Saturday, 26 April 2025
CoolLife

16 มีนาคม พ.ศ. 2424 งานออกพระเมรุพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระศพ สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทา กุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี

ย้อนกลับไปเมื่อวันจันทร์ที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2423 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมี พระบรมราชโองการให้แต่งเรือพระที่นั่งเพื่อเสด็จประพาสพระราชวังบางปะอินพร้อมพระมเหสีทุกพระองค์ เจ้าจอมมารดา เจ้าจอม และข้าราชบริพาร โดยก่อนวันเสด็จพระราชดำเนินนั้น พระองค์เจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ ทรงพระสุบิน (ฝัน) ว่า พระองค์พร้อมด้วยสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าหญิงกรรณาภรณ์เพชรรัตน์ฯ ทรงพระดำเนินข้ามสะพานแห่งหนึ่ง สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าหญิงกรรณาภรณ์เพชรรัตน์ฯ ทรงพลัดตกน้ำลงไป พระองค์สามารถคว้าพระหัตถ์เอาไว้ได้ แต่พระหัตถ์ของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอฯ ก็ลื่นหลุดจากพระหัตถ์พระองค์ไป พระองค์ทรงคว้าพระหัตถ์พระเจ้าลูกเธอจนทรงตกลงไปในน้ำด้วยกันทั้ง 2 พระองค์ ถึงแม้ว่าพระองค์จะทรงหวั่นพระทัย แต่ก็มิได้ทรงกราบบังคมทูลให้พระราชสวามีทรงทราบ และได้ตามเสด็จฯ ประพาสพระราชวังบางปะอินตามพระราชประสงค์

ในวันเสด็จฯ นั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เคลื่อนขบวนเรือต่าง ๆ ออกไปก่อนในเวลาประมาณ 2 โมงเช้า โดย พระองค์เจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าหญิงกรรณาภรณ์เพชรรัตน์ ประทับบนเรือเก๋งกุดัน โดยมีเรือปานมารุต ซึ่งเป็นเรือกลไฟจูงเรือพระประเทียบ หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสร็จพระราชกิจแล้ว จึงได้เสด็จพระราชดำเนินด้วยเรือพระที่นั่งโสภาณภควดีตามไป เมื่อขบวนเรือพระที่นั่งไปถึงบางตลาดนั้น จมื่นทิพเสนากับปลัดวังซ้ายลงมากราบทูลว่า “เรือพระที่นั่งพระองค์เจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ ซึ่งเรือปานมารุตจูงไปนั้นล่มที่บางพูด องค์สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าหญิงกรรณาภรณ์เพชรรัตน์ แลพระชนนีสิ้นพระชนม์”

หลังจากนั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงได้ทรงไล่เลียงกรมหมื่นอดิศรอุดมเดช พระยามหามนตรี และผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ โดยพระยามหามนตรีทูลว่า “เรือราชสีห์ซึ่งจูงเรือพระองค์เจ้าสุขุมาลมารศรีนั้น นำหน้าไปทางฝั่งตะวันออก โดยมีเรือโสรวาร ซึ่งพระยามหามนตรีไปจูงเรือพระองค์เจ้าเสาวภาผ่องศรีตามไปเป็นที่สองในแนวเดียวกัน ส่วนเรือยอร์ชของกรมหลวงวรศักดาพิศาล ซึ่งจูงเรือกรมพระสุดารัตนราชประยูรไปทางฝั่งตะวันตกแล่นตรงกันกับเรือราชสีห์ หลังจากนั้น เรือปานมารุตแล่นสวนขึ้นมาช่องกลางห่างเรือโสรวารประมาณ 10 ศอก พอเรือปานมารุตแล่นขึ้นไปใกล้ เรือราชสีห์ก็เบนหัวออก เรือพระประเทียบเสียท้ายปัดไปทางตะวันออก ศีรษะเรือไปโดนข้างเรือโสรวารน้ำเป็นละลอกปะทะกัน กดศีรษะเรือพระประเทียบจมคว่ำลง”

อย่างไรก็ตาม กรมหมื่นอดิศรอุดมเดชกล่าวว่า “เป็นเพราะเรือโสรวารหนีตื้นออกมา จึงเป็นเหตุให้เรือปานมารุตแล่นห่างกว่า 10 ศอก” ซึ่งกรมหมื่นอดิศรอุดมเดชและพระยามหามนตรีต่างซัดทอดกันไปมา โดยในขณะที่เรือล่มนั้น พระยามหามนตรีก็ได้ออกคำสั่งห้ามผู้ใดลงไปช่วยเหลือ ด้วยเป็นการขัดต่อกฎมณเฑียรบาลที่ห้ามให้ผู้ใดแตะต้องพระวรกายของพระมเหสี มิฉะนั้นจะถูกประหารทั้งตระกูล 

หลังจากนั้น จึงโปรดเกล้าฯ ให้เจ้านายขึ้นไปไล่เลียงคนอื่น ๆ ดู แล้วจึงได้ความว่า พระองค์เจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ก็สวรรคตพร้อมด้วยพระราชบุตรในพระครรภ์พระชนม์  เดือนเต็ม ทำให้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเสียพระทัยยิ่งนัก และเนื่องจากเหตุการณ์นี้ทำให้มหาชนถวายพระนามพระองค์เจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ว่า “สมเด็จพระนางเรือล่ม” พระศพของสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ฯ และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าหญิงกรรณาภรณ์เพชรรัตน์ฯ ตั้งบำเพ็ญพระราชกุศลที่หอธรรมสังเวชภายในพระบรมมหาราชวัง ตั้งแต่วันสวรรคต โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระโกศทองใหญ่ ซึ่งเป็นพระโกศสำหรับทรงพระบรมศพของพระมหากษัตริย์ สมเด็จพระอัครมเหสีและพระบรมวงศานุวงศ์ผู้ใหญ่ ให้ทรงพระศพสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ฯ ซึ่งถือเป็นการพระราชทานพระเกียรติยศแก่สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ฯ เป็นอย่างยิ่ง หลังจากนั้น ได้มีการจัดการพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพทั้ง 2 พระองค์ขึ้น ณ กลางทุ่งพระเมรุ เมื่อวันที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2424 และพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินขึ้นพระราชทานเพลิงพระศพ ในวันที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2424

ในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระศพในครั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชประสงค์ให้จัดพิมพ์หนังสือสวดมนต์รวมพระสูตร และพระปริตต่าง ๆ สำหรับพระราชทานแด่อารามต่าง ๆ เพื่อเป็นพระราชกุศลในวันถวายพระเพลิงพระศพ ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่มีการจัดพิมพ์หนังสือแจกในงานศพ และยังคงเป็นธรรมเนียมที่ปฏิบัติสืบเนื่องกันมาจนถึงปัจจุบัน

แหล่งที่มา - พิพิธภัณฑ์ออนไลน์ ตอนที่ 24 : เกร็ดประวัติศาสตร์ อันเกี่ยวเนื่องกับ สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา

17 มีนาคม ของทุกปี ‘วันมวยไทยแห่งชาติ’ ระลึกวีรกรรม ‘นายขนมต้ม’ บิดามวยไทย

วันที่ 17 มีนาคม ของทุกปี กำหนดเป็น ‘วันมวยไทยแห่งชาติ’ หรือ วันนักมวย (National Muay Thai Day) :ซึ่งนับเป็นอีกหนึ่งวันสำคัญทางประวัติศาสตร์ชาติไทย เพื่อย้อนรำลึกถึง ‘นายขนมต้ม’ บิดามวยไทย ที่ได้ขึ้นชกมวยต่อหน้าพระที่นั่งพระเจ้ามังระ เมื่อวันที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2317

โดยวีรกรรมครั้งประวัติศาสตร์ดังกล่าว เกิดขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยา เมื่อครั้งเสียกรุงครั้งที่ 2 ในวันที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2317 โดยที่ นายขนมต้ม นักมวยชาวกรุงศรีอยุธยา สามารถล้มคู่ชกได้ถึง 10 คน บนสนามมวยต่อหน้าพระที่นั่งพระเจ้ามังระ ส่งผลให้มวยไทยโด่งดังขจรไปไกล และมีชื่อเสียงจนถึงปัจจุบันนั่นเอง

จากวีรกรรมความกล้าในครั้งนี้ ทำให้มีการกำหนดให้วันที่ 17 มีนาคม ของทุกปีเป็น วันมวยไทยแห่งชาติ เพื่อระลึกถึงคุณงามความดีและฝีมือเชิงมวยของ นายขนมต้ม และยังเป็นการยกย่องให้เกียรติแก่นักมวยไทย ทั้งนี้ ได้มีการสร้างอนุสาวรีย์นายขนมต้ม ที่สนามกีฬากลางจังหวัดพระนครศรีอยุธยาอีกด้วย

18 มีนาคม พ.ศ. 2528 วันเกิดของ ‘ท่านผู้หญิงสิริกิติยา เจนเซน’ พระธิดาในทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี

ท่านผู้หญิงสิริกิติยา เจนเซน เกิดเมื่อวันที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2528 ที่เมืองซานดิเอโก ประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นพระธิดาคนเล็กในทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดีโดยมีพี่สาวและพี่ชาย คือ ท่านผู้หญิงพลอยไพลิน และคุณพุ่ม เจนเซน ในวัยเยาว์ ท่านผู้หญิงสิริกิติยา หรือ คุณใหม่ ได้ศึกษาขั้นต้นที่โรงเรียนมัธยมศึกษาเอิร์ลวอร์เรนจูเนียร์ (Earl Warren Junior High School) และโรงเรียนมัธยมศึกษาทอร์เรย์ไพนส์ (Torrey Pines High School) ก่อนที่สำเร็จการศึกษาด้านวิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยนิวยอร์ก สาขาการศึกษาภูมิภาคเอเชียตะวันออก

หลังสำเร็จการศึกษา ท่านผู้หญิงสิริกิติยาได้ทำงานหลากหลายด้าน อาทิ ทำงานด้านการออกแบบ โดยเริ่มฝึกงานกับ โยจิ ยามาโมโตะ นักออกแบบชื่อดังชาวญี่ปุ่น และทำงานกับแบรนด์แฟชั่นชื่อดังอย่างแอร์เมส กระทั่งกลับมาเมืองไทย จึงได้เข้าฝึกงานในกลุ่มงานวิชาการการอนุรักษ์ สำนักสถาปัตยกรรม กรมศิลปากร และได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการ ของกรมศิลปากร

ในปี พ.ศ. 2561 ท่านผู้หญิงสิริกิติยาเป็นผู้อำนวยการในโครงการ ‘วังน่านิมิต’ ซึ่งเป็นผลงานการเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับพระราชวังบวรสถานมงคล ผ่านเทคโนโลยีสื่อในรูปแบบภาพ (Visual Language) ซึ่งได้รับเสียงชื่นชมอย่างมากมาย ต่อมายังมีผลงานอันน่าสนใจอื่น ๆ อาทิ การจัดแสดงนิทรรศการภาพถ่าย Hundred Years Between ที่บอกเล่าเรื่องราวการเดินทางของท่านผู้หญิงสิริกิติยา กับการตามรอยเสด็จประพาสรัชกาลที่ 5 ที่นอร์เวย์ ในวาระครบรอบ 115 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทย - นอร์เวย์ พ.ศ.2563

ด้วยเจตนารมย์ในการสืบสานประวัติศาสตร์ไทยในหลากหลายบริบท เพื่อส่งต่อไปยังกลุ่มคนรุ่นใหม่ จึงทำให้ท่านผู้หญิงสิริกิติยา มีความมุ่งมั่นสร้างสรรค์ผลงาน ตลอดจนมีส่วนร่วมในการผลักดันผลงานศิลปะ มรดกทางวัฒนธรรมของชาติ เพื่อให้ได้รับความสนใจ และถูกสานต่ออย่างถูกต้องและดีงามต่อไป

19 มีนาคม พ.ศ. 2534 ในหลวง ร. 9 มีพระราชดำริทำฝายในลำน้ำปาย ก่อกำเนิด 4 โครงการชลประทาน จ.แม่ฮ่องสอน

วันนี้เมื่อ 34 ปีก่อน พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะทรงดำรงพระอิสริยยศ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินจากเรือนประทับแรม ศูนย์พัฒนาปางตอง โครงการตามพระราชดำริจังหวัดแม่ฮ่องสอน ตำบลหมอกจำแป่ อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน จังหวัดแม่ฮ่องสอน ไปยังศูนย์โครงการพัฒนาลุ่มน้ำปาย ตามพระราชดำริ ตำบลผาบ่อง อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน จังหวัดแม่ฮ่องสอน 

ทั้ง 3 พระองค์ทรงพระดำเนินไปทอดพระเนตรกิจกรรมของสำนักงานประมงน้ำจืดจังหวัดแม่ฮ่องสอน ได้แก่ โครงการเพาะขยายพันธุ์เขียดแลว ซึ่งได้ทดลองการเพาะขยายพันธุ์เขียดแลวโดยวิธีเลียนแบบธรรมชาติและโดยวิธีผสมเทียม นอกจากนั้น ยังได้ดำเนินการอนุรักษ์พันธุ์ปลาน้ำจืดที่มีถิ่นอาศัยในแม่น้ำปาย ได้แก่ ปลาพลวงหิน ปลาช่อนงูเห่า ปลาสะแงะ ปลากดหัวเสียม ปลาหม่นสร้อย และปลาสลาด ตลอดจนหาวิธีแพร่ขยายพันธุ์ปลาดังกล่าวเพื่อให้เป็นแหล่งอาหารโปรตีนของราษฎรท้องถิ่นในอนาคต 

จากนั้น ทอดพระเนตรแผนงานโครงการปรับปรุงพันธุ์โค พันธุ์สัตว์ปีก พันธุ์แพะ โครงการฝึกอบรมเกษตรด้านการเลี้ยงสัตว์ โครงการธนาคารโค – กระบือ และโครงการปรับปรุงพืชอาหารสัตว์ เสร็จแล้ว เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรแปลงขยายพันธุ์โครงการปลูกกุหลาบตามพระราชเสาวนีย์ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง 

ต่อจากนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมศูนย์ประสานงานโครงการตามพระราชดำริจังหวัดแม่ฮ่องสอน เพื่อทอดพระเนตรงานของกรมวิชาการเกษตร ได้แก่ เรือนเพาะชำกล้าไม้ และแปลงรวบรวมและศึกษาพันธุ์แมคคาเดเมียนัท ทรงมีพระราชกระแสรับสั่งให้ปลูกพืชไร่ล้มลุกอื่นๆ แซมระหว่างแถวแมคคาเดเมีย ซึ่งจะทำให้บริเวณนั้นสวยงามมากขึ้น และเมื่อทรงทราบว่าพื้นที่ดังกล่าวขาดแคลนน้ำในฤดูแล้ง ทรงรับสั่งให้กรมชลประทานหาน้ำมาให้ และเมื่อมีน้ำพอเพียงแล้วให้กรมวิชาการเกษตรนำไม้ผลไปปลูกบริเวณเชิงเขาด้วย จะทำให้บริเวณดังกล่าวเป็นพื้นที่ที่สวยงามแห่งหนึ่งของจังหวัดแม่ฮ่องสอน พร้อมกันนี้ทรงขอให้กรมวิชาการเกษตรดำเนินการให้เป็นตัวอย่างแก่หน่วยงานราชการอื่น และเกษตรกรต่อไป จากนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงปลูกต้นมะคาเดเมีย ไว้หนึ่งต้นด้วย 

จากนั้นทอดพระเนตรงานกรมพัฒนาที่ดิน ได้แก่ วิธีอนุรักษ์ดินและน้ำบนพื้นลาดเขาโดยวิธีทางพืช กับแผนที่แสดงชุดดินเพื่อการปลูกพืชเศรษฐกิจในเขตจังหวัดแม่ฮ่องสอน จากนั้น เสด็จพระราชดำเนินไปยังริมฝั่งแม่น้ำปาย ในโอกาสนี้ พระราชทานพระราชดำริให้กรมชลประทานพิจารณาวางโครงการก่อสร้างฝายทดน้ำในลำน้ำปาย ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการทดน้ำขึ้นระดับสูง โดยติดตั้งเครื่องสูบน้ำไฟฟ้าพลังน้ำทั้งทางด้านฝั่งขวาและฝั่งซ้ายของลำน้ำ เพื่อสูบน้ำขึ้นไปใช้ประโยชน์ในการเร่งรัดการปลูกป่าทดแทนบนภูเขาบริเวณเหนืออ่างเก็บน้ำขนาดเล็กตามพระราชดำริต่าง ๆ ในบริเวณนั้น 

นอกจากนั้น ฝายดังกล่าวยังสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าสำหรับใช้งานภายในศูนย์ท่าโป่งแดง ตลอดจนใช้ในกิจกรรมสูบน้ำส่งขึ้นไป บนพื้นที่สูง 

ต่อจากนั้นได้ เสด็จพระราชดำเนินไปยังศูนย์ศิลปาชีพจังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ ได้เสด็จพระราชดำเนินมาล่วงหน้า พร้อมด้วยในหลวงรัชกาลที่ 10 เพื่อทอดพระเนตรกิจกรรมของกลุ่มศิลปาชีพ ตลอดจนทรงเยี่ยมราษฎรที่เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทอยู่ ณ บริเวณนั้น ในโอกาสนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ได้พระราชทานถุงของขวัญแก่นายอำเภอและหัวหน้ากิ่งอำเภอ เพื่อนำไปแจกจ่ายแก่ราษฎรที่ยากจนต่อไป 

*หมายเหตุ ในวันที่ 19 มีนาคม 2534 แนวพระราชดำริที่พระราชทานให้กับกรมชลประทานนั้นทำให้เกิดโครงการชลประทานเพิ่มอีก 4 โครงการคือ 
1)ฝายแม่สร้อยเงินพร้อมระบบส่งน้ำบ้านนาป่าแปก 2) ฝายบ้านห้วยเดื่อ 3) อ่างเก็บน้ำนากระจงบ้านห้วยเดื่อ 4) ฝายแก่นฟ้าพร้อมระบบส่งน้ำ ตําบลห้วยโป่ง 

20 มีนาคม พ.ศ. 2280 วันเสด็จพระราชสมภพ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช องค์ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช พระนามเดิม ด้วง หรือ ทองด้วง เป็นบุตรพระอักษรสุนทร (ทองดี) ข้าราชการกรมอาลักษณ์ ซึ่งสืบเชื้อสายมาจากเจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) เสนาบดีกรมพระคลังในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช กับท่านหยก ธิดาเศรษฐีจีน มีพระบรมราชสมภพเมื่อวันที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2280 ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ 

ต่อมาได้ทรงรับราชการเป็นมหาดเล็กในเจ้าฟ้าอุทุมพร กรมขุนพรพินิต จนพระชนมพรรษาครบ 21 พรรษา ได้ทรงผนวช ณ วัดมหาทลายพรรษาหนึ่ง หลังจากทรงลาผนวชแล้วทรงกลับเข้ารับราชการเป็นมหาดเล็กหลวงอีกครั้ง ครั้นพระชนมพรรษาได้ 25 พรรษา สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวสุริยาศน์อมรินทร์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นหลวงยกกระบัตร ออกไปรับราชการที่เมืองราชบุรี

ต่อมาในปี พ.ศ. 2311 หลังจากกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่า สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชได้ทรงสถาปนากรุงธนบุรีขึ้นแล้ว พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้เสด็จเข้ามารับราชการในกรุงธนบุรี ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นพระราชวรินทร์ ในกรมพระตำรวจหลวง ได้โดยเสด็จสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชไปปราบก๊กต่าง ๆ จนได้รับบรรดาศักดิ์เป็นพระยาอภัยรณฤทธิ์ จางวางกรมพระตำรวจ ต่อจากนั้นทรงได้รับความไว้วางพระราชหฤทัยให้เป็นแม่ทัพไปปราบหัวเมืองต่าง ๆ หลายครั้ง สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานบำเหน็จความชอบให้เป็นพระยายมราช และทรงทำหน้าที่สมุหนายกด้วย 

ในปีต่อมาทรงได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นเจ้าพระยาจักรี ที่สมุหนายก และได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก รับพระราชทานเครื่องยศอย่างเจ้าต่างกรม ครั้น พ.ศ. 2324 ได้เกิดเหตุจลาจลขึ้นในกรุงธนบุรี สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกต้องยกทัพกลับจากเขมรเพื่อปราบจลาจล และได้ขึ้นปราบดาภิเษกเป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี วันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2325 ขณะที่มีพระชนมายุได้ 46 พรรษา 

ทั้งนี้ พระองค์โปรดเกล้าฯ ให้ย้ายราชธานีจากกรุงธนบุรีราชธานีเดิมที่อยู่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยามายังฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา พระองค์โปรดให้สร้างพระราชวังหลวงและโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรมาประดิษฐานยังวัดพระศรีรัตนศาสดาราม หลังจากนั้น ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดงานฉลองสมโภชพระนครเป็นเวลา 3 วัน ครั้งเสร็จการฉลองพระนครแล้ว พระองค์พระราชทานนามพระนครแห่งใหม่ให้ต้องกับนามพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรว่า ‘กรุงเทพมหานคร บวรรัตนโกสินทร์ มหินทรายุธยา มหาดิลกภพ นพรัตนราชธานีบุรีรมย์ อุดมราชนิเวศน์มหาสถาน อมรพิมานอวตารสถิต สักกะทัตติยวิษณุกรรมประสิทธิ์’ หรือเรียกอย่างสังเขปว่า ‘กรุงเทพมหานคร’

เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติแล้ว พระองค์ทรงมีพระราชกรณีกิจที่สำคัญยิ่ง คือ การป้องกันราชอาณาจักรให้ปลอดภัยและทรงฟื้นฟูวัฒนธรรมไทยอันเป็นมรดกตกทอดมาตั้งแต่สมัยสุโขทัยและอยุธยา การที่ไทยสามารถปกป้องการรุกรานของข้าศึกจนประสบชัยชนะทุกครั้ง แสดงให้เห็นถึงความเข้มแข็งของพระองค์ในการบัญชาการรบอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสงครามกับพม่าใน พ.ศ. 2328 ที่เรียกว่า ’สงครามเก้าทัพ‘ นอกจากนี้พระองค์ยังพบว่ากฎหมายบางฉบับที่ใช้มาตั้งแต่สมัยอยุธยาไม่มีความยุติธรรม จึงโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้มีการตรวจสอบกฎหมายที่มีอยู่ทั้งหมด เสร็จแล้วให้เขียนเป็นฉบับหลวง 3 ฉบับ ประทับตราราชสีห์ คชสีห์ และบัวแก้วไว้ทุกฉบับ เรียกว่า ’กฎหมายตราสามดวง‘ สำหรับใช้เป็นหลักในการปกครองบ้านเมือง

นอกจากนี้ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้ทรงรับการยกย่องเป็น 1 ใน 8 สมเด็จพระบูรพมหากษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ในประเทศไทย พระองค์ทรงได้รับพระราชสมัญญานามว่าเป็น มหาราช เพราะทรงได้รับชัยชนะจากสงครามเก้าทัพนั่นเอง

ทั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 7 กันยายน  พ.ศ. 2352 พระชนมพรรษาได้ 73 พรรษา

21 มีนาคม พ.ศ. 2497 วันเกิด ‘พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา’ อดีตนายกรัฐมนตรี ที่คนไทยยังคงคิดถึง

‘พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา’ หรือที่คนไทยทั้งประเทศรู้จักในนาม ‘ลุงตู่’ นายกรัฐมนตรีคนที่ 29 ของไทย และเป็นหนึ่งในนายกฯ ที่ดำรงตำแหน่งยาวนานที่สุด ได้รับโปรดเกล้าแต่งตั้งเป็นองคมนตรี เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566 และยังเป็นอดีตนายกรัฐมนตรี ที่คนไทยยังคงคิดถึงอยู่เท่าทุกวันนี้

ทั้งนี้ ‘ลุงตู่’ เกิดที่ จ.นครราชสีมา เป็นบุตรชายของพันเอก (พิเศษ) ประพัฒน์ จันทร์โอชา และเข็มเพชร จันทร์โอชา มารดาซึ่งรับราชการครู เป็นบุตรชายคนโตจากพี่น้องทั้งหมด 4 คน โดยคนหนึ่งคือ พลเอก ปรีชา จันทร์โอชา อดีตปลัดกระทรวงกลาโหมและอดีตผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก

สำหรับประวัติการศึกษาของ ‘ลุงตู่’ ได้สำเร็จการศึกษาชั้นประถมศึกษาปีที่ 7 จากโรงเรียนสหะกิจวิทยา อำเภอเมือง จ.ลพบุรี (ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของวิทยาลัยเทคโนโลยีลพบุรี) ต่อมาได้เข้าศึกษาต่อชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ที่โรงเรียนพิบูลวิทยาลัย อำเภอเมือง จ.ลพบุรี แต่เรียนได้เพียงปีเดียวก็ลาออก เนื่องด้วยบิดาเป็นนายทหารจำต้องโยกย้ายไปในหลายจังหวัด และได้เข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนวัดนวลนรดิศ เขตภาษีเจริญ กรุงเทพมหานคร ในสมัยที่ศึกษาอยู่ที่นี่ ‘ลุงตู่’ เคยถูกนำเสนอประวัติผ่านนิตยสารชัยพฤกษ์ ในฐานะเด็กเรียนดีอีกด้วย จนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 และในปี พ.ศ. 2514 ได้เข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนเตรียมทหาร จนสำเร็จเป็นนักเรียนเตรียมทหารรุ่นที่ 12 (ตท.12) และในปี พ.ศ. 2519 เป็นนักเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า รุ่นที่ 23 และหลักสูตรชั้นนายร้อย รุ่นที่ 51 ในปีเดียวกัน และในปี พ.ศ. 2524 หลักสูตรชั้นนายพัน รุ่นที่ 34 และในปี พ.ศ. 2528 หลักสูตรหลักประจำโรงเรียนเสนาธิการทหารบก ชุดที่ 63 และเป็นศิษย์เก่า และในปี พ.ศ. 2550 เข้าเรียนหลักสูตรวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักรภาครัฐร่วมเอกชน รุ่นที่ 2

สำหรับเส้นทางทางการเมือง ‘ลุงตู่’ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เข้าสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีครั้งแรก เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2557 ภายหลังจากได้ตัดสินใจเข้ายึดอำนาจการปกครองจากรัฐบาลรักษาการ (ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร) เมื่อ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 ก่อนที่จะดำรงตำแหน่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติหรือ คสช. กระทั่งมีการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2562

และเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2562 ภายหลังการประชุมร่วมรัฐสภา พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้รับการสนับสนุนจากเสียงส่วนใหญ่ของสมาชิกรัฐสภา ให้ดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง (สมัยที่ 2)

แม้จุดเริ่มต้นของการนั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีคนที่ 29 จะมาจากการทำรัฐประหาร แต่ ‘ลุงตู่’ ก็พิสูจน์ให้พี่น้องคนไทยทั้งประเทศเห็นแล้วว่าตั้งใจเข้ามาทำงานเพื่อประเทศชาติ โดยได้มุ่งมั่นทำงานแรงกาย สร้างความเจริญ และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานหลายอย่างให้แก่ประเทศไทย ตลอด 9 ปีที่ทำหน้าที่ ‘ผู้นำประเทศ’

22 มีนาคม พ.ศ. 2277 วันนี้เมื่อ 291 ปี ก่อน ตรงกับวันพระราชสมภพ ‘สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช’ กษัตริย์ผู้กอบกู้บ้านเมือง

วันพระราชสมภพ ของ ‘สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี’ หรือที่คนไทยส่วนใหญ่รู้จักในนาม ‘พระเจ้าตาก’ เรียกได้ว่าเป็นข้อถกเถียงกันมาอย่างยาวนาน ซึ่งจากข้อถกเถียงเหล่านี้ จึงทำให้เกิดแนวคิดมากมาย หนึ่งในนั้นคือแนวคิดของ นิธิ เอียวศรีวงศ์ ที่ได้เสนอไว้ในหนังสือการเมืองไทยสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี โดยใช้การคำนวณย้อนหลังจากวันเสด็จสวรรคตตามที่บันทึกไว้ในจดหมายเหตุโหรว่า เสด็จสวรรคตเมื่อพระชนมพรรษาได้ 48 ปี 15 วัน และตามหลักฐานของชาวฝรั่งเศสบันทึกว่า ทรงถูกประหารชีวิตในวันที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2325 และวันพระราชสมภพคือวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2277

แต่หากถือตามหลักฐานฝ่ายไทยซึ่งบันทึกว่าเสด็จสวรรคตในวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2326 วันพระราชสมภพก็คือ วันที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2277 ประเด็นนี้ก็สอดคล้องกับที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานข้อมูลแก่หมอสมิธ เพื่อเขียนประวัติศาสตร์ไทยว่า สมเด็จพระเจ้าตากสินฯ พระราชสมภพในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2277

อย่างไรก็ดี แม้จะยังหาข้อสรุปชัดเจนไม่ได้ แต่เรื่องราวของอดีตกษัตริย์ไทยพระองค์นี้ ยังเป็นที่สนใจของเราชาวไทยเสมอมา

โดยสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี หรือ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชมีพระนามเดิมว่า สิน เป็นคนไทยเชื้อสายจีน เป็นพระมหากษัตริย์ผู้ก่อตั้งอาณาจักรธนบุรี และเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์เดียวของราชอาณาจักรธนบุรี เดิมพระองค์เป็นนายทหารในรัชกาลสมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์ 

ต่อมา พ.ศ. 2310 เกิดการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง พระองค์ได้เป็นผู้นำขับไล่ทหารพม่าที่ยึดครองกรุงศรีอยุธยาอยู่ในเวลานั้น และได้ปราบดาภิเษกเป็นพระเจ้ากรุงศรีอยุธยาอีกเจ็ดเดือนถัดมา โดยพระองค์ย้ายเมืองหลวงไปยังกรุงธนบุรี และรวบรวมแผ่นดินซึ่งมีขุนศึกก๊กต่างๆ ปกครองให้กลับเป็นปึกแผ่นอีกครั้ง เช่นเดียวกับการขยายอาณาเขตออกไปอย่างกว้างขวาง 

นอกจากนี้ ยังทรงฟื้นฟูราชอาณาจักรในด้านต่างๆ ให้กลับคืนสู่สภาวะปกติหลังสงคราม ทั้งส่งเสริมกิจการด้านเศรษฐกิจ ศาสนา ศิลปวัฒนธรรม วรรณกรรม และการศึกษา ภายหลังรัฐบาลไทยประกาศให้วันที่ 28 ธันวาคมของทุกปีเป็น "วันสมเด็จพระเจ้าตากสิน" และยังทรงได้รับสมัญญานามมหาราช

พระองค์เสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2325 เมื่อพระชนมพรรษา 48 พรรษา หลังถูกสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกซึ่งเป็นพระสหายสำเร็จโทษ และสืบราชสมบัติต่อเป็นต้นราชวงศ์จักรีในปัจจุบัน รวมเวลาครองราชย์ 15 ปี พระองค์มีพระราชโอรสและพระราชธิดารวมทั้งสิ้น 30 พระองค์ พระองค์ทรงเป็นวีรกษัตริย์ของชาติไทยที่ประชาชนรู้จักดีและเป็นที่เคารพสักการะมากที่สุดพระองค์หนึ่ง นอกจากนี้ยังมีพระบรมราชานุสรณ์ของพระองค์มีประดิษฐานมากที่สุด

23 มีนาคม พ.ศ. 2369 รำลึกวีรกรรมหญิงกล้า ‘ท้าวสุรนารี’ ผู้นำพาชาวบ้านกำชัยชนะเหนือทัพลาว

วันนี้ในอดีต เมื่อ 23 มีนาคม พ.ศ. 2369 'ท้าวสุรนารี' (คุณหญิงโม) นำทัพต่อสู้ปกป้องเมืองนครราชสีมา กอบกู้อิสรภาพเเละกำชัยเหนือทัพลาวได้สำเร็จ จนเป็นที่มาของ 'วันแห่งชัยชนะท้าวสุรนารี'

ถ้าเอ่ยนาม ท้าวสุรนารี คนไทยจะรู้จักกันดีว่า หมายถึง ย่าโมของชาวจังหวัดนครราชสีมา ซึ่งที่จริงแล้วคนไทยทั้งประเทศก็ให้ความเคารพบูชาและรำลึกถึงในวีรกรรมที่ท่านทรงทำไว้เพื่อชาติบ้านเมืองอยู่เสมอ

วันนี้เมื่อ 197 ปีก่อน หรือตรงกับวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2369 คือวันที่ประวัติศาสตร์ไทย ได้จารึกพระนามของท่าน ที่สามารถปกป้องอธิปไตยของชาวไทยไว้ได้อย่างกล้าหาญ เกินกว่าสตรีทั่วไปจะทำได้

ตามประวัติศาสตร์ที่จารึกไว้ ในช่วงปี พ.ศ. 2369 ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ก็ตรงกับรัชสมัยของ เจ้าอนุรุทธราช (เจ้าอนุวงศ์) ผู้ครองนครเวียงจันทร์ ได้ขอเกณฑ์ครอบครัวคนลาวที่เมืองสระบุรี ซึ่งถูกกวาดต้อนมาจากเวียงจันทน์ ในคราวสงครามครั้งที่ได้พระพุทธปฏิมากรแก้วมรกตมาประดิษฐานไว้ ณ กรุงธนบุรีนั้น กลับนครเวียงจันทร์ แต่ได้รับการปฏิเสธ

เมื่อไม่ได้ดังประสงค์ก็ก่อการกบฏ โดยยกกองทัพจะลงมาตีกรุงเทพมหานคร โดยเดินทัพมาอย่างเงียบๆ ให้กรุงรัตนโกสินทร์ไม่ทราบความเคลื่อนไหว โดยมีกองทัพหน้าเดินทางไปทางทิศตะวันตกตรงไปยังเมืองสระบุรี (ปากเพรียว)

ต่อมาวันเสาร์ที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2369 เมื่อกองทัพมาถึงเมืองนครราชสีมา ได้ตั้งมั่นฐานทัพอยู่จนถึงวันพุธที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2369 จึงได้เข้าโจมตี ซึ่งเป็นช่วงที่พระยาปลัดทองคำ (พระยาสุริยเดชวิเศษฤทธิ์ทศทิศวิชัย) สามีของคุณหยิงโม ผู้รักษาเมืองไม่อยู่พอดี ด้วยติดปราบการจลาจลที่เมืองขุขันธ์

กองทหารของเจ้าอนุวงศ์ จึงตีเมืองโคราชได้โดยง่าย แล้วกวาดต้อนกรมการเมือง ตลอดจนพลเมืองทั้งชายหญิงไปเป็นเชลย รวมถึง คุณหญิงโม และราชบริพารไปด้วย โดยมี เพี้ยรามพิชัย เป็นหัวหน้าควบคุม เหล่าเชลยออกเดินทางสู่เมืองเวียงจันทน์โดยผ่านเมืองพิมาย ส่วนเจ้าอนุวงศ์นั้น ยังตั้งฐานทัพอยู่ที่เมืองนครราชสีมา

ต่อมาวันที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2369 ในระหว่างการเดินทางเป็นเชลยศึกนั้น คุณหญิงโม ได้คิดแผนการกอบกู้อิสรภาพกับกรมการเมือง ซึ่งมีนางสาวบุญเหลือ บุตรีหลวงเจริญกรมการเมืองนครราชสีมา ได้มีส่วนร่วมให้ข้อปรึกษาอย่างใกล้ชิด

คุณหญิงโมได้มอบหมายให้นางสาวบุญเหลือ ซึ่งเสมือนเป็นหลาน เป็นผู้รับแผนการไปปฏิบัติ โดยใช้อุบายให้ชาวบ้านเชื่อฟังทหารผู้ควบคุม แกล้งทำกลัวเกรง และประจบเอาใจจนทหารของเจ้าอนุวงศ์ทั้งหลายหลงตายใจ และพยายามถ่วงเวลาในการเดินทาง กับทั้งยังลอบส่งข่าวถึงเจ้าเมืองนครราชสีมา เจ้าพระยากำแหงสงครามรามภักดี (ทองอินทร์ ณ ราชสีมา) และพระยาปลัดทองคำ อีกด้วย

ที่สุดเมื่อเดินทางมาถึง ทุ่งสัมฤทธิ์แขวงเมืองพิมาย ได้พักตั้งค่ายค้างคืนอยู่ คุณหญิงโมจึงได้ออกอุบายให้ชาวเมืองนำอาหารและสุราไปเลี้ยงดูผู้ควบคุมอย่างเต็มที่ จนทหารต่างก็เมามายไม่ได้สติ หมดความระมัดระวัง

ครั้นถึงเวลาสองยามไปแล้วของวันที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2369 แผนการทุกอย่างจึงเริ่มเปิดฉากขึ้นโดยชาวนครราชสีมา พากันระดมยื้อแย่งอาวุธจากเหล่าทหารลาว และได้โห่ร้องขึ้นทำให้กองทัพเวียงจันทน์เกิดความโกลาหล

ส่วนนางสาวบุญเหลือขณะนั้นอยู่ใกล้ที่พักของเพี้ยรามพิชัย เมื่อได้ยินเสียงโห่ร้องก็ทราบทันทีว่าแผนการดังกล่าวได้เริ่มขึ้นแล้ว จึงได้โผตัวเข้าคว้าดาบของเพี้ยรามพิชัย โดยหมายล้างชีวิตให้ได้ แต่พลาดท่า เพี้ยรามพิชัยฉวยดาบคืนได้ไปเสียก่อน นางสาวบุญเหลือจึงวิ่งหนีออกไปยังกองไฟ คว้าฟืนที่มีไฟติดอยู่ วิ่งตรงเข้าหากองเกวียนบรรทุกกระสุนดินดำ ขอฝ่ายข้าศึก

จนเมื่อผู้ไล่ล่าวิ่งตามมาถึง จะเงื้อดาบเข้าฟัน นางจึงตัดสินใจเอาดุ้นฟืนจุดเข้าที่ถุงดินปืนทำให้เกิดระเบิดขึ้น จนทั้งนางสาวบุญเหลือ เพี้ยรามพิชัย และผู้อื่นบริเวณนั้นแหลกสลายกันหมดสิ้น เป็นอันว่าทัพลาวแตกพ่ายกระจัดกระจาย ที่สุดคุณหญิงโม จึงได้รวบรวมชาวเมืองที่เหลืออยู่ช่วยกันใช้ทุ่งสัมฤทธิ์นี้ตั้งมั่นเป็นฐานทัพชั่วคราวอยู่ ณ ที่นั้น

ส่วนทหารลาวที่หนีตายได้รีบนำความไปแจ้ง เจ้าอนุวงศ์ทราบข่าวก็ให้ เจ้าสุทธิสาร (โป้) บุตรคนใหญ่คุมกำลังทหารเดินเท้าประมาณ 3,200 คน และทหารม้าประมาณ 4,000 คน รีบรุดมาทำการปราบปรามทำการต่อสู้รบกันถึงตลุมบอน

แต่คุณหญิงโมก็จัดขบวนทัพ กรมการผู้ใหญ่คุมพลผู้ชาย ตัวคุณหญิงโมคุมพลผู้หญิงออกตี กองทัพพวก เวียงจันทน์แตกยับเยิน พอดีเจ้าอนุวงศ์ ได้ข่าวว่ากองทัพจากกรุงเทพฯ ยกขึ้นมาสนับสนุนช่วยชาวเมืองนครราชสีมา จึงต้องรีบถอนกำลังออกจากเมืองนครราชสีมา เมื่อ วันที่ 23 มีนาคม พ.ศ.2369

วีรกรรมอันห้าวหาญเด็ดเดี่ยวของคุณหญิงโม ทราบไปถึงพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาคุณหญิงโมเป็น 'ท้าวสุรนารี' เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2370 ขณะนั้นคุณหญิงโมมีอายุได้ 57 ปี และพระราชทานเครื่องยศทองคำประดับเกียรติดังนี้ ถาดทองคำใส่เครื่องเชี่ยนหมาก 1 ใบ, จอกหมากทองคำ 1 คู่, ตลับทองคำ 3 ใบเถา, เต้าปูนทองคำ 1 ใบ, คนโท และขันน้ำทองคำอย่างละ 1 ใบ

24 มีนาคม พ.ศ. 2493 ในหลวง ร.9 พร้อมด้วย สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จฯ จากสมาพันธรัฐสวิสนิวัติถึงราชอาณาจักรไทย

วันนี้เมื่อ 75 ปีก่อน สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนินจากสมาพันธรัฐสวิสนิวัติถึงประเทศไทยพร้อมด้วยหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร พระคู่หมั้น เป็นครั้งแรก เพื่อทรงประกอบพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล และทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก การเสด็จฯนิวัติพระนครของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระคู่หมั้น ในครั้งนี้ เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ทรงประกอบพิธีหมั้น ณ โรงแรมวินเซอร์ เมืองโลซาน ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2492 

การเสด็จพระราชดำเนินนิวัติประเทศไทยในครั้งนั้น สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยพระคู่หมั้น ออกจากพระตำหนักวิลล่าวัฒนาในวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2493 โดยรถยนต์พระที่นั่งไปยังท่าเรือวิลล์ฟรังซ์ ประเทศฝรั่งเศส เพื่อประทับเรือเดินสมุทรซีแลนเดีย ออกจากฝรั่งเศส ผ่านทะเลเมดิเตอร์เรเนียนลัดคลองสุเอซ สู่มหาสมุทรอินเดีย ประเทศสิงคโปร์ 

เรือซีแลนเดียเทียบท่าที่ท่าเรือเกาะสีชัง เพื่อเปลี่ยนเรือพระที่นั่งเป็นเรือรบหลวงรัตนโกสินทร์ เพื่อเสด็จฯมายังป้อมพระจุลจอมเกล้า แล้วประทับเรือหลวงศรีอยุธยา เทียบที่ท่าราชวรดิฐ และเสด็จขึ้นประทับ ณ พระที่นั่งราชกิจวินิจฉัย เจ้าพนักงานเชิญพระแสงราชอาญาสิทธิ์น้อมเกล้าฯ ถวาย จากนั้นประธานผู้สำเร็จราชการ กราบบังคมทูลถวายพระราชกรณียกิจเพื่อทรงปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ

25 มีนาคม พ.ศ. 2434 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนากระทรวงยุติธรรม

วันนี้ เมื่อ 134 ปีก่อน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ประกาศจัดตั้งกระทรวงยุติธรรมขึ้นเมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2434 (ร.ศ. 110) เพื่อรวบรวมศาลตุลาการที่กระจัดกระจายอยู่ภายใต้หลายหน่วยงานเข้ามารวมไว้ในกระทรวงยุติธรรมเพียงกระทรวงเดียว 

ทั้งนี้ ภายหลังจากที่การจัดการศาลในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์เริ่มมีความซับซ้อนและเกิดปัญหาต่างๆ ตามมา จนทำให้ไทยประสบวิกฤตทางการศาล โดยเฉพาะการเสียสิทธิสภาพนอกอาณาเขตในประเทศ ซึ่งเป็นปัญหาในการปกครองประเทศเป็นอันมาก เพราะกงสุลต่างประเทศถือโอกาสตีความสนธิสัญญาและไม่เคารพยำเกรงต่อกฎหมายและการศาลไทย จึงทำให้ประเทศไทยต้องปฏิรูประบบกฎหมายและการศาลไทยใหม่อย่างเร่งด่วน

ด้วยเหตุนี้ เพื่อให้ระบบยุติธรรมในสยามมีประสิทธิภาพ มีความเหมาะสม และสามารถบังคับใช้ได้แก่ประชาชนทั่วไปในสยาม พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ประกาศจัดตั้งกระทรวงยุติธรรมขึ้น เมื่อวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2434 โดยมีการรวบรวมศาลต่าง ๆ ที่กระจัดกระจายเข้ามาในระบบภายใต้การควบคุมของกระทรวงยุติธรรม และกำหนดรูปแบบวิธีพิจารณาและพิพากษาคดีขึ้นใหม่อีกด้วย


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top