Saturday, 26 April 2025
CoolLife

16 กุมภาพันธ์ 2175 วันพระราชสมภพสมเด็จพระนารายณ์มหาราช พระมหากษัตริย์ผู้ขับเคลื่อนอยุธยาสู่ยุครุ่งเรือง

สมเด็จพระนารายณ์มหาราช หรือ สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 3 เป็นพระราชโอรสของสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง และเสด็จขึ้นครองราชย์เมื่อปี พ.ศ. 2199 ขณะมีพระชนมายุ 25 พรรษา

ในรัชสมัยของพระองค์ กรุงศรีอยุธยาเจริญรุ่งเรืองอย่างมาก โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศ พระองค์โปรดให้ปรับปรุงกรมพระคลังสินค้าและสร้างเรือกำปั่นหลวงเพื่อค้าขายกับต่างชาติ ส่งผลให้กรุงศรีอยุธยากลายเป็นศูนย์กลางการค้าสำคัญแห่งเอเชีย

นอกจากนี้ พระองค์ยังมีบทบาทโดดเด่นด้านการต่างประเทศ โดยในปี พ.ศ. 2224 ทรงส่งคณะทูตไปเจริญสัมพันธไมตรีกับฝรั่งเศส แม้คณะแรกจะสูญหาย แต่พระองค์ส่งทูตอีกครั้งในปี พ.ศ. 2226 ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนทูตระหว่างอยุธยาและฝรั่งเศสเป็นครั้งแรก อย่างไรก็ตาม เมื่อเชอวาเลียร์ เดอ โชมองต์ ทูลเชิญให้ทรงเข้ารีต พระองค์ทรงปฏิเสธอย่างชาญฉลาด พร้อมยืนยันเสรีภาพทางศาสนาแก่ประชาชน

ด้านศิลปวัฒนธรรม สมเด็จพระนารายณ์ทรงส่งเสริมวรรณคดี ทำให้ยุคของพระองค์เป็น 
'ยุคทองแห่งวรรณคดีอยุธยา' ทรงมีพระราชนิพนธ์โคลงและคำฉันท์หลายเรื่อง เช่น ทศรถสอนพระราม, พาลีสอนน้อง, และ สมุทรโฆษคำฉันท์

สมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงเป็นกษัตริย์ผู้ทรงปรีชาสามารถและมีวิสัยทัศน์กว้างไกล ทรงวางรากฐานให้กรุงศรีอยุธยาเป็นเมืองที่มีอำนาจทางเศรษฐกิจ การทูต และวัฒนธรรม จนได้รับการยกย่องเป็นหนึ่งในกษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ของไทย

14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2419 อเล็กซานเดอร์ เกรแฮม เบลล์ ยื่นจดสิทธิบัตรโทรศัพท์อย่างเป็นทางการ

14 กุมภาพันธ์ คือวันที่มีการจดสิทธิบัตรโทรศัพท์อย่างเป็นทางการ และเป็นวันแห่งความขัดแย้งระหว่าง 2 นักประดิษฐ์ อเล็กซานเดอร์ เกรแฮม เบลล์ และ เอลิชา เกรย์ เพราะพวกเขาต่างก็ประดิษฐ์โทรศัพท์ด้วยกันทั้งคู่ แถมมาจดทะเบียนในวันเดียวกัน

สำหรับวันที่ 14 กุมภาพันธ์ คือวันที่คนส่วนใหญ่ต่างรู้ว่าเป็นวันแห่งความรัก แต่ยังเป็นวันที่สำคัญอีกวันหนึ่งในประวัติศาสตร์อีกด้วย นั่นคือวันที่ อเล็กซานเดอร์ เกรแฮม เบลล์ ได้ยื่นจดสิทธิบัตรเครื่องส่งสัญญาณโทรศัพท์ ซึ่งเป็นก้าวสำคัญของเทคโนโลยีการสื่อสารที่พัฒนาจนถึงปัจจุบัน

ย้อนกลับไปในอดีต อินโนเซนโซ มันเซตติ นักประดิษฐ์ชาวอิตาเลียน คือบุคคลแรกที่มีแนวคิดเรื่องการสื่อสารในรูปแบบของเสียง แต่มันก็เป็นเพียงแนวคิดเท่านั้น แต่ อเล็กซานเดอร์ เกรแฮม เบลล์ และ เอลิชา เกรย์ คือผู้ที่สามารถทำให้แนวคิดนี้กลายเป็นความจริง พวกเขาสามารถประดิษฐ์เครื่องส่งสัญญาณโทรศัพท์ได้เป็นผลสำเร็จในเวลาไล่เลี่ยกัน และได้จดสิทธิบัตรอย่างเป็นทางการในวันเดียวกันคือวันที่ 14 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1876 (พ.ศ. 2419) แต่บิดาแห่งโทรศัพท์ที่โลกรู้จักกลับมีแต่เพียงเบลล์คนเดียวเท่านั้น 

สำหรับนักประดิษฐ์ทั้ง 2 ท่าน คือ เอลิชา เกรย์ เป็นชาวอเมริกัน เกิดในปี ค.ศ. 1835 (พ.ศ. 2378) เป็นวิศวกรมากความสามารถที่คิดค้นสิ่งประดิษฐ์ทางเทคโนโลยีหลายอย่าง ส่วน อเล็กซานเดอร์ เกรแฮม เบลล์ นั้นเป็นชาวสกอตแลนด์ เขาเกิดในปี ค.ศ. 1847 (พ.ศ. 2390) สมาชิกในครอบครัวของเบลล์หลายคนเป็นผู้พิการทางหู เขาศึกษาเกี่ยวกับผู้ที่มีปัญหาด้านการได้ยินจนเชี่ยวชาญ สามารถใช้ภาษามือในการสื่อสารได้อย่างคล่องแคล่ว และมีความสามารถในการแยกแยะเสียงต่าง ๆ ได้อย่างละเอียด

ในช่วงทศวรรษที่ 70 เกรย์ทำงานเป็นวิศวกรอยู่ในรัฐอิลลินอยส์ เขาได้ใช้เวลาทั้งหมดทุ่มไปกับการประดิษฐ์ "โทรเลขพูดได้" หรือโทรศัพท์ ซึ่งสามารถส่งข้อความในรูปแบบของเสียงได้ครั้งละหลาย ๆ ข้อความ และในช่วงเวลาเดียวกันนั้น เบลล์ประกอบอาชีพเป็นครูสอนคนหูหนวกอยู่ที่เมืองบอสตัน สหรัฐฯ ก็ใช้เวลาที่ว่างเว้นจากการสอนหนังสือมาประดิษฐ์เครื่องมือสื่อสารที่มีจุดประสงค์ไม่ต่างจากเกรย์ เพียงแต่เกรย์ประสบผลสำเร็จก่อน โดยเขาได้นำผลงานไปสาธิตโชว์ที่โบสถ์ไฮแลนด์ ปาร์ค ในปี ค.ศ. 1874 (พ.ศ. 2417) ในขณะที่เบลล์ประดิษฐ์ได้เป็นผลสำเร็จในปี ค.ศ. 1876 (พ.ศ. 2419) ซึ่งช้ากว่าเกรย์ไป 2 ปี

แต่ปัญหามาเกิดขึ้นเพราะเรื่องลิขสิทธิ์ โดยในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1876 (พ.ศ. 2419) ทนายของเกรย์เดินทางไปยื่นคำร้องขอจดสิทธิบัตรแสดงความเป็นเจ้าของเครื่องส่งสัญญาณโทรศัพท์ที่สำนักงานสิทธิบัตรและเครื่องหมายการค้าของสหรัฐฯ โดยเขาเขียนในใบคำร้องว่าขอแจ้งจดสิทธิบัตร แต่ไม่ได้อธิบายรายละเอียดโดยแจ้งว่าเกรย์จะตามมาระบุด้วยตนเองในภายหลัง ในวันเดียวกันนั้นทนายของเบลล์ก็ได้ยื่นเรื่องขอจดสิทธิบัตรเช่นกัน

ด้วยความที่ในสมัยนั้นการตรวจสอบทางกฎหมายยังไม่เข้มข้นเหมือนในปัจจุบันที่ว่าใครจะจดลิขสิทธิ์อะไรก็ต้องตรวจสอบให้แน่ชัด และเนื่องจากทั้งคู่มาจดทะเบียนสิทธิบัตรในวันเดียวกันแถมยังสิ่งประดิษฐ์แบบเดียวกันอีกด้วย จึงเกิดเป็นปัญหาฟ้องร้องกันขึ้น แต่สุดท้ายเบลล์ชนะคดีและได้เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์โทรศัพท์ เพราะในใบเสร็จรับเงินค่าธรรมเนียมระบุไว้ว่าเบลล์มาจ่ายเงินค่าธรรมเนียมก่อน และในลำดับการยื่นคำร้องนั้น เบลล์อยู่ลำดับที่ 5 ส่วนเกรย์อยู่ลำดับที่ 39 ซึ่งแปลว่าเบลล์มายื่นเรื่องก่อน เมื่อเบลล์ชนะคดีในครั้งนั้นเขาได้ตั้งบริษัท อเมริกัน เบลล์ เทเลโฟน (American Bell Telephone) ขึ้นมาและเริ่มประดิษฐ์โทรศัพท์อย่างจริงจัง ส่วนเกรย์นั้นได้ตั้งบริษัท เวสเทิร์น ยูเนียน เทเลกราฟ (Western Union Telegraph) และได้ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับโทรเลขต่อไป

15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2534 โศกนาฏกรรม แก๊ประเบิด จ.พังงา คร่าชีวิตไทยมุงกว่า 200 ศพ

วันนี้ เมื่อ 34 ปีก่อน เกิดโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่ครั้งหนึ่งของคนไทย และเป็นอุทาหรณ์สำหรับ 'ไทยมุง' เมื่อรถสิบล้อกับรถบรรทุกพ่วง 18 ล้อ ซึ่งบรรทุกแก๊ปไฟฟ้าไว้ในลังไม้ น้ำหนักรวมกว่า 20 ตัน มีรถตำรวจทางหลวงนำหน้า ออกเดินทางจาก จ.ภูเก็ต มุ่งหน้าไป จ.สระบุรี เพื่อนำแก๊ปไฟฟ้าไปใช้ระเบิดหิน เกิดเหตุเสียหลักพลิกคว่ำ ทำให้แก๊ปไฟฟ้าตกกระจายเกลื่อนเต็มถนนและสองข้างทาง

โดยเหตุเกิดที่บริเวณทางโค้ง สามแยกตลาดทุ่งมะพร้าว หน้าสถานีอนามัยทุ่งมะพร้าว กม.ที่ 41-42 ต.ทุ่งมะพร้าว อ.ท้ายเหมือง จ.พังงา ในช่วงเวลาประมาณ 17.30 น.

ชาวบ้านและผู้เห็นเหตุการณ์ได้กรูกันเข้ามาเก็บแก๊ปไฟฟ้า โดยไม่ฟังคำห้ามปรามของตำรวจว่าอาจเกิดระเบิด ทั้งยังมีรถที่สัญจรไปมา ซึ่งต้องจอดติดรอให้ยกรถที่พลิกคว่ำขวางถนนออก มีรถ บขส.กรุงเทพฯ-ภูเก็ต ผู้โดยสารเต็มคันรถ รถสองแถว 4-5 คัน และจักรยานยนต์อีกประมาณ 50 คัน ทำให้เหตุการณ์ยิ่งชุลมุน

เวลาผ่านไปประมาณ 1 ชั่วโมง มีไทยมุงจำนวนหนึ่งนำเหล็กมางัดตู้คอนเทนเนอร์ที่บรรจุแก๊ปไฟฟ้า ทันใดนั้นก็เกิดเสียงระเบิดตูมสนั่นหวั่นไหว รัศมีระเบิดแผ่กว้างถึง 1 กม. อาคารโดยรอบเจอแรงระเบิดพังยับเยิน ทั้งโรงเรียนทุ่งมะพร้าว บ้านเรือน สถานีอนามัย ศาลาอเนกประสงค์ แรงระเบิดทำให้ถนนเป็นหลุมยักษ์ลึกถึง 4 เมตร ถนนถูกตัดขาด รถสัญจรไม่ได้

แรงระเบิดทำให้ไทยมุงเสียชีวิตทันที 60 ศพ สภาพศพแหลกเหลว รถ บขส. ที่จอดติดอยู่พังยับ ผู้โดยสารเสียชีวิตคารถจำนวนมาก รวมทั้งผู้เสียชีวิตในที่เกิดเหตุรวมจำนวนกว่า 100 ศพ นอกจากนี้ ยังมีผู้ได้รับบาดเจ็บสาหัสและเสียชีวิตในเวลาต่อมาอีกจำนวนหนึ่ง 

ตำรวจ สภ.ท้ายเหมือง พร้อมรถบรรเทาสาธารณภัยของมูลนิธิต่าง ๆ รวมทั้งตำรวจตระเวนชายแดน จ.นครศรีธรรมราช มาช่วยกู้ซากรถ เนื่องจากเกรงจะเกิดระเบิดขึ้นมาอีก ขณะที่กำลังอีกส่วนหนึ่งพยายามเข้าควบคุมเพลิงที่ลุกไหม้อาคารรอบที่เกิดเหตุ

จากการสอบสวนเบื้องต้นคาดว่า สาเหตุของการระเบิดมาจากแรงเสียดสีที่ไทยมุงกลุ่มที่ไปงัดตู้คอนเทนเนอร์ เนื่องจากท่อแก๊ปไฟฟ้ามีคุณสมบัติจุดระเบิดได้ง่าย เพียงแต่มีแรงกระทบหรือประกายไฟจากบุหรี่หรือการอัดกระแทก ก็เกิดระเบิดขึ้นมาได้ หรืออาจจะมีไทยมุงเก็บแก๊ปไปสูบบุหรี่ไป ทำให้กลายเป็นโศกนาฏกรรมครั้งมโหฬารของไทย ที่ในที่สุดแล้วมีจำนวนผู้เสียชีวิตรวมกว่า 200 ศพ

17 กุมภาพันธ์ 2438 วันประสูติ หม่อมเจ้าพูนพิศมัย ดิศกุล ผู้บุกเบิกเผยแผ่พระพุทธศาสนาและนักเขียนผู้ทรงคุณค่าของไทย

หม่อมเจ้าพูนพิศมัย ดิศกุล ประสูติเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2438 ที่วังสามยอด เชิงสะพานดำรงสถิตย์ เป็นพระธิดาของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ และหม่อมเฉื่อย ดิศกุล (สกุลเดิม ยมาภัย) ทรงศึกษาภาษาไทย ภาษาอังกฤษ และภาษาฝรั่งเศสกับครูสตรีชาวต่างชาติ รวมถึงทรงศึกษาความรู้จากพระบิดา และสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ และสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้านิภานภดล วิมลประภาวดี กรมขุนอู่ทองเขตขัตติยนารี

หม่อมเจ้าพูนพิศมัยทรงมีความรู้ลึกซึ้งเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ไทยและพระพุทธศาสนา ทรงนิพนธ์ผลงานหลายเรื่อง เช่น 'ศาสนคุณ' ซึ่งได้รับรางวัลชั้นที่ 1 ในการประกวดพระราชพิธีวิสาขบูชา พ.ศ. 2472 ผลงานอื่น ๆ เช่น "ชีวิตและงานของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ" และ 'ประเพณีไทย' รวมถึงสารคดีหลายเรื่อง ทรงมีบทบาทสำคัญในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในประเทศและต่างประเทศ

หนึ่งในผลงานที่สำคัญของหม่อมเจ้าพูนพิศมัยคือการร่วมก่อตั้งองค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก (พ.ส.ล.) และดำรงตำแหน่งประธานตั้งแต่ พ.ศ. 2507 จนถึง พ.ศ. 2527 นอกจากนี้ยังได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ทางปรัชญาจากมหาวิทยาลัยดงกุก ประเทศเกาหลี ในปี พ.ศ. 2510 และปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในปี พ.ศ. 2522

หม่อมเจ้าพูนพิศมัย ดิศกุล ถึงแก่อนิจกรรมเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2533 สิริอายุ 95 ปี

18 กุมภาพันธ์ 2543 ยืนยันพบเหตุหายนะโคบอลต์-60 หลังซาเล้งเก็บไปขายร้านรับซื้อของเก่า

เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2543 เจ้าหน้าที่จากสำนักงานพลังงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปัจจุบันคือสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ) ได้รับรายงานเกี่ยวกับอุบัติเหตุรังสีโคบอลต์-60 ที่เกิดขึ้นเมื่อเครื่องฉายรังสีเก่าของโรงพยาบาลรามาธิบดีถูกนำไปทิ้งโดยไม่ได้รับการจัดการอย่างถูกต้อง จนกลายเป็นเหตุการณ์ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 3 รายและผู้ป่วยอีกหลายคนจากการสัมผัสรังสีอันตรายนี้

ย้อนกลับไปในช่วงปลายเดือนมกราคม 2543 เมื่อเครื่องฉายรังสีโคบอลต์-60 ที่หมดอายุของโรงพยาบาลรามาธิบดีถูกทิ้งไว้ที่โกดังของบริษัท กมลสุโกศล อิเล็คทริค จำกัด ก่อนจะถูกนำไปเก็บที่ลานจอดรถเก่าของบริษัทในซอยอ่อนนุช กรุงเทพฯ โดยไม่มีการจัดเก็บอย่างปลอดภัย กระทั่งวันที่ 24 มกราคม 2543 เมื่อชาย 4 คนลักลอบขนย้ายเครื่องฉายรังสีไปขายต่อให้กับร้านรับซื้อของเก่า โดยร้านดังกล่าวคือของ จิตรเสน จันทร์สาขา หรือที่เรียกกันว่า “ซาเล้งเก็บของเก่า”

จิตรเสนได้ซื้อเครื่องฉายรังสีและเศษเหล็กจากผู้ขายในราคา 8,000 บาท ก่อนที่จะรู้สึกถึงอันตรายเมื่อมือเริ่มแสบคันและพบอาการป่วยที่เกิดขึ้นในภายหลัง ต่อมาในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ เขาได้นำเครื่องฉายรังสีไปขายที่ร้านรับซื้อของเก่าในสมุทรปราการ ซึ่งได้ถูกแยกชิ้นส่วนจนพบว่ามีแท่งโลหะที่แผ่รังสีโคบอลต์-60 อยู่

เมื่อผู้คนที่เกี่ยวข้องกับเครื่องฉายรังสีสัมผัสกับรังสีเริ่มแสดงอาการป่วย เช่น อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร มือบวมพอง และอาการแผลเน่า ทางแพทย์จึงเริ่มสรุปว่าอาจเกิดจากการสัมผัสกับรังสีอันตราย และได้แจ้งเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องให้ทำการตรวจสอบ

เจ้าหน้าที่จากสำนักงานพลังงานปรมาณูเพื่อสันติและเจ้าหน้าที่จากสาธารณสุขจังหวัดสมุทรปราการได้ลงพื้นที่ตรวจสอบและพบจุดต้นกำเนิดรังสีในเวลา 4.00 น. ของวันที่ 19 กุมภาพันธ์ ซึ่งได้ทำการเก็บรักษาแท่งโลหะที่ปล่อยรังสีโคบอลต์-60 ไปยังที่ปลอดภัยภายใต้การกำบังรังสี

ผลกระทบจากเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในวงกว้าง โดยมีประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากรังสีจำนวนมากถึง 948 คนที่ต้องเข้ารับการตรวจรักษาที่โรงพยาบาลหลายแห่ง รวมทั้งมีหญิงตั้งครรภ์ที่ต้องตัดสินใจทำแท้งเนื่องจากกังวลเกี่ยวกับอันตรายที่อาจจะมีต่อทารกในครรภ์

เหตุการณ์นี้ทำให้มีผู้เสียชีวิตจากการติดเชื้อในกระแสเลือดจากการสัมผัสกับรังสีโคบอลต์-60 ซึ่งรายแรกคือ นิพนธ์ ลูกจ้างที่ตัดแยกเครื่องฉายรังสี และต่อมาในวันที่ 18 มีนาคม สุดใจ ลูกจ้างอีกคน และวันที่ 24 มีนาคม สามีของเจ้าของร้านรับซื้อของเก่าก็เสียชีวิตตามมา ขณะที่จิตรเสน แม้จะรอดชีวิต แต่ก็ต้องรักษาตัวในโรงพยาบาลและมีอาการสาหัสจนต้องตัดนิ้วมือทิ้ง

เหตุการณ์นี้ถือเป็นอุบัติเหตุทางรังสีครั้งแรกในประเทศไทย และยังคงเป็นบทเรียนสำคัญเกี่ยวกับการจัดการสารกัมมันตรังสีในประเทศ

19 กุมภาพันธ์ 2453 สนามโอลด์แทรฟฟอร์ดเปิดใช้งานครั้งแรก ลิเวอร์พูลเฉือนชนะแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด 4-3

โอลด์แทรฟฟอร์ด (Old Trafford) คือสนามฟุตบอลที่ตั้งอยู่ในเขตโอลด์แทรฟฟอร์ด (Greater Manchester) ประเทศอังกฤษ และเป็นสนามเหย้าของแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดในพรีเมียร์ลีก โดยมีความจุ 74,310 ที่นั่ง เป็นสนามที่ใหญ่ที่สุดในบรรดาสโมสรฟุตบอลในสหราชอาณาจักร และใหญ่เป็นอันดับที่ 2 ของอังกฤษ รองจากสนามเวมบลีย์ และเป็นอันดับที่ 12 ของยุโรป โอลด์แทรฟฟอร์ดตั้งอยู่ห่างจากโอลด์แทรฟฟอร์ดคริกเกตกราวนด์ประมาณ 800 เมตร (0.5 ไมล์)

สนามแห่งนี้ได้รับการขนานนามว่า 'The Theatre of Dreams' (โรงละครแห่งความฝัน) โดยบ็อบบี ชาร์ตัน ตำนานนักฟุตบอลของแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด ตั้งแต่ปี 1910 แม้ว่าช่วงระหว่างปี 1941 ถึง 1949 สโมสรจะต้องย้ายไปใช้สนามเมนโรด เนื่องจากสนามโอลด์แทรฟฟอร์ดได้รับความเสียหายจากระเบิดในสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่หลังจากการซ่อมแซมและการขยายสนามหลายครั้งในช่วงปี 1990 และ 2000 รวมถึงการเพิ่มชั้นที่ 2 ให้กับอัฒจันทร์ทั้ง 3 ด้าน สนามจึงสามารถรองรับผู้ชมได้เกือบ 80,000 คน สถิติผู้ชมสูงสุดของสนามคือ 76,962 คน ที่เข้าชมการแข่งขันเอฟเอคัพรอบรองชนะเลิศระหว่างวูล์ฟแฮมป์ตันวันเดอเรอส์กับกริมสบีทาวน์ในปี 1939

โอลด์แทรฟฟอร์ดยังเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันระดับนานาชาติมาหลายครั้ง รวมถึงฟุตบอลโลก 1966, ยูโร 1996, โอลิมปิกฤดูร้อน 2012 และแชมเปียนส์ลีก 2003 รวมถึงการแข่งขันรักบี้ลีกระดับสูง เช่น ซูเปอร์ลีก แกรนด์ไฟนอล และรอบชิงชนะเลิศรักบี้ลีกชิงแชมป์โลกในปี 2000, 2013 และ 2022

สนามโอลด์แทรฟฟอร์ดมีประวัติศาสตร์ยาวนานที่เริ่มต้นก่อนปี 1902 เมื่อแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดยังใช้ชื่อว่า 'นิวตันฮีต' และเล่นในสนามที่มีสภาพไม่ดี จนกระทั่งในปี 1909 จอห์น เฮนรี เดวีส์ ประธานสโมสรคนใหม่ ได้บริจาคเงินสร้างสนามแห่งใหม่ที่โอลด์แทรฟฟอร์ด โดยออกแบบโดยอาร์ชิบัลด์ ลิทช์ สถาปนิกชาวสก็อต ที่มีชื่อเสียงในการออกแบบสนามฟุตบอลหลายแห่ง

การก่อสร้างสนามใช้เวลาจนเสร็จในปี 1909 และมีความจุเริ่มต้นที่ประมาณ 80,000 คน สนามแห่งนี้เปิดใช้อย่างเป็นทางการครั้งแรกในวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 1910 โดยแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดเปิดบ้านพบกับลิเวอร์พูล ซึ่งลิเวอร์พูลเอาชนะไป 4-3 แม้สนามนี้จะได้รับความเสียหายจากการโจมตีในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่ก็ได้รับการซ่อมแซมและขยายเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนกลายเป็นหนึ่งในสนามฟุตบอลที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกในปัจจุบัน

20 กุมภาพันธ์ 2535 การก่อตั้งฟุตบอลพรีเมียร์ลีก แทนลีกดิวิชั่น 1 อังกฤษ

พรีเมียร์ลีก อังกฤษ ก่อตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการ แทนที่ฟุตบอลลีกดิวิชั่น 1 ซึ่งเคยเป็นลีกสูงสุดของอังกฤษมาตั้งแต่ปี 1888 การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้เกิดขึ้นจากการตัดสินใจของสโมสรในฟุตบอลลีกเฟิสต์ดิวิชันที่ต้องการแยกตัวจากอิงกลิชฟุตบอลลีก (EFL) เพื่อจัดตั้งลีกใหม่ที่มีรูปแบบการแข่งขันและรายได้ที่เป็นอิสระมากขึ้น

พรีเมียร์ลีกก่อตั้งขึ้นในช่วงต้นคริสต์ทศวรรษ 1990 โดยมีแนวคิดเกิดขึ้นหลังจบฤดูกาล 1990–91 สโมสรในลีกดิวิชัน 1 จำนวน 18 สโมสร และสมาคมฟุตบอลอังกฤษ (FA) สนับสนุนแนวทางการจัดตั้งลีกใหม่ผ่านแผน “Blueprint for the Future of Football”

จุดเปลี่ยนสำคัญเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม ค.ศ. 1991 เมื่อสโมสรสมาชิกลงนามในข้อตกลงผู้ก่อตั้ง และต่อมาได้แจ้งลาออกจากฟุตบอลลีกเป็นกลุ่ม ก่อนส่งหนังสือลาออกจาก FA ซึ่งทำหน้าที่บริหารลีก

วัตถุประสงค์หลักของพรีเมียร์ลีกคือ การเพิ่มรายได้ของสโมสรใหญ่และป้องกันไม่ให้รายได้กระจายไปยังลีกล่าง โดยเฉพาะจากลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์ ในยุคนั้น ไอทีวีถือสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลลีกด้วยข้อตกลงมูลค่า 44 ล้านปอนด์ ตลอด 4 ปี (1988–1992)

พรีเมียร์ลีกมีโครงสร้างบริหารที่แตกต่างจากฟุตบอลลีกทั่วไป โดยมี ริก แพร์รี ดำรงตำแหน่งซีอีโอคนแรก และ เซอร์ จอห์น ควินตัน เป็นประธาน สโมสรสมาชิกมีสิทธิ์ลงคะแนนเสียงเท่ากัน โดยมติสำคัญต้องได้รับการอนุมัติจากเสียงข้างมาก 2 ใน 3

พรีเมียร์ลีกเปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1992 พรีเมียร์ลีกเป็นลีกฟุตบอลระดับสูงสุดของอังกฤษ มี 20 สโมสรเข้าร่วมแข่งขัน โดยใช้ระบบเลื่อนชั้นและตกชั้นร่วมกับ EFL แชมเปียนชิป ฤดูกาลแข่งขันเริ่มตั้งแต่เดือนสิงหาคมถึงพฤษภาคม แต่ละทีมลงเล่น 38 นัดจากการพบกันแบบเหย้าและเยือน โดยการแข่งขันส่วนใหญ่มักจัดขึ้นในช่วงสุดสัปดาห์

หนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้พรีเมียร์ลีกเติบโตอย่างรวดเร็วคือข้อตกลงลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสด ซึ่งมีมูลค่ามหาศาล สกาย สปอร์ตส์และบีที สปอร์ต ได้รับสิทธิ์ถ่ายทอดสดการแข่งขันในประเทศ โดยมีการเจรจาข้อตกลงใหม่ที่คาดว่าจะเพิ่มมูลค่าเป็น 6.7 พันล้านปอนด์สำหรับฤดูกาล 2025–2029 นอกจากนี้ ลีกยังสร้างรายได้จากลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดในต่างประเทศมากถึง 7.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในช่วงปี 2022–2025

พรีเมียร์ลีกถือเป็นลีกฟุตบอลที่ได้รับความนิยมสูงสุดในโลก มีการถ่ายทอดสดไปยัง 212 ดินแดนทั่วโลก มีผู้ชมโทรทัศน์มากถึง 4.7 พันล้านคน และมีจำนวนผู้ชมในสนามเฉลี่ย 38,375 คนต่อแมตช์ในฤดูกาล 2023–24

ในแง่ของความสำเร็จระดับยุโรป พรีเมียร์ลีกเป็นลีกที่มีสโมสรคว้าแชมป์ยูฟ่าแชมเปียนส์ลีก / ยูโรเปียนคัพ มากเป็นอันดับสอง รองจากลาลีกาสเปน โดยมี 6 สโมสรจากอังกฤษคว้าถ้วยยุโรปทั้งหมด 15 ใบ

นับตั้งแต่ก่อตั้ง มี 51 สโมสรที่เคยเข้าร่วมแข่งขันพรีเมียร์ลีก โดย 7 สโมสรที่เคยคว้าแชมป์พรีเมียร์ลีกมากที่สุด ได้แก่ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด (13 สมัย), แมนเชสเตอร์ ซิตี (8 สมัย), เชลซี (5 สมัย) ,อาร์เซนอล (3 สมัย), แบล็กเบิร์น โรเวอส์ (1 สมัย), เลสเตอร์ ซิตี (1 สมัย), ลิเวอร์พูล (1 สมัย)

โดยแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด เป็นสโมสรที่คว้าแชมป์พรีเมียร์ลีกมากที่สุด ขณะที่แมนเชสเตอร์ ซิตี ถือครองสถิติแชมป์ติดต่อกันยาวนานที่สุดถึง 4 ฤดูกาล

21 กุมภาพันธ์ 2455 รัชกาลที่ 6 ทรงประกาศใช้ พุทธศักราช (พ.ศ.) เป็นศักราชประจำชาติ แทน รัตนโกสินทร์ศก (ร.ศ.)

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) ทรงมีพระราชดำริให้ใช้ "พุทธศักราช" (พ.ศ.) เป็นศักราชประจำชาติไทยแทน "รัตนโกสินทร์ศก" (ร.ศ.) โดยมองว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่ยึดมั่นในพุทธศาสนาและต้องการให้สอดคล้องกับประเทศเพื่อนบ้านที่นับถือพุทธศาสนาเช่นกัน ดังนั้น เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2455 (รัตนโกสินทร์ศก 131) พระองค์จึงทรงประกาศให้ใช้พุทธศักราชในราชการทั่วไป โดยกำหนดให้วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2456 เป็นวันที่เริ่มใช้พุทธศักราชอย่างเป็นทางการ

ก่อนที่จะมีการใช้พุทธศักราช ประเทศไทยเคยใช้ "มหาศักราช" (ม.ศ.) และ "จุลศักราช" (จ.ศ.) โดยศักราชทั้งสองนี้ถูกใช้ก่อนที่จะมีการเปลี่ยนแปลงเป็นรัตนโกสินทร์ศกในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ซึ่งเริ่มนับจากปีที่กรุงเทพมหานครเป็นเมืองหลวงใน พ.ศ. 2325 หรือรัตนโกสินทร์ศก 1 (ร.ศ. 1)

สำหรับการนับพุทธศักราช ประเทศไทย, กัมพูชา, และสปป.ลาวเริ่มนับตั้งแต่ปีที่พระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานครบ 1 ปี ในขณะที่ศรีลังกาและเมียนมาเริ่มนับพุทธศักราชตั้งแต่ปีที่พระพุทธเจ้าดับขันธปรินิพพานเมื่อ 544 ปีก่อนคริสตศักราช จึงทำให้พุทธศักราชของศรีลังกาและเมียนมาเร็วกว่าของไทย 1 ปี

22 กุมภาพันธ์ 2516 'ดำ-กาญจนา' คู่รักที่ถูกกีดกัน สร้างตำนานรักสะพานสารสิน

วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2516 คู่รักหนุ่มสาวที่ถูกกีดกันจากครอบครัว ตัดสินใจจบชีวิตพร้อมกันโดยใช้ผ้าขาวม้ามัดร่างติดกันแล้วกระโดดลงจากสะพานสารสิน กลายเป็นตำนานรักสะเทือนใจที่ถูกเล่าขานจนถึงปัจจุบัน

เรื่องราวเกิดขึ้นในคืนวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2516 เมื่อพ่อค้าขายไข่เต่าบริเวณสะพานสารสิน แจ้งตำรวจว่าพบชายหญิงคู่หนึ่งกอดกันแน่นก่อนกระโดดลงทะเลที่มีกระแสน้ำเชี่ยวกราก แม้เจ้าหน้าที่จะเร่งค้นหา แต่ก็ไร้วี่แววของร่างทั้งสอง จนกระทั่งเช้าวันที่ 22 กุมภาพันธ์ ศพของพวกเขาถูกพบลอยอยู่ห่างจากสะพานราว 3 กิโลเมตร โดยยังมีผ้าขาวม้าผูกตัวติดกันแน่น

ฝ่ายชายคือนายดำ แซ่ลิ้ม อายุ 23 ปี บุตรบุญธรรมของครอบครัวชาวจีนเชื้อสายภูเก็ต ประกอบอาชีพขับรถสองแถวและรับจ้างกรีดยาง ส่วนฝ่ายหญิงคือ นางสาวกาญจนา แซ่หงอ อายุ 19 ปี นักศึกษาปีที่ 2 วิทยาลัยครูภูเก็ต ทั้งคู่พบกันเมื่อดำขับรถรับส่งกาญจนาเป็นประจำ และความสัมพันธ์ก็ค่อยๆ พัฒนาเป็นความรัก

ทว่า ครอบครัวของกาญจนาไม่เห็นด้วย เพราะต้องการให้ลูกสาวแต่งงานกับคนมีฐานะที่เหมาะสมกว่า เมื่อทราบว่าทั้งคู่ได้เสียกัน พ่อแม่ของเธอจึงกีดกันขั้นเด็ดขาด บังคับให้เลิกเรียนและห้ามพบกับดำอีก ด้านพ่อแม่ของดำเองก็ไม่ยอมรับกาญจนาเช่นกัน ทำให้ทั้งคู่ถูกต่อต้านจากทุกฝ่าย

คืนก่อนเกิดเหตุ ดำพากาญจนาหนีออกจากบ้านไปอาศัยอยู่กับพ่อแม่ของตน แต่กลับถูกปฏิเสธ ทำให้ทั้งสองหมดสิ้นหนทาง ตำรวจพบจดหมายลาตายที่ดำเขียนไว้ ระบุว่าพวกเขารักกันมาก แต่เมื่อถูกกีดกันจนไร้ทางออก จึงขอตายไปด้วยกัน

ในคืนสุดท้าย ดำขับรถสองแถวพากาญจนาไปที่สะพานสารสิน เขาถามคนขับรถบรรทุกน้ำมันที่จอดอยู่บริเวณนั้นว่า หากกระโดดลงไปในช่วงน้ำเชี่ยวจะเป็นอย่างไร คำตอบที่ได้รับคือ "ตายแน่" จากนั้นทั้งคู่ก็เดินไปที่ราวสะพาน มัดตัวเข้าด้วยกันด้วยผ้าขาวม้า ก่อนกระโจนลงสู่กระแสน้ำ ท่ามกลางเสียงร้องห้ามของคนขับรถบรรทุก แต่ก็ไม่ทันเสียแล้ว

ศพของทั้งสองถูกนำมาทำพิธีร่วมกันที่วัดท่าฉัตรชัย เรื่องราวของพวกเขากลายเป็นสัญลักษณ์แห่งความรักที่ถูกขัดขวาง และเป็นอุทาหรณ์ว่าหากครอบครัวยอมรับความรักของลูกตั้งแต่แรก โศกนาฏกรรมนี้อาจไม่เกิดขึ้น

ต่อมาตำนานรักสะพานสารสินถูกถ่ายทอดในรูปแบบต่างๆ เช่น ภาพยนตร์ สะพานรักสารสิน (2529) โดยเปี๊ยกโปสเตอร์ ซึ่งได้รับการยกย่องให้เป็น 1 ใน 100 ภาพยนตร์ไทยที่ควรชม และละครโทรทัศน์ในปี 2541

23 กุมภาพันธ์ 2436 ในหลวงรัชกาลที่ 5 ทรงสถาปนา โรงเรียนวัดบวรนิเวศ ต้นแบบหลักสูตร-วิธีการสอนที่เผยแพร่ทั่วไทย

เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2436 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ก่อตั้ง 'วิทยาลัย' ภายในวัดบวรนิเวศ โดยให้ชื่อว่า มหามกุฏราชวิทยาลัย ซึ่งเป็นสถานที่สำหรับศึกษาพระปริยัติธรรมของพระสงฆ์และสามเณร แยกออกเป็นสองส่วน คือ ส่วนที่ใช้สำหรับการศึกษาเกี่ยวกับพระปริยัติธรรม และส่วนที่เป็นโรงเรียน ซึ่งภายหลังกลายเป็นต้นแบบของ 'โรงเรียนวัดบวรนิเวศ'

ในช่วงแรก โรงเรียนนี้ได้รับการดูแลโดยพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นวชิรณาณวโรรส และต่อมามีการขยายการเรียนการสอนอย่างต่อเนื่อง รัชกาลที่ 5 ทรงมีพระราชประสงค์ให้การศึกษากระจายไปทั่วประเทศ จึงโปรดเกล้าฯ ให้นำหลักสูตรและวิธีการสอนที่ใช้ในโรงเรียนวัดบวรนิเวศไปใช้ในโรงเรียนต่าง ๆ ทั่วประเทศ นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้โรงเรียนวัดบวรนิเวศกลายเป็นสถาบันที่เป็นต้นแบบในการใช้หลักสูตรการศึกษาทั่วประเทศ

เมื่อเข้าสู่รัชสมัยของรัชกาลที่ 6 โรงเรียนวัดบวรนิเวศยังคงเป็นสถานที่สำคัญในการเสริมสร้างความรู้ โดยรัชกาลที่ 6 ทรงโปรดเกล้าฯ สร้างอาคาร 'มนุษยนาควิทยาทาน' ซึ่งนอกจากจะเป็นการรำลึกถึงพระเจ้าน้องยาเธอกรมหมื่นวชิรณาณวโรรส ยังเป็นสถานที่สำหรับการเรียนการสอนของนักเรียนโรงเรียนวัดบวรนิเวศและโรงเรียนฝึกหัดครูวัดบวรนิเวศอีกด้วย

จนถึงปัจจุบัน โรงเรียนวัดบวรนิเวศได้ดำเนินการเรียนการสอนมาเป็นเวลาเกือบ 132 ปี และยังคงมีบทบาทสำคัญในการผลิตบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาประเทศไทย


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top