15 มกราคม พ.ศ.2477 พิธีเปิดอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี วีรสตรีผู้กล้าแห่งเมืองโคราช
ครบรอบ 89 ปี พิธีเปิด อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี ที่ชาวนครราชสีมาได้ร่วมกันสร้างขึ้นเพื่อบรรจุอัฐิของ ‘ย่าโม’ โดยได้ ศาสตราจารย์ ศิลป์ พีระศรี เป็นผู้ออกแบบร่วมกับ พระเทวาภินิมมิตร ประติมากรเลื่องชื่อในสมัยนั้น
วันที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2477 เป็นวันทำพิธีเปิด อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี หรือ ย่าโม ที่ชาวนครราชสีมาได้ร่วมกันสร้างขึ้นเพื่อบรรจุอัฐิของท่าน โดยได้ ศาสตราจารย์ ศิลป์ พีระศรี เป็นผู้ออกแบบร่วมกับ พระเทวาภินิมมิตร ประติมากรเลื่องชื่อในสมัยนั้น
ท้าวสุรนารี มีนามเดิมว่า 'โม' หรือท้าวมะโหโรง เป็นชาวเมืองนครราชสีมาโดยกำเนิด เกิดเมื่อปีระกา พ.ศ. 2314 มีนิวาสสถานอยู่ ณ บ้านตรงกันข้ามกับวัดพระนารายณ์มหาราช (วัดกลางนคร) ทางทิศใต้ของเมืองนครราชสีมา เป็นธิดาของนายกิ่มและนางบุญมา มีพี่สาวหนึ่งคนและน้องชายหนึ่งคน
ต่อมา
เมื่อปี พ.ศ. 2339 โม ได้แต่งงานสมรสกับนายทองคำขาว ต่อมานายทองคำขาวได้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็น พระภักดีสุริยเดช ตำแหน่งรองปลัดเมืองนครราชสีมา นางโม จึงได้เป็นคุณนายโม และต่อมา พระภักดีสุริยเดช ได้เลื่อนเป็น พระยาสุริยเดช ตำแหน่งปลัดเมืองนครราชสีมา คุณนายโมจึงได้เป็น คุณหญิงโม และชาวเมืองนครราชสีมาเรียกท่านทั้งสองเป็นสามัญว่า คุณหญิงโม และ พระยาปลัดทองคำ
ท้าวสุรนารีเป็นคนมีสติปัญญาหลักแหลม เล่นหมากรุกเก่ง มีความชำนาญในการขี่ช้าง ขี่ม้า มีม้าตัวโปรดสีดำ และมักจะพาลูกหลานไปทำบุญที่วัดสระแก้วเป็นประจำเสมอ ท้าวสุรนารีถึงแก่อสัญกรรมเมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2395 สิริรวมอายุได้ 81 ปี
สำหรับวีรกรรมของท้าวสุรนารี ที่ชาวไทยยกย่อง และจดจำมาจนถึงทุกวันนี้ เกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2369 เจ้าอนุวงศ์แห่งเวียงจันทน์เป็นกบฏต่อกรุงเทพมหานคร ได้ยกกองทัพเข้ามายึดเมืองนครราชสีมา และกวาดต้อนครอบครัวชาวนครราชสีมาไป คุณหญิงโมและนางสาวบุญเหลือรวบรวมครอบครัวชายและหญิงชาวนครราชสีมาที่ถูกกวาดต้อนไปเป็นเชลย เข้าต่อสู้ฆ่าฟันทหารลาวล้มตายเป็นอันมาก ณ ทุ่งสัมฤทธิ์ แขวงเมืองนครราชสีมา เมื่อวันที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2369 ช่วยให้ฝ่ายไทยสามารถกอบกู้เมืองนครราชสีมากลับคืนมาได้ในที่สุด
เมื่อความทราบไปถึงพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาคุณหญิงโม ขึ้นเป็น 'ท้าวสุรนารี' เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2370 เมื่อคุณหญิงโมมีอายุได้ 57 ปี พร้อมกับพระราชทานเครื่องยศดังนี้
- ถาดทองคำใส่เครื่องเชี่ยนหมาก 1 ใบ
- จอกหมากทองคำ 1 คู่
- ตลับทองคำ 3 ใบเถา
- เต้าปูนทองคำ 1 ใบ
- คนโท และขันน้ำทองคำอย่างละ 1 ใบ
ต่อมา เมื่อท้าวสุรนารี ถึงแก่อสัญกรรม เมื่อปี พ.ศ. 2395 อายุ 81 ปี เจ้าพระยามหิศราธิบดี ผู้เป็นสวามี ได้ฌาปนกิจศพและสร้างเจดีย์บรรจุอัฐิไว้ ณ วัดศาลาลอย ซึ่งท้าวสุรนารีได้สร้างไว้ เมื่อเวลาผ่านไปเจดีย์ชำรุดลง พลตรีเจ้าพระยาสิงหเสนี ได้บริจาคทรัพย์สร้างกู่ขนาดเล็ก บรรจุพระอัฐิท้าวสุรนารีขี้นใหม่ที่วัดกลาง (วัดพระนารายณ์มหาราช) ต่อมากู่นั้นได้ทรุดโทรมลง อีกทั้งยังอยู่ในที่แคบ ไม่สมเกียรติ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา พร้อมด้วยข้าราชการ และประชาชนชาวนครราชสีมา ได้พร้อมใจกันสร้างอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารีด้วยสัมฤทธิ์ ซึ่งทางกรมศิลปากรได้มอบให้ ศาสตราจารย์ ศิลป์ พีระศรี เป็นผู้ออกแบบ ร่วมกับพระเทวาภินิมมิตร
จากนั้น ได้อัญเชิญอัฐิของท่านนำมาบรรจุไว้ที่ฐานรองรับ และประดิษฐานไว้ ณ ที่หน้าประตูชุมพล โดยอนุสาวรีย์หล่อด้วยทองแดงรมดำสูง 1.85 เมตร หนัก 325 กิโลกรัม ตั้งอยู่บนฐานไพทีสี่เหลี่ยมย่อมุมไม้สิบสองซึ่งบรรจุอัฐิของท่าน แต่งกายด้วยเครื่องยศพระราชทานในท่ายืน มือขวากุมดาบปลายดาบจรดพื้น มือซ้ายท้าวสะเอว หันหน้าไปทางทิศตะวันตก ซึ่งเป็นทิศที่ตั้งของกรุงเทพมหานคร นับเป็นอนุสาวรีย์ของสามัญชนสตรี คนแรกของประเทศไทย