Saturday, 26 April 2025
CoolLife

25 มกราคม 2502 ในหลวงร.9 เสด็จฯ จังหวัดสุพรรณบุรี ทรงเปิดพระบรมราชานุสรณ์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช

เมื่อพุทธศักราช 2456 ได้มีการค้นพบพระเจดีย์ที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงสร้างขึ้น ณ ดอนพระเจดีย์ แขวงเมืองสุพรรณบุรี ซึ่งเป็นสถานที่ที่ทรงชนะในยุทธหัตถี และในปีเดียวกันนั้น พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเสด็จพระราชดำเนินไปยังพระเจดีย์แห่งนี้ เพื่อทรงนมัสการและโปรดเกล้าฯ ให้ก่อสร้างพระเจดีย์ขึ้นใหม่ ทว่าการก่อสร้างประสบปัญหาขัดข้องเรื่องงบประมาณ

จนกระทั่งในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช การบูรณะฟื้นฟูพระเจดีย์ได้สำเร็จลุล่วง ต่อมาในวันที่ 25 มกราคม พุทธศักราช 2502 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชทรงเสด็จพระราชดำเนินไปในพิธีเปิดพระบรมราชานุสรณ์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ณ ตำบลดอนเจดีย์ จังหวัดสุพรรณบุรี ตามหมายกำหนดการที่ 1/2502

เวลา 10.30 น. พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชทรงเสด็จเข้าสู่พิธีมณฑล ทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการบูชาพระพุทธปฏิมาประจำรัชกาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทรงศีลและทรงฟังคำกราบบังคมทูลรายงาน ก่อนที่จะมีพระราชดำรัส จากนั้นพระองค์ทรงเปิดพระบรมราชานุสรณ์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช พระสงฆ์ 10 รูป เจริญชัยมงคลคาถา ขณะเดียวกันชาวพนักงานได้ประโคมฆ้องชัย สังข์ บัณเฑาะว์ มโหระทึก แตร และดุริยางค์ ทหารกองเกียรติยศถวายความเคารพ

หลังจากนั้น พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชทรงเสด็จไปทรงพระสุหร่ายสรงพระบรมรูปสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทรงจุดธูปเทียนถวายราชสักการะ ก่อนจะประทับพระราชอาสน์ในพิธีมณฑล พระสงฆ์ถวายอดิเรก และเสด็จพระราชดำเนินกลับ

26 มกราคม 2525 ในหลวงรัชกาลที่ 9 พระราชทานชื่อ 'ค่ายจุฬาภรณ์' จังหวัดนราธิวาส

ครั้งเมื่อสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ทรงเป็นนายทหารเรือหญิง พรรคนาวิกโยธินพระองค์แรก นาวาเอก สงบ ศรลัมพ์ จึงได้ยื่นหนังสือถึงกรมนาวิกโยธินเพื่อขอพระราชทานชื่อค่ายดังกล่าว โดยได้รับการเห็นชอบจาก พลเรือโท ยุธยา เชิดบุญเมือง ผู้บัญชาการกรมนาวิกโยธิน และได้ส่งหนังสือไปยังกองทัพเรือเพื่อขอพระราชทานชื่อ "ค่ายจุฬาภรณ์" ซึ่งได้รับการเห็นชอบจากกองทัพเรือ กองบัญชาการทหารสูงสุด และกระทรวงกลาโหมตามลำดับ

ในวันที่ 24 ธันวาคม 2524 พลอากาศเอก พะเนียง กานตรัตน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม ได้กราบบังคมทูลนายกรัฐมนตรีเพื่อขอพระราชทานชื่อค่ายทหารของกองบังคับการกรมทหารราบที่ 3 รักษาพระองค์ กรมนาวิกโยธิน และกองพันทหารราบที่ 9 รักษาพระองค์ กรมทหารราบที่ 3 กรมนาวิกโยธิน โดยชื่อค่ายได้รับการยืนยันเป็น "ค่ายจุฬาภรณ์" หรือ "CHULABHORN CAMP" ในภาษาอังกฤษ

ต่อมาเมื่อวันที่ 26 มกราคม 2525 สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีได้ส่งหนังสือถึงกระทรวงกลาโหม โดยระบุว่า สำนักเลขาธิการรัฐมนตรีได้นำเรื่องกราบบังคมทูลพระกรุณาและได้รับพระราชทานชื่อค่ายตามที่ขอ

ในวันที่ 24 กันยายน 2526  พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรและสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงพร้อมด้วยสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และเรือเอกหญิงสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี (พระยศในขณะนั้น) เสด็จพระราชดำเนินเปิด "ค่ายจุฬาภรณ์" ที่กรมทหารราบที่ 3 กรมนาวิกโยธิน บ้านทอน ตำบลโคกเคียน อำเภอเมือง จังหวัดนราธิวาส โดยมีพลเรือเอก สมบูรณ์ เชื้อพิบูลย์ ผู้บัญชาการทหารเรือ, พลเรือเอก โสภณ สุญาณเศรษฐกร ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารเรือ, พลเรือโท ยุธยา เชิดบุญเมือง ผู้บัญชาการกรมนาวิกโยธิน, และนายทหารผู้ใหญ่ของกองทัพเรือ ร่วมพิธีเปิดค่ายอย่างยิ่งใหญ่ พร้อมทั้งผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาสและแขกผู้มีเกียรติจำนวนมาก

27 มกราคม 2501 วันสถาปนาโรงเรียนเตรียมทหาร สถาบันเริ่มต้นของนายร้อย 4 เหล่า

โรงเรียนเตรียมทหาร หรือ Armed Forces Academies Preparatory School เป็นสถาบันการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย สังกัดสถาบันวิชาการป้องกันประเทศกองบัญชาการกองทัพไทย และเป็นสถาบันการศึกษาแห่งเดียวในประเทศไทย ที่เป็นศูนย์รวมเบื้องต้นสำหรับผู้ที่จะเข้าศึกษาต่อในโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า, โรงเรียนนายเรือ, โรงเรียนนายเรืออากาศนวมินทกษัตริยาธิราช และโรงเรียนนายร้อยตำรวจ

โดยผู้ที่ศึกษาในโรงเรียนเตรียมทหาร เรียกว่านักเรียนเตรียมทหาร (นตท.)

การรับสมัครบุคคลพลเรือนเข้าเป็นนักเรียนเตรียมทหารนั้น โรงเรียนเตรียมทหารมิได้เป็นผู้ดำเนินการสอบคัดเลือกนักเรียนเตรียมทหารด้วยตนเอง หากแต่โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า, โรงเรียนนายเรือ, โรงเรียนนายเรืออากาศ และโรงเรียนนายร้อยตำรวจจะเป็นผู้ดำเนินการสอบคัดเลือก

โดยในแต่ละปีจะมีการกำหนดจำนวนรับนักเรียนเตรียมทหารในส่วนของกองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

จากนั้นแต่ละเหล่าทัพจะส่งผู้ผ่านการสอบคัดเลือกมาเรียนรวมกันที่โรงเรียนเตรียมทหาร เป็นเวลา 2 ปี

ภายหลังจากที่สำเร็จการศึกษาตามหลักสูตรของโรงเรียนเตรียมทหารแล้ว นักเรียนเตรียมทหารเหล่านี้จะเข้าศึกษาต่อในโรงเรียนเหล่าทัพ (โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า, โรงเรียนนายเรือ, โรงเรียนนายเรืออากาศและโรงเรียนนายร้อยตำรวจ) ตามที่นักเรียนได้สมัครและผ่านการสอบคัดเลือก

เมื่อสำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนเหล่าทัพแล้ว นักเรียนนายร้อยเหล่านี้ จะได้รับการบรรจุเข้ารับราชการเป็นนายทหาร และนายตำรวจชั้นสัญญาบัตร พร้อมทั้งเข้ารับพระราชทานกระบี่จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวหรือพระบรมวงศานุวงศ์ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้เสด็จแทนพระองค์

สำหรับประวัติการก่อตั้งและสถาปนามีว่า เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2500 จอมพลถนอม กิตติขจร ขณะนั้นดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้เสนอดำริต่อสภากลาโหมว่า หากจะรวมโรงเรียนที่อยู่ในระดับการศึกษาเดียวกันจากกองทัพต่าง ๆ เป็นสถาบันเดียวกันก็จะเป็นการประหยัดงบประมาณของชาติ

ทั้งยังทำให้ผู้ศึกษามีโอกาสได้รู้จักคุ้นเคย มีความสนิทสนมกลมเกลียว มีความสามัคคีเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน มีความคิดจิตใจร่วมกันแต่เยาว์วัย ซึ่งจะส่งผลให้บุคคลเหล่านี้สามารถประสานงานกันได้ด้วยดีและปฏิบัติงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ

ที่สุด สภากลาโหมได้เห็นชอบในดำรินี้เป็นเอกฉันท์ ในขั้นแรกให้รวมโรงเรียนเตรียมนายร้อย โรงเรียนเตรียมนายเรือ และโรงเรียนเตรียมนายเรืออากาศ เป็นโรงเรียนเตรียมทหาร สังกัดกรมการศึกษาวิจัย กองบัญชาการทหารสูงสุด เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2501

จึงถือว่าวันที่ 27 มกราคมของทุกปี เป็นวันคล้ายวันสถาปนาโรงเรียนเตรียมทหาร  และในปี 2506 กรมตำรวจได้ขอให้โรงเรียนเตรียมทหารรับนักเรียนเพื่อเข้าศึกษาต่อในโรงเรียนนายร้อยตำรวจด้วย โรงเรียนเตรียมทหารจึงเป็นศูนย์รวมเบื้องต้นสำหรับนายทหาร นายตำรวจ โดยสมบูรณ์

28 มกราคม 2529 รำลึก โศกนาฏกรรม 'ยานชาเลนเจอร์' ระเบิดกลางฟ้า นักบินอวกาศ 7 ชีวิตสูญเสีย

วันนี้เมื่อ 39 ปีก่อน เกิดเหตุการณ์ที่ช็อคโลก เมื่อกระสวยอวกาศ ‘ชาเลนเจอร์’ เกิดระเบิดขึ้นบนท้องฟ้า หลังจากถูกปล่อยขึ้นไปเพียงไม่กี่นาที

ย้อนไปถึงที่มาของ ‘ยานชาเลนเจอร์’ เป็นกระสวยอวกาศขององค์การนาซ่าของสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีภารกิจสำคัญในการสำรวจอวกาศ ก่อนเกิดอุบัติเหตุครั้งใหญ่ ยานชาเลนเจอร์เคยบินไปในอวกาศมาแล้ว 9 ครั้ง แต่ในการบินครั้งที่ 10 หลังจากถูกปล่อยออกไป ท่ามกลางผู้ชมหลายล้านคนที่ติดตามชมผ่านหน้าจอโทรทัศน์ เพียง 73 วินาทีเท่านั้น ยานก็เกิดระเบิดขึ้นอย่างไม่คาดคิด

อุบัติเหตุในครั้งนั้นทำให้มีนักบินอวกาศเสียชีวิต 7 คน หนึ่งในนั้นคือ คริสตินา แมคคอลิฟ อดีตครูประถมที่มีความฝันอยากเป็นนักบินอวกาศ แม้เธอจะได้มาเป็นนักบินอวกาศในที่สุด แต่เธอก็ต้องเสียชีวิตอย่างกะทันหันในเหตุการณ์นี้

การสอบสวนภายหลังพบว่า สาเหตุของอุบัติเหตุเกิดจากชิ้นยางวงแหวนที่ใช้ปิดกั้นแก๊สระหว่างรอยต่อในจรวดไม่สามารถยืดหยุ่นได้ดี เนื่องจากสภาพอากาศที่เย็น ทำให้เกิดการรั่วไหลของแก๊สที่ไปกระทบกับถังเชื้อเพลิงระหว่างจรวดขับดัน ซึ่งส่งผลให้เกิดการระเบิดฉีกตัวยานและจรวดออกเป็นชิ้นๆ

โศกนาฏกรรมยานชาเลนเจอร์ถือเป็นอุบัติเหตุที่ร้ายแรงที่สุดในโครงการขนส่งอวกาศของสหรัฐฯ และส่งผลให้สหรัฐฯ ต้องหยุดโครงการขนส่งอวกาศไปนานเกือบ 3 ปี แม้เวลาจะผ่านไปแล้วกว่า 35 ปี แต่ความสูญเสียในครั้งนั้นยังคงฝังอยู่ในความทรงจำของผู้คนเสมอมา

29 มกราคม 2519 สวนสนุกแดนเนรมิต เปิดทำการครั้งแรก สร้างประวัติศาสตร์ มีผู้มาเที่ยวชมกว่า 80,000 คน

สวนสนุกแดนเนรมิต เปิดให้บริการครั้งแรกเมื่อวันที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2519 และสร้างประวัติศาสตร์ด้วยจำนวนผู้เข้าชมมากกว่า 80,000 คนในวันแรก ซึ่งสร้างความสุขให้กับนักท่องเที่ยวมาอย่างยาวนานกว่า 25 ปี ก่อนที่จะปิดตัวลงในวันที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2543 เนื่องจากหมดสัญญาเช่าระยะเวลา 25 ปีและไม่สามารถต่อสัญญาได้ โดยพื้นที่ของสวนสนุกกลายเป็นพื้นที่ในเมืองที่ไม่เหมาะกับการดำเนินกิจการสวนสนุกอีกต่อไป หลังจากนั้น เจ้าของกิจการได้พัฒนาและสร้างสวนสนุกแห่งใหม่ในย่านรังสิต คือ ดรีมเวิลด์

หนึ่งในความโดดเด่นของแดนเนรมิตคือปราสาทเทพนิยายที่ตั้งอยู่หน้าสวนสนุก ซึ่งสร้างขึ้นโดยการผสมผสานระหว่างปราสาทเทพนิยายของดิสนีย์แลนด์และปราสาทนอยส์ชวานสไตน์ของเยอรมนี ภายในสวนสนุกมีเครื่องเล่นหลากหลาย เช่น รถไฟเหาะ, เครื่องเล่นรถไฟรางเดี่ยว, เรือไวกิ้ง และส่วนจัดแสดงสัตว์โลกล้านปี นอกจากนี้ยังมีพาเหรดแฟนตาซีที่ออกเดินไปตามถนนรอบสวนสนุก พร้อมกิจกรรมพิเศษอย่างการจัดคอนเสิร์ตจากศิลปินชื่อดัง และการแสดงจากต่างประเทศ เช่น ประติมากรรมปราสาทน้ำแข็งจากประเทศจีน, กายกรรมจากเวียดนาม และ ซูเปอร์ด็อก บ๊อก บ๊อก โชว์จากสหรัฐอเมริกา

สวนสนุกแดนเนรมิตตั้งอยู่บนพื้นที่ 33 ไร่ โดยใช้เงินลงทุนกว่า 70-80 ล้านบาท มีเครื่องเล่นจากต่างประเทศกว่า 30 ชนิดและได้รับความนิยมอย่างมากในช่วงเวลาที่เปิดให้บริการ

เมื่อปิดกิจการในปี 2543 เครื่องเล่นบางส่วนถูกย้ายไปยังดรีมเวิลด์ และยังคงเหลือเพียงปราสาทเทพนิยายที่เป็นสัญลักษณ์ของแดนเนรมิต ซึ่งได้กลายเป็นที่รู้จักและเป็นส่วนหนึ่งของความทรงจำในประวัติศาสตร์สวนสนุกของไทย

30 มกราคม 2491 การลอบสังหาร 'มหาตมา คานธี' นักต่อสู้อหิงสาเพื่อเอกราชของอินเดีย

มหาตมะ คานธี เกิดเมื่อปี 1869 ในครอบครัวชนชั้นพ่อค้าและเติบโตในสภาพแวดล้อมที่หลากหลายทางศาสนา ซึ่งมีผลต่อทัศนคติและการดำเนินชีวิตของเขา พ่อของเขานับถือศาสนาฮินดูและบูชาเทพวิษณุ ขณะที่แม่ของเขานับถือนิกายที่ผสมผสานระหว่างฮินดูกับมุสลิม จึงมีการปฏิบัติประเพณีอดอาหารตามคำสอนของศาสนาแม่ที่มีอิทธิพลต่อเขาอย่างมาก เมื่อคานธีอายุครบ 18 ปี เขาถูกส่งไปศึกษาต่อที่ประเทศอังกฤษในสาขากฎหมาย

ในปี 1930 คานธีนำประชาชนอินเดียเดินขบวนต่อต้านภาษีเกลือของอังกฤษ โดยการเดินทางระยะทางกว่า 400 กิโลเมตร และในปี 1947 เขากลายเป็นผู้นำในการต่อสู้เพื่อเอกราชของอินเดียโดยใช้หลักอหิงสา (การต่อต้านโดยไม่ใช้ความรุนแรง) ซึ่งนำไปสู่ชัยชนะในที่สุด

อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 30 มกราคม 1948 นาถูราม โคทเส ได้ยิงคานธี 3 นัดที่หน้าอกในระยะใกล้ สาเหตุเกิดจากความไม่พอใจที่คานธีมีแนวคิดเป็นมิตรกับชาวมุสลิมและปากีสถาน

หลังจากการยิงโคทเสไม่ได้หลบหนีและถูกจับกุม ต่อมาศาลสูงของรัฐปัญจาบพิพากษาประหารชีวิตเขาด้วยการแขวนคอในวันที่ 15 พฤศจิกายน 1949 พร้อมกับผู้ร่วมสมคบคิดอีกคนหนึ่ง

31 มกราคม 2514 ยานอพอลโล 14 ถูกปล่อยสู่อวกาศ ยานลำที่ 3 พามนุษย์เหยียบดวงจันทร์

เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2514 ยานอพอลโล 14 พร้อมนักบินอวกาศ 3 คน ได้เริ่มออกเดินทางจากแหลมคานาเวอรัล รัฐฟลอริดา สหรัฐอเมริกา เพื่อทำภารกิจสำรวจดวงจันทร์ ภารกิจครั้งนี้นำโดย อเลน บี. เชพเพิร์ด เจ อาร์ (Alan Shepard) ผู้บัญชาการภารกิจ ซึ่งเป็นนักบินอวกาศชาวอเมริกันคนแรกที่ได้เดินทางสู่อวกาศ และเป็นนักบินคนที่ 5 ที่ได้เหยียบพื้นผิวดวงจันทร์ ภารกิจนี้ถือเป็นภารกิจสุดท้ายในอาชีพการทำงานอวกาศของเขา

โดยยังมีนักบินอวกาศอีกสองคนร่วมทริปคือ เอดการ์ ดี. มิทเชลล์ (Edgar Mitchell) นักบินโมดูลดวงจันทร์ และ สตูท เอ. รูสา (Stuart Roosa) นักบินโมดูลคำสั่ง ซึ่งสำหรับมิทเชลล์และรูสา ภารกิจอพอลโล 14 ถือเป็นการเดินทางสู่อวกาศครั้งแรกและครั้งเดียวของทั้งสองคน

ภารกิจอพอลโล 14 มีจุดมุ่งหมายสำคัญคือการสำรวจภูมิภาค Fra Mauro บนดวงจันทร์ นักบินอวกาศได้รับการฝึกฝนด้านธรณีวิทยาเพื่อสำรวจและรวบรวมตัวอย่างหินและดินจากพื้นผิวดวงจันทร์ รวมถึงการติดตั้งอุปกรณ์ทดลองทางวิทยาศาสตร์ที่จะช่วยให้มนุษย์เข้าใจสภาพแวดล้อมของดวงจันทร์มากยิ่งขึ้น

ยานอพอลโล 14 ออกเดินทางในวันที่ 31 มกราคม 2514 เวลา 16.03 น. ตามเวลาท้องถิ่น ภารกิจนี้ใช้เวลาเดินทางไปยังดวงจันทร์ 3 วัน นักบินอวกาศใช้เวลา 2 วันบนดวงจันทร์ และอีก 3 วันสำหรับการเดินทางกลับมายังโลก

ระหว่างที่อยู่บนดวงจันทร์ เชพเพิร์ดและมิทเชลล์ใช้เวลาประมาณ 34 ชั่วโมงเพื่อปฏิบัติภารกิจสำรวจ ติดตั้งอุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์ และเก็บตัวอย่างหินและดินน้ำหนักรวมกว่า 42 กิโลกรัม ก่อนเดินทางกลับสู่โลกในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2514 โดยยานลงจอดอย่างปลอดภัยที่มหาสมุทรแปซิฟิก

ภารกิจอพอลโล 14 เป็นยานอวกาศลำที่ 8 ของโครงการอพอลโลที่นำมนุษย์ไปสู่ดวงจันทร์ และเป็นภารกิจที่สำเร็จต่อจากอพอลโล 13 ซึ่งประสบปัญหาจนไม่สามารถไปถึงดวงจันทร์ได้ โดยในภารกิจครั้งนี้ เชพเพิร์ดได้แอบนำหัวไม้กอล์ฟและลูกกอล์ฟ 2 ลูกขึ้นไปยังดวงจันทร์โดยไม่ได้รับอนุญาตจากนาซา ด้วยความช่วยเหลือจากวิศวกรเพื่อนร่วมงาน เขาได้ดัดแปลงอุปกรณ์เก็บตัวอย่างหินให้สามารถติดกับหัวไม้กอล์ฟได้

หลังจากเสร็จสิ้นภารกิจเก็บตัวอย่างหิน เชพเพิร์ดใช้หัวไม้กอล์ฟหวดลูกกอล์ฟบนพื้นผิวดวงจันทร์ ลูกแรกกระเด็นได้ระยะไม่ไกลเนื่องจากติดทราย แต่ลูกที่สองถูกหวดอย่างเต็มแรง และคาดการณ์ว่ามันอาจพุ่งไปไกลถึง 200-300 เมตร ซึ่งลูกกอล์ฟก็ยังคงอยู่บนดวงจันทร์จนถึงทุกวันนี้ 

1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2438 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงตรากฎหมายโรงจำนำเป็นครั้งแรกในไทย

วันนี้เมื่อ 130 ปีก่อน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงตราพระราชบัญญัติโรงจำนำ ร.ศ.114 ขึ้นเป็นครั้งแรกในเมืองไทย มีผลบังคับใช้ทั่วพระราชอาณาจักร วันที่ 1 กรกฎาคม ร.ศ.120

ทั้งนี้ การรับจำนำมีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา โดยมีหลักฐานยืนยันได้จากการตราพระราชกำหนดของสมเด็จพระเจ้าบรมโกศ ห้ามจำนำสิ่งของเวลากลางคืน ในสมัยนั้น สิ่งของที่เอามาจำนำ ได้แก่ ทองรูปพรรณ เงิน นาก เครื่องทองเหลือง ผ้าแพรพรรณมีค่า ฯลฯ ซึ่งแต่เดิมผู้จำนำไม่ต้องเอาของไปจำนำที่คนรับจำนำ แต่มีการจำนำตามบ้าน

ต่อมาในสมัยรัตนโกสินทร์ กิจการโรงจำนำเกิดขึ้นในรัชกาลที่ 4 โดย จีนฮง ตั้งโรงจำนำ ย่องเซี้ยง ที่แยกสำราญราษฎร์ ดึงดูดให้คนมาจำนำด้วยการกำหนดดอกเบี้ยให้ต่ำ มีการทำบันทึกรับจำนำ หรือ 'ตึ๊งโผว' มีการออกตั๋วรับจำนำเป็นเอกสารหลักฐาน

ครั้นมาถึงสมัยรัชกาลที่ 5 จึงได้ตราพระราชบัญญัติลักษณะโรงจำนำเมื่อ รศ.114 หรือ พ.ศ.2438 โรงจำนำสมัยนี้ กิจการรุ่งเรือง มีโรงจำนำในกรุงเทพฯ ราว 200 โรง โรงจำนำที่มีชื่อเสียงคือโรงจำนำ ฮั่วเส็ง ของนายเล็ก โทณวณิก จนถึงปี พ.ศ.2498 มีการตั้ง โรงรับจำนำของรัฐ ขึ้นเป็นครั้งแรกพร้อมกัน 2 โรง คือ ที่บริเวณเชิงสะพานพระพุทธยอดฟ้าฯ โรงหนึ่ง และต้นถนนเทอดไทอีกโรงหนึ่ง และในพ.ศ.2500 เปลี่ยนชื่อมาเป็น สถานธนานุเคราะห์

ต่อมาอีก 3 ปี คือ พ.ศ.2503 รัฐบาลอนุญาตให้เทศบาลสามารถตั้งโรงรับจำนำได้ กรุงเทพมหานครจึงตั้งกิจการโรงรับจำนำใช้ชื่อว่า 'สถานธนานุบาล'

2 กุมภาพันธ์ ของทุกปี ‘วันนักประดิษฐ์’ น้อมรำลึก วันทูลเกล้าฯ ถวายสิทธิบัตร ‘กังหันน้ำชัยพัฒนา’

เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2536 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้รับการทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายสิทธิบัตรการประดิษฐ์กังหันน้ำชัยพัฒนา ซึ่งต่อมากำหนดเป็น วันนักประดิษฐ์

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้พระราชทานหลักการและรูปแบบของเครื่องกลเติมอากาศให้แก่กรมชลประทานเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2531 ซึ่งสำนักงานวิจัยและพัฒนาเครื่องจักรกลน้ำ กองโรงงาน กรมชลประทาน ได้ประดิษฐ์ 'กังหันน้ำชัยพัฒนา' เพื่อใช้ในโครงการแก้ไขน้ำเสีย อันเนื่องมาจากพระราชดำริ โดยได้รับพระราชทานเงินทุนจาก 'มูลนิธิชัยพัฒนา' เพื่อจัดสร้างอุปกรณ์ต่างๆ และทำการวิจัย หากทำการทดลองได้ผลดีจะได้นำไปเผยแพร่เป็นต้นแบบแก่ส่วนราชการและแหล่งชุมชนต่างๆ ให้นำไปจัดสร้างเพื่อใช้กำจัดน้ำเสียต่อไป

ทั้งนี้ เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติในการที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้ทรงคิดค้น และได้พระราชทานรูปแบบและความคิด ในการประดิษฐ์เครื่องกลเติมอากาศที่สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพในการบำบัดน้ำเสีย และเกิดประโยชน์แก่ส่วนรวมอย่างมาก มูลนิธิชัยพัฒนา จึงได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต เพื่อขอรับสิทธิบัตร เครื่องกลเติมอากาศที่ผิวน้ำหมุนช้า แบบทุ่นลอย หรือ กังหันน้ำชัยพัฒนา ในพระปรมาภิไธย พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร โดยเลขาธิการของมูลนิธิชัยพัฒนา นายสุเมธ ตันติเวชกุล เป็นผู้แทนขอรับสิทธิบัตรต่อกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2535 และได้รับเลขที่สิทธิบัตร 3127 เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2536

ซึ่งนับได้ว่ากังหันน้ำชัยพัฒนา เป็นสิ่งประดิษฐ์เครื่องกลเติมอากาศเครื่องที่ 9 ของโลกที่ได้รับสิทธิบัตร และเป็นครั้งแรกที่ได้มีการรับการจดทะเบียนและออกสิทธิบัตรให้แก่พระราชวงศ์ รัฐบาลไทยได้มีมติกำหนดให้วันที่ 2 กุมภาพันธ์ ของทุกปีเป็น “วันนักประดิษฐ์” เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร นอกจากนี้กังหันชัยพัฒนา ยังได้รับรางวัลสิ่งประดิษฐ์ซึ่งเป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติ ฝ่ายวิทยาศาสตร์ รางวัลที่ 1 ประจำปี 2536 จากคณะกรรมการบริหารสภาวิจัยแห่งชาติอีกด้วย

3 กุมภาพันธ์ ‘วันทหารผ่านศึก’ รำลึกถึงผู้กล้าที่สละชีพเพื่อชาติ

ในอดีต ประเทศไทยต้องพบกับภาวะสงคราม และส่งทหารเข้าร่วมสงครามเป็นจำนวนมาก โดยปี พ.ศ.2488 เป็นต้นมา ทหารที่ได้รับการปลดระวางจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ประสบปัญหาเดือดร้อนจากสภาพเศรษฐกิจและค่าครองชีพ

ในปี พ.ศ. 2490 กระทรวงกลาโหมได้จัดตั้งหน่วยงานขึ้นเพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ทหารไทยที่กลับจากการรบหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สงครามเอเชียมหาบูรพา รวมทั้งช่วยเหลือครอบครัวทหารที่เสียชีวิตในการรบ แต่หน่วยงานที่ตั้งขึ้นนี้เป็นหน่วยงานที่ไม่เป็นทางการ ต่อมากระทรวงกลาโหมได้เสนอพระราชบัญญัติจัดตั้งองค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึกขึ้น ได้ผ่านความเห็นชอบจากรัฐบาล ประกาศไว้ในราชกิจจานุเบกษา ในวันที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2491 จึงถือเอาวันที่ 3 กุมภาพันธ์ของทุกปี เป็นวันทหารผ่านศึก

ในปี พ.ศ. 2510 องค์การทหารผ่านศึกได้เปลี่ยนฐานะมาเป็นองค์การเพื่อการกุศลของรัฐ และเป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย โดยได้รับเงินอุดหนุนจากกระทรวงกลาโหมและรัฐบาลบ้างเป็นครั้งคราว ภารกิจหลักขององค์การทหารผ่านศึก คือ การสงเคราะห์ทางด้านสวัสดิการ ด้านอาชีพ ด้านนิคมเกษตรกรรม ด้านกองทุน ด้านการรักษาพยาบาล และส่งเสริมสิทธิของทหารผ่านศึก

เดือนสิงหาคม พ.ศ.2511 กลุ่มภริยานายทหารชั้นผู้ใหญ่ นำโดย ท่านผู้หญิงจงกล กิตติขจร เป็นประธานร่วมกันจัดตั้ง 'สโมสรสงเคราะห์ครอบครัวทหารผ่านศึก' เพื่อช่วยเหลือครอบครัวทหารผ่านศึก และ ฯพณฯ จอมพลถนอม กิตติขจร ก็ได้มอบเงินบริจาคจำนวน 300,000 บาท เป็นทุนประเดิม หลังจากนั้นก็ได้รับการสนับสนุนบริจาคสมทบจากผู้บริจาคอื่นๆ และคณะกรรมการก็ได้หาวิธีหารายได้ด้วยการจำหน่ายดอกป๊อปปี้จำหน่าย

ปี พ.ศ.2512 'สโมสรสงเคราะห์ครอบครัวทหารผ่านศึก' ได้ยกระดับเป็น 'มูลนิธิสงเคราะห์ครอบครัวทหารผ่านศึก' โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี รับเป็นองค์อุปถัมภ์มูลนิธิฯ เพื่อจำหน่ายดอกป๊อปปี้ ให้ทั่วถึงมากขึ้น ทั้งกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัด ในวันทหารผ่านศึก ดอกไม้ชนิดนี้จึงถูกเรียกว่าเป็น 'ดอกไม้ที่ระลึกวันทหารผ่านศึก'

ความหมายของดอกไม้ประจำวันทหารผ่านศึก มาจากสีแดงของดอกป๊อปปี้ที่หมายถึงเลือดของเหล่าทหารผู้เสียสละเพื่อชาติ เพื่อปกป้องแผ่นดินด้วยความกล้าหาญ เหมือนสีแดงของกลีบดอกที่ปกคลุมผิวดิน


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top