Saturday, 26 April 2025
CoolLife

14 เมษายน พ.ศ. 2520 ในหลวง รัชกาลที่ 9 พร้อมด้วยสมเด็จพระพันปีหลวง เสด็จฯ เยี่ยมชมเขื่อนลำตะคอง จ. นครราชสีมา

วันนี้เมื่อ 48 ปีก่อน พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พร้อมด้วย สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จพระราชดำเนินโดยเฮลิคอปเตอร์พระที่นั่ง เยี่ยมชมเขื่อนลำตะคอง อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา

ทรงประทับบ้านพักรับรองบนเขื่อนลำตะคอง ของกรมชลประทาน สร้างความปลาบปลื้ม ปิติให้กับข้าราชการ และพสกนิกรที่มารอรับเสด็จในครั้งนั้น โดยในช่วงที่ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงเสด็จเยี่ยมชมเขื่อนลำตะคอง ในครั้งนั้น พระองค์ท่านทรงชี้แนะเรื่องการบริหารจัดการน้ำของเขื่อนลำตะคอง ให้ทางกรมชลประทาน นำไปจัดการบริหารน้ำให้กับเกษตรกรในพื้นที่ ซึ่งเป็นภาพประวัติศาสตร์ของเขื่อนลำตะคอง และชาวจังหวัดนครราชสีมา

สำหรับเขื่อนลำตะคอง ตั้งอยู่ที่ ตำบลคลองไผ่ อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา เป็นอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ เริ่มสร้างในปี พ.ศ. 2507 แล้วเสร็จในปี 2512 โดยกรมชลประทาน ได้มีโครงการทดและส่งน้ำลำตะคอง เพื่อช่วยเหลือพื้นที่เพาะปลูกทั้ง 2 ฝั่งลำตะคอง ในพื้นที่อำเภอเมือง กับบางส่วนของอำเภอขามทะเลสอ และอำเภอเฉลิมพระเกียรติ ซึ่งเป็น 1 ใน 16 แห่ง ที่กรมชลประทานได้เลือกไว้ในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำ

15 เมษายน พ.ศ. 2567 ครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ‘พลังงานไทย’ กำหนดให้ผู้ค้าน้ำมันต้องแจ้งต้นทุน 'นำเข้า-ส่งออก'

ครบรอบ 1 ปี กับนโยบายกำกับควบคุมราคาน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อให้ราคาจำหน่ายเป็นไปตามต้นทุนจริงและให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่พี่น้องประชาชนคนไทย ภายหลัง นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน หัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ ได้ออกประกาศกระทรวงพลังงาน เรื่อง การแจ้งข้อมูลเกี่ยวกับการนำเข้าและส่งออกน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2567 นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ชาติไทย!!

โดยประกาศกระทรวงพลังงานฉบับดังกล่าวได้กำหนดให้ผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติการค้าน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2543 ต้องรายงานข้อมูลรายละเอียดราคาและต้นทุนที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการนำเข้าและการส่งออกน้ำมันเชื้อเพลิงต่ออธิบดีกรมธุรกิจพลังงานทราบภายในวันที่ 15 ของเดือน ถัดจากเดือนที่มีการบันทึกบัญชีรายวัน โดยราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ประกาศกระทรวงพลังงานฉบับดังกล่าวเมื่อ 13 มีนาคม 2567 และให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 14 มีนาคม 2567 เป็นต้นไป

หมายความว่า ผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 7 ต้องแจ้งราคาต้นทุนเฉลี่ยและหลักเกณฑ์ที่ใช้ในการคำนวณต้นทุนเฉลี่ยของน้ำมันเชื้อเพลิงในทุกไตรมาส และในกรณีที่ผู้ค้าน้ำมันมีการปรับปรุงการบันทึกบัญชี หรือเปลี่ยนแปลงข้อมูลจะต้องแจ้งให้อธิบดีกรมธุรกิจพลังงานทราบภายใน 7 วัน โดยข้อมูลที่ได้รับมาจะถือเป็นข้อมูลลับของทางราชการและจะมีการเก็บรักษาเป็นความลับอย่างที่สุด

สำหรับต้นทุนเฉลี่ยของน้ำมันเชื้อเพลิงซึ่งถือเป็นข้อมูลที่จำเป็นในการกำหนดนโยบายด้านการพลังงานที่เหมาะสมนั้น ประกอบด้วย ราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งหมายความรวมถึงน้ำมันดิบ, ก๊าซธรรมชาติ, ก๊าซปิโตรเลียมเหลว, น้ำมันเบนซิน และน้ำมันดีเซล และต้นทุนอื่นที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการซื้อและขายน้ำมันเชื้อเพลิง เช่น ค่าขนส่ง, ค่าประกันภัย, ค่าตอบแทนนายหน้า, ค่าใช้จ่ายในการแลกเปลี่ยนและโอนเงิน, ค่าภาษี, อากร หรือค่าธรรมเนียมอื่นใด ซึ่งผู้ประกอบการได้บันทึกบัญชีและมีหน้าที่ต้องชำระ โดยคำนวณเฉลี่ยเป็นหน่วยต่อลิตรในแต่ละรายไตรมาสของปีบัญชี

ทั้งนี้ ด้วยเพราะน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นต้นทุนหลักของภาคธุรกิจในการประกอบกิจการ หากน้ำมันเชื้อเพลิงที่จำหน่ายภายในประเทศนั้น มีการค้ากำไรเกินสมควร มีปริมาณการจัดจำหน่ายที่ไม่เพียงพอ หรือไม่ได้คุณภาพแล้ว ย่อมจะส่งผลกระทบในทางลบและสร้างความเสียหายอย่างรุนแรงทั้งต่อประชาชน และระบบเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม 

ดังนั้นประกาศกระทรวงพลังงานฉบับดังกล่าว จึงมีความจำเป็นต่อการกำหนดนโยบายด้านพลังงานของประเทศเป็นอย่างยิ่ง เพื่อให้ภาครัฐโดยกระทรวงพลังงานมีข้อมูลที่จำเป็นสำหรับกำหนดนโยบายด้านพลังงานให้เกิดความถูกต้องเหมาะสม อันจะทำให้ราคาจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงภายในประเทศนั้นมีความยุติธรรม ด้วยมีการสะท้อนต้นทุนที่แท้จริง และเป็นการคุ้มครองไม่ให้มีการค้ากำไรเกินสมควรในการจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อมิให้พี่น้องประชาชนคนไทยได้รับความเดือดร้อนจากราคาน้ำมันที่ไม่ถูกต้องและเป็นธรรม เป็นการสนับสนุนและส่งเสริมให้ผู้ประกอบธุรกิจทุกประเภทและทุกระดับให้มีขีดความสามารถอย่างเท่าเทียมสำหรับการแข่งขันทางการค้าในระดับประเทศ ระดับภูมิภาค และระดับโลกได้เพิ่มมากขึ้นอีกด้วย

ดังนั้น ในวันที่ 15 เมษายน 2567 จึงเป็นวันแรกและครั้งแรกของประเทศไทยที่ผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 7 ต้องแจ้งข้อมูลต้นทุนที่เกี่ยวข้องกับน้ำมันต่ออธิบดีกรมธุรกิจพลังงานทุกเดือน โดยประกาศฉบับนี้จะช่วยดำเนินการจัดการให้เกิดความชัดเจนในเรื่องของราคาจำหน่ายของน้ำมันเชื้อเพลิงที่ต้องอิงกับราคาตลาดโลกนั่นเอง

17 เมษายน พ.ศ. 2518 เขมรแดงยึดพนมเปญ สิ้นสุดสงครามกลางเมือง แต่กลายเป็นจุดเปลี่ยนที่แสนเจ็บปวดของประเทศกัมพูชา

วันที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2518 (ค.ศ. 1975) กองกำลังเขมรแดง (Khmer Rouge) ซึ่งนำโดย พอล พต (Pol Pot) ได้เคลื่อนกำลังเข้าสู่ กรุงพนมเปญ เมืองหลวงของประเทศกัมพูชา และสามารถเข้ายึดครองเมืองได้สำเร็จ นับเป็นการสิ้นสุดสงครามกลางเมืองกัมพูชาที่ยืดเยื้อยาวนานถึง 5 ปี นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2513 หลังการโค่นล้มพระบาทสมเด็จพระนโรดม สีหนุ

สงครามกลางเมืองในกัมพูชาเป็นการสู้รบระหว่างรัฐบาลฝ่ายสาธารณรัฐเขมร ที่ได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐอเมริกา กับกองกำลังคอมมิวนิสต์เขมรแดงที่ได้รับการสนับสนุนจากจีนและเวียดนามเหนือ ความขัดแย้งทวีความรุนแรงโดยมีพลเรือนผู้บริสุทธิ์จำนวนมากได้รับผลกระทบ

หลังยึดครองพนมเปญได้ กองกำลังเขมรแดงได้ดำเนินนโยบายรุนแรงทันที โดยสั่งอพยพประชาชนทั้งหมดออกจากเมืองหลวงภายในไม่กี่วัน ด้วยข้ออ้างว่าเป็นมาตรการทางยุทธศาสตร์และเพื่อเริ่มต้น “การปฏิวัติทางเกษตรกรรม” ประเทศถูกรีเซ็ตสู่ 'ปีศูนย์' (Year Zero) ซึ่งเป็นแนวคิดในการล้มล้างทุกสิ่งจากอดีต เพื่อสร้างสังคมใหม่ที่ไม่มีชนชั้น

ประชาชนในเมืองหลวงต่างออกมาต้อนรับกองกำลังด้วยความโล่งใจ หวังว่าสงครามจะสิ้นสุดลงและความสงบสุขจะกลับมา แต่สิ่งที่เกิดขึ้นต่อจากนั้นกลับกลายเป็น จุดเริ่มต้นของหนึ่งในโศกนาฏกรรมทางมนุษยธรรมที่เลวร้ายที่สุดในศตวรรษที่ 20

ภายใต้การปกครองของเขมรแดงตั้งแต่ปี พ.ศ. 2518–2522 กัมพูชาต้องเผชิญกับระบอบเผด็จการสุดโต่ง ประชาชนถูกบังคับให้ทำงานในไร่นาและถูกแยกออกจากครอบครัว โรงเรียน โรงพยาบาล และศาสนสถานถูกปิด ผู้ที่ถูกมองว่าเป็น 'ศัตรูของรัฐ' ไม่ว่าจะเป็นผู้รู้ ปัญญาชน พระสงฆ์ หรือแม้แต่ผู้ใส่แว่นตา ถูกประหารชีวิตอย่างโหดเหี้ยม

ซึ่งมีการคาดการณ์ว่ามีประชาชนเสียชีวิตจากความอดอยาก การถูกทรมาน หรือการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์มากถึง 2 ล้านคน จากประชากรทั้งหมดราว 8 ล้านคนในขณะนั้น

บทสรุป เหตุการณ์วันที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2518 เป็นจุดจบของสงครามกลางเมือง แต่เป็นจุดเริ่มต้นของยุคแห่งความโหดร้าย ที่เขมรแดงนำมาใช้ในการเปลี่ยนแปลงสังคมกัมพูชาอย่างรุนแรง การยึดครองพนมเปญของเขมรแดงไม่เพียงแต่เปลี่ยนแปลงภูมิรัฐศาสตร์ของภูมิภาคอินโดจีน แต่ยังทิ้งร่องรอยลึกในจิตใจของชาวกัมพูชาหลายชั่วอายุคน

สดชื่นจากธรรมชาติแท้ๆ กับ 6ty Degrees Water

น้ำแร่ธรรมชาติ 100% จากแหล่งน้ำพุร้อนใต้ดิน ที่อุดมด้วยแร่ธาตุกว่า 16 ชนิด ให้พลังงาน เติมความสดชื่นได้ทุกวัน!

หาซื้อได้แล้วที่ 7-Eleven, HomePro และซูเปอร์มาร์เก็ตชั้นนำทั่วประเทศ
หรือสั่งออนไลน์ได้ที่: https://shop.6tydegrees.com/th/home

18 เมษายน พ.ศ. 2398 ‘รัชกาลที่ 4’ ลงนามสนธิสัญญาเบาว์ริงกับอังกฤษ เปิดประตูการค้าสู่โลกตะวันตก จุดเริ่มต้นเศรษฐกิจยุคใหม่ของสยาม

ในประวัติศาสตร์ของราชอาณาจักรสยาม หนึ่งในเหตุการณ์สำคัญที่ส่งผลอย่างลึกซึ้งต่อการเปลี่ยนแปลงด้านเศรษฐกิจและการทูตระหว่างประเทศ คือการลงนามใน “สนธิสัญญาเบาว์ริง” (Bowring Treaty) กับสหราชอาณาจักร เมื่อวันที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2398 (ค.ศ. 1855) ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4)

ก่อนการลงนามในสนธิสัญญา สยามยังมีระบบการค้าแบบผูกขาดภายใต้การควบคุมของพระคลังสินค้า โดยการค้าระหว่างประเทศถูกจำกัดอยู่เฉพาะกับบางชาติ และถูกควบคุมอย่างเข้มงวดทั้งด้านภาษีและระเบียบราชการ

ในช่วงกลางศตวรรษที่ 19 อังกฤษซึ่งเป็นมหาอำนาจทางทะเลของโลกในขณะนั้น ได้เร่งขยายอิทธิพลทางเศรษฐกิจและการค้าไปทั่วภูมิภาคเอเชีย โดยเฉพาะหลังจากที่อังกฤษประสบความสำเร็จในการเปิดประเทศจีนให้ทำการค้ากับชาติตะวันตกผ่าน “สงครามฝิ่น” ซึ่งนำไปสู่การลงนามใน “สนธิสัญญานานกิง” กับจีน ทำให้อังกฤษมองเห็นโอกาสในการขยายเครือข่ายการค้าไปยังภูมิภาคอื่น ๆ

สยามในขณะนั้นถือเป็นประเทศที่มีความมั่นคงและเป็นอิสระจากการตกเป็นอาณานิคม แตกต่างจากประเทศเพื่อนบ้านหลายแห่ง อีกทั้งยังตั้งอยู่ในทำเลยุทธศาสตร์สำคัญในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นจุดเชื่อมต่อทางการค้าระหว่างอินเดีย จีน และกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออก ด้วยเหตุนี้ อังกฤษจึงมีความสนใจที่จะสานสัมพันธ์กับสยามในเชิงเศรษฐกิจและการทูต เพื่อให้สามารถเข้าถึงทรัพยากร ท่าเรือ และตลาดการค้าในภูมิภาคได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ด้วยบริบทของการล่าอาณานิคมและการแข่งขันระหว่างชาติมหาอำนาจในยุคนั้น การทำสนธิสัญญาทางการค้ากับสยามจึงเป็นยุทธศาสตร์หนึ่งของอังกฤษในการสร้างอิทธิพลในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดยไม่ต้องใช้กำลังทหาร

สนธิสัญญาเบาว์ริง มีชื่อเรียกตาม เซอร์จอห์น เบาว์ริง (Sir John Bowring) ข้าหลวงใหญ่อังกฤษประจำฮ่องกง ซึ่งเป็นผู้แทนของอังกฤษในการเจรจา มีสาระสำคัญหลายประการ ได้แ

1.  ยกเลิกการผูกขาดการค้า โดยพระคลังสินค้า เปิดโอกาสให้พ่อค้าต่างชาติสามารถค้าขายกับเอกชนในสยามโดยตรง
2. กำหนดอัตราภาษีนำเข้า-ส่งออกแบบคงที่ ช่วยให้การค้าระหว่างประเทศมีความแน่นอนและโปร่งใส
3. อนุญาตให้พ่อค้าอังกฤษตั้งถิ่นฐานและมีสถานกงสุลในกรุงเทพฯ
4. กำหนดสิทธิ “เอกสิทธิ์ทางกฎหมาย” (extraterritoriality) ที่ให้อังกฤษมีอำนาจพิจารณาคดีความของชาวอังกฤษในสยามด้วยตนเอง

การรลงนามในสนธิสัญญาครั้งนั้น ช่วยให้สยามเติบโตอย่างรวดเร็วในด้านเศรษฐกิจ สามารถส่งออกสินค้า เช่น ข้าว น้ำตาล และไม้สัก ไปยังตลาดโลก รวมถึงการปฏิรูประบบราชการและเศรษฐกิจ รัชกาลที่ 4 และรัชกาลที่ 5 มีการปรับปรุงโครงสร้างการจัดเก็บภาษี การศึกษา และระบบเงินตราให้ทันสมัยยิ่งขึ้น และเป็นการเปิดประตูสู่โลกตะวันตก สนธิสัญญานี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการเปิดประเทศ และการมีปฏิสัมพันธ์กับชาติตะวันตกในระดับที่ลึกซึ้งขึ้น

ทั้งนี้ สนธิสัญญาเบาว์ริงไม่เพียงแต่เป็นข้อตกลงทางการค้าที่สำคัญ แต่ยังเป็นหมุดหมายแห่งการเปลี่ยนแปลงที่ส่งผลระยะยาวต่อการพัฒนาและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของสยาม แม้ว่าสนธิสัญญานี้จะถูกวิจารณ์ในภายหลังว่าเอื้อประโยชน์ต่อชาติตะวันตกมากกว่าสยาม แต่ในบริบทของยุคสมัย ก็ถือว่าเป็นก้าวแรกของการปรับตัวเพื่อธำรงเอกราชและเข้าสู่ยุคสมัยใหม่อย่างสง่างาม

19 เมษายน พ.ศ. 2318 เสียงปืน 1 นัด ปลุกเปลวเพลิงแห่งเสรีภาพ จุดเริ่มต้น ‘สงครามปฏิวัติอเมริกา’ ณ เมืองเล็กซิงตันและคองคอร์ด

สงครามปฏิวัติอเมริกา (American Revolutionary War) ถือเป็นเหตุการณ์พลิกประวัติศาสตร์ที่นำไปสู่การถือกำเนิดของประเทศสหรัฐอเมริกาในฐานะรัฐเอกราชจากอาณานิคมอังกฤษ การปะทะกันระหว่างกองกำลังอาณานิคมและกองทหารอังกฤษที่เมืองเล็กซิงตันและคองคอร์ด รัฐแมสซาชูเซตส์ เมื่อวันที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2318 (ค.ศ. 1775) เป็นเหตุการณ์จุดไฟแห่งความไม่พอใจที่สะสมมายาวนาน จนกลายเป็นเปลวไฟแห่งการปฏิวัติ

ในช่วงศตวรรษที่ 18 ดินแดนอาณานิคมอเมริกาอยู่ภายใต้การปกครองของจักรวรรดิอังกฤษ อาณานิคมเหล่านี้มีความเจริญทางเศรษฐกิจ แต่ถูกควบคุมอย่างเข้มงวดโดยรัฐบาลอังกฤษ โดยเฉพาะในเรื่องการจัดเก็บภาษีและการจำกัดการค้าขาย อาทิ กฎหมายแสตมป์ (Stamp Act) และ กฎหมายชาน้ำชา (Tea Act) ซึ่งทำให้ชาวอาณานิคมรู้สึกว่าพวกเขาถูกเอาเปรียบโดยไม่มีสิทธิ์มีเสียงในการออกกฎหมาย จนเกิดคำกล่าวว่า “No taxation without representation” หรือ “ไม่ยอมเสียภาษีหากไม่มีสิทธิ์ออกเสียง”

การเผชิญหน้า ณ เล็กซิงตัน (Lexington) เกิดขึ้นช่วงเช้ามืดของวันที่ 19 เมษายน ค.ศ. 1775 กองทหารอังกฤษประมาณ 700 นายได้รับคำสั่งให้เดินทางจากเมืองบอสตันไปยังคองคอร์ด เพื่อยึดอาวุธยุทโธปกรณ์ที่กองกำลังอาณานิคม (เรียกว่า Minutemen) ซุกซ่อนไว้ อย่างไรก็ตาม ข่าวการเคลื่อนไหวของทหารอังกฤษรั่วไหล ทำให้ผู้นำฝ่ายอาณานิคมเช่น พอล รีเวียร์ (Paul Revere) และ วิลเลียม ดาวส์ (William Dawes) ออกเดินทางกลางดึกเพื่อเตือนชาวเมืองว่า ทหารอังกฤษกำลังมา! "The British are coming!"

เมื่อกองกำลังอังกฤษมาถึงเล็กซิงตัน พบว่ามี กองกำลังติดอาวุธอาสาสมัคร ของอาณานิคมอเมริกา ประมาณ 70 นาย ตั้งแนวรออยู่ในลานกว้างกลางเมือง แม้จะไม่ได้ตั้งใจเปิดฉากยิง แต่กระสุนปืนลึกลับหนึ่งนัด ได้จุดชนวนให้เกิดการยิงกันขึ้น ทำให้มีผู้เสียชีวิต 8 คน และถือเป็นการนองเลือดครั้งแรกของสงคราม

หลังจากนั้น ทหารอังกฤษได้เคลื่อนไปยังคองคอร์ดและเริ่มค้นหาอาวุธ และเมื่อกองทหารพยายามเผาสิ่งปลูกสร้าง ก็จุดความไม่พอใจในหมู่ชาวอาณานิคม ฝ่ายอาณานิคมซึ่งมีกำลังเสริมจากเมืองใกล้เคียงเริ่มตั้งแนวรบตอบโต้ การรบแบบกองโจร (Guerrilla Warfare) ถูกนำมาใช้ ขณะที่ทหารอังกฤษต้องล่าถอยกลับบอสตันภายใต้การลอบโจมตีอย่างต่อเนื่อง ทำให้มีผู้เสียชีวิตรวมกว่า 250 คน

จากนั้นสงครามปะทุอย่างเต็มรูปแบบ ฝ่ายอาณานิคมเริ่มจัดตั้งกองทัพทวีป (Continental Army) โดยมี จอร์จ วอชิงตัน (George Washington) เป็นผู้บัญชาการ และการประกาศเจตจำนงแยกตัวจากอังกฤษก็ชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ 

วอชิงตันมีความสามารถในการนำทัพอย่างยอดเยี่ยมในการวางแผนการรบ แม้ว่าเขาจะต้องเผชิญกับการขาดแคลนทรัพยากรและอุปกรณ์การรบมากมาย แต่เขาก็สามารถรักษากำลังใจและสร้างความมุ่งมั่นให้กับทหารของเขาได้ พร้อมทั้งไดรับการสนับสนุนจากต่างประเทศ จนนำไปสู่การประกาศอิสรภาพในวันที่ 4 กรกฎาคม ค.ศ. 1776 

เหตุการณ์สู้รบกันในครั้งนั้นกินระยะเวลาสงครามปฏิวัติที่ยาวนานถึง 8 ปี จากปี 1775 และสิ้นสุดในปี 1783 เมื่ออังกฤษยอมรับความเป็นอิสระของสหรัฐอเมริกาภายใต้ สนธิสัญญาปารีส (Treaty of Paris 1783) ส่งผลให้เกิดการตั้งประเทศสหรัฐอเมริกาในฐานะรัฐประชาธิปไตยแห่งแรกๆ ของโลก และเป็นแรงบันดาลใจให้เกิดขบวนการปฏิวัติในฝรั่งเศส (French Revolution), ละตินอเมริกา และภูมิภาคอื่นๆ ที่ต้องการเสรีภาพและประชาธิปไตย

20 เมษายน พ.ศ. 2535 50,000 เสียงตะโกนต้านอำนาจนอกระบบ ประชาชนรวมพลังค้านผู้นำเผด็จการ จุดไฟปะทุสู่การเปลี่ยนแปลง ปฐมบทชุมนุมใหญ่ก่อน ‘พฤษภาทมิฬ’ ที่ไทยไม่มีวันลืม

หลังจากการรัฐประหารในปี พ.ศ. 2534 โดยคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ซึ่งนำโดยกลุ่มนายทหารระดับสูง ได้มีการแต่งตั้งรัฐบาลชั่วคราวเพื่อบริหารประเทศ และในเวลาต่อมา มีการเลือกตั้งทั่วไปขึ้นในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2535

อย่างไรก็ตาม แม้พรรคการเมืองที่ชนะการเลือกตั้งจะได้เสียงข้างมาก แต่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีกลับตกเป็นของ พล.อ. สุจินดา คราประยูร ผู้บัญชาการทหารสูงสุดในขณะนั้น ซึ่งไม่ได้มาจากการเลือกตั้งและเคยให้สัญญากับประชาชนก่อนหน้านี้ว่าจะไม่รับตำแหน่ง

การแต่งตั้งเช่นนี้จุดกระแสความไม่พอใจในหมู่ประชาชน นักวิชาการ นักศึกษา และภาคประชาสังคม โดยมองว่าเป็นการสืบทอดอำนาจของคณะรัฐประหาร และขัดต่อหลักการประชาธิปไตย

ในวันที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2535 มีประชาชนประมาณ 50,000 คน รวมตัวกันที่ ลานพระบรมรูปทรงม้า เพื่อแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ต่อต้านการแต่งตั้ง พล.อ. สุจินดา เป็นนายกรัฐมนตรี การชุมนุมครั้งนี้นำโดยหลายภาคส่วน ทั้งภาคประชาชน นักศึกษา และกลุ่มการเมือง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเรียกร้องให้มีนายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง

แม้การชุมนุมจะเป็นไปอย่างสงบ แต่ก็เป็นการแสดงพลังครั้งใหญ่ที่สะท้อนถึงความไม่พอใจอย่างรุนแรงของประชาชนที่มีต่อรัฐบาลในขณะนั้น และถือเป็นจุดเริ่มต้นของความเคลื่อนไหวทางการเมืองครั้งใหญ่ ที่ลุกลามกลายเป็น เหตุการณ์ 'พฤษภาทมิฬ' ในเดือนถัดมา ซึ่งรัฐบาลใช้กำลังทหารเข้าสลายการชุมนุม ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก

เหตุการณ์ดังกล่าวนำไปสู่การลาออกของ พล.อ. สุจินดา ในที่สุด และเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้สังคมไทยตระหนักถึงความสำคัญของการเมืองในระบอบประชาธิปไตย และสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน

แม้เวลาจะผ่านมาหลายทศวรรษ แต่บทเรียนจากเหตุการณ์นี้ยังคงเป็นที่กล่าวถึงในฐานะจุดเปลี่ยนที่ฝากร่องรอยไว้ในหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทย และเป็นเครื่องเตือนใจว่าพลังของประชาชนสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้เสมอ เมื่อเสียงแห่งความหวังถูกเปล่งออกอย่างพร้อมเพรียง

21 เมษายน พ.ศ. 2325 ครบรอบ 243 ปี แห่งการสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ รำลึกพระมหากรุณาธิคุณรัชกาลที่ 1 ผู้ทรงวางรากฐานพระนครใหม่ สู่มหานครแห่งความรุ่งเรืองของแผ่นดินไทย

วันที่ 21 เมษายนของทุกปี ถือเป็นวันสำคัญทางประวัติศาสตร์ของประเทศไทย เพราะเป็นวันที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (รัชกาลที่ 1) แห่งราชวงศ์จักรี ได้ทรงโปรดเกล้าฯ ให้จัดพิธียกเสาหลักเมือง ณ พื้นที่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการสถาปนา 'กรุงรัตนโกสินทร์' หรือที่เรารู้จักกันในชื่อ 'กรุงเทพมหานคร' อย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 21 เมษายน พุทธศักราช 2325

การย้ายราชธานีจากฝั่งธนบุรีมายังฝั่งพระนครมีเหตุผลสำคัญทางด้านยุทธศาสตร์ ความมั่นคง และการบริหารราชการ โดยพระองค์ทรงเล็งเห็นว่าพื้นที่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยามีความเหมาะสมต่อการพัฒนากรุงใหม่ให้มั่นคงและรุ่งเรือง ทั้งในด้านเศรษฐกิจ การปกครอง และวัฒนธรรม

พิธียกเสาหลักเมือง หรือ 'พิธีฝังหลักเมือง' เป็นพิธีกรรมสำคัญในวัฒนธรรมไทยและอินโดจีน ซึ่งสื่อถึงการกำหนดศูนย์กลางของเมืองใหม่ โดยมีความเชื่อว่าหลักเมืองเป็นที่สถิตของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่จะปกปักรักษาบ้านเมือง

เสาหลักเมืองกรุงเทพฯ ที่ฝังเมื่อปี พ.ศ. 2325 ถูกบรรจุไว้ในศาลหลักเมืองซึ่งตั้งอยู่ตรงข้ามพระบรมมหาราชวังในปัจจุบัน ถือเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวไทยและนักท่องเที่ยวให้ความเคารพนับถืออย่างยิ่ง

นับตั้งแต่การสถาปนา กรุงรัตนโกสินทร์ได้กลายเป็นศูนย์กลางแห่งอำนาจ วัฒนธรรม ศิลปะ และศาสนาของประเทศ โดยผ่านการพัฒนาอย่างต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน กรุงรัตนโกสินทร์ไม่เพียงเป็นเมืองหลวงทางกายภาพ แต่ยังเป็นหัวใจของความเป็นไทยในหลากหลายมิติ ทั้งประวัติศาสตร์ ราชประเพณี และความรุ่งเรืองของราชอาณาจักรไทย

ทั้งนี้ ในทุกปี วันที่ 21 เมษายน จะมีการจัดกิจกรรมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของรัชกาลที่ 1 และราชวงศ์จักรี รวมถึงการสืบสานวัฒนธรรมไทย เช่น พิธีบวงสรวงที่ศาลหลักเมือง ขบวนแห่ เครื่องสักการะ และกิจกรรมทางศิลปวัฒนธรรมในพื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์ ซึ่งเปิดโอกาสให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวได้ร่วมเฉลิมฉลองและเรียนรู้รากเหง้าทางประวัติศาสตร์ของชาติ

22 เมษายน พ.ศ. 2485 มิตรภาพทางเศรษฐกิจในยามสงคราม วันที่เงินบาทผูกพันกับเงินเยนญี่ปุ่น ข้อตกลงค่าเงินที่เปลี่ยนทิศเศรษฐกิจไทยกลางพายุ ‘สงครามโลกครั้งที่ 2’

​เมื่อวันที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2485 (ค.ศ. 1942) ประเทศไทยได้ลงนามในข้อตกลงทางการเงินกับจักรวรรดิญี่ปุ่นว่าด้วยเรื่อง “ข้อตกลงค่าเงินเยน-บาท” ซึ่งถือเป็นหนึ่งในข้อตกลงความร่วมมือทางเศรษฐกิจในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง 

ข้อตกลงนี้มีผลต่อความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการเงินระหว่างสองประเทศในขณะนั้น และสะท้อนถึงบทบาทของไทยในสงครามโลกครั้งที่สองและพัฒนาการของระบบการเงินระหว่างประเทศของไทยในศตวรรษที่ 20​

สาระสำคัญของข้อตกลง ได้แก่

1. การกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างเยนกับเงินบาท: กำหนดอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างเยนกับเงินบาทให้คงที่ตามข้อตกลงที่ทั้งสองฝ่ายยอมรับ ซึ่งเป็นการปรับค่าเงินบาทให้มีมูลค่าน้อยลงจากอัตราเดิมที่ 155.7 เยน ต่อ 100 บาท เป็น 100 เยน ต่อ 100 บาท

2. การใช้เงินเยนเป็นสื่อกลางในบางธุรกรรม: ข้อตกลงนี้อนุญาตให้ใช้เงินเยนเป็นสื่อกลางในบางธุรกรรมในเขตที่ญี่ปุ่นมีอิทธิพลหรือควบคุมอยู่ ซึ่งช่วยให้การค้าและการขนส่งสินค้าระหว่างไทยกับญี่ปุ่นในช่วงสงครามเป็นไปได้อย่างสะดวก​

3. การสนับสนุนให้เกิดความสะดวกในการค้าและการขนส่งสินค้า: ช่วยสนับสนุนให้เกิดความสะดวกในการค้าและการขนส่งสินค้าระหว่างไทยกับญี่ปุ่นในช่วงสงคราม ซึ่งเป็นการส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างสองประเทศในขณะนั้น

การผูกเงินบาทกับเงินเยนจึงไม่ใช่เพียงมาตรการทางเทคนิคด้านการเงิน หากแต่สะท้อนถึงการเลือกเชิงยุทธศาสตร์ของรัฐบาลไทยในการปรับตัวเข้ากับโครงสร้างอำนาจใหม่ที่ญี่ปุ่นได้กลายเป็นผู้นำของ “ระเบียบใหม่ในเอเชีย” หรือ Greater East Asia Co-Prosperity Sphere

อย่างไรก็ตาม ข้อตกลงดังกล่าวก่อให้เกิดข้อวิพากษ์วิจารณ์ในภายหลังเกี่ยวกับความเป็นกลางของไทยในสงคราม ตลอดจนสร้างข้อผูกพันที่ส่งผลต่อการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจและการเงินในลักษณะพึ่งพิงคู่ค้าเพียงฝ่ายเดียว ทั้งนี้ เมื่อสงครามสิ้นสุดลงและข้อตกลงดังกล่าวถูกยกเลิก ความจำเป็นเร่งด่วนในการฟื้นฟูความน่าเชื่อถือของระบบการเงินไทยในเวทีระหว่างประเทศจึงกลายเป็นวาระสำคัญของภาครัฐในช่วงหลังสงคราม

ประสบการณ์จากการลงนามในข้อตกลงค่าเงินเยน–บาทในครั้งนั้น กลายเป็นบทเรียนสำคัญที่หล่อหลอมทิศทางของนโยบายการเงินระหว่างประเทศของไทยในยุคสงคราม และมีอิทธิพลต่อวิธีคิดของหน่วยงานด้านเศรษฐกิจการคลังไทยในเรื่องของ “ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ” ซึ่งไม่ใช่เพียงเรื่องของตัวเลข แต่เป็นการวางยุทธศาสตร์ในฐานะประเทศขนาดกลางที่ต้องดำรงอยู่ท่ามกลางแรงดึงจากมหาอำนาจโลก

23 เมษายน พ.ศ. 2159 ‘วิลเลียม เชกสเปียร์’ เกิดและจากไปในวันเดียวกัน ราวกับบทละคร วันแห่งการระลึกถึงผู้ฝากผลงานอันเป็นนิรันดร์ ‘โรมิโอและจูเลียต’

วันที่ 23 เมษายน ค.ศ. 1616 (พ.ศ. 2159) ถือเป็นวันสำคัญทางประวัติศาสตร์ของโลกวรรณกรรม เนื่องจากเป็นวันที่ วิลเลียม เชกสเปียร์ (William Shakespeare) นักเขียนบทละครและกวีผู้ยิ่งใหญ่ของอังกฤษ ได้เสียชีวิตลง ณ เมืองสแตรตฟอร์ด ซึ่งเป็นบ้านเกิดของเขาเอง โดยมีอายุ 52 ปี แม้สาเหตุการเสียชีวิตจะไม่ปรากฏแน่ชัด แต่มีบันทึกระบุว่าเขาถูกฝังในวันที่ 25 เมษายน ณ โบสถ์ โฮลี ทรินิตี้ ซึ่งตั้งอยู่ในเมืองเดียวกัน

ทั้งนี้ วิลเลียม เชกสเปียร์ เกิดเมื่อวันที่ 23 เมษายน ค.ศ. 1564 หมายความว่าเขาเกิดและเสียชีวิตในวันเดียวกัน โดยเชกสเปียร์ในตอนที่ยังมีชีวิตเป็นนักเขียนที่มีผลงานที่ได้รับการยกย่องอย่างสูงในวงการวรรณกรรมโลก ผลงานสุดยอดของเขาได้แก่การประพันธ์ บทละคร (plays) บทกวี (poems) และ โคลง (sonnets) ที่ได้รับการแปลและแสดงในทั่วโลก ซึ่งผลงานของเชกสเปียร์ยังคงมีอิทธิพลต่อวรรณกรรมสมัยใหม่และมีอิทธิพลอย่างยิ่งต่อวงการละครและการแสดง

สำหรับผลงานที่โดดเด่นที่สุดของเชกสเปียร์คือ “โรมิโอและจูเลียต” (Romeo and Juliet), “แฮมเลต” (Hamlet), “แม็คเบธ” (Macbeth) และ “มคธ” (Macbeth) ที่มีเนื้อหาที่ลึกซึ้งและการพัฒนาอักขระในผลงานของเขาได้สะท้อนถึงชีวิตและสังคมมนุษย์ในยุคของเขาได้อย่างมีเสน่ห์ ซึ่งยังคงเป็นที่รู้จักและถูกแสดงจนถึงปัจจุบัน 

การจากไปของวิลเลียม เชกสเปียร์ในวันที่ 23 เมษายน สร้างความโศกเศร้าให้กับวงการวรรณกรรมโลก ถึงแม้ว่าจะมีความไม่แน่ชัดเกี่ยวกับเหตุผลที่แท้จริงของการเสียชีวิต แต่การจากไปของเขาในวันเดียวกับ ‘มิเกล เด เซร์บันเตส’ นักเขียนชาวสเปน นับเป็นเหตุการณ์ที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในวงการวรรณกรรมโลก ทั้งสองคนถือเป็นนักเขียนผู้ยิ่งใหญ่ที่มีผลกระทบอย่างมากในวงการวรรณกรรมของแต่ละประเทศ


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top