Tuesday, 29 April 2025
CoolLife

24 มกราคม พ.ศ. 2543 กองกำลังก๊อดอาร์มี่ บุกยึด รพ.ราชบุรี จับตัว ‘หมอ - คนไข้’ เป็นตัวประกันนานกว่า 20 ชม.

วันนี้เมื่อ 23 ปีก่อน เกิดเหตุระทึกขวัญ ‘กองกำลังก๊อดอาร์มี่’ บุกยึดโรงพยาบาลราชบุรี จับแพทย์ พยาบาล และผู้ป่วยเป็นตัวประกันนับพันคน เหตุการณ์ตึงเครียดกว่า 20 ชั่วโมง ก่อนที่เจ้าหน้าที่จะยุติเรื่องราวลงได้

วันที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2543 เกิดเหตุการณ์ระทึกขวัญ เรียกว่าเป็นข่าวใหญ่ที่ประชาชนคนไทยต่างติดตามกันทั้งประเทศ เมื่อมีรายงานข่าวด่วนว่า มีกองกำลังก๊อดอาร์มี่ จำนวน 10 คน ได้ก่อเหตุบุกยึดโรงพยาบาลที่จังหวัดราชบุรี

สืบย้อนกลับไปก่อนเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว กองกำลังทหารกะเหรี่ยงกลุ่มนี้ เคยเข้าบุกยึดสถานทูตพม่ามาครั้งหนึ่งแล้ว ก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์ซ้ำสอง แต่คราวนี้มีเป้าหมายที่โรงพยาบาล โดยกลุ่มผู้ก่อการทั้งหมดปลอมตัวเป็นผู้โดยสารนั่งรถประจำทางสายสวนผึ้ง-ราชบุรี แล้วใช้ปืนเอ็ม-16 จี้คนขับให้ไปยังโรงพยาบาลศูนย์ราชบุรี ก่อนที่จะทำการบุกยึดโรงพยาบาล จับแพทย์ พยาบาล และผู้ป่วยพับพันชีวิตเป็นตัวประกัน

25 มกราคม พ.ศ. 2502 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชการที่ 9 เสด็จฯ ไปทรงเปิดพระบรมราชานุสรณ์ดอนเจดีย์

วันนี้เมื่อ 64 ปีก่อน พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินไปทรงประกอบพิธีบวงสรวงและเปิดพระบรมราชานุสรณ์ดอนเจดีย์

พระบรมราชานุสรณ์ดอนเจดีย์ ประกอบด้วยพระบรมราชานุสาวรีย์ สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทรงพระคชาธารออกศึกและองค์เจดีย์ยุทธหัตถี 

สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทรงสร้างเจดีย์ขึ้น เพื่อเฉลิมฉลองชัยชนะในสงครามยุทธหัตถี ที่ทรงมีต่อพระมหาอุปราชาแห่งพม่า เมื่อปี พ.ศ. 2135 กองทัพบกได้บูรณะปฏิสังขรณ์องค์เจดีย์ขึ้นใหม่ โดยสร้างเป็นเจดีย์แบบลังกาทรงกลมใหญ่ สูง 66 เมตร ฐานกว้างด้านละ 36 เมตร ครอบเจดีย์องค์เดิม ภายในองค์เจดีย์ได้มีการสร้างห้องแสดงประวัติศาสตร์ ทั้งภาพแสงสีเสียง และหุ่นจำลองการยกทัพของพม่าและไทย หลายร้อยตัว เป็นสถานที่ได้ทั้งความรู้และเพลิดเพลิน

26 มกราคม พ.ศ. 2448 ค้นพบ ‘โคตรเพชรคัลลินัน’ เพชรเม็ดใหญ่ที่สุดในโลกที่แอฟริกาใต้

วันนี้ เมื่อ 118 ปีก่อน มีการขุดพบ เพชรคัลลินัน ( Cullinan diamond ) เพชรดิบเม็ดใหญ่ที่สุดในโลก ที่ประเทศแอฟริกาใต้

เพชรคัลลินัน ( Cullinan diamond ) เป็นเพชรดิบขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยพบกันมา โดยมีน้ำหนัก 3,106.75 กะรัต หรือ 621.35 กรัม มีความยาวประมาณ 10.5 ซม. ถูกพบเมื่อวันที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2448 (ค.ศ.1905) ที่เหมืองพรีเมียร์ หมายเลข 2 ในเมืองคัลลินัน ใกล้กับกรุงพริทอเรีย ของแอฟริกาใต้ โดยโธมัส อีวาน พาวเวลล์ นักขุด ซึ่งนำมันขึ้นมาจากเหมือง และมอบให้กับผู้จัดการเหมืองคือ เฟรเดอริก เวลส์ เพชรถูกตั้งชื่อตามโธมัส คัลลินัน ประธานของเหมือง 

เซอร์วิลเลียม ครุกส์ เป็นผู้วินิจฉัยเพชรดิบ และพบว่าเพชรนี้มีคุณสมบัติพิเศษที่ความสว่างใส แต่พบจุดสีดำอยู่ตรงกลาง สีสันของเพชรบริเวณรอบ ๆ จุดดำนั้นสวยงามและเปลี่ยนไปตามเครื่องมือที่ใช้วิเคราะห์ เขาคิดว่ามันเกิดจากความเครียดภายในของอัญมณี ซึ่งพบได้ค่อนข้างยากในเพชร

ในเดือนเมษายน ปีเดียวกัน มันถูกนำออกขายที่กรุงลอนดอน แต่ถึงแม้จะได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก แต่ก็ยังขายไม่ออกจนผ่านไป 2 ปี ในที่สุดในปี 2450 รัฐบาลอาณานิคมทรานส์วาลในแอฟริกา ได้ซื้อเพชรคัลลิแนน และนายกรัฐมนตรีหลุยส์ โบทา ได้ทูลเกล้าถวายเพชรแก่พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 7 พระมหากษัตริย์แห่งสหราชอาณาจักร เมื่อ 9 พฤศจิกายน 2450 ในวันเฉลิมพระชนมพรรษาของพระองค์ 

หลังจากนั้นเพชรถูกตัดแบ่งและเจียระไนโดยบริษัท Joseph Asscher & Co ในกรุงอัมสเตอร์ดัม ของเนเธอร์แลนด์

เพชรคัลลินัน ถูกตัดแบ่งเป็นสามส่วนใหญ่ ๆ และต่อมาก็แบ่งเป็น 9 ชิ้นใหญ่  96 เม็ดย่อย และเศษเพชรน้ำหนักรวม 19.5 กะรัต 

เพชรที่เจียระไนแล้วชิ้นใหญ่ที่สุดนั้นได้ชื่อว่า คัลลินัน 1 หรือดาวที่ยิ่งใหญ่แห่งแอฟริกา มันหนัก 530.4 กะรัต และได้ชื่อว่าเป็นเพชรเจียระไนที่ใหญ่สุดในโลก

27 มกราคม พ.ศ.2501 วันสถาปนาโรงเรียนเตรียมทหาร ศูนย์รวมเบื้องต้นนายทหาร - นายตำรวจ

วันนี้ เมื่อ 65 ปีก่อน ตรงกับวันที่ 27 มกราคม 2601 คือวันสถาปนา โรงเรียนเตรียมทหาร 

โรงเรียนเตรียมทหาร หรือ Armed Forces Academies Preparatory School เป็นสถาบันการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย สังกัดสถาบันวิชาการป้องกันประเทศกองบัญชาการกองทัพไทย และเป็นสถาบันการศึกษาแห่งเดียวในประเทศไทย ที่เป็นศูนย์รวมเบื้องต้นสำหรับผู้ที่จะเข้าศึกษาต่อในโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า, โรงเรียนนายเรือ, โรงเรียนนายเรืออากาศนวมินทกษัตริยาธิราช และโรงเรียนนายร้อยตำรวจ

โดยผู้ที่ศึกษาในโรงเรียนเตรียมทหาร เรียกว่านักเรียนเตรียมทหาร (นตท.)

การรับสมัครบุคคลพลเรือนเข้าเป็นนักเรียนเตรียมทหารนั้น โรงเรียนเตรียมทหารมิได้เป็นผู้ดำเนินการสอบคัดเลือกนักเรียนเตรียมทหารด้วยตนเอง หากแต่โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า, โรงเรียนนายเรือ, โรงเรียนนายเรืออากาศ และโรงเรียนนายร้อยตำรวจจะเป็นผู้ดำเนินการสอบคัดเลือก

โดยในแต่ละปีจะมีการกำหนดจำนวนรับนักเรียนเตรียมทหารในส่วนของกองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

จากนั้นแต่ละเหล่าทัพจะส่งผู้ผ่านการสอบคัดเลือกมาเรียนรวมกันที่โรงเรียนเตรียมทหาร เป็นเวลา 2 ปี

ภายหลังจากที่สำเร็จการศึกษาตามหลักสูตรของโรงเรียนเตรียมทหารแล้ว นักเรียนเตรียมทหารเหล่านี้จะเข้าศึกษาต่อในโรงเรียนเหล่าทัพ (โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า, โรงเรียนนายเรือ, โรงเรียนนายเรืออากาศและโรงเรียนนายร้อยตำรวจ) ตามที่นักเรียนได้สมัครและผ่านการสอบคัดเลือก

เมื่อสำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนเหล่าทัพแล้ว นักเรียนนายร้อยเหล่านี้ จะได้รับการบรรจุเข้ารับราชการเป็นนายทหาร และนายตำรวจชั้นสัญญาบัตร พร้อมทั้งเข้ารับพระราชทานกระบี่จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวหรือพระบรมวงศานุวงศ์ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้เสด็จแทนพระองค์

28 มกราคม พ.ศ. 2551 สภาโหวต ‘สมัคร สุนทรเวช’ เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 25 ของไทย

วันนี้ เมื่อ 15 ปีก่อน สมัคร สุนทรเวช ผู้คร่ำหวอดในแวดวงการเมืองไทย ได้เข้ามาเป็นหัวหน้าพรรคพลังประชาชนที่ชนะการเลือกตั้ง เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2550 และทำให้นายสมัครได้ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี คนที่ 25 ของประเทศไทย

ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อเลือกนายกรัฐมนตรี มีขึ้นในวันที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2551 ครั้งนั้นมีเรื่องสำคัญที่ฝ่ายพรรคพลังประชาชนกับฝ่ายพรรคประชาธิปัตย์หยิบขึ้นมาพูดคุยกันสองประเด็น คือ หนึ่ง การเสนอให้ผู้ที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีต้องอภิปรายแสดงวิสัยทัศน์ และสอง การเสนอชื่อคนที่จะเป็นนายกรัฐมนตรี

สืบเนื่องจากผลจากการเลือกตั้ง แม้ว่าพรรคพลังประชาชนจะได้คะแนนเสียงเกือบเกินกึ่งหนึ่งของจำนวน ส.ส.ในสภาผู้แทนราษฎร แต่ฝ่ายพรรคพลังประชาชนกับฝ่ายพรรคประชาธิปัตย์มีคะแนนเสียงไม่ห่างกันมาก ที่สำคัญคือภายใต้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ส.ส.ของแต่ละพรรคไม่จำเป็นต้องทำตามญัตติพรรค ส.ส.สามารถเลือกนายกรัฐมนตรีได้อิสระตามความคิดของแต่ละคน ฝ่ายพรรคประชาธิปัตย์จึงเสนอชื่อนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะมาแข่งกับนายสมัคร สุนทรเวช จากพรรคพลังประชาชน

29 มกราคม พ.ศ.2546 จลาจลเผาสถานทูตไทยในเขมร ผลพวง การยุยง ปลุกปั่นให้เกลียดชังไทย

วันนี้ เมื่อ 20 ปีก่อน เกิดเหตุจลาจลเผาสถานทูตไทย ในกรุงพนมเปญ ของกัมพูชา หลังหนังสือพิมพ์รัศมี อังกอร์ ( Rasmei Angkor) ตีพิมพ์บทความปลุกปั่นให้คนคลั่งเกลียดชังไทย

29 มกราคม พ.ศ.2546 เกิดเหตุจลาจลในกรุงพนมเปญ ของกัมพูชา ที่ชาวไทยยังจำได้ไม่ลืม โดยจุดเริ่มต้นของเรื่องมาจากข่าวแปลก ๆ ออกมาว่า เขมรจะทวงคืนปราสาทตาเมือนธมและสต๊กก๊กธม ในจังหวัดสระแก้ว ซึ่งกรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของไทยมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2478 และบูรณะมาตลอด

กล่าวกันว่า เป็นการปล่อยข่าวจากพรรคฝ่ายค้านของนายสม รังสี ซึ่งต้องการสร้างกระแสชาตินิยมเป็นคะแนนให้พรรคสำหรับการเลือกตั้งใหญ่ในเดือนกรกฎาคมนั้น ข่าวนี้ทำคะแนนให้พรรคที่เป็นเจ้าของความคิดพอสมควร พรรคการเมืองคู่แข่งจึงต้องหาทางสร้างกระแสทำคะแนนบ้าง

ต่อมาในวันที่ 18 มกราคม 2456 ก็มีข่าวในหนังสือพิมพ์ ‘รัศมีอังกอร์’ ลงข่าวว่าดาราสาวไทย ‘กบ’ สุวนันท์ คงยิ่ง ให้สัมภาษณ์ในทีวีช่องหนึ่ง ตอบผู้สัมภาษณ์ที่ถามว่าเธอเกลียดอะไรมากที่สุดในโลก กบ สุวนันท์ บอกว่า เกลียดคนเขมรเหมือนเกลียดหมา เพราะชาวเขมรขโมยนครวัดไปจากไทย เมื่อถามว่าเธอจะเดินทางไปกัมพูชาหรือเล่นละครที่กัมพูชาเป็นผู้สร้างหรือไม่ ดาราสาวไทยก็บอกว่าจะเล่นก็ต่อเมื่อเขมรยอมคืนนครวัดให้แก่ไทย

นสพ.รัศมีอังกอร์เป็นหนังสือพิมพ์เล็กๆ มีคนอ่านไม่เท่าไหร่ ข่าวนี้เลยจุดไม่ติด ต่อมาในวันที่ 26 มกราคม นสพ. ‘เกาะสันติภาพ เดลี่’ ซึ่งเป็นหนังสือขายดีของเขมร ก็เลยต้องถ่ายทอดจาก นสพ.รัศมีอังกอร์ไปกระพือต่อ ทีนี้เลยได้ผล

ยังมี นสพ.กัมพูชาใหม่ รับลูกเสนอเป็นข่าวใหญ่ต่อมาว่า นักศึกษา 3 มหาวิทยาลัยในกรุงพนมเปญ รวมทั้งมหาวิทยาลัยแห่งชาติ ได้ออกแถลงการณ์ประณามดาราสาวไทย รับกับการเสนอข่าวกุของหนังสือพิมพ์ โดยไม่ได้วินิจฉัยความเป็นไปได้ของข่าว

เป็นที่รู้กันว่า สุวนันท์ คงยิ่ง เป็นดาราสาวไทยที่ได้รับความนิยมจากคนเขมรอย่างคลั่งไคล้ และระดับการศึกษาของเธอก็ขั้นปริญญา คงไม่ปัญญาอ่อนไปด่าคนเขมรที่นิยมในตัวเธออย่างท่วมท้นแบบนั้น ตรงกันข้าม เธอจะต้องรักคนเขมรอย่างมากด้วย ที่นิยมในตัวเธอ สนับสนุนความเป็นดาราของเธอ ซึ่ง กบ สุวนันท์ ได้แถลงทั้งน้ำตาว่า เธอไม่เคยพูดอะไรเกี่ยวกับคนเขมรแบบนั้นเลย ทั้งยังอยากไปชมนครวัดสักครั้งด้วย ถ้าหากเธอพูดก็น่าจะบอกให้ชัดเจนว่าเธอพูดที่ไหน เมื่อไหร่ จะได้เอาเทปมาพิสูจน์กัน

เลวร้ายไปกว่านั้นก็คือ ในวันที่ 27 มกราคม สมเด็จฮุนเซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ได้ไปปราศรัยหาเสียงที่จังหวัดกัมปงจาม บ้านเกิดของนายสม รังสี กล่าวแสดงความไม่พอใจในคำให้สัมภาษณ์ของดาราสาวไทย และว่าเธอไม่มีค่าอะไรมากไปกว่าต้นหญ้าที่ขึ้นรอบนครวัด พร้อมทั้งเรียกร้องให้คนกัมพูชามีความพอใจในวัฒนธรรมของตน โดยระบุว่าชาวบ้านหลายคนไม่ยอมประดับพระบรมฉายาลักษณ์ของพระมหากษัตริย์และพระราชินีกัมพูชา หรือแม้แต่ภาพพ่อแม่ของตน แต่กลับนำรูปของสุวนันท์ คงยิ่งมาติดแทน ทั้งยังประกาศว่าได้ออกคำสั่งให้งดฉายละครโทรทัศน์ของไทยเรื่อง ‘ลูกไม้หล่นไกลต้น’ ที่มี กบ สุวนันท์แสดงไปแล้ว

ในวันที่ 29 มกราคม นายเหมา อาวุธ ประธานสมาคมโทรทัศน์กัมพูชา ได้แถลงกับผู้สื่อข่าวว่า ในวันที่ผ่านมา คณะของผู้บริหารสถานีโทรทัศน์กัมพูชามีมติเป็นเอกฉันท์ ให้ทุกสถานีหยุดแพร่ภาพออกอากาศรายการโทรทัศน์ของไทยทั้งหมดไว้ก่อน

จากนั้น ในเช้าวันที่ 29 นั้น มีนักศึกษาประชาชนกว่า 500 คนไปชุมนุมกันที่หน้าสถานทูตไทยในกรุงพนมเปญ ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับวุฒิสภา และห่างจากกระทรวงมหาดไทยไม่ถึง 100 เมตร ผู้ชุมนุมซึ่งเชื่อกันว่าเป็นม็อบจัดตั้งได้ชูป้ายด่ากบ สุวนันท์ด้วยถ้อยคำหยาบคาย ต่อมาก็ได้มีการนำธงชาติไทยมาเหยียบย่ำและจุดไฟเผา นายชัชเวทย์ ชาติสุวรรณ เอกอัครราชทูตไทย เห็นว่าเหตุการณ์ไม่น่าไว้วางใจ มีตำรวจยืนดูอยู่ไม่กี่คน จึงโทรศัพท์ไปหาพลเอก เตีย บันห์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ขอกำลังสารวัตรทหารมาคุ้มครอง แต่ก็ได้รับคำปฏิเสธ อ้างว่าตำรวจคุ้มครองได้

ช่วงบ่ายสถานการณ์รุนแรงยิ่งขึ้น มีการงัดป้ายสถานทูตไทยไปเผา ซึ่งสร้างความหวาดกลัวให้เจ้าหน้าที่ไทยที่ถูกกักตัวอยู่ในสถานทูต จึงได้โทรศัพท์ไปถึงพลเอก เตีย บันห์อีกถึง 3 ครั้ง และนายกฯทักษิณ ชินวัตร ยังได้โทรศัพท์สายตรงถึงสมเด็จฮุนเซนขอให้ช่วยดูแลคนไทย ซึ่งก็ได้รับคำรับรอง แต่ประมาณ 17.00 น. ผู้ประท้วงหลายร้อยคนลุกฮือเข้าไปในสถานทูตและทำลายข้าวของ ท่านทูตได้เรียกเจ้าหน้าที่สถานทูตให้หลบไปอยู่ในบ้านพักด้านหลัง ผู้ชุมนุมก็ตามไปอีก เจ้าหน้าที่สถานทูต 14 คนต่างปีนรั้วหนีตายลงในแม่น้ำ บางคนก็ได้รับบาดเจ็บ โชคดีที่มีคนไทยเอาเรือมารับไปพักที่โรงแรมรอยัลพนมเปญ ขณะหนีก็เห็นไฟลุกขึ้นในสถานทูตแล้ว ต่อมาผู้ช่วยทูตทหารได้มารับท่านทูตไปพักที่บ้านพัก เจ้าหน้าที่บางส่วนยังพักที่โรงแรมต่อไป แต่ต่อมาทั้งโรงแรมรอยัลพนมเปญและบ้านพักผู้ช่วยทูตทหารก็ไม่รอด ถูกเผาวอดทั้ง 2 แห่ง ต้องหนีตายกันต่อไป

หลังจากเผาสถานทูตไทยโชติช่วงแล้ว ม็อบมอเตอร์ไซค์ก็ตะเวนเผาโรงแรมและบริษัทห้างร้านของคนไทย บรรดาคนไทยต้องหนีตายกันหัวซุกหัวซุน หลายคนถูกปล้นรูดทรัพย์เช่นเดียวกับนักท่องเที่ยวที่ถูกอาศัยโอกาสไปด้วย พวกโจรได้สมทบเข้าปล้นและงัดแงะทรัพย์สินของคนไทย โดยไม่มีเจ้าหน้าที่บ้านเมืองมาดูแล

30 มกราคม พ.ศ. 2491 ‘มหาตมะ คานธี’ ถูกยิงเสียชีวิต ด้วยฝีมือชายชาวฮินดูผู้คลั่งศาสนา

30 มกราคม พ.ศ. 2491 (ค.ศ. 1948) นาถูราม โคทเส ยิง มหาตมะ คานธี ผู้นำทางการเมือง และ จิตวิญญาณของชาว อินเดีย เสียชีวิต ในเมืองเดลี

ช่วงเย็นของวันที่ 30 มกราคม มหาตมะ คานธี 2491 (ค.ศ. 1948) ผู้นำทางจิตวิญญาณแห่งอินเดียกำลังยืนอยู่กลางสนามหญ้า ในขณะพนมมือสวดมนต์ตามกิจวัตร คานธีถูกนายนาถูราม โคทเส ชาวฮินดูผู้คลั่งศาสนาและไม่ต้องการฮินดู (อินเดีย) สมานฉันท์กับมุสลิม (ปากีสถาน) ใช้อาวุธปืนยิงใส่คานธี 3 นัด จนคานธีล้มลงขณะพนมมือ รายงานส่วนใหญ่บรรยายว่า คานธีเปล่งเสียงแผ่วเบาว่า 'ราม' (บ้างก็ว่า 'เห ราม' ซึ่งมีความหมายว่า ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า) เป็นการปิดฉากบั้นปลายชีวิตของมหาบุรุษผู้ต่อสู้กับมหาอำนาจด้วยสันติวิธีในวัย 78 ปี ภายหลังจากที่อินเดียได้รับเอกราชโดยสมบูรณ์ได้เพียง 6 เดือน

สำหรับประวัติของชายผู้นำการเรียกร้องเอกราชและความเสมอภาค ที่ชื่อ มหาตมะ คานธี ที่เน้นความเป็นสันติวิธี เรียกกันว่าสัตยาเคราะห์ มีจุดเริ่มต้นมาจากเหตุการณ์หนึ่งซึ่งเกิดขึ้นในช่วงที่คานธีเป็นทนายความในวัย 24 ปี โดยเกิดขึ้นบนสถานีรถไฟในประเทศแอฟริกาใต้ครั้งยังอยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษ

เป็นเหตุการณ์หลังจากที่คานธีเรียนจบกฎหมายจากลอนดอนกลับมาอยู่ที่อินเดียได้ไม่นาน คานธีเดินทางไปแอฟริกาใต้เพื่อไปเป็นนักกฎหมายประจำบริษัท Dada Abdulla ที่ทำการค้าอยู่ที่นั่น ในเดือนเมษายน ปี 1893 คานธีซื้อตั๋วรถไฟชั้นหนึ่ง ซึ่งเป็นตู้รถไฟที่หรูหราสะดวกสบายตามอัตราค่าบริการที่สูง แต่เขากลับถูกไล่ลงจากสถานีแรก ให้ไปอยู่ที่ตู้รถไฟชั้นสาม (ชั้นทั่วไปที่ไม่มีความสะดวกสบายและราคาถูก) โดยพนักงานตรวจตั๋วและผู้โดยสารชาวอังกฤษที่อ้างว่าตู้รถไฟชั้นหนึ่งสร้างขึ้นสำหรับผู้โดยสารผิวขาวเท่านั้น

1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2546 ‘รัฐบาลทักษิณ’ ประกาศสงครามกับยาเสพติด ส่งผลเกิดเหตุฆ่าตัดตอนนับพันราย

1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2546 วันนี้ในอดีต รัฐบาลโดยการนำของ ทักษิณ ชินวัตร ประกาศปราบปรามยาเสพติดในประเทศไทยชนิดเข้มข้น หลังการประกาศเพียง 3 เดือน เกิดคดีการฆ่าตัดตอนขึ้นนับพันราย

หลายคนจดจำ ‘รัฐบาลทักษิณ’ ในช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2544 - 2547 กับสโลแกน ‘คิดใหม่ ทำใหม่’ กันได้ดี แต่หนึ่งในเหตุการณ์ที่ต้องถือว่าเป็นไฮไลท์ในยุคที่ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกฯ นั่นก็คือ การปราบปรามยาเสพติด

โดยเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2546 อดีตนายกรัฐมนตรีคนนี้ ได้ประกาศตัวอย่างชัดเจนว่า จะทำสงครามกับขบวนการค้ายาเสพติดในประเทศไทยชนิดเด็ดขาด! และนับจากเดือนกุมภาพันธ์ ไปจนถึงเมษายนของปีนั้น เกิดการฆาตกรรมที่เชื่อมโยงมาจากการปราบปรามยาเสพติดกว่า 2 พันราย!

2 กุมภาพันธ์ ของทุกปี เป็นวัน ‘นักประดิษฐ์’ เทิดพระเกียรติในหลวง รัชกาลที่ 9

วันนักประดิษฐ์ ตรงกับวันที่ 2 กุมภาพันธ์ ของทุกปี ทั้งนี้เพื่อเทิดพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ได้ทรงประดิษฐ์ 'เครื่องกลเติมอากาศที่ผิวน้ำหมุนช้าแบบทุ่นลอย' หรือ กังหันชัยพัฒนา และทรงได้รับการทูลเกล้าฯ ถวายสิทธิบัตรการประดิษฐ์ เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2536 

วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2536 เป็นวันที่สภาวิจัยแห่งชาติได้ทูลเกล้าฯ ถวายสิทธิบัตรการประดิษฐ์ 'เครื่องกลเติมอากาศที่ผิวน้ำหมุนช้าแบบทุ่นลอย' หรือ 'กังหันน้ำชัยพัฒนา' แด่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระมหากษัตริย์พระองค์แรกของโลกที่ได้รับสิทธิบัตรสิ่งประดิษฐ์ นับเป็นสิ่งประดิษฐ์เครื่องกลเติมอากาศ เครื่องที่ 9 ของโลกที่ได้รับการจดสิทธิบัตร และเป็นครั้งแรกที่ได้มีการจดทะเบียนออกสิทธิบัตรให้แก่พระราชวงศ์ 

มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2537 จึงได้กำหนดให้วันที่ 2 กุมภาพันธ์ ของทุกปีเป็นวันนักประดิษฐ์ เพื่อเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในการที่ได้ทรงประดิษฐ์คิดค้น 'เครื่องกลเติมอากาศที่ผิวน้ำหมุนช้าแบบทุ่นลอย' หรือ 'กังหันน้ำชัยพัฒนา' และทรงได้รับการทูลเกล้าฯ ถวายสิทธิบัตรการประดิษฐ์ เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2536 นอกจากจะเป็นการเทิดพระเกียรติแล้ว ยังเป็นวันที่ระลึกถึงวันประวัติศาสตร์ของการจดทะเบียนและออกสิทธิบัตรให้แก่พระมหากษัตริย์พระองค์แรกของโลก ที่ทรงคิดค้นประดิษฐ์สิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ และทรงได้รับสมัญญาว่า 'พระบิดาแห่งการประดิษฐ์ไทย'

3 กุมภาพันธ์ ของทุกปี ‘วันทหารผ่านศึก’ ร่วมสดุดีวีรกรรมทหารกล้า

วันที่ 3 กุมภาพันธ์ ของทุกปี เป็นวันทหารผ่านศึก เพื่อสดุดีวีรกรรมของทหารกล้า อีกทั้งให้ส่วนราชการ ภาคเอกชน และประชาชนทั่วไปมีส่วนร่วมในการส่งเสริมเชิดชูเกียรติและเอื้ออาทรต่อทหารผ่านศึก

วันทหารผ่านศึก (The Thai Veterans Day) กำหนดขึ้นเพื่อเป็นการยกย่องทหารกล้าและให้ความช่วยเหลือครอบครัวทหารที่เสียชีวิตในการรบจากสงครามโลก ครั้งที่ 2 โดยยึดถือจากวันที่พระราชบัญญัติจัดตั้งองค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึกได้ประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษาในวันที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2491 ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2510 องค์การทหารผ่านศึก ได้เปลี่ยนมาเป็นองค์การกุศลของรัฐมาเป็นนิติบุคคล ตามกฎหมาย และกระทรวงกลาโหมจะจัดกองทุนรับเงินอุดหนุนขึ้น และปี พ.ศ.2511 ภริยานายทหารชั้นผู้ใหญ่ริเริ่มจัดทำดอกป๊อปปี้ออกจำหน่ายเพื่อหารายได้เข้ามูลนิธิ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2512 เป็นต้นมา


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top