดำริที่จะสร้างสิ่งที่เป็นอนุสรณ์ถึงความรำลึกในพระกรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ผู้ทรงสถาปนากรุงเทพมหานคร โดยมีพระราชดำริว่าควรสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช และสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาเชื่อมจังหวัดพระนครกับธนบุรีเข้าด้วยกัน เพื่อให้การคมนาคมติดต่อสะดวก ทั้งยังเป็นการขยายพระนครอีกด้วย จึงโปรดเกล้าฯ ให้คิดแบบพระบรมราชานุสาวรีย์ และสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาขึ้นประกอบกันเป็นปฐมบรมราชานุสรณ์ที่ปลายถนนตรีเพชร ถือเป็นสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาแห่งที่ 2 ถัดจากสะพานพระราม 6 ที่สร้างในสมัยรัชกาลที่ 6

10 มกราคม พ.ศ. 2489 ‘สหประชาชาติ’ จัดประชุมสมัชชาใหญ่ครั้งแรก ณ กรุงลอนดอน มีสมาชิกเข้าร่วม 51 ประเทศ

10 มกราคม พ.ศ. 2489 (ค.ศ. 1946) ‘สหประชาชาติ’ ได้จัดการประชุมสมัชชาใหญ่เป็นครั้งแรก ณ กรุงลอนดอน 

สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ (United Nations General Assembly) เป็นองค์กรที่มีอำนาจมากที่สุดและเป็นหนึ่งในเสาหลักของสหประชาชาติ เป็นเพียงองค์กรเดียวของสหประชาชาติที่ตัวแทนของแต่ละประเทศสมาชิกมีสิทธิและฐานะเท่าเทียมกัน สมัชชาใหญ่มีหน้าที่ตรวจสอบงบประมาณและการใช้จ่ายในโครงการของสหประชาชาติ แต่งตั้งสมาชิกไม่ถาวรในคณะมนตรีความมั่นคง รับรายงานจากทั่วทุกมุมโลกเพื่ออภิปรายและให้ความเห็น ตลอดจนจัดตั้งองค์กรลูกต่าง ๆ มากมายของสหประชาชาติ

การประชุมสมัชชาใหญ่ครั้งแรกมีขึ้นในวันที่ 10 มกราคม ค.ศ. 1946 ที่ศาลากลางนครเวสต์มินสเตอร์ในกรุงลอนดอน โดยในขณะนั้นมีสมาชิกเข้าร่วมทั้งสิ้น 51 ประเทศ โดยสมัชชาใหญ่จะมีวาระการประชุมตามที่ประธานที่ประชุมหรือเลขาธิการสหประชาชาติได้เรียกประชุมตามขั้นตอนปีละหนึ่งครั้ง ซึ่งโดยมากจะเริ่มเปิดวาระการประชุมตั้งแต่เดือนกันยายนเป็นต้นไป ซึ่งจะหารือกันในหัวข้อหลักต่างๆ ไปจนถึงราวเดือนธันวาคม และหารือกันในหัวข้อย่อยตั้งแต่เดือนมกราคมไปจนกระทั่งสิ้นสุดทุกประเด็นตามที่ได้แถลงไว้

11 มกราคม พ.ศ. 2465 ‘Leonard Thompson’ มนุษย์คนแรก ได้รับการฉีด ‘อินซูลิน’ รักษาโรคเบาหวาน

วันนี้ เมื่อ 101 ปีก่อน Leonard Thompson เป็นมนุษย์คนแรกของโลก ที่ได้รับการฉีด ‘อินซูลิน’ รักษาโรคเบาหวาน

ในปี ค.ศ. 1889 นักวิทยาศาสตร์ 2 คน คือ Joseph von Mering และ Oskar Minkowski พบสาเหตุของโรคเบาหวานโดยบังเอิญ จากการทดลองตัดตับอ่อนของสุนัขออกไปเพื่อดูว่าสุนัขจะเป็นอย่างไรบ้างเมื่อไม่มีอวัยวะนี้

ปรากฏว่าระดับน้ำตาลในเลือดของสุนัขสูงขึ้น และสุนัขมีอาการของโรคเบาหวาน คือ ปัสสาวะบ่อย ดื่มน้ำมาก และน้ำหนักลด นักวิทยาศาสตร์ทั้งสองยังพบอีกว่า ตับอ่อนทำงานผลิตสารอีกชนิดที่ไม่ได้หลั่งออกไปตามท่อสู่ลำไส้ แต่หลั่งออกไปสู่ร่างกายตามกระแสเลือด การค้นพบนี้ทำให้เกิดแนวคิดใหม่ในเรื่องของฮอร์โมนขึ้น

หลังจากนั้น Frederick Banting ศัลยแพทย์ชาวแคนาดาผู้สนใจเรื่องเบาหวาน เขาอ่านพบงานวิจัยของ Joseph von Mering และ Oskar Minkowski ซึ่งพบว่าตับอ่อนเป็นสาเหตุของโรคเบาหวาน Frederick Banting ตั้งสมมติฐานว่า หากผูกท่อน้ำย่อยของตับอ่อนไม่ให้หลั่งออกมา น้ำย่อยจะไหลกลับไปที่ตับอ่อนทำให้ตับอ่อนอักเสบและเซลล์ที่สร้างน้ำย่อยสลายไป ก็จะเหลือแต่เซลล์ที่สร้างสารที่ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด และจะทำให้การสกัดเอาสารนี้ออกมาได้ผลดีขึ้น และเริ่มทำการทดลองกับสุนัขตามสมมุติฐานที่ตั้งไว้ ด้วยการขออนุญาต ศาสตราจารย์ John Macleod เพื่อใช้ห้องทดลองเล็กของมหาวิทยาลัยโตรอนโต โดยมี Charles Best-นักศึกษาแพทย์ เป็นผู้ช่วย และ James Collip-นักชีวเคมี เป็นที่ปรึกษา

12 มกราคม พ.ศ. 2566 ครบ 1 ปี การจากไป ‘ไวพจน์ เพชรสุพรรณ’ ครูเพลงผู้ยิ่งใหญ่ ฉายา ‘ราชาเพลงแหล่’

ครบรอบ 1 ปี การจากไปของราชาเพลงแหล่ ‘ไวพจน์ เพชรสุพรรณ’ ครูเพลงผู้ยิ่งใหญ่ และศิลปินแห่งชาติผู้ล่วงลับ

ไวพจน์ เพชรสุพรรณ หรือ พาน สกุลณี เกิดวันที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2485 (79 ปี)  ที่ หมู่ 2 ตำบลมะขามล้ม (ปัจจุบันเป็น ตำบลวังน้ำเย็น) อำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นบุตรนายจำปี และนางอ่ำ สกุลณี เป็นชาวไทยเชื้อสายลาว เรียนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนวัดวังน้ำเย็น อ.บางปลาม้า จ.สุพรรณบุรี 

ไวพจน์ เพชรสุพรรณ เริ่มหัดร้องเพลงอีแซว เพลงพื้นบ้านของ จ.สุพรรณบุรี ตั้งแต่อายุ 2 ขวบ โดยได้ฝึกหัดและหัดตามมารดา ซึ่งเป็นแม่เพลงอีแซว จนสามารถร้องเพลงอีแซว และเพลงแหล่ได้เมื่ออายุ 14 ปี จากนั้นได้หัดร้องลิเกกับคณะลิเกประทีป แสงกระจ่าง เมื่ออายุ 16 ปีได้เข้าประกวดร้องเพลงครั้งแรกที่วัดท่าตลาด ต.วัดโบสถ์ อ.บางปลาม้า จ.สุพรรณบุรี เพลงที่ร้องเป็นเพลงแหล่ของ พร ภิรมย์ ชื่อเพลง “จันทโครพ” ปรากฏว่าได้รางวัลที่ 1

ในช่วงนั้น ไวพจน์สนใจขับร้องเพลงลูกทุ่งมาก เพราะเป็นช่วงที่มีนักร้องลูกทุ่งมีชื่อเสียงเกิดขึ้นมากมาย เช่น ชัยชนะ บุญนะโชติ, ไพรวัลย์ ลูกเพชร , ชาย เมืองสิงห์ ครั้งหนึ่งชัยชนะ บุญนะโชติ ได้นำวงดนตรีมาเล่นที่ตลาดสวนแตงและมีการรับสมัครประกวดร้องเพลง ไวพจน์จึงสมัครประกวดร้องเพลงด้วย และได้รับการชมเชยจากผู้ชมผู้ฟังเป็นจำนวนมาก ชัยชนะ บุญนะโชติ จึงชักชวนให้เข้าสู่วงการเพลงลูกทุ่งและตั้งชื่อให้ใหม่ว่า 'ไวพจน์ เพชรสุพรรณ' หลังจากนั้นได้นำไวพจน์ ไปฝากเป็นศิษย์ของครูสำเนียง ม่วงทอง นักแต่งเพลงซึ่งเป็นชาว จ.สุพรรณบุรี เช่นกัน ซึ่งเป็นเจ้าของวงดนตรี 'รวมดาวกระจาย' ไวพจน์ จึงได้เข้ามาร่วมวงในฐานะนักร้องนำ ครูสำเนียงได้แต่งเพลงให้ร้อง และประสบความสำเร็จอย่างมาก คือ เพลง 'ให้พี่บวชเสียก่อน' และยังได้ขับร้องเพลงของนักแต่งเพลงผู้อื่น คือ จิ๋ว พิจิตร เช่น เพลง 'แบ่งสมบัติ' และ '21 มิถุนา ขอลาบวช' เป็นต้น

13 มกราคม ของทุกปี กำหนดเป็น ‘วันการบินแห่งชาติ’ จุดเริ่มต้นการบินของไทย

วันที่ 13 มกราคม 2456 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จทอดพระเนตรการบิน จึงกำหนดให้วันนี้เป็นวัน ‘การบินแห่งชาติ’ 

วันการบินแห่งชาตินั้น เริ่มต้นมาจากปี พ.ศ. 2454 ที่ จอมพล สมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ ได้นำความขึ้นกราบบังคมทูลต่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) ถึงความจำเป็นและประโยชน์ของเครื่องบินที่ต้องมีไว้เพื่อป้องกันประเทศ จึงมีคำสั่งให้นายทหาร 3 นาย คือ พลอากาศโท พระยาเฉลิมอากาศ, นาวาอากาศเอก พระยาเวหาสยานศิลปสิทธิ์ และนาวาอากาศเอก พระยาทะยานพิฆาต ไปเรียนวิชาการบินที่ประเทศฝรั่งเศส

ในระหว่างที่นายทหารทั้ง 3 นายเดินทางไปศึกษาที่ประเทศฝรั่งเศสนั้น ทางการก็ได้สั่งซื้อเครื่องบินเป็นครั้งแรกจากฝรั่งเศส มาจำนวน 7 ลำ ประกอบด้วย เครื่องบินแบบเบรเกต์ปีก 2 ชั้น จำนวน 3 เครื่อง และเครื่องบินแบบนิเออปอร์ตปีกชั้นเดียว จำนวน 4 เครื่อง เข้าไว้ประจำการ นอกจากนี้ เจ้าพระยาอภัยภูเบศร (ชุ่ม อภัยวงศ์) ยังได้อุทิศทรัพย์ส่วนตัว ซื้อเครื่องบินแบบเบรเกต์ให้ราชการไว้ใช้งานอีก 1 ลำ ด้วยเห็นว่าเครื่องบินสามารถนำมาใช้ประโยชน์ในทางราชการได้ ทำให้ในยุคแรก ประเทศไทยมีเครื่องบินประจำการ จำนวน 8 ลำ

หลังสำเร็จการศึกษานายทหาร นักบินทั้ง 3 นาย ได้กลับมาทดลองบินครั้งแรกในประเทศไทยเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2456 ซึ่งนายทหารนักบินทั้ง 3 นาย สามารถขับเครื่องบินและร่อนลงจอดได้เป็นอย่างดี ท่ามกลางเสียงชื่นชมของผู้ชมจำนวนมากที่มารอชม เนื่องจากในสมัยนั้น การขึ้นบินบนท้องฟ้าถือเป็นเรื่องที่เสี่ยงอันตรายอย่างยิ่ง ผู้ที่สามารถขับเครื่องบินได้จึงได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้กล้าหาญ และถือเป็นเกียรติประวัติที่ควรได้รับการสรรเสริญ


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top