Tuesday, 29 April 2025
CoolLife

14 มกราคม พ.ศ. 2566 วันเด็กแห่งชาติ วันสำคัญของเด็กและเยาวชนไทย

วันเด็กแห่งชาติ ของประเทศไทย จัดงานครั้งแรกเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2498 จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2508 ได้มีมติเปลี่ยนแปลงเป็นวันเด็กแห่งชาติมาเป็นวันเสาร์ที่สองของเดือนมกราคม และเริ่มจัดงานวันเด็กในปี พ.ศ. 2509

ปี พ.ศ. 2498 อันเป็นปีที่ทั่วโลกเริ่มจัดงานเฉลิมฉลองวันเด็กแห่งชาติกันขึ้น ซึ่งจะเป็นเยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปี ตามความเห็นคล้อยตามกับองค์การสหประชาชาติที่นำปัญหาเรื่องเด็กมาร่างเป็นปฏิญญาว่าด้วยสิทธิของเด็ก

ประเทศไทยได้รับข้อเสนอของ วี เอ็ม กุลกานี ผู้แทนองค์กรสมาพันธ์เพื่อสวัสดิภาพเด็กระหว่างประเทศ ผ่านมาทางกรมประชาสงเคราะห์ กระทรวงมหาดไทย ว่า ประเทศไทยควรจัดงานเฉลิมฉลองวันเด็กแห่งชาติขึ้น เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนเห็นความสำคัญของเด็กให้มากขึ้น ดังที่นานาประเทศกำลังทำอยู่

ขณะนั้น สภาวัฒนธรรมแห่งชาติยังมิได้ถูกยุบเลิกไป คณะกรรมการสภาวัฒนธรรมแห่งชาติ จึงนำเรื่องนี้เข้าสู่ที่ประชุมเพื่อพิจารณา ในที่สุดที่ประชุมได้เห็นชอบนำเรื่องเสนอต่อคณะรัฐมนตรีในขณะนั้น ต่อมาเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2498 ได้มีมติคณะรัฐมนตรีรับหลักการ ให้จัดงานวันเด็กแห่งชาติขึ้น โดยมอบหมายให้กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงศึกษาธิการรับไปดำเนินการ ส่วนของค่าใช้จ่ายในการจัดงานนั้น ได้อนุมัติเงินจากกองสลากกินแบ่งรัฐบาลมาดำเนินการ

15 มกราคม พ.ศ.2477 พิธีเปิดอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี วีรสตรีผู้กล้าแห่งเมืองโคราช

ครบรอบ 89 ปี พิธีเปิด อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี ที่ชาวนครราชสีมาได้ร่วมกันสร้างขึ้นเพื่อบรรจุอัฐิของ ‘ย่าโม’ โดยได้ ศาสตราจารย์ ศิลป์ พีระศรี เป็นผู้ออกแบบร่วมกับ พระเทวาภินิมมิตร ประติมากรเลื่องชื่อในสมัยนั้น

วันที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2477 เป็นวันทำพิธีเปิด อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี หรือ ย่าโม ที่ชาวนครราชสีมาได้ร่วมกันสร้างขึ้นเพื่อบรรจุอัฐิของท่าน โดยได้ ศาสตราจารย์ ศิลป์ พีระศรี เป็นผู้ออกแบบร่วมกับ พระเทวาภินิมมิตร ประติมากรเลื่องชื่อในสมัยนั้น

ท้าวสุรนารี มีนามเดิมว่า 'โม' หรือท้าวมะโหโรง เป็นชาวเมืองนครราชสีมาโดยกำเนิด เกิดเมื่อปีระกา พ.ศ. 2314 มีนิวาสสถานอยู่ ณ บ้านตรงกันข้ามกับวัดพระนารายณ์มหาราช (วัดกลางนคร) ทางทิศใต้ของเมืองนครราชสีมา เป็นธิดาของนายกิ่มและนางบุญมา มีพี่สาวหนึ่งคนและน้องชายหนึ่งคน

ต่อมา

เมื่อปี พ.ศ. 2339 โม ได้แต่งงานสมรสกับนายทองคำขาว ต่อมานายทองคำขาวได้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็น พระภักดีสุริยเดช ตำแหน่งรองปลัดเมืองนครราชสีมา นางโม จึงได้เป็นคุณนายโม และต่อมา พระภักดีสุริยเดช ได้เลื่อนเป็น พระยาสุริยเดช ตำแหน่งปลัดเมืองนครราชสีมา คุณนายโมจึงได้เป็น คุณหญิงโม และชาวเมืองนครราชสีมาเรียกท่านทั้งสองเป็นสามัญว่า คุณหญิงโม และ พระยาปลัดทองคำ 

ท้าวสุรนารีเป็นคนมีสติปัญญาหลักแหลม เล่นหมากรุกเก่ง มีความชำนาญในการขี่ช้าง ขี่ม้า มีม้าตัวโปรดสีดำ และมักจะพาลูกหลานไปทำบุญที่วัดสระแก้วเป็นประจำเสมอ ท้าวสุรนารีถึงแก่อสัญกรรมเมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2395 สิริรวมอายุได้ 81 ปี

สำหรับวีรกรรมของท้าวสุรนารี ที่ชาวไทยยกย่อง และจดจำมาจนถึงทุกวันนี้ เกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2369 เจ้าอนุวงศ์แห่งเวียงจันทน์เป็นกบฏต่อกรุงเทพมหานคร ได้ยกกองทัพเข้ามายึดเมืองนครราชสีมา และกวาดต้อนครอบครัวชาวนครราชสีมาไป คุณหญิงโมและนางสาวบุญเหลือรวบรวมครอบครัวชายและหญิงชาวนครราชสีมาที่ถูกกวาดต้อนไปเป็นเชลย เข้าต่อสู้ฆ่าฟันทหารลาวล้มตายเป็นอันมาก ณ ทุ่งสัมฤทธิ์ แขวงเมืองนครราชสีมา เมื่อวันที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2369 ช่วยให้ฝ่ายไทยสามารถกอบกู้เมืองนครราชสีมากลับคืนมาได้ในที่สุด

เมื่อความทราบไปถึงพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาคุณหญิงโม ขึ้นเป็น 'ท้าวสุรนารี' เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2370 เมื่อคุณหญิงโมมีอายุได้ 57 ปี พร้อมกับพระราชทานเครื่องยศดังนี้

16 มกราคม ของทุกปี เป็น ‘วันครูแห่งชาติ’ น้อมรำลึกพระคุณ ‘แม่พิมพ์ของชาติ’

วันที่ 16 มกราคม ของทุกปี กำหนดให้เป็น ‘วันครูแห่งชาติ’ รำลึกถึงพระคุณครูบาอาจารย์ ผู้ที่ได้ชื่อว่า แม่พิมพ์ของชาติ

'วันครู' ถูกจัดขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2500 หลังจากพระราชบัญญัติครูประกาศใช้ 12 ปี โดยสถานที่จัดงานวันครั้งแรกเกิดขึ้นในจังหวัดพระนคร และธนบุรี ที่กรีฑาสถานแห่งชาติ

จุดเริ่มต้นของการมีวันครู มาจากการเรียกร้องของครูจำนวนมาก ซึ่งความเห็นของครูที่แสดงออกมาทั้งพยายามที่จะชี้ให้เห็นความสำคัญของครูและอาชีพครู ในฐานะที่เป็นผู้เสียสละประกอบคุณงามความดี เพื่อประโยชน์ของชาติและประชาชนเป็นอันมาก จึงควรที่จะมีวันแห่งการรำลึกถึงความสำคัญของครู เปิดโอกาสให้ครูทั้งหลายได้พักผ่อนบำเพ็ญกุศลและตลอดจนดำรงกิจกรรมอื่น ๆ เพื่อประโยชน์ของครูและการศึกษาของชาติตามสมควร

จากความต้องการและการเรียกร้องของครูดังกล่าว จอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี ประธานกรรมการอำนวยการคุรุสภากิตติมศักดิ์ ได้นำเสนอในที่ประชุมผู้แทนคณะครูทั่วประเทศในคราวประชุมวิสามัญของคุรุสภา เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2499 ที่ประชุมสามัญของคุรุสภามีมติเห็นชอบและให้เสนอคณะกรรมการอำนวยการคุรุสภาพิจารณา เพื่อกำหนดให้มีวันครูขึ้น

วันที่ 17 มกราคม ของทุกปี วันพ่อขุนรามคำแหงมหาราช พระมหากษัตริย์ ผู้ประดิษฐ์คิดค้นอักษรไทย

วันที่ 17 มกราคมของทุกปี ถือเป็นวันพ่อขุนรามคำแหงมหาราช อันเป็นวันค้นพบหลักศิลาจารึก เมื่อวันที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2376

พ่อขุนรามคำแหงมหาราช พระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์พระร่วง กรุงสุโขทัย ทรงทำนุบำรุงปกครองบ้านเมืองด้วยพระเมตตาธรรมต่อไพร่ฟ้า อาณาประชาราษฎร์ทรงสร้างสรรค์มรดกทางศิลปะและวัฒนธรรมที่สำคัญๆ ของชาติไว้อย่างอเนกอนันต์มรดกของชาติที่สำคัญที่สุดก็คือ พ่อขุนรามคำแหงมหาราชได้ทรงคิดประดิษฐ์อักษรไทยขึ้นเมื่อประมาณปีพุทธศักราช 1826 อันเป็นต้นกำเนิดของอักษรไทยที่ใช้กันในทุกวันนี้

นอกจากนี้พระองค์ท่านยังได้ทรงรวบรวมแคว้นต่าง ๆ เข้าด้วยกันจนเป็นราชอาณาจักรไทยที่กว้างใหญ่ไพศาลกว่าทุกยุคสมัยที่ผ่านมา พระราชกรณียกิจอันเป็นคุณประโยชน์แก่ประโยชน์แก่ประเทศชาติของพระองค์ท่านล้วนแต่เป็นการวางรากฐาน แห่งความเจริญไว้ให้แก่ประเทศชาติและปวงชนชาวไทยทุกคนสืบทอดต่อกันมาเป็นระยะเวลายาวนานมากว่า 718 ปี

ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่าน ดังที่ได้ประจักษ์รัฐบาลและปวงชนชาวไทย จึงได้พร้อมใจกันถวายพระราชสมัญญาแด่พระองค์ท่านเป็น 'มหาราช' พระองค์แรกของชาติไทย และได้ร่วมกันสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ของพระองค์ท่านขึ้นไว้เพื่อสักการะ ณ บริเวณอุทยานประวัติศาสตร์ จังหวัดสุโขทัย โดยสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธีอัญเชิญดวงพระวิญญาณของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช จากศาลพระแม่ย่าไปสถิต ณ พระบรมราชานุสาวรีย์ฯ แล้วทรงเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์พ่อขุนรามคำแหงมหาราช เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ.2528 โดยจังหวัดสุโขทัยได้จัดให้มีพิธีถวายบังคมมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2528 เป็นต้นมา

18 มกราคม ของทุกปี กำหนดเป็น ‘วันกองทัพไทย’ รำลึกพระนเรศวรทำยุทธหัตถีมีชัยต่อทัพพม่า

วันที่ 18 มกราคมของทุกปีเป็น วันกองทัพไทย วันนี้มีเพื่อระลึกในวาระที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงกระทำยุทธหัตถีกับพระมหาอุปราชาของพม่า

18 มกราคมของทุกปี นับเป็นวันสำคัญอีกวันหนึ่งในวงการทหารของไทย เพราะเป็นวันที่ระลึกในวาระที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงกระทำยุทธหัตถีกับพระมหาอุปราชาของพม่า โดยถือเอาวันที่ 18 มกราคม ของทุกปีเป็นวันกองทัพไทย ตามการคำนวณจากเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ ที่ระบุว่า พระองค์กระทำยุทธหัตถี ในวันจันทร์ แรม 2 ค่ำ เดือนยี่ ปีมะโรง จุลศักราช 954 คำนวณได้ ตรงกับวันที่ 18 มกราคม พุทธศักราช 2135 (บางตำราว่า ปีพุทธศักราช 2136)

เดิมกระทรวงกลาโหมได้กำหนดให้วันที่ 8 เมษายนของทุกปีเป็นวันกองทัพไทย ต่อมาในปี พ.ศ. 2523 ได้เปลี่ยนโดยให้ถือเอาวันที่ 25 มกราคม เป็นวันกองทัพไทย ตามมติของคณะรัฐมนตรีในสมัยนั้น ตามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องกำหนดวันกองทัพไทย และวันสถาปนากระทรวงกลาโหมลง 13 มิถุนายน 2513

19 มกราคม พ.ศ. 2545 ในหลวง ร. 9 ทรงประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์ อาคารผู้โดยสาร ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ

วันนี้ เมื่อ 21 ปีก่อน พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 เสด็จพระราชดำเนินไปทรงวางศิลาฤกษ์อาคารผู้โดยสาร และอาคารเทียบเครื่องบิน ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ

ทั้งนี้ พระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานนาม ท่าอากาศยานสากลกรุงเทพ แห่งที่ 2 ว่า 'ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ' ซึ่งมีความหมายว่า 'แผ่นดินทอง'

สำหรับแนวคิดในการก่อสร้างท่าอากาศยานนานาชาติแห่งที่ 2 ในกรุงเทพมหานคร เริ่มมีขึ้นในปี พ.ศ. 2503 ในสมัยรัฐบาลจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากการจัดตั้ง 'สภาเศรษฐกิจแห่งชาติ' ในสมัยจอมพล แปลก พิบูลสงคราม เช่นเดียวกับการศึกษาของบริษัทลิตช์ฟีลด์และสำนักงานบริหารการบินแห่งชาติสหรัฐอเมริกา ซึ่งชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นของการสร้างท่าอากาศยานพาณิชย์แห่งที่ 2 ในกรุงเทพมหานคร

รัฐบาลจอมพล ถนอม กิตติขจร ให้สัมปทานแก่บริษัทนอร์ททรอปแห่งสหรัฐอเมริกา แต่ยังไม่ทันก่อสร้างก็เกิดเหตุการณ์ 14 ตุลา จนสัมปทานถูกยกเลิก ต่อมา รัฐบาลพลเอก เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาแทมส์เพื่อศึกษาพื้นที่ในการก่อสร้างท่าอากาศยานแห่งใหม่ จนเมื่อ พ.ศ. 2521 ก็ได้ข้อสรุปตามเดิมว่า หนองงูเห่าเป็นพื้นที่ที่เหมาะสมที่สุด

เมื่อถึง พ.ศ. 2534 รัฐบาล อานันท์ ปันยารชุน ของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) โดยมติคณะรัฐมนตรี อนุมัติให้ดำเนินการก่อสร้างท่าอากาศยานกรุงเทพแห่งที่ 2 ณ บริเวณหนองงูเห่า โดยมอบหมายให้การท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย (บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ในปัจจุบัน) เป็นผู้ดำเนินการ

ต่อมาในรัฐบาล ชวน หลีกภัย ได้อนุมัติงบประมาณ 120,000 ล้านบาท เพื่อใช้ดำเนินโครงการ และให้การท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย ไม่ต้องนำเงินกำไร 50% ส่งเข้าคลังเป็นเวลา 2 ปี เพื่อให้มีงบประมาณเพียงพอที่จะอพยพโยกย้ายประชาชนออกจากพื้นที่เวนคืน

20 มกราคม พ.ศ. 2539 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เป็นองค์ประธานในพิธีปล่อยเรือหลวงจักรีนฤเบศร

วันนี้ เมื่อ 27 ปีก่อน สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เป็นองค์ประธานในพิธีปล่อยเรือหลวงจักรีนฤเบศร ณ อู่เรือบาซาน ประเทศสเปน

เรือหลวงจักรีนฤเบศร ได้เริ่มสร้างในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2536 และมีการวางกระดูกงูในวันที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2537 ทำพิธีปล่อยเรือลงน้ำในวันที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2539 โดย สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธานในพิธีปล่อยเรือหลวงจักรีนฤเบศรลงน้ำ ณ อู่เรือบาซาน ประเทศสเปน ก่อนจะขึ้นระหว่างประจำการเมื่อวันที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2540

21 มกราคม ของทุกปี กำหนดให้เป็น ‘วันความปลอดภัยของผู้ใช้ถนน’ รำลึก ‘หมอกระต่าย’ ถูกชนเสียชีวิตบนทางม้าลาย

ครบ 1 ปี การเสียชีวิตของ ‘หมอกระต่าย - พญ.วราลัคน์ สุภวัตรจริยากุล’ ที่ถูกบิ๊กไบค์ชนขณะข้ามทางม้าลาย ในวันที่ 21 มกราคม 2566

ครบ 1 ปี การเสียชีวิตของหมอกระต่าย พญ.วราลัคน์ สุภวัตรจริยากุล ในวันที่ 21 มกราคม 2566 ทำให้ ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2566 มีมติเห็นชอบกำหนดให้วันที่ 21 ม.ค. ของทุกปีเป็น 'วันความปลอดภัยของผู้ใช้ถนน' ตามที่ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) เสนอ เพื่อหยุดความสูญเสียจากการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน และไม่ให้เกิดเหตุการณ์รถชนคนข้ามทางม้าลายเกิดขึ้นซ้ำอีก

22 มกราคม พ.ศ. 2486 ประกาศใช้คำว่า "สวัสดี" เป็นคำทักทาย หลังจากมีการคิดค้นคำนี้เมื่อปี 2476

วันนี้ เมื่อ 79 ปีก่อน จอมพล ป. พิบูลสงคราม ประกาศใช้คำว่า "สวัสดี" เป็นคำทักทายอย่างเป็นทางการ หลังจากมีการคิดค้นคำนี้เมื่อปี 2476 ในรายการวิทยุกระจายเสียง

การกล่าวคำทักทายของแต่ละประเทศล้วนมีความแตกต่างกัน และถือเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่บ่งบอกความเป็นมาของประเทศนั้น ๆ ซึ่งประเทศไทยก็มีคำทักทายเช่นกัน นั่นก็คือคำว่า "สวัสดี" เรียกได้ว่าเป็นคำพูดติดปากไม่ว่าจะเป็นการพบกัน หรือลาจากกัน ต่างก็ต้องเอ่ยคำว่า "สวัสดี" และรู้หรือไม่ว่า ประเทศไทยนั้นมีการใช้คำนี้อย่างเป็นทางการนานเกือบ 80 ปีแล้ว

โดยเริ่มแรกนั้น พระยาอุปกิตศิลปสาร (นิ่ม กาญจนาชีวะ) ได้เล่าต้นสายปลายเหตุว่า เมื่อก่อนเจ้าหน้าที่วิทยุกระจายเสียงจะใช้คำว่า "ราตรีสวัสดิ์" เป็นการพูดเมื่อจบรายการ บางครั้งก็มีการอนุโลมให้พูดคำว่า "กู๊ดไนท์" (Goodnight) ของอังกฤษ แต่มีคนไม่เห็นด้วย จึงให้กรรมการชำระปทานุกรมของกระทรวงธรรมการ (กระทรวงศึกษาธิการ) ในสมัยนั้น ช่วยคิดหาคำใหม่ขึ้นมาแทน จนในที่สุดก็ได้คำว่า "สวัสดี"

23 มกราคม พ.ศ. 2424 วันประสูติ ‘กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน’ พระบิดาแห่งกิจการรถไฟสมัยใหม่

23 มกราคม พ.ศ. 2424 วันประสูติ นายพลเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากร กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน ‘พระบิดาแห่งกิจการรถไฟสมัยใหม่’

นายพลเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากร กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน หรือ พระนามเดิมว่า 'พระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากร' เป็นพระราชโอรสองค์ที่ 35 ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 กับเจ้าจอมมารดาวาด ประสูติ วันที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2424

ใน พ.ศ. 2460 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณา โปรดเกล้าให้รวมกรมรถไฟสายเหนือกับสายใต้เข้าเป็นกรมเดียวกัน เรียกว่า กรมรถไฟหลวง โดยให้ กรมขุนกำแพงเพชรอัครโยธิน เป็นผู้บัญชาการรถไฟอีกตำแหน่งหนึ่ง

ช่วงแรกที่พระองค์เสด็จมาเป็นผู้บัญชาการรถไฟใหม่ ๆ กิจการรถไฟ มีคนไทยอยู่น้อยมากส่วนใหญ่เป็นชาวต่างประเทศมีชาวเยอรมัน อังกฤษ อิตาเลียน และชาวเอเชียชาติต่างๆ เช่น ชาวอินเดีย ชาวซีลอน และชาวพม่า พระองค์จึงทรงระดมคนไทยจากทหารช่าง กรมแผนที่และคนไทยที่พูดภาษาอังกฤษได้ จากห้างร้านต่าง ๆ ให้เข้ามาทำงานรถไฟ ทรงฝึกฝนคนไทยให้มีความสามารถในกิจการรถไฟด้วยการแนะนำสั่งสอนด้วย พระองค์เอง


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top