Saturday, 26 April 2025
CoolLife

26 มีนาคม พ.ศ. 2439 ร.5 เสด็จฯเปิดการเดินรถไฟปฐมฤกษ์ กรุงเทพ – อยุธยา ต่อมากำหนดเป็น ‘วันสถาปนากิจการรถไฟ’

ทุกวันที่ 26 มีนาคมเป็น “วันสถาปนากิจการรถไฟไทย” ซึ่งเป็นวันที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ เปิดการเดินรถไฟรอบปฐมฤกษ์ระหว่างสถานีกรุงเทพ – อยุธยาเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2439

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงได้รับแรงบันดาลพระราชหฤทัยจากการทรงทอดพระเนดรการสร้างทางรถฟในชวาและทรงประทับรถไฟในอินเดีย พระองค์ทรงเห็นว่ารถไฟจะทำให้ราชอาณาจักรสยามมีความเจริญยิ่งขึ้น และจะช่วยเสริมสร้างความมั่นคงให้กับราชอาณาจักรได้ ซึ่งในขณะนั้นราชอาณาจักรสยามกำลังถูกกดดันจากชาติตะวันตกในการล่าอาณานิคม ดังนั้นการสร้างทางรถไฟจึงได้เกิดขึ้น เมื่อวันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2433 โดยมีประกาศพระบรมราชโองการสร้างทางรถไฟสยามตั้งแต่กรุงเทพมหานครถึงนครราชสีมา ดังมีข้อความแสดงพระราชดำริบางดอนว่า

"การสร้างหนทางรถไฟเดินไปมาในระหว่างหัวเมืองไกล เป็นเหตุให้ความเจริญแก่บ้านเมืองได้เป็นอย่างสำคัญอันหนึ่ง เพราะทางรถฟอาจจะชักย่นหนทางหัวเมืองซึ่งตั้งอยู่ไกลไปมาถึงกันยากให้กลับเป็นหัวเมืองใกล้ไปมาถึงกันได้โดยสะดวกเร็วพลัน การย้ายขนสินค้าไปมางเป็นการลำบาก ก็สามารถจะย้ายขนไปมาถึงกันได้โดยง่าย เย็นการเปิดโอกาสให้อาณาประชาราษฎร์ มีทางตั้งการทำมาหากินกว้างขวางออกไปและทำทรัพย์สมบัติกรุงสยามให้มากมียิ่งขึ้นด้วย ทั้งเป็นคุณประโยชน์ในการบังคับบัญชา ตรวจตราราชการบำรุงรักษาพระราชอาณาเขตให้ราษฎรอยู่เย็นเป็นสุขได้โดยสะดวก"

ต่อมาในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2433 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนากรมรถไฟขึ้นเป็นครั้งแรกในสังกัดกระทรวงโยธาธิการ จากนั้นในวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2434 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร ไปทรงขุดดินถมทางรถไฟหลวงสายแรก

สำหรับการก่อสร้างทางรถไฟสายนครราชสีมาได้แล้วเสร็จบางส่วน ในวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2439 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรีพระอัครราชเทวี ไปทรงประกอบพระราชพิธีเปิดการเดินรถไฟหลวงสายแรกในราชอาณาจักร พระองค์ทรงตอกหมุดตรึงรางรถไฟกับไม้หมอนและเสด็จพระราชดำเนินโดยรถไฟพระที่นั่งไปยังจังหวัดพระนครศรีอยุธยา

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้รวมกิจการของกรมรถไฟสายเหนือและกรมรถไฟสายใต้เป็นกรมรถไฟหลวง และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบูรฉัตรไชยากร กรมพระกำแพงเพ็ชรอัครโยธิน ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการกรมรถไฟหลวง และได้เปลี่ยนขนาดทางกว้างรางรถไฟให้เป็นทางกว้าง 1 เมตรทั่วประเทศ นอกจากนี้ยังมีการสร้างสะพานพระราม 6 เป็นสะพานรถไฟข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาสะพานแรกในประเทศไทยเพื่อเชื่อมทางรถไฟสายเหนือกับสายใต้เข้าด้วยกัน

จากนั้นรัฐสภาได้ตราพระราชบัญญัติการรถไฟแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2494 มีผลใช้บังคับวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2494 กรมรถไฟจึงได้เปลี่ยนเป็นการรถไฟแห่งประเทศไทย และมีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจสังกัดกระทรวงคมนาคมตามพระราชบัญญัตินี้

การรถไฟแห่งประเทศไทยได้ดำเนินกิจการต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน การรถฟแห่งประเทศไทยได้น้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นอย่างสูง จึงได้จัดสร้างอนุสรณ์ปฐมฤกษ์รถไฟหลวงและทำพิธีเปิดเมื่อวันที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2534 ณ บริเวณที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงประกอบพระราชพิธีเปิดการเดินรถไฟหลวงสายแรกในราชอาณาจักร และถือเอาวันที่ 26 มีนาคมของทุกปี เป็นวันสถาปนากิจการรถไฟอีกด้วย

27 มีนาคม พ.ศ. 2457 ท่าอากาศยานดอนเมือง เปิดดำเนินการอย่างเป็นทางการ

ท่าอากาศยานดอนเมือง สนามบินระดับนานาชาติแห่งแรกของไทย ที่เปิดบริการมาอย่างยาวนาน ตั้งอยู่บนถนนวิภาวดีรังสิต แขวงสนามบิน เขตดอนเมือง กรุงเทพมหานคร ซึ่งในวันนี้ (27 มีนาคม) เมื่อ 111 ปีที่แล้ว เป็นวันที่สนามบินแห่งนี้เปิดดำเนินการเป็นครั้งแรก

แต่ก่อนจะกล่าวถึงสนามบินดังกล่าว ต้องย้อนกลับไปทำความรู้จักพัฒนาการกิจการการบินในอดีตของสยาม โดยเมื่อปี พ.ศ. 2454 ได้มีนักบินลูกครึ่งเบลเยียม-ฝรั่งเศส นำเครื่องบินเข้ามาแสดงการบินครั้งแรก ที่ 'สนามสระปทุม' (บริเวณราชกรีฑาสโมสรในปัจจุบัน) ซึ่งการบินครั้งนั้นทำให้รัฐบาลสยามเห็นความสำคัญ และเกิดสนใจกิจการการบิน จึงมีการส่งนายทหารไปเรียนการบินที่ประเทศฝรั่งเศสในปีเดียวกัน 

อย่างไรก็ดี ในระยะต่อมามีการมองว่า สนามบินสระปทุม คับแคบ มีที่ตั้งไม่เหมาะสม จึงมีการเลือกพื้นที่สนามบินใหม่ ในที่สุดก็ได้เลือกพื้นที่ 'ดอนเมือง' ซึ่งในอดีตบริเวณนี้เป็นที่นา ชาวบ้านเรียกกันว่า 'ดอนอีเหยี่ยว' เพราะลักษณะพื้นที่ที่มีฝูงเหยี่ยวอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก

หลังจากนั้น ในวันที่ 8 มีนาคม 2457 ก็มีเครื่องบินทะยานขึ้นจากสนามบินสระปทุม มาลงที่สนามบินดอนเมืองเป็นปฐมฤกษ์และในวันที่ 27 มีนาคม 2457 'ท่าอากาศยานดอนเมือง' ศูนย์กลางการบินในภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่สามารถเชื่อมโยงการจราจรทางอากาศระหว่างประเทศต่างๆในภูมิภาค ก็ได้เปิดดำเนินการเป็นครั้งแรก

28 มีนาคม พ.ศ. 2524 สลัดอากาศยึดเครื่องบินอินโดนีเซีย ขอลงจอดฉุกเฉินที่สนามบินดอนเมือง

ย้อนกลับไปช่วงเย็นวันที่ 28 มีนาคม 2524 เกิดเหตุระทึกขึ้นที่สนามบินดินเมือง เมื่อหอบังคับการบิน ได้รับการติดต่อจากกัปตันสายการบินการูด้า ของประเทศอินโดนีเซีย ถูกสลัดอากาศยึดเครื่อง จะขอลงจอดฉุกเฉินที่สนามบินดอนเมือง แม้จะพยายามเจรจาแต่ไม่เป็นผล เครื่องบินของสลัดอากาศลงจอดที่ดอนเมืองได้สำเร็จ

เมื่อเครื่องลงจอดถึงพื้น ชุดคอมมานโดของไทยก็วางกำลังล้อมเครื่องบินทันที ก่อนจะเจรจากันจนทราบว่า สลัดอากาศที่เข้าใจกันตอนแรกว่ามี 7 คน มีข้อเรียกร้อง 3 ประการ
1. ปล่อยนักโทษการเมืองที่ถูกคุมขังในอินโดนีเซีย จำนวน 20 คน
2. จัดส่งนักบินมาดอนเมือง เพื่อบินไปศรีลังกา
3. ต้องปล่อยนักโทษภายใน 28 ชั่วโมง ไม่เช่นนั้นจะระเบิดเครื่องบิน

ทางการข่าวของเจ้าหน้าที่ ทราบว่าสลัดอากาศมีกันทั้งหมด 7 คน อาวุธปืนกลมือและระเบิด ส่วนผู้โดยสารบนเครื่องมี 37 คน ขึ้นเครื่องที่จาการ์ตา และ 14 คน ขึ้นที่ ปาเล็มบัง ซึ่งเอกอัครราชทูตอินโดนีเซีย ร้องขอทางการไทย อย่าใช้ความรุนแรง แต่ พลโท เบนนี โบคานี อธิบดีกรมประมวลข่าวกลางอินโดนีเซีย ซึ่งขึ้นชื่อว่าเป็นสุดยอดมือปราบ เดินทางมาพร้อมกับหน่วยคอมมานโดแม่นปืนของอินโดนีเซียอีก 20 นาย

การเจรจาระหว่างอินโดนีเซียกับสลัดอากาศเริ่มมีบรรยากาศที่ดีขึ้น เมื่ออินโดนีเซียมีท่าทีอ่อนลงคล้ายจะทำตามข้อเรียกร้องของสลัดอากาศ แต่ทางการไทย มองว่าเป็นเพียงการเจรจายื้อเวลาเท่านั้น เพราะมีข้อมูลแล้วว่า ประเทศศรีลังกา ไม่ต้อนรับสลัดอากาศกลุ่มนี้ ซึ่งตลอดการเจรจา มีคนคอยนำอาหารและเสบียงไปส่งที่เครื่องบินเป็นระยะ โดยสลัดอากาศใช้ให้แอร์โฮสเตสเป็นคนออกมารับ แน่นอนว่าคนเหล่านั้นมีท่าทีที่หวาดกลัวชัดเจน

เวลาประมาณ 11.10 น. วันที่ 29 มีนาคม 2524 ผู้โดยสารชาวอังกฤษคนหนึ่ง เปิดประตูที่ใช้รับส่งอาหารเพื่อหลบหนีออกมา ก่อนจะวิ่งสุดแรงเกิดมายังพุ่มไม้ด้านข้าง แล้วหนีรอดออกมาได้ ก่อนมาทราบภายหลังว่าเป็น นายโรเบิร์ต เวนไรท์ อายุ 27 ปี ให้ข้อมูลว่า สลัดอากาศมีเพียง 5 คน ไม่ใช่ 7 คน และคนเหล่านั้นทะเลาะกันบ่อยครั้ง จากนั้นเวลาประมาณ 17.00 น. เสียงปืนดังขึ้น มีชายชาวอเมริกันร่วงลงมาจากเครื่องบิน เจ้าหน้าที่เร่งนำส่งโรงพยาบาล เพื่อว่าถูกยิงเพราะพยายามจะหลบหนี นั่นจึงเป็นสาเหตุให้รัฐบาลไทย ยอมให้กองกำลังคอมมานโดของอินโดนีเซียชุดสำคัญ เข้ามาในประเทศ เพราะชาวอเมริกันถูกยิง หลังจากนั้นจึงเป็นการวางแผนร่วมกันระหว่างไทยและอินโดนีเซียเพื่อช่วยเหลือผู้โดยสารทั้ง 49 ชีวิต

เข้าสู่ค่ำคืนของวันที่ 30 ต่อเนื่อง 31 มีนาคม 2524 หน่วยคอมมานโดไทยกับอินโดนีเซีย นำกำลังเข้าปฏิบัติการ ย่องเงียบไปยังท้ายเครื่องบิน หน่วยกล้าตายของอินโดนีเซีย ลุยเข้าไปในเครื่องบิน เสียงปืนรัวดังขึ้นสนั่นหวั่นไหว เพียงไม่กี่อึดใจ ประตูด้านข้างก็เปิดออก หน่วยคอมมานโดชุดแรงยังคงตบเท้า กรูเข้าไปในเครื่องบิน ส่วนอีกชุดที่อยู่รอบนอก ตีวงบีบเข้ามาเป็นระยะ เพื่อคอยรับมือกับสถานการณ์ที่ไม่คาดคิด จังหวะนั้นเอง พบชายคนหนึ่งกระโดดลงมาจากเครื่องบิน ก่อนจะถูกยิงทันที พบว่าเป็นสลัดอากาศ ส่วนอีกคนพยายามจะวิ่งหลบหนี ก็โดนเจ้าหน้าที่จับกุมเอาไว้ได้ ด้วยเวลาประมาณ 6 นาที เจ้าหน้าที่ก็สามารถยึดเครื่องบินกลับคืนมาได้

เหตุการณ์ครั้งนี้ มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 3 คน คือสลัดอากาศ กัปตันเครื่องบิน และคอมมานโดอินโดนีเซีย ซึ่งทั้ง 3 คน เสียชีวิตในเวลาต่อมา ทำให้เหตุการณ์ครั้งนี้ สลัดอากาศเสียชีวิตทั้งหมด 4 คน โดนจับ 1 คน ส่วนผู้โดยสารรอดชีวิตทั้งหมด แต่สุดท้าย สลัดอากาศอีกคนก็รอดมาได้เพียง 1 ปีเท่านั้น เมื่อศาลมีคำพิพากษาประหารชีวิต

29 มีนาคม พ.ศ.2493 วันถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล

29 มีนาคม พ.ศ. 2493 วันถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 ณ พระเมรุมาศ ท้องสนามหลวง 
2

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลเสด็จพระราชสมภพ เมื่อวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2468 ณ เมืองไฮเดลเบิร์ก ประเทศเยอรมัน พระองค์เสด็จขึ้นทรงราชย์เป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 8 แห่งราชวงศ์จักรี เมื่อวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2477 ขณะที่มีพระชนมายุเพียง 8 พรรษา

และเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นเมื่อวันนี้ของ 73 ปีก่อน หรือตรงกับวันที่ 29 มีนาคม พ.ศ.2493 คือวันพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพล้นเกล้ารัชกาลที่ 8 

คนไทยผ่านน้ำตาแห่งการสูญเสียอันยิ่งใหญ่มานับหลายครั้งหลายครา เช่นเดียวกับครั้งที่หัวใจปวงชนชาวไทยต้องแหลกสลาย เมื่อรับทราบข่าวร้ายเรื่องการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล แบบปัจจุบันทันด่วน

ไม่มีใครได้เตรียมตัวเตรียมใจ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลในพระชนมายุเพียง 20 ย่าง 21 พระชันษา ได้เสด็จสวรรคตด้วยพระแสงปืนในวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2489 เวลาประมาณ 9 นาฬิกา ณ ห้องพระบรรทม พระที่นั่งบรมพิมาน ภายในพระบรมมหาราชวัง

ทั้ง ๆ ที่ทรงตั้งพระทัยเสด็จนิวัตพระนครเป็นการถาวร และจะทรงรับการบรมราชาภิเษก หลังจากที่ทรงศึกษาปริญญาเอก สาขานิติศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยโลซาน ประเทศสวิตเซอร์แลนด์

โดยการสิ้นพระชนม์นั้น เกิดขึ้นก่อนกำหนดการเสด็จพระราชดำเนินไปทรงศึกษาต่อที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์เพียง 4 วันเท่านั้น

ทั้งนี้ หลังจากสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลเสด็จสวรรคต วันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2489 วันเดียวกันนั้นเอง รัฐสภาได้ลงมติเป็นเอกฉันท์อัญเชิญสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช (พระยศในขณะนั้น) ขึ้นทรงราชย์สืบราชสันตติวงศ์ต่อไป

จากนั้น ก็ได้มีการอัญเชิญพระบรมศพมาประดิษฐาน ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท พระบรมมหาราชวัง จากนั้นมีกำหนดให้มีพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพในระหว่างวันที่ 28 - 29 มีนาคม พ.ศ. 2493 ณ พระเมรุมาศ ท้องสนามหลวง

ระหว่างนั้น ในวันที่ 19 สิงหาคม 2489 ในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จพระราชดำเนินกลับไปทรงศึกษาต่อ ณ กรุงโลซานน์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์

เวลาผ่านไปจนกระทั่งวันที่ 5 มีนาคม 2493 ในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จนิวัตประเทศไทย เพื่อประกอบพระราชพิธีถวายเพลิงพระบรมศพ, พระราชพิธีอภิเษกสมรส, และบรมราชาภิเษก (จากนั้นเสด็จพระราชดำเนินกลับประเทศสวิตเซอร์แลนด์อีกครั้ง)

โดยเฉพาะวันพระถวายพระเพลิงพระบรมศพนั้นตรงกับวันที่ 29 มีนาคม พ.ศ.2493 น้ำตาของคนไทยได้ท่วมแผ่นดิน!

เมื่อทุกอย่างผ่านไปเรียบร้อยสมบูรณ์ วันรุ่งขึ้นสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนินเก็บพระบรมอัฐิ และอัญเชิญพระโกศพระบรมอัฐิประดิษฐานที่บุษบกเหนือพระแท่นแว่นฟ้าทองภายในพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท มุขตะวันตก และจัดให้มีการพระราชกุศลพระบรมอัฐิขึ้น

หลังจากนั้น ได้อัญเชิญพระโกศพระบรมอัฐิขึ้นประดิษฐาน ณ พระวิมานทองกลาง ชั้นบนสุดของพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท

กระทั่งวันที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2493 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนินอัญเชิญพระผอบพระบรมราชสรีรางคารพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล ไปยังวัดสุทัศน์เทพวราราม และอัญเชิญพระบรมราชสรีรางคารบรรจุลงในหีบ พร้อมทั้งเคลื่อนหีบพระบรมราชสรีรางคารเข้าสู่พระพุทธบัลลังก์ พระศรีศากยมุนี พระประธานในพระวิหารหลวง วัดสุทัศน์เทพวราราม 

สำหรับ พระราชประวัติของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร หรือ ล้นเกล้า ร.8 นั้น มีดังนี้

พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร ทรงประสูติกาลเมื่อวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2468 เป็นพระโอรสในสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช กรมขุนสงขลานครินทร์ (ภายหลังดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก) และหม่อมสังวาลย์ (ภายหลังดำรงพระยศเป็นสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี)

พระองค์มีพระเชษฐภคินี และพระอนุชาร่วมพระชนกชนนีอีก 2 พระองค์ ได้แก่ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ และสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช (ภายหลังทรงขึ้นครองราชสมบัติเป็นพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช)

พระองค์เสด็จขึ้นทรงราชย์เป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 8 แห่งราชวงศ์จักรี เมื่อวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2477 ขณะที่มีพระชนมายุเพียง 8 พรรษา และทรงประทับอยู่ที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ดังนั้น จึงมีการแต่งตั้งคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เพื่อทำหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินจนกว่าพระองค์จะทรงบรรลุนิติภาวะ

พระองค์เสด็จนิวัตพระนครครั้งแรกภายหลังทรงราชย์เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2481 และครั้งที่สองเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2488

แต่ก่อนกำหนดการเสด็จพระราชดำเนินกลับไปทรงศึกษาต่อที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์เพียง 4 วัน พระองค์ก็ได้เสด็จสวรรคตด้วยทรงต้องพระแสงปืนเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2489 ณ ห้องพระบรรทม พระที่นั่งบรมพิมาน ภายในพระบรมมหาราชวัง รวมระยะเวลาที่ทรงครองสิริราชสมบัติทั้งสิ้น 12 ปี

สถิตอยู่ในใจตราบนิรันดร์ น้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นอันหาที่สุดมิได้..

วันที่ 30 มีนาคม ตรงกับ ‘วันแพทย์แห่งชาติ’ เพื่อเป็นเกียรติแก่แพทย์ บุคลากรการแพทย์

วันที่ 30 มีนาคม ของทุกปี นับว่าเป็นวันสำคัญวันหนึ่ง ซึ่งตรงกับ ‘วันแพทย์แห่งชาติ’ โดยวันดังกล่าวนั้นมีขึ้นครั้งแรกในปี ค.ศ. 1933 โดย ดร. Charles B. Almond และ Eudora Brown Almond ภรรยาของเขา ตั้งใจที่จะก่อตั้งวันดังกล่าวขึ้นมาเพื่อเป็นเกียรติแก่แพทย์และบุคลากรในแวดวงทางการแพทย์ทุกคน

ต่อมาในปี 1990 วันดังกล่าวก็ถูกจัดตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการในสหรัฐอเมริกา ก่อนที่จะเริ่มแพร่หลายไปในหลายๆ ประเทศทั่วโลก

โดย ‘วันแพทย์แห่งชาติ’ จึงถือเป็นวันสำคัญที่ผู้คนจำนวนมากต่างรู้สึกขอบคุณในความทุ่มเท ความเสียสละ และระลึกถึงสิ่งต่างๆ ที่เหล่าแพทย์ได้ทำเอาไว้ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

31 มีนาคม ของทุกปี เป็นวัน ‘พระมหาเจษฎาราชเจ้า’ วันคล้ายวันพระบรมราชสมภพพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว

วันที่ 31 มีนาคมของทุกปี เป็นวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 3) ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจในการทำนุบำรุงบ้านเมืองทั้งในด้านการศาสนา การศึกษาและอื่นๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติในรัชกาลของพระองค์ ประเทศไทยได้เริ่มเปิดประเทศรับชาวยุโรปอย่างกว้างขวาง อังกฤษ และ สหรัฐอเมริกา ส่งทูตเข้ามาเจริญสัมพันธไมตรีกับไทย การค้าขายกับอังกฤษรุ่งเรืองมาก บางคราวมีเรือสินค้าเข้ามาจอดในแม่น้ำเจ้าพระยาถึง 50 ลำ และทางสหรัฐอเมริกาได้ส่งมิชชันนารีเข้ามาสอนศาสนา และนำเอาวิชาการแพทย์แผนใหม่โรงพิมพ์หนังสือพิมพ์ และสอนภาษาอังกฤษให้คนไทย ผู้ที่ควรได้รับเกียรติในผลงานนี้ คือ หมอบรัดเลย์ทรงโปรดให้มีประกาศห้ามนำฝิ่นเข้ามาขายในประเทศ และให้เก็บฝิ่นที่มีอยู่ในประเทศ นำไปเผาทั้งหมด ด้านพระศาสนา ทรงทำนุบำรุงพุทธศาสนา สร้างวัดใหม่ 9 วัด บูรณะวัดเก่า 60 วัด โปรดเกล้า ฯ ให้สร้างพระนอนใหญ่ที่วัดโพธิ์

ครั้นเมื่อพระองค์เสด็จสวรรคตล่วงเลยมา 43 ปี พระองค์ก็ยังได้โปรดพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ 'เงินถุงแดง' ไว้เพื่อประโยชน์แก่แผ่นดิน และเงินจำนวนนี้สามารถใช้กอบกู้เอกราชในดินแดนบางส่วนและรักษาอำนาจอธิปไตยไว้ได้จนทุกวันนี้ ประชาชนชาวไทยและรัฐบาลจึงพร้อมใจกันประดิษฐานพระราชานุสาวรีย์ ณ ลานพลับพลามหาเจษฎาบดินทร์ หน้าวัดราชนัดดาราม ในปี พ.ศ.2541 ทางราชการได้มีการถวายพระราชสมัญญาว่า 'พระมหาเจษฎาราชเจ้า'

1 เมษายน ของทุกปี 'วันเลิกทาส' ครบรอบ 120 ปี ที่ไทยไม่มี ทาส ด้วยพระมหากรุณาธิคุณ ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 5

1 เมษายน ของทุกปี ถูกประกาศให้เป็น 'วันเลิกทาส' เพื่อย้อนระลึกถึง พระมหากรุณาธิคุณ รัชกาลที่ 5 ที่ทำให้ไทย ไม่มีทาส มา 120 ปี

ประวัติความเป็นมา “วันเลิกทาส”
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น ประมาณว่า ไทยมีทาสเป็นจำนวนกว่าหนึ่งในสามของพลเมืองของประเทศ เพราะเหตุว่าพ่อแม่เป็นทาสแล้ว ลูกที่เกิดจากพ่อแม่ที่เป็นทาส ก็ตกเป็นทาสอีกต่อๆ กันเรื่อยไป ทาสนั้นจะต้องหาเงินมาไถ่ตัวเอง มิฉะนั้นแล้วก็จะต้องเป็นทาสไปตลอดชีวิต เพราะตามกฎหมายถือว่ายังมีค่าตัวอยู่

ต่อมา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงประกาศ "พระราชบัญญัติพิกัดเกษียณลูกทาสลูกไทย" เมื่อวันที่ 21 ส.ค. 2417 แก้พิกัดค่าตัวทาสใหม่ โดยให้ลดค่าตัวทาสลง ตั้งแต่อายุ 8 ขวบ จนกระทั่งหมดค่าตัว เมื่ออายุได้ 20 ปี เมื่ออายุได้ 21 ปี ผู้นั้นก็จะเป็นอิสระ มีผลกับทาสที่เกิดตั้งแต่ปี 2411 เป็นต้นมา และห้ามมิให้มีการซื้อขายบุคคลที่มีอายุมากกว่า 20 ปี เป็นทาสอีก

เมื่อถึงปี 2448 ก็ทรงออก "พระราชบัญญัติทาษ รัตนโกสินทรศก 124" ให้ลูกทาสทุกคนเป็นไท เมื่อวันที่ 1 เม.ย. 2448 ส่วนทาสประเภทอื่นที่มิใช่ทาสในเรือนเบี้ย ทรงให้ลดค่าตัวเดือนละ 4 บาท นับตั้งแต่เดือน เม.ย. 2448 เป็นต้นไป นอกจากนี้ ยังมีบทบัญญัติป้องกันมิให้คนที่เป็นไทแล้วกลับไปเป็นทาสอีก และเมื่อทาสจะเปลี่ยนเจ้าเงินใหม่ ห้ามมิให้ขึ้นค่าตัว

ราคาทาส
อายุทาส (ปี)    ชาย                หญิง
แรกเกิด          5 บาท            4 บาท
7- 8               8 ตำลึง           7 ตำลึง
10                 4 บาท             3 บาท 

ทาส มี 7 ประเภท (ในสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นต้นมา)
-ทาสสินไถ่ เป็นทาสที่มีมากที่สุดในบรรดาทาสทั้งหมด โดยเงื่อนไขของการเป็นทาสชนิดนี้ คือ การขายตัวเป็นทาส เช่น พ่อแม่ขายบุตร สามีขายภรรยา หรือขายตัวเอง ดังนั้น ทาสชนิดนี้จึงเป็นคนยากจน ไม่สามารถเลี้ยงดูครอบครัว หรือตนเองได้ จึงได้เกิดการขายทาสขึ้น โดยสามารถเปลี่ยนสถานะกลับไปเมื่อมีผู้มาไถ่ถอน และทาสชนิดนี้ที่ปรากฏในวรรณคดีไทยคือนางสายทอง ซึ่งขายตัวให้กับนางศรีประจันนั่นเอง
-ทาสในเรือนเบี้ย เด็กที่เกิดขึ้นระหว่างที่แม่เป็นทาสของนายทาส ทาสชนิดนี้ไม่สามารถไถ่ถอนตนเองได้ 
-ทาสที่ได้รับมาด้วยมรดก ทาสที่ตกเป็นมรดกของนายทาส เกิดขึ้นก็ต่อเมื่อนายทาสคนเดิมเสียชีวิตลง และได้มอบมรดกให้แก่นายทาสคนต่อไป 
-ทาสท่านให้ ทาสที่ได้รับมาจากผู้อื่น 
-ทาสที่ช่วยไว้จากทัณฑ์โทษ ในกรณีที่บุคคลนั้น เกิดกระทำความผิดและถูกลงโทษเป็นเงินค่าปรับ แต่บุคคลนั้น ไม่มีความสามารถในการชำระค่าปรับ หากว่ามีผู้ช่วยเหลือให้สามารถชำระค่าปรับได้แล้ว ถือว่าบุคคลนั้น เป็นทาสของผู้ให้ความช่วยเหลือในการชำระค่าปรับ 
-ทาสที่ช่วยไว้ให้พ้นจากความอดอยาก ในภาวะที่ไพร่ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองให้ประกอบอาชีพได้แล้ว ไพร่อาจขายตนเองเป็นทาสเพื่อให้ได้รับการช่วยเหลือจากนายทาส .
-ทาสเชลย ภายหลังจากได้รับการชนะสงคราม ผู้ชนะสงครามจะกวาดต้อนผู้คนของผู้แพ้สงครามไปยังเมืองของตน เพื่อนำผู้คนเหล่านั้นไปเป็นทาสรับใช้ 

การพ้นจากความเป็นทาส

-โดยการหาเงินมาไถ่ถอน
-การบวชเป็นสงฆ์โดยได้รับความยินยอมจากนายทาส
-ไปการสงครามและถูกจับเป็นเชลย หลังจากนั้น สามารถหลบหนีออกมาได้
-แต่งงานกับนายทาสหรือลูกหลานของนายทาส
-ไปแจ้งทางการว่านายทาสเป็นกบฏ และผลสืบสวนออกมาว่าเป็นจริง
-การประกาศไถ่ถอนจากพระมหากษัตริย์ ในช่วงของการเลิกทาส ปี 2448 ได้ออกพระราชบัญญัติเลิกทาสที่แท้จริงขึ้น เรียกว่า พระราชบัญญัติทาส ร.ศ.124 (พ.ศ. 2448) 

ดังนั้น ทุกวันที่ 1 เม.ย. ของทุกปี จึงถูกกำหนดให้เป็น “วันเลิกทาส” เพื่อระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงให้มีการเลิกทาสนับแต่นั้นมา ไทยจึงเป็น ‘ไท’ จนถึงทุกวันนี้
 

๒ เมษายน วันคล้ายวันพระราชสมภพ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชสมภพเมื่อวันเสาร์ที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2498

ทรงเข้ารับการศึกษาระดับอนุบาลที่โรงเรียนจิตรลดา จนจบมัธยมศึกษาตอนปลาย

ทรงสอบเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา ณ คณะอักษรศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สามารถทำคะแนนสอบเอนทรานซ์เป็นอันดับ 4 ของประเทศ

เป็นสมเด็จเจ้าฟ้าพระองค์แรก ที่ทรงเข้าศึกษาต่อระดับอุดมศึกษาในประเทศ

พ.ศ. 2520 ทรงสำเร็จการศึกษาได้รับปริญญาอักษรศาสตรบัณฑิต สาขาประวัติศาสตร์ เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง เหรียญทอง คะแนนเฉลี่ย 3.98

ระดับปริญญาโท ด้านจารึกภาษาตะวันออก (ภาษาสันสกฤตและภาษาเขมร) คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร และสาขาภาษาบาลีและภาษาสันสกฤต จาก ภาควิชาภาษาตะวันออก คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ระดับปริญญาเอก คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ พระองค์ผ่านการสอบคัดเลือกอย่างยอดเยี่ยมด้วยคะแนนเป็นอันดับหนึ่งในบรรดาผู้เข้าสอบทั้งหมด

ในวโรกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ.2520 มีพระบรมราชโองการสถาปนาพระอิสริยศักดิ์สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิรินธรเทพรัตนสุดา กิติวัฒนาดุลโสภาคย์ เฉลิมพระนามตามที่จารึกในพระสุพรรณบัฏว่า “สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี”

เป็นสมเด็จเจ้าฟ้าหญิงพระองค์แรก ที่ทรงดำรงพระอิสริยยศที่ “สยามบรมราชกุมารี” แห่งราชวงศ์จักรี

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระอัจฉริยภาพด้านภาษา ด้านดนตรี และด้านพระราชนิพนธ์

ด้านพระราชกรณียกิจ ทรงมุ่งมั่นพัฒนา ในทุกๆ ด้าน อาทิ ด้านการศึกษา ด้านการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมไทย ด้านการพัฒนาสังคมและการพัฒนาห้องสมุดและการรู้หนังสือ ด้านการต่างประเทศ โดยเฉพาะสาธารณรัฐประชาชนจีน ด้านการสาธารณสุข และด้านศาสนา

เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2528 ประกาศให้วันที่ 2 เมษายนของทุกปี เป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เป็น “วันอนุรักษ์มรดกไทย” เพื่อรณรงค์สร้างความเข้าใจ ความสำนึกรัก และหวงแหนในมรดกทางศิลปวัฒนธรรมของชาติ

3 เมษายน พ.ศ. 2516 โทรศัพท์มือถือเครื่องแรกถูกผลิตขึ้น โดย ‘มาร์ติน คูเปอร์’ วิศวกรของ Motorola

ปัจจุบันโทรศัพท์มือถือ (mobile or cell phone) คือ อุปกรณ์สำคัญในชีวิตประจำวันของคนทั่วโลก ซึ่งบางคนแทบจะขาดอุปกรณ์ชิ้นนี้ไม่ได้เลย

แต่รู้หรือไม่ว่า โทรศัพท์มือถือเครื่องแรกถูกผลิตขึ้น โดย มาร์ติน คูเปอร์ (Martin Cooper) วิศวกรและผู้จัดการทั่วไปของบริษัท โมโตโตลา (Motorola) มาตั้งแต่วันที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2516 (ค.ศ. 1973)

คูเปอร์ ได้ทดลองใช้โทรศัพท์มือถือโมโตโรลา DynaTAC ซึ่งเป็นต้นแบบ โทรไปหา โจเอล เอ็งเจล (Joel Engel) หัวหน้านักวิจัยของบริษัท AT&T และ Bell Labs ก่อนที่โทรศัพท์มือถือ Motorola DynaTAC 8000X จะออกวางจำหน่ายในปี 2526 

ไดนาแทค ของ คูเปอร์ จึงเป็นโทรศัพท์มือถือที่ปฏิวัติโลกแห่งการสื่อสารในยุคนั้น

4 เมษายน พ.ศ. 2492 วันก่อตั้ง “องค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (NATO)” พันธมิตรทางทหารที่ตั้งขึ้นเพื่อถ่วงดุลอำนาจสหภาพโซเวียต

เมื่อวันที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2492 ได้มีการรวมตัวกันของประเทศต่าง ๆ จำนวน 12 ประเทศ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร แคนาดา เบลเยียม เดนมาร์ก ฝรั่งเศส ไอซ์แลนด์ อิตาลี ลักเซมเบิร์ก เนเธอร์แลนด์ นอรเวย์ และโปรตุเกส โดยร่วมกันลงนามในสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (The North Atlantic Treaty) เพื่อก่อตั้ง “องค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (North Atlantic Treaty Organization : NATO)” ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2492

วัตถุประสงค์เริ่มแรกก่อตั้ง คือจัดตั้งระบบพันธมิตรทางทหาร ในการถ่วงดุลอำนาจกับฝ่ายคอมมิวนิสต์ (สหภาพโซเวียต) และให้ความช่วยเหลือประเทศสมาชิกในกรณีที่ประเทศสมาชิกถูกคุกคามจากภายนอก ตลอดจนส่งเสริมความมั่นคงในทางเศรษฐกิจ

โดยปัจจุบัน “องค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (North Atlantic Treaty Organisation : NATO)” มีสมาชิกรวมทั้งสิ้น 32 ประเทศ (ล่าสุดคือ ประเทศสวีเดน - 7 มีนาคม 2567)


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top